เรื่องของสิ่งมหัสจรรย์ของโลก พีระมิดอียิปต์(Pyramids of egypt)
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
มีนาคม 28, 2024, 06:30:16 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องของสิ่งมหัสจรรย์ของโลก พีระมิดอียิปต์(Pyramids of egypt)  (อ่าน 7494 ครั้ง)
EMOSECTION
Full Member
member
**

คะแนน20
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 453


เรียนให้รู้ ดูให้จำ ทำให้เป็น


อีเมล์
« เมื่อ: ธันวาคม 22, 2007, 09:18:48 PM »

 Sad พีระมิดอียิปต์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
 

หมู่พีระมิดแห่งกีซา
พีระมิด ในประเทศอียิปต์เป็นสิ่งก่อสร้างของชาวอียิปต์โบราณสมัยก่อนยุคเหล็ก โดยเฉพาะ พีระมิดคูฟู ใน หมู่พีระมิดแห่งกิซ่า นับเป็นสิ่งก่อสร้าง ขนาดใหญ่ที่สุด ที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการ ที่น่าอัศจรรย์ของอียิปต์โบราณ
หมู่พีระมิดแห่งกิซ่า (Giza Pyramid Complex)

แผนผังหมู่พีระมิดแห่งกิซ่า

พีระมิด (Pyramid) ใน ประเทศอียิปต์ มีมากมายหลายแห่งด้วยกัน แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดจนอาจนับเป็นตัวแทนของพีระมิดอียิปต์ทั้งมวล ได้แก่ หมู่พีระมิดแห่งกิซ่า (Giza Pyramid Complex)
 ซึ่งประกอบไปด้วย
พีระมิดคูฟู (Khufu) หรือ มหาพีระมิดแห่งกิซ่า (The Great Pyramid of Giza) ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน มีขนาดใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในหมู่พีระมิดแห่งกิซ่า
พีระมิดคาเฟร (Khafre) ตั้งอยู่ตรงกลางของพีระมิดทั้ง 3 และสร้างอยู่บนพื้นที่สูง ทำให้ดูเหมือนมีขนาดใหญ่ที่สุด และมีบางคนเข้าใจผิดว่าพีระมิดคาเฟรคือมหาพีระมิดแห่งกิซ่า ทางทิศตะวันออกของพีระมิดคาเฟรมี มหาสฟิงซ์(The Great Sphinx of Giza) หินแกะสลักขนาดมหึมาที่มักปรากฎในภาพถ่ายคู่กับพีระมิดคาเฟร
พีระมิดเมนคูเร (Menkaure) ขนาดเล็กที่สุดและเก่าแก่น้อยที่สุดในหมู่พีระมิดแห่งกิซ่า จากตำแหน่งการก่อสร้างทำให้คาดได้ว่า เดิมอาจตั้งใจสร้างให้มีขนาดใกล้เคียงพีระมิดคูฟู และพีระมิดคาเฟรแต่ในที่สุดก็สร้างในขนาดที่เล็กกว่า พีระมิดเมนคูเรมักปรากฎในภาพถ่ายพร้อมกับหมู่พีระมิดราชินีทั้ง 3 (The Three Queen's Pyramids)
พีระมิดทั้งสามสร้างเรียงต่อกันเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกของกรุงไคโร เมืองหลวงของประเทศอียิปต์ในปัจจุบัน ด้วยโครงสร้างใหญ่โตและลักษณะรูปทรงเรขาคณิตเฉพาะตัว ทำให้สามารถสังเกตเห็นได้จากระยะไกล ทั้งนี้แม้แต่จากภาพถ่ายดาวเทียม

วิธีการสร้างมหาพีระมิดแห่งกิซ่า


วิธีการยกแท่งหินขนาดใหญ่หนักหลายสิบตัน เพื่อประกอบขึ้นเป็นพีระมิดอย่างแม่นยำยังเป็นปริศนา โครงสร้างเหนือห้องเก็บโลงพระศพ ในพีระมิดคีออปส์ ประกอบขึ้นด้วย แท่งหินแกรนิตสีแดงขนาดใหญ่หลายสิบแท่งซ้อนทับกัน 5 ชั้น แต่ละแท่งมีน้ำหนัก 50 ถึง 70 เมตริกตัน แท่งหินขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบในหมู่พีระมิดกิซ่าอยู่ภายในวิหารข้างพีระมิดเมนคีเรเป็นแท่งหินปูนที่มีน้ำหนักมากถึง 200 เมตริกตัน เป็นน้ำหนักประมาณเท่ากับชิ้นส่วนหนักที่สุดภายในเรือไททานิค ซึ่งไม่มีปั้นจั่นใดๆ ในอู่ต่อเรือขณะนั้นสามารถยกได้ จนผู้สร้างเรือต้องว่าจ้างทีมงาน ชาวเยอรมัน มาสร้างปั้นจั่นยักษ์สำหรับยกชิ้นส่วนดังกล่าว
เฮโรโดตุส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งเดินทางไปอียิปต์ช่วง 450 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2 พันปีเศษหลังจากพีระมิดสร้างเสร็จ ได้บันทึกคำบอกเล่าของนักบวชชาวอียิปต์โบราณไว้ว่า ในการสร้างพีระมิดชาวอียิปต์โบราณมีอุปกรณ์บางอย่างทำด้วยไม้ใช้สำหรับยกหินขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามไม่พบหลักฐานอื่นๆ ที่อ้างอิงถึงเครื่องมือนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด หรือบันทึกโบราณ เฮโรโดตัสยังได้บันทึกไว้ว่าการก่อสร้าง พีระมิดคูฟู ทำเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากซึ่งประชากรว่างจากการเพาะปลูก นั่นคือ ประมาณปีละ 3 - 4 เดือน และก่อสร้างอยู่ 20 ปี จึงแล้วเสร็จ
เนื่องจากเทคโนโลยีในขณะนั้นยังไม่มีระบบปั้นจั่นไม่รู้จักแม้กระทั่งล้อเลื่อน และไม่มีหลักฐานการใช้พาหนะที่ลากด้วยแรงสัตว์ การเคลื่อนย้ายหินจึงใช้แรงงานคนลากเข็นไปบนแคร่ไม้ โดยมีการราดน้ำเพื่อช่วยลดแรงเสียดทาน การเคลื่อนย้ายวัตถุน้ำหนักมากๆ ด้วยวิธีนี้มีหลักฐานเป็นภาพแกะสลักนูนต่ำบนฝาผนังหิน ซึ่งแสดงการเคลื่อนย้ายเทวรูปหินขนาดใหญ่ด้วยแรงคนนับร้อย
วิธีการลำเลียงหินขึ้นสู่บริเวณก่อสร้างในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างการก่อสร้างคืออีกส่วนหนึ่งที่เป็นปริศนา แนวคิดแรกเริ่มเชื่อกันว่าชาวอียิปต์โบราณใช้วิธีสร้างทางลาดบริเวณด้านข้างของพีระมิด และชักลากหินขึ้นตามทางลาดที่ก่อสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความสูงของระดับการก่อสร้างจนถึงจุดสูงสุดยอด และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจึงทำการรื้อทางลาดดังกล่าวออกคงเหลือไว้แต่ พีระมิด ที่สร้างเสร็จ ถ้าแนวคิดนี้เป็นจริงสิ่งก่อสร้างใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้นอาจไม่ใช่พีระมิดคูฟู แต่อาจเป็นทางลาดสูงเท่าตึก 40 ชั้นที่ใช้ก่อสร้างพีระมิดแทน มีแนวคิดอื่นๆ เสนอว่าทางลาดดังกล่าวอาจไม่ได้สร้างอยู่ด้านใดด้านหนึ่งข้างพีระมิด แต่อาจสร้างเป็นทางวนรอบพีระมิดแทน หรืออาจบางทีแต่ละชั้นของพีระมิดนั่นเองคือทางที่ใช้ชักลากหินขึ้นสู่ชั้นถัดไป ผ่านทางลาดขนาดเล็กที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างแต่ละชั้น
แม้จะยังไม่มีข้อสรุปถึงวิธีการลำเลียงหินขึ้นสู่บริเวณก่อสร้าง แต่การประกอบหินแต่ละก้อนสามารถสรุปได้ว่าผ่านการตัดแต่งแบบก้อนต่อก้อน เนื่องจากแต่ละก้อนต้องมีขนาดและแง่มุมพอดีกับหินก้อนอื่นๆที่จัดเรียงไว้ก่อนหน้า เพราะในการก่อสร้างพีระมิดไม่มีการใช้วัสดุเชื่อมประสาน หินแต่ละก้อนวางซ้อนกันอยู่ได้ด้วยน้ำหนักกดทับด้านบน และระนาบที่เท่ากันในแต่ละชั้นจึงต้องตัดแต่งอย่างปราณีตแบบก้อนต่อก้อนก่อนประกอบเข้าสู่ตำแหน่ง
ด้วยเครื่องมือง่ายๆ อย่างไม้วัดระดับแนวราบ และสายดิ่งที่ใช้ตรวจสอบผิวหน้าหินในแนวตั้ง โดยใช้ลิ่มหินควอตซ์ (Quartz) ซึ่งเป็นหินอัคนีความแข็งสูงในการขัดแต่งผิวหน้าของหินแต่ละด้านให้เรียบ ช่างหินอียิปต์โบราณสามารถสร้างผลงานดีเยี่ยม จนผิวสัมผัสระหว่างหินแต่ละก้อนห่างกันเพียง 0.02 นิ้วเท่านั้น
ควรทราบอีกว่า ณ เวลานั้นโลกยังไม่เข้าสู่ ยุคเหล็ก โดยที่เทคโนโลยีการตีเหล็กยังไม่ถูกพัฒนาขึ้นจนกว่าอีก 1 พันปีต่อมา เครื่องมือโลหะที่มีใช้ในสมัยนั้นทำด้วย ทองแดง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายหากต้องการตัดหินปูนและหินแกรนิตให้ได้ขนาดและรูปทรงตามต้องการ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยียุคโบราณเชื่อว่า ช่างอียิปต์โบราณใช้ แท่งโลหะพันด้วยเชือก เพื่อหมุนปั่นแท่งโลหะเจาะรูลึกในก้อนหินโดยมีการโรยผงทรายลงในรูที่เจาะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือ


วัตถุดิบที่ใช้ในการสร้างพีระมิดแห่งกิซ่า
 
พีระมิดแห่งกิซ่า ในสมัย คริสต์ศตวรรษที่ 19
แหล่งหินที่นำมาสร้างพีระมิด ไม่อยู่ในบริเวณที่ก่อสร้างแต่ต้องขนส่งจากเหมืองหินที่อยู่ห่างไกลนับร้อยไมล์ มาตามแม่น้ำไนล์ แล้วขนส่งทางบกต่อไปอีกจนถึงบริเวณก่อสร้างซึ่งห่างจากริมฝั่งแม่น้ำไนล์ประมาณ 22 กิโลเมตร หินปูนซึ่งเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ห่างไปกว่า 200 กิโลเมตร เรียงรายตามแนวฝั่งแม่น้ำไนล์ เหมืองหินปูนใกล้ที่สุดอยู่บริเวณเมืองตูราห่างจากกรุงไคโรไปทางใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร ส่วนหินแกรนิตที่ใช้สร้างห้องเก็บพระศพ และโลงพระศพ อยู่บริเวณตอนเหนือของเขื่อนอัสวานในปัจจุบัน ซึ่งห่างจากบริเวณก่อสร้างไปทางใต้กว่า 900 กิโลเมตร การขนย้ายหินจากระยะทางไกลขนาดนั้นต้องใช้พาหนะขนาดใหญ่ล่องตามแม่น้ำไนล์เป็นแรมเดือน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศไทยจะประมาณเท่ากับการล่องเรือจากเชียงรายลงมาถึงกรุงเทพฯ
การลำเลียงหินขึ้นลงจะใช้แคร่เลื่อนไม้และอาจใช้จังหวะที่มีน้ำท่วมเข้าถึงบริเวณเหมืองและพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนย้ายหิน มีข้อสังเกตว่าพาหนะที่ใช้บรรทุกหินจะต้องสามารถรับน้ำหนักได้มากถึงหลายสิบตัน จึงจะสามารถขนแท่งหินแกรนิตขนาดใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้าง พาหนะดังกล่าวอาจมีลักษณะคล้ายเรือใหญ่ ซึ่งมีคานให้เรือขนาดเล็กกว่าหลายๆ ลำช่วยกันพยุงรับน้ำหนักอยู่ด้านล่าง เมื่อเปรียบเทียบกับเรือขุดขนาดใหญ่ของไทยขนาด 45-55 ฝีพายซึ่งยาวร่วม 30 เมตร ยังสามารถรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 10 เมตริกตันต่อลำ พาหนะที่ชาวอียิปต์โบราณใช้ขนส่งหินหนักถึง 70 เมตริกตันจะต้องรับน้ำหนักได้มากกว่าเรือขุดขนาดใหญ่ของไทยหลายเท่า มีการขุดพบเรือโบราณขนาดใหญ่สร้างด้วยไม้ในบริเวณเดียวกับ พีระมิดคูฟู ที่เป็นหลักฐานว่าชาวอียิปต์โบราณมีความสามารถในการต่อเรือขนาดใหญ่ได้ดี


แรงงานในการสร้างมหาพีระมิดแห่งกิซ๋า

หากประมาณจำนวนแรงงานที่ใช้ก่อสร้างพีระมิด จากจำนวนหินที่ใช้ก่อสร้าง 2,500,000 ก้อนหารด้วยระยะเวลาก่อสร้าง ปีละ 3-4 เดือนในฤดูน้ำหลาก รวม 20 ปี จะพบว่าต้องก่อสร้างให้ได้ประมาณ 1,000 ถึง 1,400 ก้อนต่อวัน หากต้องสกัดหินจากเหมืองหินให้ได้ขั้นต่ำวันละ 1,000 ก้อน และต้องมีแรงงานขนหินออกจากเหมืองมายังแม่น้ำ แรงงานสำหรับควบคุมการขนส่งมายังพื้นที่ก่อสร้าง และแรงงานสำหรับยกหินขึ้นฝั่งที่ปลายทาง ถ้าทั้งหมดนี้ใช้คนทั้งสิ้นประมาณ 10 คนต่อหิน 1 ก้อนจะต้องมีแรงงานในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน
นอกจากนี้ในบริเวณก่อสร้างยังต้องมีแรงงานสำหรับขนย้ายหินขึ้นสู่บริเวณก่อสร้างบนพีระมิด ผู้เขียนคิดเองว่าน่าจะเป็นแรงงานคนละชุด กับที่ขนย้ายหินมาจากแม่น้ำ และน่าจะต้องใช้คนมากว่า 8 คนต่อหิน 1 ก้อนเนื่องจากเป็นการขนย้ายหินขึ้นสู่ที่สูง ยิ่งการก่อสร้างดำเนินไประดับของพื้นที่ก่อสร้างก็จะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่รวมช่างฝีมือในบริเวณก่อสร้างแต่ละชั้นซึ่งต้องตัดแต่งหินให้ได้ระดับแง่มุมที่ถูกต้องแบบก้อนต่อก้อน เชื่อว่าแรงงานขนย้ายหินรวมกับแรงงานประกอบหิน น่าจะไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นคนในระหว่างการก่อสร้างแต่ละปี และเป็นไปได้ว่าแรงงานที่หมุนเวียนกันมาก่อสร้างตลอด 20 ปีจะมีถึงกว่า 100,000 คน
มีเรื่องน่าสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับความเชื่อแต่เดิมที่ว่า พีระมิด ก่อสร้างขึ้นด้วยแรงงานทาส โดยมีการบังคับกดขี่ทาสอย่างทารุณ ทั้งหมดเป็นเพียงจินตนาการในวงการบันเทิง เมื่อหลักฐานที่พบในเวลาต่อมาบ่งชี้ว่า แรงงานที่มาก่อสร้างพีระมิดเป็นชาวอียิปต์ที่ทำงานด้วยความสมัครใจในระหว่างว่างเว้นจากงานเกษตรกรรม โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นอาหาร เช่น หัวไชเท้าและกระเทียม และในกรณีที่ทำงานได้มากจะมีการจดบัญชีเพื่อจ่ายค่าตอบแทนให้ในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งจากหลักฐานที่พบใหม่ๆ คือแรงงานที่มาก่อสร้างมีการจัดตั้งกันแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามลำดับชั้น และมีการกำหนดหน้าที่ให้กับแต่ละกลุ่ม คล้ายกับโครงงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งสำหรับเมื่อ 4,600 ปีก่อนนับว่าชาวอียิปต์มีความล้ำหน้าอารยธรรมอื่นๆ ในยุคเดียวกันมาก

พีระมิดโซเซอร์ (Djoser's Pyramid)

พีระมิดขั้นบันไดของฟาโรห์โซเซอร์ที่เมืองซักคารา

พีระมิดโซเซอร์(Djoser's Pyramid) หรือ พีระมิดแห่งซักคารา (The Pyramid of Saqqara) นับเป็นพีระมิดแห่งแรกของอียิปต์ ที่ฟาโรห์โซเซอร์ (Djoser หรือ Zoser) แห่งราชวงศ์ที่ 3 เป็นผู้สร้างขึ้น โดยมี อิมโฮเทป (Imhotep) ที่ปรึกษาประจำองค์ฟาโรห์เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ ลักษณะที่สำคัญคือเป็น พีระมิดขั้นบันใด (Step Pyramid) ซ้อนกันรวม 6 ชั้น ในขณะที่พีระมิดยุคต่อมาจะไม่มีลักษณะของขั้นบันไดให้เห็น ก่อนหน้านี้สุสานของฟาโรห์จะสร้างอยู่ใต้ดินโดยปิดทับด้วยสิ่งก่อสร้างที่ไม่สูงมากนักเรียกว่า มัสตาบา (Mastaba)

พีระมิดไมดุม (Meidum Pyramid)
พีระมิดไมดุม สร้างโดยฟาโรห์สนอฟรู (Snofru) หรืออีกพระนามหนึ่งคือ ซเนเฟรู (Sneferu) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ที่ 4 ของอียิปต์โบราณ เป็นพีระมิดที่พยายามพัฒนารูปแบบต่อจากพีระมิดขั้นบันไดของฟาโรห์โซเซอร์ โดยตั้งใจจะก่อสร้างให้มีรูปร่างเป็นพีระมิดที่สมบูรณ์ แต่เกิดปัญหาพังทลายลงระหว่างการก่อสร้างเนื่องจากพื้นทรายด้านล่างรองรับน้ำหนักพีระมิดไม่ไหว นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ฟาโรห์สนอฟรูสร้างพีระมิดไมดุมนี้ให้กับ ฟาโรห์ฮูนิ (Huni) ฟาโรห์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 3 ผู้เป็นพระราชบิดาของพระองค์

พีระมิดหักงอ (Bent Pyramid)

พีระมิดหักงอ (Bent Pyramid) หรือบางครั้งเรียกกันสั้นๆ ว่า พีระมิดงอ สร้างขึ้นโดย ฟาโรห์สนอฟรู (Snofru) หลังจากการก่อสร้างพีระมิดเมดุมประสบความล้มเหลว เดิมมีเป้าหมายจะสร้างให้มีรูปร่างเป็นแบบพีระมิดที่สมบูรณ์ แต่เกิดปัญหาในระหว่างการก่อสร้างเนื่องจากแต่ละด้านของพีระมิดทำมุมชันมากเกินไปคือชันถึง 54 องศาทำให้ต้องเปลี่ยนแบบการก่อสร้างกลางคัน กลายเป็นพีระมิดที่แต่ละด้านหักมุมเปลี่ยนความชันที่ประมาณระหว่างกลางความสูงของพีระมิดเหลือความชัน 43 องศา นับเป็นพีระมิดที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งเนื่องจากรูปร่างที่แปลกตาอย่างเห็นได้ชัดและแสดงถึงความสามารถของผู้สร้างที่สามารถแก้ไขปัญหาการก่อสร้างที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 4,600 ปีมาแล้ว
ประสบการณ์จากพีระมิดหักมุมนี้เอง ทำให้การก่อสร้างพีระมิดแห่งต่อมาประสบความสำเร็จ และส่งผลให้มีการสร้าง มหาพีระมิดแห่งกิซ่า ที่กลายเป็นหนึ่งเดียวของ เจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

พีระมิดแดง (Red Pyramid)

พีระมิดแดงของฟาโรห์สเนเฟรู
พีระมิดแดง (Red Pyramid) สร้างโดยฟาโรห์สนอฟรู หลังจากพีระมิดเมดุม และพีระมิดหักงอ นับเป็นพีระมิดที่มีรูปร่างสมบูรณ์แบบแห่งแรกของโลก ด้านทั้ง 4 ของพีระมิดแดงทำมุมเอียง 43 องศาเท่ากับมุมเอียงในส่วนบนของพีระมิดหักงอ ซึ่งเท่ากับมีการนำบทเรียนจากการสร้างพีระมิดครั้งก่อนมาใช้นั่นเอง
พีระมิดแดงมีความสูงถึง 104 เมตร (341 ฟุต) หรือประมาณอาคารสูง 30 ชั้น (เมื่อคิดความสูงที่ชั้นละ 3.5 เมตร) ฐานพีระมิดแต่ละด้านยาว 220 เมตร (722 ฟุต) หรือมีขนาดฐานเกือบเท่ากับมหาพีระมิดคูฟูแห่งกิซ่า นับเป็นพีระมิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพีระมิด 3 แห่งที่เมืองดาชูร์ (Dahshur) และในยุคสมัยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จยังนับเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดในโลกในขณะนั้นอีกด้วย และเนื่องจากพีระมิดนี้สร้างโดยปิดผิวนอกด้วยหินแกรนิตสีแดงทำให้ได้ชื่อว่าพีระมิดแดงจากสีหินแกรนิตนั่นเอง


 Sad อ้างอิง

    ^  คำนวณน้ำหนัก คำนวณโดยอาศัยสูตรเรขาคณิตสำหรับคำนวณปริมาตรพีระมิดที่ว่าเท่ากับ "(พื้นที่ฐาน คูณ ความสูง) หารด้วยสาม" = (230 x 230 x 147) / 3 = 2,592,100 ลูกบาศก์เมตร คิดน้ำหนักเฉลี่ยหินปูนที่ 2,611 กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร = 2,592,100 x 2,611 = 6,767,973,100 กิโลกรัม ถ้าคิดน้ำหนักเฉลี่ยคงที่ 2.5 ตันต่อก้อน จะมีหินจำนวน = 6,767,973,100 / 2,500 = 2,707,189 ก้อนซึ่งมากกว่าจำนวนสูงสุดที่มีอ้างอิง เมื่อเป็นแบบนี้ผมจึงเห็นควรว่าจะใช้ตัวเลขจำนวนหินสูงสุดที่ 2.5 ล้านก้อน ในการคำนวณ น่าจะใกล้เคียงกับงานมากที่สุด แต่ละก้อนก็ให้มีน้ำหนักเท่ากันคือ 2.5 ตันตามที่มีอ้างอิงตามแหล่งต่างๆ ทั้งนี้หินบางก้อนจะมีขนาดถึงกว่า 15 ตัน ในส่วนเพดานของห้องเก็บพระศพฟาโรห์ สร้างด้วยหินแกรนิตสีแดงขนาดใหญ่จำนวนไม่ต่ำกว่า 38 ก้อน น้ำหนักตั้งแต่ 50 ถึง 70 ตัน วางซ้อนกัน 5 ชั้นอยู่ภายในพีระมิดที่ระดับสูงจากพื้นดินกว่า 150 ฟุต โดยที่เพดานชั้นล่างสุดประกอบด้วยหิน 9 ก้อน ก้อนใหญ่ที่สุดมีขนาด กว้าง 7 ฟุต หนา 5 ฟุตและยาวถึง 27 ฟุต เมื่อประมาณน้ำหนักที่ลูกบาศก์ฟุตละ 165 ปอนด์ หินก้อนนี้จะหนักกว่า 70 ตัน ส่วนบนสุดของเพดานปิดไว้ด้วยหินปูนรูปจั่ว ขนาดยักษ์เป็นชั้นที่ 6 ภายในห้องเก็บพระศพมีโลงหินแกรนิตสีดำขุดแต่ง จนเป็นรูปโลง จากการศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์ คาดว่าโลงนี้ถูกขุดแต่งด้วยเครื่องมือที่ทำจากหินรัตนชาติความแข็งสูง อ้างอิงความหนาแน่นหินปูน
    ^ คำนวณเวลา ระยะเวลา 20 ปี ถ้ามีเวลาทำงานปีละ 4 เดือนเต็มๆ จะเท่ากับ 2,400 วันใน 20 ปี ดังนั้นต้องทำงานก่อสร้างให้ได้ 2,500,000 ก้อน/ 2,400 วัน = 1,041.67 หรือประมาณวันละ 1,040 ก้อน คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 1,040 x 2.5 = 2,600 ตัน (หรือประมาณว่าขนย้ายข้าวสาร วันละ สองหมื่นหกพันกระสอบ) แต่ถ้ามีเวลาทำงานปีละแค่ 3 เดือนจะมีวันทำงานเพียง 1,800 วันใน 20 ปีคำนวณด้วยวิธีเดียวกันจะได้ 1,388.89 ประมาณ 1,389 ก้อนต่อวัน คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 1,389 x 2.5 = 3,472.5 (หรือประมาณว่าขนย้ายข้าวสารวันละกว่า สามหมื่นสี่พันกระสอบ)
    ^ คำนวณแรงงาน หินหนัก 2.5 ตัน 1 ก้อนต้องการแรงงานสำหรับเคลื่อนย้ายประมาณ 8 - 10 คน นับเป็นคนงาน 1 ชุด หากสามารถขนส่งหิน 1 เที่ยวในเวลา 1 วัน (คิดจากเมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจาก แม่น้ำไนล์ จะท่วมเข้ามาใกล้บริเวณก่อสร้างจนเหลือระยะทางประมาณ 500 เมตร) จะต้องใช้แรงงานทั้งหมด 1,040 - 1,389 ชุดๆ ละ 8 - 10 คน ประมาณ 8,000 ถึง 13,890 คนเฉพาะในการขนย้ายหินก่อสร้างทางบก



บันทึกการเข้า

สิ่งที่ดีที่สุด คือการให้ แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คือการเห็นแก่ตัว
(ปัญหาทุกอย่าง มีทางแก้เสมอ อยู่ที่เราจะแก้มันด้วยวิธีใหน แต่สุดปัญญาทน สุดท้ายต้อง วิชามาร)

EMOSECTION
Full Member
member
**

คะแนน20
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 453


เรียนให้รู้ ดูให้จำ ทำให้เป็น


อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: ธันวาคม 22, 2007, 09:22:26 PM »

 Sad ไฟร์บางไฟร์ ใหญ่เกินไป ไม่สามารถดูได้ครับ ยังไงก็ขออภัย ด้วยนะครับที่บางรูปดูไม่ได้  Cry
บันทึกการเข้า

สิ่งที่ดีที่สุด คือการให้ แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คือการเห็นแก่ตัว
(ปัญหาทุกอย่าง มีทางแก้เสมอ อยู่ที่เราจะแก้มันด้วยวิธีใหน แต่สุดปัญญาทน สุดท้ายต้อง วิชามาร)
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!