"กรมอุตุฯ" ออกประกาศเตือน 6 จังหวัด ภาคกลางระวังน้ำท่วมน้ำล้นตลิ่ง 1-3 วันนี้ ขณะภาคกลาง ตะวันออกและใต้ ฝนยังตกหนาแน่น ด้าน สมิทธ ยันภาคใต้เกิดภัยพิบัติแน่ระบุ รุนแรงกว่าหลายเท่า นักวิชาการเผย ใน หลวง ทรงห่วงวิธีคิดแก้น้ำท่วม แนะใช้สวนส้มร้างปทุมธานีเป็นแก้มลิงกันน้ำท่วมกรุง
เมื่อเวลา 11.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัย ฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน ฉบับที่ 14 (154/ 2553) ลงวันที่ 5 ต.ค. ระบุว่า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณทะเลจีนใต้ตอน บน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย บริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และที่ราบลุ่มบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งที่อาจเกิดขึ้นในระยะ 1-3 วันนี้
ที่ จ.ศรีสะเกษ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู ต.ห้วยติ๊กชู อ.ภูสิงห์ ซึ่งอยู่ติดกับเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา ได้เพิ่มระดับสูงขึ้นจนล้นประตูระบายน้ำไหลเข้าท่วมไร่นาของเกษตรกรในหลายอำเภอ ทั้งนี้ นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว นายอำเภอภูสิงห์ กล่าวว่า ตนได้ออกประกาศเตือนให้ชาวบ้านเฝ้าสังเกตปริมาณน้ำทุกวันหากพบความเปลี่ยนแปลงให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยอพยพออกจากพื้นที่
ส่วนที่ จ.สมุทรสงคราม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องไหลรวมกับน้ำที่ไหลลงจากเทือกเขาตะนาวศรี ส่งผลให้ปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงปลาสลิด นากุ้งของเกษตรกรในพื้นที่ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา สูงขึ้นส่งผลให้ปลาและกุ้งที่เลี้ยงไว้หลุดหนีหายไป ต่อมานายเกรียงวิทย์ ไกรพวิมล นายอำเภออัมพวา ได้เดินทาง ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเสียหายและประกาศให้พื้นดังกล่าวเป็นพื้นที่ภัยพิบัติและขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทางด้าน จ.ราชบุรี ศ.นพ.ดำรง เหรียญ ประยูร รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นผู้แทน พระองค์นำถุงยังชีพพระราชทานจำนวน 65 ชุดมามอบให้พระภิกษุสงฆ์และอีก 930 ชุดให้กับประชาชนในเขตอำเภอสวนผึ้ง จ. ราชบุรี ที่ประสบอุทกภัย จากนั้นได้เดินทางไปตรวจสะพานข้ามห้วยลำพระ หมู่ 11 ต.บ้านบึง อ.บ้านคา เพื่อตรวจสอบความแข็งแรง ขณะฝนยังคงตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ไก่ในฟาร์มของเกษตรกรจมน้ำตาย กว่า 1,000 ตัว บ้านเรือนถูกน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร ขณะที่หมู่ 2-3 หมู่บ้านตาก ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี น้ำท่วมทางเข้าหมู่บ้าน กว่า 50 หลังคาเรือน ทางกรมการทหารช่าง จ.ราชบุรี ได้นำเรือท้องแบนเข้าไปช่วยเหลือออกมาอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว ขณะที่ จ.สุพรรณบุรี ฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ อ.ด่านช้าง อ.หนองหญ้าไซ อ.เดิมบางนางบวช ไหลเข้าท่วมไร่อ้อย นาข้าว เสียหายนับพันไร่ รวมทั้งถนน บ้านเรือนประชาชนอีกกว่า 100 หลังคาเรือน โดยระดับน้ำสูงกว่า 150 ซม. ชาวบ้านหลายรายต้องขนย้ายสิ่งของออกมานอนบนพื้นผิวถนน เช่นเดียวกับชาวบ้านใน 5 ตำบลของ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เกือบ 50 ชีวิต ที่ต้องหนีน้ำขึ้นนอนบนท้องถนน ด้าน จ.กาญจนบุรี นายณัฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผวจ.ได้ออกตรวจความเสียหายบ้านเรือนประชาชนหลังถูกน้ำท่วม และสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกช่วยเหลือแล้ว
ที่ จ.เชียงราย นายสมชัย หทยะตันติ ผวจ.เชียงราย เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าเหตุดินถล่มบนดอยแม่สลอง บ.แม่สันติคีรี หมู่ 1 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง ที่เกิดรอยแตกและดินยุบเป็นทางยาวกว่า 300 เมตร ลึกลงไปในดิน 70-80 ซม. ว่ามีบ้านเรือนเพิ่มอีก 4 หลัง รวมทั้งร้านค้าสะดวกซื้อมีรอยแตกร้าว แต่ยังไม่เสียหายหรือพังทลาย ซึ่งได้ประกาศเป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง เขตควบคุมอาคาร ห้ามต่อเติม ขยายอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะนี้ ได้ให้ อบจ. เชียงราย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ พัฒนาสังคมฯ (พม.) เข้าช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนในเบื้องต้น และจะอพยพผู้คนไปอยู่ในหมู่บ้านอื่นชั่วคราว วันเดียวกันที่รัฐสภา นายสมิทธ ธรรม สโรช กรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวยอมรับว่ามีโอกาสเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้จริง เพราะปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่มีส่วนเกื้อหนุนกัน และรุนแรงกว่ารอบแรกหลายเท่า แต่จะรุนแรงหรือสร้างความเสียหายเท่าไรนั้น ตนไม่สามารถคาดเดาได้ แต่รอบ 2 นี้ คงไม่ต้องย้ายบ้านหนี เพื่อลดความเสียหาย เมื่อถามว่าจะป้องกันอย่างไร นายสมิทธ กล่าวว่า สำคัญอยู่ที่ระบบสัญญาณเตือนภัย ที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพเต็มร้อย ขณะที่ พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญขณะนี้คือภัยธรรมชาติในพื้นที่ 26 จังหวัดที่กองทัพภาคที่ 1 รับผิดชอบกำลังมีปัญหาหลายจังหวัด ทั้ง เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง โดยสั่งการให้กำลังพลที่อยู่ในพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนเต็มขีดความสามารถโดยประสานกับทางจังหวัด ทั้งในเรื่องของการนำสิ่งของไปช่วยเหลือ การขนย้ายประชาชนที่ติดอยู่ในพื้นที่ประสบภัย การสร้าง-ซ่อมสะพานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
ที่สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนาเรื่อง วิกฤติ น้ำท่วมประเทศไทย...แค่ไหน? ปัญหาทางออก เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา 36 ปี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ โดยนายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวถึงการจัดการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงความเป็นอยู่ของประชาชนและอยากให้ประชาชนของพระองค์ท่านมีความสุข ตนขออัญเชิญกระแสพระราชดำรัส เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ที่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ซึ่งโครงการในพระราชดำริได้เกิดขึ้นจากจุดนี้ทั้งนั้น ทั้งนี้คำว่า ธรรม คือ ความเสมอภาค ความสมดุล ถ้าเมื่อไรที่สิ่งแวดล้อมสมดุล เสมอภาคดูแลเกื้อกูลกันได้ เราจะไม่ประสบปัญหามากขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือทั้งโลก ถ้าดินน้ำลมไฟ มีความสมดุลในตัวของมันเองก็สามารถปรับตัวได้ ผลกระทบจะมีไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือภาวะโลกร้อน แนวคิดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานลงมาให้ กปร. มีมากถึง 3,000-4,000 โครงการ เป็นโครงการแหล่งน้ำ 2,300 กว่าโครงการ ต้องรู้สภาพน้ำ สภาพภูมิสังคม ถึงจะจัดการได้ ที่สำคัญงานเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่งานระหว่างกรม หรือ กระทรวง แต่เป็นงานระดับประเทศ จึงต้องมีองค์กรกลางเข้ามาบริหารจัดการ เป็นเรื่องสำคัญของภาครัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ นายเฉลิมเกียรติ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุด ถ้าน้อมนำเอาแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่การบริหารจัดการป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลงมา ปัญหาการจัดการน้ำจะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราทำวันนี้ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จ ตนเพิ่งเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่าน รับสั่งว่าตอนนี้อันดับแรกคือจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำต่างคนต่างคิด เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องการใช้ผลของการศึกษาวิจัย อย่าไปคิดว่าการปฏิบัติงานในส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ได้ผลทันทีในอีกที่หนึ่ง ต้องวิจัย และศึกษาอย่างละเอียดก่อนนำไปปรับใช้ ด้านนายรอยล จิตรดอน ผอ.สถา บันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวถึงการวางแผนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า การบูรณาการแก้ปัญหาน้ำในเวลานี้ เป็นการบูรณาการกิจกรรม แต่หลักคิดไม่เหมือนกันเลย คำว่าบูรณาการจะเกิดขึ้นได้ ต้องบูรณาการหลักคิดก่อน ถ้าหลักคิดไม่ตรงกันจะไปคนละทิศ ถ้าเชื่อคนละอย่างการแก้ปัญหาก็จะออกมาคนละอย่าง และหลักคิดหนีไปจากข้อเท็จจริงไม่ได้ ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใย ในปัญหาเรื่องน้ำมาก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงวิธีคิดและการใช้ข้อมูล เรื่องที่ทำสำเร็จแล้วอย่าด่วนนำไปใช้เป็นทฤษฎี นอกจากนั้นพื้นที่ที่พระองค์ทรงห่วงเป็นพิเศษคือภาคกลาง เพชรบุรี ราชบุรี และภาคเหนือตอนล่าง สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. นั้น ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ และสวทช. ได้ทำการศึกษาทดลองแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยไม่ใช้เงิน โดยการใช้พื้นที่สวนส้มร้างในเขต จ.ปทุมธานี ซึ่งมีทั้งหมด 1.5 แสนไร่ มาเปลี่ยนเป็นสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งปาล์มเป็นพืชที่ทนน้ำท่วมได้ถึง 1 เดือน หากใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำจาก กทม.ก็จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้
ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้จัดสัมมนา เรื่อง กรุงเทพใต้น้ำ โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน กล่าวว่า สำหรับปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปัจจุบัน พบว่าเกิดจากการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเร็ว ๆ นี้ตนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะฟ้องร้องผู้บริหารสนามบินสุวรรณภูมิ แม้รู้ว่าในทางปฏิบัติจะหวังผลยาก เพราะเป็นโครงการของรัฐได้มีการก่อสร้างไปแล้ว ด้านนายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทร สงคราม กล่าวว่า ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งโดยเฉพาะชายฝั่งบางขุนเทียนทำไม่สำเร็จ เพราะคนทำงานรู้จักการทุจริต คอร์รัปชั่น เช่น โครงสร้างไส้กรอกทราย ส่วนการแก้ ปัญหาของ กทม. ไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้สร้างเครือข่ายป้องกันน้ำท่วมในแนวนอน ด้วยการนำคลองในพื้นที่ต่าง ๆ มาเป็นส่วนช่วยป้องกันน้ำท่วม ปัจจุบัน กทม.ได้สร้างประตูปิดตายตามคลองต่าง ๆ โดยไม่เข้าใจ ระบบหลักน้ำขึ้น น้ำลง ส่วนการสร้างคันกั้นน้ำเจ้าพระยา ตนมองว่าเป็นการสู้ศึกที่ไม่มีทางชนะ นายสมิทธ ธรรมสโรช กรรมการมูล นิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ตนยืนยันว่า กทม. มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ประมาณ 0.50-1 เมตร เป็นเวลายาวนานอย่างแน่นอน และที่สำคัญพื้นที่ที่ติดกับชายฝั่งทะเล อาทิ จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรสงคราม ที่มีโรงงานกว่า 10,000 แห่ง ตั้งอยู่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด และอาจจะเกิดภาวะคนตกงานนับ 100,000 คน อย่างไรก็ตามจากการไปสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ พื้นที่เกียกกาย ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตนรู้สึกเจ็บใจ เพราะมูลค่าการสร้างนับ 10,000 ล้านบาท สร้างเสร็จน้ำก็ท่วมพอดี ตนไม่เข้าใจทำไมไม่เลือกสร้างที่สูงกว่านี้ โดยขอแนะนำให้กทม. ทำประตูระบายน้ำปิดปากอ่าวแม่น้ำ 4 อ่าว เช่น บางปะกง และสร้างแก้มลิงในพื้นที่ กทม. ตนเชื่อว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. ได้อย่างแน่นอน.