หยุดแก้กรรม...หันมาสร้างกรรมดีด้วยตัวเราเอง
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หยุดแก้กรรม...หันมาสร้างกรรมดีด้วยตัวเราเอง  (อ่าน 1180 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: พฤษภาคม 13, 2011, 09:58:57 AM »

หยุดแก้กรรม...หันมาสร้างกรรมดีด้วยตัวเราเอง


การประดิษฐ์คำในการสอนของผู้ที่มีหน้าที่สอน จะเป็นพระสงฆ์ แม่ชี หรือฆราวาสผู้ธรรมทั้งหลาย ควรตระหนักระวัง และต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ จริง ซึ่งไม่ใช่แค่รู้งูๆ ปลาๆ หรือรู้ผิดๆ แล้วมาตั้งตัวเป็นผู้สอน....


บอกตรงๆ ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า “แก้กรรม” อุบัติขึ้นมีความกระสันรู้ว่าใครกันหนอ สำนักไหนกันนะช่างประดิดประดอยคำคำนี้ได้สวยหรูไม่หยอก จนแก้กรรมได้แตกหน่อออกผลมีผู้นำไปใช้กันแพร่หลาย ในแง่ของพิธีกรรม เกิดการแก้กรรมด้วยวิธีต่างๆ นานา ทั้งแบบโลดโผนพิสดาร ทั้งแบบไม่โลดโผนแต่แถไปได้เรื่อยๆ คนจับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็อยู่ยั้งยืนยง หาเลี้ยงชีพบนความเชื่อของคนไปวันๆ


ในแง่ทฤษฎี มีงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องการแก้กรรมหลากหลาย มีการออกหนังสือแก้กรรมซึ่งปรากฏว่าขายดี แต่ทว่าเนื้อหาบางเล่มค่อนข้างหวือหวา มีการแนะนำให้คนแก้กรรมแบบผิดๆ ซึ่งไม่มีในหลักคำสอนของศาสนาพุทธ มองแล้วอันตรายสำหรับคนที่ยอมให้เขาแก้กรรมที่ใช้แต่ศรัทธานำหน้าทะลุทะลวง แล้วไม่ใช้ปัญญากำกับ กลายเป็นหลงงมงายอย่างที่พุทธศาสนาเรียกว่า “โมหะ”




ไม่เพียงการ “แก้กรรม” เท่านั้น พักหลังเกิดคำว่า เปิดกรรม สแกนกรรม และเอกซเรย์กรรม แล้วมีการนำมาใช้ทั้งในแง่ทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยภาคปฏิบัติมีบุคคลที่มีตัวตนทำการเอกซเรย์กรรมบุคคลที่ประสงค์จะให้ เอกซเรย์ ซึ่งไม่รู้ว่ามีญาณวิเศษอะไรเป็นเครื่องสแกนจนเห็นทะลุปรุโปร่งขนาดว่าบุคคล นั้นๆ ไปทำกรรมอะไรมาในอดีตชาติ และรู้ด้วยว่าจะต้องแก้กรรมนั้นด้วยวิธีอะไรอีกต่างหาก


ส่วนกรณีคลิปของแม่ชีแก้กรรมท่านหนึ่งที่ให้เหล่าผู้หญิงมีกรรมทั้งหลาย ไปนอนกับวัยรุ่นผู้ชายเพื่อแก้กรรมที่มีอยู่ให้หมดหรือลดลงไป มิเพียงเป็นวลีฮิตติดปากที่หลายๆ คนนำมาพูดหยอกเอินกันสนุกสนานหู เช่น วันนี้ไปแก้กรรมที่ไหนดี (วะ) เดี๋ยวก็พาไปแก้กรรมซะหรอก เป็นต้น ยอมรับว่าได้สร้างความตื่นในหมู่ชาวพุทธพอสมควร ซึ่งก็มีทั้งพวกตื่นรู้ และตื่นต่อต้าน


ตื่นรู้...ผู้คนหูตาสว่าง เกิดจักษุปัญญา คือ ใช้สติและปัญญามากขึ้น คนที่เคยเชื่อแบบนั้นหรือยังไม่ทันเชื่อเมื่อเห็นตัวอย่างก็จะหันมาใช้สติ ปัญญาคิดพิจารณาก่อนที่จะเชื่อในสิ่งใดๆ


ตื่นต่อต้าน...เมื่อเห็นไม่ถูกไม่ควรและไม่เหมาะสม ก็ควรต้องแสดงตัวว่าไม่เห็นด้วย ไม่ใช่นิ่งเฉยธุระไม่ใช่ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปอาจสายเกินแก้ เพราะถ้าแย่กว่านี้จะแก้ลำบากหากมวลชนมากขึ้น

พุทธศาสนาสอนให้เว้นกรรมชั่วและให้ทำกรรมดี


การประดิษฐ์คำในการสอนของผู้ที่มีหน้าที่สอน จะเป็นพระสงฆ์ แม่ชี หรือฆราวาสผู้ธรรมทั้งหลาย ควรตระหนักระวัง และต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ จริง ซึ่งไม่ใช่แค่รู้งูๆ ปลาๆ หรือรู้ผิดๆ แล้วมาตั้งตัวเป็นผู้สอน


อย่ามุ่งแค่ประดิษฐ์คำสวยหรูเพื่อสร้างเครดิตให้กับตัวเอง ว่าเป็นบุคคลสอนธรรมสมัยใหม่ แต่ทว่าใส่วิธีการสอนผิดๆ เข้าไป และอย่ามุ่งทำในเชิงพาณิชย์ โดยเอาความเชื่อของผู้คนมาเป็นบันไดไต่เต้าไปสู่ความมั่งคั่งทางธุรกิจ เพราะแทนที่จะเป็นบุญแต่กลับเป็นการเพิ่มบาปใส่ตัว


การแก้กรรมอย่างที่แก้ๆ เท่าที่เห็นในปัจจุบัน...ไม่มีว่าไว้ในหลักคำสอนของศาสนาพุทธ และคำว่า “แก้” ก็ไม่ควรที่จะถูกนำมาใช้ในการสอนในเรื่องของกรรมด้วย เพราะ มันง่ายไป...ง่ายจนคนสมัยนี้ไม่ไปไหนมาไหน ง่วนอยู่แต่กับการแก้กรรม พอชีวิตมีปัญหาอะไรก็โทษกรรมอย่างเดียว กรรมชั่วทำให้เป็นเช่นนั้น


ที่สุดก็ตระเวนหา “ผู้แก้กรรม” มาแก้ไขปัญหาที่ว่าให้ แม้จะเสียเงิน เสียเกียรติก็ยอม แล้วผู้แก้กรรมสมัยนี้ก็แปลกประหลาดไม่น่าเชื่อ แค่มองไปที่รูปร่างหน้าตาของผู้มาแก้กรรม ก็สามารถรู้แจ้งชัดว่าเขาผู้นั้นชาติก่อนไปทำบาปกรรมอะไรมา ชาตินี้จึงต้องเป็นแบบนี้ มันน่าเหลือเชื่อขนาดไหน เพราะถ้าเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นสัพพัญญูรู้ทุกอย่าง รู้อดีตชาติทั้งของพระองค์และของคนอื่นย้อนไปนับชาติไม่ถ้วน ไม่ใช่สิ่งเกินจริงแน่นอน เพราะทรงรู้จริงเห็นจริง แต่ปุถุชนสมัยนี้มักจะทำตัวเสมือนเป็นพุทธเจ้า ระวังบาปจะกินหัว


เพราะฉะนั้น อยากให้ชาวพุทธได้กลับมาดูหลักคำสอนของศาสนาพุทธที่แท้จริง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้เป็นแนวทางชัดเจนในวันมาฆบูชา ที่เรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” อยากให้ทุกคนเอาไปคิด


ข้อแรก สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง คือ การไม่ทำความชั่วหรือบาปทั้งปวง กล่าวคือขึ้นชื่อว่าชั่ว ไม่ดี เป็นบาป ทำแล้วเดือดร้อนกายและใจ จะต้องเว้นให้ไกล ไม่ทำ และระวังอย่าให้ใจไปยินดีกับการทำชั่ว การพูดชั่ว การคิดชั่ว เหล่านั้น อาทิ การฆ่า การเบียดเบียน การทำร้าย การลักขโมย การฉ้อโกง การประพฤติผิดในประเวณี การด่า การใส่ร้าย ส่อเสียด ปรักปรำความผิดให้คนอื่น การคิดอาฆาตล้างแค้นจองเวรคนอื่น


ข้อ 2 กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลคือความดีให้ถึงพร้อม กล่าวคือ เมื่อไม่ทำความชั่วแล้วควรจะต้องสร้างสมความดีอยู่เสมอ ไม่ใช่ชั่วไม่มีแล้วดีก็ไม่ทำเลย อย่างนั้นไม่ถูก ที่ถูกต้องทำดีด้วย เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นความดีจริงๆ ดีแท้ๆ ดีบริสุทธิ์ พระพุทธศาสนาสอนให้ทำ ไม่ให้หนี ไม่ให้กลัว และไม่ให้อายที่จะทำ เช่น ไม่ให้อายว่ากุศลแค่น้อยนิดแล้วไม่คิดทำความดี เช่น การช่วยเหลือคนอื่นซึ่งกำลังเดือดร้อน การเลี้ยงดูบิดามารดาด้วยความเคารพเทิดทูน การทำบุญในพระศาสนา การไม่อาฆาตแค้น การไม่มุ่งร้าย การไม่ว่าร้ายคนอื่น เป็นต้น
ข้อสุดท้าย สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระและรักษาจิตของตัวเองให้บริสุทธิ์ ผ่องแผ้วอยู่เสมอ เช่น การนั่งสมาธิ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นต้น โดยจิตที่สะอาด ผ่องแผ้ว บริสุทธิ์ เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ 2 ข้อที่กล่าวมาได้รับการสนับสนุนส่งเสริมในเชิงบวก กล่าวคือ เมื่อจิตได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี บุคคลรักษาใจตัวเองดี คิดดี ก็ไม่มีทางที่จะไปทำความชั่วใดๆ และไม่มีทางที่จะปล่อยความดีทั้งหลายให้หลุดลอยไปแน่นอน


เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าไม่มีที่ไหนที่พระพุทธศาสนาสอนให้ “แก้กรรม” แต่พระพุทธศาสนาสอนชัดเจนว่า กรรม ชั่วเป็นสิ่งไม่ควรทำอย่างยิ่งและไม่ให้ทำ กรรมดีเป็นสิ่งควรทำและพยายามทำให้มาก และที่สำคัญกรรมชั่วก็คนละส่วน กรรมดีก็คนละส่วน แยกกัน อย่าเอาไปเหมารวม
การสอน เช่นว่า ชาติก่อนคุณไปข่มขืนใครไว้ พอมาชาตินี้คุณจะต้องแก้กรรมชั่วของคุณนั้นด้วยการไปนอนกับคนนั้นคนนี้จึงจะ หมดกรรมหรือกรรมเบาบาง สอนแบบนี้ถือว่าเสียหายทั้งต่อศาสนาและผู้สอนเอง

ชาวพุทธต้องเข้าใจกรรมให้ถูก


การที่สังคมไทยเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาเพราะเข้าใจในเรื่องกรรมคลาด เคลื่อนไม่ตรงตามหลักศาสนาที่แท้จริงจึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด สอนผิด และปฏิบัติผิดๆ และเพื่อความเข้าใจในกรรมที่ถูกต้องจึงขอยกข้อความบางส่วนในหนังสือ “กรรม นรก สวรรค์ สำหรับคนรุ่นใหม่” ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) มาเป็นวิทยาทาน


พระพรหมคุณาภรณ์ กล่าวว่า กรรมนั้นหมายถึงการกระทำ เป็นกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นฝ่ายดีก็เรียกบุญหรือบุญกรรม ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกบาปหรือบาปกรรม หรือไม่ก็เรียกกุศลกรรมและอกุศลกรรม แต่สังคมไทยมักใช้ในความหมายคลาดเคลื่อน เช่น คำว่าแล้วแต่บุญแต่กรรม ปล่อยให้เขาก้มหน้ารับกรรมไป เป็นต้น ซึ่งแสดงเกิดไขว้เขวในเรื่องกรรม


ทั้งนี้ ท่านได้ยกข้อความในวาเสฏฐสูตรว่า การที่พระพุทธเจ้าตรัสบุคคลเป็นชาวนา เป็นโจร เป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์ เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม ฯลฯ ซึ่งจากข้อความนี้บางคนอาจคิดว่าคนคนนั้นต้องไปทำกรรมบางอย่างไว้จึงทำให้ ชาตินี้ต้องมาเกิดเป็น ชาวนา เป็นกษัตริย์ เป็นปุโรหิต แต่ความจริงไม่ใช่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนที่ดำนา หว่านข้าว ไถนา จึงเป็นชาวนาซึ่งเป็นไปตามการกระทำอันได้แก่อาชีพของเขา คนที่เป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดินก็เป็นปุโรหิตตามอาชีพของเขา เป็นต้น ซึ่งกรรมในที่นี้หมายถึงการกระทำที่เป็นอาชีพการงาน เป็นขั้นของการกระทำที่มองเห็นชัดปรากฏออกมาภายนอก แต่เมื่อดูความหมายที่ลึกเข้าไปถึงจิตใจ เจตนาคือกรรม ดั่งพุทธพจน์ที่ให้ความหมายของกรรมชัดเจนคือ เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม กล่าวคือเมื่อบุคคลจงใจ มีเจตนาอย่างใดก็แสดงออกมาเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจาเป็นการพูด นี้ก็คือความหมายของกรรมที่ละเอียดชัดเจน


อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดกรรมมีหลายประเภท ถ้าแสดงออกทางกายจัดเป็นกายกรรม ถ้าแสดงออกทางวาจาเป็นวจีกรรม ถ้าแสดงออกทางใจจัดเป็นมโนกรรม ถ้าโดยคุณภาพจำแนกเป็น 2 คือ กรรมดีเรียกกุศลกรรม กรรมชั่วเรียกอกุศลกรรม บางแห่งจำแนกออกไปอีก เช่น กรรมดำ กรรมขาว กรรมทั้งดำทั้งขาว และกรรมไม่ดำไม่ขาวที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

เข้าใจนิยาม 5 ก็เข้าใจกฎแห่งกรรม


ในหนังสือกรรม นรก สวรรค์ สำหรับคนรุ่นใหม่ ระบุว่า การที่จะเข้าใจกรรมได้ถูกต้องโดยไม่ได้เหมาว่าทุกอย่างเป็นเพราะกรรมอย่าง เดียวนั้น คนไทยจะต้องรู้จักกฎ 5 ข้อ หรือนิยาม 5 ดังต่อไปนี้

1.กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม ได้แก่ กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ เช่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว 2.จิตตนิยาม กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการทำงานของจิต 3.พีชนิยาม กฎเกี่ยวกับพืชพันธุ์ เช่น ปลูกมะม่วงก็เกิดเป็นมะม่วง ปลูกเมล็ดพืชอะไรก็ออกผลออกต้นเป็นพืชชนิดนั้น อย่างนี้เรียกพีชนิยาม 4.อุตุนิยาม กฎเกณฑ์เกี่ยวกับอุตุ คือเรื่องอุณหภูมิ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ 5.ธรรมนิยาม กฎแห่งธรรม คือความเป็นเหตุเป็นผลกันของสิ่งทั้งหลาย หรือความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เช่น คนเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เป็นต้น


จะเห็นว่ากรรมนิยามเป็นเพียงกฎ 1 ใน 5 กฎ การที่จะวิเคราะห์พิจารณาสิ่งทั้งหลายจึงอย่าไปยึดถือว่าทุกอย่างต้องเป็น เรื่องของกรรมทั้งหมด มิฉะนั้นจะกลายเป็นทัศนะที่ผิดพลาดได้ เช่น นาย ก. เหงื่อออกเพราะอากาศร้อนจะไปบอกว่าเหงื่อออกเพราะกรรมคงไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าอุตุนิยาม ซึ่งก็ไม่แน่เสมอไป บางทีนาย ก. เหงื่อออกไม่ใช่เพราะอากาศร้อน เช่น นาย ก. ไปทำความผิดแล้วเกิดหวาดกลัวจนเหงื่อออก ในกรณีนี้นาย ก. เหงื่อออกเพราะกรรม เป็นกรรมนิยาม


ในหนังสือเล่มนี้ยังได้ยกพุทธพจน์ในสฬายตนวรรค สังยุตตนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม 18 ข้อ 427 เพื่อให้ภาพชัดว่า โรคบางอย่างเกิดจากการบริหารกายไม่สม่ำเสมอก็มี เกิดจากอุตุคือสภาพแวดล้อมแปรปรวนเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากดีเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากสมุฏฐานต่างๆ ประกอบกันก็มี เกิดจากกรรมก็มี แปลว่าโรคบางอย่างเกิดจากกรรม แต่หลายอย่างเกิดจากอุตุนิยาม เกิดจากความแปรปรวนของร่างกาย เกิดจากการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ เช่น พักผ่อนน้อยเกินไป ออกกำลังกายเกินไป เป็นต้น เพราะฉะนั้นกรรมเป็นเพียงเหตุหนึ่งเท่านั้นจะโทษกรรมไปทุกอย่างคงไม่ได้


“พระที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร บางทีเป็นเพราะฉันยาแก้ไข้แก้ปวดแอสไพรินเวลาท้องว่าง ยานี้เป็นกรดบางทีก็กัดกระเพาะทะลุ อาจจะทำให้ถึงกับมรณภาพไปเลย ยาบางอย่างอันตรายมาก เขาจึงห้ามฉันเวลาท้องว่าง ต้องให้มีอะไรในท้องจึงฉันได้ บางคนเลือดไหลในกระเพาะ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด ที่แท้เป็นเพราะกินยาแก้ไข้แก้ปวดนี่เอง นี้ก็เป็นเหตุอันหนึ่ง บางคนเป็นแผลในกระเพาะเพราะความวิตกกังวล คิดอะไรต่างๆ ไม่สบายใจ จึงทำให้มีกรดในกระเพาะอาหาร แล้วกรดก็กัดกระเพาะเป็นแผลจนกระทั่งเป็นโรคร้ายแรง ถึงกับต้องผ่าตัดกระเพาะทิ้งไปครึ่งหนึ่งก็มี แต่เกิดจากเหตุคนละอย่างนั้นที่ฉันแอสไพริน หรือยาแก้ปวดแก้ไข้แล้วกระเพาะทะลุเป็นอุตุนิยาม ที่คิดกังวลกลุ้มใจแล้วเกิดแผลในกระเพาะเป็นกรรมนิยาม จิตใจไม่ดีมีอกุศลมากก็ทำให้โรคเกิดจากกรรมได้มาก อย่างที่เป็นกันมากเวลานี้คือโรคเครียดก็เป็นโรคกรรมหรือโรคเกิดจากกรรมนั่น เอง”


เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาชาวพุทธจะต้องเอาหลักนิยาม 5 มาวินิจฉัยในสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น จะได้ไม่ไปโทษว่าเป็นเพราะกรรมหมดทุกเรื่อง เพราะบางอย่างบางเรื่องก็เกิดจากกฎ (นิยาม) ต่างๆ หลายกฎมาประกอบกัน
หยุดเสียเถิดการแก้กรรม แล้วหันมาแก้ที่พฤติกรรมของตัวเองจะดีกว่า


จาก หนังสือพิมพ์ โพสทูเดย์ ออนไลน์


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: