หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
เมษายน 18, 2024, 10:56:30 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ  (อ่าน 10758 ครั้ง)
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออนไลน์ ออนไลน์

กระทู้: 13217


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« เมื่อ: กันยายน 02, 2010, 11:04:10 AM »

Credit kwantrakul  : http://www.buddhakhun.org/main//index.php?topic=408.0



หลวงพ่อแดง เกิดเมื่อเดือนเมษายน ปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๑ วันพุธที่ 17 กันยายน 2422 ที่บ้านสามเรือน หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ 3 ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี บิดาชื่อนายแป้น มารดาชื่อนางนุ่ม อ้นแสง มีพี่น้องรวมกัน ๑๒ คน ท่านเป็นคนที่ ๕

ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียว คือ นางน้อย เกิดประดับ ท่านเป็นพี่ชายของพระครูปัญญาโชติวัฒน์ ( เจริญ ธมฺมโชติ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ  เป็นที่น่าสังเกตว่า โยมบิดามารดาของท่านเป็นบุคคลผู้มีวาสนา เพราะมีบุตรชายอุปสมบทและครองสมณเพศอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตถึง ๒ รูป ทั้งยังได้เป็นเจ้าอาวาสที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรทั้ง ๒ รูป ด้วย ครอบครัวของท่านมีฐานะพอมีพอกิน และเป็นครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งในละแวกนั้น

 เมื่อมีอายุครบบวชในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ บิดามารดาได้นำท่านไปฝากไว้กับพระอาจารย์เปลี่ยนแห่งวัดเขาบันไดอิฐ และเมื่อได้บวชตามประเพณีแล้ว อุปสมบท เมื่อวันที่24 พฤษภาคม 2444 อายุ 22 ปี ที่วัดเขาบันไดอิฐ ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี พระครูญาณวิสุทธิ วัดแก่นเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า รตโต (แปลว่าสีแดง) ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาบันไดอิฐตลอดมา หลังจากบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านเล่าเรียนวิชาไสยศาสตร์และวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์เปลี่ยนจนจบ เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนได้ถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ หลวงพ่อแดงซึ่งขณะนั้นเพิ่งมีอายุย่างเข้า ๔๐ ปี พรรษาที่ ๒๐ ก็ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐแทนเป็นต้นมา

ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2502 หลวงพ่อแดงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูญาณวิลาศ

ท่านมีวิทยาคมขลังเป็นที่นับถืออย่างมาก ในช่วง พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรงขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรีทำให้วัวควายล้มตายลงเป็นอันมาก ท่านได้ปลุกเสกผ้ายันต์สีแดงขนาดเท่าผ้าเช็ดหน้าให้ชาวบ้านนำไปผูกไว้ที่ปลายไม้ไผ่แล้วปักไว้ที่คอกวัวควาย คอกใดที่ผ้ายันต์ของท่านมาปักไว้ วัวควายของคอกนั้นจะไม่เป็นโรคติดต่อ ชื่อเสียงของท่านจึงโด่งดังเป็นที่รู้จักแต่นั้นมา มีผู้คนไปขอของดีไว้ป้องกันตัวจากท่านมิได้ขาด ท่านจึงได้ทำผ้ายันต์และตะกรุดไว้แจก ผู้ที่นำตะกรุดและผ้ายันต์ของท่านไปบูชามักจะประสบกับอิทธิปาฏิหาริย์อยู่เสมอ
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๒ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูญาณวิลาศ" พร้อมรับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ ลูกศิษย์จึงได้ทำการฉลองสมณศักดิ์ให้ท่าน ในการนี้ท่านได้สร้างเหรียญขึ้นเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้มาร่วมงาน นับว่าเป็นเหรียญรุ่นหนึ่งของท่าน เป็นเหรียญทองแดงรมดำ จำนวน ๑๕,๐๐๐ เหรียญ และเป็นเหรียญเงินจำนวน ๘๓ เหรียญเท่าจำนวนอายุของท่านที่ย่างเข้าปีที่ ๘๓ ตัวเหรียญเป็นรูปวงรีคล้ายรูปไข่ ส่วนกว้างที่สุดประมาณ ๒.๖ เซนติเมตร สูงสุดประมาณ ๓.๔ เซนติเมตร เนื้อโละทำด้วยทองแดงรมดำ ด้านหน้าบนซ้ายมือมีอักษรปั๊มนูนสูงว่า "พ.ศ. ๒๕๐๓" ทางด้านขวามือมีอักษรเขียนว่า "อายุ ๘๒ ปี" ส่วนด้านล่างเขียนว่า "พระครูญาณวิลาศ (แดง)" ส่วนด้านหลัง ลงหัวใจพระพุทธคุณต่างๆ ไว้ด้วยภาษาขอม ตรงกลางด้านหลังลงยันต์สี่ มีหัวขมวด เป็นเหรียญที่ดังมากพุทธคุณมีประสบการณ์สูงทาง คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ปัจจุบันหายากมากๆ

หลังจากที่เหรียญรุ่นหนึ่งสร้างประสบการณ์ต่างๆ มากมายจนกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิเป็นที่เลื่องลือ ผู้คนต่างพากันมาขอเหรียญร่วมทำบุญ จนเหรียญรุ่นหนึ่งหมดไปจากวัด จึงได้มีการสร้างเหรียญรุ่นสอง สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ลักษณะองค์หลวงพ่อและอักขระเลขยันต์เหมือนกับเหรียญรุ่นหนึ่ง แต่ต่างกันที่คำว่า "เอ" (ซึ่งเป็นอักษรขอมตำแหน่งล่างสุด) ของรุ่นหนึ่งจะมีดูคล้าย "ฃ" แต่ของรุ่นสองดูคล้ายเลข "๘" เหรียญรุ่นสองนี้มีประสบการณ์แคล้วคลาดมากมายไม่แพ้รุ่นหนึ่งเลย ในการสร้างรุ่นที่สองนี้ ท่านได้สั่งทำเหรียญขนาดเล็กด้วยอัลปาก้า เพื่อสำหรับแจกแม่ครัวเรียกว่า "รุ่นแจกแม่ครัว" อีกด้วย
ในงานฉลองอายุท่านเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ทางวัดได้สร้างเหรียญขึ้นใหม่โดยใช้ข้อความและตัวอักษรเหมือนรุ่นหนึ่งทุกอย่าง แต่ใบหน้าหลวงพ่อเปลี่ยนไป ในปีเดียวกันนี้มีพ่อค้าได้สร้างเหรียญขึ้นอีกรุ่นเพื่อนำไปให้ท่านปลุกเสก คราวนี้ได้เปลี่ยนใบหน้าหลวงพ่อให้ชราภาพมากขึ้น ข้อความด้านหน้าเหรียญด้านบนปั๊มคำว่า " พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่ระลึกอายุครบรอบ ๘๙ ปี" ด้านล่างปั๊มคำว่า "พระครูญาณวิลาศ (แดง) " อักษรเลขยันต์ด้านหลังเหมือนรุ่นหนึ่ง แต่ได้ตอกภาษาจีนอ่านว่า " โจว" ไว้ที่ใต้ตัวอุ เหรียญรุ่นนี้มีเนื้อทองคำ นาค เงิน และทองแดงรมดำ เนื้อทองแดงมีจำนวน ๒,๐๐๐ เหรียญ

พ.ศ. ๒๕๑๑ ท่านมีอายุครบ ๙๐ ปี แม่ทัพภาคที่ ๑ ได้ขอให้ท่านทำเหรียญขึ้นอีกรุ่นเป็นรูปอาร์ม เนื้อทองแดงมีจำนวน ๔๘,๐๐๐ เหรียญ ส่วนเนื้อเงินและทองคำ มีจำนวนลดหลั่นลงไป เหรียญรุ่นนี้เรียกว่า "รุ่นแม่ทัพสร้าง" และยังมีเนื้ออัลปาก้าอีกด้วย

พ.ศ. ๒๕๑๓ คณะนายทหารตำรวจจากโรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่น ๑๒ ได้สร้างเหรียญเพื่อเป็นที่ระลึกในการรับราชการครบ ๓๐ ปี เหรียญรุ่นนี้ท่านได้เซ็นชื่อ "แดง" ไว้ และใช้ตอกเป็นโค๊ดไว้ที่ด้านหน้าของเหรียญ
หลังจากนั้นทางวัดได้สร้างเป็นพิมพ์พระสมเด็จและนางพญามีทั้งหมด ๓ พิมพ์ ๓ สี คือ สีเหลือง แดงและดำ ด้านหลังปั๊มยันต์และอักขระของหลวงพ่อ เรียกว่า "พระผงญาณวิลาศ" พิมพ์สมเด็จมีสีแดง สีเหลือง สีขาว พิมพ์ใหญ่จะมีขนาดกว้าง ๒.๒ เซ็นติเมตร สูง ๓.๖ เซ็นติเมตร นอกจากนี้ยังมี "พิมพ์คะแนน" ที่มีขนาดเล็กลงมา ทำขึ้นสำหรับคั่นเวลานับจำนวนพิมพ์ใหญ่ได้ครบทุก ๑๐๐ องค์ พระผงรุ่นนี้มีประสบการณ์มากมาย แม้กระทั่งตำรวจพลร่มโดดร่มลงมาแต่ร่มไม่กาง แต่กลับรอดตายราวปาฏิหาริย์โดยในคอแขวนพระผงญาณวิลาศของหลวงพ่อแดงนั้นเอง
วัตถุมงคลของท่านยังมีอีกหลายรุ่น เช่น ยุวพุทธิกสมาคม ชลบุรี สร้างรุ่นพิเศษ "ไตรภาคี" เนื้อผงสีแดง พิมพ์พระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธชินราช นำมาให้ท่านปลุกเสก , รุ่นวัดเทพธิดา (หลังโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ) สร้าง , เหรียญรุ่นที่มีรูปท่านกับหลวงพ่อเจริญที่เรียกว่า "เหรียญสองพี่น้อง" ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ , เหรียญที่มีรูปท่านเต็มองค์นั่งคุกเข่าอยู่ด้านหน้าเหรียญ เรียกว่า "เหรียญคุกเข่า" ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗

พระครูญาณวิลาศหรือหลวงพ่อแดงมรณภาพวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2517 ด้วยโรคชราที่วัดเขาบันไดอิฐ สิริอายุ 96 ปี พรรษาที่ 74

................... ................... ................... ............


อริยสงฆ์วาจาศักดิ์สิทธิ์


โดยคุณสายทิพย์ : นิตยสารหญิงไทย

ฉบับที่ 685 ปีที่ 29 ปักษ์หลัง เดือนเมษายน พ.ศ. 2547

"หลวงพ่อแดง" แห่งวัดเขาบันไดอิฐ ท่านเป็นพระเกจิที่มีญาณสมาธิแก่กล้า มีจิตตานุภาพสูงพอที่จะเพ่งเครื่องรางให้ขลังได้ ผ้ายันต์และเหรียญลงยันต์ของหลวงพ่อแดงจึงมีผู้นิยมเสาะหาไปบูชากันมาก แม้ท่านจะมรณภาพไปตั้งแต่ 16 มกราคม พ.ศ. 2517 แต่ความนิยมเลื่อมใสศรัทธา ความเชื่อมั่นในกฤตยาคม อภินิหาร และอาคมขลังในวัตถุมงคลของท่านก็ยังไม่เสื่อมคลาย หลวงพ่อรูปนี้ท่านมีอะไรดี ทำไมใครๆ ทั่วสารทิศจึงพากันมาวัดเขาบันไดอิฐกันไม่ขาดสาย...

"หลวงพ่อแดง" หรือ "พระครูญาณวิลาศ" เกิดที่ ต.บางจาก อ.เมือง จ.เพชรบุรี บิดาชื่อนายแป้น มารดาชื่อนางนุ่ม นามสกุล อ้นแสง เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 พ.ศ. 2422 ในวัยเด็กท่านก็ช่วยพ่อแม่ทำไร่ ทำนา ไม่มีโอกาสร่ำเรียนหนังสืออย่างเด็กสมัยนี้จนกระทั่งอายุ 20 ปี พ่อแม่ก็หวังจะให้บวชเรียน จึงพาไปฝากกับท่านอาจารย์เปลี่ยน วัดเขาบันไดอิฐ เพื่อจะได้เล่าเรียนและบวชเป็นพระภิกษุต่อไป

พระภิกษุแดงเมื่อได้บวชก็ประพฤติเคร่งครัดต่อพระวินัยและปฏิบัติต่อพระอาจารย์เปลี่ยนเป็นอย่างดี อาจารย์เปลี่ยนจึงรักใคร่มากกว่าศิษย์คนอื่นๆ และยังไดสอนวิชาการวิปัสสนา และวิธีนั่งปลงกัมมัฏฐานให้ รวมถึงถ่ายทอดวิชากฤตยาคมให้อย่างไม่ปิดบังหวงแหน เหตุนี้จึงทำให้พระภิกษุแดงเพลิดเพลินในการศึกษาวิชาความรู้ จนลืมสึก ยิ่งนานวันก็ยิ่งสำนึก ในรสพระธรรม ก็เลยไม่คิดสึกเลย จึงกลายเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่มีอาวุโสสูงสุด

จนกระทั่งพระอาจารย์เปลี่ยนมรณภาพลง พระภิกษุแดงรับหน้าที่เป็นสมภารวัดเขาบันไดอิฐแทน กลายเป็น "หลวงพ่อแดง" ตั้งแต่ พ.ศ. 2461 เป็นต้นมา และแม้ท่านจะได้เป็นสมภารซึ่งต้องมีภารกิจมาก แต่ท่านก็ยังปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิในถ้ำเพื่อแสวงหาวิมุตติภาวนาทุกวัน ญาณสมาธิจึงแก่กล้า จิตนิ่ง บริสุทธิ์ จนว่ากันว่าท่านมีหูทิพย์ ตาทิพย์

หลวงพ่อแดงไม่เคยอวดอ้างในญาณสมาธิของท่าน แต่ผลของความศักดิ์สิทธิ์ในเลขยันต์เป่ามนต์ของท่านก็ได้สำแดงออกมาให้ประจักษ์ว่าคุ้มครองป้องกันภัยได้แน่ๆ โดยมีเรื่องเล่ากันมาว่า

ในระหว่าง พ.ศ. 2477 ถึง พ.ศ. 2480 เวลานั้นเกิดโรคระบาดสัตว์ วัวควายเป็น โรครินเดรอ์เปรส ซึ่งเป็นโรคปากเท้าเปื่อยที่ติดต่อร้ายแรง พากันล้มตายเป็นเบือ สัตว์แพทย์ก็ไม่มี ต้องขอให้ทางการมาช่วยฉีดยา ราษฎรจึงพากันไปหาหลวงพ่อให้ช่วยปัดเป่าป้องกันโรคระบาดสัตว์ให้ด้วย

หลวงพ่อแดงจึงปลุกเสกลงเลขยันต์ในผืนผ้ารูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ แจกให้ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวควายนำไปผูกปลายไม้ปักไว้ที่คอกสัตว์ของตน ปรากฏผลว่า คอกสัตว์ที่ปักผ้าประเจียดยันต์หลวงพ่อแดงไม่ตายเลย ทุกบ้านในตำบลใกล้เคียงวัดเขาบันไดอิฐ เมื่อรู้กิตติศัพท์จึงพากันมาขอยันต์หลวงพ่อแดงทุกวันมิได้ขาด

กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือมหาสงครามเอเชียบูรพา มีทหารญี่ปุ่นมาขึ้นที่ประจวบคีรีขันธ์ ก็เกิดการต่อสู้กับทหารอากาศของไทยที่นั่น ชาวเพชรบุรีก็ตระหนกตกใจ แล้วชักชวนกันหาหลวงพ่อแดง ท่านก็ลงผ้าประเจียดยันต์แจก ให้คุ้มครองป้องกันตัว

เมืองเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2487 เกิดภัยสงครามชนิดร้ายแรง มีระเบิดลงทุกวันทำลายสถานีรถไฟ สะพานข้ามแม่น้ำ บ้านเรือน โรงเรียนต้องสั่งปิด ข้าราชการไม่ได้ไปทำงาน ทุกหน่วยราชการปิดหมด และปรากฏเรื่องเป็นที่ฮือฮาว่า บ้านคนที่มีผ้ายันต์หรือห้อยเหรียญหลวงพ่อแดง กลับไม่ได้รับอันตรายใดๆ เลย หลวงพ่อแดงจึงดังใหญ่ จนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กิตติคุณของหลวงพ่อในทางกฤตยาคมจึงปรากฏความศักดิ์สิทธิ์แพร่หลายยิ่งขึ้น

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อแดงปรากฏอีกครั้ง เมื่อเกิดคอมมิวนิสต์ญวนเหนือบุกญวนใต้ ประเทศไทยต้องส่งกองพันเสือดำ ออกไปช่วยพันธมิตรรบในญวนใต้ ก็ปรากฏว่าทหารไทยที่ไปปฏิบัติหน้าที่รบในเวียดนาม คนที่มีเหรียญหลวงพ่อแดงห้อยคออยู่ ไม่ถูกอาวุธเป็นอันตรายแก่ชีวิตสักคน ทั้งๆ ที่เข้าประจัญบานอย่างหนัก เป็นที่สงสัยของเพื่อนทหารต่างชาติว่าทหารไทยมีของดีอะไร ได้รับคำตอบจากทหารไทยว่ามี "เหรียญหลวงพ่อแดง"

ท่านเป็นพระใจดีมีเมตตาสูง และอารมณ์ดีเสมอ ไม่ชอบดุด่า ว่าใคร โดยเฉพาะคำหยาบคายถึงพ่อแม่ ท่านห้ามขาด ท่านว่าทุกคนเขาก็มีพ่อมีแม่ การด่าถึงบุพการีทำให้ความดีงามเสื่อมถอย ถึงห้อยพระพระท่านก็ไม่คุ้มครอง

หลวงพ่อแดงมรณภาพด้วยโรคชรา เมื่ออายุ 96 ปี พรรษาที่ 74 ก่อนตายท่านเคยพูดกับพระปลัดบุญส่ง ธมัมปาโล รองเจ้าอาวาสวัดขณะนั้นว่า

"เมื่อฉันหมดลมหายใจแล้วอย่าเผา ให้เก็บร่างฉันไว้ที่หอสวดมนต์ และให้เอาเหรียญที่ปลุกเสกรุ่น 1 ใส่ปากไว้พร้อมเงินพดด้วง 1 ก้อน ส่วนนี้ฉันเอาไปได้และให้เอาขมิ้นมาทาตัวฉันให้เหลืองเหมือนทองคำ"

 พระบุญส่งจึงรับปาก และได้ทำตามที่หลวงพ่อประสงค์ทุกอย่าง

และหลังจากที่หลวงพ่อแดงมรณภาพแล้วก็ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า อภินิหารของหลวงพ่อแดงมีจริง กับผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองเพชรบุรีท่านหนึ่ง ซึ่งจู่ๆ ท่านก็มีนิมิตฝันเห็นบ่อน้ำโบราณที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ต้นก้ามปูใหญ่ พอขุดก็พบบ่อน้ำนั้นจริงๆ บ่อน้ำแห่งนี้หลวงพ่อแดงเคยพูดไว้สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ว่าเป็น "บ่อน้ำวิเศษ" และขณะที่ขุดยังพบ "หัวพญานาคสีขาว" แบบปูนปั้นอยู่ที่ก้นบ่อด้วย 1 หัว เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวก็พากันแห่มาเพื่อจะตักน้ำเอาไปใช้กันแต่ปรากฏว่าพบงูใหญ่ตัวหนึ่งนอนขดอยู่ใต้สังกะสีที่เอาไว้ปิดปากบ่อ ชาวบ้านที่เห็นบอกว่า ลักษณะงูที่เห็นนั้นมีหงอนที่หัวด้วย ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีชาวบ้านกล้าเข้าไปตักน้ำที่บ่อนี้อีกเลย

ที่น่าแปลกอีกก็คือ นายตำรวจท่านหนึ่งซึ่งเคยมาช่วยงานในวัดก็ฝันเห็นหลวงพ่อแดง ท่านมาต่อว่า "ทำอะไรทำไมไม่บอก"

นายตำรวจก็ไปเล่าให้พระปลัดบุญส่งเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันฟัง ท่านก็ไม่เชื่อแล้วยังสั่งให้ย้ายศาลเก่า 2 ศาล บริเวณเชิงเขาบันไดอิฐเพื่อปรับปรุงบริเวณ โดยไม่ยอมทำพิธีเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทาง เพราะท่านเป็นคนไม่เชื่อไสยศาสตร์ ปรากฏว่าพอตกเย็นก็เกิดอาการผิดปกติ อยู่ๆ คอก็เริ่มบิดและตัวแข็งไปทั้งตัว ขยับไม่ได้ ชาวบ้านมาเยี่ยมเห็นว่าอาการหนักมากจึงช่วยกันพาส่งโรงพยาบาลเปาโล แต่พอถึงโรงพยาบาล อาการที่เป็นกลับหายราวปลิดทิ้ง และเมื่อเอ็กซเรย์พร้อมตรวจอย่างละเอียดก็ไม่พบว่าเป็นอะไรเลย และระหว่างที่นอนพักรักษาตัวอยู่ ท่านก็พูดออกมาคนเดียวโดยไม่รู้ตัวว่า

"ของดีมีอยู่ ผ่านไปผ่านมาไม่ใช้ต้นก้ามปูตรงนั้นเป็นบ่อน้ำ ให้ขุดลงไปแล้วจะเจอ มีของดีทำไมไม่รักษา"

ในภายหลังที่ออกจากโรงพยาบาลแล้วพระปลัดบุญส่งก็ได้ฝันอีกครั้ง ในความฝันท่านเห็นคนนุ่งผ้าถกเขมรมาหา มาบอกว่าเขาเป็นคนมัดหลวงพ่อเอง พูดแล้วเขาก็เอามือรีดที่ตัวหลวงพ่อเหมือนรีดเอาไขมันออก ทั้งขาและแขน จนหลวงพ่อพระปลัดบุญส่งสะดุ้งตื่นและพอตื่นขึ้นมาก็ยังเห็นผู้ชายคนนั้นอยู่ในห้องพอถามชื่อ เขาก็ถอยออกไปแล้วตอบกลับมาว่า "เขาเป็นเปรต" จากนั้นก็หายวับกลายเป็นแสงไฟ พร้อมเสียง "วี๊ด" ดังมาก ซึ่งพระในวัดก็ได้ยินกันทั่ว

เรื่องนี้ได้ทำให้ "พระปลัดบุญส่ง" เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐรูปปัจจุบัน ยังยอมรับว่าไสยศาสตร์และอภินิหารของหลวงพ่อแดงนั้นมีจริงเพราะเจอแล้วด้วยตัวท่านเอง


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!