ตระหนี่...ที่อันตราย
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตระหนี่...ที่อันตราย  (อ่าน 1099 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: พฤศจิกายน 09, 2011, 03:03:54 PM »

"ดูก่อนภราดา!" พระอานนท์กล่าวต่อไป เมื่อนางวิสาขากล่าวจบลง ท่านมิคารเศรษฐีก็ก้มหน้านิ่ง               
ไม่รู้จะตอบนางประการใด พราหมณ์ชำระความระหว่างสะใภ้และพ่อผัวจึงกล่าวว่า "ข้าแต่ท่านเศรษฐี! เรื่องทั้งหมดนี้นางหามีความผิดไม่เลย นางเป็นผู้บริสุทธิ์" เศรษฐีจึงกล่าวขอโทษนางวิสาขาที่ท่าน           เข้าใจผิดไป นางวิสาขาจึงกล่าวว่า
"ข้าแต่ท่านบิดา! บัดนี้ข้าพเจ้าพ้นจากความผิดทั้งปวงแล้ว จึงสมควรจะกลับไปสู่เรือนแห่งบิดาตน"
"อย่าเลยลูกรัก" มิคารเศรษฐีพูดกับลูกสะใภ้ด้วยสายตาวิงวอน นางวิสาขาจึงกล่าวว่าเมื่อนางอยู่เรือนตน ณ นครสาเกต ได้มีโอกาสทำบุญและฟังธรรมตามโอกาสที่ควร แต่เมื่อนางมาอยู่ที่นี่แล้วนางไม่มีโอกาสทำได้เลย จิตใจกระวนกระวายใคร่จะทำบุญกุศลอยู่ตลอดเวลา แต่หาได้กระทำไม่ ถ้าบิดาจะอนุญาตให้นางทำบุญกุศลตามต้องการนางก็จะอยู่ แต่ถ้าท่านบิดาไม่อนุญาตนางก็จะขอลากลับไปสู่นครสาเกตตามเดิม เศรษฐีจึงกล่าวว่า
"ลูกรัก! ทำเถิด ทำบุญได้ตามปรารถนา พ่อไม่ขัดข้อง และปุณณวัฒนกุมารสามีของเจ้าก็คงไม่ขัดข้องเช่นกัน"
"ดูก่อนภราดา! เมื่อเศรษฐีกล่าวอนุญาตเช่นนี้ หัวใจของนางวิสาขาที่เคยเหี่ยวแห้งก็กลับชุ่มชื่นเบิกบาน ประหนึ่งติณชาติซึ่งขาดน้ำมาเป็นเวลานานและแล้วกลับได้อุทกธารา เพราะพิรุณหลั่งในต้นวัสสานฤดู หรือประดุจประทุมมาลย์เบ่งบานขยายกลีบเมื่อต้องแสงระวีแรกรุ่งอรุณ ความสุขใดเล่าสำหรับผู้ใคร่บุญจะเสมอเหมือนการมีโอกาสได้ทำบุญ หรือเพียงแต่ได้ฟังข่าวว่าจะได้ทำบุญ เฉกนักเลงสุราบานซึ่งชื่นชมยินดีข่าวแห่งการดื่มสุราเมื่อทราบว่ามีผู้เชื้อเชิญ

วันรุ่งขึ้นนางวิสาขาได้ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสาวก เพื่อเสวยภัตตาหารที่บ้านตน         
พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาแล้วเสด็จสู่บ้านของนางวิสาขา เมื่อเสวยเสร็จแล้วมีพระพุทธประสงค์             
จะทรงอนุโมทนาและแสดงธรรมพอเป็นเครื่องปลื้มใจแห่งผู้ถวาย นางวิสาขาจึงให้คนไปเชิญบิดาสามีมาเพื่อร่วมฟังอนุโมทนาด้วย ตามปกติเศรษฐีไม่เลื่อมใสในพุทธศาสนา เวลานั้นยังศรัทธาคำสอนของนิครนถ์นาฏบุตรอยู่ ไม่ปรารถนาจะมาเฝ้าพระศาสดาเลย แต่ด้วยความเกรงใจลูกสะใภ้จึงมา
พระผู้มีพระภาคทรงทราบอุปนิสัยและความรู้สึกของเศรษฐีดีอยู่แล้ว จึงทรงหลั่งพระธรรมเทศนาอันประกอบด้วยเหตุผล แพรวพราวไปด้วยเทศนาโวหารและอุทาหรณ์
พระองค์ตรัสว่าข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทอง หรือของที่บุคคลหวงแหน อย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งทาสกรรมกร คนใช้และผู้อาศัยอื่นๆ ทั้งหมดนี้บุคคลนำไปไม่ได้ ต้องทอดทิ้งไว้ทั้งหมด แต่สิ่งที่บุคคลทำด้วยกาย วาจา หรือด้วยใจนั่นแหละที่จะเป็นของเขา เป็นสิ่งที่เขาต้องนำไปเหมือนเงาตามตัว เพราะฉะนั้น          ผู้ฉลาดพึงสั่งสมกัณยาณกรรมอันจะนำติดตัวไปสู่สัมปรายภพได้ เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
พระองค์ตรัสว่าทรงเห็นด้วยกับคำกล่าวของบัณฑิตผู้หนึ่งที่ว่า "เมื่อไฟไหม้บ้าน ภาชนะเครื่องใช้อันใด      ที่เจ้าของนำออกไปได้ของนั้นก็เป็นประโยชน์แก่เจ้าของ ที่นำออกไม่ได้ถูกไฟไหม้วอดวายอยู่ ณ ที่นั้นเองฉันใด เมื่อโลกนี้ถูกไฟคือความแก่ความตายไหม้อยู่ก็ฉันนั้น
คือ ผู้ฉลาดย่อมนำของออกด้วยการให้ทาน ของที่บุคคลให้แล้ว ชื่อว่านำออกดีแล้ว มีความสุขเป็นผล ส่วนของที่ยังไม่ได้ให้หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่โจรอาจขโมยเสียบ้างไฟอาจจะไหม้เสียบ้าง อีกอย่างหนึ่ง         เมื่อความตายมาถึงเข้า บุคคลย่อมละทรัพย์สมบัติและแม้สรีระของตนไว้ นำไปไม่ได้เลย ผู้มีปัญญารู้ ความจริงข้อนี้แล้ว พึงบริโภคใช้สอย พึงให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เมื่อได้ให้ ได้บริโภคตามสมควรแล้ว           เป็นผู้ไม่ถูกติเตียนย่อมเข้าสู่ฐานะอันประเสริฐ"

พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า "ความตระหนี่ลาภเป็นความโง่เขลา เหมือนชาวนาผู้ไม่ฉลาดไม่ยอมหว่านพันธุ์ข้าวลงในนา เขาเก็บพันธุ์ข้าวปลูกไว้จนเน่าและเสียไม่สามารถจะปลูกได้อีก
ข้าวเปลือกที่หว่านลงแล้ว ๑ เมล็ดย่อมได้ผล ๑ รวงฉันใด ทานที่บุคคลทำแล้วก็ฉันนั้น ย่อมมีผลมาก      ผลไพศาล การรวบรวมทรัพย์ไว้โดยมิได้ใช้สอยให้เป็นประโยชน์ ทรัพย์นั้นจะมีคุณแก่ตนอย่างไร เหมือนผู้มีเครื่องประดับอันวิจิตรตระการตา แต่หาได้ประดับไม่เครื่องประดับนั้นจะมีประโยชน์อะไร รังแต่จะก่อความหนักใจในการเก็บรักษา
"นกชื่อมัยหกะชอบเที่ยวไปตามซอกเขา และที่ต่างๆ มาจับต้นเลียบที่มีผลสุกแล้วร้องว่า "ของกู ของกู" ในขณะที่มันร้องอยู่นั่นเอง หมู่นกเหล่าอื่นบินมากินผลเลียบตามต้องการแล้วจากไป นกมัยหกะก็ยังคง ร้องว่า "ของกู ของกู" อยู่นั่นเอง ข้อนี้ฉันใด
บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น รวบรวมสะสมทรัพย์ไว้มากมาย แต่ไม่สงเคราะห์ญาติตามที่ควร                 ทั้งมิใช้สอยเองให้ผาสุกมัวเฝ้ารักษาและภูมิใจว่า "ของเรามี ของเรามี" ดังนี้เมื่อเขาประพฤติอยู่เช่นนี้ทรัพย์สมบัติย่อมเสียหายไป ทรุดโทรมไปด้วยเหตุต่างๆ มากมาย เขาก็คงคร่ำครวญอยู่อย่างเดิมนั่นเอง และต้องเสียใจในของที่เสียไปแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ฉลาดหาทรัพย์ได้แล้ว พึงสงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์มีญาติเป็นต้น
"ดูก่อนท่านทั้งหลาย!" พระศาสดาตรัสต่อไป "ทรัพย์ของคนไม่ดีนั้นไม่สู้อำนวยประโยชน์แก่ใครเหมือนสระโบกขรณีอันตั้งอยู่ในที่ไม่มีมนุษย์ แม้จะใสสะอาดจืดสนิท เย็นดี มีท่าลงสะดวกน่ารื่นรมย์ แต่มหาชนก็หาได้ดื่ม อาบ หรือใช้สอยตามต้องการไม่ น้ำนั้นมีอยู่อย่างไร้ประโยชน์ ทรัพย์ของคนตระหนี่ก็ฉันนั้น          ไม่อำนวยประโยชน์สุขแก่ใครๆ เลย รวมทั้งตัวเขาเองด้วย

"ส่วนคนดีเมื่อมีทรัพย์แล้ว ย่อมบำรุงมารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ให้เป็นสุข บำรุง                         
สมณพราหมณาจารย์ให้เป็นสุข เปรียบเหมือนสระโบกขรณีอันอยู่ไม่ไกลหมู่บ้านหรือนิคม มีท่าลงเรียบร้อยสะอาดเยือกเย็นน่ารื่นรมย์ มหาชนย่อมได้อาศัยนำไปอาบดื่มและใช้สอยตามต้องการ   โภคะของคนดีย่อมเป็นดังนี้ หาหมดไปโดยเปล่าประโยชน์ไม่
"ดูก่อนท่านทั้งหลาย! นักกายกรรมผู้มีกำลังมากหรือนักมวยปล้ำซึ่งมีพลังมหาศาลนั้น ก่อนที่จะได้กำลังมาเขาก็ต้องออกกำลังไปก่อน การเสียสละนั้นคือการได้มาซึ่งผลอันเลิศในบั้นปลาย ผู้ไม่ยอมเสียสละอะไรย่อมไม่ได้อะไร จงดูเถิด! มนุษย์ทั้งหลายย่อมรดน้ำต้นไม้ที่โคน แต่ไม้นั้นย่อมให้ผลที่ปลาย
ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูความจริงตามธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งเถิด คือแม่น้ำสายใดเป็นแม่น้ำตาย            ไม่ไหลไม่ถ่ายเทไปสู่ที่อื่น หยุดนิ่ง ขังอยู่ที่เดียว แม่น้ำสายนั้นย่อมพลันตื้นเขินและสกปรกเน่าเหม็นเพราะสิ่งสกปรกลงมามิได้ถ่ายเท นอกจากนี้บริเวณใกล้ๆ แม่น้ำสายนั้นจะหาพืชพันธุ์ธัญญาหาร               ที่สวยสดก็หายาก

แต่แม่น้ำสายใดไหลเอื่อยลงสู่ทะเล หรือแตกสาขาออกไปไหลเรื่อยไป มันไม่รู้จักหมดสิ้น คนทั้งหลาย ได้อาศัย อาบดื่ม และใช้สอยตามปรารถนา มันจะใสสะอาดอยู่เสมอไม่มีวันเหม็นเน่าหรือสกปรกได้เลย          พืชพันธุ์ธัญญาหาร ณ บริเวณใกล้เคียงก็เขียวสดสวยงาม
"บุคคลผู้ตระหนี่ เมื่อได้ทรัพย์แล้วก็เก็บตุนไว้ ไม่ถ่ายเทให้ผู้อื่นบ้างก็เหมือนแม่น้ำตาย ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร ส่วนผู้ไม่ตระหนี่เป็นเหมือนน้ำที่ไหลเอื่อยอยู่เสมอกระแสก็ไม่ขาด ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นสาธุชนได้ทรัพย์แล้ว พึงบำเพ็ญตนเสมือนแม่น้ำซึ่งใสสะอาดไม่พึงเป็นเช่นแม่น้ำตาย
"ยัญญสัมปทา หรือ ทาน จะมีผลมากอานิสงส์ไพศาล ถ้าประกอบด้วยองค์ ๖ กล่าวคือ
๑. ก่อนให้ผู้ให้ก็มีใจผ่องใส ชื่นบาน
๒. เมื่อกำลังให้ จิตใจก็ผ่องใส
๓. เมื่อให้แล้ว ก็มีความยินดี ไม่เสียดาย
๔. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจาคะ
๕. ผู้รับปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโทสะ
๖. ผู้รับปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโมหะ
ทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แลเป็นการยากที่จะกำหนดผลแห่งบุญว่า มีประมาณเท่านั้นเท่านี้             
อันที่จริงเป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ไม่มีประมาณเหลือที่จะกำหนด เหมือนน้ำในมหาสมุทร                   
ย่อมกำหนดไว้โดยยากว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้
"ดูก่อนท่านทั้งหลาย! คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นนี้เข้าไปหาตถาคตและถามว่าบุคคล
ควรจะให้ทานในที่ใด เราตอบว่าควรให้ในที่ที่เลื่อมใส คือเลื่อมใสบุคคลใด คณะใด ก็ควรให้แก่บุคคลนั้นในคณะนั้น พระองค์ถามต่อไปว่าให้ทานในที่ใดจึงจะมีผลมาก เราตถาคตตอบว่าถ้าต้องการผลมาก           กันแล้วละก้อ ควรจะให้ในท่านผู้มีศีล การให้แก่บุคคลผู้ทุศีลหามีผลมากอย่างนั้นไม่
"สถานที่ทำบุญเปรียบเหมือนเนื้อนา เจตนาและไทยธรรมของทายกเปรียบเหมือนเมล็ดพืช ถ้าเนื้อนาบุญคือบุคคลผู้รับเป็นคนดีมีศีลธรรม และประกอบด้วยเมล็ดพืช คือเจตนาและไทยธรรมของทายกบริสุทธิ์ ทานนั้นย่อมมีผลมาก
การหว่านข้าวลงในนาที่เต็มไปด้วยหญ้าแฝกและหญ้าคา ต้นข้าวย่อมขึ้นได้โดยยากฉันใด การทำบุญ         
ในคณะบุคคลผู้มีศีลน้อยมีธรรมน้อยก็ฉันนั้น คือย่อมได้บุญน้อย ส่วนการทำบุญในคณะบุคคลซึ่งมีศีลดี         
มีธรรมงาม ย่อมจะมีผลมาก เป็นภาวะอันตรงกันข้ามอยู่ดังนี้"

พระศาสดายังพระธรรมเทศนาให้จบลงด้วยปัจฉิมพจน์ว่า
"เพราะฉะนั้นบุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล หยาดน้ำไหลลงที่ละหยด       
ยังทำให้หม้อน้ำเต็มได้ การสั่งสมบุญหรือบาปแม้ทีละน้อยก็ฉันนั้น ผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ         
ผู้สั่งสมบาปย่อมเพียบแปร้นไปด้วยบาป"
พระธรรมเทศนาเป็นเสมือนจุดแสงสว่างให้โพรงขึ้นในดวงใจของเศรษฐี เขาคลานเข้ามาถวายบังคม         
พระมงคลบาง แห่งพระศาสดาพร้อมด้วยกล่าวสรรเสริญว่า
"แจ่มแจ้งจริงพระเจ้าข้า! แจ่มแจ้งจริง เหมือนทรงหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด                                 
บอกทางให้แก่คนที่หลงทาง ส่องประทีปในที่มืดเพื่อให้ผู้มีนัยน์ตาได้มองเห็นรูป

ข้าพระพุทธเจ้าขอถือพระองค์ พร้อมด้วยพระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่เคารพสักการะ                           
เป็นแนวทางดำเนินชีวิตตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจวบสิ้นลมปราณ"
"ดูก่อนผู้แสวงสันติวรบท! พระอานนท์กล่าวต่อไป
ตั้งแต่บัดนั้นมามิคารเศรษฐีก็นับถือนางวิสาขาในสองฐานะ คือฐานะสะใภ้และฐานะ "แม่" จึงเรียก             
นางวิสาขาว่า "แม่ แม่" ทุกคำไป เพราะถือว่านางวิสาขาเป็นผู้จูงให้ท่านเดินเข้าทางถูก จูงออกจาก       
ทางรก เมื่อคนทั้งหลายพูดถึงนางวิสาขา ก็มักจะเติมสร้อยคำตามมาข้างหลังว่า "มิคารมารดา"               
แม้พระสาวกซึ่งเป็นภิกษุเมื่อกล่าวถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าประทับอยู่ปุพพารามก็กล่าวว่า                     
"บัดนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ประสาทของนางวิสาขา มิคารมารดาในปุพพาราม"
ด้วยเหตุที่บิดาแห่งสามีเรียกตนว่า "แม่" และคนทั้งหลายพากันเรียกนางว่า "มิคารมารดา" นางวิสาขา    รู้สึกละอายและกระดาก แต่ไม่ทราบจะทำประการใด เมื่อมีลูกชายในระยะต่อมา จึงตั้งชื่อลูกชายให้เหมือนชื่อปู่ของเด็กว่ามิคาระ เพื่อจะได้แก้ความขวยอายและกันความละอาย เมื่อมีผู้เรียกนางว่า มิคารมารดา          จะได้หมายถึงมารดาแห่งมิคาระลูกชายของตน
ตั้งแต่มิคารเศรษฐีเลื่อมใสในพุทธศาสนาแล้ว ประตูบ้านของนางวิสาขาก็เปิดออกสำหรับต้อนรับ           พระสงฆ์สาวกแห่งพระผู้มีพระภาค มีเสมอที่นางนิมนต์พระสงฆ์จำนวนร้อย มีพระพุทธองค์เป็นประมุข  เพื่อรับภัตตาหารและเสวยที่เรือนของนาง มหาสมุทรย่อมไม่อิ่มด้วยน้ำ บัณฑิตและปราชญ์ย่อมไม่อิ่ม         ด้วยคำสุภาษิต ผู้มีศรัทธาเชื่อกรรมและผลของกรรม ย่อมไม่อิ่มด้วยการทำบุญ
นางวิสาขาเป็นผู้มีศรัทธาจะให้นางอิ่มด้วยบุญได้ไฉน เพราะฉะนั้นจึงปรากฏว่านางทำบุญทำกุศล          โดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่าย ความสุขใจเป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐสุด ก็ความสุขใจอันใดเล่าจะเสมอด้วยความสุขอิ่มใจเพราะรู้สึกว่าตนได้ทำความดี เป็นความสุขที่ผ่องแผ้วสงบและชื่นบาน เหมือนสายน้ำที่กระเซ็นจากหุบผาก่อความชื่นฉ่ำให้แก่กรัชกายฉันใดก็ฉันนั้น

ตลอดเวลาที่พระศาสดาประทับอยู่กรุงสาวัตถีนางจะได้เฝ้าพระองค์วันละ ๒ เวลา คือเวลาเช้าและเวลาเย็น เมื่อไปเวลาเช้าก็ถือยาคู และอาหารอื่นๆ ติดมือไปด้วย เมื่อไปเวลาเย็นก็มีน้ำปานะชนิดต่างๆ         ที่ควรแก่สมณบริโภคไป นางไม่เคยไปมือเปล่าเลย ทั้งภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาต่างก็พร้อมใจกันเรียกนางว่า "มหาอุบาสิกา" เพื่อเป็นเกียรติแก่นางผู้มีใจประเสริฐ
คราวหนึ่งนางกลับจากงานมงคลในกรุงสาวัตถี ข้าพเจ้าลืมเล่าท่านไปว่างานมงคลทุกงานในกรุงสาวัตถีเจ้าของงานจะถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ ถ้านางวิสาขาได้ไปร่วมงานด้วย เพราะฉะนั้นเขาจะเชิญนางแทบจะทุกงาน การไปของนางวิสาขาถือกันว่าเป็นการนำมงคลมาสู่บ้านสู่งาน นี่แหละท่าน!
พระศาสดาจึงตรัสว่า "เกียรติย่อมไม่ละผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้"
เมื่อไปในงานมงคลนางก็ต้องสวมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์อันสวยงามและเลิศค่า กลับจากงานแล้วนางต้องการจะแวะไปเฝ้าพระศาสดา แต่เห็นว่าไม่ควรจะสวมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์เข้าไป           จึงถอดแล้วห่อให้หญิงคนใช้ถือไว้
เมื่อเฝ้าพระศาสดาพอสมควรแก่เวลาแล้ว นางก็ถวายบังคมลากลับออกมาถึงหน้าวัดเชตวันนางจึงเรียกเครื่องประดับนั้นจากหญิงคนใช้เพื่อจะสวม แต่ปรากฏว่าหญิงคนใช้ลืมไว้ ณ ที่ประทับของพระศาสดานั่นเอง
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ข้าพเจ้าเก็บไว้ เพื่อนางมาในวันรุ่งขึ้นจะได้ส่งคืน สักครู่หนึ่งหญิงรับใช้กลับมา เพื่อจะรับคืน ข้าพเจ้าจึงนำห่อเครื่องประดับนั้นมาจะมอบให้ หญิงคนใช้มีท่าทางตื่นตกใจอย่างมาก
"นี่เครื่องประดับของนาย เธอรับไปเถิด" ข้าพเจ้าพูดพร้อมด้วยวางของลง
"ข้าแต่พระคุณเจ้า!" นางคุกเข่าอยู่เบื้องหน้าของข้าพเจ้าด้วยเสียงสั่นเครือ มีอาการเหมือนจะร้องไห้   "แม่นายสั่งไว้ว่า ถ้าพระคุณเจ้าจับต้องและเก็บเครื่องประดับไว้แล้วก็ไม่ต้องรับคืน แม่นายบอกว่า           พระคุณเจ้าเป็นที่เคารพของแม่นายอย่างยิ่ง แม่นายไม่สมควรจะสวมเครื่องประดับที่พระคุณเจ้า               จับต้องแล้ว เพราะฉะนั้นข้าพเจ้ารับคืนไปไม่ได้ดอก"
"น้องหญิง" ข้าพเจ้าพูด "เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้มีค่ามาก นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องประดับของสตรี ไม่สมควรที่สมณะจะเก็บไว้ อาตมาจะเอาไว้ทำอะไร จงรับคืนไปเถิด และบอกนางว่าอาตมาให้รับคืนไป น้องหญิงทำตามคำขอร้องของอาตมา นายของเธอคงไม่ว่ากระไรดอก"
"แม่นายสั่งไว้ว่าให้ถวายพระคุณเจ้า"
"อาตมาจะเอาไว้ทำอะไร"
หญิงคนใช้จำใจต้องรับเครื่องประดับคืนไป นางเดินร้องไห้ไปพรางเพราะเกรงจะถูกลงโทษ นางวิสาขาเห็นหญิงคนใช้เดินร้องไห้กลับไปพร้อมด้วยห่อของ นางก็คาดเหตุการณ์ได้โดยตลอด จึงกล่าวว่า
"พระคุณเจ้าอานนท์เก็บไว้หรือ?"
"เจ้าคะ"
"แล้วเธอร้องไห้ทำไม?"
"ข้าเสียใจที่รักษาของแม่นายไว้ไม่ได้ แม่นายจะลงโทษข้าประการใดก็ตามเถิด ข้ายอมรับผิดทุกประการ เครื่องประดับนี้มีค่ากว่าชีวิตของข้า มิใช่เพียงแต่ชีวิตของข้าเท่านั้น แต่มีค่ายิ่งกว่าชีวิตครอบครัว และญาติๆ ของข้าทั้งหมดรวมกัน" ว่าแล้วนางก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นกลิ้งเกลือกอยู่แทบเท้าของนางวิสาขา

เวลานั้นเย็นมากแล้ว พระอาทิตย์โคจรลับขอบฟ้าทางตะวันตกไปแล้ว แต่ความมืดยังไม่ปรากฏในทันที ท้องฟ้าระบายด้วยแสงสีม่วงสลับฟ้าในบางที่ และสีเหลืองอ่อนสลับฟ้าในบางแห่ง กลุ่มเมฆลอยเลื่อนตามแรงลมและปลิวกระจายเป็นครั้งคราว มองดูเป็นรูปต่างๆ สลับสล้างสวยงามน่าพึงชม ลมเย็นพัดเฉื่อยฉิว สไบน้อยผืนบางของวิสาขาพริ้วกระพือตามแรงลม ผมอันงอนงามฟูสยายของนางไหวพริ้วปลิวกระจาย ใบหน้าซึ่งเอิบอิ่มอยู่แล้วยิ่งเพิ่มความอิ่มเอิบมากขึ้น ประดุจศศิธรในวันบูรณมีดิถี มีรัศมียองใยเป็นเงินยวงและถูกแวดวงด้วยกลุ่มเมฆ
เสียงชะนีซึ่งอาศัยอยู่ในแนวป่าใกล้วัดเชตวันกู่ก้องโหยหวนปานประหนึ่งสัญญาณว่า ทิวากาลจะสิ้นสุด ลงแล้ว หมู่เด็กเลี้ยงแกะและเลี้ยงโคเดินดุ่มต้อนฝูงแกะและฝูงโคของตนๆ เข้าสู่คอก อชบายและโคบาลเหล่านั้นล้วนมีกิริยาร่าเริง ฉันเดียวกันกับสกุณาทั้งหลาย ซึ่งกำลังโบยบินกลับสู่รวงรัง
นางวิสาขายืนสงบนิ่ง กระแสความรู้สึกของนางไหลเวียนเหมือนสายน้ำในวังวน นางคิดถึงชีวิตทาส อนิจจา! ชีวิตทาสช่างลำบากและกังวลเสียนี่กระไร รับใช้ใกล้ชิดเกินไปก็หาว่าประจบสอพลอ เหินห่างไปหน่อยเขาก็ว่าทอดทิ้งธุระของนาย พูดเสียงค่อยเขาก็ว่าไม่เต็มใจตอบ พูดเสียงดังไปหน่อยเขาก็ว่ากระโชกโฮกฮาก ใครเล่าจะสามารถรับใช้นายได้อย่างสมบูรณ์ ชีวิตทาสเป็นชีวิตที่ลำเค็ญเหนื่อยยากทั้ง ๆ ที่เป็นอย่างนี้ คนทาสส่วนมากก็เป็นคนซื่อสัตย์ เสียสละ และกตัญญูเสรีชนด้วยซ้ำไป ที่ส่วนมากคอยแต่ตลบตะแลงเอารัดเอาเปรียบและคนโกง

มีตัวอย่างที่หาได้ง่ายสำหรับทาสซึ่งซื่อสัตย์กตัญญูและเสียสละต่อนายของตน แต่สำหรับนายแล้วหาได้ยากเหลือเกินที่จะเพียงแต่เสียสละเพื่อทาสเท่านั้น อย่าพูดถึงความซื่อตรงเลย นายส่วนมากมักจะใช้ทาสไม่เป็นเวลา ใช้วาจาหว่านล้อมให้ทาสหวังอย่างลมๆ แล้งๆ เหนียวบำเหน็จ ทำความผิดน้อยเป็นผิดมาก ส่วนความดีความชอบนั้นมิค่อยจะได้พูดถึง
"หญิงคนใช้ของเรานี้" นางวิสาขาคิดต่อไป เพียงลืมเครื่องประดับไว้ และนำคืนมาได้ มิใช่ทำของเสียหายอย่างใด ยังยอมเอาชีวิตของตนมาถ่ายถอนความผิด เราจำจะต้องปลอบนางให้หายโศก และบำรุงหัวใจนางด้วยคำหวาน เพราะโบราณคัมภีร์กล่าวไว้ว่าแสงจันทร์ก็เย็น กลิ่นไม้จันทร์ก็เย็น แต่ความเย็นทั้งสองประการนั้นรวมกันแล้ว ยังไม่เท่ากับความเย็นแห่งมธุรวาจา
อนึ่งการแสดงความรักใคร่แม้แต่บุคคลที่มิได้รับใช้ตนเอื้ออารีกว้างขวางเพิ่มความรัก ให้ระลึกถึงความดี แต่เก่าก่อน ให้อภัยในความผิดพลาด เหล่านี้เป็นลักษณะของผู้มีใจกรุณา".

คัดลอกมาจาก
http://www.dhammajak.net/book/anon/anon14.php


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: