ความหมายแห่งชีวิต
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ความหมายแห่งชีวิต  (อ่าน 1019 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: พฤศจิกายน 09, 2011, 02:53:05 PM »

ความหมายแห่งชีวิต

โดย รังสีธรรม ธรรมโฆษ‏

นานมาแล้ว ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง มีชื่อว่าอย่างไร ใครเป็นผู้แต่งก็ลืมเสียแล้ว                   
จำได้แต่เนื้อความ ในหนังสือนั้น ผู้เขียนได้จำแนกทรัพย์สมบัติของคนออกเป็น ๓                               
เห็นว่าน่าฟังจึงจะขอนำมาแสดงต่ออีกทีหนึ่ง
ทรัพย์อันแรกของคน ผู้เขียนเรียกว่า ทรัพย์นอกกาย ได้แก่แก้วแหวนเงินทอง บ้านเรือน เสื้อผ้า อาหาร ไร่นา รถเรือ เป็นต้น ทรัพย์ชนิดนี้ เราเกิดมามิได้เอามาด้วย เป็นของหาเอาใหม่  ใครขยันขันแข็ง ก็หาได้มาก ใครเกียจคร้านไม่แสวงหา ก็ได้น้อย เมื่อตายลงไปจะเอาไปด้วย  ก็ไม่ได้ จำเป็นต้องทิ้งไว้ให้คนอื่นใช้ต่อไป เมื่อคนอื่นนั้นตายลง ก็เอาไปไม่ได้ ต้องทิ้งไว้ให้                   คนอื่น ๆ ใช้ต่อไปอีก ถ้าคนทุกคนตายลงหมด สมบัติเหล่านี้ก็จะอยู่กับโลกนี้ ไม่มีใครเอาไปด้วยแม้แต่คนเดียว

เพราะฉะนั้น เจ้าของอันแท้จริง สมบัติเหล่านี้ก็คือแผ่นดิน เราเกิดมาก็ยืมเขาใช้ชั่วคราว เมื่อจะหนีจากโลกนี้ไปก็ต้องส่งคืนเขาเพราะฉะนั้น คนทุกคนจึงเป็นคนจนด้วยกันทั้งนั้น ยืมของเขาใช้ด้วยกันทั้งนั้น ต่างกันแต่ว่ายืมได้น้อยได้มากเท่านั้น ใครขยันก็ยืมได้มาก ใครเกียจคร้านก็ยืมได้น้อย                 แต่ยืมได้น้อยหรือมากในที่สุดก็จะต้องส่งเขาหมด
ทรัพย์อย่างที่สอง เรียกว่าทรัพย์ในกาย ได้แก่อวัยวะต่างๆ เช่น แข้ง ขา ตีน มือ ตา หู จมูก ปาก ฟัน เป็นต้น ทรัพย์เหล่านี้เราได้มาโดยกำเนิด พอเกิดมาก็ได้ติดตัวมาเลย พ่อแม่เป็นผู้แบ่งให้และ              มีจำนวนเท่ากันแทบทุกคน มีขาสองขา แขนสองแขนเหมือนกัน ที่มีมากกว่าเขาหน่อย ก็เห็นจะมีแต่ทศกัณฐ์ เท่านั้น ดูเหมือนว่ามีถึง ๒๐ แขน ทรัพย์ในกายนี้ ก็เหมือนทรัพย์นอกกายคือ เป็นสมบัติของแผ่นดินเขา เรายืมเขาใช้ชั่วคราว ตายแล้วก็ส่งคืนเขา
ทรัพย์อย่างที่สาม ได้แก่ชีวิต ทรัพย์นี้เราได้มาโดยกำเนิด พ่อแม่แบ่งให้ตายแล้วชีวิตก็สิ้นสุดลง
ในทรัพย์ทั้ง ๓ ประการนี้ ทรัพย์ชนิดไหนมีค่าสูงกว่ากัน เรารักและหวงแหนทรัพย์ชนิดไหนมาก?  อาจตอบได้ว่า ทรัพย์นอกกายมีเงินทองเป็นต้นนั้น มีค่าต่ำกว่าอย่างอื่น ทรัพย์ในกายมีค่าสูงขึ้น ทรัพย์คือชีวิต มีค่าสูงที่สุด ถ้าจำเป็นที่จะต้องเสีย คนจะยอมเสียทรัพย์สมบัตินอกกายก่อน ถ้ามีคนเอาเงินมาให้เราล้านบาท เพื่อซื้อเอาดวงตาทั้งสองไป คงมีน้อยคนที่จะยอมเป็นคนตาบอดเพื่อแลกกับเงินจำนวนนั้น

ถ้าจำเป็นจะต้องเสียอีก คนจะยอมเสียสมบัติในกาย เขาจะยอมเสียตัดแขนตัดขาหรือแม้นัยน์ตาทิ้ง เพื่อแลกเอาชีวิตไว้

ชีวิตเป็นของมีค่าสูงสุดที่คนและสัตว์รักที่สุด เพราะชีวิตเรามีได้หนเดียวในชาติเดียว ส่วนทรัพย์ภายนอกนั้น เสียไปแล้วก็อาจหาเอาใหม่ได้ เนื่องจากทรัพย์ คือ ชีวิตมีค่าสูงสุดที่คนรักที่สุด ท่านจึงห้ามมิให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเขา เพราะชีวิตมีค่าสูงสุด ผู้ที่เรารักที่สุด คือผู้ที่ให้ชีวิตแก่เราคือมารดาบิดา ผู้ที่เราชังที่สุด คือ ผู้ที่เอาชีวิตของเราไป การให้ทานที่ให้ผลมากที่สุดคือการให้ชีวิตเป็นทาน

แต่ทั้ง ๆ ที่คนรักชีวิตของตนมากถึงเพียงนี้แหละ เราก็มักจะได้อ่านพบในหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ               
ว่านายนั้นผูกคอตาย นางสาวนี้กินยาตาย กระโดดน้ำตาย กระโดดตึกตาย ยิงตัวตาย เป็นต้น

เมื่อได้อ่านข่าวการฆ่าตัวตายเหล่านี้แล้ว ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมเขาจึงฆ่าตัวตายทำลายชีวิตของตัวเองได้อย่างง่ายดายเช่นนั้น ทั้งๆ ที่รักชีวิตอย่างที่สุด เมื่อก่อนที่จะฆ่าตัวตายนั้น เขาทะนุถนอมชีวิตอย่างยิ่ง เขาอุตส่าห์ทำการงานต่างๆ ด้วยความลำบาก เพื่อแสวงหาทรัพย์มาบำรุงเลี้ยงชีวิตนี้ อุตส่าห์ตั้งหน้าศึกษาหาความรู้มาเพื่อให้แสงสว่างแก่ชีวิตนี้ เมื่อเจ็บป่วย แม้แต่เพียง         นิดหน่อย เขาตกใจวิ่งวุ่นหาหมอหายามารักษา

ถ้าปรากฏว่าจะมีอันตรายแก่ชีวิต เขาจะต่อสู้ป้องกันจนสุดความสามารถ เพื่อให้ชีวิตของเขาคงอยู่ เขาอาจทำลายแม้แต่ชีวิตของคนอื่น สัตว์อื่นได้อย่างง่ายดาย โดยไม่คิดเลยว่า เขาก็รักชีวิตของเขาเหมือนกัน แต่จะรักหรือไม่รักเขาไม่คำนึง ขอให้ชีวิตของเขาดำรงอยู่ก็แล้วกัน

เมื่อเขารักชีวิตของเขาถึงเพียงนี้ ดูไม่น่าจะเป็นไปได้เลย ว่าเขาจะสามารถทำลายชีวิตของตนได้อย่างง่ายดายเช่นนั้น แต่เมื่อเขาได้ทำเช่นนั้น ก็ชวนให้คิดว่า น่าจะมีอะไรอีกสักอย่างหนึ่งกระมัง           ซึ่งมีค่าสูงสุดกว่าชีวิตขึ้นไปอีก เมื่อเอาสิ่งนั้นมาเทียบกับชีวิตแล้ว ชีวิตก็กลายเป็นของไร้ค่าไปทีเดียว ถ้าขาดสิ่งนั้นเสีย ชีวิตก็ไร้ความหมาย เจ้าของชีวิตอาจทำลายทิ้งเมื่อใดก็ได้ เปรียบเหมือนถุงใส่เงิน ที่ไม่มีเงินเสียแล้ว เราอาจจะโยนทิ้งเมื่อใดก็ได้ สิ่งที่ว่านี้ได้แก่อะไร?
ขอให้เรายกเอาคำพูดของคน ที่จะฆ่าตัวตายมาพิจารณาประกอบกิริยาอาการของเขาดูอีกทีหนึ่ง  บางทีจะพบคำตอบบ้าง คนฆ่าตัวตายนั้น เมื่อก่อนตายมักจะเขียนจดหมายทิ้งไว้บ้าง บ่นให้คนนั้น           คนนี้ฟังบ้างว่า ชีวิตของฉันไร้ความหมายเสียแล้ว อยู่ไปก็ไม่มีความสุข ตายเสียดีกว่า อะไรทำนอง          นี้เสมอ

เมื่อพิจารณาดูกิริยาอาการของเขา ก็ดูเหมือนจะไม่มีความสุขจริงๆ คนที่ประสบความผิดหวังมาในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น พลาดรัก สอบตก เป็นต้น มักจะมีใจเหี่ยวแห้ง ปราศจากความร่าเริงใด ๆ ทั้งสิ้น เขาจะนั่งหน้าเศร้า เป็นทุกข์อยู่คนเดียว นั่งเหม่อใจลอย จ้องมองดูข้างหน้าอย่างไม่มีความหมายเป็นเวลานาน ๆ คล้ายว่าชีวิตของเขาไร้ความหมายจริงๆ

เมื่อพิจารณาดูลักษณะอาการของเขาอย่างละเอียดแล้ว อาจจะตกลงใจได้ทีเดียวว่า ในเวลานั้นจิตใจของเขาเต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่มีความสุขเหลืออยู่เลย เพราะฉะนั้น ที่เขาบ่นว่า หรือเขียนว่า            “ชีวิตไร้ความหมายเสียแล้ว” นั้น เขาคงหมายถึงความสุขนี้กระมัง ความสุขนี้กระมังคือความหมายแห่งชีวิต ชีวิตที่ปราศจากความสุข คือชีวิตที่ไร้ความหมาย ชีวิตเช่นนั้นอยู่ไปก็ไม่มีความสุข                 เขาจึงคิดทำลายเสีย ตราบใดที่เขายังมีความสุขอยู่ ตราบนั้นชีวิตของเขาก็มีความหมายและเขาไม่ได้คิดฆ่าตัวตาย

ตามปกติ ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครฆ่าตัวตายในขณะที่กำลังมีความสุข
ความสุขเป็นโอสถขนานวิเศษ สำหรับหล่อเลี้ยงชีวิตไว้ ชีวิตที่ปราศจากสุขก็เหมือนกับต้นไม้ที่ปราศจากน้ำหล่อเลี้ยง นับวันแต่จะเหี่ยวแห้งตายไป ความสุขเป็นจุดมุ่งหมายที่ทุกคนต้องการ

คนอาจต้องการเงิน ต้องการเสื้อผ้า อาหาร ยารักษาโรค บ้านเรือน รถยนต์ วิทยุ ฯลฯ เพราะเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้ให้ความสุขแก่ตนได้ ถ้าเงินให้ความสุขแก่คนไม่ได้ จะไม่มีใครต้องการเงินเลย คนเรา         มีความต้องการอยากได้สิ่งต่างๆ ไม่รู้จักสิ้นสุด แต่เมื่อสรุปแล้วก็คือ ต้องการความสุขนั่นเอง

ถ้าความสุขเป็นของมีตัวตน ใส่ขวดขายได้อย่างน้ำอัดลม ความสุขจะเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดในโลก สินค้าอื่นจะไม่มีคนซื้อเลย คนอาจทำนา ทำสวน ค้าขาย เป็นข้าราชการ กรรมกร เป็นโจรปล้นเขา และอาจประกอบอาชีพอื่นๆ อีกนับจำนวนไม่ถูก แต่เมื่อสรุปแล้วก็เพื่อความสุขนั่นเอง ชาวนาทำนาอยู่ได้ก็เพราะ เขาได้รับความสุขจากการทำนา ถ้าการทำนา ไม่ให้ความสุขแก่เขาเลย มีแต่ให้             เกิดทุกข์อย่างเดียวแล้ว เขาจะไม่สามารถทำนาต่อไปอีกได้ เขาจะเปลี่ยนอาชีพใหม่ทันที
ความสุขเป็นผลกำไรแห่งชีวิต คนเกิดมาในโลกนี้เท่ากับมาค้าขายหากำไรคือความสุข ชีวิตของ              ผู้ใดมีความสุขมาก ผู้นั้นได้กำไรมาก ผู้ใดสุขน้อย ผู้นั้นได้กำไรน้อย ผู้ใดไม่มีสุขเลยมีแต่ทุกข์                ผู้นั้นขาดทุนทรัพย์

สมบัติเงินทองไม่ใช่กำไรแห่งชีวิต เศรษฐีมหาเศรษฐีมีเงินเป็นล้าน ถ้ายังไม่มีความสุขก็ชื่อว่ายังขาดทุน บางคนอาจไม่มีทรัพย์ใดๆ นอกจากภาชนะสำหรับขอเขากิน แต่ถ้าเขามีความสุข เขาก็           ชื่อว่ามีกำไร ความสุขเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของทุกคน เขาจะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม

การที่เรามานั่งฟังปาฐกถาอยู่ได้อย่างสบายๆ นี้ ก็เพราะเรามีความสุข ถ้าเรามีทุกข์ เราจะมานั่ง               อยู่ที่นี่ไม่ได้

ปัญหาที่ว่าความสุขคืออะไรนี้ เป็นปัญหาที่ตอบยาก เพราะความสุขไม่มีตัวตน หยิบยกให้กันดูได้เหมือนของภายนอก ความสุขเป็นของมีอยู่ภายใน เรารู้ว่ามันมีอยู่ก็โดยอาศัยการสังเกตลักษณะ            ที่มันแสดงออกมาภายนอก ถ้าเอาคนสองคนมานั่งเรียงกันไว้ คนหนึ่งกำลังเป็นสุข คนหนึ่งกำลัง               เป็นทุกข์แล้วให้เราทาย เราอาจจะทายได้ทันที ว่าใครเป็นสุขใครเป็นทุกข์

ความสุขนี้ ท่านจำแนกไว้หลายอย่างหลายประการ มีชื่อต่างๆ กันออกไป เช่นสุขในโลก เรียกว่าโลกียสุขบ้าง สุขเหนือโลก เรียกว่าโลกุตตรสุขบ้าง สุขกายเรียกว่ากายิกสุขบ้าง สุขใจเรียกว่า เจตสิกสุขบ้าง สุขอาศัยวัตถุสิ่งของเรียกว่า สมมิสสุขบ้าง สุขไม่อาศัยวัตถุสิ่งของ เรียกว่า                   นิรามิสสุขบ้าง สุขของฆราวาสบ้าง สุขของบรรพชิตบ้าง

การที่ท่านจัดสุขไว้มากๆ เช่นนี้ ก็เพื่อให้คนเลือกเอาตามปรารถนา ผู้ใดต้องการสุขชนิดใด   
ก็เลือกเอา ความสุขเปรียบเหมือนยาแก้โรคทุกข์ ที่เขาใส่ขวดไว้ขายตามร้านขายยา ปรากฏว่า  มีหลายขนานด้วยกัน เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องคัดเลือกซื้อเอาเฉพาะขนานที่แท้จริง ที่มีสรรพคุณศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเลือกไม่ดีอาจจะไปได้ยาปลอมมาก็ได้ เมื่อได้ยาปลอมมากิน แทนที่โรคทุกข์จะหาย กลับจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นก็ได้ ดังนั้นต้องเข้าใจเลือก
ถึงแม้ว่า สุขจะมีมากมายหลายประการก็ตาม เมื่อสรุปลงแล้ว ก็มีเพียง ๒ ประการเท่านั้น คือ                   สุขทางโลกอย่างหนึ่ง สุขทางธรรมอย่างหนึ่ง สุขทั้งสองประการนี้มีลักษณะแตกต่างกัน                 ดังจะได้อธิบายในอันดับต่อไป

ในวาระนี้จะได้ว่าด้วยที่เกิดของความสุขเสียก่อน การรู้จักที่เกิดของความสุข มีความสำคัญเท่ากับชาวนารู้จักนา ถ้าชาวนาไม่รู้จักที่ทำนา เอาข้าวไปดำไปหว่านผิดที่เช่นเอาไปหว่านลงในแม่น้ำ ในป่า หรือบนแผ่นดิน แม้จะหว่านถูกวิธีถูกฤดูกาล ผลก็จะไม่บังเกิด ถ้าชาวนารู้จักที่เกิดของข้าวดีว่าอยู่ที่นา แต่ทำไม่ถูกวิธี เช่นแทนที่จะไถคราดเสียก่อนตามหลักการทำนา กลับเอาข้าวไปเทกองไว้ในนาเฉย ๆ เช่นนี้ ผลที่จะได้ก็ไม่สมบูรณ์เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ถูกที่ถูกวิธีการ ผลจึงจะเกิดขึ้น ความสุขก็เช่นเดียวกัน ความสุขเป็นผลเช่นเดียวกับข้าว ชาวนาผู้ต้องการความสุข จะต้องรู้จักที่เกิดของสุข เมื่อรู้จักที่แล้ว ต้องทำให้ถูกวิธีจึงจะได้สุข ถ้าทำผิดวิธีจะไม่ได้สุข หรือแทนที่จะได้สุขกลับได้ทุกข์ไปเสีย ฉะนั้น การรู้จักที่เกิดของสุขและวิธีสร้างความสุข จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ที่เกิดของสุขอยู่ที่ไหน! ความสุขเกิดขึ้นที่ไหน? โดยทั่วๆ ไป คนเรามักจะเข้าใจว่า ความสุขอยู่ที่โรงหนังโรงละครบ้าง อยู่ที่บ้านบ้าง อยู่ที่ป่าบ้าง อยู่ที่ชายทะเลบ้าง อยู่กับเพื่อน กับบุตรภรรยา            กับพ่อแม่ กับคู่รัก คนรักบ้าง อยู่กับเงินทอง รถยนต์ เครื่องแต่งตัวที่สวยงาม อาหารที่อร่อยบ้าง เพราะฉะนั้น คนจึงหาความสุขกันจากสถานที่เหล่านี้ จากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จากบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม สถานที่ บุคคล และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาจจะให้ความสุขแบบโลกแก่คนได้บ้าง                 แต่ไม่เสมอไป สมมติว่า ชายคนหนึ่งถูกไฟไหม้บ้าน ต้องสูญเสียบ้านเรือน และทรัพย์สมบัติไปใน กองไฟนั้นหมด ถ้ามีเพื่อนมาเคี่ยวเข็ญให้ไปตากอากาศที่หัวหินด้วย เขาก็จะไปนั่งจับเจ่าเป็นทุกข์อยู่ที่นั่น ความงามของหัวหินจะไม่มีความหมายอะไรสำหรับเขาเลย อีกคนหนึ่งเกิดพลาดหวังในเรื่องรัก อย่างที่เรียกกันว่าอกหัก แม้จะไปอยู่ในโรงหนัง โรงละครที่ดีที่สุด ซึ่งกำลังฉายเรื่องดีที่สุดปานใด เขาก็คงไปนั่งหน้าเศร้า ใจลอยอยู่นั่นเอง บางทีอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าหนังฉายเรื่องอะไร

เศรษฐีคนหนึ่ง มีเงินเป็นเรือนล้าน ต่อมาภรรยาที่รักของเขา เกิดมีอันประสบอุปัทวเหตุรถคว่ำตายไป เขาจะประสบความทุกข์โศกเศร้าอย่างหนัก ในเวลาอย่างนั้น เงินจำนวนล้าน ๆ ดูเหมือนช่วยอะไรไม่ได้เลย ตรงกันข้าม ถ้าสมมติว่ามีผู้วิเศษมาชุบภรรยาของเขาให้คืนมีชีวิตมาอีกได้ เขาจะมีความสุขมาก แม้ว่าผู้วิเศษนั้นจะเรียกเอาเงินของเขาทั้งหมดหรือจับเขาขังไว้ในตะรางสักเดือนสองเดือน            เขาก็คงยอม

จากตัวอย่างดังแสดงมานี้ ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า ความสุขมิได้เกิดจากสมบัตินอกกายเสมอไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสุขอยู่ที่ไหน? ก็อาจตอบได้ว่า ความสุขอยู่ที่ใจของแต่ละคนนั่นเอง ใจเป็นที่เกิดของความสุข เช่นเดียวกับนาเป็นที่เกิดของข้าว ถ้าใจเป็นสุขแล้ว แม้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน จะทำอะไร  จะมีอะไร จะเป็นอะไร เป็นความสุขไปทั้งนั้น ตรงกันข้าม ถ้าใจเป็นทุกข์แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างดู              เป็นทุกข์ไปทั้งหมด แม้สิ่งที่เคยให้ความสุขมาก่อน ก็ดูเป็นทุกข์ไป เช่นอย่างลูกน้อยของเราที่รัก และทะนุถนอมที่สุด ถ้าเวลาเรากำลังสบายอกสบายใจ ถ้าลูกมาอ้อนออดฉอเลาะ จะทำให้เกิดความรักใคร่น่าเอ็นดูยิ่งขึ้น แต่เวลาที่กำลังใจคอหงุดหงิด เพราะทะเลาะกับสามีก็ดี เพราะเล่นไพ่เสียก็ดี เพราะได้ยินเพื่อนบ้านนินทาก็ดี ถ้าลูกมาอ้อนออดฉอเลาะอยู่ใกล้ๆ กลับจะเป็นที่รำคาญขวางหู           ขวางตาไป เพราะฉะนั้น สุขจึงอยู่ที่ใจ
บัดนี้ขอให้พิจารณาดูว่า ในใจนั้นมีอะไรแอบแฝงแทรกแซงอยู่ ถ้าพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่าในใจของคนธรรมดาสามัญทั่วไปนั้นมีความต้องการหรือความอยากได้ อยากมี อยากเป็นแฝงอยู่

อยากได้อะไรบ้าง? อยากได้บ้านเรือนอยู่สวยๆ งามๆ อยากได้เสื้อผ้าแพรพรรณ อยากได้อาหารอันเอร็ดอร่อย อยากมียารักษาโรคดีๆ อยากได้รถยนต์เรือยนต์ ตลอดถึงเครื่องบิน อยากได้เครื่องตกแต่งบ้านงาม ๆ อยากได้วิทยุ เครื่องเล่นจานเสียง อยากได้ปากกา แว่นตา รองเท้า อยากได้ลูก ได้เมีย ได้ผัว อยากได้เกียรติยศชื่อเสียง อยากมีหน้ามีตา อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ถ้าจะจาระไนสิ่งที่คนต้องการอย่างละเอียดแล้ว ไม่มีเวลาจะสิ้นสุดได้ เพราะมากมายเหลือคณานับ
ความอยากนี้แหละเป็นรากฐานของสุขและทุกข์ ความอยากนี้เองเป็นเหตุให้โลกเจริญ และเป็นเหตุให้โลกเสื่อม

เมื่อมีความอยากในใจแล้ว ความอยากก็เป็นแรงดันให้คนแสวงหาสิ่งต่างๆ มาสนองความอยาก          ถ้าความอยากได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ คนก็มีความสุขตามความหมายของทางโลก

สุขทางโลกจึงอยู่ที่ความสมปรารถนาหรือสมหวัง เมื่อเราหวังอะไร ถ้าได้สิ่งนั้น ๆ สมหวังก็ถือว่า           เป็นสุข เช่นหวังที่จะสอบให้ได้ ถ้าสอบได้ตามหวังก็เป็นสุข หวังที่จะมีคู่ครองสักคน ถ้ามีคู่ครองตามที่หวังก็เป็นสุข หวังที่จะได้เงินได้ทอง ถ้าได้ตามหวังก็เป็นสุข ถ้าผิดหวังก็เป็นทุกข์
ความหวัง คือ ความอยาก หรือความต้องการนี้ ทางพระท่านเรียกว่าตัณหา

ตัณหานี้ท่านเปรียบเหมือนไฟซึ่งคุกรุ่นอยู่ในจิตใจของมนุษย์ ธรรมดาไฟย่อมต้องการเชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน ฟืน ถ่าน เป็นต้น ไฟตัณหาก็ต้องการเชื้อเพลิงเหมือนกัน แต่เชื้อเพลิงสำหรับไฟตัณหานั้น ต่างจากเชื้อเพลิงสำหรับไฟธรรมดา ไฟตัณหากินเชื้อเพลิงคือรูป ตัณหาต้องการแต่รูปสวยๆ งามๆ เราก็ต้องขวนขวายต่อสู้ดิ้นรนหาให้มัน สิ่งใดไม่สวยไม่งามเราต้องประดับประดาตกแต่งให้สวยงาม บ้านเรือนเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ตลอดถึงร่างกายของเราก็ต้องประดับประดาตกแต่งให้สวยงาม ให้มีรูปร่างสีสันแปลก ๆ เพื่อจะได้ถูกใจตัณหา

พวกนักประดิษฐ์เขาก็รู้คอตัณหาดี จึงประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ขึ้นแปลกๆ ใหม่ๆ แล้วก็ส่งมาขายเต็มไปหมด ตามร้านตลาด ไปไหนๆ พบแต่เชื้อเพลิงสำหรับตัณหาทั้งนั้น เชื้อเพลิงชนิดนี้เราให้แก่ตัณหาทางนัยน์ตา

เชื้อเพลิงคือเสียงเราให้แก่ตัณหาทางหู
เชื้อเพลิงคือกลิ่นเราให้ทางจมูก
เชื้อเพลิงคือรสเราให้ทางลิ้น
เชื้อเพลิงคือโผฏฐัพพะเราให้ทางกาย
เชื้อเพลิงคือธรรมารมณ์เราให้ทางใจ
เมื่อไฟตัณหาได้รับเชื้อเพลิงเหล่านี้อยู่เสมอๆ มันก็ลุกโพลงมากขึ้นเป็นกองเพลิงใหญ่                         
เมื่อเป็นกองเพลิงใหญ่ มันก็ต้องการเชื้อเพลิงมากขึ้น เราก็ต้อง ขวนขวายหาให้มันมากขึ้น                     
ผลแห่งความขวนขวายพยายามหาเชื้อเพลิงต่างๆ มาบำรุงตัณหานี้แหละ ทำให้โลกเจริญขึ้น                   
ในด้านวัตถุ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

โลกเจริญขึ้น ทำให้คนทำงานหนักยิ่งขึ้น ผลแห่งการทำงานหนักทำให้คนร่ำรวยขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน โลกกลับยากจนลง หมายความว่า ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่มีอยู่ในแผ่นดิน                 เช่น แร่ธาตุต่างๆ ถ่านหิน น้ำมัน ต้นไม้ สัตว์ต่างๆ ได้ถูกมนุษย์ขุดค้นขึ้นมาทำเชื้อเพลิงเลี้ยง              ตัณหามากขึ้นทุกที จนทรัพยากรเหล่านั้น เกิดขาดแคลนหายากเข้า

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนก็เกิดการแก่งแย่งกัน แย่งชิงกัน โกงกัน หักหลังกัน เพราะใคร ๆ ก็ต้องการเชื้อเพลิงมาเลี้ยงไฟตัณหาของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงเกิดขัดกันขึ้น ในที่สุดก็ต่อสู้ประหารกัน เกิดเป็นสงครามครั้งที่หนึ่งที่สอง ที่สามเรื่อยไป

ทุกวันนี้โลกเจริญขึ้นมาก มนุษย์อาจบินไปในอากาศได้ด้วยความเร็วยิ่งกว่าเสียง อาจดำไป             
ในน้ำได้ดีกว่าปลา อาจฟังดนตรีจากอีกซีกหนึ่งของโลกได้ สิ่งสำหรับบำรุงสุขมีเต็มดาษดื่นไปหมด               
แต่ถึงกระนั้นโลกก็ไม่ประสบสันติสุขเท่าที่ควร โลกยิ่งเจริญขึ้น ชาวโลกยิ่งนอนตาไม่หลับ               
ยิ่งเต็มไปด้วยความสะดุ้งหวาดกลัว โลกยิ่งเต็มไปด้วยภัยอันตรายมากขึ้น

เหตุไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่า ชาวโลกมิได้สร้างเฉพาะอุปกรณ์สำหรับให้ความสุขอย่างเดียว             
แต่ได้สร้างเครื่องมือสำหรับทำลายตนเองขึ้นมาด้วย สถานการณ์ของโลกทุกวันนี้คล้าย ๆ กับว่า     
เราถือวิทยุไว้ในมือข้างหนึ่ง และถือลูกระเบิดปรมาณูไว้ในมือข้างหนึ่ง ขณะที่ฟังเพลงจากวิทยุเพลิดเพลินไป เราก็อดที่จะชำเลืองไปดูระเบิดปรมาณูไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรมันจะระเบิดตูมตามออกมาทำลายชีวิตเรา เมื่อตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ เราก็ไม่อาจจะมีความสุขสงบได้

ถ้าจะถามว่า ทำไมจึงต้องสร้างเครื่องมือทำลายตัวเองขึ้นมาด้วย ไม่สร้างไม่ได้หรือ ก็อาจตอบได้ว่า ไม่สร้างไม่ได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอิจฉาริษยา                      ความพยาบาทจองเวรอยู่ตราบนั้น เขาก็จะต้องสร้างอาวุธต่าง ๆ ขึ้นมา
นักวิทยาศาสตร์คุยนักหนาว่า สามารถเอาชนะธรรมชาติต่าง ๆ ได้เกือบหมดแล้ว                                  แต่ในเวลาเดียวกัน เขาก็ตกเป็นทาสแห่งกิเลสตัณหาของตนเองอย่างสิ้นเชิง เขายังปล่อยให้               กิเลสตัณหา เป็นผู้บัญชาการเขาอย่างเต็มประตู เมื่อเขาตกเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ของตัณหาเช่นนี้แล้ว ตัณหาก็บัญชาการให้เขาสร้างอาวุธต่าง ๆ ขึ้นเพื่อทำลายตัวเอง
เพราะฉะนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า สุขของชาวโลกนั้นอยู่ที่ความสมหวัง สมอยาก สมปรารถนา                      ถ้าสามารถมีสิ่งต่าง ๆ มาสนองความอยากได้สมหวังก็เป็นสุข ถ้าไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ แต่ไม่มี              ใครเลยในโลกที่จะประสบแต่ความสมหวังอย่างเดียวตลอดชีวิต หรือประสบแต่ความผิดหวัง               อย่างเดียวในชีวิต ย่อมมีความสมหวังบ้างผิดหวังบ้างเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงเป็นสุขบ้าง                    เป็นทุกข์บ้าง สลับกันไป สุขอยู่ชั่วคราว แล้วก็ทุกข์ ทุกข์อยู่ครู่หนึ่งแล้วก็สุข ดังนั้น สุขทางโลก           จึงไม่แน่นอน เป็นสุขเจือด้วยทุกข์

บัดนี้ขอให้เรามาพิจารณาดูทางธรรมต่อไป สุขทางธรรมนั้นมีลักษณะตรงกันข้ามกับสุขทางโลก               
สุขทางโลกต้องเลี้ยงตัณหา แต่สุขทางธรรมต้องทำลายตัณหา สุขทางโลกต้องสมหวัง                     
 แต่สุขทางธรรมอย่าสร้างความหวังเสียเลย สุขทางโลกต้องหาเชื้อเพลิงมาให้ไฟ                         
 แต่สุขทางธรรมต้องดับไฟเสีย

อย่างไรก็ตาม การดับไฟมิใช่ของทำได้ง่ายๆ ต้องค่อยทำค่อยไปทีละขั้น ต้องทำด้วยความอุตสาหะวิริยะ ตั้งใจเด็ดเดี่ยว จึงจะสำเร็จได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงวางวิธีดับไฟตัณหาไว้เป็นขั้น ๆ ๓ ขั้นด้วยกัน
ชั้นแรกนั้น ให้ขีดวงจำกัดไว้ก่อน อย่าให้มันลุกลามไปไหม้คนอื่นเขาจำกัดไว้ให้มันไหม้เฉพาะเราเองอย่าให้มันไปไหม้ชีวิตเขา อย่าให้มันไปไหม้ทรัพย์เขา อย่าให้มันไปไหม้ลูกเมียเขาเป็นต้น อย่าให้มันลุกลามออกมาทางกาย วาจา เพราะถ้ามันลามออกมา มันจะไปเผาผู้อื่น

วิธีหรือเครื่องมือสำหรับจำกัดไฟตัณหาก็คือศีลนั่นเอง ศีลเป็นเสมือนเครื่องกั้นมิให้ไฟตัณหาลุกลามไปไหม้คนอื่น

โลกที่วุ่นวายเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ เพราะถูกไฟตัณหาเผา เพราะคนไม่รักษาไฟของตนไว้                     เพราะคนไม่มีศีล ถ้าคนทุกคนหรือส่วนมากมีศีล ไฟจะไม่ไหม้โลก ไฟจะไม่ไหม้เกาหลี                         ไฟจะไม่ไหม้อินโดจีน และจะไม่ไหม้ประเทศ โลกอยู่เย็นเป็นสุขสบาย

เมื่อใช้ศีลจำกัดไฟไว้แล้วเช่นนี้ อย่าเพิ่มเชื้อให้แก่ไฟ ธรรมดาไฟเมื่อไม่ได้รับเชื้อเพิ่มเติม มันจะ ค่อย ๆ อ่อนกำลังลง ในที่สุดก็จะดับไปเอง การไม่เพิ่มเชื้อให้ไฟนั้นก็คือปิดประตูเสีย อย่าให้เชื้อ          แก่มัน ให้สำรวมตาคืออย่าดูรูปสวยๆ งามๆ ที่จะเป็นเชื้อเพลิงแก่ไฟ หูอย่าฟังเสียงไพเราะเร้า               ไฟตัณหา เพื่อจะให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ ควรอยู่ในที่สงัดเงียบตามป่า ตามถ้ำเขา อย่างพระธุดงค์              จมูกอย่าดมกลิ่นหอมๆ อย่าให้ของหอม ลิ้นอย่าลิ้มรสที่อร่อย อย่ากินอาหารมากเกินไป กายอย่า          นั่งบนที่นั่งนอนอันอ่อนนุ่ม ใจอย่าคิดฟุ้งซ่านถึงอารมณ์ต่างๆ ใช้สมาธิข่มไว้ ปิดประตูไว้อย่าให้              เชื้อใด ๆ แทรกซึมเข้าไปได้ เมื่อทำได้ดังนี้ไฟก็จะอ่อนกำลังลง

เมื่ออ่อนกำลังลวงแล้วก็ดับเสียด้วยน้ำ คือ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญานี้เองคือเครื่องมือดับตัณหา         เมื่อปฏิบัติตามได้เต็มที่แล้ว ตัณหาจะถูกดับ เมื่อตัณหาถูกดับ ไฟกองใหญ่ดับไปแล้ว ก็ยังเหลืออยู่แต่ความสงบเย็นนี้แหละคือสุขทางธรรม
สุขทางธรรม ตลอดถึงวิธีดับตัณหานี้ เป็นเรื่องพูดง่าย แต่ทำได้ยากยิ่ง ถ้าจะทำตามที่พูดนี้ คนทุกคนจะต้องออกบวชเข้าไปอยู่กับป่ากันหมด ซึ่งเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรายังอยู่ในโลก ก็อาจจะเสวยสุขทางธรรมได้ แต่จะได้มากหรือน้อยนั้น             
 แล้วแต่การประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าปฏิบัติได้เพียงขั้นศีล คือจำกัดเขตของไฟตัณหาไว้                   
 ก็จะได้ความสุขพอสมควร ถ้ายิ่งทำขั้นสมาธิได้อีกก็ยิ่งดี

แต่สำหรับฆราวาสผู้อยู่ครองเรือน มีภาระผูกพันมาก เอาแต่เพียงจำกัดตัณหาไว้ก็พอ รักษาศีลก็พอแล้ว จะได้ความสงบสุขไม่น้อยทีเดียว เมื่อมีสุขแล้ว นั่นแหละคือความหมายแห่งชีวิตละ ฯ

ที่มา ธรรมะออนไลน์


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: