กระทู้ธรรม
kittanan_2589:
ความคุ้นเคยกับความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ มีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ๆ หรือบ่อย ๆ เนือง ๆ เช่น การท่องพุทโธไว้ในใจเสมอ นั่นคือความคุ้นเคยกับพุทโธ หรือความคุ้นเคยกับบุคคลใดที่เคยให้ความเมตตาอุปการะช่วยเหลือ จะทำให้ใจนึกถึงบุคคลนั้นได้โดยอัตโนมัติเมื่อถึงคราวคับขัน
ความคุ้นเคยกับอารมณ์พุทโธ เมื่อถึงเวลาคับขัน ใจจะไม่ไปยึดมั่นเกาะเกี่ยวกับอะไรอื่่นที่ไม่คุ้นเคย แต่จะไปเกาะอยู่กับพระพุทโธ ที่เป็นยอดของสิริมงคลทั้งปวง ย่อมได้รับสิริมงคลนั้นอันจักนำให้พ้นพาลภัยใหญ่น้อย ความคุ้นเคยกับสิ่งดีมีมงคลจึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง
ทุกคนผ่านชีวิตในอดีตชาติมาแล้วเป็นอันมาก นับภพชาติไม่ถ้วน มีความคุ้นเคยกับเรื่องราวหรืออารมณ์ต่าง ๆ มาแล้วมากมาย ใจคุ้นเคยยึดมั่นผูกพันข้องติดอยู่กับเรื่องใดอารมณ์ใดมากมาแต่อดีต ผลของความยึดมั่นผูกพันนั้นจะนำมาสู่ภพชาติปัจจุบัน ดูภพชาติของตนในปัจจุบันก็พอจะเข้าใจว่า อดีตตนผูกพันกับเรื่องใดอารมณ์ใดมามาก ดีหรือว่าไม่ดี
ผู้ที่มีใจผูกพันอยู่กับการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทำทานการกุศลมามากในอดีตชาติ ก็จะรู้ได้จากชาติปัจจุบัน คือ ปัจจุบันชาติจะสมบูรณ์พูนสุขด้วยทรัพย์สินเงินทอง
ผู้ที่มีใจผูกพันอยู่กับการระวังรักษากายวาจาใจของตนให้สุภาพอ่อนน้อม ไม่ล่วงเกินดูหมิ่น ผูกพันเช่นนี้มามากในอดีตชาติ ก็จะรู้ได้จากปัจจุบันชาติ คือ เป็นผู้อยู่ในตระกูลสูง อันผู้อยู่ในตระกูลสูงย่อมเป็นผู้ได้รับความเคารพอ่อนน้อม ไม่ถูกล่วงเกินดูหมิ่น เป็นไปเช่นเดียวกับที่ตนเองได้ปฏิบัติไว้ต่อผู้อื่นเป็นอันมากในอดีตชาติ
ผู้ที่มีใจผูกพันอยู่กับการช่วยประคับประคอง รักษาชีวิตผู้อื่นสัตว์อื่นมามากในอดีตชาติ ไม่เบียดเบียนตัดรอนทำลายชีวิตอื่น ก็จะรู้ได้จากปัจจุบันชาติที่เป็นผู้มีอายุยืน ไม่ถูกตัดรอนเบียดเบียนทำลายด้วยเหตุใดทั้งสิ้น ไม่ต้องเป็นผู้มีชีวิตน้อยมีชีวิตสั้น
ผู้มีใจผูกพันอยู่กับการปฏิบัติธรรมมามากในอดีตชาติ ก็จะรู้ได้จากปัจจุบัน จะเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ศึกษาปฏิบัติธรรมเข้าใจง่าย เจริญดีในธรรม
kittanan_2589:
อัศจรรย์โลกใบนี้
ตามความประสงค์ของท่านพระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ ได้ให้พิมพ์คัดลอกบทธรรม จากหนังสือ “อัศจรรย์โลกใบนี้” เพื่อเป็นความรู้ ธรรมทาน และได้รับอนุญาตจากท่านเจ้าของผู้เขียน คือ คุณฐานุพงศ์ สิรสุขสวัสดิ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านลุงยังได้เมตตามอบหนังสือให้ทั้งเล่มเพื่อจัดพิมพ์ โดยอนุญาต ให้สามารถนำเผยแพร่ต่อได้ โดยอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างถูกต้อง ห้ามแอบอ้างหรือนำไปจำหน่าย หรือเพื่อหาประโยชน์เข้าตนแม้แต่ประการใด ๆ ทั้งสิ้น
หมายเหตุ
* ๑. ขออนุญาตกราบโมทนาบุญในเมตตาของท่านพระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ และท่านลุงจิตตพงศ์ ติถีสุขสวัสดิ์(ท่านเดียวกัน เปลี่ยนชื่อแล้ว) ที่ทำให้พวกเราทั้งหลายได้มีบทธรรมะดี ๆ ได้ศึกษาเพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์ความรู้
* ๒. ขอโมทนาบุญคุณอุตราที่ร่วมเดินทางไปเป็นเพื่อนกราบขออนุญาตท่านลุงด้วยกัน
* ๓. ในการจัดพิมพ์เพื่อเป็นธรรมทาน ยิ้มได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อความบางส่วนไปบ้าง ตามความเข้าใจของตนเอง ซึ่งยิ้มจะทำเครื่องหมาย “*” กำกับไว้ด้านหน้าและด้านหลัง
* ๔. หากยิ้มได้ทำการปรับเปลี่ยนเนื้อความบางส่วนไปเพราะความไม่เข้าใจของยิ้มเอง (คืออ่านแล้วยิ้ม งง นะคะ เพราะความรู้ของตนเข้าไม่ถึง) ทำให้เนื้อความผิดเพี้ยน หรือเสียหาย ไร้อรรถรสไป ก็ต้องกราบขอขมาโทษแด่องค์พระรัตนตรัย ขอความเมตตาต่อท่านพระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ ได้โปรดเมตตาชี้นำ แนะนำ ในการแก้ไข ขัดเกลาเนื้อหาด้วยนะครับ
* ๕. กราบโมทนาในเมตตาและบุญกุศลของท่านพระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ อีกครั้งครับ
อัศจรรย์โลกใบนี้
ผู้เขียน นายฐานุพงศ์ สิรสุขสวัสดิ์
พิมพ์ครั้งที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๐
จำนวน ๒๒๔ หน้า
เพื่อเป็นวิทยาทาน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
อัศจรรย์โลกใบนี้
ยามมีความทุกข์ จงอ่านเนื้อหาสาระในหนังสือเล่มนี้จิตจะสงบ
ยามมีความสุข จงอ่านเนื้อหาสาระในหนังสือเล่มนี้ สันติสุขจะปรากฏในดวงจิต ด้วยสันติธรรมแห่งโลกุตรธรรม
คำนำ
หนังสือเล่มนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นธรรมวิทยาบารมี จากประสบการณ์ที่พบเห็น จึงได้เรียบเรียงแก่นธรรมจากการปฏิบัติธรรมตามรอยพระพุทธองค์ เพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ได้พบเห็นได้อ่าน ได้เป็นแนวทางในการจะนำไปพัฒนาจิต ให้ได้เห็น ได้รู้ ได้กระทำ จึงได้เขียน "ธรรม" ให้ "ทำ" ไม่ใช่เขียนให้อ่าน ให้พูดตาม
แต่เขียนเพื่อ ให้ทำ ให้ปฏิบัติ ให้ฝึกฝน ให้สอนตนเอง ให้แก้ไข ให้ปรับปรุง ให้เปลี่ยนแปลง ให้หยุด ให้กระทำระงับจิตที่มุ่งไปในทางอกุศล ตามกระแสของตัณหาอย่างสุดเหวี่ยง จนไม่สามารถแยกแยะ ถูก ผิด ชั่ว ดี ออกจากจิตของตนเองได้ ทำให้มันคลุกเคล้าผสมกลมกลืนอยู่ภายในจิต เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เรียกว่า คุ้มดี คุ้มร้าย ตลอดเวลา
ไม่มีสติที่เข้มแข็ง ไม่มีปัญญาไปพิจารณายับยั้ง จำแนกจิตไม่ออกว่า อะไรสมควรกระทำ อะไรสมควรยับยั้ง อะไรสมควรทำลาย อะไรสมควรเก็บรักษา อะไรสมควรบำรุง อะไรสมควรศึกษาและปรับปรุงแก้ไข เพื่อเป็นหนทางแห่งการหยุดยั้ง ความทุกข์ ค้นให้พบความสงบ ความสุข สุขอันรื่นรมย์ในสันติธรรม สุขในสัมมาสุข ทำจิตให้สว่าง ทำจิตให้สะอาด จิตผ่องใสให้จิตเรืองปัญญาในสัมมาแห่งปัญญาอันบริสุทธิ์
ให้ทำลายจิตพาล อภิบาลจิตดี คือทำลายจิตที่พาลในตัวเรา ที่ทำให้เราเป็นคนพาล อันเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อน ทำให้จิตร้อน ตกอยู่กับความเศร้าหมองในอารมณ์ มีความทุกข์ร้อนในจิต ให้นำออกจากจิตให้หมด พร้อมสกัดกั้นอย่าให้กลับเข้าไปเจริญในจิต อย่าให้อยู่ในจิต อย่าให้มีอำนาจในจิต อย่าให้อวดศักดาในจิต
กำราบให้หมด ตัดให้สิ้นเชื้อ ความดีก็จะบังเกิดในจิตของเรา จึงต้องบำรุงรักษา เก็บรักษา สร้างความชำนาญในการเก็บรักษา การบำรุงรักษา บำรุงให้เจริญอย่างต่อเนื่อง ให้มั่นคงอยู่ภายในจิตตลอดเวลา ตลอดไป มีความยั่งยืนถาวร ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น ไม่ย้อนกลับไปสู่จิตให้เป็นพาล สร้างความเดือดร้อนกับตนเองกับผู้อื่น อย่าให้จิตกลับไปกลับมา
kittanan_2589:
ธรรมชาติมันเป็นของมันเช่นนั้น มันอยู่ของมันแบบนั้น ทำใจให้กว้าง ยอมรับความจริง แล้วแก้ไขตนเอง กำจัดจิตพาลในตัวเราออกแล้ว อภิบาลจิตดี ความดีที่บังเกิดในจิตเรา ค้นให้พบ ความจริงในจิตของเรามีดีอยู่ หรือไม่มีแค่ไหน มีอยู่หรือ ไม่มีอยู่แค่ไหน อย่ามองแต่ความไม่ดีของผู้อื่น ให้ดูความไม่ดีที่อยู่กับเรา หรือเมื่อเห็นเขาโกรธมันไม่ดี แต่ความโกรธก็ยังอยู่กับเรา อย่าไปพิจารณาแทนคนอื่น วิจารณ์คนอื่น
ให้พิจารณาตัวเรา วิจารณ์ตัวเรา ความขุ่นเคืองจะได้ดับจากจิตของเรา ถ้าดับในจิตของผู้อื่น แต่คุกรุ่นอยู่ในตัวเรา ก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา เราต้องดับมันเสีย คนอื่นไม่ดับก็ไม่เกี่ยวกับตัวเรา เจ็บปวดก็เขา ทุกข์ระทมก็เขา สุขสบายก็เขา ส่วนเราต้องสุขตลอด เป็นคนดีอยู่ในธรรมที่เป็นอริยธรรม มีธรรมของคนดี มีปัญญาสถิตอยู่ในใจตลอด ทำได้ คิดได้ ปฏิบัติได้เช่นนี้ สันติธรรมของประชาคมก็บังเกิด ความสงบของสังคมโลกก็ปรากฏ
ต่างคนมุ่งทำดี มุ่งคิดดี มุ่งพูดดี เราต้องช่วยตัวเรา ถ้าทุกคนคิดเช่นนี้ ช่วยแก้พฤติกรรมที่ไม่ดีของตัวเรา จิตที่ประพฤติธรรมย่อมเปลี่ยนแปลงให้พ้นจากความมืดมัวในกาม พบความสว่างด้วยธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ที่ช่วยชี้ทางให้อยู่กันด้วยเมตตาธรรม ความวุ่นวายก็สงบ ความขัดแย้งก็ถูกสยบ การอยู่กับความวุ่นวายมันง่าย แต่จะออกจากความวุ่นวายมันแสนยาก
ต้องทนอยู่ในความวุ่นวาย โดยไม่มีวิธีการจะออกจากความวุ่นวาย เมื่อมีวิธีในการออก เมื่อออกแล้วต้องมีวิธีการไม่ให้กลับเข้าไปอีก ซึ่งมันแสนจะลำบากยากเย็น เพราะมันจะดิ้นรนที่จะเข้าไป มันมีตัวล่อมากระตุ้นจิตให้ส่าย ให้เอนเอียง ให้เข้าไปหาความวุ่นวาย ตัวสัญญาจำได้หมายรู้เป็นตัวเหตุสำคัญ ที่ชักนำจิตให้ลุ่มหลง จนเกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ไม่วาง
เชื่ออย่างนั้น คิดอย่างนั้น กำหนดเอาเองจริงจังอย่างนั้น ใครจะพูดไม่เชื่อ ไม่ยอม ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ ไม่ยินยอม ไม่รับรู้ ไม่ต้องการรู้ ไม่อยากสนใจ บังเกิดความอึดอัดใจ รำคาญใจ ยุ่งยากใจ รุ่มร้อนใจ ขุ่นเคืองใจ แค้นใจ อัดอั้นตันใจ ว้าวุ่นใจ ใจฟุ้งซ่าน เกิดความเบื่อหน่าย จะบังเกิดอารมณ์โกรธเกลียดในที่สุด
kittanan_2589:
หากเราอยู่กับความมืดมัวในจิต เราก็ต้องไปกับความมืด หากเราอยู่กับความสว่างในจิต เราก็จะไปกับความสว่าง คงต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง นั่นก็สุดแท้แต่กรรมของเรา จะไปทางไหนได้อย่างนั้น พบอย่างนั้น ได้รับผลเช่นนั้น ตัวเรารองรับกรรมนั้นอยู่แล้ว เป็นความจริงที่เที่ยงแท้ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ยกเว้น ไม่ละเว้น ไม่ต้องกราบกรานขอร้อง ร้องขอใด ๆ ทั้งสิ้น
ไม่ใช่แค่คิด แค่คนบอก แต่ต้องปฏิบัติ ต้องฝึก ต้องทำได้ ต้องรู้เข้าใจวิธีการกำกับ การกำหนด การหยุด การพิจารณา การออกจากสิ่งที่ไม่ต้องการในจิต อย่างชำนาญช่ำชอง คล่องแคล่ว รวดเร็ว ทันทีทันใด ถ้ากระทำอย่างนี้ได้ มั่นใจว่าเราเป็นผู้ชนะกิเลสมาร พ้นหนทางแห่งความทุกข์ ความสุขรอเราอยู่ เราพบแน่นอน
บนทางเส้นนี้กำลังรอผู้กล้าหาญ ปราบจิตของตัวเองให้สยบในความดี จะ บังคับจิตก็เหมือนนั่งบนหลังม้า แล้วบังคับให้ม้าวิ่งไปตามทางที่เราต้องการ จะให้หยุดก็ต้องหยุด จะให้ไปก็ต้องไป จะให้ยืนก็ต้องยืน จะให้นอนก็ต้องนอน จะให้เดินก็ต้องเดิน จะให้วิ่งเร็ววิ่งช้าก็บังคับได้ ให้กระโดดก็ต้องกระโดด ไปซ้ายไปขวาได้ทั้งสิ้น ทำให้จิตมันเชื่อง เราสั่งการได้ อยู่ภายใต้อำนาจของสติและปัญญาอันบริสุทธิ์ตลอดไป เท่า นี้ก็สบายเรา ไม่ใช่สบายเขา อย่างนี้เรียกผู้วิเศษ เป็นผู้ปราบอาชาพยศของจิตให้สงบราบคาบเหนือคนทั้งมวล เหนือธรรมชาติ คือ เอาชนะธรรมชาติ เดินสวนกระแสโลกจนพบดวงแก้วมณีอันล้ำค่า ได้จิตแท้ จิตเดิมที่สะอาดบริสุทธิ์
จิตที่ไม่ถูกห่อหุ้มด้วยตัณหา จิตที่ไม่มีทุกข์ จิตที่ไม่ต้องดิ้นรน จิตที่ไม่รุ่มร้อน จิตที่สำรอกกิเลสแล้ว มีแต่ความผ่องใส จิตมีพระพุทโธ จิตมีฤทธิ์กำจัดทุกอย่างที่ไม่ดีออกไป ถามว่า ทำได้ไหม ตอบว่าได้ เพราะมีผู้ทำได้ แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าทำได้ แต่ต้องทำ อย่าเพียงนึกคิด ถ้าเพียงนึกคิดอย่างนี้ทำไม่ได้ จนตายก็หาไม่พบ ค้นไม่เจอ มันเล่นซ่อนหากับเราตลอด ต้องสร้างสติสัมปชัญญะ โดยการเจริญกรรมฐานจนปรากฏฌาน บังเกิดญานทัศนะเท่านั้น ไม่มีทางอื่น ทางอื่นมีแต่ความวุ่นวายหนอ ทางนี้ไม่วุ่น
ทางที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ไม่ผิดทาง เป็นเส้นทางตรงส่งความสุขนิรันดร์ สุขแท้ สุขจริง สุขสงบ สุขประณีต สุขเยือกเย็น สุขพ้นมลทินทั้งมวล คือ พ้นกิเลส อันเป็นเครื่องร้อยรัดความเศร้าหมองของจิต กิเลสมันกำเริบไม่ได้นั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ตัวเราจะคิดอย่างไร ไม่ต้องมองใคร ตัวเราตัดสินใจ เหตุดีผลดี เหตุชั่วผลชั่ว ตัดสินใจแล้วอย่ามาเสียใจ หากผลออกมาไม่ดีก็อย่าร่ำไห้ อย่าเรียกร้อง อย่าคร่ำครวญ อย่าโอดครวญ อย่าอุทธรณ์ ร้องทุกข์ เราทำเอง ตัดสินใจเองทั้งสิ้น เราเลือกทางเดินของเราเอง ไม่มีใครเลือกให้ ไม่มีใครกลั่นแกล้ง อย่าโทษใคร โทษตัวเอง อย่าต่อว่าใครให้เสียค่าโง่ เสียรู้กรรมที่เราทำมา เราได้ตัดสินใจเลือกแล้ว เลือกด้วยตัวเราเอง ผลมาดีก็อย่าทะนงไป หากทะนงผลก็จะย้อนกลับมาไม่ดีอีก เพราะเหตุใหม่ไม่ดีนั่นเอง ผลใหม่จึงไม่ดี ทำเหตุใหม่ ให้ดีไปตลอด ผลออกมาใหม่ก็จะดีตลอดเช่นกัน
เมื่อยังไม่เสียรู้ก็อย่าเสียรู้ เมื่อเสียรู้แล้วก็แก้ไข สร้างเหตุใหม่ให้ดีเท่านั้น รู้แล้วไม่ทำก็คือไม่รู้ ไม่รู้แต่ทำก็คือรู้ เมื่อไม่สมหวังอย่าร้องนะ อย่าโอดครวญนะ อย่าร่ำไห้นะ อย่าคร่ำครวญนะ อย่าเสียใจนะ อายเขา อายตัวเอง อายนักปราชญ์ อายราชบัณฑิต อายเทวดาฟ้าดิน ปราชญ์รู้ ปราชญ์ก็ตำหนิ ราชบัณฑิตรู้ ราชบัณฑิตก็ตำหนิ ถ้าทำเช่นนั้นใคร่ครวญให้ดี เวลามีน้อยลงทุกขณะ ร่างกายมีแต่เสื่อมรอการแตกดับ ชีวิตเหมือนใบไม้ร่วง ร่วงเวลาใดไม่รู้
อย่าอุ้ยอ้ายอยู่ อย่ารีรอ อย่าขอเวลา อย่ารอเวลา อย่าให้ต้องเสียโอกาส เพราะจิตเรามันคับแคบ ไม่เชื่อในสิ่งที่เป็นจริง เชื่อในมายาโลก จึงวุ่นวาย ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา” แต่ผู้มีปัญญาไม่มีน้ำตาให้เห็น คนโง่เท่านั้นที่ต้องหลั่งน้ำตา
kittanan_2589:
จะมองดูอนาคตต้องดูปัจจุบันกรรม ในปัจจุบันจะส่งผลสู่อนาคต ความระทม ไม่ระทมรออยู่ที่เหตุ เหตุดีประตูแห่งความสุขสมบูรณ์รอเปิดรับอยู่ เหตุไม่ดีประตูแห่งความระทม ความผิดหวัง ความทุกข์ทรมานรอเปิดรับอยู่เช่นกัน
อย่าทำลายอนาคตของตัวเราด้วยน้ำมือของเราเลย มันทั้งเจ็บปวด ทั้งทรมาน ทั้งผิดหวัง ทั้งร้ายกาจ ทั้งจืดชืด ทั้งเศร้าโศก ทั้งรันทดใจ ทั้งโหยหวนครวญครางร้องขอ ทั้งร่ำไห้ ทั้งโอดครวญ ทั้งรำพัน ทั้งหมองหม่นในชีวิต ทั้งถูกกระทำย่ำยี ทั้งพิการทางร่างกาย ทั้งพิการทางจิตใจ ทั้งถูกรังแกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งต้องสูญเสีย ทั้งมีมลทินชีวิต ทั้งถูกรังแก ทั้งถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ทั้งถูกข่มเหง ทั้งถูกกลั่นแกล้งให้เดือดร้อน ทั้งถูกทอดทิ้ง ทั้งทุกข์ยากลำบาก ทั้งถูกติฉินนินทา ทั้งถูกลงโทษนานาประการ ทั้งอดอยาก ยากเย็นเข็ญใจ ทั้งมีแต่คนมุ่งร้าย ทั้งถูกทำร้ายทำลาย ทั้งเจ็บป่วย ทั้งเป็นโรคร้าย ทั้งต้องพลัดพราก ทั้งถูกกำจัด อีกมากมายนัก ผลจะมาบังเกิดในการกระทำของเราด้วยน้ำมือเรา อย่ากลัวทำดี ให้กลัวทำชั่ว ผลที่บังเกิดมันตรงข้ามเสมอ
เราต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่แล้ว ให้เลือกทำแต่กรรมดี มีคุณแก่ตัวเรา ต่อภูมิภพ ต่อชาติกำเนิด ต่อความสุขสบายของเรา จึงจะเรียกได้ว่าฉลาด รู้เท่าทันกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรมชั่ว จึงต้องละกิเลส ตัดเหตุแห่งกรรมชั่ว ทำให้หมดมลทินจากกิเลส เหตุก็ดี ผลก็ดี จิตเราเป็นผู้รู้เห็นเองทั้งหมด ผู้อื่นเห็นไม่ได้ เห็นไม่จริง เพียงแต่อย่าเห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัวเท่านั้น จงเป็นตัวอย่างของตัวเอง
เราอยู่อย่างเรา เราคิดแต่สิ่งที่ดี เราทำในสิ่งที่ดี เราพูดในสิ่งที่ดี ทำอย่างนี้เถิด สังคมจะได้เป็นสังคมประชาธรรม ประชาสันติก็จะบังเกิด มีผลต่อสันติสุขของประชาราษฎร์ ความร่มเย็นก็จะบังเกิดทั่วทุกส่วน
เวลาเรายังมีอยู่ ผิดแล้วแก้ไข อย่าจมอยู่ อย่าให้กลายเป็นเวลาของพญามาร ทำลายเราหมดสิ้น กายยังไม่แตกดับยังมีความหวังอยู่ตลอด รู้ แล้วอย่าช้า เร่งรีบทำ เร่งรีบศึกษา เร่งรีบทำความเข้าใจจิต ทำความรู้จัก “จิต” ของตัวเรา ทุกอย่างถูกผิดเกิดที่จิต ต้องแก้ที่จิต ต้องเป็นจิตของตัวเรา ไม่ใช่จิตของคนอื่น อย่ามัวคิดผิด หลงอยู่ ทำผิดซ้ำซาก ผิดแล้วผิดอีก ตัวเราให้อภัยตัวเราได้ร่ำไป คนอื่นไม่ได้ให้อภัยเราด้วย พึงจำไว้ว่าอย่าเสียรู้ จะเสียการ เสียโอกาสเหลือไว้แต่ความเสียใจภายหลัง เมื่อหมดเวลาแล้ว จะบอกว่าคิดผิด จะบอกว่าเสียใจ ก็ไม่มีค่าควรแก่คำพูดนั้น สายแล้วสายเลย แก้ไขไม่ได้ ต้องรับกรรมนั้น ตามเหตุที่ได้กระทำเหตุมีกำลังแรง ผลจะแรงตามเหตุเสมอ
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว