คำถามร้อนๆ กับนักธรณีวิทยา
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
เมษายน 30, 2024, 01:49:47 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คำถามร้อนๆ กับนักธรณีวิทยา  (อ่าน 3662 ครั้ง)
b.chaiyasith
แก้ปัญหาไม่ตกคุยกันเวลางานline:chiabmillion
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน650
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3004


ไม้ดีไม่ลอยน้ำมาไกล


อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2010, 07:11:09 PM »


ก่อนที่จะเข้าสู่คำถามร้อนๆ ที่ค้างคาใจกับหลายๆ ท่าน แต่ไม่ทราบจะไปสอบถามใครที่สามารถเชื่อถือได้ วันนี้ทีมงานวิชาการดอทคอมได้ไปสัมภาษณ์นักวิชาการรุ่นใหม่ ที่รับประกันได้ถึงความเก่งกาจจากรางวัลที่ได้รับมากมาย มารู้จักกับ รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี ชูวงษ์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กันค่ะ อาจารย์เรียนจบระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโทที่ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบระดับปริญญาเอกทางด้านธรณีวิทยา จากมหาวิทยาลัย Isukuba ประเทศญี่ปุ่นค่ะ เคยได้รับรางวัลผลการเรียนสูงสุดระดับปริญญาโท จากมูลนิธิแถบ นีละนิธิ เหรียญทองรางวัลงานวิจัยระดับปริญญาเอกจาก Japan Society for the Promotion of Sciences ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (JSPS - NRCT) และเพิ่งจะได้รับรางวัล นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น สกว. - สกอ. ประจำปี 2552 ด้วยค่ะ (ติดตามประวัติโดยละเอียดด้านล่างของบทความค่ะ)

อาจารย์ได้รับทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ของ สกว. – สกอ.

ปัจจุบันผมรับทุนพัฒนาศักยภาพอาจารย์รุ่นใหม่ของ สกว-สกอ ซึ่งเป็นทุนทำวิจัยต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ พฤษภาคม 2551- พฤษภาคม 2553 ในหัวข้อโครงการเรื่อง การติดตามการฟื้นฟูสภาพหาดทรายหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 และการสำรวจร่องรอยสึนามิในอดีตตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นงานต่อยอดจากทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เคยได้รับจาก สกว-สกอ ตั้งแต่ปี 2548 ที่ผมได้ทำวิจัยเกี่ยวกับอัตราการกัดเซาะชายฝั่งจากชายฝั่งทะเลไทย ผมประเมินว่า หัวข้อโครงการวิจัยที่ผมเสนอไปจัดเป็นโจทย์วิจัยทางกายภาพที่สังคมต้องการคำตอบ โดยเฉพาะงานวิจัยที่ทำมีผลกระทบต่อสังคมสูง (high social impact) ประเด็นสำคัญคือ ผลงานวิจัยสามารถนำไปเผยแพร่ในรูปบทความวิชาการในวารสารวิชาการระดับนานาชาติได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทาง สกว-สกอ เจ้าของทุนต้องการให้เป็นเช่นนั้น แต่เนื่องจากตอนรับทุน ผมถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักวิจัยและอาจารย์รุ่นใหม่ ซึ่งคงคล้ายๆ กับอีกหลายๆ ท่านที่ได้รับทุนดังกล่าว คือ เป็นช่วงเวลาที่ต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ชัดเจน หลายคนยังไม่สามารถผลิตผลงานในรูปบทความวิชาการได้ แต่ด้วยความโชคดีเหมือนกันที่ผมสามารถปิดโครงการได้ (โครงการวิจัยที่ได้รับเมื่อปี 2548) จึงได้รับทุนพัฒนาศักยภาพอาจารย์รุ่นใหม่ต่อ และกำลังจะได้รับทุนเมธีวิจัย ประจำปี 2553 (สกว เพิ่งประกาศผลไม่นานนี้เอง) ซึ่งทำให้สามารถทำวิจัยต่อเนื่องในประเด็นพิบัติภัยชายฝั่ง คือ สึนามิ และคลื่นพายุซัดชายฝั่ง (storm surge) ได้อีก 3 ปี


เหตุผลที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะเลิศรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น สกว. - สกอ. ประจำปี 2552 (สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ) TRF-CHE Scopus Young Researcher Award 2009 (Physical Sciences)

ด้วยว่าปี 2552 ที่ผ่านมา ทาง สกว-สกอ ได้ร่วมกับสำนักพิมพ์ Elsevier ซึ่งเป็นเจ้าของฐานข้อมูลบทความและวารสารวิชาการนานาชาติ ที่เรียกว่า Scopus ในการเข้ามาเป็นกรรมการกลั่นกรองผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยผู้ที่ได้รับทุนจาก สกว-สกอ โดยเกณฑ์การตัดสินหลักๆ ก็คงเป็น จำนวนผลงานวิจัยที่เผยแพร่ในรูปบทความวิชาการในระดับนานาชาติที่เผยแพร่ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลของ Scopus จำนวนการอ้างอิงผลงานของเราหลังจากได้เผยแพร่แล้ว และคุณภาพบทความที่มีผลกระทบต่อสังคมสูง โดยทาง สกว-สกอ-Scopus ได้แบ่งสาขาวิชาออกเป็น 6 สาขา ซึ่งวิทยาศาสตร์กายภาพ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น ที่เข้าข่ายจะได้รับรางวัล ทาง สกว-สกอ ได้ทำหนังสือเชิญสมัคร เข้าใจว่า ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพมีผู้เข้าข่าย 8 ท่าน หลังจากนั้นทาง สกว-สกอ-Scopus ก็คงใช้เกณฑ์ที่บอกไปข้างต้นในการพิจารณาตัดสิน ตอนแรกผมก็ไม่ได้หวังอะไร พอทาง สกว ส่งจดหมายว่าให้เราสมัคร เราก็ลองสมัครไป กรอกข้อมูลเข้าไปในเวปไซต์ของ Scopus พอหลังจากสมัครไปประมาณ สามเดือน ทาง สกว ก็มีจดหมายมาบอกว่า เราได้รับรางวัล ตอนแรกก็ยัง งงๆ อยู่ว่าเราได้เหรอ เพราะอย่างที่บอก นักวิจัยทั่วประเทศมีมากมาย และในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ (ซึ่งรวมสาขาเคมี ฟิสิกส์) ที่มีนักวิชาการมากมาย เรายิ่งไม่ค่อยหวังเลย ก็คงด้วยว่า เราได้เผยแพร่ไป 4 บทความ ที่เป็นผู้เขียนหลัก และอีก 2 บทความเป็นผู้เขียนร่วม และมีการอ้างอิงงานของเราแล้วในระดับสากล ซึ่งผลรวมของค่า Journal Impact Factor ของบทความทั้งหมด ก็ได้ 40 กว่า บทความที่ผมเผยแพร่ไปในวารสารทางธรณีวิทยา ก็จัดว่าเป็นวารสารที่มี ค่า Impact factor ระดับต้นๆ (ทางธรณีฯ วารสารต่างๆ มีค่า Impact factor ไม่มากครับ ได้ลงในวารสารที่มีค่า Impact factor สัก 2-3 ก็จัดว่าดีแล้วครับ) อีกเหตุผลหนึ่งก็คงเป็นว่าหนึ่งในบทความที่ผมเป็นนักวิจัยและผู้เขียนร่วมได้ลงเผยแพร่ในวารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารที่คนอ่านเยอะ มีค่า Impact Factor สูงมาก ก็เลยได้รับรางวัล


ภาระหน้าที่/ผลงานในปัจจุบันและอนาคต

หน้าที่หลักก็คงเป็นงานสอนนิสิตในภาควิชาธรณีวิทยา สอนหลายวิชาอยู่ครับ สอนทั้งแบบบรรยายและแบบวิจัยทุกระดับตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท ไปถึงปริญญาเอก และก็ต้องทำวิจัยควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่องด้วย ทำไปเรื่อยๆ ไม่รีบเร่ง เพราะงานทางธรณีวิทยาต้องใช้ข้อมูลสนามเป็นหลัก ผมเน้นเลยว่า กว่าจะได้ผลงานออกมาแต่ละชิ้น (หมายถึง บทความ) เหนื่อยมาก ต้องออกสำรวจภาคสนามหลายครั้ง แต่ก็ดีครับ เพราะ ออกภาคสนามแต่ละครั้งจะมีนิสิตในความดูแลของผม ติดตามไปด้วยเป็นกลุ่มใหญ่เลย ทุกคนได้ฝึกฝนวิทยายุทธ์การทำงานภาคสนาม การเก็บข้อมูลที่เป็นระบบอย่างละเอียด ได้คิดและลองผิดลองถูกกันไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ทำงานชายทะเล ร้อนมาก แต่พอเห็นทะเลสวยๆ ก็หายเหนื่อยกันครับ พวกเราไปมาเกือบทุกชายหาด ผมคุยได้เลยว่า ชายหาดอันดามัน ของจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ รวมถึงชายหาดฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่นครศรีธรรมราชขึ้นมา เราไปเจาะสำรวจกันเกือบหมดแล้ว มีข้อมูลเยอะมาก ตอนนี้ก็ทยอยผลิตเป็นบทความออกมา

นอกจากผลงานในรูปบทความวิชาการแล้ว (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานการสำรวจระดับลึกและเป็นภาษาอังกฤษ) ผมคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่างในการนำผลงานเผยแพร่ให้แก่สังคมด้วย สิ่งที่ทำได้คือ เขียนบทความเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่ายๆ อ่านแล้วสนุก หรือไม่ก็ทำเป็นหนังสือ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังเขียนอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อ สึนามิในประเทศไทย ใกล้เสร็จแล้วครับ ส่วนบทความภาษาไทยก็เคยเขียนลงนิตยสาร สารคดี ไปบ้างแล้ว เข้าใจว่า ทางวิชาการดอทคอม ก็ได้นำบทความ เรื่อง ตามรอยสึนามิโบราณ มาลงไว้เหมือนกัน ก็อยากจะเขียนเรื่อยๆ ครับถ้ามีเวลา (ข่าวดี คือ อาจารย์บอกว่า ถ้ามีเวลาจะเขียนบทความมาลงในวิชาการดอทคอมให้ด้วยนะคะ)

สืบเนื่องจากกระแสข่าวที่ว่าโลกจะแตกใน 2012 จะมีโอกาสเป็นจริงหรือไม่

ประเด็นนี้ กำลังเป็นที่กล่าวขานในสังคมทั่วโลก คนส่วนใหญ่วิตกกังวลว่า จะเกิดขึ้นจริง แต่สำหรับผม ตอบได้ชัดเจนและเต็มปากเลยว่า ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยครับ ถามต่อไปว่า ทำไมผมคิดสวนกระแส คำตอบก็ง่ายๆ ครับว่า ไม่มีข้อมูลวิชาการเลยครับที่จะบ่งชี้ว่า โลกจะแตกในปี 2012 แต่ถ้าถามผมว่า จะเกิดพิบัติภัยอะไรบ้างในอนาคต อันนี้มีข้อมูลวิชาการชัดเจนหลายสาขาที่บอกว่า โลกของเรากำลังปรับสมดุล ทั้งในเรื่องพลังงานในโลก บนพื้นผิว และสภาพบรรยากาศ ซึ่งการปรับตัวนี้แน่นอน สามารถส่งผลกระทบในหลายรูปแบบ เช่น หากพลังงานในโลกของเรามากเกินไป ก็ปล่อยออกมาในรูปของแผ่นดินไหวบ้าง การระเบิดของภูเขาไฟบ้าง หากอุณหภูมิสูงขึ้นอันเนื่องจากมีการกระตุ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ก็อาจจะส่งผลต่อการผันแปรของสภาพภูมิอากาศบ้าง

ผมไม่ได้บอกว่า โลกจะร้อนนะ ผมไม่ชอบคำนี้เท่าไหร่ ผมประเมินว่า โลกร้อน เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของความผันแปรสภาพภูมิอากาศโลก หลายๆ แห่งบนโลกปีนี้ หิมะตก หรืออุณหภูมิต่ำกว่าที่ควรเป็น อีกสักพักพวกเราก็ปรับตัวได้ และโลกก็จะกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลมีการเปลี่ยนแปลงปกติ ผมเชื่อตลอดเวลาว่า ไม่มีใครไปหยุดกระบวนการปรับตัวของโลกได้ เรากระตุ้นได้แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่หากไม่หยุดกระตุ้นนี่สิ ปัญหามันก็จะไม่หยุด (ซึ่งผมก็คิดว่า กิจกรรมต่างๆ ที่เราทำ สารพิษต่างๆ ที่เราปล่อยไปสู่ธรรมชาติ เราหยุดไม่ได้แน่นอน ก็คงต้องปรับตัวตามสภาพและยอมรับว่า โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไป)

ผมคิดว่า คนอ่านวิชาการดอทคอม ส่วนใหญ่ก็สนใจเรื่องราววิทยาศาสตร์และสามารถประเมินวิเคราะห์ได้ว่าอะไรมีเหตุผลน่าเชื่อถือ สำหรับเรื่องโลกจะแตก เดาว่าหลายคนคงคิดอย่างผมว่า ควรจะแยกให้ออกว่า เหตุและผลคืออะไร คนทำหนังก็อยากทำให้มันตื่นเต้น เร้าใจ ทำออกมาให้มันดูยิ่งใหญ่ เรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องก่อนๆ ทำหนังเรื่องพิบัติภัยนี่แหละ คนดูสนใจเยอะ ยิ่งเอามาผูกโยงกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยแล้ว ยิ่งดีเลย ขายได้แน่นอน


สภาวะโลกร้อนที่ว่าน้ำแข็งที่ขั้วโลกจะละลายนั้น ในอนาคต น้ำจะท่วมโลกหรือไม่ และจะส่งผลให้กรุงเทพฯ และสมุทรปราการน้ำจะท่วม แผ่นดินจะหายไปหรือไม่ ที่ว่าจะหายจากแผนที่โลก

เรื่องนี้ต้องอธิบายกันยาวมากครับ เอาเป็นว่า ผมขออธิบายในระดับผลกระทบทั่วโลกก่อนนะ

สำหรับเรื่อง สภาวะโลกร้อน ปัจจุบันทุกคนยอมรับว่า อุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากธรรมชาตินะ ต้องยอมรับว่า สาเหตุเกิดจากการกระตุ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ที่สะสมมานาน แต่เดิมเมื่อสิบกว่าปีก่อนเราเรียกว่า สภาวะเรือนกระจก (greenhouse effect) ซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases) กันอย่างไม่หยุดยั้ง สิ่งนี้เองที่ส่งผลอย่างชัดเจนในปัจจุบันที่ทุกคนเหมาว่า โลกร้อน ซึ่งมันก็ร้อนขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อาจจะเกิดภาวะที่ดูเหมือนว่าจะเป็นโดมความร้อนปกคลุมอยู่ (ขออนุญาตยืมคำของ ดร. อานนท์ สนิทวงค์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง) ตัวอย่างในกรุงเทพฯ นี่แหละชัดเจนที่สุด แน่นอนว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นแน่ๆ แต่ถามว่า สูงขึ้นเท่าไหร่ ในอีกกี่ปี ก็มีคนทำนายไว้ เชื่อได้บ้าง เชื่อไม่ได้บ้าง บางคนก็ทำนายไว้โดยสมมติกรณีที่ร้ายแรงที่สุด (worse case scenario) ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยอาจจะสูงขึ้นถึง 2 องศา ในรอบสิบปีที่จะถึงนี้ ซึ่งหากเกิดจริง การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ต้องเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน แต่ใช่ว่า จะละลายหมดในพริบตาเลยนะ มันจะค่อยๆ ละลาย แตกตัวออกจากแผ่นน้ำแข็งก่อน ที่หลุดออกมาก็จะลอยออกสู่มหาสมุทร (ซึ่งก็กำลังเกิดในปัจจุบัน)

ผลกระทบต่อมาก็คือ มวลน้ำแข็งละลายก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น (Eustatic sea level rise) เท่าที่ตามดูผลงานการวิจัยของนักวิจัยที่ทำงานด้านนี้จริงๆ ก็สรุปเป็นทำนองเดียวกันว่า ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลก (Global sea level) อาจจะสูงขึ้น 10 เซนติเมตรในอีกร้อยปีข้างหน้า (หากอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง) บางคนบอกว่าจะสูงขึ้น 1-2 เมตร (ข้อมูลนี้ผิดแน่นอนครับ) ก็เพราะไปรับหรือแปลข้อมูลผิดๆ กันนี่แหละ ก็กลายเป็นประเด็นสำคัญที่หลายคนออกมาประโคมข่าวว่า น้ำทะเลจะท่วมกรุงเทพ พื้นที่บางส่วนของประเทศไทยจะจมน้ำ ซึ่งผมไม่ค่อยสบายใจเลย ไม่ใช่เพราะว่ามันจะเกิดขึ้นจริงนะ ผมไม่สบายใจเพราะว่า สื่อและสังคม ไปหลงเชื่อกระแสพวกนี้

ผมมีข้อมูลวิชาการที่มีผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เคยทำไว้ คือ ศาสตราจารย์ ดร. สุภัทร วงค์วิเศษสมใจ ท่านเคยเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) อ้างชื่อท่านได้เลย เพราะท่านเป็นผู้บุกเบิกทำวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลมานาน และสมควรที่จะต้องให้เครดิตท่านด้วย (หลายคนเอางานท่านไปใช้โดยไม่ให้เครดิต) ท่านอาจารย์เคยให้ลูกศิษย์ทำวิจัยว่า ระดับน้ำทะเลในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ย้อนกลับไป 50-60 ปี ผลปรากฏว่า ระดับน้ำทะเลปานกลางของไทยมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากเลย อาจจะพูดได้ว่า คงที่ตลอดเวลา แล้วอย่างนี้จะบอกน้ำทะเลจะท่วมชายฝั่งทะเลไทยจากสาเหตุน้ำทะเลขึ้นสูงได้หรือ ผมคิดว่า คงต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วยและวิเคราะห์อย่างรอบคอบว่า ตกลงน้ำทะเลจะท่วมเข้าไปในแผ่นดินด้วยสาเหตุอะไรกันแน่ จะกล่าวถึงต่อไปครับ


รูปเส้นกราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในประเทศไทยตั้งแต่ตอนปลายสมัยไพลสโตซีน ถึงสมัยโฮโลซีน จากกราฟจะเห็นว่า น้ำทะเลเคยอยู่ที่ระดับต่ำกว่าปัจจุบันมาก และได้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึงระดับความสูงเกือบ 4 เมตรจากปัจจุบันเมื่อราว 6,500 ปีมาแล้ว และค่อยๆ ลดระดับสู่ปัจจุบัน (ภาพจาก Choowong, in press)*



* Choowong, M., in press. “Quaternary Geology in Thailand”, Book Series “Geology of Thailand”. In: Ridd, M.F., Barber, A.J., Crow, M.J. (Eds). Geological Society of London (Chapter 12).



เอาล่ะคราวนี้มาวิเคราะห์ในระดับท้องถิ่นบ้าง คือ ในระดับประเทศไทยว่า จริงๆ แล้ว ถ้าน้ำทะเลจะรุกเข้าไปในแผ่นดินจะมาจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ผมขออนุญาตย้อนไปดูประวัติการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในอดีตของไทย ย้อนไปไกลเลย ประมาณ 10,000 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เราเรียกว่า สมัยโฮโลซีน จากงานวิจัยโดยนักวิชาการไทยทุกท่าน (รวมถึงตัวผมเองด้วย) สรุปว่า น้ำทะเลเคยท่วมสูงถึงระดับ 3.5 ถึง 4 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางปัจจุบัน จากระดับที่เคยอยู่ต่ำกว่าปัจจุบันถึง -25 เมตร เมื่อยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย (last glacial period) ประมาณ 20,000 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้น แผ่นดินไทยเชื่อมต่อกับอีกหลายๆ ประเทศ เราเรียกว่า แผ่นดินซุนด้า (Sunda land) คิดดูแล้วกันครับว่า ระดับความสูงของการเพิ่มของน้ำทะเลดังกล่าวหากเปรียบเทียบกับในสภาพภูมิประเทศของที่ราบภาคกลางแล้ว ก็ท่วมเข้าไปถึงอ่างทอง คิดเป็นระยะทางก็เกือบ 150 กิโลเมตร นักวิจัยทุกท่านเรียกว่า เป็นแนวชายฝั่งทะเลโบราณในสมัยโฮโลซีนตอนกลาง (mid-Holocene paleo-shoreline) ก็ลองประมาณคร่าวๆ นะครับว่า แนวชายฝั่งทะเลโบราณเคยอยู่ไกลถึงจังหวัดอ่างทองเมื่อประมาณ 6,500 ปีที่แล้ว หลักฐานทางตะกอนวิทยานี่แหละเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุด เราพบซากพืช ซากสัตว์ทะเล ในตะกอนดินที่เคยมีชีวิตในสภาวะแวดล้อมที่เป็นทะเล (marine environment) หรือไม่ก็เป็นน้ำกร่อย (brackish environment) ในชั้นตะกอนที่เราเรียกกันว่า เป็นชั้นดินโคลนกรุงเทพ (Bangkok clay) แผ่นดินที่ราบภาคกลางได้งอก อันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากท่วมขึ้นสูงสุดไปแล้ว

คิดง่ายๆ ว่า อัตราการงอกของพื้นดินในที่ราบภาคกลางจาก 6,000 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ได้แผ่นดินระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรมาจนถึงกรุงเทพมหานครปัจจุบัน จะเห็นว่า อัตราการสะสมตัวของตะกอนเป็นไปอย่างมากมาย แหล่งตะกอนก็ควรมากมายด้วย ตะกอนก็ถูกนำพามาโดยแม่น้ำสายหลักๆ ในที่ราบภาคกลางนั่นเอง ผสมกับตะกอนทะเล ได้ตะกอนน้ำกร่อยขึ้นมา ฉะนั้น คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า อัตราการนำตะกอนเข้า (sediment supply) สู่ที่ราบภาคกลางและอ่าวไทย  มีมากขนาดไหนในอดีต นี่แหละเป็นประเด็นสำคัญที่ผมถามต่อไปว่า แล้วอัตราการนำตะกอนสู่อ่าวไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร แต่ก่อนไม่เคยมีคนทำวิจัยในเรื่องนี้ แต่เดี๋ยวนี้มีบ้างแล้ว

ผมขอสรุปในเบื้องต้นว่า ผลจากการคำนวณอัตราการสะสมตัวของตะกอนในอ่าวไทยปัจจุบัน ลดลงไปจากอดีตหลายร้อยเท่า แต่ก่อนเมื่อ 6000 ปีที่ผ่านมา เราได้อัตราการพอกของพื้นที่ 20 เซนติเมตรต่อปี (โดยประมาณ) แต่ตอนนี้ไม่มีเลย ตะกอนสะสมตัวในแนวดิ่งแต่ก่อนหลายเซนติเมตรต่อปี ขณะนี้เหลือไม่ถึง 10 มิลลิเมตร สาเหตุมาจากอะไรกัน ในทางกายภาพอาจจะบอกได้ว่า สภาพภูมิประเทศเริ่มอยู่ตัว (stable) มีความชันของพื้นที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตามอัตราการเติมตะกอนสู่อ่าวไทยก็ไม่ควรลดลงอย่างผิดธรรมชาติ คำตอบก็คือ เราไปทำอะไรที่ดักตะกอนไว้บนแผ่นดินมากมาย เราไปเปลี่ยนธรรมชาติของแม่น้ำที่จะเป็นเส้นทางหลักของตะกอนที่จะเดินทางออกสู่ทะเล ซึ่งประเด็นนี้ ผมคิดว่า ไม่มีทางแก้ไขแน่นอน เพราะเป็นเรื่องระบบการจัดการน้ำ และการชลประทานระดับชาติ แก้ยากมาก ต้องทำใจ

ในเมื่อปริมาณตะกอนสู่อ่าวไทยลดลง การอัดตัวของตะกอน (compaction) ที่ถูกพัดพามาแต่ก่อนก็เป็นไปอย่างง่ายดายอันเนื่องจากสาเหตุธรรมชาติก็คือ น้ำหนักน้ำทะเลที่กดทับอยู่บ้าง รวมถึงกระแสน้ำทะเลได้นำตะกอนแขวนลอยไปสะสมตัวบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ปากแม่น้ำ ประเด็นนี้แหละเป็นสาเหตุหลักที่ผมคิดว่า เป็นสาเหตุจากธรรมชาติที่ทำให้พื้นที่บริเวณปากอ่าวไทย จมตัว (subsidence) อย่างต่อเนื่อง ตะกอนดินเลนนี้แหละเกิดการอัดตัวอย่างต่อเนื่อง ลดระดับลง และยิ่งมีสาเหตุเสริมจากกิจกรรมมนุษย์ที่สำคัญคือ การสูบน้ำบาดาลไปใช้อย่างไม่มีการควบคุม ยิ่งทำให้ระดับพื้นที่ต่ำลง เรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา นุตาลัย แห่ง AIT เคยทำวิจัยไว้อย่างชัดเจนเช่นกัน นี่แหละเป็นอีกสาเหตุที่หลายคนไม่ได้คิดถึงว่า พื้นที่จมตัวลงอย่างต่อเนื่องขณะที่น้ำทะเลอยู่ระดับเดิม ก็สามารถทำให้ น้ำทะเลรุกเข้าไปในแผ่นดินได้ ไม่แปลกอะไรเลยที่หลายพื้นที่ชายฝั่ง เช่น ทะเลบางขุนเทียน หรือสมุทรปราการ เคยทำแนวกำแพงกันคลื่น (break water sea wall) โดยเอาซีเมนต์ไปถมในตะกอนดินเลน เพียงไม่กี่ปี กำแพงจมหายไป ก็เพราะมันเป็นดินเลนไงครับ เอาของหนักๆ ไปวาง มันก็ต้องจมเป็นธรรมดา แต่หลายคนกลับไปคิดเป็นเพราะว่า เพราะน้ำทะเลมันสูงขึ้น ท่วมปิดทับแนวกันคลื่นเสียอีก จริงๆ แล้ว คลื่นลมทะเลอ่าวไทยตอนบน ค่าเฉลี่ยมันไม่ได้แรงอย่างที่หลายคนคาดคิด เพราะโดยธรรมชาติแล้วพื้นที่นี้จัดเป็นชายฝั่งโคลน (muddy coast) คลื่นลมจะแรงก็ตอนพายุ หรือฤดูฝนเท่านั้น สิ่งก่อสร้างใดๆ ที่เคยอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งต้องได้รับผลกระทบจากการจมตัวของตะกอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันมีความพยายามทำแนวกันคลื่นซึ่งเจตนาดีมาก แต่วิธีการอาจจะต้องปรับเพื่อให้เหมาะกับสภาพธรณีวิทยาตะกอนในพื้นที่อีก ผมแนะนำว่า อย่าเอาอะไรหนักๆ ไปถมตะกอนเลนเลยครับ เคยมีนักวิชาการออกมาบอกว่า ให้ทำแนวเขื่อนกันคลื่นปิดอ่าวไทยไปเลยเหมือนประเทศเนเธอร์แลนด์ ผมยังคิดว่า ท่านคิดผิดมหันต์เลยครับ ท่านจะเอาเงินไปถมทะเลหลายหมื่นล้าน ถมไปแล้วปัญหาระบบนิเวศน์จะเป็นอย่างไร ระบบการหมุนเวียนตะกอนและกระแสน้ำในธรรมชาติจะเป็นเช่นไร และที่สำคัญเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดหรือไม่ ฝากท่านคิดกันดูนะครับ ผมยังเชื่อว่าใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน คือ ใช้ไม้ไผ่มัดมาปักเป็นแนวกันคลื่นดีที่สุดครับ ถูกต้องแล้วสำหรับการป้องกันระยะสั้น แต่ระยะยาว ปลูกป่าชายเลนจะดีกว่าครับ


รูปแบบจำลองแสดงการรุกเข้าไปในแผ่นดินของน้ำทะเลในกรณีที่ระดับน้ำทะเลไม่มีการเพิ่มขึ้น แต่คงที่อยู่ในระดับปัจจุบัน แต่เนื่องจากมีการอัดตัว (compaction) ของดินเลนบริเวณปากอ่าวไทยเพราะว่าตะกอนที่นำพาออกทะเลลดลงอย่างมาก บวกกับการทรุดตัวของพื้นที่ (subsidence) จากการสูบน้ำบาดาลไปใช้โดยไม่มีการควบคุม ชายทะเลที่เคยอยู่ตำแหน่ง B ก็สามารถรุกเข้าไปถึงตำแหน่ง A ได้ (ภาพจาก Choowong, 2002)*


* Choowong, M. 2002. Isostatic models and Holocene relative changes in sea level from the coastal lowland area in the Gulf of Thailand. Journal of Scientific Research, Vol. 27, No.1, pp. 83-92.


การเกิดแผ่นดินไหว มีกี่ระดับ กี่ริกเตอร์จึงจะถือว่าอันตราย และจะมีผลกระทบกับตึกสูงอย่างไรบ้าง 

ต้องออกตัวก่อนเลยนะครับว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว เพียงแต่พอรู้บ้างด้วยว่าได้ทำงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญมาหลายเรื่องอยู่

ในปัจจุบันมาตราวัดขนาดแผ่นดินไหว (Earthquake magnitude) ที่ใช้กันทั่วโลกมี 2 มาตรา คือ ริกเตอร์ และ เมอร์คัลลี่ หากเกิดแผ่นดินไหวทุกครั้งปกติทุกวันนี้ เราจะได้ยินว่า มีขนาดกี่ริกเตอร์ ซึ่งอันตรายที่อาจจะเกิดกับอาคารและสิ่งปลูกสร้างน่าจะต้องเป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดมากกว่า 5 ริกเตอร์ขึ้นไป แน่นอนที่สุดอาคารสูงๆ จะมีผลกระทบอย่างน้อยก็เกิดการไหวเอน ยิ่งสูงมากก็จะไหวเอนมาก สิ่งของอาจจะตกหล่นหรืออาคารอาจจะร้าวได้ ในประเทศไทยของเราที่รู้สึกกันถึงการไหวเอนทุกครั้งในกรุงเทพมหานคร หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 5 ริกเตอร์ขึ้นไป ส่วนมาตราเมอร์คัลลี่ เปรียบเสมือนการเทียบความเสียหายของอาคาร สิ่งของ ไม่ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวกี่ริกเตอร์จะสามารถสร้างความเสียหายอะไรได้บ้าง ความรู้พวกนี้สามารถหาได้ทั่วๆ ไป เพราะหลายหน่วยงานมีการทำแผ่นพับเปรียบเทียบไว้อย่างดี เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

ประเด็นที่มักมีการพูดถึงกันมากเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในไทย หรือประเทศใกล้เคียงก็คือ จะส่งผลอย่างไรกับเมืองใหญ่ๆ ของไทย เช่น กรุงเทพมหานคร ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวของไทยส่วนใหญ่ก็จะให้ความสำคัญกับแนวรอยเลื่อนมีพลัง (active faults) ที่มีอยู่มากมายในประเทศ เพราะหากว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ๆ ตามแนวรอยเลื่อนมีพลังที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ แล้ว คลื่นแผ่นดินไหวจะสามารถเคลื่อนตัวมาถึงกรุงเทพฯ ได้และจะมีการขยายสัณญาณคลื่นได้มากเพราะชั้นดินกรุงเทพฯ มันเป็นดินอ่อนที่ยังไม่แข็งตัว อาคารสิ่งก่อสร้างที่สูงมากๆ ก็อาจจะเกิดอันตรายได้ เซียนจริงๆ เรื่องธรณีวิทยาแผ่นดินไหวนี้ต้องยกให้ รองศาสตราจารย์ ดร. ปัญญา จารุศิริ ส่วนเรื่องผลกระทบทางโครงสร้างอาคารก็ต้องให้วิศวกรอย่าง รองศาสตราจารย์ ดร. เป็นหนึ่ง (AIT) ครับ ถามพวกท่านตรงๆ เลยจะดีกว่าผมเยอะ


จะมีแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่รุนแรงแบบเฮติหรือไม่
ผมไม่คิดว่าจะเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรงมากเทียบเท่าที่เฮติเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า โซนที่มีความเสี่ยงและมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวในไทยนั้นมีอยู่ทั่วไปในภาคเหนือและด้านตะวันตกของไทย ผลกระทบส่วนใหญ่น่าจะมาจากแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในประเทศใกล้เคียง เช่น พม่า ลาว หรือแม้กระทั่งตามแนวมุดตัวของทะเลอันดามัน (Andaman subduction zone)

ผมเคยมีประสบการณ์ที่รู้สึกถึงการไหวสะเทือนเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ปี 2552 ที่เกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันด้วยขนาด 7.9 ริกเตอร์ เกิดตอนประมาณตีสาม ตอนนั้นผมอยู่ชั้น 5 ของโรงแรมที่อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี ตกใจตื่นเพราะมันไหวแรงมาก และเป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งนาที ตอนแรกก็นึกอยู่ว่า ศูนย์กลางอาจจะเกิดที่พม่า และเผอิญเราไปนอนอยู่ใกล้กับแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ซึ่งก็จัดว่าเป็นรอยเลื่อนมีพลังของประเทศไทยที่สำคัญ แต่ปรากฏว่า ศูนย์กลางจริงๆ อยู่ในทะเลอันดามันห่างจากตำแหน่งที่ผมอยู่ประมาณเกือบ 600 กิโลเมตร แต่เรารู้สึกได้ชัดเจนและน่าหวาดเสียวทีเดียว ก็เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกถึงการไหวสะเทือนในประเทศ คิดอยู่เหมือนกันว่า หากเกิดใกล้ประเทศไทยมากกว่านี้ ความเสียหายน่าจะเกิดขึ้นมาก และเป็นเวลากลางคืนด้วย อันตรายมากเหมือนกันเพราะทุกคนกำลังนอนหลับ หลังเกิดเหตุการณ์ผมก็เขียนบทความเพื่อเตือนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านว่า ให้มีการเตรียมตัวตั้งรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิไว้บ้างหากเกิดเวลากลางคืน

ล่าสุด อาจารย์สันติ ภัยหลบลี้ กับ รองศาสตราจารย์ ดร. ปัญญา จารุศิริ ผู้เชียวชาญแผ่นดินไหวในประเทศไทยก็ได้เสนอบทความลงในวารสารนานาชาติ เพื่อแสดงผลการวิเคราะห์ว่า ประเทศไทยมีโอกาสประสบแผ่นดินไหวที่ขนาดเท่าไหร่ ก็จัดว่าเป็นผลงานนักธรณีวิทยา และธรณีฟิสิกส์ของไทยที่สำคัญอันหนึ่งในการเตือนภัยแผ่นดินไหว



หากมีแผ่นดินไหว มีจังหวัดใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบ
ผลกระทบต่อแผ่นดินไหวก็มีหลายระดับ ดูจากแผนที่น่าจะเห็นภาพชัดที่สุด จังหวัดทางภาคเหนือดูเหมือนจะมีโอกาสได้รับผลกระทบเกือบทุกจังหวัดไม่ว่าแผ่นดินจะเกิดในประเทศไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน ภาคตะวันตกก็คงเป็นกาญจนบุรี ตาก ส่วนภาคใต้ก็เกือบทุกจังหวัดเหมือนกันที่อาจจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในทะเลแถวๆ แนวมุดตัวอันดามัน

ผลกระทบต่อแผ่นดินไหวก็มีหลายระดับ ดูจากแผนที่น่าจะเห็นภาพชัดที่สุด จังหวัดทางภาคเหนือดูเหมือนจะมีโอกาสได้รับผลกระทบเกือบทุกจังหวัดไม่ว่าแผ่นดินจะเกิดในประเทศไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน ภาคตะวันตกก็คงเป็นกาญจนบุรี ตาก ส่วนภาคใต้ก็เกือบทุกจังหวัดเหมือนกันที่อาจจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในทะเลแถวๆ แนวมุดตัวอันดามัน




แผนที่แสดงโอกาสเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง (ภาพจาก Pailoplee และคณะ, 2009)*


*บทความล่าสุดจาก Pailoplee, S., Sugiyama, Y., and Charusiri, P., 2009. Deterministic and probabilistic seismic hazard analyses in Thailand and adjacent areas using active fault data. Earth Planet and Space, 61, 1313-1325



เราสามารถทราบล่วงหน้าได้หรือไม่ว่าจะมีวิกฤติต่างๆ เช่น มีเครื่องวัดแผ่นดินไหว หรือระดับน้ำที่สูงขึ้น ฯลฯ
ปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถทำนายได้เลยว่าแผ่นดินไหวจะเกิดวันไหน เวลาใด จะบอกได้ก็แต่ตำแหน่งที่มีโอกาสเกิด ส่วนวันเวลานั้นไม่มีใครทำนายได้แม่นยำ อย่างมากก็ได้แค่ช่วงเวลาที่มีโอกาสเกิดวิบัติซ้ำเป็นช่วงปี สิบปี หรือร้อยปี ประเทศที่มีเทคโนโลยีดีๆ อย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่สามารถทำนายหรือระบุวันเวลาได้

เรื่องสึนามิ สามารถรู้ได้ว่า จะเกิดสึนามิหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือไม่นั้น หากแผ่นดินไหวในทะเลที่มีขนาดใหญ่มากๆ ก็อาจจะทำให้เกิดคลื่นที่ปัจจุบันสามารถตรวจจับคลื่นน้ำได้อย่างรวดเร็ว อย่างน้อยสำหรับประเทศไทย เรามีเวลาเตรียมตัวป้องกันภัยสึนามิแน่นอน หากเกิดแผ่นดินไหวในทะเลขนาดใหญ่ๆ ซึ่งน่าจะเกิดในแนวมุดตัวของทะเลอันดามัน


เราควรเตรียมตัวอย่างไร เมื่อเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม
สิ่งที่ดีที่สุดคือ ต้องมีสติและปัญญา หลังเกิดแผ่นดินไหว ไม่ควรตระหนกตกใจจนทำอะไรไม่ถูก แผ่นดินไหวขนาดทำลายล้างเหมือนเหตุการณ์ในเฮติไม่มีโอกาสเกิดในประเทศไทยอยู่แล้ว จะมีก็แต่ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่อื่นนอกประเทศ ซึ่งกรณีร้ายแรงที่สุดที่อาจจะเกิดกับประเทศไทยก็คงเป็นแผ่นดินที่จะเกิดในประเทศพม่า ตามแนวรอยเลื่อนสะแกง ที่จะส่งผลกระเทือนมาแน่ๆ สำหรับเมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทยของเรา การเตรียมตัวก็เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ ขณะเกิดแผ่นดินไหวก็ต้องหาที่หลบ ในกรณีที่อยู่ในอาคารสูงที่มีสิ่งของเยอะๆ หรือออกมายืนในที่โล่งห่างไกลจากอาคาร ถ้ามีสติผมว่าไม่ยากและปลอดภัยแน่นอน

ส่วนเรื่องน้ำท่วม หากหมายถึงน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ดังที่มีข่าวกันบ่อยๆ ผมอยากเรียกว่า น้ำระบายไม่ทันมากกว่า ปกติน้ำท่วมขังจากฝนตกในกรุงเทพฯ ก็ต้องใช้เวลาระบายออกทะเลนานอยู่แล้ว วันไหนเจอกับน้ำทะเลหนุนสูงด้วยยิ่งระบายได้ช้ามาก แต่หากเป็นการท่วมจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างผิดปกติ (ซึ่งผมอธิบายไปแล้วว่า น้ำทะเลไม่ได้สูงขึ้นเร็วอย่างที่เป็นข่าว) หากสมมติว่าเกิดขึ้นจริงๆ ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะป้องกัน ทำเขื่อนกั้นน้ำตรงนี้ น้ำก็ไปทะลักเข้าที่อื่น มันเป็นปัญหาที่ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ และหากจะแก้ที่ต้นเหตุยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่เลย ทำได้ดีที่สุดก็แค่ควบคุมกิจกรรมต่างๆ ไม่ให้มันเลวร้ายไปกว่านี้แค่นั้น มีบางวันผมนั่งคิดว่า ทำไมกรุงเทพฯ ถึงไม่หยุดการก่อสร้างเสียที หากหยุดได้แล้วค่อยๆ ซ่อมแซมทั้งกายภาพและสังคม ผมมั่นใจเลยว่า กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก


ภาวะโลกร้อน โลกจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งหรือไม่ (ดังเช่นในภาพยนตร์)
ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายบนโลกของเราผ่านไปแล้วเกือบสองหมื่นปี แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ แต่ดูจากเส้นกราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ผมว่าโลกของเรากำลังเข้าสู่ระยะเริ่มต้นของยุคน้ำแข็งด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่า กระแสโลกร้อนมาแรงเหลือเกิน เราต้องอย่าลืมว่า เวลาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะบอกแนวโน้มว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตัวอย่างเช่น เรากำลังพูดเรื่องโลกร้อนกัน ซึ่งผมเข้าใจว่า เป็นการพูดถึงระยะเวลาสั้นๆ ในปัจจุบัน แต่สำหรับนักธรณีวิทยา เรามองกันเป็นพัน เป็นหมื่นๆ หรือเป็นล้านปี เราจะตอบคำถามได้ว่า โลกจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกหรือไม่ก็ต้องย้อนกลับไปดูอดีตหลายหมื่นปี ว่ามีวัฏจักร (cycle) ของสภาพภูมิอากาศโลกเป็นอย่างไร ส่วนภาพยนตร์ก็คือ จินตนาการว่าหากเกิดยุคน้ำแข็งอีกจะเป็นอย่างไร สร้างจากจินตนาการนะครับ ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงภายในระยะเวลาอันสั้น

จากกระแสข่าวในคำทำนายที่ว่าจะเกิดสึนามิกลางปีนี้ คำทำนายสึนามิของนักธรณีวิทยา ใช้ข้อมูลและหลักการอย่างไร แม่นยำขนาดไหน และเราควรจะระมัดระวังขนาดไหน
ผมขออนุญาตเล่าให้ฟังนิดหน่อยว่า จริงๆ แล้วคำทำนายมีสองแบบ คือ ทำนายแบบวิชาการ หรือทำนายแบบโหราศาสตร์ อย่างหลังนี้ผมไม่ขอพูด แต่ขออธิบายการทำนายแบบวิชาการหน่อยว่า เคยมีผู้ทำนายไว้แล้วว่า หากเกิดสึนามิจะส่งผลกระทบไปที่ไหนบ้าง จากแผ่นดินไหวที่สุมาตราเมื่อปี 47 แต่เป็นการทำนาย โดยใช้สถิติการเกิดคลื่นไหวสะเทือน และเป็นการทำนายเชิงพื่นที่ ไม่ใช่เชิงเวลาว่าจะเกิดเมื่อไหร่ เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ชื่อ วลาดิเมียร์ โบร๊อค เก่งมากคนนี้ แต่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงท่าน

ส่วนเรื่องการเตือนล่าสุด จากศาสตราจารย์จอห์น แมคคลอสคีย์ ถ้าไปอ่านบทความวิชาการกันจริงๆ จะพบว่า ท่านไม่ได้ทำนายว่าจะเกิดสึนามิมาถึงเมืองไทยนะ ท่านบอกว่า มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวแถวๆ สุมาตราที่มีขนาดความรุนแรงได้ถึง 8-9 ริกเตอร์ได้ ไม่ได้บอกเวลาด้วยว่าจะเกิดเมื่อไหร่ ซึ่งส่วนตัวผม ผมก็ว่ามีโอกาสอยู่แล้ว เพราะพื้นที่นั้นมัน Active แผ่นดินไหวเกิดได้ตลอดเวลา แต่ว่าเกิดแล้วจะมีสึนามิตามมาหรือไม่ ก็มีปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นตัวควบคุมการเกิดสึนามิ จอห์น และคณะวิจัย ได้ศึกษาพื้นที่แถบสุมาตรามาอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงออกมาพูดว่า มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวที่สุมาตราขนาดใหญ่ๆ ได้ ปัจจุบันฟันธงด้วยว่าภายใน 30 ปีนี้ (อันนี้ ศาสตราจารย์ เคอรี่ ซี ก็บอกไว้เช่นกันเมื่อปีที่แล้ว) สำหรับผมแล้ว ผมเชื่อแน่นอนเพราะนักวิจัยพวกนี้ระดับโลก กว่าจะออกมาพูดได้ ทำวิจัยกันอย่างสุดยอดทั้งนั้น ประเด็นคือ คนไทยเราไปตีความกันว่า หากเกิดแผ่นดินไหวที่สุมาตรา ก็น่าจะเกิดสึนามิเข้าทะเลอันดามัน ซึ่งจริงๆ แล้วตำแหน่งที่จอห์นและคณะ ทำนายไว้มันอยู่ต่ำจากตำแหน่งที่เกิดเมื่อปี 2547 ซึ่งสึนามิไม่น่าจะมาถึงไทย แต่เราไปติดกับภาพเหตุการณ์เมื่อ 26 ธันวาคม 2547

สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากกว่าแผ่นดินไหวที่สุมาตรา คือ แผ่นดินไหวที่แถวๆ หมู่เกาะคาร์ นิโคบาร์ มากกว่า ที่มีโอกาสเกิดแน่ๆ ถึงขนาด 8 ริกเตอร์ ภายใน 60-70 ปีนี้ (ข้อมูลนี้ได้เผยแพร่โดยนักธรณีฟิสิกส์ชาวสหรัฐ เมื่อปี 2003) ซึ่ง 8 ริกเตอร์สามารถก่อให้เกิดคลื่นสึนามิตามมาแน่นอน แต่ขนาดของคลื่นไม่น่าจะสูงมาก พลังทำลายล้างไม่น่าจะมาก มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะทำให้เกิดคลื่นได้ด้วยความสูงไม่เกิน 3 เมตร แต่ว่าด้วยตำแหน่งศูนย์กลางที่ไม่ค่อยไกลมากจากทะเลอันดามันของเรา สึนามิอาจจะเข้าปะทะในเวลารวดเร็วได้เหมือนกัน อันนี้ต้องระวัง ต้องซ้อม ต้องเตรียมการกันไว้เรื่อยๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน

ขอเพิ่มเติมจากผลการวิจัยของเราว่า หลักฐานทางตะกอนวิทยาบ่งชี้ว่า เคยเกิดสึนามิเทียบเท่าความรุนแรงเมื่อปี 47 มาแล้วในประเทศไทย แต่เกิดมานานมากแล้วเมื่อประมาณ 600 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็สอดคล้องกับระยะเวลาของการสะสมพลังงานแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึง 9 ริกเตอร์ว่าต้องใช้เวลาเป็นหลักร้อยปีถึงจะเกิดได้ ฉะนั้นเท่าที่เรามีข้อมูลวิชาการถึงทุกวันนี้ ก็ไม่น่าเป็นห่วงว่า จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยสึนามิปี 47 ในเร็ววันนี้ จนกว่าเราจะพบหลักฐานอื่นๆ ที่บอกว่า มันมีโอกาสเกิดได้เร็วกว่านี้ และหากพบหลักฐานพวกนั้น ผมจะแจ้งข่าวให้สังคมรับทราบอย่างแน่นอน

หากจะตื่นตัวเรื่องสึนามิ ควรปรับปรุงเครื่องมือต่างๆ ในการเตือนภัยและซ้อมหลบภัยสึนามิในเวลากลางคืนด้วย เพราะเหตุการณ์จริง ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเกิดในเวลาใด เราเคยซ้อมกันแต่การหนีภัยในตอนกลางวัน ไม่มีการซ้อมตอนกลางคืนเลย

ในกรณีของผู้อาวุโสทั้งหลาย ที่ออกมาพูดว่าจะเกิดสึนามิกลางปีนี้แน่นอน ผมมองว่าท่านเจตนาดี ท่านมาเตือนให้มีการเตรียมตัวให้ดีมากกว่า อย่าลืมสึนามิกันก็แค่นั้น สำหรับผมวิเคราะห์อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการทั้งธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ ยังไม่น่ามีการเกิดเหตุการณ์แบบสึนามิในปี 47 ในเร็ววันนี้

ผมขอย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ใช้สติ ปัญญา อย่างมีเหตุมีผล จะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยจากพิบัติภัยทุกชนิดครับ

****************************

ประวัติ รองศาสตราจารย์ ดร. มนตรี ชูวงษ์



จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านธรณีวิทยา ที่ University of Isukuba, Japan
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ที่คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น สกว. - สกอ. ประจำปี 2552 (สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ) TRF-CHE Scopus Young Researcher Award 2009 (Physical Sciences) เป็นปีแรกที่ทางสำนักงานคณะกรรมการสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว) และ คณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ) ร่วมกับฐานข้อมูลบทความวิชาการของScopus ดำเนินการโดยสำนักพิมพ์ Elsevier ได้จัดให้มีรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น (TRF-CHE Young Researcher Award 2009) โดยใช้เกณฑ์ปริมาณผลงานการเผยแพร่ในรูปบทความวิชาการในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่เป็นผู้เขียนหลักและผลงานที่มีผลกระทบต่อสังคมสูง (High social impact) เป็นเกณฑ์ในการตัดสินโดยในปี 2552 นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มนตรี ชูวงษ์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์) ซึ่งปัจจุบันรับทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ของ สกว. – สกอ. ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะเลิศรางวัลดังกล่าวในหมวด วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical sciences)


รศ.ดร.มนตรี ชูวงษ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ได้รับรางวัลผลการเรียนสูงสุดระดับปริญญาโท จากมูลนิธิแถบ นีละนิธิ
เหรียญทองรางวัลงานวิจัยระดับปริญญาเอกจาก Japan Society for the Promotion of Sciences ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (JSPS - NRCT)

ปัจจุบันมีผลงานวิจัยที่เผยแพร่ทั้งในรูปบทคัดย่อ บทความในการประชุมวิชาการ และบทความวิชาการในวารสารวิชาการธรณีวิทยาทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกว่า 60 บทความ ร่วมแต่งและเรียบเรียงตำราที่ใช้ในการเรียนการสอนทางธรณีวิทยากว่า 10 เล่ม และเป็นผู้อ่านประเมินบทความในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เช่น วารสาร Marine Geology, Sedimentary Geology, Terra Nova, Island Arc เป็นต้น รวมถึงวารสารวิทยาศาสตร์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง


ผลงานวิจัยโดยสรุป
รศ.ดร.มนตรี ชูวงษ์ ทำงานวิจัยด้านธรณีวิทยาสึนามิ โดยเฉพาะเรื่องกลศาสตร์ของคลื่นสึนามิที่ศึกษาจากหลักฐานตะกอนวิทยาที่สึนามิได้ทิ้งร่อยรอยไว้ภายหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 โดยมีโจทย์วิจัยในประเด็นคำถามที่สังคมยังรอคอยความกระจ่างชัด คือ สภาพพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจะฟื้นตัวกลับมามากน้อยเพียงใด ใช้เวลาในการฟื้นฟูสภาพนานแค่ไหน และอีกคำถามสำคัญ คือ คลื่นสึนามิจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคต ได้ทำการติดตามการฟื้นฟูสภาพตะกอนหน้าหาดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 5 ปีจากบริเวณที่ถูกกัดเซาะจากคลื่นสึนามิ โดยพบว่า การฟื้นฟูบริเวณหน้าหาดเป็นไปตามกระบวนการทางทะเลที่รวดเร็ว ชายหาดสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เองตามธรรมชาติภายในระยะเวลาไม่เกินสองปี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การกัดเซาะที่เกิดขึ้นตามร่องน้ำ หรือคลองที่อยู่ใกล้กับชายฝั่งที่พบว่ามีการกลับมาของตะกอนจากแม่น้ำบนฝั่งน้อยมาก ซึ่งร่องรอยการกัดเซาะนี้จะคงอยู่ไปเป็นระยะเวลายาวนานหรืออาจจะคงอยู่ตลอดไปตลอดระยะเวลาทางธรณีวิทยา  นอกจากนี้ยังได้ร่วมทีมสำรวจค้นหาประวัติการเกิดคลื่นสึนามิในอดีตตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย กับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนสามารถบ่งชี้ได้ว่าประเทศไทยเคยได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง และครั้งล่าสุดเกิดเมื่อประมาณ 600 ปีที่ผ่านมา รวมถึงผลงานการสำรวจสภาพภูมิประเทศและธรณีวิทยาใต้น้ำ บริเวณนอกชายฝั่งทะเลตั้งแต่ปลายแหลมปะการังจนถึงฐานทัพเรือทับละมุ ของจังหวัดพังงา ที่ได้ร่วมวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอิตาลี ได้ผลผลิตที่เป็นแผนที่แสดงการเปลี่ยนแปลงธรณีวิทยาและภูมิประเทศใต้น้ำภายหลังจากเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำมาประเมินความรุนแรงและการคาดการณ์ในอนาคตว่า หากคลื่นสึนามิเกิดขึ้นอีกในบริเวณนี้ จะส่งผลกระทบในเชิงกายภาพอะไรได้บ้าง ผลงานวิจัยนี้ยังสามารถนำไปเป็นข้อมูลสำคัญให้กับหลายหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนป้องกันและบรรเทาภัยจากพิบัติภัยสึนามิ เพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการที่เหมาะสมและจริงจังในแต่ละพื้นที่เสี่ยงภัยได้ในอนาคต


ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร. มนตรี ชูวงษ์
ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย






บันทึกการเข้า

"CHIAB"
มนุษย์เราแต่ละคน  ต่างไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไม่มีใครรู้จักกันมาก่อนเลย  แล้ววันหนึ่งก็มาพบหน้ากัน  สมมุติเป็นพ่อ  เป็นแม่  เป็นเมีย  เป็นสามี  เป็นลูก  อยู่ร่วมกัน  ใช้ชีวิตร่วมกัน และแล้ววันหนึ่ง  ก็แยกย้ายด้วยการ  "ตายจาก"  กันไปสู่  ณ  ที่ซึ่งไม่มีใครได้ตามพบ  คืนสู่ความเป็นผู้ไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไปไหน  และคืนสู่ความเป็น  "คนแปลกหน้า"  ซึ่งกันและกันอนันกาลอีกครั้งหนึ่ง...และอีกครั้งหนึ่ง!?
ขอขอบคุณ คุณเปลว สีเงิน ที่ให้ข้อคิดดีๆ

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!