การแสดงปาฐกถาคราวนี้ ผู้เชิญเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้ากำหนดหัวข้อและเนื้อหาตามแต่ใจของข้าพเจ้า ซึ่งเสนอไปว่า ถอดหน้ากากสังคมไทย ถ้าจะใช้คำว่า ลอกคราบสังคมไทย ก็จะไปซ้ำกับหนังสือเล่มสำคัญของข้าพเจ้า ที่ถูกสันติบาลริบไปแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ อันเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าถูกจับในข้อหาว่าหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพเป็นครั้งแรก ดังที่บัดนี้ ก็ยังมีคดีดังกล่าวติดตัวข้าพเจ้าอยู่
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกประหลาดอะไร เพราะสังคมไทยเป็น "สังคมทางชนชั้น ที่คนข้างบนเอาเปรียบคนข้างล่าง" และคนข้างบนหากินอยู่กับ "บรรษัทข้ามชาติและ อภิมหาอำนาจ " อย่างยอมสยบด้วยประการต่างๆ เพื่อเงิน และเพื่ออำนาจ รวมถึงยศศักดิ์อัครฐานอันจอมปลอมต่างๆ อย่างไม่ใยไพกับคนส่วนใหญ่ในประเทศ ทั้งที่เป็นไทยและเทศ รวมถึงคนกลุ่มน้อยที่มาอาศัยอยู่ภายในพระราชอาณาเขต ทั้งยังดูแคลนเพื่อนบ้าน หากเคารพเลื่อมใสฝรั่ง หรือชนชาติเอเชีย ที่มีอัครฐานทางเศรษฐกิจอย่างฝรั่ง เช่นญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ทั้งๆ ที่ประเทศเช่นนี้ หาผู้ที่มีความสุขที่แท้แทบไม่ได้เอาเลย และในบางประเทศ มีแต่ "สัตว์เศรษฐกิจ อย่างแทบไม่มีความเป็นมนุษย์เหลืออยู่" อีกเลยด้วยซ้ำ
" มอริซ แครนสตัน" ซึ่งเป็นนักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ เสนอว่าการเมืองเป็นเรื่องของการสวมหน้ากาก เขาใช้คำในภาษาอังกฤษว่า "The mask of politics" ถ้าจะเข้าใจการเมืองได้ชัด จำต้องถอดหน้ากากออก หรือพูดอย่างไทยๆ ก็คือต้องถอดหัวโขนออก จึงจะเห็นหน้าตาของมนุษย์ที่เล่นบทบาทเป็นพระเป็นนาง เป็นยักษ์เป็นลิง และต้องเข้าใจด้วยว่า ทางหลังฉากมีคนพากษ์ คนบอกบท คนขับร้อง และปี่พาทย์ ซึ่งมีความสำคัญกับการแสดงยิ่งนัก มิใยต้องเอ่ยถึงคนที่ ควบคุมการแสดงทั้งหมดเอาเลยด้วยซ้ำ
ข้าพเจ้านับถือบุคคลคนนี้ ดังได้นำเรื่อง " Political Dialogues" ของเขา มาแปลและนำไปสอนในชั้นปรัชญาการเมือง ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย สมัยที่ข้าพเจ้าสอนอยู่ที่นั่นในปี ๒๕๑๔ แล้วตีพิมพ์เป็นเล่มและทะยอยแยกเป็นเล่มเล็ๆ ถึง ๔ เล่มด้วยกัน ดังยังมีให้หาอ่านได้อยู่ในบัดนี้
ข้าพเจ้าเห็นว่า "การสวมหน้ากาก" นั้น ไม่แต่นักการเมือง แม้เราแต่ละคนก็สวมหน้ากากด้วยกันทั้งนั้น และเมื่อเรารวมตัวกันเป็นสังคม หน้ากากก็มีทั้งที่เป็น ส่วนบุคคลและที่เป็นส่วนรวม ตราบใดที่เรายึดใน "อัตตา" ก็ย่อมมีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง และยิ่งเห็นแก่ตัวมาก ก็ยิ่งมีเล่ห์เพทุบายมาก จนมีอาการหน้า ไหว้หลังหลอก อย่างกึ่งดิบกึ่งดียิ่งๆ ขึ้นทุกที ทั้งในระดับส่วนตัวและระดับส่วนรวม
ไม่ว่าจะส่วนตนหรือส่วนรวม ล้วนเป็นเรื่องของสมมติทั้งนั้น ที่สุดจนประเทศชาติ ก็เป็นเรื่องของสมมติด้วยเช่นกัน ดัง "เบน แอนเดอสัน " ใช้คำว่า "ชุมชน จินตกรรม" ซึ่งเขาเรียบเรียงขึ้นเป็นเล่มใหญ่ " Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism " ที่มีแปลเป็นไทยแล้ว ในชื่อว่า ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยการกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม
และในการเปิดตัวหนังสือนี้ ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒ ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปแสดงปัจฉิมกถา ดังลง พิมพ์ไว้แล้วใน เพียรพูดความจริงในวัยสนธยาแห่งชีวิต ของข้าพเจ้า หน้า ๕๓-๖๐ จึงจะไม่ขอเอ่ยถึงความเป็นชาติไทย ซึ่งเป็นของใหม่ที่เราเอาอย่างฝรั่งมา แต่เมื่อใช้คำว่าราชอาณาจักรสยามในรัชกาลที่ ๔ จนกลายมาเป็นประเทศไทยหรือ Thailand เมื่อ ๗๐ ปีมานี้เอง
ที่ปาฐกถานี้เจาะลงไปที่สังคมไทย คือหมายเอาสำหรับชุมชนที่ใช้ภาษาไทยเป็นสื่อกระแสหลัก ซึ่งอาจไม่รวมสามจังหวัดภาคใต้ ที่มีภาษามลายูเป็นหลักก็ยัง ได้ เพราะข้าพเจ้าไม่คุ้นกับภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมทางภาคนั้น แม้สังคมไทย ที่ข้าพเจ้ารู้จัก ก็คับแคบ ในแวดวงชาวเมือง และชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยที่บางครั้งสังคมไทยก็กินความกว้างออกไป รวมถึงเมืองไทยหรือประเทศไทยก็ยังได้ จากข้อเขียนร่วมสมัยที่อ่านเก็บความมาในเร็วๆ นี้ มีข้อความบาง คำบางวลีที่สะดุดใจ ดังขอนำเอามาใช้เพื่อประกอบการพิจารณา
๑)สารคดี ฉบับพฤษภาคม ๒๕๕๒ หน้า ๕๑ ธนกร ฮุนตระกูล ให้สัมภาษณ์ว่า ในประเทศไทย สิ่งที่ขาดมากที่สุดคือความยุติธรรม
๒)ในหนังสือรวมเรื่องสั้นภาษาอังกฤษของ "รัตตวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์" ชื่อ "Sightseeing" หน้า ๗๒ ตัวละครซึ่งเป็นเด็กหนุ่ม อ้างคำพูดของแม่ว่า " Thailand was only a paradise for fools and farangs, for criminals and foreigners "
๓)ไทยโพสต์ แทบลอยด์ ประจำวันที่ ๒๑-๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ หน้า ๓ ซึ่งสัมภาษณ์ " ศุขปรีดา พนมยงค์" ความว่า บุคคลสำคัญอย่างพระยาพหลพล พยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ก็เป็นที่น่าเสียใจว่าไม่ค่อยมีคนศึกษาประวัติและคุณูปการของท่าน ตอนนี้เพิ่งมี พล.อ. ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์ รวบรวม ประวัติ เตรียมจัดพิมพ์เรื่องท่านเจ้าคุณพหลฯ ผมเคยไปงานรำลึกถึงท่านที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ทหารกล่าวสดุดี ทหารเขียน ไม่มีเกี่ยวกับ ๒๔ มิถุนายน เลย ผมอดไม่ได้ก็ถาม ไม่กล้าเขียน เขียนเพียงว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บัญชาการทหารบก ว่ากันไปอย่างนั้น
ถ้อยคำที่ยกมาเอ่ยถึงใน ๓ หัวข้อนี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึง สังคมไทย ซึ่งอาจขยายไปรวมถึงประเทศไทยด้วย ว่า
(๑) "ขาดความยุติธรรม" ก็สังคมซึ่งขาดความยุติธรรม จะธำรงคงอยู่ได้ละหรือ
(๒) เป็นสังคมซึ่งเปรียบได้กับเป็นสวนสวรรค์หรือ "แดนสุขาวดี" สำหรับพาลชน (Fools) หรือพวกคนบัดซบต่างๆ หาไม่ก็สำหรับฝรั่งกระแสหลักซึ่งเป็นนัก ทัศนาจร ที่มาเมืองไทยเพื่อกินและกามต่างๆ รวมถึงพวกอาชญากร ที่กลายมาเป็นนักการเมือง นักการค้าตัวโตๆ ซึ่งล้วนประกอบมิจฉาชีพด้วยกันแทบทั้งนั้น ทั้งนี้เพราะ
(๓) "เราไม่ยอมรับความจริง" อย่างท่านผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้ราษฏรได้เป็นเจ้า ของประเทศ แทนที่จะเป็นเพียงฝุ่นเมืองและไพร่บ้าน หรือทาสกรรมกร ก็เป็นบุคคลที่ไม่มีใครกล้าเอ่ยถึงคุณูปการอันแท้จริงของท่าน อนุสาวรีย์ที่หน้ารัฐสภา ควรมีรูป "ท่านเชษฐบุรุษ" เคียงคู่กับรูปท่าน "รัฐบุรุษอาวุโส" แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น จะมี "พระบรมรูปพระปกเกล้าฯ" อยู่หน้ารัฐสภาก็ได้ แต่ควรมีรูปสามัญชน อีกสองท่านนั้นด้วย
สังคมใดก็ตาม เมื่อไม่กล้าเผชิญกับ "สัจจะ" ผู้คนก็ย่อมปราศจากความกล้าหาญทางจริยธรรม เพราะอาสัตย์คือความเท็จ หรือกึ่งจริงกึ่งเท็จ ซึ่งมอมเมาผู้คนได้ ง่าย ดังการศึกษากระแสหลัก ก็เต็มไปด้วยการมอมเมาต่างๆ ยัง "สื่อสารมวลชนกระแสหลัก" ก็มอมเมาผู้คนแทบทั้งนั้น ทั้งคู่นี้คือสดมภ์หลักในการสะกดคน ให้สยบ ให้มืดบอด ให้หวาดกลัว ให้ดีแต่เอาตัวรอด หรือมีทีท่าว่าน่ารัก หากปราศจากความจริงใจ แม้จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ยากไร้ ก็ในฐานะที่ตนสูงส่งกว่า คนที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นๆ ทั้งนี้ก็เพราะหน้ากากหรือหัวโขนที่สวมไว้ ให้หลงในอัตตา ในตัวตน ในความเป็นกู และของกู ตลอดจนพรรคพวก เพื่อนฝูง และ ญาติมิตร บริษัทบริวารของกูตราบใดที่มีกูก็ต้องมีมึง โดยไม่เข้าใจในการโยงใยถึงกันและกันอย่างเป็น "อิทัปปัจจยตา"
น่าสนใจก็ตรงที่สังคมไทยนั้น ถือกันว่าคนส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิก แต่ชาวพุทธไทยในกระแสหลัก แทบไม่ได้เดินตามทางของพระบรมศาสดาเอาเลย เรา ติดยึดกันแต่ประเพณีและพิธีกรรม ซึ่งปนเปไปกับ "ไสยเวทวิทยา" โดยผนวกเข้าไปกับ "ระบบศักดินาขัตติยาธิปไตย" อย่างไม่รู้เท่าทัน ทั้งในระยะหลังมานี้ มี "พุทธพาณิชย์" เข้ามาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ช่วยให้พุทธศาสนาไทยในกระแสหลัก เข้ากันได้ด้วยดีกับทุนนิยมและบริโภคนิยม อย่างเกือบจะแนบแน่น จะมีเพียงขบวนการของ "สันติอโศก" เท่านั้นละกระมัง ที่ท้าทายทุนนิยมและบริโภคนิยมอย่างเอาจริงเอาจัง
ทุนนิยมและบริโภคนิยมนี้แล คือ "หน้ากากอย่างใหม่ที่มาครอบสังคมไทย" ตั้งแต่เราเริ่มเปิดบ้านเปิดเมืองให้ฝรั่ง แต่ในรัชกาลที่ ๔ นั้นแล้ว หากในช่วงต้นๆ ชนชั้นบนของเรารังเกียจและเกรงกลัวระบบจักรวรรดินิยมหรืออาณานิคมของตะวันตก ซึ่งเป็นตัวแทนของโทสจริต ในขณะที่ทุนนิยม ซึ่งขยายควบคู่ไป กับจักรวรรดินั้น เป็นตัวแทนของโลภจริต โดยฝรั่งใช้ระบบการศึกษา ซึ่งเป็นตัวแทนของโมหจริต มามอมเมาผู้คน ที่แม้ไม่อยู่ในอาณัติของตนโดยตรง หาก ให้สยบยอมไปตามๆ กัน
ไทยเราสยบยอมกับจักรวรรดิอังกฤษ มากกว่าจักรวรรดิฝรั่งเศส แม้ชนชั้นบนของไทยจะอ้างว่ารักษาเอกราชของบ้านเมืองไว้ได้ แต่เขาเหล่านั้นก็ตกอยู่ใต้ อาณานิคมทางปัญญาของฝรั่งมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ โดยกรุงเทพฯ ทำตนเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิสยามกลายๆ ขยายอาณานิคมออกไปทางหัวเมืองต่างๆ ด้วยการครอบงำทั้งทางอำนาจ (โทสจริต) และทางทรัพย์สิน (โลภจริต) และทางการศึกษา (โมหจริต)
ถ้าไม่ถอดหน้ากากอันนี้ออก เราจะไม่เข้าใจจุดยืนของราษฎร หรือชนชั้นปกครองในท้องถิ่นต่างๆ ที่ก่อการปฏิวัติขัดขืนขึ้นทางอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ทางแพร่ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ และทางปัตตานีในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ หากทางกรุงเทพฯ ถือว่าเหตุการณ์นั้นๆ เป็นการกบฎ เพราะปราบได้ คือคงเอา หน้ากากจากระบบอาณานิคมของตะวันตกสวมทับไว้ได้ ต่อๆ มา แม้จนบัดนี้แล้ว ชนชั้นบนก็ยังไม่เข้าใจ ว่าการใช้อำนาจ (โทสจริต) ปราบปราม และการ รีดไถทรัพยากร (ด้วยโลภจริต) จากดินแดนนั้นๆโดยให้การศึกษาอย่างมอมเมาเขาเหล่านั้น (โมหจริต) เป็นโทษอันมหันต์ สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้
โดยจะถือว่าปัตตานีเป็นสังคมแขกมากกว่าสังคมไทยก็ได้ แต่อุบลราชธานี ก็มีความเป็นสังคมลาวมากกว่าสังคมไทย และแพร่ก็เป็นสังคมลาวมากกว่าไทย เช่นกัน หากทางพายัพเป็นลาวพุงดำ ในขณะที่ทางอีสานเป็นลาวพุงขาวเท่านั้นเอง อย่างน้อยก็ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยที่ชนชั้นปกครองเข้าใจว่าได้กลืน ความเป็นลาวได้สำเร็จ ด้วยการสวมหัวโขนของความเป็นไทยให้ โดยวิธีการปกครองแบบศักดินาขัตติยาธิปไตย และด้วยการศึกษาแบบล้างสมองให้นิยม ความเป็นไทยแบบชนชั้นปกครองของภาคกลาง
ครั้นเมื่อเกิดการอภิวัฒน์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ได้มีความพยายามปฏิเสธอาณานิคมแบบตะวันตก และสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบไทย ด้วยวิถีทางของ ประชาธิปไตย ซึ่งถ้าได้มีโอกาสพัฒนาไปในทิศทางของ"ธรรมิกสังคมนิยม" เราอาจถอดหน้ากากจากการครอบงำ ที่เราถูกสะกดมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เสียก็ ได้ ดังนายปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามเรียนรู้จาก "พุทธทาสภิกขุ" มาแต่ตอนที่ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๘ นั้น แล้ว ว่าจะปรับปรุง ประชาธิปไตยไปในทิศทางของความเป็นไทยที่แนบสนิทกับความเป็นพุทธ ดังข้อตกลงของรัฐบาลในสมัยของท่านกับ "หยีสุหรง" ก็มีทางช่วยให้ปัตตานี ถอดหน้ากากออกได้จากจักรวรรดิกรุงเทพฯ ให้ได้มีความเป็นตัวของตัวเอง ทั้งทางภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม
เฉกเช่นทางภาคอีสาน เราก็มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคสหชีพ ที่รวมพลังกันเพื่อศักดิ์ศรีของคนในภูมิภาคนั้น ซึ่งจักมีความเป็นตัวของตัวเองยิ่งๆ ขึ้น ทั้งทางภาษาและวัฒนธรรม โดยที่ระบบเศรษฐกิจก็มีทางที่จะกระเตื้องขึ้นไม่แพ้ภาคกลาง ดังสมาชิกคนสำคัญๆ ของพรรคนั้น ได้มีบาทบาทไม่แต่สำหรับ ภาคอีสานเท่านั้น หากได้มีส่วนร่วมรับใช้ประเทศชาติและประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย โดยเฉพาะก็บุคคลอย่าง "นายเตียง ศิริขันธ์ จากสกลนคร นายจำลอง ดาว เรือง จากมหาสารคาม นายถวิล อุดล จากร้อยเอ็ด และนายทองอินทร์ ภูริทัต จากอุบลราชธานี" เป็นต้น
แต่แล้วการ "ถอดหน้ากาก" จากการกดขี่ของชนชั้นบนในภาคกลาง ซึ่งสยบยอมอยู่กับอภิมหาอำนาจ ก็ต้องถึงจุดที่ต้องยุติลง และบุคคลที่เอ่ยนามมาแล้วนี้ รวมถึงคนอื่นๆ อีก ล้วนถูกสังหารผลาญชีวิตไปสิ้น ทั้งชื่อเสียงเกียรติคุณของเขา ก็ทำให้ถูกลืมไปอีกด้วย หาไม่ชื่อเสียงนั้นๆ ก็ถูกบิดผันให้คนนั้นๆ กลาย เป็นมารร้ายไป โดยมีอนุสนธิมาจากการทำลายล้างชื่อเสียงเกียรติยศของนายปรีดี พนมยงค์เป็นอันดับแรก จากการรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นการ เริ่มเอาหน้ากากในทางศักดินาขัตติยาธิปไตยกลับมาครอบงำสังคมไทย ซึ่งอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างบังหน้า เพราะลึกๆ ลงไปนั้นเป็นเผด็จการ
และยิ่งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ มาด้วยแล้ว ความเป็นเผด็จการ หมดการปิดบังอำพรางเอาเลย และชนชั้นนำของสังคมไทย เดินตามก้นจักรวรรดิอเมริกันอย่างไร้ ยางอายใดๆ สิ้น คนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ที่พอจะมีแววในทางความฉลาดเฉลียวอยู่บ้าง ล้วนได้รับการล้างสมองในระบบการศึกษาแบบอเมริกันแทบทั้งนั้น ดัง สถาบันการศึกษาไทย ก็มีแนวโน้มไปในทางกึ่งดิบกึ่งดี กึ่งจริงกึ่งเท็จ หรือการรับรู้มาอย่างเป็นเสี่ยงๆ โดยปราศจากองค์รวม ถึงบางคนจะเข้าถึงความรู้ อย่างแม่นยำ แต่ที่จะเข้าถึงองค์คุณแห่งความงามและความดี ย่อมไม่อาจมีได้ เพราะสถาบันการศึกษาอย่างฝรั่งไม่อาจเป็นแบบอย่างหรือสั่งสอนในทางคุณ งามความดีได้อีกต่อไปแล้ว ยิ่งการศึกษาแบบอเมริกันด้วยแล้ว เน้นที่ความสำเร็จในทางปฏิบัติ pragmatism ซึ่งไม่จำต้องมีจุดยืนทางจริยธรรม แล้วบุคคลที่ อ้างว่าได้รับการศึกษาแม้ในขั้นดุษฎีบัณฑิต จะมีความกล้าหาญทางจริยธรรม กระไรได้ (จะมีข้อยกเว้นบ้าง ก็เพียงบางคนเท่านั้น)
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงภาพลักษณ์ให้ปรากฎถึง "การครอบงำ" ที่สังคมไทยเราถูกสะกดเอาไว้ ภายใต้หัวโขนหรือหน้ากาก ที่บรรษัทข้ามชาติและ จักรวรรดิอย่างใหม่เป็นตัวกำหนด โดยเฉพาะก็ "สหรัฐอเมริกา" และ "สาธารณรัฐประชาชนจีน" หากในภูมิภาคนี้มีสิงคโปร์เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญชนชั้นนำของสังคมไทย ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจหรือการเมือง รวมถึงขบวนการศึกษาทั้งหมด ล้วนเล่นบทบาท เป็นดังหุ่นที่ถูกเชิดด้วยกันทั้งนั้น
แม้จะสามารถเพียงไร และพยายามมากน้อยแค่ไหน จนถึงกับตั้งตนเป็นคนบริสุทธิ์และยุติธรรมเพียงใดก็ตาม ถ้ายังไม่ถอดหน้ากากออก ก็ย่อมต้องร้องต้อง รำไปตามเพลง หรือตามจังหวะจะโคนของโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะเรียกว่าเสรีนิยมอย่างใหม่ก็ได้ คือ ช่วยให้ใครมือยาวสาวได้สาวเอา โดยที่ธรรมชาติก็เป็นเพียง ทรัพยากรอย่างหนึ่ง ซึ่งมีค่าในทางทุน ในทางทรัพย์ เท่านั้นเอง ยิ่งพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเท่าไร โอกาสในการทำลายล้างธรรมชาติและมนุษยชาติ ตลอดจนสรรพสัตว์ต่างๆ ก็ยิ่งเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้นเท่านั้น
ฉะนั้น จะไปแสวงหาความยุติธรรมได้ที่ไหน (ตอบธนกร ฮุนตระกูล) และสังคมไทยก็ย่อมเป็นแดนสุขาวดีของพวกพาลที่นึกว่าตนมีอำนาจและมีเงิน ตลอด จนบริษัทบริวาร รวมถึงพวกฝรั่งกระแสหลักที่หลีกลี้หนีมาจากความไม่เอาไหนของสังคมตน มาหลงระเริงไปกับกิน กาม เกียรติ อย่างมอมเมาในเมืองไทย (สมกับคำของตัวละครในเรื่องสั้นของรัตตวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์)
ทั้งนี้ก็เพราะผู้คนไม่กล้าพูด ไม่กล้าเขียน ในสิ่งซึ่งเป็นความจริง แม้ในประวัติศาสตร์ ดังคำของศุขปรีดา พนมยงค์นั้นเอง ใช่แต่เท่านั้น ยังมีการบิดเบือนข้อ เท็จจริง โดยเสกสรรปั้นแต่งคำเท็จมาเผยแผ่อย่างหน้าด้านๆ ในแทบทุกวงการอีกด้วย ชนชั้นล่าง ไม่ว่าจะในสังคมเมือง หรือสังคมชนบท ล้วนถูกปู้ยี้ปู้ยำ ด้วยประการต่างๆ ในนามของคำว่า "พัฒนา ของคำว่าโลกาภิวัตน์" ทั้งจากนายทุนท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นนักการเมืองท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย พวกนี้เป็นมาเฟียอย่างถูก กฎหมาย (หรือผิดกฎหมาย แต่กฎหมายก็ทำอะไรเขาไม่ได้) และได้รับการยอมรับในระดับชาติด้วย เพราะมิจฉาชีพของเขาโยงใยถึงระดับชาติ และนานาชาติ แทบทุกคนเล่นบทบาทภายในกรอบของหน้ากาก หรือหัวโขน ที่สวมใส่ไว้ในนามว่า "โลกาภิวัตน์" ด้วยกันทั้งนั้น
ขบวนการประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่ในเมืองไทย สมัยนี้ เน้นที่รูปแบบ หรือมิใช่ มีใครถามถึงสาระทางจริยธรรม หรือความยุติธรรม อันควรเป็นพื้นฐานทาง การปกครองบ้างไหม อย่างน้อยก็ควรมีการถกเถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์กันในประเด็นดังกล่าว
สภามหาวิทยาลัยก็ดี คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นๆ ก็เช่นกัน รวมถึงตำแหน่งผู้ตรวจราชการแผ่นดิน หรือสำนักงานเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ของทางราชการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือตุลาการภวัฒน์ ซึ่งมีคนดีๆ อยู่ในหน่วยงานนั้นๆ กันมิใช่น้อย แต่หน่วยงานนั้นๆ ได้ บุคลากรที่เข้ามามีบทบาทด้วยวิธีการอันชอบธรรมไหม หน่วยงานนั้นๆ มุ่งความยุติธรรมหรือไม่ ตรวจสอบอะไรๆ ได้มากน้อยเพียงใด มีใครกี่คนที่ทรงไว้ ซึ่งความกล้าหาญทางจริยธรรม
"ถ้ามนุษย์ปราศจากสัจจะ ย่อมจะเกิดความกล้าหาญทางจริยธรรมไม่ได้" และสัจจะจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อแลเห็นความทุกข็ ไม่แต่ส่วนตน หากเป็นความ ทุกข์ของสังคมโดยส่วนรวมด้วย
ความทุกข์ของสังคมไทยเป็นความทุกข์ที่ถูกสะกดให้แต่ละคนขาดความกล้า ให้ได้แต่อ้าขาผวาปีกไปเรื่อยๆ เพื่อไต่เต้าขึ้นไปทางบันไดของสังคม ซึ่งมี ระบบชนชั้นอันกดขี่กันเป็นขั้นๆ ไป ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม และที่สำคัญคือการสะกดดังกล่าวทำให้แต่ละคนในสังคมลืมกำพืดดั้งเดิม ของตน หมดความภูมิใจในวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน ไม่เห็นคุณค่าของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย และรากฐานทางวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่สืบทอดคุณธรรมกันมาหลาย ชั่วอายุคน
ทั้งนี้มิได้หมายความว่า เราต้องหันกลับไปหาอดีตอย่างโหยหา จนเห็นว่าอดีตกาลเลอเลิศ อย่างหาที่ติมิได้ แท้ที่จริง มนุษย์เติบโตขึ้นมาในสังคม ด้วยการ รู้จักแยกแยะ วิพากษ์วิจารณ์ แสวงหาให้ได้ว่าอะไรคือแก่น และอะไรคือเปลือกกะพี้ ให้รู้จักแยกของปลอมออกจากของแท้
ที่ร้ายยิ่งกว่านี้ ก็ตรงที่เราถูกล้างสมองให้นิยมยกย่องอารยธรรมตะวันตกนั้น เราตีประเด็นไปที่ตะวันตกไม่แตกเสียอีกด้วยซ้ำ
การเห่อเหิมออกซ์บริดจ์นั้น เคยสำเหนียกกันบ้างไหมว่า "วิลเลี่ยม เบล็ก" กวีสำคัญของอังกฤษ เคยพูดถึงสถาบันการศึกษากระแสหลักอันเก่าแก่และมีชื่อ เสียงที่สุดของอังกฤษ ว่าเป็นตัวรับใช้จักรวรรดิอังกฤษ เพื่อครอบงำผู้คน โดยไม่สนใจในปัญหาของผู้ยากไร้ และความอยุติธรรมขั้นพื้นฐานเอาเลย
โดยที่บัดนี้ ตีราคาค่างวดกันว่า "ฮาวาร์ด" สูงส่งยิ่งกว่า "ออกซ์บริดจ์" เสียอีกด้วยแล้ว สังเกตกันบ้างไหมว่า วลีภาษาละตินของมหาวิทยาลัยนั้น มีความว่า สัจจะสำคัญเหนืออื่นใด แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น อย่าง "เฮนรี่ คิสซิงเยอร์ " ซึ่งไปรับใช้นิกสันนั้นได้มีส่วนอย่างสำคัญที่อุดหนุนรัฐบาลอเมริกันให้ทำลาย ล้างคนเวียดนาม และคนกัมพูชาไปไม่รู้ว่าเท่าไรต่อเท่าไร ทั้งนี้ยังไม่นับถึงคนอเมริกันที่ไปตายในสงครามนั้นอีกเป็นเบือ คิสซิงเยอร์ยังมีชีวิตอยู่ และได้รับ รางวัลสันติภาพจากมูลนิธิโนเบลด้วย
ส่วน "แซมมวล ฮันติงตัน" จากมหาวิทยาลัยเดียวกันนั้น และเพิ่งตายจากไปเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เสนอให้รัฐบาลสหรัฐทิ้งระเบิดลงไปยังทุกๆ หมู่บ้านในเวียดนาม เพื่อเอาชนะพวกเวียดกง ซึ่งอาศัยกำลังชาวบ้าน เมื่อหมู่บ้านถูกทำลาย ประชาชนจะได้โยกย้ายไปอยู่ในเมือง อเมริกันจะได้ปราบง่าย คนตายไปเท่าไรก็ช่าง และแล้วสหรัฐก็แพ้สงคราม ดังก่อนตายฮันติงตันเสนอในเรื่อง การขัดแย้งทางอารยธรรม ให้อเมริกันเห็นโทษของอารยธรรมอาหรับ ซึ่งจะเป็นตัวเลว ร้ายอย่างฉกาจ ดังสงครามอิรัก ก็มีสาเหตุมาจากทฤษฎี หรือข้อเขียนของบุคคลคนนี้รวมอยู่ด้วย แล้วทั้งคู่นี้มีจุดยืนทางความยุติธรรมที่ไหน แต่ละคนแสวง หาสัจจะหรือชัยชนะอย่างโหดเหี้ยมทารุณ
แม้เราจะไม่ได้อยู่ใต้จักรวรรดิอเมริกัน แต่เราก็เดินตามก้นอเมริกันอย่างเซื่องๆ หรือมิใช่ ชนชั้นนำในสังคมไทยสำเหนียกบ้างไหม ตราบใดที่ไม่เคยฟังเสียง จากชาวบ้าน โดยถือตนว่าสูงส่งกว่า ฉลาดกว่า เพราะรู้ภาษาฝรั่งและเชื่อผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตก แล้วนี่ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิดอกหรือ
ฝรั่งสามารถปรับเปลี่ยนความชั่วร้ายให้แลเห็นว่าเป็นคุณธรรมได้อย่างแนบเนียน แม้จะปิดความชั่วไว้ไม่ได้ก็ตาม " อัลเฟรด โนเบล" ร่ำรวยมาจากการทำ ระเบิดทำลาย แล้วเอาเงินมาตั้งมูลนิธิโนเบลเพื่อสันติภาพ เพิ่อวรรณคดี เพื่อวิทยาศาสตร์ ฯลฯ จนรางวัลดังกล่าวได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่ง "เซอซิล โรดส์ " ปู้ยี้ปู้ยำอาฟริกาด้วยอาการอันป่าเถื่อน อย่างเลวร้ายสุดๆ แล้วเขาตั้งทุนการศึกษาโรดส์ให้คนขาวในจักรวรรดิอังกฤษและสหรัฐได้ไปเรียนที่ออกซ์ฟอร์ด จนทุนดังกล่าวถือกันว่าทรงเกียรติยิ่งนัก แม้ "บาเดน พาเวลล์" ซึ่งก่อตั้งขบวนการลูกเสือขึ้นนั้น ก็เป็นคนโหดร้ายมิใช่ย่อยเอาเลย อยากรู้ว่าชนชั้นนำในเมือง ไทยตระหนักความข้อนี้กันบ้างไหม
ชนชั้นบนของเรารับเอาหน้ากากจากฝรั่งมาสวมให้สังคมไทยแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา แล้วหน้ากากนั้นก็หนาเตอะยิ่งๆ ขึ้นทุกที ซึ่งเดิมเชื่อว่าสังคม ของชนชั้นปกครองจะดำรงอยู่ได้ต้อง
(๑) ใช้การศึกษามอมเมาประชาชนให้เคารพนับถือชนชั้นบน ซึ่งต้องสร้างสถานะให้สูงส่งกว่าไพร่บ้านพลเมือง
(๒) ต้องรวมศูนย์อำนาจและเศรษฐกิจการเงินไว้ในราชธานี หรือไว้ที่ชนชั้นบนอย่างสุดๆ นั้นแล
(๓) ถ้าหัวเมืองต่างๆ ขัดขืน จำต้องมีกองทัพไปปราบปราม
นี่คือหายนะข้อต้น ที่เราได้มาจากฝรั่ง ดังกองทัพไทยได้มีไว้ปราบปรามประชาชนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ มาจนปัจจุบัน โดยที่กองทัพไทยไม่เคยรบชนะ ประเทศอื่นใดเอาเลยคนส่วนใหญ่ในเวลานี้ยังไม่เห็นโทษของการตามอย่างฝรั่ง หรือการเอาหน้ากากฝรั่งมาใส่ไว้ในสังคมไทย จนตราบเท่าทุกวันนี้ เราแทบไม่แลเห็นแง่ลบจากสิ่งซึ่งเรียกว่าความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรมตะวันตกเอาเลย
เราเคยเห็นโทษของสมัยที่เรียกว่า "ความตื่นตัวทางศิลปวิทยาการของฝรั่ง (Renaissance)" ไหม การปฏิวัติใหญ่ทางอุตสาหกรรมให้คุณกับใคร นอกจากช่วยให้คนรวยได้รวยยิ่งขึ้น หากคนจนถูกกดขี่ข่มเหงยิ่งๆ ขึ้น ทั้งที่ในอังกฤษเองและในจักรวรรดิอังกฤษอีกด้วย แม้ระบบชนชั้นอย่างไทยจะไม่ใช่ของดี ซ้ำยังถูกปรับให้ไปเป็นอย่างฝรั่งอีกด้วย และใช้การศึกษาสะกดให้ผู้คนเห็นว่าศักดินาขัตติยาธิปไตยเป็นของดี แม้ผู้คนจะไม่เท่าเทียมกัน แต่นั่นก็เป็นความยุติธรรม เพราะชนชั้นนำเป็นคนดีและมีความสามารถ ดังคณะองคมนตรีเป็นตัวอย่างในทางนี้ เป็นต้น
ยิ่งจะให้คนไทยในกระแสหลักสมัยนี้แลเห็นโทษของการศึกษาที่ครอบงำผู้คนอยู่แทบทั้งแผ่นดิน ก็แทบจะไม่มีเอาเลยด้วยซ้ำการส่งคนไทยไปชุบตัวยที่เมืองนอกนั้น เห็นกันบ้างไหม ในทางลบ หรือเห็นกันว่าการชุบตัว ทำให้กลายเป็นสังข์ทองไปตามๆ กัน เห็นบ้างไหมว่าท้าวสันนุราชนั้น พอชุบตัวแล้วก็เลยกลายเป็นผีไปเอาเลย เราไม่เห็นผีนักเรียนนอกที่หลอกหลอนเรากันในวงการต่างๆ บ้างดอกหรือ
องคาพยพของสังคมไทย ทั้งในระบบรัฐและอื่นๆ ที่เอาอย่างฝรั่งมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ บัดนี้ใหญ่โตเกินไป ภูมิทัศน์ในราชธานีและชนบทต่างๆ ก็เต็มไปด้วย ความอุจาดยิ่งๆ ขึ้น แม้วัดวาอารามก็มีมลพิษเข้าไปปน ทั้งทางสถาปัตยกรรม และทางพระธรรมวินัย อย่างน่าสลดใจ การบริหารกิจการต่างๆ ติดขัด ขัดข้อง ในแทบทุกๆ ทาง ทั้งยังสิ้นเปลืองเป็นอย่างมาก หากไม่อำนวยประโยชน์กับคนเล็กคนน้อย คนยากคนจนเอาเลยก็ว่าได้ หากอะไรๆ ย่อมเป็นไปเพื่อชนชั้นบน และคนที่มีอำนาจด้วยกันแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะขบวนการยุติธรรม รัฐสภา รัฐบาล ทหาร ตำรวจ สถานทูต มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ หาสาระแห่งความเป็นธรรมแทบไม่ได้เอาเลย เหตุเพราะเราถูกถอนรากถอนโคนจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา โดยเราต้องการใส่หน้ากากอย่างฝรั่ง กันไว้อย่างไม่รู้เท่าทัน ทั้งยังหลีกเลี่ยงสัจภาวะ ก็เลยขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม จนทำอะไรๆ ไม่ได้อย่างทันท่วงที
สมดังกลอนของ พ. กิ่งโพธิ์ ในไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒ กรกฎาคม ที่ว่า
ปัญหาน้ำมัน-ยันส่งออก
กู้หนี้เมืองนอก-ตามถนัด
รถเมล์-รถไฟ..ตามไล่ฟัด
ไข้หวัดไม่เว้นมาเล่นงาน
จังหวัดชายแดนใต้ไฟลุก
แถมทุกข์ที่เขาพระวิหาร!
ส.ส.ยังสับสนพิกลพิการ
หัวหมู่ยักษ์มารก็เริงเมือง!
ที่จริง การศึกษาของฝรั่ง และวิทยาการต่างๆ ของฝรั่ง รวมทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีทั้งคุณและโทษด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเราไม่รู้จักแยกแยะให้ชัดเจน ย่อมให้โทษยิ่งกว่าให้คุณ ดังที่เป็นอยู่กับสังคมไทยในบัดนี้
การแยกแยะสาระของตะวันตก ต้องตีไปที่ปรัชญาสมัยใหม่ของฝรั่ง ซึ่งเริ่มแต่เร่อเน่ เดส์คาตส์ ที่ว่า cogito ergo sum I think therefore I am เพราะฉันคิดได้ จึงเป็นตัวฉัน ฟังดูก็ง่ายดีดอก แต่ประเด็นอยู่ที่ ergo ตัวกู ตัวฉัน ซึ่งฝรั่งถือว่าอัตตาเป็นตัวตนอย่างจริงจัง จนเกิดอัตนิยม (egoism) ปัจเจกนิยม (individualism) เป็นทวิภาค (dualism) เพราะมีกู ก็ต้องมีมึง แบ่งเป็นเรา เป็นเขา เป็นดำ เป็นขาว
ยังคำว่า cogito ที่แปลว่าการคิด หรือความคิดนี้ ฝรั่งถือว่าเป็นปัจจัยหลักสำหรับความเป็นคน ที่ต้องเอาชนะคนอื่น พวกอื่น ชนชาติอื่น ชนชั้นอื่น เพศอื่น สัตว์อื่น ตลอดจนธรรมชาติทั้งหมด คนที่คิดได้มากเท่าไร ย่อมต้องเอาชนะอะไรๆ ได้มากเท่านั้น ยิ่งคิดค้นในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและวิชาการต่างๆ ได้มากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มความเห็นแก่ตัว เพื่อกอบโกยยิ่งๆ ขึ้น
รวมถึงเพิ่มการขยายแสนยานุภาพอย่างโหดเหี้ยมและทารุณยิ่งๆ ขึ้น จนเป็นจักรวรรดิ และบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ที่ไม่มีพื้นฐานทางความเมตตาการุณด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ถึงจะโอบอ้อมอารีบ้าง ก็เพื่อผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น แม้การแพทย์แบบตะวันตกที่อ้างว่าช่วยชีวิตผู้คนได้มากนั้น การแพทย์ดังกล่าวผูกติดอยู่กับระบบทุนนิยมมากเพียงใด บรรษัทยาเข้ามามีอิทธิพลกับวิชาชีพนี้ขนาดไหน ตระหนักกันบ้างไหม
ก็เมื่อฝรั่งผูกติดอยู่กับความคิดจึงต้องใช้วิธีวิทยาในทางคณิตศาสตร์และตรรกวิทยาพิสูจน์อะไรต่างๆ อย่างปราศจากมิติอื่นใดที่ไปพ้นวัตถุนิยม ถึงแม้จะรู้มาก แต่ก็รู้เป็นเสี่ยงๆ อย่างคับแคบ เพราะไม่เปิดกว้างไปในทิศทางที่ออกนอกกรอบไปจากหัวสมองและความอหังการ์
นิมิตดี ก็ตรงที่ฝรั่งสมัยใหม่เริ่มแลเห็นแล้วว่า มีทางที่จะใช้หัวใจให้ประสานกับหัวสมองได้ ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่า "จิตสิกขา" คืออบรมให้ใจสงบ จนอาจ ขัดเกลาความคิดที่ติดยึดอยู่ในความเห็นแก่ตนให้ลดความเห็นแก่ตัวลงได้ และให้แลเห็นได้ว่าอัตตา หรือตัวตน หรือตัวกูนั้นไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงสมมติ ขึ้น แล้วเอาหน้ากากหรือหัวโขนมาสวมใส่เพื่อสื่อกับคนอื่น แต่ถ้าไปหวังว่าตัวตนมีจริงเสียแล้ว ก็จะพาให้เกิดความหยิ่งผยอง อิจฉาริษยา (โทสจริต) หาไม่ก็ ต้องการแสวงหาเอาเข้ามาในทางกิน ในทางกาม ในทางเกียรติ (โลภจริตและราคจริต) เพราะความหลง ความไม่รู้ตามสภาพแห่งความเป็นจริง (โมหจริต) เพราะอะไรๆ ล้วนอิงอาศัยกัน อย่างโยงใยถึงกันอย่างเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา)
มนุษย์กับมนุษย์อิงอาศัยกัน มนุษย์กับสัตว์ก็อิงอาศัยกัน มนุษย์กับธรรมชาติทั้งหมดอิงอาศัยกัน ถ้าไปเอาชนะคะคานกัน โดยใช้ความรุนแรงกับชีวิต กับ ทรัพย์สิน กับคำพูด หรือกับความประพฤติทางเพศ ย่อมจะก่อให้เกิดความไม่เป็นปกติขึ้น
ถ้าเราเข้าใจความข้อนี้ได้ ทั้งในขั้นหัวใจและหัวสมอง นี่คือการถอดหน้ากากที่ครอบงำความเป็นตัวกูและของกู ให้ล่อนจ้อนอย่างหมดเปลือก เพื่อจะได้ ถอดหน้ากากออกจากสังคมให้ปลอดพ้นไปจากการมอมเมาต่างๆ จนเราเองอาจเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน และแลเห็นสังคมอย่างรู้เท่าทัน โดยปราศจากอคติ คือไม่ได้มองอะไรๆ ไปด้วยความเกลียด ความรัก ความกลัว หรือความหลง
หน้ากากที่สวมทับแต่ละคนอยู่นั้น คือการหลงตน ยึดมั่นในความเป็นตัวกูและของกู วิธีถอดหน้ากากของแทบทุกศาสนา คือ "สอนให้รู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตน " ให้แลเห็นว่าใครๆ และอะไรๆ ล้วนควรแก่การเคารพนับถือ ไม่ว่าจะเพื่อนมนุษย์ หรือสรรพสัตว์ ตลอดจนธรรมชาติทั้งหมด รวมถึงแม่น้ำ ภูเขา แผ่นดิน โดยเรียนรู้ว่าต่างก็พึ่งพาอาศัยกัน ควรมีไมตรีจิตมิตรภาพให้กับสรรพสิ่ง แม้จนศัตรู
นี่คือวิถีทางอันประเสริฐ ซึ่งปลาสนาการไปแล้วจากวัฒนธรรมกระแสหลักของตะวันตก ชนชั้นบนและชนชั้นกลางในสังคมไทย ก็สมาทานวัฒนธรรมตะวันตกกระแสหลักกันยิ่งๆ ขึ้น อย่างน่าสมเพทเวทนายิ่งนัก สำหรับพุทธศาสนิก เมื่อฝึกปรือในทางความอ่อนน้อมถ่อมตนได้แล้ว จึงจักรับ ไตรสรณาคม คือถือเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันสูงสุด ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดภัยได้จริง แทนที่จะนับถือเงินเป็นพระเจ้า หรือนับถืออำนาจวาสนาและชื่อเสียงเกียรติยศ
หากให้ถือเอาว่าการตื่นจากความโลภโกรธหลงนั้นแลคือสิ่งซึ่งประเสริฐสุดในชีวิต (พุทธะ) จนอาจหาทางเข้าไปแนบสนิทกับรหัสยนัยของสากลจักรวาล ซึ่งมีความเป็นไปอย่างถูกต้องถ่องแท้ อย่างเป็นธรรมนิยาม และแสดงออกทางธรรมชาติ (ธรรมะ) โดยดูแบบอย่างหรือประพฤติปฏิบัติตนเป็นชุมชนหรือสังคมที่มีความเสมอภาคเป็นพื้นฐาน มีภราดรภาพเป็นตัวโยงใยในสังคมและกับสังคมอื่นๆ เพื่อฝึกปรือให้เข้าถึงเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง (สังฆะ)ตามพุทธประเพณีของสังคมไทย
เมื่อรับไตรสรณาคมแล้ว ย่อมสมาทานศีล คือการฝึกปรือให้เกิความเป็นปกติในแต่ละคน และในสังคม ศีลช่วยให้เราเข้าใจในเรื่องของความรุนแรง และเอาชนะความรุนแรงนั้นๆ ศีลข้อที่ ๑ เป็นเรื่องความรุนแรงทางชีวิต ศีลข้อที่ ๒ เป็นเรื่องความรุนแรงทางทรัพย์สิน ศีลข้อที่ ๓ เป็นเรื่องของความรุนแรงทางเพศ ศีลข้อที่ ๔ เป็นเรื่องของความรุนแรงทางคำพูด และศีลข้อที่ ๕ เป็นเรื่องของความรุนแรงทางความคิดและจิตใจ กล่าวคือน้ำเมาหรือยาเมา ทำให้ขาดสติ ย่อมตกอยู่ใต้อิทธิพลของการมอมเมาใดๆ ก็ได้ เฉกเช่น ลัทธิศาสนา และอุดมการณ์ ตลอดจนการโฆษณาชวนเชื่อทางสื่อมวลชนต่างๆ ก็เป็นการมอมเมาตามศีลข้อที่ ๕ ด้วยเช่นกัน
ถ้าไม่รู้จักถาม ไม่รู้จักเถียง ไม่รู้จักใช้สติวิจารณญาณอนึ่ง ความรุนแรงที่ว่านี้ มีทั้งที่เราเผชิญกับมันโดยตรง อย่างจังๆ เช่นการฆ่าและการลักโขมย หากสมัยนี้ มีความรุนแรงทางโครงสร้าง ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจ
"โยฮัน กัลตุ้ง" พุทธศาสนิกชนชาวนรเวย์ ซึ่งเป็นผู้เสนอชื่อข้าพเจ้าให้ได้รับรางวัลสัมมาชีพ ณ รัฐสภาสวีเดนในปี ๒๕๓๘ นับว่าเป็นคนแรกที่ใช้คำนี้ (structural violence) โดยเขาอธิบายว่าวิถีทางอันสร้างขึ้นจนเป็นระบบ ให้ทรัพยากรต่างๆ ได้รับการแบ่งสันปันส่วนอย่างอยุติธรรม และอย่างไม่เท่าเทียมกัน จนทำให้มนุษย์เป็นจำนวนมากไม่อาจยังชีพได้ตามปัจจัยสี่ขั้นพื้นฐาน นี้แลคือความรุนแรงทางโครงสร้าง ซึ่งรวมถึงสังคมที่เน้นไปที่ผู้นำหรือชนชั้นนำ เน้นไปที่ความเป็นชาตินิยม ไปที่ระบบชนชั้น การเอารัดเอาเปรียบทางเพศ ฯลฯ
ความรุนแรงทางโครงสร้างแสดงออกทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางวัฒนธรรม ที่กีดกันคนที่ถูกเอาเปรียบ ไม่ให้เข้าได้ถึงทรัพยากรทางอำนาจ ทางการศึกษา ทางการสาธารณสุข หรือขบวนการยุติธรรม ถ้าไม่เข้าใจประเด็นนี้ จะมองไม่เห็นว่ากรรมกรที่ทำงานในบรรยากาศอันเต็มไปด้วยมลพิษ และได้รับค่าแรงอันเล็กน้อยนั้นผิดศีลข้อไหนบ้าง ยังคนในสลัมก็ดี ชนกลุ่มน้อยที่ถูกเอาเปรียบด้วยประการต่างๆ ก็ดี เป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมอย่างไรบ้าง
โครงสร้างทางสังคมไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ หากเกิดจากการพัฒนาทางสังคมและการเมือง ที่มีการเอารัดเอาเปรียบกันเป็นพื้นฐาน จนยอมรับกันไปเอา เลยว่า สมบัติส่วนตัวเป็นโครงสร้างทางสังคมที่จำเป็น ความมั่นคงของชาติเป็นโครงสร้างทางสังคมที่จำเป็น ระบบเศรษฐกิจเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาว เอา เป็นโครงสร้างทางสังคมที่ดีกว่าระบอบสังคมนิยม หรือคอมมูนิสต์ ถ้าตีประเด็นไปที่โครงสร้างทางสังคมให้ชัด ย่อมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและแก้ไขได้ นี้แลคือการประยุกต์ศีลสิกขามาให้เกิดความเป็นปกติแก่ตัวเราและสังคม
นอกจากความรุนแรงทางโครงสร้างแล้ว ความรุนแรงยังแสดงออกทางภาษา จนเกิด "วัฒนธรรมแห่งความรุนแรง (cultural violence)" อีกด้วย ภาษาแสดงออก ทั้งทางคำพูด และข้อเขียน ตลอดจนสัญลักษณ์ และอุดมการณ์ เรื่อยไปจนคำโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ จากภาษานั้นแลที่เรารู้ว่าอีกคนหนึ่งนั้นเป็นมนุษย์ เหมือนกับเรา หรือว่าเป็นอมนุษย์ เป็นศัตรู ดังนายปรีดี พนมยงค์ และคณะผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ถูกวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงได้กระทำมาแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ จนบัดนี้ พม่าและกัมพูชา ก็ถูกวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงปู้ยี้ปู้ยำตลอดมา รวมถึงเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ผู้ต้องการอิสรภาพจากอาณานิคมสยามเมื่อเราตกอยู่ใต้โครงสร้างทางความรุนแรงและวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงเสียแล้ว ความรุนแรงตรงๆ จังๆ จึงเป็นไปได้ง่าย ถ้าภายในมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์เต็มไปด้วยญวนคอมมูนิสต์ในเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ การฆ่าพวกมัน หรือทรมานมัน จึงเป็นไปได้ง่ายและชอบธรรม
ในระบบโลกาภิวัตน์ในบัดนี้นั้น ประกอบไปด้วยโครงสร้างทางสังคมอย่างรุนแรงและอยุติธรรมยิ่งนัก ทำให้คนส่วนใหญ่ไร้ความหมาย และขาดปัจจัยสี่ ขั้นพื้นฐานด้วย โดยระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นหัวใจของโลกาภิวัตน์ ได้ทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างเลวร้ายยิ่ง โดยที่เราแต่ละคนอาจมีชีวิตอยู่อย่างได้รับ ความปลอดภัย ทั้งเรายังประณามความรุนแรงต่างๆ อีกด้วย ดังเราอาจเลี่ยงจากอาหารแดกด่วน น้ำขวดอันเลวร้าย รวมถึงเนสกาแฟ ถุงพลาสติก และโฟม ฯลฯ ก็ยังได้
บางคนยังมีเวลาภาวนาเสียอีกด้วยซ้ำ ถ้าพระอาจารย์เจ้าในเมืองไทยช่วยให้เราหลีกลี้หนีความทุกข์ไปให้ได้ไม่พอ ก็ยังมีการภาวนาแบบหมู่บ้านพลัมเอย แบบโคเอนก้าเอย ซึ่งช่วยให้เราหลีกลี้หนีไปจากทุกขสัจทางสังคมได้ด้วยกันแทบทั้งนั้น แต่ที่จะหาพระอาจารย์เจ้ารูปใดที่สอนให้ภาวนาอย่างเข้าถึงโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง หรือเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมแห่งความรุนแรง เกือบจะหาไม่ได้เอาเลย
ด้วยเหตุฉะนี้ แม่ทัพนายกองและคุณหญิงคุณนายเป็นจำนวนมากหลาย จึงชอบการภาวนาในกรอบอันแคบๆ แทบทั้งนั้น เพราะการภาวนาแบบนี้ไม่ปลุกมโนธรรมสำนึกให้เห็นความอยุติธรรมของสังคม ซึ่งเราทุกคนล้วนมีส่วนร่วมกับขบวนการอันอยุติธรรมด้วยกันทั้งนั้น ในการธำรงความอยุติธรรมนั้นๆ ด้วย
พุทธศาสนิกซึ่งพอมีอันจะกิน หรือเป็นชนชั้นบนที่ถือศีล โดยไม่เข้าใจถึงโครงสร้างทางสังคมอันรุนแรง และวัฒนธรรมแห่งความรุนแรง แม้จะเจริญสมาธิ ภาวนา ก็เป็นการหลีกลี้หนีไปจากทุกขสัจทางสังคมด้วยกันแทบทั้งนั้น
หรือเราจะยอมรับว่าความเป็นไปในโลกก็ย่อมเป็นเช่นนี้แหละ เราเป็นใคร จะไปอ้าขาผวาปีกทำอะไรได้ แนวคิดดังกล่าวมาจากโมหจิต คือความหลง แสดงว่าเราไม่เข้าใจในพระไตรลักษณ์ ที่ว่าความทุกข์เราต้องรับรู้ และอะไรๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปในทางอนิจลักษณะ จนอะไรๆ ที่ยึดมั่นถือมั่นไว้นั้น ก็จะปลาสนาการไปในที่สุด (อนัตตา)
ถ้าเราใช้อุปายโกศล รู้จักแยกแยะความรุนแรงต่างๆ แล้วหาทางสร้างสันติภาพขึ้น จากภายในตัวเราแต่ละคน เพื่อเปลี่ยนจิตสำนึกของเรา และเปลี่ยนนิสัย สันดานเสียได้ แล้วเราก็จะหาทางเปลี่ยนแปลงสภาพของสังคม นี้แลคือการถอดหน้ากากออกจากตัวเราด้วย และจากสังคมด้วย เพราะเราจะได้รับเสรีภาพ จากความโลภ โกรธ หลง ได้อย่างไร ถ้าสังคมของคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อย ให้ได้อิสรภาพจากการครอบงำต่างๆ ทั้งทางวัฒนธรรมและทาง โครงสร้าง
ท่านพุทธทาสพูดอยู่เสมอว่า "ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา ย่อมต้องเข้าถึงโลกาวินาศ" และโลกาภิวัตน์นั้นแลคือตัวนำไปสู่โลกาวินาศคนไทยสมัยก่อน ใช้คำว่าศีลธรรม อย่างควบคู่กันไป ศีลหมายถึงความเป็นปกติของแต่ละคนและของสังคมที่เป็นส่วนรวม โดยต้องเอาธรรมมาประยุกต์ใช้ ให้สังคมปลอดไปจากการครอบงำพุทธศาสนาสอนว่าพรหมวิหารธรรม คือธรรมสำหรับผู้ที่เป็นใหญ่ หรือผู้ที่เติบโตเต็มที่ จำเพาะคนเช่นนี้เท่านั้น จึงจะแก้ปัญหาต่างๆ ที่เป็นวิกฤตให้ปลอดพ้นไปสู่ความสุขสวัสดีได้
เริ่มด้วยเมตตา คือความรักตัวเอง อย่างไม่หลงตน อย่างไม่ใช้ตัวตนไปในทางไต่เต้าเอาดี ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หากรู้จักใช้ร่างกายให้เหมาะสม กับจิตใจ ให้อะไรๆ สมานฉันท์กัน อย่างเอื้ออารีกับอวัยวะส่วนต่างๆ และกับคนรอบข้าง แม้ที่เขาไม่รักเรา เอารัดเอาเปรียบเรา นินทาว่าร้ายเรา หักแข้งหักขา เรา ก็เจริญความรักให้แผ่ขยายไปรอบๆ สมกับพระพุทธภาษิตที่ว่า เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก ถ้าปราศจากเมตตาเสียแล้ว โลกธำรงคงอยู่ไม่ได้
จากนั้น จึงเพิ่มความกรุณาให้ปรากฎในจิตใจ จนเป็นกมลสันดาน คือพร้อมที่จะอยู่ฝ่ายผู้ที่ถูกเอาเปรียบ ที่ถูกกดขี่ข่มเหง พร้อมจะเรียนจากเขา และเขาก็อาจ จะเรียนจากเรา จนเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน ชนชั้นบน หรือชนชั้นกลาง ซึ่งไม่ลงไปเคียงข้างชนชั้นล่าง ที่ถูกริดรอนสิทธิต่างๆ แสดงว่าปราศจากการุ ณยธรรม การทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ย่อมยื่นอะไรๆ ให้คนยากไร้ ในขณะที่ถือตนว่า เรายังสูงส่งกว่าคนอื่น นั่นไม่ใช่ความกรุณาที่เนื้อหาสาระ
เมื่อเราอยู่กับฝ่ายผู้ที่ถูกเอาเปรียบ พวกชนชั้นบน ที่เอาเปรียบผู้ยากไร้ ก็จะข่มเหงคเนงร้ายมาถึงเราด้วย โดยเราต้องฝึกใจไว้ไม่ให้เกลียด ไม่ให้โกรธ คนพวก นั้น ให้รู้จักมองเขาด้วยความปรารถนาดี นี้แลคือมุทิตา
ด้วยการฝึกจิตใจ คำพูดและการกระทำเป็นขั้นๆ ดังกล่าวแล้ว จึงจะเข้าถึงอุเบกขา ซึ่งสามารถช่วยให้เราพิจารณาตนเองได้ว่ามีอคติอะไรๆ ครอบงำเราอยู่บ้าง คือการตัดสินใจของเรา เป็นไปเพราะความรัก (ฉันทาคติ) เพราะความชัง (โทสาคติ) เพราะความกลัว (ภยาคติ) หรือเพราะความหลง (โมหาคติ)
คนเรา เมื่อมีคุณธรรมแห่งความเป็นผู้ใหญ่ ที่พร้อมไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างลดความเห็นแก่ตัวไปได้เรื่อยๆ ย่อมรู้จักศักยภาพของตนเอง ว่าทำ อะไรได้มากน้อยแค่ไหน และถ้ามีกัลยาณมิตรมาร่วมงานได้มากเพียงใด แม้จากศาสนิกอื่นและชนชาติอื่น รวมถึงคนที่ไม่นับถือศาสนาเอาเลยด้วยซ้ำ หากแล เห็นปัญหาคล้ายๆ กัน ย่อมหาทางแก้ไขปัญหาของสังคมได้ด้วยท่าทีอันถูกต้องและชอบธรรม เขาเหล่านั้น เมื่อแลเห็นทุกขสัจทางสังคม ย่อมเกิดความกล้า หาญทางจริยธรรม อย่างมองไปที่โครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม และวัฒนธรรมอันเต็มไปด้วยความรุนแรงอย่างรู้เท่าทัน โดยพร้อมจะร่วมมือกันแก้ทุกข สัจทางสังคม
การลดความทุกข์ทางสังคม ไม่ใช่เรื่องของการอยู่รอดไปวันๆ หากหมายถึงการกล้าท้าทายระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ด้วยสันติประชาธรรม ให้เกิด ความยุติธรรม คือเราควรมีทัศนคติในทางบวก เพื่อธรรมิกสังคมนิยม ดังที่ท่านพุทธทาสเคยเสนอแนะไว้ และที่นายปรีดี พนมยงค์ พยายามพัฒนา ประชาธิปไตยไปในแนวทางนั้น หากถูกพวกปฏิกิริยาขัตติยาธิปไตยและเผด็จการทหารสะกดไว้ ด้วยความร่วมมือของจักรวรรดิอเมริกัน
ศีลข้อที่ ๑ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องการไม่ฆ่า หากพุทธศาสนิกต้องเผชิญไม่แต่กับความทุกข์ส่วนตน หากต้องเผชิญกับความทุกข์ทางสังคม คือเราต้องรู้จักเปลี่ยน แปรสภาพของความทุกข์ของส่วนรวม ด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม พร้อมๆ ไปกับการเจริญสติในแนวทางของพรหมวิหารธรรม กิจกรรมของเราต้อง โปร่งใส ให้ตรวจสอบได้ โดยเราต้องตราไว้เสมอถึงการเปลี่ยนโครงสร้างอันอยุติธรรม ยิ่งกว่าการเกลียดชังคนมีอำนาจอันไม่ชอบธรรม หรือคนที่รวยมาจาก มิจฉาชีพ
เราจะเริ่มที่ไหน เราคงต้องฟังคำของ "สมเด็จพระมหาโฆษนันทะ" แห่งกัมพูชา ที่เสนอว่า"เริ่มก้าวย่างทีละก้าว อย่างมีสติ ด้วยการมองไปที่คนทุกข์ " โดยเฉพาะคนที่เขาต่อสู้กับโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง ไม่ว่าจะสมัชชาคนจน กับเขื่อนปากมูล หรือกับคนที่ต่อสู้ทางประจวบคีรีขันธ์ หรืออุดรธานีหากการต่อสู้นั้นๆ ต้องเป็นไปอย่างสันติวิธี และโยงใยถึงกันและกัน ทั้งในระดับประเทศชาติและนอกประเทศชาติ พระพม่าที่ต่อสู้กับเผด็จการทหารพม่าก็ดี คนธิเบตที่ต่อสู้กับการกดขี่ข่มเหงของจีนก็ดี
ทั้งสองกรณีนี้เป็นไปในทางของอหิงสวิธีอย่างน่าสนใจยิ่ง แม้จะยังไม่ชนะในระยะสั้น แต่ในระยะยาว สันติวิธีเท่านั้นคือคำตอบ สมดังคำขององค์ทะไลลามะที่ตรัสว่า การนำสันติภาพมาสู่โลกนั้น ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงภายใน ให้แต่ละคนเกิดสันติภาวะ แม้นี่จะยากเย็นเพียงใด หากนี่เป็นวิธีเดียว
ข้าพเจ้าถือว่านี่คือการถอดหน้ากากของส่วนตนและของสังคม โดยที่ได้แสดงบรรยายมาทั้งหมดนี้ ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ ไม่สำคัญ หวังว่าท่านคงนำเอาไป ตรึกตรองดู แล้วหาทางช่วยกันถอดหน้ากากอันจอมปลอมออกจากสังคมของเรา เพื่อจะได้ขจัดความหน้าไหว้หลังหลอก กึ่งจริงกึ่งเท็จให้หมดไป
หากคุณสุภา ศิริมานนท์ ทราบได้ด้วยญาณวิถีใด ถึงการบรรยายของข้าพเจ้าคราวนี้ ถึงท่านจะไม่เห็นด้วย ท่านก็คงยินดีและอนุโมทนา
*******************
ส. ศิวรักษ์ แสดงปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒
**************