วัดบวรนิเวศวิหารจัดงาน 7 วัน ฉลองพระชันษา 99 ปี สมเด็จพระสังฆราช
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วัดบวรนิเวศวิหารจัดงาน 7 วัน ฉลองพระชันษา 99 ปี สมเด็จพระสังฆราช  (อ่าน 1745 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: ตุลาคม 03, 2012, 03:38:57 PM »



วัดบวรนิเวศ บางลำพู จะคึกคักไปด้วยพุทธศาสนิกชนมากกว่าปกติในช่วงวันที่ 1-7 ต.ค. 2555 เพราะเป็นวันเฉลิมฉลองพระชันษา 99 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

 สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประสูติ วันที่ 3 ต.ค. 2456 ณ จ.กาญจนบุรี มีพระนามเดิมว่า เจริญ นามสกุล คชวัตร บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. 2465 ณ วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) และอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. 2476 ณ อุโบสถวัดเทวสังฆาราม อยู่ประจำ 1 พรรษา แล้วมาอยู่ที่วัดบวรนิเวศ โดยทำทัฬหีกรรมเป็นพระในคณะธรรมยุต เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2476 ณ อุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร และได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

 สำหรับงานฉลองพระชันษา 99 ปี และจะย่างเข้าสู่พระชันษา 100 ปี ในปีหน้า วัดบวรฯ เตรียมงานฉลองตลอด 1 ปี จากวันที่ 1 ต.ค. 2555 ถึงวันที่ 1 ต.ค. 2556 แต่กิจกรรมแรกคือการจัดงานบำเพ็ญพระกุศลวันประสูติ เจริญพระชันษา 99 ปี พร้อมทั้งเปิดปูชนียสถานสำคัญของวัดให้พุทธศาสนิกชนเข้านมัสการตามสถานที่สำคัญในวัด

 นิทรรศการ “พระชันษา 100 ปี สดุดีพระสังฆบิดร” ณ ชั้น 2 อาคารสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร โดยจัดแสดงพระประวัติ พระกรณียกิจ และพระจริยาวัตรของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และจัดแสดงประวัติศาสตร์ของวัดบวรนิเวศวิหารในฐานะสถาบันการศึกษาแห่งแรกของพระสงฆ์และของเยาวชนไทยที่ได้มีการวางรากฐานด้านการเรียนการสอนอย่างมีระเบียบแบบแผนมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

 ให้คณะบุคคลต่างๆ และประชาชนทั่วไป ลงนามถวายพระพรเนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติ ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. ณ พระตำหนักเพ็ชร
พิมพ์หนังสือ 4 เล่ม

 ในการเฉลิมฉลองนั้น สำนักเลขานุการฯ ได้จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก 4 เล่ม ได้แก่

 สมุดจดเทศนากัณฑ์อริยทรัพย์ (ลายพระหัตถ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อพระชันษา 14 ปี) จัดพิมพ์เท่าแบบเดิม พระผู้สำรวมพร้อม พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชเชิงสารคดี เขียนโดย คุณศรัณย์ ทองปาน พระนิพนธ์ พระพุทธศาสนากับสังคมไทย โดย พระสาสนโสภณ วัดบวรนิเวศวิหาร และศาสตราจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (พระนิพนธ์นี้เป็นคำบรรยายวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2514 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

99 คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช รวบรวมคำถามจากประชาชนที่ต้องการทราบเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช

 99 คำถามนั้น เป็นคำถามที่ประชาชนถามเกี่ยวกับพระจริยาวัตรของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ และคำถามด้านข้อธรรมต่างๆ ซึ่งทางคณะผู้จัดทำหนังสือ คัดเลือกมาตอบเพียง 99 คำถาม เพื่อเป็นการล้อกับอายุของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ในปีนี้ ขอยกตัวอย่างบางคำถามที่น่าสนใจมาเสนอ ดังนี้

คำถามเรื่องการสร้างรูปเหรียญ พระเครื่องของหลวงปู่หลวงพ่อดังๆ ที่ทำกันมา รวมถึงการสร้างพระเครื่องหลายรุ่นในวัดบวรนิเวศวิหาร เข้าข่ายสีลัพพตปรามาสหรือไม่ และท่านทรงเคยวินิจฉัยประเด็นสีลัพพตปรามาสไว้บ้างหรือไม่

คำตอบ–คำถามเรื่องสีลัพพตปรามาสที่นำมาถามนี้ น่าจะนำมาใช้ไม่ถูกประเด็น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงอธิบายเรื่องสีลัพพตปรามาส ในธรรมาภิธานว่า

“...สีลัพพตปรามาสนี้ ซึ่งมีอาการเป็นความยึดถือเช่นเดียวกับสีลัพพตุปาทานแต่ว่าหยาบกว่า และในการอธิบายสีลัพพตปรามาสก็อธิบายคล้ายคลึงกันกับสีลัพพตุปาทาน คือศีลและวัตรในคำว่าสีลัพพตปรามาสในสังโยชน์ 10 นั้นก็หมายถึงศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนา ตลอดถึงศีลและวัตรในพุทธศาสนาเอง คือเมื่อละศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนาแล้วมาปฏิบัติศีลและวัตรในพุทธศาสนา เมื่อปฏิบัติด้วยตัณหาก็ชื่อว่ายังเป็นสีลัพพตปรามาส แต่ว่าใช้คำว่าปรามาสนี้แรงกว่า

คำว่าอุปาทาน คือหมายความว่าต้องลูบคลำ คือต้องจับเอาไว้ ถ้าไม่จับเอาไว้ ศีลและวัตรก็จะขาดเป็นท่อนเป็นช่องด่างพร้อย ดังเช่นศีล 5 สมาทานศีล 5 รักษาศีล 5 ก็จะต้องจับยึดรักษาเอาไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นศีล 5 ก็จะขาดเป็นท่อนเป็นช่องด่างพร้อย คือจะต้องรักษากันอย่างกวดขัน ต้องจับต้องยึดกันไว้เหมือนอย่างการรักษาศีล 5 ของสามัญชนทั้งหลาย เพราะยังมีสักกายทิฏฐิความเห็นยึดถือว่าตัวเราของเราเป็นอย่างแรง เพราะฉะนั้นความประพฤติจึงเป็นไปตามอำนาจของตัวเราของเรา ก็คือตามอำนาจของกิเลสตัณหาทั้งหลาย ฉะนั้นจึงปรากฏว่าคนสามัญทั่วไปนั้นไม่อาจที่จะรักษาศีล 5 ไว้โดยไม่ให้ขาดเป็นท่อน ไม่ให้ทะลุเป็นช่อง ไม่ให้ด่างไม่ให้พร้อยกันตลอดไปได้ ต้องมีขาดต้องมีต่อกันอยู่เรื่อยๆ ดังจะพึงเห็นได้ว่า ต้องมีการสมาทานกันอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตสามัญยังเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาอยู่เป็นอันมาก จนกว่าจะละสักกายทิฏฐิด้วยการเห็นธรรมะอันเป็นธรรมจักษุได้ จึงจะไม่ต้องคอยยึดศีลและวัตรไว้

...สีลัพพตุปาทานนี้ จึงมีใจความที่คลุมอุปาทานคือความยึดถือทั้งหมด แม้ว่าเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีซึ่งท่านละมาได้โดยลำดับ แต่ว่าก็ยังละอุปาทานที่เป็นอย่างละเอียดไม่ได้ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์จึงละได้หมด เพราะฉะนั้นสีลัพพตุปาทานนี้จึงมีความที่คลุมไปได้ทั้งหมด คลุมสีลัพพตปรามาสด้วย แต่ว่าสีลัพพตปรามาสนั้นเป็นอย่างหยาบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
 ส่วนสีลัพพตุปาทานนี้คลุมได้หมด

 อันสีลัพพตุปาทานดังกล่าวมานี้ ก็มิใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะพากันละพากันทิ้งได้ หรือเป็นสิ่งที่เป็นของไม่ดี จำเป็นที่จะต้องแบ่งตามภูมิตามชั้น กล่าวคือถ้าเป็นศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนา อันเป็นศีลและวัตรที่ผิดต่างๆ นั่นก็เป็นอันว่าผู้นับถือพุทธศาสนาก็ต้องละต้องเว้นไปโดยลำดับ และมาถึงศีลและวัตรในพุทธศาสนาเองก็จะต้องละต้องเว้นเหมือนกัน

 แต่ว่าก่อนที่จะละเว้นก็ต้องสมาทาน คือต้องรับถือปฏิบัติก่อน และจะต้องอาศัยตัณหาเพื่อละตัณหาดังกล่าวมานั้น คือยังจะต้องมีสีลัพพตปรามาส

 สีลัพพตุปาทานอยู่ในการปฏิบัติมาโดยลำดับ แต่ว่าก็ยึดและปล่อยไปเป็นขั้นๆ เหมือนอย่างคนเดินขึ้นบันไดซึ่งมีหลายขั้น ก็ต้องขึ้นไปทีละขั้น และขั้นที่กำลังขึ้นอยู่นั้นก็จะต้องเหยียบอยู่บนบันไดทั้งสองเท้าในขั้นนั้น ดังนี้เรียกว่ายังมีสีลัพพตปรามาส สีลัพพตุปาทานอยู่ในขั้นนั้น แต่ว่าที่จะก้าวขึ้นขั้นต่อไปนั้น ก็จะต้องละขั้นที่กำลังยืนอยู่นั้นก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือว่าปล่อยขั้นที่กำลังยืนอยู่ทีแรกนั้น ถ้าหากว่าไม่ปล่อยขั้นที่กำลังยืนอยู่ทีแรกนั้นยังคงยืนอยู่ในขั้นเดิมนั่นแหละ ก็แปลว่าก้าวขึ้นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องปล่อยขั้นที่ 1 ก้าวขึ้นไปสู่ขั้นที่ 2 ก็จะต้องยึดขั้นที่ 2 ทรงตัวอยู่ในขั้นที่ 2 แล้วจึงต้องละขั้นที่ 2 ก้าวขึ้นสู่ขั้นที่ 3 ก็แปลว่าต้องรับปฏิบัติคือต้องยึดแล้วก็ปล่อย เดินขึ้นไปเป็นขั้นๆ ดังนี้ จึงจะขึ้นสูงขึ้นไปได้โดยลำดับ จนถึงขั้นสุดท้ายแล้วก็เป็นอันว่าปล่อยได้หมด ดังนี้”

 (หน้า 828-829 ธรรมาภิธาน พจนานุกรมคำสอนพระพุทธศาสนา)
 นอกจากนี้ เคยมีพระนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อไว้ว่า

 “ความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลัง ที่ทำขึ้นอาศัยคุณพระรัตนตรัยเป็นหัวใจ เพื่อทำใจให้เข้มแข็งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ธำรงรักษาไตรรงค์ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ย่อมเป็นประโยชน์ และก็พึงระวังมิให้เชื่อเกินขอบเขตที่ควร มิให้ความเชื่อในวัตถุเหล่านี้ ทำให้งมงายจนเป็นผู้ถูกหลอกให้ตายเปล่า จำต้องใช้เหตุผลเพื่อปฏิบัติกิจการทั้งหลายตามหลักวิทยาการและด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ทั้งหลายให้เหมาะสมอีกด้วย เหมือนอย่างจะขุดดินก็ต้องใช้เครื่องขุดและใช้ด้วยความไม่ประมาท มิใช่ว่าจะขุดถูกมือเท้าบ้างก็ได้เพราะมีของทำให้เหนียวอยู่แล้ว...

 นอกจากนี้ ยังควรทราบอีกด้วยว่า ความเชื่ออันตรงต่อหลักพระพุทธศาสนานั้น คือความเชื่อในกรรมและผลของกรรมเพื่อที่จะได้ละกรรมที่ชั่วที่ผิด ทำกรรมที่ดีที่ชอบ หากจะมีเครื่องรางของขลังอันใด ที่ทำให้ละกรรมชั่วทำกรรมดีได้ ก็จะเป็นยอดของเครื่องรางของขลังทั้งหมด”

 [หน้า 14-15 เรื่องของความเชื่อ... พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย 2535)

คำถาม หลังจากที่สมเด็จพระสังฆราชอาพาธแล้ว ยังมีวรธรรมคติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ออกมาทุกเทศกาล ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา มีเนื้อหาข้อความเป็นที่ประทับใจ ใคร่ขอเรียนถามว่ามีกระบวนการทำงานอย่างไร

คำตอบ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเรียบเรียงขึ้นโดยอาศัยพระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทั้งนี้ โดยถือว่าตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมิใช่ตัวบุคคล แต่เป็นสถาบัน เพราะฉะนั้นแม้ตัวบุคคลจะอาพาธ แต่จุดยืนของสถาบันสมเด็จพระสังฆราชต้องดำเนินไปตามปกติ เพราะฉะนั้นวรธรรมคติต่างๆ นั้น ก็นำเสนอสู่สายตาประชาชนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของพุทธศาสนิกชน พร้อมทั้งเป็นการรักษาสถาบันสมเด็จพระสังฆราชด้วย


อ่านเพิ่มเติมที่นี่ : วัดบวรนิเวศวิหารจัดงาน-7-วัน-ฉลองพระชันษา-99-ปี-สมเด็จพระสังฆราช


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: