วิทยาการ 'รักษาหัวใจ' 'บอลลูน' 'อายุ 100 ปี' ทำได้?
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
พฤษภาคม 01, 2024, 06:50:10 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วิทยาการ 'รักษาหัวใจ' 'บอลลูน' 'อายุ 100 ปี' ทำได้?  (อ่าน 2145 ครั้ง)
แวมไพร์-LSVteam♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน912
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3712


..เรียนให้รู้เป็นครูเขา.Learning by doing


« เมื่อ: มีนาคม 18, 2008, 03:21:31 PM »

วิทยาการ 'รักษาหัวใจ' 'บอลลูน' 'อายุ 100 ปี' ทำได้?





เมืองไทย-คนไทยในยุคปัจจุบันดูเหมือนจะเสี่ยงกับ “โรคหัวใจ” ชนิดต่าง ๆ มากขึ้น ในกลุ่มคน-กลุ่มสังคมต่าง ๆ จึงมักจะได้ยินว่าคนนั้นคนนี้ต้องไปผ่าตัดทำบายพาส ไป “ทำบอลลูน” ขยายหลอดเลือดหัวใจ

ก็ยังดีที่การแพทย์ด้านนี้ในเมืองไทยพัฒนาขึ้นมาก
ขนาด “คนอายุ 100 ปี” ยังรักษาให้ปลอดภัยได้ !!

ทั้งนี้ ว่ากันถึงเรื่องโรคหัวใจ แยกย่อยได้หลายชนิด มีทั้งโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด, โรคลิ้นหัวใจตีบ-รั่ว, โรคกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ, โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และอีกชนิดที่หลัง ๆ ได้ยินกันบ่อย-มีคนไทยเข้ารับการรักษากันมากคือ โรคหลอดเลือดหัวใจ-โรคหัวใจขาดเลือด

กับโรคหัวใจชนิด “หลอดเลือดหัวใจตีบ-หัวใจขาดเลือด” นั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.ram-hosp.co.th โดย นพ.ภาณุ สมุทรสาคร อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง ระบุไว้โดย สรุปคือ... เป็นโรคหัวใจชนิดที่เกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ กล้ามเนื้อหัวใจขาด ออกซิเจนชั่วขณะ เกิดอาการเจ็บหน้าอก ถ้าเส้นเลือดที่ตีบเกิดอุดตันอย่างเฉียบพลันจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน “อาจเสียชีวิตแบบปัจจุบันทันด่วนได้ !!”

ถามว่าใครบ้างที่มีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ? คำตอบคือ... เพศชายมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าเพศหญิง 3-5 เท่า, อายุในเพศชายที่เสี่ยงมักจะเริ่มตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ขณะที่ในเพศหญิงจะเกิดช้ากว่า คือมักจะเกิดในวัยหมดประจำเดือน อายุประมาณ 50-55 ปี และถามว่าปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคชนิดนี้มีอะไรบ้าง ? คำตอบมีหลายปัจจัยคือ... สูบบุหรี่, ไขมันในเลือดสูง, เป็นโรคความดันโลหิตสูง, เป็นโรคเบาหวาน, อ้วนและไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย, เครียดง่าย-เครียดบ่อย, มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจชนิดนี้

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ ก็จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้เร็วกว่าผู้อื่น และเมื่อเกิดแล้วก็มักจะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง !! จุดนี้คนไทยไม่ควรมองข้าม !!

สำหรับการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด เบื้องต้นคือดูที่ อาการเจ็บหน้าอก โดยถ้าเจ็บหน้าอกถึงขั้นรุนแรง มีเหงื่อออกมาก วิงเวียน คลื่นไส้ มือเท้าเย็น-เขียว หมดสติ พักแล้วไม่ดีขึ้น มักเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ ปัจจุบันวงการแพทย์ในไทยก็พัฒนาและมีอุปกรณ์ทั้งในการตรวจวินิจฉัย-การรักษาที่ก้าวหน้า ในการรักษาของแพทย์ก็มีทั้งการรักษาด้วยยา, รักษาโดยผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจใหม่ หรือทำบายพาส, รักษาโดย “การทำบอลลูน” โดยใช้สายสวนหัวใจผ่านทางเส้นเลือดแดงที่โคนขา เข้าไปจนถึงเส้นเลือดหัวใจที่ตีบ แล้วขยายเส้นเลือดโดยทำให้บอลลูนที่ปลายสายสวนหัวใจพองขึ้น เพื่อดันเส้นเลือดที่ตีบให้ขยายออก

“การทำบอลลูน” มีการพัฒนาจนปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูง
ล่าสุดในไทยขนาดคนอายุตั้ง 100 ปีก็ทำได้อย่างปลอดภัย !!

ไสว หัพนานนท์ อายุ 100 ปี 1 เดือน คือผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งถือว่าเป็นเคสอันตราย อย่างไรก็ดี ล่าสุดผู้ป่วยรายนี้ก็หายจากโรคนี้ได้ด้วยการทำบอลลูน โดย รศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม แพทย์ผู้ทำบอลลูน และ นพ.วิชัย ศรีมนัส อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง ร่วมกันเผยว่า... กรณีคนไข้อายุ 100 ปีเศษรายนี้ มีเส้นเลือดหัวใจตีบถึง 3 เส้น โดยเส้นที่ตีบมากและสำคัญที่สุดคือเส้นด้านซ้ายที่ยื่นมาข้างหน้า ซึ่งทางแพทย์ลงความเห็นว่าน่าจะทำบอลลูนได้โดย “ไม่ต้องผ่าตัด”

“กรณีแบบนี้ขึ้นอยู่กับสภาพคนไข้ด้วย ซึ่งคุณตาไสวร่างกายแข็งแรง กล้ามเนื้อหัวใจยังบีบตัวได้ดี การทำบอลลูนแก้ไขหลอดเลือดหัวใจส่วนที่ตีบสามารถทำได้ และเป็นวิธีที่เหมาะสม” ...นพ.วิชัยระบุ ซึ่งก็เป็นการทำความเข้าใจกับประเด็นที่พูด ๆ กันว่าคนอายุ 75-80 ปีขึ้นไปไม่เหมาะที่จะทำบอลลูน

ทั้งนี้ รายคุณตาไสวนี้แพทย์ใช้การทำ 64 Slides เป็นการตรวจหลอดเลือดหัวใจที่เป็นทั้งการวินิจฉัยด้วยอุปกรณ์ทันสมัย และขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษาด้วย โดยในการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบในปัจจุบันนั้นมีเครื่องมือพิเศษทางการแพทย์สมัยใหม่หลายอย่าง เช่น เครื่องตรวจ-เครื่องสแกน, ลวดตัวนำพิเศษ ที่ร้อยเข้าไปในหลอดเลือดเพื่อทำบอลลูน, เครื่องอัลตราซาวด์ขนาดเล็ก ที่ร้อยไปตามสายเพื่อตรวจหลอดเลือดว่าจุดที่ตีบมีหินปูนอยู่มากแค่ไหน, หัวกรอเพชร ที่ร้อยตามสายเข้าไปในหลอดเลือดเพื่อกรอหินปูนที่มีมากในหลอดเลือดที่ตีบ รวมถึงการใช้ ขดลวดเคลือบยา ค้ำหลอดเลือดที่ทำบอลลูนเพื่อป้องกันการตีบซ้ำ

“ก่อนหน้านี้ผมยังไม่เคยทำบอลลูนให้คนไข้อายุมากขนาดนี้ มากสุดที่เคยทำก็ 98 ปี แต่คุณไสวนี่ตอนทำอายุตั้ง 100 ปี กับ 1 เดือน ถือว่ามากที่สุดที่เคยทำมา” ...รศ.นพ.วสันต์ระบุ ซึ่งก็ถือว่าน่าทึ่ง

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าการจะรอดพ้นจากภัยโรคหัวใจควรจะทำเช่นไร ? ก็คงต้องอยู่ที่การ ลดปัจจัยเสี่ยง เช่น... เลิกสูบบุหรี่, ลดน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงควบคุมโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับผู้ที่เป็นแล้ว ส่วนในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคเหล่านี้ก็ควรตรวจเช็กทุก 6 เดือน เพื่อที่จะได้ควบคุมโดยเร็วที่สุด

“โรคหัวใจ” ชนิดต่าง ๆ นับวันจะคุกคามคนไทยมากขึ้น
จริงอยู่ที่มีวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ไล่ตามแก้ไข
แต่ยังไงการ “ลด-เลี่ยงปัจจัยเสี่ยง” ก็คือวิธีที่ดีที่สุด !!!.


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!