ผ่าปัญหาสินค้าเกษตรจมบาดาล จุดเปลี่ยนรัฐบาลเร่งซื้อใจเกษตรกร
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
เมษายน 20, 2024, 03:51:32 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ผ่าปัญหาสินค้าเกษตรจมบาดาล จุดเปลี่ยนรัฐบาลเร่งซื้อใจเกษตรกร  (อ่าน 1530 ครั้ง)
Nattawut-LSV Team
E23IUY
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน808
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3581


อีเมล์
« เมื่อ: ตุลาคม 26, 2010, 06:13:46 AM »



ณ เวลานี้ ไม่มีข่าวใดคอยสะกดหัวใจคนไทย เกินไปกว่าข่าวน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดจนกลายเป็นเมืองบาดาล เหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นหนนี้นับว่ารุนแรงสุดในรอบหลายสิบปี สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้โชคร้ายประสบเคราะห์กรรม และความอนาทรร้อนใจถึงพี่น้องคนไทย ที่ส่งใจบริจาคข้าวของ เครื่องใช้คอยช่วยเหลืออีกหลายสิบล้านคน 

ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ

    พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่นอกจากอยู่ในเขตชุมนุม บ้านเรือน ที่พักอาศัย จนสร้างความเดือดร้อนถึงความเป็นอยู่ของคนทั่วไปแล้ว พื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตรก็เป็นอีกจุดหนึ่ง ที่ถูกน้ำท่วมขังสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตการเกษตร ทั้งพืชไร่และพืชสวนไม่แพ้กัน จากข้อมูลล่าสุดการสำรวจของกระทรวงพาณิชย์ พบใน 33 จังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมีถึง 11 จังหวัด ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรงจนกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตร ได้แก่ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ ปราจีนบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสระแก้ว

    11 จังหวัดเหล่านี้มีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และมีการเพาะปลูกสินค้าเกษตรจำนวนมาก ทั้งพืชสวน พืชไร่ เช่น ผัก ผลไม้ หรือจะเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างข้าว มันสำปะหลัง  จึงมีความกังวลตามมาว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อภาคการเกษตร และกระทบต่อแหล่งอาหารใหญ่ของคนในประเทศ รวมถึงเส้นเลือดใหญ่ของรายได้ ที่คอยหล่อเลี้ยงเกษตรกรตามมาด้วย

    ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ต่อ   ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่มูลค่า 7,700-10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายของภาคเกษตรกรรม พืชไร่ พืชสวน และปศุสัตว์ 2,600 ล้านบาท ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม 600 ล้านบาท ภาคบริการและการท่องเที่ยว 1,200 ล้านบาท ทรัพย์สินราชการ 2,000 ล้านบาท ทรัพย์สินเอกชน 1,000 ล้านบาท อื่น ๆ 300 ล้านบาท และกระทบต่อจีดีพีระดับ 0.08%      ขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายสูงสุด รายงานข้อมูล ณ วันที่ 18 ต.ค. 53 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่ามีพื้นที่ได้รับความเสียหายด้านภาคการเพาะปลูกพืช 11 จังหวัด ที่นาปลูกข้าว 765,205 ไร่ พืชไร่ 177,795 ไร่ พืชสวนและ   อื่น ๆ 17,080 ไร่ มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 89,834 ราย ส่วนความเสียหายด้านประมงมี 9 จังหวัด เกษตรกรเดือดร้อน 4,833 ราย แบ่งเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 5,456 ไร่ และกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ 100 ตารางเมตร และความเสียหายด้านปศุสัตว์ 4 จังหวัด สัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบ 303,624 ตัว

ราคาผักสด ผลไม้แพงขึ้น

    ความเสียหายทางผลผลิตของสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้น เริ่มส่งผลกระทบให้เห็นทันตาจากราคา พืช ผักสวนครัว ที่เป็นพืชล้มลุกในตลาดสดขยับราคาขึ้นอย่างรวดเร็วเฉลี่ย กก. ละ 3-5 บาท เนื่องจากสวนผักหลายแห่งโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ชัยนาท ได้รับความเสียหาย ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลด สวนทางกับราคาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นชัดเจน เพราะปกติพอหลังช่วงเทศกาลกินเจแล้ว ราคาผักจะปรับลดลง แต่ปีนี้ราคากลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง     เปรียบเทียบข้อมูลก่อนหน้านี้ รายงานข้อมูลราคาอาหารสดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลของกรมการค้าภายในระบุ ราคาผักผลไม้ช่วงกินเจเมื่อต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มีราคาสูงขึ้น กก. ละ 5-20 บาท และเมื่อผสมโรงเข้ากับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นทำให้ ราคาผักทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง อาทิ คะน้า กก.ละ 32-35 บาท ผักบุ้งจีน 25-28 บาท กวางตุ้ง 25-28 บาท ผักกาดหอม 52-55 บาท ผักกาดขาวปลี 18-20 บาท กะหล่ำปลี 18-20 บาท มะเขือเทศสีดา 22-25 บาท แตงกวา 18-20 บาท หน่อไม้ฝรั่ง 90-92 บาท ข้าวโพดฝักอ่อน 36-40 บาท  สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ไม่ปกติ

    วัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน ยอมรับว่า สถานการณ์น้ำท่วมได้สร้างความเสียหายต่อสวนผักของเกษตรกร จนทำให้มีผลผลิตน้อยและถูกส่งเข้ามายังตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดไท รังสิต ลดลง โดยขณะนี้มีรายงานว่าราคาผักที่ตลาดไทปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว 15% และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีก หากสถานการณ์จากนี้ไปสัก 1 สัปดาห์ ยังไม่คลี่คลาย     แต่ปัญหาราคาผักสวนครัวเชื่อว่า น่าจะปรับให้อยู่ในระดับเหมาะสมได้ในไม่ช้า เพราะผักสวนครัวส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก และรอบในการเพาะปลูกช่วงสั้น ๆ น่าจะมีผักรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดได้ในไม่ช้า ขณะที่ช่วงราคาผักสูงก็อาจหันไปบริโภคผักชนิดอื่นแทนได้ ดังนั้น ปัญหาพืชผักสวนครัว ยังไม่น่ากระทบต่อผู้บริโภครุนแรงนัก     แต่ที่น่าห่วงกว่าก็คือผลกระทบในส่วนของพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศอย่างมันสำปะหลังและข้าว ที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว แต่กลับมาโดนปัญหาน้ำท่วมทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ และหากน้ำท่วมนานก็จะประสบปัญหาเน่าเสียได้อีก ที่สำคัญพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ เช่น นครราชสีมา เป็นพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังใหญ่สุดของไทย ขณะที่พื้นที่ภาคกลาง ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา จัดเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวสำคัญของประเทศ

สถานการณ์ข้าว-ข้อเรียกร้อง

    มีการประเมินว่าผลผลิตข้าวเปลือกปีนี้มีประมาณ 31-32 ล้านตันข้าวเปลือก หรือสีเป็นข้าวสารได้  19-20 ล้านตัน ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเก็บเกี่ยวนาปี “ประสิทธ์ บุญเฉย” นายกสมาคมชาวนาไทย มองว่าได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวที่เริ่มออกในเดือน ต.ค. นี้แล้วประมาณ 20-25% หรือปริมาณ 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ยังไม่กระทบต่อราคาข้าวและความต้องการบริโภคข้าวในประเทศนัก แต่หากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องถึงเดือน พ.ย. ผลผลิตเสียหายมากขึ้น ก็อาจเริ่มกระทบบ้างต่อความต้องการและราคาข้าวที่สูงขึ้น แต่เชื่อว่าคงไม่มาก เพราะสต๊อกข้าวรัฐยังมีอยู่มากและภาวะส่งออกยังทรงตัว

    ข้อเรียกร้องเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาในระยะยาว คณะกรรมการบริหารข้าวเปลือกร่วมกับสมาคมฯกำลังหารือทบทวนการกำหนดราคาประกันรายได้เกษตรกรใหม่ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ เพราะวิธีการเดิมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่คิดคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์จากต้นทุนผลิตและดำเนินการของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุนจากการทำนา โดยจะปรับมาใช้การตั้งราคาบนพื้นฐานรายได้ที่เกษตรกรอยู่ได้จากการได้รับเงินชดเชยประกันรายได้ โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ครั้งต่อไป ไม่เกินต้นเดือน พ.ย.นี้

    ฝั่งตัวแทนจากโรงสี “ชาญชัย รักษ์ธนานนท์” นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย มองว่าน้ำท่วมไม่กระทบต่อสต๊อกโรงสีมากนัก เพราะอยู่ในช่วงปลายฤดูกาล และส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เจอน้ำท่วม เฉพาะในโคราชจะเป็นพื้นที่บรรจุข้าวถุงอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ไม่น่าจะมีผลต่อราคาข้าวในประเทศที่สูงขึ้น

    ข้อเสนอรัฐบาลควรเร่งการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ก่อนผลผลิตใหม่ออกสู่ตลาดในช่วง 4 เดือนข้างหน้า (พ.ย.-ก.พ.) ซึ่งมีปริมาณถึง 65% ของผลผลิตทั้งหมด หรือคิดเป็นปริมาณข้าวเปลือก 23 ล้านตัน แต่การส่งออกข้าวไทยต่อเดือนยังไม่ถึง 1 ล้านตัน  อาจทำให้เกิดภาวะข้าวล้นตลาดได้

    “ตอนนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะระบายข้าว เพราะประเทศส่งออกสำคัญเกิดภาวะช็อก ข้าวขาดแคลน ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย จากภาวะน้ำท่วม ทำให้ข้าวเปลือกเพื่อแปรเป็นข้าวนึ่งมีความต้องการสูง ทำให้ดันราคาข้าวสารเพิ่มอีกตันละ 500 บาท ข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 300 บาท และประเทศนำเข้าที่ถูกกระทบจากภัยธรรมชาติและสต๊อกในประเทศลดลง ทำให้ความต้องการซื้อสูงและสามารถต่อรองราคาเพิ่มได้ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ได้เพื่อชดเชยค่าบาทแข็ง”

    ขณะที่ผู้ส่งออกข้าว “กอบสุข เอี่ยมสุรีย์” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เชื่อว่าปัญหาน้ำท่วมไม่ส่งผลกระทบต่อราคาข้าว เพราะปริมาณความเสียหายไม่ได้สูงมาก แต่ระดับราคาที่จะเพิ่มขึ้นมาจากเงินบาทแข็งค่ามากกว่า แต่ยอมรับว่าการส่งออกข้าวปีนี้อาจไม่ถึง  เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 8.5 ล้านตัน เพราะปริมาณส่งออกข้าว 9 เดือนรวม 6 ล้านตัน หากจะให้ได้ตามเป้าหมายต้องส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะการส่งออกข้าวขณะนี้ประสบปัญหาราคาปรับเพิ่มขึ้นจากเงินบาทแข็งค่า      ด้าน “สมพงษ์ กิตติเรียงลาภ” ประธานบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ส่งผลต่อราคาข้าวให้ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลทางจิตวิทยา แต่หลังน้ำท่วมพื้นดินจะอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกข้าวใหม่ได้และใช้เวลาเพียง 2-3 เดือนก็จะมีข้าวออกสู่ตลาดอีก ดังนั้นรัฐควรใช้จังหวะที่ราคาข้าวขึ้นบริหารจัดการให้ราคาอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่อง เพื่อส่งผลกลับไปสู่ชาวนาบางส่วน ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย

    ส่วนข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุ ได้รับผลกระทบน้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ และมีข้าวสต๊อกรัฐบาลหลายคลังเสียหายเบื้องต้นประมาณ 30,000 กระสอบ และ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบเพิ่มเติม แต่เบื้องต้นทุกคลังได้ทำประกันความเสี่ยงไว้อยู่แล้ว ซึ่งจะรอผลสรุปตัวเลขความเสียหายอีกครั้ง

        “ยรรยง พวงราช” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังประเมินได้ลำบาก เพราะยังไม่ทราบความเสียหายผลผลิตชัดนัก แต่หากข้าวเสียหาย 1-2 ล้านตันข้าวเปลือก ก็ถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับนาปีที่จะออกทั้งหมด 24 ล้านตัน และผลผลิตข้าวเปลือกทั้งปี 32 ล้านตัน ดังนั้น ปริมาณผลผลิตทั้งปียังน่าจะโอเคดีอยู่ ส่วนราคาก็อาจจะเพิ่มขึ้นบ้างในระยะสั้น ๆ แต่ระยะยาวก็ยังยืนตัวอยู่ได้

    เท่ากับว่าในอุตสาหกรรมข้าว ณ ตอนนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมมากนัก เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เสียหายยังน้อย เมื่อเทียบกับผลผลิตทั้งปี และน้ำท่วมไม่ใช่เหตุผลที่จะกระทบให้ราคาข้าวเปลือกกลับมาสูงขึ้นได้ หรือเป็นปัจจัยใหม่ที่กระทบต่อตลาดข้าวโลก ทำให้ผลผลิตข้าวโลกลดลง จนเกิดการแย่งกันซื้อข้าวเหมือน 2-3 ปีที่ผ่านมา

สถานการณ์มันสำปะหลัง-ข้อเรียกร้อง

    ตลอดปีนี้ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย ประเมินว่าไทยจะมีผลผลิตมันสำปะหลังทั้งปี 21 ล้านตัน และการที่น้ำท่วมใหญ่ในนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังใหญ่ที่สุดของประเทศก็ถือเป็นเรื่องน่าห่วง แต่โชคดีที่เนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง ส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ราบสูงจึงไม่ถูกน้ำท่วมขังนัก ดังนั้นผลผลิตมันจึงไม่กระทบ  และเชื่อว่าราคายังทรงตัวระดับสูงต่อไป เพราะความต้องการใช้มันสำปะหลังทั้งในและต่างประเทศยังมีอยู่สูงมาก

    “เสรี เด่นวรลักษณ์” นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย ให้ความเห็นเสริมว่า จังหวัดปลูกมันใหญ่ ๆ อย่างในนครราชสีมา ชัยภูมิ ปราจีนบุรี ลพบุรี ต่างถูกปัญหาน้ำท่วมหมด แต่เท่าที่ทราบผลผลิตยังเสียหายไม่มากและไม่น่ากระทบต่อตลาด รวมถึงราคาโดยรวมนัก เพราะถึงอย่างไรปีนี้ทั้งปีราคามันน่าจะทรงตัวระดับสูงเกิน กก.ละ 3 บาทต่อไป หลังจากความต้องการในตลาดโลกยังมีมาก ทั้งมันเส้นที่จีน ต้องการนำเข้าไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ หรือแป้งมันสำปะหลังที่หลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย มีความต้องการนำเข้าไปใช้ผลิตอาหาร และกระดาษ     แต่สิ่งที่ห่วงก็คือ หากระบายน้ำออกไม่ทัน และน้ำท่วมเป็นเวลานานอาจทำให้หัวมันเน่าได้ ทำให้หลังจากนี้เกษตรกรบางส่วนอาจต้องเข้าไปขุดหัวมันออกมาขายก่อนกำหนด เพื่อไม่ให้หัวมันเน่า แต่ก็จะทำให้เชื้อแป้งในหัวมันมีน้อยกว่าปกติ ทำให้ขายได้ราคาถูกลง ซึ่งถือเป็นจุดที่รัฐบาลน่าจะเข้าไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนไม่ให้ขาดทุน โดยดูเป็นราย ๆ ไป ขณะเดียวกันควรควบคุมกลุ่มพ่อค้าไม่ให้นำผลกระทบจากน้ำท่วม มาเป็นข้ออ้างในการกดราคารับซื้อหัวมันจากเกษตรกรด้วย แนวทางช่วยเหลือจากภาครัฐ

    แนวทางการแก้ไขของภาครัฐในขณะนี้ มุ่งเน้นที่การแก้ปัญหาระบายน้ำออกจากพื้นที่ และดูแลความเป็นอยู่ปากท้องของประชาชนซึ่งถือเป็นปัญหาเร่งด่วนอันดับแรก ดังนั้น นโยบายการดูแลปัญหาภาคเกษตรจึงยังไม่ถูกโฟกัสเต็มที่นัก แต่สิ่งที่พี่น้องเกษตรกรต้องการเห็น นอกจากการช่วยเหลือด้านเม็ดเงินผ่านการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ผ่านการชดเชยรายได้ การหาตลาดสินค้าให้แล้ว

    การเพิ่มประสิทธิภาพให้โครงการประกันรายได้ก็ถือเป็นอีกหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะการยืดหยุ่นในการปรับเกณฑ์ราคาอ้างอิง และการควบคุมกำหนดความชื้น เพราะเชื่อว่า ปัญหาความชื้นในข้าว จะถูกพ่อค้าใช้เป็นข้ออ้างในการกดราคารับซื้อข้าวจากชาวนาอย่างแน่นอน ซึ่งหากรัฐบาลไม่มีมาตรการเข้ามาดูแลรองรับ ก็จะทำให้เกิดส่วนต่างของราคาประกัน กับราคาตลาดเกิดขึ้น และกลายเป็นภาระให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณชดเชยส่วนต่างของราคาข้าวอย่างมาก ขณะที่ตัวชาวนาก็จะขาดเงินหมุนเวียนเพราะได้รับเงินจากการขายข้าวน้อยลง และส่วนชดเชยจากภาครัฐก็ยังจ่ายให้ล่าช้า บางรายรอนานถึง 2 สัปดาห์ก็มี

    แนวทางต่อมา ก็คือการควบคุมราคาของสินค้ารายการที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกทำการเกษตร ไม่ให้ฉวยโอกาสปรับสูงขึ้นเกินไป  เพราะหลังน้ำลด เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย คงหันมาจับ จอบ จับเสียม ขุดดินทำนา ทำไร่ใหม่ ดังนั้น รัฐควรดูแลไม่ให้ ราคาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช หรืออุปกรณ์การเกษตรปรับขึ้นจนกลายเป็นภาระแก่ผู้บริโภค

    “พรทิวา นาคาศัย” รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้เร่งประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลสินค้าเกษตร ให้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะการจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ต้องทำให้รวดเร็วขึ้น ไม่เช่นนั้นเกษตรกรจะขาดเงินหมุนเวียน ขณะเดียวกันมอบหมายให้กรมการค้าภายในดูแลราคาปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืชให้ปรับลดลง และไม่ให้กักตุนหรือโก่งราคาขายในช่วงที่เกษตรกรต้องการใช้มาก ขณะเดียวกัน มีแผนเสนอของบประมาณจาก ครม. อีก 500-1,000 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบ ในการช่วยเชื่อมโยงนำสินค้าเกษตรมาจำหน่าย เพื่อเป็นการเปิดตลาด และเพิ่มช่องทางการขายใหม่ให้เกษตรกร ป้องกันไม่ให้เกิดการกดราคาเข้ารับซื้อ

    ปัญหาน้ำท่วมที่มีต่อด้านการเกษตร จึงถือเป็นการบ้านสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่รัฐบาลต้องเร่งสะสาง เพราะนอกจากจะเป็นหน้าที่โดยตรงแล้ว ยังเป็นเหมือนบันไดพิเศษช่วยรัฐหาเสียงได้ด้วย  ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาจุดอ่อนของรัฐบาลชุดนี้อยู่ที่ฐานเสียงจากต่างจังหวัด งานนี้น้ำท่วมหากรัฐบาลทำดี ทำงานได้เร็ว ก็มีสิทธิซื้อใจได้เสียงกลับคืนมา แต่หากทำงานล่าช้า ไม่เข้าเป้าอีก คราวนี้ก็ตัวใครตัวมันละกัน. ทีมเศรษฐกิจ       



บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!