สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
หน้า: [1] 2 3   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม  (อ่าน 111300 ครั้ง)
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« เมื่อ: เมษายน 09, 2007, 09:20:49 AM »

เป็นเรื่องจริงปนเรื่องแต่ง และเพิ่มอรรถรสในเนื้อเรื่องให้น่าสนใจ น่าติดตาม ทั้งยังให้ประโยชน์กับผู้อ่านในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกรรม โดยคุณสุทัสสา อ่อนค้อม มี ๘๐ ตอนจบ

....ผมได้รับแผ่นซีดีชุดนี้มาเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน แด่ผู้ที่สนใจ น้อมนำรับสิ่งที่ดีๆมาสู่ตัวเอง ...หวังใจว่าคงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นใหม่ในธรรมะปฎิบัติ..
...และขอภาวนาให้กุศลบุญจงบังเกิดแด่คุณพ่อ-คุณแม่-ญาติมิตร-พี่น้อง-ครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าและท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติชอบด้วยเทอญ...
.... จากอนุชิต สุวรรณรัตน์..ศิษย์หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี.....
Tongue Smiley

"...อยากให้ทุกท่าน ติดตามอ่านให้ครบทั้ง 80 ตอน ...อย่างน้อยจิตใจท่านจะเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอย่างแน่นอน ."


บันทึกการเข้า

ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: เมษายน 09, 2007, 09:21:42 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00001

 

คำนำ
         

ข้าพเจ้าเกิดในครอบครัวที่บรรพบุรุษนับถือพุทธศาสนา พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พาเข้าวัดตั้งแต่เล็ก ๆ โดยเฉพาะเทศกาล “เทศน์มหาชาติ” จะพากันไปวัดตั้งแต่ตีสี่ตีห้า เพื่อจะได้ฟังพระสวด “คาถาพัน” ได้ครบ ๑,๐๐๐ คาถา ด้วยเชื่อวันว่าเมื่อตายจะได้ขึ้นสวรรค์

ก่อนนอน คุณพ่อคุณแม่ก็จะเล่านิทานที่เกี่ยวกับนรกสวรรค์ให้ฟังเสมอ ๆ เช่น เรื่องเทพบุตร เทพธิดา ที่มีความสุขอยู่ในวิมานสวย ๆ หรือเรื่องพระมาลัยไปเทศน์โปรดสัตว์ที่เมืองนรก เป็นต้น ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความคิดคำนึงและจินตนาการไปต่าง ๆ ตามประสานเด็ก ทรรศนะที่มีต่อพระพุทธศาสนาในวัยขนาดนั้น คือ ต้องทำความดีจึงจะได้ขึ้นสวรรค์ แล้วไม่อยากทำความชั่ว เพราะกลังจะไปตกนรก ความเชื่อเรื่องกรรมจึงมีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

เมื่อจบมัธยมต้นจากต่างจังหวัด ได้เข้ามาสอบเรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (รุ่น ๒๙) ในกรุงเทพฯ อาศัยอยู่กับครอบครัวมุสลิมซึ่งเขารักเหมือนลูกสาว คุณยายของบ้านเป็นชาวพุทธและไปฟังเทศน์ที่วัดทุกวันอาทิตย์ ไปวัดโพธิ์บ้าง วัดพระแก้วบ้าง ข้าพเจ้าก็ตามคุณยายไปแล้วก็สังเกตว่าคนที่ไปวัด มีแต่คนแก่ ๆ ข้าพเจ้าตอนนั้นอายุ ๑๘ ปี จึงเป็นคนเดียวที่อายุน้อยที่สุด

จบโรงเรียนเตรียมฯ ก็สอบเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์จุฬา พักที่หอพักนิสิตหญิงจุฬาฯ (ปัจจุบันเป็นศูนย์การค้ามาบุญครอง) วันอาทิตย์ก็ได้ไปเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่วัดบวรนิเวศ เป็นลูกศิษย์ ท่านเจ้าคุณธมฺมสาโร ภิกขุ

จบปริญญาตรีแล้ว ทรรศนะที่มีต่อพระพุทธศาสนาก็ยังอยู่ในระดับนรกสวรรค์ ต่อเมื่อเรียนปริญญาโท สาขาปรัชญา ที่คณะและมหาวิทยาลัยเดิม ทำให้ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนากว้างขวางขึ้น อาจารย์ผู้ให้ความรู้และเป็นแรงจูงใจให้หันมาศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง คือ ท่านรองศาสตราจารย์ ดร. สุนทร ณ รังสี ส่วนพระสงฆ์นั้น ข้าพเจ้าเคารพและศรัทธา ท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ในความเป็นปราชญ์ทางด้านพระพุทธศาสนาของพระคุณท่าน และท่านก็ได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ด้านปริยัติแก่ข้าพเจ้าด้วยความเมตตาอย่างหาที่เปรียบมิได้

ในด้านการปฏิบัติ ข้าพเจ้าเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเมื่อปี ๒๕๒๖ เมื่อทางวิทยาลัยส่งให้เข้าอบรมปฏิบัติธรรมที่ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ข้าพเจ้าได้เป็นศิษย์ของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ ตั้งแต่บัดนั้น (ปัจจุบันหลวงพ่อได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นที่ พระราชสุทธิญาณมงคล) และชีวิตก็พลิกผันหันเข้าหาธรรมะอย่างเต็มภาคภูมิ นับแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ ทรรศนะที่มีต่อพระพุทธศาสนาได้ก้าวพ้นจากระดับนรกสวรรค์ขึ้นมา ข้าพเจ้าไม่อยากเกิดในสวรรค์ เพราะเป็นภูมิที่ยังต้องเวียนว่าย ข้าพเจ้ามีความใฝ่ฝันที่จะข้ามพ้นจากสงสารสาคร แต่ก็คงจะเป็นได้เพียงความฝัน เพราะยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งพบว่าการจะเข้าถึงมรรค ผล นิพพาน นั้นยากแสนยาก และหากผู้ปฏิบัติขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็อาจหลงทางได้ง่าย

การไปวัดอย่างสม่ำเสมอ เรื่องได้ฟังธรรมเทศนาจากท่านเจ้าคุณหลวงพ่อหลายต่อหลายครั้ง บางเรื่องก็ฟังซ้ำถึงหกเจ็ดครั้ง (แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยเบื่อ) และความที่เป็นคนช่างจดช่างจำ เรื่อง “ไฟไหนเล่าร้อนเท่าไฟนรก” และ “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” จึงเกิดขึ้น

ความปลาบปลื้มใจพูนทวีจนสุดจะพรรณนา เมื่องานเขียนของข้าพเจ้าได้รับความนิยมจากท่านผู้อ่านมากมายเกินความคาดหมาย ข้าพเจ้ารู้สึกปีติที่ได้ทำหน้าที่ช่วยเผยแผ่คำสอนของท่านเจ้าคุณหลวงพ่อผู้ซึ่งดำเนินตามรอยบาทขององค์พระศาสดาอย่างแน่วแน่ ข้าพเจ้าจึง “ได้บุญ” จาก ธัมมัสสวนมัย และ ธัมมเทสนามัย ในเวลาเดียวกัน

ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อผู้มีพระคุณต่อข้าพเจ้า ท่านเมตตาช่วยเหลือข้าพเจ้าทุกอย่าง และยังสนับสนุนส่งเสริมให้ข้าพเจ้าไปเรียนปริญญาเอกที่ประเทศอินเดีย การได้ใช้ชีวิตใน “แดนพุทธภูมิ” ทำให้ข้าพเจ้าได้ความรู้และประสบการณ์ด้านพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ท่านอาจารย์ เขมานันทะ (พระมหาบาง สิมพลี) ได้เมตตาช่วยเหลือในเรื่องการสมัครเรียนที่ มหาวิทยาลัยมคธ ตลอดจนช่วยสงเคราะห์ให้ได้พำนักในวัดทิเบต อันเป็นวัดของฝ่ายมหายาน ข้าพเจ้าจึงได้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นกำไรชีวิต

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณนิตยสาร กุลสตรี โดยเฉพาะ คุณยุพา งามสมจิตร ผู้ซึ่งข้าพเจ้าเคารพนับถือดุจครูอาจารย์ ด้วยท่านทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เกิดในบรรณพิภพ

ข้าพเจ้าถือโอกาสนี้ แสดงคารวะและกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อท่านผู้มีพระคุณทุกท่านที่กล่าวข้างต้น และต่อท่านผู้อ่านที่ได้เมตตาช่วยค้ำจุนให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ในโลกของตัวหนังสือได้อย่างมั่นใจ

ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่านเทอญ

                                                                                      สุทัสสา  อ่อนค้อม

 

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
 

๑...

          กิจวัตรประจำวันของท่านพระครูคือ ตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่ แล้วปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไปจนถึงหกโมงเข้า จากนั้นจึงจะออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ให้ชาวบ้านร้านถิ่นได้มีโอกาสสร้างคุณความดี ด้วยการบริจาคทาน เพื่อขจัดความตระหนี่เหนียวแน่นออกไปจากจิตใจ

          ท่านพระครูถือว่า การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่สำคัญเป็นลำดับแรก พระ เณร ทุกรูปที่อาศัยอยู่ในวัดป่ามะม่วงแห่งนี้ จะต้องปฏิบัติทุกวัน เพื่อขัดเกลากิเลสเครื่องเศร้าหมองในตัวให้ลดน้อยลง และต้องนำไปสั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม เป็นอันได้ประโยชน์ทั้งสองส่วน คือประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน

          ในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาส ท่านพระครูย้ำเตือนพระลูกวัดอยู่เสมอว่า “หน้าที่ของบรรพชิตที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ มีสามข้อคือ ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และสั่งสอนธรรม ผู้ใดเกียจคร้านละเลยต่อหน้าที่ถือว่าบวชเสียข้าวสุก และได้ชื่อว่ายังชีพอยู่ด้วยการเบียดเบียนชาวบ้าน พวกญาติโยมเขาไม่เลื่อมใสศรัทธาพระประเภทนี้”

            “ถ้าอย่างนั้นพวกพระที่ตั้งตัวเป็นอาจารย์ใบ้หวย รับปลุกเสกลงเลขยันต์ ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของพระใช่ไหมครับหลวงพ่อ” พระบวชใหม่รูปหนึ่งถามขึ้น

          “ฉันไม่อยากเรียกคนประเภทนั้นว่าพระ เรียกว่าพวกอาศัยผ้าเหลืองหากินดูจะเหมาะกว่า คนสมัยนี้มักหากินกันแปลก ๆ ไม่ยักกลัวบาปกลัวกรรม”

          “เขาคงไม่เชื่อว่าบาปกรรมมีจริงกระมังครับ”

          “แต่บางคนทั้ง ๆ ที่เชื่อก็ยังทำฉันไม่อยากจะพูด พระบางองค์เป็นถึงท่านเจ้าคุณแต่เบื้องหลัง.....อย่าพูดดีกว่า ฉันไม่อยากพูดเรื่องนี้ มันกระทบกระเทือนสถาบันสงฆ์ เพราะพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยังมีอีกมาก” ท่านพระครูพูดอย่างปลงตก

          “หลวงพ่อครับ ผมเคยฟังมาว่า ท่านเจ้าคุณบางองค์ ค้ายาเสพติดจริงหรือเปล่าครับ” ภิกษุหนุ่มถามอีก

          “อย่าคิดอะไรมาก ตั้งหน้าตั้งตาเจริญกรรมฐานไปดีกว่า บางครั้งการรู้อะไรมาก ๆ มันก็เป็นภัยกับตัวเราเอง คิดเสียว่า....ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์... พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม บุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ....ข้อนี้เป็นสัจธรรม”

            “ครับ ผมสบายใจมากขึ้นที่ได้มาบวชอยู่วัดนี้” ผู้บวชใหม่พูดอย่างปลาบปลื้ม

          “ที่นี่ไม่รับคนโกนหัวห่มผ้าเหลือง แต่ไม่ทำหน้าที่ของพระ ใครมาอยู่วัดนี้แล้วไม่เอากรรมฐานก็นิมนต์ไปอยู่วัดอื่น ฉันต้องการคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ ขึ้นชื่อว่าสงฆ์ต้องเป็น “สุปฏิปันโน” ที่แท้จริง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นศากยบุตรอย่างสมบูรณ์แบบ” ท่านพระครูพูดเสียงหนักแน่น ชื่อเสียงด้านความเคร่งครัดในการปฏิบัติของพระวัดนี้ขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ ทั้งบรรพชิตและฆราวาสผู้มุ่งความสงบทางจิต พากันมุ่งหน้ามายังวัดแห่งนี้ซึ่งตั้งเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐาน และ มีชื่อเสียงโด่งดังมานาน

          กุฏิกรรมฐานถูกสร้างขึ้นหลังแล้วหลังเล่าจนเต็มบริเวณวัด กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของบรรดาผู้แสวงหาโมกขธรรม ผู้ไม่ถือว่าเรื่องที่พักอาศัยเป็นอุปสรรคต่อการสร้างบุญบารมี ด้วยเหตุนี้จึงมักปรากฏอยู่เสมอที่พวกเขาพากันไปกางกลดอยู่นอกวัดโดยไม่อาทรต่อความร้อนหนาวของอากาศ ขอเพียงให้จิตสงบเย็นเท่านั้น

          เช้าวันหนึ่งในต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ หลังจากที่ท่านพระครูปฏิบัติกรรมฐานเสร็จก็เตรียมตัวออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ โดยมีลูกศิษย์หิ้วปิ่นโตเดินตามหลัง เมื่อท่านอุ้มบาตรเดินออกมาถึงหน้าประตูเข้าวัด ก็พบชาย ฉกรรจ์ผู้หนึ่งอายุราว ๆ สามสิบปี สะพายกระเป๋าเสื้อผ้าใบย่อมไว้บนบ่าข้างขวา เดินเข้ามานั่งยอง ๆ ยกมือไหว้แล้วถามท่านด้วยอาการตื่นเต้นว่า “ท่าน... ท่านพระครูเจริญ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงใช่หรือเปล่าครับ” เสียงที่พูดฟังแปร่งหู แสดงว่าไม่ใช่คนถิ่นนี้

“ฉันนี่แหละ เธอคงไม่ใช่คนแถวนี้ใช่ไหม” ท่านถาม ท่าทางเขาดีใจและประหลาดใจระคนกัน รีบตอบท่านไปว่า “ครับ ผมมาจากกาฬสินธุ์”

          “มีธุระอะไรกับฉันหรือ”

          “มีครับ สำคัญมาก แต่...ผม...คือ...มันเป็นความลับครับ” เขาพูดอึก ๆ อัก ๆ ครั้นจะบอกไปตามตรงว่าไม่อยากให้ลูกศิษย์ของท่านรู้ ก็เกรงว่าเจ้าหมอนั้นจะตั้งตัวเป็นศัตรู

          “เอาละฉันเข้าใจ ว่าแต่ว่าธุระของเธอด่วนมากหรือเปล่า ถ้าไม่รีบร้อน รอฉันกลับจากบิณฑบาตเสียก่อนจะได้ไหม” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงหาทางออกให้

          “ได้ครับ ได้ ผมจะรอท่านอยู่ตรงนี้” ชายต่างถิ่นรีบตอบ ท่านพระครูตั้งสติกำหนด “เห็นหนอ” แล้วเพ่งสายตาไปยังที่หน้าผากของเขา ก็ได้รู้ว่า บุคคลนี้มิได้มาร้าย จึงชี้มือไปที่กุฏิของท่านแล้วพูดว่า

          “ไปนั่งรอที่กุฏิของฉันดีกว่า นั้นหลังนั้น” ชายหนุ่มยกมือไหว้อีกครั้ง แล้วจึงเดินไปรอที่กุฏิตามคำสั่งของท่าน เขาดีใจและแปลกใจมากที่เหตุการณ์ช่างตรงกับความฝัน พระรูปนั้นมาปรากฏให้เขาเห็นในฝันติด ๆ กันถึงสามคืนจนเขาจำท่านได้ติดตา ช่างเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

          เขาปลดกระเป๋าออกจากบ่าวางมันลงที่พื้น แล้วเดินสำรวจไปรอบ ๆ วัด ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่เขาเห็นในฝัน เสียงประหลาดสั่งให้เขามา “แก้กรรม” ที่วัดแห่งนี้ บอกชื่อวัด ที่ตั้ง พร้อมทั้งชื่อสมภารเสร็จสรรพ เขาสู้อุตส่าห์เดินทางดั้นด้นมาเพื่อจะพิสูจน์และก็ได้พบแล้ว เพียงแต่ยังไม่รู้เท่านั้นว่า “แก้กรรม” เป็นอย่างไร แต่ก็แปลกที่เสียงนั้นช่างไม่เหมือนกับเสียงของท่านพระครูเลยสักนิด มันก้องกังวานและดูมีอำนาจลึกลับอย่างไรชอบกล จะเป็นเสียงใครหนอ คงจะต้องถามท่านพระครูดู ท่านคงจะรู้ เขาแน่ใจว่าท่านต้องรู้

          เกือบแปดโมงท่านพระครูและลูกศิษย์จึงกลับมา ท่านวางบาตรไว้บนอาสนะแล้วจึงเข้าไปล้างมือล้างเท้าในห้องน้ำ ลูกศิษย์จัดเตรียมสำรับไว้พร้อมแล้วจึงถอยออกมานั่งคอยรับใช้อยู่ห่าง ๆ

          ท่านพระครูตั้งสติพิจารณาอาหารแล้วจึงลงมือฉันพร้อมทั้งทำกรรมฐานเริ่มตั้งแต่ “เห็นหนอ...ตัก...ยก...มา...อ้า...ใส่...เคี้ยว...กลืน” ทุกอิริยาบถถูกกำกับด้วย “หนอ” ข้าวแต่ละคำจึงถูกท่านฉันอย่างมีสติ

          ฉันเสร็จ ลูกศิษย์ยกสำรับมาวางที่พื้นเพื่อจะกินอาหารที่เหลือและเก็บไว้กินมื้อกลางวันกับมื้อเย็น ส่วนท่านพระครูท่านฉันมื้อเดียว บางวันมีงานยุ่งมากก็ไม่ฉัน ไม่จำวัด แต่ท่านก็ไม่มีอาการอ่อนเพลียหรือเมื่อยล้า เพราะอยู่ด้วยอำนาจของสมาธิที่คนธรรมดา ๆ ไม่อาจทำเช่นนั้นได้

          “เอ้า กินข้าวกินปลาเสียก่อน มีเรื่องอะไรค่อยว่ากันทีหลัง” ท่านบอกชายแปลกหน้า ลูกศิษย์วัดตักข้าวใส่จานสองจานแล้วเรียกเขามาร่วมวง ท่านพระครูลุกออกไปแปรงฟันบ้วนปากในห้องน้ำ

          รับประทานอาหารเสร็จ ชายหนุ่มช่วยลูกศิษย์วัดล้างจาน เสร็จแล้วจึงเข้าไปหาท่านพระครู เป็นท่านนั่งขัดสมาธิก็นั่งท่านั้นบ้าง ลูกศิษย์วัดต้องมากระซิบว่า ให้นั่งพับเพียบ

          “เธอชื่ออะไร มาที่นี่ได้อย่างไร” ท่านพระครูถาม

          “บัวเฮียวครับ ผมเดินมา” ชายหนุ่มผู้มีนามว่าบัวเฮียวตอบ

          “เดินมาจากไหน คงไม่ใช่จากกาฬสินธุ์นะ”

          “ครับ ผมเดินมาจากกาฬสินธุ์ กว่าจะถึงที่นี่กินเวลาสิบห้าวันพอดี” เขาตอบ

          “ทำไมถึงไม่ขึ้นรถมาล่ะ รถโดยสารก็มีออกเยอะแยะ”

          “ในฝันเขาบอกให้เดินมาครับ”

          “อ้อ เชื่อฝัน” ท่านพระครูยิ้มอย่างใจดี บางครั้งคนที่มาหาท่านก็มีเรื่องแปลก ๆ มาเล่าให้ฟังเสมอ ๆ

          “เอ ชื่อแปลกดีนะ ฟังเหมือนชื่อญวน เป็นญวนหรือเปล่า” ท่านวกกลับมาถามเรื่องชื่อ

          “ผม...อ้า...เป็นไทยครับ” นายบัวเฮียวรีบตอบ เขากลัวท่านพระครูจะไม่ยอมให้บวช ถ้ารู้ว่าเป็นคนญวน

            “แล้วไปยังไงมายังไง จึงได้มาถึงที่นี่”

          “เรื่องมันแปลกประหลาดมาเชียวครับ ท่านพระครู”

          “เรียกฉันว่าหลวงพ่อ เหมือนที่คนอื่นเขาเรียกก็แล้วกัน”

          “ครับ หลวงพ่อ ผมจะเล่าให้หลวงพ่อฟังตั้งแต่ต้นเลยนะครับ” ชายหนุ่มนิ่งไปอึดใจหนึ่ง เหมือนจะทบทวนความทรงจำ แล้วจึงเริ่มต้นเล่า

          “ผมเกิดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พ่อกับแม่ทำงานอยู่ในโรงฆ่าสัตว์ พ่อมีหน้าที่ฆ่าวัวฆ่าควาย ซึ่งวันหนึ่ง ๆ จะฆ่าหลายตัว ส่วนแม่ก็ช่วยแล่เนื้อ หนัง กระดูก ตลอดจนพวกเครื่องในออกจากกัน เพื่อเตรียมส่งขาย มีร้านค้าย่อยมารับเอาไปขายราว ๆ ตีสี่ ผมก็เกิดและโตมาในโรงฆ่าสัตว์ ได้เห็นพ่อกับแม่ทำงานทุกวัน เถ้าแก่เขาให้พวกเรากินอยู่ในนั้นเสร็จ เมื่อผมโต พ่อก็พาไปเข้าโรงเรียนรัฐบาลพอจบประถมสี่ ก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน แรก ๆ ก็ช่วยแม่แล่เนื้อ พอโตอายุสิบสี่สิบห้า ก็ช่วยพ่อฆ่าวัดควาย ปีต่อมาพ่อตาย เถ้าแก่เลยให้ผมทำงานแทนพ่อ...”

          “พ่อเธอเป็นอะไรตาย” ท่านพระครูถามขึ้น นายบัวเฮียวนิ่งไปพักใหญ่ ๆ เมื่อถูกถามเรื่องที่ทำให้สะเทือนใจ ในที่สุด จึงเล่าให้ท่านฟังว่า “พ่อถูกแม่แทงตายครับ พ่อผมแกชอบกินเหล้า พอเมาแล้วก็หาเรื่องทะเลาะกับแม่ วันที่แกจะตายนั้นแกเมามาก ถึงกับลงไม้ลงมือกับแม่ แม่สู้ไม่ไหว เลยคว้ามีดที่ใช้แทงคอสัตว์นั้น แทงพ่อ” ถึงตอนนี้เขาหยุดเล่า ภาพเหตุการณ์สยดสยองในครั้งนั้นผุดขึ้นในความทรงจำ มันแจ่มแจ้งชัดเจน เหมือนกับเพิ่งเกิดขึ้น ทั้งที่วันเวลาล่วงเลยมาถึงสิบปีแล้ว

          “แม่เธอก็ต้องติดคุกนะสิ”

          “ครับ แม่ถูกจับฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ศาลตัดสินให้จำคุกยี่สิบปี แต่ลดให้ครึ่งหนึ่ง เพราะแม่รับสารภาพ พอปี ๒๕๐๖ ก็ได้รับการลดโทษอีกครึ่งหนึ่ง เนื่องในโอกาสที่ในหลวงอายุสามรอบ”

          “เป็นคนไทยต้องพูดราชาศัพท์ได้เขาเรียกว่า ทรงเจริญพระชนมายุครบสามสิบหกพรรษา” ท่านพระครูขัดขึ้น นายบัวเฮียวหน้าซีดรีบแก้ตัวเป็นพัลวัน

          “ผมจบแค่ ป.๔ พูดไม่เป็นหรอก แต่ผมก็เป็นคนไทย”

          “เอาละ เอาละ ไหนเล่าต่อไปซิ”

          “ครับ แม่ติดคุกอยู่ห้าปี พอออกจากคุก ก็มาทำงานอยู่ที่เก่า ผมก็อยู่กับแม่มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งผมอายุได้ยี่สิบห้าปี ก็มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นกับผม หลวงพ่ออาจไม่เชื่อก็ได้” เขาหยุดเล่าและมองหน้าท่านเหมือนจะหยั่งดูท่าทีของอีกฝ่าย

          “เล่าไปเถอะ เชื่อหรือไม่เชื่อแล้วฉันจะบอกทีหลัง” ท่านพระครูกล่าวเสียงเรียบ ชายหนุ่มจึงเล่าต่อไปว่า

          “คือเมื่อปีที่แล้ว ผมฝันประหลาดติด ๆ กันถึงสามคืน ตอนที่ฝัน ตื่นอยู่ก็ไม่เชิง ในฝัน ผมเห็นแสงสว่างวาบขึ้น แล้วเห็นหลวงพ่อ เห็นวัดภาพที่เห็นในฝันนั้นชัดเจนมาก จากนั้น ก็มีเสียงก้องกังวานดังขึ้น ไม่ทราบว่าเป็นเสียงใคร แต่คงไม่ใช่เสียงหลวงพ่อ มันเหมือนลอยมาจากอากาศ เสียงนั้นบอกว่า “บัวเฮียว ภาพที่เห็นคือวัดป่ามะม่วง พระรูปนั้นชื่อพระครูเจริญ เป็นเจ้าอาวาส เจ้าจงไปหาท่าน แล้วให้ท่านบวชให้ วัดนี้อยู่ท่างทิศตะวันตก ให้เจ้าเดินทางไปสิบห้าวันก็จะถึงวัด เจ้าจะสามารถแก้กรรมได้ที่วัดนี้”  แล้วภาพและเสียงก็หายไป ผมสะดุ้งตื่น ก็ได้เวลาทำงานพอดี ตอนแรกผมไม่ได้ใส่ใจ คิดว่า กินมาก ก็ฝันมาก พอคืนที่สองที่สามก็ฝันแบบเดียวกันนี้อีก เล่าให้แม่ฟัง แกก็บอกให้ลองทำตามฝันดู ผมจึงไปขอลางานเถ้าแก่ แกไม่ให้ลาเพราะไม่มีคนแทน ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ทำงานมาอีกปีหนึ่ง แล้วก็ได้โอกาสเมื่อแม่มีผัวใหม่ คือ ผัวใหม่แม่สมัครมาทำงานแทนผม เถ้าแก่เลยยอมให้ลาออกและเดินทางมานี่แหละครับ”

          “แล้วตอนนั้นแม่ของเธออายุเท่าไร”

          “สี่สิบกว่าครับ”

          “อ้อ สี่สิบหว่ายังแต่งงานใหม่ได้” ท่านพระครูพูดยิ้ม ๆ

          “ครับ เอ้อ พ่อใหม่ผมอายุแก่กว่าผมสักสองสามปีเห็นจะได้”

          “เรียกว่า ได้ผัวเด็กคราวลูกงั้นเถอะ”

          “ครับ แต่เขาเป็นคนดี ขยันขันแข็งแล้วไม่กินเหล้า” นายบัวเฮียวพูดราวกับว่าความดีของพ่อเลี้ยงจะทำให้ความผิดของแม่ลดน้อยลง เพราะการแต่งงานกับเด็กคราวลูกคราวหลาน ถือเป็นเรื่องผิดในสายตาของคนทั่ว ๆ ไป ถึงจะมีบางคนว่าไม่ผิด แต่อย่างน้อยมันก็ผิดปกติ

            ท่านพระครูเชื่อตามที่ชายหนุ่มเล่ามาทุกประการ แต่เพื่อความแน่ใจ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ คิดดังนั้น ท่านจึงตั้งสติกำหนด “เห็นหนอ” อีกครั้ง และก็รู้ว่าสิ่งที่เขาเล่ามาเป็นความจริงเกือบหมด ยกเว้นเรื่องเดียวคือ พ่อหนุ่มผู้นี้เป็นคนญวน ไม่ใช่คนไทย ท่านเข้าใจถึงสาเหตุที่เขาต้องพูดปด และคนที่พูดปดได้ก็เพราะจิตยังหยาบ ต่อเมื่อปฏิบัติกรรมฐานจนจิตละเอียดประณีตขึ้น ก็จะเกิดหิริโอตัปปะ คือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เมื่อนั้น เขาก็จะเลิกทำชั่ว พูดชั่ว และคิดชั่ว

          “ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเสียงนั้นบอกให้ผมมาแก้กรรมที่วัดนี้ ผมมีกรรมอะไรที่ต้องแก้ ในเมื่อผมไม่เคยทำเวรทำกรรมกับใคร” หนุ่มวัยเกือบสาบสิบเอ่ยขึ้น เขายังไม่รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ การเติบโตมาในโรงฆ่าสัตว์ ได้เห็น ได้ทำปาณาติบาตจนชิน ทำให้จิตใจของเขาหยาบกระด้างเกินกว่าคนปกติ

          “ลองนึกดูให้ดี ๆ ซิ ถ้าเหตุไม่มีแล้วผลมันจะเกิดได้อย่างไร” ท่านพระครูลองทดสอบคุณสมบัติทางใจของเขา นายบัวเฮียวนั่งนึกอยู่หลายนาที แต่ก็นึกไม่ออก จึงปฏิเสธเสียงหนักแน่น

          “ไม่เคยจริง ๆ ครับ ตั้งแต่จำความได้ ผมไม่เคยทำร้ายใคร ไม่เคยลักขโมย ไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อน”

          “ไม่จริงมั้ง” ท่านพระครูขัดขึ้น

          “จริงครับหลวงพ่อ ผมสาบานได้”

          “อย่าเลย ฉันไม่ชอบการสบถสาบาน เอาเถอะ ถ้ายังนึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร แต่เธอไม่สงสัยบ้างเลยหรือว่า ในเมื่อเธอไม่เคยทำบาปแล้ว ทำไมถึงเกิดนิมิตว่าจะต้องมาแก้กรรมที่นี่ สิ่งที่เธอเล่ามานั้นไม่ใช่ความฝันแน่นอน เขาเรียกว่านิมิต คนที่จะเห็นนิมิตเช่นนี้ได้ จะต้องเป็นคนโชคดี เพราะเรื่องอย่างนี้ไม่เกิดกับใครง่าย ๆ เหมือนคนที่ตายไปตกนรก แล้วกลับฟื้นขึ้นมาเล่าให้คนอื่นฟังนั้น เป็นคนโชคดีมาก”

            “ทำไมหลวงพ่อถึงคิดว่า คนที่ไปนรกเป็นคนโชคดีเล่าครับ” ชายหนุ่มถามอย่างสงสัย

          “ไม่เรียกว่าโชคดี แล้วจะเรียกอะไร ก็คนประเภทนี้มีสักกี่คนกันเล่าที่โชคดี เพราะเขาได้กลับมาแก้ตัวอีกครั้ง ฉันเห็นมานักต่อนักแล้ว พวกคนที่ว่าไม่เชื่อนรก พอฟื้นขึ้นมาก็เห็นรีบทำบุญสร้างคุณความดีกันทุกราย เพราะได้ไปเห็นของจริงมาแล้ว พอเขาทำดี เมื่อตายลงอีกครั้งก็ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ” ท่านพระครูอธิบาย

          “อบายภูมิแปลว่านรกหรือครับ” คนฟังเริ่มสนใจด้วยไอละออกของ “บุญเก่า” ยังพอมีเชื้อเหลือหลงอยู่บ้าง

          “อบายภูมิ หมายถึง ภูมิที่ไม่เจริญ ได้แต่ นรก เปรต อสุรกาย และ เดรัจฉาน คนที่ทำความชั่ว เมื่อตายลงไปจะไปเกิดในอบายภูมินี้”

          “ทำอะไรบ้างครับ จึงจะเรียกว่าทำชั่ว” เขาถามอีก

          “ก็ละเมิดศีลห้านี่แหละ รู้จักศีลไหมล่ะ พ่อแม่เคยพาไปทำบุญที่วัดบ้างหรือเปล่า” ท่านพระครูถามทั้งที่รู้คำ   ตอบดี “เห็นหนอ” ทำให้ท่านรู้กฎแห่งกรรมของบุรุษผู้นี้อย่างทะลุปรุโปร่ง

          “ไม่เคยครับ พ่อกับแม่ไม่เคยเข้าวัดไปทำบุญ แต่ถ้าเข้าไปดูหนังดูลิเกในวัดละก็บ่อย” ตอบอย่างพาซื่อ

          “ถ้าอย่างนั้น เธอก็ไม่รู้น่ะซีว่า การกระทำที่ละเมิดศีลห้ามีอะไรบ้าง อยากรู้ไหมล่ะ”

          “อยากครับ หลวงพ่อช่วยบอกผมหน่อยเถิดครับ”

          “งั้นก็ตั้งใจฟังให้ดีนะ การกระทำที่ละเมิดศีลก็ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักขโมย การเป็นชู้กับลูกเมียคนอื่น การพูดปด การดื่มสุราเมรัย”  ท่านพระครูอธิบาย เพราะถือว่า การสั่งสอนธรรมเป็นหน้าที่ของพระโดยตรง

          ได้ฟังถ้อยคำของเจ้าอาวาส นายบัวเฮียวรู้สึกสะท้านสะเทือนในหัวอก เขาละเมิดศีลไปสองข้อแล้ว คือฆ่าสัตว์กับพูดปด ส่วนอีกสามข้อยังไม่เคยทำ โดยเฉพาะข้อสุดท้ายนั้น เขาจะไม่ล่วงละเมิดอย่างเด็ดขาด ก็ไม่ใช่เพราะดื่มสุราเมรัยหรอกหรือ พ่อจึงต้องจบชีวิตอย่างเอนจอนาถ

          “หลวงพ่อครับ ฆ่าสัตว์ก็บาปด้วยหรือครับ” เขากังขา

          “แน่นอน”

          “ถ้าอย่างนั้น ผมคงบาปมากเลย เพราะฆ่าวัวฆ่าควายทุกวัน ยกเว้นวันพระซึ่งทางการเขาห้าม ผมคิดว่าฆ่าคนถึงจะบาป” ชายหนุ่มเพิ่งจะเข้าใจ สิ่งแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดูได้หล่อหลอมให้เขาเป็นผู้มีจิตใจหยาบกระด้าง แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เขาเป็นคนจิตใจดี มีเมตตากรุณา และด้วยเหตุนี้ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จึงบังเกิดขึ้นเมื่อกุศลผลบุญแต่ปางก่อนดลใจให้มาพบกัลยาณมิตร

          “ทีนี้ เธอคงรู้แล้ววีนะว่า ทำไมถึงต้องแก้กรรม” ท่านพระครูถามเขา

          “ครับ” นายบัวเฮียวตอบ เขาก้มหน้านิ่งด้วยความรู้สึกละอายใจที่โกหกท่านเรื่องเชื้อชาติของตน ในที่สุดจึงตัดสินใจถามขึ้นว่า

            “หลวงพ่อครับ คนที่ไม่ใช่คนไทย จะบวชที่วัดนี้ได้ไหมครับ”

          “ทำไมจะไม่ได้เล่า ที่นี่ไม่จำกัดเชื้อชาติ ถ้ามีจิตศรัทธามาขอบวชและมีคุณสมบัติครบ ก็บวชได้ทั้งนั้น” ท่านพระครูตอบ

          “แล้วคุณสมบัติที่ว่า มีอะไรบ้างครับ”

          “อันดับแรก ก็ต้องเป็นคนมีอาการครบ ๓๒ ไม่พิกลพิการ หรือ บ้า ใบ้ บอด หนวก แล้วก็ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ หรือถ้ามีเมีย ก็ต้องให้เมียอนุญาต”

          “ถ้าเมียไม่มีแล้วพ่อตาย จะบวชได้ไหมครับ”

          “ก็แม่อนุญาตหรือเปล่าเล่า”

          “อนุญาตครับ”

          “ถ้าเช่นนั้นก็บวชได้ไม่มีปัญหา ถามทำไมหรือ” ท่านแกล้งถามไปอย่างนั้นเอง ความจริงท่านรู้วาระจิตของชายที่นั่งตรงหน้าหมดสิ้นแล้ว

          “หลวงพ่อครับ ผมต้องขอโทษที่โกหกหลวงพ่อ” หากได้รับการศึกษาอบรมมาดีกว่านี้ นายบัวเฮียวคงจะพูดว่า “พระเดชพระคุณหลวงพ่อครับ กระผมต้องกราบขออภัยที่ไม่ได้พูดความจริงกับหลวงพ่อ...”

          “ขอโทษเรื่องอะไรหรือ”

          “เรื่องที่ผมโกหกว่าเป็นคนไทยน่ะครับ จริง ๆ แล้ว ผมไม่ใช่คนไทย พ่อแม่ผมเป็นญวน แต่ผมเกิดในเมืองไทยจึงได้สัญชาติไทย แต่เชื้อชาติญวน

          “แล้วทำไมต้องพูดปดด้วยเล่า” แม้ท่านพระครูจะล่วงรู้เหตุผลกลในของเขาเป็นอย่างดี หากท่านก็จำต้องถามเพื่อให้เขาได้พูดออกมาเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า เขาได้ขอขมาในความผิดนั้นแล้ว

          “ก็ถ้าพูดความจริง ผมกลัวหลวงพ่อจะไม่ยอมรับบวชให้ผมครับ” เขาตอบ

          “อ้าวแล้วกัน นี่ฉันไปรับปากรับคำว่าจะบวชให้เธอตั้งแต่เมื่อไหร่” ท่านตั้งใจจะล้อเล่น แต่นายบัวเฮียวเข้าใจว่า ท่านพูดจริง ใจที่กำลังฟูฟ่องนั้น กลับฟุบแฟบลงเสียทันใด

มีต่อ.......๒
         
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: เมษายน 09, 2007, 09:22:53 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00002

 

๒...

          นายบัวเฮียวนั่งพับเพียบมานานจนรู้สึกเมื่อย จึงเปลี่ยนเป็นนั่งชันเข่า รู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงที่ท่านพระครูปฏิเสธที่จะบวชให้ เขามองท่านตาละห้อย คิดหาถ้อยคำที่จะพูดอ้อนวอนท่าน หากก็คิดไม่ออก จึงไม่มีคำพูดใด ๆ เล็ดลอดออกมาจากริมฝีปากค่อนข้างหนาคู่นั้น เห็นท่าทางผิดหวังของเขา ท่านพระครูได้นึกสงสาร จึงพูดขึ้นว่า

          “ฉันพูดเล่นหรอกนะ เอาเถอะในเมื่ออยากบวชก็จะบวชให้  เธออ่านหนังสือออกไม่ใช่หรือ จบประถมสี่นี่นะ” ใจที่ฟุบแฟบกลับฟูฟ่องขึ้นอีกครั้ง จึงตอบท่านว่า “ครับ พออ่านออกเขียนได้”

          “ดีแล้ว ต้องหัดท่องคำบาลีที่เรียกกันว่า “ขานนาค” ให้คล่อง ท่องได้เมื่อไหร่ก็บวชให้เมื่อนั้น”

          “ใช้เวลาสักกี่วันครับหลวงพ่อกว่าจะท่องได้”  ถามอย่างปีติ

          “ก็ต้องแล้วแต่เธอ ถ้าความจำดีก็ได้เร็ว ไม่เกินสามวันเจ็ดวันก็ได้ แต่ถ้าความจำไม่ดีก็อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน เอาละ เดี๋ยวจะหาพระให้มาเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลบอกกล่าว ฉันไม่ค่อยมีเวลา ไหนจะต้องคอยรับแขกที่มาเข้ากรรมฐาน บางวันเขาก็นิมนต์ไปบรรยายธรรมต่างที่ต่าง ๆ ครั้นจะไม่รับนิมนต์เขาก็จะติฉินนินทาเอาได้ ว่าไม่ทำหน้าที่พระ” ประโยคหลังท่านบ่นกราย ๆ

          “พระที่หลวงพ่ออยู่ที่ไหนครับ”

          “อยู่วัดนี้แหละ สมชายมานี่หน่อยซิ” ท่านเรียกลูกศิษย์วัดซึ่งกำลังทำความสะอาดกุฏิอยู่ชั้นบน เด็กหนุ่มคลานเข้ามาหาท่าน แล้วจึงถาม

          “หลวงพ่อมีอะไรจะใช้ผมหรือครับ”

          “ช่วยไปดูซิว่าพระมหาบุญอยู่หรือเปล่า ถ้าอยู่บอกให้มาพบฉันหน่อย มีธุระจะพูดด้วย” เด็กหนุ่มคลานออกไปจนถึงประตูแล้วจึงลุกขึ้นเดิน สักครู่ก็กลับมาพร้อมพระรูปหนึ่งอายุประมาณสี่สิบปี เมื่อมาถึงภิกษุรูปนั้นนั่งกราบเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงถามขึ้นว่า

          “หลวงพ่อมีอะไรจะให้ผมรับใช้หรือครับ”

          “มีสิท่านมหา นี่เขาจะมาขอบวช จะให้ท่านมหาช่วยสอนเรื่องการเตรียมตัวบวช รู้จักท่านมหาเสียสิ บัวเฮียว” นายบัวเฮียวยกมือไหว้แบบเดียวกับที่ไหว้ท่านพระครู พร้อมกับยิ้มให้ท่านมหา

          “คงต้องสอนเรื่องการกราบการไหว้ให้ด้วย คงหนักหน่อยนะ นึกว่าเอาบุญก็แล้วกัน” ท่านพระครูพูดอย่างเกรงใจ

          “ไม่เป็นไรครับ ผมจะช่วยดูแลให้ดีที่สุด หลวงพ่อวางใจได้ แล้วจะให้เขาพักที่ไหนครับ”

          “คงต้องให้อยู่กุฏิเดียวกับท่านมหาไปก่อน ออกพรรษามีกุฏิว่างแล้วค่อยให้แยก อีกสองวันพระ ก็จะออกพรรษาแล้วนะ ทนอึดอัดไปก่อนนะบัวเฮียวนะ”

          “ไม่เป็นไรครับ ผมต้องขอบคุณหลวงพ่อและท่านมหาที่ช่วยเหลือผมมาก”

          คำพูดนั้นไม่ไพเราะนัก ทว่าก็ออกมาจากใจจริง

          “เอาละ เป็นอันว่าเสร็จธุระแล้ว ท่านมหาพาไปที่กุฏิเลย มีอะไรขัดข้องก็มาบอกฉันได้ ขอให้เชื่อฟังท่านมหาเขานะบัวเฮียวนะ” ท่านหันไปสั่งนายบัวเฮียว ซึ่งชายหนุ่มก็รับคำแข็งขัน พระมหาบุญกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วจึงบอกให้นายบัวเฮียวกราบบ้าง หนุ่มญวนทำตามอย่างว่าง่ายแม้ท่าทางจะดูเก้ ๆ กัง ๆ ด้วยไม่เคยทำมาก่อน

          นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา หากผู้ใดเดินผ่านกุฏิของพระมหาบุญก็จะได้ยินเสียง “เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา...” หรือไม่ก็เป็น “....อุกาสะ วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต...” ดังออกมาจากกุฏิ บางครั้งก็เป็นเสียงสวดยถาสัพพี บางวันก็เป็นเสียงสวดธรรมจักร แล้วแต่ใครจะผ่านไปได้ยินตอนใด

          พระมหาบุญลงความเห็นว่า แม้นายบัวเฮียวจะดูเป็นคนเซ่อ ๆ ซ่า ๆ แต่ก็ว่านอนสอนง่าย และมีความจำเป็นเลิศ ชั่วเวลาเพียงสี่วัน เขาก็สามารถท่อง “ขานนาค” ได้อย่างคล่องแคล่วและถูกต้องแม่นยำ การไหว้การกราบก็ทำได้สวยงามดูไม่เคอะเขินขัดหูขัดตาเหมือนตอนที่มาใหม่ ๆ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรับฟังรายงานจากพระมหาบุญด้วยความยินดี

          ก่อนออกพรรษาห้าวัน นายบัวเฮียวก็เขาพิธีอุปสมบท โดยมีท่านพระครูเจริญเป็นพระอุปัชฌาย์ พระคู่สวดได้แก่ พระมหาบุญซึ่งรับหน้าที่เป็นพระกรรมวาจาจารย์ กับพระมหาเปล่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์ อีก ๒๕ รูปเป็นพระอันดับ ทุกรูปล้วนเป็นพระวัดป่ามะม่วงทั้งสิ้น

          วันที่นายบัวเฮียวบวช ท่านพระครูงดออกบิณฑบาตโปรดสัตว์หนึ่งวัน เมื่อออกจากกรรมฐานในตอนเช้าแล้ว จึงจัดการให้ช่างตัดผมมาโกนผมให้นายบัวเฮียว โดยท่านนั่งดูอยู่ใกล้ ๆ ช่างตัดผมใช้กรรไกรตัดผมให้สั้นเสียก่อน แล้วจึงใช้มีดโกน ทันทีที่ใบมีดโกนสัมผัสหนังศีรษะ นายบัวเฮียวรู้สึกเสียบวาบไปทั่วร่างกาย พลันก็ระลึกนึกถึงบิดามารดา อยากให้บุคคลทั้งสองมาร่วมงานด้วย โดยเฉพาะบิดานั้นเขาคิดถึงมาก ไม่รู้ว่าป่านฉะนี้จะไปเกิด ณ ที่ใด แต่ก็คงไม่พ้นอบายภูมิ เพราะท่านพระครูบอกว่า คนที่ทำกรรมชั่วจะต้องไปเกิดที่นั่น คิดแล้วชายหนุ่มก็ร้องไห้ แรก ๆ ก็น้ำตาไหลเฉย ๆ หนักเข้าก็ถึงกับสะอื้นฮัก ๆ จนท่านพระครูสังเกตรู้ ส่วนช่างตัดผมไม่พูดว่ากระไร คงทำหน้าที่ของตนต่อไป “เธอร้องไห้ทำไมหรือบัวเฮียว” ว่าที่อุปัชฌาย์ถาม

          “ผม...ผมคิดถึงพ่อกับแม่ครับ” ตอบปนสะอื้น ท่านพระครูเข้าใจความรู้สึกของเขา จึงพูดปลอบว่า

          “คิดถึงทำไม ก็แม่เธอเขามีความสุขไปแล้ว ไหนเธอบอกว่าพ่อเลี้ยงเขาเป็นคนดียังไงล่ะ”

          “ครับ แต่ผมก็อยากให้แม่มาร่วมงานในวันนี้ อยากให้แกมาเห็นชายผ้าเหลือง” พูดพลางใช้มือปาดน้ำตา

          “ยังไง ๆ เสียเขาก็ต้องได้เห็น แก้กรรมแล้วก็กลับไปเยี่ยมเขาได้ จะมานั่งเสียอกเสียใจทำไม”

          “ครับ” เขารับคำและหยุดร้องไห้ แต่ยังสะอึกสะอื้น พระครูท่านหยิบกระดาษเช็ดหน้าส่งให้เขาเช็ดน้ำมูกและน้ำตา เงียบกันไปครู่หนึ่ง หนุ่มวัยเกือบสามสิบก็เอ่ยขึ้นว่า

          “หลวงพ่อครับ แล้ว...พ่อ...พ่อ...ผมไปเกิดที่ไหนก็ไม่รู้” พูดแล้วก็ร้องไห้อีก ท่านพระครูจึงพูดตัดบทว่า

          “อย่าเพิ่งไปคิดอะไรมาก ทำใจให้สบาย วันนี้เป็นวันมงคลของเธอนะ ขอให้ห่วงตัวเอง ช่วยตัวเองให้ได้เสียก่อน แล้วจึงค่อยคิดช่วยคนอื่น ผู้อื่นจะกระโจนลงไปช่วยคนตกน้ำ จะต้องว่ายน้ำเป็นเสียก่อน มิฉะนั้นก็จะพากันจบน้ำตายทั้งสองคน เรื่องพ่อของเธอนั้น หากเธอหมั่นทำกรรมฐานแล้วแผ่เมตตาไปให้ ก็อาจจะช่วยแกได้บ้าง” พูดแล้วก็หยิบกระดาษเช็ดหน้าส่งให้เขาอีกครั้ง

          “จริงหรือครับหลวงพ่อ” ถามพลางรับกระดาษไปเช็ดน้ำตาและน้ำมูก ไม่ลืมที่จะประนมมือไหว้และกล่าวคำขอบคุณทุกครั้งก่อนรับของ

          “ฉันจะโกหกเธอทำไมกันเล่า” นายบัวเฮียวเกรงท่านจะโกรธ จึงพูดขึ้นว่า “ขอโทษครับ ถ้าอย่างนั้นผมจะตั้งใจปฏิบัติให้ดีที่สุด”

          “ดีแล้ว ฉันขออนุโมทนาด้วย จำไว้เถิดว่า อะไร ๆ ก็ไม่เหลือวิสัยของบุคคลที่มีความเพียรไปได้” เจ้าอาวาสพูดให้กำลังใจ

          เสร็จจากโกนผม ท่านพระครูจึงบอกให้นายบัวเฮียวไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหมดจน เพื่อเตรียมเข้าพิธีในพระอุโบสถ พิธีจะเริ่มในเวลา ๙.๐๙ นาฬิกา

          ค่ำวันเดียวกันนั้น พระบัวเฮียวได้นำพานดอกไม้ธูปเทียนมาขอขึ้นกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์อีกครั้งหนึ่ง ท่านพระครูเจริญอธิบายให้พระใหม่เข้าใจว่า การขอกรรมฐานในพิธีซึ่งทำกันในพระอุโบสถเมื่อเช้านี้ เป็นการทำตามประเพณีเท่านั้น เพราะหลังจากบวชแล้ว พระส่วนใหญ่ก็มิได้นำไปปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกฎสำหรับพระวัดนี้ว่า พระบวชใหม่จะต้องมาขอกรรมฐานอีกครั้งเพื่อเป็นการยืนยันว่า จะตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ตลอดระยะเวลาที่ดำรงเพศเป็นบรรพชิต

          เมื่อพระบัวเฮียวกล่าวคำขอสมาทานกรรมฐานแล้ว ท่านพระครูจึงลงมือสอนด้วยตนเอง

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง ท่านมีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติมามาก สมัยที่บวชใหม่ ๆ ท่านเจริญสมถกรรมฐาน โดยการกำหนด “พุทโธ” เป็นองค์บริกรรม ปฏิบัติสมถกรรมฐานอยู่หลายปี จนได้อภิญญา แต่ก็เป็นโลกียอภิญญา ซึ่งเมื่อมีได้ก็เสื่อมได้ ไม่แน่นอนและไม่นำไปสู่ความหลุดพ้น

          เมื่ออายุได้ ๔๕ ปี ท่านได้ธุดงค์ไปในป่าดงพระยาเย็น เพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะแนะนำเรื่องการปฏิบัติได้ ป่าดงพระยาเย็นนี้ แต่เดิมมีชื่อว่า ป่าดงพระยาไฟ ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงเปลี่ยนมาเป็น ดงพระยาเย็น เพื่อให้ฟังดูไพเราะและไม่น่ากลัวเหมือนชื่อเดิม

          ที่ป่าดงพระยาเย็น ท่านพระครูเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ จาก “พระในป่า” แล้วท่านก็ได้พบว่า ไม่มีทางสายใดที่จะประเสริฐเท่ากับทางสายนี้อีกแล้ว ท่านเพิ่งจะเข้าใจซาบซึ้งในพุทธวจนะที่เคยอ่านพบในพระไตรปิฎก ความว่า “....ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นความโศกแลปริเทวะ เพื่อความอัสดงแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุโลกุตตรมรรค เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน นี่คือ สติปัฏฐาน ๔...”

          นับเป็นโชคอันดี เป็นลาภอันประเสริฐของท่านพระครูที่ได้ไปพบกัลยาณมิตร ด้วย “พระในป่า” รูปนั้นท่านประกอบด้วยกัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการครบบริบูรณ์คือ น่ารัก น่าเคารพ น่าเจริญใจ รู้จักว่ารู้จักพูด ยอมให้พูดยอมให้ว่า แถลงเรื่องลึกซึ้งได้ และไม่ชักนำในเรื่องที่ไม่ควร เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่กับ “พระในป่า” เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม

          การดำเนินมรรคาที่ถูกต้องหนึ่ง การพบกัลยาณมิตรหนึ่ง ความไม่ย่อหย่อนในการประกอบความเพียรหนึ่ง และบุญบารมีที่ได้สะสมมาแล้วแต่ชาติปางก่อนหนึ่ง องค์ประกอบทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเหตุปัจจัยให้การปฏิบัติของท่านก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กระทั่งได้บรรลุโลกุตตรธรรมในที่สุด

          นับแต่บัดนั้นจนบัดนี้ ท่านได้สัมผัสกับความสุขที่แท้จริง และได้ตระหนักชัดแล้วว่า “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ – สุขอื่นที่ยิ่งกว่าความสงบไม่มี

          ด้วยจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตา ปรารถนาจะให้เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้เข้าสู่ภาวะอันประเสริฐบริสุทธิ์นั้นบ้าง ท่านจึงทำวัดให้เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐาน ฝึกอบรมพระเณรในวัดให้รู้วิธีปฏิบัติ เช่น การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ตลอดจนการกำหนดรู้ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น

          วัดป่ามะม่วงจึงหลายเป็นสถานที่ดับร้อนผ่อนทุกข์ของชนเป็นอันมาก เพราะเป็นที่สัปปายะ คือความสะดวก ๔ ประการ ได้แก่ เสนา – สนสัปปายะ – มีที่พักอาศัยสะดวก อาหารสัปปายะ – มีอาหารการบริโภคสะดวก บุคคลสัปปายะ – มีบุคคลที่เกี่ยวข้องทำให้สบายใจ เพราะธรรมสัปปายะ – มีหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะแก่จริตของผู้ปฏิบัติธรรม ความสะดวก ๔ ประการนี้มีอยู่พร้อมมูลในวัดป่ามะม่วงที่ท่านพระครูเจริญเป็นเจ้าอาวาส

          เมื่อพระบัวเฮียวกล่าวคำขอสมาทานกรรมฐานเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงซักถามพระบวชใหม่เพื่อต้องการทราบพื้นฐานความรู้

          “พระมหาบุญท่านสอนอะไรมาบ้างหรือยัง” ท่านหมายถึงเรื่องการปฏิบัติ

          “สอนแล้วครับ” พระบวชใหม่ตอบ

          “ท่านสอนอะไรบ้าง”

          “ท่านอนเมือนกับหลวงพ่อสอนนั่นแหละครับ พระบัวเฮียวตอบซื่อ ๆ       

          “ฉันยังไม่ได้สอนเธอนี่นา ก็กำลังจะสอนอยู่นี่ไง” พระอุปัชณาย์ท้วง

          “สอนครับ ก็หลวงพ่อเคยสอนให้ผมเชื่อฟังท่านมหา ท่านมหาก็สอนให้ผมเชื่อฟังพลวงพ่อ” พระใหม่ขยายความ

          “อ้อ...แต่ที่ฉันถามนั้น หมายถึงการปฏิบัติกรรมฐานต่างหากล่ะ พระมหาบุญท่านสอบการเดินจงกรม การนั่งสมาธิให้บ้างหรือยัง” ผู้อาวุโสกว่าเริ่มจะรู้สึกถึงความซื่อที่มีระดับใกล้เคียงกับ “เซ่อ” ของพระผู้เป็นลูกศิษย์

          “ยังครับ” คราวนี้พระบัวเฮียวตอบแข็งขัน

          “ถ้าอย่างนั้นก็เริ่มต้นกันเลย เอาละ ยืนขึ้น ฉันจะสอนเดินจงกรมระยะที่หนึ่งให้” แล้วท่านก็ลุกขึ้น ผู้บวชใหม่ลุกตาม แต่ตั้งใจว่าจะปฏิบัติให้ดีที่สุด เพราะศรัทธาปสาทะที่มีต่อท่านพระครูนั้น เป็นเสมือนโอสถขนาดเอกที่จะทำให้ตนหายจากโรคได้

          “การเดินจงกรม มีทั้งหมด ๖ ระยะ ระยะที่หนึ่งมีหนึ่ง “หนอ” ระยะที่สองก็มีสอง “หนอ” แล้วก็เพิ่มขึ้นระยะละหนึ่ง “หนอ”ไปเรื่อย ๆ จนถึงระยะที่หก ก็มีหก “หนอ” ผู้เป็นอุปัชฌาย์อธิบาย

          “หนอ แปลว่าอะไรครับหลวงพ่อ” ถามอย่างใคร่รู้ หากในใจนั้นคิดเล่น ๆ ว่า “หนอ ๆ แหน ๆ อะไรกันวุ้ย หลวงพ่อนี่พิกลจริง ๆ”

          “ถ้าจะเอาคำแปลกันจริง ๆ มันก็ไม่มี เพราะมันเป็นคำอุทาน เหมือนเวลาเราพูดว่า สุขจริงหนอ ดีใจหนอ อะไรพวกนี้ แต่ในการปฏิบัติธรรม เราเอา “หนอ” มาใช้เป็นองค์บริกรรม เช่น ขวา – ย่าง – หนอ   ซ้าย – ย่าง – หนอ “หนอ” ในที่นี้แปลว่า “กำลัง” หรือจะแปลว่า “รู้” ก็ได้เหมือนกัน คือ รู้ปัจจุบัน เช่นรู้ว่าเรากำลังเดิน รู้ว่ากำลังกิน สรุปก็คือ “หนอ” เป็นตัวบอกให้เรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลานั่นเอง เข้าใจหรือยังล่ะ” ท่านพระครูอธิบาย ท่านไม่รู้สึกแปลกใจว่า เหตุใดพระบวชใหม่ทุกรูปก็เคยถามท่านแบบเดียวกันนี้มานักต่อนักแล้ว

          “เข้าใจแล้วครับ ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อสอนผมเดินทั้งหกระยะเลยได้ไหมครับ วันหลังจะได้ไม่ต้องมารบกวนหลวงพ่อ” พระใหม่พูดด้วยความเกรงใจ

          “ไม่ได้หรอก ต้องเดินวันละหนึ่งระยะแล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน อย่าใจร้อน ปฏิบัติธรรมต้องใจเย็น ๆ จึงจะได้ผล เอาละฉันจะเดินระยะที่หนึ่งให้ดู ลำดับแรก ยืนตัวตรง เอามือไขว้หลัง นี่อย่างนี้” พระบัวเฮียวทำตาม หากมือที่ไขว้นั้นเอามือซ้ายทับมือขวาและแขนห้อยลงแบบสบาย ๆ

          “ทำอย่างนั้นไม่ได้ นี่ต้องเอามือขวาทับมือซ้าย แล้วยกมือที่ไขว้ขึ้นมาไว้บริเวณกระเบนเหน็บ ไม่ใช่ห้อยสบาย ๆ แบบนั้น” ท่านจับมือทั้งสองของพระใหม่ และจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

          “เอาละ เสร็จแล้วกำหนด “ยืนหนอ” ห้าครั้ง หายใจยาว ๆ เอาสติไว้ที่ศีรษะ พอบอก “ยืน....ค่อย ๆ ลากสติลงมาช้า ๆ พอถึงคำว่า “หนอ” สติก็จะมาอยู่ที่เท้าพอดี แล้วจึงลากขึ้นด้วยวิธีเดียวกัน เพราะฉะนั้น “ยืน....หนอ” ห้าครั้ง เราก็จะลากสติ ลง...ขึ้น ลง...ขึ้น ลง ลองทำซิ” พระใหม่ทำตามคำบอก และก็ทำได้โดยไม่ข้องขัด ท่านพระครูพอใจที่เขาเป็นคนสอนง่าย

          “หลวงพ่อครับ ทำไมต้องพูดว่า “ยืน...หนอ” ตั้งห้าครั้งเล่าครับ” ถึงจะสอนง่ายแต่ก็ชอบซัก

          “ที่ต้องบริกรรมห้าครั้งก็เอามาจาก ตจปัญจกกรรมฐาน นั่นไง ไหนบอกมาซิว่า ตจปัญจกกรรมฐานมีอะไรบ้าง”

          “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ครับ” พระบัวเฮียวว่าเร็วปรื๋อ เพราะเป็นคนจำแม่น

          “แปลด้วย”

          “เกสา – ผม โลมา – ขน นขา – เล็บ ทันตา – ฟัน ตโจ – หนัง ครับ”

          “ดีมาก นี่แหละการให้ ยืน...หนอ ห้าครั้ง ก็เพื่อจะให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่บางสำนักเขาก็ให้ “ยืน...หนอ” สามครั้ง โดยลากสติขึ้นลงเฉย ๆ อันนี้ก็แล้วแต่ใครจะถนัดอย่างไร เพราะถึงจะปฏิบัติแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ก็มีจุดหมายอันเดียวกัน คือ ความหลุดพ้นจากทุกข์ เอาละ เมื่อ ยืน...หนอ ห้าครั้งแล้วก็จะเริ่มต้น ไหนบอกมาก่อนซิว่า ตอนนี้สติอยู่ที่ไหน”

          “ที่เท้าครับ”

          “ดีมาก เอาละ ทีนี้ก็ย้ายสติมาไว้ที่เท้าขวา เพราะเราจะก้าวเท้าขวาก่อน นี่ก้าวที่หนึ่งบริกรรมว่าอย่างนี้ “ขวา – ย่าง – หนอ” ต้องก้าวช้า ๆ แล้วการบริกรรมที่ต้องให้ทันปัจจุบันด้วย นี่เห็นไหม เดินหนึ่งก้าวก็หนึ่ง “หนอ” เอาละ ทีนี้จะก้าวเท้าซ้ายก็ย้ายสติมาไว้ที่เท้าซ้าย บริกรรมว่า “ซ้าย – ย่าง – หนอ” พร้อมกับก้าวไปด้วย” ท่านลองเดินให้ดูสี่ห้าก้าว แล้วจึงให้พระใหม่ลองทำให้ดู พระบัวเฮียวก็เดินอย่างรวดเร็ว

          “หยุดก่อน หยุดก่อน เดินเร็วอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเดินช้า ๆ เหมือนอย่างที่ฉันเดินให้ดูนั่งไง”

          “ทำไมต้องเดินช้า ๆ ด้วยครับหลวงพ่อ” ถามเพราะไม่เข้าใจ

          “ที่ต้องเดินช้า ๆ ก็เพื่อจะได้เห็นสัจธรรม เดินเร็ว อิริยาบถไปบังสัจธรรม เดินเร็ว อิริยาบถไปบังสัจธรรมหมด รู้หรือยัง”

          “สัจธรรมคืออะไรครับ” คนช่างสงสัยถามอีก

          “ถ้าอยากรู้ก็ต้องเร่งทำความเพียร หมั่นเดินจงกรมนั่งสมาธิ ฝึกสติให้มาก ๆ สติดีเมื่อไหร่ก็จะรู้เอง”

          “งั้นก็แปลว่า ตอนนี้ผมสติไม่ดีน่ะซี เปล่านะครับหลวงพ่อ ผมไม่ได้บ้านะครับ” พระใหม่ร้อนตัวด้วยเข้าใจความหมายไม่ตรงกับผู้พูด

          “ฉันก็ไม่ได้ว่าเธอบ้านี่นา จำไว้นะ เมื่อเธอจะไปสอนคนอื่นต่อไปในวันข้างหน้า คนบ้าอย่าเอามาเข้ากรรมฐานเด็ดขาด บางคนไม่เข้าใจ คิดว่าเอาคนบ้ามาเข้ากรรมฐานจะทำให้หายได้ ไม่จริงเลย มีแต่จะทำให้บ้าหนักขึ้น ก็อย่างเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สติไม่ค่อยดี ญาติเลยพามาเข้ากรรมฐาน ฉันก็ไม่รู้ เพราะพระมหาบุญท่านเป็นคนสอน แหม พอเดินจงกรมได้สามวันก็ออกฤทธิ์เลย ลุกขึ้นรำป้อ ใครห้ามก็ไม่ฟัง คนเขามาตามฉันไปดู ฉันเลยให้ญาติมาพาส่งปากคลองสาน”

          “แล้วเขายอมไปแต่โดยดีหรือครับ”

          “อ้าว ถ้ายอมก็ไม่ใช่คนบ้าซี”

          “แล้วทำยังไงถึงไปได้ล่ะครับ”

          “พระมหาบุญท่านใช้อุบายให้ญาติหลอกว่าสำนักนี้สอนไม่ดี รำก็ไม่สวยสู้สำนักโน้นไม่ได้ เขาก็ต้อนขึ้นรถบอกจะพาไปสำนักโน้น ก็เลยพาไปได้”

          “ทำไมคนบ้าถึงปฏิบัติไม่ได้เล่าครับ” พระใหม่ถามอีก

          “เอาละ ฉันจะยังไม่ตอบเธอ ให้เธอรู้เอาเองเมื่อได้ปฏิบัติถึงระดับหนึ่งแล้ว อยากเตือนสักนิดว่า ความลังเลสงสัยจนเกินขอบเขต มันจะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ เก็บความสงสัยไว้ก่อน ปฏิบัติมาก ๆ เข้าก็จะหายสงสัยไปเอง” ผู้เป็นอุปัชฌาย์แนะแนว

          “ครับหลวงพ่อ ถ้าอย่างนั้นผมจะตั้งใจปฏิบัติให้ก้าวหน้าโดยเร็ว” ว่าแล้วก็เดินจงกรมอย่างตั้งอกตั้งใจ

          “เอาละ ทีนี้พอเดินสุดทางซึ่งไม่ควรจะมากว่าสามเมตร ก็กำหนดกลับโดยบริกรรมว่า “กลับ – หนอ” อย่างนี้” ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พระบัวเฮียวทำตามโดยไม่ยากนัก

          “เอาละ เมื่อเดินเป็น กลับเป็นแล้ว พรุ่งนี้ฉันจะสอนการนั่งให้ สำหรับวันนี้เดี๋ยวเธอกลับไปเดินจงกรมต่อที่กุฏิของเธอให้ได้หนึ่งชั่วโมง จากนั้น ก็ให้นอนหงายเอามือขวาวางบนท้อง สังเกตอาการ พอง – ยุบ ของท้อง เมื่อท้องพองให้บริกรรมว่า “พอง – หนอ” เมื่อยุบก็ให้บริกรรมว่า “ยุบ – หนอ” ไปจนกว่าจะหลับ พยายามจับให้ได้ว่า หลับไปตอนพองหรือตอนยุบ เอาละ กลับไปได้แล้ว”

          “ผมต้องอขกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูง ที่ได้เมตตาสอนให้” พูดพร้อมกับก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วจึงค่อย ๆ คลานถอยหลังออกมา ครั้นถึงประตูจึงหันหลังกลับ ลุกขึ้นเดินไปยังกุฏิของตน ซึ่งอยู่รวมกับพระมหาบุญ ขณะเดินท่านก็กำหนด ซ้าย – ขวา ไปตลอดทาง กระนั้นเสียง “หนอ ๆๆ” และ “เอาละ ๆๆ” ก็ยังก้องอยู่ในโสตประสาท วันนี้ พระอุปัชฌาย์ของท่านใช้คำว่า “หนอ” กับ “เอาละ” มากที่สุด

 

มีต่อ.....๓
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: เมษายน 09, 2007, 09:24:30 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00003

 

๓...

          พระบัวเฮียวกลับกุฏิด้วยความเอิบอิ่มใจ ท่านจัดการล้างมือล้างเท้าให้สะอาดเรียบร้อย แล้วจึงสวดมนต์ทำวัตรเย็น พระวัดนี้จะลงโบสถ์สวนมนต์ทำวัตร เช้า – เย็น และสวดปาติโมกข์ พร้อมกันก็เฉพาะในวันพระเท่านั้น และหากรูปใดทำผิดวินัยเล็ก ๆ น้อย ที่ไม่ใช่อาบัติขึ้นปาราชิก ก็จะปลงอาบัติกันในวันนี้ ส่วนวันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วันธรรมสวนะ ต่างคนก็ต่างปฏิบัติอยู่ในกุฏิของตน มีปัญหาหรือสงสัยในเรื่องใดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติ ก็จะไปเรียนถามท่านเจ้าอาวาส

          พระมหาบุญมอบนาฬิกาปลุกขนาดเล็กให้พระบวชใหม่หนึ่งเรือน

          “เอาไว้จับเวลา ตอนแรก ๆ ต้องอาศัยนาฬิกาปลุก แต่พอปฏิบัติไปนาน ๆ จิตมันรู้ได้เอง อย่างผมเดี๋ยวนี้ไม่ต้องพึ่งนาฬิกา อยากปฏิบัติกี่ชั่วโมงก็กำหนดจิตเอาไว้เหมือนกับการตั้งนาฬิกาปลุก พอถึงเวลาที่กำหนด จิตมันบอกเอง มันก็แปลกนะคุณบัวเฮียว ตอนปฏิบัติใหม่ ๆ ท่านพระครูก็บอกผมอย่างนี้ ตอนนั้นผมไม่เชื่อ ผมมันคนหัวรั้น ไม่ยอมเชื่อใครง่าย ๆ แต่ก็ชอบลองชอบพิสูจน์และผมก็ได้พิสูจน์แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง”

          ท่านสอนวิธีใช้ให้ด้วย พระบัวเฮียวตั้งเวลาไว้หนึ่งชั่วโมง แล้วจึงเริ่มต้นเดินจงกรม อาศัยที่ความจำดี จึงเดินได้ถูกต้องตามขึ้นตอนทุกประการ ท่านเดินไปเดินมาในกุฏิซึ่งมีความยาวประมาณสามเมตรด้วยความเพลิดเพลินกระทั่งเสียงกริ่งนาฬิกาดังขึ้น กดปุ่มนาฬิกาให้หยุดคำรามแล้วตั้งใหม่ให้ปลุกตอนตีสี่

          หยิบเครื่องนอนซึ่งมีเสื่อ หมอนกับผ้าห่ม มาจัดการปูที่นอนข้าง ๆ พระมหาบุญ คลี่ผ้าออกคลุมกายด้วยอากาศเริ่มหนาวเย็น เพราะย่างเข้าฤดูเหมันต์ ปิดไฟแล้วจึงเอนกายลงใช้มือขวาวางบนท้อง สังเกตอาการ พอง – ยุบ พร้อมกับบริกรรม “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” ตามที่พระอุปัชฌาย์สอน สักครู่ก็ม่อยหลับไปโดยจับไม่ได้ว่า หลับไปตอนพองหรือตอนยุบ

          เสียงกริ่งนาฬิกาดังขึ้นเมื่อเวลาตีสี่พร้อม ๆ กับเสียงพระตีระฆัง ตามด้วยเสียงเห่าหอนของสุนัขซึ่งจะพากันหอนเห่าทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเหง่งหง่างของระฆัง ซึ่งดังก้องกระหึ่มไปทั่วบริเวณ พระบัวเฮียวสะดุ้งตื่นแต่ยังงัวเงียเพราะหลับไม่เต็มอิ่ม

          อากาศตอนเช้ามืดหนาวเย็นน่าที่จะซุกกายอยู่ภายใต้ผ้าห่มอันอบอุ่น ท่านจึงเอื้อมมือไปกดปุ่มนาฬิกาหมายจะนอนต่อ แต่เสียงที่ดังอยู่ริมหูทำให้ท่านหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง

          “บัวเฮียว ถ้าเจ้าเกียจคร้านเห็นแก่หลับแก่นอน ไม่รีบเร่งทำความเพียร เจ้าก็จะไม่สามารถแก้กรรมได้ เจ้าเดินมาถูกทางแล้ว ขอให้เดินต่อไปอย่าท้อถอย ตื่นขึ้นเดินจงกรมเดี๋ยวนี้”

          จำได้แม่นยำว่าเป็นเสียงลึกลับที่เคยได้ยินเมื่อปีที่แล้ว พระบวชใหม่รีบลุกขึ้นล้างหน้าแปรงฟัน สวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้วเดินจงกรม พระมหาบุญลุกออกไปปฏิบัติที่หน้าพระอุโบสถ เพื่อเปิดโอกาสให้พระบัวเฮียวได้ปฏิบัติอย่างอิสระ

          ไก่ป่าที่ส่งเสียงขันประชันกับเสียง “กาเว้า กาเว้า” ของเจ้านกกาเหว่านั้นมิได้สร้างความรำคาญให้กับผู้บวชใหม่ เพราะท่านรู้จักกำหนดว่า “ไก่ขันหนอ” “นกร้องหนอ” และเมื่อได้ยินเสียงสุนัขเห่า ท่านก็กำหนดว่า “หมาเห่าหนอ”

          เดินจงกรมได้สักครู่หนึ่ง ก็รู้สึกว่าท้องร้องโครกครากด้วยไม่ชินกับการอดข้าวมื้อเย็น สักครู่เสียง “ปู้ด ๆ    ป้าด ๆ” ก็ดังขึ้นเป็นระยะ คราวนี้พระบวชใหม่ต้องใช้เวลาขบคิดว่าจะกำหนดอย่างไร ก็ท่านพระครูสอนเพียงให้กำหนดยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ แต่ตอนผายลมท่านไม่ได้บอกไว้ ภิกษุคนซื่อเลยกำหนดเอาเองว่า “ตด – หนอ” แล้วก็มีอันต้องกำหนดอย่างนี้บ่อยครั้ง

          ท่านไม่เข้าใจระบบการทำงานของร่างกายว่า เมื่อไม่มีอาหารอยู่ในกระเพาะ ลมที่อัดอยู่ในช่องท้องก็ปั่นป่วนและหาทางระบายออก อาการเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับพระบัวเฮียวเท่านั้น ผู้เริ่มปฏิบัติกรรมฐานทุกคนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต คฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรี เด็กหรือผู้ใหญ่ ย่อมมีอาการแบบเดียวกันนี้ แท้จริงมันเป็นเพียงการปรากฏของสภาวธรรมเท่านั้น

          เดินจงกรมเสร็จท่านก็เอนกายลงนอน เอามือวางบนท้อง ครั้งนี้ท่านลง “หนอ” ไม่ทัน จึงได้แต่ “พอง – ยุบ พอง – ยุบ” เท่านั้น

          เวลาหกนาฬิกา พระบัวเฮียวออกบิณฑบาตกับพระอีกสี่รูป มีพระมหาบุญนำหน้า ส่วนท่านเดินหลังสุดเพราะเพิ่งบวช ท่านพระครูไม่ให้พระในวัดนี้ไปบิณฑบาตทางเดียวกันเกินห้ารูป และให้แบ่งแยกกันไปเป็นสาย ๆ จะได้โปรดสัตว์ได้ทั่วถึง

          กลับจากบิณฑบาตจึงไปฉันรวมกันที่หอฉัน ยกเว้นท่านพระครูซึ่งจะบิณฑบาตเดี่ยว และกลับมาฉันตามลำพังที่กุฏิของท่าน แต่ถ้าเป็นวันพระ หรือในโอกาสพิเศษที่มีคนมาทำบุญเลี้ยงเพล ท่านก็จะไปฉันที่ศาลาการเปรียญพร้อมกับภิกษุอื่น ๆ และวันนั้นท่านก็จะฉันสองมื้อเพื่อไม่ให้ญาติโยมเขาเสียความตั้งใจ ท่านรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่เคร่ง ครัดรัดตัวจนเกินไป แต่ก็ไม่ให้ผิดวินัยของสงฆ์

          เมื่อพระฉันเสร็จ พวกลูกศิษย์ก็จะแบ่งอาหารเก็บไว้ถวายเพลส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งพวกเขาก็ตั้งวงรับประทานกัน วันใดอาหารมีไม่พอ ทางโรงครัวก็จะทำขึ้นมาเสริม งานหนักที่สุดเห็นจะได้แก่งานโรงครัว เพราะมีคนมาเข้ากรรมฐานแทบไม่เว้นแต่ละวัน บางครั้งก็มากันเป็นคณะคราวละร้อยสองร้อย ท่านพระครูก็ต้อนรับขับสู้อย่างดี ทั้งเรื่องที่พักและอาหาร เท่าที่จะสามารถอำนวยความสะดวกให้ได้ ผู้ที่มาวัดต่างพากันประทับใจในอัธยาศัยไม่ตรีของท่าน ไม่มีใครที่มาวัดนี้แล้วจะไม่อยากมาอีก

          พระบัวเฮียวกลบไปกุฏิของท่าน เดินจงกรมให้อาหารย่อยแล้ว จึงสรงน้ำทำความสะอาดร่างกาย หลังจากนั้นก็ไปหาท่านพระครูเพื่อให้ท่าน “สอบอารมณ์” และสอนวิธีนั่งสมาธิ

          “เป็นยังไง เมื่อคืนนอนหลับสบายไหม” ท่านพระครูถามหลังจากที่พระใหม่ทำความเคารพและนั่งในที่อันสมควรแล้ว

          “สบายครับ” พระบัวเฮียวตอบ แต่มิได้เล่าเรื่อง “เสียงลึกลับ” ให้ฟัง ด้วยเกรงจะถูกท่านดุว่าเกียจคร้าน

          “หลับไปตอนยุบหรือตอนพองล่ะ”

          “เอ้อ... จะ... จับไม่ได้ครับ” ผู้บวชใหม่สารภาพ คิดว่าคงจะถูกพระอุปัชฌาย์ดุ แต่ท่านกลับพูดว่า

          “เอาละ ยังจับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คืนนี้ค่อยลองอีกที” ภิกษุวัยใกล้สามสิบค่อยโล่งอก แถมยังแอบล้อเลียนท่านในใจว่า “ฮั่นแน่ หลวงพ่อพูด “เอาละ” อีกแล้ว สงสัยท่านคงใช้คำนี้วันละหลายร้อยหน” พระใหม่มิได้รู้ตัวดอกว่าผู้อาวุโส “อ่านใจ” อยู่เงียบ ๆ

          “เป็นศิษย์อย่าหัดล้อเลียนครูบาอาจารย์” ท่านพระครูกล่าวเสียงเรียบ แต่พระบัวเฮียวถึงกับสะดุ้ง

          “ทำไมหลวงพ่อรู้ครับ” ถามเสียงอ่อย

          “ก็ทำไมฉันจะไม่รู้เล่า ท่านย้อนถาม พระบวชใหม่อดคิดไม่ได้ว่า “ท่านพระครูนี่ยังกับเป็นผู้วิเศษ สงสัยคงเป็นพระอรหันต์”

          “ฉันไม่ใช่ผู้วิส่งวิเศษอะไรหรอก แล้วก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ด้วย ถ้าจะเป็นก็คงเป็นได้แค่พระอรเห” ท่านพูดยิ้ม ๆ คนเป็นศิษย์ยิ่งพิศวงงงงวยหนักขึ้น ไม่รู้ว่าท่านอ่านใจผู้อื่นได้อย่างไร

          “อย่าเพิ่งไปสงสัยว่าทำไมฉันถึงทำได้ ถ้าเธอปฏิบัติเคร่งครัดไม่ช้าก็ต้องทำได้เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร” ฟังพระอุปัชฌาย์พูดแล้ว พระบวชใหม่ได้กำลังใจขึ้นอีกเป็นกองและคิดว่าจะทำให้ดีที่สุด

          “เอาละ ทีนี้เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า เธอจับพอง – ยุบ ได้ชัดหรือยัง”

          “พองชัดครับ แต่ยุบยังไม่ค่อยชัดแล้วก็ลง “หนอ” ไม่ค่อยทัน บางทีเลยได้แค่ พอง – ยุบ พอง – ยุบ”

          “ต้องพยายามลง “หนอ” ให้ได้ เอาละ ถ้าจิตไวขึ้นก็จะได้เอง ไม่ต้องไปเครียดกับมันมาก แต่เรื่องกำหนดนั่น เธอยังทำไม่ถูกนะ เอาละ ฉันอธิบายสติปัฏฐาน ๔ ให้เธอฟังอย่างคร่าว ๆ สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งของสติ หมายถึง การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม วันนี้จะเอากายก่อน การตั้งสติกำหนดพิจารณากายหรือพิจารณาเห็นกายในกายที่เรียกเป็นภาษาธรรมะว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องการเอาสติตามรู้กาย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การหายใจเข้าออก ยืน เดิน นั่ง นอน ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ อย่างที่ฉันเกริ่นไว้เมื่อคราวที่แล้ว คำว่า “กาย” ในที่นี้จึงหมายถึงร่างกายของเราเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ไม่ต้องสนใจ เพราะฉะนั้นเธอกำหนดว่า “ไก่ขันหนอ” “หมาเห่าหนอ” นั้นใช้ไม่ได้เพราะมันไม่เป็นกายานุปัสสนา

          พระบัวเฮียวแปลกใจเป็นครั้งที่เท่าไหร่ของเช้านี้ก็นับไม่ถ้วนเสียแล้ว ท่านพระครูมีอะไร ๆ ให้ท่านพิศวงหลงใหล และท้าทายต่อการพิสูจน์ทดลองไปเสียทุกเรื่อง พลันพระบวชใหม่ก็นึกได้ถึงคำบริกรรมของท่านตอนผายลม นึกหวั่นหวาดในใจว่า ท่านจะรู้หรือไม่หนอ ก็พอดีท่านพูดขึ้นว่า

          “ทำไมจะไม่รู้ นั้นก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน ไม่มีใครเขาบริกรรมพิลึกพิลั่นอย่างเธอหรอก” พระใหม่รู้สึกอายเป็นกำลัง จึงโอดครวญว่า

          “โธ่ หลวงพ่อครับ ก็ผมบริกรรมในใจแท้ ๆ ทำไมหลวงพ่อถึงได้ยินเล่าครับ อีกอย่างผมก็ทำอยู่ที่กุฏิผมโน่น”

          “ฉันก็กำหนด “เห็นหนอ” นั่นซี จะไว้นะบัวเฮียว “เห็นหนอ” นี้มีค่าหลายล้าน อย่าไปคิดว่าหนอ ๆ แหน ๆ เป็นเรื่องเหลวไหล ถ้าเธอฝึกสติดีจนถึงขึ้นแล้ว เธอจะใช้ “เห็นหนอ” ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมหาศาลทีเดียว”

          “ใช้ดูเลขดูหวยได้ไหมครับหลวงพ่อ”

          “ได้ แต่เขาไม่ทำกันเพราะการปฏิบัติธรรมเป็นไปเพื่อละกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ แต่ถ้าเธอเอาไปใช้ในทางนั้นมันเป็นการเพิ่มกิเลส ผิดจุดประสงค์ที่แท้จริงของการปฏิบัติ”

          “ครับ ผมเข้าใจแล้ว หลวงพ่อกรุณาอธิบายกายาสนาต่อเถิดครับ”

          “กายานุปัสสนา ต้องเรียกให้ถูก เวลาไปสอนคนอื่นจะได้ไม่เลอะเลือน เลื่อนเปื้อน”

          “ครับ กายานุปัสสนา” ผู้เป็นศิษย์ทวนคำ

          “นั่นแหละถูกต้อง เอาละ ก่อนจะเข้าใจกายานุปัสสนา จะต้องเข้าใจอายตนะเสียก่อน อายตนะ แปลว่า สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ แบ่งเป็นอายตนะภายใน ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายในทำหน้าที่เป็นตัวรู้ ส่วนอายตนะภายนอกเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพะ และธัมมารมณ์ สิ่งที่ตาเห็นจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราเรียกว่า รูป ตาจึงคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ไหนลองบอกซิว่าลิ้นคู่กับอะไร”

          “อาหารที่กินเข้าไปครับ” ตอบอย่างภาคภูมิด้วยคิดว่าคำตอบนั้นถูกต้องแล้ว

          “ผิด ตอบใหม่อีกทีซิ”

          “ลิ้นคู่กับฟันครับ” คราวนี้ไม่ค่อยมั่นใจนัก

          “ผิดอีก จะลองอีกทีไหม”

          “ไม่แล้วครับ”

          “เอาละ ถ้าอย่างนั้นเวลาที่เรากินอาหารแล้วรู้ว่า เผ็ด หวาน มัน เค็ม เราเรียกว่าอะไร”

          “เรียกว่า แซ่บ ครับ” ท่านพระครูรู้สึกอ่อนใจ จึงเฉลยให้ฟังจะได้สิ้นเรื่องสิ้นราว

          “เขาเรียกว่า รส จำไว้ ส่วนสิ่งที่มากระทบกายเราเรียกว่า โผฏฐัพพะ เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง และสิ่งที่มากระทบใจ เรียกว่า ธัมมารมณ์ เช่น ดีใจ เสียใจ ทุกข์ใจ จำได้หรือยังล่ะ เอาละ ไหนลองทบทวนซิ อายตนะภายนอกมีอะไรบ้าง”

            “ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครับ”

          “อ้อ... ตาเธอ หูเธอ ลอยอยู่ข้างนอกว่างั้นเถอะ ไหนตอบใหม่ซิ เอาให้แน่ ๆ”

          “รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และกามารมณ์ ครับ”

          “ธัมมารมณ์เว้ย ไม่ใช่กามารมณ์ คนละเรื่องเลย” คนสอนบ่นอุบและเผลอพูดคำว่า “เว้ย” ออกมา

          “เอาละ ทีนี้อายตนะภายในเธอก็รู้แล้วสินะ ต่อไปจะได้กำหนดได้ถูกต้อง”

          “หลวงพ่อครับ กำหนดกับบริกรรมนี่เหมือนกันไหมครับ”

          “เหมือนกัน จะใช้ว่ากำหนดก็ได้ หรือจะใช้ว่าบริกรรมก็ได้ ทีนี้เมื่อเธอได้ยินเสียงไก่ขัน สุนัขเห่า หรือเสียงอะไรก็แล้วแต่ที่รับรู้โดยทางหูให้เธอกำหนดว่า “เสียงหนอ” เท่านั้น ไม่ต้องไปใส่ใจ ไม่ต้องไปวิจัยว่ามันเป็นเสียงอะไร ตาเห็นอะไรก็ตามให้กำหนดว่า “เห็นหนอ” แล้วก็จบกัน เวลาผายลม ถ้ามันดังก็กำหนดว่า “เสียงหนอ” ถ้ามันไม่ดังก็กำหนดว่า “รู้หนอ” คือเอาใจไปรู้มัน เอาละทีนี้ ถ้ามันมีกลิ่นด้วย เธอจะกำหนดว่าอย่างไร” พระใหม่ถูกทดสอบอีก

          “ถ้าเป็นของตัวเองก็ “หอมหนอ” แต่ถ้าเป็นของคนอื่นก็ “เหม็นหนอ” ครับ” คราวนี้ท่านพระครูหัวเราะชอบใจ

          “เออ เข้าทีดีนี่ เข้าใจตอบ” คนตอบก็เลยหน้าบานด้วยคิดว่าถูกต้องดีแล้ว

          “จริง ๆ นะบัวเฮียว คนอย่างเธอจะว่าสอนง่ายก็ไม่ใช่ ครั้นจะว่าสอนยากก็ไม่ใช่อีก” ยังไม่ทันที่ท่านจะพูดต่อ พระบัวเฮียวก็ขัดขึ้นว่า

          “จะว่าสอนง่ายก็ใช่ จะว่าสอนยากก็ใช่ ต่างหากเล่าครับ”

          “เอาละ ๆ นี่บอกตามตรงนะบัวเฮียว ฉันไม่รู้เลยว่าจริง ๆ แล้ว เธอโง่หรือฉลาดกันแน่”

          “จะว่าโง่ก็ใช่ จะว่าฉลาดก็ใช่ ยังงันหรือเปล่าครับ”

          “ก็ทำนองนั้นแหละ เอาละ เอาเป็นว่าฉันคิดว่าเธอฉลาดก็แล้วกัน ขอให้ฉลาดอย่างนี้ตลอดไปนะ” ท่านตั้งใจประชด

          “สมพรปากครับ” พูดพร้อมกับยกมือขึ้น “สาธุ” ท่านพระครูคร้านที่จะต่อปากต่อคำ จึงวกกลับมาเข้าเรื่องเดิม

          “เอาละ เมื่อเธอเข้าใจอายตนะภายใน ภายนอก แล้วทีนี้เวลาปฏิบัติจะได้กำหนดได้ถูกต้อง จำไว้ว่าอย่าไปปรุงแต่ง ให้กำหนด “รู้” เฉย ๆ

          “ทำไมถึงปรุงแต่งไม่ได้เล่าครับหลวงพ่อ”

          “ก็ถ้าปรุงแต่งมันก็เป็นกิเลสน่ะซี อย่างเช่นที่เธอกำหนดว่า “หอมหนอ” มันเป็นโลภะ “เหม็นหนอ” ก็เป็นโทสะ ถ้าทำเฉยไม่กำหนดรู้ มันก็เป็นโมหะ ดังนั้นถ้าจะให้ถูกก็ต้องกำหนดว่า “กลิ่นหนอ” โดยไม่ไปปรุงแต่งว่า มันจะหอมหรือจะเหม็น เข้าใจหรือยังล่ะ”

          “เข้าใจแล้วครับ”

          “ดีแล้ว เอาละ ทีนี้บอกมาซิว่า ถ้าได้ยินเสียงนกร้อง จะกำหนดว่าอย่างไร”

          “เสียงหนอ ครับ”

          “ทำไมไม่กำหนดว่า “นกร้องหนอ” ล่ะ”

          เพราะถ้ากำหนดอย่างนั้นมันก็ไม่เป็นกายานุปัสสนา มันอยู่นอกกายของเรา เราต้องกำหนดรู้เฉพาะที่อยู่ในกาย”

          “ดีมาก ดีมาก เอาละ ทีนี้ก็ฝึกนั่งสมาธิได้แล้ว จงจำไว้ว่าเมื่อเดินจงกรมเสร็จต้องนั่งสมาธิทันที ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเสียก่อนแล้วจึงค่อยมานั่ง ต้องทำให้มันติดต่อกันจะได้รักษาอารมณ์กรรมฐานเอาไว้ไม่ให้รั่วไหลไปทางอื่น วิธีนั่งก็กำหนด “นั่งหนอ” ก่อนแล้วค่อย ๆ นั่งลงไป การนั่งสมาธิมี ๓ แบบ คือ สมาธิชั้นเดียว นั่งอย่างนี้ งอเข่าขาซ้ายและขาขวาวางบนพื้น ถ้าสมาธิสองชั้นก็ยกขาขวาวางทับบนขาซ้าย ถ้าสามชั้นหรือที่เรียกว่าสมาธิเพชร ก็ยกขาซ้ายทับขาขวาแล้วยกขาขวาทับขาซ้ายอีกทีหนึ่ง”

          แล้วท่านก็สาธิตวิธีนั่งทั้งสามแบบให้พระบัวเฮียวดู พระใหม่ทำตามได้สองแบบแรก และพยายามจะทำแบบที่สามแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะมันรู้สึกเหมือนขาจะหัก

          “ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ประเดี๋ยวขาแข้งหักไปจะยุ่งกันใหญ่ ปฏิบัตินาน ๆ เข้าก็ทำได้เอง เอาละวันนี้นั่งสองชั้นไปก่อน นั่นอย่างนั้นถูกแล้ว เอาละ ทีนี้ก็เอามือวางบนหน้าตัก ให้มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น ค่อย ๆ หลับตาลงช้า ๆ เอาสติไปไว้ที่ท้องเหนือสะดือขึ้นมาประมาณสองนิ้ว รู้สึกหรือยังว่าท้องมันพองแล้วก็ยุบ”

          “รู้แล้วครับ”

          “มันพองก่อนหรือว่ายุบก่อน”

          “พองก่อนครับ”

          “นั่นแหละถูกต้องแล้ว คนที่บอกว่า ยุบก่อน แสดงว่ายังจับไม่ได้ โดยธรรมชาติแล้วเราจะจับพองได้ก่อนยุบเสมอ จึงให้บริกรรมว่า “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” แสดงว่ารู้ไม่จริง เอาละ ต่อไปนี้ลองนั่งดูสักสี่สิบนาที อย่าไปคิดเรื่องอื่น พยายามให้สติจับอยู่ที่ พอง – ยุบ ตลอดเวลาได้ยินเสียง ได้กลิ่นอะไรก็กำหนดไปตามจริง ต้องกำหนดให้ทันปัจจุบันด้วย แล้วอย่าไปปรุงแต่ง เอาละนั่งไป ครบกำหนดเวลาแล้วฉันจะบอกเอง”

 

มีต่อ......๔

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: เมษายน 09, 2007, 09:25:26 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00004

 

๔...

                ในความรู้สึกของพระบัวเฮียว เวลาสี่สิบนาทีช่างดูยาวนานเสียหนักหนา ท่านจับ พอง – ยุบ ได้ในช่วงแรก ๆ กระนั้นก็ยังลง “หนอ” ไม่ค่อยจะทัน เพราะมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก นั่งไปสักครู่ให้รู้สึกอึดอัดขัดข้อง ลมในท้องเริ่มปั่นป่วนอีกครั้ง ท่านพยายามกลั้นเอาไว้ หากปล่อยปู้ดป้าดออกมาเกรงจะต้องอับอายขายหน้า เมื่ออั้นไว้หนักเข้าก็กลายเป็นความกังวลจนจับ พอง – ยุบ ไม่ได้

            “อย่าไปกังวลแล้วก็ไม่ต้องไปกลั้น เขาอยากจะออกมาก็ให้เขาออกอย่าไปฝืนเขา มันเป็นการปรากฏของสภาวธรรม ให้กำหนด “เสียงหนอ” หรือ “กลิ่นหนอ” ไปตามความเป็นจริง” ท่านพระครูซึ่งนั่งควบคุมอยู่ห่าง ๆ พูดขึ้น พระใหม่จึงหมดกังวลเรื่องลม ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ หันมาจับ พอง – ยุบต่อ หากก็จับได้ไม่นานเพราะอาการปวดเมื่อยเริ่มปรากฏ ท่านรู้สึกปวดขาเป็นกำลัง คิดอยากจะถามพระอุปัชฌาย์ว่าจะเปลี่ยนท่านั่งได้หรือไม่ ฝ่ายนั้นก็พูดขึ้นทันทีว่า

            “อย่าเปลี่ยน นี่แหละเขาเรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องให้เห็นของจริงถึงจะเข้าใจ เอาสติไปเพ่งตรงที่ปวดแล้วกำหนดว่า “ปวดหนอ ปวดหนอ” จากนั้นก็ไม่ต้องไปในใจ ให้กลับมากำหนด พอง – ยุบ อีก”

            เมื่อมีคนคอยช่วยเหลืออยู่เช่นนี้ทั้งยังสามารถ “อ่านใจ” ผู้อื่นได้ด้วย พระบัวเฮียวจึงหายกังวล ท่านพระครูอยากให้การนั่งของพระใหม่เป็นไปตามธรรมชาติ ครั้นเห็นว่าได้แนะนำพอสมควรแล้ว จึงลุกจากที่นั้นไปอย่างเงียบ ๆ ปล่อยผู้เป็นศิษย์ให้นั่งอยู่ตามลำพัง

            พระบัวเฮียวไม่รู้ว่าพระอุปัชฌาย์ลุกออกไป ท่านพยายามจับ พอง – ยุบ อย่างเคร่งครัด ต่อเมื่ออาการปวดขาทวีความรุนแรงขึ้น พระใหม่ก็หมดความอดทน ค่อย ๆ เปลี่ยนท่านั่งจากขาขวาทับขาซ้าย มาเป็นขาซ้ายทับขาขวา รู้สึกค่อยยังชั่วขึ้น ทั้งอุปัชฌาย์ก็มิได้ว่ากระไร จึงกระหยิ่มยิ้มย่องว่าตนปฏิบัติถูกต้องแล้ว

            “อหังการ” ก็เกิดขึ้น ท่านเริ่มคิดฟุ้งซ่าน จิตซึ่งโดยธรรมชาติไม่อยู่นิ่งอยู่แล้วก็ซัดส่ายหนักขึ้น คิดเรื่องโน้นไปเรื่องนี้ เตลิดเปิดเปิงไปยกใหญ่ ชั่วเวลาไม่กี่นาทีที่ท่านพระครูลุกออกไป พระบัวเฮียวก็คิดอะไรต่อมิอะไรไปร้อยแปด เมื่อจิตฟุ้งซ่าน สติก็จับ พอง – ยุบ ไม่ได้ สมาธิไม่เกิด

            อีกสิบนาทีจะครบกำหนดเวลา ท่านพระครูก็กลับมา ท่าน “ตรวจสอบ” คนที่กำลังนั่งสมาธิอยู่ก็รู้วาระจิตของเขา จึงพูดขึ้นว่า

            “สนุกใหญ่เลยนะบัวเฮียวนะ ทำไมถึงไม่กำหนด “ฟุ้งซ่านหนอ” ล่ะ”

            พระใหม่จึงตั้งสติกำหนด “ฟุ้งซ่านหนอ” “ฟุ้งซ่านหนอ” แล้วกลับมากำหนด พอง – ยุบ ประเดี๋ยวหนึ่งอาการปวดขาก็ประดังขึ้นมาอีก ปวดราวกับว่ามันจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ คิดที่จะเปลี่ยนท่านั่ง ท่านพระครูก็กำชับขึ้นว่า

            “อย่าเปลี่ยน ให้กำหนด “อดทนหนอ พากเพียรหนอ” แล้วกลับไปที่ พอง – ยุบ อีก”

            “มันไม่ไหวแล้วครับหลวงพ่อ พระบัวเฮียวคร่ำครวญอยู่ในใจ คราวนี้รู้แล้วว่าท่านต้องรู้ อะไร ๆ ในใจของท่าน พระอุปัชฌาย์รู้หมด

            “ต้องไหวซี ตั้งใจไว้เลยว่า ตายเป็นตาย”

            “ผมยังไม่อยากตายที่ครับ” พระใหม่แอบเถียงในใจ

            “ยังไม่อยากตาย แต่ถ้าถึงที่มันก็ต้องตาย แต่ถ้าตายในขณะปฏิบัติก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ ไม่ต้องไปอบายภูมิ เลือกเอาว่าจะเอาอย่างไหน”

            “งั้นก็เอาอย่างหลังครับ” ตอบในใจเช่นเคย

            “ดีแล้ว ต้องกล้าหาญอย่างนี้ถึงจะเรียกว่า ศากยบุตร นี่แหละ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา”

          “เวทนาที่แปลว่าสงสารใช่ไหมครับ” คนถามถามในใจ แต่คนตอบตอบออกมาดัง ๆ เพราะคลื่นใน “เครื่องรับ” กับ “เครื่องส่ง” ไม่ตรงกัน คนตอบสามารถเข้าใจในความในใจของคนถาม หากคนถามไม่สามารถ “อ่านใจ” ของคนตอบได้

            “ไม่ใช่ เวทนา แปลว่า ความรู้สึก มี ๓ อย่างคือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อทุกขมสุขเวทนา หมายถึง ความ รู้สึกสุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ หรือที่เรียกว่า เฉย ๆ รู้สึกอย่างไรก็กำหนดไปอย่างนั้น เช่นขณะที่เธอปวด เธอเป็นทุกข์ ก็กำหนด “ปวดหนอ” ถ้าสุข ก็กำหนด “สุขหนอ” ถ้ารู้สึกเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็กำหนด “เฉยหนอ” คือ ต้องตามรู้ความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา แล้วก็กำหนดรู้เท่านั้น ห้ามไปจับไปยึด”

            ภิกษุหนุ่มตั้งสติข่มทุกขเวทนาไว้อย่างยากเย็น พยายามทำตามที่พระอุปัชฌาย์สอน หากอาการปวดก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นราวกับชีวิตจะแตกดับลงเสียเดี๋ยวนั้น ท่านจึงฮึดสู้ด้วยการกำหนดว่า “ตายเป็นตาย” แล้วก็นั่งต่อไปอย่างไม่สะทกสะท้าน พยายามให้สติจับอยู่ที่อาการ พอง – ยุบ ของท้อง

            “เอาละ ได้เวลาแล้ว กำหนด “อยากพักหนอ” สามครั้งแล้วค่อย ๆ ลืมตา เห็นอะไรก็กำหนดเห็นหนอ”

            “ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานนั้น เสียงของท่านพระครูจึงประดุจเสียงสวรรค์ที่ล่องลอยมาจากนภากาศ การต่อสู้กับทุกขเวทนาสิ้นสุดลง พระบัวเฮียวกำหนดตามที่ท่านสอน

            เมื่อลืมตาขึ้น สิ่งแรกที่เห็นก็คือ ใบหน้าที่เปี่ยมด้วยเมตตาของผู้เป็นอาจารย์ รู้สึกร้อนวูบทั่วร่างแล้วเปลี่ยเป็นเย็นซาบซ่านไปทั่วทุกขุมขน น้ำตาไหลพราก ๆ ด้วยความปีติ ท่านก้มลงกราบพระอุปัชฌาย์ด้วยความรู้สึกสำนึกในพระคุณอย่างหาที่สุดมิได้

            ศีล สมาธิ ปัญญา ได้ซักฟอก และ ขัดเกลาจิตใจที่เคยหยาบกระด้างของท่านให้ละเอียดประณีตขึ้น กตัญญูกตเวทิตาธรรม จึงเกิดเองโดยมิต้องมีผู้ใดมาบอกกล่าว

            “เอาละ ทีนี้ก็มาสอบอารมณ์กัน ประเดี๋ยวจะได้กลับไปพักผ่อน คืนนี้จะได้สอนการเดินระยะที่สองให้”

            “ครับ เอ้อ... ผมอยากจะเรียนถามหลวงพ่อว่า ทำไมจิตของเรามันจึงอยู่นิ่งไม่ได้ ชั่วเวลาที่ผมนั่ง ผมคิดอะไรต่อมิอะไรไปร้อยแปด มันไม่สงบเลยครับ ที่แปลกก็คือ เวลาที่ไม่ได้นั่งสมาธิกลับไม่คิดอะไร”

            “นั่นแหละธรรมชาติของจิตละ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสเปรียบเทียบจิตว่า ไม่อยู่นิ่งเหมือนลิง ปกติลิงจะไม่อยู่เป็นสุข ต้องหลุกหลิกวางนี่จับโน่น ทำท่านั้นท่านี้อยู่ตลอดเวลา นอกจากจะหลับเสียเท่านั้น แม้แต่หลับก็ยังหานอนหลับนานไม่ เพราะฉะนั้นถึงต้องมาฝึกจิตกันยังไงล่ะ”

            “ทำไมจิตมันถึงฟุ้งซ่านเฉพาะเวลานั่งสมาธิเล่าครับ ในเวลาปกติทำไมมันจึงไม่ฟุ้งซ่าน” ภิกษุหนุ่มถามอีก

            “จิตมันฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ ไม่ว่าจะตอนนั่งหรือไม่นั่ง เพราะจิตมันมีหน้าที่รู้อารมณ์ แต่ตอนนั่งเรารู้สึกว่ามันฟุ้งซ่าน เพราะเราเอาสติไปกำกับมัน บังคับมันให้จดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียว มันเลยต่อต้าน แต่ในเวลาปกติราไม่ได้เอาสติไปกำกับมัน เราจึงไม่รู้ว่ามันฟุ้งซ่าน พูดง่าย ๆ ก็คือจิตมันฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ค่อยจะรู้ เมื่อใดที่เอาสติไปกำกับมัน เราจึงจะรู้ชัด เข้าใจหรือยังล่ะ”

            ท่านพระครูนึกชมพระมหาบุญที่สามารถอบรมบ่มนิสัย จนกระทั่งพระบัวเฮียวเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ทั้งกิริยามารยาท ตลอดจนการพูดการจาดูดีขึ้น ผิดกับเมื่อตอนมาใหม่ ๆ ราวกับเป็นคนละคน

            “หลวงพ่อครับ แล้วเรื่องเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่หลวงพ่อสอนตอนผมนั่งสมาธิ มีบางตอนที่ผมยังไม่เข้าใจครับ เช่นที่หลวงพ่อบอกไม่ให้ยึด สุขก็ไม่ให้ยึด ทุกข์ก็ไม่ให้ยึด หมายความว่าอย่างไรครับ”

            “หมายความว่า เวทนามันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งหลาย นั่นคือมันไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และปราศจากตัวตนที่เที่ยงแท้ พูดให้เข้าใจง่ายเข้าก็คือ มันมีลักษณะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จึงไม่มีอะไรให้ยึด ฉะนั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏบาน ก็คือ การใช้สติตามดูเวทนา และ กำหนดรู้ในขณะนั้น ๆ ว่า มันสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ แล้วก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของมันเหมือนกับเวลาเธอนั่ง เมื่อปวดก็เป็นทุกขเวทนา เธอก็กำหนด “ปวดหนอ” แล้วก็วางมันเสีย ไม่ไปจับไปยึด ประเดี๋ยวมันก็หายไปเอง”

            “การกำหนดว่า “ปวดหนอ” ก็เพื่อให้หายปวดใช่ไหมครับ”

            “ไม่ใช่ บางคนไปเข้าใจผิดคิดว่า การกำหนดเช่นนี้ จะทำให้หายปวด ซึ่งความจริงแล้วจะกำหนดหรือไม่กำหนด มันก็ต้องหายปวดตามสภาพของมันอยู่แล้ว เพราะเวทนามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุปัจจัย เราไม่สามารถไปบังคับบัญชามันได้ เราทำได้ก็เพียงกำหนดรู้มันเท่านั้น”

            ท่านพระครูอธิบาย พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นลูกศิษย์วัดยืนลับ ๆ ล่อ อยู่ตรงประตู จึงถามออกไปว่า

            “มีอะไรหรือสมชาย” เด็กหนุ่มคลานเข้ามา กราบสามครั้งแล้วรายงานว่า “มีคนจากนครสวรรค์เขามาขอขึ้นกรรมฐานกับหลวงพ่อครับ”

            “บอกให้เขาเข้ามาได้เลย” พระบัวเฮียวตั้งท่าจะลา แต่ท่านพระครูห้ามไว้ สักครู่ชายวัยกลางคนก็ประคองพานดอกไม้ธูปเทียนเดินเข่าเข้ามาหาท่านพระครู พร้อมกับเพื่อนวัยเดียวกันอีกสองคน เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงสั่งให้พระบัวเฮียว นำคนทั้งสามกล่าวคำขอสมาทานกรรมฐาน แล้วให้สอนการเดินจงกรมและนั่งสมาธิด้วย

            พระใหม่รู้สึกขัดเขินเพราะตัวท่านเองก็เพิ่งจะหัดมาได้สองวันเข้าวันนี้ หากท่านก็สอนอย่างตั้งอกตั้งใจที่สุด จนชายทั้งสามสามารถเดินจงกรมระยะที่หนึ่งได้และรู้วิธีนั่งสมาธิ

            “เอาละ เดี๋ยวไปทานข้าวทานปลา แล้วกลับไปปฏิบัติยังกุฏิของตน สองทุ่มค่อยมาสอบอารมณ์ ได้ที่พักหรือยัง” ท่านถามคนที่ถือพานเมื่อตอนเข้ามา เพราะเขามีลักษณะเป็นผู้นำมากกว่าอีกสองคน

            “ยังครับ พวกผมเพิ่งมาถึงครับ” เขาตอบอย่างนอบน้อม

            “สมชายไปดูซิว่ามีกุฏิกรรมฐานหลังไหนว่างอยู่บ้าง”

            “ไม่มีเลยครับหลวงพ่อ ผมไปสำรวจมาแล้ว” เด็กหนุ่มตอบ

            “ถ้าอย่างนั้นไปพักบนศาลาก็แล้วกัน เดี๋ยวจะให้เขาจัดมุ้งจัดหมอนไปให้ บนศาลาไม่มีมุ้งลวด” แล้วจึงถามอีกว่า

            “จะอยู่ปฏิบัติกันกี่วันล่ะ”

            “สามวันครับ พอรู้วิธีก็จะกลับไปปฏิบัติต่อที่บ้าน”

            “ทำไม่ไม่อยู่สักเจ็ดวันล่ะ สามวันมันน้อยไป”

            “อยู่ไม่ได้ครับหลวงพ่อ พวกผมเป็นครูต้องกลับไปสอนนักเรียน ช่วงนี้หยุดเทอมจึงมาได้”

            “หยุดแค่สามวันเองหรือ”

            “หยุดมาสิบกว่าวันแล้วครับ แต่พวกผมเกิดนึกอยากมาเอาเมื่อตอนใกล้จะเปิด”

            “อ้อ... เอาละ ถึงจะอยู่แค่สามวัน ถ้าตั้งใจปฏิบัติจริง ๆ จัง ๆ ก็จะได้ผลพอสมควร ไหนชื่ออะไรกันบ้าง เผื่อวันหลังเจอกันจะได้ทักทายได้ถูกต้อง”

            “ผมชื่อสฤษดิ์ครับ เป็นครูใหญ่”

            “ผมชื่อบุญมี อีกคนชื่ออรุณ เป็นครูน้อย มาเป็นเพื่อนครูใหญ่ครับ” ครูบุญมีพูดเป็นครั้งแรก ส่วนครูอรุณยังไม่ยอมพูด

            “อ้อ... มาเป็นเพื่อนเท่านั้นหรอกหรือ อาตมานึกว่าตั้งใจมาปฏิบัติ ที่แท้ก็มาเป็นเพื่อน แต่เอาเถอะไหน ๆ ก็ชื่อว่าได้มาแล้ว ตั้งใจปฏิบัติให้เต็มที่ก็แล้วกัน เดี๋ยวสมชายพาแขกไปทานอาหารด้วยนะ”

            ประโยคหลังท่านพูดกับลูกศิษย์วัด แล้วหันมาบอกคนเป็นครูใหญ่ว่า “ตามเด็กวัดไป ทานข้าวทานปลาให้อิ่มหนำสำราญเสียก่อน แล้วค่อยปฏิบัติ มีปัญหาอะไรก็มาถามอาตมาได้ทุกเวลา”

            คนทั้งสามกราบท่านแล้วจึงลุกตามเด็กวัดออกไป คนเป็นครูใหญ่เดินนำหน้า

            “นี่บัวเฮียว เธอจำไว้นะ คนที่เดินออกหน้าจะต้องถูกรางวัลที่หนึ่ง เชื่อฉันไหมล่ะ”

            “หลวงพ่อทราบได้อย่างไรครับ”

            “ก็ “เห็นหนอ” บอก คอยดูก็แล้วกัน เขาจะต้องกลับมาที่วัดนี้อีกภายในเจ็ดวันนับแต่วันกลับไป”

            “แล้วหลวงพ่อจะบอกเขาก่อนไหมครับว่า เขาจะถูกรางวัลที่หนึ่ง”

            “บอกไม่ได้ซี เดี๋ยวก็ไม่เป็นอันปฏิบัติ”

            “หลวงพ่อครับ แล้วผมจะได้ “เห็นหนอ” อย่างหลวงพ่อไหมครับ” ถามอย่างสนใจ

            “ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าเธอหมั่นประกอบความเพียรอย่างสม่ำเสมอ ก็พอจะมีทาง” ท่านตอบแบ่งรับแบ่งสู้

            “นอกจากหลวงพ่อแล้วมีคนอื่นได้อีกไหมครับ”

            “มีหลายคนเหมือนกัน มันไม่ยากอะไรนี่ อย่างคุณนานลำไยแกก็ได้ ขนาดแกอ่านหนังสือไม่ออก เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ไม่เป็น แต่แกมีความเพียรดี เรื่องมันยาว ถ้าอยากรู้วันหลังจะเล่าให้ฟัง อย่าลืมว่าจุดประสงค์สำคัญที่เธอมาที่นี่ก็เพื่อมาแก้กรรม ส่วนอย่างอื่นถือว่าเป็นผลพลอยได้ เอาละ ไปได้แล้วเดี๋ยวคนอื่นเขาจะรอ สิบเอ็ดโมงกว่าแล้ว”

            รับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชายทั้งสามจึงตามเด็กวัดไปยังศาลา พวกเขามีกระเป๋าเดินทางใบเล็กมาคนละใบ เด็กหนุ่มนำเครื่องนอนมาแจกให้คนละชุดแล้วจึงลงมา ปล่อยให้เขาได้พักผ่อนกันตามลำพัง ครูสฤษดิ์เตรียมตัวเดินจงกรม ขณะที่ครูบุญมีและครูอรุณ จัดแจงปูเสื่อพร้อมกับพูดออกตัวว่า

            “ของีบเอาแรงสักพัก ครูใหญ่ปฏิบัติไปคนเดียวก่อนนะครับ”

            คนเป็นครูใหญ่จึงพูดขึ้นด้วยเสียงปกติว่า

            “คุณจะนอนกันผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกนะ เท่าที่อุตส่าห์มาเป็นเพื่อนผมก็ดีถมไปแล้ว แต่คุณจะไม่ลองดูสักหน่อยหรือ ว่าที่นี่มีดีอะไรคนถึงพากันหลั่งไหลมาจนกุฏิไม่พอให้พัก เวลานอนเรายังมีอีกมาก น่าจะตักตวงวิชาความรู้เอาไว้ ไหน ๆ ก็เสียเวลามาแล้ว”

            พูดจบก็เริ่มเดินจงกรมอย่างขะมักเขม้น ครูน้อยสองคนมองตากันแล้วต่างก็ได้คิด จึงพากันลุกขึ้นเดินจงกรมบ้าง

            ช่วงเวลานั้น หากใครมองขึ้นไปบนศาลา ก็จะเห็นคนสามคนกำลังเดิน “ขวา – ย่าง – หนอ  ซ้าย – ย่าง – หนอ”  อยู่อย่างเพลิดเพลินตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงหกโมงเย็นโดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย

            ท่านพระครูใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบดูก็รู้ว่าพวกเขา “รื่นเริงในธรรม” เสียจนไม่สามารถกำหนดนั่งได้ จึงเดินไปยังศาลาเพื่ออนุเคราะห์ คนทั้งสามเห็นเจ้าอาวาสเดินขึ้นมาก็รู้สึกตัว รีบนั่งลงกราบท่านพร้อมกันราวกับนัด

            “ไงโยม เดินกันตั้งหกชั่วโมงไม่รู้สึกเมื่อยกันบ้างหรือ”

            “หกชั่วโมงเชียวหรือครับ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน รู้แต่ว่ามันเพลินจนลืมกำหนดนั่ง นี่ถ้าหลวงพ่อไม่ขึ้นมา สงสัยพวกผมคงเดินกันจนถึงเช้า” คนเป็นครูใหญ่พูด

            “แน่นอน แบบนี้เขาเรียกว่า “รื่นเริงในธรรม””

            “แล้วดีไหมครับ” ครูอรุณเพิ่งจะพูดเป็นครั้งแรก

            “ไม่ดีแน่ เพราะสมาธิกับวิริยะมีมากจนสติตามไม่ทัน การปฏิบัติธรรมที่จะได้ผลดีจะต้องให้ สมาธิ วิริยะ และสติ สมดุลกัน ไม่ให้อันหนึ่งอันใดล้ำหน้าอันอื่น เอาละ ทีนี้ก็กำหนดนั่ง ให้นั่งคนละหนึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วอาบน้ำอาบท่าให้เรียบร้อย สองทุ่มไปหาอาตมาที่กุฏิ”

            คนทั้งสามก้มลงกราบท่านสามครั้ง แล้วจึงกำหนดนั่งสมาธิ ท่านพระครูนั่งอยู่อีกครู่หนึ่ง เห็นเขาปฏิบัติกันถูกต้องดีแล้ว จึงเดินกลับกุฏิของท่าน

             เมื่อพระบัวเฮียวมาสอบอารมณ์ที่กุฏิของพระอุปัชฌาย์ ก็พบว่าครูทั้งสามคนนั่งคุยกับท่านพระครูอยู่ก่อนแล้ว พวกเขาทำความเคารพเมื่อท่านไปถึง แล้วเจ้าอาวาสก็ถามคนเป็นครูใหญ่ขึ้นว่า

            “มีอาการอย่างไรบ้าง กำหนด พอง – ยุบ ชัดไหม”

            “ชัดครับ แต่รู้สึกอึดอัด มีลมอัดอยู่ในท้องมากจนทำให้ปั่นป่วน” ครูใหญ่รายงาน

            “แล้วโยมทำยังไง”

            “ก็ปล่อยให้มันออกมาโดยวิธีธรรมชาติครับ”

            “กำหนดหรือเปล่า”

            “กำหนดครับ ผมก็กำหนดไปตามจริง “เสียงหนอ” บ้าง “กลิ่นหนอ” บ้าง ครูใหญ่ตอบอย่างฉะฉาน

            “แล้วโยมล่ะ” ท่านหันไปถามครูบุญมี

            “เหมือนครูใหญ่ครับ” ครูบุญมีตอบ ท่านจึงหันไปทางครูอรุณ “ผมนั่งหลับน้ำลายไหลยืดเลยครับ” ครูอรุณตอบ คนอื่น ๆ พากันหัวเราะ รวมทั้งท่านพระครูและพระบัวเฮียว

            ที่เจ้าอาวาสสอบอารมณ์คนทั้งสามต่อหน้าพระบัวเฮียว ก็เพื่อต้องการสอนพระบวชใหม่ทางอ้อม ท่านมองหน้าผู้เป็นศิษย์เหมือนจะพูดว่า “เห็นไหมบัวเฮียว คนอื่น ๆ เขาไม่เห็นเรื่องมากอย่างเธอเลย”

            ชะรอยพระบวชใหม่จะเดาความคิดของท่านออก จึงแอบเถียงในใจว่า “โธ่ หลวงพ่อครับ ก็พวกเขาเป็นครู ผมมันแค่ ป.๔ จะให้เก่งกาจเท่าเขาได้ยังไง”

            พระอุปัชฌาย์นึกขำที่คนเป็นลูกศิษย์ชักจะอ่านความคิดของท่านออก จึงสัพยอกขึ้นว่า

            “รู้สึกว่าเธอจะได้ “เห็นหนอ” แล้วนะบัวเฮียว”

 

มีต่อ.....๕
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: เมษายน 09, 2007, 09:26:07 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00005

 

๕...

          พระบัวเฮียวนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ทั้งที่รู้ว่าท่านสัพยอก แต่ใจก็แสนจะปลื้ม อย่างน้อยมันเป็นนิมิตหมายอันดีว่าสักวันหนึ่ง ท่านคงจะได้ “เห็นหนอ” เช่นคนอื่น ๆ บ้าง ก็คุณนายสำไยอ่านหนังสือไม่ออกแท้ ๆ ยังได้นี่นา ท่านมีภาษีกว่าคุณนายคนนั้นตั้งแยะ แถมยังเดินจงกรม นั่งสมาธิเป็นอีกด้วย กำลังคิดเพลิน ๆ ท่านพระครูก็เอ่ยขึ้นว่า
                “เอาละ ต่อไปนี้อาตมาจะสอนเดินจงกรมระยะที่สอง ซึ่งเป็นระยะที่ยากที่สุดในบรรดาการเดินหกระยะ ไหนบัวเฮียวลองบอกมาซิว่า เดินจงกรมระยะที่สอง มีกี่หนอ”

          “สองหนอครับ ระยะที่สามมีสามหนอ”

          “ถูกแล้ว ระยะที่สองให้บริกรรมว่า “ยก – หนอ เหยียบ – หนอ” ขณะที่ปากว่า “ยก” ก็ให้ยกเท้าขวาขึ้นช้า ๆ สูงจากพื้นประมาณสามนิ้ว ยกเสร็จจึงว่า “หนอ” แล้วนิ่งไว้สักหนึ่งวินาที จึงค่อย ๆ เลื่อนเท้าไปข้างหน้าช้า ๆ โดยไม่ต้องบริกรรม ที่ว่ายากมันยากตอนนี้ ตอนที่ไม่มีองค์บริกรรม เลื่อนเท้าเสร็จก็นิ่งไว้หนึ่งวินาที แล้วจึงว่า “เหยียบ” พร้อมกับเหยียบลงไปช้า ๆ เมื่อเท้าถึงพื้นเรียบร้อยแล้ว จึงว่า “หนอ” จากนั้นจึงย้ายสติมาไว้ที่เท้าซ้าย ทำแบบเดียวกัน เมื่อเดินจนสุดทางแล้วให้กำหนดกลับ”

            ท่านเดินให้ดูอีกสามสี่ก้าว แล้วจึงบอกคนทั้งสี่ มีพระหนึ่ง คฤหัสถ์สามทดลองเดิน คนเป็นครูเดินได้โดยไม่ยากนัก แต่คนเป็นพระถึงกับเหงื่อตก คิดจะค้านพระอุปัชฌาย์ว่า

          “ก็ไหนหลวงพ่อว่าให้เดินวันละหนึ่งระยะยังไงล่ะ แล้วทำไมสามคนนี้ถึงเดินวันละสองระยะได้” ก็เลยเลิกล้มความตั้งใจ กระนั้นเสียงพระอุปัชฌาย์ก็ยังลอยมาเข้าหูว่า

          “สามคนนี้เดินระยะที่หนึ่งหกชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่หยุดพัก ก็เลยให้มาเดินระยะที่สองได้”

          เมื่อเห็นว่าแต่ละคนเดินได้ถูกต้องดีแล้ว ท่านพระครูจึงสั่งว่า

          “เอาละ กลับไปเดินระยะที่หนึ่งกับระยะที่สองอย่างละครึ่งชั่วโมง นั่งอีกหนึ่งชั่วโมง พยายามใช้เวลาเดินกับนั่งให้เท่า ๆ กัน ใครปฏิบัติครบสองชั่วโมงแล้วยังไม่ง่วง ก็ให้ทำใหม่อีกรอบหนึ่งจนกว่าจะง่วง เมื่อล้มตัวลงนอนก็ให้เอามือวางบนท้อง พยายามจับให้ได้ว่า หลับไปตอนพองหรือตอนยุบ แล้วก็อย่าลืม ตีสี่ต้องลุกมาเดินหนึ่งชั่วโมง นั่งหนึ่งชั่วโมง พรุ่งนี้แปดโมงเช้าค่อยมาสอบอารมณ์ แต่ถ้าใครมีปัญหาก็มาที่กุฏิอาตมาได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเกรงใจ ถ้าหลับอยู่ก็ให้เด็กปลุกได้”

          ท่านพระครูพูดเปิดทางเอาไว้เพราะ “เห็นหนอ” บอกว่าคืนนี้พระใหม่จะเจอปัญหา

          แยกกันไปยังที่พักของตนแล้วครูสามคนก็ลงมือปฏิบัติตามที่ท่านเจ้าอาวาสสอน คือเดินหนึ่งชั่วโมง นั่งหนึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วครูบุญมีกับครูอรุณจึงสวดมนต์ไหว้พระ ปูเสื่อกางมุ้งแล้วก็นอน ส่วนครูสฤษดิ์คิดว่า จะต้องตักตวงความรู้กลับไปบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงปฏิบัติต่ออีกรอบหนึ่ง ดังนั้นขณะที่ครูน้อยสองคนกำลังหลับอย่างมีความสุขอยู่นั้น ครูเป็นครูใหญ่ก็กำลัง “ยก – หนอ เหยียบ – หนอ” อย่างมีความสุขไม่แพ้กัน

          สวดมนต์ทำวัตรเย็นเสร็จ พระบัวเฮียวตั้งนาฬิกาปลุกไว้หนึ่งชั่วโมง แล้วจึงเดินจงรมระยะที่หนึ่ง เดินอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงจึงเปลี่ยนเป็นระยะที่สองซึ่งท่านไม่ถนัดนัก หากก็เดินจนกระทั่งเสียงกริ่งนาฬิกาดังขึ้น ท่านเดินไปกดปุ่ม ตั้งใหม่อีกหนึ่งชั่วโมง แล้วกำหนดนั่งสมาธิ อาการ พอง – ยุบ คล่องตัวขึ้น ไม่อึดอัดขัดข้องเหมือนเมื่อตอนเช้า

          ท่านนั่งไปเรื่อย ๆ กระทั่งสี่สิบห้านาทีผ่านพ้นไป จึงรู้สึกปวดขาทั้งสองข้าง แรก ๆ ก็พอทนได้ ท่านจึงกำหนด “รู้หนอ” ครั้นปวดมากเข้าจึงเปลี่ยนเป็น “ปวดหนอ” แล้วก็ไม่ใส่ใจกลับไปจับ พอง – ยุบ ต่อไปไม่ยอมเปลี่ยนท่านั่ง

          เมื่อจิตเริ่มตั้งมั่นเป็นสมาธิ อาการปวดดูเหมือนจะทุเลาลง ท่านรู้สึกสบายขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขึ้นกำหนด “สุขหนอ” ได้ จึงเสียดายนักเมื่อกริ่งนาฬิกาดังขึ้น พระใหม่กำหนดลืมตา เอื้อมมือไปกดปุ่มนาฬิกา แล้วลุกขึ้นเดินจงกรมระยะที่หนึ่งใหม่

          คราวนี้ท่านไม่ตั้งเวลา จะเดินจะนั่งจนเป็นที่พอใจโดยไม่ต้องให้เวลามาเป็นตัวกำหนด ท่านเดิน “ขวา – ย่าง – หนอ  ซ้าย – ย่าง – หนอ” อยู่พักใหญ่ ๆ จึงเปลี่ยนมาเป็น “ยก – หนอ  เหยียบ – หนอ” ระยะที่สองเดินยาก ท่านเลยเดินน้อยหน่อย เสร็จแล้วจึงกำหนดนั่ง อยากได้อารมณ์เหมือนเมื่อตะกี้ เพราะมันสุขสบายดีแท้ ๆ ภิกษุหนุ่มไม่รู้ตัวดอกว่า กำลังจะถูกมารหลอกล่อให้หลงทางเสียแล้ว ท่านนั่งกำหนด “พอง – หนอ  ยุบ -  หนอ” ไปเรื่อย ๆ รู้สึกชุ่มชื่นเย็นฉ่ำในหัวใจ อาการปวดเมื่อยไม่ปรากฏ ท่านสบายเสียจนไม่ยอมกำหนด “สุขหนอ” เพราะกลัวมันจะหายไป

          พระบัวเฮียวเพลิดเพลินในสุขกระทั่งลืมแม้องค์บริกรรม เมื่อไม่กำหนด พอง – ยุบ สติก็เผลอไผล จิตจึงฟุ้งซ่านล่องลอยไป ในภาวะนั้น ท่านเห็นตัวเองลอยอยู่กลางนภากาศ มีรัศมีสวยงามแผ่ซ่านออกมาจากกาย เสียงไพเราะกระซิบข้างหูว่า

          “ท่านสำเร็จแล้ว ท่านสำเร็จแล้ว ไปสิท่องเที่ยวไป อยากไปไหนก็ไปได้ทุกแห่งหน”

          “ถ้าอย่างนั้นฉันอยากไปนรก ช่วยพาฉันไปหน่อย” ท่านพูดโต้ตอบกับเสียงไพเราะนั้น

          “ไม่ต้องพา ท่าไปเองได้เพียงแค่นึกก็ถึงแล้ว”

          “จริงหรือ เอาละ ถ้าอย่างนั้นฉันนึกอยากไปเมืองนรก แล้วท่านก็รู้สึกว่าตัวเองล่องลอยไปถึงเมืองนรก เห็นยมบาลกำลังตักน้ำที่กำลังเดือดอยู่ในกระทะทองแดงกรอกปากบิดา ท่านจึงพูดกับยมบาลว่า

          “ท่านยมบาล อาตมาจะพาไปเที่ยวเมืองสวรรค์ ขอให้ช่วยโยมบิดาของอาตมาขึ้นจากนรกด้วยเถิด คนที่ท่านกำลังเอาน้ำร้อนกรอกปากอยู่นั้นแหละ คือโยมบิดาของอาตมา”

          “หลวงพี่ที่เคารพ นับประสาอะไร ที่จะช่วยโยมบิดาของหลวงพี่ได้เล่า แม้แต่แม่ยายผม ผมยังช่วยไม่ได้ ช่วยไม่ได้จริง ๆ ภรรยาเขาก็ขอร้องมา บอกให้ช่วยแม่ด้วยนะพี่นะ นึกว่าสงสารแก”

          “แม่ยายท่านทำบาปอะไรมาล่ะ”

          “แกฆ่าสัตว์ พวกหมู เป็ด ไก่ ห่าน ฆ่ามาไหว้เจ้าตอนตรุษจีนน่ะ ใจคอแกโหดเหี้ยม ทารุณดุร้าย”

          “ก็ท่านยมบาลทำไม่ช่วยไม่ได้เล่า”

          “โธ่หลวงพี่ ไอ้ผมก็อยากจะช่วย แต่โจทก์มันมาประท้วงกันเต็มไปหมด ทั้งหมู เป็ด ไก่ ห่าน ดูสิมันยืนประท้วงอยู่นั่น ส่งเสียงร้องระงมเลย”

          พระบัวเฮียวมองออกไปก็เห็นจริงดังยมบาลว่า สัตว์เหล่านั้นส่งเสียงร้องเซ็งแซ่ จับความได้ว่า

          “ไม่ได้นะยมบาล ช่วยไม่ได้ ยายคนนี้ทำให้พวกฉันทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ถ้ายมบาลช่วยมัน พวกฉันจะไปฟ้องพญายมราช ให้ลงโทษท่าน” โจทก์ขู่

          “เห็นไหมหลวงพี่ เห็นหรือยังว่า ผมช่วยไม่ได้จริง ๆ ถ้าผมช่วยโยมบิดาของหลวงพี่ เดี๋ยวพวกวัวควายมันก็ไล่ขวิดผมตายเท่านั้น ก็โยมบิดาของหลวงพี่ฆ่าวัว ฆ่าควายไว้เป็นร้อยเป็นพันตัว ถ้าไม่เชื่อผมจะไปเปิดบัญชีให้ดูก็ได้”

          “ไม่ต้องหรอกท่านยมบาล อาตมาเชื่อท่าน” พูดกับยมบาลแล้วจึงหันไปพูดกับโยมบิดาว่า

          “โยมพ่อ อาตมาพยายามช่วยแล้ว แต่ยมบาลเขาไม่ยอม โยมพ่ออดทนไปก่อนนะ อาตมากำลังปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดป่ามะม่วง แล้วจะแผ่ส่วนกุศลมาให้ อาตมาขอลา จะไปดูสวรรค์สักหน่อย”

          แล้วท่านก็ล่องลอยออกจากเมืองนรกไปเมืองสวรรค์ เยี่ยมเยียนสวรรค์เสียทุกชั้นตั้งแต่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี ได้เห็นเทพบุตร เทพธิดาเหาะไปมาอยู่ในอากาศ รูปร่างสะสวยงดงาม มีเครื่องประดับทำด้วยเพชรนิลจินดา ส่องแสงเป็นประกายวูบวาบ

          เมื่อเห็นท่านลอยผ่านหน้า เทพบุตร เทพธิดาเหล่านั้นต่างยกมือทำความเคารพ ท่านทักทายปราศรัยอยู่กับพวกเขา จนได้เวลาอันสมควรแล้วจึงลอยกลับมายังกุฏิ เห็นกายเนื้อของท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ก็รู้ว่า ร่างที่ล่องลอยอยู่นี้เป็น “กายทิพย์” จึงลอยไปเข้ากายเนื้อ แล้วจึงกำหนดลืมตา

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านสด ๆ ร้อน ๆ นี้ ทำให้ท่านเข้าใจผิดคิดไปว่าตัวเองสำเร็จแล้ว จึงอยากจะไปกราบเรียนให้ท่านพระครูทราบ ขณะนั้นเป็นเวลาตีสอง คงจะรอให้ถึงรุ่งเช้าไม่ไหว เพราะใจมันร้อนรน อยากให้พระอุปัชฌาย์ได้รู้ว่า ลูกศิษย์ของท่านสำเร็จแล้ว ได้ “เห็นหนอ” แล้ว

          พลันก็นึกถึงที่ท่านพูดอนุญาตไว้ เพราะตอนสามทุ่มเศษ ๆ แสดงว่าท่านจะต้องรู้ว่าศิษย์ของท่านจะมาหาในคืนนี้ คิดได้ดังนั้นจึงเดินดุ่ม ๆ ไปยังกุฏิเจ้าอาวาส โดยไม่สะทกสะท้านต่อความหนาวเย็นของอากาศ

          สุนัขสามสี่ตัวเห็นคนเดินดุ่ม ๆ มาในยามวิกาลเช่นนั้น ก็ส่งเสียงเห่ากรรโชกขึ้น แล้วพากันวิ่งกรูเข้ามา พระบัวเฮียวจึงต้องส่งเสียงทักทายออกไป สุนัขเหล่านั้นพร้อมใจกันหยุดเห่า แล้ววิ่งกลับไปยังที่ที่ตนนอน

          “สมชาย สมชาย เปิดประตูหน่อย” ท่านตะโกนเรียกลูกศิษย์วัด เด็กหนุ่มงัวเงียลุกขึ้นมาเปิดประตู แล้วจึงถามอย่างไม่พอใจนัก

          “หลวงพี่มาทำไมดึก ๆ ดื่น ๆ ผมกำลังหลับสบาย ๆ”

          “หลวงพ่อหลับหรือยัง” ถามแทนคำตอบ ศิษย์วัดมองขึ้นไปเห็นไฟยังสว่างอยู่จึงตอบว่า

          “ยังมั้ง ไฟยังเปิดอยู่นี่”

          “ขอขึ้นไปพบท่านหน่อยได้ไหม”

          “ให้ผมไปถามท่านดูก่อน ปกติท่านไม่อนุญาตให้ใครขึ้นไปข้างบน” พูดแล้วก็ขึ้นไปหาท่านพระครู ยังไม่ทันพูดอะไร ท่านก็พูดขึ้นเสียก่อนว่า

          “พระบัวเฮียวใช่ไหม บอกให้รออยู่ก่อน ประเดี๋ยวฉันจะลงไป” แล้วท่านก็ก้มหน้าก้มตาเขียนหนังสือต่อไปอีกสักครู่ จึงลงมาข้างล่าง

          “มีอะไรหรือ” ท่านทักขึ้น

          “หลวงพ่อยังไม่จำวัดอีกหรือครับ” พระใหม่ถาม

          “ยัง หมู่นี้งานยุ่งมาก ฉันลืมนอนมาหลายวันแล้ว”

          “หลวงพ่อไม่ง่วงหรือครับ”

          “ฉันกำหนดสติอยู่ตลอดเวลา มันก็เลยแก้ง่วงได้ จำไว้เวลาเธอง่วงมาก ๆ ให้ตั้งสติไว้ตรงลิ้นปี่แล้วกำหนด “ง่วง – หนอ  ง่วง – หนอ”  รับรองหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง”

            พระบัวเฮียวกำลังจะเอ่ยปากพูด ก็พอดีท่านพระครูพูดขึ้นว่า

          “นี่เธอรู้ไหม ฉันกำลังเขียนหนังสือคู่มือสอบกรรมฐาน เขียนมาได้ร้อยกว่าหน้าแล้ว เผื่อว่าฉันตายไป จะได้มีตำราไว้สอบอารมณ์ในการปฏิบัติ หนังสือแบบนี้ยังไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน”

            “จวนเสร็จหรือยังครับ”

          “ยัง คงอีกหลายปี นี่ฉันเขียนมาปีกว่าแล้ว เพิ่งได้ร้อยกว่าหน้าเอง มันไม่ใช่จะเขียนได้ง่าย ๆ เอาละทีนี้ เธอมีอะไรก็ว่าไป เสร็จธุระแล้วฉันจะได้กลับไปเขียนหนังสือต่อ” ท่านต้องพูดกันเอาไว้ก่อนเพื่อให้ผู้เป็นศิษย์รู้ว่าท่านมีงานที่จะต้องทำรออยู่

          “หลวงพ่อครับ ผมได้ “เห็นหนอ” แล้วครับ” บอกอย่างปีติ

          “อ้อ... เร็วถึงขนาดนั้นเชียวหรือ แล้วรู้ได้ยังไงว่าได้ หรือว่ามีใครมาบอก”

          “ครับ มีเสียงมากระซิบข้างหูผม”

          “กระซิบว่ายังไง”

          “บอกว่า “ท่านสำเร็จแล้ว ท่านสำเร็จแล้ว” ครับ”

            “อ้อ...” ท่านพระครูพูดยิ้ม ๆ พระบัวเฮียวเลยทำหน้าปั้นยาก ท่านพระครูยิ้มแบบนี้ทีไร เป็นได้เรื่องทุกที

          “แล้วเสียงที่เธอได้ยิน เป็นเสียงเดียวกันกับที่ได้ยินเมื่อปีที่แล้วหรือเปล่า”

          “ไม่ใช่แน่ ๆ ครับ เสียงเมื่อคืนไพเราะน่าฟังกว่า”

          “แล้วเขาว่ายังไงอีก” พระอุปัชฌาย์ซัก

          “เขาบอกให้ผมท่องเที่ยวไป อยากไปไหนก็ไปได้ทุกหนทุกแห่ง เพียงแต่นึกเท่านั้นก็ไปได้ แล้วผมก็เลยไปเที่ยวเมืองนรกเมืองสวรรค์ ที่เมืองนรกผมพบโยมพ่อด้วย ผมขอร้องให้ยมบาลให้ช่วยพ่อ แต่ท่านบอกว่าช่วยไม่ได้เพราะแม้แต่แม่ยายท่านเอง ท่านก็ยังช่วยไม่ได้”

          “เหมือนฉันเปี๊ยบเลย” ฉันก็เคยไปเห็นเมืองนรกมาแล้ว ก็เจออย่างที่เธอเล่ามานี่แหละ” พระบัวเฮียวยิ้มแป้นเมื่อท่านพระครูบอกว่า ท่านก็เคยเห็นนรกมาแล้วเช่นเดียวกัน

          “ถ้าอย่างนั้นผมก็สำเร็จแล้วจริง ๆ ใช่ไหมครับ” ถามอย่างตื่นเต้น

          “ใครบอกเธอล่อบัวเฮียว เธอถูกมารมันหลอกเอาน่ะซิ ถูกมารหลอกเหมือนกับที่ฉันเคยถูกหลอกมาแล้ว”

          คราวนี้พระบัวเฮียวถึงกับใจฝ่อแฟบลงไป ถามท่านเสียวอ่อยว่า

          “หมายความว่าอย่างไรครับ แสดงว่าผมเห็นไม่จริงใช่ไหมครับ”

          “จริงซิ เธอเห็นจริง ๆ แต่สิ่งที่เธอเห็นมันไม่จริง เข้าใจหรือยังล่ะ”

          “ยังไม่เข้าใจครับ หลวงพ่อกรุณาขยายความหน่อยเถิดครับ ผมชักงง” คนซื่อตอบซื่อ ๆ

          “คือที่เธอไปเห็นนรกสวรรค์น่ะ เธอเห็นจริง ๆ เหมือนกับตอนที่ฉันเห็น ฉันก็เห็นจริง ๆ แต่นรกสวรรค์ที่เธอเห็นหรือที่ฉันเห็นนั้น มันไม่จริง เรียกว่า เราสองคนต่างก็ไปเห็นของไม่จริงมาว่างั้นเถอะ ที่ว่าไม่จริง เพราะมันเป็นภาพลวงตาที่จิตของเราเป็นผู้สร้างขึ้น เขาเรียกว่า เทวบุตตมาร ฉันถึงว่าเธอถูกมารหลอกเอาไงล่ะ”

          “ถ้าอย่างนั้นแสดงว่า นรกสวรรค์ไม่ได้มีอยู่จริงใช่ไหมครับ”

          “มีซี เป็นชาวพุทธจะว่านรกสวรรค์ไม่มีได้ยังไง อีกหน่อยถ้ามีเวลาไปอ่านพระไตรปิฎกซะ จะได้หายสงสัย นั่นอยู่ในตู้นั่น” ท่านชี้ไปที่ตู้พระไตรปิฎก ซึ่งมีหนังสือเล่มสีน้ำเงินบรรจุอยู่เต็ม

          “หลวงพ่อครับ ในเมื่อนรกสวรรค์มีจริง แล้วทำไมสิ่งที่ผมกับหลวงพ่อเห็นจึงไม่จริงเล่าครับ” พระใหม่ยังไม่หายสงสัย แทนคำตอบ ท่านพระครูกลับย้อนถามว่า

          “เธอไม่แปลกใจบ้างหรือบัวเฮียว ว่าเธอมาปฏิบัติแค่สองวันก็สามารถเห็นนรกสวรรค์ ทีคนอื่น ๆ เขาปฏิบัติกันมาเป็นสิบ ๆ ปี ก็ยังไม่เห็น”

          “มันแล้วแต่บุญบารมีของแต่ละคนนี่ครับ” คนซื่อเลี่ยงตอบไปอีกทางหนึ่ง

          “ตอบอย่างนั้น มันก็มีส่วนถูกอยู่เหมือนกัน นี่จำไว้นะบัวเฮียว อะไรก็ตามที่เธอเห็นตอนนั่งสมาธิ เธอสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันจริงหรือไม่จริง”

          “พิสูจน์อย่างไรครับ” ถามอย่างสนใจ

          “ง่ายนิดเดียว เมื่อไหร่ที่เธอทิ้งองค์บริกรรม ก็แน่ใจได้เลยว่าสิ่งที่เธอเห็นมันเป็นภาพลวง แต่ถ้าเธอเห็นทั้ง ๆ ที่ยังมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม สิ่งนั้นมันก็จริง พูดง่าย ๆ ก็คือต้องใช้สติไปเห็น ทีนี้เข้าใจหรือยังล่ะ”

          “เข้าใจแล้วครับ หลวงพ่อครับ เมื่อกี้หลวงพ่อพูดถึงเทวปุตตมาร มันเป็นอย่างไรครับ”

          “อ้อ... มารที่ว่านี้ก็คือสิ่งที่มาขัดขวางไม่ให้เราทำความดี อย่างการนั่งสมาธินี่ถือว่าทำความดีขั้นสูงสุด อย่าลืม ทาน ศีล ภาวนา สามอย่างนี้มีระดับไม่เท่ากัน

          การให้ทาน ถือเป็นความดีขั้นธรรมดา

          การรักษาศีล เป็นความดีขั้นสูงกว่าทาน

          การบำเพ็ญภาวนา เช่นการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ถือเป็นความดีขั้นสูงสุด

เมื่อไรที่เราทำความดี เมื่อนั้นจะต้องผจญมาร มารมี ๕ ประเภทด้วยกันคือ

            ขันธมาร       ได้แก่ ความปวดเมื่อย คนตรงโน้น เจ็บตรงนี้ เวลาที่เธอปวดขาแทบหลุด นั้นแหละเธอกำลังผจญกับขันธมาร

          กิเลสมาร       ได้แก่ กิเลสต่าง ๆ เช่น นั่งแล้วอยากเห็นเลข ก็เป็นโลภะ นึกขัดเคืองเคียดแค้นคนอื่น ก็เป็นโทสะ หรือนั่งเพลิน ๆ ติดสุข ก็เป็นโมหะ

          เทวปุตตมาร ก็เช่นเห็นเทพบุตร เทพธิดา เห็นนรกสวรรค์ อย่างที่เธอเผชิญมาแล้ว

          อภิสังขารมาร ก็ได้แก่ ความคิดปรุงแต่ง อยากเห็นโน่นเห็นนี่ อยากได้ “เห็นหนอ” อยากสำเร็จเป็นพระอรหันต์

          ส่วนอันสุดท้ายคือ มัจจุราช อันนี้ร้ายที่สุด เพราะถ้าตายเสียแล้วโอกาสที่จะมานั่ง พอง – หนอ  ยุบ – หนอ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเธอจะต้องรู้เท่าทันมารเหล่านี้ ขอให้จำไว้ว่า “มารไม่มี บารมีไม่เกิด” เพราะฉะนั้น เธอต้องเอาชนะมารให้ได้”

          พระบวชใหม่เดินกลับกุฏิอย่างเหงาหงอย แอบรำพึงในใจว่า “ไม่น่าเล้ยตูเอ๊ย ถูกมารหลอกเข้าจนได้”

 

มีต่อ......๖

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #6 เมื่อ: เมษายน 09, 2007, 09:26:54 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00007

 

๗...

          ลูกศิษย์วัดนำรัฐมนตรีและคณะไปยังโรงครัว ซึ่งอุบาสกอุบาสิกากำลังนั่งรับประทานอาหารกันเป็นโต๊ะ ๆ ละประมาณ ๑๐ คน
                พวกเขาพากันมานั่งกรรมฐาน โดยมาส่วนตัวบ้าง มาเป็นคณะบ้าง บางคนก็มาเข้าสามวัน เจ็ดวัน บางคนก็มาอยู่เป็นเดือน และก็มีไม่น้อยที่ตั้งใจมาอยู่ ๗ วัน แต่พอครบกำหนดแล้วก็ไม่ยอมกลับ เพราะซาบซึ้งในรสพระธรรม ร้อนถึงสามีหรือภรรยาต้องมาอ้อนวอนขอให้กลับไปช่วยกันเลี้ยงลูก

            ส่วนประเภทที่มาแล้วอยู่ไม่ได้เพราะไม่ถูกชะตากับ พอง – หนอ ยุบ – หนอ ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปก็พอมีบ้าง แต่พวกที่มาแล้วไม่ยอมกลับนั้นมีมากกว่า

            รสชาติของอาหารมื้อนั้น ช่างอร่อยถูกปากคุณหญิงเสียนัก แม้จะเป็นอาหารพื้น ๆ ที่ดูแล้วไม่เชิญชวนให้รับประทาน แต่เมื่อได้ลิ้มลองเข้าไปแล้ว จึงรู้ว่าฝีมือระดับนี้ หาตัวจับยาก

            “แกงหน่อไม้อร่อยจัง ก่อนแกงต้องเอาหน่อไม่มาต้มก่อนหรือเปล่าจ๊ะ” คุณหญิงถามแม่ครัว

            “ไม่ใช่หน่อไม้หรอกค่ะคุณ นั่นแกงยอดมะพร้าวค่ะ ดูแล้วเหมือนหน่อไม้ รสชาติก็คล้าย ๆ กัน ใคร ๆ ก็คิดว่าเป็นหน่อไม้” แม่ครัวไม่รู้ว่าคนที่ตนกำลังพูดด้วยเป็นคุณหญิง นายตำรวจผู้ทำหน้าที่หิ้วกระเป๋าถือราคาแพงจึงต้องบอกว่า “ป้า นี่คุณหญิงนะป้า”

            “ขอโทษเจ้าค่ะคุณหญิง อีฉันไม่ทราบจริง ๆ อย่าถือสาคนบ้านนอกคอกนาเลยนะเจ้าค่ะ” แม่ครัวพูดพร้อมกับยกมือไหว้ประหลก ๆ

            “ไม่เป็นไรจ้ะ แหมกับข้าวอร่อยทุกอย่างเลย ปลาเกลือทอด เค็มกำลังพอดี แกงส้มผักกาดดองก็รสกลมกล่อม ใส่ผงชูรสหรือเปล่าจ๊ะ”

            “ไม่ได้ใส่เจ้าค่ะ หลวงพ่อท่านให้ใส่สติแทน บอกว่าผงชูรสก็สู้ไม่ได้”

            “เป็นยังไงจ๊ะ ใส่สติ” คุณหญิงไม่เข้าใจ

            “คือท่านให้แม่ครัวเข้ากรรมฐานเจริญสติปัฏฐาน ๔ คนละเจ็ดวัน เวลาทำกับข้าว ก็ให้กำหนดสติเจ้าค่ะ” ถึงตอนนี้ คุณหญิงไม่ค่อยเข้าใจ ได้ยิน “สติปัฏฐาน ๔” เป็นครั้งที่สองแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร อิ่มข้าวแล้วจะต้องไปเรียนถามท่านพระครูสักหน่อย เรื่องอะไร จะต้องมาถามแม่ครัวให้เสียชื่อคุณหญิงท่านรัฐมนตรี

            “คนมากจริง นี่ค่ากับข้าววันหนึ่ง ๆ คงตกหลายพันบาทซีนะ” คุณหญิงพูดพลาง หันไปมองโต๊ะอื่น ๆ ที่คนนุ่งขาวห่มขาวทั้งชายหญิงกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่

            “เจ้าค่ะ แล้วแต่แขกมากแขกน้อย ก็เลี้ยงคนทั้งวัดนี่เจ้าคะ บางวันมีคนถึงห้าร้อย คากับข้าวก็ตกสามพันบาท เฉลี่ยหัวละหกบาทต่อวัน นี่ขนาดวันละสองมื้อนะเจ้าคะ หลวงพ่อท่านให้ถือศีลแปดทุกคน”

            “แล้ววัดเอาเงินที่ไหนมาจ่ายล่ะจ๊ะ”

            “ก็มีคนมาบริจาคเรื่อย ๆ เจ้าค่ะ แต่ถ้าไม่มีจริง ๆ หลวงพ่อท่านก็...

            “ก็ทำไมจ๊ะ” คนเป็นคุณหญิงอยากรู้ แม่ครัวค้อมตัวลง เอามือป้องปากกระซิบว่า “หลวงพ่อท่านก็เชื่อเขามาเจ้าค่ะ พอมีเงิน ท่านก็เอาไปใช้เขา”

            “ตายจริง แล้วพวกที่มาอยู่วัดหลาย ๆ วัน ทางวัดไม่เก็บเงินเขาหรือ”

            “ไม่เก็บเจ้าค่ะ หลวงพ่อท่านไม่ให้เก็บ ท่านบอกว่า เขามาสร้างฟามดี เราต้องสนับสนุนเขา แต่ว่าบางคนเขาก็ทำบุญให้วัดบ้างเหมือนกัน ก็พลอยได้ประสมประเสกันไป ว่าก็ว่าเถอะนะคะคุณหญิง คนสมัยนี้ จะทำฟามดีทั้งที ก็ต้องให้จ้างกัน” แม่ครัวออกเสียง “ความ” เป็น “ฟาม”

            นายตำรวจที่ติดตามรัฐมนตรีแอบสังเกตว่า คณะอุบาสกอุบาสิกาที่มาบำเพ็ญศีลภาวนา ต่างพากันรับประทานอย่างสงบเสงี่ยม ไม่มีเสียงพูดคุยกันเลย พวกเขาซึ่งคุยกันเสียงดังเมื่อตอนเดินเข้ามา จึงต้องหยุดไปโดยปริยาย

            อีกประการหนึ่ง รสชาติของอาหารซึ่งแม้จะมีเพียงสามอย่างหากก็อร่อยถูกปากไปเสียทุกอย่าง ทำไมปากไม่ว่างพอที่จะคุยได้

            เสร็จจากอาหารคาว ก็เป็นอาหารหวาน ซึ่งมีเพียงอย่างเดียว คือ ข้าวเม่าพล่ารสเลิศ ที่ว่ารสเลิศเพราะหวาน มัน เค็ม พอดิบพอดี คุณหญิงมีอันต้องเรียกแม่ครัวคนเดิมมาถามอีกว่า

            “ป้าจ๊ะ ข้าวเม่าพล่าอร่อยจัง ทำยังไงจ๊ะ ฉันจะได้ไปบอกแม่ครัวที่บ้านให้ทำบ้าง” แม่ครัวหน้าบานอีกครั้ง สาธยายว่า ทำไม่ยากหรอกเจ้าค่ะคุณหญิง แต่ถ้าจะให้อร่อย มันต้ออาศัยแท้คติก”

            “อะไรจ๊ะ แท้คติค” คุณหญิง “เป็นงง”

            “เป็นภาษาฝาหรั่งน่ะเจ้าค่ะ คุณหญิงไม่เคยได้ยินหรือเจ้าคะ หล่อนออกเสียง ฝรั่ง ไม่ได้ เลยเป็น “ฝาหรั่ง” ไป

            “ไหน ลองสะกดให้ฟังหน่อยซิ มีตัวอะไรบ้าง เผื่อฉันจะรู้จัก”

            “โอ๊ย ไม่ได้หรอกเจ้าค่ะ อีฉันไม่ได้เรียนหนังสือ อย่าว่าแต่ภาษาฝาหรั่งเลย ภาษาไทยก็ยังไม่กระดิกหู”

            “อ้าว แล้วทำไมใช้คำภาษาฝรั่งได้ล่ะจะ”

            “อีฉันจำเขามาเจ้าค่ะ” แม่ครัวสารภาพ

            “สงสัยคงจะเป็น “เทคนิค” มั้งป้า” คนเป็นรัฐมนตรีท้วง

            “เออ เออ ใช่ ใช่ ค่ะ” แกหันไปพยักพเยิดกับรัฐมนตรี แล้วจึงหันไปพูดกับคุณหญิงว่า “มันต้องอาศัยเทคนิคเจ้าค่ะ คุณหญิง”

            “เทคนิคอะไรบ้าง ป้าบอกหน่อยได้ไหม”

            “อุ๊ย ทำไมจะไม่ได้ล่ะเจ้าคะ เทคนิคขั้นแรกก็คือ การเลือกข้าวเม่าที่จะนำมาพล่านั้น ต้องเลือกชนิดนิ่ม ๆ วิธีที่จะได้ข้าวเม่านิ่ม ๆ ก็ต้องอาศัยเทคนิคอีกเหมือนกัน คือข้าวที่จะเอามาคั่วนั้น จะต้องเกี่ยวมาตอนมันสด ๆ ที่เม็ดยังไม่ทันเหลือง แต่ถ้าเขียวเกินไปก็แสดงว่า ยังเป็นน้ำนมอยู่ ใช้ไม่ได้ ต้องให้สีอมเขียวอมเหลือง ถึงจะกำลังดี

            เสร็จแล้ว ก็เอามานวด ให้เหลือแต่เม็ด แล้วคั่ว คั่วเสร็จ ก็ใส่ครกตำทั้งที่ยังร้อน ๆ อย่าปล่อยให้เย็น เพราะข้าวเม่าที่ได้จะแข็ง ต้องตำร้อน ๆ ถึงจะนิ่ม เห็นมั๊ยคะว่าเวลาตำก็ต้องใช้เทคนิค พอตำเสร็จ ก็เอามาฝัดอย่างมีเทคนิค คือต้องเก็บกากออกให้หมด”

            “แหม เทคนิคแยะจังนะป้านะ” รัฐมนตรีขัดขึ้น

            “เจ้าค่ะ ไม่งั้นก็ไม่อร่อยซะเจ้าคะ”

            “จ้ะ ๆ แล้วยังไงอีกจ๊ะ” คุณหญิงอยากรู้

            “เมื่อฝัดเสร็จ ก็เอาเกลือมาละลายกับน้ำฝนที่อบด้วยดอกมะลิ ชิมพอให้เค็มปะแล่ม ๆ อย่าให้เค็มหรือจืดเกิน เสร็จแล้ว จึงเอาน้ำเกลือพรมข้าวเม่าให้ทั่ว เวลาพรมต้องใช้เทคนิคนะเจ้าคะ คือพรมให้พอหมาด ๆ ถ้าแฉะเกินไป ข้าวเม่าจะติดกันเป็นก้อน ถ้าพรมน้อยเกินไป ข้าวเม่าก็จะนิ่มไม่เสมอกัน

            เมื่อพรมน้ำเกลือทั่วแล้ว ก็หากาละมัง หรือ ฝาหม้อมาครอบหมักเอาไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างที่รอก็เอามะพร้าวมาขูด มะพร้าวก็ต้องเลือกที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป เวลาขูดก็ต้องใช้กระต่ายขูด ไม่ใช้เครื่องเพราะจะทำให้บูดเร็ว แล้วก็ไม่ต้องขูดให้ถึงก้นกะลา เดี๋ยวจะดูดำไม่น่ากิน

            เสร็จแล้ว จึงเอาไปคลุกกับข้าวเม่าที่หมักไว้ คลุกให้ทั่ว ๆ นะเจ้าคะ เวลาจะรับทาน ก็เอาน้ำตาลโรงหน้า บางคนก็นิยมรับทานกับกล้วยไข่ ไม่มีกล้วยไข่ จะใช้กล้วยน้ำว้าแทนก็พอได้

            อ้อ...น้ำตาลที่จะใช้ก็ต้องมีเทคนิคนะเจ้าคะ คือต้องเลือกชนิดที่เม็ดเล็ก ๆ ถ้าเม็ดใหญ่ต้องนำมาป่นเสียก่อน เวลาป่นต้องใช้ครกที่สะอาด เพราะหากมีกลิ่นพริกหรือกลิ่นกระเทียมปน มันก็เสียฟามอร่อยได้เจ้าค่ะ” สาธยายจบก็หอบฮั่ก ๆ เพราะเสียงที่ใช้ดังเกินพิกัดไปหน่อย

            “ขอบใจจ้ะป้า นี่ได้ความรู้อีกแยะเลย” พูดพลางยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม เพิ่งจะสังเกตว่า แม้แต่น้ำก็ยังอร่อย จึงออกปากชมว่า

            “น้ำนี่ดื่มแล้วชื่นใจจัง น้ำฝนหรือจ๊ะป้า”

            “เจ้าค่ะ หลวงพ่อท่านให้รองไว้ในแท้งค์ การรองน้ำฝนก็ต้องมีเทคนิคนะเจ้าคะ” คนเทคนิคมากอธิบายเห็นคนฟังไม่ซัก จึงพูดต่อไปว่า “คือตกหนแรกหนสอง อย่าเพิ่งไปรอง เพราะฝุ่นละอองยังไม่หมด ต้องหนสามหนสี่ถึงจะใช้ได้”

            ดังนั้น นอกจากจะอิ่มท้องแล้ว คุณหญิงยังได้เทคนิคการทำข้าวเม่าพล่าเป็นของแถมอีกด้วย อารมณ์เธอจึงดีขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ขัดข้องที่สามีจะกลับไปคุยกับท่านพระครูอีก เธอเองก็เริ่มจะสนใจ ท่านพระครูมีอะไร ๆ ที่พิเศษไปกว่าพระที่เธอเคยรู้จัก

            หลังอาหารเพล คณะของครูสฤษดิ์กลับไปปฏิบัติต่อยังศาลาที่พัก เวลาสองทุ่มท่านพระครูนัดให้ไปสอบอารมณ์และจะสอนเดินจงกรมระยะที่สี่ให้ วันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ท่านก็จะสอนเดินระยะที่ห้าและที่หก พวกเขาจะรู้จักวิธีเดินจงกรมทั้งหกระยะภายในสามวัน ท่านพระครูท่านยืดหยุ่นได้เสมอ กระนั้นท่านก็ต้องดูพื้นฐานและความสนใจของผู้เรียนด้วยว่า จะรับไหวหรือไม่

            รับประทานอาหารกันเป็นที่อิ่มหนำสำราญแล้ว รัฐมนตรีนำคณะของตนกลับมายังกุฏิเจ้าอาวาสอีกครั้ง ท่านพระครูรู้ว่า วันนี้จะต้องเล่าเรื่องคุณนายลำไย จึงให้ลูกศิษย์วัดไปตามพระบัวเฮียวมาฟังด้วย

            “พระคุณเจ้าไม่รู้สึกหิวหรือครับ” นายตำรวจถาม เพราะตัวเขาแม้จะรับประทานวันละสามมื้อ ก็ยังต้องหาอะไรรองท้องแทบทุกครั้งก่อนเข้านอน

            “ไม่หิว อาตมาชินแล้ว สมัยเดินธุดงค์ในป่าดงพระยาเย็น เคยอดเจ็ดวันเจ็ดคืนติด ๆ กัน ยังอยู่ได้” ท่านพระครูตอบ

            “พระคุณเจ้าคะ ดิฉัน เอ้อ...สงสัยจังค่ะว่า พระคุณเจ้ารู้ได้อย่างไรว่าคนนี้คิดอะไร หรือมีความเป็นมาอย่างไร” คุณหญิงถามขึ้น

            “อาตมาก็ใช้ “เห็นหนอ” น่ะซี คุณหญิงสนใจไหมเล่า”

            “สนใจค่ะ ทำยังไงคะ”

            “ไม่ยากหรอกคุณหญิง วิธีง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ต้องทำจริง ๆ ทำไม่จริงก็ไม่ได้ วิธีที่ว่าก็คือให้เจริญสติปัฏฐาน ๔ พอสติดีถึงขึ้น “เห็นหนอ” ก็เกิดเอง อย่าลืมว่า “เห็นหนอ” นี่มีค่ามหาศาลทีเดียว ใช้ดูกฎแห่งกรรมได้ชัดแจ๋วเลย

            ดิฉันขอเรียนวิชาที่ว่านี้ได้ไหมคะ หรือว่าผู้หญิงเรียนไม่ได้”

            “ทำไมจะไม่ได้ ผู้หญิงผู้ชายเรียนได้ทั้งนั้น ขอให้มีจิตกับกายก็แล้วกัน ถ้าคุณหญิงอยากเรียน ต้องมาเข้าชั้นเรียนที่วัดนี้อย่างน้อยเจ็ดวัน แล้วกลับไปฝึกต่อที่บ้านจนกว่าจะได้ อาตมาจะเล่าเรื่องคนที่ได้ “เห็นหนอ” ให้ฟัง อยากฟังไหมเล่า”

            “อยากฟังครับ” “อยากฟังค่ะ” ทุกคนตอบขึ้นพร้อมกัน

            “เอาละ อยากฟังก็จะเล่าให้ฟัง คุณนายลำไยแกเป็นเมียครูวงษ์ บ้านอยู่อ่างทอง ครูวงษ์เป็นครูประชาบาลจังหวัดอ่างทอง สอนวิชาศีลธรรม แต่กินเหล้าเมาทุกวัน นอกจากกินเหล้าแล้ว ยังเจ้าชู้อีกด้วย ส่วนคุณนายลำไยก็ปากจัด ด่าไฟแลบเลย แกอ่านหนังสือไม่ออก เพราะไม่เคยเรียน

            วันหนึ่ง แกมาหาอาตมา มาฟ้องเรื่องผัวเจ้าชู้ อาตมากับครูวงษ์รู้จักกันดี แกมาที่วัดนี้บ่อย ๆ พอคุณนายลำไยมาฟ้อง อาตมาเลยบอกแกว่า ถ้าอยากให้ผัวเลิกเจ้าชู้ ต้องมาเข้ากรรมฐานที่วัดเจ็ดวัน คุณนายลำไยก็มา อาตมาก็สอนให้แกเจริญสติปัฏฐาน ๔ ปรากฏว่า แกทำไม่ได้เลย เดินจงกรมก็ไม่ได้ ขวาย่างเป็นซ้ายย่าง ซ้ายย่างเป็นขวาย่าง เพราะแกไม่รู้กระทั่งว่าข้างไหนเท้าซ้าย ข้างไหนเท้าขวา

            อาตมาก็ลองให้แก่นั่งสมาธิด้วย การกำหนดว่า “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” แกก็ว่า ทำได้สบายมาก แล้วแกก็นั่งขัดสมาธิ ปากก็ว่า “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ  พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” ว่าเสียงดังเชียว แต่พออาตามาถามว่า พองท้องเป็นยังไง ยุบท้องเป็นยังไง แกก็ไม่รู้เรื่อง อาตมาก็จนปัญญา จึงถามแกว่าท่องพุทธคุณได้ไหม แกก็ว่าไม่ได้อีก เลยบอกให้แกกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นให้มาใหม่ เอาลูกมาด้วยคนหนึ่ง แกก็กลับไป

            รุ่งขึ้น ก็มากับลูกชายคนหนึ่งเป็นหนุ่มแล้ว อาตมาก็ให้ลูกแกจดบทสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และพาหุงมหากาฯ แล้วบอกไปสอนให้แม่ท่อง ท่องได้แล้วให้มาหา ลูกแกก็ไปสอนแม่ท่องวันละตัวสองตัว หายไปเดือนนึง แกก็กลับมา มาท่องให้อาตมาฟังได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่ว อาตมาก็บอกว่าดีแล้ว

            ทีนี้ เวลาไหว้พระสวดมนต์ให้ท่องพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และพาหุงมหากาฯ หนึ่งจบ แล้วท่องพุทธคุณอย่างเดียวเท่าอายุบวกหนึ่ง อายุแก ๕๒ ก็ให้ท่องวันละ ๕๓ แรก ๆ แกใช้นับเม็ดมะขามเวลาท่อง พอสติดีขึ้น ก็จำได้ไม่ต้องนับเม็ดมะขาม พอดีขึ้นอีก แกบอกแกท่องได้วันละ ๑๐๘ จบโดยไม่ต้องนับเม็ดมะขาม เพราะสติมันบอกเอง รู้เอง เหมือนกับที่เราตั้งนาฬิกาปลุกไว้จับเวลาตอนนั่งสมาธิ พอสติดี รู้เอง ไม่ต้องใช้นาฬิกา

            เมื่อสติดีขึ้น ๆ แกก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยอัตโนมัติ คือ แกมีอาชีพเลี้ยงหมูเลี้ยงวัวส่งขายโรงฆ่าสัตว์ แกก็เลิก เพราะสติมันบอกว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ ที่เคยด่าเป็นไฟแลบก็เลิก

            ต่อมา แกก็เดินจงกรมนั่งสมาธิเป็น โดยไม่ต้องมีใครบอกใครสอน มันเป็นเองโดยอัตโนมัติ เพราะสติดีถึงขั้น แกเดินจงกรมวันละสองชั่วโมง นั่งสมาธิวันละสองชั่วโมง ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน อย่าลืม พอสติดีเสียอย่าง อะไร ๆ มันก็ดีหมด”

            ท่านพระครูเน้น แล้วจึงเล่าต่อไปว่า

            “วันหนึ่ง ครูวงษ์ ผัวแกโกหกว่า จะไปเก็บค่าเช่านาที่ชัยนาท แต่ที่แท้ไปหาเมียน้อย ซึ่งเป็นแม่หม้ายอยู่ที่ปากน้ำโพ หายไป ๔ วัน ขากลับให้เงินแม่หม้ายไว้สามร้อย คุณนายลำไยแกอยากจะรู้ว่าผัวไปไหน แกก็ไหว้พระสวดมนต์ แล้วเดินจงกรม นั่งสมาธิอย่างละสองชั่วโมง

            ขณะที่จิตเป็นสมาธิ แกก็อธิษฐานว่า ขอให้แกได้ตาทิพย์ แกอยากจะรู้ว่านายวงษ์ไปทำอะไร อยู่ที่ไหน อธิษฐานจิตเสร็จ แกก็กำหนด “เห็นหนอ เห็นหนอ” แล้วแกก็เห็นหมดว่า ผัวไปทำอะไรที่ไหน คุณหญิงว่าดีไหม เรียน “เห็นหนอ” ไว้คอยตรวจดูว่าท่านรัฐมนตรีไปไหน” ท่านพระครูถามคุณหญิง

            “ดีค่ะ ดิฉันสงสัยอยู่บ่อย ๆ เหมือนกันว่า ที่เขากลับบ้านดึกดื่นอยู่บ่อย ๆ นั้น แอบไปจุ๋งจิ๋งกับอีหนูบ้างหรือเปล่า” คุณหญิงได้ทีเลยขี่แพะไล่เสีย

            “ผมไม่มีหรอกครับพระคุณเจ้า คุณหญิงตามแจไม่ยอมให้คลาดสายตาออกอย่างนี้” คนเป็นรัฐมนตรีกล่าวแก้ เลยถูกภรรยาขว้างค้อนเข้าให้

            “เอาละ มาฟังเรื่องคุณนายลำไยกันต่อ เป็นอันว่าแกรู้หมด เพราะ “เห็นหนอ” บอก เมื่อครูวงษ์กลับมา แกก็ชี้หน้า แต่ไม่ด่าเพราะเลิกด่าแล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนละก็ด่าแหลกเลย เดี๋ยวนี้แกไม่ด่า แต่ก็เท้าสะเอวชี้หน้า

            “แกไปไหนมา”

            “ครูวงษ์ตอบว่า “อ้าว ก็ไปเก็บค่าเช่านาที่ชัยนาทไง”

            “แล้วที่ไหนล่ะค่าเช่า” ครูวงษ์ก็ตอบอึก ๆ อัก ๆ ว่า

            “เขา...เอ้อ...เขาขอผลัดไปเดือนหน้า”

            คราวนี้คุณนายลำไยก็เลยสั่งสอนผัวเสียเลยว่า

            “ตาวงษ์ แกน่ะเป็นครูสอนศีลธรรมเสียเปล่า แต่ตัวแกไม่มีศีลธรรมเอาเสียเลย ทั้งขี้เหล้าเมายา เจ้าชู้ประตูดิน หมูหมาเกี้ยวสิ้นไม่เลือกหน้า แถมยังโกหกพกลมอีก ข้ารู้นะ แกไม่ได้ไปเก็บค่าเช่านา แต่แกไปหาเมียน้อยที่ปากน้ำโพ ให้เงินมันไปสามร้อย จริงไหม”

          ครูวงษ์ก็นึกในใจว่า “เอ...เมียเรารู้ได้ยังไงนะ สงสัยท่านพระครูวัดป่ามะม่วงบอกมา พรุ่งนี้จะต้องไปต่อว่าสักหน่อย”

            นี่ ครูวงษ์คิดอย่างนี้ หนอยแน่ะมาโทษอาตมาได้” ท่านพระครูพูดขัน ๆ

            “พอครูวงษ์คิดจะมาต่อว่าอาตมา คุณนายลำไยก็รู้เสียอีก เลยดุเอาว่า “นี่แกไม่ต้องไปโทษหลวงพ่อนะ ท่านไม่ได้บอกข้า ข้ารู้เอง” ครูวงษ์ก็ไม่เชื่อ รุ่งเช้าก็มาถามอาตมา อาตมาก็ปฏิเสธ ผลสุดท้าย ครูวงษ์ต้องยอมจำนน เลิกกินเหล้า เลิกเจ้าชู้ หันมาถือศีลกินเพล เลยกลายเป็นคนดีไปเลย ท่านรัฐมนตรีเห็นด้วยหรือยังว่า “เห็นหนอ” นั้นมีค่ามหาศาลทีเดียว”

            “เห็นด้วยครับ”

            “ดี เห็นด้วยน่ะดีแล้ว จะได้เล่าต่อ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร” แล้วท่านจึงเล่าต่อไปว่า

            “ในกาลต่อมา คุณนายลำไยก็ป่วยเป็นมะเร็งที่ลำไส้ หมอบอกว่า แกจะต้องตายภายในหนึ่งเดือน รักษาไม่ได้เพราะเป็นมาก อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด แกก็มานอนป่วยที่บ้าน นอนเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพราะเดินไม่ไหว นั่งไม่ไหว แกนอนกำหนด “ปวดหนอ ๆ” เพราะมะเร็งนี่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ก็ปวดทั้งนั้น

            คุณนายลำไยแกก็ใช้สติสู้กับทุกขเวทนา แกตั้งสติอธิษฐานจิตว่า ยังไม่อยากตาย เป็นห่วงลูก ขอให้ลูกเรียนจบได้งานการทำก่อนค่อยตาย ที่บ้านแกมีผึ้งหลวงมาอาศัยทำรังอยู่บนหลังคา รังใหญ่เท่ากระด้ง

            วันหนึ่ง ลูก ๆ ห้าคนก็มากันพร้อมหน้า แกก็บอกลูกว่า “ลูกดูนะ แม่จะแผ่เมตตาให้ผึ้ง และบอกให้เขามาช่วยดูดพิษมะเร็งให้แม่” แล้วแกก็หลับตา สักพักก็ลืมตาพูดดัง ๆ ว่า “ผึ้งจ๋า ช่วยข้าหน่อย ข้าปวดเหลือเกิน ช่วยมาดูดพิษมะเร็งออกให้ข้าด้วย” พอแกพูดจบ ผึ้งก็บินมาฝูงหนึ่ง มาเกาะที่ท้องแก ช่วยดูดพิษให้ ดูดเสร็จก็ร่วงลงมาตายเกลื่อนพื้นเลย

            วันต่อมา ก็มีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามา ขณะที่แกนอนอยู่บนแคร่ใต้ถุนบ้าน ลูก ๆ แกนึกว่าจะมากัดแม่ก็เตรียมจะฆ่า แต่แกห้ามไม่ให้ฆ่า แกแผ่เมตตาให้งูแล้วพูดว่า “งูเอ๋ย ช่วยมาดูดพิษมะเร็งให้ข้าหน่อย” งูตัวนั้นก็เลื้อยมาบนท้องแก ทำท่าเหมือนกัด ที่แท้ไม่ได้กัด แต่ดูดมะเร็งให้

            เสร็จแล้วก็เลื้อยออกไปได้สักสามสี่วา ก็นอนตายอยู่ตรงนั้น ลูก ๆ แกก็เอาไปฝัง เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก

            พวกนักข่าวจะมาขอเอาไปลงหนังสือพิมพ์ แต่อาตมาไม่อนุญาต เพราะถ้าคนอ่านเขาเกิดไม่เชื่อก็จะเป็นบาปเป็นกรรมเปล่า ๆ ปรากฏว่า คุณนายลำไยอยู่มาได้อีกสามปี กระทั่งลูก ๆ เรียนจบ เข้าทำงานได้หมด แกก็ตาย นี่ศพยังมาเผาที่วัดนี้” พูดพลางชี้ให้ดูเมรุซึ่งอยู่หลังวัด

            วันเผาศพแกยังแสดงฤทธิ์อีกนะ คือวันนั้น อาตมาไปธุระ กำหนดเขาจะเผาห้าโมงเย็น อาตมามาไม่ทันเขาก็ไม่รอ พอห้าโมงตรงเขาก็จุดไฟ ปรากฏว่าเผาเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่ยอมไหม้ ไฟก็ไม่ยอมติด อาตมากลับมาถึงประมาณทุ่มนึง ก็เลยไปจุดไฟ ปรากฏว่าไหม้เรียบร้อย

            อาตมาก็นึกถึงคำพูดของแกตอนก่อนตายว่า “หลวงพ่อต้องเป็นคนจุดไฟนะ ไม่งั้นฉันไม่ยอมไหม้เด็ดขาด” นี่แหละเรื่องของคุณนายลำไย อาตมาเล่าย่อ ๆ นะนี่ ถ้าเล่าละเอียดวันนี้ไม่จบหรอก” ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังต่างเงียบกันไปพักหนึ่ง แล้วคุณหญิงจึงถามว่า

            “พระคุณเจ้าคะ สมมุติมีคนด่าพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าจะโกรธเขาไหมคะ”

            “โกรธทำไม เขาด่าเขาก็บาปอยู่แล้ว ถ้าอาตมาโกรธ ก็ต้องบาปไปด้วยอีกคนนะซี”

            “แล้วถ้าเขาขอขมาลาโทษ จะยังบาปอยู่ไหมคะ”

            “ถ้าคนถูกด่าเขาอโหสิให้ ก็ไม่บาป แต่กรรมบางอย่างก็อโหสิให้กันไม่ได้ เช่น กรรมที่เป็นครุกรรม หรือที่เรียกว่า อนันตริยกรรม ซึ่งมี ๕ อย่าง คือ มาตุฆาต – ฆ่าแม่   ปิตุฆาต – ฆ่าพ่อ   อรหันตฆาต – ฆ่าพระอรหันต์       โลหิตุปบาท – ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต    และ สังฆเภท – การยุยงสงฆ์ให้แตกกัน

            ห้าอย่างนี้ อโหสิให้กันไม่ได้ เพราะเป็นกรรมหนัก และไม่เปิดโอกาสให้กรรมอื่นมาแทนที่ เหมือนที่พระเทวทัตทำร้ายพระพุทธเจ้า ๆ ไม่ถือโกรธแต่พระเทวทัตก็ต้องตกนรก เพราะทำกรรมหนักไว้ถึงสองอย่างคือ นอกจากทำร้ายพระพุทธเจ้าแล้ว ยังทำสังฆเภทอีกด้วย หรือเหมือนกับที่ลูกฆ่าแม่ แม่อโหสิให้ แต่ลูกก็ต้องตกนรก เพราะเป็นกรรมหนัก อโหสิให้แล้ว ผู้กระทำก็ยังไม่หมดบาป”

            คุณหญิงเกิดกลัวบาปกลัวกรรม เพราะแอบด่าท่านในใจเมื่อตอนเช้า จึงตัดสินใจสารภาพผิด

            “พระคุณเจ้าที่เคารพ ดิฉันแอบด่าพระคุณเจ้าในใจเมื่อตอนเช้า ดิฉันขออโหสิค่ะ” พูดจบก็ก้มลงกราบสามครั้ง

            “อาตมาอโหสิให้คุณหญิงตั้งแต่คุณหญิงด่านั่นแล้ว อย่างไรก็ตาม อาตมาขอชมเชยในความกล้าหาญของคุณหญิง คนที่ทำผิดแล้วยอมรับผิดนั้น หาได้ยาก อาตมาขอชมเชยคุณหญิงด้วยใจจริง” คุณหญิงปลาบปลื้มเสียจนน้ำตาไหล ท่านพระครูจึงชักชวนคุยเรื่องอื่นเสีย

            วันนั้น รัฐมนตรีและคณะออกจากกุฏิท่านพระครูเอาเมื่อตอนพลบค่ำ คุณหญิงถวายเช็คเงินสดแก่ท่านพระครูเป็นค่าอาหารพระเณรและผู้มาเข้ากรรมฐาน จำนวนเงินที่ระบุในเช็คค่อนข้างมาก ซึ่งถ้าหากนำไปซื้อทอง ก็จะได้ทองหนักถึงสิบสองบาทสองสลึง!

 

มีต่อ.......๘

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #7 เมื่อ: เมษายน 09, 2007, 09:28:13 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00008
 

๘...

        รัฐมนตรี คุณหญิง และผู้ติดตามพากันกลับไปแล้ว พระบัวเฮียวซึ่งนั่งสงบเสงี่ยมฟังท่านพระครูเล่าเรื่องคุณนายลำไยตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ถามขึ้นว่า

        “หลวงพ่อครับ ทำไมคุณหญิงนั่นแกกราบเบญจางคประดิษฐ์ไม่ได้ แต่ยังได้เป็นคุณหญิงเล่าครับ

        ท่านพระครูมองหน้าคนถาม ยิ้มตามแบบฉบับของท่านที่ใคร ๆ ชมว่ามีเสน่ห์ แล้วจึงพูดขึ้นว่า

        “เอ...ถามแปลกดี รู้สึกว่าเธอชอบถามอะไรแปลก ๆ อยู่เรื่อยนะ”

        “ก็ผมอยากรู้นี่ครับ” ตอบซื่อ ๆ

        “จะรู้ไปทำไม” บางครั้งท่านพระครูก็คิดว่า การได้ต่อปากต่อคำกับคนช่างซักก็ทำให้เพลินดีเหมือนกัน

        “รู้ไว้เพื่อประดับความรู้ซีครับหลวงพ่อ”

        “อ้อ...ถ้าอย่างนั้นก็จะได้บอกให้เอาบุญ”

        “ครับ รับรองว่าหลวงพ่อได้บุญล้ายหลาย”

        “เอ...เธอถามว่าอะไรนะ จำไม่ได้แล้ว” ท่านแกล้งยั่ว

        “หลวงพ่อความจำชักไม่ดีแล้วน่ะซีครับ แสดงว่าแก่แล้ว” คนซื่อได้ที

        “ชะชะ ได้ทีขี้แพะไหลเชียวนะ บัวเฮียวนะ”

        “เขาเรียกว่า ได้ทีขี่แพะไล่ต่างหากล่ะครับ”

        “ไล่ใครล่ะ”

        “ไล่แมวครับ”

        “งันก็แล้วไป นึกว่าไล่เธอละก็ยุ่งเชียวละ” คนซื่ออยากรู้เร็ว ๆ จึงถามขึ้นอีกว่า “หลวงพ่อยังไม่ได้ตอบผมเลยครับว่า ทำไมคนกราบเบญจางคประดิษฐ์ไม่เป็น ถึงได้เป็นคุณหญิง”

        “ก็ทำไมคนกราบเป็นถึงไม่ได้เป็นคุณหญิงเล่า การเป็นคุณหญิงเขาตัดสินหรือวัดกันที่การกราบการไหว้เมื่อไหร่ล่ะ คนที่จะได้เป็นคุณหญิงเขาต้องได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือที่เรียกว่า สายสะพายนั่นไง สงสัยอีกซีว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คืออะไร” ท่านพระครูแกล้งดักคอ

        “เครื่องราชอิสริยาภรณ์ก็คือสายสะพายน่ะซีครับ” คนความจำดีตอบ

        “อ้อ...เก่งนี่” ท่านพระครูออกปากชม

        “แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่ดีว่า ไอ้สายสะพายนี่มันเป็นแบบเดียวกับสายตะพายที่เขาเอามาร้อยจมูกวัวจมูกควายหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบเดียวกัน คุณหญิงคุณนายมิต้องถูกร้อยจมูกหรือ” คนขี้สงสัยถามอย่างสงสัย

        “มันไม่เหมือนกันหรอก สายตะพายนั่นมันเป็นเชือก เวลาเขาเอาเชือกมาร้อยจมูกวัวจมูกควาย เขาเรียกว่า สนตะพาย แต่สายสะพายเป็นผ้าแถบยาว ๆ กว้างประมาณคืบนึง พอจะเข้าใจหรือยังล่ะ”

        “ครับ ถ้าอย่างนั้นก็ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมแอบสังเกตเห็นคือ คุณหญิงแกท่าทางข่มผัวน่าดูเลย แล้วก็ไม่มีมารยาท ไปแอบฟังท่านคุยกัน ขนาดสมชายไปบอกก็ไม่ยอมลงมา นี่ถ้าเป็นเมียผมละก็ ฮึ่ม...ตบล้างน้ำเลย”

        คนช่างสังเกตยกมือขวาขึ้นตบอากาศอยู่ไปมาพลางทำเสียง “เฟี้ยว ๆ” ไปด้วย เห็นคนฟังไม่ว่ากระไร จึงวิจารณ์ต่อ

        “ท่าทางรัฐมนตรีก็กลัวเมียน่าดูเลย เสียเชิงชายหมด”

        “เอาเถอะน่า ใครเขาจะข่มกัน จะกลัวกันยังไงก็เรื่องของเขา มันหนักกบาลเธอหรือไงเล่า ถึงได้เดือดร้อนนัก” ท่านพระครูว่าให้

        “มันก็ไม่หนักหรอกครับ แต่ว่ามันก็ไม่ดีนัก ตัวเองออกใหญ่โตทั้งรูปร่างและตำแหน่ง ไม่น่ามากลัวผู้หญิงตัวเล็กนิดเดียว”

        “นี่แน่ะบัวเฮียว” คราวนี้ท่านพระครูพูดเป็นงานเป็นการ

        “นักปฏิบัติน่ะเขาไม่สนใจเรื่องของคนอื่นหรอก คือสติปัฏฐาน ๔ นั้น ไม่มีข้อไหนที่บอกให้สนใจสิ่งนอกตัว กาย เวทนา จิต ธรรม ล้วนอยู่ในตัวเราทั้งสิ้น เอาละทีนี้จะได้อธิบาย จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นสติปัฏฐานข้อที่สาม สองข้อแรกมีอะไรบ้าง ไหนบอกมาซิ” ท่านทดสอบความจำคนเป็นศิษย์

        “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กับ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ครับ”

        “เธอเข้าใจแล้วใช่ไหมว่าคืออะไร”

        “ครับ”

        “ดีแล้ว คราวนี้ก็มาพูดถึง จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่เธอกำลังคิด กำลังพูดอยู่นี่ มันเป็นจิตตานุปัสสนา เพราะเธอเอาจิตออกไปนอกตัว ไม่ใช้สติตามดูจิตของตัวเอง ปล่อยให้จิตซัดส่ายไปในเรื่องไม่เป็นเรื่อง เหมือนอย่างที่เธอกำลังพูดเรื่องคนอื่นอยู่ขณะนี้

        ดังนั้นนักปฏิบัติที่ดีจะต้องไม่มองออกนอกตัว ไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น ใครจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา หน้าที่ของนักปฏิบัติคือ ใช้สติตามดู ตามรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่เกิดขึ้นในตัวเอง อย่ามองออกนอกตัว จำไว้”

        “หลวงพ่อครับ การใช้สติตามดูกายกับเวทนานั้น ผมพอจะเข้าใจ แต่ตามดูจิตนี่ผมยังไม่เข้าใจครับ หลวงพ่อกรุณาอธิบายได้ไหมครับ”

        “ก็กำลังจะอธิบายอยู่นี่ไง เอาละ ฟังให้ดี จิตตานุปัสสนานั้น ถ้าว่ากันโดยหลักก็คือ การใช้สติตามดุจิตของตน ตามรู้จิตของตน รู้ชัดว่าจิตของตนในขณะนั้น ๆ เป็นอย่างไร เช่น มีราคะ โทสะ โมหะ หรือไม่ ฟุ้งซ่าน หรือเป็นสมาธิ หลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น เป็นต้น

        ขณะที่เธอเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิแล้วจิตคิดไปในเรื่องต่าง ๆ เธอก็ต้องรู้ในขณะนั้นว่า จิตกำลังฟุ้งซ่าน ก็พยายามทำให้มันเป็นสมาธิ ด้วยการเอาสติมาจดจ่ออยู่กับอิริยาบถ จะเป็นขวาย่าง ซ้ายย่าง หรือ พอง – ยุบ ก็แล้วแต่เธอกำลังเดินหรือนั่ง พูดง่าย ๆ ก็คือ ให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลาทุกขณะจิต อย่าลืม

        พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น เมื่อย่อลงแล้วเหลือเพียงข้อเดียวคือสติ ปัจฉิมโอวาทที่ประท่านแก่พระอานนท์และภิกษุห้าร้อยรูป ตอนใกล้จะปรินิพพานก็ทรงเน้นเรื่องสติ รู้ไหมปัจฉิมโอวาทนั้นว่าอย่างไร” ท่านถามพระบวชใหม่ทั้งที่รู้ว่าฝ่ายนั้นไม่รู้

        “ไม่ทราบครับ หลวงพ่อก็ทราบว่าผมไม่ทราบ แล้วยังจะแกล้งถามให้ผมอับอายขายหน้า” พระใหม่ตัดพ้อ

        “อ้าว ก็เปิดโอกาสให้เธอได้พูดบ้างยังไงล่ะ เดี๋ยวจะมาหาว่าฉันตีตั๋วพูดอยู่คนเดียว”

        “นิมนต์หลวงพ่อพูดเถอะครับ ผมขอตีตั๋วฟังอย่างเดียว”

        “เอาละ ถ้าอย่างนั้นก็ฟังต่อ ปัจฉิมโอวาทที่พระพุทธองค์ทรงประทานแก่บรรดาภิกษุมีใจความว่า.........ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราผู้ตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด....

        นี่แหละเป็นพระวาจาสุดท้ายของพระพุทธองค์ เพราะหลังจากตรัสเช่นนี้แล้วมิได้ตรัสอะไรอีก ทีนี้เธอเห็นหรือยังว่า คำสอนทั้งปวงที่ได้ประทานตลอด ๔๕ พรรษานั้นมาจบลงที่สติตัวเดียวนี้”

        “ไม่เห็นมีคำว่าสติเลยนี่ครับหลวงพ่อ” คนจำเก่งแต่คิดไม่เก่งท้วงขึ้น

        “อ้าว ก็ที่ทรงเตือนให้ไม่ประมาทนั้นไม่ใช่สติหรอกหรือ ไม่ประมาทก็คือให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกลมหายใจนั่นเอง ในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระชนมชีพอยู่นั้น ทรงให้ภิกษุตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่มาเดินจงกรม นั่งสมาธิ และกำหนดรู้อิริยาบถ ซึ่งก็คือการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อันถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ไหนเธอลองบอกมาซิว่า หน้าที่ของนักบวชในพุทธศาสนามีอะไรบ้าง”

        “แห่ะ แห่ะ ไม่ทราบครับ ก็หลวงพ่อยังไม่เคยสอน ท่านมหาก็สอนแต่กิจวัตรสิบอย่างตอนก่อนจะบวช มีหนึ่ง ลงอุโบสถ สอง บิณฑบาตเลี้ยงชีพ สาม สวดมนต์ไหว้พระ สี่ กวาดอาวาสวิหาร ลานพระเจดีย์ ห้า รักษาผ้าครอง หก อยู่ปริวาสกรรม เจ็ด โกนผม ปลงหนวด ตัดเล็บ แปด ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์ เก้า เทศนาบัติ สิบ พิจารณาปัจเวกขณ์ทั้ง ๔ เป็นต้น ไม่ทราบว่าจะเป็นอันเดียวกับที่หลวงพ่อถามหรือเปล่า

        “ที่เธอว่ามานั้นเป็นรายละเอียด แต่หน้าที่หลักของบรรพชิตที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มีเพียงสามข้อ คือศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และสั่งสอนธรรม อันนี้เป็นหน้าที่หลัก ศึกษาธรรม ก็คือต้องเรียนรู้วิธีปฏิบัติ เช่น วิธีเจริญสติปัฏฐาน ๔ เมื่อรู้แล้วต้องลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่รู้เฉย ๆ เหมือนอย่างพวกนักปรัชญา เมื่อปฏิบัติได้แล้วก็ต้องสั่งสอนคนอื่นได้”

        “เหมือนกับที่หลวงพ่อปฏิบัติอยู่ใช่ไหมครับ”

        “ใช่ ฉันเป็นลูกพระพุทธเจ้า ก็ต้องปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงสอน ถึงเธอก็เช่นเดียวกัน กล่าวกันว่า ในสมัยพุทธกาล มีเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งชื่อ กุรุ ชาวเมืองกุรุนิยมเจริญสติปัฏฐาน ๔ กันมาก ถึงขนาดเอามาเป็นคำทักทายปราศรัยกันในชีวิตประจำวัน

        เช่นเวลาเขาเดินไปพบคนรู้จัก แทนที่จะถามว่า “สวัสดี ไปไหนมาจ๊ะ ทานข้าวหรือยัง” อะไรทำนองนี้ เขากลับทักทายกันว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วหรือยัง” ถ้าเขาตอบว่า “ฉันเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่จ้ะ” เขาก็จะยกมือขึ้นสาธุ สาธุ แปลว่า ดีแล้ว ดีแล้ว แต่ถ้าคนตอบ บอกว่า “ยังเลยจ้ะ” คนถามก็จะพูดว่า “อัปเปหิ อัปเปหิ” แปลว่า จงหลีกไป จงหลีกไป” แล้วเขาก็จะรีบเดินหนีเหมือนดั่งว่า พบสิ่งอัปมงคล

        เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องรีบปฏิบัติ จะได้เป็นมงคลทั้งกับตัวเองและผู้อื่น เมื่อชาวเมืองกุรุพากันเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นนิจศีล ก็ทำให้เมืองเล็ก ๆ นั้นเจริญรุ่งเรือง ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์

        ครั้นพระพุทธองค์ทรงทราบ จึงเสด็จไปที่เมืองนั้น และทรงทำนายว่าต่อไปในกาลข้างหน้า เมืองกุรุจะกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งก็เป็นจริงตามพุทธทำนาย เพราะเมืองกุรุในปัจจุบันก็คือ เมืองนิวเดลีซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอินเดีย

        ทีนี้เธอเห็นหรือยังล่ะว่า การเจริญสติปัฏฐาน ๔ มีประโยชน์ มีอานิสงส์มากมายเพียงใด”

        “เห็นแล้วครับ และผมตั้งใจว่าจะพากเพียรให้ถึงที่สุด”

        “ดีแล้ว เดี๋ยวกลับไปเดินจงกรมชั่วโมงครึ่ง เอาระยะละครึ่งชั่วโมง แล้วนั่งสมาธิอีกชั่วโมงครึ่ง เวลานอนก็อย่าลืมกำหนด พอง – ยุบ ไปจนกว่าจะหลับ พยายามจับให้ได้ว่า หลับไปตอนยุบหรือตอนพอง จับได้หรือยังล่ะ”

        “ยังครับ”

        “เอาละ ยังไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คืนนี้พยายามใหม่ ได้เมื่อไหร่ให้มาบอกทันที เข้าใจไหม”

        “ครับ แล้วตอนสองทุ่มผมก็ไม่ต้องมาสอบอารมณ์ใช่ไหมครับ เพราะนี่ก็ทุ่มกว่าแล้ว”

        “ไม่ต้อง กลับไปอาบน้ำอาบท่า แล้วลงมือปฏิบัติไปจนกว่าจะถึงเวลานอน พรุ่งนี้ก็ตื่นตี ๔ มันจะง่วงเหงาหาวนอนก็ต้องฝืนใจ การทำความดีต้องฝืนใจจึงจะสำเร็จ เอาละ กลับไปได้แล้ว คืนนี้ฉันจะสอนครูสามคนให้เดินจงกรมระยะที่ ๔ เหลือเวลาพรุ่งนี้อีกวันเดียว เขาก็จะกลับกันแล้ว”

        “พรุ่งนี้หลวงพ่อจะให้เขาต่อระยะที่ ๕ กับ ๖ เลยไหมครับ”

        “ก็คิดว่ายังงั้น แต่ก็ต้องดูกำลังเขาก่อนว่าจะรับได้ไหม คนเป็นครูใหญ่คงได้ แต่อีกสองคนไม่ค่อยแน่ใจ สำหรับเธอวันละหนึ่งระยะดีแล้ว ค่อยเป็นค่อยไป เพราะเธอต้องอยู่ที่นี่อีกนาน”

        ท่านอธิบายเพื่อไม่ให้คนเป็นพระน้อยใจว่าท่านให้ความสำคัญกับคนเป็นฆราวาสมากกว่า

        “ถ้าเช่นนั้น ผมกราบลาละครับ เดี๋ยวต้องกลับไปสรงน้ำแล้วสวดมนต์ ทำวัตรเย็น จากนั้นจึงจะลงมือปฏิบัติ”

        “ไปเถอะ ขอให้พากเพียรให้ดี บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ก็ด้วยความเพียร นี่แหละ จำเอาไว้”

        พระบัวเฮียวกลับไปแล้ว ท่านพระครูจึงได้สรงน้ำชำระร่างกาย เหลือเวลาอีก ๒๐ นาทีจะสองทุ่ม ท่านจึงเขียนหนังสือคู่มือสอบอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งเขียนมาได้ปีเศษแล้ว และคงต้องใช้เวลาเขียนอีกหลายปีกว่าจะเขียนเสร็จ

        วันใดที่ภารกิจรัดตัวมาก อย่าว่าแต่จะเจียดเวลามาเขียนหนังสือเลย แม้เวลาจะจำวัดก็ยังไม่มี ยิ่งเรื่องขบฉันด้วยแล้ว ท่านให้ความสนใจน้อยที่สุด

        ด้วยเหตุนี้ สุขภาพของท่านจึงไม่อยู่ในข่ายที่เรียกว่าสมบูรณ์แข็งแรงเท่าใดนัก แม้จิตของท่านจะปลอดโปร่ง ไม่หิว ไม่ง่วง และไม่รู้สึกกระวนกระวาย แต่สังขารร่างกายของท่านก็ยังอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ ซึ่งย่อมจะต้องทรุดโทรมและร่วงโรยไปเร็วกว่าร่างกายที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีและสม่ำเสมอ

        เวลาสองทุ่มตรง คณะของครูสฤษดิ์ก็มาถึง ท่านพระครูสอบอารมณ์ให้ทีละคน แล้วจึงสอนการเดินจงกรมระยะที่สี่ซึ่งมี “สี่หนอ” โดยเพิ่ม “ยกส้น – หนอ”  ลงไปอีกหนึ่ง นอกนั้นเหมือนกับระยะที่สามทุกประการ การเดินจงกรมระยะที่สี่ จึงบริกรรมว่า “ยกส้น – หนอ ยก – หนอ ย่าง – หนอ เหยียบ – หนอ” เดินเป็นกันแล้ว ท่านจึงให้กลับไปปฏิบัติต่อยังศาลาที่พัก คนทั้งสามลุกออกไปเมื่อเวลาสามทุ่มครึ่ง

        ท่านพระครูกำลังจะขึ้นไปเขียนหนังสือต่อ ก็พอดีลูกศิษย์วัดมาเรียนว่า มีแขกมาขอพบ เมื่อท่านอนุญาต ชายหญิงคู่หนึ่งจึงเดินเข่าเข้ามาหาในมือประคองพานคนละใบ มีผ้าไตรเนื้อดีหนึ่งสำรับวางอยู่ในพานของผู้ชาย ส่วนของผู้หญิงเป็นดอกไม้ธูปเทียน เมื่อเดินเข่าเข้ามาใกล้ในระยะหัตถบาส จึงวางพานไว้ทางขวามือของตน แล้วกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง

        “เจริญพร โยมมายังไงกันค่ำ ๆ มืด ๆ” ท่านเจ้าอาวาสทัก

        “กระผมขับรถมาเองครับ จะพาภรรยามาขอขึ้นกรรมฐานจากหลวงพ่อครับ” ชายผู้เป็นสามีตอบ

        “อ้อ...แล้วจะอยู่กี่วันล่ะ”

        “ไม่อยู่ครับ จะให้เขากลับไปปฏิบัติที่บ้าน ผมสอนเดินจงกรม นั่งสมาธิให้เขาบ้างแล้ว มีปัญหาอะไรค่อยมากราบเรียนถามหลวงพ่อ” สามีเป็นคนตอบเช่นเคย

        ท่านพระครูจำได้ว่าชายผู้นี้ได้มาเข้ากรรมฐานที่วัดนี้เป็นเวลาเจ็ดวัน เมื่อปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ไป ๆ มา ๆ อยู่เสมอ

        “ถ้ายังงั้นก็ตามใจ แต่ถ้ามีโอกาสก็น่าจะมาอยู่สักเจ็ดวัน อยู่บ้านมันรักษาอารมณ์ได้ไม่ค่อยต่อเนื่อง เดี๋ยวเรื่องโน้นเรื่องนี้มากระทบ”

        “ค่ะ ดิฉันก็ว่าจะหาโอกาสมาให้ได้ รอให้ลูกคนเล็กโตอีกสักหน่อย ตอนนี้เพิ่งจะได้สามขวบกับสี่เดือน” ภรรยาพูดบ้าง

        “จะเอายังงั้นก็ได้ แต่บางคนลูกยังเล็กอยู่เขาก็มา ลูกศิษย์อาตมาคนหนึ่งเป็นอาจารย์อยู่กรุงเทพฯ เขามาเข้ากรรมฐานครั้งแรกเมื่อลูกชายอายุได้สี่เดือน มาอยู่ตั้งเจ็ดวัน แล้วก็มาบ่อย ๆ ใจเด็ดดีเหลือเกิน เขาบอกอาตมาว่า “หลวงพ่อคะ หนูไม่ยอมให้ลูกเต้ามาเป็นเกาะแก่งกันกลางทางกุศลเหมือนคนอื่น ๆ เขาหรอกค่ะ” อาตมาฟังแล้วก็นึกว่า เออเข้าใจคิด เข้าใจพูด”

        “อาจารย์ตัวที่เล็ก ๆ หน้าคม ๆ สวย ๆ ใช่ไหมครับ ผมเคยเห็นมาที่นี่บ่อย ดูเหมือนอายุจะราว ๆ ยี่สิบ ไม่น่าเชื่อว่ามีลูกแล้ว”

        “นั่นแหละ อายุสามสิบกว่าแล้วแต่ดูหน้าเด็ก ระวังนะ ชมคนอื่นว่าสวยต่อหน้าแม่บ้าน กลับไปเนื้อเขียว อาตมาไม่รู้นะ”

        “ดิฉันชินแล้วค่ะหลวงพ่อ ลูกคนอื่น เมียคนอื่นเขาชมว่าดีว่าสวยไปหมด ทีลูกตัวเมียตัว ไม่มีอะไรดีสักอย่าง ถึงดีก็ว่าไม่ดี” ฝ่ายภรรยาตั้งท่า “เปิดศึก” ท่านพระครูเห็นท่าไม่ดีจึงพูดจาไกล่เกลี่ยว่า

        “ผู้ชายก็อย่างนี้ทุกคนแหละโยม ไปถือสาให้เสียอารมณ์ทำไมเล่า ว่าแต่ว่าที่โยมจะกลับไปทำกรรมฐานที่บ้านน่ะ อาตมาขออนุโมทนาด้วย ทำได้วันละนิดละหน่อยก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำ นึกว่าสะสมหน่วยกิตเอาไว้ ท่านใช้คำพูดทันสมัย

        เสร็จจากพิธีขอกรรมฐาน สองสามีภรรยาจึงช่วยกันประเคนผ้าไตรถวายแด่ท่านพระครู แล้วจึงบอกลา

        “เดี๋ยวก่อนอย่างเพิ่งกลับ ประเดี๋ยวจะให้ดูของดี โน่นมากกันโน่นแล้ว”

        ท่านบุ้ยใบ้ไปที่ชายหญิงกลุ่มใหญ่ซึ่งพากันเดินตรงมาที่กุฏิของท่าน คนเดินหน้าถือถาดทองขนาดใหญ่มาด้วยใบหนึ่ง เมื่อมาถึง ยังไม่ทันได้ทำความเคารพเจ้าของกุฏิ พวกเขาก็พากันถอดเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ แหวน นาฬิกาข้อมือ สร้อยข้อมือ ออกใส่ถาดจนเต็มแล้วจึงช่วยกันยกไปวางต่อหน้าท่านพระครู

        สามีภรรยาผู้มาก่อนแอบนึกในใจว่า “โธ่เอ๋ย เราเอาแค่ผ้าไตรสำรับเดียวมาถวาย แต่คนกลุ่มนี้ช่างใจบุญ ใจกุศลกว่าเราหลายเท่านัก ขนาดของมีค่าในตัวก็พากันถอดมาถวายจนหมด ใจบุญแท้ ๆ”

        แล้วพวกเขาเหล่าก็พากันคะยั้นคะยอว่า “หลวงพ่อเสกหน่อย ช่วยเสกให้หน่อยจะได้ขลัง” ท่านพระครูจึงทำทีเป็นนั่งหลับตาทำปากขมุบขมิบแล้วเป่าพรวด ๆ ลงไปสามครั้งจึงลืมตา พูดว่า

        “เอ้าเสกแล้ว เสกให้แล้ว พอท่านพูดจบ คนเหล่านั้นก็กรูกันเข้ามาที่ถาด หยิบคนละหมุบคนละหมับเอาของของตัวคืน แล้วจึงพากันลากลับ ไม่ลืมเอาถาดทองใบใหญ่กลับไปด้วย เพราะเดี๋ยวนี้จะต้องไปให้หลวงพ่อวัดโน้นเสกอีก

        ท่านพระครูส่ายหน้าแล้วพูดกับสองสามีภรรยาว่า “พวกนี้เขาอีกระดับหนึ่ง ชวนให้มาเข้ากรรมฐาน เขาไม่เอา ชอบให้เสกให้เป่าตะพรึด ของจริงไม่ชอบ ชอบของปลอม” ท่านพูดยิ้ม ๆ

        “หลวงพ่อไม่อธิบายให้เขาฟัง หรือครับ” ชายผู้สามีถาม

        โธ่โยม ต่อให้อธิบายจนขาดใจเขาก็ไม่ฟัง เขารับได้แค่นั้น ก็ต้องแล้วแต่กรรมของแต่ละคน พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสสอนไว้ว่า “กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ทราบและให้ประณีต....ถ้าคนเราเข้าใจอะไร ๆ ได้เหมือนกันหมด โลกมันก็ไม่ยุ่งซี โยมเคยได้ยินชื่อหลวงพ่อเต๋ไหมเล่า”

“เคยครับ ได้ยินกิตติศัพท์ว่าท่านเก่งทางเสกเป่า”

“นั่นแหละ เสกจนตายคาที่เลย ขนาดท่านนอนพะงาบ ๆ จวนจะมรณภาพอยู่แล้ว พวกลูกศิษย์ยังเอาตุ๊กตามาให้เสกทีละหลายร้อยตัว ท่านก็ต้องเป่าต้องเสก เป่าจนลมไม่มี พวกลูกศิษย์ก็ว่าหลวงพ่ออดทนเอาหน่อย อดทนเอาหน่อย จวนเสร็จแล้ว ท่านก็ตามใจ เป่าให้จนลมหายใจสุดท้าย อาตมาเห็นแล้วสงสารท่าน แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะพวกลูกศิษย์เขาจะกันเอาอย่างนั้น พอพวกเขารู้ว่าท่านสิ้นลมกลับพากันบ่นเสียอีกว่า “แหมหลวงพ่อ ให้ช่วยแค่นี้ก็ต้องตายด้วย”

“หลวงพ่อครับ แล้วที่ว่าเสกเป่าแล้วจะทำให้ศักดิ์สิทธิ์หรือขลังจริงไหมครับ”

“มันจะไปขงไปขลังอะไรเล่า ก็เชื่อกันไปผิด ๆ หลวงพ่อเต๋เองท่านก็รู้ แต่ท่านบอกว่าห้ามเขาไม่ได้ อธิบายเขาก็ไม่ยอมฟัง ก็เหมือนกันที่อาตมาไม่สามารถอธิบายให้คนกลุ่มเมื่อกี้เข้าใจได้นั้นแหละ ถ้าจะเปรียบกับบัวสี่เหล่า ก็คงได้แก่พวกปทปรมะ สอนยังไงก็รับไม่ได้เพราะสติปัญญามีแค่นั้น แค่รับของปลอม”

“พวกบัวที่ติดโคลนตม ไม่มีโอกาสโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงอาทิตย์ได้ใช่ไหมครับ”

“นั่นแหละ พวกนั้นแหละ ผลสุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อของพวกเต่าพวกปลาไป โยมจำไว้เป็นตัวอย่างก็แล้วกัน

“ครับ เมื่อก่อนผมก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ต่อเมื่อมาพบหลวงพ่อถึงได้ตาสว่างขึ้น เพราะบารมีของหลวงพ่อแท้ ๆ เชียว”

        “ไม่ใช่บารมีของอาตมาหรอก บารมีของโยมเองนั่นแหละ ไม่งั้นคนกลุ่มเมื่อกี้เขาก็เหมือนโยมแล้วซี เรื่องอย่างนี้ต้องทำเองสร้างเองนะโยม”

        “ครับ เอ้อ...หลวงพ่อครับ กระผมกับภรรยารบกวนเวลาของหลวงพ่อมานาน เห็นจะต้องลากลับเสียที หลวงพ่อจะได้พักผ่อน”

        “จะกลับแล้วหรือ เอาละ ขอให้เจริญสุขนะโยมนะ หมั่นพากันเจริญกรรมฐานทุกวัน ไม่มีอะไรจะช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง แล้วว่าง ๆ อย่าลืมมาเข้ากรรมฐานสักเจ็ดวันนะโยมนะ” ท่านหันไปพูดกับคนเป็นภรรยา

        “ค่ะ” ฝ่ายนั้นตอบ แล้วสองสามีภรรยาจึงพากันลากลับ เมื่อเวลาเกือบสองยาม

 

มีต่อ........๙
 

 

 

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #8 เมื่อ: เมษายน 10, 2007, 08:26:15 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00009
 

๙...

               เสียงระฆังตอนตีสี่เงียบหายไปนานแล้ว แต่เสียงเห่าหอนของสุนัขยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่าย ๆ เพราะเมื่อตัวหนึ่งหยุด อีกตัวก็ตั้งต้นหอนใหม่ ผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่อย่างนี้เป็นเวลาเกือบชั่วโมงแล้ว

         ครูใหญ่กำลังเดินจงกรมระยะที่หกอยู่ รู้สึกรำคาญขึ้นมาตะหงิด ๆ เพราะแม้จะกำหนด “เสียงหนอ” ครั้งแล้วครั้งเล่า พวกมันก็ยังไม่ยอมหยุดเห่าหอน เหตุนี้กระมังที่เขาเปรียบเทียบคนพูดพร่ำไม่รู้จักกาลเทศะว่า “พวกปากหมา” แต่ก็แปลกตรงที่ว่าวันนี้ เสียงของพวกมันช่างโหยหวนชวนให้ขนลุกขนพองกว่าทุกวัน

         “หรือจะเป็นเพราะพวกมันรู้ว่าวันนี้เป็นวันพระ ถึงได้หอนนานกว่าปกติ” เขาคิด

         เดินจงกรมได้หนึ่งชั่วโมงเต็ม ๆ จึงกำหนดนั่ง หากยังไม่ทันได้นั่งก็เห็นพระรูปหนึ่งเดินขึ้นศาลาตรงมา แสงจากดวงไฟสี่สิบแรงเทียนแม้จะไม่สว่างไสวเท่าไฟนีออน แต่ก็ทำให้เห็นชัดว่า ภิกษุรูปนั้นอายุอยู่ในราวเจ็ดสิบเศษ ร่างการทรุดโทรมซูบผอม จีวรดูเก่าสกปรก แถมยังขาดกะรุ่งกะริ่ง เหมือนเอาผ้าขี้ริ้วมาห่อหุ้มร่างเอาไว้

         ภิกษุชราเดินตัวแข็งทื่อตรงมา ดวงตาจับจ้องอยู่ที่ใบหน้าของครูใหญ่ ครั้นใกล้เข้ามาในระยะสักสามเมตร จึงได้รู้ว่าท่านมิได้เดิน หากลอยมาในลักษณะเท้าเรี่ย ๆ กับพื้น สติบอกทันทีว่า สิ่งที่เห็นข้างหน้านั้นมาจากต่างภพภูมิ
               หันไปดูครูน้อยสองคน เห็นจะเริ่มเดินจงกรม เพราะมัวอิด ๆ ออด ๆ กว่าจะตื่นกันได้ก็เกือบ ๆ ตีห้าเข้าไปแล้ว มิหนำซ้ำ ยังเสียเวลาไปกับการล้างหน้าแปรงฟันอีกหลายนาที

         มีคนตื่นอยู่ถึงสองคนเช่นนี้ความกลัวก็ลดน้อยลง แต่เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เห็นไม่ใช่ภาพลวงตา จึงกำหนด “เห็นหนอ” สามครั้ง กำหนดแล้ว ภาพนั้นก็ยังไม่หายไป ครูวัยกลางคนจึงรวบรวมสติแล้วถามออกไปว่า

         “ท่านเป็นใคร ขึ้นมาทำอะไรที่นี่”

         “อาตมาเป็นพระอยู่วัดนี้ เขาเรียกอาตมาว่าหลวงตาเฟื่อง” เสียงนั้นแหลมเล็ก ผิดแผกไปจากเสียงมนุษย์ธรรมดาสามัญ

         “แล้วทำไมหลวงตาไม่ไปลงโบสถ์กับเขาล่ะครับ”

         “อาตมาไม่ต้องลงโบสถ์ อย่าตกใจ อาตมาไม่ได้มาร้าย คือว่า อาตมาตายไปเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ไปไหน” ฟังแล้วขนลุกซู่ เมื่อภิกษุชราบอกว่าตายแล้ว แต่เมื่อท่านบอกว่าไม่ได้มาร้าย จึงกลั้นใจถามออกไปว่า “แล้วท่านขึ้นมาบนนี้ มีจุดประสงค์อะไรหรือครับ”

         “มีสิ อาตมาจะมาขอส่วนบุญจากโยม อาตมาลำบากเหลือเกิน ต้องอด ๆ อยาก ๆ หนาวก็หนาว โยมช่วยบอกท่านพระครูด้วยว่า อาตมาขอผ้าไตรสักหนึ่งสำรับ แล้วเวลาโยมปฏิบัติกรรมฐาน ช่วยแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้หลวงตาเฟื่อง วัดป่ามะม่วงด้วย อาตมาจะได้ไปเกิดเสียที วนเวียนอยู่ที่นี่มาสิบปีแล้ว เพราะยังใช้กรรมไม่หมด”

         “เมื่อตอนท่านบวช ไม่ได้เจริญกรรมฐานหรือครับ จึงได้มีสภาพอย่างนี้”

            “เปล่า อาตมาหัวดื้อ ท่านพระครูบอกอาตมาก็ไม่เชื่อ เพราะเป็นคนทิฐิสูง เห็นว่าท่านพระครูเด็กกว่า ไหนเลยจะมาสอนอาตมาได้ ก็เพราะไม่เชื่อท่านนี่แหละ ถึงต้องมาเป็นเปรตอย่างที่โยมเห็นอยู่นี่”

         “เปรตหรือครับ ทำไมรูปร่างไม่เหมือนกับที่แม่เล่าให้ฟังสมัยผมเด็ก ๆ คือแม่บอกว่า เปรตตัวนั้นสูงเท่าต้นตาล ปากเท่ารูเข็ม มือเท่าใบลาน แสดงว่าแม่หลอกผมใช่ไหมครับ”

         “ไม่ได้หลอกหรอกโยม เปรตมีหลายประเภท อย่างอาตมานี่ เป็นประเภทปรหัตตุปชีวิกเปรต คือ เปรตที่มีการเลี้ยงชีวิตอยู่ โดยอาศัยบุญที่ผู้อื่นอุทิศให้ อาตมาถึงต้องมาขอส่วนบุญจากโยม โปรดเมตตาด้วยเถิด” เสียงนั้นทั้งขอร้องและวิงวอน

         “ถ้าอย่างนั้นผมจะแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้ทุกครั้งที่ทำกรรมฐาน ชื่อหลวงตาเฟื่องนะครับ”

         “ถูกต้อง อาตมาต้องขอขอบใจโยมเป็นอย่างมาก ขอให้โยมจงตั้งอกตั้งใจปฏิบัติต่อไป ทางนี้เป็นทางที่ประเสริฐที่สุดแล้ว อาตมายังนึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาที่มัวหลงประมาทมัวเมาในชีวิต จึงต้องมาตกระกำลำบากอย่างนี้ กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว จงอย่างได้เอาเยี่ยงอย่างอาตมาเลย นี่ถ้าได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง อาตมาจะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปจนตลอดชีวิตทีเดียว จะไม่ประมาทมัวเมาอีกแล้ว เข็ดแล้ว อาตมาลานะโยม”

         ร่างนั้นค่อย ๆ ลอยห่างออกมาแล้วจึงหายวับไปกับความสลัวของรุ่งอรุณ บัดดลนั้น บรรดาสุนัขที่ส่งเสียงเห่าหอนมาตั้งแต่ตีสี่ ต่างพากันเงียบเสียงลงราวกับนัด

         “ครูใหญ่ไม่สบายหรือเปล่าครับ ถึงได้ยืนพูดอยู่คนเดียวอย่างนั้น” ครูบุญมีเดินเข้ามาถามด้วยความสงสัย

         “ผมกำลังคุยกับหลวงตาเฟื่อง คุณไม่เห็นหรอกหรือ พระแก่ ๆ ที่เดินขึ้นมาเมื่อครู่นี้เอง”

         “ผมไม่เห็นใครสักคน ไม่เชื่อถามครูอรุณดูได้”

         “จริงครับ ครูใหญ่ยืนพูดงึมงำอยู่คนเดียว ฟังไม่ได้ศัพท์ว่าพูดอะไรบ้าง ไม่สบายหรือเปล่าครับนี่” ครูน้อยอีกคนถามอย่างเป็นห่วง

         “ปละ....เปล่า ผมไม่ได้เป็นอะไร ประเดี๋ยวผมจะไปพบหลวงพ่อสักหน่อย คุณสองคนไปเป็นเพื่อนผมหน่อยซี” ครูบุญมีดูนาฬิกาข้อมือแล้วท้วงว่า “เพิ่งจะตีห้าครึ่ง อีกตั้งครึ่งชั่วโมงท่านจึงจะออกจากโบสถ์ เราปฏิบัติกันไปพลาง ๆ ก่อนดีกว่า”

         “คุณสองคนไม่รำคาญเสียงหมาหอนหรือ มันเพิ่งหยุดไปเดี๋ยวนี้เอง อะไรของมันนักหนา หอนอยู่ได้เป็นชั่วโมง” ครูใหญ่บ่น

         “ใครว่า มันหอนตอนพระตีระฆังเดี๋ยวเดียวเท่านั้น เอ...เช้านี้ครูใหญ่มีอะไรแปลก ๆ พิกล หรือว่ายังไม่อยากกลับบ้าน” ครูบุญมีเย้า ครูใหญ่จึงตัดสินใจไม่เล่าเรื่องประหลาดให้คนทั้งสองฟัง เพราะสองคนนี้จะต้องคิดว่าเขา “ไม่สบาย” สู้เก็บไว้ถามท่านพระครูจะดีกว่า

         “ว่าไง จะไปกุฏิท่านพระครูกับผมได้ไหม” ครูใหญ่ชวนอีก

         “ไปก็ไป ไปนั่งสมาธิรอท่านก็ได้” ครูอรุณพูด แล้วทั้งสามคนจึงพากันไปนั่งรออยู่ที่กุฏิท่านพระครู อากาศภายนอกค่อนข้างหนาวเย็น เพราะย่างเข้าฤดูหนาว แต่ในจิตใจของครูใหญ่กลับร้อนรุ่มดั่งไฟสุมขอน ทั้งร้อนใจและใจร้อนอยากพบท่านพระครูเป็นที่สุด

         เสร็จจากสังฆกรรมในโบสถ์แล้ว ท่านพระครูจึงเดินกลับกุฏิเพื่อเตรียมออกบิณฑบาตโปรดสัตว์เช่นเดียวกับภิกษุอื่น ๆ ในวัด ครั้นถึงกุฏิก็ต้องแปลกใจเมื่อเห็นครูสามคนนั่งรออยู่ ท่านคิดว่าเขามาลา จึงชวนให้อยู่รับประทานอาหารเช้าก่อน

         “พวกผมยังไม่กลับหรอกครับ แต่ผมมีปัญหาบางอย่างจะมาเรียนถามหลวงพ่อครับ ต้องขอประทานโทษที่มารบกวนแต่เช้า” ครูใหญ่ออกตัว

         “มีอะไรหรือ ท่าทางดูร้อนใจพิกล”

         “หลวงพ่อครับ ที่วัดนี้มีพระชื่อ หลวงตาเฟื่องหรือเปล่าครับ” ท่านพระครูนั่งนึกอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง จึงตอบว่า

         “มี แต่ตายไปนานแล้ว แกเป็นจ่าสิบตำรวจ เกษียณอายุแล้วมาบวชที่นี่ ครูใหญ่รู้จักแกหรือ”

         “ไม่รู้จักหรอกครับ แต่ท่านมาหาผมเมื่อกี้นี้ มาแนะนะตัวว่าชื่อหลวงตาเฟื่อง” แล้วครูใหญ่จึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านพระครูฟังอย่างละเอียด ฟังแล้ว ท่านเจ้าของกุฏิจึงพูดขึ้นว่า

         “น่าอายเหลือเกิน ตัวเป็นพระแต่มาขอส่วนบุญจากญาติโยม ครูเห็นหรือยังล่ะว่า พระก็ไปทุคติ ไปอบายได้ถ้าประมาท หลวงตาเฟื่องแกดื้อ อาตมาเตือนด้วยความหวังดี แกก็ไม่เชื่อ เกียจคร้านเอาแต่กินกับนอน นอกจากนี้ยังขโมยของวัดไปฝากลูกฝากหลานเป็นประจำ โน่นบ้านแกอยู่ใต้วัดไปโน่น

            อาตมาบอกว่ามันบาปนะหลวงตา แกก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ เสร็จแล้วเป็นยังไง ไปเกิดเป็นเปรตเลยเห็นไหม ครูใหญ่น่าจะถามแกดูว่าทำไมถึงใช้ให้ครูมาขอผ้าไตร ทำไมแกไม่มาขอเอง”

         “ผมก็คิดจะถามอยู่เหมือนกัน แต่ยังไงไม่ทราบ ลืมเสียได้ สงสัยจะกลัวมากไปหน่อย”

         “แกคงรู้ว่า เมื่อคืนมีคนเขาเอาผ้าไตรมาถวายอาตมาหนึ่งสำรับ เลยใช้ให้ครูใหญ่มาขอ ฉลาดดีนี่ ถ้าอย่างนั้น เดี๋ยวโยมกลับไปปฏิบัติต่อจนถึงเวลาอาหาร รับทานอาหารกันแล้วค่อยมาหาอาตมา อาตมาจะออกไปบิณฑบาตอยู่เหมือนกัน เรื่องนั้นค่อยว่ากันใหม่”

         แล้วท่านพระครูจึงออกบิณฑบาต โดยมีนายสมชายหิ้วปิ่นโตเดินตามหลัง ครูสามคนกลับมายังศาลา ไม่มีใครพูดถึงหลวงตาเฟื่องอีก ด้วยกลัวว่าแก่จะมาปรากฏตัว ฟ้ายังไม่ทันสาง เพราะดวงตะวันยังไม่ขึ้น พวกอมนุษย์จึงมีสิทธิที่จะมาป้วนเปี้ยนให้เห็นได้

         ท่านพระครูฉันเช้าเสร็จได้สักพัก ครูใหญ่หนึ่งคนก็นำครูน้อยสองคนเข้ามาหา แต่ละคนมีกระเป๋าเสื้อผ้ามาด้วย แสดงว่าเตรียมพร้อมที่จะกลับ

         “อยู่กันอีกซักคืนเถอะน่า” ท่านเจ้าอาวาสแกล้งเย้า

         “ไม่ไหวครับ” สามเสียงตอบขึ้นพร้อมกัน

         “อ้าว เผื่อจะได้เลขเด็ด หลวงตาเฟื่องแกให้หวยแม่นนา” คราวนี้ครูบุญมีกับครูอรุณทำท่าสนใจ ครูบุญมีพูดว่า

         “อยากได้น่ะอยากหรอกครับ แต่กลัวจะช็อคไปเสียก่อน”

         “หลวงพ่อครับ ตกลงว่าหลวงพ่อจะให้ผ้าไตรหลวงตาเฟื่องใช่ไหมครับ” ครูใหญ่ทวงถาม เพราะไม่แน่ใจว่า “ภาระ” ที่รับปากมานั้นเสร็จสิ้นหรือยัง

         “เออแน่ะ เกือบลืม เอาอย่างนี้ เดี๋ยวอาตมาจะฝากผ้าให้ครูใหญ่นำไปถวายพระ ต้องถวายพระกรรมฐานนะ อย่าไปถวายซี้ซั้ว” ท่านพูดภาษาจีนก็เป็นเหมือนกัน

         “ทำไมต้องถวายเฉพาะพระกรรมฐานเล่าครับหลวงพ่อ” ครูอรุณถาม

         “ก็ท่านจะได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้หลวงตาเฟื่องได้ ถ้าพระที่ไม่ปฏิบัติ จะอุทิศไปไม่ถึง พระบางรูปทองบทกรวดน้ำไม่เป็นด้วยซ้ำ อย่างหลวงตาเฟื่องนี่ท่องได้เสียที่ไหน ขนาดบวชมาตั้งสิบพรรษา เวลาเขานิมนต์ไปสวด ก็ทำปากขมุบขมิบไปยังงั้นเอง แต่อย่าพูดไปนะ พระแบบหลวงตาเฟื่องเดี๋ยวนี้มีเยอะ แล้วท่านก็หัวเราะ จากนั้นจึงหยิบผ้าไตรส่งให้ครูใหญ่

         “ถือไปยังงี้แหละ ไม่ต้องห่งต้องห่อหรอก เดี๋ยวก็ได้ถวายแล้ว” ท่านพูดเช่นนี้ด้วยรู้ว่าคนทั้งสามจะไปพบพระธุดงค์กลางทาง เพราะ “เห็นหนอ” บอกอย่างนั้น

         “เอาเถอะ แล้วอาตมาจะช่วยแผ่เมตตาให้แกอีกแรงหนึ่ง จะได้ไปเกิดเร็ว ๆ นี่ถ้าครูใหญ่ไม่บอก อาตมาก็ไม่รู้ว่าแกไปเกิดเป็นเปรต ลืมไปเลย”

         “หลวงพ่อได้ “เห็นหนอ” แต่ทำไมไม่รู้เล่าครับ” ครูอรุณสงสัย

         “อ้อ...นี่แสดงว่าครูยังเข้าใจ “เห็นหนอ” ไม่ถ่องแท้ ดีแล้วที่พูดขึ้น อาตมาจะได้ถือโอกาสอธิบายเสียเลย จริงอยู่ แม้อาตมาจะได้ “เห็นหนอ” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะได้ตลอดเวลาเมื่อไหร่กัน แหม ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ยุ่งเลยน่ะซี วัน ๆ ไม่เป็นอันทำอะไรแล้ว เพราะเที่ยวไปเห็นคนโน้นคนนี้วุ่นวายไปหมด

         โปรดจำไว้ว่าเราจะ “เห็นหนอ” ก็ต่อเมื่อเราตั้งสติกำหนดจิตเท่านั้น อย่างที่อาตมากำลังคุยกับโยมอยู่นี่ อาตมาก็เห็นโยมเป็นโยมเหมือน ๆ กับที่คนอื่น ๆ เห็น แต่ถ้าอาตมาอยากรู้ว่าโยมกำลังคิดอะไรอยู่ อาตมาก็จะตั้งสติกำหนดจิต แล้ว “เห็นหนอ” จึงจะเกิด นี่มันเป็นยังงั้น พอจะเข้าใจหรือยังเล่า”

            “ครับ เข้าใจแล้วครับ หลวงพ่อครับ แล้วคนที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ มีโอกาสได้ “เห็นหนอ” ทุกคนไหมครับ” ครูบุญมีสงสัย

         “ไม่ทุกคน ก็คนที่จบปริญญาตรีได้เกียรตินิยมทุกคนหรือเปล่าเล่า”

         “ได้เป็นบางคนครับ” ครูอรุณตอบ

         “เหมือนกันนั่นแหละ คนที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ บางคนก็ไม่ได้ “เห็นหนอ” เพราะมันไม่ใช่จุดหมายของการปฏิบัติ เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น อาตมาจะยกตัวอย่างในสมัยพุทธกาลเรื่อง พระอุบลวัณณาเถรี  คนนี้เป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์มาก

         ในบรรดาพระเถระผู้มีฤทธิ์ ต้องยกให้พระโมคคัลลานะ แต่ถ้าพระเถรี ต้องยกให้พระอุบลวัณณา แต่ถึงแม้จะมีฤทธิ์ ก็ยังถูก นันทมาณพ ข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของกรรมเก่าครั้งอดีตชาติที่ท่านประพฤติผิดศีลข้อสาม คนก็พากันสงสัยว่า ทำไมทั้ง ๆ ที่มีฤทธิ์ยังถูกข่มขืนได้ นี่ก็เหมือนกัน คือเมื่อท่านยังไม่ตั้งสติกำหนดจิต ฤทธิ์มันก็ยังไม่เกิด

         ในคัมภีร์กล่าวว่า ตอนจะถูกข่มขืนนั้น ท่านไปข้างนอกมา ทั้งเหนื่อยทั้งร้อน กำลังจะนอนพัก นันทมาณพซึ่งซ่อนอยู่ใต้เตียงก็ถือโอกาสข่มขืนตอนนี้ เมื่อนันทมาณพข่มขืนเสร็จก็ถูกธรณีสูบ เพราะว่าทำร้ายพระอรหันต์ ถือว่ามีโทษหนัก บาปมาก เห็นไหมว่า ถ้าไม่ตั้งสติ กำหนดจิต ฤทธิ์ก็ไม่เกิด เหมือนอย่างที่อาตมาลืมหลวงตาเฟื่อง แล้วแกก็ไม่มาปรากฏให้เห็น ก็เลยไม่รู้กัน อ้อ...ยังเป็นเปรตอยู่หรือนี่”

         “ครับ ท่านบอกว่า เป็นปรทัตตุปชีวิกเปรต พวกเปรตนี่มีหลายประเภทหรือครับหลวงพ่อ”

         “เท่าที่อาตมาทราบ มีสี่ประเภท คือ ปรทัตตุปชิวิกเปรต คือ พวกที่มีชีวิตอยู่ด้วยการขอส่วนบุญจากผู้อื่น ชุปปิปาลิกเปรต คือ พวกที่ถูกเบียดเบียนด้วยการหิวข้าวหิวน้ำ นิชฌามตัฒหิกเปรต คือ พวกที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ และ กาลกัญจิกเปรต เป็นชื่อของอสุราที่เป็นเปรต ครูอยากจะเป็นเปรตประเภทไหนล่ะ” ท่านถามครูอรุณ

         “ไม่อยากเป็นสักประเภทเดียวครับ”

         “ทำกรรมอะไรจึงไปเกิดเป็นเปรตครับหลวงพ่อ” ครูบุญมีถาม

         “ก็ความโลภน่ะซี เขาเรียกว่า “จิตมีโลภะ” อย่างหลวงตาเฟื่องที่ขโมยของวัดไปให้ลูกกิน เพราะจิตยังมีโลภะ ยังห่วงลูก คนที่ตายขณะที่จิตมีโลภะ เช่นยังห่วงโน่นห่วงนี่ ไม่ว่าจะห่วงสมบัติหรือห่วงลูกหลาน ก็ถือว่ายังมีโลภะ ถ้าไม่ไปเกิดเป็นเปรต ก็ไปเกิดเป็นอสุรกาย

         ฉะนั้นโยมจงจำเอาไว้ เวลาตายต้องทำจิตให้ผ่องใส จะได้ไปสุคติภูมิ ถ้าตายขณะจิตมีกิเลส เช่นถ้ามีโทสะ จะไปเกิดเป็นสัตว์นรก ถ้ามีโลภะจะไปเกิดเป็นเปรตหรืออสุรกาย ถ้ามีโมหะก็จะไปเกิดเป็นเดรัจฉาน

         ดังนั้น ถ้ารู้ว่ากำลังจะตายก็อย่าไปห่วง อย่าไปโลภ โกรธ หลง จะได้ไม่ต้องไปอบายภูมิ อาตมาจะเล่าเรื่องจริงให้ฟังเรื่องหนึ่ง อยากฟังไหมเล่า”

         “อยากฟังครับ” คนทั้งสามตอบ

         “เอาละ อยากฟังก็จะเล่าให้ฟัง มีเจ้าคณะอำเภอรูปหนึ่ง อย่าให้อาตมาเอ่ยชื่อเลยนะ เพราะไหน ๆ ท่านก็มรณภาพไปแล้ว เจ้าคณะอำเภอรูปนี้ท่านสะสมผ้าไตรไว้เป็นร้อย ๆ สำรับ ใส่ตู้เรียงรายเต็มกุฏิไปหมดแล้วท่านก็หวงมาก ไม่ยอมแจกไตร เพราะตั้งใจว่า อายุครบ ๘๐ จะทำบุญใหญ่ แล้วค่อยแจกตอนนั้น

         แต่ปรากฏว่า พออายุ ๗๕ ปี ท่านก็มรณภาพแล้วไปเกิดเป็นเปรต เห็นไหม ประมาทนิดเดียว ไปเกิดเป็นเปรตเลย จะว่าท่านโลภก็ไม่เชิง เพราะท่านตั้งใจไว้ว่า อายุ ๘๐ ถึงจะแจก ทีนี้ท่านก็เลยตายขณะที่จิตมีโลภะ คือห่วงผ้าไตร

         “หลวงพ่อทราบได้อย่างไรครับ ว่าท่านไปเกิดเป็นเปรต” ครูใหญ่ถาม

         “ท่านมาบอกอาตมา มาแบบเดียวกับที่หลวงตาเฟื่องมาหาครูใหญ่นั้นแหละ แต่แย่กว่าหลวงตาเฟื่องตรงที่ไม่มีอะไรนุ่งห่ม มาแบบชีเปลือย ว่างั้นเถอะ มาถึงก็บอกอาตมาว่า

         “ท่านพระครู ผมหนาวเหลือเกินวันเผาศพ ช่วยเอาผ้าไตรแจกให้หมด แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ผมด้วย”

         อาตมาก็จัดการให้ คืนนั้นก็มาขอบใจ นุ่งห่มเรียบร้อย บอกว่าสบายแล้ว นี่เห็นหรือยัง ประมาทไม่ได้เลย เผลอไปนิดเดียวยังไปทุคติเสียได้

         นี่แหละ พระพุทธองค์ถึงได้ทรงเตือนนักว่า ไม่ให้ประมาท ทีนี้เห็นความสำคัญของสติหรือยังว่า การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลานั้น มีประโยชน์มาก เห็นด้วยไหมเล่า”

         “เห็นด้วยครับ” ครูสามคนตอบ แล้วครูใหญ่จึงพูดขึ้นว่า

         “หลวงพ่อครับ พวกผมเห็นจะต้องกราบลาและต้องขอกราบของพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูง ที่ได้เมตตาพวกผมให้ได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง ได้อาหารบำรุงร่างกาย แล้วยังได้ธรรมะบำรุงจิตใจอีกด้วย และในฐานะที่พวกผมเป็นครูบาอาจารย์ ก็จะนำความรู้นี้ ไปอบรมสั่งสอนแก่เยาวชนให้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบไปในอนาคต

         สุดท้ายนี้ พวกผมไม่มีอะไรจะตอบแทนพระคุณของหลวงพ่อ นอกจากจะขออนุญาตถวายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อสมทบทุนเป็นค่าอาหาร เลี้ยงพระ เณร และญาติโยมที่มาเข้ากรรมฐาน ได้ทราบมาว่า หลวงพ่อต้องรับภาระหนักในเรื่องนี้ พวกผมพอจะช่วยแบ่งเบาได้บ้างตามกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์” ครูใหญ่พูดค่อนข้างยาว แล้วจึงถวายเงินจำนวนหนึ่งซึ่งใส่ซองปิดผนึกอย่างเรียบร้อย

         “ขออนุโมทนา ขอให้ครูใหญ่และคณะจงเดินทางกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ แล้วขอให้หมั่นเจริญกรรมฐานกันทุกวัน ในสามคนนี้จะมีคนหนึ่งถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ อาตมาขอบิณฑบาต ขอให้เลิกเสีย เพราะมันเป็นการพนัน แต่ที่ซื้อไว้แล้วก็ไม่เป็นไร เอาเถอะ ที่จะถูกน่ะ ซื้อไว้แล้ว ไม่ต้องซื้อใหม่”

         บังเอิญคนทั้งสามต่างก็ซื้อไว้คนละฉบับ จึงพากันคิดว่าคนโชคดีที่ท่านพระครูพูดถึงนั้น คือตัวเขา คนเป็นครูใหญ่นั้นตั้งปณิธานไว้แล้วว่าจะเลิกอย่างเด็ดขาด ไม่ว่างวดนี้จะถูกหรือไม่ก็ตาม การได้มีโอกาสมาลิ้มรสพระธรรมในครั้งนี้ มีค่ากว่าการถูกรางวัลที่หนึ่งเป็นไหน ๆ

         เวลาตีสี่ของวันรุ่งขึ้น ท่านพระครูตื่นขึ้นปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลาสองชั่วโมงเช่นเคย และไม่ลืมที่จะแผ่เมตตาไปให้หลวงตาเฟื่องดังที่ได้ลั่นวาจาไว้กับครูใหญ่ เมื่อคืน ก่อนจำวัด ท่านก็ได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ภิกษุนั้นครั้งหนึ่งแล้ว ก็คงจะพอช่วยได้บ้าง แผ่เมตตาเสร็จ ท่านจึงกำหนดออกจากกรรมฐาน พอลืมตาขึ้น จึงเห็นหลวงตาเฟื่องนั่งพับเพียบพนมมือแต้อยู่ต่อหน้า

         “ผมมาขอบคุณท่านพระครูที่ได้ช่วยสงเคราะห์ ผมสบายแล้ว” ภิกษุชราบอกกล่าว

         “ท่านมาก็ดีแล้ว ผมอยากจะต่อว่าสักหน่อย” ท่านพระครูพูดขึ้น

         “ต่อว่ามาก ๆ ก็ได้ คราวนี้ผมยอมจำนนทุกอย่าง เข็ดแล้ว ถ้าผมเชื่อท่านพระครูเสียแต่แรกก็คงไม่ลำบากถึงปานนี้” ฝ่ายนั้นรำพึงรำพัน

         “เรื่องที่ผมอยากจะต่อว่าก็คือ ทำไมท่านไม่มาบอกผมตั้งแต่ทีแรก เพราะอย่างน้อยผมก็ช่วยท่านไม่ให้ต้องอด ๆ อยาก ๆ แล้วทำไมไม่มาบอกผมตรง ๆ ต้องไปผ่านทางครูใหญ่ ท่านไม่อายเขาหรือไง ที่เป็นพระ แต่ไปขอส่วนบุญจากฆราวาส มาขอจากพระด้วยกันก็ยังดี ท่านเห็นผมเป็นอะไร ถึงได้ข้ามหน้าข้ามตาไป” เจ้าของกุฏิต่อว่าต่อขานเป็นการใหญ่

         “ผมกลัวท่านพระครูจะไม่อภัยให้ก็เลยไม่กล้า อีกอย่าง ผมก็อยากจะรับกรรมที่ก่อขึ้นนั้นด้วยตนเอง ก็ท่านพระครูเคยสอนไว้ไม่ใช่หรือว่า รับกรรมแทนกันไม่ได้ ใครสร้างเหตุคนนั้นก็ต้องรับผล”

         “ถูกแล้ว แต่ผมหมายความว่า อย่างน้อยก็ยังช่วยให้ทุเลาเบาลางลงได้บ้าง”

         “แต่ตอนนี้ท่านก็ได้ช่วยผมแล้ว ผมเป็นหนี้บุญคุณท่านพระครูมากเหลือเกิน นี่ถ้าได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก ผมจะตั้งหน้าตั้งตาเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปจนตลอดชีวิต ผมรู้แล้วว่า การเวียนว่ายตายเกิดมันทุกข์อย่างไร ผมเห็นจะต้องลา ขอบพระคุณสำหรับผ้าไตรใหม่เอี่ยมที่ผมนุ่งห่มอยู่นี้”

         พูดจบ ภิกษุชราก้มลงกราบสามครั้ง แล้วร่างนั้นก็ค่อย ๆ เลือนหายไปในความสลัวของยามอรุณ

 

มีต่อ.........๑๐
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #9 เมื่อ: เมษายน 10, 2007, 08:27:09 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00010
 

๑๐...

               บ่ายจัดของวันที่แปดนับแต่วันบวช ขณะที่พระบัวเฮียวกำลังเดินไปยังกุฏิท่านพระครู เพื่อให้ท่านทดสอบอารมณ์ รถตู้สีครีมใหม่เอี่ยมคันหนึ่งก็แล่นเข้าประตูวัดมา มีรถเก๋งสีฟ้าแล่นตามมาติด ๆ เมื่อรถสองคันแล่นเข้ามาจอดคู่กันที่ลานวัด บุรุษสองคนกับสตรีสามคนได้ลงมาจากรถ พระใหม่ไม่ทันได้สังเกตว่า คนไหนลงมาจากคันไหน แต่ที่จำได้แม่นยำคือ บุรุษที่เดินนำหน้าคนทั้งสี่มานั้น คือครูที่มาจากนครสวรรค์ และเพิ่งออกจากกรรมฐานกลับไปเมื่อสามสี่วันก่อน

            คนทั้งห้าเดินตรงไปยังกุฏิท่านพระครูและถึงก่อนหน้าท่านเล็กน้อย เมื่อท่านไปถึงและทำความเคารพพระอุปัชฌาย์แล้ว ครูใหญ่จึงแนะนำกับคนทั้งสี่ว่า

            “นี่หลวงพี่บัวเฮียว อาจารย์สอนกรรมฐานให้พ่อ”

            แล้วทั้งหมดจึงก้มลงกราบสามครั้ง พระใหม่รู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ คนที่เป็นครูใหญ่ยกย่องให้เกียรติท่านถึงปานนั้น อีกทั้งหญิงสาวสองคนที่มาด้วยก็สวยหยาดเยิ้มจนท่านรู้สึกขวยเขิน

            “เจริญพรครูใหญ่ ครูบุญมีกับครูอรุณไม่ได้มาด้วยหรอกหรือ” ท่านพระครูทักทาย กระบวนจำชื่อคนแม่นไม่มีใครเกินท่านเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง

            “ไม่ได้มาครับเพราะโรงเรียนเปิดแล้ว ตัวผมก็ลางานมา จะพาครอบครัวมากราบหลวงพ่อ” แล้วจึงแนะนำสมาชิกทีละคน

            “คุณผ่องพักตร์แม่บ้านของผม สามคนเป็นลูกชื่อ ผ่องพรรณ วรรณวิไล ชัยชนะ อายุห่างกันคนละปี เรียนจนได้งานทำกันแล้วครับ”

         ท่านพระครูกำหนด “เห็นหนอ” พิจารณาคนทั้งสี่ทีละคน แล้วพูดขึ้นว่า “นี่คนนี้ฉลาด จะได้เป็นด็อกเตอร์” ท่านชี้ไปที่วรรณวิไล หญิงสาวยิ้มอาย ๆ ยกมือขึ้น “สาธุ” พร้อมกล่าวว่า “ขอให้สมพรปากเถิดเจ้าค่ะ”

         พระบวชใหม่แอบชื่นชมในใจว่า “เจ้าประคุณเอ๋ย รูปก็สวย เสียงก็ใส แถมยังความรู้สูงเสียด้วย ข้างฝ่ายพี่สาวก็สวยไม่แพ้กัน นี่ถ้าให้เราเลือกคงเลือกไม่ถูกกระมังหนอ มันเข้าทำนอง รักพี่เสียดายน้อง ครั้นจะรักน้องก็เสียดายพี่ จะเอายังไงดีวุ้ย”

            ท่านพระครูแอบสำรวจความคิดของพระใหม่ เห็นกำลังฟุ้งซ่านหนัก จึงพูดขึ้นว่า

         “เห็นไหมบัวเฮียว ที่ฉันบอกเธอว่าครูใหญ่ต้องกลับมาที่วัดนี้อีกภายในเจ็ดวัน ก็กลับมาจริง ๆ

         “แต่หลวงพ่อบอกว่าจะถูกรางวัลที่หนึ่งด้วยนี่ครับ” พระใหม่ทักท้วง คนเป็นครูใหญ่จึงพูดขึ้นว่า

         “เป็นความจริงครับ ผมกำลังจะกราบเรียนหลวงพ่ออยู่พอดี” พระอุปัชฌาย์มองหน้าลูกศิษย์เหมือนจะบอกว่า “เห็นไหมบัวเฮียว ที่ฉันพูดไว้น่ะ ผิดเสียที่ไหน”

            “ผมต้องกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ได้เมตตาให้ผมมีโชค” ครูใหญ่พูดพร้อมกับยกมือไหว้อย่างนอบน้อม

         “ไม่เกี่ยวกับอาตมาหรอกโยม” บางครั้งท่านก็เรียกครูใหญ่ว่า “โยม”

         “มันเป็นโชคของโยมเอง อาตมาเพียงแต่รู้เท่านั้น ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่าอาตมาจะรู้หรือไม่โยมก็ต้องถูกอยู่ดี เพราะโยมทำกรรมมาอย่างนั้น เรื่องของกรรมใครทำใครได้ ทำกรรมดีก็ได้ดี ทำกรรมชั่วก็ได้ชั่ว ลูกศิษย์ของอาตมาคนหนึ่งเขาไม่เล่นหวย ไม่เคยซื้อ ไม่ว่าจะเป็นหวยใต้ดินหรือหวยรัฐบาล แต่เมื่อถึงคราวที่กรรมดีมาให้ผล เขาก็ถูกรางวัลที่ ๑ จนได้

         เรื่องมีอยู่ว่าตาขี้เมาคนหนึ่งมาอ้อนวอนขายให้เขา เพื่อจะเอาเงินไปซื้อเหล้ากิน เขาบอกไม่ซื้อ ๆ ตานั่นก็เซ้าซี้จนเขารำคาญ เลยควักเงินให้ไปสิบบาทแล้วเอาล็อตเตอรี่มา ตกเย็นล็อตเตอรี่ออก ปรากฏว่าเขาถูกรางวัลที่ ๑ เห็นไหมคนมีชี อยู่ดี ๆ ก็มีคนเอาเงินมาให้ตั้งห้าแสน

         เขาก็สำนึกถึงบุญคุณตาขี้เมา ตั้งใจจะเอาเงินไปแบ่งให้บ้าง พอไปตามหาถึงได้รู้ว่า หมอนั่นช็อคตายไปแล้ว แกไปเที่ยวเร่ขายจนจำเลขได้ พอรู้ว่าถูกรางวัลที่ ๑ เกิดความเสียดาย เลยช็อค”

         ท่านพระครูเล่าจบ ลูกสาวคนโตของครูใหญ่จึงถามขึ้นว่า

         “แล้วแบบนี้คนที่ซื้อไปจะบาปไหมคะหลวงพ่อ”

         “ไม่บาปหรอกหนู เพราะเขาไม่ได้เจตนา แล้วจิตของเขาก็ไม่มีโลภะ แต่ซื้อเพื่อตัดรำคาญ”

         “ผมว่าตาขี้เมาคนนั้นไม่มีโชคมากกว่าใช่ไหมครับหลวงพ่อ” ครูใหญ่ถาม

         “ก็คงเป็นยังงั้นแหละ เงินมาอยู่ในมือแล้วยังเอามายัดเยียดให้คนอื่น พูดภาษาชาวบ้านก็ว่า ดวงจะไม่ได้ใช้เงิน”

         “อย่างคนที่ผมรู้จักคนหนึ่งครับหลวงพ่อ รายนี้ก็ถูกรางวัลที่ ๑ เหมือนกัน แกเอาเงินไปซื้อรถเก๋งแล้วก็ไปแต่งนางงามบ้านหมี่มาเป็นเมียน้อย ทั้งที่เมียแกยังอยู่ด้วยกัน หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่กับอบายมุข ทั้งสุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ผลที่สุดก็เลยวิบัติ คือ ถูกหวยได้ไม่ถึงเดือนก็ขับรถไปชนกับสิบล้อตายคาที่เลยครับ” ชัยชนะเล่า

         “นั่นแหละเขาเรียกว่าทุกขลาภ เพราะเขาไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม ไม่เข้าใจว่าที่ตนร่ำรวยขึ้นมานั้นกรรมดีมันมาให้ผล แทนที่จะสร้างกรรมดีเพื่อเติมเชื้อบุญต่อไปอีก กลับไปทำบาปคือประพฤติผิดศีล ก็เลยต้องพบกับความหายนะทันตาเห็น”

         “แสดงว่าคนที่มีเมียน้อยทุกคน จะต้องพบกับความหายนะใช่ไหมคะหลวงพ่อ” คุณผ่องพักตร์ถามขึ้น

         “ก็คงงั้นมั้ง หรือ ครูใหญ่ว่ายังไง”

         “ข้อนั้นผมไม่ทราบครับ ทราบแต่ว่าแม่บ้านผม เธอเป็นโรคหึงครับ ที่ถามหลวงพ่อเพราะแรงหึง กลัวว่าผมจะมีเมียน้อย” คนเป็นครูใหญ่ “ฟ้อง” กราย ๆ

         “ผู้หญิงเป็นโรคหึงทุกคนแหละโยม ต่างกันแต่ว่าใครจะมีอาการมากน้อยกว่ากัน”

         “หลวงพ่อไม่ได้เป็นผู้หญิง แล้วทราบได้อย่างไรคะว่า ผู้หญิงเป็นโรคหึงทุกคน” ผ่องพรรณถามขึ้น

         “ก็หนูไม่ได้เป็นหลวงพ่อ แล้วหนูทราบได้อย่างไรล่ะจ๊ะ ว่าหลวงพ่อไม่ทราบ” ท่านพระครูถามยิ้ม ๆ หญิงสาวมิรู้จะตอบประการใด จึงหันไปสบตากับหลวงพี่บัวเฮียว หวังให้ท่านช่วย

         “คุณโยมคงได้ “เห็นหนอ” น่ะครับหลวงพ่อ พระใหม่เอื้อนเอ่ยหมายจะช่วย “คุณโยม” ทว่ากลับทำให้เธองุนงงหนักขึ้น ท่านพระครูเห็นว่าเรื่องจะไปกันใหญ่ จึงวกกลับเข้ามาเรื่องเดิม

            “ตกลงครูใหญ่จะใช้ชีวิตแบบที่ลูกชายเล่ามาหรือเปล่าล่ะ น่าสนุกดีเหมือนกันนะ”

         “ไม่หรอกครับหลวงพ่อ ผมมันเข้าวัดเข้าวาเสียแล้ว บ้านเรามีห้าคนผมก็เอาห้าหาร ได้กันคนละแสน ทีนี้ผมก็บอกภรรยาและลูก ๆ ว่าหลวงพ่อรับนิมนต์ไปเทศน์ตามที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ ถ้ามีรถไว้ใช้สักคันก็จะสะดวกขึ้น ผมเลยบอกจะซื้อรถตู้ถวายหลวงพ่อ พวกเขาก็ช่วยกันลงขันมาซื้อรถ แล้วยังมีเงินเหลือสำรองเป็นค่าน้ำมันอีกสองหมื่น”

         พูดจลก็ถวายเงินสดและทะเบียนรถพร้อมลูกกุญแจแด่ท่านเจ้าอาวาส ท่านพระครูรับประเคนแล้ว ให้ศีลให้พรตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติ คนทั้งหมดรวมทั้งพระบัวเฮียวต่างพากันอนุโมทนาสาธุการ

         “หลวงพ่อคงต้องหาคนขับรถสักคนหนึ่งแล้วละครับ” ครูใหญ่เสนอแนะ

         “ก็มีแต่สมชายนี่แหละ ขับพอเป็นแล้ว แต่ยังไม่มีใบขับขี่”

         “ไม่ยากหรอกครับหลวงพ่อ ใบขับขี่ต่างจังหวัดทำง่ายกว่าในกรุงเทพฯ เพื่อน ๆ ผมมีใบขับขี่เกือบทุกคน ทั้งที่บางคนยังขับรถไม่เป็นด้วยซ้ำ” ชัยชนะออกความเห็น

         “แต่แบบนั้นไม่ค่อยดีนะเจ้าคะ เพราะนอกจากจะไม่ปลอดภัยสำหรับตัวเองแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่นอีกด้วย” วรรณวิไลเอ่ยขึ้น

         “จริงค่ะ หนูเห็นด้วยกับน้องวรรณ อย่างเพื่อนหนูนะคะ กำลังยืนพูดโทรศัพท์อยู่ในตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งตั้งอยู่ริมถนน คนที่เขากำลังคุยด้วยก็คือหนูเอง จู่ ๆ รถเก๋งคันหนึ่งก็พุ่งเข้ามาชนโครม เพื่อนหนูคอขาดกระเด็นออกมานอกตู้ซึ่งพังยับเยิน กระจกแตก คนชนก็ถูกอัดก๊อปปี้ตายคาพวงมาลัย

         หนูก็แปลกใจว่าเอ....กำลังคุยกันดี ๆ ก็มีเสียงดังโครมแล้วก็เงียบหายไป เลยขับรถออกตามหา ดีที่เขาบอกชื่อถนนไว้ตอนคุยกัน พอหนูเห็นเพื่อนหนูแทบช็อคเลยค่ะ

         ตำรวจสอบสวนได้ความว่า ผู้หญิงคนชนนั้นเพิ่งหัดขับรถ แถมวันนั้นแกทะเลาะกับสามีเลยขโมยรถขับไปกินเหล้า พอเมาก็ประมาทขับเสียเร็วเลยทำให้เพื่อนหนูพลอยเคราะห์ร้ายไปด้วย”

         ท่าทางคนเล่ายังไม่หายหวาดเสียว แต่พระใหม่กลับเพลิดเพลินกับเสียงใส ๆ ของคุณโยมจนเผลอสติ จ้องหน้าหล่อนไม่วางตา ครั้นเมื่อหญิงสาวเล่าจบจึงถามเชย ๆ ออกมาว่า

         “แล้วอย่างนี้จะเอาผิดกับใครเล่าครับหลวงพ่อ เพราะคนทำผิดก็ตายไปแล้ว”

         “อ้าว...ก๊อเอาผิดกะพระบัวเฮียวน่ะซี” ท่านพระครูตอบหน้าเฉย

         “ถ้างั้นหลวงพ่อก็ยุ่งแล้วละครับ เพราะถ้าพระลูกวัดถูกจับ สมภารก็ต้องถูกสอบสวนด้วย” คราวนี้คนเชยทำเป็นรู้

         “งั้นครูใหญ่ช่วยไปประกันตัวให้ด้วยก็แล้วกัน ไหนว่าเป็นลูกศิษย์เป็นอาจารย์กันไม่ใช่หรือ” ท่านพระครูโยนกลองไปที่ครูใหญ่

         “ครับ ไม่เป็นไร ผมประกันตัวให้หลวงพี่เอง” ครูสฤษดิ์พลอยเออออห่อหมกด้วย

         “แหม...คุณก็ หลวงพ่อท่านพูดเล่น ๆ คุณก็เอาเป็นจริงเป็นจังไปได้” คุณผ่องพักตร์ปรามสามี

         “คุณพ่อก็พูดเล่น ๆ นะคะคุณแม่” วรรณวิไลแก้แทนบิดา พระบัวเฮียวมีอันต้องคิดหนัก ว่าพี่น้องสองศรีคู่นี้ใครเสียงหวานกว่ากัน ก็เลยตัดสินใจไม่ได้อีกครั้ง

         “กรณีของเพื่อนหนู ก็ต้องโทษว่ากรรมใช่ไหมคะหลวงพ่อ” ผ่องพรรณถาม

         “แน่นอน โดยเฉพาะคนขับนั้นเป็นกรรมประเภททิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือกรรมที่ให้ผลในชาติปัจจุบันทันตาเห็น การดื่มสุราถือว่าละเมิดศีลข้อร้ายแรงที่สุดในบรรดาศีลห้า เฉพาะทำให้ขาดสติ เมื่อขาดสติเสียแล้วก็ละเมิดศีลข้ออื่น ๆ ได้หมด อันนี้แสดงให้เห็นว่าทำชั่วได้ชั่วทันตาเห็น

         ส่วนเพื่อนของหนูก็แสดงว่าต้องมีเวรมีกรรมเกี่ยวเนื่องมากับคนที่ชน คือมันต้องมีเหตุ ถ้าไม่มีเหตุมันก็ไม่มีผล หนูลองคิดง่าย ๆ ก็ได้ว่า ทำไมถึงต้องเป็นเพื่อนของหนู ทำไมไม่เป็นคนอื่น เพราะคนใช้โทรศัพท์เครื่องนี้ วัน ๆ มีมากมาย แต่ทำไมเขาไม่ถูกชน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาไม่ได้เป็นเจ้ากรรมนายเวรกันมา จริงไหมล่ะจ๊ะ” ท่านหันไปถามวรรณวิไล

         “จริงเจ้าค่ะ เหมือนอย่างคุณพ่อกับคุณแม่ ก็คงเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันมาใช่ไหมเจ้าคะหลวงพ่อ” หญิงสาวถามหมายจะยั่วบิดาและมารดา

         “แน่นอนจ้ะ ไม่เฉพาะคุณพ่อคุณแม่หรอก ถึงหนูเองก็เถอะ หลวงพ่อเห็นหมดแล้วว่าหนูจะต้องใช้เวรใช้กรรมกับคูกของหนูมากกว่านี้อีกหลายเท่า ถึงดวงการศึกษาหนูจะดี แต่ดวงคู่ครองค่อนข้างจะแย่ หนูต้องอดทนมาก ๆ ถึงจะอยู่กันได้ คู่ของหนูเข้าเป็นคนเจ้าทิฏฐิ ใจร้อน พูดก็ไม่เพราะ คือไม่เพราะแต่กับหนู แต่กับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะสาว ๆ เขาพูดเพราะมากเชียวละ หนูก็เลยเป็นโรคหึง แล้วโรคนี้มันจะทรมานจิตใจหนูมากทีเดียว”

         “เมื่อรู้อย่างนี้แล้วหนูก็ไม่แต่งกับเขาซีเจ้าคะหลวงพ่อ”

         “ไม่แต่งได้แหละดี ดีมาก ๆ เชียวละ แต่ถึงเวลานั้นจริง ๆ หนูจะไม่คิดอย่างนี้ ไม่พูดอย่างนี้ หนูจะมาหาหลวงพ่อแล้วพูดว่า...หลวงพ่อเจ้าคะ หนูไม่ได้รักเค้าหรอกเจ้าคะ แต่หนูสงสารเค้าถึงได้ยอมแต่งงานด้วย จริง ๆ นะเจ้าคะ....”

         “ท่านพูดเลียนเสียงวรรณวิไล ทำให้คนอื่น ๆ พากันหัวเราะทั้งหญิงสาวที่ชื่อวรรณวิไลด้วย

         “แล้วเขาเจ้าชู้ไหมเจ้าคะหลวงพ่อ” หล่อนถามอีก

         “จะว่าเจ้าชู้ก็ไม่เชิง แต่ผู้ชายที่พูดหวาน ๆ น่ะผู้หญิงชอบใช่ไหม นี่แหละสาวแก่แม่หมายตอมกันหึ่งเชียวละ”

         “แหม หนูชักใจไม่ดีแล้วซีเจ้าคะ หนูเชื่อว่าสิ่งที่หลวงพ่อพูดจะต้องเกิดขึ้นกับหนูจริง ๆ เห็นคุณพ่อบอกว่าหลวงพ่อได้ทิพยจักษุกับเจโตปริยญาณ” ประโยคหลังหล่อนพูดตามหลักวิชาที่เคยเรียน

         “จริงหรือไม่จริง หนูคอยดูไปก็แล้วกัน อีกแปดปีก็จะรู้ ถ้าไม่จริงมาต่อว่าหลวงพ่อได้” พระบัวเฮียวแอบคิดในใจว่า “เอ...เนื้อคู่ของคุณโยมจะใช่เราหรือเปล่าหนอ” ก็พอดีกับหญิงสาวถามขึ้น

         “แล้วตอนนี้เจอกันหรือยังเจ้าคะ พระใหม่ตั้งใจฟังเต็มที่ หากก็ต้องผิดหวังเมื่อท่านพระครูตอบว่า

         “เดินผ่านกันไปผ่านกันมาหลายครั้งแล้วที่มหาวิทยาลัย แต่ยังไม่เคยพูดกัน เขาไม่สนใจหนูหรอกเพราะเขามีคู่รักอยู่แล้ว ต้องชดใช้กรรมกับคนนั้นก่อนแล้วถึงจะมาเจอกับหนู”

         “แล้วตอนนี้เขาแต่งงานกันหรือยังเจ้าคะ”

         “ยัง อีกสองปีถึงจะแต่ง แต่งแล้วก็หย่ากันในปีนั้น ผู้หญิงเขาใจเด็ดทิ้งลูกทิ้งผัวไปอยู่กับชายอื่น คู่ของหนูก็เลยเป็นพ่อหม้ายลูกติด”

         “ก็ดีซีเจ้าคะหนูจะได้ไม่ต้องมีลูกของตัวเอง ลูกเขาก็เหมือนลูกเราจริงไหมคะพี่ผ่อง” หล่อนหันไปถามพี่สาว

         “พอถึงเวลานั้นจริง ๆ มันไม่เป็นอย่างที่หนูหวังไว้หรอกจ้ะ จำคำพูดของหลวงพ่อไว้นะจ๊ะคุณด็อกเตอร์ ว่าหนูน่ะจะต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่าเพราะสามี”

         หญิงสาวกลับมีอารมณ์ขันเพราะไม่เคยจริงจังกับชีวิต แต่เล็กจนโต หล่อนได้รับความรักความอบอุ่นมาโดยตลอด ทั้งคนในครอบครัวทั้งเพื่อนฝูงต่างรักใคร่หล่อนกันทุกคน ชีวิตของวรรณวิไลจึงยังไม่รู้จักคำว่าทุกข์ ทั้งไม่เคยคิดว่าจะต้องพบกับมัน

         หล่อนมิรู้ดอกว่า ความร่าเริงน่ารักและมองโลกในแง่ดีอันเป็นคุณสมบัติประจำตัวหล่อนนั้น อีกแปดปีมันจะไม่มีหลงเหลืออยู่เลย นอกจากจะไม่เหลือแล้วมันยังเปลี่ยนเป็นคุณสมบัติที่ตรงข้าม...ตรงข้ามโดยสิ้นเชิง อีกแปดปีหล่อนจะต้องมานั่งร้องไห้คร่ำครวญต่อหน้าพระภิกษุรูปนี้ หล่อไม่รู้ แต่ท่านพระครูท่านรู้

         “ก็แล้วแต่จังหวะจ้ะ หัวเข่าหนูน่ะแน่ ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าวันไหนโชคร้ายหน่อยก็จะเป็นหัวเข่าเขา ทำหัวเราะไปเถอะแล้วหลวงพ่อจะคอยดู”

         “ถึงขนาดนั้นเชียวหรือคะหลวงพ่อ” คุณผ่องพักตร์รู้สึกเป็นห่วงลูกสาวคนเล็ก

         “ก็เขาทำกรรมมาอย่างนั้นนี่โยม” ท่านพระครูตอบ

         “คนมีการศึกษาเขาจะทำกันถึงขนาดนั้นเชียวหรือคะหลวงพ่อ” เธอคัดค้าน

         “การศึกษาไม่เกี่ยวหรอกโยม ที่อาตมาเห็น ๆ มาน่ะ ขนาดจบปริญญาโท ปริญญาเอก ยังเตะกันตกบ้านไม่รู้กี่คู่ต่อกี่คู่” คราวนี้มารดาของวรรณวิไลนั่งเงียบกริบ นึกสงสารบุตรสาวที่จะต้องมารับกรรมทั้งที่อะไร ๆ ก็ดีมาโดยตลอด ท่านพระครูรู้จึงพูดปลอบว่า”

         “ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอกโยม ขอให้ถือว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม อาตมาเองก็ชดใช้กรรมมามากต่อมาก หนักกว่าลูกสาวโยมหลายเท่านัก คิดเสียว่าใช้ ๆ กันเสียให้หมด จะได้ไม่ต้องมีเวรมีกรรมต่อกันอีก”

         “ดิฉันห่วงลูกสาวน่ะค่ะ”

         “ห่วงเขาทำไมกันเล่า กรรมใครใครก็ใช้ แต่ไม่นานหรอกโยม เก้าปีหลังจากแต่งงานเขาก็จะสบาย คู่ของเขานั้นโดยเนื้อแท้ก็เป็นคนดี แต่ต้องมีเรื่องระหองระแหงกันจนหาความสุขไม่ได้ก็เพราะกรรมเก่า ก็ทำกับเขวไว้มากนี่นา”

         ท่านหันไปทางวรรณวิไล เห็นกฎแห่งกรรมของหล่อนอย่างถ้วนทั่ว ทว่าเจ้าตัวกลับไม่รู้ไม่เห็นกรรมของตัวเอง

         ฟังเขาคุยกันแล้วพระบัวเฮียวจึงรู้ว่า คู่ของวรรณวิไลไม่ใช่ท่าน ภิกษุหนุ่มจึงย้ายความหวังไปไว้ที่คนเป็นพี่สาวของหล่อน พอดีที่ผ่องพรรณถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อคะ แล้วหนูพบเนื้อคู่หรือยังคะ” พระใหม่ใจเต้นระริกด้วยหวังจะได้ยินคำตอบว่า “พบแล้วจ้ะ ตอนนี้ยังบวชเป็นพระอยู่” ใจแทบหยุดเต้นเมื่อท่านพระครูตอบว่า

         “จะมีเนื้อคู่สักกี่คนกันล่ะจ๊ะ ก็เพิ่งแต่งงานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง รถคันที่ขับมาก็ไม่ใช่ที่สามีเขาซื้อให้หรือจ๊ะ”

         พระบัวเฮียวหน้าซีดลงทันใด รู้สึกวาบหวิวคล้ายจะเป็นลม เพราะต้องพบกับความผิดหวังถึงสองครั้งสองคราติด ๆ กัน ใจหนึ่งท่านพระครูอยากจะสมน้ำหน้า แต่อีกใจก็นึกสงสาร จึงพูดเป็นเชิงปลอบโยนว่า

         “แต่บางคนก็โชคดีที่เกิดมาไม่มีเนื้อคู่ ไม่ต้องไปใช้เวรใช้กรรมกับใคร อย่างพระบัวเฮียวนี้ ดวงจะต้องบวชตลอดชีวิต และจะมีความสุขกว่าคนครองชีวิตคู่”

         “ผมขออนุโมทนาด้วยครับ” ครูใหญ่ยกมือขึ้น “สาธุ” แล้วพูดต่ออีกว่า “บุญของท่านเหลือเกินที่ไม่ต้องมารับผิดชอบชีวิตใคร ๆ ผมเข็ดแล้ว กว่าลูกจะโต จะเรียนจบ ผมลำบากแทบเลือดตากระเด็น ถ้ากลับไปเป็นโสดได้อีกครั้ง ผมจะขอบวชไปจนตลอดชีวิต”

         ภิกษุหนุ่มฟัง “ศิษย์อาวุโส” ของท่านพูดแล้วก็มีกำลังใจขึ้น พระอุปัชฌาย์รู้จึงเสริมอีกว่า

         “ถ้าชีวิตการครองเรือนให้ความสุขได้จริง เจ้าชายสิทธัตถะก็คงไม่สละราชสมบัติออกผนวชหรอก อยากรู้ไหมว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวอาตมาจะหาหลักฐานมายืนยัน”

         ท่านลุกขึ้นเดินไปที่ตู้พระไตรปิฎก หยิบเล่มที่ต้องการออกมาแล้ว จึงกลับมานั่งที่เดิม

         นี่ พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของกามไว้ในเล่มนี้” พูดพลางส่งคัมภีร์เล่มใหญ่ และบอกให้เปิดไปหน้า ๓๖๐

         “ไหนลองอ่าน ซัคควิสณสุตตนเทศ ตั้งแต่ข้อ๗๖๔ – ๗๖๖ ให้พรรคพวกฟังซิ” ครูสฤษดิ์จึงต้องอ่านด้วยเสียงที่ทุกคนได้ยินกันทั่วกันว่า

         “...ข้อ ๗๖๔ กามนี้เป็นเครื่องข้องมีความสุขน้อย มีทุกข์มาก บุคคลผู้มีปัญญารู้ว่ากามนี้เป็นดังฝี ดังนั้น แล้วพึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น

            ข้อ ๗๖๕ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขโสมนัสใด อาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้เกิดขึ้น สุขโสมนัสนั้นแลเรากล่าวว่า กามสุข กามสุขชุดนี้ กามสุขนี้เลว กามสุขนี้ลามก กามสุขนี้ให้เกิดทุกข์ กามนี้เป็นเครื่องช้อง มีความสุขน้อย

            ข้อ ๗๖๖...คำว่ากามนี้มีความยินดีน้อย มีความทุกข์ยาก กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษมาก

            กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส เหมือนโครงกระดูก...เหมือนชิ้นเนื้อ...เหมือนคบเพลิง...เหมือนหลุมถ่านเพลิง...เหมือนความฝัน...เหมือนของที่ยืมเขามา...เหมือนผลไม้...เหมือนดาบ และสุนัขไล่เนื้อ...เหมือนหอกและหลาว...เหมือนศีรษะงูเห่า...มีทุกข์มาก มีความยินดีน้อย มีความคับแค้นมาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า กามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก...

         ครูใหญ่อ่านจบ ท่านพระครูจึงถามขึ้นว่า
         “เป็นยังไง ซาบซึ้งหรือยัง เห็นแล้วใช่ไหมว่าเป็นพระนั้นได้เปรียบกว่าเป็นฆราวาสเป็นไหน ๆ”

         “แหม...หนูชักอิจฉาหลวงพ่อกับหลวงพี่แล้วซีเจ้าคะ ถ้าหนูเป็นผู้ชายคงต้องขอบวชแน่ ๆ เลย” วรรณวิไลพูดขึ้น หล่อนเป็นคนอ่อนไหวง่าย จึงซาบซึ้งและซึมซับอะไร ๆ ได้รวดเร็วกว่าคนอื่น ๆ

         “เป็นผู้หญิงก็บวชได้ คือบวชใจยังไงล่ะ บางคนกายบวชแต่ใจไม่ได้บวช เช่น พวกที่อาศัยผ้าเหลืองหากิน คนพวกนี้เขาเรียกว่า ตัวเป็นพระแต่ใจเป็นมาร”

            “บวชใจทำอย่างไรคะหลวงพ่อ” ถามอย่างสนใจ

         “ก็เจริญสติปัฏฐาน ๔ เหมือนที่คุณพ่อหนูเขาปฏิบัตินั่นยังไงล่ะ”

         “ถ้าเช่นนั้น ปิดเทอมหน้าหนูจะมาอยู่วัดสักเจ็ดวันนะคะคุณพ่อ” หล่อนบอกบิดา

         “ดีแล้วลูก เผื่อกรรมมันจะได้เบาบางลง” ครูใหญ่สนับสนุน

         “หลวงพ่อคะ แล้วชีวิตครอบครัวของหนูจะดีไหมคะ” ผ่องพรรณถามขึ้นบ้าง ฟังเรื่องราวของน้องสาวแล้วหล่อนพลอยใจไม่ดีไปด้วย วรรณวิไลทั้งสวยทั้งเก่ง ไม่น่าจะต้องมีกรรมอะไรหนักหนา

         “ดีจ้ะ ตอนนี้ดีเพราะกำลังข้าวใหม่ปลามัน แต่ต่อไปแย่หน่อย เพราะสามีเขาจะเลี้ยงหนูด้วยลำแข้งชนิดซี่โครงเหน็บข้างฝาเชียวละ รู้สึกจะหนักกว่ารายน้องสาวด้วยซ้ำ เพราะสามีหนูเขาเจ้าชู้ พอไปเจอคนใหม่ก็เบื่อคนเก่า” ท่านพระครูบอกไปตามที่ได้เห็นกฎแห่งกรรมของสองพี่น้อง

         “ลูกสาวดิฉันโชคร้ายทั้งสองคนเลยหรือคะหลวงพ่อ” คุณผ่องพักตร์ถาม รู้สึกหดหู่เศร้าหมองด้วยสงสารลูก

         “อย่าไปคิดอะไรมากเลยโยม ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เรื่องของกรรมเก่าก็ต้องชดใช้กันไป อย่าไปสร้างกรรมใหม่ขึ้นมาอีกแล้วกัน ชีวิตการครองเรือนก็เป็นอย่างนี้ สุขบ้างทุกข์บ้างปะปนกันไป”

         หลวงพ่อคะ แล้วหนูพอจะมีทางทำให้กรรมเบาบางลงบ้างไหมคะ” ผ่องพรรณถาม หล่อนเริ่มวิตกกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

         “จะกังวลล่วงหน้าไปทำไมเล่าหนู อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด เราต้องกล้าเผชิญกับความจริง การจะให้กรรมเบาบางลงมีวิธีเดียวคือมาเข้ากรรมฐานที่วัดนี้สักเจ็ดวันเป็นอย่างน้อย”

         “สามีหนูไม่ยอมให้มาแน่ ๆ ค่ะ ตั้งเจ็ดวัน นี่หนูขอมาหาคุณพ่อคุณแม่วันเดียวเขายังไม่ค่อยพอใจ”

         “ใช่ซีจ๊ะ ก็กำลังรักอยู่นี่ เขาไม่อยากให้คลาดสายตาสักเวลานาทีเอาเถอะ แล้วหนูจะได้มาอยู่วัดตอนที่เขาเบื่อหนูแล้ว ถึงเวลานั้นหลวงพ่อคงจะช่วยแนะนำได้บ้าง”

         “หนูต้องกราบขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ” พูดจบจึงก้มกราบสามครั้ง เป็นการฝากเนื้อฝากตัว คุยกันอีกพักใหญ่ ๆ คนทั้งห้าจึงลากลับ ท่านพระครูย้ำเตือนสตรีทั้งสองว่า

         “อย่าลืมมาเข้ากรรมฐานนะหนูนะ แล้วก็ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก รู้ไว้ดีกว่าไม่รู้ ที่หลวงพ่อบอกก็เพื่อจะให้หนูตั้งสติได้เมื่อพบกับเหตุการณ์อย่างนั้น จะได้ไม่ตกใจเกินไป อย่าลืมว่าใช้ ๆ ให้หมดกันไปเสียแล้วก็อย่างไปสร้างกรรมใหม่”

         ท่านจำเป็นต้องบอกต้องพูด เพราะคนส่วนมากเมื่อประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้ต่างผลุนผลัน พากันฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่าคนที่ทำให้ตัวเองเจ็บช้ำบ้าง ด้วยคิดว่าเป็นทางหนีทุกข์ แต่ข้อเท็จจริงนั้นนอกจากจะหนีทุกข์ไปไม่ได้แล้วยังทำให้เพิ่มทุกข์ผูกเวรกันหนักขึ้นไปอีก

         “จำไว้นะหนูนะ” ท่านย้ำเตือนอีกครั้ง

         “เจ้าคะ”

         “ค่ะ” สตรีทั้งสองรับคำพร้อมกับก้มลงกราบท่านพระครูและหลวงพี่บัวเฮียว แล้วจึงเดินไปยังลานจอดรถที่บิดามารดาและน้องชายรออยู่

 

มีต่อ........๑๑

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #10 เมื่อ: เมษายน 10, 2007, 08:27:55 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00011
 

๑๑...

         พระบัวเฮียวมองตามรถเก๋งคนงามที่กำลังเคลื่อนตัวช้า ๆ ออกจากลานวัด มุ่งสู่ถนนสายเอเชีย โดยมีผ่องพรรณทำหน้าที่เป็นคนขับ

         “จ้องตาไม่กระพริบเชียวนะ” เสียงพระอุปัชฌาย์ค่อนขอด

         “โธ่...หลวงพ่อ ก็ผมสงสารเขานี่ครับ” คนเป็นศิษย์ว่า

         “อ้อ...สงสารเลยมองตามตาละห้อยเลย”

         “ไม่สงสารได้ไงล่ะครับหลวงพ่อ ผู้หญิงหน้าตาสวย รวยความรู้ แต่ต้องมามีเวรมีกรรม” พระใหม่พูดจากใจจริง

         “เธอเลือกสงสารแต่คนสวย ๆ งั้นหรือ” ท่านพระครูไม่วายยั่ว

         “ก็ไม่เชิงหรอกครับ หรือว่าหลวงพ่อไม่สงสารเขา”

         “ทำไมจะไม่สงสาร ก็ที่ฉันยอมตรากตรำทำงานจนลืมกินลืมนอนอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะความสงสารหรอกหรือ เธอจำไว้นะบัวเฮียว ว่าทั้งคนทั้งสัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนน่าสงสารด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเขามีทุกข์เราพอจะช่วยได้ก็ต้องช่วยไม่ว่าเขาจะเป็นใคร มาจากไหน จะสวยหรือไม่สวยก็ตาม เข้าใจหรือยัง”

         “หมายความว่า เราต้องเป็นกัลยาณมิตรสำหรับทุกคนใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว ต้องอย่างนี้ถึงจะเป็นศากยบุตรขนานแท้ เธอรู้ไหม เสด็จพ่อของพวกเรา ทรงเรียกพระองค์เองว่า เป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย เพราะพระองค์ทรงเมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างเสมอหน้ากัน มิได้เลือกที่รักมักที่ชังแต่ประการใด”

            “หลวงพ่อครับ ที่ผมสงสารสองพี่น้องนั้นไม่ได้แปลว่าผมเลือกที่รักมักที่ชังอะไร เพียงแต่ผมคิดว่าคนที่มีบุญแล้วไม่น่าจะต้องมีกรรม” พระบัวเฮียวชี้แจง

         “นั่นเพราะเธอยังไม่เข้าใจความหมายของกรรมอย่างถ่องแท้ ฟังให้ดีนะฉันจะอธิบายให้ฟัง คำว่า กรรม หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาเป็นพื้นฐาน ถ้าเจตนาดีกรรมนั้นก็เป็นกรรมดี ถ้าเจตนาชั่วกรรมนั้นก็เป็นกรรมชั่ว ดังนั้นกรรมจึงมีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกรรมไปในทางลบ คือไปเข้าใจว่า คือ บาป หรือ ความชั่ว และที่ว่า...สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม...ก็หมายความว่า ใครทำกรรมดีก็ย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่ว เพราะกรรมย่อมเกิดจากผู้กระทำ เหมือนสนิมเหล็กเกิดจากเหล็ก ฉะนั้นถ้าไม่มีผู้กระทำ กรรมก็ไม่มี อย่างแม่หนูสองคนนั้น ถ้าเขาไม่ทำกรรมเขาก็ไม่ต้องรับผลของมัน” ท่านพระครูอธิบายละเอียดชัดเจน

         “หลวงพ่อพูดราวกับว่าคนเราเลือกที่จะทำกรรมได้อย่างนั้นแหละครับ”

         “ก็ทำไมจะเลือกไม่ได้เล่า จริงอยู่ กรรมในอดีตเราเลือกไม่ได้ เพราะมันผ่านพ้นไปแล้ว เราต้องชดใช้ไปตามหน้าที่ แต่กรรมในปัจจุบันเราเลือกได้ บางคนไม่เข้าใจเรื่องนี้ จึงปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรมโดยไม่แก้ไขปรับปรุง อย่างเช่นคนขี้เหล้าเมายาก็ไปโทษว่า เพราะเป็นกรรมจึงเลิกไม่ได้ อันนี้เป็นข้อแก้ตัวเสียมากกว่า เพราะถ้าเขาตั้งใจที่จะเลิกจริง ๆ เขาก็เลิกได้ หรืออย่างคนที่เกิดมาจน เพราะกรรมเก่าส่งผล เนื่องจากชาติก่อน ๆ เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น ไม่ทำบุญบริจาคทาน เมื่อทำเหตุไว้ไม่ดีก็ต้องรับผลไม่ดี ถ้าเขาคิดว่าเพราะกรรมจึงทำให้เกิดมายากจนแล้วเลยงอมืองอเท้าเกียจคร้าน ไม่ขวนขวายทำมาหากิน เขาก็ต้องจนอยู่อย่างนั้น”

         “แปลว่าเขาต้องฝืนดวงใช่ไหมครับ คือต้องขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ เป็นการสร้างกรรมใหม่ในทางที่ดี ที่เป็นกรรมเก่าก็ชดใช้ไปแล้ว คือการเกิดมายากจนขัดสน อย่างนั้นใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว แต่ถ้าเขาขยันหมั่นเพียรจนร่ำรวยขึ้นมา ก็ยังตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ทำบุญบริจาคทาน ชาติต่อไปเขาก็ต้องยากจนขัดสนอีก” เงียบกันไปครู่หนึ่ง พระบัวเฮียวจึงถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อครับ แล้วเรื่องคุณโยมสองคนนั่นมีทางจะแก้กรรมไหมครับ”

         “มี แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า เขามีความอดทนพอไหม มีความเพียรถึงขึ้นหรือเปล่า วิธีแก้กรรมที่ดีที่สุดคือการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เช่นที่เธอปฏิบัติอยู่นั่นแหละ แต่ตอนนี้เขายังไม่สนใจเพราะยังไม่เห็นทุกข์ อีกแปดปีคนน้องจะแต่งงานแล้วก็จะเห็นทุกข์ ถึงตอนนั้นเขาจะนึกถึงฉันและมาให้ฉันช่วย คนพี่ก็เหมือนกัน”

         “แต่คนน้องเขาบอกจะมาปิดเทอมหน้า ไม่ใช่หรือครับ” พระบัวเฮียวติง

         “เขาตั้งใจอย่างนั้นจริง แต่เชื่อสิว่าเขามาไม่ได้หรอก เพราะยังไม่ถึงเวลาของเขา ต้องรออีกแปดปีถึงมาได้”

         “หลวงพ่อครับ คุณโยมคนน้องทำกรรมอะไรไว้ครับถึงต้องมาเป็นอย่างนี้” ถึงอย่างไรพระใหม่ก็ยังไม่วายสงสัย เดี๋ยวนี้ท่านบอกตัวเองได้แล้วว่า คนน้องน่าสนใจกว่าคนพี่ด้วยเหตุว่าเธอยังโสด หน้าตาของเธอสะสวย สดใส ไม่ช้าไม่นานจะต้องเปลี่ยนเป็นเศร้าสร้อยเพราะโศกศัลย์ น่าสงสารแท้

         “มันพูดยาก ถ้าจะว่าไปแล้วมันมาจากทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่ กรรมเก่านั้นแก้ไขไม่ได้ คือ แม่หนูวรรณวิไลกับผู้ชายคนนั้น เคยทำกรรมร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ยังไงเสียชาตินี้จะต้องมาอยู่ด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนกรรมใหม่ก็คือเรื่องโรคหึงกับเรื่องลูกเลี้ยง แม่หนูคนนี้เขามาแปลกตรงที่อยากแต่งงาน แต่ไม่อยากมีลูก เลยคิดจะเลี้ยงลูกเขาให้เหมือนลูกตัว แต่ทีนี้มันไม่เป็นยังงั้น เพราะเด็กคนนี้แกก็มีกรรมของแกคือแกอยากดีแต่ไม่ยอมฝืนใจตัวเอง อย่าลืมนะบัวเฮียว การทำความดีจะต้องฝืนใจ ถ้าฝืนใจไม่ได้ทำความดีไม่ได้ เพราะธรรมชาติของคนนั้นมักจะตามใจตัวเอง ซึ่งก็คือตามใจกิเลสตัณหา แล้วเธอคิดว่ากิเลสตัณหามันพาเราไปทางดีหรือทางชั่ว” ท่านถาม

         “ทางชั่วครับ”

         “นั่นแหละ ถ้าใครฝืนใจตัวเองไม่ได้ก็เป็นคนดีไม่ได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เอาเรื่องใกล้ ๆ ตัวเรานี่แหละ ไหนบอกมาซิว่าตอนตี ๔ เธออยากนอนต่อหรืออยากลุกขึ้นมาปฏิบัติกรรมฐาน”

         “อยากนอนต่อครับ”

         “แล้วนอนหรือเปล่า”

         “ไม่นอนครับ ผมฝืนใจลุกขึ้นมาปฏิบัติกรรมฐาน เพราะผมอยากเป็นคนดีครับ การทำความดีต้องฝืนใจ” พระใหม่ตอบฉะฉาน เงียบกันไปครู่หนึ่ง พระบัวเฮียวก็ถามขึ้นอีกว่า

         “หลวงพ่อครับ แล้วคุณโยมคนน้องทำกรรมอะไรไว้อีกครับ”

         “ปกติคนเราก็ทำกรรมอยู่ตลอดเวลานั่นแหละบัวเฮียว สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว นี่เรายังไม่พูดลึกเข้าไปถึงกรรมอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่ากรรมกลาง ๆ คือกรรมไม่ดีไม่ชั่วหรอกนะ เรื่องนั้นมันลึกซึ้ง เอาเป็นว่าขณะนี้เรารู้จักแต่กรรมดีกับกรรมชั่วก็พอ การทำกรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ถ้ามันแรงมันก็จะให้ผลทันตาเห็นในชาตินี้ อย่างหนูวรรณวิไลเขาเป็นโรคหึงรุนแรงมากก็เลยทุกข์มาก ซึ่งข้อนี้เขาแก้ไขได้แต่ไม่ยอมแก้ไข จะโทษฝ่ายหญิงข้างเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะผู้ชายที่จะมาแต่งงานกับเขานั้นเป็นคนชอบทำให้เมียหึง เห็นเมียหึงแล้วเขามีความสุข คือเป็นความสุขของผัว แต่เป็นความทุกข์ของเมีย”

         “แปลว่าถ้าคุณโยมเขาไม่หึง เขาก็ไม่มีความทุกข์ใช่ไหมครับ”

         “แน่นอน”

         “ถ้าผมเป็นเขา จ้างผมก็ไม่หึง เรื่องอะไรจะทำให้ตัวเองทุกข์”

         “เธอไม่ได้เป็นเขา เธอก็พูดได้ ลองเธอไปเป็นเขาดูบ้าง ก็ต้องทำอย่างที่เขาทำ เชื่อไหมล่ะ”

         “เชื่อก็ได้ครับ”

         “ไม่เชื่อก็ไม่ว่าอะไรนะ”

         “เชื่อดีกว่าไม่เชื่อครับ เป็นลูกศิษย์ไม่เชื่ออาจารย์ แล้วจะไปเชื่อใครที่ไหน ผมไม่อยากเป็นคนอกตัญญูหรอกครับหลวงพ่อ”

         “ดี คิดอย่างนั้นได้ก็ดี”

         “ขอบคุณครับ”

         “ขอบคุณเรื่องอะไร” ท่านพระครูไม่เข้าใจ

         “ก็ขอบคุณที่หลวงพ่อชมว่าผมดีน่ะซีครับ”

         “ฉันไปชมเธอตั้งแต่เมื่อไหร่” ท่านนึกไม่ออกจริง ๆ

         “เมื่อกี้นี้เอง แหม...หลวงพ่อไม่น่าลืมง่ายอย่างนี้เลย ก็ที่...ที่หลวงพ่อพูดว่า ดี คิดอย่างนั้นได้ก็ดี หลวงพ่อว่าดีน่ะไม่ใช่ชมผมหรือครับ” คราวนี้ท่านพระครูถึงรูว่าตกหลุมพรางของพระบัวเฮียวเข้าแล้ว ครั้นจะพูดโต้ตอบไปก็เกรงจะขายหน้า เพราะเดี๋ยวนี้ลูกศิษย์ของท่านชักมีเล่ห์เหลี่ยมมาขึ้นทุกวัน จนท่านตามไม่ทัน ทางที่ดีที่สุดคือนิ่งเสีย

         “แต่เอ...หลวงพ่อครับ” พระใหม่เพิ่งจะนึกได้ว่าเรื่องที่ตนกำลังพูดถึงอยู่นั้น ไม่เกี่ยวกับกาย เวทนา จิต ธรรม ดังที่พระอุปัชฌาย์เคยสอน

         “นี่เรากำลังเผลอสติหรือเปล่าครับ ที่พูดเรื่องของคนอื่น เพราะมันไม่เกี่ยวกับสติปัฏฐานข้อใดเลย”

         “ทำไม่จะไม่เกี่ยว นี่แหละจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานละ เพราะถ้าเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไรก็เท่ากับเรารู้ในขณะนั้น ๆ ว่าจิตของเราปราศจากโมหะ เธอรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่คุยหรือเปล่าเล่า”

         “บางครั้งก็รู้ แต่บางครั้งก็เผลอไปเหมือนกันครับ” พระบัวเฮียวตอบตามตรง

         “แสดงว่าเธอยังฝึกสติไม่ถึงขั้น จะต้องใช้ความเพียรอีกมาก เรื่องที่เรากำลังคุยอยู่นี้ไม่เรื่องเหลวไหลไร้สาระ เพราะฉันกำลังจะบอกเธอว่า หนูวรรณวิไลนี่แหละจะมาเป็นกำลังสำคัญช่วยฉันเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ ฉันกับเขาเคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้ก็ต้องมาช่วยเหลือกันอีก” พระใหม่ทำตาลุก พูดตะกุกตะกักว่า “หมาย...หมายความว่า...หลวงพ่อ...กับ...เอ้อ...โยมวรรณวิไลเคย...เคยเป็น....”

         “ไม่ใช่ ไม่ใช่ยังงั้น อย่าเข้าใจผิด” ท่านพระครูรีบปฏิเสธ ด้วยรู้ว่าพระบัวเฮียวเข้าใจไปอีกทางหนึ่ง

         “เอาละ เมื่ออยากจะรู้ก็จะบอก แต่เธอต้องไม่เอาไปพูดต่อนะ ใครเขาไม่เชื่อจะเป็นบาปเป็นกรรมของเขาเปล่า ๆ เรื่องนี้ฉันยังไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน เธอรับปากได้ไหมล่ะว่าจะไม่ไปเล่าต่อ”

         “ได้ครับ คนอยากรู้รับคำหนักแน่น ท่านพระครูหลับตาเพื่อลำดับเรื่องราวแล้วจึงเริ่มต้นเล่า

         “ชาติที่แล้ว ฉันเป็นแม่ทัพสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หนูวรรณวิไลเป็นทหารคนสนิทของฉัน ในชาตินั้นเขาชื่อนายจันสม”

         “แล้วหลวงพ่อชื่ออะไรครับ”

         “อ้าว...ก็ชื่อเจริญน่ะซี นี่เธอยังไม่รู้จักชื่อฉันหรอกหรือ” ถึงคราวที่ต้องแก้เผ็ด ท่านพระครูก็ต้องทำไปตามหน้าที่

         “ผมหมายถึงชื่อของหลวงพ่อเมื่อชาติที่แล้วน่ะครับ” พระใหม่อดคิดไม่ได้ว่า “กรรมช่างให้ผลรวดเร็วเหลือเกิน หลวงพ่อท่านฉลาดหลักแหลมไปเสียทุกด้าน เราอยู่ใกล้ท่าน ยังรู้ตัวเองว่าฉลาดขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้เศษธุลีของท่าน ดูสิ...เมื่อกี้เราหลงลำพองคะนองใจ ว่าเถียงชนะท่าน ยังไม่ทันถึงห้านาทีลับแพ้อย่างไม่เป็นท่า”

         “อันนี้บอกเธอไม่ได้จริง ๆ ที่บอกไม่ได้เพราะมันถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ฉันไปพิสูจน์มาแล้วที่หอสมุดแห่งชาติ มีชื่อฉันอยู่ด้วยในฐานะเป็นแม่ทัพก่อนกรุงแตก”

         “ถ้าอย่างนั้นนิมนต์เล่าต่อเถิดครับ”

         “ฉันกับนายจันสม เคยออกรบด้วยกันหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๒๓๑๐ ก่อนหน้ากรุงแตกเล็กน้อย กองทัพของฉันพ่ายแพ้แก่พม่า เพราะขาดขวัญและกำลังใจ ฉันบอกให้นายจันสมหนีเอาตัวรอด ครั้งแรกเขาจะไม่หนี ฉันก็ให้เหตุผลว่าถ้าไม่หนีก็ต้องตาย แต่ถ้าหนีอาจจะไปรวบรวมสมัครพรรคพวกมากู้ชาติบ้านเมืองได้ในภายหลัง เขาก็เลยหนีขึ้นไปทางนครสวรรค์ ต้องตกระกำลำบากมาก จึงรำพึงกับตัวเองว่าเกิดเป็นชายชาติทหารต้องทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส ชาติหน้าขอให้เกิดเป็นผู้หญิง เขาเลยไปตายที่นครสวรรค์แล้วก็ได้เกิดเป็นผู้หญิงสมใจ เนื่องจากเขากับฉันยังมีจิตผูกพันห่วงหากัน ก็ต้องได้มาพบกันอีก มาช่วยเหลือเกื้อกูลกันอีก”

         “แล้วหลวงพ่อหนีมาที่นี่หรือครับ”

         “ฉันเป็นถึงแม่ทัพ ถ้าหนีก็เสียชื่อหมด ฉันรบกับพม่ากระทั่งขาดใจตายแต่ฉันก็ตายอย่างมีสติ ขออโหสิกรรมกับคนที่ฉันฆ่า และอโหสิกรรมให้คนที่ฆ่าฉัน เพราะถือว่าเราต่างทำตามหน้าที่ ไม่ได้มีความอาฆาตมาดร้ายกันเป็นการส่วนตัวก็เลยไม่บาปมาก ฉันไปชดใช้กรรมอยู่ ๑๖๑ ปี จึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก เธออย่าถามนะว่าไปใช้กรรมอยู่ที่ไหนอย่างไร มันเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง รู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ ฉันจึงไม่บอกเธอ”

         “แล้วคุณโยมเขาทราบไหมครับ ว่าเคยเกิดร่วมชาติมากับหลวงพ่อ”

         “ไม่ทราบ แล้วเธอก็ไม่ต้องไปบอกเขาล่ะ”

         “ครับ ผมรับรองว่าไม่บอก แล้วเนื้อคู่ของคุณโยมเมื่อชาติที่แล้วเป็นอะไรครับ”

         “ก็เป็นเมียนายจันสม ถูกผัวซ้อมเป็นประจำ แกก็อาฆาต บอกชาติหน้าขอให้เกิดเป็นผู้ชาย จะได้แก้แค้น ก็มาตามล้างตามแค้นกันจนได้ ยังกะเรื่องนวนิยายนะเธอนะ”

         “ครับ ผมว่านวนิยายก็คงมาจากเรื่องจริงนั่นแหละครับ”

         “คงงั้นมั้ง เธอเห็นหรือยังล่ะว่า ชีวิตคนเราต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ฉันถึงเบื่อหน่ายการเกิด ไม่อยากเกิดอีกเลยแม้แต่ชาติเดียว”

        “การที่พระพุทธเจ้ามาบวชก็เพราะท่านเบื่อหน่ายการเกิดใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว เมื่อพระองค์ตรัสรู้และได้ญาณ ๓ แต่ไหนเธอตอบมาก่อนว่า ญาณ ๓ มีอะไรบ้าง”

         “ญาณ ๓ หรือ วิชชา ๓ หรือ เตวิชชา ใช่ไหมครับ”

         “นั่นแหละ จำได้หรือเปล่าว่ามีอะไรบ้าง ฉันเพิ่งสอนเธอไปเมื่อวานนี้เอง”

         “จำได้ครับ ญาณ ๓ ได้แก่ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ และ อาสวักขยญาณ ครับ”

        “ดีมาก ลองแปลให้ฟังซิว่า แต่ละญาณ มีความหมายอย่างไร”

         “แปลไม่ได้ครับ”

         “ทำไมถึงไม่ได้ล่ะ”

         “ก็หลวงพ่อยังไม่ได้สอนแปลนี่ครับ”

         “อ้าว...ก็เห็นเธอไม่ถาม ฉันก็นึกว่าเธอรู้”

         “บางทีไม่รู้ แต่ผมก็ไม่ถามครับ”

         “ก็ดี งั้นฉันก็จะไม่บอก เอาไวเธอไปศึกษาเอาเอง”

         “โธ่...บอกเถอะครับหลวงพ่อ ผมไหว้ล่ะ” แล้วทำไหว้ประหลก ๆ

         “ไม่บอกแน่นอน ฉันบอกว่าไม่บอกก็ไม่บอก ทำไมฉันจะไม่รู้ว่าเมื่อบอกเธอแล้ว เธอก็ต้องย้อนว่า...ไหนหลวงพ่อว่าจะไม่บอกไงละครับ แล้วบอกทำไม่...จริงไหม” คนเป็นศิษย์เลยได้แต่ยิ้มแหย ๆ เพราะตั้งใจไว้อย่างนั้นจริง ๆ

         “เอาละ ทีนี้ก็มาต่อเรื่องที่พูดค้างเอาไว้ คือเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้และได้ญาณ ๓ ทรงเห็นทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิดอย่างแจ่มแจ้ง ทั้งของพระองค์เองและของสรรพสัตว์ เวลาพระองค์สอนก็ย้ำเสมอ โดยทรงอุปมาอุปไมยว่า...ในพื้นปฐพีนี้ไม่ว่าจะเอาเข็มแทงลงไป ณ ที่ใด ก็ไม่พ้นหลุมศพของตถาคต หากเอากระดูกในแต่ละชาติมากองรวมกัน ก็จะสูงกว่าเขาพระสุเมรุ และน้ำตาที่ร้องไห้คร่ำครวญเพราะความทุกข์ความพลัดพรากก็ยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรมารวมกัน ตถาคตเบื่อหน่ายการเกิดเสียนัก ตถาคตจะไม่เกิดอีก...พระองค์ตรัสเช่นนี้บ่อยครั้ง เพื่อให้สรรพสัตว์ ได้เห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสาร ถึงกระนั้นก็ยังมีคนอีกมากที่ไม่เชื่อฟัง จึงต้องเวียนเกิดเวียนตายกันอยู่อย่างนี้มิรู้จักจบสิ้น”

         “แล้วหลวงพ่อจะเกิดอีกไหมครับ” พระลูกวัดถาม

         “ก็ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย” ท่านสมภารตอบ

         “เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดมีอะไรบ้างครับ”

         “มี ๓ อย่างคือ

กมฺมํ เขตฺตํ-มีกรรมเป็นนา

วิญญาณํ พีชํ-มีวิญญาณเป็นพืช และ

ตณฺหา สิเนหํ-มีตัณหาเป็นยางเหนียวที่จะสามารถนำพืชไปเพาะให้งอกงาม

ถ้าเหตุปัจจัย ๓ อย่างนี้มาประจวบกันเข้า การเกิดก็จะต้องมีขึ้น”

“แล้วหลวงพ่อดับเหตุปัจจัยเหล่านี้หมดหรือยังครับ” คนเป็นศิษย์พยายามที่จะหยั่งรู้ภูมิธรรมของอาจารย์

“เรื่องอย่างนี้จะไปพูดสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ฉะนั้นฉันจะไม่ตอบเธอ ถ้าเธออยากรู้ต้องปฏิบัติให้มาก ๆ ของอย่างนี้จะต้องรู้ด้วยตัวเอง บอกเล่ากันไม่ได้ อย่าลืมว่า คติกรรมฐาน คือ กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมาก จำเอาไว้แล้วปฏิบัติให้ได้ตามนี้”

ถ้าอย่างนั้นผมขออนุญาตถามเรื่องเดียว เรื่องเดียวจริง ๆ และผมเชื่อว่าหลวงพ่อต้องตอบได้”

“ไม่ต้องถาม เอาละอยากรู้ก็จะบอกให้” ท่านรู้สึกขัดเขินด้วยรู้ว่าพระบัวเฮียวจะถามเรื่องอะไร เป็นเรื่องที่ท่านรู้แต่ผู้เดียวและยังไม่เคยบอกใคร พระบัวเฮียวเป็นคนแรกและคนสุดท้ายที่รู้เรื่องนี้

“ภรรยาของฉันเมื่อชาติที่แล้วก็จะมาร่วมสร้างกุศลที่วัดนี้ เขาจะมาสร้างหอระฆังให้ ตอนนี้เขาแต่งงานกับนายแพทย์ เขาสวยยังกะนางฟ้าแน่ะเธอ สวยกว่าเมื่อชาติที่แล้วเสียอีก”

“สวยเท่าอาภัสราไหมครับ” พระบัวเฮียวหมายถึงนางสาวไทยที่ชนะการประกวดนางงามจักรวาลเมื่อห้าหกปีที่แล้ว

“สวยกว่า สวยกว่าหลายเท่าเลยแหละ แล้วยังใจบุญใจกุศลอีกด้วย”

“แล้วหลวงพ่อไม่เสียดายหรือครับที่คุณหมอเขามาแย่งไปเสียได้” คนเป็นศิษย์ยั่วเย้า

“เสียดงเสียดายอะไรกัน ก็มันคนละภพละชาติ ถ้าเสียดายฉันก็คงไม่มาบวชอย่างนี้ เอาละไม่ต้องถามอะไรอีก เราคุยกันมานานพอสมควรแล้ว เธอกลับไปปฏิบัติต่อที่กุฏิของเธอได้แล้ว มีอะไรสงสัยก็มาถาม อย่าลืม กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมาก แล้วจะได้ไม่ต้องเกิดอีก” พระบัวเฮียวกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วจึงลุกออกมา ความรู้สึกของพระใหม่ ขณะเดินกลับกุฏินั้นเป็นสิ่งที่บรรยายไม่ถูก มันหดหู่ ขัดข้องและหวิวโหวงในอารมณ์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้จะพยายามใช้สติกำหนดอิริยาบถอยู่ตลอดเวลา หากก็ไม่อาจสลัดความรู้สึกเช่นนั้นออกไปได้ จะว่าสงสารสองพี่น้องก็คงไม่ใช่ เพราะรู้แล้วว่ามันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ท่านจะต้องค้นให้พบว่า ความรู้สึกที่เป็นอยู่นี้ มันมีเหตุมาจากอะไร

ถึงกุฏิ ท่านจัดการสรงน้ำชำระร่างกายจนสะอาดสะอ้าน รู้สึกสดชื่นขึ้น หากความหวิวโหวงในอารมณ์ก็ยังไม่เหือดหาย ท่านเริ่มต้นเดินจงกรมตั้งแต่ระยะที่ ๑ ไล่ไปจนถึงระยะที่ ๖ ซึ่งกินเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง จากนั้นจึงกำหนดนั่ง เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิดีแล้ว จึงใช้ปัญญาพิจารณาหาสาเหตุของความอึดอัดขัดข้องในหัวใจ ก็ได้ความว่า คำพูดของท่านพระครูที่ว่า ท่านไม่มีเนื้อคู่นั้น ทำให้เกิดความรู้สึกแปลก ๆ นี้ขึ้น สัญชาตญาณของมนุษย์ปุถุชนย่อมต้องการมีความรัก มีคู่ครอง และชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น มีทายาทไว้สืบสกุล เมื่อรู้ว่าดวงชะตาของท่านไม่อาจมีในสิ่งเหล่านี้ จึงเกิดความรู้สึกเก็บกดอยู่ภายใต้จิตสำนึก จนกลายเป็นความหงุดหงิดงุ่นง่านอยู่ในจิตใจ เออหนอ...ขนาดท่านเป็นชายอกสามศอก ทั้งยังดำรงเพศเป็นบรรพชิต เจ้าความรู้สึกนี้มันยังทำร้ายท่านได้ถึงเพียงนี้ แล้วพวกผู้หญิงซึ่งเป็นเพศอ่อนแอนั้นเล่า หากหล่อนรู้ว่าตัวเองไร้เนื้อคู่ จะต้องอยู่เดียวเปลี่ยวดายไปจนตลอดชีวิต หล่อนจะทุกข์ทรมานสักเพียงใดเล่าหนอ...

 

มีต่อ........๑๒

 

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #11 เมื่อ: เมษายน 10, 2007, 08:28:40 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00012
 

๑๒...

               ฉันเช้าเสร็จ ท่านพระครูขึ้นไปเขียนหนังสือยังกุฏิชั้นบน สั่งนายสมชายไว้ว่าจะเขียนสัก ๒ ชั่วโมง หากมีผู้ใดมาขอพบในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ขอให้รออยู่ก่อน ท่านขึ้นไปได้สักประเดี๋ยว ชายหนุ่มผู้หนึ่งก็มาขอพบ เขามากับสตรีรูปร่างหน้าตาจัดว่าสวย ท่าทางคงจะเป็นคู่รักกัน

         เมื่อลูกศิษย์วัดแจ้งให้ทราบตามที่ท่านสั่งไว้ ชายหนุ่มผู้นั้นแสดงความไม่พอใจออกมานอกหน้า และทำทีจะขึ้นไปพบด้วยตัวเอง มิใยที่นายสมชายจะห้ามปราม บังเอิญประตูทางขึ้นถูกใส่กลอนเอาไว้ เขาจึงตะโกนขึ้นไปว่า

         “หลวงน้าครับผมมาเยี่ยม เปิดประตูหน่อยครับ” เงียบ ไม่มีเสียงตอบลงมา ลูกศิษย์วัดทราบดีว่าถ้าท่านลงตั้งใจจะทำงานแล้ว ก็จะไม่ยอมรับรู้รับฟังเรื่องอะไรของใคร จะเรียกจะหาอย่างไรท่านก็ไม่ลงมา ชายหนุ่มผู้นั้นจึงตะโกนดังกว่าเดิม

         “หลวงน้าครับ ผมจ่อยไงครับ จ่อยหลานแท้ ๆ ของหลวงน้าจะมาขอพบครับ” เมื่อไม่มีเสียงตอบอนุญาต นายจ่อยรู้สึกเสียหน้า อายทั้งลูกศิษย์ อายทั้งหญิงคู่หมั้นที่ตนหมายพามากราบท่านพระครู

         “ท่านไม่ลงมาหรอกครับ ถึงผมจะเรียกท่านก็ไม่ลงมา เวลาท่านเขียนหนังสือ ท่านไม่ยอมพบใครหรอกครับ” นายสมชายพูดอย่างพยายามผูกมิตรทั้งที่รู้สึกไม่ค่อยจะชอบหน้า ถึงจะเป็นหลานหลวงพ่อจริงตามที่เขาเอ่ยอ้าง ก็ไม่ควรจะมาแสดงอำนาจบาตรใหญ่อย่างนี้

         “ถ้างั้นเราออกไปดูแม่น้ำหลังวัดกันเถอะ แม่น้ำเจ้าพระยายังไงล่ะ” เขาหันไปพูดกับคู่หมั้น ไม่อยากอยู่สู้หน้ากับลูกศิษย์วัด อีกตั้งเกือบ ๒ ชั่วโมงกว่าหลวงน้าจะลงมา

         เมื่อท่านพระครูลงมายังกุฏิชั้นล่าง จึงพบว่าชายหญิงคู่หนึ่งนั่งรออยู่ ขณะทำงานท่านทำจิตให้เป็นสมาธิ ไม่รับรู้ รูป รส กลิ่น เสียงใด ๆ จากภายนอก จึงไม่ทราบว่าหลานมาหา

         “อ้าว เอ็งหรอกหรือเจ้าจ่อย ไปยังไงมายังไงกัน” ท่านทักหลานชายซึ่งเคยมาบวชเณรอยู่วัดนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อนโน้น แต่ยังไม่ทันได้บวชพระก็ชิงสึกออกไปทำมาหาเลี้ยงชีพเสียก่อน ส่วนหญิงสาวที่มาด้วยท่านไม่เคยเห็นหน้า แต่ก็คลับคล้ายคลับคลาว่าเหมือนใครสักคน

         “หลวงน้าสบายดีหรือครับ” หลานชายทัก

         “ก็เรื่อย ๆ ว่าแต่เอ็งเถอะ หายหัวไปเลยนะเอ็ง” ท่านต่อว่าหลานชาย เพราะตั้งแต่สิกขาลาเพศแล้ว นายจ่อยไม่เคยไปมาหาสู่ท่านอีกเลย

         “ผมต้องขออภัย งานยุ่งมากเลยครับ พอดีพ่อเขาย้ายไปทำไร่ที่ท่าตะโก หนทางไกลไปมาลำบากก็เลยไม่ได้มา”

         “อ้อ ไม่ได้อยู่ที่โคกสำโรงหรอกหรือ แล้วพ่อเอ็งเขาเป็นยังไงบ้าง” ท่านถามถึงคนเป็นพี่เขย ส่วนพี่สาวซึ่งเป็นมารดาของนายจ่อยนั้นเสียชีวิตตั้งแต่ลูกชายยังเป็นเณร

         “แกก็ไม่เจ็บไม่ไข้อะไร ตอนนี้มีเมียใหม่ มีน้องเล็ก ๆ อีกสามคน” นายจ่อยรายงาน

         “อะไรกัน อายุจะหกสิบแล้วยังมานั่งเลี้ยงลูกอ่อน” ท่านพระครูพูดเหมือนตำหนิคนเป็นสามีของพี่สาว

         “แกไม่ได้เลี้ยงหรอกครับหลวงน้า ผมเห็นเมียเขาเลี้ยงอยู่คนเดียว”

         “อ้าว เอ็งไม่เรียกเขาว่าแม่หรอกหรือ”

         “แม่ เม่อะไรล่ะหลวงน้า ก็มันเป็นเพื่อนผมเอง เคยเลี้ยงควายมาด้วยกันสมัยเด็ก ๆ ผมก็เลยเรียกไม่ลง กรรมของมันที่ต้องมาเป็นเมียพ่อ หลวงน้าไม่รู้อะไร พ่อน่ะแกเมาเช้าเมาเย็น งานการไม่ทำ ผมบอกให้แกมาบวชอยู่กับหลวงน้า แกก็ไม่เอา”

         “เรื่องอะไรเขาจะเอา ก็ทีลูกชายเขายังไม่ยอมบวชเลยนี่นา” ท่านประชดคนเป็นหลาน

         “โธ่ หลวงน้าครับ เรื่องมันแล้วไปแล้ว” หลานชายครวญ

         “แล้วไปแล้วก็แล้วกันไป ว่าแต่ว่าที่มานี่ เอ็งมีธุระอะไรกับข้าหรือเปล่า”

         “ก็มีเหมือนกันครับ คือผมพาคู่หมั้นมากราบหลวงน้า แล้วก็จะนิมนต์หลวงน้าไปงานแต่งงานของผมด้วยครับ”

         “อ้อ นี่คู่หมั้นหรอกเรอะ แล้วหนูเป็นคนที่ไหนล่ะจ๊ะ” ท่านถามคู่หมั้นหลานชาย

         “หลวงน้าจำไม่ได้หรือครับ จุกไงล่ะครับ” หลานชายตอบแทนคนเป็นคู่หมั้น

         “จุกไหน” ท่านพระครูยังนึกไม่ออก

         “ก็จุกที่เคยใส่บาตรหลวงน้ากับผมสมัยที่เราพายเรือบิณฑบาตกันยังไงล่ะครับ” หลานชายช่วยทบทวนความจำ แต่หลวงน้าก็ยังนึกไม่ออกจึงต้องใช้ “เห็นหนอ” เข้าช่วย

         “อ๋อ อีจุกน่ะเอง แม่เจ้าไวยเป็นสาวแล้วสวยจนข้าจำไม่ได้” ท่านอุทานด้วยนึกไม่ถึงว่าจะได้พบกันอีก นางสาวจุกนั่งบิดไปบิดมาเพราะความขวยอาย ท่านพระครูนึกย้อนไปถึงอดีตเมื่อสิบปีก่อนโน้น ครั้งที่ท่านยังเจริญสมถกรรมฐานและเล่นทางไสยศาสตร์ด้วย ท่านมี “กระจกหมอดู” อยู่บานหนึ่งที่ใช้ดูเหตุการณ์ในอนาคต โดยภาพของเหตุการณ์จะมาปรากฏในกระจก แต่หลังจากที่ท่านได้พบ “พระในป่า” จึงได้เปลี่ยนมาเจริญวิปัสสนากรรมฐานและเลิกเล่นไสยศาสตร์ เพราะเห็นว่าไม่ได้ให้ประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิต

         สมัยนั้นท่านบิณฑบาตทางเรือ ทุกเช้าท่านกับเณรจ่อยจะช่วยกันพายเรือลัดเลาะไปตามริมน้ำเจ้าพระยาเพื่อโปรดสัตว์ เด็กหญิงผิวขาววัยสิบเอ็ดขวบที่ใคร ๆ เรียกกันว่า “อีจุก” เพราะไว้ผมจุกกลางศีรษะ จะออกมาใส่บาตรที่ท่าน้ำในสภาพขี้หูขี้ตาเกรอะกรัง ขี้มูกไหลยืดเพราะเป็นหวัดทั้งปี บ่อยครั้งที่น้ำมูกของเด็กหญิงหยดลงไปในบาตรโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ใส่ใจ และเมื่อเรือแล่นผ่านพ้นบ้านอีจุกไปแล้ว เณรจ่อยก็มีอันต้องเทข้าวทิ้งน้ำทุกครั้ง เพราะทนสะอิดสะเอียนไม่ไหว ส่วนท่านพระครูนั้นแม้จะผ่านการเจริญ “อาหาเรปฏิกูลสัญญา” มาแล้วก็ยังต้องทำแบบเดียวกับเณรหลานชาย คือ เทข้าวทิ้งจนเกลี้ยงบาตร

         “แหม หลวงน้าเมื่อไหร่อีจุกมันจะตาย ๆ ไปสักทีนะ” เณรจ่อยบ่นอุบ เพราะต้องเทข้าวทิ้งน้ำทุกวัน

         “ไปแช่งเขา ระวังบาปจะกินหัวเอ็ง” หลวงน้าว่าให้

         “ก็มันโมโหนี่หลวงน้า จริง ๆ จะ ผมน่ะโกรธมันจริง ๆ เชียว”

         “คนโกรธคือคนโง่ คนโมโหคือคนบ้า เอ็งอยากโง่อยากบ้าก็ตามใจเอ็ง”

         “หลวงน้า เราไม่รับบิณฑบาตบ้านมันดีกว่านะ” เณรหลานชายแนะ

         “ทำอย่างนั้นไม่ได้ มันผิดวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เราจะเลือกที่รักมักที่ชังอย่างนั้นไม่ได้”

         “ถ้างั้นก็บอกมันตรง ๆ เลยว่า อย่าให้มันเป็นคนใส่ ให้เปลี่ยนเป็นพ่อหรือแม่มันแทน

         “เอ็งก็บอกเขาเองซิ”

         “ผมมันเป็นเด็ก หลวงน้านั่นแหละดีแล้ว”

         “ข้าไม้เอากับเอ็งด้วยหรอก อยู่ดีไม่ว่าดี จะให้ข้าถูกติเตียนเสียแล้วไหมล่ะ” ท่านพระครูปฏิเสธ เป็นอันว่าท่านจำต้องรับบิณฑบาตจากเด็กหญิงจุกเรื่อยมา กระทั่งมีการตัดถนนเข้าวัด ท่านจึงเลิกบิณฑบาตทางเรือ เณรจ่อยดีใจจนเนื้อเต้น ที่จะได้ไม่ต้องเทข้าวทิ้งน้ำ

         คืนวันหนึ่งไม่รู้ว่าเณรจ่อยนึกยังไงขึ้นมา ถึงได้บอกให้หลวงน้าช่วยดูเนื้อคู่ให้ ท่านพระครูจึงบอกให้เณรจ่อยตั้งจิตอธิษฐานขอให้คนที่จะมาเป็นเนื้อคู่ จงปรากฏเป็นภาพขึ้นกระจกหมอดู อธิษฐานเสร็จ หลวงน้าจึงยื่นกระจกให้เณรหลาน เณรจ่อยมองไปที่กระจกแล้วก็โวยลั่น “อีจุกอีเด็กสกปรก ดูซีขี้มูกไหลยืดเชียว หลวงน้าแกล้งผมใช่ไหม ผมไม่เอา ยกให้หลวงน้าก็แล้วกัน” พูดพลางส่งกระจกคืน ท่านพระครูรับไปดูก็ปรากฏว่าภาพที่เห็นในกระจกนั้นเป็นภาพเด็กหญิงจุก คิดมาถึงตอนนี้ ท่านอดขำไม่ได้จึงพูดขึ้นว่า “ไงล่ะเจ้าจ่อย ก็ไหนเอ็งว่าเกลียดอีจุกนักไง ทำไม่ถึงจะมาร่วมหอลงโลงกันล่ะ”

         “ร่วมหอเฉย ๆ โลงน่ะยังไม่อยากลงหรอกหลวงน้า ขออยู่ไปอีกซักเจ็ดแปดสิบปีก่อนถึงค่อยลง” นายจ่อยรีบชี้แจง

         “นั่นแหละ ๆ นึกยังไงถึงมารักกันได้เล่า” ท่านถามอีก

         “ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาคือ...เอ้อ...คืออีจุกเด็กขี้มูกมากคนนั้น เพราะไม่เคยเจอกันอีกเลยนับตั้งแต่ผมสึก เพิ่งมารู้เอาอีตอนที่มันรักเขาจนถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว ก็เลยต้องตกบันไดพลอยโจน”

         “นี่พี่จ่อยอย่ามาพูดดีนะ จะถอนหมั้นกันวันนี้เลยก็ได้ ฉันน่ะไม่ยั่นหรอก คนชอบฉันยังมีอีกเป็นพะเรอเกวียน” สาววัยยี่สิบสองพูดโกรธ ๆ

         “เอ็งจะโกรธจะขึ้งไปทำไม่ล่ะจุก ไหน ๆ ก็จะมาเป็นหลานสะใภ้ข้าแล้ว ข้าล้อเล่นบ้างไม่ได้หรือไง” ท่านพระครูปราม

         “ฉันก็ไม่ได้ว่าอะไรหลวงน้านี่นา ฉันว่าพี่จ่อยเขาต่างหาก” ว่าที่หลานสะใภ้เถียงฉอด ๆ หน้าบึ้งตึงจนหมดสวย

         “เอาละ ๆ เอ็งไม่ต้องมาเถียง ไหนเอ็งจะแต่งกันเมื่อไหร่ เผื่อข้าติดธุระจะได้สับหลีกทัน”

         “ผมคิดกันไว้ว่าวันที่ ๙ ธันวา หลวงน้าช่วยดูอีกทีเถอะว่าฤกษ์นี้ใช้ได้หรือเปล่า ถ้าไม่ดีหลวงน้าก็ช่วยหาให้ใหม่ด้วย”

         “ฤกษ์ยามมันไม่สำคัญเท่าตัวของเราหรอก ถ้าตัวเราดีมันก็ต้องดีวันยังค่ำ เป็นชาวพุทธไม่ต้องไปถือเรื่องฤกษ์ยาม ถ้าเชื่อข้าก็จำเอาไว้ แต่ถ้าไม่เชื่อก็แล้วไป”     

            “ไม่เชื่อหลวงน้าแล้วผมจะไปเชื่อใครเล่าครับ แม่ผมก็ตายไปแล้ว พ่อก็เมาเช้าเมาเย็น เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ ก็เห็นแต่หลวงน้านี่แหละที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร” หลานชายอ้อน

         “คิดยังงั้นได้มันก็ดี แต่ว่าก็ว่าเถอะ ใจจริงข้าอยากให้เอ็งบวชมากกว่า จะได้ตัดภพตัดชาติให้มันสั้นเข้า ไม่งั้นก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จักจบสิ้น” ท่านพระครูพูดจากใจจริง หลานชายจึงพูดเอาใจหลวงน้าว่า “ใจผมก็อยากบวชเหมือนกัน แต่ทีนี้สงสารจุกเขา เขาจะอยู่กับใครเพราะพ่อแม่ก็ตายไปหมดแล้ว”

         “จะยากอะไรเล่า ก็มาบวชชีอยู่เสียที่วัดนี่ ต่างคนก็ต่างปฏิบัติ ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกัน” หลวงน้าเสนอทางออกให้

         “ถ้าเป็นอย่างนั้นได้มันก็ดีครับหลวงน้า แต่ผมกลัวจะต้องอาบัติปาราชิก เพราะหักห้ามใจไม่ได้ อีกอย่างดวงผมกับผ้าเหลืองมันก็ไม่ค่อยจะถูกกันซักเท่าไหร่” หลานชายปฏิเสธอย่างนิ่มนวลชนิดบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น

         “ถ้าดวงไม่ถูกกับผ้าเหลืองก็อย่าบวช เดี๋ยวจะบาปเสียเปล่า ๆ การกระทำบางอย่าง ถ้าพระทำถือว่าบาป แต่ถ้าฆราวาสทำไม่ถือเป็นบาป เช่น การร้องรำทำเพลง การเสพเมถุน เป็นต้น แต่ถึงเอ็งจะไม่บวช ข้าก็อยากให้พากันมาเข้ากรรมฐานสักเจ็ดวัน แล้วกลับไปปฏิบัติที่บ้านวันละนิดละหน่อย ลืมบ้างนึกได้บ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้ปฏิบัติเสียเลย” ท่านแนะแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีแก่หลาน หากฝ่ายนั้นรีบออกตัวว่า “งานผมยุ่งครับหลวงน้า คงหาเวลามายาก ถึงมาแล้วก็คงเอากลับไปปฏิบัติที่บ้านไม่ได้เพราะต้องทำไร่ไถนา ทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา เอาไว้แก่ ๆ ผมค่อยพากันมาก็แล้วกันนะครับ” หลานชายผัดผ่อน

         “อ้อ...รอให้แก่เรอะ แล้วถ้าเกิดเอ็งตายไปตอนยังไม่ทันแก่ล่ะ จะว่ายังไง” เป็นเป็นน้าทักท้วง

         “ก็สุดแล้วแต่เวรแต่กรรมเถอะครับ”

         “ถ้าเอ็งปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรมนับว่าเอ็งประมาทมาก คนทุกวันนี้ก็พากันประมาทเหมือนเอ็งนั่นแหละ แล้วคิดหรือว่าแก่แล้วเอ็งจะมาเข้าวัด ข้าว่าจะเมาเช้าเมาเย็นเหมือนพ่อเอ็งน่ะซี” ท่านยกพี่เขยเป็นตัวอย่าง

         “โธ่ หลวงน้าครับ นาน ๆ ผมจะมาสักที หลวงหน้าก็ตั้งหน้าตั้งตาเทศน์อยู่ได้ คุยเรื่องที่มันมีประโยชน์กว่านี้ดีกว่าน่า” นายจ่อยเริ่มหงุดหงิด ข้างนางสาวจุกก็รู้สึกรำคาญไม่แพ้กัน

         “ก็ถ้าเอ็งไม่ใช่หลานข้า ข้าจะไม่ยุ่งเลยเชียว เอ็งก็เหมือนกันจุก อย่าคิดว่าสิ่งที่ข้าแนะนำเอ็งเป็นเรื่องไร้สาระ นี่แหละคือประโยชน์สูงสุดของชีวิตเชียวนา ถ้าอยากให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขก็หาโอกาสมาเข้ากรรมฐานให้ได้ ไม่ต้องมาพร้อมกันหรอก ผลัดกันมาก็ได้ ไม่ต้องอ้างว่าไม่มีเวลา การอ้างเช่นนั้นแสดงว่าเอ็งยังไม่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติ ใช่ว่าเอ็งต้องมาเดิน ขวาย่าง ซ้ายย่าง พองหนอ ยุบหนอ อยู่ตลอดเวลาเมื่อไหร่กัน ถ้าเป็นยังงั้นก็ไม่ต้องทำมาหากินกันแล้ว”

         “ก็นั่นซีครับ ผมถึงมองไม่เห็นประโยชน์ว่าเราจะปฏิบัติไปทำไมกัน เสียเวลาทำมาหากินเปล่า ๆ” นายจ่อยรีบแถลง

         “นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์เชียวละ โปรดเข้าใจเสียใหม่นะหลานนะ ว่าที่ข้าให้มาอยู่วัดเจ็ดวัน ก็เพื่อมาเอาหลักการและวิธีการเพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ โดยที่ทำงานไปด้วย เอาอย่างนี้ ไหนเอ็งลองบอกข้ามาซิว่า เวลาทำงานเอ็งหายใจหรือเปล่า เอ็งหายใจเข้าออกตลอดเวลาไหมหือจุก” ท่านถามนางสาวจุกด้วย

         “หายใจจ้ะ” สาววัยยี่สิบสองตอบ

         “นั่นแหละ เอ็งก็กำหนดไปซี หายใจเข้าพอง หายใจออกยุบ หรือ กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้กำหนดไปตามจริง จะไถนา จะดำนา หว่านข้าว ก็ตั้งสติกำหนดให้รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา นี่ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติแล้ว มันยากเย็นอะไรล่ะ เอ็งไม่ต้องคิดไกลไปถึงขั้นมรรคผลนิพพานหรอก เอาแค่ให้เป็นสุขร่มเย็นในชีวิตนี้ก็พอ เวลาตายจะได้มีสติไม่หลงตาย คนที่ไม่เคยฝึกสติ ข้าเห็นหลงตายทุกราย”

         “แล้วเป็นยังไงครับ หลงตายกับตายอย่างมีสติ มันต่างกันตรงไหน” หลานชายยังไม่เข้าใจ

         “ต่างกันตรงที่ไปนะสิ คนหลงตายก็ต้องไปทุคติ แปลว่าไปไม่ดี ส่วนคนที่ตายอย่างมีสติก็ไปสุคติ คือไปดี” ท่านอธิบาย

         “ไปดีไปไหนครับ แล้วไปไม่ดีไปไหน”

         “ไปดีก็ไปสุคติภูมิ คือ ตั้งแต่ภูมิมนุษย์ไปจนถึงขั้นพรหม ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำ ถ้าทำกรรมดี เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็จะไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ถ้าได้รูปฌานก็ไปเกิดเป็นรูปพรหม หรือไดอรูปฌานก็ไปเกิดเป็นอรูปพรหม ถ้าทำชั่วก็ไปทุคติภูมิ หรืออบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน ภูมิมีทั้งหมด ๓๑ ภูมิ ซึ่งล้วนแต่ขึ้นอยู่กับกรรมทั้งสิ้น”

         “งั้นถ้าเราไม่ทำกรรมเลยก็ไม่ต้องเกิดใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว เขาเรียกว่าบรรลุนิพพาน”

         “แปลว่าคนไม่ทำกรรมจะได้ไปนิพพานใช่ไหมครับ”

         “มันเป็นไปไม่ได้ที่คนจะไม่ทำกรรม แล้วจะว่าไปนิพพานก็ไม่ได้ เพราะนิพพานไม่ใช่สถานที่ที่คนจะมาจะไป แต่เป็นความดับกิเลส ถ้าเราปฏิบัติอริยมรรคมีองค์แปดจนถึงขั้นปัญญา สามารถทำลายตัณหาอุปาทานหมดสิ้น นิพพานก็จะปรากฏขึ้นมาเอง เอาละอย่าพูดไปไกลถึงขนาดนั้น มันเข้าใจยากสำหรับปุถุชน”

         “หลวงน้าจ๊ะ แล้วคนที่หลงตายเป็นยังไงจ๊ะ คือเวลาจะตายเราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาหลงหรือไม่หลง” นางสาวจุกถามบ้าง

         “รู้ซี ที่เองถามน่ะมีตัวอย่างมากมายเลย อย่างตาอิ่มบ้านอยู่ติดวัดแต่ไม่เคยมาเข้ากรรมฐาน ข้าชวนทีไรแกก็ผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อย พอใกล้ตายก็บอกลูกหลานมานิมนต์ข้า ข้าก็ไป แกก็พะงาบ ๆ จะตายมิตายอยู่รอมร่อ แต่ยังพอพูดได้ ข้าก็บอกให้ว่า พุทโธ พุทโธ ลูก ๆ เขาก็ไปบอกใกล้ ๆ บอกพ่อพนมมือแล้วว่า พุทโธ พุทโธ นะพ่อ แกก็ด่าใส่ลูกเลย ด่าเสียงดังเสียด้วย ขนาดจะตายแล้วนะ ด่าว่า ไอ้พวกเวร กูจะตายอยู่เดี๋ยวนี้แล้วพวกมึงยังมาพุทโธ่ พุทโธ่ ใส่กูอีก ลูกก็บอกไม่ใช่พุทโธ่ พุทโธต่างหากล่ะพ่อ ไหนว่าซิ พุทโธ พุทโธ แกก็ไม่รู้เรื่อง ว่าไม่ได้ เพราะไม่เคยฝึก ก็เลยหลงตาย”

         “แสดงว่าตอนแกตาย แกโกรธลูกด้วยใช่ไหมจ๊ะ”

         “โกรธน่ะซี เมื่อโกรธ จิตก็เศร้าหมอง พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติย่อมเป็นที่หมาย

            อีกรายนึงก็ยายอ่อน รายนี้งมหอยขาย พวกหอยโข่ง หอยขม หอยกาบ อะไรพวกนี้ วัน ๆ แกงมได้เป็นกระแต๋ง ๆ พอจะตายก็เกิดนิมิตเห็นหอยมาลอยตรงหน้าเต็มไปหมด ลูก ๆ ก็บอกแม่พนมมือว่า อะระหัง อะระหัง ยายอ่อนก็ว่า อะระหอย อะระหอย ไม่เป็นอะระหัง เพราะไม่เคยฝึก ท่องอะระหอย ๆ จนขาดใจ” ท่านยกตัวอย่างที่เคยพบมา

         “แล้วที่ตายแบบไม่หลงมีไหมจ๊ะ” ว่าที่หลานสะใภ้ถามอีก

         “มี ยายจันทร์ไง รายนี้มาเข้ากรรมฐานตอนแก่ ลูกหลานพามาเข้าเพราะเริ่มจะหลง สติสตังไม่ค่อยดี แต่ไม่ได้แปลว่าบ้านะ เพราะคนบ้ามาเข้ากรรมฐานไม่ได้ คือยายจันทร์แกขี้หลงขี้ลืม อายุหกสิบกว่า ๆ ก็หลงแล้ว ลูกเต้าเขาก็ให้แกเฝ้าบ้านเลี้ยงหลาน ตักน้ำ ผ่าฟืนไปตามเรื่อง แกแก่แต่ยังแข็งแรง วันหนึ่งแกจะเดินไปหยิบดุ้นฟืนมาก่อไฟต้มข้าวให้หมากิน ไปเห็นหมานอนหลับอยู่ แกก็ไปคว้าเอาขามันเข้า มันตกใจตื่นเลยกัดเอา แกก็อุทานว่า เฮ้อ กุนี่มันแย่จริง ๆ ดูซิอจะไปหยิบดุ้น หมาดันไปคว้าเอาขาฟืน  นี่ขนาดบ่นก็ยังบ่นผิด ๆ ถูก ๆ ลูกเขาก็พามาขอกรรมฐานกับข้า ข้าก็แนะแนวไปให้แกกลับไปทำที่บ้าน แกไม่ยอมมาค้างวัด กลับไปได้สักสามวันแกก็มาอีก บอกเอากรรมฐานมาคืน ปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีเวลา ลูกหลานมันกวน ข้าก็บอกให้แล้วไม่รับคืน ก็เลยสอนแกไปว่าเวลาทำอะไรให้ท่องให้กำหนดทุกอย่าง เช่นจะเดินไปหยิบฟืนก็เดินท่องไปว่า หยิบฟืน หยิบฟืน จะได้ไม่ไปคว้าเอาขาหมา สอนจนแก่เข้าใจดี แล้วก็กลับไปปฏิบัติที่บ้าน ไม่ช้ายายจันทร์ก็หายจากโรคหลง ๆ ลืม ๆ เพราะสติดีขี้น”

         เดี๋ยวนี้แกยังอยู่หรือเปล่าครับ หลวงน้า” หลานขายถามขึ้น

         “เข้าเมรุไปแล้ว น่าเสียดายวันที่แกตายนั้นอายุครบแปดสิบพอดี ลูกหลานเขารายงานว่า ตั้งแต่ปฏิบัติกรรมฐาน แกสติดีมาก ไม่หลง ๆ สืม ๆ เหมือนแต่ก่อน จะกินจะถ่ายก็เรียบร้อย คนแก่บางคนใช้ไม่ได้เลย ทั้งกินทั้งถ่ายเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด แบบนี้ลูกหหลานเขาก็เบื่อ ไม่อยากเลี้ยง แต่คนที่มาเจริญสติปัฏฐาน ลูกหลานเขาไม่รำคาญ เพราะเลี้ยงง่าย ไม่เลอะเลือนเลื่อนเปื้อน นี่ประโยขน์ของการมาเข้ากรรมฐานอยู่ตรงนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามาเข้าเจ็ดวันแล้วทิ้งเลยไม่เอากลับไปปฏิบัติที่บ้าน อย่างนี้ก็ไม่ได้ผล”

         “ถ้าอย่างนั้นฉันขออยู่เข้ากรรมฐานเลยนะพี่จ่อย พี่ช่วยกลับไปเอาเสื้อผ้ามาให้ฉันด้วยก็แล้วกัน เอ...แต่ฉันไม่มีชุดขาวนี่หลวงน้า” นางสาวจุกเกิดศรัทธา ขณะเดียวกันก็กังวลเรื่องเสื้อผ้า

         “เรื่องนั้นไม่ต้องห่วง มีญาติโยมเขาใจบุญบริจาคให้วัดเอาไว้เป็นของกลาง ใครไปใครมาก็เบิกไปใส่ได้ แล้วซักมาคืน ถ้าเอ็งจะอยู่ก็ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลอะไรทั้งสิ้น ว่าแต่เอ็งจะอยู่พร้อมกันเลยไหมเล่า” ท่านถามหลานชาย นายจ่อยพลอยเกิดศรัทธาตามคนเป็นคู่หมั้น จึงตอบว่า “ก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องไป ๆ มา ๆ” เห็นคนทั้งสองมีศรัทธาปสาทะเช่นนั้น ท่านพระครูก็พอใจ จึงพูดให้กำลังใจว่า

         “ดีแล้ว เอ็งสองคนเริ่มต้นเดินในทางที่ถูกต้องแล้ว ทางนี้เป็นทางสายเดียวที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น ถ้าเอ็งไม่เปลี่ยนทิศทางเดิน สักวันหนึ่งก็จะถึงจุดหมายจนได้ ไม่ถึงชาตินี้ก็ต้องเป็นชาติหน้า ถ้าชาติหน้ายังไม่ถึงก็จะต้องถึงในชาติต่อ ๆ ไป ขอให้มีความเพียร อย่าท้อถอยเสียก่อนก็แล้วกัน”

         “แล้วเรื่องแต่งงานผม หลวงน้าไม่ลืมนา” นายจ่อยยังห่วงเรื่องทางโลก

         “รับรอง ข้าจะช่วยจัดการให้เรียบร้อย เอาละ เดี๋ยวข้าจะให้สมชายพาจุกมันไปฝากที่สำนักชี ส่วนเอ็งไปอยู่กับพระบัวเฮียว ประเดี๋ยวจะให้สมชายพาไป รอให้จัดการเรื่องคู่หมั้นเอ็งเสร็จก่อน” แล้วท่านพระครูจึงเรียกนายสมชายมาสั่งการ จากนั้นจึงขึ้นไปเขียนหนังสือคู่มือการสอบอารมณ์กรรมฐานยังชั้นบนของกุฏิ

 

มีต่อ........13

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #12 เมื่อ: เมษายน 10, 2007, 08:30:04 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00013
 

๑๓...

               “หลวงพี่บวชถึง ๑๐ พรรษาหรือยังครับ” นายจ่อยถามพระบัวเฮียว หลังจากลูกศิษย์วัดกลับไปแล้ว

            “อาตมาบวชครบเดือนเมื่อวานนี้เอง” หลวงพี่ตอบ รู้ว่าชายผู้นี้เป็นหลานพระครู เห็นจะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ อย่างน้อยก็เป็นการตอบแทนบุญคุณที่ท่านพระครูมีต่อท่าน

            “จริงหรือครับ ผมนึกว่าหลวงพี่บวชมาไม่ต่ำกว่า ๑๐ พรรษาเสียอีก” นายจ่อยคิดว่าอายุของหลวงพี่รูปนี้คงประมาณสัก ๔๐ หรือกว่านั้น

            “อาตมาดูแก่มากขนาดนั้นเชียวหรือ” ท่านถาม

            “ไม่แก่หรอกครับ” ผมว่าหลวงพี่ดูเหมือนคนสักสามสิบหกสามสิบเจ็ด” พูดหมายเอาใจหลวงพี่ หากฝ่ายนั้นกลับโวยวายว่า

            “เห็นไหม ในที่สุดคุณก็ว่าอาตมาแก่จริง ๆ นั่นแหละ มีอย่างหรืออาตมาเพิ่งอายุยี่สิบหก กลับมาว่าแก่กว่าอายุตั้งสิบปี” พูดอย่างน้อยใจ

            “จริงหรือครับ ถ้างั้นหลวงพี่ก็แก่กว่าผมปีเดียวเอง แหม ผมนึกว่าหลวงพี่อายุสี่สิบเสียอีก ว่าแต่ว่าพหลวงพี่จำไม่ผิดนะครับ หรือว่าโยมแม่เขาไปแจ้งเกิดตอนหลวงพี่สิบขวบ” นายจ่อยไม่วายกังขา

            “พูดยังงั้นมันไม่สวยนาคุณนาอยู่ดีไม่ว่าดี มาเที่ยวค่อนแคะคนอื่นเขา ไม่เคยมีใครว่าอาตมาอย่างนี้นอกจากคุณ” พระบัวเฮียวออกโกรธ ๆ นายจ่อยเห็นท่าไม่ดีจึงรีบแก้ว่า

            “ใจเย็น ๆ ซิครับหลวงพี่ ผมล้อเล่นเท่านั้นเอง ก็หลวงพี่ดูสงบเสงี่ยมน่าเลื่อมใสผิดกับพระทั่ว ๆ ไปที่ผมเคยรู้จัก ผมก็เลยนึกว่าหลวงพี่แก่พรรษา พวกพระแถวบ้านผมเสียอีกยังไม่ได้เรื่อง”

            “ไม่ได้เรื่องยังไง” พระบัวเฮียวอารมณ์ดีขึ้นนิดหนึ่ง

            “ก็ไม่น่าเลื่อมใสเหมือนอย่างหลวงพี่น่ะซีครับ เป็นต้นว่าไม่สำรวมกิริยา จะเดินจะเหินก็ว่ากันเสียจีวรปลิว แถมตอนเย็น ๆ ก็ถกเขมรเตะตะกร้อกันเป็นที่ครื้นเครง ยิ่งองค์ที่ชื่อหลวงตาทองยิ่งหนักกว่าเพื่อนเมาเช้าเมาเย็น เดินโซซัดโซเซไม่ตรงทางเหมือนคนอื่นเขา”

            “แล้วสมภารเขาไม่เข้มงวดเอาหรือ”

            “สมภารน่ะตัวร้าย ไม่เคยอยู่วัดหรอกครับ ชาวบ้านเขาลือกันว่าแกไปอยู่กับเมีย วันโกนกันพระถึงกลับวัด” นายจ่อยอ้าง “ชาวบ้าน”

            “เป็นพระมีเมียได้หรือ” หลวงพี่ค้านด้วยไม่เคยฟังเรื่องนี้มาก่อน

            “พระแท้น่ะมีไม่ได้แน่ แต่นี่มันพระปลอมน่ะครับ พวกมาอาศัยผ้าเหลืองหากิน อย่างหลวงตาทองนี่แกติดเหล้ามาก่อน ที่มาบวชก็เพื่อจะให้เลิกเหล้า แต่ก็เลิกไม่ได้ ส่วนสมภารนั่น ผมก็ไม่ได้ใส่ร้ายแกหรอก เคยมีชาวบ้านเขาแอบไปดูที่บ้านเมียแก ก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ” นายจ่อยไม่ได้บอกว่าตัวเขาก็ไปดูกับ “ชาวบ้าน” ด้วย

            “แล้วทำไมเขาไม่จับสึกเสียล่ะ” แบบนี้เสียชื่อเสียงวัด แล้วก็ยังทำให้พระศาสนามัวหมอง” พระบัวเฮียวรู้สึกไม่สบายใจที่ได้ยินได้ฟัง

            “เรื่องมันยาวครับหลวงพี่ คือ สมภารแกเป็นคนมีอิทธิพล นัยว่าก่อนบวชเคยเป็นนักเลงมาก่อน พอชาวบ้านเขาจะเอาเรื่อง แกก็ใช้วิธีเชือดไก่ให้ลิงดู คืออยู่ ๆ กรรมการวัดคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีก็ถูกฆ่าตาย เขารู้กันทั้งบางว่าสมภารเป็นผู้บงการ แต่ไม่มีใครกล้าฟ้องร้อง เรื่องก็เลยเงียบไป”

            “แบบนี้ก็แย่น่ะซี” คนฟังรู้สึกเศร้าสลดในหัวใจยิ่งนัก

            “แย่หรือไม่แย่พวกชาวบ้านเขาก็ประท้วงด้วยการเลิกทำบุญตักบาตรก็ในเมื่อพระทำตัวไม่ดี คนก็หมดความเลื่อมใส”

            “ผมว่าทำอย่างนั้นก็ไม่ถูก การที่เราเห็นพระไม่ดีเพียงบางส่วน แล้วจะมาเหมาเอาว่าพระเป็นอย่างนั้นทั้งหมดมันก็ไม่ยุติธรรมกับพระ เพราะพระดี ๆ ยังมีอีกมาก อีกประการหนึ่ง การเลิกทำบุญทำทาน ก็เป็นการตัดทางกุศลของตัวเอง”

            “หมายความว่าอย่างไรครับ”

            “ก็หมายความว่า เมื่อเราเลิกทำบุญ ก็เป็นการตัดโอกาสทางสวรรค์ ตัดโอกาสการสร้างสมบารมี เช่น ทานบารมี เป็นต้น คุณต้องเข้าใจนะว่า พระก็คือคนนั่นแหละ แล้วคนก็มีทั้งคนดีและคนชั่ว เมื่อคนมาบวชพระ ก็เลยมีทั้งพระดีและพระชั่ว แต่ถึงเราจะทำบุญกับพระชั่ว ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องชั่วตามท่านไปด้วย”

            “อ้าว ถ้าอย่างนั้น สมมุติว่าผมทำบุญกับหลวงตาทองยี่สิบบาท แล้วแกเอาเงินนั้นไปซื้อเหล้ากัน ในฐานะที่ผมเป็นเจ้าของเงิน ผมไม่บาปหรือไง” นายจ่อยค้าน

            “นั่นแสดงว่าคุณเข้าใจผิด การทำบุญนั้น ไม่ว่าจะทำกับใคร ถ้าเราทำด้วยบริสุทธิ์ใจ และของทำบุญนั้นได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เราก็ได้บุญแล้ว สมมุติว่ามีพระรูปหนึ่งมาบอกบุญว่าจะเอาเงินไปสร้างโบสถ์ คุณเชื่อ จึงทำบุญไปยี่สิบบาทด้วยความเต็มใจ เมื่อคุณทำ คุณก็ได้บุญทันทีนั่นคือคุณเกิดปีติ อิ่มเอิบใจว่าได้ทำบุญ ทีนี้ถ้าพระรูปนั้นเองเงินไปซื้อเหล้ากิน ท่านก็บาปเอง โดยที่บาปนั้นไม่มาถึงคุณแน่นอน เพราะคุณไม่รู้เห็นเป็นใจกับท่าน แต่ถ้าท่านนำไปสร้างโบสถ์จริง คุณก็ได้บุญสองต่อ เพราะฉะนั้นการทำบุญทำเมื่อไหร่ก็ได้บุญเมื่อนั้น สุดแต่ว่าจะได้มากได้น้อย และที่สำคัญคือ การทำบุญเป็นการสืบต่อพระศาสนา เพราะถ้าคนพากันคิดเหมือนกันหมดว่า เมื่อพระทำตัวไม่ดีเขาก็เลิกทำบุญ ต่อไปพระศาสนาก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ จริงไหม” หลวงพี่อธิบายเสียยืดยาว ชั่วเวลาเพียงเดือนเดียวของการบวช ท่านหูตากว้างขึ้น สามารถเข้าใจอะไร ๆ ได้ลึกซึ้งกว่าแต่ก่อน

            “คงจะจริงอย่างที่หลวงพี่ว่า คนที่มาบวชเป็นพระ บางคนเขาก็ไม่ได้ตั้งใจบวช คือไม่ได้มาบวชเพื่อละกิเลส แต่บวชด้วยเหตุผลอื่น บางคนลูกเกเรไม่เอาถ่านก็จับบวช บางคนไปปล้นไปฆ่าเขามา ก็มาอาศัยผ้าเหลืองหลบภัย วัดก็เลยกลายเป็นที่รวมของคนชั่ว แม้แต่หมาแมวที่ไม่ดีคนเขาก็เอามาปล่อยวัด ก็ต้องรับกรรมกันไป” นายจ่อยพูดปลง ๆ

            “แต่ถึงจะเป็นคนชั่วมาก่อน ถ้าบวชแล้วกลับตัวกลับใจได้ ก็นับเป็นวาสนาของเขา” พระบัวเฮียวอดนึกไปถึงของตัวท่านเองไม่ได้

            “ครับ มันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เป็นต้นว่าสิ่งแวดล้อม หรือโชควาสนาของคน ๆ นั้น”

            “ที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าได้ครูบาอาจารย์ดี ก็มีโอกาสจะเปลี่ยนนิสัยได้ อย่างอาตมานี่ ถ้าพูดกันตรง ๆ ก็ใช่ว่าเป็นคนดิบคนดีมาก่อน ครูดีที่วัดนี้ หลวงพ่อท่านเคร่งครัดมาก พระรูปใดทำตัวไม่ดี ท่านก็นิมนต์ไปอยู่วัดอื่น”

            “เอ...หลวงพี่บอกว่าเพิ่งบวชได้เดือนเดียว แสดงว่าหลวงพี่บวชในพรรษาใช่ไหมครับ โชคดีจังที่หลวงน้ายอมให้บวช ถ้าเป็นวัดอื่นเขาต้องรอให้ออกพรรษาเสียก่อน”

            “ใช่ ท่านพระครูท่านเมตตาอาตมามากทีเดียว ท่านบอกว่าจะบวชในพรรษาหรือนอกพรรษาไม่สำคัญ มันสำคัญอยู่ที่ว่า บวชแล้วตั้งใจปฏิบัติหรือเปล่า ท่านบอกคนที่บวชหลายพรรษาแต่ไม่ปฏิบัติ ก็ยังสู้พวกมาเข้ากรรมฐานแค่เจ็ดวันไม่ได้”

            “ถึงว่าซี หลวงน้าถึงอยากให้ผมกับคู่หมั้นอยู่เข้ากรรมฐาน ฟังหลวงพี่พูดอย่างนี้แล้วผมก็สบายใจ เวลาถูกคนอื่นค่อนแคะว่าเป็นคนดิบ ผมจะได้อธิบายให้เขาฟังได้”

            “เป็นยังไง คนดิบ” หลวงพี่ไม่เข้าใจ

            “คนดิบ ก็คือ คนไม่ได้บวชได้เรียนไงครับ อย่างผมความจริงก็บวชเณรมาตั้งหลายพรรษา แต่ไม่ได้บวชพระ คนเขาก็เลยชอบมาเปรียบเปรยถากถางว่าเป็นคนดิบ ยังกะพวกคนสุกมันดีกันนัก หลวงพี่รู้ไหม บางคนบวชกันที ก็ฆ่าวัวฆ่าหมู จัดงานเลี้ยงกันใหญ่โต ร่ำสุรายาเมากันเปรอะไปหมด เผลอ ๆ คนเป็นนาคก็เอากับเขาด้วย ตอนนั่งทำขวัญนาค ก็สัปหงกเพราะความเมา บวชได้สิบห้าวันก็สึกออกมาแล้ว แบบนี้จะว่าได้บุญหรือก็เปล่า ไอ้ที่ฆ่าวัวฆ่าหมู ก็ต้องไปตกนรกใช้กรรมอีก” ผู้พูดไม่ทันสังเกตว่าผู้ฟังหน้าถอดสี เมื่อได้ยินข้อความว่า “ไอ้ที่ฆ่าวัวฆ่าหมู ก็ต้องไปตกนรกกันอีก”

         “ตอนอาตมาบวช ไม่ได้ฆ่าวัวฆ่าหมูอย่างที่คุณว่า หลวงพ่อท่านไม่ทำอะไรยุ่งยากอย่างนั้น” พระบัวเฮียวร้อนตัว

            “หลวงน้าท่านเป็นคนตรง แล้วก็เจ้าระเบียบ อย่างเวลามีงานบวช ท่านไม่อนุญาตให้แห่สิงโตหรือกลองยาว เพราะเสียงมันจะไปรบกวนคนที่เขากำลังปฏิบัติกรรมฐาน ท่านบอกว่าการทำอย่างนั้นไม่ได้บุญ แล้วยังสิ้นเปลืองเงินทองโดยใช่เหตุ ผมเคยไปงานบวชเพื่อนที่วัดวัดนึง ชื่ออะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว”

            “ชื่อวัดหรือชื่อเพื่อนที่ว่าจำไม่ได้น่ะ”

            “ชื่อวัดซีครับ ส่วนชื่อเพื่อนผมจำแม่นมาก เพราะมันชื่อเดียวกับผม”

            “แล้วเป็นยังไง งานบวชเพื่อนคุณ”

            “ทุเรศที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา คือมันเมากันเละเลย ตอนแห่นาครอบโบสถ์ก็พากันรำแอ่นหน้าแอ่นหลัง ทั้งผู้หญิงผู้ชาย แถมทิ้งขวดเหล้าขวดเบียร์ไว้เกลื่อนกลาดตามกำแพงโบสถ์บ้าง ตามพื้นบ้าง ถ้าเป็นที่วัดป่ามะม่วงหลวงน้าเอาตายแน่เลย” นายจ่อยเล่าฉอด ๆ

            อาตมาว่าเป็นเพราะเขาเข้าใจไม่ถูกต้อง คิดว่าทำอย่างนั้นจะได้บุญ ที่จริงชาวพุทธเรายังเข้าใจศาสนาผิด ๆ กันอีกมาก อาตมาเองก็เพิ่งมาเข้าใจถูกต้องเอาเมื่อบวชนี่แหละ”

            “ผมว่าเขาทำตามประเพณีมากกว่า คือทำตาม ๆ กันมา จนกลายเป็นประเพณี หลวงพี่เห็นด้วยไหมครับว่าประเพณีบางอย่างมันก็ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการทำตามประเพณีจึงไม่ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป”

            “อันนี้เห็นจะจริง อาตมาก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำหลาย ๆ อย่างของชาวพุทธซึ่งเขาอ้างว่าทำตามประเพณี เป็นต้นว่า ไปทำบุญ แต่ดื่มเหล้า อย่างงานผ้าป่า งานกฐิน ซึ่งเป็นงานบุญก็พากันดื่มเสียเมาแอ๋ เมื่อเมาก็ขาดสติ แล้วมันจะไปได้บุญยังไง ก่อนถวายผ้ากฐิน พระท่านก็ให้รับศีล ก็รับกันไปงั้น ๆ พอออกจากวัด ก็ร่ำสุรากันโดยไม่เกรงใจศีลที่รับจากพระมากหยก ๆ อย่างนี้อาตมาว่า ขาดทุนนะ โบราณท่านถึงสอบไว้ว่า ...ถ้าคิดจะทำบาปแลกบุญ มักขาดทุนอยู่ร่ำไป...”

            “นั่นซีครับ อย่างเรื่องบวชก็เหมือนกัน สมมุติตอนบวช เขาต้องฆ่าหมูฆ่าวัวเพื่อนำมาเลี้ยงพระเลี้ยงคน พอสึกออกมา ปรากฏว่าบาปกับบุญที่ได้ มันไม่สมดุลกัน บาปมากกว่าก็ต้องไปตกนรก” นายจ่อยย้อนมาพูดเรื่องปาณาติบาต ทำให้พระบัวเฮียวใจหดหู่อีกครั้ง แม้คนพูดจะไม่ล่วงรู้การกระทำแต่หนหลังของท่าน แต่ตัวท่านรู้ และรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งเมื่อถูกสะกิด ขึ้นชื่อว่าบาป หากใครทำเข้าก็ต้องพกพามันติดตัวติดใจไปทุกแห่งหน ดุจเงาติดตามตัวฉะนั้น พระบัวเฮียวกำลังเสวยผลของบาป!

            “คุณบวชเณรอยู่นานไหม” ถามเพื่อต้องการเปลี่ยนเรื่อง ไม่อยากได้ยินได้ฟังสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง

            “ห้าพรรษาครับ ตั้งแต่อายุสิบปีถึงสิบห้าปี”

            “อยู่กับหลวงพ่อมาตลอดเลยหรือ”

            “ครับ”

            “งั้นก็ได้วิชาดี ๆ จากหลวงพ่อไว้มากน่ะซี เห็นมหาบุญเล่าให้อาตมาฟังว่า หลวงพ่อท่านเก่งทางคุณไสยด้วย

            “จริงครับ แต่ท่านไม่ให้ใครหรอก ท่านว่าวิชาพวกนี้ไม่มีประโยชน์ ช่วยให้พ้นทุกข์ไม่ได้ ถึงท่านจะเก่งทางคุณไสย แต่หลังจากที่ธุดงค์ไปเรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อในป่าแล้ว ท่านก็ทิ้งไสยศาสตร์หมด ใครขอเรียน ท่านก็ไม่สอนให้ ท่านว่ามันเป็นเดรัจฉานวิชา ได้ไปแล้วก็รังแต่จะก่อเวรก่อกรรมกันมากขึ้น”

            “แปลว่า ท่านไม่เคยนำวิชาเหล่านี้มาใช้เลย”

            “ก็ใช้บ้างเหมือนกัน คือใช้เท่าที่จำเป็น ทว่าไม่สอนให้ใคร ท่านจะสอนคนอื่นก็เฉพาะวิชากรรมฐานเท่านั้น ท่านว่า นี่เป็นของจริง ช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ส่วนไสยศาสตร์เป็นของปลอม แต่ท่านก็เคยเอามาใช้บ่อย เป็นต้นว่า เวลาคนถูกผีเข้า ท่านก็มีคาถาไล่ผี ผมเคยไปกับท่านบ่อย ๆ บางทีคนเขามาตามตอนตีหนึ่งตีสอง บอกเมียถูกผีเข้า หลวงพ่อก็ให้ผมไปด้วย ท่านไล่ผีเก่งจริง ๆ นอกจากนี้ ท่านยังมีคาถาออกลูกง่าย ท่านก็เอาผลมะตูมเสกให้กิน กินปุ๊บเด็กออกมาปั๊บ ราวกับปาฏิหาริย์”

            “แล้วเนื้อคู่ล่ะ ท่านดูเนื้อคู่แม่นไหม” อยากให้นายจ่อยตอบว่าไม่แม่น เผื่อจะมีความหวังได้พบเนื้อคู่กับเขาบ้าง หากนายจ่อยกลับตอบชัดเจนว่า

            “แม่นที่สุดในโลก แม่นพันเปอร์เซ็นต์เลย ดูอย่างเรื่องของผมก็แล้วกัน ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมาเป็นคู่รักกับอีจุก เอ๊ยจุกเขา แต่ก็ต้องเป็น เพราะความดูแม่นของหลวงน้า หลวงพี่ฟังไหมครับ ถ้าไม่ฟังผลจะได้ไม่เล่า”

            “เล่าไปซี อาตมากำลังฟัง”

            “แต่ถ้าหลวงพี่ไม่อยากฟัง” ผมไม่เล่าก็ได้นะครับ” คนเล่าทำเล่นตัว

            “อยากฟังนะซี” พระบัวเฮียวยืนยัน

            “เรื่องมันเป็นอย่างนี้” นายจ่อยเริ่มต้นเล่าอย่างตั้งอกตั้งใจตั้งแต่ต้นจนจบ คนฟังจึงขัดขึ้นว่า

            “เทข้าวทิ้งน้ำก็เป็นอาบัติน่ะซิ มันผิดวินัยข้อไม่เคารพบิณฑบาต” หลวงพี่อ้างพระวินัย

            “หลวงน้าท่านบอกว่า มันอยู่ที่เจตนา เราไม่ได้เททิ้งเทขว้าง แต่เราเจตนาจะเลี้ยงปลา ปลาชุมมากเลยหลวงพี่ เทไปแป๊บเดียว ปลามันฮุบกินหมดเลย มันพากันมาเป็นฝูง ๆ”

            “แต่ก็น่าเห็นใจท่านนะ ท่านเป็นคนสะอาดสะอ้าน เป็นอาตมา อาตมาก็ฉันไม่ลงเหมือนกัน แม้จะไม่ใช่คนสะอาดสักเท่าไหร่ แต่จะให้ฉันข้าวผสมน้ำมูก ไม่ไหวแน่”

            “นั่นซิครับ พูดก็พูดเถอะหลวงพี่ เมื่อก่อนนี้ผมเกลียดจุกมาก ๆ เลยโกรธหลวงน้าอยู่หลายวัน นึกว่าท่านแกล้ง ผมบอกยกให้หลวงน้าก็แล้วกัน ผมไม่เอาหรอก”

            “แล้วตอนนี้ยังคิดจะยกเขาให้หลวงพ่ออยู่อีกหรือเปล่า” พระบัวเฮียวแกล้งถาม นายจ่อยหัวเราะแหะแหะก่อนตอบว่า “เป็นตายยังไงก็ไม่ยอม ใครจะมาแย่งจุกไปจากผม ก็ต้องข้ามศพกันไปก่อนละ หลวงพี่ไม่รู้อะไร จุกตอนเด็กกับตอนนี้น่ะ ดูผิดกันราวฟ้ากับดิน ตอนเด็กดูสกปรกขี้มูกมาก แต่ตอนนี้สะอาดสะอ้านแล้วก็สวยยังกะนางฟ้า เดี๋ยวหลวงพี่ก็จะได้เห็น เขาจะมาขึ้นกรรมฐานพร้อมผม หลวงน้าสั่งไว้ว่า ให้ไปขึ้นกรรมฐานตอนหกโมงเย็น เสร็จแล้วให้ผมมาปฏิบัติกับหลวงพี่ที่กุฏิ ส่วนเขาไปปฏิบัติกับแม่ชี”

            “ก็ดีสิ อาตมาจะดูว่า ระหว่างคู่รักของคุณกับคู่รักของหลวงพ่อ ใครจะสวยกว่ากัน” พระบัวเฮียวเผลอพูดในสิ่งที่เป็นความลับ ความจริงท่านยังไม่เคยเห็นคนที่เป็นคู่รักของหลวงพ่อเมื่อชาติที่แล้ว แต่ก็คิดว่า วันหนึ่งจะต้องได้เห็น เพราะท่านพระครูบอกว่า เขาจะมาช่วยสร้างหอระฆังถวาย

         “หลวงพี่หมายความว่ายังไง หลวงน้าน่ะหรือมีคู่รัก ไม่น่าเป็นไปได้ ผมอยู่กับท่านมาห้าปี ยังไม่เคยได้ยินข่าว หรือว่าท่านเพิ่งมามีเอาตอนหลัง” นายจ่อยซัก

         “อาตมาเผลอไป คุณอย่าไปถามท่านนะ ไม่งั้นผมตายแน่ ๆ”

         “ก็ได้ แต่หลวงพี่ต้องเล่าให้ผมฟัง”

         “อาตมารับปากกับท่านแล้วว่าจะไม่เล่าให้ใครฟัง อย่าให้ต้องเสียคำพูดเลยนะ” พระบัวเฮียววิงวอน

         “งั้นหลวงพี่ก็เลือกเอาก็แล้วกัน ว่าจะให้ผมไปถามหลวงน้า หรือว่าจะเล่าให้ผมฟัง” คนถือไพ่เหนือกว่ายื่นข้อเสนอ

         “นี่อาตมาไม่มีทางเลือกอื่นเลยหรือไง” หลวงพี่ถามเชิงต่อรอง

         “ไม่มีครับ” นายจ่อยตอบเสียงหนักแน่น พระบัวเฮียวยกมือทั้งสองประนมไว้หว่างอก แล้วพูดด้วยเสียงที่นายจ่อยได้ยินชัดเจนว่า “หลวงพ่อครับ ผมขออภัยที่ต้องผิดสัญญา ขอให้บาปกรรมในครั้งนี้ จงตกอยู่ที่นายจ่อยแต่เพียงผู้เดียว”

         “อ้าว ไหงเป็นยังงั้นล่ะหลวงพี่” นายจ่อยโวยวาย

         “ก็อาตมาบอกแล้วว่า มันเป็นความลับ ในเมื่อคุณอยากรู้ ก็ต้องรับเอาบาปไปด้วย อยากมาคาดคั้นอาตมาทำไม”

         “หลวงพี่นะหลวงพี่ บอกตรง ๆ ว่า ในชีวิตผม ยังไม่เคยเห็นใครฉลาดเท่าหลวงน้า เพิ่งมาเจอหลวงพี่นี่แหละ ที่แม้จะฉลาดน้อยกว่าหลวงน้านิดนึง แต่ก็ต้องนับว่าเป็นคนฉลาดอย่างหาตัวจับยาก” พระบัวเฮียวฟังแล้วก็ไม่กล้าดีใจ เพราะไม่รู้ว่านายจ่อยพูดติหรือชมท่านกันแน่ ครั้นจะถามออกไปตรง ๆ ก็เกรงจะเสียเหลี่ยม จึงนั่งเฉยอยู่

         “นิมนต์เล่าได้แล้วครับ” นายจ่อยเตือน

         “ไม่เล่าแล้ว อาตมาไม่อยากให้คุณบาป” หลวงพี่เปลี่ยนใจไม่เล่า

         “งั้นผมไปถามหลวงน้าก็ได้” นายจ่อยขู่ หากไม่ได้ผล เพราะพระบัวเฮียวกลับยุส่ง

         “ไปเลย รีบไปเสียเร็ว ๆ เดี๋ยวท่านขึ้นไปเขียนหนังสือแล้วจะต้องรอนาน ไปสิ” นายจ่อยถึงกับอึ้ง ไม่นึกไม่คิดว่า ท่านจะมาไม้นี้ แต่สมองอันเฉียบไวก็สั่งปากว่า

         “ผมนึกออกแล้ว ที่หลวงพี่ไม่เล่า ก็เพราะมันเป็นเรื่องไม่จริงใช่ไหม หลวงพี่ไม่กล้าเล่าเรื่องไม่จริงใช่ไหม ที่แท้หลวงพี่ก็ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าผม แต่แกล้งทำเป็นรู้” คิดว่าคราวนี้คงจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งจนมุมได้ หากก็ผิดหวัง เมื่อหลวงพี่พูดว่า

         “อาตมาจะดีใจ ถ้าคุณคิดอย่างนั้นจริง ๆ ว่าแต่ว่า คุณอยู่กับหลวงพ่อมานาน เคยเห็นผู้หญิงสวย ๆ มาหาท่านบ้างไหม” ท่านหมายถึงสตรีที่ท่านพระครูเคยเล่าให้ฟัง แต่นายจ่อยไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน จึงตอบไปตามที่ตนมีประสบการณ์ว่า

         “หลายคนเชียวแหละหลวงพี่ ทั้งสาวแก่แม่หม้าย ตั้งแต่สวยหยาดเยิ้มไปจนถึงผีหลงหลุม”

         “เป็นยังไงที่ว่าผีหลงหลุมนะ” คนฟังไม่เข้าใจ

         “อ้าว...ก๊อขี้เหร่เหมือนกับผีหลงหลุมน่ะซี แต่เชื่อไหม หลวงน้าไม่สนใครสักคน บางทีท่านก็ว่าให้ด้วยซ้ำ อย่างคนนึงเป็นด็อกเตอร์สวยด้วย มาหาท่านบ้อยบ่อย ถามโน่นถามนี่ที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะ แล้วก็แต่งตัวชะเวิกชะวาก ก้มทีงี้ แหม! อย่าให้พูดดีกว่า” นายจ่อยยังจำภาพด็อกเตอร์สาวผู้นั้นได้ติดตา

         “แหม! ถ้าอาตมาเป็นหลวงพ่อคงตบะแตกแน่เลย”

         “แต่ถ้าหลวงพี่เห็นจริง ๆ ผมว่าคงไม่พูดยังงี้หรอก มันทุเรศมากกว่า ผมยังนึกทุเรศไม่หาย คนอะไรก็ไม่รู้มีความรู้ซะเปล่า แต่ไม่มีหัวคิด”

         “แล้วท่านพระครูท่านว่าอย่างไรบ้าง ที่เขาทำอย่างนั้น”

         “ตอนแรกท่านก็สอนทางอ้อมว่าคนที่จะมาวัดมาว่า ควรจะแต่ตัวให้เรียบร้อย แต่ยายคนนั้นแกไม่เข้าใจ เพราะวันหลัง ๆ แกก็แต่งแบบนี้มาอีก ท่านก็เลยว่าเอาตรง ๆ ท่านพูดว่า “นายจ่อยเลียนเสียงและท่าทางของท่านพระครู

         “นี่โยม อาตมารู้นะว่าโยมคิดยังไงกับอาตมา แต่โยมสิไม่ยอมรับรู้ว่าอาตมาคิดยังไงกับโยม ถ้าอาตมาคิดจะสึก ก็คงสึกไปเสียนานแล้ว เพราะคู่รักของอาตมาสวยกว่าโยมหลายเท่านัก ทั้งสวยทั้งดี อาตมายังไม่หวั่นไหว แล้วทำไมจะต้องมาสนใจคนอย่างโยม ผู้ซึ่งหาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ น่าเสียดายที่เป็นถึงด็อกเตอร์ ทำอะไรไม่สมกับภูมิรู้ของตัวเลย”

         “ทำไมคุณจำแม่นจัง แน่ใจนะว่าไม่ได้เพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมา” พระบัวเฮียวถือโอกาสขัดคอ

         “รับรองว่าไม่ได้แต่งได้เติมอะไรทั้งสิ้น เดี๋ยวผมจะบอกว่าทำไมถึงจำได้” นายจ่อยยืนยันหนักแน่น

         “แล้วผู้หญิงคนนั้นว่ายังไง”

         “จะว่ายังไง้ ก๊อสะบัดก้นลุกหนีไปเลย ตั้งแต่นั้นก็ไม่มาอีก”

         “ถ้ามาอีก ก็อายยางมะตูมยางมะตอยแย่นะซี”

            “แหม...หลวงพี่นี่ปากไม่เบาเหมือนกันนะ ให้ตายซิ”

         “อ้าว...จะรีบตายไปทำไมล่ะ ยังหนุ่มยังแน่นอยู่เลย” คนเป็นพระแกล้งว่า หากคนเป็นฆราวาสกลับเฉยเสีย

         “หลวงพี่ว่าพวกผู้หญิงที่ชอบสึกพระนี่ ตกนรกไหมครับ” นายจ่อยถามความเห็น

         “มันก็พูดยากนาคุณนา แต่บาปนะบาปแน่ ส่วนจะถึงขั้นตกนรกหรือเปล่า อาตมาเองก็ไม่แน่ใจ ให้แน่ต้องถามหลวงพ่อ ว่าแต่ว่า รายอื่นมีอีกหรือเปล่า หรือว่ามีรายด็อกเตอร์รายเดียว”

         “มีอีกหลายรายเชียวครับ ที่ผมจำคำพูดของหลวงน้าได้ก็เพราะเหตุนี้แปละ คือต้องฟังหลวงน้าพูดอย่างนี้บ่อย ๆ”

         “แสดงว่า หลวงพ่อเนื้อหมอมากเชียว สาว ๆ ถึงได้มารุมตอม”

            “ก็ท่านรูปหล่อนี่ครับ ตอนที่ท่านหนุ่ม ๆ น่ะ สมบัติ เมทะนีงี้ชิดซ้ายเลยละ” นายจ่อยอวดอ้างคุณสมบัติหลวงน้า

         “งั้นเชียวเหรอ เอ...แต่อาตมาว่าสมบัติหล่อกว่านะ” หลวงพี่แย้ง นายจ่อยจึงรีบแก้ว่า

            “นั่นเพราะหลวงน้าท่านฉันยาลดความหล่อมากไปหน่อย”

         “อะไรกัน ยาลดความหล่อก็มีด้วย มันเป็นยังไงนะ ไอ้เจ้ายาขนาดนี้” พระบัวเฮียวรู้สึกสนใจ

         “ขอที ขอที อย่างหลวงพี่อย่าฉันเลยครับยาขนานนี้ ขนาดยังไม่ฉันผมก็ว่า....”

         “ว่ายังไง เอาอีกแล้วนะ เมื่อกี้ว่าแก่ คราวนี้มาว่าอาตมาไม่หล่ออีก ประเดี๋ยวก็ลาออกจากตำแหน่งพี่เลี้ยงของคุณเสียหรอก” ท่านขู่

         “ใจเย็น ๆ น่าหลวงพี่ ผมพูดเล่นก็เอาเป็นจริงไปได้ ถ้าอย่างหลวงพี่ยังไม่เรียกว่ารูปหล่อแล้ว ใคร้จะมาหล่อ”

         “คุณก็พูดไปเรื่อย ระวังบาปจะกินหัวเอานาคุณนา” หลวงพี่เตือน “ว่าแต่ว่า หลวงพ่อท่านฉันยาลดความหล่อจริง ๆ หรือ” พระบัวเฮียวยังติดใจเรื่องยา

         “จะจริงหรือไม่จริง อันนั้นผมไม่รู้ แต่ท่านเคยปรารภกับผมบ่อย ๆ ว่า “นายจ่อยทำเลียนเสียงท่านพระครู “จ่อยเอ๊ย หลวงน้าเห็นท่าจะต้องกินยาลดความหล่อเสียแล้วละ ไม่งั้นก็ต้องสู้รบตบมือกับพวกมารพรหมจรรย์อยู่บ่อย ๆ ความหล่อนี่มันเป็นมารพรหมจรรย์พอ ๆ กับความสวย นั่นแหละ”

            “อ้าว...หลวงพี่ไม่เข้าใจ ก็พระหล่อ ๆ น่ะ ถูกผู้หญิงสึกมาเสียมากต่อมาก หลวงน้าถึงว่าพวกผู้หญิงสวยหนึ่ง พระรูปหล่อหนึ่ง เหล่านี้เป็นศัตรูของพรหมจรรย์ พระบางองค์เป็นถึงท่านเจ้าคุณ ยังถูกผู้หญิงสึกเอาไปเป็นผัวเลย”

         “อย่างอาตมานี่จะมีใครมาสึกบ้างไหม” พระหนุ่มยังหวังว่าจะมีโอกาสออกไปใช้ชีวิตคู่ “เมินเสียเถอะ ชาตินี้ไม่มีหวัง”  นายจ่อยเกือบจะโพล่งออกไปอย่างนี้ หากก็ยั้งปากไว้ทัน จึงพูดเสียใหม่ว่า “อยู่อย่างนี้แหละดีแล้ว เรื่องอะไรจะต้องไปรบกับพวกมาร หลวงน้าท่านว่าผู้หญิงน่ะเป็นมารพรหมจรรย์อันดับหนึ่ง”

         “แล้วมารอันดับสองล่ะ”

         “อันดับสองได้แก่ ลาภ สักการะ สองอย่างนี้ ทำเอาพระเสียพระมานักต่อนักแล้ว

         “ก็ในเมื่อผู้หญิงเป็นมาร แล้วทำไมคุณถึงไปรักโยมจุกล่ะ นั่นเขาเป็นผู้หญิงไม่ใช่หรือ” พระบัวเฮียวแกล้งยั่ว

         “หลวงน้าสอนว่า...มารไม่มี บารมีไม่เกิด...ผมอยากสร้างบารมีครับ” นายจ่อยตอบเสียงดังฟังชัด

 

มีต่อ........๑๔

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #13 เมื่อ: เมษายน 10, 2007, 08:30:53 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๑๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00014

 

๑๔...

          พระบัวเฮียวกับนายจ่อยมาถึงกุฏิท่านพระครูก่อนเวลาสิบแปดนาฬิกาเล็กน้อย นางสาวจุกเตรียมพานดอกไม้ธูปเทียนรออยู่แล้ว หล่อนมากับแม่ชีวัยกลางคน ซึ่งนายจ่อยไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน แม่ชีก้มลงกราบพระบัวเฮียวสามครั้ง และนางสาวจุกก็ทำตาม
                “จุกมารอที่นี่นานแล้วหรือ” นายจ่อยถามคู่หมั้น หล่อนดูแปลกตาเมื่ออยู่ในชุดแม่ชี แม้จะไม่ได้โกนผม

          “ก่อนหน้าพี่จ่อยนิดเดียวเองจ้ะ” หญิงสาวตอบ พระบัวเฮียวดูคู่หมั้นของนายจ่อย ตั้งข้อสังเกตว่าปากของหล่อนเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ ไม่ยักกะเป็นสีแดงเหมือนปากโยมผ่องพรรณกับโยมวรรณวิไล สามเมืองกรุงกับสาวบ้านนอกคงจะต่างกันตรงสีของปากนี่เอง แต่ถึงอย่างไรคุณโยมสองพี่น้องก็สวยกว่า ท่านคิดเองสรุปเองเสร็จสรรพ

          “หลวงพี่อย่ามองคู่หมั้นผมนานนักซี หึงนะ” นายจ้อยเย้า

          “อ้าว...คู่หมั้นคุณหรอกหรือ ก็ไม่แนะนำแล้วอาตมาจะไปรู้ได้ยังไง” พระบัวเฮียวเย้าบ้าง

          “ก็ใครจะไปทราบได้ล่ะครับว่าหลวงพี่ไม่รู้ หลวงพี่ฉลาดปราดเปรื่องออกจะตายไป ไม่น่ามาตกม้าตายตอนจบเล้ย” นายจ่อยเปรียบเทียบไปคนละเรื่อง

          “อ้าว นี่จะจบแล้วหรือ ก็ยังไม่ทันได้ออกแขก ไหงจะลาโลงเสียแล้ว” พระบัวเฮียวอุตส่าห์โต้ตอบให้เข้าเรื่อง นางสาวจุกมองหน้าคู่หมั้นที มองหน้าพระที ออกสงสัยว่าเขากำลังพูดเรื่องอะไรกัน นึกได้ว่ายังไม่ได้ให้นายจ่อยรู้จักแม่ชี จึงพูดขึ้นว่า “พี่จ่อยจ๊ะ นี่แม่ชีเจียนที่หลวงน้าให้ฉันไปอยู่ด้วย เป็นหัวหน้าสำนักชีของวัดนี้” นายจ่อยยกมือไหว้ พลางออกปากฝากฝัง “ผมขอฝากคู่หมั้นด้วยนะครับ”

          “ไม่ต้องห่วงหรอกจ้ะ สมชายเขาบอกฉันแล้วว่าหนูจุกเขาเป็นคู่หมั้นของหลานชายหลวงพ่อ” แม่ชีเรียกท่านพระครูว่า “หลวงพ่อ” เช่นเดียวกับที่คนอื่น ๆ เรียก แม้เธอจะแก่กว่าท่านหลายปีก็ตาม

“แม่ชีมาอยู่วัดนี้นานแล้วหรือครับ” นายจ่อยถาม

          สมัยที่เขาเป็นเณรอยู่ที่วัดนี้ยังไม่มีชีอยู่ในวัด

          “เข้าปีที่หกแล้วจ้ะ ฉันมาจากวัดบ้านใต้โน่น” พูดพลางชี้มือไปทางทิศใต้ของวัด

          “แล้วทำไมย้ายวัดเสียล่ะครับ”

          “โอ๊ย ไม่ย้ายยังไงไหว ทั้งพระทั้งเณรขาดระเบียบวินัย ศีลขาด ศีลพร่องจนแทบไม่มีเหลือ ข้างฝ่ายพวกชีด้วยกันก็อิจฉาตาร้อน ทะเลาะเบาะแว้งกันไม่เว้นแต่ละวัน หาความสงบไม่ได้” แม่ชีเล่า นายจ่อยแอบคิดในใจว่า “เอาอีกแล้ว รายการตำหนิพระอีกแล้ว เฮ้อ ไม่เข้าใจเลยว่าพระสมัยนี้ ท่านคิดยังไงกันถึงได้ทำให้คนเขาว่าอยู่เรื่อย”

            “ฉันก็เลยมาขอหลวงพ่ออยู่วัดนี้ พาเพื่อนชีมาด้วยอีกสามคน หลวงพ่อท่านให้พวกฉันอยู่บนศาลา สองปีต่อมาท่านถึงสร้างสำนักชีให้ ก็ค่อยเป็นสัดเป็นส่วนหน่อย ตอนนี้มีแม่ชีอยู่ราว ๆ สามสิบคน” แม่ชีชี้แจง

          “แล้วเป็นไง พระวัดนี้ดีหมดทุกรูปไหม” นายจ่อยตั้งใจ “จับผิด” พระวัดนี้ โดยเฉพาะองค์ที่ชื่อ “บัวเฮียว”

          “ถ้าหลวงพ่อละก็ดีไม่มีที่ติ แต่รูปอื่น ๆ ฉันไม่รับประกัน” แม่ชีแบ่งรับแบ่งสู้

          “โยม อาตมาก็ไม่เคยทำเสียหายอะไรนะโยม” พระบัวเฮียวร้อนตัว

          “ก็ดีแล้วนี่คะ จะได้อยู่ไปนาน ๆ ขืนทำเสียหายมีหวังถูกสั่งย้ายวัด” แม่ชีพูดตรงไปตรงมา พระใหม่เลยนิ่ง

          ท่านพระครูลงมาเวลาสิบแปดนาฬิกาตรง ทุกคนที่นั่ง ณ ที่นั้นต่างพากันทำความเคารพ ยิงมิทันที่ท่านจะได้พูดจาทักทายผู้ใด อาคันตุกะสามคน เป็นสตรีสอง บุรุษหนึ่งก็พากันคลานเข้ามา ท่าคลานของคนอายุน้อยที่สุดนั้นดูตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยเนื่องจากเจ้าตัวน้ำหนักมาก หล่อนกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วบอกบุรุษกับสตรีสูงอายุที่มาด้วยว่า

          “เตี่ยจ๊ะ แม่จ๊ะ นี่ท่านพระครูไงกราบท่านเสียซิ” บิดามารดาทำตามคำสั่งของบุตรสาว แล้วสตรีผู้นั้นจึงกล่าวขึ้นว่า

          “หลวงพ่อจำหนูได้หรือเปล่าคะ” หล่อนแทนตัวเองว่า “หนู” ทั้งที่อายุอานามแก่กว่าท่านพระครูถึงสามปี

          “จำได้สิ คุณนายดวงสุด ท่านผู้ว่าไม่ได้มาด้วยหรอกหรือ” ท่านถามถึงสามีของคุณนายซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด

          “ไม่ได้มาค่ะ หนูมาจากท่าพระไปรับเตี่ยกับแม่มาเข้ากรรมฐาน เตี่ยชื่อเส็งค่ะ คนเขาเรียกกันว่า เถ้าแก่เส็ง ส่วนแม่ชื่อกิมง้อ” หล่อนแนะนำ

          “ดีจริง อุตส่าห์พาพ่อแม่มาสร้างกุศล ลูกดี ๆ อย่างนี้หายากนะเถ้าแก่นะ” ท่านพูดกับเถ้าแก่เส็ง ฝ่ายนั้นยิ้มพลางพยักหน้ารับ

          “แล้วคุณนายจะให้พ่อแม่อยู่กี่วันละ” ท่านถาม

          “เจ็ดวันค่ะ หรือเตี่ยกับแม่ว่าไง” หล่อนถามความเป็นจากบิดามารดา

          “ตามใจลื้อ ลื้อจาให้เตี่ยอยู่กี่วังก็แล้วแต่ลื้อ” ถ้าแก่เส็งตอบ เขาไม่เคยขัดใจบุตรสาว ไม่ว่าหล่อนจะให้ทำอะไร เขาทำได้ทั้งนั้น ก็มีลูกสาวอยู่คนเดียว อุตส่าห์ทะนุถนอมมาตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น แล้วหล่อนก็ไม่เคยทำให้พ่อแม่ต้องผิดหวัง ความรู้ก็จบถึงมหาวิทยาลัย ฐานะก็เป็นถึงคุณนายผู้ว่าราชการจังหวัด และที่สำคัญที่สุดก็คือ หล่อนมีหลานชายหัวแก้วหัวแหวนให้เขาถึงสี่คน คนโตเรียนหมอใกล้จบแล้ว

          “งั้นก็ลองดูสักเจ็ดวันก่อน ถ้าชอบค่อยอยู่ต่อ” ลูกสาวสรุป

          “เมื่อไหร่คุณนายจะมาเข้าบ้างล่ะ” ท่านพระครูถาม คุณนายดวงสุดามาที่วัดนี้บ่อย มาทำบุญบ้าง ฟังเทศน์บ้าง แต่ยังไม่เคยเข้ากรรมฐาน

          “หนูยังไม่ว่างเลยค่ะหลวงพ่อ เดี๋ยวก็ต้องเตรียมจัดงาน หาเงินช่วยกาชาด เอาไว้ให้คุณเอี่ยมปลดเกษียณแล้วค่อยพากันมาเข้า” หล่อนหมายถึงสามีซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด

          “อาตมาว่ามันจะไม่ยังงั้นน่ะซี พอถึงเวลานั้นเข้าจริง ๆ ก็จะมาบอกว่าต้องเลี้ยงหลาน มีหลายรายเชียวที่อาตมาชวนแล้วมาไม่ได้ เช่นอ้างว่าลูกยังไม่โต พอลูกโตก็มาไม่ได้ เพราะต้องเลี้ยงหลาน พอหลานโตยังไม่ทันได้เลี้ยงเหลน ก็กลับบ้านเก่าเสียแล้ว เลยไม่ได้บุญกุศลติดตัวไป อาตมากลัวว่าคุณนายจะเป็นเหมือนเขาน่ะสิ”

          “ไม่เหมือนค่ะ ไม่เหมือนแน่ ๆ หนูกับคุณเอี่ยมสัญญากันไว้แล้วค่ะ ว่าจะไม่ยอมเลี้ยงหลานเด็ดขาด ลูกใครใครก็เลี้ยงกันเอาเอง”

          “อ้อ คุณนายเลี้ยงลูกเองว่างั้นเถอะ” คราวนี้คุณนายยิ้มเขิน ๆ กล่าวแก้ว่า

          “ก็เตี่ยกับแม่เขาเห่อหลาน ไม่ยอมให้หนูเลี้ยงสักคน เขาคงสงสารหนู สงสารหลานที่ต้องระหกระเหินย้ายตามคุณเอี่ยมไปจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ ก็เลยเหมาไปเลี้ยงให้ทั้งหมด”

            “ฉันเลี้ยงลูกคนเดียวมันไม่ทันเบื่อ ก็เลยเลี้ยงหลานเสียเบื่อเลยค่ะ” คุณกิมง้อพูดบ้าง เธอพูดไทยชัดกว่าผู้เป็นสามี เพราะเพื่อนฝูงของเธอเป็นคนไทยเสียเป็นส่วนใหญ่

          “ประเดี๋ยวมีหลานของลูกมาให้เลี้ยง ก็หายเบื่อมั้ง” ท่านพระครูหมายจะลองใจ

          “ไม่หายค่ะหลวงพ่อ ฉันสัญญากับเตี่ยหนูดวงไว้แล้วว่า ออกจากวัดไป เราจะปฏิบัติกรรมฐานกันทุกวัน งานการก็เลิกทำ เราสบายแล้ว เก็บหอมรอมริบไว้มากพอสมควร ในชัยชราก็จะหาบุญหากุศลใส่ตัวไปเป็นเสบียงในชาติหน้า ที่ฉันได้ดิบได้ดีในชาตินี้ก็คงจะเพราะทำบุญมาดี ก็ต้องทำดีต่อ ๆ ไป อีกเป็นการเติมเสบียงเข้าไว้” คุณกิมง้อจาระไน

          “แหม แจ๋วจริง ๆ ความคิดของอาม้านี่แจ๋ว ๆ” ท่านพระครูชมเปาะ ท่านมักเรียกสตรีที่อายุแก่กว่าท่านว่า “อาม้า”

          “นาน ๆ อาตมาถึงจะเจอคนแบบนี้สักคน ที่เห็น ๆ น่ะ ประเภทไม่ยอมละไม่ยอมวางแทบทั้งนั้น เมื่อวานมาหาอาตมาคนนึง หน้าตาเศร้าหมองมาเชียว ถูกเมียยักยอกเครื่องเพชรหนีตามหนุ่มไป ก็จะไม่ให้หนียังไงเล้า ตัวเองอายุเจ็ดสิบ เมียเพิ่งจะยี่สิบแปด อาตมาเคยเตือนแล้วเขาไม่เชื่อ มันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม เอาละ ไหน ๆ ก็พูดมาแล้ว ก็จะเล่าให้ฟังเสียเลย ฟังไว้เป็นอุทาหรณ์นะ” แล้วท่านก็ออกตัวว่า “นี่อาตมาไม่ได้เอาเขามานินทานะ เพราะไม่ได้ออกชื่อออกเสียง ที่เล่าเพราะอยากให้เอาไปคิดเป็นการบ้านว่ากรรมดี กรรมชั่วมันมีจริง ๆ” ท่านหยุดทบทวนเรื่องราวประเดี๋ยวหนึ่งแล้วจึงเริ่มต้นเล่า

          “คนนี้เขาเป็นนายพล จะเป็นพลโทหรือพลเอก อาตมาก็จำไม่ได้เสียแล้ว เขาเคยมาหาอาตมาครั้งแรกเมื่ออายุ  ๕๘ ก็สิบสองปีมาแล้วมาถึงก็บอก “หลวงพ่อ ผมจะแต่งงานอีกได้ไหม” อาตมาก็ถามว่า “ตอนนี้ท่านอายุเท่าไรล่ะ”

          “ห้าสิบแปด”

          “แล้วเจ้าสาวล่ะ”

          “สิบหก เขาสวย เป็นลูกสาวจ่าลูกน้องผมเอง พ่อแม่เขาก็ยินดียกให้” นายพลเขาเล่าให้อาตมาฟังอย่างนี้ อาตมาก็ตั้งสติกำหนด “เห็นหนอ” ก็เห็นหมด เห็นอะไรรู้ไหม ท่านถามพระบัวเฮียว

          “เห็นกฎแห่งกรรมใช่ไหมครับ” พระบัวเฮียวตอบแบบย้อนถามอีกทีหนึ่ง

          “ถูกแล้ว อาตมาก็ได้ทราบว่า ท่านนายพลผู้นี้มีอกุศลกรรมติดมาแต่ชาติก่อน โดยเฉพาะเรื่องผิดศีลข้อกาเม จำไว้นะ คนที่ผิดศีลห้าน่ะ ต้องรับกรรมทุกคน คือถ้าผิดศีลมาจากชาติก่อน ชาตินี้ต้องมารับกรรม อาตมาวิจัยมาแล้ว ถูกต้องแน่นอนไม่มีผิดพลาดเลย เป็นต้นว่าคนที่มีปาณาติบาตติดมาหกสิบเปอร์เซ็นต์จากชาติก่อน มาชาตินี้ต้องอายุสั้น ถึงจะเกิดมาสวยมารวยยังไงก็จะอยู่ได้ไม่นาน จะต้องตายตั้งแต่อายุยังไม่ถึงครึ่งคน พวกที่อทินนาทานติดมาหกสิบเปอร์เซ็นต์ มีทรัพย์สินเงินทองจะต้องถูกเขาลักขโมย บางที่ก็ถูกปล้น เรียกว่าทรัพย์อยู่กับตัวไม่ได้ มันร้อน เพราะเคยไปลักขโมยของคนอื่นเขามา พวกที่กาเมสุมิจฉาจารติดมาหกสิบเปอร์เซ็นต์ จะมีเมีย มีผัว ต้องเป็นของคนอื่นเขาหมด คือมีเมีย เมียก็มีชู้ มีผัว ผัวก็มีเมียน้อย”

          “มีเมียน้อยก็ดีนี่ครับหลวงพ่อ ผมว่าดีกว่ามีเมียมาก” พระบัวเฮียวอดขัดคอไม่ได้ ท่านพระครูจึงแก้ว่า

          “มีเมียน้อยในที่นี้แปลว่ามีเมียมาก”

          “แล้วมีเมียมากในที่นี้จะแปลว่าอะไรล่ะครับ”

            “อ้าว ก็แปลว่ามีเมียน้อยน่ะซี ทำฉลาดน้อยไปได้” คราวนี้พระหนุ่มจึงสงบปากสงบคำลงได้ ท่านพระครูจึงเล่าต่อ

          “ส่วนคนที่มีมุสาวาทติดมาหกสิบเปอร์เซ็นต์ มักถูกเขาหลอก แล้วพูดจาอะไรก็มักไม่มีคนเชื่อถือถ้อยคำ สำหรับข้อสุดท้าย อันนี้สำคัญมาก เพราะกรรมมันตกทอดไปถึงลูก “คือคนที่ผิดศีลข้อห้า ถ้าติดมาหกสิบเปอร์เซ็นต์ รับรองได้ว่า มีลูกกี่คน ๆ ปัญญาอ่อนหมด ถ้าไม่ถึงกับปัญญาอ่อนก็ไม่ฉลาด เรียนไม่ถึงขั้นปริญญา นี่อาตมาวิจัยมาหมดแล้ว ทีนี้มาต่อเรื่องนายพล อาตมาก็เห็นว่า....”

          “ขอประทานโทษเถอะค่ะหลวงพ่อ หนูยังไม่เข้าใจเรื่องศีลข้อสุดท้าย ว่าทำไมกรรมจะต้องตกมาถึงลูก ก็แปลว่าทำกรรมแทนกันได้น่ะซีคะ” คุณนายดวงสุดาถามขึ้น

          “ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกคุณนาย เราทำกรรมแทนกันไม่ได้ แต่มันเป็นเรื่องของกรรมจัดสรร คือคนที่จะเกิดมาปัญญาอ่อนนั้น ก็เพราะตัวเขาทำกรรมมาเอง ไม่ใช่พ่อแม่ทำให้ แต่กรรมมันจัดสรรให้ไปเกิดกับคนที่ผิดศีลข้อห้า มันก็เลยดูเหมือนว่าทำกรรมแทนกัน แต่ที่จริงไม่ใช่ กรรมมันเพียงแต่ไปจัดสรรให้ไปประจวบกันเข้าเท่านั้น พูดอย่างนี้คุณนายพอจะเข้าใจหรือยัง”

          “พอจะเข้าใจค่ะ นิมนต์หลวงพ่อเล่าเรื่องนายพลต่อเถิดค่ะ” คุณนายพูดพร้อมกับประนมมือขึ้น “นิมนต์ท่านพระครูเล่าต่อ

          “อาตมาก็เห็นว่านายพลท่านผิดศีลข้อสามติดมาจากชาติก่อน มีเมียห้าคนก็หนีตามชู้หมด อาตมาก็แกล้งลองใจโดยถามว่า แล้วภรรยาท่านว่ายังไงล่ะ เขาจะยอมให้แต่งกับเด็กคราวลูกคราวหลานหรือไง” ท่านก็โกหกอาตมา บอกว่า ภรรยาหย่ากันแล้ว และก็บอกด้วยว่ามีภรรยาคนเดียว กำลังจะแต่งงานกับคนที่สองที่อายุสิบหกนี่ อาตมาเลยพูดตรง ๆ ว่าท่านมาโกหกเลย ภรรยาท่านหนีตามชู้ไปใช่ไหม ท่านมีภรรยามาแล้ว ๕ คน ล้วนแต่หนีตามชู้ไปหมด ต้องพูดความจริง อาตมาถึงจะคุยด้วย ถ้าโกหกก็เลิกพูดกัน

          ในที่สุด ท่านก็ยอมรับว่าใช่ แล้วก็ถามอาตมาว่ารู้เรื่องของท่านได้ยังไง ใครมาเล่าให้ฟัง อาตมาบอกไม่มีใครเล่าหรอก อาตมารู้เอง ท่านก็ศรัทธา ถามว่าอยากแต่งงานกับเด็กคนนี้ ขอให้อาตมาช่วยดูให้ด้วยว่าจะอยู่กันยืดไหม อาตมาก็บอกว่า อย่าแต่งเลย เพราะท่านมีกรรมข้อกาเมสุมิจฉาจาร ติดมา ถ้าแต่งก็ต้องเป็นเหมือนคนอื่น ๆ อีก ท่านก็บอกให้อาตมาช่วย อาตมาบอกไม่สามารถฝืนกฎแห่งกรรมได้ ก็ขอร้องให้ท่านเลิกล้มความตั้งใจ ท่านก็ไม่เชื่อ ก็กลับไปแต่งงานจนได้

          แต่งงานได้สองปีก็เกษียณ ผู้หญิงก็มีชู้ ท่านก็ไม่โกรธ เพราะรู้ว่ามันเป็นกฎแห่งกรรม ผู้หญิงเขาก็ทนอยู่ด้วยเพราะอยากได้สมบัติ จะรอให้ผัวตายว่างั้นเถอะ อยู่มาสิบสองปีนายพลก็ยังไม่ตาย เขาก็เลยขนเครื่องเพชรและขอมีค่าอื่น ๆ หนีไปอยู่กับชู้เสียเลย นายพลก็เสียใจ นึกถึงอาตมาขึ้นมาได้ก็อุตส่าห์มาหา มาปรับทุกข์ แต่อาตมาก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก ชวนให้มาเข้ากรรมฐานก็ไม่ยอม นี่แหละฟังเอาไว้แล้วเก็บไปคิดเป็นการบ้าน” ฟังเรื่องของนายพลแล้ว ผู้ที่นั่ง ณ ที่นั้น ต่างพากันสลดใจ ขณะเดียวกันก็คิดว่าพวกตนโชคดีที่มีโอกาสมาเข้ากรรมฐาน

          “แล้วนี่คุณนายจะกลับหรือว่าจะค้างวัดซักคืนสองคืน” ท่านพระครูถามคุณนายดวงสุดา

          “กลับเลยค่ะ คนขับรถเขารออยู่ เดี๋ยวจะให้เขาขนเสื้อผ้าของเตี่ยกับแม่มาให้ หลวงพ่อจะให้พักที่ไหนคะ”

          “โยมผู้หญิงให้พักกับแม่ชี ส่วนโยมผู้ชายให้พักกุฏิพระบัวเฮียว คุณนายไม่ต้องห่วง อาตมาจะจัดการให้เรียบร้อย”

          เมื่อกี้หลวงพ่อเรียกพ่อแม่ของคุณนายว่า เถ้าแก่ กับอาม้า ไหงมาเปลี่ยนเป็นโยมผู้หญิงโยมผู้ชายเสียล่ะครับ” พระบัวเฮียวคิดจะถามท่านพระครูอย่างนี้ หากก็เกรงว่าจะถูกท่านย้อนให้ต้องอับอายขายหน้า จึงเพียงแค่คิดเท่านั้น

          คุณนายดวงสุดา หยิบซองสีขาวออกมาจากกระเป๋าเสื้อเพื่อถวายแด่ท่านพระครู

          “หนูขอถวายปัจจัยเป็นค่าอาหารเลี้ยงพระเณรและผู้มาเข้ากรรมฐานค่ะ” ท่านพระครูยื่นผ้ากราบออกไปรับประเคน คุณนายประเคนเสร็จจึงกราบสามครั้งพร้อมกล่าวลา

          ก่อนลุกออกไป ได้หันไปพูดกับบิดามารดาว่า “หนูไปละนะ ขอให้เตี่ยกับแม่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ อย่าเกเรล่ะ แล้วก็อย่าลืมแผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญไปให้หนูด้วย” พระบัวเฮียวรู้สึกว่าคุณนายสอนพ่อแม่ราวกับสอนลูก เลยชักสงสัยว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่ ใครเป็นลูกกันแน่ คุณนายลุกออกไปสักประเดี๋ยว คนขับรถก็นำกระเป๋าเสื้อผ้าสองใบมาส่งให้เถ้าแก่เส็งกับภรรยา แล้วจึงกลับออกไป

          ท่านพระครูให้สองสามีภรรยาขึ้นกรรมฐานพร้อมกับนายจ่อยและคู่หมั้น โดยีแม่ชีเจียนเป็นผู้กล่าวนำ ให้คนทั้งสี่กล่าวตาม ขึ้นกรรมฐานแล้ว ท่านพระครูจึงแนะแนวทางแก่คนทั้งสี่ว่า “ก่อนที่จะเริ่มต้นปฏิบัติ จำเป็นต้องรู้ปริยัติสักเล็กน้อยพอเป็นเค้า นั่นก็คือ ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า จิต อารมณ์ และสติ เสียก่อน เพราะสามคำนี้มีความสำคัญมาก ไหนพระบัวเฮียวช่วยอธิบายหน่อยซิว่า จิตคืออะไร”

          “จิต คือ ธรรมชาติรับรู้อารมณ์ ครับ” พระบวชใหม่ตอบ

          “แล้วอารมณ์คืออะไร แม่ชีเจียนช่วยอธิบายสู่กันฟังหน่อยเป็นไร” ท่านถามแม่ชีเป็นการทดสอบไปในตัว

          “อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตไปยึดเหนี่ยวค่ะ” แม่ชีตอบ

          “ถูกแล้ว อารมณ์ในที่นี้จึงแตกต่างจากความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไป เพราะหมายถึงอารมณ์ ๖ ซึ่งได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์ โยมสองคนพอจะเข้าใจที่อาตมาพูดไหม”

          “ม่ายเข้าจาย” เถ้าแก่เส็งตอลพร้อมกับส่ายหน้า ส่วนคุณกิมง้อเพียงแต่ยิ้ม

          “ไม่เป็นไร ตอนนี้ยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ปฏิบัติมาก ๆ แล้วจะรู้ได้เอง” ท่านให้กำลังใจ รู้ว่าผู้มีอายุสองคนนี้ต้องทำได้ และจะก้าวหน้ากว่าคนหนุ่มสาวที่นั่งทำตาปริบ ๆ อยู่ต่อหน้าท่านเสียอีก

          “เอาละ เมื่อเข้าใจความหมายของจิตและอารมณ์แล้ว ทีนี้ก็มาทำความเข้าใจกับคำว่า สติ สติ แปลว่า ความระลึกรู้ สติทำหน้าที่ผู้จิตไว้กับอารมณ์ ในพระสูตรให้ความหมายของสติว่า เป็นเครื่องผูกจิต”

          “ทำไมถึงต้องผูกจิตไว้ล่ะจ๊ะหลวงน้า” นางสาวจุกถาม นายจ่อก็คิดจะถามแบบเดียวกันนี้ พอดีคู่หมั้นถามขึ้นก่อน

          “การที่ต้องผูกจิตก็เพราะจิตมันไม่อยู่นิ่ง มันซัดส่ายไปหาอารมณ์โน้นอารมณ์นี้อยู่ตลอดเวลา การจะฝึกจิตให้ตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์เดียวจึงต้องเอาสติมาผูกมันไว้ เหมือนเวลาเราจะฝึกวัว เราก็ต้องใช้เชือกผูกวัวไว้กับหลักให้มั่นเสียก่อนจึงจะฝึกได้ สติจึงเปรียบเหมือนเชือก จิตก็คือวัว ส่วนอารมณ์ก็คือหลัก สติทำหน้าที่ผูกจิตไว้กับอารมณ์ ก็เหมือนเชือกทำหน้าที่ผูกวัวไว้กับหลัก ทีนี้พอจะเข้าใจหรือยัง”

          “เข้าใจครับหลวงน้า เข้าใจแจ่มแจ๋วเลย” คราวนี้คนเลี้ยงวัวรีบตอบ

          “โยมสองคนล่ะ พอจะเข้าใจที่อาตมาพูดบ้างไหม” ท่านถามบิดามารดาของคุณดวงสุดา

          “พอจะเข้าใจค่ะ” คุณกิมง้อตอบขณะที่เถ้าแก่เส็งพยักหน้า

          จากนั้นท่านเจ้าของกุฏิจึงขึ้นไปเขียนหนังสือต่อยังขั้นบนของกุฏิ แม่ชีเจียนพานางสาวจุกและคุณกิมง้อกลับไปฝึกเดินจงกรมที่สำนักชีซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านหลังวัด

          ท่านพระครูเคยเล่าให้แม่ชีฟังว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อนนี้ ส่วนที่เรียกว่าหลังวัดเคยเป็นหน้าวัดมาก่อน เพราะการไปมาต้องอาศัยเรือมาขึ้นฝั่งที่หน้าวัด ต่อเมื่อมีการตัดถนนสายเอเชียผ่านด้านหลังวัด ผู้คนก็หันมาใช้ถนนแทนเรือ หลังวัดจึงกลายเป็นหน้าวัดไปโดยปริยาย

          พระบัวเฮียวสอนเดินจงกรมให้นายจ่อยและเถ้าแก่เส็งที่กุฏิท่านพระครูนั่นเอง เพราะกว้างขวางพอที่จะเดินได้ครั้งละหลาย ๆ คน ส่วนกุฏิที่ท่านอยู่นั้นมีเนื้อที่พอเดินได้เพียงคนเดียว คืนนี้ก็ต้องนอนกันถึงสามคน ก็คงจะอึดอัดอยู่สักหน่อย โชคยังดีที่เป็นหน้าหนาว ท่านพระครูท่านสั่งให้สมชายนำหมอนและผ้าห่มไปเพิ่มแล้ว

          สาธิตวิธีเดินจงกรมให้เป็นตัวอย่างแล้ว พระบัวเฮียวจึงให้คนทั้งสองลองเดิน เถ้าแก่เส็งตั้งอกตั้งใจเต็มที่และเดินได้ถูกต้องตามที่ครูสอน ส่วนนายจ่อยจับ ๆ จด ๆ สอนก็ยากจนครูออกจะหนักใจ ก็พอจะมองออกว่าอุปนิสัยไม่มาทางนี้

          “หลวงพ่อท่านสอนไว้ว่า การทำความดีต้องฝืนใจ อาตมารู้ว่าคุณไม่ชอบ แต่ในเมื่อคุณตั้งใจที่จะทำความดีแล้ว คุณก็ต้องฝืนความรู้สึกให้ได้” ท่านพูดเป็นงานเป็นการ เห็นท่านเอาจริง นายจ่อยชักกลัว อีกอย่างก็ชักจะรู้สึกอายคนแก่ที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาเดินอย่างขะมักเขม้น “เอาละวะไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ลองตั้งใจทำดูหน่อยเป็นไร คงไม่ถึงตายหรอกน่า” นายจ่อยให้กำลังใจตัวเอง แล้วก็เลยตั้งอกตั้งใจเดินเป็นอย่างดียิ่ง

 

มีต่อ........๑๕
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #14 เมื่อ: เมษายน 10, 2007, 08:31:34 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00015

 

๑๕...

          “หลวงพ่อครับ ผมมีข้อข้องใจสงสัยหลายอย่าง อยากจะเรียนถามแต่ก็เกรงว่าหลวงพ่อจะไม่ตอบ เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ ครั้นจะเก็บเอามาไว้มันก็ข้องใจอยู่นั่นแล้ว หลวงพ่อว่าผมควรจะทำอย่างไรดีครับ” เป็นคำถามค่อนข้างยาว ที่ท่านพระครูได้รับจากพระบัวเฮียวในเช้าวันนี้

          “เอาอย่างนี้ ไหนเธอตอบฉันมาก่อนซิว่า เธอจะถึงกับท้องแตกตายหรือเปล่า ถ้าหากว่าฉันไม่ตอบน่ะ” ท่านพระครูเปิดฉากกระแนะกระแหน พระบัวเฮียวใจชื้นขึ้นมานิดหนึ่ง ลองท่านตอบอย่างนี้ แสดงว่ากำลังอารมณ์ดี พระหนุ่มจึงตอบไปว่า

          “ก็ไม่แน่นะครับหลวงพ่อ ถ้าขืนเก็บไว้นาน ๆ ก็อาจจะต้องตายในลักษณะนั้น หลวงพ่อคงไม่อยากเห็นใช่ไหมครับ มันคงอุจาดตานาดูเชียวละ ผมเองก็ไม่อยากตายตั้งแต่อายุยังน้อย อีกอย่างนึงหลวงพ่อก็เป็นคนมีเมตตากรุณา ใคร ๆ ก็รู้ นึกว่าสงสารลูกนกลูกกา ช่วยตอบให้หายสงสัยหน่อยเถอะครับ แล้วผมจะไม่ลืมพระคุณหลวงพ่อเลย” พระบัวเฮียย “ร่ายยาว” จนท่านพระครูคร้านที่จะฟัง จึงออกปากอนุญาตว่า

          “เอาเถอะ ๆ ไม่ต้องยกแม่น้ำทั้งห้า เธออยากจะให้ฉันตอบเรื่องอะไรก็ถามมา ถ้าตอบได้ก็จะตอบ ตอบไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ว่าไง จะถามอะไรก็ถาม”

          “แหม! หลวงพ่อน่าจะรู้ว่าผมจะถามอะไร ทุกทีก็เห็นหลวงพ่อรู้ทำไมวันนี้เกิดไม่รู้เสียล่ะครับ” พระบัวเฮียวไม่วายกระเซ้า

          “ฉันจะรู้ก็ต่อเมื่ออยากจะรู้ แต่นี่ไม่อยากรู้ ก็เลยไม่รู้ อย่ามัวพูดมากประเดี๋ยวฉันก็ไม่เปิดโอกาสให้ถามเสียหรอก” ท่านสมภารวัดป่ามะม่วงถือโอกาสเล่นตัว

          “ครับ ครับ ถาม ถาม” คนถามละล่ำละลัก ถ้วยเกรงว่าท่านจะเปลี่ยนใจไม่อนุญาต

          “คือว่า นายจ่อยเขามาเล่าให้ผมฟังเรื่องความประพฤติของพระ เขาว่าพระที่วัดแถวบ้านเขาทำตัวไม่เหมาะสม เป็นต้นว่า เสพสุรายาเมาบ้าง เสพเมถุนบ้าง บงการฆ่าคนบ้าง อย่างนี้มันก็ต้องอาบัติปาราชิกน่ะซีครับ พระแบบนี้มีอยู่จริงหรือครับหลวงพ่อ ผมว่านายจ่อยคงไม่พูดปดนะครับ”

          “ยิ่งกว่าที่เธอพูดมายังมีเลย บัวเฮียวเอ๋ย”

          “แล้วไม่ต้องอาบัติปาราชิกหรือครับ” ถามซ้ำ

          “มันจะไปอาบ่งอาบัติอะไร ในเมื่อคนพวกนี้ไม่ใช่พระ แต่เป็นพวก มารศาสนา”

            “ศาสนาน่ะไม่เสื่อมหรอก แต่คนเสื่อมจากศาสนา คือคนบางกลุ่มบางพวก เมื่อเห็นพระทำตัวไม่ดี ก็เลยไปโทษว่าศาสนาเสื่อม นี่คนด้อยปัญญาจะคิดอย่างนี้ เพราะขาดโยนิโสมนสิการ”

          “ขาดอะไรนะครับ” พระบัวเฮียวรู้สึกไม่คุ้นหูกับ “ศัพท์ใหม่” ที่ท่านพระครูใช้

          “ขาดโยนิโสมนสิการ คือไม่รู้จักคิด ไม่มองสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา เลยทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ โยนิโสมนสิการมีความสำคัญมาก เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ และเป็นต้นทางของความดีทั้งปวง คนที่มีโยนิโสมนสิการเขาจะแยกแยะได้ว่า ใครเป็นพระ ใครเป็นมารศาสนา เพราะฉะนั้นถึงเขาจะเห็นพระทำตัวไม่ดี เขาก็จะไม่เสื่อมจากศาสนา เพราะเขารู้ว่านั้นคือมาร ไม่ใช่พระ”

          “หมายความว่าคนที่ขาดโยนิโสมนสิการ เป็นคนโง่ใช่ไหมครับ”

          จะว่าโง่ก็ไม่เชิงหรอกนะ เพราะคนพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีการศึกษาสูง เป็นครูบาอาจารย์ เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร เรียกว่าเป็นคนมีปัญญา แต่เป็นปัญญาทางโลก เธอคอยดูไปก็แล้วกัน อีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้า พวกมารศาสนาจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ แล้วคนฉลาดบางพวกก็จะไปฝักใฝ่กับพวกนี้ ประชาชนทั้งหลาย ก็จะเกิดความสับสนทางความคิด ไม่รู้แน่ว่า อันไหนผิดอันไหนถูก เพราะนอกจากจะประพฤติวิปริตผิดวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว พวกมารศาสนาเหล่านี้ยังพยายามจ้วงจาบบิดเบือนพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย คนก็จะพากันเสื่อมจากศาสนา นับว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก”

            “แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรครับ”

          “อะไรนะ เธอพูดว่า “เรา” งั้นหรือ เราแก้ไขไม่ได้หรอกบัวเฮียวเอ๋ย อย่าว่าแต่เราซึ่งเป็นเพียงหยดน้ำหนึ่งในมหาสมุทรเลย คนที่เขามีอำนาจวาสนา มีบารมีมากกว่าเราหลายร้อยหลายพันเท่า ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ มันต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรม” ท่านพระครูพูดปลง ๆ

          “หลวงพ่อครับ ผมชักงง ๆ แล้วนะครับ”

          “งงเรื่องอะไรอีกละ รู้สึกจะงงบ่อยเหลือเกินนะ”

            “ก็เรื่องกรรมน่ะครับ ประเดี๋ยวหลวงพ่อก็สอนว่า ไม่ควรปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามกรรม ประเดี๋ยวก็บอกว่าปล่อยให้เป็นไปตามกรรม จะไม่ให้ผมงงยังไงไหว” พระหนุ่มชี้แจง

          “ก็ไม่เห็นจะต้องงงเลย ฉันเคยบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือว่า เรื่องของกรรมมันสลับซับซ้อน ยากที่คนธรรมดาจะรู้จะเข้าใจได้ มันเป็นอจินไตย”

          “อะไรไตนะครับ” พระบัวเฮียวมีอันต้องงงหนักขึ้น

          “อจินไตย เธอไม่เคยได้ยินหรอกหรือ ฉันจำได้ว่าเคยอธิบายให้เธอฟังมาครั้งหนึ่งแล้ว เอ! ก็เป็นคนช่างจำไหงลืมเสียได้ล่ะ” ท่านตำหนิกราย ๆ

          “ครับ แต่ก่อนผมช่างจำ แต่เมื่อมาเจออะไร ๆ ที่ทำให้งงอยู่เรื่อย ความจำมันก็เลยเสื่อม หลวงพ่อกรุณาขยายความอีกสักครั้งเถิดครับ” ท่านพระครูนิ่ง ตามองไปที่ตู้พระคัมภีร์ พูดว่า

          “ฟังอย่างเดียวมันจำยาก ต้องให้เห็นด้วย นั่นไงอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ นั่น ไปเปิดดูเสีย” พระใหม่จึงต้องลุกขึ้นเดินไปที่ตู้พระคัมภีร์หาอยู่นานกว่าจะได้เล่มที่ต้องการ ได้คัมภีร์แล้วจึงกลับมานั่งที่เดิม

          “อยู่หน้าอะไรครับหลวงพ่อ” ถามเพราะใช้ไม่เป็น

          “หน้าโง่มั้ง” ท่านพระครูตอบหน้าตาเฉย

          “โธ่หลวงพ่อก็ ถามดี ๆ ต้องด่ากันด้วย”

          “ใครว่าด่า คนดี ๆ อย่างเธอใครเขาจะด่า”

          “แหม! หลวงพ่อนี่เข้าใจ ใช้ได้ ใช้ได้” พูดพลางพยักหน้าหงึก ๆ

          “เข้าใจอะไร” คราวนี้ท่านพระครูเป็นฝ่ายงงบ้าง

          “ก็เข้าใจตบหัวแล้วลูบหลังน่ะซีครับ มีอย่างที่ไหน ด่าว่าผมโง่อยู่หยก ๆ ก็มาชมว่าผมดีอีกแล้ว อย่างนี้ไม่เรียกว่าตบหัวแล้วลูกหลัง จะให้เรียกว่าอะไร”

          “โง่แต่ดี กับฉลาดแต่เลว เธอจะเลือกอย่างไหนล่ะ”

          “เอาดีด้วยฉลาดด้วยครับ” ตอบเสียงหนักแน่น

          “อันนั้นมันไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข ฉันให้เธอเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง ว่าไงจะเอาอย่างไหน”

          “งั้นก็เอาโง่แต่ดีแล้วกันครับ ผมไม่อยากฉลาดแล้วตกนรก แล้วหลวงพ่อล่ะครับจะเลือกอย่างไหน” พระหนุ่มเป็นฝ่ายถามบ้าง

          “สำหรับฉันไม่ว่าจะเลือกอย่างไหน มันก็เป็นไปไม่ได้ทั้งสองอย่าง เพราะฉันอยู่นอกเงื่อนไขที่ว่านี้”

          “แปลว่า หลวงพ่อหลุดพ้นแล้วใช่ไหมครับ พ้นจากนรกสวรรค์ พ้นจากความดีความชั่ว” พระบัวเฮียวถือโอกาสสรุป

          “ไหนเธอจะดูเรื่องอจินไตยไม่ใช่หรือ ดูที่สารบัญเรื่องอจินติสูตรก่อนว่าอยู่หน้าที่เท่าไร แล้วช่วยอ่านให้ฉันฟังด้วย” ท่านพระครูพูดตัดบทด้วยไม่ต้องการ “อวดอุตริมนุสสธรรม” เพราะการกระทำเช่นนั้น จะต้องอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือถ้าอวดอุตริมนุสสธรรมที่มีในตน ก็จะต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ก็จะต้องอาบัติปาราชิก ท่านจึงหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องเช่นนี้ ด้วยมันเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง พระบัวเฮียวไม่ต่อล้อต่อเถียง ตั้งหน้าตั้งตาหา “อจินติสูตร” จากสารบัญ พบแล้วจึงเปิดไปหน้านั้น อ่านให้ท่านพระครูฟังว่า

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า เดือดร้อน อจิตไตย ๔ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า เดือดร้อน....

          “ไง ยังสงสัยเรื่องกรรมอยู่อีกหรือเปล่า” ท่านพระครูถาม เมื่อพระบัวเฮียวอ่านจบ

          “ไม่สงสัยแล้วครับ ไม่อยากคิดด้วย ผมกลัวเป็นบ้า กลัวเดือดร้อนครับ” พระบัวเฮียวตอบจริงจัง

          “ดีแล้ว คิดอย่างนั้นได้ก็ดีจะได้สบายใจ แต่เธอเชื่อเถอะ ใครทำกรรมไว้อย่างไร ก็ต้องได้รับผลอย่างนั้น เราไม่ต้องไปวิเคราะห์วิจัยแต่ประการใด พวกมารศาสนาเหล่านี้ในที่สุดก็ต้องรับกรรมที่ตนกระทำ กรรมมันมีผล มีวิบาก ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม”

          “หลวงพ่อครับ ผมสังสัยอีกนิดหนึ่ง ทำไมในคัมภีร์เขาถึงกล่าวว่า “พระพุทธเจ้าทั้งหลาย” พระพุทธเจ้าไม่ได้มีพระองค์เดียวหรือครับ” คนช่างสงสัยถามอีก

          “มีหลายพระองค์ ในกัปป์หนึ่ง ๆ ก็จะมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ อย่างกัปป์ที่เราอยู่นี้เรียกว่า ภัทรกัปป์ มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๕ พระองค์ พระพุทธเจ้าของเราเป็นพระองค์ที่ ๔ ท่านพระครูอธิบาย

          “แล้วอีก ๔ พระองค์มีพระนามว่าอะไรบ้างครับ”

          “อันนี้ฉันก็ไม่ค่อยแน่ใจ คือมันเป็นเรื่องเหลือวิสัยที่ฉันจะรู้ได้ แต่เท่าที่ฉันรู้ พระนามของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ในภัทรกัปป์มี พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ พระสมณโคดม ส่วนองค์สุดท้ายคือ พระศรีอาริยเมตตไตรย”

          “ที่เรียกว่าพระศรีอาริย์ใช่ไหมครับ”

          “นั่นแหละ ในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เขาเชื่อว่าพระพุทธศาสนาคือ ศาสนาของพระสมณโคดมนั้นจะมีอายุห้าพันปี ต่อจากนั้นก็จะเป็นศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย นี่เราก็ผ่านมาถึง ๒๕๑๖ ปีแล้ว ก็เหลืออีกสองพันสี่ร้อยกว่าปีก็สิ้นอายุ กล่าวกันว่า ยิ่งใกล้จะถึงห้าพันปี คนก็ยิ่งเสื่อมจากศาสนาลงไปเรื่อย ๆ และพวกมารศาสนาก็จะทวีจำนวนมากขึ้น”

          “หลวงพ่อครับ แล้วระยะเวลา ๑ กัปป์ นานแค่ไหนครับ”

            “เขาว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก ท่านอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาหินล้วน กว้างยาวสูงด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๆ ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป แต่กัปป์หนึ่งก็ยังยาวนานกว่านั้นอีก”

          “ช่างยาวนานจนดูเหมือนว่าไม่มีวันสิ้นสุดเลยนะครับ ถ้าอย่างนั้นการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ก็เบื่อกันแย่ซีครับ”

          “นั้นซี ฉันถึงได้พยายามที่จะตัดออกจากวัฏสงสารให้ได้ ถึงเธอเองก็เหมือนกัน”

          “วัฏสงสารนี่มันเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะไปสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ครับ”

          “ไม่มีใครรู้ว่ามันเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ และมันก็ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดลงได้ ตราบใดที่สัตว์โลกยังทำกรรมกันอยู่”

          “แต่ถ้าสัตว์โลกหยุดทำกรรมเมื่อนั้นมันก็จะสิ้นสุดลง เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ”

          “มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ในทางปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ที่สัตว์โลกจะหยุดทำกรรม อิมพอสซิเบิ้ล” คราวนี้ท่านพระครูใช้ภาษาอังกฤษ

          “ฮั่นแน่ หลวงพ่อพูดภาษาปะกิดก็เป็นด้วย” พระลูกวัดล้อเลียน แล้วจึงถามต่อไปว่า

          “พระจ้างฆ่าคนนี่ตกนรกไหมครับ แล้วทำไมท่านถึงต้องทำอย่างนั้น”

          “เธอว่าตกหรือเปล่าเล่า อย่าลืม พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะต้องรับผลของกรรมนั้น”

          “ก็ท่านไม่ได้ลงมือฆ่าเอง ก็ไม่น่าจะบาปนี่ครับ”

          “ทำไม่จะไม่บาป ถึงจะไม่ได้ลงมือเอง แต่วจีกรรม และมโนกรรมก็เป็นของท่าน แม้กายกรรมจะเป็นของคนอื่นก็ตาม กรณีที่ว่านี้ ถ้าเขาสอบสวนได้ความว่าทำผิดจริง ก็ต้องถูกให้สึก เพราะเป็นอาบัติปาราชิก มันก็น่าสลดใจนะ อุตส่าห์เข้ามาสู่ร่มกาสาวพัสตร์ แต่ก็เอาตัวไปลงนรกจนได้ กรณีรองเจ้าคณะจังหวัดจ้างฆ่าเจ้าคณะจังหวัดก็เหมือนกัน ขนาดเป็นครูบาอาจารย์ของตัวก็ยังทำได้ลงคอ”

          “ทำไมถึงต้องฆ่าเล่าครับ”

          “ก็หวังตำแหน่งน่ะซี อาจารย์ไม่ตายสักที ลูกศิษย์อยากจะเป็นเจ้าคณะจังหวัด ก็เลยจ้างฆ่าเสียเลย ฉันยังไปงานเผาศพท่าน เพราะคุ้นเคยกันมาก่อน เธอไม่เคยได้ยินเรื่องนี้หรอกหรือ ดังทั่วประเทศเชียวละ น่าสลดใจเหลือเกิน”

          “แล้วรองเจ้าคณะจังหวัดถูกจับหรือเปล่าครับ”

          “ก็เพราะถูกจับน่ะซี เรื่องถึงแดงขึ้นมา ไม่น่าทำเย เพราะลาภสักการะเป็นเหตุแท้ ๆ เป็นพระเป็นเจ้ามาหลงติดอยู่กับลาภสักการะก็เจ๊งทุกราย คราวนี้ท่านใช้ภาษาจีน

          “แหมหลวงพ่อเก่งจังนะครับ พูดได้ตั้งหลายภาษา จีนก็ได้ ปะกิดก็ได้” พระบัวเฮียวออกปากชม

          “ก็ฉันทำกรรมมาดี” ท่านพระครูถือโอกาสคุยทับ

          “กรรมที่ทำให้เก่งเป็นอย่างไรครับ ผมอยากเก่งบ้าง”

          “อยากรู้ก็ไปอ่าน จูฬกัมมวิภังคสูตร เอาเอง ที่ สุภมาณเพโตเทยยบุตร ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมคนเราถึงเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนโง่ บางคนฉลาด บางคนรวย บางคนจน พระพุทธเจ้าท่านอธิบายไว้ละเอียดมาก มีโอกาสก็ไปอ่านเสีย อยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ นั่น อ่านแล้วจะได้เลือกทำแต่กรรมดี ฉันเองยังเสียดาย ตอนเด็ก ๆ เกเรชะมัด สร้างเวรสร้างกรรมเอาไว้มาก นี่ก็ทยอยใช้ไปเรื่อย ๆ จะพยายามชดใช้เสียให้หมด ๆ ไปในชาตินี้

          “แปลว่าหลวงพ่อจะไม่เกิดอีกแล้วใช่ไหมครับ”

          “ด้วยใจจริงแล้ว ฉันไม่ปรารถนาจะเกิดอีกเลยแม้แต่ชาติเดียว แต่มันก็ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้ายังใช้กรรมไม่หมด ก็ต้องเกิดอีก ไม่ว่าจะปรารถนาหรือไม่ปรารถนาก็ตาม”

          “แล้วตอนนี้หลวงพ่อใช้จวนหมดหรือยังครับ” พระบัวเฮียวพยายาม “ตะล่อม”

          “หมดหรือไม่หมด มันก็ไม่ใช่เรื่องของเธอ อย่ามาถามเซ้าซี้อยู่เลย ฉันไม่หลงกลเธอง่าย ๆ หรอก” คนเป็นศิษย์ทำหน้าปั้นยาก เมื่อคนเป็นอาจารย์รู้เท่าทัน แต่แล้วก็ถามขึ้นอีกว่า

          “หลวงพ่อครับ ผมยังสงสัยเรื่องที่หลวงพ่อเล่ามา”

          “เรื่องอะไรอีกล่ะ” คนถูกถามชักจะรำคาญ

          “ก็เรื่องที่รองเจ้าคณะจังหวัดจ้างฆ่าเจ้าคณะจังหวัด เพราะหวังครองตำแหน่งแทนน่ะครับ ผมว่าไม่น่าจะบาปมากมายอะไร เพราะท่านไม่ได้ลงมือฆ่าเอง” พระใหม่ไม่วายสงกา

          “ช่างสงสัยจริงนะ เอาละฉันจะอธิบายให้ฟัง การฆ่านั้นจะบาปมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องดูว่ามันครบองค์ ๕ หรือเปล่า ถ้าครบก็บาปมาก ถ้าไม่ครบก็บาปน้อยลดหลั่นกันลงไป องค์ ๕ นั้นได้แก่ สัตว์มีชีวิต ๑ รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ๑ มีจิตคิดจะฆ่า ๑ ใช้ความพยายามในการฆ่า ๑ สัตว์ตายเพราะความพยายามนั้น ๑ ฉันจะเล่าเป็นตัวอย่างให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง แล้วเธอวิเคราะห์เอาเองก็แล้วกัน ว่าครบองค์ ๕ หรือเปล่า เรื่องนี้เขาเล่าสืบกันมา เขาว่าเป็นเรื่องจริงด้วย”

          “แล้วหลวงพ่อว่าหรือเปล่าครับ”

          “ว่าอะไร”

          “ก็ว่าเป็นเรื่องจริงน่ะซีครับ ผมไม่เคยได้ยินว่า “หลวงพ่อว่า” สักครั้งมีแต่ “เขาว่า เขาว่า” อยากให้หลวงพ่อว่าบ้าง” พระญวน “ยวน”

          “พูดอย่างนี้แปลว่าไม่ฟังใช่ไหม ก็ดี ฉันจะได้ไม่เล่า” คนเป็นอาจารย์ถือโอกาสเล่นตัว

          “ฟังครับฟัง นิมนต์เล่าเถอะครับ” พูดพร้อมกับประนมมือขึ้น “นิมนต์” ท่านพระครูจึงเริ่มเล่า

          “กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว...”

          “นานแค่ไหนครับ” ผู้ฟังไม่วายล้อเลียน

          “จะนานแค่ไหนมันก็นานแล้วกัน”

          “หลวงพ่อนี่ความจำดีจังนะครับ เรื่องนานมาแล้วยังอุตส่าห์จำได้” คราวนี้ท่านพระครูหมดความอดทนอย่างแท้จริง จึงยื่นคำขาดว่า “นี่บัวเฮี้ยว ถ้าเธอเฮี้ยวอีก รับรองว่าฉันไม่เล่าแน่”

          “ครับ ๆ ผมไม่ขัดคอแล้ว ผมบัวเฮียวครับ ไม่ใช่บัวเฮี้ยว นิมนต์เล่าเถิดครับ” ท่านพระครูจึงเริ่มต้นใหม่ว่า

          “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหลวงตาองค์หนึ่ง อาศัยอยู่ในวัดวัดหนึ่ง เช้าตรู่วันหนึ่ง ท่านก็เห็นเต่าใหญ่ตัวหนึ่ง กำลังเดินต้วมเตี้ยมอยู่บนทางที่จะไปถาน หลวงตากำลังจะไปถานเพื่อปลดทุกข์ ครั้นเห็นเต่าทุกข์นั้นก็พลันหาย เพราะความอยากฉันแกงเต่า ก็เลยหันหลังเดินกลับไปที่กุฏิ คว้าคัมภีร์ใบลานมานั่งเทศน์ ทำเสียงอ่อนหวานว่า “เมื่อกี้ข้าไปถานเห็นเต่าคลาน ตัวมันออกใหญ่ ๆ เมื่อกี้ข้าไปถานเห็นเต่าคลาน ตัวมันออกใหญ่ ๆ เทศน์ซ้ำ ๆ อยู่อย่างนี้ เพราะต้องการจะให้ลูกศิษย์ได้ยิน ข้างฝ่ายลูกศิษย์ก็นึกว่าหลวงตาเทศน์ ก็ไม่ได้ใส่ใจ หลวงตาโมโห เลยตะโกนดัง ๆ ว่า ”เมื่อกี้ข้าไปถาน เห็นเต่าคลานตัวมันออกใหญ่ ๆ โว๊ย” คราวนี้มีโว๊ยติดมาด้วย หลวงตาท่านโว๊ยนะ ไม่ใช่พระครูเจริญโว๊ย เดี๋ยวจะมาหาว่าฉันพูดไม่สุภาพ” ท่านพระครูออกตัวไว้ก่อน พระบัวเฮียวเลยถือโอกาสสนองว่า

          “ผมยังไม่ได้ว่าหลวงพ่อสักหน่อย ไม่เห็นจะต้องร้อนตัวไปเลย นิมนต์เล่าต่อเถิดครับ กำลังสนุก”

          “พอหลวงตาโว๊ย ลูกศิษย์ก็เลยเข้าใจ รู้ว่า อ้อนี่หลวงตาคงอยากจะฉันแกงเต่า จึงเดินไปทางที่จะไปยังส้วมพระ ก็เห็นเต่าตัวหนึ่งคลานต้วมเตี้ยมอยู่ เลยจับเอามา วิธีแกงเต่าสมัยนั้นจะต้องต้มให้มันตายเสียก่อน ลูกศิษย์จึงจัดแจงก่อไฟ เอาหม้อข้าวใส่น้ำยกขึ้นตั้งไฟ พอน้ำเดือดก็จับเต่าใส่ลงไป บังเอิญเต่าตัวมันใหญ่กว่าหม้อข้าว มันก็เลยร่วงลงมา ลูกศิษย์ก็จับใส่ลงไปใหม่ มันก็ร่วงลงมาอีกเป็นสองครั้งสามครั้ง ข้างฝ่ายหลวงตาชำเลืองดูอยู่ เห็นท่าจะไม่ได้ฉันแกงเต่าเป็นแน่แท้ ก็เลยหยิบคัมภีร์ใบลานขึ้นมาอีก เดี๋ยวกอ่นเธอรู้จักหมอต้มกรักไหมล่ะ” ท่านถามคนฟัง

          “ไม่รู้จักครับ”

          “หม้อต้มกรัก เป็นภาชนะรูปทรงกระบอก มีขนาดใหญ่กว่าหม้อข้าว เขาเอาไว้สำหรับย้อมจีวร เพราะสมัยนั้นยังไม่มีจีวรขายเหมือนอย่างสมัยนี้” คนเล่าอธิบาย

          “ครับ แล้วอย่างไรต่อไปครับ”

          “หลวงตาก็กางคัมภีร์ออก แล้วเทศน์ด้วยเสียงอันดังว่า เมื่อกี้ข้าไปถานเห็นเต่าคลานตัวมันออกใหญ่ ๆ หม้อข้าวมันเล็กนัก หม้อต้มกรักนั่นประไร ลูกศิษย์ก็จัดแจงไปหยิบหม้อต้มกรักมา เอาน้ำในหม้อข้าวเทใส่ ยกขึ้นตั้งไฟ แล้วจับเต่าใส่ลงไป ในที่สุดหลวงตาก็ได้ฉันแกงเต่าสมใจ ก็เป็นอันจบเรื่อง เอาละทีนี้เธอวิเคราะห์มาซิว่า ในองค์ ๕ ที่กล่าวมาข้างต้น หลวงตาถูกองค์ไหนบ้าง”

          “ครบองค์ ๕ เลยครับ” คราวนี้พระบัวเฮียวตอบโดยไม่ต้องเสียเวลาคิด

          “อ้าว ก็ท่านไม่ได้ลงมือเอง แล้วจะครบได้ยังไง” ท่านพระครูลองใจ

          “ครบซีครับ เพราะเต่าเป็นสัตว์มีชีวิต หลวงตาท่านก็รู้ว่ามันมีชีวิต แต่ก็ยังจะอยากกินมัน ก็แสดงว่ามีจิตคิดจะฆ่า ใช้ความพยายามในการฆ่า ก็ตรงที่เทศน์ว่า หม้อข้าวมันเล็กนัก หม้อต้มกรักนั้นเป็นไร แล้วเต่าก็ตายเพราะความพยายามนั้น อย่างนี้ไม่เรียกว่าครบองค์ ๕ หรือครับ”

          “แหม! เธอนี่ฉลาดเสียจริง ๆ” พระบัวเฮียวหน้าบานเมื่อถูกชม แต่ก็หุบลงทันที เมื่อท่านพระครูพูดต่อว่า

          “แต่นาน ๆ จะฉลาดสักครั้ง อย่างเรื่องเมื่อกี้น่าจะฉลาด ก็ไม่ฉลาด”

          “เรื่องอะไรหรือครับ”

          “ก็เรื่องรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นไง เธอคิดว่าไม่บาปหรือไง ถึงท่านจะไม่ได้ลงมือเอง แต่มันก็ครบองค์ ๕ หรือเธอว่าไม่ครบ” พระหนุ่มครุ่นคิดอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็ยิ้มแหย ๆ พูดเสียงอ่อย ๆ ว่า

          “จริงครับ ผมไม่น่าโง่เลย”

          “นั้นซี หน้าเธอดูฉลาดออก” ท่านพระครูเริ่ม “รุก” แต่พระบัวเฮียวอยากจะรู้เรื่องอื่น ๆ อีก จึงไม่ยอมต่อกลอนด้วย

          “หลวงพ่อครับ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสงสัยก็คือ...” ศิษย์พูดยังไม่ทันจบ อาจารย์ก็รีบโบกมือห้าม

            “ช้าก่อน ช้าก่อน วันนี้เราคุยกันมาพอสมควรแล้ว ฉันรู้ว่าเธอจะถามเรื่องอะไร เอาไว้ต่อวันหลังก็แล้วกัน วันนี้หมดเวลา เธอกลับไปปฏิบัติที่กุฏิของเธอได้แล้ว ตั้งอกตั้งใจเข้า จะได้ใช้หนี้ให้หมด ๆ ไปเสีย” ประโยคหลังท่านทิ้งท้ายเอาไว้ให้คนฟังไปคิดเอาเอง

 

มีต่อ........๑๖
บันทึกการเข้า
พรเทพ-LSV team♥
รับติดตั้งจานดาวเทียม ลาดพร้าว บางกะปิ
Senior Member
member
*

คะแนน1453
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 12083

091-091-9196 ID LINE : tv59


เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: เมษายน 10, 2007, 09:40:19 AM »

เนื้อหายาวเอาเรื่องอยู่นะครับพี่เล็ก  Tongue 

ผมมีเล่มหนึ่งครับ ซื้อมานานแล้ว รุ่นที่เป็นเล่มใหญ่ปกแข็งเล่มหนึ่งตั้ง 500 บาท (รุ่นใหม่จะเล็กลงนะ Tongue)อ่านเป็นเดือนกว่าจบ  Tongue 

(มาทักทายนิดเดียวนะ พี่เล็ก  Tongue  อ่านแล้วก็ลบออกได้เลยครับ ) Cheesy Smiley
บันทึกการเข้า

ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #16 เมื่อ: เมษายน 10, 2007, 09:47:55 AM »

ยามว่าง...ยามท้อแท้...ยามเหงา ....ค่อยๆอ่านวันละนิดครับ ...  Tongue
..ทีแรกกะลงให้เป็น .rar แต่เกรงว่าไม่ค่อยจะมีใครอ่านกันครับ ... เลยลงอย่างนี้ดีกว่าครับ วันละ5ตอน ..
..เรื่องนี้ดีมากครับ  คุณแม่ให้ผมอ่านตั้งแต่ผมยังไม่ได้ไปนั่งกรรมฐานที่วัดอัมพวัน ...  Lips Sealed Tongue
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1882
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13199


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #17 เมื่อ: เมษายน 10, 2007, 10:06:13 AM »

 Lips Sealed Smiley
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #18 เมื่อ: เมษายน 11, 2007, 07:57:54 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00016

 

๑๖...

            พระบัวเฮียวใช้พยายามอยู่หลายวัน ก็ยังไม่สบโอกาสที่จะเรียนถามข้อสงสัยจากท่านพระครู เพราะท่านไม่ค่อยมีเวลาว่างพอที่จะมานั่งให้ลูกศิษย์ซักถามได้เหมือนแต่ก่อน ยิ่งกิตติศัพท์ความดีงามของท่านเป็นที่เลื่องลือไป คนก็พากันมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหามากขึ้น มีผู้นิมนต์ท่านไปบรรยายธรรมตามสถาบันต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ จนแทบไม่เว้นแต่ละวัน

          นับตั้งแต่ครูสฤษดิ์ซื้อรถตู้มาถวาย ท่านก็ไปไหนมาไหนสะดวกขึ้น โดยมีนายสมชายเป็นพลขับ นายสมชายเล่าว่า แต่ก่อนที่ยังไม่มีรถไว้ใช้ เวลาจะไปไหนท่านจะว่าจ้างนายอู่ให้ขับรถไปให้ แต่นายอู่ก็ทำให้ท่านต้องเสียงานอยู่บ่อย ๆ เป็นต้นว่าคืนไหนฝันร้าย รุ่งเช้าก็จะมาบอกว่าไม่สามารถขับรถไปส่งท่านได้ เพราะกลัวจะเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าท่านพระครูจะอ้อนวอนอย่างไร นายอู่ก็ไม่ยอมไปท่าเดียว ครั้นจะไปว่าจ้างคนอื่นก็ไม่ทันการ เพราะกว่าจะไปก็เลยเวลาที่เขานิมนต์ไปแล้ว

          แต่ถึงนายอู่จะกลัวอย่างไรก็ไม่อาจหนีกฎแห่งกรรมไปได้ เพราะในที่สุดนายอู่ก็ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเสียชีวิต เนื่องจากไม่รักษาสัจจะ

          เรื่องมีอยู่ว่า สมัยหนุ่ม ๆ นายอู่มีอาชีพล่องเรือค้าขายไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ไปซื้อของกรุงเทพฯ มาขายต่างจังหวัด และอาเของต่างจังหวัดไปขายกรุงเทพฯ กิจการก็รุ่งเรืองดีอยู่ มีเรือของตัวเองหนึ่งลำและทำเป็นเรือโดยสารด้วย

          คืนหนึ่ง ขณะล่องเรือกลับจากกรุงเทพฯ คนขับเกิดหลับในเพราะเป็นเวลาดึกมากแล้ว เรือจึงพุ่งไปชนแก่งกลางแม่น้ำพลิกคว่ำลง คนขับกับผู้โดยสารประมาณห้าหรือหกคนพากันจมน้ำตายหมด

          นายอู่กำลังจะจมน้ำ ก็เกิดห่วงแม่กับเมีย ตอนนั้นเมียกำลังตั้งท้องลูกคนแรก เขาจึงตั้งจิกอธิษฐานว่า ขอให้ตนรอดชีวิตแล้วจะบวชอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรหนึ่งพรรษา

          ปรากฏว่านายอู่รอดจากการจมน้ำตายอย่างปาฏิหาริย์และกลับมาถึงบ้านได้ ไม่นานภรรยาก็คลอดบุตรออกมาเป็นหญิง เขาก็หาเลี้ยงลูกเมียเลี้ยงแม่ ยังไม่ยอมบวช ก็อยู่ต่อมาจนมีลูกอีกหลายคน ภายหลังได้ขายเรือมาซื้อรถเที่ยวรับจ้างส่งคน ส่งของอยู่แถววัด

          มาระยะหลัง ๆ นายอู่ฝันร้ายอยู่บ่อย ๆ คือฝันว่ายมบาลมาต่อว่าต่อขานที่นายอู่เสียสัจจะ หากยังดื้อดึงไม่ยอมบวชจะต้องรถคว่ำคอหักตาย เขาจึงได้มาเล่าให้ท่านพระครูฟัง ท่านก็ขอร้องให้บวช นายอู่ก็ไม่ยอมบวช ทั้งยังขอร้องไม่ให้ท่านเล่าเรื่องความฝันให้แม่และเมียของตนฟัง คืนไหนฝัน รุ่งเช้านายอู่ก็จะไม่ยอมขับรถ

          เวลาผ่านไปอีกหลายปี กระทั่งลูกสาวคนโตอายุ ๒๑ และกำลังจะแต่งงาน นายอู่ก็ฝันร้ายถี่ขึ้น ท่านพระครูก็ขอร้องให้เขาบวช เพราะท่านรู้ว่าถ้าไม่บวช เขาจะต้องตาย นายอู่ก็ดื้อดึงมายอมบวช อ้างว่าถ้าเขาบวชแล้วใครจะหาเลี้ยงแม่เลี้ยงเมีย

          ความจริงเขาจะบวชก็บวชได้ เพราะลูก ๆ ก็โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว นอกจากไม่ยอมบวชแล้ว เขายังขอร้องท่านพระครูให้ปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ

          อยู่ต่อมาไม่นาน นายอู่ก็รถคว่ำคอหักตายจริงดังที่ฝัน ท่านพระครูรู้สึกเศร้าสลดใจทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันเป็นกรรมที่เขาสร้างเองทำเอง เรื่องพอจะแก้ไขได้ เขาก็ไม่ยอมแก้ไข จึงต้องจบชีวิตอย่างน่าเอนจอนาถเช่นนั้น

          “หลวงพี่ครับ หลวงพ่อให้มานิมนต์” นายสมชายมาบอกพระบัวเฮียวในตอนบ่ายวันหนึ่ง หลังจากที่ท่านปฏิบัติกรรมฐานเสร็จ

          “นิมนต์ให้ไปที่กุฏิหลวงพ่อหรือ” พระหนุ่มเชื้อสายญวน ถามอย่างดีใจ เพราะจะได้ถือโอกาสเรียนถามข้อข้องใจสงสัยที่ติดค้างมาหลายวัน

          “เปล่าหรอกครับ ท่านให้มานิมนต์จะพาไปเจริญพระพุทธมนต์เย็นที่บ้านฝั่งโน้น ลูกสาวเขาแต่งงานครับ เขานิมนต์พระวัดเรา ๓ รูป หลวงพ่อให้ผมมานิมนต์หลวงพี่กับพระมหาบุญ บอกให้เอาย่ามกับตาลปัตรไปด้วย” นายสมชายบอกกล่าว

          “ไปเดี๋ยวนี้เลยหรือ” ถามอย่างยินดี

          “สักพักก็ได้ครับ หลวงพ่อจะออกห้าโมง นี่เพิ่งจะบ่ายสาม หลวงพี่ไปรอที่กุฏิท่านก่อนห้าโมงก็แล้วกัน ผมไปนะครับ”

          “แล้วพระมหาบุญท่านทราบหรือยัง”

          “ทราบแล้วครับ ผมไปเรียนท่านก่อนจะมาหากลวงพี่” เสร็จธุระ นายสมชายจึงเดินกลับไปยังกุฏิท่านพระครู

          พระบัวเฮียวจัดแจงสรงน้ำ  ขัดสีฉวีวรรณอย่างพิถีพิถันกว่าทุกวัน สรงน้ำเสร็จก็จัดการนุ่งห่มอย่างเรียบร้อย รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ “ออกงาน” เป็นครั้งแรกของชีวิตการบวช ท่านถือตาลปัตรและย่ามเดินไปที่กุฏิท่านพระครู นั่งอยู่คนเดียวสักยี่สิบนาที พระมหาบุญก็มาถึง ผู้บวชทีหลังทำความเคารพภิกษุผู้เคยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงด้วยการกราบสามครั้ง

          “มานานแล้วหรือบัวเฮียว” พระมหาบุญทักขึ้นก่อน

          “สักครู่ใหญ่ ๆ เห็นจะได้ หลวงพี่มาก็ดีแล้ว ผมอยากจะเรียนถามอะไรสักหน่อย”

          “ถามมาก ๆ ก็ได้ ถ้าผมตอบได้ก็จะตอบ รับรองว่าไม่ปิดบังอำพรางเลยแม้แต่น้อย เป็นไง ปฏิบัติไปถึงไหนแล้ว ข่าวว่าเป็นคนโปรดของท่านพระครูเลยนี่” คนจะถามกลับเป็นฝ่ายถูกถามเสียก่อน

          “ก็ไม่เชิงครับ ท่านเมตตาผมมากกว่า เห็นเป็นคนเซ่อ ๆ ซ่า ๆ ท่านคงจะสงสาร ก็เลยเอาใจใส่มากหน่อย ถ้าฉลาดหลักแหลมเหมือนหลวงพี่ ท่านก็คงปล่อยให้บินเดี่ยวได้แล้ว” พระบัวเฮียวตอบอย่างเอาใจ “หลวงพี่”

          “แต่คุณก็ก้าวหน้าเร็วดีนี่ เมื่อตอนผมบวชใหม่ ๆ ท่านก็ประคับประคองอยู่หลายเดือนกว่าจะปล่อยให้บินเดี่ยวอย่างที่คุณเห็น ท่านพระครูท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่วิเศษที่สุด ผมเคารพนับถือท่านมากจริง ๆ”

          พระมหาบุญพูดจากความรู้สึกลึกซึ้ง หากพระบัวเฮียวก็เข้าใจ เพราะความรู้สึกของท่านที่มีต่อท่านพระครูก็ไม่แตกต่างไปจากนี้

            “หลวงพี่ครับ ผมไม่เคยออกงาน รู้สึกตื่นเต้นจนกลายเป็นความกังวล กลัวว่าจะวางตัวไม่ถูก หลวงพี่พอจะกรุณาแนะนำผมหน่อยจะได้ไหมครับ”

            “ได้ซี ทำไมจะไม่ได้เล่า ไม่ต้องไปกังวลหรอก ให้ทำตามที่หลวงพ่อท่านบอกก็แล้วกัน เป็นต้นว่าเวลานั่งเขาจะเรียงตามอายุพรรษา สงสัยว่าคุณคงจะต้องนั่งท้ายแถว เพราะบวชทีหลังเพื่อน อย่าประหม่าก็แล้วกัน บทเจริญพระพุทธมนต์เย็น คุณก็ท่องได้หมดแล้วไม่ใช่หรือ”

          “ครับ ได้หมดแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเวลาสวดจริง ๆ จะจำผิดจำถูกบ้างหรือเปล่า”

          “จำถูกน่ะไม่เป็นไรหรอก แต่จำผิดคงไม่ดีนัก ประเดี๋ยวจะทำให้ขายหน้าพระวัดเรา เอาอย่างนี้ถ้าตอนไหนไม่แน่ใจก็ให้ออกเสียงเบา ๆ ไม่มีใครเขารู้หรอก เพราะตอนสวดเราจะเอาตาลปัตรบังหน้าไว้” ผู้แก่พรรษากว่าแนะนำ

          “ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะประหม่ามากน้อยแค่ไหน คงจะเขินมากเลยถ้า....”

          “ถ้าอะไร” พระมหาบุญซัก เพราะฝ่ายนั้นไม่ยอมพูดต่อ

          “ถ้า...มีสาว ๆ มานั่งฟังน่ะครับ” พระมหาบุญจึงแถลงว่า

          “ต้องมีแน่ ๆ อย่างน้อยก็เจ้าสาวคนหนึ่งละ แล้วยังจะเพื่อเจ้าสาวอีกคนหรือสองคน และถ้าเขารู้ว่าจะมีพระหนุ่ม ๆ ไป พวกสาว ๆ คงพากันแห่มาเชียวแหละ สงสัยว่าคราวนี้คุณจะต้องสึกเสียละมัง” พระมหาบุญพูดเย้า ๆ

          “สึกน่ะไม่กลัวหรอกครับ กลัวจะประหม่า อย่างหลังนี่แก้อย่างไรครับ”

          “คุณก็กำหนดซี รู้สึกอย่างไร ก็กำหนดไปอย่างนั้น ปฏิบัติแล้วก็ต้องเอามาใช้ประโยชน์ให้ได้ เอาเถอะตั้งสติเข้าไว้แล้วก็จะดีไปเอง จำไว้แล้วกันว่าถ้าคุณขืนแสดงอะไรเปิ่น ๆ ออกไป คราวหน้าคราวหลังหลวงพ่อจะไม่พาคุณไปไหนต่อไหนด้วยอีก”

          “ถ้าอย่างนั้นผมจะพยายามเต็มที่เลยละครับ จะได้ออกไปเปิดหูเปิดตาบ่อย ๆ”

          “แต่การไปไหนมาไหนบ่อยมันก็ไม่ดีสำหรับการปฏิบัตินะบัวเฮียว เพราะจิตมันจะท่องเที่ยวไปรับอารมณ์อื่น ไม่จดจ่อแน่วแน่อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน แต่ก็นั่นแหละถ้าเรากำหนดได้ทันมันก็ไม่เสียหายอะไร นึกเสียว่าเป็นการหาแบบฝึกหัดมาให้จิตทำแล้วกัน” พระมหาบุญแนะนำในฐานะที่เคย “อาบน้ำร้อนมาก่อน”

          ท่านพระครูลงมาจากกุฏิชั้นบน เมื่อเวลาสิบเจ็ดนาฬิกาเศษ พระสองรูปที่นั่งรออยู่ทำความเคารพด้วยการไหว้ แล้วลุกขึ้นเดินตามท่านไปยังรถที่นายสมชายรออยู่

            ท่านพระครูขึ้นไปนั่งตอนหน้าคู่กับคนขับ ส่วนพระมหาบุญกับพระบัวเฮียวนั่งถัดไปทางด้านหลัง นายสมชายปิดประตูเรียบร้อยแล้วจึงออกรถ วิ่งตรงไปออกสายเอเชีย แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวจังหวัดซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของวัด ประมาณยี่สิบนาทีก็ถึงทางแยกเข้าตัวจังหวัด จากนั้นต้องวิ่งย้อนลงมาทางใต้อีกประมาณสองกิโลเมตร จึงถึงท่าเรือที่จะข้ามไปยังบ้านงานที่อยู่ทางฝั่งโน้น

          “สมชายเฝ้ารถรอยู่ฝั่งนี้ ไม่ต้องข้ามไปด้วย” ท่านพระครูสั่งศิษย์วัด แล้วท่านจึงเดินนำลงไปรอเรือจ้างซึ่งมีเพียงลำเดียว ครู่หนึ่งหญิงแจวเรือจ้าง ก็แจวเรือเปล่ากลับมาหลังจากส่งผู้โดยสารขึ้นฝั่งตรงข้ามแล้ว

          “นิมนต์หลวงพ่อจ้ะ จะไปบ้านงานหรือจ๊ะ” หญิงแจงเรือเชื้อเชิญพร้อมกับตั้งคำถาม ในชนบทนั้นบ้านไหนมีงานก็เป็นอันรู้ถึงกันหมดทั้งตำบล

          “ไปทีเดียวสามไหวไหมจ๊ะหนู หรือว่าต้องทีละคน” ท่านพระครูถามคนแจว ซึ่งเป็นหญิงสาวอายุไม่เกินยี่สิบ เกรงว่าจะเกินเรี่ยวแรงของหล่อน เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปริ่มขอบตลิ่ง เนื่องจากยังไม่สิ้นเดือนสิบสอง ระยะทางข้ามฟากจึงดูกว้างไกลกว่าปกติ พระบัวเฮียวมีอันต้องกำหนด “เขินหนอ” เมื่อสบตากับหล่อน

          “ไหวจ้ะ นิมนต์ทั้งสามองค์เลยจ้ะ” หญิงสาวตอบ

          “นั่นพายอีกันไม่ใช่หรือ” พระมหาบุญชี้ไปที่ไม้พายซึ่งวางอยู่หัวเรือ

          “เอาอย่างนี้ เดี๋ยวอาตมาจะช่วยพาย จะได้เบาแรงโยมหน่อย” พูดแล้วท่านก็ลงไปนั่งที่หัวเรือ จับไม้พายมาถือด้วยท่าทางทะมัดทะแมง

          เมื่อภิกษุอีกสองรูปขึ้นมานั่งในเรือเรียบร้อยแล้ว หญิงสาวจึงออกเรือ โดยมีพระมหาบุญช่วยแจวอยู่ทางด้านหัว ส่วนหล่อนอยู่ท้าย ท่านพระครูกับพระบัวเฮียวอยู่กลาง

          “สองทุ่มเลิกหรือยังจ๊ะหนู อาตมาต้องกลับประมาณสองทุ่ม” ท่านพระครูถาม ขึ้นจากเรือแล้วต้องเดินไปอีกหลายนาทีกว่าจะถึงบ้านงาน

          “มีจ้ะ หนูจะแจวจนถึงหกโมง ต่อจากนั้นพ่อเด็กเขาจะมาเปลี่ยนและไปเลิกเอาสองทุ่มครึ่ง” หญิงสาวตอบ

          “อ้อ มีลูกมีผัวแล้ว แบบนี้ค่อยหายเขินหน่อย” พระบัวเฮียวพูดในใจ รู้สึกโล่งอกเมื่อทราบว่าหล่อนมีเจ้าของแล้ว

          เมื่อถึงฝั่งท่านพระครูจึงถามว่า “เท่าไหร่จ๊ะหนู”

          “นิมนต์เถิดจ๊ะ ฉันถวาย นึกว่าให้ฉันมีโอกาสได้ทำบุญก็แล้วกัน”

          “อย่าเลยหนู กินแรงคนอื่นมันบาป เท่าที่หนูมีจิตศรัทธาก็ได้บุญแล้ว อาตมาขออนุโมทนา เท่าไหร่จ๊ะ”

          “คนละสองสลึงจ๊ะ หลวงพ่อให้ฉันมาบาทเดียวก็พอ” หญิงสาวลดให้ห้าสิบสตางค์

            ท่านพระครูวางเงินไว้ให้สองบาท แล้วกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นอาตมาฝากซื้อขนมไปให้ลูกหนูอีกหนึ่งบาท ขอบใจนะจ๊ะหนู”

          หญิงสาวยกมือไหว้ พลางกล่าวขอบคุณ แล้วจึงรีบพายเรือเปล่ากลับไปรับผู้โดยสารที่กำลังยืนรออยู่ทางฝั่งโน้น

          ร้าน “ลมโชย” เป็นร้านอาหารที่ขึ้นชื่อของตำบล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำติดกับท่าข้ามเรือ ขณะนั้นกำลังขายดิบขายดี มีลูกค้านั่งเต็มทุกโต๊ะ โต๊ะที่ติดกับทางเดินมีแต่ผู้ชายล้วน กำลังตั้งวงเสพสุรากันอย่างครื้นเครง มีจานกับแกล้ม แก้วและขวดเหล้าวางอยู่เต็ม

          เมื่อเดินผ่านโต๊ะนั้น ท่านพระครูกำหนด “เห็นหนอ” แล้วจึงกระซิบกับพระบัวเฮียวว่า “เธอคอยดูนะบัวเฮียว เดี๋ยวคนโต๊ะนี้จะตีกันถึงเลือดตกยางออก รอให้เมาได้ที่เสียก่อน ขากลับเราทันได้เห็นแน่”

          “หลวงพ่อรู้ได้อย่างไรล่ะครับ” พระบัวเฮียวถามตามความเคยชินเสียมากกว่า เพราะรู้คำตอบดีอยู่แล้ว

          “รู้ก็แล้วกัน ไม่เชื่อเธอคอยดูว่าจะเป็นอย่างที่ฉันพูดหรือเปล่า” แล้วภิกษุสามรูปก็เดินผ่านร้านนั้นไปบ้านงาน

          หลังจากการเจริญพระพุทธมนต์เย็น สิ้นสุดลง เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงกล่าวลาเจ้าภาพ แล้วพาภิกษุอีกสองรูปกลับวัด ส่วนพระอีก ๖ รูปมาจากวัดทางฝั่งนี้ จึงไม่ต้องไปข้ามเรือ ขณะเดินกลับ พระมหาบุญถามพระบัวเฮียวว่า “ไงคุณหายตื่นเต้นหรือยัง”

            “จวนแล้วครับ เหลืออีกนิดเดียวก็จะหาย ต้องขอขอบคุณหลวงพี่มาก ๆ เลย ผมพยายามนึกถึงคำแนะนำของหลวงพี่เกือบตลอดเวลา เพื่อเจ้าสาวเขาสวยจนผมประหม่า”

          ฟังแล้วท่านพระครูอดรนทนไม่ได้ จึงขัดขึ้นว่า “รู้สึกว่าเธอจะชื่นชมแต่คนสวย ๆ เท่านั้นนะบัวเฮียวนะ ไม่รู้หรอกหรือว่า สตรีคือศัตรูพรหมจรรย์” พระบัวเฮียวตอบล้อเลียนว่า “รู้ซีครับหลวงพ่อ อาตมารู้หมด แต่อาตมาก็อดไม่ได้”

          “ทำพูดดีไปเถอะ แล้วอย่ามาหาว่าฉันไม่เตือนก็แล้วกัน” ท่าสนพระครูนึกหมั่นไส้

          “ดูท่าทางคุณคงอยากสึกใช่ไหมคุณบัวเฮียว” พระมหาบุญถาม

          “อยากครับ ผมอยากสึกออกไปแต่งงาน เห็นเขาแต่งกันแล้วผมก็อยากแต่งบ้าง” พระบัวเฮียวสารภาพ

          “แล้วคุณคิดว่าจะได้แต่งหรือเปล่า”

          “คิดว่าน่าจะได้ หลวงพี่ไม่เห็นหรือ พระวัดป่ามะม่วงตั้งหลายองค์ที่รูปหล่อน้อยกว่าผมก็ยังสึกออกไปแต่งงาน แล้วทำไมผมจะทำอย่างนั้นบ้างไม่ได้”

          “มันไม่ได้อยู่ที่ดีกรีของความหล่อหรอก แต่มันอยู่ที่กรรม ถ้าเราไม่เคยทำกรรมกับใครไว้ก็ไม่ต้องมาชดใช้ คนที่เขาแต่งงานกันก็เพื่อจะมาร่วมกันใช้กรรม สำหรับเธอเขาเรียกว่าไม่มีคู่กรรม เชื่อสิ ชาตินี้เธอไม่มีโอกาสได้แต่งงานหรอก” ท่านพระครูชี้แจง จำพูดของท่านจึงไปทำให้ใจของพระบัวเฮียวเหี่ยวแห้งหดหู่โดยที่ท่านมิได้เจตนา

          เมื่อเดินมาถึงท่าน้ำก็ต้องรอเรือซึ่งเพิ่งจะบรรทุกผู้โดยสารสองคนออกจากฝั่งไป คงต้องยืนรออีกหลายนาทีกว่าเขาจะพายกลับมารับ

          พระจันทร์ค่อนดวงลอยเด่นอยู่กลางฟ้า พวกผู้ชายที่นั่งกินเหล้าอยู่โต๊ะติดทางเดินยังไม่มีใครลุกไปไหน เสียงที่คุยชักจะดังมากขึ้น เพราะต่างก็กำลัง “ได้ที่” แล้วใครคนหนึ่งก็สบถขึ้นว่า

          “...หมาตัวไหนตดวะ สงสัยแม่มันคงไส้เน่า เหม็นฉิบหายเลย” พูดด้วยความโกรธผสมกับความเมา

          “พูดยังงั้นมันก็ไม่สวยซีวะ  เรื่องขี้เรื่องตดมันอดกันไม่ได้โว๊ย  หรือว่าแม่มึงไม่เคยตด”  ชายที่นั่งติดกันพูดโกรธ ๆ

          ท่านพระครูจึงกระซิบกับพระบัวเฮียวว่า “คอยดูนะ เดี๋ยวได้ตีกัน”

          “หลวงพ่อไปห้ามไว้เสียก่อนไม่ดีหรือครับ” พระบัวเฮียวออกความเห็น เพราะเกรงจะถูกลูกหลง ท่านพระครูตอบว่า

“พูดกับคนเมาจะไปรู้เรื่องอะไร ดีไม่ดีจะเจ็บตัวอีกด้วย ก็คนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหมพ่อซัดได้ทั้งนั้น”

เสียงทะเลาะรุนแรงขึ้น มีการด่าอย่างหยาบคาย ในที่สุดก็แบ่งออกเป็นสองฝ่ายแล้วก็ถึงขั้นตะลุมบอนกัน

          “หลวงพ่อ ทำไงดี ทำไงดี” พระบัวเฮียวกระซิบเสียงลั่น ขาก็สั้นตามไปด้วย

          “เฉยไว้ ไม่ต้องกลัว มากับฉันรับรองว่าปลอดภัย” พระบัวเฮียวชำเลืองไปที่โต๊ะนั้น เห็นคนหนึ่งคว้าขวดเหล้าฟาดลงบนศีรษะของอีกคนหนึ่ง ผู้ถูกฟาดล้มฟุบคาโต๊ะเลือดแดงฉาน

          “หลวงพ่อครับ ผมจะเป็นลมอยู่แล้ว” พระบัวเฮียวรู้สึกใจสั่น ขาสั่นพั่บ ๆ เคยเห็นแต่เลือดวัวควาย ไม่เคยเห็นเลือดคน

          “กำหนดซีบัวเฮียว” พระมหาบุญแนะ

          “กำหนดไม่ไหวครับ มันกลัวจนตั้งสติไม่ได้”

          “งั้นก็แปลว่าวันนี้คุณสอบตก ต้องกลับไปฝึกอีกมาก ๆ โน่นไงเรือมาโน่นแล้ว”

          เมื่อเรือเข้ามาจอดเรียบร้อย สมภารรูปหนึ่งกับลูกวัดสองรูปจึงพากันลงเรือ คราวนี้พระมหาบุญไม่ต้องช่วยแจว เพราฝีพายเป็นชายหนุ่มรูปร่างกำยำล่ำสัน นั่งกันเรียบร้อยแล้วท่านพระครูจึงเอ่ยขึ้นว่า

          “เห็นไหมบัวเฮียว เห็นโทษของการขาดสติหรือยัง นี่ถ้าคนพวกนั้นพากันมาเข้ากรรมฐาน ก็จะไม่มีเรื่องต้องตีกันหัวร้างข้างแตกอย่างนั้น”

            “นั่นซีครับ ถ้าเจ้าหมอนั่น กำหนด “กลิ่นหนอ” เสียก็คงไม่มีเรื่อง นี่จะมีคนตายไหมครับหลวงพ่อ” ถามอย่างเป็นห่วง

          “ไม่หรอก เดี๋ยวตำรวจเขาก็มาจัดการ” ท่านพระครูตอบ

          “ผมว่าสาเหตุของเรื่องมันไม่ได้อยู่ที่การผายลมหรอกครับหลวงพ่อ มันอยู่ที่เหล้าต่างหาก คนพวกนั้นพอเหล้าเข้าปาก ก็เห็นช้างตัวเท่าหมู” พระมหาบุญว่า

          “ไม่ว่าคนพวกนั้น หรือคนพวกไหนหรอก พอเมาขึ้นมาก็ต้องเป็นแบบนี้ทั้งนั้น ไม่งั้นพระพุทธองค์ท่านจะสอนหรือ....สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา สุราเมรัยเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ศีลข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะถ้าละเมิดข้อนี้ข้อเดียว ก็สามารถละเมิดข้ออื่น ๆ ได้ทั้งหมด ฉันถึงอยากให้ทุกคนเจริญสติปัฏฐาน ๔ จะได้ไม่ขาดสติ”

          “แต่บางคนเขาก็ชอบที่จะอยู่อย่างไม่มีสตินะครับหลวงพ่อ เพราะถึงเขาจะรู้ว่าสุราทำให้ขาดสติ เขาก็ยังดื่ม  ทั้ง ๆ ที่รู้”

            “คนพวกนี้น่าสงสารนะท่านมหา”

          “สงสารทำไม่ครับหลวงพ่อ ผมว่าเราไม่ควรสงสารคนชั่ว” พระบัวเฮียวขัดขึ้น

          “เธอไม่รู้อะไร คนชั่วนั้นแหละน่าสงสาร เพราะเขาไม่รู้ว่านรกกำลังรอเขาอยู่ ก็เลยประมาทมัวเมาในชีวิต คนทุกวันนี้มักจะตั้งอยู่ในความประมาทกันเสียเป็นส่วนใหญ่ น่าเสียดายที่เกิดมาเป็นมนุษย์ แต่ไม่ได้ใช้ความเป็นมนุษย์ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง”

          ขึ้นจากเรือ ภิกษุทั้งสามรูปจึงเดินไปที่รถซึ่งนายสมชายเตรียมเปิดประตูรอไว้แล้ว

          “เป็นไง รอนานไหม” ท่านพระครูทัก

          “ก็หลับไปตื่นนึงแหละครับ แต่ไม่ไหว ยุงชุมชะมัด อากาศหนาว ๆ อย่างนี้ไม่น่ามียุง” ลูกศิษย์วัดพูดเป็นเชิงบ่น

          ขณะที่นั่งมาในรถ พระมหาบุญเปิดฉากการสนทนาขึ้นว่า

          “ความไม่ประมาทนี้สำคัญนะครับหลวงพ่อ ขนาดพระพุทธองค์จะปรินิพพานอยู่แล้ ยังทรงเตือนภิกษุทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท”

          “ถูกแล้ว สมัยที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ตรัสสอนเรื่องความไม่ประมาทบ่อยครั้ง ทรงอุปมาอุปไมยว่า

          ....รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลายชนิดใด ๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด รอยเท้าช้างเรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้นโดยความใหญ่ ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลายย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด ความไม่ประมาทเรียกได้ว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น....”

            “แหม หลวงพ่อยังกับเป็นตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่แน่ะ” พระบัวเฮียวออกปากชม แต่แล้วกลับตั้งข้อสงสัยว่า “แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นพุทธพจน์จริง ๆ เพราะพระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานไปตั้งสองพันกว่าปีแล้ว”

          “เป็นชาวพุทธ ถ้าไม่เชื่อคัมภีร์พระไตรปิฏก ก็เอวังเท่านั้นเอง จริง ๆ นะบัวเฮียว ฉันไม่ค่อยเข้าใจเธอสักเท่าไร เรื่องที่น่าสงสัย เธอก็ไม่สงสัย แต่เรื่องที่ไม่น่าสงสัยเธอกลับสงสัย รู้สึกว่าเธอชอบ “ทวนกระแส” อยู่เรื่อยเชียวนะ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน พระธรรมคำสอนเป็นสิ่งท้าทายให้พิสูจน์ ถ้าไม่เชื่อก็ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง แล้วเธอจะรู้ว่า พระธรรมคำสอนเป็นสัจธรรมโดยแท้” ท่านพระครูถือโอกาส “เทศน์นอกธรรมาสน์”

          “ผมเชื่อครับ เชื่อโดยไม่ต้องพิสูจน์ เพราะรู้ว่าหลวงพ่อพิสูจน์มาหมดแล้วนี่ครับ” คนถูกเทศน์ตอบเสียงอ่อย

          นายสมชายขับรถออกจากตัวจังหวัด แล้วเลี้ยวเข้าถนนสายเอเซียประมาณสามสิบหนาที่ก็มาจอดที่หน้ากุฏิท่านพระครู พระบัวเฮียวถือโอกาสถามเจ้าของกุฏิว่า

          “อ้อ ลืมบอกไป พรุ่งนี้เป็นวันแต่ง เราต้องไปถึงบ้านงานเจ็ดโมงเจริญพระพุทธมนต์ ฉันเช้าแล้วก็กลับวัด ประมาณสิบโมงจะมีโยมมาหา จะมาสร้างหอประชุมให้ ต้องใช้เงินเป็นล้านเชียวนาท่านมหา” ประโยคหลังท่านพูดกับพระมหาบุญ

          “เขามีหนังสือมาบอกหลวงพ่อหรือครับ” พระมหาบุญถาม

          “เปล่าหรอก”

          “แล้วทำไมหลวงพ่อทราบเล่าครับ” พระบัวเฮียวถามทั้งที่ไม่น่าจะถาม

          “ก็ “เห็นหนอ” เขาบอกเมื่อตอนเช้ามืดนี่เอง” ท่านพระครูตอบ ท่านรู้ว่าพระบัวเฮียวมีข้อสงสัยอยากจะไต่ถาม จึงพูดตัดบทว่า “เอาเถอะ พรุ่งนี้ฉันจะให้เธอกับท่านมหาอยู่ฟังด้วย หลังจากนั้นเธอมีอะไรจะถามก็ถามได้”

          พระบัวเฮียวดีใจอย่างบอกไม่ถูก ขณะที่พระมหาบุญรู้สึกเฉย ๆ เพราะท่านสามารถปรับตัวความยินดียินร้ายให้สมดุลกันได้แล้ว

 

มีต่อ........๑๗
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #19 เมื่อ: เมษายน 11, 2007, 07:59:54 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00017

 

๑๗...

          กลับจากบ้านงาน ท่านพระครูขึ้นไปเขียนหนังสือคู่มือการสอบอารมณ์กรรมฐาน อยู่ที่ชั้นบนของกุฏิ ครู่ใหญ่ ๆ นายสมชายก็ขึ้นไปรายงานว่า อาคันตุกะสี่คนมารอพบอยู่ที่กุฏิชั้นล่าง

          “ไปตามพระมหาบุญกับพระบัวเฮียวมาฟังด้วย” ท่านสั่งแล้วเขียนหนังสือต่อไปอีกพักหนึ่ง รอให้พระบัวเฮียวแบพระมหาบุญมาถึงเสียก่อนจึงค่อยลง

          สักครู่นายสมชายก็เดินตามภิกษุสองรูปเข้ามา เห็นเจ้าของกุฏิยังไม่ลงมาจากชั้นบน จึงขึ้นไปตามอีกครั้ง

          เมื่อท่านพระครูลงมา และนั่งบนอาสนะประจำของท่านแล้ว ภิกษุสองรูปกับฆราวาสสี่คนต่างทำความเคารพ ด้วยการกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง

          “เจริญพร โยมมาจากไหนกันบ้างล่ะนี่” ท่านถามคนนั่งหน้าสุด

          “ผมมาจากเชียงใหม่ครับ”

          “โยมล่ะ” คนที่นั่งถัดไปตอบว่า

          “ผมมาจากภูเก็ตครับ” ถามอีกสองคนก็ได้ความว่ามาจากกาญจนบุรีคนหนึ่ง จากระยองคนหนึ่ง

          “แหม สี่คนมาจากสี่ทิศเลย แล้วไปยังไงมายังไงถึงได้นัดมาเจอกันที่วัดนี่”

          “ไม่ได้นัดครับ พวกเราเจอกันโดยบังเอิญตรงทางเลี้ยวเข้าวัด เป็นเรื่องแปลกครับหลวงพ่อ ถึงจะมาจากคนละทิศ แต่ก็บังเอิญมาเจอกันตรงทางเข้าวัด พอคนขับรถผมเลี้ยวจากสายเอเชียมา ก็เจอรถเบ๊นซ์อีกสามคันเลี้ยวตามมา เป็นเบ๊นซ์รุ่นเดียวกันเสียด้วย แล้วแต่ละคนก็มีคนขับขับมาให้ นี่ถ้าเกิดสีเดียวกันทั้งสี่คัน ผมคงต้องเอาไปลงหนังสือพิมพ์แน่” คนที่มาจากเชียงใหม่รายงาน

          “อาตมาว่ามีเรื่องแปลกกว่านั้นอีก เชื่อไหมว่าโยมสี่คนเกิดวัน เดือน ปี ตรงกัน ไม่เชื่อลองถามกันดูก็ได้”

          “จริงหรือครับหลวงพ่อ งั้นผมต้องพิสูจน์ละ” คนมาจากเชียงใหม่พูดแล้วจึงหันหน้ามาถามคนที่มาจากภูเก็ตว่า “คุณเกิดเมื่อไหร่ ส่วนผมยี่สิบเจ็ดมีนา เจ็ดหนึ่ง”

          “ทำไมวันเดียวกับผมเลย” อีกสามคนร้องขึ้นพร้อมกัน ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมาพบผู้เป็น “สหชาติ” ถึงสี่คนในคราวเดียวกัน คนทั้งสี่ไม่รู้ว่าเหตุใดจึงมีเรื่องบังเอิญเช่นนี้เกิดขึ้น พระมหาบุญแบพระบัวเฮียวก็ไม่รู้ แต่ท่านพระครูรู้ ว่ามันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม บุรุษที่มาจากทิศทั้งสี่ เหนือ ใต้ ตะวันตก ตะวันออก สี่คนนี้จะมาสร้างกรรมร่วมกันที่วัดป่ามะม่วง กรรมที่ร่วมกันสร้างนั้นเป็นกรรมดี!

          “นี่ก็ได้เวลารับประทานอาหารแล้ว เชิญทานข้าวกันก่อนเดี๋ยวค่อยมาคุยต่อ” ท่านพระครูเชื้อเชิญพลางหันไปสั่งนายสมชาย ให้นำอาคันตุกะทั้งสี่ไปที่โรงครัว พระมหาบุญกับพระบัวเฮียวก็ลุกออกไปเพื่อฉันภัตตาหารเพล ท่านพระครูขึ้นไปเขียนหนังสือต่อยังชั้นบนของกุฏิ รอให้พระและฆราวาสทั้งหกกลับมาอีกครั้งท่านจึงจะลง

          ที่โรงครัว มีอาหารที่ถูกจัดเตรียมไว้เพียงโต๊ะเดียว เนื่องจากเป็นช่วงออกพรรษา อุบาสกอุบาสิกาที่มาเข้ากรรมฐานมีน้อยกว่าปกติ แม่ครัวจึงจัดอาหารใส่ปิ่นโตไปส่งให้ถึงกุฏิที่พัก จะได้ไม่ต้องเดินมาที่โรงครัว

          “เชิญเลยค่ะคุณ” แม่ครัวผู้มีอัชฌาสัยเชื้อเชิญ พลางกุลีกุจอตักข้าวใส่จานแจกบุรุษทั้งสี่ นายสมชายช่วยยกน้ำมาบริการ

            “ทานมาก ๆ นะคะคุณ หลวงพ่อท่านจะได้ดีใจ” แม่ครัววัยหกสิบบอกอาคันตุกะ หล่อนยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับทุกคนด้วยความเต็มใจ บุรุษทั้งสี่เกิดความอบอุ่นอย่างประหลาด นับตั้งแต่รถเลี้ยวเข้ามาในวัด มีความรู้สึกเหมือนดังได้กลับคืนสู่บ้านที่ตนจากไปนานแสนนาน

          “ผมรู้สึกว่าวัดนี้มีอะไรแปลก ๆ นะครับ คุณรู้สึกอย่างนั้นหรือเปล่า” บุรุษที่มาจากภูเก็ตเอ่ยขึ้น เขารู้สึกคุ้นเคยกับคนทั้งสาม ราวกับว่ารู้จักกันมานาน ทั้งที่เพิ่งจะเห็นหน้ากันเป็นครั้งแรก คนทั้งสามก็มีความรู้สึกอย่างเดียวกัน บุรุษที่มาจากเชียงใหม่เสริมว่า “ผมยังนึกว่าฝันอยู่เลยนะครับนี่ ไม่นึกว่าจะมาพบเรื่องมหัศจรรย์อย่างนี้ บอกตามตรงว่า ผมไม่เคยเข้าวัดมาก่อน ไม่เคยทำบุญ ไม่เคยศรัทธาพระ ก็พระสมัยนี้น่าศรัทธาเสียเมื่อไหร่” ประโยคหลังเขาพูดเสียงเบา เพราะเกรงแม่ครัวกับลูกศิษย์วัดจะได้ยิน

          “ส่วนผมเป็นคนชอบทำบุญมาก่อน แต่พอมีเรื่องกับท่านเจ้าคุณก็เลยเลิกทำ” คนมาจากกาญจนบุรีพูด

            “เจ้าคุณอะไรครับ” คนมาจากระยองถาม

          “ก็เจ้าคุณ....” เขาเอ่ยนามเจ้าคุณรูปหนึ่ง ที่กลังเป็นที่เคารพศรัทธาของคนกรุงเทพฯ มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นนักการเมืองหลายคน ล้วนแต่เป็นคนเด่นคนดังแทบทั้งสิ้น

          “เรื่องร้ายแรงมากหรือครับคุณถึงกับเลิกนับถือพระ”

          “ก็ไม่ร้ายแรงเท่าไหร่ แต่มันก็เล่นเอาผมหมดศรัทธาไปเลย จะเล่าให้ฟังก็คงได้ คือพี่ชายผมเขาเป็นรัฐมนตรีแล้วก็เป็นลูกศิษย์ท่าน เวลาทำบุญก็นิมนต์ท่านมาที่บ้านเป็นประจำ วันหนึ่งเขาทำบุญวันเกิด นิมนต์ท่านไว้ล่วงหน้าแล้ว พอถึงวันงานก็ให้ผมไปรับ คือผมจะทำหน้าที่รับส่งท่านทุกครั้งที่นิมนต์มา บังเอิญวันนั้นภรรยาผมเอารถเบ๊นซ์ไปร้านเสริมสวย ผมก็เลยขับโตโยต้าของลูกสาวไปรับ คุณเชื่อไหม ท่านถือตาลปัตรกับย่ามเดินตามผมมาถึงรถ พอเห็นเป็นรถโตโยต้า ท่านถามว่า ทำไมไม่เอารถเบ๊นซ์มารับ ผมก็บอกเหตุผลท่านไป ท่านก็ยืนลังเลไม่ยอมขึ้นรถ เสร็จแล้วก็บอกผมว่ารอเดี๋ยวนะ แล้วก็หายเข้ากุฏิไป ประเดี๋ยวหนึ่งก็ส่งพระอีกรูปมาแทน พี่ชายผมโกรธมาก พระรูปนั้นเล่าให้ฟังว่า เจ้าคุณท่านเจ้ายศเจ้าอย่าง ใครไม่เอารถเบ็นซ์มารับท่านก็ไม่ไป พระในวัดรู้กันดีว่าท่านติดในลาภสักการะมาก หากไม่มีผู้ใดกล้าเตือนเพราะท่านเป็นเจ้าอาวาส พวกผมก็เลยเลิกนับถือพระ เลิกทำบุญกันมาตั้งแต่บัดนั้น”

          “เรื่องที่คุณเล่ามาผมจะไม่เชื่อเลยถ้าไม่ประสบกับตัวผมเอง บังเอิญผมก็รู้จักท่าน แล้วก็โดนแบบเดียวกับที่คุณโดน ผมเลยเข็ด แต่ทำไมถึงมาวัดนี้ได้ก็ไม่รู้” บุรุษที่มาจากระยองพูด

          “แต่วัดนี้คงไม่ทำให้พวกเราต้องผิดหวังนะ ผมรู้สึกศรัทธาหลวงพ่อท่านจริง ๆ สงสัยว่าท่านจะเป็นพระวิเศษถึงได้รู้อะไร ๆ เกี่ยวกับพวกเรา ผมอยากมาทำบุญกับท่าน คงเป็นบุญของผมนะ ไม่งั้นคงไม่ดั้นด้นมาถึงที่นี่ เพราะวัดที่ภูเก็ตก็มีตั้งหลายวัด” การสนทนาชะงักลงชั่วครู่ เพราะรสชาติของอาหารไม่เปิดโอกาสให้คุยกัน เสร็จจากการรับประทาน นายสมชายจึงพาบุคคลทั้งสี่กลับมายังกุฏิท่านพระครูและพระอีกสองรูปนั่งรออยู่แล้ว

          คนทั้งสี่นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงกล่าวขึ้นว่า “พระวัดนี้ไม่เหมือนที่อื่นหรอกโยม ใครมานิมนต์ถ้าว่างก็ไปทั้งนั้น ไม่ต้องเอารถเบ็นซ์มารับด้วย เดินไปก็ยังเคย” คนทั้งสี่มองหน้ากันเลิ่กลั่ก สงสัยเสียจริงว่า ท่านรู้เรื่องที่พวกเขาคุยกันได้อย่างไร

          “แต่พระในประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างท่านเจ้าคุณหมดหรอกนะ ที่ดี ๆ ก็ยังมีอีกมาก อย่าเพิ่งเข้าใจผิด” ท่านพูดต่อ เมื่อเห็นคนเหล่านั้นทำหน้าสงสัย “ไปตามคนขับรถสี่คนให้ไปกินข้าวเสีย” ท่านหันไปสั่งนายสมชาย “หลวงพ่อทราบได้อย่างไรครับ” คนที่มาจากระยองถาม

          “โยมอย่าได้พากันสงสัยไปเลย หลวงพ่อท่านสามารถรู้ทุกอย่างถ้าท่านอยากจะรู้” พระมหาบุญบอกกล่าว พระบัวเฮียวจึงเสริมอีกว่า “หลวงพ่อท่านได้ “เห็นหนอ” น่ะโยม” บุคคลทั้งสี่พอจะเข้าใจที่พระมหาบุญพูด แต่ไม่มีใครเข้าใจคำพูดของพระบัวเฮียว ไม่มีเลยสักคน!

          “เอาละ อิ่มหมีพีมันกันดีแล้ว ไหนลองบอกมาซิว่านึกยังไงถึงพากันมาที่นี่ได้ ไม่ได้นัดกันไม่ใช่หรือ”

          “ไม่ได้นัดครับ พวกผมเพิ่งมารู้จักกันที่นี่ ผมก็ไม่ทราบว่าคนอื่น ๆ เขามาที่นี่เพราะอะไร สำหรับผม ฝันว่ามีหญิงสาวคนหนึ่งมาบอก ให้มาช่วยสร้างหอประชุมที่วัดป่ามะม่วงจะมีอานิสงส์มาก และจะมีเพื่อนเก่ามาช่วยสร้างอีกสามคน” คนมาจากระยองพูดยังไม่ทันจบ คนมาจากกาญจนบุรีก็พูดขึ้นว่า

            “ผู้หญิงอายุประมาณยี่สิบ ผิวคล้ำ หน้าคม ผมยาว”

          “สวมผ้าซิ่นสีน้ำเงิน เสื้อแขนกระบอกสีขาวใช่ไหม” คนมาจากเชียงใหม่ต่อให้ และคนที่มาจากภูเก็ตก็พูดด้วยเสียงอันดังว่า

          “เธอบอกว่าชื่อ กาหลง ใช่ไหม” เป็นอันว่าคนทั้งสี่ฝันแบบเดียวกัน ท่านพระครูรู้สึกประหลาดใจที่ “แม่กาหลง” มีศรัทธามากมายถึงปานนั้น “เห็นหนอ” บอกเพียงว่าจะมีคนมา แต่ไม่ได้บอกเรื่องแม่กาหลง

          “วัดนี้มีผู้หญิงชื่อ กาหลง ด้วยหรือครับ” คนที่มาจากภูเก็ตถาม ท่านพระครูเห็นว่า หากให้คนทั้งสี่รู้เรื่องแม่กาหลง เขาก็จะไม่ยอมมาวัดกันอีก จึงพูดแบ่งรับแบ่งสู้ว่า

          “มี แต่เขาไม่ค่อยชอบพบปะกับใคร อย่าไปกวนเขาเลย ว่าแต่ว่าคุยกันมาตั้งนาน อาตมายังไม่รู้เลยว่า โยมชื่ออะไรกันบ้าง แนะนำตัวกันสักหน่อยไม่ดีหรือ” ท่านเจ้าของกุฏิพยายามเบนออกจากเรื่องแม่กาหลง พระบัวเฮียวเองก็ยังไม่รู้ว่าแม่กาหลงเป็นใคร

          “ผมชื่อบุญชัยครับ ใคร ๆ เขาเรียกผมว่าพ่อเลี้ยงชัย” คนมาจากเชียงใหม่แนะนำตัวเอง

          “ผมชื่อศักดิ์ชัย คนเมืองกาญจน์ เขาเรียกผมว่า เสี่ยชัย

          “คนระยองเขาเรียกผมว่า เถ้าแก่ชัย ชื่อเต็ม วิชัย ครับ”

          “ส่วนผมเขาเรียกว่า เฮียชัยกันทั้งจังหวัด” คนมาจากภูเก็ตแนะนำตัวเป็นคนสุดท้าย

          “แล้วชื่อเต็มว่าอะไร” พระมหาบุญถาม

          “ชื่อชัยเฉย ๆ ครับ” เขาตอบ

          “ถ้าอย่างนั้น อาตมารู้แล้วว่าจะตั้งชื่อหอประชุมว่าอะไรดี รับรองว่าโยมจะต้องเห็นด้วย” ท่านพระครูพูดขึ้น

          “ชื่ออะไรครับ” เสี่ยชัยถาม

          “หอประชุมจตุรชัย แปลว่าชัยทั้งสี่ หรือสี่ชัย เป็นยังไงโก้ดีไหม” คนตั้งชื่อถามความเห็น ไม่มีผู้ใดให้คำตอบ แล้วพ่อเลี้ยงชัยจึงถามท่านพระครูบ้างว่า

          “พวกผมยังไม่ทราบเลยครับว่าหลวงพ่อชื่ออะไร”

          “แม่กาหลงเขาไม่ได้บอกหรอกหรือ”

          “ไม่ได้บอกครับ บอกแต่ชื่อวัดและที่ตั้ง” เสี่ยชัยเป็นคนตอบ

          “หลวงพ่อชื่อเจริญ ท่านพระครูเจริญ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง” พระมหาบุญเป็นผู้บอก

          “ถ้าอย่างนั้นผมขอเสนอว่า หอประชุมควรจะชื่อ เจริญชัย คือเอาชื่อหลวงพ่อนำ ตามด้วยชื่อพวกผม” เฮียชัยออกความเห็น ซึ่งสมาชิกทั้งสาม รวมพระอีกสองต่างก็เห็นด้วย ชื่อที่ท่านพระครูเสนอจึงต้องตกไปตามมติที่ประชุม

          “เป็นอันว่าเราได้ชื่อแล้ว ทีนี้เรื่องแบบล่ะครับ หลวงพ่อจะออกแบบเองหรือว่าจะให้พวกผมจัดการ” เสี่ยชัยถาม

          “อาตมาจะออกเอง ไหน ๆ เรื่องชื่อก็ตกไปแล้ว ขอแก้ตัวเรื่องแบบอีกสักครั้ง แล้วอาตมาจะให้โยมสี่คนดู ถ้าไม่ชอบใจก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ อาตมาชอบประชาธิปไตย ไม่ชอบเผด็จการ” ฟังคำพูดของท่านแล้ว คนทั้งสี่รู้สึกสบายใจและมีศรัทธาปสาทะมากขึ้น

          “เรื่องแบบผมจะไม่คัดค้าน ขอให้เป็นไปตามความพอใจของหลวงพ่อ ผมได้เสนอชื่อและเป็นที่ยอมรับผมก็ดีใจแล้ว” เฮียชัยกล่าว และได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนอีกสามคน

          “ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย พวกผมสี่คนจะรับผิดชอบทุกบาททุกสตางค์” พ่อเลี้ยงชัยสรุป

          “เรื่องนี้อาตมาขอเสนอให้มีการทอดกฐิน จะได้ให้คนอื่น ๆ เขามีโอกาสร่วมทำบุญด้วย โบราณท่านสอนเอาไว้ว่าทำบุญอย่าหวงบุญ ต้องกระจายกันออกไปมาก ๆ อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนยากคนจนได้มีส่วนร่วมสร้างกุศล คนละสลึงสองสลึงก็ยังดี เกิดชาติหน้าจะได้มีบริวาร” ท่านพระครูแนะนำ

          “แต่นี่ก็หมดเทศกาลกฐินแล้วนี่ครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวท้วง

          “ปีนี้หมดก็ทอดปีหน้าได้ ถึงอย่างไรก็สร้างไม่เสร็จในปีเดียวหรอก หรือโยมว่ายังไง” ท่านถามเถ้าแก่ชัย

          “ครับ แล้วแต่หลวงพ่อจะเห็นสมควรเถิดครับ ส่วนผมคงไม่มีเวลามาที่นี่บ่อยนัก ก็จะขอฝากเงินไว้ก่อน ขาดเหลืออะไรหลวงพ่อช่วยมีหนังสือไปหาตามที่อยู่ในนามบัตรนี่นะครับ” พูดเสร็จจึงเขียนเช็คเงินสดจำนวนสามแสนบาทพร้อมนามบัตรถวายท่านพระครู คนอื่น ๆ ทำตามเพราะเห็นชอบด้วย ท่านพระครูรับไว้แล้วพูดสัพยอกว่า

          “เงินตั้งมากมาย นี่ถ้าเกิดอาตมาเบิกเงินแล้วหนีไปแต่งงาน โยมจะว่ายังไง”

          “ก็แล้วแต่หลวงพ่อเถิดครับ” เสี่ยชัยตอบ หากใจเกิดกลัวขึ้นมาจริง ๆ บุรุษอีกสามคนพลันเกิดความรู้สึกอย่างเดียวกัน ท่านพระครูรู้จึงเสนอว่า

          “อาตมาว่าเราเปิดบัญชีร่วมกันทั้งห้าคนไม่ดีหรือ จะได้สบายใจด้วยกันทุกฝ่าย” เสียชัยจึงตอบว่า

          “ทำอย่างนั้นมันก็ดีอยู่หรอกครับ แต่มันจะยุ่งยากตอนเบิกจ่าย เอาเป็นว่าพวกผมไว้ใจหลวงพ่อก็แล้วกัน”

          “ถ้าอย่างนั้นอาตมาจะตั้งกรรมการวัดขึ้นชุดหนึ่ง สำหรับดำเนินการเรื่องนี้ เรื่องการเบิกจ่ายก็จะให้กรรมการทุกคนรับรู้ อาตมาเป็นคนละเอียด จะทำอะไรก็ต้องให้รอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะเรื่องเงินเรื่องทองซึ่งทำให้คนเสียคน พระเสียพระมานักต่อนักแล้ว มีวัดหนึ่งอย่าให้อาตมาเอ่ยชื่อเลย โดยเขาทอดกฐินเพื่อจะเอาเงินสร้างโบสถ์ ปรากฏว่าสมภารเชิดเงินหนีไปแต่งงานอยู่ที่กรุงเทพฯ

          “แบบนี้ตกนรกไหมครับ” พระบัวเฮียวถาม

          “ไม่น่าถาม ก็เท่ากับฉ้อโกง เงินเขาเจตนาจะให้มาสร้างกุศล ไม่ได้ให้สมภารแต่งเมีย” บุคคลทั้งสี่ฟังแล้วรู้สึกใจไม่ดี ท่านพระครูกำหนด “เห็นหนอ” รู้ว่าเขายังคลางแคลงใจจึงพูดตัดบทว่า

          “เอาอย่างนี้ดีไหม กว่าอาตมาจะออกแบบเสร็จก็คงอีกหลายเดือน เพราะไม่ค่อยมีเวลาว่าง ออกแบบแล้วยังจะต้องหาผู้รับเหมาให้มาประกวดราคา มันหลายขั้นตอน ก็คงจะกินเวลาอีกหลายเดือน โยมเอาเงินคืนไปก่อนดีกว่า ได้เรื่องอย่างไรแล้ว อาตมาจะมีหนังสือแจ้งไป อาตมาไม่อยากถือเงินมาก ๆ นึกว่าเห็นใจอาตมาเถอะ” เป็นอันว่าคนทั้งสี่ยอมรับเช็คคืนไป แต่ก็ได้ตั้งสัจจะว่าจะไม่เลิกล้มความตั้งใจที่จะช่วยสร้างหอประชุม

          เมื่อพวกเขากราบลา ท่านพระครูให้ศีลให้พรว่า “ขอให้โยมทุกคนจงมีความสุขความเจริญ และขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ ทีสำคัญคือ ขอให้หาเลี้ยงชีพในทางสุจริต การหากินในทางทุจริตนั้น แม้จะรวยเร็ว แต่ก็วิบัติเร็วเช่นกัน จำไว้นะโยมนะ”

          “หลวงพ่อคืนเขาไปทำไมครับ น่าเสียดายเงินตั้งเป็นล้าน” พระบัวเฮียวพูดขึ้นเมื่อคนทั้งสี่ลุกออกไปแล้ว

          “ก็ฉันสำรวจดูแล้ว เห็นว่าเขายังไม่เชื่อใจ ก็เลยต้องทำให้เขาเชื่อ และไม่ต้องห่วงหรอก พวกเขาจะต้องกลับมาที่นี่อีก”

          “ครับ ถ้าอย่างนั้นผมก็หมดห่วง เอ...หลวงพ่อครับ ที่หลวงพ่อพูดถึงท่านเจ้าคุณนั้นท่านอยู่วัดไหน ชื่ออะไร แล้วท่านเป็นอย่างไรหรือครับ”

          “เธอจะรู้ไปทำไมล่ะ ถึงบอกไปเธอก็คงไม่รู้จัก”

          “ถึงไม่รู้จักผมก็ว่ามันมีประโยชน์นะครับ คือว่าท่านทำดีผมจะได้เอาเป็นตัวอย่าง ถ้าไม่ดีผมก็จะได้ไม่ทำตาม”

          “เหตุผลของเธอฟังเข้าท่าดี แต่ฉันจะไม่บอกเธอหรอก ท่านจะดีหรือไม่ดีมันก็เรื่องของท่าน”

          “เอาไว้ให้เป็นหน้าที่ของกฎแห่งกรรมใช่ไหมครับ” พระหนุ่มล้อเลียนมาอยู่วัดนี้ได้ยินแต่คำว่า “กฎแห่งกรรม” จนชินหู

          “ทำเป็นพูดเล่นไปเถอะ แล้ววันหนึ่งเธอจะรู้ คอยดูไปก็แล้วกัน อีกหน่อยพระที่ทำผิดวินัย ประพฤตินอกลู่นอกทางจะต้องเดือดร้อน จะถูกจับสึกบ้าง ติดคุกบ้าง ฆ่าตัวตายบ้าง แล้วอย่างนี้ไม่เรียกว่ากฎแห่งกรรมแล้วจะให้เรียกอะไร”

          “ครับ ก็ต้องเรียกว่ากฎแห่งกรรมนั้นแหละครับ” พระญวนเริ่มยวน” หากท่านพระครูไม่ใส่ใจ คงพูดต่อไปว่า

          “อันที่จริงฉันก็ไม่อยากจะพูดเรื่องนี้ มันไม่สบายใจเพราะแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ฉันก็ตั้งปณิธานไว้ว่า จะไม่เป็นอย่างนั้น และจะสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาไม่ให้ประพฤติชั่ว ถ้า หอประชุมเสร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก ฉันตั้งใจจะเลิกสร้างวัตถุ จะสร้างคนแทน เพราะถ้าเราทำให้คนเปลี่ยนจากมิจฉาทิฐิมาเป็นสัมมาทิฐิได้ นับว่าได้บุญกว่าการสร้างวัตถุหลายเท่านัก ต่อไปข้างหน้าถ้าเธอไปเป็นครูบาอาจารย์ใคร ฉันก็ขอฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย”

          “ครับ ผมจะดำเนินรอยตามหลวงพ่อทุกประการ” คนเป็นศิษย์รับสนองเจตนารมณ์ของอาจารย์

          “หลวงพ่อครับ เมื่อวานหลวงพ่ออนุญาตผมให้เรียนถามข้อข้องใจได้” พระบัวเฮียวทวงสัญญา พระมหาบุญซึ่งเป็นฝ่ายฟังมานานจึงพูดขึ้นว่า

          “ถ้าอย่างนั้น ผมเห็นจะต้องขอตัว เพราะผมไม่มีข้อสงสัยอะไร จะกลับไปปฏิบัติที่กุฏิ” พูดจบจึงกราบท่านเจ้าอาวาสสามครั้งแล้วลุกออกไป...

 
มีต่อ........๑๘
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #20 เมื่อ: เมษายน 11, 2007, 08:00:54 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00018

 

๑๘...

            “หลวงพ่อครับนายจ่อยเขาบอกว่าหลวงพ่อมีกระจกวิเศษ” เป็นคำถามแรกที่พระบัวเฮียวถามท่านพระครู
                “งั้นหรือ แล้วเขาเล่าอะไรให้เธอฟังอีก”

          “เขาเล่าว่ากระจกวิเศษสามารถดูเนื้อคู่ได้ ที่เขาได้คู่หมั้นกับโยมจุกก็เพราะกระจกหลวงพ่อ”

          “อ้อ เขาว่ายังงั้นหรือ พูดถึงนายจ่อยทำให้ฉันนึกได้ว่าเขาจะแต่งงานวันที่ ๙ ธันวาที่จะถึงนี้ อีกไม่กี่วันแล้วซีนะ เขานิมนต์พระวัดเรา ๙ รูปเลย ไม่มีเจริญพระพุทธมนต์เย็น เราเห็นจะต้องออกกันตั้งแต่ตีสี่ ฉันจะให้เธอกับมหาบุญไปด้วย คงเต็มรถพอดี” ท่านนึกขอบใจครูสฤษดิ์ที่ซื้อรถตู้มาถวาย

          “ครับ แต่ผมอยากรู้เรื่องกระจกวิเศษนะครับ หลวงพ่อจะกรุณาเล่าให้ผมฟังได้หรือเปล่า แล้วถ้าผมจะขอ...เอ้อ...ขอดูเนื้อคู่ หลวงพ่อจะขัดข้องไหมครับ” พูดอย่างเกรงใจเป็นที่สุด

            “โธ่เอ๋ยบัวเฮียว รู้สึกว่าเธออยากจะมีคู่เสียจริงนะ จำไม่ได้หรือที่ฉันเคยบอกว่าดวงเธอไม่มีเนื้อคู่”

          “จำได้ครับ”

          “งั้นก็แปลว่าเธอไม่เชื่อ”

          “เชื่อครับ แต่ผมอยากให้กระจกตรวจสอบอีกที ก็หลวงพ่อบอกผมไว้หลายเดือนแล้ว ตอนนั้นเนื้อคู่ผมอาจจะยังไม่เกิด ตอนนี้คงจะเกิดแล้ว” ท่านพระครูอยากจะว่าแรง ๆ แต่เมื่อนึกได้ว่าอีกฝ่ายยังหนุ่มยังแน่น ก็ต้องคิดถึงเรื่องอย่างนี้อันเป็นธรรมชาติธรรมดาของคนหนุ่ม คิดได้ดังนี้จึงพูดขึ้นว่า

          “เอาละ เมื่อเธออยากรู้ ฉันก็จะเล่าให้ฟัง” แล้วท่านจึงเริ่มต้นเล่าว่า

          “ฉันได้วิชานี้มาจากหลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า ตั้งแต่ฉันบวชใหม่ ๆ ผู้ที่จะเรียนวิชานี้ได้จะต้องได้กสิณ ฉันก็ฝึกอาโปกสิณอยู่หลายเดือน จึงได้ไปเรียนกับท่าน เป็นวิชาไสยศาสตร์ กระจกหมอดูนี้ดูแม่นอยู่สองเรื่อง คือเรื่องของหาย กับดูเนื้อคู่ เชื่อไหม ถ้าฉันสึกออกไปหากินใต้ต้นมะขามสนามหลวง รับรองว่ารวยไม่รู้เรื่อง เพราะคนเขาชอบดูเนื้อคู่กัน โดยเฉพาะพวกอาจารย์สาว ๆ นี่ชอบดูนัก”

          “แล้วทำไมหลวงพ่อไม่สึกล่ะครับ เป็นผมสึกไปเสียตั้งนานแล้ว” พระบัวเฮียวขัดขึ้น

          “ก็ถึงว่าซี แต่ทำไมฉันถึงไม่สึกก็ไม่รู้” ท่านแกล้งเอออวย “รวบรัดตัดใจความก็คือ ฉันได้วิชาหมอดูจากหลวงพ่อศุข ที่นี้พอคนรู้ก็พากันมาให้ดูใหญ่ วิธีดูก็คือต้องเสกคาถาก่อนแล้วจึงเป่าไปที่กระจก เป็นกระจกแปดเหลี่ยมนะ ไม่ใช่กระจกธรรมดา เช่น สมมุติว่าเขามาดูเนื้อคู่ พอเสกคาถาลงไป คนที่จะมาเป็นเนื้อคู่ก็จะไปปรากฏที่กระจำ ทีนี้เวลาจะลบก็ต้องใช้น้ำมนต์ลบถึงจะออก ถ้าไม่ใช้น้ำมนต์ก็จะติดอยู่อย่างนั้นถึงเจ็ดวันจึงจะลบไปเอง

            นายจ่อยตอนนั้นเขาเป็นเณร อายุเพิ่งจะสิบห้า แต่มารบเร้าให้ดูเนื้อคู่ แหมพอภาพอีจุกติดในกระจก โกรธฉันเสียยกใหญ่ หาว่าฉันแกล้ง เสร็จแล้วเป็นไง หนีพ้นอีกจุกเสียที่ไหน” ท่านนึกภาพ “อีจุก” เด็กขี้มูกมากคนนั้นแล้วยังอดขำไม่ได้

          “เห็นว่าหลวงพ่อต้องเทข้าวทิ้งน้ำเพราะโยมจุกเป็นเหตุจริงหรือเปล่าครับ แล้วไม่กลัวผิดวินัยหรือครับ”

          “กลัวสิ ทำไม่จะไม่กลัว แต่มันคลื่นไส้ก็เลยบอกเณรจ่อยว่าเราเลี้ยงปลากันเถอะ แหมอีกจกนะอีจุก เล่นเอาฉันเทข้าวทิ้งน้ำทุกวัน ตอนบวชใหม่ ๆ ฉันก็ไม่ได้เป็นพระดิบพระดีเท่าไหร่หรอก” ท่านสารภาพ

          “แล้วทำไมเดี๋ยวนี้ถึงดีได้ละครับ” คนฟังย้อนถาม

          “ก็ตั้งแต่ได้เรียนกรรมฐานจากพระในป่า ฉันเลยกลับเนื้อกลับตัวได้ รู้ดีรู้ชั่วขึ้นมาเองเพราะการปฏิบัติ นับว่าเป็นบุญของฉัน ไม่เช่นนั้น ป่านนี้อาจกลายเป็นมารศาสนาไปแล้วก็ได้” ท่านพระครูหัวเราะหึหึ ก่อนที่จะเล่าต่อไปว่า

          “อยู่มาวันหนึ่ง สมภารจุ่นวัดบ้านเหนือก็มาขอให้ดูให้”

          “ดูของหายหรือครับ”

          “ไม่ใช่ ดูเนื้อคู่” ท่านลงเสียงหนักตรง “ดูเนื้อคู่”

            “เนื้อคู่ใครครับ”

          “ก็เนื้อคู่ท่านน่ะสิ อายุท่านก็ไม่เท่าไหร่ แค่หกสิบสอง อายุหกสิบสองมาให้ดูเนื้อคู่ สมภารนะสมภาร”

          “แล้วหลวงพ่อดูให้ไหมครับ”

          “ฉันก็ว่าจะไม่ดูเพราะเห็นท่านแก่จวนจะเข้าเมรุอยู่แล้ว ยังอยากจะมีคู่ พุทโธ่พุทถังอนิจจังอนิจจา”

          “แล้วเห็นไหมครับ มีใครมาปรากฏในกระจกไหม”

          “ไม่มี เพราะเนื้อคู่ท่านยังไม่เกิด ฉันก็บอกท่านว่า ท่านสมภาร เนื้อคู่ท่านยังไม่มาเกิด ยังอยู่ในเมืองนรก ท่านโกรธใหญ่หาว่าแกล้ง ที่จริงเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แหมไม่น่ามาโกรธกันเลย” ท่านพูดยิ้ม ๆ

          “แล้วตอนนี้สมภารจุ่นยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าครับ”

          “ยังอยู่ เจ็ดสิบกว่าแล้ว ไม่รู้ยังคิดที่จะมีเนื้อคู่อยู่อีกหรือเปล่า เหมือนเธอนั่นแหละ” ประโยคหลังท่านวกมาหาคนฟัง

          “ไม่เหมือนหรอกครับ ผมเพิ่งจะยี่สิบหก ยังหนุ่มยังแน่น ถ้าหกสิบสองผมคงเลิกคิดแล้ว” พระบัวเฮียวแย้ง แล้วจึงพูดเสียงอ่อย ๆ ว่า

          “หลวงพ่อครับ โปรดดูให้ผมสักครั้งเถิดครับ รับรองว่าผมจะไม่กวนใจหลวงพ่ออีกเลย”

          “สายไปเสียแล้วบัวเฮียวเอ๋ย อย่ามาอ้อนวอนเสียให้ยาก ถึงฉันจะใจอ่อนก็ดูให้ไม่ได้ เพราะฉันเลิกมาหลายปีแล้ว”

          “ทำไมเลิกเสียละครับ”

          “มันมีสาเหตุน่ะซี เอาละจะเล่าให้ฟัง บอกตามตรงว่าไม่อยากเล่าสักเท่าไหร่ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นมันก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว เดี๋ยวจะหาว่าเอาเขามานินทา”

          “ถ้ามันทำให้หลวงพ่อไม่สบายใจ ไม่ต้องเล่าก็ได้ครับ” พระบัวเฮียวพูดอย่างเกรงใจ

          “ไม่เป็นไร เธอจะได้หายสงสัย เรื่องมันเป็นอย่างนี้ คือนายบุญช่วย เขามาขอให้ฉันดูของหาย”

          “ของอะไรเขาหายหรือครับ”

          “ไม่ใช่ของของเขาหรอก ของคนเขมรที่มาขออาศัยบ้านเขาอยู่ ตอนนั้นเขมรแตก ผู้คนก็พากันหนีออกนอกประเทศ ก็หอบทองกันมาคนละหลาย ๆ บาท คนที่มาอาศัยนายบุญช่วยอยู่นั่นเอาทองมาหนักห้าสิบบาท ทีนี้อยู่ ๆ ทองเกิดหายไป นายบุญช่วยก็พามาให้ฉันช่วยดู พอฉันเสกคาถาเป่าลงไปที่กระจกแปดเหลี่ยม ที่เธอเรียกว่ากระจกวิเศษนั่นแหละ แต่ฉันเรียกว่ากระจกหมอดู ผลปรากฏว่ายังไงรู้ไหม”

          “ไม่ทราบครับ”

          “ปรากฏว่า รูปนายบุญช่วยไปติดอยู่ที่กระจก ฉันก็ยังไม่ให้เขาดู บอกว่าโยมบุญช่วยกลับไปเถอะ อาตมาไม่ดูหรอกเดี๋ยวจะผิดใจกันเปล่า ๆ เขาก็ยืนยันว่าอยากดู ที่เขาพูดอย่างนี้เพราะไม่เชื่อว่ากระจกจะแม่น คิดว่าจะเหมือนรายของสมภารจุ่นที่มาดูเนื้อคู่แล้วไม่มีรูปปรากฏ ฉันก็ไม่ยอมดูให้ ที่แท้ฉันรู้แล้ว ภาพนายบุญช่วยก็ยังอยู่ในกระจก เขาก็ไปตามสมภารจุ่นให้มาช่วยพูด ฉันบอกถ้าอยากจะดูก็ตามใจ เลยเอากระจกให้ดู เธอเอ๋ยเขาโกรธฉันเสียใหญ่ ไม่โกรธอย่างเดียว ก่นด่าหยาบ ๆ คาย ๆ บรรพบุรุษฉันทั้งข้างพ่อข้างแม่ถูกนายบุญช่วยขุดขึ้นมาด่าหมด แถมเปลี่ยนหน้าให้ฉันเสียอีก”

            “เปลี่ยนยังไงครับ” พระญวนสงสัย

          “ก็เปลี่ยนจากหน้าคนเป็นหน้าอวัยวะเพศน่ะซี ตานี่หยาบคายมาก” ท่านยังจำถ้อยคำหยาบคายของฝ่ายนั้นได้

          “แล้วหลวงพ่อโกรธไหมครับ”

          “โกรธหน้าเขียวหน้าเหลืองเชียวละ ฉันก็เลยยกมือขึ้นประนมสาบานต่อหน้าสมภารจุ่นว่า นับแต่นี้ต่อไปจะไม่ดูให้ใครอีก แล้วฉันก็เขวี้ยงกระจกหมอดูลงแม่น้ำเจ้าพระยาไป ทั้ง ๆ ที่มีรูปนายบุญช่วยติดยู่ นี่แหละสาเหตุที่ทำให้ฉันเลิกดู” ท่านพระครูเล่า “เขวี้ยง” ของท่านก็คือ “ขว้าง”

          “แล้วเดี๋ยวนี้นายบุญช่วยยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าครับ ผมอยากจะไปเตะมันสักสองสามป้าบฐานมาด่าครูบาอาจารย์ผม” พระบัวเฮียวพูดอย่างโกรธแทนผู้เป็นอาจารย์

          “อย่าไปสนใจเขาเลย ฉันเองก็ไม่ได้ผูกพยาบาทฆาตพยาเวรอะไรเขาแล้ว มัน...”

          “เป็นไปตามกฎแห่งกรรม” พระบัวเฮียวต่อให้

          “ก็จริง ๆ นี่นา ตอนหลังมีคนมาบอกว่าเขาไปติดคุกอยู่หลายปีด้วยเรื่องนี้ เรื่องขโมยทองเขมรนี่”

          “ตอนที่หลวงพ่อโกรธ หลวงพ่อกำหนด “โกรธหนอ” หรือเปล่าครับ”

          “ไม่ได้กำหนด เพราะตอนนั้นยังกำหนดไม่เป็น ยังไม่ได้เรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อในป่า เลยโกรธเสียไม่มีดี ถ้าเป็นฆราวาสอยู่ก็เห็นจะต้องตายกันไปข้างหนึ่ง เห็นไหม เธอเห็นอานิสงส์ของการบวชหรือยัง ฉันถึงได้ไม่ยอมสึกเพราะไม่งั้นคงตกนรกเพราะฆ่าคนตาย”

          นายบุญช่วยนี่แย่มากนะครับ เขาอุตส่าห์หนีร้อยมาพึ่งเย็น ไม่น่าไปทำกับเขาอย่างนั้น ใจดำอำมหิตจริง ๆ”

          “อย่าไปว่าเขาเลย เขาก็ชดใช้กรรมที่เขาก่อแล้ว กรรมมันให้ผลทันตาเห็นจริง ๆ แหม นายบุญช่วยนี่สำคัญ มาเปลี่ยนหน้าให้ฉันได้” พูดแล้วก็หัวเราะ เรื่องที่เคยสะเทือนใจในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องน่าขันเสียมากกว่า ช่างไม่มีอะไรคงที่คงทน ไม่มีตัวไม่มีตนให้ยึด ให้ถือแม้แต่อย่างเดียว

          “ถ้าผมจะไปขอเรียนวิชากับหลวงพ่อศุขบ้าง ท่านจะสอนให้ไหมครับ” พระบัวเฮียวถาม

          “ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน แล้วฉันก็ไม่รู้จะไปถามท่านได้ที่ไหน เพราะท่านเข้าเมรุไปสี่ห้าปีแล้ว” แม้จะไม่มีเชื้อสายญวนแต่ท่านก็พูด “ยวน” ได้

          “แหมเสียดายจริง ๆ ไม่งั้นผมคงมีโอกาสสึกไปนั่งใต้ต้นมะขามแน่เลย เรียนจากหลวงพ่อได้ไหมครับ”

          “เธอจะเรียนไปทำไม มันไม่มีประโยชน์สักเท่าไหร่ ช่วยให้พ้นทุกข์ก็ไม่ได้ ฉันตั้งใจแล้วว่าจะไม่สอนให้ใคร แต่ถ้าจะเรียนวิชากรรมฐาน ฉันยินดีจะสอนให้เพราะเป็นวิชาที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ เชื่อฉันเถอะ อย่างวิชาทำเสน่ห์ก็เหมือนกัน ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย”

          “หลวงพ่อเรียนด้วยหรือครับ”

          “เรียนซี ฉันเรียนวิชาไสยศาสตร์ มาหลายวิชา แต่เดี๋ยวนี้ทิ้งหมดแล้ว เหลือแต่วิชากรรมฐานวิชาเดียว ส่วนไสยศาสตร์ทิ้งหมด”

          “หลวงพ่อคิดยังไงถึงไปเรียนวิชาทำเสน่ห์ล่ะครับ”

          “อ้าว ก็อยากให้ผู้หญิงเขารักน่ะซีถามได้”

          “แล้วเขารักไหมล่ะครับ”

          “รักหรือไม่รักก็นับปิ่นโตไม่ไหวแล้วกัน สาว ๆ แย่งกันมาส่งปิ่นโตวันนึงยี่สิบเถาได้มั้ง จนไม่รู้จะฉันของใคร”

          “แล้วเดี๋ยวนี้ทำไมไม่มีสักเถาเดียวล่ะครับ”

          “ก็ฉันไม่ยอมสึกสักที ปิ่นโตก็เลยค่อย ๆ หายไปทีละเถาสองเถา เพราะคนส่งเขาไปแต่งงานกับคนอื่น ในที่สุดก็ไม่เหลือสักเถาอย่างที่เธอว่านั่นแหละ แหมคนแถวนี้ไม่ไหวคบไม่ได้” แล้วท่านก็หัวเราะหึหึ ไม่ทราบว่าขำอะไร ยิ่งเล่าคนเล่าก็ยิ่งนึกสนุกจึงเล่าต่ออีกว่า “พวกคนเฒ่าคนแก่ก็ไม่เบา หนอย วางแผนจะจับฉันไปเป็นลูกเขย โน่นบ้านฝั่งโน้น” ท่านชี้ไปยังบ้านที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา

          “วางแผนอย่างไรครับ” คนถามสนใจ

          “ก็ทำเป็นนิมนต์ไปเที่ยวบ้านน่ะซี จะให้ไปจีบลูกสาว ไอ้เรารึก็รู้ทันว่า ถ้าไป ถูกจับแต่งงานแน่ ก็เลยไม่ยอมไป คนพวกนี้เจ้าเล่ห์อย่าบอกใคร กว่าฉันจะครองตัวอยู่มาจนอายุห้าสิบนี่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายเชียวละ ไม่งั้นก็ไม่รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้หรอก”

          “แล้วหลวงพ่อคิดจะสึกไหมครับนี่” คนเป็นศิษย์แกล้งถาม

          “จะสึกไปทำไมกันเล่า อยู่มาจนป่านนี้แล้ว” คนตอบตอบจริงจัง

          “มันก็ไม่แน่นะครับ หลวงพ่อเพิ่งจะห้าสิบ สมภารจุ่นตั้งหกสิบสองยังคิดสึกเลย”

          “นั่นมันสมภารจุ่น แต่สมภารเจริญไม่เป็นอย่างนั้นแน่ รับรองได้ ถ้าจะสึกก็คงสึกเสียตั้งแต่หนุ่ม ๆ แล้ว”

          “ตอนหนุ่ม ๆ เขาว่าหลวงพ่อรูปหล่อมากจนต้องกินยาลดความหล่อจริงหรือเปล่าครับ นายจ่อยเขาเป็นคนบอกผม”

          “อ้อ เจ้าจ่อยเขาว่ายังงั้นหรือ แล้วเธอเชื่อเขาหรือเปล่าล่ะ เชื่อหรือเปล่าหือ”

          “ยังไม่เชื่อเสียเลยทีเดียว ผมอยากทราบข้อเท็จจริงจากปากหลวงพ่อครับ”

          “เธอจะรู้ไปทำไม ฉันมองไม่เห็นประโยชน์สักนิด”

          “ผมอยากสึกน่ะครับ” พระหนุ่มสารภาพ

          “เธอจะอยากไปทำไมนะบัวเฮียว ถ้าอยากรับรองว่าไม่ได้สึก”

          “งั้นผมไม่อยากก็ได้” พระบัวเฮียวหลงกล ท่านพระครูจึงสรุปว่า “ดี ๆ ฉันขออนุโมทนา การครองเพศบรรพชิตนั้นประเสริฐที่สุดแล้ว เธอจะสึกออกไปสร้างเวรสร้างกรรมทำไมเล่า”

            “โธ่หลวงพ่อ ก็คนที่เขาหล่อน้อยหว่าผมยังสึกนี่นา” พระหนุ่มครวญ

          “แล้วที่หล่อมากกว่าเธอที่เขาไม่สึกล่ะ อย่างน้อยก็มีฉันคนหนึ่งละ...” คนเป็นอาจารย์ยั่วลูกศิษย์

          “เรื่องของหลวงพ่อ ไม่ใช่เรื่องของผม” คนเป็นศิษย์พูดงอน ๆ

          “ทำไมเธอถึงอยากสึกนักนะบัวเฮียว”

          “เรื่องของผมไม่ใช่เรื่องของหลวงพ่อ” เห็นคนเป็นศิษย์งอน อาจารย์จึงพูดเป็นงานเป็นการว่า

          “เชื่อฉันเถอะบัวเฮียว อย่าหาบ่วงมารัดคอเลย ชีวิตแต่งงานนั้นมีแต่ทุกข์”

          “ก็หลวงพ่อไม่เคยแต่งงาน แล้วหลวงพ่อรู้ได้ไงว่ามันทุกข์” คนเป็นศิษย์ย้อน

          “ก็เธอไม่ใช่ฉัน แล้วเธอรู้ได้ไงว่าฉันไม่รู้” คนเป็นอาจารย์โต้กลับ

          “ผมยอมแพ้ ไม่เถียงกับหลวงพ่อแล้ว เถียงไปก็ไร้ประโยชน์” พระบัวเฮียวยอมแพ้เอาดื้อ ๆ

          “มันไม่ใช่เรื่องแพ้เรื่องชนะหรอกบัวเฮียว เรามาพูดเรื่องจริงกันดีกว่า ขอให้เชื่อฉันสักครั้ง ว่าชีวิตการครองเรือนนั้นมันทุกข์ จริงอยู่ถึงฉันจะยังไม่เคยมีครอบครัว แต่มันก็เฉพาะชาตินี้เท่านั้น ชาติที่แล้วฉันมีก็อย่างที่เคยเล่าให้เธอฟังนั่นแหละ เธอเดินอยู่บนเส้นทางอันประเสริฐแล้ว จะมาเปลี่ยนเสียทำไมกัน” คำพูดของพระอุปัชฌาย์ทำให้พระบัวเฮียวได้คิด จริงศิ หมู่นี้ท่านครุ่นคิดถึงแต่เรื่องลาสิกขา ทั้งที่ตั้งใจไว้แต่ต้นแล้วว่า จะครองเพศสมณะไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ แต่เหตุไฉนจิตใจจึงมาปรวนแปรเปลี่ยนแปลงไปได้ถึงปานนี้

          ความสงสัยประดังขึ้นมาอีก คราวนี้เป็นความสงสัยในตัวเอง จึงเรียนถามท่านพระครูว่า

          “หลวงพ่อครับ หมู่นี้ไม่รู้เป็นอะไรผมถึงได้คิดแต่เรื่องสึกออกไปมีครอบครัว อยากพบเนื้อคู่ อยากแต่งงาน เจ้าความรู้สึกอันนี้มันคอยรบกวนผมอยู่เรื่อย มันเป็นเพราะอะไรครับ”

          “มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยน่ะสิ เธอรู้ไม่ใช่หรือ ว่าเวลานี้เธอกำลังทำอะไรอยู่ เธอกำลังปฏิบัติกรรมฐานซึ่งถือเป็นการทำความดีชั้นสูงสุด เพราะการฝึกอบรมจิตนั้นเป็นยอดของการทำความดี เมื่อทำความดีก็ต้องมีมารมาผจญ มารที่เธอกำลังผจญอยู่ขณะนี้คือ นิวรณ์”

          “นิวรณ์ที่หมายถึงสิ่งที่มากีดกั้นขัดขวางไม่ให้เราทำความดีใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว ฉะนั้นเธอจะต้องมีความเพียร มีจิตใจที่เข้มแข็งฟันฝ่าอุปสรรคนี้ให้ได้ เพื่อบรรลุความดีสูงสุด อันเป็นจุดหมายที่แท้จริงของชีวิต การที่เธอคิดแต่จะสึกออกไปแต่งงาน ก็เพราะอำนาจของกามฉันทนิวรณ์ ยัง ยังมีอีกที่เธอจะต้องผจญ ยังมีพยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ และอุทธัจจกุกกุจนิวรณ์ อีกสามตัว นี่เธอยังเจอแค่สองตัวเท่านั้น และถ้าเธอเอาชนะเจ้าสองตัวนี้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปพูดถึงอีกสามตัวที่เหลือ”

          หลวงพ่อครับ ทำไมเจ้านิวรณ์มันถึงได้มารบกวนเฉพาะตอนที่เราปฏิบัติธรรมล่ะครับ แล้วเวลาที่เราไม่ปฏิบัติมันพากันไปอยู่เสียที่ไหน” ถามอย่างข้องใจ

          “มันก็แนบเนื่องอยู่ในจิตของเรานั้นแหละ เมื่อไหร่ที่เรายังไม่ได้ทำความดี มันก็นอนสบายเฉยอยู่ ต่อเมื่อเราทำความดี นั่นแหละมันถึงจะลุกขึ้นมาอาละวาด เพราะฉะนั้นเราจะต้องไล่มันออกไปจากจิตให้หมดสิ้น”

          “อย่างที่หลวงพ่อพูดเสมอ ๆ ว่า “มารไม่มีบารมีไม่เกิด” ใช่ไหมครับ

          “ก็คงงั้นมั้ง พระบัวเฮียวรู้สึกว่าจิตใจปลอดโปร่งขึ้น หากก็ยังสงสัยอยู่อีกนิดหนึ่ง จึงเรียนถามท่านพระครูว่า

          “หลวงพ่อครับ แล้วยาลดความหล่อนี่มันมีจริง ๆ หรือเปล่าครับ”

          “ถ้ามีจริงเธอจะทำไม”

          “ผมจะขอไปกินบ้างน่ะครับ พระอุปัชฌาย์ได้ยินดังนั้นจึงพินิจพิจารณาคนเป็นศิษย์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วพูดว่า

          “หน้าตาอย่างนี้ไม่ต้องพึ่งยาลดความหล่อ ไม่ต้องพึ่ง”

            “โธ่หลวงพ่อ มาแบบนายจ่อยอีกคนนึงแล้ว” พระบัวเฮียวโวยวาย แล้วจึงชี้แจงอย่างน้อยอกน้อยใจในโชควาสนาว่า

          “ผมไม่ได้หมายความว่ายังงั้น คือไหน ๆ ผมก็ไม่มีโอกาสได้แต่งงานเหมือนชาวบ้านเขา ก็ทำให้มันสุดเหร่ไปเลย จะได้ปลงได้ว่า เพราะตัวเองขี้เหร่ถึงไม่มีผู้หญิงมาแต่งงานด้วย เจ้ากามฉันทนิวรณ์มันจะได้ล่าทัพกลับไป ไม่มารบกวนผมอีก”

          “ไม่ต้องใช้ยาลดความหล่อไปไล่ให้มันยุ่งยากหรอก ถ้าเธอมีสติรู้เท่าทันมันตลอดเวลา มันก็ครอบงำเธอไม่ได้ เราต้องใช้ปัจจัยภายใน ไม่ใช่ปัจจัยภายนอก” ท่านพระครูทั้งแนะแนวและแนะนำ

          “ครับ ถึงตอนนี้ผมเข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋เลยครับ ผมจะกลับไปสู้กับมันเดี๋ยวนี้ กราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูง ที่กรุณาชี้ทางสว่างให้ผม” ท่านก้มลงกราบอาจารย์สามครั้งแล้วลุกออกมา ความอึดอัดขัดข้องพลันมลายไป มีความปลาบปลื้มโปร่งใจเข้ามาแทนที่..

           

มีต่อ........๑๙
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #21 เมื่อ: เมษายน 11, 2007, 08:01:53 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00019

 

๑๙...

          ตอนสายของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๑๖ ท่านพระครูกำลังสอบอารมณ์ให้อุบาสิกาทองริน โดยมีนายสมชายนั่งคอยรับใช้อยู่ห่าง ๆ

            ทุกครั้งที่มีการสนทนากับสตรีชนิดตัวต่อตัว ท่านจะต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วยเสมอ จึงเป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้ใกล้ชิดว่า

            สมภารวัดป่ามะม่วงท่านเคร่งวินัยนัก โดยเฉพาะเรื่องเพศตรงข้าม ท่านจะระมัดระวังเป็นพิเศษ สงฆ์หลายรูปที่ตั้งใจมาบวชเพื่อหวังความหลุดพ้น แต่เพราะไม่สำรวมระวังในการปฏิบัติต่ออิสตรี จึงถูกสึกออกไปเป็นผู้ครองเรือนเสียมากต่อมาก

            แม้ในสมัยพุทธกาล เรื่องเช่นนี้ก็เคยปรากฏ ดังกรณีของพระอานนท์เถระ ซึ่งถูกนางภิกษุณีชื่อวสิกา วางแผนล่อลวงจะให้สึก ด้วยนางสนิทเสน่หาหลงใหลในรูปโฉมของพระอานนท์ยิ่งนัก หากเพราะมีการตั้งสติไว้เฉพาะหน้า ระวังใจมิให้แปรปรวน ท่านพระอานนท์จึงรอดพ้นจากกลลวงของภิกษุณีรูปนั้นได้ ทั้งยังเทศนาโปรดนางให้สำนึกรู้ในผิดชอบชั่วดีอีกด้วย

            “ไงโยม มีอาการอย่างไรบ้าง พอง – ยุบ ชัดเจนดีไหม” ท่านถามอุบาสิกาวัยสี่สิบเศษ ซึ่งอุตส่าห์เดินทางจากกรุงเทพฯ มาเข้ากรรมฐาน หล่อนตั้งใจมาอยู่วัดเจ็ดวัน แต่ท่านให้อยู่สิบห้าวันเพราะ “เห็นหนอ” บอกว่าหล่อนกำลังมีเคราะห์ เจ้ากรรมนายเวรเขาตามมาเอาชีวิต ภายในสิบห้าวัน หากหล่อนปฏิบัติกรรมฐานอยู่แต่ในวัด ก็จะพ้นเคราะห์ออกไปนอกวัดเมื่อใด จะต้องถูกรถชนตายทันที เพราะดวงของหล่อนจะต้องตายโดยอุบัติเหตุอย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ตายโหง” ท่านจึงกำชับนักกำชับหนา ไม่ให้หล่อนออกไปไหน

            “บางทีก็ชัด บางทีก็ไม่ชัดค่ะ” นางทองรินตอบ

            พระบัวเฮียวจะมาให้ท่านสอบอารมณ์เช่นกัน ครั้นเห็นท่านกำลังมีแขกจึงหันหลังกลับแต่ท่านพระครูเรียกเอาไว้

            “มีอะไรหรือบัวเฮียว เข้ามาคุยกันก่อนซิ” พระหนุ่มจึงเดินเข้ามานั่งในที่อันสมควร แล้วจึงทำความเคารพพระอุปัชฌาย์ นางทองรินทำความเคารพท่าสนด้วยการกราบสามครั้ง

            “ฉันกำลังสอบอารมณ์ให้โยมเขา เธอฟังด้วยก็ได้ ฝึกเอาไว้ ในวันข้างหน้าเมื่อไปเป็นครูบาอาจารย์เขา จะได้สอบอารมณ์เป็น”

            “ครับ” พระหนุ่มรับคำ เห็นท่านพระครูได้เพื่อนแล้ว นายสมชายจึงลุกออกไปทำธุระของตน

            “หลวงพ่อคะ สองสามวันมานี่ ดิฉันปฏิบัติไม่ค่อยได้ผลเลยค่ะ

            “ทำไมล่ะ คิดถึงบ้านหรือไง”

            “ไม่คิดถึงค่ะ แต่มันง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา เดินจงกรมก็ง่วง นั่งสมาธิก็ง่วง”

            “นั่งสัปหงกน้ำลายไหลยืดเลยใช่ไหม” ท่านถามเพราะทราบดีว่าอาการเช่นนี้เกิดจากอะไร

            “ค่ะ แหม หลวงพ่อพูดราวกับเคยเห็น” หล่อนพูดเขิน ๆ

            “ทั้งเคยเห็นทั้งเคยเป็นเชียวแหละโยม ที่มีอาการอย่างนี้เพราะถูกถีนมิทธนิวรณ์ครอบงำ โยมกำลังผจญมาร เจ้ามารตัวนี้ชื่อ ถีนมิทธะเป็นนิวรณ์ตัวที่ทำให้จิตหดหู่ เซื่องซึม เกียจคร้าน ง่วงเหงาหาวนอนอยู่ตลอดเวลา”

            “แล้วเราจะกำจัดมันได้อย่างไรครับ” พระบัวเฮียวถามเพราะกำลังประสบปัญหาแบบเดียวกัน

            “วิธีกำจัดถีนมิทธนิวรณ์ทำได้โดยบริโภคอาหารให้น้อยลง ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เช่น ยืนบ้าง เดินบ้าง นั่งบ้าง สลับกันไป อีกวิธีหนึ่งคืออยู่ในที่โล่งแจ้งและที่สำคัญที่สุดก็คือต้องมีความเพียร ตั้งจิตแน่วแน่ว่าจะต้องเอาชนะมันให้ได้”

            “การทำความดีนี่ยากจังเลยนะคะหลวงพ่อ ดิฉันชักท้อใจเสียแล้ว” สตรีวัยสี่สิบเศษเผยความรู้สึก

            “ท้อไม่ได้ซี โดยเฉพาะเวลานี้ โยมกำลังมีเคราะห์ ถ้าโยมท้อถอยต้องลำบากแน่ อย่าลืม พุทธภาษิตที่ว่า บุคคลล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร โยมจำข้อนี้ไว้ให้ดีแล้วก็เร่งปฏิบัติเขาจะพ้นทุกข์ได้” ท่านให้กำลังใจ

            สตรีวัยกลางคนผู้หนึ่งคลานเข้ามากราบท่านพระครู แล้วพูดขึ้นว่า

            “หลวงพี่จำฉันได้หรือเปล่า”

            “ใครจะจำแม่ครัวฝีมือเอกที่ชื่อบุญรับไม่ได้ล่ะ วัดนี้เป็นยังไงถึงได้ไม่อยากมา” ท่านพระครูต่อว่าต่อขาน นางบุญรับเคยมาช่วยทำกับข้าวอยู่โรงครัวหลายปี ภายหลังได้โยกย้ายไปอยู่ที่พิจิตร จึงหายหน้าหายตาไป

            “ไม่เป็นยังไงหรอกจ้ะ ฉันน่ะอยากมาทุกวันนั่นแหละ แต่จนใจด้วยหนทางมันไกลปาลำบาก คิดถึงหลวงพี่ทุกเวลานาทีเลย” นางพูดพลางชำเลืองไปทางอุบาสิกาที่นุ่งขาวห่มขาว นั่งสงบเสงี่ยมอยู่ต่อหน้าท่านพระครู ครั้นเห็นหน้าหล่อนชัดเจน นางบุญรับให้นึกเกลียดขึ้นมาทันที ก็หน้าของหล่อนช่างเหมือนเมียใหม่ของผัวเก่านางเสียนี่กระไร นางบุญรับเลิกกับผัวเก่าไปมีผัวใหม่ ข้างผัวเก่าของนางก็มีเมียใหม่เช่นกัน อันที่จริงต่างคนต่างมีใหม่ ก็น่าจะหายกัน นางไม่น่าจะมาเกลียดชังผู้หญิงคนนี้ แต่ทำไมถึงต้องเกลียดเพียงเพราะแม่นี่หน้าเหมือนนังนั่น หาเหตุผลให้ตัวเองไม่ได้ เลยนั่งค้อนขวับ ๆ โดยที่อีกฝ่ายไม่ทันรู้ตัว ท่านพระครูนึกขำ สงสารอุบาสิกาก็สงสารที่หล่อนช่างมีเจ้ากรรมนายเวรมากมายเสียจริง ๆ

            “โยมมีอะไรจะถามอีกไหม ถ้าไม่มีก็กลับไปปฏิบัติที่กุฏิได้ พรุ่งนี้อาตมาไม่อยู่ จะไปงานแต่งงานหลานที่โคกสำโรง โยมมีอะไรข้องใจก็เก็บไว้ถามช่วงบ่ายก็แล้วกัน อย่าลืมว่าห้ามออกนอกบริเวณวัดโดยเด็ดขาด เอาละไปได้แล้ว” นางทองรินกราบภิกษุทั้งสอง แล้วจึงลุกออกมา นางบุญรับมองตามพลาง “ขว้างค้อน” ใส่

            “หมั่นไส้” นางขบเขี้ยวเคี้ยวฟันพูด

            “ไปหมั่นไส้อะไรเขาเล่า ข้าไม่เห็นเขาไปทำอะไรให้แกสักหน่อย” กับคนคุ้นเคยท่านจะใช้คำว่า “ข้า” และ “แก”

            “ก็ฉันเกลียดมัน ดูมันเดินเข้านั่นตูดบิดไปบิดมาน่าทุเรศจริงจริ๊ง” นางบุญรับไม่ฟังเสียง

            “เอ้า ไหนแกลองลุกขึ้นแล้วเดินออกไปซิ โน่นเดินไปทางโน้น” ท่านพระครูสั่ง นางบุญรับทำตาม เดินไปได้สักสี่ห้าเมตร ท่านพระครูจึงเรียกให้กลับมานั่งตามเดิม

            “นี่แน่ะแม่บุญรับนับวิชา รู้ตัวหรือเปล่า แกน่ะเดินตูดบิดน่าเกลียดยิ่งกว่าเขาเสียอีก แล้วยังจะมีหน้าไปว่าคนอื่นเขา” ท่านตั้งใจสอนนางบุญรับทางอ้อม หากฝ่ายนั้นหารู้ตัวไม่

            “ก็มันเกี่ยวอะไรกับหลวงพี่ล่ะ ฉันจะเดินยังไงมันก็เรื่องของฉัน” อดีตแม่ครัวฝีมือเอกพูดงอน ๆ

            “มันก็เหมือนกันนั่นแหละ โยมคนนั้นเขาจะเดินยังไงมันก็เรื่องของเขา แล้วแกไปหมั่นไส้เขาทำไมเล่า”

            “ก็ฉันเกลียดมัน” นางไม่กล้าบอกว่าเพราะผู้หญิงคนนั้นหน้าเหมือนภรรยาใหม่ของสามีเก่า แต่ท่านพระครูก็รู้ จึงพูดขึ้นว่า

            “ข้ารู้นะว่าแกเกลียดเขาทำไม่ เขาหน้าเหมือนเมียใหม่ของผัวเก่าแกใช่ไหมล่ะ” คราวนี้นางบุญรับรับเสียงอ่อยว่า

            “ถูกแล้วจ้ะ แหม หลวงพี่นี่แสนรู้จริง ๆ รู้ไปหมดทุกเรื่องเลยพับผ่าซี”

            “โยม พูดกับพระกับเจ้าให้มันดี ๆ หน่อย เดี๋ยวจะบาปจะกรรมเปล่า ๆ” พระบัวเฮียวเตือนอย่างหวังดี นางบุญรับเลยพาลเกลียดท่านไปอีกคน

            “ฉันไม่ถือสาหรอกบัวเฮียว แม่คนนี้เขาทำกรรมาอย่างนี้ วจีทุจริต ท่านเน้นตรง วจีทุจริต

            “แต่ผมว่าถ้าพอจะแก้ไขได้ ก็ควรจะแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยไปตามบุญตามกรรม” ลูกศิษย์ยืมคำพูดอาจารย์มากล่าว แล้วก็เลยกลายเป็นการสร้างศัตรูไปโดยไม่รู้ตัว

            “นี่ไปยังไงมายังไงไม่ทันบอกกันเลย มาถึงก็แช็ด ๆ ๆ ว่าคนโน้นเกลียดคนนี้ นิสัยไม่เปลี่ยนเลยนะเราน่ะ” ท่านพระครูว่าตรง ๆ แต่นางบุญรับไม่โกรธ ท่าสนจะดุจะว่าอย่างไรนางไม่เคยถือสา เหมือนกับท่านไม่ถือสานาง สมัยที่มาช่วยทำครัว หล่อนเที่ยวทะเลาะกับคนโน้นคนนี้ ถือตัวว่าทำอาหารอร่อย เลยเที่ยวดูถูกฝีมือคนอื่นเขาไปทั่ว หลายคนจึงแอบนินทานางลับหลังว่า “อุตส่าห์เข้าวัด แต่ไม่ยอมละยอมวางสักอย่างเดียว”

            “ฉันจะมาช่วยทำครัวสักเจ็ดแปดวัน ก็คิดถึงหลวงพี่หรอกนะถึงได้มาเนี่ย” นางไม่วาย “หยอดยาหอม”

            “งั้นก็ดีแล้ว จะได้ให้ไปอยู่กับโยมคนนั้น เผื่อจะหายเกลียดกัน” สมภารวัยห้าสิบแกล้งยั่ว

            “โอ๊ย ไม่เอาหรอก เรื่องอะไรจะให้ไปอยู่กับคนที่เกลียด” นางปฏิเสธ

            “อ้อ ต้องให้อยู่กับคนที่รักใช่ไหม งั้นก็มาอยู่ที่กุฏิข้าเสียเลยดีไหมเล่า” ท่านประชด ทำไมจะไม่รู้ว่า สมัยสาว ๆ นางบุญรับหลงรักท่านยังกับอะไรดี ถึงขนาดหายใจเป็น “หลวงพี่เจริญ” นั่นเทียว

            “แหม ถ้าได้ยังงั้นก้อแจ๋วซี” แทนที่จะอายนางกลับว่าไปโน่น ท่านเจ้าของกุฏิรู้สึกสังเวชที่ผู้หญิงอายุร่วมห้าสิบแล้ว แต่ยังไม่รู้จักปล่อยวาง

            “เออ ทำพูดดีไปเถอะ นรกจะกินหัวแกโดยไม่รู้ตัว หนอย จะวอนให้ข้าเดือดร้อนแล้วไหมล่ะ ประเดี๋ยวผัวเก่าผัวใหม่แกได้มาช่วยกันรุมข้าหรอก” ฟังนางบุญรับพูดจาโต้ตอบกับท่านพระครูแล้ว พระบัวเฮียวรู้สึกไม่ชอบหน้าผู้หญิงคนนี้เอามาก ๆ ท่านมิรู้ตัวดอกว่า “มาร” ที่ท่านจะต้องผจญเป็นลำดับต่อไปคือ พยาบาทนิวรณ์

            “ตกลงหลวงพี่จะให้ฉันพักที่ไหนล่ะ” นางถาม

            “ก็ไปเลือกดูเอาเองก็แล้วกัน ที่ไหนว่างก็พักได้ หรือจะพักที่เมรุนั่นก็ได้ ตอนนี้ยังว่างอยู่” ท่านพูดประชด

            “แหม หลวงพี่แช่งอีบุญรับเสียแล้วไหมล่ะ ฉันยังไม่ยอมตายง่าย ๆ หรอก ต้องรอเผาคนที่ฉันเกลียดเสียก่อน” นางหมายถึงพระบัวเฮียวและอุบาสิกาคนนั้น

            “อ้อ นี่แกกำหนดวันตายได้งั้นซี ข้าเห็นมานักต่อนักแล้วบุญรับเอ๋ย ไอ้ที่เที่ยวแช่งคนโน้นคนนี้ ตัวเองตายก่อนเขาทุกราย”

            “แช่งอีกแล้ว แหม มาคราวนี้ซวยจัง ถูกหลวงพี่แช่งอยู่เรื่อย” นางบ่นกระปอดกระแปด

            ชายอายุประมาณหกสิบ รูปร่างอ้วนเตี้ย ศีรษะล้าน เดินเข้ามาในกุฏิ พนมมือพูดกับท่านพระครูว่า

            “หลวงพ่อ ผมมาขอยาแก้หืดหอบ อีปุกลูกสาวผมหอบใหญ่แล้ว” นายป่วนซึ่งมีบ้านอยู่ติดวัด บอกท่านพระครูด้วยท่าทางกังวล

            “ใครเขาบอกให้มาเอาล่ะ” ท่านย้อนถาม

            “ก็ไอ้ปองลูกชายผมมันบอกว่าเพื่อนเคยเป็น มันขอยาหลวงพ่อไปกินแล้วหาย ผมก็เลยมาขอมั่ง” นายป่วนชี้แจงพลางนั่งลง

            “ข้าไม่มีหยูกมียาอะไรหรอก แต่ถ้าจะให้หายหืดหอบก็ไปเอาต้นตำแยแมวมาโขลกแล้วแช่กับน้ำซาวข้าวให้มันกิน เขาว่าชะงัดนัก มีคนหายมาหลายคนแล้ว รู้จักไหมล่ะต้นตำแยแมวน่ะ ที่หลังวัดก็มี”

            “รู้จักครับ”

            “ดีแล้ว ถ้าไม่รู้จักก็เอาแมวไปด้วยตัวนึง”

            “เอาไปทำไมครับ”

            “อ้าว ก็เอาไปพิสูจน์น่ะซี ลองถอนสักต้นให้แมวมันกิน ถ้าไม่ใช่ตำยาแมว แมวจะไม่กิน ถ้ามันกินก็แปลว่าใช่” ท่านอธิบาย

            “แล้วเอาส่วนไหนของมันมาโขลกแช่น้ำซาวข้าวครับ”

            “เอาทั้งต้นเลย รากด้วย ก่อนโขลกก็ล้างให้สะอาดเสียก่อน เอาให้คนไข้ดื่ม รับรองว่าหาย”

            “แล้วไม่คันหรือครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวถาม ขึ้นชื่อว่าต้นตำแยมันก็ต้องคัน

            “ไม่คัน ตำแยถึงจะคัน แต่ตำแยแมวไม่คัน เป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง” ท่านตอบ

            “ฉันไปหาที่พักก่อนนะหลวงพี่” นางบุญรับกราบสามครั้งแล้วลุกออกไป ไม่วายพูดเสียดสีนายป่วนว่า “แม่เจ้าโว๊ย วันนี้มันวันอะไรวุ๊ย ถึงได้มาเจอพระอาทิตย์ขึ้นบนไหกระเทียม”

            “แกว่าใคร” นายป่วนถามเสียงตะคอก นางบุญรับไม่ตอบ ก้าวฉับ ๆ ออกจากกุฏิไป นายป่วนจึงหันมาถามท่านพระครูว่า

            “อีนี่มันเป็นใครครับหลวงพ่อ ปากหมา ๆ อย่างนี้ประเดี๋ยวผมก็ตบล้างน้ำเสียเท่านั้น ไม่รู้จักอ้ายป่วนซะแล้ว” ชายวัยหกสิบแสดงอาการโกรธเกรี้ยว แม้บ้านจะอยู่ติดวัด แต่นายป่วนก็ไม่เคยมาเข้ากรรมฐาน จึงไม่รู้จักนางบุญรับ และกำหนด “โกรธหนอ” ไม่เป็น ท่านพระครูว่านายป่วนนั้น “ใกล้เกลือกินด่าง”

            “อย่าไปถือสาแกเลยตาป่วน ไปเถอะ กลับไปหาตำแยแมวไปปรุงยาให้ลูกกินซะ อย่าได้มีเรื่องมีราวกันในวัดเลย นึกว่าเห็นแก่ข้าเถอะ” นายป่วนจึงกราบปะหลก ๆ สามครั้ง แล้วลุกออกไปเดินหาต้นตำแยแมวทางหลังวัด คิดว่าถ้าเจอยายคนปากเสียก็จะด่าให้สักสองสามชุด โทษฐานที่มาวิจารณ์รูปโฉมโนมพรรณของแก

            “เธอมีข้อสงสัยข้องใจอะไรจะถามหรือเปล่า” ท่านถามพระบัวเฮียวหลังจากที่คนอื่น ๆ ลุกออกไปหมดแล้ว

            “ก็มีเหมือนกันครับ เรื่องถีนิทธนิวรณ์ผมเข้าใจแล้ว ตอนที่หลวงพ่ออธิบายให้โยมทองรินฟัง แต่ทีนี้ผมมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ที่จะเรียนถามหลวงพ่อ คือหมู่นี้ไม่รู้เป็นอะไร เวลาฉันอาหารผมรู้สึกว่ามันอร่อยไปหมด แม้แต่น้ำที่ดื่มลงไปก็ยังรู้สึกว่ามันอร่อย”

            “นั่นเป็นเพราะเธอติดในรส กามฉันทนิวรณ์ กำลังครอบงำเธอ เพราะรสจุดเป็นกามคุณอย่างหนึ่งใน ๕ อย่าง”

            “แบบนี้ผิดไหมครับ”

            “ผิดสิ ถ้าเป็นคนทั่วไปก็ไม่ถือว่าผิด แต่เป็นนักปฏิบัติถือว่าผิด เพราะถ้ามัวติดในรูป รส กลิ่น เสียง หรือ สัมผัส การปฏิบัติมันก็ไม่ก้าวหน้า นี่มันผิดในแง่นี้”

            “แล้วจะแก้ได้อย่างไรครับ”

          “ก็ตั้งสติพิจารณาเสียก่อนจึงค่อยฉัน พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า “กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้ว พึงละอาหารเสีย” อันนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า....” ท่านถามเองตอบเองเสร็จ “ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทุกครั้งที่บริโภคอาหารต้องพิจารณาโดยถ่องแท้เสียก่อน ว่าจะไม่บริโภคเพื่อเล่น ไม่บริโภคเพื่อมัวเมา ไม่บริโภคเพื่อประเทืองผิว ไม่บริโภคเพื่อตกแต่งร่างกายให้งดงาม แต่บริโภคเพื่อธงรงไว้เพื่อกายนี้ พอให้อัตภาพนี้ดำเนินไปได้ กับเพียงเพื่อระงับความหิวกระหาย เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ โดยคิดว่า บริโภคนี้จะเป็นเครื่องระงับเวทนาใหม่มิให้เกิดขึ้น จะได้ประพฤติธรรมสืบไป ได้ความสะดวก ได้ความผาสุกพอสมควร เริ่มแต่ภิกษุนั้นอุปสมบท ก็เริ่มละอาหาร ไม่บริโภคในเวลาที่เขาบริโภคกัน วันละหนึ่งเวลาบ้างสองเวลาบ้าง ละอาหารที่พระวินัยห้ามบ้าง บริโภคอาหารตามมีตามได้ โดยบริโภคเพียงแต่ว่าเป็นธาตุ เพื่อเป็นที่ดำรงอยู่ของธาตุในกายนี้เป็นอยู่ นี่ เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ต้องปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ใช่ไปติดในรสอาหาร”

          “กล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องมีโยนิโสมนสิการใช่ไหมครับ”

            “ถูกแล้ว โยนิโสมนสิการมีความสำคัญมากในการละนิวรณ์ทั้ง ๕ ขาดโยนิโสมนสิการเสียแล้วก็ละไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ หรือ วิจิกิจฉา”

          “หมายความว่า นิวรณ์แต่ละอย่าง ๆ นั้นจะละไม่ได้เลย ถ้าไม่มีโยนิโสมนสิการ ใช่หรือเปล่าครับ”

          “ถูกแล้ว เอาเถอะเมื่อเธอปฏิบัติสูงขึ้นไปก็จะเข้าใจ” พระอุปัชฌาย์แนะนำ เนื่องจากมีประสบการณ์มาก่อน

          “หลวงพ่อครับ ทำไมคนเข้าวัดถึงยังเอาดีไม่ได้ล่ะครับ อย่างโยมบุญรับนั้น หลวงพ่อบอกเข้าวัดมาหลายปี ผมก็เห็นแกยังละอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว รู้สึกแกเที่ยวขวางเขาไปหมด คนเข้าวัดเข้าวาน่าจะเป็นคนดี” พระหนุ่มตำหนิกราย ๆ

          “ก็พระอยู่ในวัดแท้ ๆ ยังเอาดีไม่ได้ก็ยังมีนี่นา บางคนบวชตั้งแต่เณร อายุพรรษาตั้งหกสิบเจ็ดสิบยังไม่ได้เรื่อง นับประสาอะไรกับคนอย่างยายบุญรับเล้า” ท่านออกเสียง “เล่า” เป็น “เล้า”

          “นินทาอะไรฉันอีกล่ะ” นางบุญรับเข้ามาทันได้ยินชื่อตนเข้าพอดี เลยถามพาล ๆ

          “มาก็ดีแล้ว ไงได้ที่พักเป็นที่พอพระราชหฤทัยหรือยัง” ท่านพระครูถามประชด หากนางบุญรับก็ตอบว่า

          “ได้แล้วเพคะเสด็จพี่ หม่อมฉันกำลังจะมากราบทูลให้ทรงทราบอยู่พอดี”

          “พอแล้ว ๆ แม่บุญรับไม่ไหว” ท่านพระครูรีบโบกมือห้าม

          “บุญรับเฉย ๆ จ้ะ แหม กำลังเล่นลิเกสนุก ๆ ไม่น่ามาห้าม ถึงจะเป็นลิเกหลงโรงก็เถอะ ฉันจะมาบอกหลวงพี่ว่าได้ที่พักตรงข้ามกุฏิแม่นั้น ประเดี๋ยวเถอะแม่จะแกล้งให้สะเด็ดไปเลย” นางพูดอย่างหมายมั่น

          “ขอที ๆ แม่คุณแม่มหาจำเริญ คนเขาจะมาสร้างบุญสร้างกุศล อย่าไปเป็นมารขัดขวางเขาเลย นี่ฉันจะถือโอกาสเทศน์แกสักหน่อย แกนะมันแย่นาบุญรับนา กรรมฐานก็เคยเข้ามาแล้ว ไหงถึงไม่ดีขึ้นเลย”

          “แย่ยังไงล่ะหลวงพี่ ฉันอุตส่าห์หวังดีจะเข้ามาช่วยทำครัว หลวงพี่ยังมาว่าฉันอีก” นางเถียงฉอด ๆ

          “ยัง ยังไม่รู้ตัวอีก เอาเถอะ ๆ นั่งลงเสียให้เรียบร้อย ยืนพูดกับพระมันไม่สวย” หญิงวัยเกือบห้าสิบจึงนั่งลง ท่านพระครูพูดต่อไปว่า “ฟังให้ดี ฉันจะสอนให้เอาบุญ การที่แกตั้งใจมาช่วยทำครัวนั่นก็ดีแล้ว ถือว่ามาสร้างกุศล ก็ในเมื่อตั้งใจมาทำบุญและจะมาทำบาปเสียทำไมล่ะ”

          “ฉันไปทำบาปอะไรที่ไหน” นางบุญรับไม่วายเถียง

          “ทำไมจะไม่ทำบาป ก็วจีทุจริตนั้นยังไง ทั้งพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ครบเลยในตัวแก เสียงแรงที่อุตส่าห์มาเข้าวัด สู้บางคนที่เขาอยู่บ้านก็ยังไม่ได้” นางบุญรับรู้สึกรำคาญเนื่องจากไม่ชอบให้ใครมาติ จึงแกล้งปดท่านว่า

          “จ้ะหลวงพี่ ฉันก็จะพยายามแก้ไข ให้เวลาฉันบ้าง ฉันขอตัวไปช่วยเขาทำครัวละนะ” กราบประหลก ๆ สามครั้งแล้วลุกออกไป ท่านพระครูส่ายหน้าอย่างระอา พูดกับพระบัวเฮียวว่า “ไม่ไหว ไม่ซึมซับสิ่งดี ๆ เลย คนอย่างยายบุญรับนับวันก็จะมีมากขึ้น ประเภทเข้าวัดแล้วมานั่งนินทาคนโน้นคนนี้ ที่เขาว่า มือถือสากปากถือศีล มันก็เป็นวิบากของเขา”

          “คนที่มาเข้ากรรมฐานน่าจะละกิเลสได้นะครับหลวงพ่อ”

            “มันก็ละได้ แต่เป็นการละได้ชั่วคราว คือตอนเจริญกรรมฐานจิตเป็นสมาธิ มันก็บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะกิเลสมันถูกข่ม ถูกกดเอาไว้ แต่พอออกจากรรมฐาน กิเลสมันก็ฟุ้งขึ้นมาอีก เหมือนน้ำใสที่มีตะกอนนอนก้น เอามือไปกวน มันก็ขุ่น การจะขจัดกิเลสให้หมดไปโดยสิ้นเชิงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ละเอียดลึกซึ้ง ที่สำคัญที่สุดคือผู้ปฏิบัติจะต้องมีความเพียรอย่างยิ่งยวด จึงจะประสบความสำเร็จ ก็กิเลสตัณหามันอยู่กับเรามาตั้งนมนานหลายภพหลายชาติ มีหรือที่มันจะยอมออกไปง่าย ๆ”

          “ถึงต้องปฏิบัติกันข้ามภพข้ามชาติเลยใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว แต่บางคนก็ท้อถอย ใจไม่สู้ เลยไม่อาจตัดออกจากสงสารวัฏไปได้ ความเพียรนี่สำคัญมากนะบัวเฮียว แล้วก็ต้องเป็นความเพียรที่ถูกต้องที่เรียกว่า สัมมาวายามะ ถ้าเป็น มิจฉาวายามะ แทนที่จะทำให้หลุดพ้น กลับทำให้ติดแน่นอยู่ในสงสารวัฏหนักเข้าไปอีก”

          “เรียกว่า การทำความเพียรก็ต้องมีโยนิโสมนสิการใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว แหม รู้สึกว่าเธอจะเก่งขึ้นมาเชียวนะ สงสัยว่าจะหลุดพ้นในชาตินี้เสียละมัง” พระอุปัชฌาย์สัพยอก

          “สาธุ สมพรปาก” พูดพร้อมกับยกมือขึ้น “สาธุ”

          “ถ้าอย่างนั้นก็กลับไปปฏิบัติที่กุฏิของเธอได้ อ้อ พรุ่งนี้ออกตีสี่ครึ่งฉันเปลี่ยนเวลาแล้ว เลื่อนออกไปอีกครึ่งชั่งโมง ประเดี๋ยวจะให้สมชายไปบอกคนอื่น ๆ พระบัวเฮียวกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้งแล้วลุกออกมา ขณะเดินกลับกุฏิแทนที่จะกำหนด “ซ้าย – ขวา ซ้าย – ขวา” เหมือนเช่นเคย ก็เปลี่ยนมากำหนดว่า “โยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการ... ไปจนถึงที่พัก

 

 

มีต่อ........๒๐
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #22 เมื่อ: เมษายน 11, 2007, 08:02:48 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๒๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00020

 

๒๐...

          ก่อนออกจากวัด ท่านพระครูอุตส่าห์เดินไปหานางทองรินถึงกุฏิที่นางพัก โดยมีพระบัวเฮียวกับนายสมชายไปเป็นเพื่อน นางทองรินซึ่งตื่นตั้งแต่ตีสี่ ล้างหน้าล้างตาเสร็จแล้วและกำลังจะเดินจงกรม เมื่อได้ยินเสียงนายสมชายเรียกอยู่ข้างนอก จึงเปิดประตูออกมา ออกตกใจที่พบท่านพระครูและพระบัวเฮียว จึงรีบนิมนต์ท่านเข้ามาข้างใน

          “ไม่เข้าหรอกโยม อาตมาจะรีบไป แวะมาบอกโยมเท่านั้นเอง อย่าลืมว่าโยมกำลังมีเคราะห์ ถ้าโยมไม่เชื่อฟัง อาตมาก็ช่วยอะไรโยมไม่ได้ อาตมาไปละนะ”

          “ขอบพระคุณหลวงพ่อมากค่ะ ดิฉันจะทำตามคำสั่งของหลวงพ่อทุกอย่าง” นางทองรินรับคำหนักแน่น พร้อมกับไหว้ภิกษุทั้งสอง

          ขณะเดินไปขึ้นรถ ท่านพระครูพูดกับพระบัวเฮียวว่า “ฉันช่วยเขาได้แค่นี้แหละบัวเฮียว เจ้ากรรมนายเวรเขาตามมาทวงชีวิต วันนี้ถ้าเขาออกนอกบริเวณวัด จะต้องตายอย่างแน่นอน แต่ถ้าเขาเชื่อฉัน ก็จะไม่ตาย” พระบัวเฮียวไม่ออกความเห็น รู้สักสังหรณ์ใจพิกลว่าจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับหล่อน

          นายสมชายขับรถพาท่านพระครูและลูกวัดอีก ๘ รูปมาถึงบ้านงานเมื่อเวลาหกโมงครึ่ง เหลือเวลาอีกครึ่งชั่วโมงจึงจะเริ่มพิธี เจ้าบ่าวซึ่งอยู่ในชุดกางเกงขายาวสีเทาฟ้า เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีชมพู ออกมาต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เห็นนายจ่อยท่าทางมีความสุข จิตของพระบัวเฮียวก็ถูก “กามฉันทนิวรณ์” กลุ้มรุมอีกจนเจ้าตัวต้องใช้ “โยนิโสมนสิการ” เข้าปราบปราม มันจึงสงบลงได้ “เจ้าสาวไปไหนเสียล่ะ” ท่านถามถึงคนเป็นเจ้าสาว

          “ยังไม่กลับจากร้านเสริมสวยครับ” เจ้าบ่าวตอบ แขกเหรื่อยังมากันไม่มาก เจ้าบ่าวจึงมีเวลาพูดคุยกับพระสงฆ์ ท่านพระครูถามหาบิดาของนายจ่อย ก็ได้รับคำตอบว่ายังไม่สร่างเมา จึงไม่กล้าอกมาสู้หน้า

          พวกแม่ครัวกำลังสาละวนอยู่กับการจัดอาหารเลี้ยงพระ ท่านพระครูนั่งหลับตากำหนด “เห็นหนอ” เพราะอยากรู้ว่าพวกแม่ครัวเขากำลังคุยกันเรื่องอะไร

          “เอ้าแก ชิมอยู่นั้นแหละ ระวังจะเกิดเป็นเปรตนะ กินก่อนพระก่อนเจ้า” แม่ครัวนางหนึ่งว่าเพื่อน

          “ก็มันอร่อยนี่หว่า” คนชิมตอบ

          “เออ อร่อย ๆ นี่แหละ ข้าเห็นเป็นเปรตมาเสียนักต่อนักแล้ว”

          “แกเห็นได้ยังไง” คนชิมย้อน

          “ก็ปู่ย่าตายายข้าสอนไว้อย่างนี้ ถึงข้าไม่เห็นแต่ข้าก็เชื่อ”

          “นั่นมันสมัยปู่ย่าตายายแกโว้ย สมัยนั้นน่ะพระท่านน่าเคารพนับถือ กินก่อนท่านถึงได้บาป แต่สมัยนี้มันใช่พระเสียที่ไหน  แค่พวกหัวโล้นห่มผ้าเหลือง  ไปไหน ๆ ก็เที่ยวแต่จะกินของดี ๆ แล้วยังจะเอาเงินอีก  ที่เขาว่า     “ข้าวก็ยัด อัฐก็เอา” นั้นแหละ” แม่ครัวอีกคนเถียงแทนเพื่อน

          “ตายละอีแป้น มึงนะมึง นรกจะกินหัวกบาลมึงเข้าสักวัน” แม่ครัวคนแรกว่า ท่านพระครูกำหนดลืมตาไม่อยากรู้ไม่อยากเห็นอีกต่อไป นี่ขนาดคนชนบทยังดูถูกดูแคลนพระถึงปานนี้ มันความผิดของใครกันนี่ ท่านรู้สึกรันทดใจนัก เห็นนายจ่อยกำลังซุบซิบกับพระบัวเฮียวอยู่ทางปลายแถว ท่านจึงกำหนด “เห็นหนอ” ไปที่บุคคลทั้งสอง

          “ทำไมนิมนต์พระวัดป่ามะม่วงทั้งหมดล่ะ ไม่กลัววัดเจ้าถิ่นเขาเขม่นเอาหรือ” พระบัวเฮียวถาม เพราะตามธรรมเนียมหากจะนิมนต์พระต่างถิ่นมา ก็ต้องให้มีพระในท้องถิ่นอยู่ด้วย การนิมนต์พระจากที่อื่นมาทั้งหมด ถือว่าเป็นการกระทำที่ข้ามหน้าข้ามตาพระเจ้าถิ่น

          “ก็อย่างที่เคยเล่าให้หลวงพี่ฟังนั้นแหละ ผมไม่นับถือพระแถวนี้ แต่พูดก็พูดเถอะหลวงพี่ กฎแห่งกรรมมันทำหน้าที่ได้รวดเร็วดีจริง ๆ สมภารตายแล้ว” นายจ่อยจงใจใช้คำว่า “ตาย” แทน “มรณภาพ”

          “อ้าว เป็นอะไรตายล่ะ”

          “ถูกจามด้วยขวานหัวแบะเลย นอนตายอยู่ข้างระเบียงโบสถ์ ป่านนี้คลทะเลาะกับยมบาลอยู่ในนรกนั่น”

          “แล้วหลวงตาทองขี้เมานั่นล่ะ”

          “แหม หลวงพี่จำแม่นจัง แกสึกแล้ว เห็นว่ากลัวตกนรกเพราะไม่อาจเลิกเหล้าได้ เป็นพระกินเหล้ามันบาปมาก แกเลยสึกออกมาเสียหมดเรื่องหมดราว จะได้ตกนรกน้อยหน่อย แกว่าของแกยังงี้ ไม่ใช่ผมว่านา” ฟังแล้วพระครูจึงสรุปในใจว่า “อ้อ มันอย่างนี้เองนี่เล่า ยายแม่ครัวถึงได้ไม่ศรัทธาพระ หนอยแน่มาเรียกเราว่า พวกหัวโล้นห่มผ้าเหลือง ข้าวก็ยัด อัฐก็เอา ยายคนนี้สำมะคัญ” ถึงตอนนี้ท่านรู้สึกขำยายนั่น คำพูดของนางเท่ากับเป็นกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นภาพของผู้ที่เรียกตัวเองว่า “นักบวช”

            เสียงรถมอเตอร์ไซค์วิ่งเข้ามาจอดใต้ถุนเรือน แล้วนางจุกก็เดินนวยนาดเข้ามากราบท่านพระครูและภิกษุอีก ๘ รูป หล่อนอยู่ในชุดไทยเรือนต้นสีชมพูอ่อน ตัดเย็บด้วยผ้าไหมเนื้อดี ผมเกล้าทรง “ลูกจันทน์” ไว้กลางศีรษะ ใบหน้าถูกตกแต่งไว้อย่างสวยงามโดยฝีมือของช่างเสริมสวยประจำตำบล

          “หลวงน้ามาถึงนานแล้วหรือจ๊ะ” หล่อนทักทาย

          “นานหรือไม่นานก็ถึงก่อนคนเป็นเจ้าสาวแล้วกัน” หลวงน้าพูดแหย่

          “แหม หลวงน้าเนี่ย เจอหน้าก็ว่ากันเลยเชียว” หล่อนพ้อ

            ขณะนั้นเวลาเจ็ดนาฬิกาตรง พิธีจึงเริ่มด้วยการให้ทายกซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวนำกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย และอาราธนาศีล ท่านพระครูให้ศีลเสร็จแล้วพระสงฆ์ทั้ง ๙ รูปเจริญพระพุทธมนต์ คู่บ่าวสาวนั่งพับเพียบประนมมือฟังพระสวด มีหมอนสีชมพูรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส สำหรับวางแขนกันเมื่อยคนละใบ

          เสร็จจากการเจริญพระพุทธมนต์ ทายกนำกล่าวถวายสังฆทาน แล้วจึงช่วยกันประเคนอาหารคาวหวาน พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จ เจ้าภาพถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว พระสงฆ์ทั้ง ๙ รูปกล่าวอนุโมทนาคาถา คู่บ่าวสาวกรวดน้ำและรับพรตามลำดับ พวกแม่ครัวก็พากันออกมารับพรจากพระด้วย ท่านพระครูจำคนที่ว่าพระได้ จึงพูดสัพยอกนางว่า

          “พวกหัวโล้นห่มผ้าเหลืองนี่ไม่ไหวเลยนะโยมนะ กินข้าวเขาแล้วยังจะเอาเงินอีก” แม่ครัวหน้าเหรอ ไม่นึกไม่ฝันว่าท่านจะรู้ในสิ่งที่พวกตนแอบนินทา แต่อย่างน้อยก็ยังดีใจที่ท่านไม่โกรธ

          “หลวงพ่อมาจากวัดไหนจ๊ะ” นางถาม รู้สึกศรัทธาท่านขึ้นมานิดหนึ่ง

          “วัดป่ามะม่วง เคยได้ยินไหมเล่า”

          “ไม่เคยจ้ะ อยู่ที่ไหนจ๊ะ”

          “อยู่ไม่ไกลหรอก ถ้าอยากจะไปก็ให้เจ้าบ่าวเขาพาไปก็ได้ เขามีสอนกรรมฐานด้วยนะ อยากไปเรียนไหมเล่า”

          “ก็อยากเหมือนกัน ว่าแต่ว่าหลวงพ่อไม่โกรธฉันนา” นางยังกลัวความผิด

          “โกรธเรื่องอะไรเล่า”

          “ก็ที่ฉันว่าหลวงพ่อ”

          “อาตมาจะไปโกรธทำไม ก็อาตมาไม่ได้เป็นอย่างที่โยมว่า แต่ถึงเป็นก็ไม่ควรจะโกรธ เพราะเท่ากับโยมพูดความจริง ใช่ไหมล่ะ”

          “ใช่จ้ะใช่ ว่าแต่ว่าทำไมหลวงพ่อถึงรู้ล่ะว่าฉันเป็นคนพูด” นางไม่วายสงสัย

          “เอาเถอะไว้ไปเข้ากรรมฐานแล้วจะบอก อย่าลืมไปก็แล้วกัน”

          “จ้ะ ๆ ฉันไปแน่ รอให้เกี่ยวข้าวเสร็จก่อน” นางรับคำเป็นมั่นเป็นเหมาะ

          เมื่อท่านพระครูไม่อยู่ในวัด นางทองรินให้รู้สึกเร่าร้อนใจยิ่งนัก เป็นอย่างนี้ทุกครั้งที่รู้ว่าท่านไม่อยู่ โดยเฉพาะวันนี้รู้สึกว่ามันเร่าร้อนกว่าทุกวัน แม้อากาศภายนอกจะหนาวเหน็บ หากมันก็ไม่ช่วยให้ความเร่าร้อนในใจบรรเทาเบาบางลงได้ ไม่ว่าหล่อนจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ ก็ไม่อาจทำให้จิตสงบได้เลย หล่อนเริ่มฟุ้งซ่าน คิดไปต่าง ๆ นา ๆ ป่านนี้ลูกเต้าจะกินอยู่กันอย่างไร สามีหล่อนเล่า จากกันมาตั้งเจ็ดแปดวัน ป่านนี้มิมีอะไรกับสาวใช้แล้วหรือ เพราะเห็นแม่นั่นทำท่าระริกระรี้ให้ท่าอยู่บ่อย ๆ ข้างสามีหล่อนก็ใช่ย่อย ยิ่งเมาแอ๋กลับบ้านทุกวันอย่างนั้นมีหรือที่จะพ้นเงื้อมมือแม่สาวใช้วัยรุ่น จริงอยู่แม้หล่อนจะไปขอร้องให้มารดามาช่วยดูแล แต่แม่หล่อนก็ต้องมีวันเผลอ ยิ่งถ้าสองคนนั้นมีจิตกระสันต่อกัน แม่หล่อนหรือใคร ๆ ก็ห้ามความกระสันของคนคู่นั้นไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะไปดูสักหน่อยเป็นไร นั่งรถไปสองชั่วโมงก็ถึง ดูให้เห็นกับตาแล้วจะรีบมา หลวงพ่อคงยังไม่กลับ นี่ก็เพิ่งจะหกโมงเช้าเท่านั้นเอง แล้วหล่อนก็รีบจัดแจงแต่งกาย ออกจากที่พักเดินฝ่าความหนาวเหน็บตรงไปยังถนนสายเอเชีย “คอยดูนะตาแก่ ถ้าจับได้คาหนังคาเขา แม่จะฆ่าทิ้งเสียเลย” หล่อนคิดเรื่อยเปื่อยไปตลอดทาง สิ่งที่คิดล้วนแต่ร้าย ๆ ทั้งนั้น

          ถึงถนนสายเอเชีย หล่อนต้องข้ามไปรอรถทางฝั่งโน้น มีรถประจำทางหลายสายที่วิ่งมาจากทางเหนือเพื่อจะเข้ากรุงเทพฯ หล่อนมองซ้ายมองขวา เห็นไม่มีรถวิ่งมาสักคัน จึงก้าวเท้าออกไปโดยเร็วแล้วก็ต้องจบชีวิตลง เพราะถูกรถบรรทุกชนกระเด็นไปตกอยู่ริมถนนฝั่งตรงข้ามล

          รถบรรทุกคันนั้นวิ่งตะบึงแข่งกับลมหนาวมาตามถนนสายเอเชีย เห็นคนเดินตัดหน้าในระยะกระชั้นชิดจะเบรคก็ไม่ทัน คนขับก็เลยไม่ยอมเบรค ทั้งไม่สนใจที่จะหยุดรถดูให้เสียเวลาทำมาหากิน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจทางหลวง ที่จะเรียกป่อเต็กตึ้งมาเก็บศพ

          บรรดารถยนต์ที่วิ่งผ่านไปมา ไม่มีคันใดหยุดดูร่างบอบบางที่นอนจมกองเลือดอยู่ริมถนน อย่างดีก็แค่ชะลอรถให้ช้าลง เพราะมีตัวอย่างมานักแล้ว ที่คนชนหนีไป แล้วคนหยุดดูกลับกลายเป็นจำเลยแทน

          รถสายตรวจของตำรวจทางหลวงมาพบศพเมื่อเวลาแปดนาฬิกา จึงวิทยุไปเรียกป่อเต็กตึ้ง ชาวบ้านแถวนั้นเริ่มทยอยกันมาดูศพ เนื่องจากอากาศคลายความหนาวเย็นลงมากแล้ว แม่ครัววัดป่ามะม่วงก็มาดูกับเขาด้วย เห็นหน้าผู้ตายถนัด “นางบุญรับ” ถึงกับขวัญเสีย ความเกลียดชังที่มีต่อหล่อนกลับกลายเป็นความเวทนาสงสาร นางยกมือท่วมหัวพูดเบา ๆ ว่า

          “ไปสู่ที่ชอบ ๆ เถิดแม่คุณ ขออย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย”

            แม่ครัวที่มาด้วยอีกสองคนก็รู้สึกใจหายเพราะเห็นกันทุกวัน เคยเอาปิ่นโตไปส่งให้ที่ห้องพักวันละสองเวลา เช้านี้ก็เอาไปส่ง เห็นไม่อยู่ห้องก็นึกว่าไปทางไหน มาพบอีกทีก็กลายเป็นศพไปเสียแล้ว ช่างน่าอนาถใจแท้ ๆ

          นายละอองขับรถมาจากกรุงเทพฯ กับบุตรสาววัยรุ่นอีกสองคน เข้าตั้งใจมาเยี่ยมภรรยาซึ่งมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดป่ามะม่วง เคยขับรถมาส่งเหล่อนเมื่อวันที่ ๑ ธันวา หล่อนบอกว่าจะมาอยู่สักเจ็ดวัน พอมาถึงท่านพระครูกลับบอกให้อยู่ตั้งสิบห้าวัน ด้วยเหตุผลว่าหล่อนกำลังมีเคราะห์ ลูกสาวสองคนรบเร้าให้เขาพามาด้วยทนคิดถึงมารดาไม่ไหว เขาเองก็คิดถึงหล่อนเช่นกัน 

          รถวิ่งมาถึงทางเลี้ยวเข้าวัด เห็นคนมุงดูอะไรกันอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม ชายวัยกลางคนมิได้สนใจจะหยุดดู ด้วยใจจดจ่ออยู่ที่ภรรยา อยากเห็นหน้าหล่อนเร็ว ๆ

          ครั้นถึงวัด เขาตรงไปยังกุฏิที่หล่อนพักพร้อมลูกสาวทั้งสอง เมื่อเดินไปถึงปรากฏว่าหล่อนไม่ได้อยู่ที่นั้น ที่ประตูมีกุญแจดอกเล็ก ๆ คล้องไว้ หน้าต่างทุกบานถูกปิด เขาจึงไปที่กุฏิท่านพระครู คิดว่าหล่อนอาจจะอยู่ที่นั่น คนที่กุฏิท่านพระครูบอกเขาว่า ท่านไม่อยู่และยังบอกเรื่องมีคนถูกรถชนตายเป็นคนที่มาเข้ากรรมฐาน

          เขารู้สึกสังหรณ์ใจพิกลจึงขับรถออกไปดู แล้วก็ได้พบกับความจริงที่เศร้าสลด ภาพของลูกสาวสองคนร่ำไห้กอดศพแม่ ทำให้เขาสะเทือนใจยิ่งนัก ยังลูกชายคนเล็กที่อยู่กับแม่ยายที่บ้านอีกคน แกจะทำอย่างไร เมื่อรู้ว่าผู้เป็นแม่ได้จากโลกนี้ไปเสียแล้ว

          เมื่อรถของมูลนิธิป่อเต็กตึ้งมาถึงที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่จึงให้นำศพไปตั้ง ณ วัดป่ามะม่วงตามคำขอร้องของสามีผู้ตาย ซึ่งต้องการจะรอถามท่านพระครูก่อน ว่าจะให้นำศพไปเผาที่กรุงเทพฯ หรือว่าเผาเสียที่วัดป่ามะม่วง แล้วเขากับลูกก็มานั่งรอท่านที่กุฏิ

          ทันทีที่ท่านพระครูก้าวลงจากรถ สามีนางทองรินแทบจะโผเข้าหา เขาคุกเข่าลงกับพื้นกราบแทบเท้าของท่าน ร้องไห้สะอึกสะอื้นแข่งกับลูกสาวทั้งสอง ตอนเห็นศพภรรยาเขากลั้นความรู้สึกทั้งมวลไว้ แต่เมื่อมาพบผู้ที่เห็นอกเห็นใจที่เขาจะยึดเป็นที่พึ่งได้ ความรู้สึกที่อดกลั้นเอาไว้ก็กลั้นไม่ไหวอีกต่อไป

          “ทำใจดี ๆ เอาไว้โยม เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดาโลก ไม่มีใครหลีกหนีพ้น โยมทองรินเขาไปสบายแล้ว เขานั่งรออาตมาอยู่ตรงทางเลี้ยว เล่าให้ฟังหมดว่าเกิดอะไรขึ้น ไป ไปคุยกันที่กุฏิดีกว่า” ท่านเดินนำสามพ่อลูกไปยังกุฏิ ภิกษุอีกเจ็ดรูปต่างแยกย้ายกันไปยังกุฏิของตน คงมีแต่พระบัวเฮียวที่เดินตามท่านพระครูมาเพราะอยากรู้เรื่องราว

          เมื่อทุกคนมาถึงกุฏิและนั่งลงเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงเล่าเรื่องที่ “วิญญาณ” มาบอกกล่าว

          “เมื่อเช้าก่อนออกจากวัด อาตมาก็ไปกำชับเขาว่า ไม่ให้ออกไปไหน ขาก็รับคำเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่พออาตมาออกจากวัดไป เขารู้สึกร้อนอกร้อนใจ ไม่อาจปฏิบัติได้ เกิดห่วงโยม ห่วงลูก ๆ” ท่านไม่ได้เล่าทั้งหมดที่วิญญาณบอก เพราะอย่างน้อยก็เห็นแก่คนที่ตายไปแล้ว แต่คนฟังกลับเป็นคนเล่าเสียเองว่า

          “เขาคงเห็นผมดื่มเหล้าทุกวัน เลยกลัวว่าจะพลาดพลั้งไปมีอะไร ๆ กับคนใช้ ทั้งที่ผมไม่เคยคิดอกุศลเช่นนั้น ตั้งแต่เขามาอยู่วัด ผมก็ไม่เคยดื่มอีกเลย และก็ตั้งจะว่าจะไม่ดื่มไปจนตลอดชีวิต อาจเป็นเพราะเขาเผื่อแผ่บุญมาให้ผม จึงทำให้ผมกลับเนื้อกลับตัวได้” นายละอองเล่า แม้จะหยุดร้องไห้แล้ว แต่ก็ยังมีน้ำคลออยู่ที่หน่วยตาทั้งสอง

          “ดีแล้ อาตมาขออนุโมทนาด้วย โยมทองรินเขาก็คงดีใจ ส่วนเรื่องศพเขาบอกให้เผาที่นี่ เขาอยากจะปฏิบัติกรรมฐานต่อแล้วจึงจะไปเกิดในภพภูมิใหม่”

          “วิญญาณปฏิบัติธรรมได้หรือครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวถาม

          “ทำไมจะไม่ได้เล่า อย่างวิญญาณแม่กาหลงก็มาปฏิบัติที่วัดนี้ตั้งแต่ยังเป็นเปรต จนเดี๋ยวนี้เป็นเทพธิดาไปแล้ว รูปร่างสวยงามเชียว เคยมาปรากฏให้คนเห็นบ่อย ๆ เคยสอนเดินจงกรมให้แม่ชีเขียวด้วย” แม่ชีเขียวเป็นผู้อาวุโสที่สุดของสำนักชี เดี๋ยวนี้อายุแปดสิบ ไปไหนมาไหนไม่ค่อยไหวแต่ก็ยังปฏิบัติอยู่ที่สำนัก

          “แล้วแม่ชีเขียวแกรู้ไหมครับว่า แม่กาหลงไม่ใช่มนุษย์”

          “รู้ แต่แกเป็นคนไม่กลัวผี แกก็เดินจงกรมอยู่กับแม่กาหลงสองคน คนอื่น ๆ ไม่มีใครกล้า นี่รู้เรื่องแม่กาหลงแล้วอย่าไปเล่าให้เศรษฐีเจริญชัยนั่นฟังนะ เดี๋ยวเขาจะพากันกลัวไม่ยอมมาวัดอีก” ท่านกำชับพระบัวเฮียว ซึ่งฝ่ายนั้นก็รับคำหนักแน่น

          “แล้วภรรยาผมล่ะครับหลวงพ่อ ทำไมเขาต้องอายุสั้น” นายละอองถาม

            “ตามหลักของกรรม คนที่อายุสั้นเพราะเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โยมทองรินเคยไปฆ่าเขาไว้ เจ้ากรรมนายเวรก็เลยตามมาทวง นี่เขาเล่าให้อาตมาฟังนะ”

          “ถ้าเขาไม่ออกไปนอกวัดก็ไม่ต้องตายใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว เจ้ากรรมนายเวรเขามาดักรออยู่ ตอนโยมเขาข้ามถนนก็บังตาเอาไว้ ไม่ให้เห็นรถบรรทุก”

          “ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่า จิตวิญญาณจะมีอยู่จริง นี่ถ้าไม่ใช่หลวงพ่อเล่า ผมคงไม่เชื่อ”

          “ถึงจะเป็นอาตมา โยมก็อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะได้พิสูจน์ด้วยตัวเองเสียก่อน”

          “พิสูจน์อย่างไรครับ” ถามอย่างสนใจ

          “มาเข้ากรรมฐานสักเจ็ดวัน พอมีเวลาไหมเล่า”

          “ครับ ผมจะหาเวลามา รอให้ลูก ๆ ปิดเทอมเสียก่อน”

          “ดีแล้ว โยมทองรินจะได้ดีใจ โยมจะได้คุยกับเขา โดยไม่ต้องผ่านทางอาตมา”

          “หนูจะมากับคุณพ่อได้ไหมคะหลวงตา หนูอยากคุยกับคุณแม่ค่ะ” เด็กสาววัยสิบสี่ถามขึ้น

          “ได้จ้ะ ถ้าหนูตั้งใจปฏิบัติก็จะสามารถคุยกับคุณแม่ได้ แล้วหนูจะมาไหมละจ๊ะ” ท่านถามคนน้อง

          “ถ้าคุณพ่อกับพี่เขามาหนูก็มาค่ะ” เด็กหญิงวัยสิบสองตอบ

          “หลวงพ่อครับ ศพของทองริน จะเผาเมื่อไหร่ครับ” นายละออกถามขึ้น

          “สวดพระอภิธรรมสักสามคืนแล้วค่อยเผา เจ้าตัวเขาไม่สนใจหรอก ร่างกายนั้น เมื่อวิญญาณทิ้งเสียแล้วก็ไม่ต่างกับท่อนไม้หรือท่อนฟืน”

            “ถ้าอย่างนั้นก็เผาเสียวันนี้เลยดีไหมครับ” พระบัวเฮียวออกความเห็น เป็นความเห็นที่เชยที่สุดในความคิดของท่านพระครู

          “จะเร็วขนาดนั้นไม่ได้หรอกบัวเฮียว อย่าลืมว่าโยมเขามีญาติพี่น้องจะต้องแจ้งให้ญาติรู้เสียก่อน ให้เขาจัดการกันตามประเพณีนิยม คนที่เขาไม่เข้าใจเรื่องการเกิดการตายก็มีอยู่

          “ถ้าเช่นนั้นผมจะเข้ากรุงเทพฯ ไปบอกญาติ ๆ เลยนะครับ” นายละอองบอก

          “อย่าเลย โยมกำลังเครียด ไม่ควรขับรถขับลา อาตมาคิดว่าโยมไม่ต้องไปก็ได้ เดี๋ยวให้สมชายพาไปโทรศัพท์ทางไกลที่ในตัวจังหวัด โยมจะได้เตรียมงานอยู่ทางนี้ ห้าโมงเย็นจะมีพิธีรดน้ำศพ ญาติทางกรุงเทพฯ คงมาทัน เดี๋ยวพาลูกไปเข้าที่พักเสียก่อน พักที่กุฏิโยมทองรินได้ไหม กลัวกันหรือเปล่า”

          “ไม่กลัวครับ”

          “ไม่กลัวค่ะ” สามพ่อลูกตอบพร้อมกัน

          “ดีแล้ว ถ้าอย่างนั้นสมชายช่วยพาไปส่งด้วย เสร็จแล้วพาโยมผู้ชายเข้าไปโทรศัพท์ที่ตัวจังหวัด บอกญาติทางกรุงเทพฯ ให้รู้ เขาจะได้พากันมาทันอาบน้ำศพ”

          เมื่อสามพ่อลูกลุกออกไปแล้ว นางบุญรับก็ร้องไห้กระเซอะกระเซิงเข้ามา

          “หลวงพี่ ฉันกลัวผียายทองริน”

          “ก็ดีแล้วนี่ อยากไปเกลียดเขา แบบนี้ต้อบอกให้หลอกเสียให้เข็ด” ท่านพระครูขู่

          “ไม่เกลียดแล้วจ้ะหลวงพี่ ฉันไม่เกลียดเขาแล้ว เห็นเขาตายแล้วสงสาร” นางบุญรับรีบบอก

          “อ้อ ถ้าเขายังไม่ตายก็ยังไม่หายเกลียดใช่ไหมเล่า” ท่านพระครูย้อน

          “ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ตอนนี้ฉันสงสารเขาจริง ๆ ขอให้ไปที่ชอบ ๆ เถอะ แม่คู้ณ อย่าได้มาจองเวรจองกรรมกันเลย”

          “ใครเขาอยากจะจองเวรจองกรรมกับคนอย่างแกเล่ายายบุญรับเอ๊ย อย่าสำคัญตัวผิดไปหน่อยเลย คนอย่างแกน่ะ แม้แต่ผีก็ยังเมิน” ท่านพระครูว่าให้

          “เมินก็ดี จะได้ไม่มาหลอกฉัน เดี๋ยวตอนอาบน้ำศพ ฉันจะไปกราบขอขมาเขา”

          “ดีแล้ว แล้วข้าจะช่วยบอกเขาให้ไป ช่วยไปตามลูกสาวเขามากินข้าวกินปลาเสีย นี่ก็เที่ยงกว่าแล้ว บริการเขาดี ๆ นะแม่เขาจะได้ไม่มาหลอก” ท่านแกล้งแหย่

          “แหม หลวงพี่ชอบพูดให้ฉันหวาดเสียวอยู่เรื่อย” นางต่อว่าแล้วจึงลุกออกไป ท่านพระครูพูดกับพระบัวเฮียวว่า “วันนี้เธอก็เลยอดฉันเพล”

          “ไม่เป็นไรครับ ผมอิ่มมาจากบ้านนายจ่อยแล้ว อาหารเขาอร่อย ๆ ทั้งนั้น ผมเลยว่าเสียอิ่มแปล้ ถึงไม่ได้ฉันอีกสามวันก็คงไม่หิว”

          “ถึงขนาดนั้นเชียวหรือ รู้สึกว่าเธอจะติดในรสอีกแล้วนะ ทำไมถึงไม่กำหนด “รสหนอ” ล่ะ”

            “กำหนดไม่ทันครับ ก็มันอร่อยผมก็เลยฉันเพลินจนลืมกำหนด”

          “นั่นแสดงว่าเธอยังต้องฝึกอีกมาก”

          “ครับผมก็ว่าอย่างนั้น หลวงพ่อครับ ยายบุญรับแกจะหายโกรธโยมทองรินจริงอย่างที่แกพูดหรือเปล่าครับ”

          “จริงสิ โบราณเขาถึงสอนว่า งามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่ใจ  ไงล่ะ”

          “หมายความว่าอย่างไรครับ”

          “ก็หมายความว่า คนเราถึงจะจงเกลียดจงชังกันปานใด พออีกฝ่ายหนึ่งตายลง ความเกลียดก็หายไป จะมีแต่ความเมตตา สงสารเขา อะไรที่เขาเคยทำไว้กับตนก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามไปหมด แล้วก็จะนึกถึงเขาแต่ในทางที่ดีที่งาม จึงเรียกว่างามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ ก็หมายความว่า คนเราจะดีได้ก็ต้องละชั่วให้ได้ ถ้าละชั่วไม่ได้ก็ดีไม่ได้ ส่วนพระอยู่ที่ใจอันนี้ คงไม่ต้องอธิบายหรอกนะเพราะเธอก็เป็นพระ ฉันก็เป็นพระ ไม่ใช่คนหัวโล้นห่มผ้าเหลืองอย่างที่แม่ครัวบ้านงานว่า”

          “ครับ แล้วผมก็ขอตั้งปณิธานว่า จะรักษาศักดิ์ศรีของพระไว้ด้วยชีวิต จะไม่ยอมให้ใครมาตราหน้าว่า เป็นพวกหัวโล้นห่มผ้าเหลืองอย่างเด็ดขาด” พระบัวเฮียวให้คำปฏิญาณต่อหน้าพระอุปัชฌาย์..

         

มีต่อ........๒๑
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #23 เมื่อ: เมษายน 12, 2007, 10:21:55 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๒๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00021

 

๒๑...

          เสียงด่าหมาแมวดังลั่นวัดแต่เช้าหลังจากวันที่นางบุญรับเข้ามาช่วยทำครัว บรรดาอุบาสกอุบาสิกาตลอดจนพระสงฆ์องค์เณรที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดป่ามะม่วง มีอันต้องกำหนด “เสียงหนอ” กันวันละหลาย ๆ ครั้ง เพราะนางบุญรับแกสามารถด่าได้หลายเวลาต่อวัน

          พระบัวเฮียวกำลังนั่งสมาธิอยู่ก็มีอันต้องกำหนด “เสียงหนอ” แทนการกำหนด พอง – ยุบ กำหนดอยู่นานก็ไม่อาจระงับความฟุ้งซ่านรำคาญใจลงได้ ไม่ชอบหน้าแม่ครัวผู้นั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ครั้นมาได้ยินเสียงเกรี้ยวกราดแสบแก้วหูเช่นนี้เข้าอีก ความไม่ชอบซึ่งเป็นโทสะอ่อน ๆ นั้นก็เพิ่มระดับขึ้นจนกลายเป็นความเกลียดชังและอาฆาตมาดร้าย พระหนุ่มรู้สึกเกลียดผู้หญิงที่ชื่อบุญรับ ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากได้ยินเสียง เกลียด เกลียดเหลือเกินแล้ว

          ในที่สุดก็เลยนั่งกำหนด “เกลียดหนอ” ไปจนถึงเวลาหกโมงเช้า ออกจากสมาธิแล้วจึงเตรียมตัวออกบิณฑบาต แม้จะเดินห่างวัดออกไปจนเสียงด่าตามมาไม่ถึง หากก็ยังรู้สึกว่ามันก้องอยู่ในโสตประสาทตลอดเวลา จิตของท่านจึงถูกพยาบาทนิวรณ์ เข้ากลุ้มรุมโดยที่เจ้าตัวมิได้ทันระแวดระวัง คิดเคียดแค้นชิงชังนางบุญรับไปตลอดทางจนลืมกำหนด “ขวา – ซ้าย  ขวา – ซ้าย” ยามเยื้องย่าง

          เวลาเจ็ดนาฬิกาเศษ ท่านพระครูกลับจากบิณฑบาต กำลังเดินเข้าประตูวัดมา รถกระบะสีน้ำตาลคันหนึ่งวิ่งแซงหน้าท่านมาจอดที่ลานวัด ยังไม่ทันได้ดับเครื่อง เด็กหนุ่มผิวคล้ำหน้าตาคมสันก็ลงจากที่นั่งคนขับ ปีนขึ้นไปที่ด้านหลังรถ เปิดท้ายแล้ว “ผลักด้วยเท้า” สุนัขสิบกว่าตัวที่ยืนหน้าสลอนอยู่ท้ายรถลงมาจนหมด ปิดท้ายรถเรียบร้อยจึงกระโดยลงมา ก้าวเข้าไปนั่งประจำที่คนขับแล้วออกรถ ท่านพระครูรีบโบกมือเรียก

          “ช้าก่อนพ่อหนุ่ม เดี๋ยวหยุดคุยกันก่อน “ “พ่อหนุ่ม” เบรครถดังพรืด โผล่หน้าคมคายออกมาถามว่า       

          “มีอะไรหรือครับ” เขาไม่ทำความเคารพซึ่งท่านพระครูก็เข้าใจและรู้ว่าเป็นธรรมเนียมของคนมุสลิมที่จะไม่เคารพผู้ใดหรือสิ่งใดนอกจากพระเจ้าสูงสุดคืออัลลอฮ์เท่านั้น “มาจากไหนล่ะเธอน่ะ” ทำไมถึงได้ขนหมามาปล่อยที่วัดนี้” ท่านถามยิ้ม ๆ

          “ผมมาจากชะไว มะให้ใช้เอามาปล่อยเพราะกันกัดแพะ เจ้าหมาพวกนี้เราไม่ได้เลี้ยง มันมากันเอง มะเลยให้เอามาปล่อย ผมเป็นมุสลิม คนมุสลิมเขาไม่เลี้ยงหมาครับ” เด็กหนุ่มอธิบาย “มะ” เป็นคำที่มุสลิมใช้เรียกมารดาของตน “อ้อ แล้วทำไม่มาไกลถึงที่นี่ จากชะไวมานี่ก็ผ่านวัดมาเป็นร้อย ต้องมาถึงที่นี่ให้เปลืองน้ำมันทำไมเล่า”

          “มะกำชับมาครับ บอกว่าให้เอามาปล่อยที่วัดป่ามะม่วง มันจะได้ไม่ถูกคนรังแก มะว่าเจ้าของวัดนี้เขาใจดี มันจะมีความสุขกว่าอยู่ที่อื่น ถึงมะจะเกลียดพวกมัน แต่ก็ไม่อยากเห็นมันถูกรังแกครับ”

          “อ้อ ยังงั้นหรอกหรือ งั้นกลับไปบอกมะเธอด้วยว่า หลวงพ่อวัดนี้สั่งให้เอามาปล่อยอีกหลาย ๆ คนรถ รับรองว่าอยู่วัดนี้แล้วปลอดภัย” ท่านตั้งใจประชดแต่ชายหนุ่มไม่รู้จึงตอบไปว่า “ครับแล้วผมจะบอกมะตามนี้” พูดจบก็ออกรถอย่างเร็วโดยมิร่ำลา

          ท่านพระครูมองตามรถพลางส่ายหน้าช้า ๆ วัดนี้ไม่รู้เป็นอะไร แมวมาหา หมามาสู่มิได้ขาด เมื่อวันก่อนก็มีคนเอาแมวใส่กระสอบซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์มาปล่อย จนวัดแทบจะกลายเป็นที่อยู่ของสัตว์สาราสิ่งไปแล้ว

          นายสมชายซึ่งหิ้วปิ่นโตเดินมาทันท่านที่ลาดวัดพูดขึ้นว่า “เขาเอาหมามาปล่อยอีกแล้วหรือครับหลวงพ่อ ทำไมถึงต้องมาปล่อยที่วัดนี้ก็ไม่รู้ วัดอื่นมีถมเถไปไม่ปล่อย” เด็กหนุ่มตำหนิกราย ๆ

          “เขาว่ามันจะได้ไม่ถูกรังแก” ท่านพระครูอ้าง “เขาว่า”

          “ไม่ถูกยังไงได้ ยายบุญรับตีมันทุกวัน ผมงี้หนวกหูจะแย่อยู่แล้ว เมื่อไหร่ยายนี่จะไป ๆ เสียทีก็ไม่รู้” เขาบ่น

          ถึงกุฏิแล้วจึงเข้าไปล้างมือล้างเท้าจนสะอาดหมดจด เช็ดให้แห้งก่อนลงมือฉันอาหารที่ลูกศิษย์จัดสำรับไวรอท่า ฉันเสร็จจึงเข้าไปล้างปากแปรงฟัน ซึ่งหมายความว่า “สิ้นสุดการบริโภคอาหารสำหรับวันนี้” จากนั้นจึงมานั่งยังอาสนะประจำของท่าน รู้ว่าพระบัวเฮียวจะต้องมาให้สอบอารมณ์

          “หลวงพ่อครับผมแย่แล้ว” ลูกศิษย์รายงานทันทีที่มาถึงและกราบอาจารย์แล้ว ทั้งที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับศิษย์ หากท่านพระครูก็ต้องถามไปตามมารยาทว่า “แย่ยังไง ไหนว่าไปซิ”

          “ผมเกลียดยายบุญรับจนปฏิบัติไม่ได้ จิตมันตกจนดึงไม่ขึ้น ทำยังไงดีล่ะครับหลวงพ่อ” ถามอย่างรู้สึกทุกข์ร้อน

          “นั่นแหละ พยาบาทนิวรณ์ กำลังครอบงำเธอ ทำไมไม่ใช้โยนิโสมนสิการขจัดมันเสีย ปล่อยให้ระรานอยู่ทำไม” คนเป็นศิษย์ไม่ตอบด้วยมิรู้จะตอบอย่างไร อาจารย์จึงขยายความต่อไปว่า

          “การละพยาบาทนิวรณ์ ต้องใช้ โยนิโสมนสิการ ในเมตตาเจโตวิมุตติ ดั่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ....ภิกษุทั้งหลาย เจโตวิมุติมีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในเจโตวิมุตินั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น...วิธีปฏิบัติก็เช่น การกำหนดนิมิตในเมตตาเป็นอารมณ์การประกอบเนือง ๆ ซึ่งเมตตาภาวนา การพิจารณาถึงความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นต้น” ท่านมองหน้าลูกศิษย์ รู้ว่าฝ่ายนั้นยังไม่เข้าใจ จึงถามขึ้นว่า

          “จะต้องให้แจกแจงในรายละเอียดไหม”

          “ก็ดีเหมือนกันครับ เพราะผมรู้แต่หลักการ ส่วนรายละเอียดยังทราบไม่ซึ้งนัก”

          “ถ้าอย่างนั้นก็ตั้งใจฟังให้ดี การเจริญเมตตาหรือการแผ่เมตตานั้น ลำดับแรกจะต้องแผ่ให้ตัวเองก่อน”

          “ทำไมต้องให้ตัวเองก่อนล่ะครับ ก็เราไม่ได้เกลียดตัวเอง เราเกลียดคนอื่นก็ควรจะแผ่เมตตาให้คนที่เราเกลียด” พระบัวเฮียวแย้ง ท่านพระครูจึงแถลงว่า “การที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้แผ่เมตตาแก่ตัวเองก่อน เพราะเท่ากับทำตัวเราให้เป็นพยานว่า ตัวเราเป็นผู้รักสุข เกลียดทุกข์ อยากอยู่ ไม่อยากตาย ฉันใด คนอื่น ๆ หรือสัตว์อื่น ๆ ก็ฉันนั้น”

            “แต่ถ้าเราอยากตาย ไม่อยากอยู่ล่ะครับ” พระญวนเริ่มยวน ท่านพระครูต้องปรามว่า

          “ขอที ๆ อย่าชักใบให้เรือเสีย เธอละก็ ชอบออกนอกลู่นอกทางเสียเรื่อย”

          “ครับ ๆ ไม่ออกก็ได้ครับ นิมนต์หลวงพ่อเทศน์ต่อ ผมไม่ขัดแล้วครับ” เมื่อลูกศิษย์นิมนต์ อาจารย์จึงแสดงธรรมต่อไปว่า “โดยธรรมชาติแล้วไม่ว่าคนหรือสัตว์ ต่างก็รักตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ดังมีพุทธพจน์แสดงไว้...บุคคลตามค้นไปด้วยใจตลอดทุกทิศ ก็มิได้พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนที่ไหนเลย ฉันใด ตนของคนอื่น ๆ ก็ย่อมเป็นที่รักของเขามาก ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น...นี่แหละถึงต้องให้แผ่เมตตาในตนเองก่อน ไหนเธอแผ่เมตตาให้ตัวเองเป็นหรือเปล่า ลองว่าให้ฟังสักหน่อยซิ”

          “หลวงพ่อจะเอาแบบบาลีหรือแบบไทยล่ะครับ”

            “เอาทั้งสอบแบบนั่นแหละ”

          “งั้นก็เอาบาลีก่อนแล้วตามด้วยไทยนะครับ ฮะแอ้ม” พระหนุ่มกระแอมแก้เขินแล้วจึงท่องด้วยเสียงค่อนข้างดังว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ, นิททุโข โหมิ, อะเวโร โหมิ, อัพยาปัชโฌ โหมิ, อะนีโฆ โหมิ, สุขี อัตตานัง ปะระหะรามิ – ขอข้าพเจ้าจงถึงซึ่งความสุขเถิด ขอข้าพเจ้าจงอย่าได้มีเวรมีภัยเลย ขอข้าพเจ้าอย่าได้มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอข้าพเจ้าจงอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด...”

          “ดีมาก จำแม่นดี เอาละเมื่อแผ่เมตตาในตัวเองเป็นอันดับแรกแล้ว จากนั้นจึงแผ่ไปในผู้อื่นตั้งแต่บุคคลที่รักมาก บุคคลกลาง ๆ คือไม่รักไม่ชังไปจนถึงบุคคลที่เป็นศัตรู แต่ถ้าแผ่เมตตาให้ศัตรูแล้วเกิดโทสะขึ้น ให้ปฏิบัติตามวิธีระงับความโกรธที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ซึ่งมีถึง ๙ วิธี”

          “แต่ถ้าใช้ทั้ง ๙ วิธีแล้วยังไม่หายโกรธล่ะครับ”

          “ก็แสดงว่าคน ๆ นั้นกิเลสหนาตัณหามากจนไม่อาจรับฟังคำสั่งสอนได้ ก็ตัดหางปล่อยวัดไป ถือว่าเป็นพวกบัวติดโคลนตมที่เรียกว่า ปทปรมะ”

            “แล้วคนที่ไม่มีหางจะให้ตัด จะทำอย่างไรดีครับ อย่างผมนี่ ตอนเกิดแม่ไม่ได้ให้หางมาด้วย” พระญวนอดยวนมิได้

          “บัวเฮียว รู้สึกว่าเธอจะถนัดเถลไถลจริงเชียวนะ ฉันจะว่าเธอยังไงถึงจะเจ็บแสบ จะได้จดได้จำเสียที ท่านพระครูว่าให้

          “ถ้าจะว่าใครให้เจ็บให้แสบก็ต้องว่า...เดี๋ยวเอามีดโกนปาดแล้วราดด้วยทิงเจอร์...รับรองทั้งเจ็บทั้งแสบเชียวครับ” พระบัวเฮียวเสนอแนะ ความสุขของท่านคือการได้ยั่วพระอุปัชฌาย์ อยากเห็นท่านโกรธ เพราะท่านไม่เคยโกรธให้เห็น เขาว่ากันว่า คนเป็นพระอรหันต์จะไม่โกรธ หรือ ว่าท่านเป็นพระอรหันต์!”

          “ถ้างั้นฉันก็จะขึ้นไปเขียนหนังสือละนะ จะไม่บอกเธอหรอกว่าวิธีระงับความโกรธที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้มีอะไรบ้าง จะปล่อยให้เธอเกลียดยายบุญรับ ให้เธอถูกไฟโทสะแผดเผาให้ไหม้เกรียมกรอบเป็นปลาย่างไปเลย” ท่านต่อว่าต่อขานยืดยาว แต่คนเป็นศิษย์ก็รู้ว่าอาจารย์ไม่ได้โกรธ เพราะหน้าท่านไม่บึ้ง เสียงที่พูดก็ไม่เกรี้ยวกราดอย่างเสียงยายบุญรับ

          “แหมหลวงพ่อก็ ผมพูดเล่น ๆ ก็ทำใจน้อยไปได้ นิมนต์สาธยายต่อเถิดครับ ผมไม่ยั่วแล้ว”

          “แน่นะ เอาละ งั้นก็ตั้งใจฟังให้ดี การปฏิบัติเพื่อระงับความโกรธวิธีแรก คือ ให้ระลึกถึงโทษของความโกรธ ว่า ความโกรธนั้นให้โทษด้วยประการต่าง ๆ หาคุณมิได้เลย ถ้าคนเขามาโกรธเราแล้วเราโกรธตอบ เราก็ได้ชื่อว่าเป็นคนเลวเสียยิ่งกว่าคนที่โกรธก่อนนั้นอีก ผู้ไม่โกรธตอบคนที่โกรธตนก่อน ผู้นั้นได้ชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะยาก ฉะนั้นถ้าเธอโกรธตอบยายบุญรับ ก็แปลว่าเธอเลวกว่ายายบุญรับเสียอีก

          ถ้าลองวิธีนี้แล้วยังไม่ได้ผลก็ให้ใช้วิธีที่สองคือ ให้ระลึกถึงความดีของเขา ธรรมดาคนเรานั้นว่าโดยทั่วไป แต่ละคน ๆ ก็ต้องมีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดีอยู่ในตัว เราก็คิดถึงแต่ในส่วนดีของเขา ส่วนที่ไม่ดีอย่าไปคิด ถ้าหาส่วนดีของเขาไม่ได้จริง ๆ ก็ให้นึกสงสารเขา คิดเสียว่า...โธ่! น่าสงสาร ต่อไปคน ๆ นี้จะต้องประสบผลร้ายต่าง ๆ เพราะความประพฤติไม่ดีอย่างนี้ นรกอาจรอเขาอยู่...เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็จะระงับความโกรธเสียได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ก็ให้ลองวิธีที่สาม คือ ให้คิดถึงความจริงที่ว่า การโกรธคือการทำให้ตัวเองทุกข์ คนที่โกรธแล้วเป็นสุขนั้นไม่มีในโลก เมื่อเราคิดได้อย่างนี้เราก็ต้องไม่โกรธ เพราะเรื่องอะไรจะไปทำให้ตัวเองทุกข์ จริงไหม”

          “จริงครับ แล้วถ้ายังไม่หายโกรธ จะทำอย่างไรครับ”

          “ก็ใช้วิธีที่สี่ คือให้พิจารณาสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมที่มีความโกรธเป็นเหตุนั้นมันรังแต่จะทำความเสื่อมเสียให้กับตัวเรา เพราะทั้งเราทั้งคนอื่น ๆ ต่างก็มีกรรมเป็นของ ๆ ตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ก็จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น และ กรรมที่เกิดจากความโกรธนั้นจะทำให้บรรลุความหลุดพ้นก็หาไม่ จะช่วยให้ได้ทิพยสมบัติหรือมนุษย์สมบัติก็หาไม่ มีแต่จะทำให้ตัวเองตกต่ำลงไปจนถึงกับตกนรกหมดไหม้  เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรให้ความโกรธเกิดขึ้นในตัวเรา แต่ถ้ายังไม่หายโกรธอีกก็ให้ลองวิธีที่ห้าคือ ให้พิจารณาพระจริยาวัตรในปางก่อนของพระศาสดาว่า พระพุทธเจ้าของเรานั้น กว่าจะตรัสรู้ก็ได้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายมาตลอดเวลายาวนาน ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยยอมเสียสละแม้แต่พระชนม์ชีพของพระองค์เอง เมื่อทรงถูกข่มเหงกลั่นแกล้งเบียดเบียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็ไม่ทรงแค้นเคืองทรงเอาดีเข้าตอบ ถึงเขาจะตั้งตัวเป็นศัตรู ขนาดพยายามปลงประชนม์ก็ไม่ทรงมีจิตประทุษร้าย ซึ่งเรื่องราว  ต่าง ๆ เหล่านี้มีปรากฏในชาดก เช่น เรื่องมหาสีลวชาดก มหากปิชาดก เป็นต้น เธอสามารถไปอ่านเองได้ หัดอ่านเสียบ้างจะได้หูกว้างตากว้างขึ้น ไม่ใช่ดีแต่ปากกว้าง เอาแต่กินอย่างเดียว” ท่านแกล้งเหน็บแนม ด้วยรู้ว่าคนเป็นศิษย์ ”ติดในรส”

          “ครับแล้วผมจะไปหาอ่าน ต่อวิธีที่หกเถอะครับ” พระบัวเฮียวไม่ต่อกลอนเพราะกลัวจะ “เข้าเนื้อ” มากขึ้น

          วิธีที่หก ให้พิจารณาถึงความที่เคยเกี่ยวข้องกันในวัฏสงสาร ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ...ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นพี่น้องชาย ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิง ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดาของเรา มิใช่หาได้ง่าย...อันนี้ก็หมายความว่า มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ จะต้องเคยเกี่ยวข้องกันมาในอดีตชาติ อย่างยายบุญรับก็อาจจะเคยเป็นแม่หรือพี่สาวหรือน้องสาวเธอในอดีตชาติ ชาตินี้ถึงได้มาเจอกันอีก เพราะฉะนั้นเธอก็ไม่ควรใจร้ายต่อเขา”

          “แต่ถ้าเขาใจร้ายต่อผมล่ะครับ”

          “อันนั้นมันเรื่องของเขา ถ้าตัวเราไม่ผูกเวร เวรมันก็ระงับลงได้ในส่วนของเรา ถ้าเขาโกรธเขาก็ทุกข์ ส่วนเราไม่โกรธเราก็ไม่ทุกข์”

          “ที่เรียกว่าตบมือข้างเดียวไม่ดังใช่ไหมครับ”

          “เอ อันนี้ฉันก็ไม่ค่อยแน่ใจเพราะไม่เคยตบ ตั้งแต่บวชมานี่ยังไม่เคยตบมือ ไม่ว่าจะข้างเดียวหรือสองข้างก็ไม่เคย” ท่านพระครูนึกสนุกจึงพูดยวนกับคนญวน

          “ดีแล้วครับ หลวงพ่อทำถูกแล้ว เป็นพระเป็นเจ้าขึ้นตบมือตบไม้ ประเดี๋ยวศีลก็เปื่อยหมดเท่านั้น” คนญวนยวนตอบ

          “เอาละ ๆ พอแล้ว พูดเลอะเลือนล่ามป้ามไปมันจะไม่ดี ทีนี้ก็มาว่ากันถึง วิธีที่เจ็ด คือพิจารณาอานิสงส์ของเมตตา

          ความโกรธมีโทษ ก่อผลร้ายมากมายฉันใด เมตตาก็มีคุณก่อให้เกิดผลดีมาก ฉันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรจะระงับความโกรธเสีย แล้วตั้งจิตเมตตาขึ้นมาแทน ให้เมตตานั่นแหละช่วยกำจัดและป้องกันความโกรธไปในตัว ผู้มีเมตตาย่อมสามารถเอาชนะใจคนอื่นซึ่งเป็นชัยชนะที่เด็ดขาด ไม่กลับแพ้ ผู้ตั้งอยู่ในเมตตาชื่อว่าทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

          พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของเมตตาไว้ ๑๑ ประการคือ หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดารักษา ไฟ พิษ หรือศัสตราไม่กล้ำกราย จิตเป็นสมาธิเร็ว ผิดหน้าผ่องใส ไม่หลงตาย และประการสุดท้ายคือ เมื่อยังไม่บรรลุธรรมเบื้องสูง ก็จะได้ไปเกิดในพรหมโลกเป็นอย่างต่ำ”

          “แล้วถ้ายังไม่หายโกรธล่ะครับ”

          “ก็ให้ลอง วิธีที่แปด คือพิจารณาโดยวิธีแยกธาตุ วิธีนี้เป็นการพิจารณาระดับปรมัตถ์ เข้าใจยาก ฉันจะยังไม่อธิบายให้เธอฟังในตอนนี้ ให้เธอปฏิบัติได้สูงพอสมควรเสียก่อน แล้วค่อยมาว่ากันใหม่ ตอนนี้พูดไปเธอก็ไม่เข้าใจ

          เอาละ ฉันจะรวบรัดไปถึงวิธีสุดท้ายเลย คือพิจารณาทำทานสังวิภาค

          การทำทานสังวิภาค ก็คือการให้ของ ๆ ตนแก่ศัตรูและรับของ ๆ เขามาเพื่อตน แต่ถ้าของ ๆ เขาไม่บริสุทธิ์ก็พึงให้แต่ของ ๆ ตนฝ่ายเดียว ไม่รับของเขา เมื่อทำอย่างนี้ความอาฆาตในบุคคลนั้นจะระงับไป การให้เป็นวิธีแก้ความโกรธที่ได้ผลชะงัด สามารถระงับเวรที่ผูกกันมายาวนานให้สงบลงได้ เป็นเมตตากรุณาที่แสดงออกในการกระทำ พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงอานุภาพยิ่งใหญ่ของทาน คือการให้นั้นว่า ...การให้เป็นเครื่องฝึกคนที่ยังฝึกไม่ได้ การให้ยังสิ่งประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จได้ ผู้ให้ก็เบิกบานขึ้นมาด้วยการให้ ฝ่ายผู้รับก็น้อมลงมาพบด้วยปิยวาจา...นี่แหละการระงับความโกรธวิธีสุดท้าย เธอเห็นแล้วใช่ไหมว่า เสด็จพ่อของพวกเรา ท่านทรงสอนไว้ละเอียดลออลึกซึ้งยิ่งนัก เธออยากจะฟังเรื่องของพระสาวกรูปหนึ่งที่ไม่เคยผูกโกรธต่อผู้ใดเลย อยากฟังไหมล่ะ ฉันจะได้เล่า” ท่านถามคนฟัง

          “หลวงพ่ออยากเล่าหรือเปล่าล่ะครับ ถ้าอยากเล่าผมก็อยากฟัง” คนฟังมานานเริ่มยั่ว

          “ถ้าฉันไม่อยากเล่าล่ะ เธอจะว่ายังไง” คนเล่ายั่วตอบ

          “ถึงหลวงพ่อไม่อยากเล่า แต่ผมก็อยากฟัง เพราะฉะนั้นหลวงพ่อเล่าเถิดครับ นิมนต์” พูดพร้อมกับประนมมือขึ้น “นิมนต์” คนเล่าจึงเล่าแต่โดยดี

          “เรื่องมีว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ เชตวนาราม พระสาวกชื่อ ปุณณะ ได้เข้าไปเฝ้ากราบทูลขอให้ประทานโอวาท พระศาสดาจึงทรงแสดงธรรมสอนให้ไม่เพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เมื่อดับความเพลิดเพลินได้ ทุกข์ก็ดับ

          พระปุณณะกราบทูลว่าท่านจะไปอยู่ชนบทชื่อ สุนาปรันตะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชาวสุนาปรันตะดุร้าย ถ้าเขาด่าว่าเธอจะทำอย่างไร พระปุณณะ กราบทูลว่า ข้าพระองค์คิดว่าด่าก็ยังดีกว่าทำร้ายด้วยมือ ตรัสถามว่าถ้าเขาทำร้ายด้วยมือจะทำอย่างไร กราบทูลว่า  ยังดีกว่าใช้ก้อนดินทำร้าย ตรัสถามว่าถ้าเขาใช้ก้อนดินทำร้ายจะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าใช้ท่อนไม้ทำร้าย ตรัสถามว่าถ้าเขาใช้ท่อนไม้ทำร้ายจะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าทำร้ายด้วยศัสตรา ตรัสถามว่าถ้าเขาทำร้ายด้วยศัสตราจะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าฆ่าด้วยศัสตราที่คม ตรัสถามว่าถ้าเขาฆ่าด้วยศัสตราที่คมจะทำอย่างไร กราบทูลว่าบุคคลบางคนยังต้องหาคนมาฆ่า แต่นี่ดีไม่ต้องหา เขามาฆ่าให้เอง

          พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาและตรัสอนุญาตให้พระปุณณะไปอยู่ชนบทชื่อสุนาปรันตะได้ พระปุณณะไปอยู่ ณ ที่นั้น ได้แสดงธรรมให้พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตะชนบทกลับใจแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาเป็นจำนวนมาก ภายในพรรษานั้นเอง และตัวท่านก็ได้วิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเองเหมือนกัน” ท่านพระครูเล่าจบ คนเป็นศิษย์จึงพูดขึ้นว่า

          “ผมจะจดจำเรื่องราวของพระสาวกรูปนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์ จะพยายามทำให้ได้อย่างท่าน” พูดอย่างมุ่งมั่น

          “ดีแล้ว ฉันขออนุโมทนาแล้วก็เชื่อว่าเธอต้องทำได้” เงียบกันไปครูหนึ่ง พระบัวเฮียวจึงถามว่า

          “หลวงพ่อครับ การแผ่เมตตานั้น เราจะแผ่ให้สัตว์ด้วยจะได้ไหมครับ”

          “ทำไมจะไม่ได้เล่า อย่าว่าแต่สัตว์เลย แม้แต่พืชก็แผ่ให้ได้ มีคนเขาทดลองทำมาแล้ว ได้ผลเกินคาดเชียวละ อย่างยายบุญรับนั่น ถ้าแก้เปลี่ยนจากด่ามาเป็นแผ่เมตตา แกก็ไม่ต้องไปทะเลาะกับหมากับแมวอย่างนั้น แกโกรธว่ามันขี้เรี่ยราดสกปรกก็เลยไปด่าไปตีมัน หมาแมวมันก็มีจิตใจ ไปทำอย่างนั้นมันก็โกรธเลยแกล้งขี้เลอะเทอะใหญ่ ขี้ตัวเดียวไม่พอ มันยังเที่ยวไปชวนเพื่อนมันมาขี้ ถ้ายายบุญรับแผ่เมตตาให้มัน มันก็เลิกแล้วก็บอกให้เพื่อนมันเลิกอีกด้วย”

          “มันเลิกขี้มันก็ตายซีครับหลวงพ่อ”

          “ไม่ตายหรอก ฉันหมายถึงว่า มันเลิกขี้เรี่ยราด แต่จะขี้เป็นที่เป็นทางไม่ให้สกปรกเหมือนที่เป็นอยู่น่ะ” ท่านพระครูตอบทั้งที่รู้ว่าพระญวนตั้งใจยวน

          “ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อน่าจะสอนให้แกแผ่เมตตา ผมจะได้ไม่ต้องได้ยินเสียงด่าของแก”

          “ทำไม่จะไม่สอน สอนจนไม่รู้จะสอนยังไงแล้ว แต่แกรับไม่ได้ อุตส่าห์ชื่อบุญรับ แต่ไม่ยักกะรับสิ่งดี ๆ ฉันจัดแกไว้ในพวก “ทวนกระแส” คนบางคนก็สอนยากนะบัวเฮียว คนที่มาวัดนี้ไม่ได้แปลว่าจะสอนง่ายหมดทุกคน”

            “มันเป็นไปตามกรรมที่เขาทำมาน่ะครับ” พระบัวเฮียวว่า

          “ทั้งทำมาทั้งทำไปนั่นแหละ ถึงกรรมที่ทำมาจะไม่ดี แต่กรรมที่จะทำต่อไปก็สามารถแก้ไขให้มันดีได้ แต่เขาก็ไม่ยอมแก้ไข คนประเภทนี้นับวันจะมีมากขึ้น”

          “ต้องปล่อยไปตามเวรตามกรรมของเขาใช่ไหมครับ”

          “ก็คงต้องเป็นอย่างนั้น เอาละถึงเวลาที่เธอจะต้องกลับไปปฏิบัติแล้ว ฉันเองก็จะขึ้นไปเขียนหนังสือเหมือนกัน อย่าลืมแผ่เมตตาให้ยายบุญรับล่ะ” ท่านเตือน

          “ไม่ลืมครับ ฟังหลวงพ่อพูดผมก็หายโกรธแกไปตั้งครึ่งแล้ว ผมรับรองว่าจะต้องกำจัดพยาบาทนิวรณ์ออกไปจากจิตให้ได้ ขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงที่ได้ชี้ทางสว่างให้ ผมไปละครับ” พระหนุ่มก้มลงกราบพระอุปัชฌาย์สามครั้งแล้วจึงลุกออกมา..

 
 มีต่อ........๒๒
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #24 เมื่อ: เมษายน 12, 2007, 10:22:42 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๒๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00022

 

๒๒...

            อาคันตุกะคนสุดท้ายลากลับไปเมื่อเวลาบ่ายคล้อย ท่านพระครูกำลังจะขึ้นไปเขียนหนังสือ ก็พอดีนายสมชายนำพระภิกษุรูปหนึ่งเข้ามาในกุฏิ ผู้มาใหม่ทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง ท่านพระครูรับไหว้แล้วทักขึ้นว่า
                ”ท่านสมภารเองหรอกหรือ ไปยังไงมายังไงกันนี่”

          “ผมว่าจ้างเรือเขามาส่งครับ มีเรื่องร้อนใจจะมาปรึกษาท่านพระครู” คนพูดมีท่าทางอมทุกข์ หน้าตาดูหมองคล้ำไร้สง่าราศี ผิดกับผู้ที่อยู่ในสมณเพศทั่ว ๆ ไป นายสมชายรินน้ำชาใส่ถ้วยมาประเคนแล้วจึงลุกออกไป ท่านสมภารคงไม่อยากให้เขาอยู่รับฟังเรื่องร้อนใจของท่านเป็นแน่

          “มีเรื่องหนักอกหนักใจอะไรหรือ ดูท่าทางท่านไม่มีความสุขเลยนี่”

          “เรื่องคอขาดบาดตายเชียวละครับ” สมภารวัดฝั่งตรงกันข้ามตอบ พลางหยิบธนบัตรสองปึกใหญ่ออกมาจากย่าม วางไว้ตรงหน้าท่านเจ้าของกุฏิ ตั้งใจจะใช้เงินเป็นเครื่องล่อให้ธุระของตนบรรลุจุดมุ่งหมาย ท่านพระครูเห็นไม่ชอบมาพากลจึงกล่าวเตือนว่า “ท่านสมภารอย่าเอาเงินออกมาวางทำไมตั้งมากมายถึงปานนั้น ผมว่าเก็บใส่ย่ามไว้ก่อนดีกว่า ใครมาเห็นเข้ามันจะไม่ดี”

          “ผมจะถวายท่านพระครู เงินสองหมื่นนี่ผมเก็บมาทั้งชีวิตเลย แต่ก็จะตัดใจถวายถ้าท่านช่วยผมได้สำเร็จ บอกตามตรงว่าเสียดายใจแทบขาด” คนพูดมีเจตนาจะให้ค่าของเงินสองหมื่นนั้นดูมากมายมหาศาล หากคนฟังกลับกล่าวเสียงเรียบว่า “เสียดายก็เก็บไว้เสียเถอะ รับรองว่าถ้าช่วยได้ผมก็จะช่วยจนสุดความสามารถ โดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ถึงผมจะไม่เคยมีเงินมากมายเท่านี้ แต่ผมก็ไม่คิดอยากได้ พูดไปท่านคงไม่เชื่อแต่มันก็เป็นความจริง

          โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่สะสมเงินทอง ใครมาถวายผมก็ปัดเข้าเป็นเงินวัด เพราะต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟและค่าอาหารเลี้ยงผู้คนที่มาปฏิบัติธรรม”

          “ผมว่าท่านคิดผิดแล้ว เพราะสมัยนี้ใคร ๆ เขาก็สะสมเงินทองกันทั้งนั้น สำหรับผม เงินสำคัญมาก เวลามีเรื่องเดือดร้อนมันสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ท่านพระครูเชื่อผมเถอะ ลองไม่มีเงินเสียอย่างเดียว เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องง่ายก็กลายเป็นเรื่องยาก”

          “แต่ผมกลับคิดตรงกันข้าม ผมถือคติว่านักบวชต้องดำเนินชีวิตอย่างสันโดษ การสะสมเงินทองเป็นเรื่องของฆราวาสเขา”

          “ถ้าเช่นนั้นก็นิมนต์ท่านสันโดษต่อไปแล้วกัน ส่วนผมทำอย่างท่านไม่ได้ เพราะผมไม่ชอบตั้งอยู่ในความประมาท” ท่านพระครูอยากจะย้อนว่า การกระทำของท่านสมภารนั่นแปละที่เรียกว่าตั้งอยู่ในความประมาท คือประมาทมัวเมาในลาภสักการะ แต่ท่านก็ไม่พูดเพราะรู้ว่าพูดกับคนมิจฉาทิฐินั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร ยิ่งคน ๆ นั้นเป็นพระด้วยแล้วก็พึงนึกถึงคำพังเพยที่ว่า “ทิฐิพระ มานะครู” ให้มาก ๆ

          “ท่านว่ามีเรื่องจะปรึกษาไม่ใช่หรือ” ท่านพระครูเปลี่ยนเรื่องคุย

          “ครับ ผมขอความกรุณาท่านโปรดช่วยผมด้วย ผมก็เห็นว่ามีท่านคนเดียวนี่แหละที่จะช่วยได้ นึกว่าเอาบุญเถอะ”

          “ก็ผมยังไม่รู้เรื่องราว แล้วจะไปช่วยท่านได้ยังไง เล่าให้ผมฟังก่อนสิ” สมภารวัยเดียวกับท่านพระครูจึงเล่าว่า

          “พวกชาวบ้านเขาจะจับผมสึก เขาหาว่าผมต้องอาบัติปาราชิก”

          “แล้วท่านเป็นอย่างที่เขากล่าวหาหรือเปล่าเล่า”

          “ปละ...เปล่าครับ” ตอบไม่เต็มเสียงนัก

          “อ้าว ก็ในเมื่อท่านไม่เป็นแล้ว จะต้องไปเดือดร้อนทำไมกัน ไหนเรื่องราวมันไปยังไงมายังไง ทำไมเขาถึงมากล่าวหากันง่าย ๆ อย่างนี้” ท่านสมภารรีบคล้อยตามว่า

          “นั่นซีครับ อยู่ดี ๆ เขาก็มากล่าวหาผม เรื่องไม่มีมูลความจริงก็มากล่าวหากันได้” ประโยคหลังบ่นเสียงอ่อย ๆ

          “เอ แต่โบราณเขาว่า ไม่มีมูลฝอยหมามันไม่ขี้ ท่านอย่าปดผมดีกว่า เล่าไปตามตรงว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าช่วยได้ผมก็จะช่วย ขอให้พูดความจริงก็แล้วกัน” เมื่อท่านพระครูพูดอย่างนี้ คนฟังก็เลยต้องเล่าไปตามความจริงแต่ไม่ทั้งหมดว่า

          “เขาหาว่าผมเสพเมถุน คือว่า ผู้หญิงเขามาปรึกษาปัญหาส่วนตัวกับผม เขาก็มากับแม่ทุกครั้ง แต่วันนั้นแม่เขาป่วยมาไม่ได้ เขาเลยต้องมาคนเดียว”

          “แล้วยังไง” ท่านพระครูซักเพราะเห็นเรื่องกำลังจะเข้าเค้า ท่าทางคนเล่าก็มีพิรุธชวนให้สงสัยนัก

          “เขาก็มาปรึกษาผมโดยไม่มีแม่มาเป็นเพื่อน”

          “แล้วปรึกษากันที่ไหน” ท่านพระครูสวมบทอัยการ

          “ก็ปรึกษากันที่กุฏิผม”

          “มีบุคคลที่สามอยู่ด้วยหรือเปล่า”

          “ไม่มี”

          “เขามาเวลาเท่าไหร่”

          “ประมาณสองทุ่ม”

          “แล้วปรึกษากันถึงกี่ทุ่ม”

          “ประมาณสี่ทุ่ม ก็ยังไม่ดึกเท่าไหร่” พูดแบบเข้าข้างตัวเอง

          “แล้วตอนปรึกษานั้น ปิดไฟหรือเปิดไฟปรึกษากัน”

          “เปิดครับ แต่ไฟมันหรี่ไปหน่อย เลยออกจะมืด ๆ”

          “แล้วยังไงต่อไปอีก”

          “ผมก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านเขามาแอบดูอยู่ แล้วก็มีคนไปบอกผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็สั่งคนให้มาล้อมกุฏิไว้”

          “แล้วท่านรู้ตัวตอนไหน”

          “ตอนที่เขาตะโกนเข้ามาบอกแล้ว...ผู้หญิงเขาตกใจเลยกระโดดขึ้นมานั่งบนตักผม”

          “ก็ตอนที่เขาตะโกนเข้ามา ทำไมท่านถึงไม่กระโดดหน้าต่างหนีไปก่อนล่ะ อยู่ให้เขาจับได้คาหนังคาเขา แล้วใครเขาจะเชื่อ”

          “ผมก็คิดจะหนี แต่ผู้หญิงเขาจับไว้แน่นเลย” ท่านเลี่ยงมาใช้คำว่า “จับไว้แน่น” แต่ความจริงคือ “กอดไว้แน่น” เพราะกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม

          “แล้วยังไงต่อไป” ท่านพระครูซัก

          “พวกเขาก็พากันบุกขึ้นมาบนกุฏิแล้วก็เห็นเข้า”

          “เห็นอะไร”

          “เห็นผู้หญิงนั่งอยู่บนตักผม แล้วก็จับผมไว้แน่น เขาก็ตั้งข้อหาว่าผมเสพเมถุน จะจับผมสึก”

          “ท่านพระครูไม่แน่ใจ ว่าเรื่องที่สมภารเล่ามาจะเป็นความจริงทั้งหมดจึงใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบเล้วก็ให้รู้สึกเศร้าสลดใจที่เห็นผู้อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ประพฤตินอกรีตนอกรอยเช่นนี้

          “แล้วท่านจะให้ผมช่วยอะไร” ถามเพราะมองไม่เห็นทางเลยว่าจะช่วยได้อย่างไร คนถูกถามมีสีหน้าดีขึ้นพูดตอบว่า

          “ผมขอความกรุณา ท่านช่วยพูดกับเขาด้วย อย่าให้เขาจับผมสึก แล้วก็อย่าให้เขาถอดผมออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส” ท่านพระครูทนฟังไม่ได้ จึงพูดขัดขึ้นว่า

          “อย่าพูดเอาแต่ได้อย่างนั้นสิท่านสมภาร ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดูบ้างเป็นไร ถ้าท่านเป็นชาวบ้านเห็นพระทำอย่างนี้ ท่านจะคิดยังไง ท่านจะยังศรัทธา ยังเคารพพระรูปนั้นอยู่หรือ ผมขอตำหนิท่านตรง ๆ ว่า ท่านทำร้ายจิตใจชาวบ้านมากเกินไป แล้วยังทำลายความเคารพนับถือที่พวกเขามีต่อท่าน รู้ตัวหรือเปล่าว่าท่านทำให้พระศาสนาต้องมัวหมอง ผมรู้สึกเสียใจมาก เสียใจจริง ๆ” คนฟังก้มหน้างุด อยากจะยอมรับผิด หากเจ้าทิฐิมานะก็ยุยงว่า “อย่ายอมแพ้ อย่ายอม ท่านเป็นสมภาร จะยอมแพ้ไม่ได้” ได้กำลังใจจากทิฐิมานะเช่นนี้ ท่านสมภารจึงเถียงไปข้าง ๆ คู ๆ ว่า “ท่านพระครูพูดยังกับว่าผมเป็นคนผิด”

          “ใครผิดใครถูกท่านก็รู้อยู่แก่ใจดีแล้ว ผมขอถามหน่อยเถอะ ศีล ๒๒๗ ข้อน่ะ ท่านเหลืออยู่กี่ข้อ เอาละ ไหน ๆ ก็ตั้งใจมาขอคำปรึกษา ผมก็ขอถือโอกาสแนะนำว่า ท่านสึกเสียเถอะ สึกออกไปเป็นผู้ครองเรือนเสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราว ขืนอยู่ต่อไปก็รังแต่จะให้พระศาสนาต้องมัวหมองหนักขึ้น ท่านจะมาติดอยู่กับตำแหน่งสมภารได้ยังไง ในเมื่อชาวบ้านเขาไม่ต้องการท่านแล้ว อย่าเหยียบเรือสองแคมเลยนะ”

          “ท่านไม่ช่วยผมจริงหรือ ผมรู้ว่าท่านช่วยได้ เสียแรงที่เรารู้จักกันมานาน” อีกฝ่ายตัดพ้อ

          “ก็ในเมื่อรู้จักกันมานาน ท่านก็น่าจะรู้นิสัยผมดี อย่าให้ผมต้องทำผิดไปอีกคนหนึ่งเลย รู้ตัวหรือเปล่า ผมผิดหวังที่ท่านเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความชั่วเป็นความดี ไม่น่าเลย”

          “ท่านจะติว่ายังไง ผมยอมทั้งนั้น ขออย่างเดียวให้ช่วยผมด้วย ที่ผมบากหน้ามาพึ่งก็เพราะเห็นว่าท่านเป็นคนมีเมตตา แล้วท่านจะไม่เมตตาผมเลยเชียวหรือ” สมภารวัดฝั่งตรงข้ามยังคงรบเร้า

          “เมตตามันก็มีขอบเขตของมันนะท่าน ถ้าเราเมตตาคนในทางที่ผิด ก็เท่ากับช่วยฉุดให้เขาลงนรกเร็วขึ้น ท่านเชื่อผมสักครั้ง สึกเสียดีกว่าจะมาคาราคาซังอยู่อย่างนี้”

          “ผมจะสึกได้ยังไง ท่านคิดดูก็แล้วกัน อายุผมปาเข้าไปตั้งห้าสิบแล้ว จะไปทำมาหากินอะไรได้ เคยชินแต่กับการเป็นผู้รับ สึกออกไปแล้วใครเขาจะเอาเงินเอาทองมาถวาย ข้างผู้หญิงเขาก็อายุเพิ่งจะสิบเจ็ด งานการก็ยังไม่ได้ทำเพรายังเรียนไม่จบ ที่สำคัญกว่านั้นคือการเป็นเจ้าอาวาส ใช่จะเป็นกันได้ง่าย ๆ เมื่อไหร่กัน”

          “ก็ในเมื่อท่านยังหวงยังห่วงตำแหน่ง แล้วทำไม่ถึงไม่รักษาไว้ให้ดีล่ะ มีประโยชน์อะไรที่จะมานึกเสียดายเอาตอนนี้ มันแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ท่านยิ่งพูดผมก็ยิ่งเศร้าใจหนักขึ้นเพราะมันแสดงให้เห็นชัดแจ้ง ว่าท่านมาบวชนี่ก็เพื่อหาเลี้ยงชีวิตเท่านั้น ผมคิดว่าท่านมาบวชเพื่อสละกิเลสเสียอีก ที่แท้ท่านก็เป็น อุปชีวิกา บวชเพื่อเลี้ยงชีพ”

            “จะอะไรก็แล้วแต่ มันเรื่องของผม ว่าแต่ว่าท่านจะไม่ช่วยผมจริง ๆ หรือ นี่เงินตั้งสองหมื่นเชียวนะ” พูดพลางชี้ธนบัตรสองปึกตรงหน้า คิดว่าท่านพระครูจะต้องใจอ่อนเพราะเงินทำให้คนใจอ่อนมานักต่อนักแล้ว ทว่าท่านเจ้าของกุฏิกลับพูดเสียงหนักแน่นว่า

          “ท่านสมภารคงจะเคยดูถูกตัวเองมาจนชิน ก็เลยพลอยดูถูกผมไปด้วย คนอย่างผมเงินซื้อไม่ได้แน่ ผมจะไม่ยอมจำนนต่อเงิน แต่จะยอมจำนนต่อความถูกต้อง เก็บเงินของท่านไปเสียเถิด ผมไม่อยากได้มันหรอก” สมภารวัดป่ามะม่วงรู้สึกไม่พอใจในการกระทำของอีกฝ่าย ต่อเมื่อระลึกรู้ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ความไม่พอใจนั้นก็เปลี่ยนเป็นเมตตาสงสาร จึงพูดปลอบใจผู้เป็นอาคันตุกะว่า

          “ท่านสมภาร เคยอ่านพบพุทธวจนะที่เกี่ยวกับเรื่องกรรมไหม พุทธวจนะที่ว่า หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่าเรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะได้รับผลของกรรมนั้น เคยอ่านไหม ถ้าผมจำไม่ผิด รู้สึกจะอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔”

          “เคยครับ ผมจำได้ด้วย”

          “งั้นก็ดีแล้ว ท่านลองพิจารณาไปตามพุทธวจนะที่ว่ามานี้ บางทีท่านอาจจะสบายใจขึ้น คิดเสียว่ามันเป็นกรรมของท่าน ท่านเป็นผู้กระทำก็ต้องรับผลด้วยตัวท่านเอง ไม่มีใครหนีกรรมไปได้ ดูอย่างพระโมคคัลลานะซึ่งเป็นถึงพระอรหันต์ ทั้งยังมีอิทธิฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ก็ต้องมาถูกโจรฆ่าตาย เพราะกรรมที่ทำไว้กับมารดาในอดีตชาติ ถ้าท่านสมภารเชื่อผมก็ขอให้ทำตามที่ผมแนะนำ”

          “ผมจะเชื่อท่านได้ยังไง ถ้าผมเชื่อท่านก็แปลว่าผมเป็นผู้แพ้ แล้วผมเป็นใคร ผมน่ะเป็นถึงสมภาร เรื่องอะไรจะไปยอมแพ้พวกชาวบ้าน” คนพูดพูดด้วยทิฐิ ท่านพระครูรู้สึกระอา หากก็ใจเย็นพอที่จะพูดต่อไปว่า

          “ท่านลืมแล้วหรือ คนที่เป็นพระนั้นจะต้องรู้จักแพ้ พระต้องเป็นผู้แพ้อยู่วันยังค่ำ ไม่งั้นโบราณคงไม่สอนไว้ว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ท่านอยากเป็นพระหรือเป็นมารล่ะ

          “แต่ผมไม่เชื่อโบราณ ผมถือคติว่า เชื่อโบราณบานบุรี ฉะนั้นผมไม่เชื่อเด็ดขาด แล้วผมก็จะไม่ยอมแพ้ด้วย”

          เมื่อเห็นว่าท่านพระครูไม่ช่วยแน่แล้ว สมภารวัดฝั่งตรงข้ามก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะมาอดกลั้นความโกรธเอาไว้ ท่านจึงพูดด้วยความโกรธแค้นว่า “ดีแล้ว ท่านจำไว้นะว่าวันพระไม่ได้มีหนเดียว แล้วผมจะคอยดูว่าคนอย่างท่านจะไม่ตกที่นั่งลำบากอย่างผมบ้าง”

          “รับรองได้ คนอย่างผมมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นแน่ ผมสำรวมระวังในเรื่องนี้ที่สุด แล้วก็อบรมพระลูกวัดด้วย ท่านอย่าได้ห่วงไปเลย”

            “เถอะ ถึงยังไงมันก็อาจจะพลาดพลั้งเข้าสักวัน ผมเห็นมานักต่อนักแล้ว วัดที่มีชีอยู่ วันดีคืนดีแม่ชีก็ตั้งท้อง”

          “แต่ต้องไม่ใช่ชีวัดป่ามะม่วง จริงอยู่ถึงวัดผมจะมีชี แต่ผมก็สร้างสำนักชีให้อยู่เป็นสัดเป็นส่วน ไม่ให้มาจุ้นจ้านวุ่นวายกับพระ แล้วก็ห้ามพระเณรเข้าไปในเขตสำนักชี ใครไม่เชื่อฟังผมก็ให้ไปอยู่วัดอื่น แล้วตัวผมก็ทำตามกฎเช่นกับคนอื่น ๆ ไม่เคยถืออภิสิทธิ์ใด ๆ ไม่ได้ทำเลอะเลือนล่ามป้ามเหมือนท่านหรอก” เมื่อฝ่ายนั้นว่ามา ท่านก็เลยว่าตอบเอาบ้าง อยากจะสอนอาคันตุกะทางอ้อมด้วย

          ถ้อยคำของสมภารวัดป่ามะม่วงทำให้สมภารวัดฝั่งตรงข้ามร้อนรุ่มคลุ้มคลั่งราวกับนั่งอยู่บนกองเพลิง ถึงจะรู้อยู่เต็มอก ว่าตนเป็นฝ่ายผิด แต่ก็ไม่ต้องการให้ใครมาว่า

          กำลังนึกหาถ้อยคำเผ็ดร้อนมาโต้ตอบก็ให้รู้สึกเย็นวูบวาบชุ่มฉ่ำขึ้นในหัวใจ ไฟโทสะดับลงด้วยอำนาจเมตตาที่ท่านพระครูแผ่มาให้ สำนึกผิดชอบชั่วดีกลับมาอีกครั้ง สมภารวัยห้าสิบจึงพูดเสียงอ่อย ๆ ว่า

          “ผมเสียใจ นี่ถ้าผมไม่ประมาทก็คงจะไม่พลาดพลั้งถึงปานนี้ ผมขอสารภาพว่าผมต้องอาบัติปาราชิก ไม่รู้ผีป่าซาตานที่ไหนมาดลใจให้ผมเห็นกงจักรเป็นดอกบัว” อดโยนความผิดให้พ้นตัวไม่ได้

          “อย่าไปโทษผีที่ไหนเลยท่าน โทษตัวของเรานั่นแหละ เพราะเราขาดสติถึงได้เป็นเช่นนี้”

          “อาจจะจริงอย่างที่ท่านว่า ตกลงผมจะยอมสึก เงินจำนวนนี้คงจะเป็นประโยชน์สำหรับผมในการก่อร่างสร้างตัว” พูดพลางเก็บเงินเข้าในย่ามดังเดิม รู้สึกอัดอั้นตันใจจนพูดไม่ออก ได้แต่นั่งคอตกนิ่งอยู่

          “ท่านเลิกคิดเรื่องนี้ได้แล้ว เอาสมองไว้คิดเรื่องการทำมาหากินดีกว่า ท่านสร้างบุญบารมีมาเพียงแค่นี้ ถึงคราวจะต้องจุติก็ต้องจุติ” ท่านหมายถึงการเคลื่อนจากเพศพรหมจรรย์

          “แต่ผมเสียใจ เสียใจและเสียดายที่ไม่สามารถรักษาเพศพรหมจรรย์ไว้ได้ ถึงอย่างไรผมก็ยังอยากเป็นพระมากกว่าเป็นฆราวาส นี่ถ้าสึกออกไปก็ต้องไปอยู่ที่อื่น คงทนไม่ได้ที่จะต้องถูกเยาะเย้ยถากถางจากคนที่เคยกราบเคยไหว้ผม มันเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต” พูดเสียงเครือและท่านพระครูก็ได้เห็นน้ำตาของลูกผู้ชายวัยเดียวกับท่าน รู้สึกสงสารเห็นใจ หากก็ช่วยอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องของ “กรรมใดใครก่อ” เมื่อเขาก่อกรรม สร้างกรรม เขาก็ต้องรับผลของมัน ไม่ว่าผลนั้นจะดีหรือร้าย หวานหรือขมก็ต้องอมต้องกลืนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          “แล้วท่านคิดจะไปอยู่ที่ไหน ท่านมีญาติพี่น้อยที่ไหนบ้าง”

          “ไม่มีเลย พ่อแม่ญาติพี่น้องผมตายหมด เหลือก็แต่หลาน ๆ ซึ่งไม่ได้ไปมาหาสู่กันนาน คงจำกันไม่ได้แล้ว แต่ถึงจำได้เขาก็คงไม่อยากคบหาสมาคมกับคนต้องอาบัติปาราชิกอย่างผม” คราวนี้ท่านถึงกับสะอึกสะอื้นออกมา รู้สึกอัปยศอดสูเป็นที่สุด ท่านพระครูเองก็รู้สึกรันทดใจจนมิรู้ที่จะกล่าวปลอบว่าอย่างไร ต่างนั่งนิ่งกันไปพักหนึ่ง แล้วอาคันตุกะ จึงพูดขึ้นว่า

          “ผมเห็นจะต้องขอตัวกลับก่อน ขอบคุณที่ท่านพระครูให้สติ ผมเพิ่งประจักษ์เดี๋ยวนี้เองว่าท่านมีเมตตาอย่างแท้จริง เพราะถ้าท่านช่วยผมในทางที่ผิดก็เท่ากับฉุดให้ผมดิ่งลงนรกเร็วขึ้น ต้องขอโทษที่รู้สึกโกรธท่านในตอนแรก ผมลาละครับ” พูดจบจึงก้มลงกราบเจ้าของกุฏิสามครั้ง ท่านพระครูรับไหว้แล้วพูดด้วยความเห็นอกเห็นใจว่า

          “ขอให้ท่านโชคดี มีอะไรที่ผมพอจะช่วยได้ก็บอกมา ไม่ต้องเกรงใจ ผมยินดีจะช่วยทุกเรื่องที่ไม่ผิดทำนองคลองธรรม ขอให้นึกถึงผมบ้าง”

          “ครับ ผมจะนึกถึงท่านพระครูเป็นคนแรก ผมไปละครับ”

          “แล้วกลับยังไงล่ะ” ถามอย่างเป็นห่วง

          “เรือเขารออยู่ครับ ผมเหมาเรือมา”

          “งั้นผมจะเดินไปส่งที่ท่าน้ำ”

          “อย่าเลยครับ เห็นว่างานท่านยุ่งมากไม่ใช่หรือ” อาคันตุกะพูดอย่างเกรงใจ

          “ไม่เป็นไรหรอก ไหน ๆ ก็ตังใจจะไปส่งแล้ว เสียเวลาแค่ห้านาทีสิบนาทีจะเป็นไรไป” แล้วจึงเดินไปส่งอาคันตุกะถึงท่าน้ำหลังวัด ก่อนลงเรือท่านสมภารหันมาขอบคุณและกล่าวว่า

          “ขอบคุณท่านพระครูเหลือเกิน ผมสบายใจแล้ว จริงอย่างท่านพระครูว่า...เราทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่ว เราต้องรับผลของกรรมนั้น..”

          “ผมไม่ได้ว่า ท่านอย่าเข้าใจผิด ผมเพียงแต่ยกพุทธพจน์มาอ้างเท่านั้น” ท่านพระครูรีบออกตัว

          “นั่นแหละ ถ้าท่านไม่พูดอย่างนี้ ผมก็ยังคงมืดบอดอยู่ เดี๋ยวนี้ผมตาสว่างแล้ว ตาสว่างใจสว่าง ผมขอชดใช้กรรมจนกว่าจะหมด ท่านพระครูเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ขอให้ท่านเจริญในธรรมมากขึ้น และขอให้ท่านบรรลุธรรมสูงสุดภายในชาตินี้ ผมขออนุโมทนา”

          พูดพร้อมกับยกมือประนมไหว้อย่างนอบน้อม ท่านพระครูยกมือขึ้นรับไหว้แล้วยืนรอกระทั่งเรือลำน้อยเคลื่อนออกจากฝั่ง

          ตะวันรอนอ่อนแสงลงมากแล้ว เงาของพระกับคนแจวเรือที่ทอดลงบนพื้นน้ำนั้นเห็นได้ชัดเจน ท่านพระครูรู้สึกตกใจ ที่เงาของท่านสมภารไม่มีศีรษะ! รู้ได้ในทันทีว่าภิกษุรูปนั้นชะตาขาด ท่านจึงหาทางช่วยเหลือด้วยการรีบกลับมาแผ่เมตตาให้ อย่างน้อยก็ช่วยให้วิญญาณดวงนั้นไปสู่ทุคติในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ต้องตกไปอยู่ที่นั่นชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ ท่านช่วยได้มากที่สุดเพียงเท่านี้

          ขึ้นจากเรือแล้ว ท่านสมภารต้องเดินต่อไปอีกประมาณสองกิโลเมตรจึงจะถึงวัด ดวงตะวันเคลื่อนตัวต่ำลงเข้าไปทุกขณะ หนทางแคบ ๆ ที่สองฟากข้างเป็นป่ารกเรื้อจึงดูมืดครึ้มกว่าปกติ ท่านเร่งฝีเท้าเร็วขึ้นเพราะอยากถึงวัดก่อนเวลาที่งูเงี้ยวมันออกหากิน เหลืออีกไปกี่สิบก้าวจะพ้นแนวป่า แล้วท่านก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นใกล้ตัวหลายนัด รู้สึกเจ็บแปลบที่ขั้วหัวใจ แล้วความรู้สึกทั้งมวลก็ดับวูบลง ขณะที่นึกถึงท่านเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเป็นสำนึกสุดท้าย

          ข่าวการมรณภาพของท่านสมภารเพราะถูกลอบยิง เป็นที่โจษจันกันไปทั่วทั้งหมู่บ้าน แล้วก็เลยเป็นที่รู้กันทั้งตำบลและอำเภอ

          นอกจากท่านพระครูแล้ว ไม่มีผู้ใดรู้ว่ามือปืนเป็นใคร เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเท่านั้นที่รู้ว่า คนยิงคือคู่รักของผู้หญิงที่ท่านสมภารไปพัวพันด้วยความหึงหวงกลายเป็นเคียดแค้นชิงชัง จึงมาดักยิงเสียให้สมแค้น

          แต่สาเหตุที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือ มันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ชาติก่อนท่านสมภารไปฆ่าเขาไว้ มาชาตินี้เขาจึงตามมาฆ่า แม้ท่านจะอยู่ในเพศบรรพชิต แต่เมื่อกระทำกรรมชั่ว กรรมดีที่สั่งสมไว้จึงหมดลง เปิดโอกาสให้กรรมชั่วมาให้ผล ท่านสมภารได้ชดใช้เวรกรรมที่ท่านก่อแล้ว...

 
 มีต่อ........๒๓
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #25 เมื่อ: เมษายน 12, 2007, 10:23:28 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00023
 

๒๓...

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงกำลังฉันภัตตาหารเช้าอยู่ที่ชั้นล่างของกุฏิ ตั้งใจว่าฉันเสร็จจะขึ้นไปเขียนหนังสือยังชั้นบน แต่แล้วก็มีอันต้องเสียความตั้งใจ เมื่อชายหญิงคู่หนึ่งช่วยกันประคองถาดทองเหลืองเดินเข่าเข้ามาหา ในถาดมีก้อนหินสีนวลวางอยู่ เป็นหินรูปทรงไข่ไก่ แต่มีขนาดใหญ่กว่าสักประมาณห้าสิบเท่าตัว

         เมื่อเข้ามาในระยะหัตถบาส คนทั้งสองวางถาดลงแล้วกราบท่านพระครูสามครั้ง ฝ่ายชายถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อ คือ พระครูเจริญใช่ไหมครับ” แทนคำตอบ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงกลับถามว่า

         “โยมมีธุระอะไรกับอาตมาหรือ”

         “ครับ ผมชื่อมนตรี ภรรยาชื่อสุมาลี บ้านอยู่ช่องแคแต่ไปสอนหนังสืออยู่ตาคลีครับ”

         “อ้อ เป็นครู แล้วไปไหนกันมา ทานข้าวแล้วหรือยัง”

         “ยังไม่หิวค่ะ” ครูสุมาลีตอบ

         “ไม่หิวไม่ได้ซี ถึงเวลากินก็ต้องกิน สมชายพาแขกไปทานอาหารหน่อย ท่านหันไปสั่งลูกศิษย์วัด ครูสองคนจึงต้องลุกขึ้นเดินตามนายสมชายไปยังโรงครัว ครู่ใหญ่ ๆ จึงกลับมาที่กุฏิอีกครั้ง ท่านพระครูแปรงฟันบ้วนปากเสร็จแล้วและกำลังรออยู่

         “จะเอาหินมาถวายอาตมาหรือ จะเอามาให้ปลุกเสก” ท่านถามยิ้ม ๆ คนเดี๋ยวนี้เชื่อถืออะไรต่อมิอะไรกันเปรอะไปหมด พระบางรูปถึงกับยึดอาชีพ “ทำปลัดขิก” จะหน่ายจ่ายแจกประชาชน โดยอ้างว่าเป็นเครื่องรางของขลัง ผัวเมียคู่นี้อาจจะมาทำนองเดียวกัน ท่านคาดการณ์ล่วงหน้า

         “จะเอามาถวายครับ หลวงพ่อกรุณารับไว้ด้วย หินก้อนนี้มีที่มาแปลก ถ้าผมเล่าให้หลวงพ่ออาจจะไม่เชื่อ” ครูมนตรีพูดออกตัวไว้ก่อน

         “ลองเล่าไปสิ แล้วเชื่อหรือไม่เชื่ออาตมาจะบอกทีหลัง” ครูมนตรีจึงเล่าให้ท่านสมภารวัดป่ามะม่วงฟังว่า

         “ผู้ปกครองนักเรียนเขาเอามาให้เพื่อนผม ซึ่งเป็นครูอยู่ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เรื่องมีอยู่ว่า สองผัวเมียได้ไปทำไร่ที่ตำบลหนึ่งของอำเภอนั้น ไปปลูกกระท่อมอยู่ในป่า เมียเขาก็ไปเก็บหินมาสามก้อน จะเอามาทำเป็นเส้าก่อไฟหุงข้าว พอทำเสร็จก็ก่อไป ปรากฏว่าหินก้อนนี้มันร้อง ร้องว่า “กูร้อน กูร้อน เอากูมาเผาทำไม เดี๋ยวกูจะหักคอมึง” สองผัวเมียจึงเอาก้อนนี้ออก ไปหาก้อนอื่นมาแทน

         รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ก็ลองเอาก้อนนี้มาทำเส้าอีก มันก็ร้องแบบเดียวกับวันวาน เขาจึงเอาไปตั้งไว้หน้าหิ้งพระ ตกกลางคืนก็มาเข้าฝัน ว่าอยากไปปฏิบัติกรรมฐานที่วัดป่ามะม่วง ขอให้พาไปด้วย สองผัวเมียก็ไม่รู้ว่าวัดป่ามะม่วงอยู่ที่ไหน จึงไม่ได้พาไป คืนที่สองก็มาเข้าฝันอีกว่า ช่วยพาไปวัดป่ามะม่วงด้วย จะไปเรียนกรรมฐานกับท่านพระครูเจริญ คืนที่สามก็มาบอกอีก คราวนี้บอกที่ตั้งของวัดด้วย สองผัวเมียจึงมาเล่าให้เพื่อนผมฟัง และขอร้องให้เพื่อนผมช่วยจัดการให้ เพราะเขาไม่มีเงินค่าเดินทาง เพื่อนผมเขาไม่เชื่อเรื่องอย่างนี้ แต่ก็รับไว้เพราะสงสารสองผัวเมีย ซึ่งมีท่าทางทุกข์ร้อนและวิตกกังวลมาก

         คืนแรกที่อยู่บ้านเพื่อนผม ก็เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน เพื่อผมก็ยังไม่เชื่อ คิดว่าฟังสองผัวเมียเล่าแล้วตัวเองเก็บไปฝัน พอคืนที่สองก็มาเข้าฝันอีก เขาก็ชักเอะใจแต่ก็ยังไม่เชื่อ คืนที่สามก็บอกว่า พรุ่งนี้จะมีเพื่อนมาจากตาคลีให้ฝากกับเพื่อน ถ้าไม่ฝากจะหักคอให้ตายหมดบ้าน คราวนี้เพื่อนผมชักจะกลัว ๆ แต่ก็ยังไม่เชื่อและนึกไม่ออกว่าเพื่อนคนไหนจะมาหา เขาไม่เคยมีเพื่อนอยู่ตาคลี คือเขารู้แต่ว่าผมอยู่ช่องแค ทีนี้ช่วงนั้นผมไปเยี่ยมญาติซึ่งเป็นนายอำเภอลำปลายมาศ ผมจึงแวะเยี่ยมเพื่อนด้วย พอเขาเห็นผม เขามีท่าทางประหลาดใจมาก ถามว่าผมมาจากไหน พอผมบอกว่ามาจากตาคลี เขาถึงกับหน้าซีด ก็เลยเล่าเรื่องทั้งหมดให้ผมฟัง และขอร้องให้ผมเอาหินก้อนนี้มาด้วย เรื่องก็มีเท่านี้แหละครับ” ระหว่างที่ครูมนตรีเล่า ท่านพระครูนิ่งฟังโดยไม่ซักถาม ต่อผู้เล่าเล่าจบจึงถามขึ้นว่า

         “หินก้อนนี้มาอยู่บ้านครูได้กี่คืน”

         “คืนเดียวครับ ผมมาถึงเมื่อวานตอนค่ำ รุ่งเช้าก็นำมาที่นี่เลย”

         “แล้วเมื่อคืนมีใครมาเข้าฝันหรือเปล่า”

         “ไม่มีครับ ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น”

         “แล้วครูเชื่อหรือเปล่า”

         “ผมยังไม่เชื่อครับ แต่ถ้ามีคนมาเข้าฝันเหมือนอย่างที่เพื่อนผมเล่าก็อาจจะเชื่อ แล้วหลวงพ่อเล่าครับ หลวงพ่อเชื่อหรือเปล่า” ก่อนตอบคำถาม ท่านพระครูใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบเสียก่อนแล้วจึงพูดว่า

         “อาตมาเชื่อ เท่าที่ฟังมาก็พอจะสรุปได้ว่าเป็นเรื่องจริง เพราะอาตมาเชื่อเรื่องจิตวิญญาณอยู่แล้ว” ท่านอธิบายโดยพยายามไม่ให้เป็นการ “อวดอุตริมนุสสธรรม”

         “อาตมาคิดว่าหินก้อนนี้คงจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับที่เขานำมาสร้างปราสาทหินพนมรุ้ง และคงจะมีวิญญาณสิงอยู่”

         “วิญญาณของผู้หญิงหรือผู้ชายคะหลวงพ่อ” ครูสุมาลีถาม พลางมองไปที่ก้อนหินอย่างหวาด ๆ

         “เข้าใจว่าเป็นผู้ชาย เป็นคนหนึ่งที่ช่วยสร้างปราสาทหินพนมรุ้งแล้วก็ถูกหินตกลงมาทับตาย วิญญาณก็เลยสิงอยู่ในก้อนหิน ไม่ยอมไปไหน”

         “แต่เพื่อนผมเขาบอกว่าสองผัวเมียไปพบในป่านะครับ” ครูมนตรีติง

         “ถูกแล้ว มีคนมาขโมยไปจากปราสาทหิน คงเป็นนักท่องเที่ยวเห็นรูปร่างแปลก ๆ เลยขโมยไป แล้วก็คงจะถูกวิญญาณอาละวาด เลยเอามาทิ้งในป่า กระทั่งสองผัวเมียไปพบเข้า”

         “แล้วทำไมเขาถึงอยากมาอยู่วัดนี้ล่ะครับ”

         “เอ อันนี้อาตมาก็ไม่ทราบเหมือนกัน ถ้าครูอยากทราบ อาตมาจะถามเขาให้เอาไหม” ท่านถามทีเล่นทีจริง “บุรุษผู้มากับก้อนหิน” นั่งหมอบอยู่หน้าท่าน ทว่าครูสองคนไม่เห็น แต่ถึงจะเห็นก็เชื่อและกลัว จึงกล่าวปฏิเสธพร้อมกันว่า

         “ไม่ต้องหรอกครับ”

         “ไม่ต้องหรอกค่ะ”

         “อ้าว อาตมาพูดกับเขาได้นะจะบอกให้” ท่านเจ้าของกุฏิพูดยิ้ม ๆ แล้วพูดกับชายที่หมอบอยู่ต่อหน้า หากในสายตาครูสองคนดูเหมือนกำลังพูดกับก้อนหิน

         “เชิญอยู่ตามสบายนะ อยู่ที่กุฏิอาตมานี่แหละ แขกไปใครมาจะได้คอยต้อนรับ แล้วอาตมาจะสอนกรรมฐานให้” แล้วท่านก็พยักหน้าช้า ๆ พลางออกเสียง อ้อ อ้อ เหมือนกำลังฟังก้อนหินพูด ครูสองคนมองหน้ากันพลางนึกในใจว่า “หลวงพ่อองค์นี้ท่าจะเพี้ยน” ท่านพระครูหันมาแก้ว่า

         “อาตมาไม่ได้เพี้ยน อาตมากำลังคุยกับเขาจริง ๆ ไม่เชื่อไปเอาหมอมาตรวจเช็คดูก็ได้ ว่าอาตมาเป็นโรคประสาทหรือเปล่า” คำพูดของท่านพระครูทำให้คนฟังงุนงงนัก แล้วครูมนตรีก็พูดในใจว่า “อ๋อ พระอภิญญา หลวงพ่อองค์นี้ต้องได้อภิญญา”

         “เขาวานอาตมาให้ช่วยขอบใจครู บอกแล้วจะตามไปให้หวยที่บ้าน” คราวนี้ครูสุมาลีตาเป็นประกายเพราะอยากรวย

         “ตกลงผมพาเขามาถูกวัดแล้วใช่ไหมครับ” ครูมนตรีถาม ความข้องใจสงสัยปลาสนาการไปสิ้น

         “ถูกแล้ว เขาพอใจมากทีเดียว น่าอนุโมทนานะ ตายไปแล้วยังอยากทำความดี คนเป็น ๆ เสียอีกกลับประมาทมัวเมาในชีวิต” ท่านนึกไปถึงสมภารวัดฝั่งโน้น แต่ครูมนตรีกลับคิดไปว่าท่านหมายถึงตัวเขา จึงรีบออกตัวว่า “ครับ ต่อไปนี้ผมจะเลิกเที่ยวเตร่ เลิกเป็นคนสำมะเลเทเมาอย่างเด็ดขาด” เพิ่งจะรู้สึกตัวเดี๋ยวนี้เองว่า ที่แล้ว ๆ มาเขาไม่ได้ทำตัวให้เป็นที่ชื่นชอบของลูกเมียเท่าใดนัก “สาธุ ขอให้ทำได้จริง ๆ เถอะ หนูขอนิมนต์หลวงพ่อเป็นพยานด้วยนะคะ” ครูสุมาลียกมือขึ้น สาธุ พร้อมกับอาราธนาท่านพระครูให้เป็นพยาน

         “ตกลง อาตมาจะเป็นสักขีพยานให้ อ้อ! แล้วอาตมาขอบิณฑบาตอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องสูบบุหรี่ อยากให้เลิกเสีย เพราะมันมีแต่โทษ หาประโยชน์มิได้เลย”

         “ครับ ผมสัญญาว่าจะเลิกให้หมด” ครูหนุ่มรับคำด้วยศรัทธาในท่านพระครูยิ่งนัก

         “ดีแล้ว เมื่อเลิกสิ่งไม่ดีได้ ต่อไปก็ให้เคร่งครัดในศีล รักษาศีลให้ได้ทั้งสองคนนั่นแหละ เอาแค่ศีล ๕ ก็พอ เมื่อศีลเพียบพร้อมก็จะได้มาฝึกสมาธิ ชีวิตก็จะได้เจริญรุ่งเรือง”

         “ค่อย ๆ ไปทีละขั้นไม่ดีหรือครับหลวงพ่อ มากเกินไปประเดี๋ยวผมจะรับไม่หมด” ครุมนตรีต่อรอง

         “รับไม่หมดแน่ ถ้าครูไม่ฝืนใจ การทำความดีต้องฝืนใจนะครู ไม่งั้นก็ทำไม่ได้ นี่ครูยังโชคดีนะที่ได้คู่ดี ถ้าเขาไม่ดีคงทิ้งครูไปเสียนานแล้ว อย่าโกรธนะอาตมาพูดตรง ๆ อย่างนี้แหละ” ท่านรู้ว่าบุรุษตรงหน้าอยู่ในข่าย “สอนได้” จึงสอน

         “ไม่โกรธครับ ผมจะโกรธผู้ที่หวังดีต่อผมได้อย่างไร เป็นบุญของผมเหลือเกินที่มารู้จักหลวงพ่อ ปกติผมเป็นคนรั้น พ่อแม่สั่งสอนก็ไม่เคยเชื่อฟัง แต่น่าแปลกที่มาเชื่อหลวงพ่อได้ ก่อนนี้ผมไม่ค่อยนับถือพระสักเท่าไหร่”

         “ทำไมถึงเป็นยังงั้นล่ะ”

         “ก็ท่านทำให้ผมหมดศรัทธาน่ะครับ ขอประทานโทษ หลวงพ่อรู้จักหลวงตาอ้อนไหมครับ” เขาเอ่ยนามภิกษุรูปหนึ่งซึ่งกิตติศัพท์ของท่านเป็นที่รู้จักดี กิตติศัพท์ในทางลบ!

         “รู้จักซี ทำไม่จะไม่รู้จัก ท่านออกดัง”

         “นั่นแหละครับ ผมแทบจะเลิกนับถือพระก็เพราะหลวงตาอ้อนนี่แหละ ผมไม่เล่าดีกว่า ประเดี๋ยวหลวงพ่อจะหาว่าผมว่าพระว่าเจ้า” แต่ถึงครูมนตรีจะไม่เล่า ท่านพระครูก็รู้ เพียงแต่ท่านอยากรู้ท่านก็รู้ได้ หากเรื่องที่อยากรู้นั้นไม่เกินความสามารถของ “เห็นหนอ”

         ท่านรู้ว่าที่ครูมนตรีผิดใจกับหลวงตาอ้อน เพราะถูกฝ่ายนั้นยืมเงินแล้วไม่ใช้คืน เป็นเงินค่อนข้างมากและที่สำคัญกว่านั้นคือ มันไม่ใช่เงินของครูมนตรีเอง แต่เป็นเงินที่เขายืมมาจากมารดาอีกทีหนึ่ง

         “แต่เดี๋ยวนี้ผมนับถือพระแล้วนะครับ อย่างน้อยผมก็รู้ว่าพระดี ๆ ยังมีอยู่ นี่ถ้าไม่ได้มาพบหลวงพ่อ ความคิดเช่นนี้คงยังไม่เกิด” ครูมนตรีพูดด้วยความรู้สึกที่ออกมาจากจิตใจ

         “ดีแล้วที่ครูคิดได้อย่างนี้ เพราะคนที่ไม่นับถือพระนั้นได้ชื่อว่าบาปไปครึ่งหนึ่งแล้ว”

         “บาปอย่างไรคะหลวงพ่อ” ครูสุมาลีถาม

         “บาปในแง่ที่ว่า จิตเป็นอกุศลน่ะซีครู” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงตอบ ครูสุมาลีพยักหน้าช้า ๆ เป็นเชิงเข้าใจเรื่องที่ท่านพูด

         “อาตมาขออนุโมทนาด้วยที่ครูหันมานับถือพระอีก เท่ากับเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเองเหมือนกัน ที่จริงคุณพ่อคุณแม่ครูท่านก็เป็นคนดีนะ ดีมากเสียด้วย ทำไมครูไม่เอาเยี่ยงอย่างท่านล่ะ จริงไหมครู” ท่านถามครูสุมาลี

         “จริงค่ะหลวงพ่อ คุณพ่อคุณแม่เขาแสนจะดี และที่หนูยอมแต่งงานกับเขาก็เพราะคิดว่าเขาคงจะดีเหมือนคุณพ่อคุณแม่” คนเป็นภรรยาถือโอกาส “เล่นงาน” คนเป็นสามี

         “เอาละ ๆ ต่อไปนี้เขาจะเป็นคนดีแล้ว เรื่องเก่าอย่าเอามารื้อฟื้น” ท่านพระครูปรามเมื่อเห็นคนถูกว่าถลึงตาเข้าใส่คนเป็นภรรยา พลางเถียงในใจว่าก็ทำไมไม่แต่งกับพ่อแม่ฉันซะเลยล่ะ “ผมเห็นจะต้องกลับก่อนละครับ วันหลังจะหาโอกาสมากราบหลวงพ่ออีก” คนรำคาญภรรยาพูดขึ้น

         “เจริญพร แล้วไม่ต้องไปทะเลาะกันนะ เลิกทะเลาะกันเมื่อไหร่ เมื่อนั้นจะรวย” ท่านชิงห้ามไว้เสียก่อน ด้วยรู้ว่าคนคู่นี้ทะเลาะกันเป็นประจำ

         “ค่ะ หนูเลิกทะเลาะกับเขาแล้วค่ะ” ครูสุมาลีตอบเพราะอยากรวย

         “อ้อ ขับรถขับราอย่าให้เร็วเกินไป รู้สึกว่าครูชอบขับรถเร็วเป็นวัยรุ่นเชียว” ท่านเตือนอีก ครูมนตรีรู้สึกประหลาดใจนั้น ศรัทธาปสาทะที่มีต่อภิกษุรูปนี้ดูเหมือนยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น

         “นั่นซีคะ หลวงพ่อกรุณาช่วยปรามด้วยเถิดค่ะ หนูพูดหนูบอกเขาไม่เคยฟัง ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ” ครูสุมาลีถือโอกาสรายงานความประพฤติของสามีอีกครั้ง

         “หลวงพ่อครับ ผมเบื่อคนช่างฟ้องจังเลย ไม่รู้ว่าจะเอาไปทิ้งที่ไหนดี” คนเป็นสามีพูดอย่างรำคาญ

         “ก็ครูอย่าทำให้เขาฟ้องนักซี แล้วก็ไม่ต้องเอาไปทิ้งไหนหรอก ขอให้เก็บไว้ให้ดี ๆ ถ้าทิ้งเขาเรานั่นแหละจะแย่ นี่อาตมาพูดตามข้อเท็จจริงนะ ไม่ได้เข้าข้างครูผู้หญิง” เมื่อเถียงตรง ๆ ไม่ได้คนถูกเตือนจึงต้องไปแบบข้าง ๆ คู ๆ ว่า

         “ไม่แย่หรอกครับหลวงพ่อ ทิ้งคนนี้แล้วผมก็ไม่หาคนใหม่ รับรองว่าจะให้สวยกว่าผอมกว่าคนนี้อีก ผมทำได้จริง ๆ นะครับ” พูดพลางชำเลืองไปทางผู้หญิงร่างท้วมที่นั่งถัดจากตน

         “อาตมารู้ว่าครูทำได้ แต่คุณภาพมันไม่เหมือนกันหรอกน่า ของเก่าน่ะมีค่ามากกว่า เหมือนเครื่องลายครามไง ยิ่งเก่ายิ่งแพง”

         “แต่คนไม่ใช่เครื่องลายครามนี่ครับหลวงพ่อ โดยเฉพาะผู้หญิง ยิ่งเก่าก็ยิ่งแก่ ยิ่งแก่ก็ยิ่งพูดมาก พวกผู้ชายเขาถึงได้ให้สมญาพวกผู้หญิงว่าเป็น พวกแก่ง่ายตายยาก”

        “ใช่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นเมียหลวงใช่ไหม” ท่านรู้เท่าทันอีก ครูมนตรีจึงต้องปิดปากเงียบ ขืนเถียงไปก็รังแต่จะเข้าเนื้อ เห็นเขาไม่เถียง ท่านพระครูจึงกล่าวสรุปแบบยาว ๆ ว่า “เอาละไม่ต้องไปหาคนใหม่ให้เหนื่อย คนนี้แหละดีแล้ว คนใหม่เขาจะมารักลูกเราหรือก็เปล่า เชื่ออาตมาเถอะ แล้วก็เลิกทะเลาะกันเสีย เลิกได้เมื่อไหร่รับรองรวยมาหลายคู่แล้ว” ท่านพูดอย่างรู้ใจ เพราะธรรมดาของปุถุชนนั้นเรื่องร่ำรวยต้องมาก่อนเสมอ หลังจากนั้น “ธรรมะ” จึงจะตามมา

         “ค่ะ หนูเลิกทะเลาะกับเขาอย่างเด็ดขาด” ครูสุมาลีรีบตอบ กระบวนอยากรวยไม่มีใครเกินเธอผู้นี้

         “ผมกราบลาละครับ” สามีกับภรรยากราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้งแล้วลุกออกมา เมื่อรถถึงถนนใหญ่ คนขับก็แกล้งขับชนิด “เต่าคลานยังเร็วเสียกว่า” คนเป็นภรรยาคิดว่ารถเสียจึงถามขึ้นว่า “รถเป็นอะไรหรือคุณ”

         “ไม่เป็นอะไรหรอก ก็คุณไม่ชอบให้ขับเร็วก็เลยขับช้า ๆ” คนตอบ “ยวน” อย่างเห็นได้ชัด คนถามไม่พูดอะไรอีก นึกถึงคำของท่านพระครูที่ว่าเลิกทะเลาะได้แล้วจะรวย เธอจึงจำเป็นต้องนิ่ง มีใครบ้างที่ไม่อยากรวย

         เห็นภรรยาไม่ต่อล้อต่อเถียง ครูมนตรีก็จะชักรำคาญตัวเอง จึงเร่งความเร็วขึ้น หากก็ไม่เร็วเหมือนที่เคยขับ ด้วยระลึกถึงคำเตือนของท่านพระครู

         วันพระเป็นวันที่ท่านพระครูไม่รับนิมนต์ไปข้างนอก เนื่องจากผู้คนจำนวนมากจะพากันมาที่วัดด้วยจุดมุ่งหมายต่าง ๆ กัน บ้างมาเพื่อถวายของ อาจเป็นข้าวปลาอาหารหรือปัจจัย บ้างมาเพื่อสนทนาธรรม บ้างก็มาเพื่อธุรกิจการทำมาหากินและบ้างก็มาปรึกษาปัญหาชีวิต โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว ซึ่งคนพวกหลังนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการของ “โรคประสาท” ติดตัวมาด้วย พระบัวเฮียวให้สมญาคนเหล่านี้ว่า “พวกเอาปัญหามาให้พระ” และทั้งที่งานยุ่งจนแทบหาเวลาว่างมิได้ หากท่านพระครูก็เมตตาพวกเขา ท่านรับฟังทุกเรื่องทุกปัญหาตลอดจนช่วยแก้ไข ช่วยแนะนำไปเท่าที่จะช่วยได้

         ผู้ที่รับคำแนะนำของท่านไปปฏิบัติตามก็สามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนผู้ที่ไม่สันทัดเรื่องการปฏิบัติก็เปลี่ยนไปวัดอื่นที่เขาใช้วิธีการอื่นในการแก้ปัญหา เป็นต้นว่ารดน้ำมนต์ ปลุกเสกลงเลขลงยันต์ หรือแม้กระทั่งแจกเครื่องรางของขลัง

         บรรดาคนเจ้าปัญหาทั้งหลายก็มีอันต้องเสียเงินเสียทองเป็นจำนวนมาก หากก็ไม่ได้ผลเพราะเป็นการแก้ที่ไม่ถูกวิธี ดังที่ท่านพระครูพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า “แก้ปัญหาไม่ถูกจุด เหมือนกินมังคุดไม่ถูกเม็ด”

         “หลวงพ่อครับ เป็นพระไปรับฟังปัญหาทางโลกได้หรือครับ” พระบัวเฮียวถามเชิงติติง

         “ทำไมจะไม่ได้เล่า เพราะมันก็เป็นธรรมะเหมือนกัน คำว่า “ธรรมะ” นั้นนอกจากจะหมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึงธรรมชาติได้อีกด้วย เพราะสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนก็คือธรรมชาติ พระองค์ไม่ทรงสอนในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติ”

         “แล้วธรรมชาติคืออะไรครับ คือ ผมอยากทราบความหมายที่ลึกซึ้งกว่าที่ได้ยินได้ฟังมา”

         “ธรรมชาติก็คือ สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย และเสื่อมสลายไปตามเหตุปัจจัย คือเมื่อมีเหตุปัจจัยมาทำให้มันเกิดมันก็เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัยมาทำให้มันเสื่อมสลายมันก็เสื่อมสลายไป เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเป็นธรรมชาติทั้งสิ้น เพราะเกิดจากการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย พระพุทธศาสนาไม่เชื่อว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุปัจจัย”

         “อย่างเรื่องกรรมก็เป็นเรื่องธรรมชาติใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว ฉะนั้นคนที่ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อเรื่องผลของกรรม เขาก็ต้องถูกธรรมชาติลงโทษ เธอคงเห็นแล้วใช่หรือไม่ว่าทางโลกกับทางธรรมไม่ได้ขัดแย้งกันแต่ประการใด การที่เราจะให้คนเขาหันมาสนใจทางธรรม ก็ต้องช่วยเขาแก้ปัญหาทางโลกเสียก่อน เพราะถ้าจิตใจเขายังร้อนรนกระวนกระวาย เขาก็รับธรรมะไม่ได้

         สมัยพุทธกาลเวลาที่พระพุทธองค์สั่งสอนเวไนยสัตว์ ก็ทรงช่วยแก้ปัญหาทางโลกให้เขาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องผิดวิสัยแต่ประการใดที่พระช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน แต่ก็ต้องแก้ให้ถูกจุด ต้องให้ตัวเองอยู่เหนือปัญหา อย่าลดตัวเองลงไปพัวพันจนกลายเป็นเรื่องเสื่อมเสียขึ้น”

         “คือช่วยได้แต่ต้องช่วยอย่างมีสติ ใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว สติมีความสำคัญมาก การฝึกสติให้รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอจึงจำเป็น จะเรียกว่าจำเป็นที่สุดก็ได้ พระพุทธองค์ตรัสสอนว่าธรรมมีอุปการะมากคือ สติสัมปชัญญะ”

        “แต่การฝึกสติก็ทำยากมากนะครับหลวงพ่อ ยิ่งฝึกก็ยิ่งรู้ว่ามันยาก นี่ผมก็ฝึกมาจนเข้าเดือนที่สามแล้ว ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่ก้าวหน้าสักเท่าไหร่”

         “นั่นเธอรู้สึกไปเอง ที่จริงแล้วเธอก้าวหน้า ฉันรู้” ฟังถ้อยคำของผู้เป็นอาจารย์แล้ว พระบัวเฮียวรู้สึกมีกำลังใจขึ้นแต่ก็อดที่จะพูดออกมาจากความรู้สึกของตนมิได้ว่า

         “ดูเหมือนว่าผมยิ่งฝึกกิเลสมันยิ่งเพิ่ม ดูท่าทางมันจะไม่ยอมหมดไปง่าย ๆ เลย”

         “นั่นแหละฉันถึงบอกว่าเธอก้าวหน้า คนที่ไม่ฝึกเขาจะไม่รู้หรอกว่ากิเลสในตัวเขานั้นมีมากมายเพียงไร กิเลสมีทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด ยิ่งละเอียดก็ยิ่งขจัดออกยาก กิเลสอย่างหยาบเป็นกิเลสทางกายกับวาจา อันนี้ใช้ศีลชำระล้างออกได้ แต่กิเลสอย่างละเอียดต้องใช้การฝึกอบรมจิตเพื่อให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นจึงจะสามารถขจัดกิเลสอย่างละเอียดซึ่งเป็นกิเลสทางใจออกไปได้ และการที่ปัญญาจะเกิดได้ก็ต้องให้จิตสงบเสียก่อน การฝึกสติก็เพื่อให้จิตสงบ ที่เรียกว่าการฝึกสมาธิ การปฏิบัติจึงต้องมีพร้อมทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา ที่เรียกว่าการฝึกอบรมแบบไตรสิกขา”

         “กิเลสอย่างละเอียดนี่ขจัดยากจังนะครับ”

        “เธอเคยร่อนแป้งไหมเล่า การร่อนแป้งนั้น ร่อนเท่าไหร่ก็ยังมีกากเหลืออยู่ ไม่ว่าจะใช้ตะแกรงถี่ขนาดไหน และจะร่อนสักกี่ครั้งก็ต้องมีกากเหลืออยู่ทุกครั้ง เพราะกากนั้นมันจะละเอียดขึ้น ๆ ตามจำนวนครั้งที่ร่อน การฝึกอบรมทางจิตก็เช่นกัน ยิ่งเราปฏิบัติละเอียดเท่าไหร่กิเลสมันก็ละเอียดตาม การกำจัดกิเลสให้หมดไปโดยสิ้นเชิงจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและต้องใช้ความเพียรสูง แต่ถึงจะยากสักเพียงใดก็ไม่พ้นความสามารถของมนุษย์ผู้มีความเพียรไปได้ ไม่เช่นนั้นก็คงมีมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก จริงไหม”

         “จริงครับและที่วัดป่ามะม่วงก็มีพระอรหันต์แล้ว” พระบัวเฮียวตั้งใจ “หยั่งภูมิธรรม” ของผู้เป็นอาจารย์

         “อย่าพูดล่ามป้ามไปมันไม่ดี แล้วเขาไม่เรียกว่า ออ-ระ-หัน ที่ถูกต้องออกเสียงว่า อะ-นะ-หัน จำไว้ ทีหลังจะได้ไม่เรียกผิด ๆ ให้ผู้รู้เขาติเตียนได้”

         “ครับผม ถ้าอย่างนั้นผมขอกราบลากลับไปกุฏินะครับ”

         “อ้าว จะรีบไปไหนล่ะ ยังไม่ทันมีเรื่องเลยจะกลับเสียแล้ว” ท่านพระครูพูดเย้า ๆ

         “จะรีบไปร่อนแป้งครับผม” ลูกศิษย์ตอบแล้วก้มลงกราบสามครั้งจึงลุกออกไป..

           

มีต่อ........๒๔
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #26 เมื่อ: เมษายน 12, 2007, 10:24:25 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00024
๒๔...
            วันพระนี้ก็เช่นเดียวกับวันพระอื่น ๆ เมื่อท่านพระครูลงมาจากกุฏิชั้นบน ก็พบผู้คนมากหน้านั่งรออยู่ที่กุฏิชั้นล่าง ทั้งที่เวลาขณะนั้นเพิ่งจะตีสี่ หน้าตาของแต่ละคนล้วนบ่งบอกว่ากำลังประสบปัญหาชีวิตอย่างหนัก หวังจะมาพึ่งท่านให้ช่วยขจัดปัดเป่า

            นายสมชายซึ่งนอนอยู่กุฏิชั้นล่าง ต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่รับแขกแต่ดึกแต่ดื่น ที่สำคัญคือคอยจดจำว่าใครมาก่อนมาทีหลัง จะได้ไม่มีการลัดคิวกัน แขกบางคนก็นั่งตากน้ำค้างรอคิวตั้งแต่กุฏิยังไม่เปิด ต้องทนยุงทนหนาวเพราะอยากเข้าพบท่านก่อน

            ข้างฝ่ายนายสมชายก็เป็นคนยุติธรรมไม่มีใครเหมือน เพราะไม่ยอมรับสินบาทคาดสินบนใด ๆ ใครมาก่อนก็จัดให้เข้าพบก่อน ท่านพระครูกำชับนักกำชับหนา ว่าให้จัดลำดับอย่างเที่ยงธรรม ไม่ว่าใครจะใหญ่โตมาจากไหน ยากดีมีจนอย่างไรก็ต้องเรียงตามลำดับก่อนหลังทั้งสิ้น

            ท่านพระครูขอตัวไปลงอุโบสถเพื่อทำสังฆกรรมร่วมกับภิกษุรูปอื่น ๆ ซึ่งจะกินเวลาประมาณสองชั่วโมง และช่วงเวลานี้ท่านก็จะนำพระเณรปฏิบัติกรรมฐาน แล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้เปตชน หรือที่เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “พวกผี”

            บรรดาเหล่านี้บ้างก็ท่องเที่ยวอยู่แถววัด คอยรับส่วนบุญส่วนกุศลจากผู้ที่อุทิศมาให้ บ้างก็มาจากที่ไกลโดยคำบอกเล่าของบรรดาเพื่อนผีด้วยกัน ท่านพระครูเคยเล่าให้พระบัวเฮียวฟังว่า พวกผีเหล่านี้ก็เหมือนคน เวลาไปรับประทานอาหารตามที่ต่าง ๆ ร้านไหนอร่อยก็จะบอกเพื่อนฝูงญาติมิตรให้ไปลองรับประทานบ้าง ผีก็เช่นกัน เมื่อพวกเขารู้ว่าที่วัดแห่งนี้มีคนมาทำบุญ และมีพระปฏิบัติกรรมฐานแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ ก็จะพากันมาคอยรับพร้อมทั้งบอกต่อไปยังเพื่อนผีญาติผีของตน

            การที่พวกผีเหล่านี้ต้องมาเร่ร่อนขอส่วนบุญจากมนุษย์ก็เพราะ พวกเขาไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ในสมัยที่ยังมีชีวิตก็ไม่เคยทำบุญทำทาน เมื่อตายลงจึงต้องมาเป็นเปรตคอยรับส่วนบุญจากผู้อื่น วันไหนไม่มีผู้อุทิศมาให้ก็ต้องทุกข์ทรมานเพราะความหิวโหย แต่เปตชนเหล่านี้ก็ยังดีกว่าพวกสัตว์นรก เพราะพวกหลังนี้นอกจากจะอดอยากหิวโหยแล้ว ยังถูกลงโทษทัณฑ์ด้วยวิธีต่าง ๆ ตามกรรมที่เขาได้ทำมาอีกด้วย

            เสร็จจาก “โปรดผี” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็เดินกลับมายังกุฏิเพื่อ “โปรดคน” ต่อ พระบัวเฮียวเดินตามมาสังเกตการณ์เช่นทุกครั้ง ด้วยเป็นความประสงค์ของท่านพระครูที่ต้องการให้พระใหม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

            เมื่อนั่งที่อาสนะประจำของท่านแล้ว นายสมชายจึงบอกให้ชายวัยหกสิบเศษคลานเข้าไปใกล้ ๆ เพื่อจะได้ไม่พูดข้ามศีรษะผู้อื่น บุรุษหนั้นคลานเข้าไปในระยะหัตถบาส กราบสามครั้ง แล้วนิ่งอยู่

            “มีเรื่องอะไรว่าไปเลยโยม” ท่านกล่าวอนุญาต

            “ครับหลวงพ่อ ผมมานั่งรอตั้งแต่ตีสอง นั่งอยู่นอกกุฏิ ผมชื่อบุญช่วยครับ” เขารายงานเหมือนจะประกาศว่า “ไม่ได้แซงคิวใคร”

            “งั้นหรือ เอาละ จะให้อาตมาช่วยอะไรก็ว่ามา” หากเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ความลับ ท่านจะพูดด้วยเสียงปกติ ยกเว้นเรื่องที่เจ้าตัวไม่ต้องการให้ผู้อื่นล่วงรู้ ท่านก็จะพูดเสียงเบาให้ได้ยินกันเพียงสองคน

            “คือแม่ผมน่ะซีครับหลวงพ่อ”

            “แม่โยมเป็นอะไร” ท่านถามเมื่อบุรุษนั้นไม่ยอมพูดต่อ

            “เป็นผู้หญิงครับ แล้วก็เป็นเมียพ่อ” บุรุษผู้มีนามว่าบุญช่วยตอบซื่อ ๆ แต่ทุกคนที่นั่งฟังอยู่พากันคิดว่าเขาแกล้งพูดถ่วงเวลาคนอื่น

            “อ้อ ที่มานั่งรอตั้งแต่ตีสองก็เพื่อจะมาบอกแค่นี้เองหรือ”

            “มีอีกครับหลวงพ่อ ยังมีอีก” นายบุญช่วยรีบบอกเพราะกลัวถูก “ตัดคิว”

            “คือแม่ผมแกกลัวตายครับหลวงพ่อ”

            “อายุเท่าไหร่ล่ะ”

            “ผมหรือครับ หกสิบห้าครับ”

            “ไม่ใช่ อาตมาหมายถึงแม่โยมต่างหาก”

            “แม่แปดสิบห้าครับ หลวงพ่อช่วยแกหน่อยเถิดครับ แกไม่อยากตาย รบเร้าให้ผมมาขอคาถาหลวงพ่อ แกว่าหลวงพ่อมีคาถากันตาย” ลูก “ยอดกตัญญู” รายงาน

            “อ๋อ เรื่องแค่นี้เอง นึกว่าจะมาเรื่องอะไร ไม่ยากหรอกโยม เรื่องง่าย ๆ เดี๋ยวอาตมาจะบอกคาถาให้” ผู้ที่นั่ง ณ ที่นั้นพลอยตื่นเต้นไปด้วย ต่างพากันเงี่ยหูฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ

            “กลับไปบอกแม่นะโยมนะ คาถากันตายมีอยู่สองข้อคือ หนึ่งหายใจเข้าไว้ สองกินข้าวเข้าไว้ ปฏิบัติได้สองข้อนี้รับรองว่าไม่ตาย ที่เขาตาย ๆ กัน เพราะไม่ยอมหายใจ ไม่ยอมกินข้าว” คำตอบท่านพระครูทำให้คนอื่น ๆ หัวเราะ ยกเว้นบุรุษเจ้าของเรื่อง เขารีบกราบท่านพระครูสามครั้งแล้วเอ่ยลา

            “ขอบคุณหลวงพ่อมากครับ ผมขอลา”

            “จะรีบไปไหนเล่าโยม”

            “จะรีบไปบอกแม่ครับ แกคงดีใจที่ได้คาถา”

            “เดี๋ยวก่อน อาตมายังไม่ได้บอกเคล็ดลับ ยังมีเคล็ดลับอีก อาตมาจะบอกให้ คือเราต้องไม่กลัวตาย ต้องกล้าเผชิญกับมัน คนที่กลัวตาย อาตมาเห็นตายทุกที”

            “ถ้าไม่กลัวแล้วไม่ตายใช่ไหมคะหลวงพ่อ” สตรีผู้หนึ่งเอ่ยถาม

            “กลัวหรือไม่กลัวมันก็ต้องตายทุกคนนั่นแหละ แต่เท่าที่อาตมาสังเกตดู คนที่กลัวตายมักตายเร็ว คนไม่กลัวจะตายช้า ฉะนั้นจงอย่ากลัวตาย แต่จงมีสติรู้เท่าทันชีวิตว่ามันไม่เที่ยง มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุปัจจัย เมื่อเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาเราก็จะทำดี พูดดี คิดดี ทำได้อย่างนี้เราก็จะไม่กลัวตาย เพราะเรารู้ว่าจะไม่ไปทุคติ คนที่เขากลัวตายก็เพราะกลัวจะไปไม่ดี เช่นไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น โยมพอจะเข้าใจที่อาตมาพูดไหม”

            “เข้าใจครับ” นายบุญช่วยตอบ

            “เข้าใจว่ายังไง ไหนลองบอกมาซิว่าจะไปบอกแม่ว่ายังไง” ท่านถือโอกาสซักซ้อมความเข้าใจ เพราะมีคนที่อยู่ในประเภท “ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด” ท่านพูดอย่างหนึ่ง เขาเอาไปพูดอีกอย่างแล้วอ้างว่าท่านพูด ทำให้เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันไปยกใหญ่ เหตุนี้ท่านจึงต้อง “ตรวจสอบ” เพื่อความถูกต้องชัดเจน

         “เข้าใจว่าให้หายใจเข้าไว้กับกินข้าวเข้าไว้แล้วจะไม่ตาย ส่วนเคล็ดลับก็คือต้องไม่กลัวตาย หลวงพ่อให้ผมไปบอกแม่อย่างนี้ครับ” บุรุษสูงวัยตอบตามระดับสติปัญญาของตน “เครื่องรับ” ในตัวเขารับได้เท่านี้

         “อ้อ อาตมาพูดว่ายังงั้นหรือ โยมแน่ใจนะ”

         “แน่ใจครับ” เขายืนยัน

         “งั้นก็ให้พระบัวเฮียวเป็นพยานก็แล้วกัน พระบัวเฮียว อาตมาพูดอย่างที่โยมคนนี้บอกหรือเปล่า” ต่อหน้าคนอื่นที่ไม่คุ้นเคยกัน ท่านเรียกพระบวชใหม่ว่า “พระบัวเฮียว” และแทนตัวท่านว่า “อาตมา”

         “ไม่ใช่ครับ หลวงพ่อพูดว่าอย่างนี้” พระบัวเฮียวอธิบายจนบุรุษนั้นเข้าใจถูกต้องเป็นอันดี ท่านพระครูจึงอนุญาตให้เขากลับไปได้ ต่อจากนั้นก็เป็นรอบของสตรีวัยห้าสิบ

         “หลวงพ่อจ๊ะฉันอยากตาย” เป็นเป็นประโยคแรกที่นางเอื้อยเอ่ย

         “อยากตายหรือ งั้นก็ตามโยมผู้ชายคนเมื่อกี้ไปซี”

         “ตามไปทำไมจ๊ะ” ถามงง ๆ

         “อ้าว ก็จะได้ไปหาแม่เขาน่ะซี ไปแลกกันซะจะได้หมดเรื่อง เมื่อแม่เขาไม่อยากตาย ส่วนโยมอยากตาย ก็ควรจะแลกกันเสีย จะได้สมใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายไงล่ะ”

         “แหมหลวงพ่อ ถ้ามันทำยังงั้นได้ก็ดีน่ะซี” นางว่า

         “ก็ทำไมจะไม่ได้เล่า อาตมาถึงได้แนะนำไง หลวงพ่อเจริญไม่เคยแนะนำในสิ่งที่ไม่ดี” ท่านใช้มุขตลกเพื่อให้บรรดาผู้แบกทุกข์ทั้งหลายได้ผ่อนคลาย

         “แต่ฉันอยากตายโดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนกะใคร” หญิงนั้นยืนกราน

         “อยากตายแน่หรือ” คราวนี้ท่านถามจริงจัง

         “จ้ะ” ตอบเสียงอ่อย

         “งั้นก็เชิญตายได้ตามสบาย วัดนี้มีพร้อม ทั้งเมรุเผาศพ ทั้งพระสวดมาติกา ถ่านไม่มีก็ไม่เป็นไร ประเดี๋ยวให้สมชายไปสั่งที่ตลาดก็ได้ ว่าแต่ว่าโยมจะเอาโลงแบบไหน เอาไม้ฉำฉาหรือไม้จำปา” เห็นท่าทางท่านเอาจริงเอาจัง หญิงนั้นก็ใจฝ่อ อยากจะเปลี่ยนใจแต่ก็อายคนอื่น จึงฝืนตอบไปว่า

         “แล้วแต่หลวงพ่อจะเมตตาเถิดจ้ะ ไม่อะไรก็ได้”

         “แล้วแต่อาตมาไม่ได้ซี ก็อาตมาไม่ได้เป็นคนตายนี่”

         “งั้นโลงจำปาก็ได้จ้ะ” สตรีวัยห้าสิบตอบเสียงเบาลงทุกที เหงื่อกาฬแตกซิก ๆ เพราะกลัวตาย

         “เอาละ สมชายมานี่ซิ ช่วยไปนิมนต์พระให้สิบรูปสำหรับสวดมาติกา แล้วไปสั่งถ่านที่ตลาดให้ห้ากระสอบ” ท่านหันมามองหญิงนั้นแล้วพูดว่า “ผอม ๆ อย่างโยมห้ากระสอบก็ไหม้หมดไม่มีเหลือ” คนแบบทุกข์มีท่าทางลังเล พูดเสียงอ่อย ๆ ว่า

         “หลวงพ่อฉันกลัวร้อน เอาถ่านมาเผาฉัน ฉันก็ร้อนแย่น่ะซี”

         “อ้าว ก็ในเมื่อโยมตายก็ต้องเผา จะให้ปล่อยเหม็นคลุ้งอยู่ในวัดได้ยังไง”

         “งั้นฉันไม่ตายก็ได้” นางถือโอกาสเปลี่ยนใจ

         “เอาให้แน่ ๆ จะตายหรือไม่ตาย อาตมาจะได้จัดการให้ตามประสงค์ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อาตมาก็ทำอะไรไม่ถูกน่ะซี” หญิงนั้นคิดว่าท่านดุจึงร้องไห้โฮออกมา รำพึงรำพันว่า “ฉันกลุ้มใจจ้ะหลวงพ่อ ฉันอยากตาย แต่ก็ไม่อยากตาย ฮือ ๆ” นางพิร่ำพิไรรำพัน ทุกคน ณ ที่นั้นพากันสมเพช เรื่องของคนอื่นดูช่างน่าสมเพช หลงลืมไปว่าบางทีเรื่องของตัวเองนั้นน่าสมเพชเสียยิ่งกว่า

         “ตั้งสติให้ดี ๆ โยม หยุดร้องไห้เสีย แล้วเล่าไปว่าโยมกลุ้มใจเรื่องอะไร ถ้าเอาแต่ร้องไห้อยู่อย่างนั้น อาตมาจะรู้ได้ยังไง” นั้นแหละนางจึงหยุดร้องไห้ ใช้มือปาดน้ำตาแล้วเช็ดมือกับผ้านุ่ง จากนั้นจึงเริ่มต้นเล่าถึงเหตุแห่งความทุกข์โศกต่าง ๆ จับใจความได้ว่า สามีลักลอบได้เสียกับคนใช้ในบ้าน เมื่อนางไล่คนใช้ออก สามีก็ไปเช่าแฟลตอยู่กับคนใช้ ไม่ยอมกลับบ้านกลับช่อง

         “หลวงพ่อคะ ทำไมพวกผู้ชายถึงชอบยุ่งกับคนใช้คะ” สตรีอายุประมาณสามสิบถามขึ้น หล่อนก็ประสบปัญหาอย่างเดียวกัน ท่านพระครูเห็น “เข้าเค้า” จึงใช้ “เห็นหนอ” สำรวจดูว่าผู้คนที่นั่งอยู่ต่อหน้าท่านนี้ มีใครบ้างที่มาด้วยปัญหาอย่างเดียวกัน จะได้ตอบให้เสร็จ ๆ ไปเป็นชุด ๆ เพื่อประหยัดเวลา แล้ว “เห็นหนอ” ก็รายงานว่าหกรายที่ประสบปัญหาเรื่องผัวมีเมียน้อย ในหกรายมีอยู่สี่รายที่เมียน้อยเป็นคนใช้ ส่วนปัญหาเรื่องเมียมีชู้มีอยู่สองราย ทั้งแปดรายนี้สามารถใช้วิธีเดียวกันได้ในการแก้ปัญหา

         “หลวงพ่อยังไม่ตอบหนูเลยว่า ทำไมผู้ชายถึงชอบยุ่งกับพวกคนใช้” สตรีวัยสามสิบทวงคำตอบ

         “เอ อันนี้อาตมาก็ไม่รู้จะตอบยังไง เพราะอาตมาก็ยังไม่เคยยุ่งกับคนใช้” คำตอบของท่านเรียกเสียงหัวเราะจากทุกคนในที่นั้น รวมทั้งคนถามด้วย

         “แต่หลวงพ่อน่าจะตอบได้เพราะหลวงพ่อเป็นผู้ชาย” คนถามไม่ยอมแพ้

         “หนูตอบเองค่ะ” หนึ่งในสี่ที่สามีมีเมียน้อยเป็นคนใช้ขันอาสา เสียงที่ตอบเต็มไปด้วยความอาฆาตแค้นเคือง “เพราะคนพวกนี้รสนิยมต่ำ ชอบของต่ำ ชอบกินของเน่าเหม็น จิตใจสกปรกต่ำทราม” หล่อนหันไปทางพวกผู้ชาย ล้อมรั้วป้องกันตัวเองเสร็จสรรพด้วยการกล่าวว่า

         “ขอโทษบรรดาสุภาพบุรุษที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ถ้าท่านไม่ได้เอาคนใช้ทำเมียก็อย่าได้ร้อนตัว” มนุษย์เพศชายก็เลยต้องนั่งนิ่งทั้งที่ใจอยากจะฉีกเนื้อหญิงปากกล้าคนนั้น

         “หลวงพ่อคะ สามีหนูชอบดูรูปโป๊” สาววัยยี่สิบเศษถือโอกาส “ลัดคิว” ก็ทีคนอื่น ๆ ยังทำได้

         “เขาสะสมรูปโป๊ไว้ในลิ้นชักหัวเตียง เป็นรูปอุจาดลามกทั้งนั้น ดูไม่ได้เลยค่ะ”

         “แล้วหนูไปดูทำไมจ๊ะ” ท่านถามยิ้ม ๆ

         “ก็มันเห็นน่ะค่ะ” หล่อนแก้ตัว

         “เขาวางให้หนูเป็นงั้นหรือ ไม่ใช่เขาอุตส่าห์ซ่อนไว้แล้วหนูไปค้นจนเจอนะ” สตรีนั้นยิ้มแหย ๆ เพราะจริงดังที่ท่านว่า

            “แบบนี้เป็นโรคจิตหรือเปล่าคะ อายุก็มากแล้ว ยังจะสัปดน ต่อหน้าคนอื่นทำเป็นอ่านหนังสือธรรมะ สะสมหนังสือธรรมะไว้เต็มตู้ แต่หลังฉากแอบอ่านหนังสือโป๊ สมสมรูปโป๊ แถมเอาไว้บนหัวนอนอีกด้วย แบบนี้ต้องเป็นโรคจิตใช่ไหมคะ”

         “หลวงพ่อก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าหนูน่ะหึงแม้กระทั่งรูปโป๊” เสียงหัวเราะดังขึ้นอีก แต่หญิงสาวกลับทำหน้าบูดบึ้ง หล่อนต้องการมาเอาคำตอบเรื่องนี้ แต่ท่านพระครูกลับเห็นเป็นเรื่องตลก หญิงสาวแน่ใจว่า สามีต้องเป็นโรคกามวิปริต หรือไม่ก็จิตวิปลาส จะอะไรก็แล้วแต่ หล่อนได้เก็บภาพและหนังสือลามกเหล่านั้นเผาเป็นจุณไปแล้ว ไม่ต้องการเก็บไว้ให้เป็นอัปมงคลแก่บ้านเรือน

         “เอาละ ฟังทางนี้ วิธีแก้ปัญหาเรื่องสามีนอกใจหรือภรรยานอกใจนั้นไม่ยากอะไรเลย ประเดี๋ยวอาตมาจะบอกวิธีให้ แต่ต้องทำให้ได้นะ ถ้าทำไม่ได้ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องมีความอดทน มีความเพียรไม่ท้อถอย เคยมีคุณหญิงคนหนึ่งมาขอให้อาตมาช่วยแบบเดียวกันนี้ อาตมาก็แนะแนวทางให้ เขาก็ไม่ยอมทำตาม เลยไม่สำเร็จ”

         “แล้วคนที่ทำตามจะสำเร็จทุกคนไหมคะ”

         “สำเร็จแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ อาตมาวิจัยมาแล้ว น่าเสียดายที่คุณหญิงเขาไม่เชื่ออาตมา อุตส่าห์ดั้นด้นมาหา พอบอกให้ กลับไม่ทำตาม สามีเขาเป็นรัฐมนตรีแต่ไปหลงรักคนใช้ถึงกับปลูกบ้านปลูกช่องให้อยู่ คุณหญิงก็เอาแต่ด่า สามีเลยไปอยู่กับคนใช้เสียเลย เวลาคนเขาจะมาติดต่อราชการเขาก็ไปหาที่บ้านคนใช้ คุณหญิงก็โกรธใหญ่ นี่มานั่งด่าตรงนี้” ท่านชี้ไปที่ที่สตรีวัยห้าสิบนั่งอยู่

         “ด่าใครคะ”

         “ด่ารัฐมนตรีกับคนใช้”

         “แล้วคนถูกด่าเขาได้ยินไหมคะ”

         “จะได้ยินอะไร โน่นเขาอยู่กรุงเทพฯ กันโน่น คนที่ได้ยินก็คืออาตมา แหม เขาด่าฉอด ๆ ใครไม่รู้ก็นึกว่าด่าอาตมา” ท่านพูดแล้วก็หัวเราะหึหึ

         “งั้นหลวงพ่อบอกวิธีแก้ปัญหาเถอะค่ะ หนูจะได้นำไปปฏิบัติ” สตรีวัยสามสิบเร่งเร้า

         “วิธีง่าย ๆ คืออย่าไปโกรธ ห้ามโกรธ ห้ามผูกพยาบาท แต่ให้แผ่เมตตาให้เขาทั้งสองคน ขอให้เขาครองรักครองสุขกันอย่างราบรื่น อย่าไปด่าไปแช่งเป็นอันขาด”

         “โอ๊ย หนูทำไม่ได้หรอกค่ะ ถ้าแช่งละก็พอทำได้” คนอายุสามสิบท้วงขึ้น

         “แช่งไม่ได้ซี แช่งก็ไม่สำเร็จ ถ้าเราอยากให้เขากลับมาหาเรา อยากให้เลิกกับทางโน้น เราต้องทำให้ได้ มันอาจจะฝืนใจตอนแรก ๆ แต่พอทำไป ๆ ก็ชิน เมื่อชินเสียแล้วก็ไม่ต้องฝืนใจ คนเขาทำสำเร็จมาเป็นสิบ ๆ รายแล้ว นี่อาตมาบันทึกไว้หมด”

         “แล้วคนที่ไม่สำเร็จมีไหมคะ”

         “ก็อย่างที่บอก ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่สำเร็จ อย่างเช่นคุณหญิงเป็นต้น ถ้าทำได้รับรองสำเร็จทุกราย”

         “ค่ะ ถ้าอย่างนั้นนิมนต์หลวงพ่อพูดต่อเถอะค่ะ”

         “ก่อนแผ่เมตตาก็ต้องไหว้พระสวดมนต์เสียก่อน ให้สวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ พาหุงมหากาฯ อย่างละจบ หลังจากนั้นจึงสวดพุทธคุณอย่างเดียว สวดเท่าอายุบวกหนึ่ง เช่นโยมอายุสามสิบ ก็สวดสามสิบเอ็ดรอบ”

         “งั้นฉันก็ต้องสวดถึงห้าสิบเอ็ดรอบซีจ๊ะ” สตรีวัยห้าสิบพูดขึ้น

         “ก็ไม่ยากอะไรนี่โยม ใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง”

         “แล้วนานไหมคะถึงจะได้ผล” คนอายุสามสิบถามอีก

         “เท่าที่อาตมาบันทึกไว้ อย่างเร็วก็หนึ่งเดือน อย่างช้าก็สามเดือน ขึ้นอยู่กับว่าใครมีสมาธิมากน้อยกว่ากัน อย่างคนหนึ่งเขามาเล่าให้อาตมาฟัง เขาบอกแรก ๆ เขาแผ่เมตตาไม่ได้ มันแผ่ไม่ออก พอนึกว่าเขาทำให้ตัวเจ็บช้ำ แทนที่จะบอกให้เขาเป็นสุข ๆ เถิด กลับแช่งให้เขาประสบความพินาศฉิบหาย แต่หลัง ๆ เขาก็ทำได้ รายนี้สามเดือนถึงสำเร็จ” เมื่อท่านบอกวิธีการแก้ปัญหาจบลง ปรากฏว่ามีผู้กราบแล้วคลานออกไปแปดราย เป็นสตรีหก บุรุษสอง

         “หลวงพ่อครับ แม่อีหนูหนีไปอีกแล้วครับ” “เจ้าทุกข์” รายที่สามเข้าร้องเรียน เป็นชายวัยกลางคน หน้าตาซูบซีดหมองคล้ำ

         พระบัวเฮียวซึ่งนั่งสังเกตการณ์อยู่ รู้สึกสงสารท่านพระครูที่ต้องรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้คนทุกชั้นวรรณะ และปัญหาแต่ละคนก็มีต่าง ๆ กันออกไปชนิดที่เรียกได้ว่า “สารพันปัญหา” หากเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็มิได้แสดงอาการท้อแท้เหนื่อยหน่าย คงให้ความเมตตาช่วยเหลือและรับฟังปัญหาของพวกเขาอย่างตั้งอกตั้งใจ ทั้งที่บางปัญหาดูไร้สาระนายตาของพระบัวเฮียว

         “หนีอีกแล้วหรือ โยมไปทำอะไรเขาล่ะ” ท่านแกล้งถาม “เห็นหนอ” รายงานว่าชายผู้นี้เมาเหล้าแล้วอาละวาด เตะเมียจนตกบ้าน

         “ก็ลงไม้ลงมือไปนิดหน่อยเองครับ” ตอบไม่ตรงนัก ครั้นจะโกหกก็ไม่กล้า เพราะรู้ว่าท่านตรวจสอบได้ เห็นเขาว่าท่าน “ตาทิพย์”

         “อ้อ ขนาดเตะตกบ้านนั่นนิดหน่อยหรือ ถ้ามีคนเขามาเตะโยมตกบ้านมันนิดหน่อยหรือเปล่าล่ะ”

         “ผมผิดไปแล้วครับหลวงพ่อ” เขาก้มหน้าสารภาพ

         “โยมพูดมายังงี้กี่ครั้งแล้ว ก่อนทำทำไมไม่คิด วันก่อนก็เอาส้อมเขวี้ยงใส่หน้าเขาใช่ไหมล่ะ” ชายนั้นก้มหน้านิ่ง ไม่ยอมตอบ ท่านพระครูจึงถือโอกาสสั่งสอนอีกว่า

         “ถ้าวันนั้นเขาหลบไม่ทัน รับรองตาบอด อยากมีเมียตาบอดใช่ไหม”

         “ไม่อยากครับ”

         “ไม่อยากก็อย่าทำอีก”

         “แล้วเมื่อไหร่เขาจะกลับครับหลวงพ่อ” ถามด้วยอยากรู้คำตอบ หลวงพ่อท่านมีวาจาสิทธิ์ ถ้าท่านบอกสามวันก็สามวัน เจ็ดวันก็เจ็ดวัน ไม่เคยผิดพลาดสักครั้งเดียว

            “เขาไม่กลับแล้ว ถ้าโยมไม่เลิกเหล้าเขาไม่กลับแน่ แต่ถ้าเลิกเหล้าได้ อีกเดือนนึงเขาจะกลับ”

         “ตั้งเดือนเชียวหรือครับ”

         “ใช่ แต่หมายความว่าโยมต้องเลิกเหล้าได้นะ ก็เลือกเอาแล้วกันว่า เหล้ากับเมียจะเลือกใคร” บุรุษนั้นทำท่าลังเล ใจหนึ่งอยากเลือกเหล้า อีกใจก็อยากเลือกเมียเพราะขี้เกียจเลี้ยงลูกแต่ผู้เดียว มีลูกตั้งห้าคนยังเล็ก ๆ ทั้งนั้น คนหัวปีเพิ่งจะแปดขวบ คนเล็กยังไม่เต็มขวบดี ถ้าเมียไม่กลับเขาคงต้องตายเป็นแน่แท้ ในที่สุดจึงบอกกับท่านพระครูว่า

         “หลวงพ่อครับ ผมจะเลิกเหล้า ผมเลี้ยงลูกคนเดียวไม่ไหว”

         “ดีแล้ว ต้องมีสัจจะนา เสียสัจจะเมื่อไหร่โยมต้องตาย มีตัวอย่างมากมาย โยมเคยได้ยินบ้างไหม”

         “เคยครับ ทิดจาบเพื่อนบ้านผมก็ตายมาแล้ว หลวงพ่อจำได้ไหมครับ”

         “จำได้สิ ก็คนนี้แหละที่มาบอกว่าจะเลิกเหล้า เลิกไปได้ปีเดียวก็กลับมากินอีก กินวันนั้นก็ตายวันนั้น เรื่องสัจจะนี่สำคัญมาก จำไว้นะ”

         “ครับหลวงพ่อ ผมจะจำไปจนตายเลย ผมกราบลาละครับ”..

 

มีต่อ........๒๕
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #27 เมื่อ: เมษายน 12, 2007, 10:25:16 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00025
๒๕...
         คุณนายดวงสุดาคลานตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยเข้ามาหาท่านพระครู ตามด้วยเถ้าแก่เส็งและคุณกิมง้อ ผู้เป็นบิดาและมารดา คนทั้งสามก้มกราบท่านสามครั้ง แล้วหันไปกราบพระบัวเฮียว ซึ่งนั่งพับเพียบอยู่บนพื้นทางเบื้องขวาของพระอุปัชฌาย์

         “ผมเห็นจะต้องกลับกุฏิละครับ เพราะหลวงพ่อมีแขก” พระหนุ่มออกตัว ใจนั้นอยากอยู่ฟังเขาคุยกัน หากก็เกรงจะเสียมารยาท

         “อยู่ก่อนก็ได้นี่นา จะรีบไปไหนเล่า” เจ้าของกุฏิพูดอย่างรู้ใจ หันไปถามอาคันตุกะว่า “คงไม่ใช่เรื่องลับใช่ไหม พระบัวเฮียวคงร่วมฟังได้นะ”

         “ไม่ลับค่ะหลวงพ่อ หนูอยากให้คนมาฟังเยอะ ๆ ด้วยซ้ำ จะได้ช่วยกันเป็นพยาน” คุณนายดวงสุดาตอบ

         “งั้นหรือ แล้วจะให้เกณฑ์คนมาหมดวัดเลยไหม คุณนานจะเอายังงั้นไหม” ท่านถามยิ้ม ๆ

         “ไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้ค่ะหลวงพ่อ ประเดี๋ยวหนูเขินก็เลยเล่าไม่ออกกันพอดี” คนน้ำหนักเกินพิกัดตอบ

         “อ้อ ถ้าอย่างนั้นก็เล่าได้เลย รู้สึกพระบัวเฮียวอยากจะฟังจนเนื้อเต้นแล้วละมัง” ท่านเย้าลูกศิษย์

         “หลวงพ่อนั่นแหละเนื้อเต้น อย่าทำมาโทษผมหน่อยเลยน่า” คนเป็นศิษย์แอบเถียงในใจ

         “เตี่ยเล่าดีกว่าน่ะ” คนจะเล่าเปลี่ยนใจกระทันหัน จึงโยนกลองไปที่บิดา

         “ลื้อเล่านั้นแหละดีแล้ว ก็ลื้อเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดไม่ใช่หรือ” เถ้าแก่เส็งให้เหตุผล ตั้งแต่ปฏิบัติกรรมฐาน เขาพูดไทยชัดขึ้นเพราะสติบอกว่า เมื่อเป็นคนไทยก็ต้องพูดไทยชัด จะได้ไม่อายคุณกิมง้อ

         “นั่นซี แม่ก็เห็นด้วยกับเตี่ย ลูกเล่านั้นแหละดีแล้ว” ผู้เป็นมารดาเสริม

         “แม่ละก็เข้าข้างเตี่ยอยู่เรื่อย” คนเป็นลูกตัดพ้อ

         “เรื่องที่จะเล่านี่ยาวไหม ถ้าเป็นเรื่องยาว อาตมาขอแนะนำว่าน่าจะเริ่มได้แล้ว จะได้ไม่ต้องรอไปฟังต่อในวันพรุ่งนี้ อาตมาเป็นคนใจร้อนน่ะโยม” พระบัวเฮียวพูดขึ้น ท่านคิดอยู่นานว่าจะพูดดีหรือไม่ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจได้

         “แหม หลวงพี่พูดอย่างนี้ดิฉันก็เห็นจะต้องเล่าแล้วละค่ะ” คุณนายดวงสุดาพูดกับพระบัวเฮียว เรียกท่านว่า “หลวงพี่” อย่างไม่เต็มใจนัก ไม่เต็มใจด้วยเหตุว่า ท่านอายุอ่อนกว่า ที่ถูกน่าจะเป็น “หลวงน้อง” หล่อนไม่เข้าใจว่าเหตุใดเขาจึงไม่เรียกพระที่อายุอ่อนกว่าว่า “หลวงน้อง”

            “คงไม่ต้องออกแขกแบบลิเกนะ” ท่านพระครูเย้าบ้าง

         “ไม่ต้องค่ำ เตี่ยเล่าดีกว่าน่า” หล่อนหันไปเกี่ยงงอนบิดาอีกครั้ง

         “ลื้อนั้นแหละ อย่ามัวทำอิด ๆ ออด ๆ น่ารำคาญ เกรงใจหลวงพ่อท่าน เวลาท่านเป็นเงินเป็นทองนะ” เถ้าแก่เส็งดุลูกสาว การปฏิบัติกรรมฐานทำให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิด เขาจึงรู้ว่าคนเป็นพ่อไม่ควรกลัวลูก จึงกล้าดุหล่อน แทนที่จะเป็นฝ่ายถูกหล่อนดุเช่นแต่ก่อน เมื่อโดนดุคนเป็นลูกชักกลัว จึงเริ่มต้นเล่า

         “เรื่องมันแปลกมากค่ะหลวงพ่อ บอกใคร ๆ ก็คงไม่มีใครเชื่อว่า เตี่ยกับแม่ถูกโจรยิงด้วยปืนเอ็ม ๑๖ แต่ไม่ยักกะเป็นอะไร หนูเห็นกับตาเลยค่ะ” คนเห็นเหตุการณ์เล่าฉอด ๆ

         “ตอนที่ถูกยิงโยมกำลังทำอะไรอยู่หรือ” ท่านถามบุคคลทั้งสอง

         “กำลังนั่งสมาธิครับ ผมกับคุณกิมง้อสัญญากันว่า จะเดินจงกรมหนึ่งชั่วโมง นั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมง ตอนโจรยิงมันยังไม่ครบชั่วโมง ผมก็เลยยังไม่ลุกขึ้น แล้วก็ไม่ลืมตาด้วย” เถ้าแก่เส็งเล่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อสามเดือนที่แล้ว ทว่าในความรู้สึกของเขาดูเหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง

         “แล้วรู้ตัวหรือเปล่าว่าโจรมา” ท่านพระครูซัก

         “รู้ครับหลวงพ่อ ผมรู้ตัวตลอดเวลา คุณกิมง้อก็รู้”

         “แล้วกลัวไหม กลัวตายหรือเปล่า”

         “ไม่กลัวค่ะ ตอนอยู่ในสมาธิไม่กลัว แต่ตอนนี้กลัวค่ะ” คุณกิมง้อตอบด้วยท่าทีที่ยังไม่หายหวาดเสียว

         “แล้วคุณนายอยู่ที่ไหนล่ะตอนนั้น ตอนที่โจรมาปล้นน่ะ” ท่านพระครูถามคุณนายดวงสุดา

         “หนูหรือคะ อารามตกใจมุดเข้าไปแอบใต้ตั่งเลยค่ะ ไม่ทราบว่าเข้าไปได้ยังไง ตัวหนูออกใหญ่ ตั่งก็เตี้ยนิดเดียว ถ้าเวลาปกติอย่าว่าแต่จะเข้าไปได้ทั้งตัวอย่างนั้นเลย แค่ขาข้างเดียวก็ยังเข้าไม่ได้” คุณนายดวงสุดาเล่า

         พระบัวเฮียวพิจารณาขาของคุณนายซึ่งมีขนาดไล่เลี่ยกับตอม่อยุ้ง แล้วก็ให้เป็นด้วยกับที่หล่อนพูด หากก็อดถามขึ้นไม่ได้ว่า “ตั่งที่โยมว่าน่ะสูงขนาดไหน เท่าอาสนะหลวงพ่อหรือเปล่า” คนถูกถามมองไปที่อาสนะตรงหน้า แล้วตอบ “คงจะพอ ๆ กัน ถ้าสูงกว่าก็คงไม่เกินสองนิ้ว ไม่น่าเชื่อใช่ไหมคะ ว่าคนเจ้าเนื้ออย่างดิฉันจะเข้าไปซ่อนใต้ตั่งนั่นได้ หลวงพี่เชื่อหรือเปล่า” หล่อนถามหลวงพี่

         “ถ้าจะให้อาตมาเชื่อก็ต้องลองเข้าไปอีกที คุณนายจะยอมลองดูไหมล่ะ” พระหนุ่มถือโอกาสต่อรอง

         “ไม่ต้องหรอกบัวเฮียว ถึงเธอจะไม่เชื่อแต่ฉันก็เชื่อ ฉันเชื่อว่าเป็นไปได้ เธอเคยได้ยินไหมเล่า ที่เขาว่าคนแบกตุ่มแบกตู้เย็นวิ่งหนีไฟ เพราะความตกใจ พอหายตกใจกลับแบกไม่ไหว อันนี้มันเป็นเรื่องของพลังจิตน่ะ คนเราไม่รู้ตัวหรอกว่า จิตนั้นมีพลังมาก เป็นพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัว คนที่ฝึกจิตสม่ำเสมอสามารถเอาพลังจิตออกมาใช้ได้ แต่คนที่ไม่เคยฝึกก็ใช้ไม่เป็น เว้นแต่ยามตกใจอาจเอามาใช้ได้บ้าง โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ เป็นการใช้พลังจิตโดยไม่สติควบคุม ก็ได้แค่ประเดี๋ยวประด๋าว พอรู้สึกตัวก็เอามาใช้ไม่ได้เสียแล้ว” ท่านพระครูอธิบาย

         “แล้วแบบนี้ดีไหมครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวถาม

         “แบบไหนล่ะ” พระอุปัชฌาย์ไม่เข้าใจคำถาม

         “คือพลังจิตน่ะครับ เป็นของดีหรือไม่ดี”

         “มันก็ตอบยากนะ จะว่าไปแล้วมันก็เหมือนดาบสองคม ถ้าใช้ดีก็ดีไป แต่ถ้าใช้ไม่ดีก็ให้โทษได้เหมือนกัน” ท่านรู้ว่าคนฟังยังไม่มีใครเข้าใจ จึงอธิบายเพิ่มเติมว่า

         “ตัวอย่างเช่นคนที่นำพลังจิตไปใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงจุดหมายคือ มรรค ผล นิพพาน ก็ถือว่าเป็นสิ่งดี แต่ถ้านำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น อยากจะอวดฤทธิ์หรืออวดอุตริมนุสสธรรม ก็ถือเป็นสิ่งไม่ดี เพราะเป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อละกิเลส”

            “สรุปก็คือที่หนูเข้าไปแอบอยู่ใต้ตั่งได้ ก็เพราะอำนาจของพลังจิตใช่ไหมคะหลวงพ่อ” คุณนายดวงสุดาถาม

         “ถูกแล้วคุณนาย แม้คุณนายจะไม่เคยฝึกจิต แต่ก็สามารถใช้พลังจิตได้ เป็นการใช้แบบไม่รู้ตัว ควบคุมไม่ได้ ถ้าอยากใช้แบบคุมได้ก็ต้องมาฝึกจิตกันให้เป็นเรื่องเป็นราว อย่างที่โยมเตี่ยกับโยมแม่ของคุณนายฝึกอยู่นี่แหละ”

         “ถ้าอย่างนั้นที่โจรมันใช้เอ็ม.๑๖ ยิงผม แต่ยิงไม่ออกก็เป็นเพราะอำนาจของพลังจิตใช่ไหมครับหลวงพ่อ” เถ้าแก่เส็งถาม การปฏิบัติกรรมฐานทุกวันทำให้เขาเข้าใจธรรมะแจ่มแจ้งขึ้น

         “จะพูดอย่างนั้นมันก็ถูกเหมือนกัน แต่อาตมาคิดว่า การที่ปืนยิงไม่ออกนั้นเป็นเพราะอานิสงส์ของการมีสัจจะของโยมทั้งสองประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเป็นอำนาจของสมาธิหรือพลังจิตนี่เอง ไหนคุณนายลองเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบซิ อาตมาจะอัดเทปไว้ เผื่อจะไปเปิดให้คนอื่นฟัง” ท่านหันไปเรียกนายสมชายให้นำเครื่องบันทึกเสียงและม้วนเทปมาให้ พร้อมแล้วคุณนายดวงสุดาจึงเริ่มต้นเล่า

         “วันนั้นหนูนั่งแท็กซี่มาหาเตี่ยกับแม่ที่บ้าน ก็ขึ้นไปชึ้นบนเห็นกำลังนั่งสมาธิกันอยู่ หนูเลยเดินไปที่โต๊ะอาหาร หยิบน่องไก่ทอดมากิน พอดีได้ยินเสียงเอะอะอยู่ข้างล่าง จึงชะโงกลงไปดูตรงบันได ก็เห็นคนร้ายสี่หรือห้าคน กำลังช่วยกันจับคนใช้สองคนมัดมือมัดปาก หนูตกใจวิ่งมาหากเตี่ยกับแม่ บอก โจรปล้น โจรปล้น เขาก็ไม่ยอมลืมตา เสียงพวกมันเดินขึ้นมา หนูเลยวิ่งไปที่ห้องน้ำตั้งใจจะไปซ่อนตัวในนั้น เสร็จแล้วก็เกิดเปลี่ยนใจกะทันหัน คลานลุกลี้ลุกลนเข้าไปใต้ตั่งแทน ขอประทานโทษนะคะหลวงพ่อ น่องไก่ทั้งน่องก็ยังอยู่ในปาก ต้องถือว่าโชคดีเชียวค่ะ เพราะมันทำให้หนูร้องไม่ออก ขืนไม่มีน่องไก่คงร้องให้คนช่วย แล้วก็ถูกโจรยิงตายไปแล้ว

         พอมันขึ้นมามันก็เดินไปที่เตี่ยก่อน เขย่าตัวเตี่ยแล้วบอก ตาแป๊ะตื่น ๆ นี่คือการปล้น เตี่ยก็ไม่ยอมลืมตา มันก็หันไปเขย่าแม่ บอกซิ้มตื่น ๆ นี่อั้วมาปล้น แม่ก็นั่งเฉยอีกคน เสียงพวกมันบอกยิงเลยเฮีย ยิงเลยเฮีย หนูจะเป็นลมเสียให้ได้ ครั้นจะร้องบอกเตี่ยกับแม่ก็ร้องไม่ออก เพราะน่องไกคาปากอยู่ มันเอาปืนจ่อที่ศีรษะเตี่ยแล้วลั่นไก เสียงดัง  แชะ ๆ แต่ไม่มีกระสุนพุ่งออกมา มันก็หันไปยิงแม่บ้าง ก็เป็นแบบเดียวกันอีก

            ในที่สุดพวกมันเลยช่วยกันเก็บข้าวของ มีทีวี วิทยุ สเตริโอ และพวกเครื่องลายครามเอาไปข้างล่างคงจะไปใส่รถ หนูจับตาดูมันอยู่ เก็บของเสร็จพวกมันก็พากันลงไป หนูหายตกใจก็เอามือจับน่องไก่ออกจากปาก แต่ไม่สามารถคลานออกมาจากใต้ตั่งได้ ก็นอนอึดอัดอยู่อย่างนั้นสักยี่สิบนาทีเห็นจะได้ แล้วก็ได้ยินเสียงคนเดินขึ้นมา พอหนูเห็นเป็นตำรวจ หนูดีใจมากเลยตะโกนว่า ช่วยด้วย ช่วยด้วย เขาก็มองหาที่มาของเสียง หนูบอก อยู่ใต้ตั่ง อยู่ใต้ตั่ง ตำรวจสองคนก็มาช่วยกันยกตั่ง แต่ยกไม่ไหว ต้องใช้ถึงสี่คน หนูก็ออกมาได้ ผู้ร้ายห้าคนถูกใส่กุญแจมือเรียบร้อย” คนเล่าหยุดหายใจแรง ๆ สองสามครั้ง ราวกับว่าตอนที่เล่านั้นลืมหายใจ ท่านพระครูจึงถามบิดาของหล่อนว่า “ตอนตำรวจมาโยมรู้หรือเปล่า”

         “รู้ครับหลวงพ่อ ผมรู้อยู่ตลอดเวลา ตำรวจเขามาเขย่าตัวผม บอก เถ้าแก่ตื่นเถอะ คุณถูกปล้นรู้ไหม ผมตอบว่า รู้ รู้ เขาก็ว่า รู้แล้วก็ลืมตาเสียที ผมบอกว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังลืมไม่ได้ จากนั้นผมก็ไม่พูดอะไรอีก”

            “ค่ะ ตลกน่าดูเลย พอเตี่ยนั่งนิ่ง ทั้งตำรวจและคนร้ายก็เลยต้องนั่งรอครู่ใหญ่ เสียงนาฬิกาปลุกก็ดังก้องขึ้น เตี่ยกับแม่ก็ขยับตัว เปลี่ยนท่าจากนั่งสมาธิมาเป็นนั่งพับเพียบ ประนมมือกล่าวคำแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศล”

         “แล้วคุณนายแผ่เมตตาเป็นหรือเปล่า อุทิศส่วนกุศลเป็นไหม” ท่านถือโอกาสทดสอบความรู้คุณนายดวงสุดา

         “เป็นค่ะ หนูสวดมนต์ทุกคืน สวดเสร็จก็แผ่เมตตาแล้วอุทิศส่วนกุศล หลวงพ่อจะฟังไหมคะ หนูจะว่าให้ฟัง”

         “ดีเหมือนกัน ว่าเป็นบาลีนะไม่ต้องแปล เพราะถ้าได้บาลีก็แปลได้จริงไหม”

         “จริงค่ะ แต่หนูว่าจริงแต่ครึ่งเดียว เพราะบางคนว่าบาลีได้ แต่แปลไม่ได้เช่นหนูเป็นต้น” หล่อนยกตัวเองเป็นตัวอย่าง

         “สำหรับผม ผมว่าจริงไม่ถึงครึ่งครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวเอ่ยบ้าง “เพราะคนส่วนใหญ่เขาจะสวดมนต์เป็น แต่แปลไม่เป็น ไม่รู้ว่าที่ตัวเองสวดนั้นมีความหมายว่าอย่างไร แม้แต่พระก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เช่น พระบัวเฮียว เป็นต้น” พระหนุ่มหารู้ไม่ว่าได้ “แบไต๋” ให้พระอุปัชฌาย์รู้เข้าแล้ว

         “โบราณท่านสอนไว้ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” บัวเฮียวเอ๋ย ถ้าเธอไม่พูดฉันก็คงยังไม่รู้ว่าเธอน่ะ “อ่อนซ้อม” เอามาก ๆ เห็นจะต้องให้พระมหาบุญช่วยกวดขันเธอให้หนักกว่านี้ วันข้างหน้าไปเป็นครูบาอาจารย์เขาจะได้ไม่เสียชื่อ” ท่านหันไปถามบิดาของคุณนายดวงสุดาว่า “โยมเห็นด้วยกับอาตมาไหมว่า คนรู้จริงนั้นหายาก ส่วนคนรู้มากหาง่าย สมัยนี้คนรู้มากมีแยะ แต่ที่รู้จริงไม่ค่อยมี เห็นด้วยไหม”

            “นั่นสินะ คนก็เลยพากันเป็นโรคประสาทมาก พวกจิตแพทย์ก็เลยมีงานทำมาก” ท่านพระครูเสริม พระบัวเฮียวกำลังวิงเวียนกับคำว่า “มาก” ค่อยยังชั่วขึ้นเมื่อคุณนายดวงสุดาพูดโดยไม่มี “มาก” “หนูว่าจิตแพทย์เองก็เป็นโรคประสาทนะคะหลวงพ่อ หนูเห็นมาหลายคนแล้ว ท่าทางไม่ค่อยจะปกติซักเท่าไหร่”

         “คงเป็นเพราะต้องคลุกคลีกับคนไข้มาก เลยติด เป็นอย่างนั้นไหมคะหลวงพ่อ” คุณกิมง้อถาม อุตส่าห์มีคำว่า “มาก” อีกจนได้

         “มันก็เป็นไปได้นะโยม อาตมาสังเกตว่า ยิ่งโลกเจริญมากขึ้นเท่าไหร่ คนก็ยิ่งเป็นโรคประสาทมากขึ้นเท่านั้น”

         “คนโรคประสาทนี่ ต้องให้มาเข้ากรรมฐานใช่ไหมคะหลวงพ่อ ถามอย่างคนที่ยังไม่เคยปฏิบัติ

         “ไม่ได้ ไม่ได้ เพราะคนที่เป็นน้อยก็จะเป็นมาก ส่วนคนที่เป็นมากก็จะบ้าชนิดกู่ไม่กลับเลยเชียว คนเป็นโรคประสาทเขาห้ามเข้ากรรมฐานอย่างเด็ดขาด อันนี้มีพุทธพจน์รับรองไว้ชัดเจน ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะอยู่ในคัมภีร์เล่มที่ ๑๔ ที่พระพุทธองค์ตรัสกับเหล่าสาวก ว่า ...ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวอานาปานสติแก่คนที่มีสติเลอะเลือนไร้สัมปชัญญะ....เคยมีตัวอย่างนะโยม ที่วัดนี้นี่แหละ ดูเหมือนอาตมาจะเคยเล่าให้พระบัวเฮียวฟังแล้ว เรื่องที่อาจารย์มหาวิทยาลัยแกเป็นโรคประสาท พวกญาติ ๆ พามาเข้ากรรมฐานที่นี่ ปฏิบัติสองวันแรกยังไม่มีอาการ พอวันที่สามลุกขึ้นรำป้อเลย เขาไปตามอาตมามาดู รำสวยเสียด้วยซี ใคร ๆ ห้ามก็ไม่หยุด ฉะนั้นโยมจำไว้เลยว่า คนเป็นโรคประสาทอย่าพามาเข้ากรรมฐาน ต้องพาไปรักษาให้หายก่อน หายแล้วก็ต้องรอดูอีกสองหรือสามปี หายใหม่ ๆ อย่าพามาเพราะโรคอาจกำเริบอีกได้ เคยมีตัวอย่างหลายรายแล้ว”

         “หลวงพ่อครับ หลวงพ่อจะขัดข้องไหม ถ้าผมจะกราบเรียนว่าผมอยากฟังเรื่องปล้นต่อ กำลังสนุกเลยครับ” พระบัวเฮียวพูดอย่างเกรงใจเป็นที่สุด

         “ฉันน่ะไม่ขัดข้องหรอก แต่คนเล่าเขาจะเล่าต่อหรือเปล่า ข้อนี้ฉันไม่รู้”

         “ต่อซีคะ ต้องเล่าต่อ เอ..เมื่อตะกี้ถึงไหนแล้วคะแม่” หล่อนหันไปถามมารดา

         “ตอนเตี่ยกับแม่กล่าวคำอุทิศส่วนกุศลและแผ่เมตตาจ้ะ แล้วหลวงพ่อท่านให้หนูว่าให้ฟัง คุณกิมง้อทวนความจำให้ลูกสาว

         “งั้นเพื่อไม่ให้เสียเวลา หนูว่าให้ฟังย่อ ๆ นะคะ คำแผ่เมตตาแบบสั้น ๆ มีว่า ...สัพเพ สัตตา อเวรา อัพพยาปัชฌา อนีฆา สุขี อัตตานัง ปริหรันตุ คำอุทิศส่วนกุศลขึ้นต้นว่า อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตโร”

            “แล้วถ้าแผ่เมตตาให้ตัวเองขึ้นต้นว่าอย่างไร” ท่านพระครูถามอีก

         “อหัง สุขิโต โหมิ ค่ะ” ตอบฉะฉาน

         “เก่ง ๆ อาตมาเชื่อแล้ว เอาละทีนี้เล่าเรื่องปล้นต่อไปได้

         “ค่ะ พอเตี่ยกับแม่เสร็จธุระ ตำรวจก็สอบปากคำ สอบหนูด้วย หนูก็เล่าไปตามที่เห็น ตำรวจเขาบอกว่าเห็นรถกระบะขับสวนทางมานึกเอะใจ จึงถามว่าจะเอาไปไหน คนร้ายมีพิรุธหลายอย่างแล้วก็ตอบคำถามไม่ตรงกัน ในที่สุดก็สารภาพว่าปล้นเขามา เขาก็พามายังบ้านที่เกิดเหตุ”

         ตอนนั้นเวลาสักเท่าไหร่ เป็นกลางวันหรือกลางคืน”

         “เย็น ๆ ครับ” เถ้าแก่เส็งตอบ

         “ทุกวันตั้งแต่สี่โมงถึงหกโมงเย็น ผมกับคุณกิมง้อจะปฏิบัติกรรมฐานกัน โดยเดินหนึ่งชั่วโมง นั่งหนึ่งชั่วโมง”

         “ดีจริง อาตมาขออนุโมทนาเห็นไหม อำนาจของบุญบารมีทำให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี ถึงคราวเสียของก็ไม่ต้องเสีย มีนะ มีตัวอย่างแบบเดียวกันนี้ สองผัวเมียเป็นชาวบ้านบางระจัน มาเข้ากรรมฐานที่วัดนี้ กลับไปก็ปฏิบัติทุกคืน คืนหนึ่งกำลังเดินจงกรมกันอยู่ ขโมยมันมาลักควาย ต้อนไปจนหมดคอก ให้พรรคพวกมันคุมไป เหลือคนหนึ่งไว้ดูต้นทาง เจ้าหมอนั่นก็บังเอิญมองขึ้นไปบนเรือน เห็นคนเดินไปมาอยู่สองคน ปากก็ว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เดินกันมืด ๆ อย่างนั้นแหละ เจ้าขโมยมันก็ขำ นึกว่าเจ้าของบ้านละเมอ ไม่รู้ขำอีท่าไหน เลยถอยหลังไปเหยียบสุนัขที่กำลังหลับอยู่ สุนัขก็ตื่น เห่าเสียงดังขึ้น ชาวบ้านแถวนั้นก็เลยลุกมาดู จับขโมยได้ แล้วก็พากันจุดคบไต้ไปตามควายมาใส่คอกไว้อย่างเดิม

         ผู้ใหญ่บ้านก็คุมตัวขโมยไว้ จับได้คนเดียวคือคนที่ดูต้นทาง นอกนั้นวิ่งหนีไปได้ ก็พากันมานั่งรอจนสองผัวเมียนั่งสมาธิเสร็จ จึงเล่าเรื่องให้ฟัง เขาก็บอกเขารู้ตั้งแต่ตอนขโมยมันต้อนควายออกไปแล้ว แต่เขารักษาสัจจะ บอกจะเดินให้ได้หนึ่งชั่วโมงนั่งหนึ่งชั่วโมงก็ต้องได้ ควายมันจะหายก็ช่าง นี่เขามานั่งเล่าให้อาตมาฟังตรงนี้” ท่านชี้ที่ที่คุณนายดวงสุดานั่ง “มาทั้งผัวและเมียเลย บ้านอยู่อำเภอบางระจันโน่น” ท่านพระครูเล่าเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันให้คนทั้งสามฟัง พระบัวเฮียวฟังเป็นรอบที่สองเพราะตอนสองผัวเมียมาเล่าท่านก็นั่งฟังอยู่ด้วย

         “แต่กรณีของเถ้าแก่ จับโจรได้หมดใช่ไหม” พระหนุ่มถามบุรุษวัยเจ็ดสิบเศษ

         “หมดครับ ผู้ร้ายกับตำรวจมีจำนวนเท่ากันพอดี ผู้ร้ายห้า ตำรวจห้า เป็นตำรวจสายตรวจ กำลังขับรถจะเข้ามาตรวจดูความสงบเรียบร้อยในซอยนั้น นับว่าผมโชคดีมาก”

         “ผู้ร้ายถูกดำเนินคดีติดคุกกี่ปีล่ะ” พระบัวเฮียวถามอีก

         “ไม่ถูกครับ ถังขังไว้เกือบสามเดือน ยมไม่ยอมไปให้การ อ้างว่าจำหน้าผู้ร้ายไม่ได้ ความจริงผมจำได้ครับหลวงพ่อ แต่ผมจำเป็นต้องพูดปดเพื่อจะได้ไม่ก่อเวร คือ เจ้าคนที่มาปล้นนั่นเป็นลูกหนี้ผมเอง มายืมเงินไปหลายหมื่นแล้วไม่ใช้ ผมก็ขู่ว่าจะดำเนินคดี เขาคงแค้นเลยพาพวกมาปล้นผม และที่ใช้เอ็ม.๑๖ ยิงผมคงอยากจะให้ตายเพื่อล้างหนี้ เป็นบุญของผมที่มาเข้ากรรมฐานเสียก่อน ไม่งั้นก็คงสิ้นชื่อไปแล้ว ผมก็ใช้สติพิจารณาว่า ถ้าผมเอาเขาเข้าคุก วันหนึ่งเขาก็ต้องออกมาแก้แค้นผม ก็จะเป็นการก่อเวรกันไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อระงับเวรเสียข้างหนึ่ง ผมจึงจำใจโกหกว่าจำหน้าผู้ต้องหาไม่ได้

            ตำรวจเขาขังไว้ไม่ถึงสามเดือนก็ปล่อย ช่วงนั้นผมกับคุณกิมง้อก็แผ่เมตตา อโหสิกรรมให้เข้าทุกวัน หลวงพ่อเชื่อไหมครับ อานิสงส์ของเมตตานี่อัศจรรย์มาก เมื่อวานนี้เองเขาพากันมาหาผมที่บ้าน เอาธูปแพเทียนแพ ใส่พานมาขอขมาผม บอกว่าขอโทษและขอบคุณที่ผมไม่เอาเรื่อง เขารู้ว่าผมจำเขาได้ ขอขมาเสร็จก็บอกว่าจะผ่อนใช้หนี้คืน จะไม่โกงแม้แต่สตางค์แดงเดียว

         ผมตื้นตันจนน้ำตาไหล คุณกิมง้อเองก็ร้องไห้ ผมอโหสิให้เขาและบอกว่าไม่ต้องกังวลเรื่องหนี้สิน มีก็เอามาใช้ ไม่มีผมก็ยกให้ ขออย่างเดียวให้เขาหากินอย่างสุจริต ผมอยากมาหาหลวงพ่อมาก จึงให้ลูกสาวพามาเพื่อกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ให้วิชาที่วิเศษแก่ผม” เขาก้มลงกราบท่านพระครูสามครั้ง ด้วยความซาบซึ้งและตื้นตันจนน้ำตาไหลเป็นทางตามร่องแก้ม คุณกิมง้อทำตามผู้เป็นสามี ทว่ามิได้ร้องไห้!….

 
มีต่อ........๒๖
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #28 เมื่อ: เมษายน 19, 2007, 07:57:56 AM »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00026
๒๖...

         ท่านพระครูออกจากวัดป่ามะม่วงตั้งแต่ตีสี่ เพื่อไปเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีมงคลสมรสลูกสาวของลูกศิษย์ ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จากนั้นจึงจะเดินทางไปจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อให้ทันฉันเพลที่วัดบ้านแหลม ในโอกาสที่เจ้าอาวาสวัดนั้นอายุครบหกรอบ และได้นิมนต์ท่านไว้

         รถวิ่งจากวัดไปออกถนนสายเอเชีย เลี้ยวขวาตรงไปเข้าอยุธยาประมาณหนึ่งชั่วโมงก็เขาเขตอำเภอเมือง ซึ่งมีบ้านเรือนปลูกเรียงรายอยู่ตามริมถนนทั้งสองฟากข้าง เมื่อรถวิ่งผ่านบ้านหลังหนึ่ง ท่านก็บอกกับคนขับว่า

         “สมชายจอดก่อน เสียงบ้านนั้นเขาทำอะไรกันแต่เช้ามืด หรือว่าลุกขึ้นมาสวดมนต์ ช่วยจอดประเดี๋ยว ฉันจะได้ฟังให้ถนัดว่า เขาสวดบทไหน จะเป็นคาถาชินบัญชรหรือว่ายอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก”

            เมื่อนายสมชายหยุดรถ ท่านจึงไขกระจกลง แล้วก็ได้ยินเสียงชัดเจน นายสมชายก็ได้ยินเต็มสองหู

         “...อีสัตว์...” เป็นเสียงผู้ชาย แล้วต่อด้วยคำพูดที่ระคายหูคนฟังอีกว่า “มึงมันเลวเสียยิ่งกว่าผู้หญิงหากิน คนอย่างมึงน่ะหาความดีไม่ได้เลย พวกผู้หญิงหากินเขายังดีกว่ามึง” เสียงผู้หญิงย้อนเอาว่า

         “อ้อ! อย่างนี้นี่เอง แกถึงชอบไปนอนกะโสเภณี จนเอาโรคมาติดข้า เมียเก่าแกก็เป็นโสเภณีไม่ใช่หรือ”

         ท่านพระครูทนฟังต่อไปไม่ไหว จึงบอกให้นายสมชายออกรถ ความจริงท่านจะฟังคนเดียวด้วยการกำหนด “เห็นหนอ” โดยไม่ต้องหยุดรถก็ได้ แต่ท่านต้องการจะสอนนายสมชาย จึงสั่งให้เขาหยุดรถฟัง

         “ไม่ไหว ลุกขึ้นมาด่ากันแต่มืด แต่ดึกอย่างนี้ไม่ไหว เห็นจะต้องกลับไปล้างหูสักหน่อย ฤกษ์ไม่ดีเลยที่มาได้ยินเขาด่ากัน” ท่านพูดเป็นเชิงบ่น เห็นคนฟังไม่ว่ากระไรจึงพูดต่อ “แล้วจะไปหาความเจริญได้ยังไง ทะเลาะเบาะแว้งกันแบบนี้ เทวดาหนีหมด ต่อไปถ้าเธอมีลูกมีเมีย อย่าได้เอาไปเป็นเยี่ยงอย่างเชียวนะ” ท่านถือโอกาสสอนคนเป็นลูกศิษย์

         “รับรองได้เลยครับหลวงพ่อ ตัวอย่างเลว ๆ แบบนั้น ผมไม่นำไปประพฤติปฏิบัติอย่างแน่นอน ผู้ชายอะไรช่างไม่ให้เกียรติผู้หญิงเสียบ้างเลย ถ้าผมเป็นเมีย ผมไม่อยู่ด้วยแล้ว ไม่รู้ผู้หญิงคนนั้นเขาทนได้ยังไง” นายสมชายวิจารณ์

         “เขาเห็นแก่ลูกนั่นแหละ พูดให้ถูกกว่านั้นก็คือ เขาทำกรรมไม่ดีมาก็เลยมาเจอคนไม่ดี”

         “ผู้ชายที่ด่าเก่งนี่ ผมว่าคงไม่มีใครดีนะครับหลวงพ่อ เพราะถ้าดีก็คงไม่ด่า”

         “ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงหรอก ลงได้ด่าเก่ง ก็ยากที่จะเป็นคนดี อย่างที่เขาว่าคนบางคนว่า ปากร้ายใจดีน่ะ จริง ๆ แล้วมันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะถ้าเขาใจดีจริง ปากจะต้องไม่ร้าย พระพุทธองค์ท่านถึงเน้นมโนกรรมมาก เพราะเป็นต้นเหตุของวจีกรรม และกายกรรม คือคนที่พูดชั่ว ทำชั่ว เพราะใจคิดชั่ว มีพุทธพจน์ตรัสสอนไว้นะสมชาย ฉันจำได้แม่นเชียวละ ที่จำแม่นเพราะ ฉันพยายามสอนตัวเองเสมอ ๆ ฉันจะยกมากล่าวให้เธอฟัง รู้สึกจะเข้ากับเรื่องของผู้ชายปากจัดคนนั้นพอดี”

         นายสมชายลดความเร็วของรถลงเพื่อจะได้ฟังให้ถนัด ท่านพระครูซึ่งนั่งอยู่ตอนหน้าคู่กับคนขับหันมาพูดกับเขาว่า “พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า...ผรุสวาทเพียงดังจอบ ซึ่งเป็นเครื่องขุดโค่น ตัดทอนตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว ย่อมเกิดขึ้นที่ปากของบุคคลผู้เป็นบุรุษพาล ผู้ใดสรรเสริญผู้ที่ควรติเตียน หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นชื่อว่าสะสมโทษด้วยปาก ย่อมไม่ประสบสุขเพราะโทษนั้น”

         “การที่ผู้ชายคนนั้นไปยกย่องโสเภณีว่าดีกว่าภรรยาตัวเอง เป็นการสรรเสริญคนที่ควรติเตียนใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว”

         “ผมว่าแกคงหลงรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสของผู้หญิงโสเภณีจนโงหัวไม่ขึ้น ขนาดเอามาเป็นข้อบริภาษเมียตัวเอง แล้วเมียเก่าแกเป็นโสเภณีจริงหรือเปล่าครับ” เด็กหนุ่มถาม เขารู้ว่าท่านสามารถให้คำตอบได้ เพียงแต่ท่านหลับตา ท่านก็จะรู้ทุกเรื่องที่อยากรู้

         “จริงหรือไม่จริง มันก็เรื่องของเขา เราหยุดพูดเรื่องนี้กันได้แล้ว ฉันเพียงแต่จะยกตัวอย่างให้เธอเห็นเท่านั้น ในวันข้างหน้าเมื่อเธอไปเป็นพ่อบ้านพ่อเรือน จะได้วางตัวได้สมฐานะ ให้แม่บ้านขานับถือและเกรงใจ อย่าให้เขาดูถูกดูแคลนเอาได้ ฉันต้องการเพียงเท่านี้ ไม่ได้ต้องการให้เธอมาวิเคราะห์วิจัยเรื่องเมียเก่าเขา เข้าใจหรือยัง”

         “เข้าใจครับ” คนขับรถตอบเสียงอ่อย เมื่อท่านไม่อนุญาตให้สืบสาวราวเรื่อง เขาจึงจำต้องปิดปากเงียบและตั้งหน้าตั้งตาขับรถเพื่อที่จะไปให้ถึงบ้านงานได้ทันเวลา

         ก่อนออกจากจังหวัดสุพรรณบุรีไปจังหวัดสมุทรสงคราม ท่านพระครูให้นายสมชายแวะที่ร้านขายดอกไม้ในเมือง เพื่อซื้อกระเช้าดอกไม้ไปแสดงมุทิตาจิตต่อเจ้าของวันเกิด เป็นความเคยชินของท่านที่จะต้องมีของติดไม้ติดมือไปฝากเจ้าภาพเสมอ ทั้งยังเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ศิษยานุศิษย์ว่า “หลวงพ่อเจริญ” เป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นธรรมะหรือวัตถุสิ่งของ หากมีผู้ขอ ท่านก็จะให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

         บ่อยครั้งที่พวกชาวบ้านผู้ยากไร้ พากันมาขอข้าวสารจากวัดป่ามะม่วงไปหุงกินประทังชีวิต บางคนก็ขอพริก หอม กระเทียม เป็นของแถมอีกด้วย แต่สิ่งที่ท่านแถมให้ทุกครั้งโดยที่พวกเขาไม่ต้องเอ่ยปากขอก็คือ “ธรรมะ”

         ไม่แต่พวกชาวบ้านเท่านั้นที่มาขอ แม้แต่พระสงฆ์วัดข้างเคียงก็เคยส่งพระมาขอปันของฉันของใช้ เนื่องจากไม่มีคนไปถวาย ซึ่งท่านก็แบ่งสันปันส่วนให้โดยไม่รังเกียจรังงอนแต่ประการใด

         บางครั้งท่านได้รับการทัดทานจากพวกทายกว่า ไม่ควรให้เพราะเกรงว่าจะทำให้วัดตัวเองต้องขาดแคลน ท่านกลับสอนพวกเขาให้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คำพูดที่ติดปากท่านคือ “ไม่หวงไม่อด หมดก็มา” กับ “ยิ่งให้ก็ยิ่งงอก”

         และดูเหมือนจะเป็นดังที่ท่านพูด เพราะมีหลายครั้งที่ข้าวของทำท่าว่าจะหมด แต่แล้วก็มีญาติโยมนำมาถวายใหม่อีก วัดป่ามะม่วงจึงยังไม่เคยเผชิญกับภาวะอดอยากยากแค้นจริง ๆ เลยสักครั้ง เพราะมีผู้ใจบุญนำข้าวสาร กะปิ น้ำปลา ตลอดจน พริก หอม กระเทียม มาบริจาคอยู่เนือง ๆ

         คำพูดของท่านที่ว่า “ยิ่งให้ยิ่งงอก” จึงกลายเป็นคำขวัญประจำวัดป่ามะม่วงโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ท่านพระครูมักจะเน้นให้ญาติโยมได้สำเหนียกอยู่เสมอว่า การให้ที่ได้บุญกุศลมากที่สุดนั้นคือ การให้ธรรม ดังมีพุทธวจนะรับรองไว้ว่า “สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ – การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทังปวง”

         ที่วัดบ้านแหลม ขณะที่ภิกษุรูปอื่น ๆ กำลังฉันเพลกันอยู่นั้น ท่านพระครูมิได้ฉัน ท่านเพียงแต่พิจารณาอาหารแต่ละอย่าง แล้วตั้งจิตแผ่เมตตาให้ผู้นำมาถวาย เพื่อที่เขาจะได้รับส่วนบุญกุศล ญาติโยมที่ไม่เข้าใจ คิดว่าท่านฉันอาหารด้วยตา คือคิดเอาเองว่า ท่านเพียงแต่มองอาหารก็ทำให้ท้องอิ่มได้

         โยมผู้ชายคนหนึ่งคลานเข้ามาหาท่าน ประนมมือพูดว่า “นิมนต์หลวงพ่อฉันเถิดครับ สงสัยอาหารจะไม่ถูกปาก หลวงพ่อถึงไม่ยอมฉัน”

         ท่านไม่อยากให้เขาเสียน้ำใจ จึงใช้ส้อมจิ้มทองหยอดลูกหนึ่งมาใส่ปาก แล้วก็ทำแบบนั้นอีกสองครั้ง จึงยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม เห็นท่านฉันพอเป็นพิธีแล้ว โยมผู้ชายคนนั้นจึงคลานออกไป

         ระหว่างรอให้รูปอื่น ๆ ฉันเสร็จ ท่านก็มองออกไปข้างหน้า ห่างออกไปประมาณร้อยเมตรเป็นโรงเรียนการช่างสตรี อาจารย์สาวอายุประมาณไม่เกินสามสิบ กำลังยืนสอนนักเรียนอยู่หน้าชั้น ท่านอยากจะรู้ว่าอาจารย์เขาถ่ายทอดวิชาอะไรให้ลูกศิษย์ จึงกำหนด “เห็นหนอ” ไปฟังดัวย

         “นี่แน่ะนักเรียน วันนี้ครูจะสอน เรื่องเคล็ดลับในการดำเนินชีวิต” อาจารย์ผู้นั้นพูดกับลูกศิษย์สาวอายุประมาณสิบเจ็ดสิบแปด

         “พวกเธอก็เป็นสาวเป็นนางกันแล้ว ครูจะบอกเคล็ดลับให้ว่า จงอย่าไปมีสามี โบราณเขาว่า มีลูกกวนตัว มีผัวกวนใจ ถ้าอยู่เป็นสาวหน้าขาวเป็นยองใย ฉะนั้นพวกเธออย่าได้คิดแต่งงานเป็นอันขาด”

         “แหม ดีจัง อาจารย์คนนี้สอนดี สงสัยจะชักชวนลูกศิษย์ไปบวชชีเสียละมัง” ท่านพระครูคิด แล้วก็ตั้งใจฟังต่อไป

         “พวกเธอดูครูเป็นตัวอย่าง ครูนี่ใช้ชีวิตอย่างอิสระ มีบ้านหลังงาม มีรถยนต์ขับโดยไม่ต้องมีสามี ก็เราหาของเราเองได้ จริงไหม พวกเธออยากรู้วิธีรวยทางลัดไหมล่ะ” หล่อนถามลูกศิษย์

         “อยากค่ะ” เสียงนักเรียนหญิงตอบพร้อมกันทั้งห้อง

         “เอาละ ครูจะบอกให้ รับรองว่า ถ้าพวกเธอทำอย่างที่ครูทำอยู่ละก็ พวกเธอจะสบาย เป็นอิสระ แล้วก็มีเงินใช้ วิธีง่าย ๆ ก็คือ อยากจะนอนกับใครก็ไปนอน แต่ให้เลือกคนที่กระเป๋าหนัก ๆ พวกถังแตกอย่าได้ไปคบเด็ดขาด เปลืองเนื้อเปลืองตัวเปล่า ๆ เป็นไงดีไหม ชีวิตแบบนี้ดีไหม ได้เงินทีละมาก ๆ แล้วก็ไม่ต้องเหนื่อยด้วย”

         “ดีค่ะ” มีคนตอบเพียงสองสามคน แสดงว่านักเรียนในชั้นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับความคิดพิลึกพิลั่นของผู้เป็นอาจารย์

         “แล้วถ้าเกิดผู้ชายเขามีเมียแล้ว เราไม่บาปหรือคะที่ไปแย่งเขา” หนึ่งในจำนวนที่ไม่เห็นด้วยถามขึ้น

         “เมียเขาก็อยู่ส่วนเมียเขาซี แล้วเราก็ไม่ได้แย่งเขา แค่ขอยืมมาใช้ชั่วครู่ชั่วยาม เราไม่ได้คิดที่จะเอามาเป็นสามีเราเมื่อไหร่” อาจารย์สาวตอบคำถามลูกศิษย์

         “แบบนี้มันก็โสเภณีชัด ๆ แหละค่ะอาจารย์” นักเรียนผู้หนึ่งพูดขึ้นอย่างอดรนทนไม่ได้

         “นี่พูดให้ดี ๆ นะ สุจิตรา ระวังจะโดนหักคะแนน” อาจารย์ขู่

         “แต่หนูว่า สุจิตราเขาพูดถูกนะคะอาจารย์” นักเรียนที่นั่งติดกับคนแรกพูดขึ้น

         “อะไร เธอก็เป็นไปอีกคนหนึ่งแล้วหรือจิราภรณ์ แหม ครูไม่นึกเลยว่าจะมีลูกศิษย์โง่ ๆ แบบเธอสองคน” คำพูดของอาจารย์สาวทำให้นักเรียนที่ไม่เห็นด้วยคนอื่น ๆ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เมื่อไม่มีผู้ใดโต้แย้ง อาจารย์สาวจึงพูดต่อไปอีกว่า

         “เพื่อน ๆ ครูไม่มีใครแต่งงานสักคน เขาก็ทำแบบที่ครูทำอยู่ ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน มัวรอกินแต่เงินเดือนมีหวังไส้แห้งตาย ชาตินี้ทั้งชาติก็ไม่มีรถขับ เงินเดือนครูน่ะมันซักกี่ตังค์เชียว” หล่อนดูแคลนอาชีพสุจริต ท่านพระครูอยากตบอกผาง ๆ คิดไม่ทันคาดไม่ถึงว่าจะมาเห็นมาได้ยิน หรือว่าเดี๋ยวนี้ครูบาอาจารย์เขาเปลี่ยนแนวการสอนกันแล้ว ช่างน่าสลดใจเสียเหลือเกิน อยากรู้นักว่า ถ้ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมาได้ยินเข้า ท่านจะทำประการใด การที่อาจารย์ผู้นั้นอ้างว่า เพื่อน ๆ ของหล่อนก็ปฏิบัติอย่างเดียวกัน ย่อมแสดงว่าไม่ได้มีหล่อนเพียงคนเดียวที่สอนผิด ๆ แบบนี้ น่าสงสารพวกลูกศิษย์ผู้เป็นอนาคตของชาติ ที่มีครูบาอาจารย์เป็นมิจฉาทิฐิสุดโต่งถึงปานนั้น

         ท่านพระครูเล่าเรื่องอาจารย์สาวให้นายสมชายฟังขณะเดินทางกลับวัดป่ามะม่วง

         “จริงหรือครับหลวงพ่อ ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้”

         “อ้อ นี่เธอว่าฉันพูดเท็จงั้นสิ” ท่านย้อนเสียงเรียบ

         “เปล่าครับ เปล่า ผมน่ะเชื่อหลวงพ่อ แต่ไม่อยากเชื่อว่าอาจารย์คนนั้นแกจะเพี้ยนถึงปานนั้น น่าเป็นห่วงประเทศชาตินะครับ คนสมัยนี้จิตใจต่ำลงไปทุกวัน เห็นแก่ความสุขสบายทางกาย จนลืมนึกถึงความถูกต้องดีงาม วันนี้ไม่รู้เป็นวันอะไรครับหลวงพ่อ เราถึงได้เจอแต่เรื่องไม่ดีไม่งามมาสองเรื่องแล้ว”

            “วันนี้เป็นวันพฤหัสบดี” ท่านพระครูตอบหน้าตาเฉย เห็นอีกฝ่ายหนึ่งไม่ต่อกลอน จึงพูดต่อไปว่า

         “ประเดี๋ยวเธอแวะอ่างทองด้วย ฉันจะไปเยี่ยมโยมปั่นเขาหน่อย จำทางไปบ้านโยมปั่นได้รึเปล่า”

         “จำได้ครับ นิมนต์หลวงพ่อพักผ่อนเถิดครับ ถึงแล้วผมจะเรียนให้ทราบ” เมื่อนายสมชายพูดเช่นนั้น ท่านพระครูจึงนั่งหลับตา ซึ่งนายสมชายคิดว่าท่านคงหลับ หากความจริงแล้วท่านไม่ได้หลับ ท่านกำหนดจิตแผ่เมตตาให้กับบรรดาสัมภเวสีไปตลอดทาง

         ผู้ที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุรถชนกัน มักจะไปเกิดเป็นพวกสัมภเวสี ซึ่งแปลว่าพวกแสวงหาภพ คือยังไม่เกิดเป็นที่ตามกรรมที่ตนกระทำไว้ เพราะขณะที่ตายนั้น จิตเป็นกลาง ๆ ไม่เป็นกุศลและไม่เป็นอกุศล หากตายขณะที่จิตเป็นกุศล ก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ แต่ถ้าจิตเป็นอกุศล ก็จะไปเกิดในทุคติภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน เป็นต้น ส่วนพวกที่ตายในขณะจิตเป็นกลาง ๆ จะไปเกิดเป็นสัมภเวสี เมื่อใดที่สัมภเวสีเหล่านี้ระลึกถึงกรรมที่ตนกระทำไว้ ก็จะไปเกิดในภพภูมิที่เหมาะสมกับกรรมนั้น

         ท่านพระครูนั่งแผ่เมตตาให้พวกสัมภเวสีมาตลอดทาง กระทั่งถึงทางแยกเข้าสู่จังหวัดอ่างทอง มีอุบัติเหตุรถชนกันข้างหน้า ทำให้รถติดยาวเป็นพรืด นายสมชายหันมามองท่านพระครู เหมือนจะปรารภว่าได้เกิดอะไรขึ้น เห็นท่านนั่งหลับจึงไม่กล้าถาม แต่ท่านก็พูดขึ้นเหมือนรู้ใจเขาว่า

         “รถชนกันข้างหน้า มีตายสามศพ ถ้าเธอไม่เชื่อจะลองเดินไปดูก็ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังพลิกศพ”

         “แถวนี้คนตายบ่อยนะครับ เห็นเขาว่ามีผีตายโหงสิงอยู่” นายสมชายพูดพลางหยุดรถตามคันหน้า เขาไม่จำเป็นต้องลงไปดู เพราะรู้ว่าสิ่งที่ท่านพระครูพูดนั้นจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์

         “ไม่ใช่ผีตายโหงหรอกสมชาย ผีตายทั้งกลมน่ะ” ท่านพระครูบอกหลังจากใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบแล้ว

         “ทำไมเขามาอาละวาดแถวนี้ล่ะครับหลวงพ่อ”

         “เพราะแรงอาฆาตนั้นแหละ คือ ผู้หญิงคนนี้เขาปวดท้องจะออกลูก หมอตำแยเขาทำคลอด เด็กก็ไม่ยอมออกสักทีจนเขาหมดปัญญา ก็เลยพากันหามมาจากหมู่บ้านจะพาไปส่งโรงพยาบาลในเมือง พอถึงปากทางโบกรถคันไหน ๆ ก็ไม่มีใครหยุดรับ รถประจำทางก็ไม่มีเพราะมืดแล้ว เขาก็ทุกข์ทรมานจนกระทั่งขาดใจตาย เลยอาฆาตแค้นคนที่ขับรถผ่านไปมา จึงแกล้งให้เกิดอุบัติเหตุ นี่ก็ร่วมร้อยศพแล้วมั้ง” ท่านเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหกเดือนมาแล้ว

         “แล้วบาปไหมครับหลวงพ่อ เขาทำอย่างนั้นบาปไหม” นายสมชายถามอย่างอยากรู้

            “บาปซิ ทำไม่จะไม่บาปเล่า”

         “ผีก็ทำบาปได้ใช่ไหมครับหลวงพ่อ”

         “ทำได้ ไม่ว่าผีว่าคน หรือแม้กระทั่งเทวดา ถ้าทำบาปก็ได้บาป อย่างวิญญาณผู้หญิงคนนี้เที่ยวก่อกรรมทำเข็ญกับคนใช้รถใช้ถนน เท่ากับเป็นการสะสมบาปไว้”

         “แล้วทำไมไม่ตกนรกเล่าครับหลวงพ่อ ทำไมยมบาลไม่มาเอาตัวไปลงโทษ ปล่อยให้รังควานคนอื่นเขาอยู่ได้”

            “มันก็พูดยากนะสมชาย ความอาฆาตพยาบาทนั้นหากมีพลังมาก มันก็สามารถฝืนแรงกรรมได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะฝืนได้ตลอดไป เพราะในที่สุดก็ต้องชดใช้กรรมที่ตัวเองทำเอาไว้”

         “หมายความว่า ในที่สุดวิญญาณของผีตายทั้งกลมนี้ก็ต้องไปรับโทษทัณฑ์ในเมืองนรกใช่ไหมครับ”

         “ต้องเป็นอย่างนั้น”

         “แล้วอีกนานไหมครับ กว่าเขาจะได้รับโทษ”

         “มันก็ขึ้นอยู่กับแรงบุญแรงบาปที่เขาทำมา ถ้าแรงบุญมีมาก อีกไม่นานเขาก็จะสำนึกได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นมันเป็นบาป ก็จะเลิกเสีย แต่ถ้าแรงบาปมีมาก เขาก็จะสะสมบาปต่อไปจนกระทั่งกฎแห่งกรรมมันทำหน้าที่ของมัน”

         “แล้วหลวงพ่อจะช่วยเขาได้บ้างไหมครับ ผมหมายถึงหลวงพ่อน่าจะให้เขารู้บาปบุญคุณโทษโดยเร็ว จะได้เลิกก่อกรรมทำเข็ญ” คนพูดพูดจากจิตใจที่เปี่ยมด้วยเมตตา

         ฉันก็ว่าจะลองดูเหมือนกัน แต่ก็ไม่หวังว่าเขาจะเชื่อฟังที่ฉันพูดหรอกนะ ถ้าตอนมีชีวิตอยู่ เขาเป็นมิจฉาทิฐิ ตายแล้วก็ยังคงเป็นมิจฉาทิฐิอยู่อย่างนั้น ถ้าเปลี่ยนได้ คนที่มาเกิดก็คงเป็นคนดีกันหมดแล้ว จริงไหม เพราะคน ๆ หนึ่งต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง”

            “ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อลองพูดกับเขาซีครับ เผื่อเขาจะเชื่อฟังหลวงพ่อ คนที่ใช้เส้นทางนี้จะได้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ” นายสมชายแนะนำนึกสงสารทั้งคนตายและคนเป็น

         “ก็ได้ ฉันจะลองดู” แล้วท่านจึงนั่งตัวตรง หลับตา สำรวมจิตเพื่อเจรจากับวิญญาณอาฆาตของหญิงนั้น

            “โยม อาตมาขอคุยด้วยสักหน่อยเป็นไร” ท่านพูดกับหญิงตายทั้งกลมซึ่งมาปรากฏในนิมิต วิญญาณนั้นลอยมาหยุดเบื้องหน้าท่าน ยกมือขึ้นประนมแล้วทักว่า

         “ท่านพระครูเจริญใช่ไหมจ้ะ หลวงพ่ออยู่วัดป่ามะม่วงใช่ไหม”

         “โยมรู้จักอาตมาด้วยหรือ” ถามอย่างแปลกใจ

         “รู้ซีจ๊ะ ฉันเคยไปทำบุญที่วัดป่ามะม่วงสามสี่ครั้ง หลวงพ่อยังชวนฉันมาเข้ากรรมฐาน พอดีฉันตั้งท้องลูกคนแรกเสียก่อน เลยไม่ได้ไป คิดว่าคลอดลูกแล้วพอลูกโตก็จะหาโอกาสไปให้ได้ ก็พอดีมาตายเสียก่อน ตายทั้งกลมเสียด้วย” หล่อนร้องไห้กระซิก ๆ แล้วจึงพูดต่ออีกว่า “คนมันใจร้าย มันไม่ยอมหยุดรถรับฉันไปโรงพยาบาล ฉันต้องนอนเจ็บปวดกระทั่งขาดใจตายด้วยความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส”

         “โยมก็เลยทำการแก้แค้นใช่ไหม สามศพข้างหน้านั่นก็ฝีมือโยมใช่ไหม” ท่านพระครูพูดด้วยเสียงตำหนิ

         “ก็ฉันแค้น” หล่อนพูดเสียงอ่อย

         “แล้วทำอย่างนั้นมันหายแค้นหรือเปล่า คนที่โยมทำเขาตายนั่น เขาไปสร้างความแค้นให้โยมหรือเปล่า มันคนละคนกันใช่ไหม หรือว่า โยมจำได้ว่าคนที่ไม่ให้โยมขึ้นรถน่ะเป็นใคร”

         “จำไม่ได้จ้ะ”

         “ก็ในเมื่อจำไม่ได้ แล้วโยมเที่ยวไปทำร้ายเขาอย่างนั้นมันก็ไม่ถูกต้อง รู้ไหมว่าโยมกำลังสร้างเวรสร้างกรรม แล้วตัวโยมเองนั่นแหละจะต้องมารับเวรรับกรรมในภายหลัง หยุดเสียเถิด อาตมาขอบิณฑบาต นะโยมนะ” ท่านขอร้องขณะเดียวกันก็แผ่เมตตาให้หล่อนด้วย

         เมื่อได้รับกระแสเมตตาที่ท่านแผ่มาให้ วิญญาณอาฆาตดวงนั้นก็นำนึกในบาปบุญคุณโทษ หล่อนกราบท่านพระครูแล้วพูดว่า

         “ฉันหยุดแล้วจ้ะหลวงพ่อ หยุดแล้ว นับแต่วันนี้ต่อไป ฉันจะเลิกก่อกรรมทำเข็ญ แต่คนอื่น ๆ เขาจะคิดยังไงฉันไม่รู้นะจ๊ะ เพราะบางคนเขาก็เชื่อฟังฉัน แต่บางคนก็ดื้อรั้น” หล่อนหมายถึงดวงวิญญาณอื่น ๆ ที่ตายเพราะอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากความอาฆาตของหล่อน

         “เดี๋ยวอาตมาจะแผ่เมตตาไปให้พวกเขา แล้วโยมค่อยไปบอกก็แล้วกัน จากนั้นก็ให้โยมไปเข้าฝันพวกชาวบ้านให้จัดการทำบุญปัดรังควาญกันที่ถนนนี่แหละ ชวนพรรคพวกไปด้วยนะ บอกหลาย ๆ เสียงเขาจะได้เชื่อ” ท่านแนะนำ

         “หลวงพ่อ แล้วฉันจะตกนรกไหมจ๊ะ ฉันรู้ว่าฉันจะต้องตกนรกอย่างแน่นอน หลวงพ่อช่วยฉันด้วย” หล่อนอ้อนวอน รู้สึกกลัวภัยอันเกิดจากบาปกรรมที่ต้นสร้างด้วยแรงโทสะ

         “อาตมาคงช่วยได้ไม่มากนักหรอก โยมจะต้องก้มหน้ารับกรรมที่โยมก่อ ที่โยมกลับใจได้นี่ก็เป็นผลดีกับตัวโยมมากแล้ว เพราะจะได้ไม่ต้องไปตกนรกนาน อาตมาเห็นจะต้องลาละ” ท่านกำหนดลืมตา

         เป็นเวลาเดียวกับที่ตำรวจทางหลวงจัดการนำศพและซากรถที่ขวางทางอยู่ออกได้ รถจึงวิ่งได้ตามปกติ

         “สำเร็จไหมครับหลวงพ่อ” นายสมชายถามขณะเคลื่อนรถตามคันหน้าไปอย่างช้า ๆ

         “โชคดีที่เขารู้จักฉัน เลยพูดกันง่ายหน่อย ก็ต้องนับว่าเป็นบุญของเขา ขืนดื้อดึงก็ต้องก่อกรรมทำเข็ญไปอีกนาน”

         “แล้วหลวงพ่อรู้จักเขาไหมครับ”

         “ไม่รู้จัก เขาบอกเขาเคยไปทำบุญที่วัดป่ามะม่วง ก็คนไปทำบุญมีเป็นร้อยเป็นพัน ฉันจะจำยังไงไหว ขืนจำได้หมดก็เป็นผู้วิเศษเท่านั้น”

         “แต่ใคร ๆ เขาก็คิดกันทั้งนั้นว่า หลวงพ่อเป็นผู้วิเศษ ไม่งั้นจะพูดกับผีได้หรือ” นายสมชายไม่ยอมแพ้

         “รีบ ๆ ไปเถอะไป๊ จะได้ถึงบ้านโยมปั่นเร็ว ๆ” ท่านพูดตัดบท คร้านที่จะอธิบายให้นายสมชายหรือใครต่อใครฟังว่า ท่านมิใช่ผู้วิเศษ ท่านเป็นเพียงผู้ต้องการละกิเลส แล้วก็ละได้เกือบจะหมดสิ้นแล้ว....

 
มีต่อ........๒๗
 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: