“การพึ่งตัวเอง ไม่ใช่การทำอะไรเองทั้งหมด” โจน จันใด
LSVคลังสมองออนไลน์
 
*
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน มีนาคม 29, 2024, 03:54:10 PM


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น


หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: “การพึ่งตัวเอง ไม่ใช่การทำอะไรเองทั้งหมด” โจน จันใด  (อ่าน 4570 ครั้ง)
b.chaiyasith
แก้ปัญหาไม่ตกคุยกันเวลางานline:chiabmillion
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน650
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3004


ไม้ดีไม่ลอยน้ำมาไกล


อีเมล์
« เมื่อ: พฤษภาคม 20, 2011, 11:33:11 AM »

เรื่อง/ภาพ : ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ

หากคุณกำลังเข้าใจว่าการ “พึ่งตัวเอง” หมายถึงการปลีกตัวเองออกไปจากสังคม และก้มหน้าก้มตาผลิตข้าวของต่างๆ ด้วยตัวเองทุกสิ่งอย่าง  บางทีคุณอาจต้องค่อยๆ กลับมาจัดเรียงความเข้าใจนั้นเสียใหม่ เมื่อได้ฟังคำพูดของเกษตรกรที่พบกับชีวิตแบบ “พึ่งตัวเอง” มาตั้งแต่จำความได้คนนี้ คนที่ชื่อ “โจน จันใด”

ย้อนกลับไปวัยเด็ก แม้ลมหายใจแรกของเขาจะเคยได้พบกับคำว่า “พึ่งตัวเอง” จากวิถีชีวิตพออยู่พอกินของหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดยโสธร  แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้น กลับทำให้คนที่เติบโตในครอบครัวชาวนามีความอับอายในชีวิตที่เป็นอยู่ และตัดสินใจพาตัวเองห่างออกจากความเป็นอยู่เดิม โดยมุ่งหน้าไปยังชีวิตที่ “ศิวิไลซ์” เหมือนๆ กับคนส่วนมากในสมัยนั้น

จากที่จะไม่ได้เรียนหลังจากจบชั้นประถมศึกษาเนื่องจากครอบครัวไม่มีเงินส่งเสีย เขายอมโกนหัวบวชเณร ณ วัดธรรมมงคล ย่านสุขุมวิท พร้อมๆ กับเข้าไปเรียนต่อโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่สัมพันธวงศ์ศึกษา จนจบระดับ 5 (เทียบเท่ากับมัธยมปลายในปัจจุบัน) ก่อนจะลาสิกขาออกมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมๆ กับการทำงานหาเงิน ทั้งพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหาร ไปจนถึงพนักงานทำความสะอาดในโรงแรมต่างๆ

แต่แล้วความต่างของวิถีชีวิตก็ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตที่เป็นอยู่  เวลาในแต่ละวันของเขาหมดไปกับการทำงานหนักๆ ให้ได้สิ่งตอบแทนที่เรียกว่า “เงิน” เพียงเพื่อมาจ่ายค่าเช่าบ้าน ทั้งที่ตัวเองมีบ้านโดยไม่ต้องเช่า มาจ่ายค่าอาหารได้เพียงมื้อละจาน เพื่อประทังชีวิตไปวันๆ และมาจ่ายค่าเดินทางไปกลับระหว่างห้องพักกับที่ทำงาน ทั้งๆ ที่เขาสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้จากผืนดินของบ้านตัวเอง

7 ปีในกรุงเทพฯ กับชีวิตที่ยากและไม่ได้เรียนรู้อะไร ทำให้เขาตัดสินใจออกจากชีวิตที่ทำงานหนักๆ “เพื่อคนอื่น” กลับบ้านเกิด ที่ยโสธร และพาตัวเองคืนสู่สามัญ เริ่มต้นวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายที่เขาคุ้นเคยในวัยเด็ก โดยใช้ชีวิตแบบ “พึ่งตัวเอง” และ “เพื่อตัวเอง”

จากที่เคยทำงานในกรุงเทพฯ วันละ 8 ชั่วโมง แต่เลี้ยงคนๆ เดียวแทบไม่ได้ ก็เหลือเพียงวันละ 30 นาที ซึ่งสามารถเลี้ยงคน 6 คนได้สบายๆ และวิถีชีวิตเช่นนั้น ยังเปิดโอกาสให้คนธรรมดาๆ คนหนึ่งมีโอกาสได้เรียนรู้การพึ่งตัวเองในเรื่องที่อยู่อาศัย 1 ในปัจจัย 4 อย่าง “บ้านดิน”

ราวปี 2545 บทบาทวิทยากรอบรมบ้านดิน ที่จัดโดยอาศรมวงศ์สนิท คือการทำความรู้จักกับคนวงกว้างเป็นครั้งแรก พร้อมๆ กับการเรียกขานนามสกุลต่อท้ายว่า “โจน บ้านดิน” เป็นครั้งแรกเช่นกัน ซึ่งมันได้สร้างสัญลักษณ์ติดตัวเขามาจนปัจจุบัน  การเปิดตัวของเขาในครั้งนั้นมาพร้อมกับภารกิจที่ต่อเนื่องและยาวนานนับ 10 ปี เขาต้องตระเวนอบรมบ้านดินเกือบทั่วประเทศ ถึงขนาดที่ว่าเขาไม่เคยอยู่ที่ไหนเกินหนึ่งเดือนติดต่อกันถึง 5 ปี

แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อชีวิตง่ายๆ เริ่มไม่ง่าย เมื่อเขารู้สึกว่าการตระเวณทำบ้านดินติดต่อกันนานๆ เริ่มทำให้ชีวิตของเขายากมากขึ้น และบ้านดินได้เริ่มเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำกันได้  เขาจึงตัดสินใจถอยออกมา และให้เวลากับการทำภารกิจสุดท้ายในชีวิต นั่นคือการ “เก็บเมล็ดพันธุ์” โดยเขาให้เหตุผลว่ามันคือทางออกที่ยั่งยืนและไม่มีทางตันของมนุษย์

ณ ปัจจุบัน “โจน จันใด” ทำภารกิจสุดท้าย พร้อมๆ กับการใช้ชีวิตแบบ “พึ่งตัวเอง” อยู่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในนาม “สวนพันพรรณ” และภายใต้เนื้อที่ราว 20 ไร่ที่เขาและครอบครัวใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ชีวิต มันยังกว้างขวางออกไปยังผู้อื่นที่สนใจเรียนรู้การ “พึ่งตัวเอง” โดยมีผู้สนใจหลากหลายเข้ามาอบรมอยู่อย่างต่อเนื่อง

ประสบการณ์ที่เคยหลุดเข้าไปยังสนามแข่งขันในเมือง ทำให้เขารู้ว่าทางออกของชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับตัวเองเป็นเช่นไร แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขาจะบอกว่าคนที่อยู่นอกสภาพแวดล้อมท่ามกลางธรรมชาติ จะไม่สามารถ “พึ่งตัวเอง” ได้ มิหนำซ้ำในบางมิติ คนเมืองยังมีข้อได้เปรียบกว่าคนไกลเทคโนโลยีอีกด้วย

ใครที่เข้าใจว่าการ “พึ่งตัวเอง” คือการทำอะไรเองทั้งหมด “โจน จันใด” บอกว่า “นั่นไม่ใช่การพึ่งตัวเอง แต่มันเป็นการ ‘โดดเดี่ยวตัวเอง’ มากกว่า”

“มันง่าย” เขาเอ่ยอยู่ตลอดเวลาระหว่างพาคนที่มาอบรมลงมือทำสิ่งต่างๆ และหากมีใครแสดงทีท่าลังเลที่จะลงมือ เขาจะพูดว่า “ก็ลองทำดู” โดยให้เหตุผลว่า หากเกิดผิดพลาดจากการลงมือ เราจะ “ได้ในสิ่งที่ไม่มีวันเสีย” ซึ่งเป็น “ความรู้” ที่มีคุณค่ามากกว่าท่องจำเป็นไหนๆ

เรื่องเล่าและมุมมองต่อการ “พึ่งตัวเอง” จากผู้ที่ผ่านชีวิตทั้งในเมืองและนอกเมือง  และวิถีการ “เรียนรู้ชีวิต” ที่ทำให้ปัจจุบันอะไรๆ ของเขาก็ง่ายไปเสียหมด อาจทำให้ใครหลายคนต้องกลับมาตั้งคำถามถึงชีวิตที่เป็นอยู่

ว่าแท้จริงแล้ว ชีวิตแบบไหนกันแน่คือสิ่งชีวิตที่ง่ายจริงๆ



ตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กจนถึงปัจจุบัน คำว่า “พึ่งตัวเอง” ได้เข้ามาในชีวิตคุณตั้งแต่เมื่อไร

ตอนวัยเด็ก ผมเติบโตในชุมชนที่พึ่งตัวเอง อาจบอกว่าเป็นชุมชนที่พึ่งตัวเอง 100 % ก็ได้  ในสมัยนั้น แม้จะมีเงิน แต่ว่าคนจะไม่ค่อยได้ใช้เงิน ชาวบ้านมีเงินเพื่อเก็บไว้เฉยๆ ไม่มีร้านค้า ไม่มีการซื้อขายกันมากเท่าไร จะมีโอกาสได้ใช้เงินก็ตอนมีงานวัดเท่านั้น

ในหมู่บ้านของผมสมัยนั้น ถ้าไม่มีงาน คนก็จะไม่ขายอะไร ช่วงนั้นก็ทำให้ผมได้เห็นการพึ่งตัวเอง เป็นชีวิตที่มีอะไรก็ให้กัน  บ้านผมมีไข่เหลือก็จะเอาไปให้ลุงป้าน้าอาข้างๆ บ้าน  ได้ปลามาเยอะ ก็เอามาแบ่งกัน ถ้าไม่แบ่ง มันก็เน่า กินไม่หมด

ประสบการณ์ในวัยเด็กบอกผมว่า คนเราสามารถอยู่ได้โดยที่ทำอะไรเองทุกๆ อย่าง  คนในหมู่บ้านจะทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองได้ ทำบ้านได้ ด้ามจอบ ด้ามเสียม ตีเหล็กได้ แต่มันไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะตีเหล็กได้นะ แต่ทุกๆ หมู่บ้าน จะต้องมีสักคนที่ตีเหล็กได้  ทำให้ของใช้ที่จำเป็นจริงๆ ในชีวิตประจำวัน คนส่วนมากก็จะทำได้กัน อย่างน้อยๆ ในครอบครัวหนึ่งก็จะมีสักคนที่ทำอะไรได้เกือบทุกอย่าง

ทั้งหมู่บ้านจะทำนาหมดเลย  มันเป็นวิถีชีวิตที่คนอยู่แบบง่ายๆ ชีวิตไหลไปตามฤดูกาลประเพณี  พอผ่านวันสงกรานต์ คนก็จะแบกไถลงทุ่งนา เตรียมต้นกล้า แล้วก็หว่านกล้า  หลังจากนั้น ชาวบ้านก็จะนอนพักผ่อน เล่นกัน จนถึงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน ฝนเริ่มมาก็ถอนกล้าไปไถนาอีกครั้งหนึ่ง  ปลูกข้าวเสร็จ น้ำมันจะลดลง คนก็จะสนุกสนานกับการไปหาปลา คนก็จะปล่อยให้วิถีชีวิตมันไหลไปอย่างนั้น

ผมรู้สึกว่าชีวิตแบบนั้นมันไม่มีอะไรยากเลย คนไม่ต้องคิดอะไร ปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามประเพณี ถึงงานบุญต่างๆ มันก็มีของมันเอง

แล้วหมู่บ้านของคุณ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตอนไหน

มันเริ่มจากพอผมโตขึ้นมาหน่อย ในหมู่บ้านก็มีคนเริ่มต้นปลูกปอเพื่อขายเป็นครั้งแรก ทำอยู่สัก 2 ปี เขาก็ได้มอเตอร์ไซค์มาคันหนึ่ง เป็นคันแรกในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านก็ไม่เคยเห็น ทุกคนตื่นเต้นกันมาก  ตอนเด็กๆ ผมจะวิ่งตามกลิ่นมอเตอร์ไซค์ กลิ่นมันหอมมาก  หลังจากนั้น ก็เริ่มมีมอเตอร์ไซค์ขายไอศกรีมเข้ามา เด็กๆ ก็จะวิ่งตามกลิ่นมอเตอร์ไซค์ แล้วเอามือไปรองน้ำที่ไหลออกจากถังไอศกรีม เด็กๆ จะตื่นเต้นมาก ไม่เคยเจออะไรที่เย็นๆ แบบนี้มาก่อน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เกิดขึ้น

หลังจากนั้นไม่นาน หมู่บ้านผมก็เริ่มมีไฟฟ้าเข้ามา บ้านของเพื่อนผมเป็นบ้านแรกที่มีทีวีขาวดำเข้ามา เด็กๆ ก็จะไปปีนต้นมะม่วงหน้าบ้านทุกวัน เพื่อดูละครขุนช้างขุนแผน เพราะทีวีมันอยู่ที่ชั้นสอง  หลังจากนั้น คนก็อยากมีทีวี มีมอเตอร์ไซค์ ชาวบ้านก็เริ่มไปถางป่ามาปลูกปอกันมากขึ้น  คนในหมู่บ้านก็ค่อยๆ มีทีวี มีมอเตอร์ไซค์มากขึ้น  เหตุการณ์หนึ่งที่ผมจำได้แม่นเลย คือมีครอบครัวหนึ่งมีไข่เป็ด แต่เขาไม่ให้กันแล้ว กลายเป็นต้องซื้อกัน ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าทำไมเราต้องซื้อ ผมยังจำได้ไม่ลืม คนก็ลือกันไปทั้งหมู่บ้านเลยว่า พี่น้องกัน มาซื้อไข่กันได้ยังไง หลังจากนั้นไม่นาน มันก็เป็นเรื่องปกติ คนต้องซื้อกัน การให้กันมันน้อยลงๆ ชีวิตมันก็เปลี่ยนไป

เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนั้นจนทุกวันนี้ ชีวิตมันก็เปลี่ยนไปหมด ทุกอย่างต้องซื้อ ทุกๆ คนต้องหาเงิน  คนที่เคยนอนตอนกลางวันก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้เกียจ ไม่เอาการเอางาน ชีวิตมันเปลี่ยนไปมาก โตขึ้นมา มันทำให้ผมรู้สึกว่า ชีวิตของเราทุกวันนี้ มันกำลังพัฒนาไปทางไหน

แล้วอะไรทำให้อยู่ดีๆ คนที่เคยอยู่ในหมู่บ้านแบบนั้น ถึงตัดสินใจออกไปเรียนที่กรุงเทพฯ

ตอนจบ ป.7 แรกๆ ผมเห็นเพื่อนๆ ไปเรียนต่อ ผมรู้สึกเศร้ามากว่าทำไมแม่ไม่มีปัญญาส่งผมเรียน ผมแอบร้องไห้คนเดียวอยู่บ่อยๆ เพื่อนขึ้นรถ แต่งตัวสวยๆ ไปโรงเรียน ผมก็จูงควายออกไปนอกบ้าน มันทำให้ผมรู้สึกถึงความต่ำต้อย ความเหินห่างจากเพื่อนที่เคยสนิทกัน เพื่อนก็คุยกันคนละภาษากับผม ไม่มีเวลาคุยกับผม ผมรู้สึกเหงาและเศร้ามาก

ในตอนนั้น เพื่อนทุกคนมีเป้าหมายในชีวิต แต่ผมกลับไม่ได้เดินไปหาเป้าหมายเหมือนคนอื่นๆ แต่ผมกลับจ้ำอยู่กับที่ หรือถอยหลังเข้าป่าเข้าคลองด้วยซ้ำไป ผมจึงรู้สึกด้อย รู้สึกเศร้ามาก (นิ่งคิด) ผมก็เลยรู้สึกอยากเรียนหนังสือ ไม่อยากหยุดอยู่แค่นี้ ไม่อยากเป็นชาวนา

ผมจึงขอแม่ไปบวช เพื่อที่จะเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ  ก็ได้มาจบการศึกษาผู้ใหญ่ระดับ 5 ที่วัดสัมพันธวงศ์ สมัยนั้นก็เทียบเท่ากับ มศ.5 หรือมัธยมศึกษาตอนปลาย จบจากที่นั่น ก็เลยสึกออกมา แล้วไปเรียนรามคำแหง

ทำไมอยู่ดีๆ ถึงไม่อยากเป็นชาวนาขึ้นมา

ตอนนั้น ผมรู้สึกว่าชาวนาเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย เป็นอาชีพของคนจน  ตอนนั้น มันมีหนังเข้ามา ทำให้เราได้เห็นภาพของเมืองในกรุงเทพฯ ภาพรถ ภาพอะไรต่างๆ ของสิ่งที่เขาเรียกมันว่าเป็นความศิวิไลซ์ และมันกลายเป็นเป้าหมายของคนรุ่นใหม่

แล้วอะไรทำให้คุณถึงกลับมาคิดว่าการ “พึ่งตัวเอง” คือสิ่งที่จำเป็นในชีวิต

ที่คิดว่าจำเป็นก็เพราะว่า หลังจากผมได้ลองไปใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ผมพบว่าตัวเองอยู่เหมือนคนทั่วๆ ไปไม่ได้ ผมจะเป็นคนเมือง ก็เป็นไม่ได้ จะเป็นคนล้มเหลวในเมือง หางานดีๆ ไม่ได้ หาเงินไม่ได้  เพราะผมไม่ฉลาด ไม่เก่ง ไม่ชอบแข่งขัน ทำให้ผมทำงานแล้วคงไม่มีความก้าวหน้า ผมจึงคิดว่าตัวเองคงใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไม่ได้

แล้วถ้ากลับมาอยู่ที่บ้าน โดยไปเป็นชาวนาเหมือนคนอื่น ไปปลูกข้าวขาย ปลูกผักขาย คือปลูกเพื่อขายอย่างเดียว ผมก็ทำไม่ได้อีก เพราะทำไปแล้วก็มีแต่หนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม มันเหนื่อยมาก ทำเสร็จแล้วก็ไม่ได้อะไร ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นไม่ได้สักอย่าง ก็สับสนว่าตัวเองจะเป็นอะไร ช่วงที่สับสนนั้น ก็ทำให้ผมนึกถึงช่วงที่ผมเป็นเด็ก ชีวิตมันง่าย มันสบาย ทำไมผมไม่กลับไปหาตรงนั้น ทำไมผมถึงอยากไปลองอยู่ในเมือง ทำไมผมถึงต้องเป็นเกษตรกรเคมีเหมือนคนทั่วๆ ไป  ทำให้ผมคิดว่าตัวเองน่าจะต้องกลับไปเริ่มต้นจากตรงนั้น ก็เลยกลับไปใช้ชีวิตอย่างนั้น ที่ยโสธร ก็ทำให้ผมรู้สึกกับชีวิตที่พึ่งตัวเองมากขึ้น

ชีวิตหลังจากนั้น ผมก็มีโอกาสได้ลองทำบ้านดิน และได้อบรมบ้านดินให้หลายที่ในประเทศไทย เรียกได้ว่าเดินทางมันเกือบทุกจังหวัด  มีอยู่ช่วงหนึ่งผมไม่ได้อยู่ที่ไหนติดต่อกันนานเกินหนึ่งเดือนเป็นเวลา 5 ปี ก็เลยคิดว่าชีวิตที่ควรจะง่าย มันเริ่มยาก ทำให้ตัดสินใจเลิกทำบ้านดิน และตั้งใจจะให้เวลาที่เหลือกับการเก็บเมล็ดพันธุ์ เพราะผมคิดว่ามันเป็นทางออกของชีวิตที่ไม่มีทางตัน  แต่ปัญหาก็คือ บ้านผมที่ยโสธรมันจะน้ำท่วมในฤดูฝน ทำให้ทำนาได้อย่างเดียว และหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำ ปลูกอะไรไม่ได้เท่าไร ทำให้ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้  ผมก็คิดจะซื้อที่ และมาได้ที่เชียงใหม่ ก็อยู่มาได้ 8 ปีแล้ว

ในมุมมองของคุณ คิดว่าคนทุกคนจำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบ “พึ่งตัวเอง” ไหม

ถ้าสนใจที่จะมีความสุข ต้องการความง่ายในการใช้ชีวิต ต้องการอิสรภาพ ผมมองว่าเราจำเป็นต้องคิดถึงการพึ่งตัวเอง แต่ถ้าต้องการเงิน ต้องการความสุขแบบโลกๆ ที่ใครๆ ก็แสวงหา ก็ไม่จำเป็นต้องกลับมาใช้ชีวิตแบบพึ่งตัวเอง เขาสามารถดิ้นรนไปเรื่อยๆ เป็นคนที่รวยที่สุดได้ เป็นคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดได้

ถ้าเขาบอกว่าเป็นมนุษย์เงินเดือนแล้วมีความสุข

ก็โอเค เขาก็ไม่ต้องพึ่งตัวเอง ถ้าเขาสามารถมีความสุขได้จากตรงนั้น

จริงๆ แล้วชีวิตแบบมนุษย์เงินเดือน มันมีความสุขได้ไหม

จริงๆ แล้ว ความสุขของแต่ละคนมันก็มีความหมายไม่เหมือนกัน  บางคนจะสุขกับการได้กินเบียร์ นั่งดูทีวี  บางคนบอกว่าตัวเองมีความสุขจากการเห็นเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะทำงานหนักแค่ไหนก็ช่างมัน  แต่ความสุขของผมคือการมีชีวิตที่ง่าย ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่หนัก ไม่กลุ้ม อันนี้คือความสุขที่ผมมองว่ามันเป็นความสงบสุข  ดังนั้นถ้าผมต้องการตรงนี้ ผมก็จะไปตรงนั้นไม่ได้ เพราะมันเป็นชีวิตที่อยู่คนละฝั่งกัน

ความสมดุลระหว่างชีวิตที่เรียบง่าย มีความผ่อนคลาย ไม่เครียด กับการทำงานอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ และเกิดประโยชน์ มันมีหน้าตาเป็นยังไง

เราจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ทำงาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าขี้เกียจนะ มันเป็นความรู้สึกที่ไม่กดดัน รู้สึกเพลิดเพลินกับการทำนั่นทำนี่  อย่างการขุดแปลงผัก คนทั่วไปก็จะรู้สึกว่าเหนื่อย ร้อน และหนัก แต่ผมจะเพลิดเพลินกับการขุดแปลงผัก ได้เห็นว่าดินถูกพรวนขึ้นมาอย่างดี ได้รู้ว่าดินแบบนี้จะแข็ง ดินแบบนี้จะปลูกต้นนี้แล้วโตดี พอปลูกผักลงไป แล้วผมเห็นผักมันงอกขึ้นมา ผมเอาปุ๋ยมาใส่ รู้สึกว่ามันงามขึ้น ได้เก็บมากินแล้วรู้สึกว่ามันอร่อย ผมจะมีความสุขกับการได้รู้สิ่งเหล่านี้  เมื่อผมเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านี้ จะทำให้เวลาปลูกผัก ผมจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ทำงาน  การพักผ่อนที่ดีที่สุดของผมก็คือ การได้อยู่กับแปลงผัก

วิถีชีวิตของ “คนเมือง” สามารถที่จะ “พึ่งตัวเอง” ได้หรือเปล่า

คนที่อยู่ในเมือง เขาก็สามารถพึ่งตัวเองได้ แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่า การพึ่งตัวเองคืออะไร

คนมักจะเข้าใจผิดว่า การพึ่งตัวเองคือการทำอะไรเองทั้งหมด นั่นไม่ใช่การพึ่งตัวเอง แต่มันเป็นการ ‘โดดเดี่ยวตัวเอง’ มากกว่า ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่คนบนโลกนี้จะอยู่โดยไม่เกี่ยวข้องกับใครเลย

ความหมายของคำว่า “พึ่งตัวเอง” ก็คือ “การพึ่งตัวเอง” และ “การพึ่งกันเอง” ด้วย เราต้องเลิกพึ่งระบบที่มันใหญ่ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เลิกพึ่งอะไรต่างๆ ที่มันครอบงำชีวิตเราอยู่ แต่เราควรหันกลับมาพึ่งกันเอง เพื่อให้เงินมันหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ของเรามากขึ้น

คนในเมืองที่จำเป็นต้องทำหน้าที่ในเมือง เป็นข้าราชการ ทำงานบริษัท ทำงานโรงงาน ก็ทำไป แต่คนในเมืองเหล่านี้ สามารถที่จะมาพึ่งกันเองกับคนบ้านนอกได้ เช่น คนที่อยู่ในโรงเรียนในเมือง ครูก็สามารถรวมตัวกันมาซื้อข้าวกับตุ๊หล่าง (ชาวนาซึ่งปลูกข้าวอินทรีย์ ที่จังหวัดยโสธร) ไปกินได้ มันก็เกิดการพึ่งพากัน

อย่างหมู่บ้านที่ผมอยู่ ผมอาจจะเลี้ยงไก่ ผู้ใหญ่บ้านอาจจะปลูกข้าวโพด อีกบ้านก็อาจจะปลูกผัก  ถ้าผมเลี้ยงไก่ ผมก็ไปซื้อข้าวโพดของผู้ใหญ่บ้านมาเลี้ยงไก่ บ้านที่ปลูกผักก็มาซื้อขี้ไก่ของผมไปใช้ คนอื่นๆ ก็มาซื้อไข่ไก่ของผมไปกิน เงินมันจะหมุนเวียนอยู่ในหมู่บ้านนี้ ก็ทำให้ผมก็มีเงินไปซื้อข้าวโพดมาเลี้ยงไก่ คนอื่นก็มีเงินมาซื้อไข่ของผม  แต่ถ้าพวกเราไม่พึ่งกันเอง ผมไปซื้ออาหารไก่จากบริษัทข้างนอก เงินผมก็ออกไปจากชุมชน คนปลูกข้าวโพด ก็ไปขายให้คนข้างนอก ได้เงินมานิดหน่อยก็ไปซื้ออาหารข้างนอกเข้ามากิน เงินก็จะออกไปข้างนอก ชุมชนนี้ก็จะไม่มีเงินหมุนเวียน ชาวบ้านก็จะกลายเป็นคนจน

แล้วสมมุติว่าถ้าผมไปพึ่งระบบข้างนอกมากๆ เวลามีคนทำอาหารไก่ไม่ดี ผมก็ไม่รู้จะไปว่าใคร  เวลาขายข้าวโพดไม่ได้ราคา เขาก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงถึงจะได้ราคา  แต่ถ้าเรามาขายกันเอง มันก็คุยกันได้  เขามาซื้อขี้ไก่ของผม ถ้าแพงเกินไป เราก็คุยกัน แล้วลดราคาให้กันได้  ผมไปซื้อข้าวโพด ถ้ามันแพงไป เขาก็ลดราคาให้ผมได้  ถ้ามีการขายผักที่ไม่งาม มันก็คุยกันได้ว่า ปลูกให้งามได้ไหม มันคือลักษณะของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำให้ต่างคนต่างอยู่ได้  แต่ถ้าเราไปพึ่งพาข้างนอก เงินก็จะไหลออก แล้วเราก็ควบคุมอะไรข้างนอกไม่ได้  ถ้าคนในเมืองสามารถใช้ระบบนี้ได้ โดยเชื่อมกับกลุ่มที่อยู่ใกล้ๆ พวกเขาก็จะสามารถพึ่งพากันเองได้มากขึ้น

แล้วประโยชน์ของผู้บริโภคคืออะไร ในเมื่อการซื้อของจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ มันราคาถูกกว่าร้านโชว์ห่วยทั่วไปอยู่พอสมควร

ในระยะสั้น เราอาจจะต้องจ่ายเงินแพงขึ้น เพราะมันยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่พอมันแพร่หลาย ในระยะยาวมันก็จะถูกลงได้

และสิ่งที่มันดีจากการซื้อด้วยกันเองทั้งระยะสั้นและระยะยาวก็คือ เรารู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่ซื้อ รู้ประโยชน์ของมันว่ามันมีประโยชน์จริงๆ  อย่างคนที่ไปซื้อข้าวจากตุ๊หล่าง เขาก็รู้ว่าตุ๊หล่างไม่ใช้สารเคมี ตุ๊หล่างใช้พันธุ์ข้าวที่คัดเลือกมาอย่างดี และดูแลมาอย่างดี แต่ถ้าเราไปซื้อที่ห้างใหญ่ๆ ซื้อมาราคาถูกมาก แต่ข้าวเหล่านั้นก็ใช้สารเคมีอย่างมหาศาลเลย ข้าวเหล่านั้นก็มีสารอาหารน้อยลงด้วยนะ  ที่สำคัญ ทันทีที่ซื้อข้าวจากห้างใหญ่ๆ เหล่านั้น เงินของเราก็ต้องออกไปให้กับคนที่ต่างประเทศ ก็ส่งผลให้ชาวนาพึ่งตัวเองน้อยลงด้วย

วิถีชีวิตของคุณมีสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงน้อยจากการที่ไม่มีทีวี และไม่ได้บริโภคสื่อต่างๆ มากมาย  แต่กับคนอยู่ในเมืองที่ทุกๆ วันไปไหนมาไหนก็เจออิทธิพลของสื่ออยู่ตลอดเวลา แบบนี้พวกเขาจะสามารถเท่าทันสิ่งที่สื่อหลอกล่อให้บริโภคมากๆ ได้อย่างไร

จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของการสู้กับตัวเอง การพึ่งตัวเอง จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นการสู้กับข้างนอกเลย  มันเลยทำให้หลายคนทำกันไม่ค่อยได้ไง แต่ว่าถ้าทำได้ ชีวิตมันก็จะง่ายมาก  การออกจากการครอบงำของระบบบริโภคนิยม มันเป็นการทำงานที่สมองที่ใจของเรามากกว่า ถ้าเราปลดตัวเองออกจากเงื่อนไขนี้ได้ เราก็จะเป็นอิสระ โฆษณาก็จะไม่มีผลกับเราเลย  เราเดินเข้าไปในห้างใหญ่ๆ เราก็จะรู้ว่า ในนั้นไม่มีอะไรที่เราจำเป็นต้องใช้เลย แม้เขาจะให้เราฟรีๆ เราก็จะออกมาด้วยมือเปล่า เพราะเราจะไม่อยากได้อะไรเลย  ไปเห็นขนมปังแป้งขาวๆ มันก็มีแต่น้ำตาล  ไปเห็นอาหารสำเร็จรูป เราก็รู้ว่ามันมีแต่ผงชูรส มีแต่เคมีที่เอามาปรุง มีแต่เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงมาอย่างแย่มากๆ  ไปเห็นขนมต่างๆ ที่แพ็คมาอย่างดีในกล่อง เราก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายเลย  ไปเห็นเสื้อผ้าจำนวนมาก เราก็มีเสื้อผ้าใช้อยู่แล้ว เราจะเอาไปทำไมอีก  ถ้าเราเปลี่ยนความคิดของเราได้ แม้จะมีสื่อรอบข้าง แต่สิ่งเหล่านั้นมันจะไม่รบกวนจิตใจเราเลย เราจะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นคือการหลอกลวงทั้งนั้น

ถ้าคนได้มาเจอทางเลือกแบบที่คุณทำ แล้วสุดท้ายเขากลับไปสู้กับกระแสไม่ไหว คนกรุงเทพฯ จำเป็นต้องมาซื้อที่ต่างจังหวัดแบบคุณไหม

ไม่จำเป็น  และในความเป็นจริง มันจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะคนที่จะมาเปลี่ยนความคิดของตัวเองได้ มันมีเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก  เรื่องการเปลี่ยนใจคน เปลี่ยนความคิดคน มันใช้เวลานาน มันเป็นเรื่องของปัจเจกมากๆ มันไม่ใช่เรื่องของมหาชน

ความหมายของการพึ่งตัวเอง คือการเอาชีวิตตัวเองให้รอดจากระบบ แต่เราไม่สามารถเอาชีวิตคนอื่นให้รอดได้ เพราะเราเปลี่ยนความคิดคนอื่นไม่ได้  ใครที่มองเห็นภัย เห็นทุกข์จากชีวิตที่เป็นอยู่ คนนั้นก็จะแสวงหาทางออก ถ้าคนที่มองไม่เห็นทุกข์ เห็นโทษของมัน คนนั้นก็ยังเพลิดเพลินกับมันอยู่ เราไม่มีทางที่จะไปเปลี่ยนเขาได้

การ “พึ่งตัวเอง” ของคนที่อยู่ในเมือง สามารถทำได้มากกว่าลดการบริโภคไหม

การลดการบริโภค ถือว่าเป็นหัวใจหลักของการพึ่งตัวเอง และคนเมืองยังสามารถทำให้กระบวนการพึ่งตัวเองเติบโตและมีประสิทธิผลได้มากกว่าคนทั่วๆ ไป  เขาอาจจะพูดคุยกันมากขึ้น เขาสามารถกระจายข้อมูลได้ดีกว่า  ในตอนนี้ คนเข้าใจการพึ่งตัวเองในแง่ลบตลอด แง่ลบที่บอกว่า พึ่งตัวเองแล้วทำให้ชีวิตแย่ ลำบากมากขึ้น ยากมากขึ้น มันเป็นความเข้าใจที่ผิด  ที่ถูกก็คือ การพึ่งตัวเองจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น มีความสุขมากขึ้น สบายมากขึ้น มันคือความจริง

ถ้าคนเมืองทำงานเดือนหนึ่งได้เงิน 10,000 บาท ถ้าใช้ชีวิตตามปกติ เขาจะเหลือเงินเก็บไม่เท่าไร หรือไม่เหลือเลย แต่ถ้าเขามาพึ่งตัวเอง เขาอาจมีเงินเก็บถึง 5,000 บาท  แทนที่เขาจะซื้อเสื้อผ้าเดือนละครั้ง พอเขามาคิดถึงการพึ่งตัวเอง เขาก็จะลดการซื้อเสื้อผ้าเดือนละครั้งออกไป

ถ้าเขาทำอาหารกินเอง เขาซื้อผักมากิน ลดการกินเนื้อลง เลิกกินผงชูรส มันก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายของอาหารลดลง  ปกติผมไปกินอาหารข้างนอก มื้อหนึ่งก็ไม่ต่ำกว่า 100 บาทถึงจะอิ่ม  เวลาไปกรุงเทพฯ ถ้าผมไปพักบ้านเพื่อน ผมก็จะทำอาหารกินเอง ผมก็จะจ่ายแค่ 40-50 บาทเท่านั้น ซื้อผัก ซื้อวัสดุมาทำน้ำพริกนิดหน่อยก็อยู่ได้  เคยกินเหล้า ก็เลิกกิน เคยสูบบุหรี่ ก็เลิกสูบ เคยกินน้ำอัดลม ก็เลิกกิน  มันทำให้เรามีเงินมากขึ้น โดยไม่ต้องทำงานมากขึ้น  ทำให้คนที่อยู่ในเมือง สามารถมีเงินทุนมาทำร้านอาหารอินทรีย์ได้ หรือเขาอาจจะเกษียณได้เร็วขึ้น เพราะเขามีเงินเก็บมากพอ ก็จะสามารถเอาเวลาว่างมาทำอะไรอย่างอื่นได้มากขึ้น  ไม่ว่าจะคนที่อยู่ในเมือง หรืออยู่บ้านนอก มันไม่ต่างกันเท่าไร อยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับชีวิตเราได้ยังไงมากกว่า

สิ่งที่คุณพูดดูเป็นอะไรที่ตรงไปตรงมา แต่ทุกวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองดูจะไปไกลกว่าคนเหล่านั้น “ไม่รู้” แล้ว เพราะแม้บางคนจะรับรู้สิ่งเหล่านี้ แต่เขาก็ยังยอมให้ตัวเองทำงานหนักมากขึ้น เพื่อที่จะมีเงินมากขึ้นอยู่ดี ในมุมมองของคุณ จุดเปลี่ยนที่คนเหล่านั้นจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงมันอยู่ที่ตรงไหน

โดยปกติแล้ว สิ่งที่จะเปลี่ยนชีวิตคนได้จะอยู่ที่ 'วิกฤต' และสุภาษิตที่บอกว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ก็จริงมาก  ถ้าเราไม่เห็นวิกฤต เราก็จะหลงใหลไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเกิดวิกฤตขึ้นมา มันก็จะคลิกขึ้นมาได้  ถ้าคนไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นทุกข์ เขาก็จะไม่มีวันที่ออกมาจากความทุกข์

ทุกวันนี้ วิกฤตการณ์ต่างๆ ก็มีมากมาย ทั้งภัยธรรมชาติ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ฯลฯ  คุณมองว่าวิกฤตเหล่านี้ถือว่าวิกฤตมากพอหรือยัง

มากที่สุด มันก็ส่งสัญญาณมาหลายครั้งแล้ว ระบบบริโภคนิยมมันจะอยู่ได้อีกไม่นานแล้ว ทรัพยากรทั้งหลายทั้งปวงมันกำลังจะหมดลง แต่เรากลับไม่คิดที่จะลดการบริโภคลง เรากลับส่งเสริมให้คนบริโภคมากขึ้นตลอดเวลา ทุกบริษัทตั้งเป้าให้สูงขึ้นทุกๆ ปี ไม่มีแม้แต่บริษัทเดียวที่จะตั้งเป้าของตัวเองให้ลดลง มันทำให้เห็นว่า คนเรากำลังเดินไปหาหายนะเร็วขึ้น  เราไปเข้าใจผิดว่า การที่คนบริโภคมากๆ มันคือการที่คนมีความสุข ระบบทุนนิยมพูดอย่างชัดเจนเลยว่า การที่คนบริโภคมาก จะทำให้คนนั้นมีความสุขมากแต่ในความเป็นจริงแล้วมันผิด ผิดมากๆ เลย เพราะการที่คนบริโภคมาก มันยิ่งทำให้คนเป็นทุกข์มากขึ้น  เมื่อมีมาก ก็มีภาระมาก มีขยะมาก  เมื่อซื้อมาก ก็ทำให้ต้องทำงานมากพอทำงานมากขึ้น โอกาสที่จะมีความสุขก็น้อยลง ตัวเองก็เจ็บป่วย ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ตายเร็วขึ้นเรื่อยๆ เราบริโภคมาก ก็เป็นหนี้มากขึ้น มันก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก มันเป็นระบบที่หลอกลวง แต่คนก็ยังหลงใหลไปกับมัน มันเป็นภาวะที่คนถูกหลอกให้วิ่งลงเหว

ผมเคยคิดว่า ทำไมแมงเม่ามันโง่เหลือเกิน ที่บินเข้าไปในกองไฟ แต่ทุกวันนี้ ผมคิดว่าคนก็ไม่ได้ต่างจากแมงเม่า ทำไมเราต้องวิ่งไปหาความหายนะอย่างนั้น  ทำไมเราต้องเอาเวลาอันมีค่าไปทุ่มเทกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์กับตัวเรา หาเงินๆๆๆ โดยไม่ได้ดูตัวเอง คนเหล่านี้ก็ไม่ได้ต่างจากแมงเม่าเลย

ถ้าคนในประเทศไทยสามารถพึ่งตัวเองกันได้ทั้งประเทศ ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่มันจะจบลงเลยไหม

ปัญหามันคงไม่ได้หมดไป แต่ปัญหามันคงน้อยลง  ปัญหาที่ไม่ได้เป็นปัญหาจะไม่เกิดขึ้น  ปัญหาน้ำเสีย ดินเสีย มันไม่ควรจะเป็นปัญหา ถ้าเราใช้ชีวิตถูกต้อง ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น  ปัญหาราคาผลิตผลตกต่ำ มันก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้เอาตัวเองไปติดกับกลไกนั้นตลอดเวลา  สิ่งเหล่านี้มันไม่ควรจะเป็นปัญหา แต่เราไปทำให้มันเป็นปัญหาเฉยๆ

ชีวิตที่เอาแต่หาเงิน ทำให้คนในเมืองจำนวนมากมองว่า ชีวิตฉัน “ไม่มีเวลา” เลย คุณเคยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเวลาไหม

แต่ก่อนตอนอยู่กรุงเทพฯ ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเวลา แม้แต่จะไปเยี่ยมพ่อแม่ ผมยังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเวลา ในที่สุด ผมก็ถามตัวเองว่า ผมรีบไปไหน ผมทำงานให้ใคร ในเมื่อผมทำงานแทบเป็นแทบตายแล้วตัวเองไม่มีอยู่ไม่มีกิน แล้วผมจะทำไปให้ใคร  พอมาคิดดู ผมรู้สึกแย่มากที่ไม่ได้ทำอะไรให้ตัวเองเลย ผมทำงานให้คนอื่นตลอด ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อไปจ่ายค่าเช่าบ้าน ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อไปจ่ายค่าข้าวมื้อละจาน ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อที่จะมีเงินไปซื้อเสื้อผ้า มีเงินเพื่อจ่ายค่ารถเมล์ แต่มีอะไรบ้างที่ผมทำเพื่อตัวเอง ไม่มีเลย ทำทั้งปีทั้งชาติ เงินก็ไหลออกไหลออก ทำแล้วไม่ได้อะไร ผมจะทำไปทำไม  ผมก็เลยกลับบ้านที่ยโสธร คราวนี้ผมทำเพื่อตัวเองทั้งหมดเลย  ผมอยากกินผัก ก็ปลูกผัก อยากกินปลา ก็เลี้ยงปลา ทำแค่นี้ก็เลี้ยงคนอื่นได้ แม่ น้อง และหลานของผม พวกเขามีอาหารกินเหลือเฟือ ความง่ายมันอยู่ตรงนี้ (เน้นเสียง)  ผมมาใช้ชีวิตแบบนี้มันเหลือกินเลย แต่ผมไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ ตั้ง 7 ปี ทำแทบตายก็กินไม่เคยอิ่ม พอมาอยู่อย่างนี้มันคิดได้ว่าชีวิตมันง่ายแค่นี้เอง ทำงาน 30 นาทีต่อวัน แต่เลี้ยงคน 6 คนได้ แต่ 8 ชั่วโมงต่อวันในกรุงเทพฯ กลับเลี้ยงคนๆ เดียวไม่ได้

มีคำแนะนำให้มนุษย์เงินเดือนไหม ว่าจะอยู่อย่างไรให้ “มีเวลา”

ถ้าเขาอยากมีเวลา เขาลดการบริโภคลงอย่างเดียว ต้องฝึกภาวนาให้มีสติกับการใช้ชีวิตมากขึ้น ทุกครั้งที่ซื้ออะไรก็ต้องใช้สติพิจารณาตลอดว่า เราซื้อเพราะจำเป็น หรือเราซื้อเพราะชอบ  ถ้าเขาสามารถซื้อแต่สิ่งที่จำเป็นได้ ชีวิตเขาก็จะง่ายขึ้น เขาจะมีสิ่งของในบ้านน้อยลง ทำความสะอาด เก็บกวาดน้อยลง และมีเงินเพิ่มขึ้น  พอเขามีเงินในระดับที่เขาพอใจ เขาก็สามารถที่จะเลิกทำงานได้ หรือถ้าเขาอยากจะเปลี่ยนจากชีวิตในเมืองมาอยู่ที่บ้านนอก เขาก็สามารถทำได้

ณ วันนี้ คุณคิดว่าเงินเป็นสิ่งที่จำเป็นกับมนุษย์มากแค่ไหน

เงินเป็นเครื่องมือที่จำเป็นมาก (ตอบทันที) มันเหมือนการทำนาต้องใช้จอบใช้เสียม มันเป็นเครื่องมือที่จำเป็น แต่ว่าเงินไม่ใช่พระเจ้า เงินไม่ใช่ความมั่นคง ไม่ใช่ที่พึ่งพิง เพราะเงินไม่มั่นคง  เราจะไปพึ่งเงินได้อย่างไร เงินมันขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา มันมีโอกาสที่จะเฟ้อ หรือล้มละลายได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ฉะนั้น เราจะพึ่งเงินไม่ได้ เราต้องกลับมาพึ่งตัวเอง พึ่งสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ พึ่งอาหาร พึ่งผืนดินมากขึ้น อันนี้คือความมั่นคงที่แท้จริง

ฟังจากที่คุณพูด การ “พึ่งตัวเอง” ดูจะเป็นเรื่องที่ “ง่าย”  แต่เมื่อคนเมืองกลับไปเจอสถานการณ์จริงๆ มันก็ยังกลายเป็นสิ่งที่ “ยาก”  อะไรทำให้คุณคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ง่าย

สิ่งที่ทำให้ผมคิดว่ามันง่าย เพราะเมื่อผมทำแล้ว มันทำให้ชีวิตผมง่ายขึ้น  เวลาผมคิดจะทำอะไร ผมไม่ได้รู้สึกเครียด ไม่ได้รู้สึกหนักใจ ผมอยากทำอะไร ก็ทำไปเลย ไม่มีความกลัวว่าจะผิด ชีวิตถ้าเราตัดความกลัวออกไป มันจะเบา ทุกอย่างมันจะง่าย มันทำได้ทุกอย่าง  แต่ในชีวิตคนเมือง เราก็พยายามจะเอาความกลัวอัดเข้ามา เราไม่เคยพิจารณาเลยว่าความกลัวนั้นคืออะไร เราไม่เคยคิดที่จะอยู่กับความกลัว แต่เราพยายามที่จะปกปิดความกลัว  อย่างการกลัวการเจ็บป่วย แทนที่เราจะคิดถึงการดูแลตัวเอง เรากลับไปทำงานมากขึ้น เพื่อหาเงินเอาไปซื้อประกันชีวิต เอาเงินมาเก็บไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าเวลาเจ็บป่วยจะได้เข้าโรงพยาบาลดีๆ  แทนที่เราจะทำงานน้อยลง อยู่ในที่ที่อากาศดีขึ้น กินอาหารดีๆ เราไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่เรากลับไปทำงานมากขึ้น เพื่อมาหาเงินจ่ายค่าโรงพยาบาล  มันเป็นเพราะเราไม่ได้แก้ต้นเหตุของความกลัว แต่เราปกปิดความกลัวไว้เฉยๆ

อะไรถึงทำให้คุณไม่กลัวการผิดพลาดในการใช้ชีวิต

(นิ่งคิด) ผมมองว่า คนเรากว่าจะจบมหาวิทยาลัย ใช้เวลาเกือบ 20 ปี ใช้เงินเป็นล้านๆ เพื่อเรียนสิ่งต่างๆ แต่กลับไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ทำไมเราถึงยอมเสียสิ่งเหล่านั้นได้  แต่กับการทำบ้าน ทำสวน หรือทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ทำไมเรากลัวผิดเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ความผิดพลาดนั้น มันยิ่งใหญ่เหลือเกิน มันทำให้เรารู้ รู้ว่าทำไมถึงผิด ถ้าทำบ้านแล้วบ้านพัง มันคุ้มนะ มันคุ้มกว่าการไปเรียนสถาปนิกในมหาวิทยาลัยตั้ง 4 ปีอีก เพราะเรารู้ว่ามันพังเพราะอะไร เราแก้ไขอะไรได้บ้าง ผมจึงมองว่าความผิดพลาด การล้มเหลว มันเป็นสิ่งที่ดี ผมไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เลวร้าย หรือน่าอาย มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องผลักไสหรือหนีมัน แต่มันเป็นสิ่งที่เราต้องขอบคุณมัน และต้องเฝ้าดูมันด้วยความจริงจัง เพราะว่ามันให้ความรู้กับเรา

การทำบ้านพังเป็นสิ่งที่ดี เราจะได้รู้ว่าดินแบบนี้ไม่แข็งแรง หรือมันพังเพราะว่าเราปล่อยให้มันเอียงออกนอกเส้นจนเกินไป หรือว่ามันเป็นเพราะอะไร  ทำแชมพู ทำเสร็จแล้วมันไม่ข้น มันผิดเพราะอะไร มันก็ทำให้เราได้รู้ตรงนั้น  การที่ได้ทำผิด มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก  แล้วเราจะกลัวความผิดได้ยังไงในเมื่อมันดีขนาดนี้ กลัวความล้มเหลวได้ยังไงในเมื่อมันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  ผมรู้สึกว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่มาก

มันไม่ใช่วิธีที่รอบคอบกว่าเหรอ ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่าง แล้วหาข้อมูลให้เยอะๆ เข้าไว้

ในความเป็นจริง บางครั้งเราก็ไม่สามารถรอบคอบได้ทั้งหมด เพราะบางอย่างเราก็ยังไม่รู้จนกว่าจะได้ลงมือทำจริงๆ  การหาข้อมูลมากมาย มันไม่ใช่การทำให้เรารอบคอบมากขึ้นนะ แต่บางครั้งมันกลับทำให้เรายิ่งสับสนมากขึ้น เพราะข้อมูลที่มีอยู่ไม่รู้ว่ามันจริงหรือไม่จริง และทุกวันนี้ ข้อมูลส่วนมากก็เป็นข้อมูลที่เชื่อได้น้อยมาก ข้อมูลจำนวนมากเป็นข้อมูลที่มาจากความคิด ไม่ได้มาจากประสบการณ์  ฝรั่งบางคนที่เขียนตำราบ้านดินยังไม่เคยทำบ้านดินเลยด้วยซ้ำ

อย่างหลักสูตร เพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) มันถึงกับมีสอนในมหาวิทยาลัย กระจายกันไปทั่วโลก แต่ข้อมูลนี้ สักครึ่งหนึ่งมาจากความคิด มันไม่ได้มาจากประสบการณ์ ทำให้ถ้าเราจะเอาไปทำจริงๆ มันก็ทำไม่ได้  ข้อมูลเหล่านี้ มันไม่ใช่สิ่งที่น่าตื่นเต้น มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องเสียเวลาไปทุ่มเทค้นคว้ามันมามากมาย แต่ข้อมูลที่แท้จริง เราจะได้จากการ ‘ลงมือทำ’  เราจะได้ประสบการณ์จากการที่มันล้ม มันพัง มันสำเร็จ มันดี หรือไม่ดี เราก็รู้ตรงนั้นเลย

ชีวิตทั้งชีวิตของเรา มันไม่มีอะไรต้องสูญเสีย เพราะเราไม่มีอะไรเลย เราจะกลัวการสูญเสียทำไม แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็คือ เราเรียนรู้อะไรจากตรงนี้

เราทำงานหนักทั้งวัน มันอาจจะได้เงินมากมาย แต่เรากลับไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ผมว่าเงินเหล่านั้นมันก็ไม่มีความหมาย แต่ถ้าเราลงมือทำแล้วเกิดผิดพลาดขึ้นมา เรารู้ว่ามันผิดพลาดตรงไหน สิ่งนั้นมันคุ้มค่ากว่าการประสบผลสำเร็จอีกนะ เพราะว่าเราจะได้ และได้ในสิ่งที่จะไม่มีวันเสีย ก็คือเราได้ประสบการณ์ ส่วนความรู้ที่ทั้งได้จากการอ่าน การฟัง การดูความรู้ มันเป็นความจำ ซึ่งถ้าเราไม่ใช้ มันก็จะหายไป จำมากๆ ก็ปวดหัว และก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้ แต่ความรู้ที่เกิดจากการกระทำ มันเป็นสิ่งที่ติดอยู่กับเราตลอดไป

ผมเคยลงมือทำบ้านดิน แม้ผมจะไม่ได้ใช้ความรู้นี้เป็นเวลากี่ปีก็ตาม แต่ผมไปดูเมื่อไร ผมรู้เลยว่าดินนี้สามารถใช้ได้หรือเปล่า  อันนี้คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันมีค่ากว่าความรู้ในระบบการศึกษาที่ยัดเยียดให้เราอยู่ทุกวัน

แล้วความสนุกในการ “เรียนรู้ชีวิต” ของคุณมันเกิดขึ้นจากอะไร

เกิดขึ้นจากการได้เห็นอะไรใหม่ๆ สัมผัสอะไรใหม่ๆ ได้เห็นมิติใหม่ๆ ของชีวิต

เมื่อก่อน ผมเป็นโรคกระเพาะ ผมได้มาดื่มน้ำรักษาโรค ผมทึ่งมากว่าน้ำเฉยๆ มันรักษาโรคได้อย่างไร  ผมดื่มน้ำเปล่าตอนเช้า ทุกๆ วัน แค่ 3 วันเท่านั้นเอง จากที่ผมเคยเป็นโรคกระเพาะเรื้อรังมา 5 ปี กินยาแทบทุกชนิดไม่เคยหาย แต่แค่น้ำเปล่าตอนเช้า 5 แก้ว 3 วัน มันหายได้  ผมสนุกกับอะไรอย่างนี้ มันน่าสนใจ มันน่าทึ่ง  ในชีวิตเรา ถ้าได้ลองทำอะไรใหม่ๆ แบบนี้ มันก็จะมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอด ตรงนี้แหละ ที่ผมรู้สึกว่ามันคือมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง  ถ้าผมยังทำงานอยู่ในโรงงาน เขาให้ผมขันน็อต ผมก็ต้องขันน็อตอยู่ 8 ชั่วโมงต่อวัน ทำเหมือนๆ เดิมทุกๆ วัน ผมไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ผมอาจจะได้เงิน แต่ผมเสียเวลาไป แทนที่ผมจะเอาเวลานี้มารู้จักชีวิต มารู้จักตัวเอง มาเพลิดเพลินกับการมีชีวิตอยู่ แต่ผมกลับเอาเวลาไปทำอะไรเพื่อให้ได้เงินมาเฉยๆ มันทำให้ผมแค่มีที่กินที่หลับที่นอนเฉยๆ แต่การมีอยู่มีกิน มันไม่ต้องไปทำงานหนักขนาดนั้น ผมมาปลูกผักกิน ผมก็กินพอแล้ว ผมยังมีเวลาได้ฟังเสียงนกร้องเพลง ได้มีเวลาดูหนูขุดรู ได้มีเวลาเห็นอะไรตั้งมากมาย  ผมจึงมองว่าการได้เรียนรู้ความผิดพลาด การล้มเหลวต่างๆ มันทำให้ชีวิตมีความสนุก เพลิดเพลินในความหลากหลาย แต่ละวันมันมีความหลากหลายเกิดขึ้นตลอดเวลา

ทุกวันนี้มีอะไรที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำไหม

โดยรวม ผมรู้สึกว่าตัวเองได้ทำทุกอย่างที่อยากทำแล้ว ชีวิตผมคุ้มค่าแล้วที่เกิดมา ถึงจะตายวันนี้ก็ไม่เสียดาย ไม่เสียใจ รู้สึกว่าพอแล้ว  ส่วนเวลาที่เหลืออยู่ของผมตอนนี้ ก็จะทำในสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อลูกหลาน ก็คือการเก็บเมล็ดพันธุ์  และอาจจะเอื้อไปยังคนที่เหนื่อยหน่ายต่อการดิ้นรนในสังคม ผมก็เพียงอยากจะบอกว่า ชีวิตมีทางเลือก เท่านั้นเอง

พิมพ์หน้านี้ 25 มี.ค. 2554 | โดย webmaster

http://www.greenworld.or.th/greenworld/interview/1217


บันทึกการเข้า

"CHIAB"
มนุษย์เราแต่ละคน  ต่างไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไม่มีใครรู้จักกันมาก่อนเลย  แล้ววันหนึ่งก็มาพบหน้ากัน  สมมุติเป็นพ่อ  เป็นแม่  เป็นเมีย  เป็นสามี  เป็นลูก  อยู่ร่วมกัน  ใช้ชีวิตร่วมกัน และแล้ววันหนึ่ง  ก็แยกย้ายด้วยการ  "ตายจาก"  กันไปสู่  ณ  ที่ซึ่งไม่มีใครได้ตามพบ  คืนสู่ความเป็นผู้ไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไปไหน  และคืนสู่ความเป็น  "คนแปลกหน้า"  ซึ่งกันและกันอนันกาลอีกครั้งหนึ่ง...และอีกครั้งหนึ่ง!?
ขอขอบคุณ คุณเปลว สีเงิน ที่ให้ข้อคิดดีๆ

TongTang-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน985
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3404



« ตอบ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 20, 2011, 11:44:19 AM »

คลิปรายการครอบครัวเดียวกันที่ไปสัมภาษณ์ ล่าสุด


บันทึกการเข้า
b.chaiyasith
แก้ปัญหาไม่ตกคุยกันเวลางานline:chiabmillion
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน650
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3004


ไม้ดีไม่ลอยน้ำมาไกล


อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: พฤษภาคม 20, 2011, 03:58:47 PM »

 Lips Sealedอีกมิติของแนวคิดที่ดี ขอบคุณที่เอาสิ่งดีๆมาฝาก Smiley ขอบคุณ
บันทึกการเข้า

"CHIAB"
มนุษย์เราแต่ละคน  ต่างไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไม่มีใครรู้จักกันมาก่อนเลย  แล้ววันหนึ่งก็มาพบหน้ากัน  สมมุติเป็นพ่อ  เป็นแม่  เป็นเมีย  เป็นสามี  เป็นลูก  อยู่ร่วมกัน  ใช้ชีวิตร่วมกัน และแล้ววันหนึ่ง  ก็แยกย้ายด้วยการ  "ตายจาก"  กันไปสู่  ณ  ที่ซึ่งไม่มีใครได้ตามพบ  คืนสู่ความเป็นผู้ไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไปไหน  และคืนสู่ความเป็น  "คนแปลกหน้า"  ซึ่งกันและกันอนันกาลอีกครั้งหนึ่ง...และอีกครั้งหนึ่ง!?
ขอขอบคุณ คุณเปลว สีเงิน ที่ให้ข้อคิดดีๆ
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media Free Web Counter
Valid XHTML 1.0! Valid CSS! Dilber MC Theme by HarzeM