เป็นข้อมูลในเชิงเปรียบเทียบครับ


การลงทุนและผลตอบแทนในการเลี้ยงเป็ดไข่
ธำรงศักดิ์ พลบำรุง
นักวิชาการสัตวบาล 8 ว. กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์
เนื่องจากการเกิดโรคไข้หวัดนกระบาดในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2547 ทำให้สัตว์ปีกของเกษตรกรตายเนื่องจากการติดเชื้ออย่างเฉียบพลันและถูกทำลายเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคจำนวนมาก นอกจากนั้นความรุนแรงของโรคที่ติดต่อไปยังคนทำให้มีผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วย ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากต่างประเทศระงับนำเข้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากประเทศไทย
การศึกษาทางระบาดวิทยายืนยันว่า สัตว์ปีกที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะ ไก่พื้นเมือง และเป็ดไล่ทุ่ง เป็นพาหะสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก เห็นได้จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกนั้น เป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองและเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งจำนวนมาก
ขณะนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ตระหนักถึงอันตรายและความสูญเสียที่จะเกิดตามมาหากโรคไข้หวัดนกระบาดขึ้นรอบใหม่ จึงให้ความร่วมมือ กำจัดปัจจัยที่จะโน้มนำให้เกิดโรค รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนระบบการเลี้ยงสัตว์ โดยให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและการป้องกัน ควบคุมโรคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกษตรกรต้องคำนึงถึงอีกเรื่องหนึ่งคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หากต้นทุนสูงเกินไป ลงทุนมากเกินไป ก็เกินความสามารถของเกษตรกร เมื่อวิเคราะห์การลงทุนกับผลตอบแทนแล้ว เกษตรกรบางราย อาจปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น
การวิเคราะห์ต้นทุนการเลี้ยงเป็ดไข่นี้ ใช้ผลการศึกษาวิจัยตามหลักวิชาการ ประกอบกับการประมาณการแนวโน้มในอนาคต เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความเป็นจริง สำหรับเกษตรกรใช้ประกอบในการตัดสินใจ และศึกษาความเหมาะสมในการปรับเปลี่ยนระบบการเลี้ยงเป็ด อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ณ วันนี้ วิธีการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดจะต้องเลี้ยงในพื้นที่จำกัด มีโรงเรือน มีระบบป้องกันโรค มีการจัดการและการให้อาหารที่ถูกหลักวิชาการมากขึ้น ต้นทุนการผลิตสัตว์ทุกชนิดจะสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาผลผลิตจากสัตว์ทุกชนิดก็มีแนวโน้มสูงขึ้น และมีความเท่าเทียมกัน เนื่องจากผู้ผลิตทุกรายจะผลิตภายใต้ระบบเดียวกัน
การวิเคราะห์ต้นทุนการเลี้ยงเป็ด ใช้ข้อมูลและการประมาณการ ดังต่อไปนี้
1. ระบบการเลี้ยงเป็ด เป็นการเลี้ยงเป็ดในโรงเรือนชั่วคราวที่ป้องกันโรคและไม่ให้นกเข้าสู่ฟาร์มได้ กรมปศุสัตว์ออกแบบโรงเรือนให้มีอายุการใช้งานได้ประมาณ 6 ปี โรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ด 3,000 ตัว มีต้นทุนค่าก่อสร้างประมาณ 150,000 บาท ขอรับแบบโรงเรือนได้จากกรมปศุสัตว์ นอกจากนั้นต้องลงทุนก่อสร้าง หรือซื้ออุปกรณ์การเลี้ยงเป็ด เช่น รางน้ำ รางอาหาร ไฟกก วัสดุรองพื้น อุปกรณ์ทำความสะอาด อุปกรณ์ป้องกันโรค ฯลฯ ประมาณ 50,000 บาท มีอายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 6 ปี ในรอบการเลี้ยงเป็ด 1 รอบ ในการคำนวณนี้ จึงใช้ระยะเวลา 6 ปี
2. พันธุ์และจำนวนเป็ด เลี้ยงเป็ดพันธุ์กากีแคมป์เบล เริ่มเลี้ยงเป็ดอายุ 1 วัน จำนวน 3,000 ตัว ลูกเป็ดไข่เพศเมียอายุ 1 วันราคาตัวละ 15 บาท ตลอดระยะการเลี้ยงเป็ดมีอัตราการตายและการคัดออกเฉลี่ยเดือนละ 2 เปอร์เซ็นต์ เป็ดเริ่มให้ไข่อายุ 5 เดือน (21 สัปดาห์) และมีอายุการไข่ 12 เดือน ในรอบการผลิต 6 ปี ผลิตไข่ได้รวมทั้งสิ้น 2,222,355 ฟอง คิดเป็นอัตราการไข่ 215 ฟอง/ตัว
3. การให้อาหาร ใช้อาหารสำเร็จเลี้ยงเป็ดตั้งแต่แรกเกิด มีการเปลี่ยนสูตรและปริมาณอาหารที่ใช้เลี้ยงเป็ดตามอายุ ดังแสดงในตาราง 1 ราคาอาหารลูกเป็ด เป็ดรุ่น และเป็ดไข่ เท่ากับ 12.00 บาท/กิโลกรัม 10.00 บาท/กิโลกรัม และ 8.00 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ
4. ราคาไข่เป็ด เมื่อนำเป็ดเข้าเลี้ยงระบบฟาร์ม มีการจัดการที่ถูกหลักวิชาการ มีการควบคุม ป้องกันโรค มีระบบการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้น ต้นทุนการผลิตจึงสูงขึ้นโดยมีต้นทุนการผลิตไข่เป็ดเฉลี่ย 3.06 บาท/ฟอง ดังนั้นหากจำหน่ายไข่หน้าฟาร์มได้เฉลี่ย 3.10 บาท/ฟอง จึงจะมีรายได้ตามแผนการผลิตนี้
5. การจำหน่ายเป็ดปลด การเลี้ยงเป็ดไข่มีกำหนดอายุการไข่ 12 เดือน เป็ดที่อายุไข่เกิน 12 เดือนปลดจำหน่ายรายตัว ราคาตัวละ 40 บาท รายได้สำคัญของฟาร์มจึงเกิดจาก 2 แหล่ง คือ การจำหน่ายไข่เป็ด และจำหน่ายเป็ดปลด
6. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ใช้ข้อมูลจากการสำรวจต้นทุนการเลี้ยงเป็ดระบบฟาร์มของเกษตรกรในปี พ.ศ. 2547 ดังนี้
6.1 ค่าเช่าที่ดิน เฉลี่ยปีละ 1,200 บาท
6.2 ค่าแรงงานเลี้ยงเป็ด 1 คน อัตราเดือนละ 4,500 บาท (วันละ 150 บาท) ตลอดระยะเวลาเลี้ยงเป็ด ดังนั้น เกษตรกรที่เลี้ยงเป็ดในรอบการเลี้ยง 6 ปี จะได้รับค่าแรงงานรวมทั้งสิ้น 324,000 บาท
6.3 ค่าการจัดการ เป็นผลตอบแทนการจัดการธุรกิจของเกษตรกรอัตราเดือนละ 3,000 บาท ในรอบการเลี้ยงเป็ด 6 ปี เกษตรกรมีรายได้จากการจัดการรวมทั้งสิ้น 216,000 บาท
6.4 ค่าเวชภัณฑ์สำหรับการเลี้ยงเป็ดเฉลี่ยปีละ 4,500 บาท
6.5 ค่าสาธารณูปโภค สำหรับฟาร์มเป็ดและครอบครัวเกษตรกร เฉลี่ยเดือนละ 1,200 บาท
6.6 ค่าขนส่ง และค้าใช้จ่ายอื่นๆ เฉลี่ยปีละ 12,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ
7. เงินทุนและรายจ่าย ในการเลี้ยงเป็ดระบบฟาร์ม มีการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งการลงทุนระยะยาว ได้แก่การสร้างโรงเรือน การซื้ออุปกรณ์ และการซื้อพันธุ์เป็ด รวมเป็นเงินประมาณ 245,000 บาท และการลงทุนระยะสั้น ได้แก่ การซื้ออาหาร ซื้อเวชภัณฑ์ ค่าสาธารณูปโภค ค่าขนส่ง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการลงทุนที่อาจไม่ต้องจ่ายเป็นตัวเงิน หรืออาจจะถือเป็นรายได้สำหรับเกษตรกร ได้แก่ ค่าแรงงาน ค่าการจัดการ ค่าเช่าที่ดิน เป็นต้น สรุปแล้วในปีแรกมีการลงทุนสูงถึง 1,094,281 บาท ดังนั้นสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีเงินทุน ควรกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายประมาณ 300,000-500,000 บาท เพื่อลงทุนระยะยาว และใช้จ่ายเป็นค่าอาหารเป็ดก่อนการให้ไข่ เมื่อเป็ดเริ่มไข่ก็จะมีรายได้มาหมุนเวียนซื้ออาหาร หากกู้เงินลงทุนโดยมีภาระดอกเบี้ยไม่สูงจะใช้เงินกู้ได้หมดภายในระยะเวลา 3-6 ปี
8. ผลตอบแทน ในการเลี้ยงเป็ดไข่ระบบฟาร์ม จำนวนเป็ดเริ่มเลี้ยงรุ่นละ 3,000 ตัว ในระยะเวลา 6 ปี เลี้ยงเป็ดได้ 4 รุ่น เกษตรกรมีกำไรจากการประกอบการสุทธิ 351,712 บาท เพียงพอสำหรับสร้างโรงเรือน ซื้ออุปกรณ์ และลงทุนเลี้ยงเป็ดรุ่นใหม่ โดยไม่มีภาระกู้ยืม
ตาราง 3 แสดงการลงทุนและผลตอบแทนกรณีมีการกู้เงินลงทุน 400,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.0
http://www.dld.go.th/home/duck/cost_egg.htm