ธนินทร์-เจริญ "2 เจ้าสัว"ปฏิวัติเกษตรไทย!
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
เมษายน 28, 2024, 03:06:21 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ธนินทร์-เจริญ "2 เจ้าสัว"ปฏิวัติเกษตรไทย!  (อ่าน 3824 ครั้ง)
P-LSV team
Senior Member
member
*

คะแนน104
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 36


« เมื่อ: พฤษภาคม 08, 2008, 03:04:29 PM »

โดย บิสิเนสไทย [30-4-2008]http://www.businessthai.co.th
"อวิน ทอฟเลอร์"นักคิด นักเขียนชื่อก้องโลกเคยแบ่งคลื่นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็น 3 ยุค  เริ่มจากยุคเกษตร มาสู่ยุคอุตสาหกรรม และยุคเทคโนโลยีตามลำดับ   แต่เมื่อเข้าสู่ยุคที่ 4  โลก กำลังจะหมุนไปที่ภาคเกษตรอีกครั้งหรือไม่ ทว่าเป็นเกษตรไฮเทค   เมื่อวันนี้"โลกกำลังขาดแคลนอาหารบริโภค"อย่างหนัก
 

กระแสตื่นตัวต่อราคาพืชเกษตรที่กำลังจะกลายเป็น "น้ำมันบนดิน"เพราะมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพาราง ปาล์ม อ้อย มันสัมปะหลัง และข้าวโพด   ทำให้เกษตรกรไม่เพียงแต่ประเทศไทย  หากแต่ในหลายประเทศต่างมุ่งหน้ามาในทิศทางเดียวกัน  เพื่อหวังตักตวง"น้ำมันบนดิน"ที่ไม่เพียงใช้บริโภคอย่างเดียว หากแต่กำลังเป็นพลังงานทดแทนสำคัญ ในภาวะค่าพลังงานหลักพุ่งสูงขึ้น!
 
"2เจ้าสัวไทย" ซึ่งติดอันดับมหาเศรษฐีเมืองไทยติดต่อกันมาหลายปีจากการจัดของนิตยสารฟอร์บ  ก็ติดในขบวนนี้ด้วย  แต่วิธีการนั้นแตกต่างราวฟ้ากับดิน "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี"ก๊วนซื้อที่ดินกว่า 2 แสนไร่ทั่วประเทศ  กลายเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ที่สุด ส่วน"เจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์"จับมือเกษตรกรทั้งไทยและต่างประเทศทำ Contrack Farmingคู่ขนานการขายเมล็ดพันธุ์  โดยอิงทฤษฎี"อเมริกันตื่นทอง"ที่คนขายจอบ และเสียมเพื่อใช้ขุดทอง ร่ำรวยกว่าคนขุดทองเสียอีก!!!
 
วันนี้  "2 เจ้าสัว"กำลังปฏิวัติเกษตรไทยแบบไฮเทคหรือไม่??? 
     
วลีบิดาการเกษตร"เงินทองคือมายา แต่ข้าวปลาคือของจริง"

ม.จ.สิทธิพร กฤษดากร นักคิดนักปฏิบัติคนหนึ่งของไทย ที่ได้บุกเบิกพัฒนางานด้านเกษตรกรรมจนได้ชื่อว่าเป็น "บิดาของเกษตรแผนใหม่" เคยกล่าวไว้ว่า "ทรัพย์สินเงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง"
         
ดูเหมือนกำลังเข้ากันดีกับ สถานการณ์ข้าวยากหมากแพงที่กำลังกลายเป็นวิกฤตของทั้งโลกอยู่ขณะนี้  ปัญหา "วิกฤตอาหาร" ที่กำลังคุกคามทั้งโลก ทำให้วลีที่ว่า "ข้าวปลาเป็นของจริง" ได้รับการตอกย้ำมากขึ้นเรื่อยๆ
         
อาการวิตกจริตว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคขาดแคลนอาหารลามไปชั่วข้ามคืน หลังจากเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน ออกมาเปิดประเด็นว่าพื้นที่ปลูกพืชอาหารของโลกกำลัง ถูกเฉือนไปปลูกพืชพลังงานมาทดแทนน้ำมัน ทำให้หลายประเทศเริ่ม"กักตุน"อาหารเพื่อ "ความมั่นคง" จนราคาเพิ่งสูงอย่างรวดเร็ว
           
ราคาข้าวในประเทศไทย จากเดิมที่ขยับเพิ่มตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย เพราะผู้ผลิตหลายรายเจอภัยพิบัติทางธรรมชาติกันถ้วนหน้า พอมาเจอสัญญาณจากทั้งธนาคารโลกและสหประชาชาติ ราคาก็เลยยิ่งพุ่งทะยาน
 
แม้ช่วงแรกถือเป็นข่าวดีของชาวนาไทยที่จะได้ลืมตาอ้าปาก แต่มาถึงวันนี้"ความผิดปกติ"ของราคาทำให้ตลาดปั่นป่วน จนประเทศผู้ซื้อหลายรายต้องถอยไปตั้งหลักดูเชิง
         
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่จะพลิกวิกฤติบทบาทเป็น"ครัวของโลก" จนในที่สุดเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ครม.ก็ได้อนุมัติยุทธศาสตร์รองรับวิกฤตอาหารและพลังงานในกรอบเวลา 12 ปี ตามที่สภาพัฒน์เสนอ พร้อมทั้งให้ถือเป็นวาระแห่งชาติ
           
นับเป็นจุดเริ่มต้นในการหวนคืนสู่วิถีเกษตร ซึ่งถูกละเลย ปล่อยตามบุญตามกรรมมานาน ตั้งแต่ประเทศไทยตั้งเป้าจะเป็นเสือตัวที่ 5 ในเอเชีย

ปรากฏการณ์นี้เริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากคนงานก่อสร้างในเมืองกลับมาไม่ครบหลังสงกรานต์ เพราะฝันจะพลิกผืนนาเป็นทอง
           
กระนั้นก็ยังช้ากว่าภาคเอกชนรายใหญ่อย่าง เครือซีพี ของเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ และกลุ่มทีซีซีอุตสาหกรรมการเกษตร ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของเบียร์ช้าง

เกาะทฤษฎี"เจ้าสัวเจริญ" จากธุรกิจน้ำเมา-สู่ธุรกิจเกษตร
                 
เรื่องเจ้าสัวเจริญ  จากธุรกิจเหล้า – เบียร์ ก้าวเข้ามาเป็น กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในแวดวงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงแรม ไม่ใช่ข่าวใหม่หรือข่าวนอกเหนือความคาดหมาย
         
แต่ที่คาดกันไม่ถึงก็คือเรื่องที่เจ้าสัวเจริญกำลังรุกเข้าสู่ธุรกิจการเกษตร โดยชูธงความเป็นหนึ่งในสายพืชเศรษฐกิจ
           
เป้าหมายใหม่ของเจ้าของเบียร์ช้างนั้น  ไปถึงขั้นจะเป็นที่หนึ่งทั้งพืชอาหาร และพืชพลังงาน  และไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ต้องการขยายอาณาจักรไปถึงในต่างประเทศ รวมทั้งลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากพืชเศรษฐกิจด้วย
         
แต่มีข้อน่าสังเกตว่า เจ้าสัวเจริญไม่แตะธุรกิจการเกษตรในสายสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแดนหลักของเจ้าสัวซีพี !
           
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เจริญเริ่มมองถึงการขยายฐานให้มีมากกว่า ธุรกิจเหล้า – เบียร์  นอกเหนือจากเพื่อเตรียมการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แล้ว เจริญพบว่าเทรนด์ของธุรกิจน้ำเมาทั่วโลก เริ่มถดถอย
 
จนนำไปสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจภายในกลุ่มเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งใช้ชื่อว่า กลุ่มทีซีซี มีการจัดหมวดหมู่ธุรกิจประเภทเดียวกันให้มาอยู่ภายใต้

การจัดการที่มีความเชื่อมโยงกันทางยุทธศาสตร์
 
รวมทั้งวางโครงสร้างเพื่อรองรับวิสัยทัศน์ที่จะรุกสู่ธุรกิจในอนาคต โดยโครงสร้างหลักๆ ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจหลัก เช่น กลุ่มธุรกิจเหล้า – เบียร์, กลุ่มนอนแอลกอฮอล์, กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
 
แต่ที่เป็นประเด็นร้อนในเวลานี้ คือ กลุ่มที่ 5 ธุรกิจการเกษตร และบริษัททีซีซี อะโกร ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัท ที่ถือธงนำในกลุ่มธุรกิจนี้ โดยมอบหมายให้ลูกชายคนเล็กอย่าง "ปณต สิริวัฒภักดี"เข้ามาดูแล ที่สำคัญ เจริญได้ดึงมือดีมากรรมการผู้จัดการอีกด้วย
 
ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร – “อนันต์ ดาโลดม” ซึ่งหลังเกษียณหันเหสู่การเมืองระยะหนึ่ง เป็นส.ว.สุราษฎร์ธานี เมื่อพ้นจากส.ว. ก็มาอยู่กับเจ้าสัวเจริญเต็มตัว  จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว

"เกษตร"ธงใหม่ของเจริญ
           
การรุกเข้าสู่ธุรกิจการเกษตรของเจ้าสัวเจริญอย่างจริงจัง  น่าจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณปี 2547  ในปีเดียวกันนั้นเจ้าสัวเจริญได้ให้อนันต์สะสางฐานข้อมูลคลังที่ดินที่มีอยู่เกือบทุกจังหวัด  ไล่ใหม่หมดว่า  มีอยู่เท่าไหร่? อยู่ที่ไหน? สภาพเป็นอย่างไร? เหมาะจะทำอะไร? มีปัญหาเอกสารสิทธิ์หรือไม่?
         
“ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา  ท่านประธานได้ซื้อที่ดินไว้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนไร่ กระจายอยู่ 56 จังหวัด” ผู้บริหารทีซีซี อะโกรรายหนึ่งเล่า
           
จากนั้นเจริญ ก็ให้อนันต์ศึกษาว่า  ที่ดินที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่  จะนำมาพัฒนาเพื่อทำการเกษตร ควรจะเพาะปลูกพืชอะไร  ในที่สุดพืชเศรษฐกิจตัวแรกที่ลงทุนปลูกก็คือ ยางพารา ซึ่งกระจายปลูกหลายจังหวัด เช่น ระยอง,ปราจีน,หนองคาย,ฯลฯ
           
อนันต์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าสัวเจริญ เป็นคนชี้มาที่ยางพาราเอง  เพราะมองในประเด็นการตลาดว่า ยางพาราเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีอนาคต  ทั้งในส่วนของน้ำยางที่เป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมยาง และไม้ยาง ที่เป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
           
โดยปลูกไปแล้ว 20,000ไร่  เป้าหมายภายในปี 2553 จะปลูกอย่างน้อย 45,000 ไร่ จากตัวเลขที่ อนันต์ เปิดออกมา หมายความว่า เจริญ เป็นเจ้าของสวนยางพารารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไปแล้ว
           
ที่สำคัญ เป็นสวนยางพาราบนที่ดินของตัวเองด้วย !
           
ถัดจากนั้น จากภาวะราคาน้ำมันแพงและโลกเริ่มมองหาพลังงานทดแทนจากพืช ทำให้เจ้าสัวเจริญต้องหันมามองการลงทุนในไร่อ้อยและโรงงานเอทานอล ซึ่งเป็นส่วนผสมของแก๊สโซฮอล์
           
ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านั้น เจริญได้ไปเทกโอเวอร์มาโรงงานน้ำตาลมาถึง 4 โรง เฉพาะในส่วนของอ้อย ประธาน บมจ.ไทยเบฟเวอเรจฯได้เริ่มมา 1 ปีแล้ว โดยทำแปลงพันธุ์อ้อย 1 พันไร่ในอุตรดิตถ์  และยังวางแผนขยายแปลงพันธุ์อ้อยอีก 4 พันไร่รวมเป็น 5 พันไร่ ภายในปีนี้
 
"เป้าหมายของเจริญ จะเริ่มลงมือในปีหน้า ในพื้นที่กำแพงเพชร  7 พันไร่ และที่สุโขทัย 3 พันไร่ " อนันต์บอก
 
แน่นอน.... เจริญไม่เพียงแต่เป็นเจ้าของสวนยางที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย  แต่เขายังเป็นเจ้าของไร่อ้อยรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไปแล้ว
           
นอกจากอ้อยแล้ว  เจ้าสัวเจริญยังมองไปที่มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของโรงงานเอทานอลด้วย เพราะเป้าหมายของเจริญสำหรับยุทธศาสตร์อ้อยก็คือ การเป็นเบอร์หนึ่งของ  พลังงานทดแทนอีกหนึ่งธุรกิจ ดังนั้นนอกเหนือจากอ้อย เจริญยังรุกเข้าไปสู่พืชอย่างมันสำปะหลัง ซึ่งเขา

เตรียมการมาเกือบ 2 ปี
         
กรรมการผู้จัดการ ทีซีซี อะโกร ได้เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า  บริษัทฯจะใช้วิธีส่งเสริมให้เกษตรกรในโครงการ สปก. - สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทำการปลูกมันสำปะหลังก่อน และส่งเสริมในรูปแบบการทำ “คอนแทร็กต์ ฟาร์มมิ่ง”กับเกษตรกร ขณะนี้กำลังเจรจากับสปก. เข้าไปทำคอนแทร็กต์ ฟาร์มมิ่ง ส่งเสริมเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง บนที่ดินแสนไร่ที่คลองลาน กำแพงเพชร
           
ปาล์มน้ำมันก็เป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวที่เจริญให้ความสนใจ  เพราะเป็นทั้งพืชอาหารและพืชพลังงานเช่นเดียวกับอ้อยและมันสำปะหลัง ที่สำคัญมีไม่กี่คนที่รู้ว่า เจ้าสัวเจริญมีสวนปาล์มน้ำมัน 1 พันไร่ อยู่ที่ละแม จ. ชุมพร เก็บเกี่ยวได้มาหลายปีแล้ว โดยส่งผลผลิตเข้าโรงงานน้ำมันปาล์มของกลุ่มวิจิตรภัณฑ์
         
ทว่าการขยายพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันในประเทศไทยนั้นมีข้อจำกัดมาก เพราะพื้นที่ซึ่งเหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมันคือภาคใต้  และจากการที่ราคาปาล์มน้ำมันดีมากด้วย จึงยากที่จะมีใครยอมขายที่ดินสวนปาล์มน้ำมัน
           
ดังนั้นยุทธศาตร์ของเจริญจึงเบนเข็มออกไปปลูกปาล์มน้ำมันที่เขมร โดยจะปลูกในระดับเป็นหมื่นไร่ขึ้นไป
         
ชาวนาที่รวยที่สุดในโลก     
           
กล่าวสำหรับธุรกิจ"ข้าว" เจ้าพ่อน้ำเมา ได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า จะเป็นชาวนาเอง และจะปลูกข้าวเอง ด้วยการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นเจ้าของนาข้าวรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย
 
ประธานไทยเบฟเวอเรจฯ ได้เริ่มลงทุนปลูกข้าวตั้งแต่ปลายปี 2550 โดยนาข้าวที่เริ่มเมื่อปลายปีที่แล้วของเขา เริ่มต้นปลูกในระดับ 2 พันไร่ที่เซกา จ.หนองคาย ซึ่งเป็นการเข้าไปร่วมลงทุนกับ บริษัท ซันเทค ของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินประมาณ 1 หมื่นไร่
         
นอกจากหนองคายแล้ว เจริญยังมีโครงการลงทุนปลูกข้าวบนที่ดินของตัวเอง ระดับหมื่นไร่ในอยุธยา และอีกอย่างน้อย 2 พันไร่ในเพชรบูรณ์นอกจากนี้เขายังมีที่ดินอยู่แถวๆ บางบาล, บางไทร ซึ่งเหมาะที่จะทำนา และธุรกิจโลจิสติกส์ เพราะอยู่ใกล้แหล่งโรงสีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา  แต่ตอนนี้มีชาวบ้านเช่าทำนาอยู่ คาดว่าเจริญคงจะต้องไปคุยกับผู้เช่านาให้จบ ก่อนที่จะลงมือปลูกข้าวเอง
           
สำหรับที่ดินเพชรบูรณ์ 2 พันไร่นั้น อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้เคยเปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า "มีสภาพคล้ายกับอยุธยา คือ เป็นที่ลุ่ม ติดกับลุ่มน้ำป่าสัก และมีผู้เช่าทำนาอยู่บางส่วน แต่ก็สรุปไม่ชัดเจนว่า จะปลูกข้าวหรือเปลี่ยนมาปลูกยางพารา ท่านประธานฯกำลังพิจารณาว่า ปลูกอะไรตรงนั้น เหมาะสมกว่ากัน การตลาดเป็นอย่างไร โลจิสติกส์เป็นอย่างไร"
           
ไม่ว่าคำตอบที่เพชรบูรณ์จะออกมาอย่างไร แต่อย่างช้าภายในปีหน้า เจ้าสัวเจริญจะทำนา 2 หมื่นไร่ ที่หนองคาย 1 หมื่นไร่และอยุธยาอีก 1 หมื่นไร่ นั่นหมายความว่า เจ้าสัวเจริญจะเป็นชาวนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือไม่ ก็เป็นชาวนาที่รวยที่สุดในโลกก็เป็นได้

ยุทธศาสตร์เกษตร ฉบับ"เจ้าสัวธนินทร์"

สำหรับ"เจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์"แห่งซีพี แม้จะไม่ใช่แลนด์ลอดที่คอบครองที่ดินมากที่สุดเหมือนกับ"เจ้าสัวเจริญ"  แต่ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่เริ่มต้นจากการเกษตร   ก่อนจะแตกกิ่งก้านครอบคลุมในกว่า 10 กลุ่มธุรกิจ  อาทิ  กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร กลุ่มธุรกิจอาหารสัตย์เลี้ยง  กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร กลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และเคมีเกษตร  กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย กลุ่มพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์  และกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม  เป็นต้น  รวมเงินรายได้ของกลุ่มต่อปีสูงกว่า1.4 แสนล้านบาท
 
แน่นอนว่า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ  ผู้ผลิต จำหน่ายและส่งออกผลิตภัณฑ์  จากไก่  เป็ด  ไข่   หมู   ปลา   กุ้ง  ไส้กรอก   และอาหารพร้อมรับประทานอีกหลายรายการ ยังคงเป็นกลุ่มหลักในการทำรายได้ เช่นเดียวกับกลุ่มการตลาด และการค้าอย่าง ซีพี ออลล์ เจ้าของร้านเซเว่น อีเลเว่น ที่มีจำนวนกว่า 5,000 สาขา และจะเพิ่มเป็น 10,000 สาขาในอีก 5ปีข้างหน้า ถือเป็น 2 กลุ่มหลักในการปั้นรายได้
 
แต่เมื่อ"เจ้าสัวธนินทร์"เจ้าของทรัพย์สิน 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 41,000 ล้านบาท"มหาเศษฐีอันดับ3ของไทย"จากการจัดอันดับของนิตยสารการเงินชื่อดังของโลก"ฟอร์บ"ล่าสุด  ออกมาประกาศวิสัยทัศน์ฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรไทย ด้วยทฤษฎี 2 สูงคือ
 
1.สินค้าเกษตรราคาสูง
 
2.คนไทยมีรายได้สูงขึ้น
 
ผนวกกับในห้วงที่โลกกำลังประสบกับภาวะ"ขาดแคลนอาหาร" อันเกิดจากการนำพืชด้านการเกษตรไปใช้ในเรื่องของการผลิตพลังงานทดแทนที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคของโลก
 
" ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง เพราะประเทศไทยมีน้ำมันบนดินที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด  แต่น้ำมันในบ่อธรรมชาติมีวันหมด โดยผู้เชี่ยวชาญบอกว่าอีก 100ปีหมดแน่....
 
และผมคิดไม่ถึงว่า เมืองไทย เรื่องกุ้งเราเป็นที่1 ของโลก  ตั้งแต่พันธุ์ไปถึงการเลี้ยง ทำเกี้ยวกุ้ง กุ้งทอด  ไม่มีใครทำได้เหมือนเรา   เรื่องข้าวเราก็เป็นที่ 1   ยางพาราก็เป็นที่ 1 อีก
 
วันนี้ สินค้าบนดินที่เยี่ยมยอดมากของไทย คือ ยางพารา ปาล์ม ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย ที่ไม่ใช่อาหารคนเหมือนในอดีตอีกต่อไป  แต่เป็นอาหารของเครื่องจักร เรียกว่าเครื่องจักรได้มาแย่งกินกับคนแล้ว  ดังนั้น  ถ้าเรานำพื้นที่ 67 ล้านไร่ มาปลูกข้าวด้วยระบบเกษตรสมัยใหม่  25 ล้านไร่ ปลูกยางพารา 30 ล้านไร่ ปลูกปาล์ม 12 ล้านไร่  หากราคายังดีต่อเนื่องไปอย่างนี้ เราจะมีเงินเข้าประเทศปีละ 2.3ล้านล้านบาท..."
 
เป็นวิสัยทัศน์ของ"เจ้าสัวธนินทร์"ที่กล่าวปาฐกถาเรื่อง"ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย"โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)จัดขึ้น  และในเวลาต่อมาดูเหมือนเขาจะเดินสายขายวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อยกระดับ  และฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรของไทยมาอย่างต่อเนื่อง
 
เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมเจ้าสัวซีพี ถึงได้โรดโชว์วิสัยทัศน์หนุนสินค้าเกษตร  อาหารราคาสูง ในห้วงจังหวะที่ราคาสินค้าเพื่อการบริโภคในประเทศ แพงขึ้น  และไม่เห็นด้วยกับวิธีการกดราคาสินค้าเกษตรให้ถูกลง  เพราะผลที่เกิดขึ้นจากสินค้าราคาแพงคนจนในชนบทที่ทำการเกษตรเลี้ยงผู้คนจะมีรายได้มากขึ้น
 
"คนปลูกข้าวเลี้ยงชีวิตมนุษย์ปล่อยให้จนได้อย่างไร??? "
 
เป็นคำตอบที่แฝงด้วยความหมายในหลากหลายมิติ!!!
 
ทว่า สิ่งที่ธุรกิจกลุ่มนี้วางตำแหน่งตัวเอง คือ การเป็น "ครัวของผู้บริโภคทั่วโลก” (Kitchen of the World) ด้วยจุดเด่นที่มีสินค้าเกษตรทั้งในหมวดพืช เศรษฐกิจ   อาหาร  และปศุสัตว์จำนวนมาก  ทั้ง ไก่  เป็ด  ไข่   หมู   ปลา   กุ้ง  ฯลฯ จึงมีการบูรณาการเชื่อมโยงเพื่อเอื้อซึ่งกัน และกันอย่างลงตัว ทำให้วงจรสินค้าซีพีทุกตัว  เกี่ยวข้องกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ    ดังนั้น  วันนี้ซีพีจึงกลายเป็นผู้นำสินค้าเพื่อการบริโภคทั้งในประเทศและส่งออกไปยังยุโรป อเมริกา อาฟริกา และรวมทั้งประเทศในเอเชีย
 
"ท่านธนินทร์มองจุดเด่นของประเทศไทย  ทั้งเรื่องภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และสินค้าที่มีอยู่สามารถเป็นครัวของโลกได้ และในยามที่ประเทศเผชิญกับวิกฤติพลังงานน้ำมัน  ทำให้พวกเราหันไปใส่ใจกับสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริ และดำเนินทรงทำเป็นตัวอย่างเมื่อ 30ปีที่แล้วนั้นคือ การนำพืชมาทำเป็นพลังงานทดแทน    แต่เราพึ่งจะมาตื่นตัวกันในวันนี้"
 
เป็นคำบอกเล่าของนายมนตรี คงตระกูลเทียน ..........ถึงจุดแข็งที่ประเทศไทยมีทั้งเรื่องพืชพลังงาน  และอาหาร!!!
 
ทั้งนี้  ผู้บริหารกลุ่มพืชครบวงจรยังอธิบายเพิ่มเติมการรุกสู่ภาคเกษตรของซีพีว่า คงจะเข้าไปในลักษณะของการส่งเสริมมากกว่าที่จะไปลงมือทำเอง โดยทำตัวเป็น"พาร์ทเนอร์"กับเกษตรกร ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง  โดยนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาเสริมซึ่งกันและกัน และไม่มีกำแพงมาเป็นอุปสรรคขวางกั้นระหว่างรัฐกับเอกชน  เพื่อเป้าหมายใหญ่คือ"ฟื้นชีวิตเกษตรกรไทย"
 
เพราะเขาเชื่อว่า  การเข้าไปในลักษณะส่งเสริม และเติมเต็มในสิ่งที่พวกเขาขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุ์พืช ที่ได้คุณภาพมีผลผลิตต่อไร่สูง สามารถแข่งขันในสินค้าเดียวกันได้ในตลาดโลก น่าจะเป็นโซลูชันที่ดีที่สุด ดีกว่าการไปปลูกแข่ง  ดังนั้น  พื้นที่ของซีพีที่มีอยู่กว่า 3,000 ไร่ จึงมุ่งทำในเรื่องของแปลงสาธิตเป็นหลัก เพื่อค้นคว้าวิจัย พัฒนาให้ได้พันธ์ที่ดีที่สุด และทดลองนำร่อง  เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับเกษตรกรในการนำไปใช้   นอกจากนี้ การเติมเต็มในเรื่องการตลาดโดยการรับประกันซื้อ(Contrack Farming) ถือเป็นอีกวิธีในการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรในการเลือกขายเอง หรือขายให้ซีพีในราคาที่รับประกันซื้อ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมทั่วประเทศ โดยเฉพาะข้าวโพด(อ่านขุนพลเจ้าสัวธนินทร์ในล้อมกรอบ)
 
เทียบวิธีคิด "เจริญ - ธนินท์"
 
ถ้าเจ้าพ่อน้ำเมาเบียร์ช้าง – “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ประกาศจะเป็นที่หนึ่งธุรกิจเกษตร!  แล้วเจ้าสัวซีพี-“ธนินท์ เจียรวนนท์” จะยืนอยู่ตรงไหน?
 
สำหรับธนินท์ เจียรวนนท์ แล้วเป็นที่รู้กันดีว่า เขาคือ  "ซาร์" แห่งธุรกิจสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะขยับตัวหรือส่งสัญญาณอะไรก็สร้างแรงกระเพื่อมไหวได้ตลอด
           
หากวิเคราะห์จากเท่าที่เห็น  ซีพีก็ยังยืนอยู่ตรงจุดเดิม เพราะเจ้าสัวธนินท์ ยังเป็นที่หนึ่งธุรกิจเกษตร"สายสัตว์เศรษฐกิจ" ขณะที่เป้าหมายของเจริญ ต้องการเป็นที่หนึ่งของธุรกิจเกษตร"สายพืชเศรษฐกิจ" เนื่องจากเจริญตั้งธงจะเป็นชาวนาและปลูกข้าวมากที่สุดในประเทศไทยบนที่ดินของตัวเอง
 
แล้ว วิสัยทัศน์ เรื่องข้าวครบวงจรที่เจ้าสัวธนินท์เคยพูดมาตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ยังคิดอยู่หรือไม่?
               
ครั้งหนึ่งเจ้าสัวธนินท์ได้พูดถึงยุทธศาสตร์การพัฒนา “น้ำมันบนดิน” ซึ่งประกอบด้วยข้าว,ปาล์มและยาง เขาบอกว่า ถ้าใช้พันธุ์ใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีการปลูกใหม่ๆ ใช้ระบบบริหารจัดการใหม่ๆ บนพื้นที่ปลูกแค่ 25 ล้านไร่ ประเทศไทยจะได้ผลผลิตข้าวเท่ากับที่ปลูกบนพื้นที่ 67 ล้านไร่ในปัจจุบัน
           
แสดงว่า เจ้าสัวธนินท์ต้องกำลังทำอะไรเกี่ยวกับข้าวอยู่แน่นอน......
                 
เพราะฉนั้น วิสัยทัศน์เรื่องข้าวตรงนี้ของ 2 เจ้าสัวไม่ต่างกันนัก  ถ้าจะต่างกันน่าจะอยู่ที่เจริญเชื่อเรื่องปลูกข้าวบนที่ดินตัวเอง  ภายในปีหน้าจะได้เห็นนาข้าวของเจ้าสัวเจริญอย่างน้อยๆ 2 หมื่นไร่ ขณะที่เจ้าสัวธนินท์ยึดแนวทางปลูกข้าวบนที่ดินคนอื่น โดยปีนี้จะเริ่มที่ 3 พันไร่ก่อน
           
สุดท้ายใครจะไปถึงการเป็นเบอร์ 1 ในเรื่องข้าว คงต้องติดตาม
 
เพราะคงไม่ธรรมดาที่ "2 เจ้าสัว" ซึ่งได้รับการยอมรับในเรื่องวิสัยทัศน์ยังสนใจอาชีพเกษตรกรแต่การลงทุนดังกล่าวจะทำให้ชาวนาไทยลืมตาอ้าปากได้หรือไม่ หรือจะเป็นการรุกธุรกิจข้าวแบบผูกขาด..?
 
การขยับของ 2 เจ้าสัวใหญ่เป็น "ธง" ที่ชี้ไปคนละทิศกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ขานรับแข็งขันกันมาตั้งแต่ต้น และจะส่งผลให้การผูกขาดในภาคเกษตรของประเทศลงหลักปักฐานยิ่งขึ้น
 
โดยที่ยุทธศาสตร์ใหญ่ของรัฐไม่อาจไล่ตามทันหรือแทรกเข้าไปทำอะไรได้ หากไม่หันมาจับมือเป็นพันธมิตรแล้วเดินไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้อานิสงส์ตกกับประเทศ
 
เมื่อสรุปมุมมองวิธีคิด "2เจ้าสัว"ในการรุกสู่ภาคการเกษตร ช่างมีปฐมบทของแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง รายแรกต้องการทำตัวเป็นเกษตรกรเสียเองโดยการก๊วนซื้อที่ดินให้ได้มากที่สุดเพื่อนำมาปลูกพืช     และระดมขุนพลที่เชี่ยวชาญด้านการเกษตรมาเป็นแม่ทัพในการขับเคลื่อน แนวทางนี้หากพืชราคาดี และไม่เผชิญกับเรื่องภัยธรรมชาติต่างๆ ผลตอบแทนจะได้รับแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย  แต่ก็เสี่ยงในเรื่องการผันแปรราคาตลอดจนภัยธรรมชาติ
 
ขณะที่"เจ้าสัวธนินทร์"ขอเป็นมิตรกับเกษตรกรดีกว่า   เพราะผลที่กลับมามีทั้งทางตรง และทางอ้อม   ทางตรง ได้แก่การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์  ปุ๋ย สมุนไพรบำรุงพืช และตลอดถึงการรับซื้อในราคาหลักประกัน   แม้สินค้าจะราคาต่ำแต่หากอาศัยวอลุ่มจำนวนที่มากก็จะส่งผลดีต่อรายได้ที่มากขึ้นขณะที่ทางตรง หากทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น  สินค้าซีพีที่มีอยู่อย่างหลากหลายใน 10 กลุ่มก็จะพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วยเหมือนกับสินค้าของกลุ่มธุรกิจไทยรายอื่นๆ
 
เป็นวิธีคิดที่ไม่ต่างจากทฤษฎี"อเมริกันตื่นทอง"ที่คนขายจอบ เสียม เพื่อใช้ขุดทอง มักจะมีรายรับมากกว่าคนนำไปขุด เพราะไม่รู้ว่ามีกี่คนที่ขุดทองพบ แต่คนขายจอบ เสียมได้เงินเข้ากระเป๋าตั้งแต่การตัดสินใจซื้อเกิดขึ้น
 
"ราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น  จะมองเป็นโอกาสของซีพีก็ได้   เพราะเขาอยู่ในธุรกิจนี้อยู่แล้ว  ยิ่งหากเกษตรกรต้องการสายพันธุ์ที่ดี เมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มผลตอบแทนพื้นที่ปลูกต่อไร่ก็จะมาหาซีพี   แต่ขณะเดียวกันสินค้าหมวดอาหารโดยเฉพาะกุ้งที่ซีพีส่งออกรายใหญ่ตอนนี้ราคาก็ไม่ค่อยดี ดังนั้น คงต้องดูไปอีกว่าเขาได้ประโยชน์อย่างไร"
 
เป็นมุมการวิเคราะห์ของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาศน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจคนสำคัญ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อท่าทีการเคลื่อนไหวของเจ้าสัวธนินทร์ที่กำลังเพลิดเพลินกับการเดินสายโรดโชว์วิสัยทัศน์ฟทื้นชีวิตเกษตรกรไทย  เพื่อฉวยโอกาสในเวลานี้ที่เขาบอกว่า 1000 ปีจะมีสักครั้งหนึ่ง
 
ดังนั้น  เมื่อ"2ใน3 มหาเศรษฐีเมืองไทย"กำลังหันมาเล่นในภาคเกษตรอย่างจริงจัง     เพื่อหวังพลิกฟื้น"อาชีพเกษตรกร"ที่ถูกลืมมานาน ให้มีรายได้ในสินค้าที่ผลิต
 
อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย และภาคการเกษตรของโลก???


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!