ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ โดย ศุภวรรณ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ โดย ศุภวรรณ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน  (อ่าน 4288 ครั้ง)
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13256


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« เมื่อ: พฤศจิกายน 17, 2007, 10:13:25 AM »

   เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของผู้เขียนที่จะเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของไอน์สไตน์กับภูมิปัญญาทางธรรมอันเป็นผลจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ผู้เขียนมีเหตุผลที่จะเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นคำถามเรื่องจุดคงที่ของจักรวาล (The absolute ruling point in nature) ที่อัลเบริต์ ไอน์สไตน์ได้ถามเป็นท่านแรกและต้องการค้นให้พบอันเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่บทสรุปของทฤษฎีสัมพัทธภาพ (The Theory of Relativity) หรือ ทฤษฎีสรรพสิ่ง (The Theory of Everything) ที่ไอน์สไตน์ได้ทุ่มเทชีวิตในช่วง ๓๐ ปีสุดท้ายเพื่อหาคำตอบ, คำถามที่ครอบจักรวาลของไอน์สไตน์เหล่านี้ล้วนชี้ไปสู่ความหมายเดียวกันคือ ไอน์สไตน์ต้องการค้นหาสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดที่มีอยู่ในธรรมชาตินั่นเอง ซึ่ง
คำตอบที่เป็นอมตะนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบแล้วเมื่อ ๒๕๙๔ ปีก่อน ซึ่งท่านใช้คำว่า พระนิพพาน หรือ การหมดทุกข์อย่างสิ้นเชิง 

   จุดเด่นและจุดสำคัญยิ่งของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ตัวผู้เขียนที่กล้ายืนยันว่า “สัจธรรมอันสูงสุดในธรรมชาติมีอยู่” รวมทั้งกล้าประกาศให้ผู้อ่านรู้ว่า เธอรู้แน่ชัดแล้วว่าสัจธรรมอันสูงสุดหรือสภาวะพระนิพพานคืออะไร เป็นอย่างไร จึงทำให้เธอสามารถตั้งศัพท์ใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเพื่อคนยุคใหม่สามารถเข้าถึงสัจธรรมได้ง่ายขึ้น อันคือ ผัสสะบริสุทธิ์ และ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ การประกาศตนเป็นผู้รู้สภาวะสัจธรรมของผู้เขียนนี้เอง ตัวต่อตัวสุดท้ายที่ยังขาดอยู่หรือเป็น missing link ก็สามารถถูกวางลง ก่อให้เกิดภาพชัดเจนของชีวิตที่เชื่อมโยงกับจักรวาลทั้งหมดได้ และก่อให้เกิดการประสานเชื่อมต่อระหว่างภูมิปัญญาทางโลก โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาทางศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของชีวิต การเกิดแก่เจ็บตาย (บทที่ ๑) เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จึงตั้งอยู่บนรากฐานที่ผู้เขียนอ้างว่าเธอรู้สัจธรรมอันสูงสุด ซึ่งเธอได้อธิบายสภาวะสัจธรรมในฐานะที่เป็น “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” (บทที่ ๖) โดยใช้ข้อเปรียบเทียบของรถไฟสองขบวนที่วิ่งพร้อมกัน

   เนื้อหาในบทที่ ๒, ๓, ๔ ของหนังสือเล่มนี้คือ การวิเคราะห์หัวข้อและคำถามที่มักถามกันบ่อยอันเกี่ยวข้องกับเรื่องชีวิต และ จักรวาล เช่น ตัวจริงของเราคืออะไร อยู่ที่ไหน จิตใจที่เป็นปกติคืออะไร และ พรมแดนสุดท้ายของจักรวาลอยู่ที่ไหน ซึ่งผู้เขียนได้พยายามประสานและขมวดหัวข้อที่ดูเหมือนแตกต่างกันมากเหล่านี้เข้าสู่เรื่องสัจธรรมอันสูงสุด หรือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับจุดคงที่ของจักรวาล อันเป็นเนื้อหาส่วนที่จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถมองพระพุทธศาสนาว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเองมากกว่าเป็นเรื่องไกลสุดกู่ และมองใหม่ว่า พระนิพพานไม่ใช่เป็นทางเลือก แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องไปให้ถึง เพราะ การไม่รู้จักพระนิพพานก็คือการไม่รู้จักตัวเอง  คือการไม่รู้จักความปกติที่แท้จริงของจิตใจตัวเอง และคือการไม่รู้ว่าที่จริงแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นศูนย์กลางของจักรวาลของตนเอง
   
จุดเด่นอีกข้อหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนได้พยายามช่วยเหลือปัญญาชนที่บูชาการใช้ความคิดให้รู้จักจุดยืนของตนเองที่เนื่องกับจักรวาล โดยแยกแยะให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความแตกระหว่างวิธีการหาความรู้ทางโลกที่ยังอิงกับความมืดบอดของอวิชชากับความรู้ทางธรรมที่จะช่วยให้รู้จักตนเองอย่างแท้จริงอันเป็นเนื้อหาของบทที่ ๔ และ ๕

   ความสมบูรณ์ของหนังสือเล่มนี้คงจะอยู่ที่การบอกทางออกของชีวิต อันคือวิธีการที่จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถค้นพบจุดนิ่งของจักรวาลหรือสัจธรรมอันสูงสุดด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเนื้อหาของบทที่ ๗ ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า สติปัฏฐานสี่หรือวิปัสสนาเท่านั้นที่จะเป็นทางออกให้ชาวโลกได้พบกับความสุขและสันติภาพที่แท้จริง และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่านที่อยากเริ่มการเดินทางเพื่อแสวงหาตัวเองทันทีที่อ่านทั้ง ๗ บทจบ ผู้เขียนจึงได้นำเรื่อง “การพาตัวใจกลับบ้าน” อันคือวิธีการฝึกสติปัฏฐานสี่ที่ได้ประยุกต์ให้เหมาะสมกับคนยุคใหม่มาไว้ที่ภาคผนวกซึ่งทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์อย่างเต็มเปี่ยม

****************************************************************************************************************************


บทที่หนึ่ง
ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ
Einstein Questions, Buddha Answers

   ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อันทำให้อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กลายเป็นอัจฉริยะบุคคลที่่ถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ของโลกเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนในปี ค.ศ. 1905 เมื่อผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์พร้อมกันถึง ๕ ชิ้น และชิ้นหนึ่งคือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพจำเพาะอันมีูสมการ e = mc2 ที่สร้างคุณอย่างอเนกอนันต์พอ ๆ กับการสร้างโทษอย่างมหันต์

ก่อนหน้าทฤษฎีสัมพัทธภาพ
   ดิฉันซาบซึ้งในบุญคุณของอัลเบร์ต ไอน์สไตน์ ที่ได้ตั้งคำถามที่สำคัญมากที่สุดแทนมนุษยชาติ นั่นคือ อะไรคือจุดคงที่อันเป็นอนันตยะที่สมบูรณ์ของจักรวาล What is the absolute ruling point in nature?
   ดิฉันไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์และไม่ค่อยเข้าใจรายละเอียดของทฤษฎีสัมพัทธภาพที่ซับซ้อนมากนัก ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจ ดังที่นักข่าวมักขอร้องให้ไอน์สไตน์สรุปสั้น ๆ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพนี้คืออะไีร ทำไมจึงสำคัญต่อมนุษยชาติมาก ไอน์สไตน์มักรู้สึกลำบากใจเพราะนี่เป็นความรู้ที่เขาปลุกปล้ำอยู่ถึง ๑๕ ปี แล้วจะให้มาสรุปให้คนฟังอย่างสั้น ๆ ได้อย่างไร ไอน์สไตน์จึงเฉตอบนักข่าวด้วยเรื่องที่ขบขันว่า
   “คุณลองเอามือวางเหนือเตาร้อน ๆ สักหนึ่งนาทีสิ  คุณจะรู้สึกว่ามันนานเหมือนหนึ่งชั่วโมง แต่หากคุณไปนั่งอยู่ใกล้หญิงสาวสวยสักหนึ่งชั่วโมง คุณจะรู้สึกว่ามันนานเหมือนเพียงนาทีเดียว นั่นแหละคือทฤษฎีสัมพัทธภาพของผมแหละ”
    เรื่องการสรุปความคิดหลัก ๆ นี่แหละ เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการรู้รายละเีอียด เพราะเป็นเรื่องของการสร้างกรอบ หรือ โครงสร้างของความคิด ฉะนั้น สิ่งที่ดิฉันจะสรุปอันเกี่ยวเนื่องกับทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์จึงเป็นความรู้ที่ย้อนกลับไปในชั่วโมงวิทยาศาสตร์สมัยที่ยังเรียนชั้นมัธยม เพราะคุณครูย่อมหยิบยื่นแต่ความคิดหลัก ๆ ที่พูดอย่างสรุปย่อ ๆ  เท่านั้น และดิฉันยังดึงความคิดแบบสรุปเหล่านี้ออกมาจากหนังสือสารานุกรมของเยาวชนรวมทั้งการดูสารคดีต่าง ๆ ด้วย บวกกับความรู้ในเรื่องพระนิพพานของพระพุทธเจ้า ดิฉันจึงสามารถต่อยอดแจกแจงความคิดเหล่านี้ออกมาได้

ทำไมไอน์สไตน์จึงอยากหาจุดคงที่
     เพื่อความชัดเจนมากขึ้น ขอให้เข้าใจว่า “จุดคงที่” กับ “จุดปกติ” มีความหมายเหมือนกัน ซึ่งดิฉันจะใช้ทดแทนกันตั้งแต่บัดนี้เพื่อให้เหมาะสมกับข้อเปรียบเทียบ
   สิ่งที่ดิฉันให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ  ทำไมไอน์สไตน์จึงต้องการหาจุดคงที่อันถาวรของจักรวาลตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่ออะไร สิ่งที่ดิฉันทำความเข้าใจได้คือ ถ้าหากไอน์สไสตน์สามารถหาจุดปกติของจักรวาลที่อยู่อย่างคงทนถาวร มีค่าสมบูรณ์ ไม่เปลี่ยนแปลงได้แล้ว เขาจะสามารถใช้จุดปกตินั้นเป็นมาตรฐานการวัดสิ่งต่าง ๆ ได้ และย่อมทำให้ผลของการวัดอะไรต่าง ๆ คงที่ ปกติ ได้ผลเหมือนกันหมด absolute value ไม่ว่าจะวัดจากจุดไหนของจักรวาล
   อย่างไรก็ตาม ไอน์สไตน์ไม่สามารถหาจุดคงที่อันถาวรของจักรวาลได้ เพราะว่า สิ่งต่าง ๆ ที่แม้ดูนิ่ง ๆ บนโลก ไม่เคลื่อนไหวก็ตาม แต่ที่จริงแล้ว มันไม่ได้อยู่นิ่งจริง เพราะโลกกำลังหมุนอยู่ เมื่อดูในวงกว้างออกไปจากนอกโลก ก็พบว่าระบบสุริยะจักรวาลก็กำลังเคลื่อนอยู่ แกแลกซี่ของเราและอื่น ๆ ก็กำลังเคลื่อนอยู่ ตลอดจนถึงจักรวาลทั้งหมดก็กำลังเคลื่อนไปอย่างไม่หยุดยั้ง จึงทำให้ไอน์สไตน์สรุปว่าไม่มีจุดนิ่งหรือจุดปกติที่สามารถให้คุณค่าที่เที่ยงแท้ถาวรอย่างแท้จริงในจักรวาล เพราะทุกอย่างเคลื่อนที่อย่างไม่หยุดยั้ง

 สัมพันกับอนิจจังและนิพพาน
   ความคิดหลักของทฤษฎีสัมพัทธภาพนี้เปรียบเหมือนกับการพบสี่แยกหลักที่สามารถเดินเลี้ยวต่อไปได้อีกมากมายหลายทางทีเดียว ในขณะที่ไอน์สไตน์เลี้ยวไปสู่แยกที่เน้นความรู้ทางด้านฟิสิกส์เพียงอย่างเดียวจนก่อให้เกิดการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ พลังงานปรมณูและเทคโนโลยี่อื่น ๆ อีกมากมายนั้น ดิฉันจะพยายามพาคุณเลี้ยวไปสู่แยกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขทุกข์ของชีวิตของเราโดยตรง ความคิดหลักของทฤษฎีสัมพัทธภาพเป็นเรื่องครอบจักรวาล ครอบคลุมทุกเรื่องของชีวิต  เพราะความคิดทั้งหมดเหล่านี้สัมพันกับเรื่องอนิจจังและพระนิพพานของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเรื่องครอบจักรวาลเช่นกัน  จึงเป็นสิ่งที่ดิฉันพยายามจะโยงให้คุณในหนังสือเล่มนี้ 

 เมื่อไม่รู้จุดคงที่ของจักรวาล
   เมื่อไอน์สไตน์สรุปว่าไม่มีจุดคงที่ในจักรวาล ย่อมหมายความว่า การวัดอะไรต่าง ๆ จะต้องสมมุติจุดคงที่ขึ้นมาก่อน และวัดสิ่งต่าง ๆ จากจุดสมมุตินั้น ซึ่งผลที่ได้จะมีค่าสัมพัทธ์กับจุดปกติที่ถูกสมมุติขึ้น เพื่อให้คุณเข้าใจชัดเจนมากขึ้น ดิฉันจะเรียกแทนจุดคงที่นี้ว่า “พรมแดนสุดท้าย the final frontier” (บทที่ ๔) เพื่อให้สอดคล้องกับการยกตัวอย่างที่จะวัดความใกล้ไกลของสถานที่
   เมื่อคุณไม่รู้จุดคงที่หรือจุดปกติของจักรวาล ก็ความหมายว่าคุณไม่รู้ขอบเขตที่เป็นพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลที่สามารถใช้เป็นเสาหลักมาตรฐานเพื่อวัดความใกล้ไกลของทุกสถานที่ในจักรวาลนั่นเอง เช่น หากคุณต้องการทราบว่า เชียงใหม่อยู่ไกลแค่ไหน คุณจะถามลอย ๆ ไม่ได้ คุณต้องกำหนดลงไปให้แน่ชัดก่อนว่าคุณต้องการวัดความใกล้ไกลของเมืองเชียงใหม่จากจุดไหนเสียก่อน จึงจะพูดกันรู้เรื่อง ไม่เช่นนั้น เถียงกันตาย
    หากคุณเอากรุงเทพเป็นหลัก นั่นคืือ สมมุติให้กรุงเทพเป็นพรมแดนสุดท้าย เชียงใหม่ก็จะอยู่ไกลจากกรุงเทพ ๖๐๐ กิโลเมตร หากคุณเอาสงขลาเป็นหลัก  เชียงใหม่ก็จะอยู่ห่างจากสงขลา ๑๖๐๐ กิโลเมตร หากสมมุติให้กรุงลอนดอนเป็นหลักหรือเป็นพรมแดนสุดท้าย เชียงใหม่ก็จะอยู่ห่างจากลอนดอนถึง ๖๐๐๐ กิโลเมตร เป็นต้น ฉะนั้น คุณจะเห็นว่า ๖๐๐, ๑๖๐๐, ๖๐๐๐ กิโลเมตรคือค่าสัมพัทธ์อันเป็นผลของการสมมุติจุดนิ่งหรือจุดพรมแดนสุดท้ายขึ้นมาเพื่อวัดความใกล้ไกลของสถานที่ ฉะนั้น การตัดสินว่าใครอยู่ใกล้หรือไกลเชียงใหม่จึงขึ้นอยู่ที่ว่า คุณอยู่จุดไหน คนอยู่ลอนดอนก็ต้องเห็นว่าเชียงใหม่ไกลมาก ใครอยู่สงขลาก็ย่อมเห็นเชียงใหม่ไกลกว่าคนอยู่กรุงเทพ ใครอยู่ลำปางก็ย่อมเห็นว่าเชียงใหม่อยู่ใกล้นิดเดียว  นี่คือ การพูดอย่างสัมพัทธ์ relatively speaking อันเป็นผลของทฤษฎีสัมพัทธภาพ

เมื่อรู้จุดคงที่
   แต่ถ้าคุณรู้จุดคงที่ จุดนิ่ง หรือจุดปกติของจักรวาล หรือ รู้แน่ชัดว่าพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลอยู่ตรงไหนแล้วละก็ ทีนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ซอก ซอย  ไหนของจักรวาลก็ตาม คุณก็สามารถวัดจากจุดที่คุณอยู่และไปจรดที่เสาหลักสุดท้ายหรือพรมแดนสุดท้าย หรือ จุดปกติของจักรวาล  ทุกคนจะสามารถทำได้เหมือนกันหมดเพราะรู้เสาหลักสุดท้ายของจักรวาลแล้ว  ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะอยู่ ณ จุดไหนของจักรวาล ก็สามารถวัดจากจุดที่ตนเองอยู่และไปจรดที่เสาหลักอันเป็นพรมแดนสุดท้ายของจักรวาล  การวัดนั้นก็จะเป็นมาตรฐานสากลของจักรวาล ได้ค่าคงที่เหมือนกันหมด ฉะนั้น  คนอยู่กรุงเทพ เชียงใหม่ สงขลา ลอนดอน หากจะวัดความใกล้ไกล ก็ต้องวัดไปที่เสาหลักสุดท้ายของจักรวาลก่อน ซึ่งอาจจะได้ค่าตามลำดับเช่นนี้คือ ๑.๕ ล้านปีแสง ๑.๕๒ ล้านปีแสง ๑.๕๔ ล้านปีแสง ๒ ล้านปีแสง เป็นต้น นี่เป็นการสมมุติว่าหากเรารู้จุดคงที่หรือจุดปกติของจักรวาล ทุกคนจะรู้แน่ชัดว่า ใครอยู่ใกล้หรือไกลจากจุดคงที่หรือพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลมากน้อยแค่ไหน นี่คือ การพูดอย่างแน่นอน absolutely speaking เพราะรู้จุดเที่ยงแท้แน่นอนของจักรวาล นี่คือเหตุผลที่ไอน์สไตน์อยากหาจุดคงที่ของจักรวาล เพื่อจะได้ใช้เป็นมาตรฐานหลักของจักรวาล แต่อย่างที่พูดแล้วว่า ความรู้ของไอน์สไตน์เน้นไปที่เรื่องฟิสิกส์เพียงถ่ายเดียวเท่านั้น
 
แต่สัมพัทธภาพครอบคลุมทุกเรื่อง
   การวัดน้ำหนักของวัตถุสิ่งของก็เช่นกัน น้ำหนักตัวของคนบนโลกมีค่าสัมพัทธ์กับแรงโน้มถ่วงของโลก พูดให้งงเล่นก็คือ ทุกครั้งที่คุณชั่งน้ำหนักตัวเอง ที่จริงแล้ว คุณกำลังชั่งแรงถ่วงของโลกที่กดลงบนตัวคุณ หากไปชั่งน้ำหนักบนโลกพระจันทร์ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าโลก น้ำหนักที่กดลงตัวคุณบนโลกพระจันทร์จะน้อยกว่าแรงที่กดบนโลก จึงทำให้น้ำหนักตัวของคุณน้อยกว่าน้ำหนักตัวที่ชั่งบนโลก การจะตัดสินว่าใครอ้วน ใครผอม สวย ขี้เหร่ เหล่านี้ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเราเอาใครและอะไรเป็นมาตรฐานของการวัด เราต้องสมมุติค่าปกติขึ้นมาก่อน เช่น คนแขกชอบให้ผู้หญิงของเขามีเนื้อมีหนังมีพุงย้อยอันเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย ซึ่งเขาเรียกหุ่นเช่นนี้ว่าสวย แต่ในสายตาของหญิงชาวตะวันตกที่ชอบหุ่นเพรียว ๆ นั้นจะเห็นหญิงแขกอ้วน ในขณะที่หญิงแขกจะเห็นหญิงชาวตะวันตกผอมเกินไป ความรวย ความจน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาใครและอะไรเป็นมาตรฐานของการวัด กรรมกรที่หาเช้ากินค่ำก็จะเห็นทุกคนรวยกว่าตนหมดนอกจากขอทานเท่านั้น (ขอทานบางคนอาจจะรวยกว่ากรรมกรก็เป็นได้) คนมีเงินเก็บจำนวนแสนก็จะเห็นคนมีเงินล้านรวยกว่าตน ส่วนคนรวยที่มีทรัพย์สินสิบล้าน ก็จะเห็นคนที่มีน้อยกว่านั้นจนกว่าตนเองหมด แต่เมื่อนำตนเองไปเปรียบเทียบกับคนมีทรัพย์สินร้อยล้าน พันล้าน ก็ยังคิดว่าตัวเองจนอยู่  ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่มีทรัพย์สินหลายหมื่นล้าน ก็คงคิดว่าตนเองยังจนมากอยู่ เป็นต้น
   เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งสมบูรณ์ คงที่ และปติ อันจะใช้เป็นมาตรฐานของการวัดสิ่งต่าง ๆ ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงต้องวัดกันอย่างเปรียบเทียบ หรือ สัมพัทธ์กันเช่นนี้  จึงก่อให้เกิดคำวลีภาษาอังกฤษว่า relatively speaking หรือ พูดอย่างสัมพัทธ์ ซึ่งเป็นวลีที่ใช้กันบ่อยมากในชีวิตประจำวัน เพราะต้องพูดให้รู้เรื่องก่อนว่าเอาอะไรเป็นหลัก มิเช่นนั้น เถียงกันตาย แต่ถ้าหากเรารู้จุดคงที่ของจักรวาล วิถีชีวิตของเราจะต้องเปลี่ยนไปเป็นอีกลักษณะหนึ่ง   


 ไอน์สไตน์กับทฤษฎีเอกภาพ
   หลังจากการค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพแล้ว ไอน์สไตน์ก็ยังได้ค้นพบเรื่องกลศาสตร์ควอนตัม Quantum Mechanic ซึ่งความคิดหลักของทฤษฎีนี้คือ ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้เกิดขึ้นและมีการทำงานเหมือนการโยนลูกเต๋า ผลของมันย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานของความอาจจะเป็นไปได้ probability เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไอน์สไตน์ยอมรับไม่ได้ เพราะค่าของความอาจจะเป็นไปได้เปรียบเหมือนกับการยืนอยู่บนท่าน้ำที่โคลงเคลง เอนเอียง หากใช้ภาษาของชาวพุทธแล้ว การค้นพบกลศาสตร์ควอนตัมก็คือ การค้นพบเรื่องอนิจจังนั่นเอง สิ่งที่ไอน์สไตน์ต้องการนั้น เปรียบเทียบได้กับความหนักแน่นของพื้นดิน หรือ สิ่งหนึ่งที่ให้ค่าอันคงที่ ปกติ ถาวร ซึ่งเขาคิดว่าคณิตศาสตร์เท่านั้นที่สามารถหยิบยื่นสิ่งที่เที่ยงแท้ แน่นอน ให้กับเขาได้ ฉะนั้น แม้ไอน์สไตน์เป็นผู้ค้นพบเรื่องกลศาสตร์ควอนตัมอันเป็นความรู้ที่ได้รับการต่อยอดพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นหัวใจของการพัฒนาเทคโนโลยี่ในปัจจุบันก็ตาม ไอน์สไตน์กลับไม่ได้ให้เยื่อใย ไม่สนใจ แถมดูหมิ่นความรู้ที่เขาได้ค้นพบเอง หรือ ถ้าพูดใหม่ด้วยภาษาของชาวพุทธว่า ไอน์สไตน์ยอมรับความเป็นอนิจจังของทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ จึงขวนขวายหาสิ่งที่เป็นนิจจัง หรือ ความเที่ยงแท้ ถาวร
   สิ่งที่รั้งไอน์สไตน์ไว้คือ ความเป็นนักการศาสนาของเขา ความเชื่อในพระเจ้า และนิสัยส่วนตัวที่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างแน่ชัด ถึงแก่น และสามารถแปรความเข้าใจนั้น ๆ ออกมาเป็นสูตรสำเร็จทางคณิตศาสตร์ที่แน่นอน ซึ่งคณิตศาสตร์เป็นวิธีการเดียวที่ไอน์สไตน์สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ หลังจากที่ประธานาธิบดีคนแรกของอิสราเอลเสียชีวิต ไอน์สไตน์ได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานาธิบดีของชาวยิวคนต่อไป เพราะความเป็นนักฟิสิกส์ที่ได้รับรางวัลโนเบลและเป็นผู้รักสันติภาพมาก จึงได้มีส่วนช่วยเหลือชาวยิวจนก่อให้เกิดประเทศอิสราเอลขึ้นมาในปี 1948 แต่ไอน์สไตน์ปฏิเสธตำแหน่งผู้นำประเทศโดยให้เหตุผลว่า
    “การเมืองอยู่ได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น แต่สมการทางคณิตศาสตร์สามารถอยู่ได้อย่างชั่วนิรันดร”
   อย่างไรก็ตาม ความรัก ความคลั่งไคล้ และบูชาในพระเจ้ากับคณิตศาสตร์ไปพร้อม ๆ กันนี่เอง ได้กลายเป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ในหัวสมองหรือจิตใจของอัจฉริยะบุคคลผู้นี้อีก นับตั้งแต่ต้นปี 1920 เป็นต้นไป  ไอน์สไตน์ได้เข้าสู่ยุคของการคิดค้นหาทฤษฎีเอกภาพ The Unified Theory หรือ ทฤษฎีสรรพสิ่ง The Theory of Everything

  พระเจ้าไม่เล่นลูกเต๋า
   ไอน์สไตน์เชื่อมั่นเหลือเกินว่า ความเถรตรงของคณิตศาสตร์เท่านั้นที่สามารถอธิบายและให้คำตอบแก่ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลได้ จะสามารถรวมความรู้ทั้งหมดของจักรวาลเข้าเป็นหนึ่งเดียว รวมไปถึงการอธิบายว่าพระเจ้าสร้างจักรวาลนี้ได้อย่างไร ดังที่ไอน์สไตน์พูดว่า
   “ข้าพเจ้าต้องการรู้ว่าพระเจ้าสร้างโลกนี้อย่างไร ข้าพเจ้าไม่ได้สนใจปรากฏการณ์นั้นนี้ว่ามันเป็นของธาตุนั้นหรือธาตุนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้น ข้าพเจ้าต้องการรู้ความคิดของพระเจ้าต่างหาก” 
 ทฤษฎีเอกภาพนี้จึงเปรียบเหมือนการหาสมการทางคณิตศาสตร์ที่สามารถอ่านจิตใจของพระเจ้าและงานศิลปะการสร้างโลกและมนุษย์ของพระเจ้านั่นเอง ซึ่งเป็นความคิดที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานมาก ในเดือนเมษายน 1955 ไอน์สไตน์ล้มป่วยและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลปรินซ์ตัน รัฐนิวเจอซี่ อันเป็นเมืองที่เขาอยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ไอน์สไตน์ก็ยังไม่ลดละที่จะคิดค้นสูตรทางคณิตศาสตร์ที่เขาหาอยู่ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา เขามักมีกระดาษ ดินสอ อยู่กับตัวและขีดเขียนตัวเลข เครื่องหมาย และสมการทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ซึ่งพยาบาลคนหนึ่งที่ดูแลเขาอยู่ได้หามาให้ จึงมีโอกาสได้เห็นพูดคุยสนทนากับไอน์สไตน์ จึงรู้ว่าไอน์สไตน์ยังคงพยายามอ่านหัวสมองของพระเจ้าอยู่ พยาบาลรู้สึกเห็นใจ อยากให้ไอน์สไตน์พักผ่อนอย่างเต็มที่ วันหนึ่งพยาบาลจึงพูดกับไอน์สไตน์อย่างอ่อนโยนและเป็นห่วงเป็นใยว่า

   บางที พระเจ้าท่านอาจจะไม่อยากให้เราอ่านจิตใจของท่านก็ได้นะ
   Maybe God doesn’t want us to know his mind.

ทั้ง ๆ ที่ยังเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ ไอน์สไตน์พูดสวนกลับทันทีอย่างดื้อรั้นพร้อมกับสั่นศรีษะไปมาว่า

   พระเจ้าไม่เล่นลูกเต๋าหรอก คุณพยาบาล!
   God doesn’t play dice, nurse!

ซึ่งเป็นการพูดพาดพิงอย่างดูหมิ่นถึงเรื่องกลศาสตร์ควอนตัมที่มีผล “อาจจะเป็นไปได้” หรือ อนิจจังนั่นเอง   
   ประวัติศาสตร์จึงได้จารึกเหตุการณ์ในช่วง ๓๐ ปีสุดท้ายของไอน์สไตน์ในฐานะบุคคลที่ล้มเหลว จมปรักอยู่ในโลกของวิทยาศาสตร์ที่ล้าหลัง โดดเดี่ยวเดียวดาย เพราะภายในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ชาวฟิสิกส์ด้วยกันแล้ว ต่างรู้ว่าทฤษฎีเอกภาพนี้เป็นเรื่องเพ้อฝันของไอน์สไตน์เท่านั้นเอง ไม่มีทางจะเป็นความจริงได้เลย การแสวงหาของไอน์สไตน์ไร้ผลอย่างสิ้นเชิง อัจฉริยะบุคคลผู้นี้จึงได้จากโลกนี้ไปในวันที่ ๑๘ เมษายน ๑๙๕๕ ในขณะที่ในมือยังกำแผ่นกระดาษที่ขีดเขียนสมการทางคณิตศาสตร์อยู่ โดยที่ยังไม่ได้พบคำตอบที่เขาต้องการหาแต่อย่างใด
   ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก หากไอน์สไตน์สามารถอ่านความคิดของพระเจ้าได้แล้ว เขาอาจจะสามารถตอบคำถามมากมายที่ยาวเป็นหางว่าวที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทำไม” เช่น ทำไมพระเจ้าจึงปล่อยให้ฮิตเลอร์และทหารนาซีฆ่าชาวยิวอย่างล้างเผ่าพันธุ์เช่นนั้น ทำไมพระเจ้าจึงไม่ยุติสงครามที่สร้างความทุกข์อย่างมหันต์ให้กับมนุษย์ี่ที่พระเจ้าสร้างและรักมากดังคำโฆษณา ทำไมพระเจ้าจึงไม่ช่วยผู้กรีดร้องขอความช่วยเหลือจากท่านเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตเช่น เด็กหญิงที่กำลังถูกข่มขืน ถูกฆ่า หรือ กำลังหนีภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม และทำไมพระเจ้าจึงสร้างโลกและสังคมมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและอยุติธรรมเช่นนี้ ฯลฯ

ไอน์สไตน์ยอมรับพระพุทธศาสนา
   ถึงแม้ไอน์สไตน์ได้จากโลกนี้ไปโดยไม่พบคำตอบที่เขาต้องการก็ตาม เขาได้ทิ้งคำพูดที่สำคัญมากให้กับมนุษยชาติซึ่งดิฉันรู้สึกซาบซึ้งมาก ในบั้นปลายชีวิตของเขา ไอน์สไตน์เริ่มสงสัยแล้วว่า ศาสนาพุทธอาจจะเป็นศาสนาที่ให้คำตอบต่อคำถามที่เขาอยากค้นพบก็เป็นได้ ในปี ๑๙๕๔ หนึ่งปีก่อนเสียชีวิตนั้น มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันได้ตีพิมพ์งานเขียนชิ้นหนึ่งของไอน์สไตน์ชื่อเรื่องว่า “The Human Side” ซึ่งนักฟิสิกส์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลผู้นี้ได้พูดทิ้งไว้นิดหน่อยว่า
    ศาสนาในอนาคตจะเป็นศาสนาที่เนื่องกับจักรวาล  ควรอยู่เหนือพระเจ้าส่วนตัว หลีกเลี่ยงลัทธิกฏเกณฑ์ที่ไร้ข้อพิสูจน์ ควรครอบคลุมทั้งเรื่องธรรมชาติและจิตวิญญาณ ควรตั้งอยู่บนรากฐานของศาสนาที่เกิดจากประสบการณ์ของทุกสิ่งที่สร้างเอกภาพอันมีความหมาย ซึ่งพระพุทธศาสนาดูเหมือนจะมีสิ่งเหล่านี้อยู่ ศาสนาพุทธน่าจะเป็นศาสนาที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของยุคสมัยได้
   ไอน์สไตน์พูดถูกเผ๋งทีเดียว ทฤษฎีเอกภาพหรือทฤษฎีสรรพสิ่งที่เขาต้องการค้นหานั้น ที่จริงพระพุทธเจ้าได้ตอบให้เบ็ดเสร็จแล้วก่อนหน้านั้นถึง ๒๕๐๐ ปีเศษ

ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ
   ในความเห็นของดิฉัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุดคงที่อันแน่นอนของจักรวาลหรือเรื่องการอ่านความคิดของพระเจ้านั้น ที่จริง เป็นเรื่องเดียวกัน พูดง่าย ๆ คือ อัจฉริยะบุคคลของโลกผู้นี้ต้องการหาสิ่ง ๆ หนึ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็น อสังขตธรรม ซึ่งมีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ แน่นอน คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นนิจจัง เป็นอันติมะ คือไม่มีสิ่งอื่นใดที่สามารถไปเหนือสิ่งนี้ได้อีกแล้ว สิ่งนี้เป็นพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลแล้ว ซึ่งมีสิ่งเดียวในจักรวาลนี้เท่านั้น  คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่สุดแห่งทุกข์ นั่นเอง
   พระพุทธเจ้าได้บรรยายลักษณะพระนิพพานอันเป็นจุดปกติของจักรวาลเช่นนี้คือ
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ในอายตนะนั้น ไม่ใช่ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกหน้า ไม่ใช่พระจันทร์ ไม่ใช่พระอาทิตย์ ไม่ใช่การมา ไม่ใช่การไป ไม่ใช่การตั้งอยู่ ไม่ใช่การจุติ ไม่ใช่การเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ความเป็นไป ไม่ใช่อารมณ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นคือ ที่สุดแห่งทุกข์” 
   พระนิิพพานนี่แหละคือกรอบหลักการที่กว้างขวาง มีคุณลักษณะสมบูรณ์ พึ่งพาได้ ไม่มีความโคลงเคลงเหมือนกลศาสตร์ควอนตัมที่ไอน์สไตน์หมิ่นประมาทและยอมรับไม่ได้   จึงสามารถครอบคลุมเรื่องทุกเรื่องของจักรวาลและสามารถใช้เป็นพื้นฐานของทุกทฤษฎีได้  คุณลักษณะเช่นนี้แหละคือ ทฤษฎีเอกภาพที่ไอน์สไตน์ได้ทุ่มเทชีวิตหามันอยู่ถึงสามสิบปี
   ฉะนั้น มนุษยชาติต้องยอมรับว่ามีปรากฏการณ์หนึ่งในธรรมชาติ อันเป็นที่สิ้นสุดของทุก ๆ สิ่งในจักรวาล ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ค้นพบแล้วในคืนที่ท่านตรัสรู้เมื่อ ๒๕๙๓ ปีก่อน นับจากคืนนั้นเป็นต้นมา ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาย่อมมีผู้รู้ตามพระพุทธเจ้าเสมอมา ที่สามารถออกมาประกาศย้ำต่อมวลมนุษย์ว่ามีสัจธรรมอันสูงสุดหรือจุดปกติในจักรวาลอย่างแน่นอน ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันจินตนาการแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนายืนหยัดอยู่ได้ถึงทุกวันนี้
   สัจธรรมอันสูงสุดหรือพระนิพพานนี้แหละคือ สิ่งที่ไอน์สไตน์ต้องการหาในช่วงชีวิตแห่งการเป็นนักคิดของเขาโดยผ่านวิธีการและกลไกทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีการเข้าถึงสัจธรรมที่ผิดพลาด เพราะสัจธรรมนี้จะต้องเข้าถึงด้วยวิธีการของ ปัญญา ศีล สมาธิ เท่านั้น หรือ จะพูดให้รัดกุมคือ ต้องใช้วิธีการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่หรือวิปัสสนาเท่านั้นจึงจะเข้าถึงสภาวะที่เป็นอันติมะนี้ได้

ที่นี่ เดี๋ยวนี้
   หลังจากกรณีเหตุการณ์พิสดารทางใจของดิฉันในเดือนตุลาคมในปี ๒๕๔๐ นั้น ดิฉันมีความมั่นใจเหลือเกินว่า จุดนิ่งในจักรวาลและทฤษฎีเอกภาพที่ไอน์สไตน์เฝ้าหาอยู่นั้นได้ซ่อนอยู่ในการสังเกตการณ์ของข้อเปรียบเทียบที่ไอน์สไตน์พูดถึงรถไฟสองขบวนที่วิ่งด้วยความเร็วพร้อมกันนั่นเอง    ที่นี่ เดี๋ยวนี้ คือ คำตอบที่อัจฉริยะบุคคลต้องการหาอยู่แต่ล้มเหลว ทั้ง ๆ ที่ไอน์สไตน์ก็เห็นอยู่ แต่เขาไม่สามารถรู้ได้ว่าข้อเปรียบเทียบนั้นสามารถอธิบายสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดของจักรวาลได้ 
   ที่นี่ เดี๋ยวนี้ คือ จุดคงที่ของจักรวาลที่สามารถใช้เป็นมาตรการพื้นฐานวัดสิ่งต่าง ๆ ได้ ในบทที่สามของหนังสือเล่มนี้ ดิฉันได้พูดอธิบายเรื่องที่นี่ เดี๋ยวนี้ ในฐานะที่เป็นสัจธรรมอันสูงสุด ที่มีความเรียบง่ายและปกติธรรมดา การเข้าถึงที่นี่ เดี๋ยวนี้ เ็ป็นเรื่องของการฝึกทักษะทางใจเหมือนการสามารถยืนบนแผ่นกระดานโต้คลื่น และสามารถฝึกทักษะที่จะโต้คลื่นลูกเล็กและลูกใหญ่ได้โดยไม่ล้ม

สัจธรรมอยู่แค่ปลายจมูกของคนทุกคน
   เหมือนการมองข้ามคำตอบของปัญหาเชาวน์นั่นเอง เพราะหัวสมองของเขามัวคิดวุ่นอยู่กับการหาคำตอบให้กับจักรวาลที่เปรียบเหมือนการหาคำตอบให้กับคำถามปริศนาของฝรั่งที่ว่า
   What is it that has two in a week and one in a year?
   อะไรเอ่ยที่มีสองอยู่ในหนึ่งอาทิตย์และมีเพียงหนึ่งในหนึ่งปี    
นี่เป็นปัญหาเชาวน์ ซึ่งเป็นเรื่องตื้นที่ไม่ต้องคิดลึกเพื่อหาคำตอบ เพราะคำตอบของปัญหาเชาวน์มักอยู่เบื้องหน้าของเราแล้ว คำตอบของปริศนานี้จึงไม่ต้องไปคิดไกล และคิดลึก แต่ต้องไปดูที่คำว่า week กับ year แทน ก็จะได้คำตอบที่ง่าย ๆ คือ ตัวอักษร e นั่นเอง ซึ่งเป็นคำตอบที่อยู่เบื้องหน้าแล้ว
   การหาคำตอบให้กับทฤษฎีเอกภาพหรือการเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดก็เหมือนการหาคำตอบให้กับปัญหาเชาวน์ซึ่งไม่ต้องอาศัยพลังสมองเพียงถ่ายเดียวเท่านั้น ปัจจัยที่สำคัญคือ จะต้องมีผู้รู้ที่ตรัสรู้ด้วยตนเองมาชี้แนะให้เสียก่อนซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ท่านแรก ผู้รู้เหล่านี้แหละจึงจะสามารถชี้บอกได้ว่าสัจธรรมในขั้นอันติมะของจักรวาลเป็นเรื่องพื้น ๆ ธรรมดา ๆ และง่าย ๆ ที่อยู่แค่ปลายจมูกของคนทุกคนแล้ว เหมือนคำตอบของปัญหาเชาวน์ที่ไม่จำเป็นต้องคิดมากแต่อย่างใด เพราะความที่มีลักษณะเป็นหญ้าปากคอกนี้เอง จึงทำให้พระนิพพานหรือการหาจุดปกติของชีวิตกลายเป็นเรื่องยากที่สุดในเหล่าปัญญาชนทั้งหลายที่ถนัดการคิดมากและคิดลึก เปรียบเสมือนการเดินเข้าไปในท่อความคิดอันมีทางตันเป็นที่สุด

เอาความจริงสัมพัทธ์เป็นที่พึ่ง
   คุณจะเห็นได้ชัดเจนว่า การไม่รู้สัจธรรมในฐานะที่เป็นค่าคงที่หรือปกตินี้ ก็เปรียบเหมือนการยืนอยู่ท่ามกลางทุ่งกว้างที่ไม่มีวันตัดสินได้ว่า เรากำลังยืนอยู่ตรงกลาง ชิดซ้าย ชิดขวา ใกล้บน ใกล้ล่าง หรือ เฉียงไปทางไหน นี่คือ สภาวะของการไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้จิตใจของมนุษย์สับสนวุ่นวายและทุกข์มาก เมื่อหาจุดคงที่หรือปกติไม่พบ จึงจำเป็นต้องหาที่พึ่งในความเป็นอนิจจัง คือต้องยอมรับความจริงในระดับสมมุติที่ฝรั่งเรียก conventional truth หรือ ความจริงที่ตั้งอยู่บนเงื่อนไข conditional truth หรือ ความจริงสัมพัทธ์ relative truth ซึ่งเป็นความคิดหลักของทฤษฎีสัมพัทธภาพที่ไอน์สไตน์เน้นแต่เรื่องทางฟิสิกส์เท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว ความคิดหลัก ๆ ของทฤษฎีสัมพัทธภาพเป็นเรื่องที่ครอบคลุมถึงเรื่องจิตใจและชีวิตทั้งหมดที่เนื่องกับจักรวาลที่เราอยู่ ซึ่งดิฉันจะอธิบายให้คุณเห็นชัดเจนในบทที่ห้าและหกของหนังสือเล่มนี้       
   การยอมรับทฤษฎีสัมพัทธ์ภาพ ก็คือ การยอมรับความจริงในระดับสมมุติหรือสัมพัทธ์ จึงได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมแห่งภาษาคือ การพูดตัดสินเรื่องต่าง ๆ อย่างเปรียบเทียบ relatively speaking ซึ่งเป็นวลีภาษาอังกฤษที่ใช้กันบ่อยมากในระหว่างการพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ของชีวิตประจำวัน เพราะทุกคนล้วนพูดจากกรอบความคิดที่แตกต่างและหลากหลายของตนเองอันเนื่องจากไม่มีเสาหลักที่มั่นคงเพราะไม่รู้สัจธรรมอันสูงสุด การพูดคุยในทุกเรื่องของชีวิตจึงหละหลวม โคลงเคลง บางครั้งก็ไร้แก่นสารอย่างสิ้นเชิง เหมือนยืนบนท่าน้ำฉันใดก็ฉันนั้น   

ศีลธรรมสัมพัทธ์
   สิ่งที่เสียหายมากกว่านั้นคือ ทฤษฎีสัมพัทธ์ภาพมีอิทธิพลต่อวิธีการคิดของคนรุ่นใหม่จนก่อให้เกิดศีลธรรมแบบสัมพัทธ์ขึ้นมา เพราะไม่รู้สัจธรรมอันสูงสุด จึงไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ต่างจากสิ่งชั่วที่สุดอย่างไร คนจึงมักคิดว่า ไม่มีระบบศีลธรรมที่สมบูรณ์ในตัวมันเอง There is no moral absolute. ฉะนั้น คนเราจึงตัดสินการกระทำว่าดีหรือชั่วในลักษณะของการเปรียบเทียบแบบสัมพัทธ์ เช่น นักขโมยเล็กขโมยน้อยจะคิดเปรียบเทียบตนเองว่าดีกว่าโจรปล้นธนาคารซึ่งคิดว่าตนเองยังดีกว่าอาชญากรที่ข่มขืนหญิงและฆ่าคนเป็นครั้งแรกซึ่งคิดว่าตนเองยังดีกว่าอาชญากรที่ฆ่าคนหลายคนแล้ว คนสูบบุหรี่จะคิดว่าตนเองดีกว่าคนกินเหล้าด้วยสูบบุหรี่ด้วยซึ่งคิดว่าตนเองย่อมดีกว่าคนติดยาเสพติด การคิดอย่างเปรียบเทียบเช่นนี้ย่อมเปรียบไปได้เรื่อย ๆ ในทั้งสองทางคือ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ต่อเมื่อรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้น จึงจะมีมาตรฐานการวัดที่ถูกต้องอย่างแท้จริง สัจธรรมอันสูงสุดจึงจำเป็นต้องอยู่เหนือทั้งความชั่วและความดีทั้งหลาย จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่พึ่งพาได้

ยุคของคนตาบอดจูงคนตาบอด
   เมื่อผู้นำรัฐเป็นคนตาบอดทางใจเสียเองแล้ว ผลเสียหายยิ่งร้ายแรงมากขึ้นและมีผลกระทบต่อคนหมู่มากอย่างน่าใจหาย เช่น รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ผับต่าง ๆ เปิดขายสุราได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนดื่มสุรามากขึ้นโดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น นอกจากนั้น ยังยกเลิกกฎหมาย ไม่จัดกัญชาว่าเป็นยาเสพติดที่ร้ายแรงอีกต่อไป   ใครต่อใครจึงสามารถสูบกัญชาได้เหมือนสูบบุหรี่ ไม่ถูกจับมาลงโทษเหมือนสมัยก่อน  กฎหมายที่โง่เขลาเบาปัญญาเหล่านี้จึงกลายเป็นมาตรฐานสมมุติที่คนนำมาเปรียบเทียบความดีเลวของตนเอง และกลับกลายเป็นกฎหมายที่สร้างปัญหาสังคมอย่างไม่จบไม่สิ้น เป็นการช่วยส่งเสริมทำลายสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจของประชาชนของตนเองแทนที่จะช่วยปกป้องในฐานะผู้ปกครองที่ดี ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคลแทนที่จะนำไปใช้สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ หรือใช้ในสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ  นั้นกลับต้องมาทุ่มเทเพื่อแก้ปัญหาปลายเหตุที่รัฐบาลเป็นคนสร้างขึ้นมาเสียเอง
   ความอ่อนแอของสถาบันศาสนาทั่วโลกก็เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้สังคมปั่นป่วนมากขึ้น  เพราะไม่มีผู้นำทางจิตใจที่สามารถแสดงออกซึ่งภูิมิปัญญาทางธรรมอย่างแท้จริง จึงไม่สามารถยับยั้งกฎหมายที่เป็นโทษต่อสังคม สังคมจึงขาดทิศทางของชีวิตที่ถูกต้อง เกิดสภาวะที่ฝรั่งเรียกว่า massive misdirection of life เป็นยุคของคนตาบอดจูงคนตาบอดอย่างแท้จริง
   การนำคนหมู่มากไปสู่เป้าหมายปลายทางของชีวิตอันคือสัจธรรมอันสูงสุดนั้นควรเป็นหน้าที่ของผู้นำทางศาสนาที่ทำร่วมกับผู้นำทางการเมือง โดยที่ผู้รู้จริงต้องเป็นที่ปรึกษาให้นักการเมือง แต่เมื่อผู้นำทางศาสนาไม่มีความรู้เรื่องสัจธรรมอันสูงสุดแล้ว จึงไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้นักการเมืองได้ การนำสังคมจึงตกเป็นหน้าที่ของนักการเมืองและสื่อมวลชนซึ่งล้วนแต่มีตาใจที่มืดบอดและอดไม่ได้ที่จะทำตามอำนาจของกิเลสทั้งสิ้น แถมผู้นำศาสนาบางลัทธิกลับไปสอนให้คนเกลียดชังซึ่งกันและกัน ถึงขนาดสอนให้พลีชีพตนเองเพื่อฆ่าคนหมู่มากที่ไม่เห็นด้วยต่อลัทธิของตนเพื่อการได้ไปสวรรค์อยู่กับพระเจ้า อันเป็นการกระทำของคนมืดบอดอย่างสนิท เพิ่มปัญหาที่หนักหน่วงให้สังคมโลกโดยไม่จำเป็น
   
รุ่งอรุณของยุคมิคสัญญี
   ศีลธรรมสัมพัทธ์จึงกลายเป็นสาเหตุใหญ่ที่ก่อให้เกิดความล้มเหลวทางศีลธรรมของทั่วโลก เพราะคนยุคนี้มักถนัดที่จะหาคนที่เลวกว่าตนเองมาเปรียบเทียบด้วยเสมอ เพื่อจะได้รู้สึกว่าตนเองก็ยังมีส่วนดีอยู่ รวมทั้งค่านิยมต่าง ๆ ที่ทำให้ศีลธรรมย่อหย่อนเช่น “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” การบูชาคนที่มีเงิน มีอำนาจและมีชื่อเสียง การทำผิดศีลธรรมของคนมั่งมีและมีชื่อเสียงกลับกลายเป็นเรื่องยอมรับของสังคมโดยเฉพาะการผิดศีลข้อสาม  คนไม่น้อยของยุคนี้อาจจะร่ำรวยและมีชื่อเสียงขึ้นมาได้เพราะการกระทำที่ทุจริตหรือทำมิจฉาอาชีพของตนเอง เช่น ขายมนุษย์ ขายอาวุธ ขายสิ่งเสพติดทั้งหลาย การให้เกียรติและบูชาคนผิดศีลธรรมเพียงเพราะเขาร่ำรวยจึงไม่ต่างจากการเอาหนังสือศีลธรรมมาเหยียบเล่น ทำให้เรื่องผิดศีลธรรมกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมมากขึ้น เพราะไม่มีสิ่งดีที่สุดมาใช้เป็นมาตรฐานของการวัด
   จากการช่วยเหลือของฮอลลีวู๊ดที่ผลิตภาพยนตร์ที่เน้นการใช้ความรุนแรง ทำเรื่องการทำร้ายร่างกาย ฆ่ากัน ยิงกัน ให้เป็นเรื่องเท่ห์ เก๋ พร้อมกับเกมส์คอมพิวเตอร์ที่ส่วนมากเน้นแต่การทำร้ายซึ่งกันและกัน เด็ก ๆ จึงเห็นการกระทำผิดศีลธรรมเป็นเรื่องปกติ ธรรมดาไป  พฤติกรรมที่ไม่เอื้ออำนวยให้เข้าใจชีวิตอย่างถูกต้องเหล่านี้จะทำให้ศีลธรรมกลายเป็นเรื่องอดีตของมนุษย์ไปในที่สุด การใช้ชีวิตอย่างไร้ศีลธรรมจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ไปในอนาคต ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่ยุคมิคสัญญี คือ ยุคที่มนุษย์สามารถฆ่ากันด้วยความเข้าใจผิดว่ามนุษย์เป็นผักปลา อันเป็นกลไกหรือธรรมชาติธรรมดาของสังสารวัฏ นี่จึงเป็นยุคที่ปัจเจกบุคคลต้องรีบเอาตัวเองให้รอดโดยรีบทำความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ที่ดิฉันนำเสนอในหนังสือเล่มนี้

จุดนิ่งของจักรวาลสามารถยุติศีลธรรมสัมพัทธ์
   จะยุติสภาวะที่สับสนและยุ่งเหยิงของสังคมได้ก็ต้องหยุดคิดเรื่องศีลธรรมอย่างสัมพัทธ์หรือเปรียบเทียบ จะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องรู้เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการมีศีลธรรมจรรยาเสียก่อน คนจะต้องรู้ว่าทำไมนักการศาสนาหรือนักบุญทุกท่านที่ผ่านมาในโลกจะต้องสอนคนให้ทำแต่ความดีและมีศีลธรรมเสมอ เหตุผลหลักมีข้อเดียวคือ มันเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้ผู้รักษาศีลเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุด หรือ เข้าถึงพระเจ้า หรือ พระนิพพาน นั่นเอง   
    จุดนิ่งหรือจุดปกติของจักรวาลอันคงที่ถาวรเท่านั้นที่สามารถใช้เป็นมาตรฐานการวัดทุกสิ่งในจักรวาลได้  ผลที่ได้ก็จะมีค่าคงที่ สมบูรณ์ แน่นอน ไม่ขึ้นอยู่กับการตีความที่ออกจากกรอบความคิดที่แตกต่างหลากหลายเหมือนการใส่แว่นต่างสีของปัจเจกบุีคคลอีกต่อไป จะเป็นการพูดโดยการเอาสัจธรรมเป็นแกนหลักเสมอ จึงเป็นคำพูดที่มีความหนักแน่น คงทน ถาวร ฉะนั้น แทนที่จะยอมก้มหัวให้กับทฤษฎีสัมพัทธ์ภาพโดยพูดว่า “พูดอย่างสัมพัทธ์ relatively speaking” เราควรสร้างวัฒนธรรมทางภาษาที่เนื่องกับการรู้จุดคงที่ของจักรวาลขึ้นมาใหม่โดยใช้วลีเช่น “พูดอย่างเด็ดขาด absolutely speaking” แทน เพื่อให้ทุกเรื่องของชีวิตโยงกลับไปสู่สัจธรรมอันสูงสุดได้เสมอ
    ไอน์สไตน์พูดว่า
   วิทยาศาสตร์นั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการคิดเรื่องราวของชีวิตประจำวัน
    ฉะนั้น การรู้จุดปกติของจักรวาลจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างแนบแน่น เป็นเรื่องการสร้างวิถีชีวิตที่ปกติอย่างแท้จริง นี่เป็นเรื่องเดียวที่จะสามารถแก้ปัญหาอันสับสนและสลับซับซ้อนที่เนื่องกับสังคมและศีลธรรมได้ เปรียบเหมือนการแก้ปมเชือกของเส้นด้ายจากต้นสุดหรือปลายสุด เพื่อปมอื่น ๆ จะสามารถหลุดออกเป็นเปาะ ๆ จนกลายเป็นเส้นตรงได้ 

ความรู้ทางโลกและทางธรรมต้องเดินควบคู่กัน   
   ปัจจุบันนี้ งานวิจัยในวงการฟิสิกส์โดยส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อสานต่อภารกิจของไอน์สไตน์ เพื่อแสวงหาคำตอบในปริศนาหรือทฤษฎีเอกภาพที่ไอน์สไตน์ได้ทุ่มเทชีวิตในช่วง ๓๐ ปีสุดท้ายของเขา แต่ไม่สำเร็จ บรรดานักฟิสิกส์ยังเห็นพ้องต้องกันว่าควรต้องมีกรอบหลักการที่กว้างขวางครอบคลุมและเป็นพื้นฐานของทุกทฤษฎี จึงเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่งยวดและเป็นความใฝ่ฝันอันสูงสุดในวงการวิทยาศาสตร์
    ดิฉันมั่นใจเหลือเกินว่า พระนิิพพานในฐานะที่เป็นจุดปกติของจักรวาลนี่แหละคือกรอบหลักการที่กว้างขวาง ที่สามารถครอบคลุมเรื่องทุกเรื่องของจักรวาลและสามารถใช้เป็นพื้นฐานของทุกทฤษฎีได้ ความรู้ทางโลกโดยเฉพาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องเดินเคียงข้างกับความรู้เรื่องพระนิพพานเสมอจึงจะปลอดภัย จึงแน่ใจได้ว่าจะไม่ถูกใช้ไปในทางที่ผิด ๆ  ถ้าหากขาดทฤษฎีเอกภาพอันคือพระนิพพานแล้วไซร้ ความรู้ทางโลกเหล่านั้นแม้จะเลิศเลอมหัศจรรย์และมีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์อารยธรรมทางวัตถุมากเพียงใดก็ตาม มันก็ยังเป็นความรู้ในฝ่ายมืดที่มักถูกนำไปใช้เพื่อปรนเปรอกิเลสของมนุษย์ จึงเป็นความรู้ที่ยังหลงทิศอยู่ เป็นเรื่องการพายเรืออยู่ในหนองน้ำที่กว้างใหญ่ไพศาล เหมือนติดคุกใหญ่ที่ไม่มีทางออก เป็นความรู้ที่มีคุณภาพเหมือนผ้าขาวสีขุ่นมัว  ไม่ใสแจ๋วเหมือนความรู้เรื่องพระนิพพาน อันเป็นความรู้เรื่องการออกจากคุกของชีวิตอย่างแท้จริง

สรุป
   ถึงแม้อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยที่เขายังไม่ได้พบสัจธรรมอันสูงสุดก็ตาม เขาก็ยังได้ทิ้งมรดกทางปัญญาอย่างมากมายให้แก่มนุษยชาติที่ควรได้รับการยกย่องและระลึกถึงเสมอ แต่สำหรับดิฉันแล้ว มรดกที่สำคัญที่สุดที่ไอน์สไตน์ได้ทิ้งให้แก่มนุษยชาติคือ การตั้งคำถามของเขาในเรื่องเกี่ยวกับจุดนิ่งหรือจุดปกติของจักรวาลและทฤษฎีเอกภาพ รวมทั้งการชี้ทางไปสู่การหาคำตอบในพระพุทธศาสนา
   ดิฉันอยากเชื่อว่า ความคิดนี้ของไอน์สไตน์จะสามารถสร้างความตื่นตัวในหมู่ปัญญาชนโดยเฉพาะปัญญาชนไทยให้กลับมาเสาะแสวงหาภูมิปัญญาของพระพุทธเจ้ามากขึ้น ซึ่งภูมิปัญญาในส่วนพระนิพพานหรือสัจธรรมอันสูงสุดที่ดิฉันนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ เป็นการเรียนรู้ที่อยู่เหนือกรอบแห่งประเพณีและวัฒนธรรมทางศาสนาต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องครอบจักรวาล เป็นเรื่องสากลที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยเหตุผลและวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง  ไม่จำเป็นต้องแยกระหว่างการเชื่อศาสนาหรือเชื่อวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด จึงเป็นเรื่องกลาง ๆ ที่ทุกคนเข้าถึงได้
   ดิฉันเห็นว่านี่เป็นวิธีการเดียวที่จะสามารถรวมมนุษยชาติให้เป็นเอกภาพได้ในฐานะที่ทุกคนเป็นมนุษย์ของดาวนพพระเคราะห์ดวงนี้เท่าเทียมกันหมด 

http://img521.imageshack.us/img521/5573/eskimobkk112ql9.swf




บันทึกการเข้า

eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13256


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 17, 2007, 10:28:08 AM »

บทที่สอง
ตัวจริง ๆ ของเราอยู่ที่ไหน
Finding Our True Self

ฝรั่งคุยเรื่อง “กลัวความชรา”

   เช้าวันหนึ่งเมื่อสองปีก่อน ในขณะที่ดิฉันกำลังทำโยคะอยู่ คิดว่าควรจะติดตามข่าวเสียหน่อยว่ามีเรื่องอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นในโลกนี้บ้าง จึงคิดจะดูข่าวของบีบีซีเสียหน่อย ซึ่งดิฉันมักถือเป็นโอกาสฝึกเรียนภาษาอังกฤษไปด้วย ดิฉันเปิดไม่ถึงช่องของบีบีซีที่มีข่าว ๒๔ ชั่วโมง แต่มาติดที่รายการโทรทัศน์อีกช่องหนึ่งของบีบีซีเช่นกัน จัดโดยนักจัดรายการชายผู้หนึ่งที่มีเสียงกำมะหยี่ที่เพศหญิงชื่นชมมาก ชื่อ คิลรอย ซิลค์ Kilroy Silk เขามีวิธีการพูดและบุคคลิกที่มีเสน่ห์มาก เป็นรายการที่มีผู้ฟังประมาณ ๖๐ คน แต่มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ได้เล่าประสบการณ์ชีิวิตของตนเองในห้องส่งของสถานีโทรทัศน์ตามหัวข้อที่ตั้งขึ้นมา คนที่ยกมือแล้วมีโอกาสได้พูดก็สามารถให้ความคิดเห็นต่าง ๆ ด้วย หัวข้อที่พูดสนทนาในวันนั้นคือ “กลัวความชรา” Too scared to grow old.

   ถึงแม้ดิฉันรู้ดีว่ารายกายเช่นนี้เป็นอย่างไร และกำลังจะเปลี่ยนช่องอยู่นั้น ดิฉันก็ต้องมาสะดุดที่คำพูดของหญิงวัย ๔๐ เศษคนหนึ่ง เธอแต่งตัวสุภาพ เรียบร้อย สวยงาม ดูเป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว เธอพูดว่า
   
“ทุกครั้งที่ดิฉันเห็นตัวเองในกระจก ดิฉันยอมรับกับตัวเองได้ยากมากว่าใบหน้าที่เหี่ยวย่นในกระจกนี้คือตัวดิฉัน เพราะดิฉันไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนนั้นเลย คนนั้นไม่ใช่เป็นตัวจริงของดิฉัน ในหัวใจของดิฉันนั้น รู้สึกเป็นอีกคนหนึ่งที่หน้าตาไม่เหมือนหญิงคนที่ดิฉันเห็นในกระจกเลย”

   ในขณะที่เธอกำลังปลดเปลื้องเสื้อผ้าที่่ปกปิดความรู้สึกส่วนลึกของตนเองออกให้ชาวโลกเห็นตัวใจที่เปลือยเปล่านั้น ดิฉันจึงมองเห็นความรู้สึกที่เจ็บปวดในจิตใจของหญิงคนนี้ได้อย่างชัดเจน  เครื่องสำอางของเธออาจจะสามารถปกปิดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าได้บ้าง แต่ไม่สามารถปกปิดความกลัว ความไม่มั่นคง และการขาดความมั่นใจในตัวเองที่แสดงออกมาทางสายตาและใบหน้าได้เลย ในขณะนั้น ดิฉันรู้สึกสงสารหญิงคนนี้อย่างจับใจ สงสัยว่า หากเธอยังมีความกลัวภาพเหมือนในกระจกของตนเองอยู่ทุกวี่วันเช่นนี้แล้ว เธอจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร เพราะเธอจะไม่สาวขึ้น จะต้องแก่ตัวลงมากกว่านี้ สิ่งที่ทำให้ดิฉันต้องหยุดดูรายการนี้แทนการดูข่าวในเช้าวันนั้นคือ คำสนทนาที่ล้วนวนเวียนอยู่กับคำวลีที่ว่า “ตัวจริงของฉัน” my true self, your real self 

ต่อสู้กับความแก่เฒ่าด้วยศัลยกรรมตกแต่ง

   ในขณะที่รายการสนทนานี้ดำเนินไปนั้น ดิฉันก็ได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงมากมายเกี่ยวกับผู้หญิงเราที่พยายามจะต่อสู้กับความแก่เฒ่าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ได้อย่างไร จะไปอ่านหรือฟังอะไรก็ไม่น่าสนใจเท่ากับการฟังประสบการณ์ส่วนตัวจริง ๆ บางรายฟังแล้วก็อดสงสารไม่ได้ สิ่งที่คนนิยมทำกันมากที่สุดคือ การทำศัลยกรรมตกแต่งที่จะทำให้ใบหน้าดูเต่งตึงและอ่อนกว่าวัยอยู่เสมอ อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นวิธีการใหม่คือ สิ่งที่ฝรั่งเรียก โบท๊อกซ์ ทรีทเม็นท์ Botox treatment คือ การฉีดสารพิษจำนวนน้อยนิดชนิดหนึ่งเข้าไปในบริเวณผิวหนังที่เหี่ยวย่น สารพิษนั้นจะไปทำให้เนื้อที่เหี่ยวย่นนั้นกลับนูนขึ้นมาอีก ทำให้ดูสาวมากขึ้น ซึ่งการฉีดครั้งหนึ่ง จะอยู่ได้ประมาณ ๔ – ๖ เดือน ค่าใช้จ่ายประมาณ ๒๐๐ ถึง ๓๐๐ ปอนด์ ต่อครั้ง นี่คือสิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้จากบรรดาสุภาพสตรีในรายการนี้ เพื่อทำให้ตนเองดูอ่อนกว่าวัย

หาภูมิปัญญาเด็ด ๆ ไม่ได้

   เมื่อเข้าไปสู่ช่วงกลางของรายการนั้น การพูดคุยกันระหว่างผู้ร่วมรายการค่อย ๆ เผ็ดร้อนมากขึ้น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสาวและชะลอความชราเช่นนั้นจึงตอบโต้ด้วยคำพูดและอารมณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น
ทำไมคุณจึงเป็นตัวของตัวเองไม่ได้
Why can’t you be your true self?
ดิฉันฟังประโยคนั้นแล้ว ก็อยากจะฟังซิว่าคนพูดได้รู้จักตัวจริงของตนเองมากแค่ไหน อยากรู้ว่าจะมีใครในรายการนี้ที่มีภูมิปัญญารู้เรื่องราวของชีวิตอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งนอกจากไม่มีแล้ว ยังมีความคิดที่แสดงออกถึงความอ่อนหัดต่อชีวิตมากทีเดียว มีชายหนุ่มคนหนึ่งพูดกับหญิงที่ไปทำศัลยกรรมยืดหน้าคนหนึ่งว่า
ทำไมคุณจึงกลัวความแก่มากเช่นนั้น ความแก่เป็นเรื่องผิดอะไรหรือ 
หญิงวัยห้าสิบเศษจึงรีบตอบสวนไปว่า
คุณอย่าลืมนะว่า ความชราหมายถึงความตายด้วย แล้วคุณต้องการตายหรือ?
หญิงวัย ๔๐ อีกคนหนึ่งพูดอย่างภูมิใจว่า เธอยังสามารถยั่วยวนชายอายุน้อยกว่าให้มาสนใจในตัวเธอได้ และชายหนุ่มคนนั้นก็ยังยอมอยู่กับเธอแม้ทุกวันนี้ คำพูดของหญิงที่ดูเหมือนหลงตัวเองนี้ได้ทำให้คนหลายคนในรายการสั่นหน้าและแสดงความขยะแขยงออกมาอย่างชัดเจน
คนหนุ่มสาวเหล่านี้ลืมไปว่าในอีกเพียง ๒๐ หรือ ๓๐ ปีเท่านั้น พวกเขาก็จะอยู่ในเรือรำเดียวกับคนสูงอายุที่เขากำลังวิจารณ์และดูหมิ่นอยู่ และเวลา ๒๐ ปีนั้นก็จะผ่านไปเร็วเหมือนปีกบิน และพวกเขาก็อาจจะต้องมาเรียงคิวเข้าสู่ขบวนการชะลอความแก่เฒ่าโดยการทำหนุ่มทำสาวเหมือนคนน่าสงสารเหล่านี้เช่นกัน 

ถกเถียงเรื่องการใช้ชีวิตอมตะ ไม่ง่ายเหมือนคิด
ถึงแม้จะมีเพียง ๖๐ คนในรายการนี้ แต่สิ่งที่คนเหล่านี้นำขึ้นมาพูดถกเถียงกันนั้น ไม่ได้ไกลจากความเป็นจริงของคนหมู่มากในสังคมที่ร่ำรวยอย่างสังคมตะวันตกเลย เพราะความคิดเหล่านี้แหละที่อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมเสริมสวย และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทำให้ดูอ่อนกว่าวัย ที่ทำเงินหลายพันล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ การชะลอความแก่เฒ่าของมนุษย์ พร้อมกับการสร้างเสริมอัตตาตัวตนของแต่ละคนให้ มั่นคงมากขึ้น ซึ่งสังคมของคนยุคใหม่โดยเฉพาะในสังคมที่ร่ำรวยเช่นสังคมตะวันตกจะเรียกอัตตาตัวตนว่า “ความมั่นใจในตนเอง” หรือมี self confidence, self esteem ซึ่งฟังแล้วดีกว่าคำว่า egoistic, egocentric หรือ self-centered ด้วยความช่วยเหลือของอุตสาหกรรมโฆษณา advertising industry และกลไกของความคิดที่เป็นมายา  มนุษย์จึงถูกหลอกให้เข้าใจว่าสามารถชะลอความแก่เฒ่าและอยู่เหนือความตายได้

เรื่องการรักสวยรักงามและอยากจะให้มันอยู่อย่างคงทนถาวรอาจจะฟังเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือไร้สาระ trivial สำหรับคนที่ไม่เห็นความสวยงามเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่จริงแล้ว พวกเขากำลังพูดถึงหัวข้อต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตมากทีเดียว นั่นคือ การเผชิญหน้ากับความชรา ความตาย ทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตที่เป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่เสมอ ซึ่งเรื่องนี้คือ เรื่องการใช้ชีวิตอย่างเป็นอมตะ eternity หรือ immortality ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับ “การเป็น  ตัวของตัวเอง” หรือ ถ้าจะเรียบเรียงคำพูดใหม่คือ การหา “ตัวจริง ๆ ของเรา” นั่นเอง 
คนมักพูดถึงเรื่องการเป็นตัวของตัวเอง หรือ เป็นตัวจริง ๆ ของเราราวกับว่าเป็นเรื่องทำกันง่าย ๆ ที่จริงแล้ว เป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด เพราะเป็นเรื่องการต่อสู้กับความคิดความรู้สึกภายในของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธและเป็นรายละเอียดของเรื่องการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่โดยตรง 

ถ้าไม่รู้จักตัวจริง ก็ไม่รู้ว่ามีตัวปลอม
หากเอาความคิดของไอน์สไตน์ในเรื่องการมองทุกอย่างในลักษณะสัมพัทธ์เข้ามาพูดแล้วละก็ ถ้าเราไม่รู้จัก “ตัวจริง ๆ ของเรา” แล้ว เราก็จะไม่รู้จัก “ตัวปลอม” ของเราเช่นกัน จะเข้าใจผิดว่าตัวปลอมของเราคือตัวจริง ตัวปลอมของเราในที่นี้คือ การมองตัวเองอย่างเปรียบเทียบและสัมพัทธ์กับคนอื่นตลอดเวลาซึ่งเป็นเนื้อหาของบทความนี้ เช่น ทำไมคนนั้นคนนี้สวยกว่าเรา ทำไมเราไม่สวยเท่าเขา ทำไมฉันจึุงดูแก่อย่างนี้ เป็นต้น
ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักตัวจริงของเราเสียก่อน เพื่อว่า เราจะได้แยกออกว่านี่คือตัวปลอมของเรา เหมือนนักเล่นพระที่ต้องพกแว่นขยายเพื่อแยกแยะให้ออกว่า พระเครื่ององค์ไหนที่เป็นของจริงหรือของปลอม คนดูพระจึงต้องรู้ก่อนว่า พระจริงเป็นอย่างไรเสียก่อน จึงรู้ความแตกต่างระหว่างพระจริงกับพระปลอม
ดิฉันจึงจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า “ตัวจริง ๆ” ของมนุษย์เป็นอย่างไร และแตกต่างจาก “ตัวปลอม” อย่างไร หากไม่รู้ข้อเท็จจริงพื้นฐานนี้แล้ว จะเขียนเรื่องนี้ไม่ได้ จึงขอเชื่อมโยงให้คุณเห็นชัดเจนก่อนว่า “ตัวจริง ๆ” ที่ดิฉันจะพูดถึงในบทนี้ก็คือ สภาวะที่เจ้าของชีวิตสามารถเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุด หรือเข้าถึงพระนิพพาน หรือ เมื่อเจ้าของชีวิตสามารถรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ได้นั่นเอง  ฉะนั้น การแสวงหาทฤษฎีเอกภาพของไอน์สไตน์นั้น จะพูดใหม่ก็ได้ว่า นี่เป็นทฤษฎีของการแสวงหาตนเอง หรือ แสวงหาตัวจริง ๆ ของเรานั่นเอง
เป็นที่น่าตกใจมากว่าความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไม่มีอยู่ในระบบการศึกษาของโลกแต่อย่างใด เมื่อไม่มีการสอน ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแสวงหาตนเองจึงไม่เกิด จึงก่อผลให้คิดและทำสิ่งต่าง ๆ อย่างสะเปะสะปะและมืดมนอนธการ จนก่อให้เกิดกลุ่มคนที่มีปัญหาทางจิตใจเหล่านี้ 
 
“ตัวจริงของเรา” อยู่ที่ไหน?
ทีนี้ เราจะเริ่มขบวนการหาตัวจริง ๆ ของเราแล้ว ลองมาเริ่มต้นที่จุดนี้กันก่อน มีใครสามารถให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมาได้หรือไม่ว่าร่างกายและจิตใจของเรานี้ ส่วนไหนที่เราสามารถกำหนดลงไปได้อย่างแน่ชัดว่านั่นคือ ตัวจริง ๆ ของเรา ตัวคุณจริง ๆ หรือ ตัวฉันจริง ๆ
เอาละ ดิฉันมั่นใจเหลือเกินว่า คุณจะต้องตอบว่า ไม่ใช่ตัวกายของเราที่เป็นตัวจริง แต่เป็นส่วนของจิตใจที่เป็นตัวจริงของเราต่างหาก ถ้าเช่นนั้น เราก็ต้องเลื่อนไปที่ส่วนของจิตใจ และถามต่อว่า จิตใจส่วนไหนของเราหรือที่เป็นตัวจริง ๆ ของเรา

ฝรั่งมักเชื่อว่าจิตใจอยู่ที่สมอง
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “จิตใจ” mind ขึ้นมาทีไร ความซับซ้อนและสับสนจะเกิดขึ้นทันที จะบอกว่าจิตใจในส่วนที่เป็นสมองอันเป็นก้อนเนื้อสีเทา ๆ ที่นอนขดอยู่ในกะโหลกศรีษะ ซึ่งเรามักจะ (ถูกนักวิทยาศาสตร์บอกให้)  คิดว่าเป็นส่วนที่ผลิตความคิดและความรู้สึก หรือ จิตใจ ในฐานะที่เป็นสภาวะอันเป็นนามธรรมและเป็นหน่วยงานอิสระซึ่งสามารถควบคุมและสั่งงานให้เราทำตามความคิดและความรู้สึก
ถึงแม้ดิฉันจะไม่มีสถิติอันเป็นผลจากการวิจัยอย่างเป็นทางการ แต่ดิฉันก็เคยวิจัยกับนักศึกษาในชั้นไท้เก็กของดิฉันแล้ว ดิฉันได้ถามนักศึกษาทุกเทอมโดยทำติดต่อกันประมาณ ๓ ปี ซึ่งตอนนั้นมีนักศึกษาประมาณ ๑๕-๒๐ คนต่อชั้น และมี ๗ ชั้นต่อหนึ่งอาทิตย์ และ ๓ เทอมต่อปี โดยบอกให้เขานำมือของเขาวางลงตรงจุดที่เขาคิดว่า จิตใจ mind ตั้งอยู่ ผลที่ออกมาปรากฏว่ามีนักศึกษาประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ที่เอามือวางบนศรีษะซึ่งเป็นที่ตั้งของสมอง อีก ๑๘ เปอร์เซนต์เอามือวางที่ส่วนอก อีก ๒ เปอร์เซ็นต์เอามือวางส่วนอื่น ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าปัญญาชนชาวตะวันตกส่วนมากจะเห็นพ้องกันว่า จิตใจ คือ ส่วนที่เป็นหัวสมองของมนุษย์มากกว่าส่วนที่เป็นนามธรรมอันเป็นองค์กรอิสระแน่นอน
ฉะนั้น หากคุณคิดว่าจิตใจคือสมองแล้วละก็ ย่อมหมายความว่าคุณยังไม่ได้พูดอะไรที่ห่างไกลจากส่วนของร่างกายเลย จริงหรือไม่เล่า เพราะว่า สมองก็คือส่วนหนึ่งของร่างกาย ส่วนจิตใจเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง formless คุณเห็นหรือไม่ว่า คุณกำลังพูดและทำในสิ่งที่ขัดแย้งกันเอง คุณต้องการเข้าใจสิ่งที่ไม่มีรูปร่างเช่นความคิดกับความรู้สึก แต่คุณกลับไปเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นก้อนเนื้อของร่างกาย จุดนี้เองที่ดิฉันพูดว่า นักสมองศาสตร์กับนักจิตวิทยากำลังต่อสู้กับศัตรู (ความคิด กับ ความรู้สึก) ผิดสนามรบ fighting in the wrong battle field ศัตรูอยู่สงขลา แต่กลับส่งทหารไปเชียงใหม่ ทำนองนั้น   

จะตรึงความคิดให้อยู่นาน ๆ ได้อย่างไร
เอาละ ดิฉันจะแกล้งเห็นด้วยกับคุณก่อน  และยอมรับว่าจิตใจอยู่ที่สมองและรับผิดชอบต่อการทำงานของความคิดและความรู้สึก ดิฉันจะขอถามต่อว่า สภาวะจิตใจชนิดไหน ความคิดไหน และ ความรู้สึกไหนที่คุณสามารถเรียกได้ว่านี่เป็น “ตัวจริง ๆ” ของคุณ และการเป็นตัวของตัวเอง หรือ เป็นตัวจริง ๆ ของเรานั้น ถ้าจะทำจริง ๆ แล้ว เราจะต้องทำตัวอย่างไร ทำจิตใจอย่างไร มันเป็นเรื่องที่เราจะต้องตรึงความคิดหนึ่ง ตรึงความรู้สึกหนึ่ง หรือ จะต้องตรึงความเชื่ออะไรอย่างหนึ่ง ใช่หรือไม่ เอานะ สมมุติว่านั่นคือคำตอบ เราจะต้องพยายามตรึงความคิดและความเชื่อชนิดหนึ่งให้คงอยู่ในหัวของเรา เช่น เราจะต้องคิดว่า
เราต้องเป็นตัวของตัวเองสิ เราต้องไม่กลัวความแก่ เราจะต้องสนุกและพอใจกับชีวิตตามที่มันเป็นอยู่ เราจะต้องมีชีวิตอยู่กับวันนี้เท่านั้น และเราต้องไม่กังวล ห่วงใยกับอนาคตมากเกินไป ฯลฯ 

คำถามต่อไปคือว่า แล้วคุณจะสามารถตรึงความคิด ความเชื่อเหล่านี้ให้อยู่กับคุณตลอดไปได้อย่างไร เพราะข้อเท็จจริงคือ ความคิด ความรู้สึก ความเชื่อของคนเราเปลี่ยนแปลงได้ง่ายมาก เพราะมันขึ้นอยู่กับผัสสะของคุณว่าขณะนี้ ๆ คุณเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสกับอะไร จริงหรือไม่เล่าว่าความคิด ความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงไปตามหนังสือที่เราอ่าน รายการโทรทัศน์ที่เราดู เว็บไซต์ที่เราเข้าไปอ่าน และคำสนทนาต่าง ๆ ที่เรามีกับผู้คนที่อยู่รอบข้างเราตลอดจนคนในสังคม จากประสบการณ์ของคุณ คุณต้องทราบดีแล้วละว่า ความคิดของคุณสามารถเปลี่ยนได้ง่ายมากหลังจากการพูดคุยพบปะกับผู้คน ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่าคนประเภทไหนที่คุณคุยด้วย คุณอาจจะพยายามตรึงความคิดและความเชื่อของคุณไว้ในจิตใจคุณอย่างดีที่สุด พยายามบอกกับตัวคุณเองว่าจะต้องไม่กลัวความแก่เฒ่าชรา ต้องไม่กลัวตาย ต้องไม่ให้ความสนใจกับความสวยความงามมากจนเกินเลย ต้องพยายามปล่อยให้ตนเองเดินเข้าสู่วัยชราอย่างมีศักดิ์ศรี ฯลฯ และอะไรอื่นอีกจิปาถะที่คุณเชื่อและอยากบอกตัวเองให้เชื่อ

 วงจรอันเลวร้าย
แต่ก็อีกนั่นแหละ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจำเป็นต้องพบปะผู้คน และทุกครั้งที่คุณไปพูดคุยกับคนที่มีความมั่นใจในตนเองมากกว่าคุณแล้ว จิตใจของคุณย่อมอ่อนไหวง่าย ลมพัดลมเพ และอดไม่ได้ที่จะคิดคล้อยตามคนที่คุณพูดคุยด้วย
ถ้าเพื่อนสนิทของคุณเชื่อว่า ความรักสวยรักงามในเพศหญิงเป็นสิ่งจำเป็น ผู้หญิงเราควรจะต้องทำตนเองให้ดูดี สวย สง่างาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อย่างเข้าสู่วัยชราด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นต้องดูแลตัวเองให้ดูสง่างาม ไม่ใช่ปล่อยตัวจนเกินไป ฉะนั้น หากการทำศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า หรือ การฉีดสารพิษโบท่อกซ์สามารถช่วยให้ผู้หญิงในวัยย่างชราดูดีขึ้นแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเลย ถ้าเพื่อนสนิทของคุณคิดเช่นนั้นและมีความมั่นใจในสิ่งที่เขาคิด เขาเชื่อแล้วละก็ คุณคิดว่า คุณจะยังคงสามารถตรึงความคิดเก่า ๆ ของคุณได้หรือ หากคุณต้องคุยกับเพื่อนสนิทของคุณอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเช่นนั้น คุณจะไม่คิดคล้อยตามเพื่อนบ้างหรือ ถ้าคุณไม่คิดคล้อยตาม คุณก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ที่คุณมีปัญหาจนกระทั่งมานั่งถกเถียงกันในรายการโทรทัศน์เช่นนี้ก็เพราะคุณอดคิดคล้อยตามเพื่อนไม่ได้ จริงหรือไม่?
ถ้าเช่นนั้น คุณก็วกกลับมาจุดเดิมของคุณอีก นั่นคือ การตะเกียกตะกายที่จะเป็นตัวของตัวเอง เป็นตัวจริง ๆ ของคุณ โดยการพยายามตรึงความคิดและความเชื่อหนึ่งให้อยู่ในหัวตนเอง ซึ่งคุณทำไม่สำเร็จ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์เรื่องนี้  คุณเห็นแล้วหรือยังว่าคุณกำลังติดอยู่ในวงจรอันเลวร้าย the vicious circle ที่ไม่มีทางออก 

เอาชะตาชีวิตห้อยไว้กับคุณหมอและเภสัชกร
การที่จะทำลายวงจรแห่งความเลวร้ายของคนในทุกวันนี้ มักหมายถึงการพึ่งยากล่อมประสาทที่คุณหมอสั่งให้รับประทาน จนทำให้ยาประเภทนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งของการทานยากล่อมประสาทเพราะ นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เชื่อว่าความว้าวุ่น กลุ้มใจ วิตก กังวล หงุดหงิด คิดมาก ฟุ้งซ่านจนตั้งตัวไม่ติดของเรานั้น เกิดจากสารเคมีในร่องของสมองไม่สมดุลกัน ถ้าเป็นหญิงโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือนหรือหมดแล้ว ความหงุดหงิดเกิดจากความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ยากล่อมประสาทเพื่อปรับความสมดุลของสารเคมีในสมอง หรือไม่ก็ปรับระดับฮอรโมน จึงต้องรับประทานฮอร์โมนเสริม เมื่อสารเคมีในสมองและระดับฮอรโมนของคุณสมดุลกันแล้ว จิตใจของคุณก็จะรู้สึกดีขึ้น สงบขึ้น 
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ แล้ว ย่อมหมายความว่า ชีวิตของคุณ ความสุขของคุณได้ตกอยู่ในเงื้อมมือของคุณหมอและบริษัทผลิตยาไปแล้วหรือ  หมายความว่าคุณไม่มีอำนาจเหนือชีวิตจิตใจของคุณเลย เช่นนั้นหรือ
คุณเห็นแล้วหรือยังว่า เมื่อเราค่อย ๆ วิเคราะห์เข้าไปสู่เรื่องการหา “ตัวจริง ๆ” ของเรานั้น มันไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ๆ และตรงไปตรงมาอย่างที่คิดเลย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้

ต้องเปิดประตูใจ ให้โอกาสพระพุทธเจ้า

  ปัญหาทั้งหมดนี้จึงวกกลับมาที่คำว่า “จิตใจ” และการให้คำนิยามแก่คำ ๆ นี้ ตราบใดที่เรายังไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า จิตใจ และไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหนแล้วละก็ เราจะไม่มีวันหา “ตัวจริง ๆ” ของเราได้พบเลย
ตรงนี้แหละ คือ เหตุผลหลักที่ดิฉันมักบอกให้นักศึกษาในชั้นไท้เก็กของดิฉันให้เพิกเฉยและแกล้งลืมความรู้ที่ได้เรียนมาเสียก่อนโดยเฉพาะภาควิชาจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องจิตใจในแง่ที่เชื่อมโยงกับสมองทั้งหมด เพราะเขาคิดว่าจิตใจคือสมอง The mind is the brain.
หากคุณไม่แกล้งลืมและเปิดประตูใจของคุณให้กับความรู้ของพระพุทธเจ้าที่ดิฉันจะหยิบยื่นให้แล้วละก็ คุณจะไม่มีวันเข้าใจสิ่งที่ดิฉันจะพูดและสอนคุณเลย เพราะดิฉันคิดว่า ความรู้ของพระพุทธเจ้าจะสามารถให้คำตอบเรื่องตำแหน่งแห่งหนของจิตใจแก่คุณได้ชัดเจนมากกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน 

ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว
เรื่องที่ดิฉันจะวิเคราะห์นี้ ขอให้เข้าใจว่ามันตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ดิฉันยอมรับว่า ร่างกายจิตใจนี้ยังมีเรื่องลึกลับซับซ้อนที่ทั้งคุณและดิฉันก็เข้าใจได้ไม่หมด จึงจำเป็นต้องพึ่งพาความรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทาง ซึ่งเป็นความรู้ชนิด “ใบไม้กำมือเดียว” คือรู้ในส่วนที่จำเป็นต้องรู้จริง ๆ เท่านั้น 
หากเราวิเคราะห์ตามความรู้ของพระบรมศาสดาของชาวพุทธแล้วละก็ จิตใจ เป็นสภาวะ (หรือองค์กร) อิสระที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่างกายอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด ส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างกายนั้นคือ ส่วนที่คุณหมอสามารถใช้ยาสลบฉีดเข้าไปในร่างกาย ซึ่งยานั้นมีส่วนเข้าไปบังคับให้สมองส่วนหนึ่งหยุดทำงาน ไม่รับรู้ความรู้สึกของร่างกายอีกต่อไป บางครั้งก็สามารถทำให้หมดสติไปเลย และเปิดโอกาสให้คุณหมอทำศัลยกรรมผ่าตัดคนไข้ได้ และ คนไข้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับสมองที่เนื่องกับระบบประสาท ทำให้กระทบต่อเรื่องการคิด การจำ ซึ่งดิฉันยอมรับว่าสมองมีส่วนเกี่ยวข้องกับจิตใจจริง
แต่มันยังมีสิ่งนอกเหนือจากนั้นที่นักการศึกษาทางโลกยังไม่เข้าใจ พระพุทธเจ้าท่านกลับเห็นว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว งานทุกอย่างจะสำเร็จได้ก็เพราะมีจิตใจก่อน จึงทำให้ จิตใจมีระบบการทำงานที่เป็นอิสระจากร่างกายอย่างสิ้นเชิง ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของหัวสมองเพียงถ่ายเดียว นอกจากนั้น มันยังทำงานในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของวงการแพทย์ทั่วไป นั่นคือ จิตใจต่างหากที่เป็นปัจจัยทำให้การทำงานของร่างกายตลอดจนสารเคมีในสมองปั่นป่วน

ความรู้สึกในใจก่อให้เกิดการหลั่งสารเคมีในร่างกาย
ความรู้สึกทางอารมณ์ที่ฉุนเฉียวของคนเราจะเป็นปัจจัยทำให้ร่างกายปั่นป่วน  ความโกรธ เกลียด อิจฉา ริษยา พยาบาท เคียดแค้น จองล้างจองผลาญ  เป็นอารมณ์ทางใจที่มาก่อน เกิดก่อนสภาวะความปั่นป่วนของร่างกาย เช่น เพราะโกรธจัด หัวใจจึงเต้นแรง ท้องไส้จึงปั่นป่วน ไม่ใช่เพราะหัวใจเต้นแรงก่อน ท้องไส้ปั่นป่วนก่อนแล้วค่อยเกิดความโกรธ เพราะ กลัวจัดจึงทำให้ความดันโลหิตสูง อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ร่างกายจึงปล่อยสารเคมีที่เรียกเอ็นไซม์หรือฮอร์โมนบางชนิดออกมา
เอ็นไซ์มตัวที่รู้จักกันดีคือ อะดรีนารีน สารตัวนี้จะถูกปล่อยออกมาจากต่อมหมวกไตเมื่อมีอาการตื่นเต้น ตกใจ กลัว และ โกรธจัด ทำให้หัวใจเต้นแรง เพิ่มพลังงาน หรือมีแรงมากขึ้น ก่อปฏิกิริยาให้ร่างกายสามารถทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ได้อย่างรวดเร็วขึ้น ไม่รู้สึกเจ็บปวด เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ คนตกใจสามารถยกของหนักได้เหมือนเป็นของเบา ๆ เพราะสารอะดรีนาลินนี้
การรวมตัวของคนกลุ่มใหญ่เช่นตามสนามฟุตบอลที่เต็มไปด้วยคนมีอารมณ์สุดขีด ไม่ตื่นเต้นจัด ก็กลัวจัด หรือไม่ก็โกรธจัดเมื่อทีมฟุตบอลตัวเองแพ้  ชาวอังกฤษไม่น้อยที่นับถือฟุตบอลเหมือนเป็นศาสนา รักทีมฟุตบอลของตนเองมากกว่ารักพระเจ้า จึงมักมีปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงตามสนามฟุตบอล  ความคิด ความรู้สึก ที่อยู่ในหัวในใจของคนเหล่านี้กำลังปั่นป่วน สร้างอารมณ์สารพัดนึก สารอะดรีนาลินในคนเหล่านั้นจึงถูกหลั่งออกมาพร้อม ๆ กัน ทุกคนล้วนรู้สึกมีพลังมากขึ้น จึงมีเรื่องการใช้ความรุนแรงบ่อยมาก สามารถทุบตี ชกเตะต่อย โยนเก้าอี้ใส่กันได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ  เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป สารอะดรีนาลินลดลงและหยุดหลั่งแล้ว ร่างกายจะเหนื่อยและอ่อนเพลียมาก คนหนีไฟไหม้ไม่สามารถยกของหนักกลับบ้าน คนชกต่อยกันก็อาจต้องหยอดน้ำข้าวต้ม
ที่จริงแล้ว เรื่องการหลั่งสารเคมีในร่างกายเหล่านี้เป็นเรื่องการช่วยเหลือของธรรมชาติที่สร้างสิ่งทดแทนให้มนุษย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเรื่องเฉพาะการ เช่นกรณี  หนีไฟไหม้ ยุคคนอยู่ถ้ำที่ต้องออกไปล่าสัตว์มาเลี้ยงชีวิตนั้น ธรรมชาติก็ช่วยให้พลังเสริมแก่ชายที่ต้องออกล่าสัตว์ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะกาลเท่านั้น 

หมุนนาฬิกากลับไม่ได้แล้ว
แต่สภาพของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องล่าสัตว์กันแล้ว ถ้าคุณควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ปล่อยให้ตื่นเต้น กลัวและโกรธบ่อย ๆ แล้วละก็ คนเราสามารถทำอะไรที่บ้าระห่ำ ทำสิ่งที่แม้ตนเองก็คาดไม่ถึง  เช่น สามีฆ่าภรรยา ภรรยาฆ่าสามี  ลูกฆ่าพ่อแม่ได้เมื่อไม่สามารถได้อะไรดังใจดังที่มีข่าวออกมาเสมอ  หลายรายที่เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป และจำเลยถูกนำขึ้นศาลพิจารณาคดี ผู้ต้องหามักตอบไม่ได้ หาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น หลายคนรู้สึกเสียใจ อยากหมุนนาฬิกากลับ แต่ก็สายไปเสียแล้ว   
ที่จริงพระพุทธเจ้าได้ตรัสแล้วว่า ความโกรธนั้นสามารถทำให้มนุษย์กระทำในสิ่งที่ทำได้ยากหรือทำไม่ได้ในยามที่จิตใจเป็นปกติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าท่านเห็นการทำงานของจิตใจอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว
ในกรณีที่เล็กน้อยกว่านั้น เช่น คนขี้โมโหแบบประเดี๋ยวประด๋าว ในขณะนั้น มักรู้สึกว่าท้องไส้ของตนเองปั่นป่วนไปหมด คนที่ติดนิสัยขี้กังวล ห่วงโน่นห่วงนี่นั้น  ร่างกายจะรู้สึกไม่สบายเช่นกัน คนที่เครียดจากการทำงานและขบคิดปัญหา ปล่อยวางไม่ได้ ก็จะมีผลทำให้กล้ามเนื้อส่วนคอ ไหล่ ต้นแขนเกร็ง แข็งไปหมด เลือดลมเดินไม่คล่องตัว ก่อให้เกิดอาการปวดหัวถึงขนาดเป็นไมเกรนได้ ถ้าไม่ควบคุมอารมณ์เหล่านั้น ไม่ปรับจิตใจให้อยู่ในสภาวะปกติ ปล่อยให้มีอารมณ์เช่นนั้นอย่างเรื้อรัง ย่อมเป็นผลเสียต่อร่างกายแน่นอน เป็นการฆ่าตัวตายชนิดผ่อนส่ง
อย่างไรก็ตาม  การกระทำที่ผิดศีลธรรมอย่างร้ายกาจเหล่านี้จึงล้วนเกิดจากตัวใจถูกความคิดและความรู้สึกของเราหลอกเอาก่อน ทำให้อารมณ์ทางใจปั่นป่วนก่อน ร่างกายจึงปั่นป่วนตาม เป็นผลให้ร่างกายหลั่งสารเคมีต่าง ๆ ออกมา รวมทั้งทำให้สารเคมีในสมองไม่สมดุลซึ่งเป็นเรื่องของปลายเหตุมากกว่าที่จะเป็นต้นเหตุดังที่วงการแพทย์วิเคราะห์กัน

ความเห็นที่ขัดแย้งกัน
จึงเห็นได้ว่า หากใช้มุมมองของพระพุทธเจ้าแล้ว จิตใจต่างหากที่เป็นปัจจัยตัวสำคัญที่สร้างเงื่อนไขทำให้สภาวะร่างกายของคนเราสงบหรือปั่นป่วน แข็งแรงหรืออ่อนแอได้ เป็นการวิเคราะห์ปัญหาจิตใจที่ตรงกันข้ามจากนักการศึกษาฝ่ายโลกอย่างสิ้นเชิง จึงขอสรุปให้เห็นง่าย ๆ ด้วยสมการข้างล่างนี้

พระพุทธเจ้าเห็นว่า
  จิตใจปั่นป่วน ---> ร่างกายปั่นป่วน ---> การกระทำผิดศีล   

วิทยาศาสตร์การแพทย์เห็นว่า
 ร่างกายปั่นป่วน ---> จิตใจปั่นป่วน ---> การกระทำผิดศีล

ขันธ์ ๕
ฉะนั้น การที่จะค้นหาตำแหน่งแห่งหนของจิตใจเพื่อเข้าใจธรรมชาติการทำงานของมัน เพื่อแก้ปัญหาจิตใจและเพื่อหาตัวจริง ๆ ของเรานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิธีการวิเคราะห์ “ร่างกาย-จิตใจ” โดยวิธีการของพระพุทธเจ้าเสียก่อน นั่นคือ ท่านบอกว่า ร่างกาย-จิตใจ ของมนุษย์นี้ประกอบด้วยส่วนที่เป็น “รูป” หนึ่งส่วน และที่เป็น “นาม” อีกสี่ส่วน หรือ ที่ชาวพุทธเรียกว่า ขันธ์ ๕ นั่นเอง ซึ่งมีดังนี้คือ
1.   รูปขันธ์ คือ ส่วนของร่างกายทั้งหมดรวมทั้งสมองด้วย
2.   เวทนาขันธ์ คือ ส่วนของความรู้สึกของกาย เช่นรู้สึกได้ว่า นี่ร้อน เย็น แข็ง อ่อน นุ่ม สบาย ไม่สบาย เจ็บ ปวด ระอุ ระบม เป็นต้น
3.   สัญญาขันธ์ คือ ความทรงจำ อันคือ ความคิดทุกอย่างที่เนื่องกับอดีต เช่น ความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือ ภาษา ตลอดจนเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต องค์กรที่เป็นนามนี้เปรียบเหมือนกล่องเก็บข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งภาษาคอมพิวเตอร์เรียก ดาต้าเบส database ที่มีความสามารถเก็บเหตุการณ์ทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตเรา 
4.   สังขารขันธ์ คือ ความคิดใหม่ ๆ สด ๆ ที่กำลังคิดอยู่ในขณะนี้ อันเนื่องกับจินตนาการของอนาคต หรือจะเรียกว่าความคิดปรุงแต่งก็ได้ มันทำงานร่วมกับสัญญาขันธ์ คนที่มีความทรงจำมาก เช่น มีึความรู้มากเพราะได้อ่านมาก ฟังมาก หรือเก็บเหตุการณ์อดีตไว้มาก ก็จะสามารถสร้างความคิดใหม่ ๆ สด ๆ ได้มากขึ้น และอดไม่ได้ที่จะคิดพาดพิงจินตนาการต่อไปถึงอนาคต  ความคิดที่สดใหม่นี้เปรียบเหมือนเครื่องปรุงแต่งความคิดเก่าเพื่อทำให้เรื่องเก่ากลายเป็นเรื่องใหม่ในหัวในใจเราอยู่เสมอ และปรุงแต่งให้เรื่องราวในใจมีรสชาติเข้มข้นมากขึ้น แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนานหลายปีแล้วก็ตาม สังขารขันธ์นี้สามารถนำความคิดเก่ามาใส่เครื่องปรุงใหม่และทำให้เป็นเรื่องใหม่เหมือนเพิ่งเกิดเมื่อวานนี้ได้อยู่เสมอ ฉะนั้น คนที่เรารักมากเช่น พ่อ แม่ สามี ภรรยา หรือลูก แม้ได้ตายไปแล้วหลายปี แต่สังขารขันธ์ของเราที่ทำงานร่วมกับสัญญาขันธ์นี้จะสามารถทำให้คนตายเหล่านี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในหัวเราบ้าง ในจิตใจเราบ้างได้อยู่เสมอ
5.   วิญญาณขันธ์ คือ ความรู้สึกตัวว่าเรายังมีชีวิตอยู่ เป็นคนเป็น ๆ ที่เดินเหินได้และต่างจากคนตายอย่างลิบลับ รู้ได้ว่าเราไม่ได้นอนหลับสนิท ไม่ได้สลบหรือเป็นลมหมดสติ ไม่ได้อยู่ในอาการโคม่า และไม่ได้ตาย รู้แน่ชัดว่ามีตัวเราอยู่แน่นอน ไม่ใช่เป็นผีเป็นสาง ความรู้สึกที่รู้ว่าตัวเรามีอยู่ เป็นอยู่นี้แหละ คือ การทำงานของวิญญาณขันธ์นั่นเอง 

ฝ่ายนามมีทั้งตัวดูและตัวถูกดู
สิ่งที่คุณจะต้องรู้ในขั้นต่อไปคือ ส่วนที่เป็นนามขันธ์ทั้งสี่ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เปรียบเหมือนกับของเหลวสี่ชนิดที่แตกต่างกัน แต่ถูกเทรวมอยู่ในภาชนะเดียวกันหมด เมื่อมันรวมตัวกันเช่นนั้นแล้ว เราจึงเรียกมันรวบเป็นคำ ๆ เดียวว่า จิตใจ หรือ mind คำศัพท์ไทยเรายังสามารถดูออกได้ว่าธรรมชาติส่วนนามทั้ง ๔ ชนิดนี้มีส่วนที่เป็น จิต และ ส่วนที่เป็น ใจ แต่เมื่อมันอยู่คละเคล้ากัน จึงเกิดสภาวะที่เป็น จิตใจ ขึ้นมา แต่ศัพท์ภาษาอังกฤษเช่น mind นี้จะไม่สามารถบอกใบ้อะไรได้เลย การเรียนรู้เรื่องจิตใจของมนุษย์นี้ ภาษาไทยเราซึ่งมีอิทธิพลจากภาษาบาลี สันสกฤต อันเป็นภาษาของพุทธศาสนาจึงได้เปรียบมากกว่าภาษาอังกฤษ เพราะเป็นภาษาที่มีสภาวะจิตใจรองรับอยู่ 
ปัญหาจึงอยู่ตรงที่ว่า ธรรมชาติในส่วนนามทั้งสี่อย่างนี้มี ๑ ส่วนที่เป็นเครื่องมือใช้งาน หรือ เป็นตัวดู observer อันเป็นส่วนของใจ และอีก ๓ ส่วนเป็นสิ่งที่ถูกใช้งาน หรือ เป็นตัวถูกดู observed ซึ่งเป็นส่วนของจิต นี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องมาทำความเข้าใจเสียหน่อย

ทำความเข้าใจอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกก่อน
 ขอข้ามมาสู่เรื่องอายตนะที่จะพาคุณโยงกลับไปสู่เรื่องจิตใจทีหลัง คุณต้องรับทราบเสียก่อนว่า พระพุทธเจ้ามองมนุษย์ที่อยู่บนโลกนี้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่รับรู้ได้ sentient being และ สามารถรับรู้ รับผัสสะ หรือ รับสัมผัสได้ ๖ ทาง ไม่ใช่เพียง ๕ ทางอย่างที่ชาวโลกเข้าใจกัน
หากใครยังไม่เข้าใจภาษาทางธรรม ก็ขอให้เรียนรู้เสียแต่บัดนี้ ส่วนที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้น  ภาษาทางธรรมเรียกว่า อายตนะภายใน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องจับคู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งภาษาทางธรรมเรียกว่า อายตนะภายนอก
ตา หู จมูก ลิ้น กาย           =    อายตนะภายใน
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส     =    อายตนะภายนอก
(ส่วนอายตนะภายในและภายนอก คู่ที่ ๖ จะอธิบายต่อจากส่วนนี้ ในหัวข้ออายตนะที่ ๖ ขอให้ทำความเข้าใจตามนี้ไปก่อน)

ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนังของกายของเรานั้นเปรียบเหมือนสะพานเชื่อมโลกภายนอกกายกับโลกภายในจิตใจของเราให้พบกัน โดยที่เรื่องราวของโลกภายนอกทั้งหมดที่เป็นรูปเป็นร่างมีสีสันเหลี่ยมกลมทั้งหลายจะเดินเข้ามาทางสะพานตาเพื่อเข้ามาอยู่ในโลกภายในของเรา สิ่งที่เป็นเสียงทั้งหมด จะเดินเข้ามาโดยผ่านสะพานหู กลิ่นทั้งหมดก็เข้ามาทางจมูก รสชาติทั้งหมดของอาหารเครื่องดื่มก็เดินเข้ามาทางสะพานลิ้น และความรู้สึกทางกายทั้งหมดก็เข้ามาทางสะพานของผิวหนังเพื่อเดินทางเข้าสู่โลกภายในหรือจิตใจของเรา

เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส  สัมผัส เดินผ่านเข้ามาทางสะพานของตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเราแล้ว มันก็เข้ามารวมอยู่ในโลกของใจ และกลายเป็นธรรมชาติฝ่ายนามที่ไม่มีรูปร่างอีกต่อไป หรือ กลายเป็น ความคิด (สังขาร) ความจำ (สัญญา) ความรู้สึก (เวทนา) นั่นเอง ฉะนั้น คุณจะเห็นว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นธรรมชาติฝ่ายวัตถุหรือสสาร กับ ธรรมชาติฝ่ายนามอันคือ ความคิด ความจำ  ความรู้สึก นั้น เป็นเรื่องเดียวกัน ต่างกันตรงที่ว่า กลุ่มหนึ่งเป็นรูป อีกกลุ่มเป็นนามเท่านั้นเอง ถ้าจะเขียนเป็นสมการให้เห็นง่ายขึ้น ก็คือ


      รูป                 ตา      
      เสียง              หู

      กลิ่น       จมูก         

      รส           ลิ้น           

      สัมผัส             กาย

รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส = ความคิด ความจำ ความรู้สึก
โลกภายนอก         = โลกภายใน

 ไอน์สไตน์พิสูจน์ให้พระพุทธเจ้า

ที่จริงแล้ว หลักการของไอน์สไตน์ในเรื่อง มวลกับพลังงาน ก็สามารถนำมาพูดเทียบเคียงกับสมการดังกล่าวข้างต้น  ปัญญาชนทุกคนล้วนรู้จัก e=mc2 ซึ่งเป็นสูตรที่นำมาสร้างระเบิดปรมณู ดิฉันดูสารคดีที่อังกฤษเกี่ยวกับสมการนี้ของไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษท่านหนึ่งพูดว่า ไอน์สไตน์เป็นคนแรกที่พูดออกมาอย่างชัดเจนว่า พลังงาน หรือ e (energy) กับมวล หรือ m (mass) เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ต่างรูปแบบเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าเราไม่พูดเรื่องการสร้างพลังงานนิวเคลียร์อันเป็นผลจากปฏิกิริยาลูกโซ่ และเลือกพูดแต่ความคิดหลัก ๆ ของไอน์สไตน์ที่สามารถประสานกับความรู้ของพระพุทธเจ้าได้แล้วละก็ เราสามารถเอาความเร็วของแสงยกกำลังสอง หรือ c2 ออกไป สมการที่เหลือจึงได้
                                           e=m
                                  energy = mass
                       พลังงาน = มวล
                  นาม  =   รูป   
        ความคิด ความจำ ความรู้สึก  = ภาพ (รูป) เสียง กลิ่น รส สัมผัส 
         นามธรรม =    รูปธรรม
             โลกภายใน  =    โลกภายนอก

ฉะนั้น คุณจะเห็นว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้อธิบายนั้นเป็นเรื่องเดียวกับที่ไอน์สไตน์ค้นพบภายหลังพระพุทธเจ้าถึง ๒๕๐๐ กว่าปี  นั่นคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็คือ มวล ที่มีค่าเหมือนกับความคิด ความจำ ความรู้สึก อันเป็นส่วนของพลังงาน คำว่า รูป ที่เขียนคู่กับ นาม ของพระพุทธเจ้านั้น ต่างจากความหมายของ รูป อันเป็นสิ่งที่เห็นได้ทางตา หรือ ภาพ “รูป” คำใหญ่ที่เขียนคู่กับ “นาม” นั้น มีความหมายกว้างมาก   ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ มีความหมายเหมือนกับคำว่า “ธรรม” แต่เป็นทุกอย่างของโลกภายนอกในเชิงกายภาพ  จึงมีคำใช้ที่เหมาะเจาะว่า  “รูปธรรม”  คือทุกสิ่งทุกอย่างในฝ่ายกายภาพหรือฝ่ายรูป  ฉะนั้น ถ้าจะกระจายคำว่า รูป  ก็จะแยกรายละเอียดออกมาเป็น ภาพ (รูป) เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งตรงกับสมการด้านบนที่เขียนไปแล้ว เมื่อ “รูปธรรม” เหล่านี้เข้าไปในใจของเราแล้ว ก็กลายเป็นธรรมชาติฝ่ายนามของโลกภายใน หรือ “นามธรรม”  คือ ทุกสิ่งทุกอย่างในส่วนที่จับต้องไม่ได้ ที่มีอยู่ในรูปกายของเรา ก็จะแยกรายละเอียดออกมาเป็น  ความคิด ความจำ ความรู้สึก  ดังสมการด้านบน เช่นกัน
 คู่สร้างคู่สม
ฉะนั้น หาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นตัวที่ถูกรับรู้โดย ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วละก็  ความคิด ความจำ ความรู้สึก จำเป็นต้องเป็นตัวที่ถูกรับรู้โดยอีกอายตนะหนึ่งที่เป็นคู่ของมันเท่านั้น เหมือนเสียงจะไปเดินผ่านสะพานตาหรือจมูกไม่ได้ เสียงต้องเดินเข้าสะพานหูเท่านั้น รสต้องเดินเข้าสะพานลิ้นเท่านั้น คู่ของใครก็คู่ของมัน เป็นคู่สร้างคู่สมที่จะสลับคู่กันไม่ได้ มันไม่เข้าร่องของมัน ฉะนั้น ความคิด ความจำ กับความรู้สึกจะถูกรับรู้โดย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ได้ มันต้องมีอีกสะพานหนึ่งที่จะจับคู่กับความคิด ความจำ ความรู้สึก หรือ ต้องมีอีกอายตนะหนึ่งที่สามารถรับรู้ความคิด ความจำ ความรู้สึก ซึ่งอายตนะนี้มีอยู่กับมนุษย์แล้วโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องของส่วนเกินที่จะเอามาเสริมแต่งเข้าไป

อายตนะที่ ๖ 
นี่เป็นข้อเท็จจริง fact ที่พระพุทธเจ้ามองออกอย่างทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่กล้ายืนขึ้นมาบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีอายตนะ ๖ ทาง ไม่ใช่ ๕ ทาง นี่เป็นความคิดที่ท้าทายมาก เพราะสังคมอินเดียยุคนั้นเต็มไปด้วยนักปราชญ์ พระพุทธเจ้ากล้ายืนขึ้นมาพูดต่างจากคนอื่น แม้ในยุคนี้ก็ยังเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย อาจจะมากขึ้นด้วยเพราะยังไม่มีใครพูดเรื่องนี้อย่างจริงจังและเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม อายตนะที่ ๖ นี้คือ วิญญาณขันธ์นั่นเอง ความรู้สึกตัว หรือ วิญญาณขันธ์นี้เป็นอายตนะที่ ๖ อันเป็นสะพานรับรู้ความคิด (สังขาร) ความจำ (สัญญา) กับความรู้สึก (เวทนา) วิญญาณขันธ์จึงเป็นส่วนของใจ ที่เป็นฝ่ายนาม ในขณะที่ เวทนา สัญญา สังขาร เป็นส่วนของจิต ซึ่งก็เป็นฝ่ายนามเช่นกัน คุณจะเห็นชัดขึ้นเมื่อเขียนเป็นสมการโดยใช้ทั้งภาษาธรรมดาและภาษาบาลี ดังนี้

ความคิด ความจำ ความรู้สึก                  =  จิต
ความรู้สึกตัว หรือ อายตนะที่ ๖              =  ใจ หรือ ตัวใจ

สังขารขันธ์ สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์         =   จิต
วิญญาณขันธ์ หรืออายตนะที่ ๖              =   ใจ หรือ ตัวใจ
     
จิตคู่กับใจ ทอมคู่กับเจอรี่
เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ สื่อสาร และใช้คำน้อยคำ ดิฉันจะรวบความคิด (สังขาร) ความจำ (สัญญา) กับความรู้สึก (เวทนา) เป็นตัวการ์ตูนของวอลท์ ดิสนีย์ที่ชาวโลกรู้จักกันดีในนามของ หนูเจอรี่ หรือ หากเป็นคำไทยก็จะใช้คำว่า จิต ซึ่งเป็นกรรมหรือตัวถูกดู  ในขณะที่ ความรู้สึกตัว หรือ วิญญาณขันธ์ เป็นแมวทอม หรือ ใจ เป็นประธาน หรือ ผู้ดู
คำว่า ใจ นี้ ดิฉันจะใช้คำว่า ตัวใจ หรือ ตาใจ แทนเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบ จึงขอให้เข้าใจว่ามันมีความหมายเดียวกับ ความรู้สึกตัว หรือ วิญญาณขันธ์

วิญญาณ                  = ตัวใจ = แมวทอม = ผู้ดู เป็น ประธาน subject 

เวทนา สัญญา สังขาร = จิต = หนูเจอรี่ =  ผู้ถูกดู เป็น กรรม  object

 ฉะนั้น คุณจะเห็นได้ว่า สภาวะฝ่ายนามของมนุษย์ที่เรียกว่า จิตใจ นั้น มีส่วนที่เป็นทั้งอายตนะภายนอกและอายตนะภายในปะปนกันอยู่ หรือ ฝ่ายผู้รับรู้ (ตัวใจ) ปนอยู่กับสิ่งที่ถูกรับรู้ (จิต) หรือ ตัวประธาน subject ปนอยู่กับตัวกรรม object หรือจะสร้างภาพของทอมกับเจอรี่กำลังนั่งนอนกอดคอกันอยู่ก็ได้ ทั้งผู้รู้ และ สิ่งที่ถูกรู้ หรือ จิตกับใจ หรือ ทอมกับเจอรี่ ล้วนเป็นนามหรือฝ่ายพลังงานที่ติดอยู่ในร่างกายที่มืดทึบนี้ด้วย ตรงนี้แหละ ที่ทำให้การเรียนรู้เรื่องจิตใจเป็นเรื่องยากมากที่สุด เมื่อไม่มีการเรียนรู้อย่างถูกต้อง อย่างถูกวิธีของมันแล้ว เราจึงเข้าใจมันไม่ได้ เมื่อเข้าใจเรื่องของจิตใจไม่ได้แล้ว คุณจึงไม่สามารถรู้ได้ว่า การเป็นตัวของตัวเอง หรือ เป็นตัวจริง ๆ ของเรานั้น เป็นได้อย่างไร ต้องทำอย่างไรจึงจะเข้าถึง “ตัวจริง ๆ” ของเรา   

ต้องอาศัยทอมเพื่อรู้จักเจอรี่
   ฉะนั้น คุณจะเห็นได้ไม่ยากว่า การเป็นตัวของตัวเอง หรือ เป็นตัวจริง ๆ ของเรานั้น เป็นเรื่องของจิต เป็นธรรมชาติของเจอรี่ที่เราต้องทำความเข้าใจมันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ความคิดไหน ความทรงจำชนิดไหน ความรู้สึกไหน และความเชื่อไหนที่เราควรตรึงมันไว้เพื่อความเป็นตัวของตัวเอง และคงความเป็นตัวจริง ๆ ของเรา
การเรียนรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือ การเฝ้ามอง การสังเกตการณ์ ที่ฝรั่งเรียกว่า making observations  เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ปัญญาชนทั่วโลกต้องใช้หากเขาต้องการเรียนรู้ปรากฏการณ์อะไรสักอย่าง ฉะนั้น การสังเกตปรากฏการณ์ภายนอกกายที่เกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วละก็ นักวิทยาศาสตร์จะต้องใช้เครื่องมือพื้นฐานอันคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเฝ้ามองและสังเกตการณ์ปรากฏการณ์นั้น ๆ อย่างซ้ำซาก บางครั้งต้องเฝ้ามอง ทดลองไปมาอยู่เช่นนั้นนานหลายปี จึงสามารถสรุปผลการวิจัยออกมาเป็นความรู้ knowledge เป็นข้อเท็จจริง fact ที่เป็นเรื่องเป็นราวจนปัญญาชนทั่วโลกยอมรับได้อย่างไม่มีข้อสงสัย ดังที่ไอน์สไตน์บอกว่า

แหล่งความรู้ที่แท้จริงคือประสบการณ์
Experience is the source of knowledge.

ประสบการณ์ experience ก็คือ การที่อายตนะภายนอกกับภายในได้พบกันจริง ๆ หรือ ตาได้เห็นรูปจริง ๆ หูได้ยินเสียงจริง ๆ จมูกได้กลิ่นจริง ๆ เป็นต้น การสังเกตการณ์เช่นนี้เท่านั้นจึงจะเกิดประสบการณ์อันเป็นแหล่งหรือต้นตอของความรู้ทั้งหลายได้

ฉะนั้น การจะเข้าใจปรากฏการณ์ของจิตได้ เราจำเป็นต้องใช้เครื่องมือพื้นฐานอันคือ ใจ  เป็นผู้มอง หรือ เป็นผู้ดู เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพพจน์ได้ชัดเจนมากขึ้น เหมือน “ตัวกาย” ที่มี “ตากาย หรือ ตาเนื้อ” ดิฉันจะเรียกวิญญาณขันธ์ว่าเป็น “ตัวใจ” ที่มี “ตาใจ” แทนที่จะใช้คำว่า “ใจ” เฉย ๆ เพื่อจะได้สอดคล้องกับคำว่า “มอง” และ “ดู” การที่จะมองหรือดูอะไรได้ ต้องใช้ตามอง การเฝ้าสังเกตดูความคิด ความจำ ความรู้สึก หรือ จิต นี้ ก็ไม่ต่างจากการใช้ตาเนื้อดูรูป และดูสิ่งของต่าง ๆ จิตก็คือ สิ่งของต่าง ๆ  ที่เป็นฝ่ายนาม (ไม่มีรูปร่าง) ฉะนั้น เมื่อใส่คำ “ตา” ไว้ข้างหน้าคำ “ใจ” เป็น “ตาใจ” แล้วละก็ จะเกิดสภาวะที่ชัดเจนว่า ทุกคนล้วนมีอายตนะที่ ๖ อันคือ  “ตาใจ” ซึ่งมีไว้เพื่อดู “จิต” (ความคิด ความรู้สึก) 
ถ้าใช้ภาษาของทอมกับเจอรี่ก็คือ ต้องใช้แมวทอมเป็นตัวสังเกตการณ์และเรียนรู้การทำงานของหนูเจอรี่นั่นเอง
เมื่อนำอายตนะภายในและภายนอกทั้ง ๖ มาเขียนรวมกันแล้วก็จะได้เช่นนี้คือ

 อายตนะภายใน      อายตนะภายนอก   
      Sense               sense objects
ตาเนื้อ    สังเกต    รูป           เป็น         มวล         ฝ่าย           รูป
หู         “            เสียง             เป็น    มวล      ฝ่าย       รูป      
จมูก         “         กลิ่น        เป็น      มวล         ฝ่าย      รูป
ลิ้น         “           รส             เป็น     มวล      ฝ่าย        รูป
ผิวหนัง         “       ความรู้สึก     เป็น        มวล         ฝ่าย      รูป
ตาใจ         “     จิต               เป็น    พลังงาน   ฝ่าย   นาม

ทำไมฝรั่งจึงสรุปว่า “จิตใจ” อยู่ที่สมอง
    ทีนี้ เราก็มาถึงจุดที่ปัญญาชนฝรั่งต้องเข่าอ่อนไปตาม ๆ กันแล้ว เพราะเมื่อคุณดูไปที่ ๕ คู่แรกของการหาความรู้นั้น ปัญญาชนฝรั่งสามารถทำได้ไม่ยาก เพราะมันไม่ซับซ้อน แต่พอมาถึงคู่ที่ ๖ ที่ต้องใช้ ตาใจ ดูปรากฏการณ์ของจิต หรือ ใช้ตาใจดูการทำงานของความคิด ความจำ ความรู้สึก แล้วละก็ ความซับซ้อนจึงเกิด ปัญญาชนฝรั่งไปต่อไม่ได้ เพราะ ทั้งตาใจและจิตล้วนเป็นนามธรรมที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ทั้งคู่ เพราะอยู่ภายในร่างกายของเรา
เมื่อขาด “ตาใจ” ที่เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อการเรียนรู้ปรากฏการณ์ของ “จิต” แล้ว เขาจึงต้องกวาดเอาส่้วนเกินเหล่านั้น (ความคิด ความจำ ความรู้สึก) ไปอัดลงในสมองซึ่งเป็นส่วนของรูป เพื่อว่าเขาจะได้ใช้ “ตาเนื้อ” ดูปรากฏการณ์ของสมองได้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เขาบูชา นี่เองจึงเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังบทสรุปที่ว่า ทำไมฝรั่งจึงเข้าใจว่า เรื่องจิตใจ หรือ mind อยู่ที่สมอง
เมื่อปัญญาชนฝรั่งหาความรู้เรื่องจิตใจชนิดจับแพะชนแกะเช่นนี้  การแก้ปัญหาจิตใจเหล่านี้จึงต้องหันกลับมาแก้ปัญหาที่สมอง และมาลงเอยที่ยากล่อมประสาท ปัญหาจึงเริ่มวน

จะให้ถูกทั้งสองฝ่ายไม่ได้
เมื่อปัญญาชนชาวตะวันตกไม่ได้เห็นว่ามนุษย์มี ๖ อายตนะเหมือนที่พระพุทธเจ้าเห็น การเรียนรู้เรื่องราวของมนุษย์และของโลก ของจักรวาลที่เราอยู่นั้น จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์มี ๕ อายตนะเท่านั้น ซึ่งจะให้ถูกทั้งสองฝ่ายย่อมไม่ได้ 
ดิฉันนั้นเลือกเชื่อพระพุทธเจ้าอย่างไม่มีข้อสงสัยแน่นอน และโดยเหตุผลที่พูดมาทั้งหมด มุมมองของพระพุทธเจ้ามีเหตุผลมากกว่าและพูดลงตัวได้อย่างพอดิบพอดี ไม่ขาด ไม่เกิน ในขณะที่มุมมองของปัญญาชนฝรั่งที่เห็นมนุษย์มี ๕ อายตนะนั้น ไม่สามารถหาเหตุผลมาพูดให้ลงตัวได้ หากไม่พูดขัดแย้งกันเองละก็ ยังมีแต่เรื่องขาด ๆ เกิน ๆ ส่วนเกินคือ ความคิด ความจำ กับ ความรู้สึก  ส่วนขาดก็คือ อายตนะที่ ๖ หรือ ตัวใจ ตาใจ 
    และถ้าระบบการศึกษาของฝรั่งหรือของโลกไม่ยอมรับเรื่องอายตนะที่ ๖ หรือ ตาใจ แล้ว เขาจะเริ่มขบวนการเรียนรู้เพื่อหาประสบการณ์ภายในจิตใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร เมื่อไม่มีประสบการณ์ก็ไม่มีความรู้ที่แน่นอน ที่พึ่งพาได้ ปัญหาจึงเริ่มวน


ต้องฟังผู้รู้จริงตามพระพุทธเจ้า
การรู้ว่ามนุษย์มีประสาทรับสัมผัสได้ ๖ ทางย่อมได้เปรียบกว่าการรู้ว่ารับได้เพียง ๕ ทางเท่านั้น เพราะประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ทั้ง ๖ ทางย่อมกว้างขวางมากกว่าประสบการณ์ที่หาได้จาก ๕ ทางอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้แน่นอน
ขอให้นึกถึงคนตาบอดหนึ่งคน ประสบการณ์ในเรื่องรูป แสง สี ขนาด  รูปทรง ฯลฯ ของคนตาบอดนั้นจะดับมืดลงทันที ซึ่งเป็นการสูญเสียอย่างมหันต์แม้ของคนเพียงคนเดียว ฉะนั้น คุณลองหลับตาและคำนวณดูเอาเองว่า มนุษยชาติได้สูญเสียประสบการณ์และความรู้ต่าง ๆ ที่สามารถรับได้จากการใช้อายตนะที่ ๖ หรือ ตาใจ ไปมากมายมหาศาลสักเพียงใด คงจะหาภาษามนุษย์มาบรรยายความเสียหายอย่างมหันต์นี้ไม่ได้แน่นอน แม้กระนั้น ความรู้เรื่องอายตนะที่ ๖ ในทุกวันนี้ก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างออกหน้าออกตาของชาวโลก ชาวพุทธเองก็ไม่สามารถเข้าใจเรื่อง ตาใจ ได้อย่างถ่องแท้

เรื่องอายตนะเกี่ยวข้องกับพระนิพพานโดยตรง
เมื่อตาใจถูกปิด มนุษย์จึงขาดประสบการณ์ทั้งหมดที่ตาใจสามารถพาไปถึง การเรียนรู้ธรรมของชาวพุทธจึงมักเน้นเรื่อง อายตนะภายนอกกับภายในเสมอ เพราะนี่เป็นเนื้อหาสำคัญของการหาความรู้หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเราผู้เป็นส่วนหนึ่งของโลกและจักรวาล หรือหาตัวจริง ๆ ของเรานี่เอง แต่เมื่อการอธิบายยังไม่ชัดเจน แม้ชาวพุทธส่วนมากก็ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าทำไมจึงต้องมาเรียนรู้เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และ รูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งชาวพุทธฟังจนชินหู จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่น่าจะมีอะไรลึกซึ้ง ที่จริง เรื่องแสนจะธรรมดาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพระนิพพานและการแสวงหา “ตัวจริง ๆ ของเรา” โดยตรง เพราะพระนิพพานหรือตัวจริง ๆ ของเราเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เห็นได้ด้วย “ตาใจ” หรือ อายตนะที่ ๖ เท่านั้น

ระบบการศึกษาที่มืดบอด
ระบบการศึกษาของโลกทุกวันนี้ยังคงตั้งอยู่บนรากฐานที่เข้าใจว่ามนุษย์มีประสาทรับสัมผัสเพียง ๕ ทางเท่านั้น ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากประสาทรับสัมผัสทั้ง ๕ นั้น  แม้จะถูกต้องอย่างไร มีประโยชน์ต่อชาวโลกมากมายเพียงใด มันก็ยังเป็นความรู้ที่เจือด้วยอวิชชา เป็นความรู้ที่มีความไม่รู้ปะปนอยู่ จึงเป็นระบบการศึกษาที่ผิดตั้งแต่แรกแล้ว
ตาใจของมนุษยชาติที่มืดบอดอย่างทั่วถึงกันหมดนี้ จึงทำให้อยู่ด้วยกันได้ พูดภาษาของคนมืดบอดที่เข้าใจซึ่งกันและกันได้ ซึ่งไม่พ้นจากเรื่องการตามใจกิเลส การมุ่งหาเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง บูชาวัตถุ ใช้ชีวิตอย่างไร้แก่นสาร แล้วก็ตายไปอย่างเสียชาติเกิดโดยที่ตนเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเสียชาติเกิดอย่างไร  จึงเป็นเหตุผลใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่เริ่มจากจิตใจของคนหนึ่งคน ตลอดจนถึงปัญหาในระดับโลก เช่น สงคราม เป็นต้น       
 
ต้องเรียนรู้โครงสร้างของชีวิต
ฉะนั้น หากใครต้องการเอาผ้าปิดตาใจออกแล้วละก็ ต้องเริ่มการเรียนรู้ชีวิตอย่างเป็นระบบเสียก่อน จุดเริ่มต้นคือ ต้องรู้จักโครงสร้างของชีวิตที่ชัดเจน ต้องรู้ว่าชีวิตของแต่ละคนล้วนมีเป้าหมายอันสูงสุดทั้งสิ้น นั่นคือ การค้นพบสัจธรรมอันสูงสุด หรือ ไปให้ถึงพระนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวที่จะทำให้คนเป็นสุขได้อย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
“สุขใดยิ่งกว่าพระนิพพานไม่มี”
คนรู้จริงจะรู้ว่า พระนิพพานไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเลย พระนิพพานในภาษาของดิฉันคือ ผัสสะบริสุทธิ์  เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำได้อยู่แล้ว หากยอมเรียนรู้อย่างเป็นระบบเท่านั้น
เมื่อรู้เป้าหมายปลายทางของชีวิตแล้ว ต่อไปก็ต้องรู้วิธีการเดินทางเพื่อให้ถึงเป้าหมายปลายทางนั้น การเดินทางในขั้นตอนแรกคือการรักษาศีล นั่นคือ ทุกอย่างที่ดี ๆ ทำไปให้หมด อะไรที่ไม่ดี ไม่ต้องทำ วิธีการเดินทางในขั้นตอนแรกนี้ ดิฉันได้เขียนแผนที่ให้แล้วในหนังสือเรื่อง คู่มือชีวิตภาคศีลธรรมและภาคกฎแห่งกรรม หากใครทำตามสิ่งที่ดิฉันแนะนำในหนังสือสองเล่มนี้ได้แล้ว ก็เท่ากับได้เริ่มเดินทางไปสู่เป้าหมายปลายทางของชีวิตแล้ว ไปได้ครึ่งทางแล้ว
   การเดินทางในขั้นต่อไปที่จะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตอย่างรวดเร็วนั้น ผู้เดินทางต้องฝึกทักษะทางใจ ดังที่ชาวพุทธเรียกว่า ฝึกสมาธิิวิปัสสนา หรือ ฝึกสติปัฏฐานสี่ นั่นเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้้เรื่องจิตใจและการแสวงหาตัวจริง ๆ ของเราอย่างถูกต้องและตรงไปตรงมา
ขอให้ดูรูปโครงสร้างของชีวิต 
 ช่วยวาดรูปของโครงสร้างชีวิตด้วยค่ะ เอาตามที่เขียนไว้ในบทที่สี่?ของใบไม้กำมือเดียว โดยวาดรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ส่วนบนเขียน พระนิพพาน สัจธรรมอันสูงสุด ผัสสะบริสุทธิ์ และ “พบตัวจริง ๆ ของเรา” ส่วนล่างตรงกลางเขียน ปัญญา ซ้ายมือเขียน ศีล ขวามือ เขียนสมาธิ และ สติปัฏฐานสี่ค่ะ ได้แนบแผ่นภาพมาให้ด้วย

 วิปัสสนา เครื่องมือแยกตัวปลอมออกจากตัวจริง
   ครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาที่รู้จริงนั้นจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติกำหนดสภาวะของ “ตัวใจ” ที่มี “ตาใจ” ให้ได้เสียก่อนเป็นอันดับแรก นี่เป็นสิ่งแรกที่ดิฉันทำในงานอบรมธรรมทุกครั้ง การทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการเอาผ้าปิดตาใจออก หลังจากนั้น ผู้ฝึกสติปัฏฐานก็จะฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับมาสู่ฐานของสติ ซึ่งภาษาของดิฉันคือ การพาตัวใจกลับบ้าน  อันเป็นวลีที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานเข้าใจวิธีการปฏิบัติได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะล้วนต้องเกี่ยวข้องกับสภาวะที่เป็นนามอันไม่มีรูปร่างทั้งสิ้น การใช้ภาษาร่วมสมัยตลอดจนการเปรียบเทียบกับตัวการ์ตูนเช่นทอมกับเจอรี่ของดิฉันนั้น จะสามารถทำให้แผนที่ชีวิตนี้ชัดเจนมากขึ้น 
เมื่อคนฝึกสติปัฏฐานใช้ตาใจเป็นแล้ว เขาจะเข้าสู่ขบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ ใช้ตาใจเฝ้าสังเกตุการณ์การทำงานของจิต เมื่อเฝ้าดูไปนาน ๆ แล้ว ผู้ดูจะค่อย ๆ ฉลาดขึ้นและเห็นเองว่า ความคิด ความจำ ความรู้สึก (จิต หรือ เจอรี่) นี้ล้วนมีคุณลักษณะเป็นมายา ความคิดกับความรู้สึกที่เป็นมายานี้แหละที่สร้าง “ตัวปลอม” ของเราขึ้นมา ทุกครั้งที่เราติดอยู่ในความคิด เราก็ติดมายา หรือ ติดตัวปลอมของเรานี่เอง แต่เมื่อหลุดจากความคิดและความรู้สึกได้เมื่อไร ตัวปลอมของเราก็หายไป กลับมาอยู่กับ “ตัวจริง ๆ” หรือ “ตัวใจ” ของเราทันที  จุดนี้เอง ผู้ปฏิบัติจะค่อย ๆ สามารถแยกแยะระหว่าง “ตัวจริง ๆ” กับ “ตัวปลอม ๆ” ของตนเองได้แล้ว
สรุปว่า ตัวปลอมคือตัวที่ถูกความคิดที่เป็นมายาปลุกปั้นขึ้นมา ซึ่งเป็นสภาวะเดียวกับการรับผัสสะที่ไม่บริสุทธิ์ ส่วนตัวจริง คือ ตัวที่หลุดจากความคิด (จิต) หรือ ในขณะที่กำลังรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์นั่นเอง   ดังรูปข้างล่างนี้

ตััวใจจิต --------> ตัวกาย = ผัสสะไม่บริสุทธิ์ = อยู่กับตัวปลอม = ตัวสัมพัทธ์

ตััวใจ    --------> ตัวกาย = ผัสสะบริสุทธิ์     = อยู่กับตัวจริง  =  ตัวปกติ
 
ฉะนั้น การตรึงความคิดหนึ่ง ความรู้สึกหนึ่ง หรือ ความเชื่อหนึ่งใดให้อยู่กับตนเองนาน ๆ จึงเป็นเรื่องการยึดตัวปลอมของตนเอง เอาตัวปลอมเป็นที่พึ่ง จึงอยู่ไม่ทนนาน ต้องประสบกับสภาวะลมพัดลมเพเสมอ แต่หากใครฝึกทักษะเรื่องพาตัวใจกลับบ้านเก่งแล้ว จะค่อย ๆ ถูกเจอรี่หลอกน้อยลง สามารถดีดความคิดออกจากใจได้เก่งขึ้น จึงสามารถอยู่กับตัวจริง ๆ ได้นานมากขึ้น ปัญหาชีวิตจึงแก้ตกไปได้ในลักษณะเช่นนี้

สร้างตัวปลอมซ้ำสอง
   หากใครยังแสวงหาตัวจริง ๆ ของตนเองไม่พบแล้วละก็ ย่อมหมายความว่าคน ๆ นั้นต้องอยู่กับตัวปลอมและเอาตัวปลอมเป็นที่พึ่งไปก่อน ความซับซ้อนของชีวิตเริ่มเกิด โดยเฉพาะสังคมในยุคนี้ อันเป็นยุคที่คนมักให้ความสำคัญกับความร่ำรวย ความมีอำนาจ  และชื่อเสียง จึงก่อให้เกิดอาชีพใหม่ นั่นคือ ใครที่เกิดมีหน้าตาเหมือนกับคนมีชื่อเสียง เช่น ดาราภาพยนต์ นักร้อง นักกีฬา นักการเมือง เป็นต้น คนเหล่านี้สามารถทำงานหาเงินได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยการเป็นตัว “เลียนแบบ” double ให้กับคนมีชื่อเสียงเหล่านี้ งานที่เขาต้องทำคือ ต้องพยายามทำตัวให้เหมือนกับคนจริง ๆ ที่เขาต้องการเลียนแบบ เช่น หญิงชาวอังกฤษคนหนึ่งมีหน้าตาเหมือนราชินีอะลิซาเบทของอังกฤษมาก นอกจากการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่เหมือนของราชินี ต้องใส่มงกุฏแล้ว เธอยังต้องเลียนแบบกิริยาอาการทุกอย่างให้เหมือนราชินีอังกฤษ เช่น การเดิน การนั่ง การโบกมือให้ผู้คน การยิ้ม การพูด แม้น้ำเสียงก็ยังต้องพยายามดัดให้เหมือนราชินีตัวจริง ทุกครั้งที่เธอไปออกงานหรือแสดงตัวที่ไหนก็ตาม ซึ่งพูดง่าย ๆ ว่าไปทำงานหาเงินจากการเลียนแบบราชินีอังกฤษ แม้เธอจะไม่ได้รับการต้อนรับเหมือนอย่างราชินีอังกฤษก็ตาม แต่เธอก็เป็นจุดเด่นของงานเสมอ จะมีคนมาขอถ่ายรูปมากมาย
    คุณเห็นหรือไม่ว่า หญิงคนนี้ได้สร้างตัวปลอมสองชั้นขึ้นมาแทนที่จะเป็นตัวปลอมชั้นเดียวเหมือนคนทั่วไปที่ไม่มีอาชีพนี้ ตัวปลอมแรกคือ หญิงธรรมดาเหมือนคนทั่วไปที่ไม่ได้รู้จักตัวจริงของตนเอง ตัวปลอมที่สองคือ ทำตัวเป็นราชินีทุกอย่างทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นราชินี ซึ่งอาชีพของนักแสดงล้วนเป็นเช่นนี้ คือ อยู่กับตัวปลอมสองชั้น
   ปัญหาจะน้อยลงหากนักแสดงเหล่านี้สามารถกลับไปสู่ตัวปลอมแรกของตนเองเมื่อจบการแสดง แต่ถ้าหากเขาทำไม่ได้ เพราะไปติดใจในบทบาทที่ตนเองได้สวมเข้าไป เช่น บทของราชินีอังกฤษที่ได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์เหมือนราชินีจริง ๆ แม้ไม่ใช่เป็นมงกุฎเพชรอย่างแท้จริง แต่ก็สวยเหมือนเพชร แถมมีคนมาถ่ายรูปมากมาย ถ้าหญิงธรรมดาคนนี้เกิดไปติดใจในบทบาทปลอม ๆ เหล่านั้นแล้วไม่อยากออกมาละก็ ชีวิตของเขาจะซับซ้อนมาก และจะทุกข์มากตามไปด้วย
นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมชีวิตของดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงมากมักมีชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว เพราะ ชีวิตจริงของเขาไม่ได้สวยหรูและมีอำนาจมากเท่ากับบทบาทที่เขาได้สวมเข้าไปในภาพยนตร์ โดยเฉพาะนักแสดงชายที่สวมบทบาทของพระเอกที่เก่งไปเสียทุกอย่าง ซึ่งชีวิตจริง ๆ ก็ไม่ได้เก่งเช่นนั้น เพียงแต่เล่นบทบาทได้เก่งเท่านั้น หลังเหตุการณ์ที่ผู้ก่อการร้ายนำเครื่องบินชนตึกเวริลด์เทรดนั้น หนังสือพิมพ์ที่อังกฤษได้ลงข่าวของพระเอกหนังที่แสดงบทบาทบู๊ สามารถช่วยแก้ไขสถานการณ์ทุกอย่างที่อยู่เบื้องหน้าได้เสมอ ซึ่งมีภาพยนต์เรื่องหนึ่งที่เขากอบกู้เครื่องบินจากการถูกยึดของผู้ก่อการร้าย ปรากฏว่าดาราชายคนนี้ไม่กล้าขึ้นเครื่องบินเลยในช่วงนั้น เพราะกลัวมาก
คุณจึงเห็นได้ว่า วิถีชีวิตที่ซับซ้อนเหล่านี้ล้วนเป็นผลของการไม่รู้จักตัวจริง ๆ ของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องเสียหายมาก เป็นต้นตอของปัญหาสังคมมากมาย 
   
ตัวจริง ๆ ของเรามีอยู่
 สิ่งที่หญิงชาวอังกฤษวัย ๔๐ พูดนั้นไม่ผิด ดังที่เธอบอกว่า

ทุกครั้งที่ดิฉันเห็นตัวเองในกระจก ดิฉันยอมรับกับตัวเองได้ยากมากว่าใบหน้าที่เหี่ยวย่นในกระจกนี้คือตัวดิฉัน เพราะดิฉันไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนนั้นเลย คนนั้นไม่ใช่เป็นตัวจริงของดิฉัน ในหัวใจของดิฉันนั้น รู้สึกเป็นอีกคนหนึ่งที่หน้าตาไม่เหมือนหญิงคนที่ดิฉันเห็นในกระจกเลย

ประโยคสุดท้ายที่เธอพูดนั้นถูกเผ๋งทีเดียว เธอรู้สึกเป็นอีกคนหนึ่งที่หน้าตาไม่เหมือนหญิงคนที่เธอเห็นในกระจก ความรู้สึกที่เป็นอีกคนหนึ่งที่เธอพูดถึงนั้น ที่จริงแล้ว เธอกำลังพูดถึง ตัวใจ ในส่วนที่เป็นนามธรรมของเธอนั่นเอง ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จึงไม่มีความแก่เฒ่า ชรา เหี่ยวย่นในตัวมันเอง เธอจึงไม่รู้สึกว่า ตัวใจ นั้นเป็นคนเดียวกับตัวกายที่มีรอยตีนกาในกระจก  ซึ่งเป็นสภาวะที่อยู่เหนือความแก่เฒ่าและความตาย เป็นสภาวะอมตะ นี่เป็นสภาวะที่หญิงวัยกลางคนนี้สามารถสัมผัสได้ และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพียงแต่ความรู้ของเธอไม่ชัดเจน เพราะยังถูกความคิดที่เป็นมายาสร้างตัวปลอมรบกวนอยู่ ด้วยความที่ยังไม่ได้เข้าใจชีวิตตามหลักของศาสนาพุทธ จึงไม่รู้จักตาใจ หรือ อายตนะที่ ๖ จึงทำให้หาตัวจริง ๆ ของตนเองไม่พบ ซึ่งถ้าเข้าใจได้และสามารถหาตัวใจที่แท้จริงพบแล้วละก็ จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องความกลัวความแก่เฒ่าชรานี้ได้ง่ายมาก ตลอดจนถึงปัญหาเรื่องกลัวตายด้วย
 
สรุป
   คุณคงเข้าใจแล้วว่า ความคิดเรื่องสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตในส่วนจิตใจของมนุษย์อย่างไร การไม่รู้จุดคงที่ของจักรวาลคือ การไม่รู้จักตัวจริงของเรา การยอมรับความคิดเรื่องสัมพัทธภาพก็คือการยอมรับตัวปลอมของเรา ฉะนั้น ถ้าเราไม่ยอมศึกษาเรื่องการไปนิพพานแล้วละก็  การแสวงหาตัวจริงจะไม่เกิด และจะไม่มีวันรู้จักตัวจริงของเราได้เลย   
ดิฉันหวังว่าบทความนี้คงช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องการแสวงหาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอายตนะที่ ๖ และ การนำผ้าปิดตาใจออกโดยวิธีการฝึกสติปัฏฐานสี่ นี่เป็นเรื่องเดียวที่สำคัญมากที่สุดต่อทุกชีวิตบนโลกนี้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณคงจะแสวงหา “ตัวจริง ๆ” ของคุณพบไม่วันใดก็วันหนึ่งในชาตินี้ เพื่อให้สมกับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา 

บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13256


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 17, 2007, 10:32:43 AM »

บทที่สาม
จิตใจปกติเป็นอย่างไร?
Do you know what a normal mind is?
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
นั่งรถกับคนเป็นโรคจิต

   วันหนึ่ง ดิฉันได้รับโทรศัพท์จากชายหนุ่มอายุ ๒๗ ปีคนหนึ่ง ซึ่งเคยมาเรียนไท้เก็กกับดิฉันประมาณ ๓ ปีก่อนหน้านั้น เขามาเพียง ๓ หรือ ๔ ครั้ง แล้วก็หายหน้าไป วันนั้น เขาโทรมาเพื่อขอหนังสือเรื่อง ใบไม้กำมือเดียว จากดิฉัน ดิฉันจึงพูดกับเขาว่า หากมีเวลา ควรมาเรียนไท้เก็กกับดิฉันอีก แล้วดิฉันจะได้สอนเรื่องการฝึกสติปัฏฐานให้ เพื่อเขาจะสามารถเข้าใจหนังสือของดิฉันได้ดีขึ้น

   พอดีชายหนุ่มคนนี้อยู่ใกล้บ้าน ดิฉันจึงรับอาสาที่จะรับไปมหาวิทยาลัยในรถของดิฉันด้วย เมื่อชวนคุย ดิฉันจึงทราบว่า เขาเพิ่งฟื้นตัวจากโรคจิตเภทชนิดหนึ่ง ยังอยู่ในการดูแลของคุณหมอโรคจิต รักษาด้วยยาและทำจิตบำบัดอยู่ บอกว่า สาเหตุที่เขาต้องการหนังสือของดิฉันเพราะดิฉันได้พูดเรื่องการทำใจให้ว่างจากความคิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดึงดูดความสนใจของเขาตั้งแต่แรก

   ดิฉันไม่ได้รู้สึกหวั่นไหว ถึงแม้รู้ว่ากำลังนั่งรถไปกับคนที่จิตใจไม่ค่อยปกติก็ตาม รู้สึกสงสาร จึงพยายามให้เขาพูดถึงปัญหาส่วนตัวที่ทำให้จิตใจของเขาไม่ปกติ  ซึ่งดิฉันสรุปได้ว่าชายหนุ่มคนนี้ได้สูบกัญชาในช่วงที่เขามาเรียนไท้เก็กกับดิฉัน ในใจของเขาจึงสร้างเรื่องต่าง ๆ ขึ้นมาซึ่งเขาคิดว่าจริงไปหมด หลังจากที่ได้อ่านหนังสือของดิฉันครั้งแรกซึ่งดิฉันได้พูดเรื่อง ใจว่างจากจิต void และเรื่องการตรัสรู้ enlightenment นั้น เขาเชื่อว่าเขาได้บรรลุธรรมและตรัสรู้แล้ว ดิฉันเดาว่า คุณแม่ของเขาคงได้ทำลายหนังสือเล่มนั้นไปแล้วเมื่อลูกชายมีความเจ็บป่วยทางใจ จึงเป็นสาเหตุที่ชายหนุ่มคนนี้ต้องการได้หนังสือของดิฉันไปอีกเล่มหนึ่ง   แต่ดิฉันก็ตัดสินใจไม่ให้หนังสือของดิฉันแก่ชายหนุ่มคนนี้ เพราะคิดว่าจะไปทำให้จิตใจของเขาสับสนมากกว่าที่เป็นอยู่ ควรให้คุณหมอโรคจิตรักษาจนกว่าจิตใจของเขาจะเป็นปกติเสียก่อนดีกว่า แต่นี่แหละคือตัวปัญหาที่แท้จริง มีใครรู้จริง ๆ หรือไม่ว่า “จิตใจที่ปกติจริง ๆ” นั้นเป็นอย่างไร
   
โรคจิตไม่มีแผล
   โรคจิตเป็นโรคที่ซับซ้อน ยากที่จะรักษา เพราะไม่มีแผลให้เห็นอย่างชัดเจนเหมือนโรคกายซึ่งเป็นเรื่องตรงไปตรงมา ใครไม่สบายกายก็ไปหาคุณหมอ ท่านสำรวจโรคและให้ยามารับประทานเพื่อแก้โรคนั้น ๆ แต่แผลใจไม่มีรอยช้ำ อักเสบ ขูด ข่วน เป็นหนอง หรือ แตกหักให้เห็นอย่างชัดเจน ความเจ็บป่วยทางจิตใจเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับ ความคิด ความจำ ความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่างทั้งสิ้น แล้วเราจะรู้หรือตัดสินได้อย่างไรว่า  ความเจ็บป่วยของจิตใจเป็นอย่างไร
    
             ความรู้ทางการแพทย์เชื่อว่า จิตใจอยู่ที่สมอง ฉะนั้น การรักษาโรคทางจิตใจ คือ การไปรักษาที่สมอง ฉะนั้น เรามาดูกันก่อนว่า ผู้เชี่ยวชาญทางจิตใจ mind expert ได้ถกเถียงเรื่อง จิตใจ ว่าอย่างไร  ดิฉันอ่านบทความนี้จากผู้วิจารณ์หนังสือ ชื่อ A.C. Grayling วิจารณ์หนังสือชื่อ Consciousness ซึ่งแปลว่า ความรู้สึกตัว เขียนโดย Rita Carter ซึ่งพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Daily Mail วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๐๐๒ เขาพูดว่า
   
   โดยประเพณีแล้ว ปัญหาของจิตใจ mind  และความรู้สึกตัว consciousness อยู่ในเครือข่ายของปรัชญา แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักประสาทวิทยา neurologists  นักจิตวิทยา psychologists และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยร่วมมือกับนักปรัชญา ได้นำเสนอทฤษฎีและวิธีการใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เข้าใจเรื่องความรู้สึกตัวของมนุษย์ซึ่งล้วนมีพลังมาก แต่ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมบางส่วนของสมองแล้ว เช่น ส่วนที่เกี่ยวกับการเห็น การได้ยิน การใช้ภาษา การเคลื่อนไหว และ สิ่งอื่น ๆ มันก็ยังมีความลึกลับ และ ความคลุมเครืออยู่อีกมากมายทีเดียว บางคนก็บอกว่า ความรู้สึกตัว consciousness เป็นองค์กรที่อิสระจากสมองและวัตถุอย่างอื่น บางคนก็บอกว่า หัวสมองและจิตใจเป็นเรื่องเดียวกัน บางคนก็บอกว่าสมองเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดจิตใจ บางคนก็บอกว่า ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเป็นผลของกิจกรรมของสมอง บางคนก็พูดว่า เราไม่มีวันเข้าใจได้ว่าความรู้สึกตัวจะเกิดจากสมองได้อย่างไร และ ยังมีคนที่ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่ามีสิ่งที่เรียกว่า ความรู้สึกตัว consciousness นั้นไม่มี

   คุณเห็นได้ว่า บทสรุปสั้น ๆ ของคุณ A.C Graying ก็สามารถช่วยให้เราเห็นภาพรวมของความคิดของผู้เชี่ยวชาญเรื่องสมองและจิตใจของมนุษย์ เมื่อพิจารณาจากการถกเถียงของผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตใจเหล่านั้นแล้ว เห็นได้ชัดว่า  พวกเขาก็ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องจิตใจอย่างทะลุปรุโปร่ง ว่ามันคืออะไรอย่างแน่นอน ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เพราะหากผู้ชำนาญทางจิตใจ mind experts ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าจิตใจคืออะไร และทำงานอย่างไรแล้ว เขาจะรักษาคนไข้ที่เป็นโรคจิตให้กลับคืนสู่ความปกติได้อย่างไร และที่รักษากันอยู่นี้ เขารักษากันอย่างไร และตัดสินได้อย่างไรว่า จิตใจของคนไข้นี้หายเป็นปกติแล้วซึ่งต่างจาก คนที่จิตใจยังไม่หายเป็็นปกติอย่างไร เขาเอามาตรฐานอะไรมาวัดและตัดสินความปกติที่แตกต่างจากความผิดปกติ

   เราจึงจำเป็นต้องเจาะลึกเข้าไปสู่เรื่องของจิตใจ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องความเป็นปกติของจิตใจ ว่ามันคืออะไรกันแน่ และมนุษย์เราจะเข้าถึงความเป็นปกตินั้นได้อย่างไร

แก่นของชีวิต
   หากต้องการเข้าใจความปกติของจิตใจ ก็ต้องมาเริ่มทำความรู้จักกับธรรมชาติส่วนนี้ก่อน  เราต้องยอมรับว่า ความคิด thoughts ความจำ memories ความรู้สึก feelings และ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม consciousness มีอยู่อย่างแน่นอน ถึงแม้สิ่งเหล่านี้ไม่มีรูปร่างก็ตาม มันก็มีอยู่ และเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดแนบเนื่องกับชีวิตของเรามากที่สุด แทบจะรู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้คือ ตัวจริง ๆ ของเรามากกว่ากายเนื้อด้วยซ้ำไป ที่สำคัญมากกว่านั้น คือ สิ่งที่ไม่มีรูปร่างเหล่านี้ล้วนเป็นธาตุหรือธรรมชาติพื้นฐานที่ก่อให้เกิด “ชีิวิต” life และทำให้ “เรามีวิถีชีวิต” ก่อให้มีการเรียนรู้ การหาประสบการณ์จากโลกภายนอกตลอดจนจักรวาลที่เราอยู่
    
   เมื่อคุณแม่ให้กำเนิดทารก  ทารกนั้นก็คือ ก้อนเนื้อที่ห่อหุ้มความรู้สึกตัวทั่วพร้อม consciousness ซึ่งเป็นแก่นของชีวิต เพราะถ้าหากไม่มีก้อนความรู้สึกตัวนั้นแล้ว ถึงแม้ร่างกายของทารกจะสมบูรณ์ มีอวัยวะทุกอย่างครบถ้วนก็ตาม แต่เมื่อแก่นของชีวิตหรือความรู้สึกตัวไม่มีแล้ว ทารกนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร เป็นเพียงก้อนเนื้อที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ความแตกต่างระหว่างทารกที่คลอดออกมาแล้วรอดและตาย คือ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั่นเอง   เด็กที่มีชีวิตสามารถร้องไห้ ดิ้น และเคลื่อนไหวไปมา ในขณะที่เด็กตายนั้นจะอยู่นิ่ง ๆ ไม่ร้องไห้ ไม่ดิ้น ไม่มีอาการของ “ชีวิต” แต่อย่างใดเลย

   เมื่อคนเราหลับสนิท หมดสติเองโดยไม่ได้ใช้ยารวมทั้งผลของฤทธิ์ยาสลบด้วย  คนไข้ที่อยู่ในอาการโคม่า และคนตาย ในขณะนั้น ร่างกายของคนเหล่านี้ก็ยังเป็นปกติทุกอย่าง แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกตัวทั่วพร้อม consciousness ของพวกเขา มันล้วนหยุดทำงานไประยะหนึ่งในสามกรณีแรกทั้ง ๆ ที่หัวใจก็ยังเต้นอยู่ เว้นเสียแต่ในกรณีของคนตายที่ความรู้สึกตัวไม่กลับมาอีกเลย

ความรู้สึกตัว ชีวิต และ จักรวาล
   เมื่อเหตุการณ์ทั้งสี่กรณีนั้นเกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว คือ หลับสนิท หมดสติ โคม่า ตาย จักรวาลทั้งหมดก็ดับวูบลงทันทีสำหรับคนคนนั้น ถึงแม้จักรวาลยังคงอยู่กับคนอื่น ๆ อย่างเป็นปกติก็ตาม จักรวาลนี้จะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคนที่ “ไม่มีความรู้สึกตัว”  ขอให้คิดตามให้ดีอย่างถ่องแท้ นี่เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะช่วยให้คุณเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถึงแก่นด้วย

   หากคุณเข้าใจในสิ่งที่ดิฉันพูดแล้ว เราลองมาใช้เหตุผลและตรรกะเชื่อมโยงข้อเท็จจริงบางอย่างดู นี่ย่อมหมายความว่า ชีิวิต ความรู้สึกตัว กับ จักรวาล เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น ใกล้ชิด ถึงกับเป็นเรื่องเดียวกันก็ว่าได้ มันจึงมีค่าและความสำคัญที่เท่าเทียมกัน ย่อมหมายความว่า หากเราสามารถรู้จัก “ความรู้สึกตัว” ของคนเราได้แล้ว เราย่อมเข้าใจชีวิตและจักรวาล ในทางตรงกันข้าม หากเราไม่สามารถเข้าใจ “ความรู้สึกตัว” ละก็ เราจะไม่เข้าใจชีวิตและจักรวาลเช่นกัน จริงหรือไม่ ฉะนั้น หากเขียนเป็นรูปสมการให้เห็นง่าย ๆ ก็จะเป็นดังนี้คือ
   
   ความรู้สึกตัว      =   ชีวิต   =   จักรวาล       
   Consciousness      =   life   =   universe

   เพราะมีความรู้สึกตัวนี่เอง จึงก่อให้มี ความคิด ความจำ กับ ความรู้สึก อันเป็นธรรมชาติที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “จิตใจ mind” ขึ้นมา และจากจิตใจนี้เองจึงมี “ทุกอย่าง” ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตภายนอกของเรา เช่น การกิน การอยู่ ทำมาหาเลี้ยงชีพ พบปะผู้คน ตลอดจนถึงการสร้างสรรค์และทำลาย  จิตใจของมนุษย์ยังเป็นสถานที่ที่เกิดความสุข ดีใจ ตื่นเต้น เสียใจ เจ็บปวด ทรมาน ตลอดจนความทุกข์ทั้งหลาย ล้วนมีอิทธิพลต่อโลก เช่้น หากชาวโลกส่วนมากมีจิตใจที่เป็นสุขแล้ว สังคมโลกก็จะมีสันติภาพ หากชาวโลกส่วนมากมีทุกข์ในใจละก็ สังคมโลกก็จะวุ่นวายมีสงครามอยู่ทุกหย่อมหญ้า

   สาเหตุของบทความนี้ก็เนื่องมาจาก ความเจ็บไข้ได้ป่วยทางจิตใจของคน ๆ หนึ่งที่ดิฉันรู้จัก ดิฉันจึงอยากให้คุณเห็นอย่างชัดเจนว่า ความเข้าใจเรื่องจิตใจอย่างถ่องแท้มีความสำคัญมากเพียงใด ไม่เพียงแต่ต่อปัจเจกชนคนหนึ่ง ๆ ที่มีปัญหาทางจิตใจเท่านั้น แต่เรื่องจิตใจนี้ เป็นเรื่องที่ครอบคลุมถึงโลกและจักรวาลทั้งหมดเลยทีเดียว ฉะนั้น หากเราไม่สามารถเข้าใจธรรมชาติของจิตใจอันมีความรู้สึกตัวเป็นแก่นของชีวิตแล้วละก็ เราจะไม่มีวันเข้าใจชีวิต  โลก และ จักรวาลที่เราอยู่นี้เลย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะไม่สามารถเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดในสังคมโลก เมื่อไม่เข้าใจปัญหาสังคม เราก็แก้ไขมันไม่ได้ ปัญหาสังคมเหล่านี้จึงกลับมาสร้างปัญหาให้กับจิตใจของปัจเจกบุคคลต่อไป และแล้ว ปัญหาของมนุษย์ก็เริ่มวนไปเวียนมาเหมือนกำลังเดินอยู่รอบถนนวงแหวนฉันใดก็ฉันนั้น คุณเห็นหรือยังว่า การไม่เข้าใจเรื่อง จิตใจ และ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม อย่างถ่องแท้มีความเสียหายมากมายเพียงใดต่อมนุษยชาติ

 จิตใจที่ไม่ทุกข์คือจิตใจที่เป็นปกติ
   บุคคลที่รู้เรื่องจิตใจมากที่สุดคงไม่เกินพระพุทธเจ้า ความรู้ของพระพุทธเจ้าคือ การดับทุกข์ทางใจ จึงควรมาเริ่มต้นที่ความรู้ของผู้รู้จริงเสียก่อน

   หากดิฉันจะพูดว่าผู้เป็นโรคจิต คือ คนที่มีจิตใจไม่ปกติ  จิตใจจึงเป็นทุกข์  จิตใจที่ยังเข้าไม่ถึงพระนิพพาน ฉะนั้น การทำให้จิตใจหมดทุกข์คือ การทำให้จิตใจเป็นปกติ   ความป่วยทางจิตใจก็จะหายไป จึงได้สมการเช่นนี้ก่อน

   จิตใจเจ็บป่วย (โรคจิต)  = จิตใจไม่ปกติ = จิตใจเป็นทุกข์ = กลุ้มใจ      
    จิตใจไม่เจ็บป่วย         =  จิตใจปกติ   = จิตใจหมดทุกข์ = หายกลุ้มใจ   


ทำไมไอน์สไตน์จึงต้องหาจุดปกติของจักรวาล
   เมื่อใช้คำว่า ปกติ ปัญหาเริ่มเกิด  เพราะจิตใจเป็นเรื่องของนามที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ เห็นไม่ได้ จึงไม่มีแผลอักเสบให้เห็น แล้วใครล่ะ จะเป็นคนตัดสินได้ว่า จิตใจของใคร “ปกติ” หรือ “ไม่ปกติ” จะรู้ได้อย่างไร
 
   ตรงนี้แหละ คุณจะเริ่มเข้าใจความคิดของไอน์สไตน์แล้วหรือยังว่าทำไมเขาจึงต้องการหาจุดคงที่ของจักรวาล the absolute ruling point in nature ถ้าใช้คำพูดใหม่ ก็หมายความว่า ไอน์สไตน์ต้องการหาจุดปกติของจักรวาลนั่นเอง เพื่อเขาจะได้ใช้จุดนั้นเป็นเกณฑ์หรือมาตรฐานวัดสิ่งอื่น ๆ ได้ จึงสามารถรู้ได้ว่า อะไรที่มันเคลื่อนจากความปกตินั้นหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีจุดปกติที่ใช้เป็นมาตรฐานการวัดสิ่งต่าง ๆ แล้ว เราจะไม่มีวันรู้ได้ว่า อะไรปกติ และ อะไรไม่ปกติ ความคิดของไอน์สไตน์ในเรื่องนี้จึงรวมถึงการวัดความปกติของจิตใจมนุษย์ด้วย

   ไอน์สไตน์หาจุดคงที่หรือจุดปกติของจักรวาลไม่พบ เพราะเขาค้นพบว่าทุกอย่างในจักรวาลเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรหยุดนิ่งและเป็นปกติเลย แถมค้นพบอีกว่า เวลาและเอกภพยืดหดได้ด้วย  ไอน์สไตน์จึงสรุปว่าไม่มีจุดนิ่งหรือจุดปกติในจักรวาล อันเป็นผลให้เกิดทฤษฎีสัมพัทธภาพ ซึ่งหมายถึงการต้องสมมุติจุดนิ่งหรือจุดปกติขึ้นมาเอง และใช้จุดสมมุตินั้นเป็นมาตรฐานการวัดสิ่งต่าง ๆ ซึ่งแน่นอน ค่าที่ได้ย่อมเป็นค่าที่ไม่ปกติ ไม่นิ่ง เป็นค่าเปรียบเทียบซึ่งภาษาของไอน์สไตน์เรียกว่า ค่้าสัมพัทธ์ relative value  นั่นเอง

   หากคุณต้องการเข้าใจเรื่องความปกติของจิตใจอย่างถึงแก่นแล้ว  คุณต้องยอมรับเสียก่อนว่า ไอน์สไตน์สรุปผิด เพราะจุดนิ่งหรือจุดปกติในจักรวาลมีอยู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าบอกแล้วว่า คือ สภาวะพระนิพพาน นั่นเอง

ต้องฟังผู้รู้       
   ตรงนี้แหละ คุณไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากรับฟังผู้ตรัสรู้เองได้อย่างพระพุทธเจ้า ท่านจึงรู้ว่า จุดนิ่งหรือจุดที่เป็นปกติของจักรวาลมีอยู่ แต่มีอยู่ในลักษณะของรถไฟสองขบวนที่วิ่งด้วยความเร็วในระดับเดียวกัน ดังที่ดิฉันจะอธิบายในบทที่ ๖ เมื่อรถไฟสองขบวนวิ่งขนานได้เมื่อไร ความนิ่ง หรือ ความปกติ จะเกิดทันทีซึ่งเป็นสภาวะเดียวกับ การรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ สภาวะนั้นเกิดได้เมื่อใจของเราว่างจาก จิต หรือใจที่ไม่มี ความคิด ความจำ ความรู้สึก นั่นเอง

ต้องแยกจิตออกจากใจ
   คุณจะเห็นได้ว่า ความสับสนในความรู้เรื่องจิตใจของมนุษย์ในหมู่ปัญญาชนทั้งตะวันออกและตะวันตกเกิดเพราะไม่สามารถเข้าใจเรื่องขันธ์ ๕ ของพระพุทธเ้จ้าที่ดิฉันได้อธิบายไว้แล้วในบทที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนประกอบในส่วนนามขันธ์ทั้งสี่ คือ
1.   ความคิด (สังขาร)         = จิต
2.   ความจำ (สัญญา)         = จิต
3.   ความรู้สึก (เวทนา)         = จิต
4.   ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (วิญญาณ)    = ใจ, ตัวใจ, ตาใจ

   ซึ่งมีทั้งส่วนของอายตนะภายนอกกับภายใน ผู้ดูกับสิ่งที่ถูกดู ประธานกับกรรม จิตกับใจ  sense กับ sense objects หรือ ทอมกับเจอรี่ การใช้ภาษาของพวกเขาจึงไม่ชัดเจน เต็มไปด้วยความคลุมเครือ

   เพราะนักการศึกษาของโลกยังไม่รู้ว่า สิ่งที่เขาเรียกว่า  ความรู้สึกตัว consciousness อันเป็นเรื่องลึกลับที่เขาถกเถียงกันมานับศตวรรษแล้วนั้น ที่จริงคือ อายตนะที่ ๖ หรือ (ตา)ใจ ซึ่งเปรียบเหมือนอวัยวะฝ่ายนามที่ทำงานรับสัมผัส เหมือนตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้งานมันทันที ในแง่ที่เอามันมาดู มารับประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จิตหรือเจอรี่ได้สร้างขึ้นมาในหัวในใจของเรา ดิฉันจึงมักเรียก ใจ ว่า ตาใจ เพื่อให้คุณเห็นชัดเจนว่ามันต้องถูกใช้เป็นตัวดูเหตุการณ์ภายในใจของเรา ดังสมการนี้

ตาใจ ดู----- จิต, เจอรี่ (ความคิด ความจำ ความรู้สึก)   
    
เมื่อใช้ตาใจไม่เป็น เหมือนเอาผ้ามาปิดตา
   เมื่อปัญญาชนชาวตะวันตกไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา และไม่ได้ฝึกสติปัฏฐานสี่ หรือ ฝึกการพาตัวใจกลับบ้านแล้ว จึงใช้ตาใจไม่เป็น ไม่รู้จักอายตนะที่ ๖ เครื่องมือสำคัญในการแสวงหาความรู้เรื่องการทำใจให้เป็นปกติ หรือ พระนิพพาน

   การใช้ตาใจเป็นคือ ใช้มันดูความคิด หรือ ดูจิต (ทอมเฝ้าดูเจอรี่) ซึ่งเป็นขั้นตอนของการฝึกวิปัสสนา แต่เมื่อใช้ตาใจไ่ม่เป็นแล้ว  ก็เหมือนเอาผ้ามาปิดตาใจไว้ ตาใจจึงมืดบอด แมวทอมที่ตาบอดจึงกลายเป็นแมวที่หมดน้ำยาไปทันที กลายเป็นเหยื่อของเจอรี่ แทนที่จะเป็นนายมัน และนี่คือสิ่งที่เกิดกับปัญญาชนทั่วโลกที่ไม่ยอมรับรู้เรื่องอายตนะที่ ๖ ของพระพุทธเจ้า

เรียนรู้ “ตาใจ” อย่างเป็นวิชาการไม่ได้
   ฉะนั้น วิธีการถกเถียงเรื่อง จิตใจ mind และ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม consciousness ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตใจของปัญญาชนชาวตะวันตกที่ยกขึ้นมาให้อ่านเมื่อสักครู่นั้น จึงเป็นวิธีการเรียนรู้เรื่องจิตใจอย่างผิด ๆ มักเอาไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของสมองที่เป็นก้อนเนื้ออันเป็นส่วนหนึ่งของกาย ซึ่งศึกษาได้ง่ายกว่า และดิฉันก็ยอมรับว่าสมองมีส่วนเกี่ยวข้องกับจิตใจจริง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะการวิเคราะห์เรื่องขันธ์ ๕ ของพระพุทธเจ้าบอกว่า จิตใจ มีการทำงานอย่างเป็นองค์กรอิสระและเป็นส่วนที่สร้างเงื่อนไขให้ส่วนกายดังที่ดิฉันได้อธิบายแล้วในบทที่สอง   

   ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม วิญญาณขันธ์ หรือ ตาใจ นี้จะเป็นหัวข้อของการถกเถียงอย่างเป็นวิชาการไม่ได้เด็ดขาด การทำเช่นนี้เหมือนการพยายามมองให้เห็นตาของตนเองซึ่งเป็นไปไม่ได้ หากโลกนี้ไม่มีกระจกหรือน้ำที่นิ่งสงบ จะไม่มีใครเคยเห็นตาเนื้อของตนเองเลย เพราะกำลังใช้มันอยู่ การถกเถียงเรื่องตาใจ ตัวใจ อย่างเป็นวิชาการจึงเหมือนการพยายามมองให้เห็นตาใจ ซึ่งจะเป็นไปได้อย่างไร แม้ตาเนื้อเรายังมองไม่เห็น ตาใจเป็นนามยิ่งไม่มีอะไรให้มองเห็นและเราก็ใช้มันอยู่ ถ้าจะให้รู้จักตาใจจริง ๆ แล้ว จำเป็นต้องใช้งานมันทันที คือ ใช้มันดูความคิด ความรู้สึก โดยวิธีการฝึกสติปัฎฐานหรือพาตัวใจกลับบ้าน ทำเช่นนี้เท่านั้น คือ การทำความรู้จักตาใจของตัวใจแล้ว ตรงนี้จำเป็นต้องฟังผู้รู้

ทุกปัญหามากับความคิด
   การฝึกวิปัสสนาหรือพาตัวใจกลับบ้าน ก็คือ การฝึกใช้ตาใจเพื่อให้มันดูการทำงานของจิตหรือความคิด พอเริ่มดูความคิดไปสักหน่อย ผู้ฝึกจะมองออกว่า ความคิดและความรู้สึก (จิต) ของคนเรานี่เองที่เป็นตัวสร้างความเจ็บป่วยทางจิตใจ ตัวจิตนี่เองที่เป็นส่วนผิดปกติเพราะไปติดอยู่กับความเป็นมายาของความคิด คนที่ฝึกวิปัสสนาจึงฉลาดขึ้น
   ถ้า จิต หรือ ความคิดเป็นส่วนที่ผิดปกติแล้ว การจะทำให้จิตใจเราเป็นปกติ ก็ต้องเอาตัวที่เจ็บไข้ได้ป่วยออกไป นั่นคือ ต้องเอา จิตที่ผิดปกติ ออกจาก ตัวใจ เพื่อว่า ตัวใจของเราจะได้เป็นปกติ
   วิธีการของพระพุทธเจ้าจึงเป็นเรื่องตรงไปตรงมา ความเจ็บไข้ได้ป่วยทางใจอยู่ที่ไหน ก็คว้านมันออกไปตรงนั้นเลย การฝึกวิปัสสนาจึงเป็นขบวนการแยกจิตออกจากใจ แยกทอมออกจากเจอรี่ แยกผู้ดูออกจากสิ่งที่ถูกดู หรือ เอาความคิด ความจำ ความรู้สึกออกจากตัวใจของเรา เมื่อเอาความผิดปกติออกได้แล้ว ตัวใจก็จะเป็นปกติ ตัวใจที่ปกติจึงเป็นสภาวะที่ “ตัวใจว่างจากจิต”  ความเจ็บป่วยทางจิตใจ (โรคจิต) ของมนุษย์จึงรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการเช่นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับการหายกลุ้มใจ หมดทุกข์ หรือ การเข้าถึงพระนิพพาน   

ความคิด ความจำ ความรู้สึก    =    จิต       =    เจอรี่
ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม       =   ตัวใจ, ตาใจ    =   ทอม

เมื่อไม่ได้ฝึกสติปัฏฐานสี่  เอาจิตที่ผิดปกติออกจากตัวใจไม่ได้ ตัวใจจึงไม่ปกติ

ตัวใจจิต---   ตัวกาย--- ผัสสะไม่บริสุทธิ์ =ตัวใจไม่ปกติ = เป็นทุกข์ =ไม่ถึงนิพพาน

เมื่อฝึกสติปัฏฐานสี่ เอาจิตที่ผิดปกติออกจากตัวใจได้แล้ว ตัวใจก็จะเป็นปกติ ไม่ทุกข์

ตัวใจ---   ตัวกาย---   ผัสสะบริสุทธิ์   =ตัวใจปกติ=ไม่ทุกข์=ถึงนิพพาน
 

   จากสมการข้างบน คุณจะเห็นได้ชัดว่า ความคิด ความจำ ความรู้สึก ซึ่ง ดิฉันเรียกรวมว่า จิต หรือ เจอรี่ เป็นตัวที่สร้างปัญหาให้แก่มนุษย์มาตลอด เพราะความเป็นมายาของมัน นี่เป็นศัตรูที่แท้จริงตัวเดียวของมนุษยชาติ จัดการกับเรื่องนี้ได้เท่านั้น จิตใจของคนก็จะเป็นปกติ ความปกติสุขก็จะกลับมาสู่สังคมโลก
   ฉะนั้น เรื่องจิตใจของมนุษย์จะนำไปวิเคราะห์แบบวิธีการทางโลกโดยการถกเถียงอภิปรายย่อมไม่ได้ ถ้าทำเช่้นนั้น จะไม่มีวันเข้าใจเรื่องจิตใจได้เลย นี่เป็นเรื่องสำคัญมากที่นักการศึกษาฝ่ายโลกจำเป็นต้องรับฟังผู้รู้ตามพระพุทธเจ้า  การฝึกวิปัสสนาหรือฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านเท่านั้นจะเป็นทางลัดที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องจิตใจได้อย่างถ่องแท้ ช่วยให้เข้าถึงความเป็นปกติของใจได้ เป็นเรื่องเดียวกับการเข้าถึงพระนิพพานนั่นเอง 

   สมมุติให้ความไม่ปกติเป็นความปกติ
   หากไม่มีใครบอกคุณว่า พระนิพพานหรือ ผัสสะบริสุทธิ์ คือความปกติที่แท้จริงของใจแล้ว ย่อมไม่มีมาตรฐานการวัดที่แน่นอน เด็ดขาด ฉะนั้น จึงต้องมีการสมมุติระดับความปกติขึ้นมาแทน ตรงนี้เอง คุณจะเห็นความซับซ้อนที่น่าใจหายของสังคมโลกอันเนื่องจากไม่รู้ว่าความปกติที่แท้จริงคืออะไร เป็นอย่างไร
   ขอให้คุณหาหนังยางมาเส้นหนึ่ง ดึงให้ตึงโดยตรึงมันอยู่กับนิ้วหัวแม่มือหรือนิ้วชี้ของมือทั้งสองข้าง และเราเปรียบเทียบเส้นขนานของหนังยางที่ไม่มีการบิดเลยนี้เป็นระดับความปกติของใจเรา คือ ในขณะที่ตาใจของเราสามารถรับผัสสะบริสุทธิ์โดยไม่มี จิต หรือ ความคิดเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อนั้น ใจของเราจะเหมือนเส้นยางตรง ๆ ที่ไม่มีการบิด หรือ เราสามารถสมมุติให้หนังยางที่ขนานกันทั้งสองเส้นนี้ เหมือนกับ รถไฟสองขบวนที่วิ่งในระดับเดียวกัน (บทที่ ๖) หรือจะมองให้เป็น สภาวะที่ใจได้แยกหรือหลุดร่อนออกจากจิตหรือความคิดแล้วก็ได้ ซึ่งเป็นสภาวะของผู้ที่เข้าถึงพระนิพพานแล้ว
 
   ที่นี้ ขอให้คุณบิดเส้นยางนั้น ๔ ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของจิตใจ ซึ่งเป็นสภาวะที่จิตกับใจอยู่ติดพันกัน หรือเจอรี่กำลังขี่คอรังแกทอมอยู่ แล้วขอให้ดึงหนังยางที่บิด ๔ ครั้งให้ตึงเป็นเส้นตรงอีก ดูรูปข้างล่าง

วาดภาพของนิ้วที่ตรึงเส้นหนังยางที่บิด ๔ ครั้ง และตรึงให้เป็นเส้นตรง

   ความเป็นเส้นตรงของหนังยางที่บิดอยู่นี้จึงเปรียบเทียบได้กับการสมมุติค่าของความเป็นปกติขึ้นมาจากความไม่ปกตินั่นเอง ค่าสมมุติว่าปกตินั้นจึงเป็นค่าสัมพัทธ์ ค่าเปรียบเทียบ ค่าไม่จริง ค่าไม่ปกติ   
   คุณเห็นหรือยังว่า ความสลับซับซ้อนเริ่มเกิดแล้ว ณ.จุดนี้เอง คนที่ไม่ได้ฝึกวิปัสสนา จิตกับใจของเขาจะอยู่แนบชิดติดกัน ดูดเข้าหากันเหมือนเป็นแม่เหล็กต่างขั้ว พัวพันกัน  ซึ่งเป็นความไม่ปกติของใจ แต่เมื่อไม่มีใครบอก และเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ คนก็หลงเข้าใจผิดเอาความผิดปกตินั้นเป็นความปกติ การไม่รู้ข้อเท็จจริงเรื่องความไม่ปกติของจิตใจ ภาษาธรรมะเรียกว่า มีอวิชชา 

เมื่อคนกลุ่มใหญ่ผิดปกติเหมือนกันหมด จึงกลายเป็นเรื่องปกติ
    การบิดเส้นหนังยาง ๔ ครั้งนั้นเปรียบเทียบได้กับสภาวะจิตใจของปุถุชนส่วนใหญ่ของโลกที่ยังไม่ได้รู้เรื่องพระนิพพานอันเป็นเป้าหมายปลายทางของชีวิตและไม่ได้ฝึกสติปัฏฐานสี่แต่อย่างใด จึงมีอวิชชาเสมอเหมือนกันหมด
   นี่คือกลุ่มคนทั่วไปที่ตื่นนอนทุกเช้าแล้วสามารถดำเนินชีวิตตามปกติธรรมดา (แบบสมมุติ สัมพัทธ์ หรือ เปรียบเทียบ) คือ พูดคุยสนทนากันรู้เรื่อง สามารถเรียนรู้ หาประสบการณ์ ศึกษาในสถาบันต่าง ๆ รับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่หลากหลายของสังคม ดูแลครอบครัวตนเองได้ รู้เรื่องผิดชอบชั่วดีแบบสัมพัทธ์ มีความเคารพต่อกฏเกณฑ์ของสังคม และ กฎหมายซึ่งล้วนเป็นเรื่องสัมพัทธทั้งสิ้น  เป็นต้น นี่คือกลุ่มคนที่จัดอยู่ในระดับปกติแบบสัมพัทธ์  เหมือนหนังยางที่บิด ๔ รอบแล้วยังดึงให้ตรงได้ และทุกคนก็ดำเนินชีวิตไปตามความปกติที่สมมุติขึ้นมานั้น 

   คนส่วนมากของสังคมจึงเห็นเรื่องการได้ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นเรื่องดี ถูกต้องชอบเรื่องวัตถุ  เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ควรไขว่คว้าหามาให้อยู่กับตนเอง คนหมู่มากพูดเรื่องเดียวกัน สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นเป้าหมายของชีวิตของคนหมู่มาก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ถูกสมมุติขึ้นมาว่าเป็นเรื่องสำคัญ 

   ตราบใดที่ไม่มีคนมาบอกเรื่องเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตว่าคือ การทำจิตใจให้เป็นปกติ หรือเข้าถึงพระนิพพานแล้วละก็ คนหมู่มากเหล่านี้ก็จะไม่มีวันรู้ว่า เรื่อง ลาภ ยศ สรรเสริญ อันเป็นค่าสัมพัทธ์นี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิตมากเท่ากับการหาอิสรภาพหรือความเป็นปกติให้กับใจของตนเองอย่างแท้จริง

   หากคุณเข้าใจเรื่อง ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ดังที่ดิฉันได้อธิบายในบทที่สองแล้ว ย่อมหมายความว่า กลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่มีจิตใจไม่ปกติเหล่านี้จะสร้างสังคมโลกให้เป็นไปตามที่เขาเห็นว่าถูกต้องและปกติ นั่นคือ การดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองจนเกินความจำเป็น จนไม่อยากแก่เฒ่า ไม่อยากตาย ซึ่งเขามองไม่้ออกว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อเห็นการได้ลาภเป็นสิ่งสำคัญแล้ว จึงก่อให้เกิดการแสวงหาวัตถุ ทำให้คนเห็นแก่ตัว แก่งแย่งกัน  ความโลภ ความโกรธ อิจฉา เคียดแค้นพยาบาท ก็ตามมาเป็นกระพรวน ศีลธรรมจึงย่อยยับ ผลสุดท้ายคือ ปัญหาสังคมที่พันกันยุ่งเหมือนกลุ่มด้ายที่มีปมแน่นมากมาย พันกันจนไม่รู้จะเริ่มแก้ที่จุดไหนก่อน

การรักษาคนไข้โรคจิต
   หากหนังยางที่บิด ๔ รอบคือ ระดับจิตใจที่ปกติแบบสัมพัทธ์ (สมมุติ) ที่คนส่วนมากของโลกเป็นแล้ว คนที่มีความเจ็บป่วยทางจิตใจมากกว่าระดับปกติที่สมมุตินั้นจะเปรียบเทียบเหมือนหนังยางเส้นนี้บิดมากกว่า ๔ รอบ เช่น สมมุติว่าคนขี้หงุดหงิด หนังยางบิด ๕ รอบ คนกลุ้มใจ คิดมาก ฟุ้งซ่านมาก หนังยางบิด ๖ รอบ คนเป็นโรคประสาท หนังยางบิด ๗ รอบ คนสติแตกบิด ๘ รอบ คนเป็นโรคจิต วิกลจริตบิด ๙ รอบ คนเป็นบ้าสนิทกับคนฆ่าตัวตาย บิด ๑๐ รอบ   

   ที่นี้ เราหันกลับมาดูเรื่องการรักษาคนไข้โรคจิตของคุณหมอ เมื่อหมอโรคจิตไม่รู้สภาวะปกติที่แท้จริงของจิตใจเสียเอง สิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดคือ รักษาคนไข้โรคจิตให้กลับมาสู่ระดับปกติสัมพัทธ์  ที่ชาวโลกสมมุติขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมองจริง เช่น คนไข้โรคจิตเภท schizophrenia ซึ่งในหัวของเขาจะถูกหลอกหลอนด้วยความคิดต่าง ๆ ที่เขาเห็นเป็นจริงหมด อาชญากรรมไม่น้อยเป็นผลจากการกระทำของคนไข้ประเภทนี้ เพราะระแวงคิดว่ามีคนจะมาทำร้ายตน จึงไปทำร้ายคนอื่นเสียก่อน คนไข้โรคจิตเภทนี้ คุณหมอโรคจิตก็สามารถรักษาให้คนไข้หายเป็นปกติได้ด้วยการใช้ยาเพื่อปรับสารเคมีบางสิ่งบางอย่างในสมอง และการรักษาด้วยจิตบำบัด

   หากคุณเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Beautiful Mind ก็จะรู้เรื่องของนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ จอห์น แนช เขาก็เป็นโรคจิตเภท schizophrenia เห็นความคิดเป็นเรื่องจริงเหมือนเห็นคนจริง ๆ เขาก็รับการรักษาจนหายเป็นปกติเช่นกัน ต่อมาถึงกับได้รับรางวัลโนเบล โรคจิตเภทนี้อาจจะเป็นกันในหมู่นักบริหารก็ได้ ซึ่งถ้าใช้ยา ก็ควบคุมไว้อยู่ แต่นั่นก็เป็นการรักษาจนถึงระดับปกติสัมพัทธ์เท่านั้น เหมือนหนังยางที่บิด ๔ รอบ ซึ่งเป็นตัวแทนคนกลุ่มใหญ่ของโลกที่รับผิดชอบต่อตัวเองได้ พูดคุยสนทนากันรู้เรื่อง รู้ว่าความผิดต่างจากความถูก ความชั่วต่างจากความดีอย่างไร จึงเคารพกฏเกณฑ์และกฎหมายของสังคมได้   
   แต่คนที่มีระดับจิตใจที่ปกติอย่างจริง ๆ  รู้มาตรฐานของความปกติที่แท้จริง ย่อมมองออกว่าคุณหมอยังไม่ได้รักษาคนไข้โรคจิตให้หายขาดแต่อย่างใด นั่นเป็นเพียงการรักษาคนไข้โรคจิตให้กลับมาสู่ระดับปกติสมมุติของปุถุชนเท่านั้น ยังไม่จัดว่าปกติอย่างแท้จริง หากคุณหมอที่รักษาคนไข้โรคจิตไม่มีความรู้เรื่องสติปัฏฐาน และหากคุณหมอเองมีสภาพจิตใจที่มีความบิดเบี้ยวมากกว่าระดับ ๔ รอบเสียเอง ปัญหาจะยิ่งยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นอย่างน่าใจหาย

   ดิฉันมีลูกศิษย์ชาวยุโรปคนหนึ่งที่มีคุณพ่อเป็นคุณหมอรักษาคนไข้โรคจิต psychiatrist เมื่อเธอมาเรียนไท้เก็กและสติปัฏฐานกับดิฉันแล้ว เธอเล่าให้ฟังว่า คุณพ่อของเธอยอมรับเองว่า ผู้มีอาชีพนี้ไม่น้อยมีปัญหาทางจิตใจที่ซับซ้อนเสียเอง ซึ่งการมาฝึกสติปัฏฐานกับดิฉันทำให้เธอเริ่มเข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ถ้าอธิบายด้วยภาษาของดิฉันก็คือ เพราะคุณหมอโรคจิตยังพาตัวใจกลับบ้านไม่ได้นั่นเอง  เมื่อมารับรู้และเกี่ยวข้องกับคนไข้โรคจิตซึ่งในบางกรณีอาจจะมีสภาวะจิตที่แข็งแกร่งกว่าคุณหมอเองก็เป็นได้ การดูดซับความคิดไปมาจึงเกิดขึ้น ฉะนั้น หากคุณหมอไม่สามารถปกป้องจิตใจของตนเองโดยพาตัวใจกลับบ้านหรือกลับสู่ฐานของสติที่มั่นคงแล้วละก็ ปัญหาจิตใจของตนเองจึงเกิด คนไทยเราจึงมักเตือนว่าอย่าไปเข้าใกล้คนเมากับคนบ้า เพราะคนเหล่านี้มีสภาวะจิตที่แข็งมาก เขาสามารถพูดให้คนเชื่อตามเขาได้ว่า การเกิดมาเป็นสุนัขอาจจะดีกว่าเกิดเป็นคนก็ได้

การฆ่าตัวตาย พฤติกรรมที่ขัดแย้ง
   สิ่งที่แสดงออกถึง ความป่วยหนักหรืออาการผิดปกติอย่างมหันต์ของจิตใจมนุษย์คือ  การฆ่าตัวตาย  สถิติของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ในปีหนึ่ง ๆ มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จทั่วโลกเป็นจำนวน ๑ ล้านคน ศ.น.พ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม รองประธานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) กล่าวว่า ในขณะที่เทคโนโลยีได้เจริญขึ้นในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมานี้ สถิติที่คนไทยฆ่าตัวตายกลับมีสูงขึ้นถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ยคือ ๑ คนต่อทุก ๆ ๒ ชั่วโมง ศ.น.พ.อุดมศิลป์ กล่าวในการสัมมนาว่า

   “ไม่มีพฤติกรรมมนุษย์หรือสัตว์ใดที่พิสดารเท่ากับการฆ่าตัวตาย เพราะทุกชีวิตย่อมรักตัวกลัวตาย แต่กลับเป็นว่ามนุษย์พยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นเรื่องสวนทางกัน ขณะที่เทคโนโลยี่ของเราพยายามจะรักษาชีวิตคน แต่กลับมีคน ๑ ล้านคนทั่วโลกฆ่าตัวตาย ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ร้ายแรงที่สุดในขณะนี้”   

   เมื่อนักการศึกษาฝ่ายโลกไม่รู้เรื่องความปกติของใจอย่างแท้จริงแล้ว จึงไปวิเคราะห์ตัวปัญหาเพื่อหาทางแก้ไขที่ปลายเหตุ ในกรณีการฆ่าตัวตายในเมืองไทยนั้น นักวิชาการบางท่านกลับไปตำหนิสื่อมวลชนว่า เสนอข่าวการฆ่าตัวตายที่ซ้ำ ๆ จึงก่อให้เกิดการเลียนแบบ ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่อย่างใดเลย คนที่อยากตาย แม้ไม่มีแบบให้ลอกเลียน เขาก็ต้องหาวิธีการของตนเองอยู่วันยังค่ำ เพราะเป็นเรื่องความเจ็บป่วยทางใจที่สร้างความทุกข์ใจที่เจ้าของชีวิตรับไม่ไหวแล้ว จึงเห็นความตายเป็นทางออกทางเดียว และที่จริงแล้ว สื่อมวลชนในอังกฤษได้เปิดเผยแล้วว่ามีเว็บไซต์จำนวนไม่น้อยที่ช่วยส่งเสริมให้คนฆ่าตัวตายได้สำเร็จ โดยบอกวิธีการต่าง ๆ ให้ และยังมีให้เลือกระหว่างการฆ่าตัวตายคนเดียว หรือ ฆ่าตัวตายหมู่ ซึ่งทางเว็บไซต์จะช่วยให้ผู้อยากฆ่าตัวตายมาพบกัน เพื่อจะได้ฆ่าตัวตายพร้อมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ดังที่มีเรื่องให้อ่านในหน้าหนังสือพิมพ์ของอังกฤษอยู่บ่อยขึ้น เว็บไซต์เหล่านี้อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สถิติการฆ่าตัวตายทั่วโลกสูงขึ้นก็เป็นได้   
   
    อย่างไรก็ตาม ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ทุกหย่อมหญ้าทั่วโลกนั้น ล้วนเป็นผลของความผิดปกติทางใจของมนุษยชาติ หรือ เป็นอาการของการหลงทิศทางชีวิตของคนหมู่มากนั่นเอง การแก้ไขที่ต้นเหตุจึงต้องกลับมาสู่เรื่องการทำความเข้าใจเรื่องโครงสร้างของชีวิต รู้ว่าเป้าหมายปลายทางของชีวิตคือ พระนิพพานซึ่งเป็นสภาวะเดียวกับความเป็นปกติของใจ เหมือนเส้นหนังยางที่ไม่มีการบิด เมื่อทราบเป้าหมายปลายทางแล้ว ก็ต้องรู้ว่าจะเดินทางไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร ซึ่งวิธีการหลักก็คือ การรักษาศีล และ การฝึกสมาธิวิปัสสนา หรือ ฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้าน

วาดรูปโครงสร้างชีัวิต สามเหลี่ยมด้านเท่า ส่วนบนเขียน พระนิพพาน ใจเป็นปกติ เส้นหนังยางไม่บิด ผัสสะบริสุทธิ์ ด้านล่างตรงกลางเขียนปัญญา ด้านขวาเขียน สมาธิวิปัสสนา ด้านซ้ายเขียน ศีล

ทุกศาสนิกชนรักษาศีลได้เท่าเทียมกันหมด
   คนที่เริ่มรักษาศีลโดยการคิดดี พูดดี ทำดี นั้น สภาวะจิตใจที่บูดเบี้ยวผิดปกติจะเริ่มคลายตัวเพื่อกลับสู่ความเป็นปกติ คือ จิตกับใจที่เคยอยู่พันกันเหมือนเส้นหนังยางที่บิดนั้นจะเริ่มขบวนการคลายตัว หลุดร่อนออกจากกัน เป็นการเริ่มต้นปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ในขั้นตอนแรก

   ศาสนิกชนในศาสนาอื่นนั้น หากเขารักษาศีลตามคำสอนของพระศาสดาของเขาแล้วละก็ จิตใจที่ผิดปกติของเขาย่อมคลายตัวเพื่อกลับสู่ความเป็นปกติเช่นกัน เพราะศีล และความเกรงกลัวละอายต่อการทำบาป conscience เป็นจริยธรรมสากลที่อยู่กับโลกมานานแล้ว เป็นความรู้สึกที่ธรรมชาติหรือพระเจ้าประทานให้มนุษย์เพื่อให้อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข การรักษาศีล ที่จริงเป็นเรื่องธรรมชาติมาก

   ฉะนั้น แม้ชาวคริสต์ ชาวยิว ชาวฮินดู ซิกซ์ อิสลาม หากเขารักษาศีลได้อย่างเคร่งครัดแล้ว คนเหล่านี้ก็จะอยู่ในขั้นตอนที่จิตใจเริ่มปรับเข้าสู่ระดับปกติ เปรียบเทียบได้ว่า หนังยางเส้นนี้ได้คลายการบิดเบี้ยวไปหนึ่งรอบ เหลือการบิดเบี้ยวเพียง ๓ รอบเท่านั้น ซึ่งเป็นสภาวะของกัลยาณปุถุชน คือ ปุถุชนที่ทำแต่ความดี เป็นกลุ่มที่เริ่มหันเหจิตใจไปสู่ทิศทางของชีวิตที่ถูกต้องแล้ว มุ่งหน้าสู่นิพพาน มุ่งแสวงหาพระเจ้าแล้ว เริ่มใช้ชีวิตอย่างเป็นอริยะแล้ว
   
มรรค ผล นิพพาน มีในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
   ชาวพุทธอาจจะสงสัยว่า หากศาสนิกอื่นที่ไม่ได้วิเคราะห์เรื่องการไปนิพพานและไม่ได้ฝึกวิปัสสนาแล้ว จิตใจที่ไม่ปกติของเขาจะคลายตัวกลับสู่ความเป็นปกติอย่างสิ้นเชิงได้หรือไม่

   หากศาสนิกอื่นที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนาหรือสติปัฏฐานสี่แล้วละก็ การคลายตัวของจิตใจที่จะกลับสู่ความเป็นปกติของจิตใจอย่างสิ้นเชิงอาจจะมีขีดจำกัดอยู่ ดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า เรื่อง มรรค ผล นิพพาน ไม่มีอยู่ในศาสนาอื่นนอกจากคำสอนของท่านเท่านั้น เพราะการทำให้จิตใจคลายตัวกลับสู่ระดับความเป็นปกติอย่างสิ้นเชิงจนหมดทุกข์ได้นั้น จำเป็นต้องปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ หรือ พาตัวใจกลับบ้าน เมื่อทำได้แล้ว เกลียวของจิตใจจะเริ่มคลายตัว ปรับเข้าสู่ความสมดุลที่เป็นปกติได้ในที่สุด เหมือนเส้นหนังยางที่ไม่มีการบิดเลย จิตกับใจแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง หรือ เหมือนรถไฟสองขบวนที่วิ่งได้ในระดับเดียวกัน ฉะนั้น คนที่ไม่ได้ฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านหรือฝึกวิปัสสนานั้น การปรับระดับจิตใจจนถึงระดับความหลุดพ้นนั้นอาจจะไม่เกิด ถ้าเกิดก็คงเป็นบุคคลที่ได้สร้างบารมีทางด้านปฏิบัติมาแล้วแต่ชาติปางก่อน ได้เข้ากระแสพระนิพพานแล้ว เดินถอยกลับไม่ได้แล้ว แม้ไม่ได้เกิดเป็นชาวพุทธ การเดินทางย่อมไปข้างหน้าอย่างเดียว ซึ่งเป็นเหตุผลที่ลงตัวอยู่ 
   อย่างไรก็ตาม นี่จึงเป็นเหตุผลที่ดิฉันพยายามนำอุดมคติเรื่องพระเจ้า ต้นไม้แห่งชีวิต และการใช้ชีวิตอมตะของชาวคริสต์มาวางเทียบเคียงพระนิพพาน และปรับเรื่องสติปัฏฐานสี่ให้แก่ศาสนิกอื่นด้วยวิธีการออกกำลังกายแบบไท้เก็ก ชี่กงบ้าง เพื่อว่า ศาสนิกอื่นจะสามารถเดินทางไปสู่เป้าหมายปลายทางของชีวิต ปรับระดับจิตใจให้เข้าสู่ความเป็นปกติอย่างถาวรได้ 

เมื่อชีวิตหลอมรวมกับจักรวาลทั้งหมด
   ในตอนต้นของบทความนี้ ดิฉันได้บอกแล้วว่า หากเราสามารถเข้าใจความรู้สึกตัวได้ละก็ เราจะสามารถเข้าใจชีวิต และจักรวาลได้เช่นกัน
   
   ความรู้สึกตัว   =   ชีวิต   =   จักรวาล           
 
   หมายความว่า หากใครสามารถฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้าน (สติปัฏฐาน) ได้แล้ว ในขณะที่จิต (ความคิิด) หลุดออกจากใจในช่วงขณะสั้น ๆ นั้นเอง (ผัสสะบริสุทธิ์) เจ้าของชีวิตที่หลงทิศจะกลับบ้านเดิมได้ ชีวิตทั้งหมดจึงหลอมรวมกับจักรวาลทั้งหมด และเคลื่อนไปกับที่นี่ เดี๋ยวนี้ อย่างไม่หยุดยั้ง เป็นชีวิตอมตะในขณะที่ยังรับผัสสะบริสุทธิ์ได้ แม้เป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตาม ความเข้าใจชีวิตและจักรวาลอย่างถึงแก่นจึงเกิดในขณะนั้น ๆ เช่นกัน เป็นการเข้าใจชีวิตและจักรวาลอย่างคนภายใน เพราะกลับบ้านเดิมได้แล้ว ไม่ใช่เข้าใจอย่างคนภายนอกหรือคนหลงทางชีวิตอันคือ การวิเคราะห์จิตใจตามวิธีการของปัญญาชนตามแบบอย่างการศึกษาทางโลก
   
   ถ้าเข้าใจได้ว่า จักรวาลภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส  ฉะนั้น เมื่อใจของเราว่างจากจิตหรือความคิดที่เป็นมายาได้แล้ว ใจ กาย และ จักรวาลภายนอกทั้งหมดก็หลอมรวมเป็นสิ่งเดียว และเคลื่อนไปอย่างไม่หยุดยั้ง

รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส = จักรวาลภายนอก 
   
ตัวใจ -----      กาย   ----- รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่บริสุทธิ์

มีผัสสะบริสุทธิ์  = เข้าถึงชีวิตอมตะ = เข้าใจจักรวาลภายนอก = เข้าใจแก่นแท้ของชีวิต
   
สรุป

   ดิฉันหวังว่า คุณคงเข้าใจได้แล้วว่า ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ชาวโลกต้องรู้ว่าสภาวะจิตใจที่ปกติอย่างแท้จริงเป็นอย่างไรเสียก่อน มิเช่นนั้น เราจะไม่มีมาตรฐานการวัดที่พึ่งพาได้ จะรู้แต่ค่าสัมพัทธ์หรือสมมุติเท่านั้น  จึงไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งบทความนี้ึ ดิฉันก็ได้ช่วยโยงเข้าสู่ความรู้ของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้รู้จริง  ช่วยให้คุณเข้าใจอย่างถูกต้องว่า ความปกติทางใจที่แท้จริงคือการเข้าถึงสภาวะพระนิพพาน หรือ การสามารถรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์นั่นเอง ซึ่งมิใช่เรื่องไกลตัวเลย ส่วนจะทำให้ใจของเราคงความปกติได้อย่างไร ก็ต้องทำเรื่องเดียวเท่านั้น คือ ทุกคนต้องรีบฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้าน หรือ ปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ ทำเพียงเท่านี้ ผู้ปฏิบัติก็จะสามารถเข้าใจชีวิตและจักรวาลได้อย่างถึงแก่น จึงแก้ไขปัญหาชีวิตให้ลุล่วงได้ด้วยวิธีนี้

http://img521.imageshack.us/img521/5573/eskimobkk112ql9.swf

บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13256


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 17, 2007, 10:39:40 AM »

บทที่สี่
พรมแดนสุดท้าย
The Final Frontier
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
   ผู้ที่เป็นแฟนของนิยายวิทยาศาสตร์ science fiction เช่น เรื่อง สตาร์ เืทร็ค  Star Trek อันเป็นเรื่องราวของการท่องจักรวาลนั้น มักจะได้ยินคำ ๆ หนึ่งที่ใช้กันบ่อย คือ พรมแดนสุดท้าย หรือ The final frontier ถึงแม้นิยายวิทยาศาสตร์เหล่านี้จะเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน จินตนาการของมนุษย์ก็ตาม มันก็แสดงให้เห็นถึงความคิดหนึ่งของมนุษย์ที่เชื่อว่า มีสิ่ง ๆ หนึ่ง หรือ สภาวะหนึ่ง ที่เป็นที่สุดของพรมแดน เป็นสภาวะที่ไม่มีอะไรไปเหนือมันได้อีกแล้ว ฟังดูแล้วก็ไม่ต่างจากสภาวะของสัจธรรมอันสูงสุดนั้นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหาอยู่เสมอในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ มนุษย์ทุกคนล้วนรักตัวกลัวตาย
เพราะกลัวการสาบสูญอย่างสิ้นเชิง กลัวความไม่แน่นอนในสรรพสิ่งนี้เอง จึงเป็นสัญชาติญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่จำเป็นต้องหาที่พึ่ง หาคำตอบให้แก่ชีวิต ต้องการรู้สิ่งที่แน่นอน มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอมตะ เพื่อมนุษย์จะได้พึ่งพาสิ่งนั้น ๆ แม้เพียงการแสวงหาสิ่งที่เป็นอมตะนี้ ก็ทำให้มนุษย์มีความหวังแล้ว
นี่เป็นเหตุผลใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังทฤษฎีสรรพสิ่งที่ไอน์สไตน์ถึงกับทุ่มเทชีวิตช่วงยาวนานของเขาแสวงหา การค้นพบกลศาสตร์ควอนตัมของไอน์สไตน์เท่ากับยอมรับในความไม่แน่นอนของสรรพสิ่งหรือยอมรับในความเป็นอนิจจังของทุกสิ่งซึ่งเหมือนกับบทสรุปของไฮเซนเบิร์กที่พูดว่า

ไม่มีสิ่งเที่ยงแท้ถาวรอันติมะในธรรมชาติ There is no final certainty.

นี่เป็นบทสรุปที่ไอน์สไตน์ไม่ยอมรับและทำให้นักฟิสิกส์มากมายนอนไม่หลับ แม้หลับก็ฝันร้าย  เพราะความฝันอันสูงสุดของพวกเขาคือ การแสวงหาความจริงในธรรมชาติที่มนุษย์พึ่งพาได้นั่นเอง ไอน์สไตน์ถึงยอมใช้เวลา ๓๐ ปีเพื่ออ่านความคิดในเรื่องการสร้างโลกและชีวิตของพระเจ้า เพื่อเขาจะได้เจาะเข้าไปถึงแก่นของสัจธรรม และสามารถแปรมันออกมาในรูปของคณิตศาสตร์ที่เขาและเพื่อน ๆ ชาวฟิสิกส์ของเขาเข้าใจได้ดีขึ้นนั่นเอง

ความจริงอยู่ข้างนอกโน่น
   นักดาราศาสตร์รวมทั้งนักจินตนาการนิยายทางวิทยาศาสตร์มักคิดว่า พรมแดนสุดท้ายของจักรวาลน่าจะอยู่ในอวกาศ อยู่ที่ขอบริมสุดอันเป็นพรมแดนปลายสุดของจักรวาลจริง ๆ ดังที่ชอบพูดกันในนิยายทางวิทยาศาสตร์ว่า

ความจริงอยู่ข้างนอกโน่น The truth is out there!

 จึงเป็นเหตุผลใหญ่ที่มนุษย์มีความปรารถนาและใฝ่ฝันที่จะท่องเที่ยวไปในอวกาศเพื่อหาประสบการณ์ ข้อมูล และความจริงที่อยู่นอกโลกด้วยความหวังว่า ข้อมูลเหล่านั้นจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจดาวเคราะห์ดวงที่สามในระบบสุริยะจักรวาลนี้ได้ดีขึ้น หรือ พูดให้กระชับคือ ช่วยให้เราสามารถเข้าใจชีวิต หรือ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม consciousness ที่ลึกลับนี้ รวมทั้งการพยากรณ์อนาคตของมนุษย์และพื้นพิภพที่มนุษย์กำลังอยู่นี้ด้วย

สัจธรรมคือตัวต่อตัวสุดท้าย
 ไม่ว่าจะนำหัวข้ออะไรขึ้นมาพูดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุผล มักไม่พ้นที่จะวกกลับมาสู่เรื่องสัจธรรมอันสูงสุดเสมอ เพราะนี่เป็นตัวต่อตัวสุดท้าย the missing link ของทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้รวมทั้งจักรวาลอื่นถ้าหากมีอยู่ ภาพทั้งหมดของชีวิตและจักรวาลจะชัดเจนได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถวางตัวต่อตัวสุดท้ายลงเท่านั้น หรือเมื่อพบสัจธรรมอันสูงสุด หรือเมื่อพบพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลนั่นเอง
     อย่างไรก็ตาม คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่า พรมแดนสุดท้ายของจักรวาลหรือของชีวิตอยู่ภายนอกโน่น อยู่ที่การใช้ชีวิตทั้งหมดของคุณท่องไปในอวกาศเพื่อหาสัจธรรมนี้ คุณจำเป็นต้องถามคำถามนี้อย่างจริงจัง และให้ความสนใจในสิ่งที่ดิฉันจะพูด เพราะนี่อาจจะเป็นข้อมูลที่ช่วยประหยัดเวลาของคุณได้มากมายทีเดียว

ในความเห็นของดิฉันแล้ว สามัญสำนึก common sense บอกดิฉันว่า หากคุณไม่สามารถหาสัจธรรม ณ ตรงที่คุณอยู่นี้ละก็ คุณคิดว่าคุณจะไปหาที่ไหนได้พบหรือ หากคุณนับถือพระเจ้า ก็ต้องพูดว่า ถ้าคุณไม่สามารถเข้าถึงพระเจ้าของคุณในขณะนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้แล้วละก็ คุณคิดว่าคุณจะไปหาพระเจ้าได้ที่ไหนหรือ
นี่ึคือเหตุผลของการเขียนบทความนี้ ดิฉันชอบวลี “พรมแดนสุดท้าย” ที่สามารถใช้แทนคำว่า สัจธรรมอันสูงสุด เพราะ เป็นเรื่องที่ดิฉันสามารถใช้อธิบายสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อช่วยให้คุณสามารถเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดหรือพระเจ้าได้ คุณจะเห็นชัดเจนว่า การแสวงหาสัจธรรมของนักวิทยาศาสตร์ ของนักดาราศาสตร์ไปเดินผิดพลาดที่ตรงไหน

ยอมรับว่า สัจธรรม มีอยู่
   สิ่งแรกที่คุณต้องยอมรับคือ สัจธรรมสูงสุดในธรรมชาติมีอยู่ ยอมรับว่าพระพุทธเจ้าได้ค้นพบแล้วในคืนที่ท่านตรัสรู้ ซึ่งท่านเรียกสภาวะอันติมะนี้ว่า พระนิพพาน ภาษาของนักดาราศาสตร์ หรือ นักจินตนาการนิยายวิทยาศาสตร์ คือ พรมแดนสุดท้ายของจักรวาล พระนิพพานไม่ได้จำกัดอยู่แต่กลุ่มบุีีคคลที่สนใจศาสนาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องโดยตรงของมนุษย์ทุกคน มนุษย์จึงแสวงหาโดยที่ตนเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าสิ่งที่ตนต้องการค้นพบคือสัจธรรมหรือพระนิพพาน หน้าที่ของดิฉันคือ นำสิ่งเหล่านี้มาเชื่อมโยงให้คุณรู้ว่าอะไรเป็นอะไร  ฉะนั้น เรื่องพระนิพพานจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ ไม่ใช่เป็นทางเลือกอย่างที่คนชอบคิดหรือเป็นเรื่องมักใหญ่ใฝ่สูงแต่อย่างใดเลย เพราะถ้าไม่รู้เรื่องนี้แล้ว เราจะไม่รู้อะไีรได้อย่างแท้จริงเลย  แม้มีความรู้ท่วมหัวก็เอาตัวไม่รอดดังที่เห็น ๆ กันอยู่
ดังที่คุณทราบแล้วว่าดิฉันได้ใช้คำและวลีหลากหลายเพื่อใช้เรียกคำว่า สัจธรรมอันสูงสุด สองวลีที่ดิฉันอยากนำมาเชื่อมโยงให้คุณเห็นชัดเจนในบทความนี้คือ ผัสสะบริสุทธิ์ กับ พรมแดนสุดท้าย เพื่อคุณจะได้รู้ว่า พระนิพพานหรือพระเจ้าในฐานะที่เป็นสัจธรรมอันสูงสุดไม่ใช่เรื่องไกลตัวถึงขนาดต้องไปหาในอวกาศแต่อย่างใดเลย แต่อยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ นี่เอง   

ทุกคนเป็นศูนย์กลางจักรวาลของเขา
   ในบทก่อนดิฉันได้พูดว่า ก้อนความรู้สึกตัวที่กายเนื้อห่อหุ้มมันมาเมื่อคลอดจากท้องมารดานั้น เป็นสิ่งเดียวกับจักรวาล จักรวาลมีอยู่เพราะเรามีความรู้สึกตัว consciousness นั่นเอง สมมุติว่า ดิฉันเกิดหมดสติไป ๗ วัน โลกภายนอกหรือจักรวาลของดิฉันก็ดับไป ๗ วันเช่นกัน ในช่วงนั้น จักรวาลจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับดิฉันเลย แม้มันจะยังมีอยู่ คงอยู่สำหรับคุณก็ตาม โลกและจักรวาลจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคนหลับสนิท คนหมดสติ คนอยู่ในอาการโคม่า และ คนตาย เพราะความรู้สึกตัวของเขาหายไป 
ฉะนั้น หากดิฉันจะสรุปว่า ทุกคนล้วนเป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็ย่อมไม่ผิดหลักเหตุผลแต่อย่างใด เพราะหากคุณไม่มีความรู้สึกตัวละก็ จักรวาลก็ไม่มีอยู่เช่นกัน เพราะมีความรู้สึกตัว หรือมีตัวใจ นี่เอง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเราจึงทำงานได้ มันกลายเป็นสะพานเปิดโอกาสให้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เดินเข้ามาในใจของเรา มาให้ “ตัวใจ” หรือ “ความรู้สึกตัว” ของเราได้รับรู้ ชีวิต โลกและจักรวาลจึงเกิดขึ้น ตื่น มีอยู่ ณ จุดนั้นเอง   
ใจ หรือ ความรู้สึกตัวนี้ ภาษาทางธรรมเรียก วิญญาณขันธ์ ซึ่งเป็นขันธ์สุดท้ายของขันธ์ ๕ อันเป็นส่วนประกอบฝ่ายที่ไม่มีรูปร่าง (นาม) ของร่างกายและจิตใจมนุษย์ ดิฉันได้เรียกขันธ์นี้ว่า ตัวใจ หรือ ตาใจ แทนคำว่า ใจ เฉย ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเปรียบเทียบต่าง ๆ ที่นำเข้ามาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งภาษาของดิฉันคือ “การพาตัวใจกลับบ้าน” เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้น   
ขอให้ดูรูปข้างล่างนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างของขันธ์ ๕ หรือ ร่างกายจิตใจระหว่างคนที่ตัวใจทำงานกับตัวใจไม่ทำงาน 
 
 ภาพที่ ๑ 
ตัวใจ -- จิต -- ตัวกาย = มีชีวิต = มีจักรวาล
เขียนภายใต้ภาพว่า ขันธ์ ๕ หรือ ร่างกายจิตใจ ของคนที่ไม่ได้นอนหลับสนิท ไม่ได้หมดสติ ไม่ได้อยู่ในอาการโคม่า และไม่ได้ตายเป็นเช่นนี้ จึงรับรู้โลกและจักรวาล จึงมีชีวิต
 
ภาพที่ ๒
      ตัวกาย = ไม่มีชีวิต = ไม่มีจักรวาล
เขียนภายใต้ภาพว่า คนหลับสนิืท คนหมดสติ คนที่อยู่ในอาการโคม่าและ คนตายนั้น ความรู้สึกตัว หรือ ตัวใจ ไม่ทำงาน แม้ร่างกายยังทำงานอยู่(ยกเว้นคนตาย) แต่ก็เหมือนไม่มีชีวิต ไม่สามารถรับรู้โลกและจักรวาล    ถึงแม้โลกและจักรวาลจะยังมีอยู่สำหรับคนอื่น ๆ แต่ไม่มีอยู่กับผู้ที่อยู่ในสี่อาการนี้

 จากการดูภาพข้างบนนี้ คุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตัวใจหรือความรู้สึกตัวของมนุษย์นี้เป็นตัวกำหนดให้ “มีชีวิต” หรือ “ไม่มีชีวิต” การหายใจและการทำงานของร่างกายไม่ได้เป็นตัวตัดสิน “การมีชีวิต” ที่แท้จริง  เพราะตัวใจทำงาน จึงก่อให้เกิดหน่วยงานของการรับผัสสะทั้งหมด the whole network of perceptions ชีวิตจึงเกิด  และทำให้ทารกเป็น ๆ ต่างจากเด็กทารกที่ตายตั้งแต่คลอด ถึงแม้เด็กที่ตายตั้งแต่คลอดล้วนมีสะพานอันคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เมื่อไม่มีตัวใจ หรือ ความรู้สึกตัวแล้วละก็ สะพานเหล่านี้ก็เหมือนสะพานหักที่ไม่มีประโยชน์ ไม่สามารถเชื่อมจักรวาลภายนอกกับจักรวาลภายในให้พบกันได้  จึงไม่มี “วิถีชีวิต” และ “การดำรงอยู่ของชีวิตประจำวัน” ฉะนั้นคุณจะเห็นได้ว่า ตราบใดที่ไม่มี “ตัวใจ” หรือ “ความรู้สึกตัว” แล้วละก็ การรับผัสสะจะไม่มี จักรวาลจึงดับวูบลงทันที

คุณเห็นหรือยังว่า การพูดว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นศูนย์กลางจักรวาลของตนเองนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดหลักเหตุผลแต่อย่างใดเลย ถึงแม้จะเป็นการสรุปที่โลกแห่งวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับก็ตาม ดิฉันก็ไม่คิดว่าสำคัญ เพราะบทสรุปของนักดาราศาสตร์ที่เนื่องกับจักรวาลในบัดนี้ก็ยังเป็นความจริงในระดับสัมพัทธ์เท่านั้น ไม่ใช่ความจริงสุดยอดในระดับอันติมะ ultimate ในอนาคต หากการเดินทางอวกาศทำได้ง่ายขึ้นแล้ว มีเครื่องมือที่ก้าวหน้าและฉลาดมากกว่ายุคสมัยนี้ การค้นพบปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ย่อมมีมากขึ้น ฉะนั้น บทสรุปของนักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์เกี่ยวกับโลกและจักรวาลที่เราอยู่นี้อาจจะต้องเขียนใหม่หมดก็เป็นได้เหมือนความรู้และประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่ต้องแก้ไขกันอยู่เสมอเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากขึ้น ฉะนั้น การวิเคราะห์ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโลกและจักรวาลในแนวนี้จึงควรเป็นแนวทางที่ได้รับการสนับสนุน เพราะทำให้ความรู้เรื่องจักรวาลกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก พร้อมทั้งแก้ปัญหาชีวิตได้ด้วย

เข้าใจผัสสะ เข้าใจจักรวาล
  เพราะมีความรู้สึกตัว หรือ มีตัวใจ อายตนะภายในทั้ง ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงทำงาน จึงก่อให้เกิดการรับผัสสะ   ขอให้ดูสมการข้างล่างนี้

ความรู้สึกตัว (ตัวใจ) = การรับผัสสะ = ชีวิต = โลกและจักรวาล     

คุณจะเห็นได้ว่า หากเราสามารถเข้าใจเรื่องการรับผัสสะ perceptions ของเราแล้วละก็ เราจะสามารถเข้าใจชีวิตและจักรวาล ฉะนั้น การที่จะหาพรมแดนสุดท้ายของจักรวาล หรือ สัจธรรมอันสูงสุดพบหรือไม่นั้นอาจจะขึ้นอยู่ที่ความเข้าใจเรื่องการรับผัสสะของเราก็ได้ The issue of finding the final frontier as the ultimate truth depends entirely on the understanding of our perceptions. 
สิ่งเหล่านี้คือประเด็นที่ดิฉันอยากพูดในบทความนี้ ดิฉันจะเริ่มเชื่อมคำและวลีต่าง ๆ ที่คุณได้คุ้นเคยแล้วในหนังสือเล่มนี้เพื่อให้คุณเห็นว่า ความรู้สึกตัวของเรากับการรับผัสสะนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเดินทางไปถึงพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลได้อย่างไร สิ่งที่ดิฉันสรุปย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ของดิฉันในสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดที่ดิฉันได้เห็นแล้ว จึงมีความมั่นใจที่จะสรุปเช่นนี้ได้

ความรู้สึกตัวบริสุทธิ์ = ผัสสะบริสุทธิ์ = ถึงพรมแดนสุดท้าย = ถึงสัจธรรมสูงสุด = กำลังเคลื่อนไปพร้อมกับที่นี่ เดี๋ยวนี้

ความรู้สึกตัวไม่บริสุทธิ์ = ผัสสะไม่บริสุทธิ์ = ไม่ถึงพรมแดนสุดท้าย = ไม่ถึงสัจธรรม = ติดอยู่ในกล่องความคิดของอดีตและอนาคต

แนะนำจุด ก, ข, ค
   เพื่อให้คุณเห็นความสัมพันระหว่างการรับผัสสะกับความคิดของมนุษย์ ดิฉันจะอธิบายด้วยภาพประกอบ จึงขอแนะนำจุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน
1.   จุด ก  คือ ตำแหน่งที่คุณกำลังอยู่ จะเป็นการนั่ง เดิน ยืน นอน ก็ได้ จึงเป็นตำแหน่งที่คุณกำลังใช้ตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง ของคุณ เพื่อรับผัสสะ perceiving sense objects   
2.   จุด ข    จะสมมุติให้เป็นกระดาษแข็งสีขาวก่อน ซึ่งสามารถคงความเป็นกระดาษเปล่า ๆ เมื่อมีการรับผัสสะบริสุทธิ์ หรือ สามารถกลายเป็นประตูเปิดเข้าไปสู่ท่อแห่งความคิดเมื่อการรับผัสสะไม่บริสุทธิ์ จุด ข  จึงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณกำลังรับรู้ หรือ รับผัสสะอยู่ the objects of your perceptions เช่น คนรักที่กำลังยืนเบื้องหน้าคุณ รูปที่ติดอยู่ฝาผนัง ต้นไม้ ภาพของดวงดาวระยิบระยับในท้องฟ้า เสียงเพลงโปรดของคุณ กลิ่นกาแฟ กลิ่นปลาเค็ม รสมะนาว หรือ ความรู้สึกคมแหลมของเปลือกทุเรียน หรือ ความรู้สึกที่อ่อนนุ่มของผิวหนังเด็ก ซึ่งเมื่อพูดรวมกลุ่มแล้ว กระดาษแข็งสีขาวนี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของคุณนั่นเอง 
3.   จุด ค   สมมุติเป็นท่อกระดาษแข็งยาว ๑๐ นิ้ว จะสมมุติให้มันเป็นการใช้ความคิดของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการแสวงหาและสะสมความรู้ทางโลก intellectual knowledge ซึ่งขบวนการแสวงหาความรู้ทางโลกเริ่มตั้งแต่การรับผัสสะ (perception) การเฝ้าสังเกตการณ์ observation การสำรวจ exploration วิจัย research บันทึกเหตุการณ์ recording ข้อมูล และวิเคราะห์ด้วยวิธีการของการใช้เหตุผล reasoning และ ตรรกะ logic จนกระทั่งมีการสรุปออกมาเป็น ข้อเท็จจริง facts และ ความจริง truth พูดง่าย ๆ ก็คือ ท่อกระดาษยาวสิบนิ้วนี้เป็นตัวแทนของการหาวิชาความรู้ทางโลกโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ความคิดและการผลิตความคิดเป็นแกนหลัก

มีการรับผัสสะสองชนิด Two types of perceptions
  ทีนี้ เรามาดูวิธีการรับผัสสะของมนุษย์ เมื่อคุณยืนอยู่ ณ จุด ก และมองไปที่จุด ข หรือ แผ่นกระดาษสีขาว  สิ่งที่คุณต้องทำความเข้าใจคือ คุณสามารถรับผัสสะได้สองวิธี คือ
๑.   ประสบการณ์โืท คือ ทันทีที่ตาเห็นลูกกลม ๆ ลูกหนึ่ง  จะมีเสียงก้องอยู่ในหัวของคุณทันทีว่า ลูกบอล หรือ คุณได้ยินเสียง คุณก็ได้ยินเสียงในหัวพูดว่า “เออ เพลงนี้เพราะดี” หรือ คุณได้กลิ่น คุณก็ได้ยินเสียงในหัวพูดว่า “ใครทอดปลาเค็มอีกแล้ว” เป็นต้น เสียงพูดในหัวนั้นก็คือ ความคิดนั่นเอง ดิฉันจะเรียกประสบการณ์รับผัสสะเช่นนี้ว่า ผัสสะไม่บริสุทธิ์ หรือ ประสบการณ์โท
๒.   ประสบการณ์เอก คือ ทันทีที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส ในหัวจะไม่มีเสียงพูด จะเงียบกริบ ไม่มีแม้แต่คำ ๆ เดียว ถ้าเห็นอะไร ก็เห็นเฉย ๆ เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินเฉย ๆ ได้กลิ่นเฉย ๆ เป็นต้น ประสบการณ์เช่นนี้เรียกว่าการรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ ซึ่งดิฉันจะเรียกว่าประสบการณ์เอก 

เริ่มซับซ้อน
คุณอาจจะเริ่มคิดแล้วว่า ประสบการณ์เอกเป็นเรื่องที่เป็นไม่ได้ มีหรือที่เวลาคุณเห็นสิ่งของ หรือ ได้ยินเสียงแล้วจะไม่มีการพูด การคิดในหัว คุณอาจคิดว่าประสบการณ์เช่นนี้คงจะเกิดกับคนที่สมองฝ่อ ไม่ทำงานแล้วเท่านั้น ที่ฝรั่งเรียก brain dead ตรงนี้แหละ คุณอาจจะเป็นฝ่ายเข้าใจผิดเสียเองก็ได้ ฉะนั้น อย่าเพิ่งคิดว่าดิฉันพูดอะไรเพ้อเจ้อ เพราะประสบการณ์เอกเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ทีเดียว เกิดได้จริงหากมีการฝึกสติปัฏฐานสี่หรือฝึกทักษะเรื่องพาตัวใจกลับบ้านที่ดิฉันพูดเสมอ นี่เป็นภูมิปัญญาลึกซึ้งที่คุณยังเข้าไม่ถึง จึงไม่รู้ว่าประสบการณ์เช่นนี้มีอยู่  อาจารย์สอนวิปัสสนาจะสามารถสอนคุณได้ว่าประสบการณ์เอกนั้นต้องทำอย่างไรและแตกต่างจากประสบการณ์โทอย่างไร คุณอาจจะลองทำเองก็ได้ แต่ดิฉันไม่คิดว่าคุณจะสามารถแยกแยะประสบการณ์ทั้งสองนั้นได้โดยไม่มีคำแนะนำของครูบาอาจารย์ แม้เห็น ๆ อยู่ก็ตาม
ลูกศิษย์ที่ได้มาเรียนรู้เรื่องการพาตัวใจกลับบ้านกับดิฉันจนสามารถเข้าบ้านที่สี่ได้แล้วนั้นจะทราบว่า ประสบการณ์เอกเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เป็นข้อเท็จจริงที่เขาทำได้ ซึ่งในปีหลัง ๆ นี้ดิฉันค่อนข้างมั่นใจว่าประสบการณ์เอกจะต้องเป็นเรื่องที่สอนและถ่ายทอดกันอย่างเห็นหน้ากันเท่านั้น จะด้วยวิธีการอื่นไม่ได้ ฉะนั้น หากคุณยังไม่ได้เรียนรู้กับดิฉันแล้วละก็ คุณอาจจะไม่อยากเห็นด้วย ซึ่งดิฉันต้องขอร้องให้คุณช่วยทำใจโดยแกล้งเห็นด้วยกับดิฉันไปก่อน มิเช่นนั้นแล้ว ดิฉันจะอธิบายต่อไม่ได้

ถึงพรมแดนสุดท้ายทันที
เมื่อใดที่คุณยืนอยู่ ณ จุด ก และมองไปที่จุด ข ด้วยประสบการณ์เอกแล้วละก็ เมื่อนั้นผัสสะของคุณจะบริสุทธิ์  ฉะนั้น คุณได้ถึงพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลแล้ว เข้าถึงสัจธรรมแล้ว กำลังเคลื่อนไปกับที่นี่ เดี๋ยวนี้ ถึงนิพพานแล้ว ถึงพระเจ้าแล้ว เรื่องจบทันที หมดเรื่องพูด

ผู้รู้จริงทุกท่านจะพูดตรงกันหมดว่า ภูิมิปัญญาที่ลึกซึ้งที่สุดของจักรวาลมีความลึกเท่าผิวหนังคือ ไม่มีความลึกแต่อย่างใดเลย เพราะสัจธรรมอันสูงสุดได้อยู่เบื้องหน้าของทุกคนแล้ว เหมือนการหาคำตอบของปัญหาเชาวน์ ซึ่งคนส่วนมากมักมองข้าม หากไม่มีผู้รู้จริงมาบอก นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการค้นหาสัจธรรมจึงกลายเป็นเรื่องยากมากจนถึงกับต้องใช้เวลาทั้งชีวิตหรือโดยหลักศาสนาพุทธก็ต้องเดินทางมาหลายภพหลายชาติ กว่าจะรู้ข้อเท็จจริงนี้ได้  หากพระพุทธเจ้าดำริไม่สอนหลังการตรัสรู้ละก็ คนก็มืดมน ไม่มีทางรู้ข้อเท็จจริงนี้แน่นอน 

ประสบการณ์โท
ทีนี้ เราลองมาดูความแตกต่างที่เกิดกับชีวิตของเราเมื่อยืนอยู่ ณ จุด ก และมีประสบการณ์โท ทันที่ที่คุณรับผัสสะและมีความคิดในหัวโดยเรียกสิ่งนั้น ๆ ย่อมหมายความว่าผัสสะของคุณไม่บริสุทธิ์แล้ว ผัสสะของคุณได้ถูกทำให้ด่างพร้อยแล้วโดยความคิดของคุณซึ่งกำลังจะถูกแปลงออกมาเป็นคำพูดในภาษาต่าง ๆ ที่หลากหลาย
ทันทีที่ประสบการณ์โทเกิดขึ้น  เปรียบเทียบได้ว่า กระดาษแข็งสีขาวนั้นได้กลายเป็นประตูที่เปิดได้ และประตูนั้นก็เปิดออกมาเชื้อเชิญให้คุณเข้าไปทันที  คุณก็อดไม่ได้ที่จะละทิ้งจุด ก ที่คุณยืนอยู่และเดินเข้าไปในท่อกระดาษแข็งนั้นซึ่งต่อไปนี้ดิฉันจะเรียกว่าท่อแห่งความรู้ทางโลก the tube of intellect นี่เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะทำให้ชีวิตของคุณเรียบง่าย ซับซ้อน ยุ่งเหยิง ทุกข์มากหรือน้อย ก็อยู่ที่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เอง ความอยากรู้อยากเห็น curiosity อยากหาความรู้ทางโลก จึงกลับกลายมาเป็นความมืดมนเสียเอง เพราะส่วนปลายสุดของท่อแห่งความคิดนี้เป็นทางตัน! 

เมื่อคุณโทกับคุณเอกมองท้องฟ้าในคืนเดือนมืด
   ทีนี้ ดิฉันจะยกตัวอย่างโดยสมมุติให้มีนักศึกษาระดับปริญญาเอกสองคนชื่อคุณเอกและคุณโท ซึ่งทั้งสองคนกำลังทำปริญญาเอกสาขาดาราศาสตร์ และกำลังยืนอยู่ที่จุด ก ทั้งคู่ จะสมมุติต่อว่าคุณโทไม่เคยศึกษาพระพุทธศาสนาและไม่เคยปฏิบัติสติปัฏฐานมาก่อน ในขณะที่คุณเอกศึกษาพระพุทธศาสนาและปฏิบัติวิปัสสนามาหลายปีแล้ว สามารถฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านจนสามารถเข้าบ้านที่สี่ได้นานสักระยะหนึ่งแล้ว คือสามารถรับผัสสะบริสุทธิ์ได้แล้ว รู้จักสภาวะของประสบการณ์เอกเป็นอย่างดีแม้ทำไม่ได้ตลอดเวลาก็ตาม ส่วนคุณโทยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าผัสสะบริสุทธิ์คืออะไร ต้องทำอย่างไร ยังเป็นทารกในโลกแห่งธรรม
   
สมมุติต่อว่า ที่จุด ก คุณเอกกับคุณโทกำลังยืนอยู่กลางทุ่งกว้างที่ถูกครอบด้วยท้องฟ้าที่มีดาวสว่างระยิบระยับในคืนเดือนมืด ทันทีที่คุณโทหงายหน้าขึ้นมองท้องฟ้า เขาก็ทำเหมือนกับนักดาราศาสตร์ทั่วไปที่กำลังทำปริญญาเอกอยู่ นั่นคือ ขบวนการใช้ความคิดเริ่มต้นอย่างเป็นธรรมชาติของมันเอง เพราะคุณโทมีความทรงจำมากมายในความรู้ด้านดาราศาสตร์ของเขา จึงเริ่มเรียกชื่อของดาวเคราะห์ที่เด่น ๆ เช่น ดาวศุกร์ ดาวพุธ ดาวอังคาร รวมไปถึงชื่อของดาวฤกษ์และกลุ่มดาวฤกษ์ต่าง ๆ ที่เขารู้จัก คุณโทจะสามารถพูด วิเคราะห์ วิจารณ์ เรื่องเกี่ยวกับดวงดาวในท้องฟ้าได้มากมาย การทำเช่นนี้ของคุณโทจึงเปรียบได้ว่า แม้คุณโทได้ยืนที่จุด ก แต่เพราะเขาดูไปที่แผ่นกระดาษสีขาว (จุด ข) ด้วยประสบการณ์โท กระดาษแผ่นสีขาวนั้นจึงกลายเป็นประตูเปิดออกทันที ซึ่งเชื้อเชิญให้คุณโทละจากจุด ก เดินเข้าไปในท่อแห่งความรู้ทางโลก หรือ จุด ค นั้นทันที และเขาก็ยืนอยู่ ณ จุด ๆ หนึ่งในท่อแห่งความรู้นี้
ทางเลือกสองทางกับหนึ่งทาง
   ส่วนคุณเอกนั้น ถึงแม้ว่า เขาจะเป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขาดาราศาสตร์เหมือนคุณโทก็ตาม แต่เป็นเพราะเขาได้ฝึกวิปัสสนา ฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านจนสามารถรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ได้แล้วแม้จะเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ ก็ตาม อย่างน้อย คุณเอกมีทางเลือกได้สองทาง ณ ตำแหน่ง ก คุณเอกสามารถมองไปที่แผ่นกระดาษสีขาวด้วยประสบการณ์เอกก็ได้ หรือ ประสบการณ์โทก็ได้  คือคุณเอกสามารถมองไปยังท้องฟ้าที่ประดับด้วยแสงดาวระยิบระยับ และมองมันอย่างไม่ต้องใช้ความคิดเลย คือ มองเฉย ๆ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น หรือมีผัสสะที่บริสุทธิ์นั่นเอง ในกรณีนี้ เปรียบเทียบได้ว่า แผ่นกระดาษสีขาวนี้ไม่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นประตูแต่อย่างใด คุณเอกยังสามารถยืนอยู่ที่จุด ก โดยไม่ต้องเข้าไปในท่อแห่งความรู้ทางโลก
   ในขณะเดียวกัน คุณเอกก็ยังมีทางเลือกที่จะใช้ความคิดของเขาได้หากเขาต้องการ นั่นคือ เขาสามารถละจากจุด ก และเดินเข้าไปในท่อแห่งความรู้ ยืนเคียงข้างคุณโท คุยเรื่องเกี่ยวกับดวงดาวบนท้องฟ้าตามประสาคนเรียนปริญญาเอกในสาขาดาราศาสตร์ด้วยกัน หากถึงจุดหนึ่งที่คุณเอกรู้สึกพอแล้ว ไม่อยากใช้ความคิดมาก พูดมากอีกต่อไป คุณเอกก็สามารถพาตัวใจของเขากลับบ้านได้เช่นกัน ในขณะนั้นเอง คุณเอกก็สามารถกลับมาอยู่ที่จุด ก อีกตามเดิม สามารถกลับมารับผัสสะอย่างบริสุทธ์ โดยมองท้องฟ้าอย่างผ่อนคลาย มองเฉย ๆ ไม่มีเสียงพูดในหัวแม้แต่คำเดียว

คุณจะเห็นได้ว่าในขณะที่คุณโทมีทางเลือกเพียงทางเดียวคือ การใช้สมอง ใช้ความคิดนั้น คุณเอกมีทางเลือกถึงสองทาง คือ จะใช้สมอง ใช้ความคิดก็ได้ หรือ จะไม่คิดก็ได้ ซึ่งประการหลังเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่คุณโทไม่มี เพราะคุณโทไม่รู้จะหยุดความคิดได้อย่างไร เนื่องจากเขายังไม่เคยรู้เรื่องเป้าหมายของชีวิตและยังไม่เคยฝึกวิปัสสนา จึงไม่รู้ว่า การดูท้องฟ้าเฉย ๆ โดยไม่ต้องใช้ความคิดเป็นประสบการณ์ที่มีอยู่ 

ปัญหาที่ปัญญาชนรู้ดี
   ปัญญาชนล้วนรู้ดีว่า การใช้ความคิดและปล่อยให้ตนเองคิดมากนั้นง่ายกว่าการไม่คิดหรือหยุดคิด ปัญญาชนบางคนอาจจะคิดว่า คงไม่มีประสบการณ์ที่เรียกว่า ทำใจให้นิ่ง ๆ เงียบ ๆ เสียด้วยซ้ำไป เพราะระบบการศึกษาทางโลกล้วนกระตุ้นให้คนคิดมาก คิดเก่ง ซึ่งเห็นเป็นเรื่องดี แต่ไม่ได้สอนเรื่องการหยุดความคิดเมื่อต้องการจะหยุด  ความทุกข์ของคนส่วนมากเกิดเพราะคิดมากและหยุดคิดไม่ได้มากกว่าคิดน้อยและคิดไม่เป็น คนคิดน้อยจะทุกข์น้อยกว่าคนคิดมาก ปัญหาสังคมจึงเกิดเมื่อคนคิดมากในเรื่องที่เจ็บปวด เป็นทุกข์  แล้วหยุดคิดไม่ได้ ทำไม่เป็น เพราะระบบการศึกษาของโลกไม่ได้สอนวิชาที่ช่วยให้คนหยุดคิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดพลาดมาก เรื่องการคิดมาก คิดน้อย หยุดคิด เป็นเรื่องการฝึกนิสัยของใจคือเรื่องการฝึกสติปัฏฐานสี่หรือการพาตัวใจกลับบ้าน ที่จำเป็นต้องเรียนรู้กันอย่างเป็นระบบ จึงจะแก้ปัญหาชีวิตและสังคมได้   

ถึงพรมแดนสุดท้ายด้วยการมองเฉย ๆ
      คุณจะเห็นได้ว่าที่จุด ก นั้น คุณเอกกับคุณโทกำลังหงายหน้าขึ้นมองท้องฟ้าเหมือนกัน แต่คุณเอกมองท้องฟ้าในฐานะที่เป็น “รูป” ที่เข้ามาทางตาเหมือนกับรูปมากมายที่เขาเห็นในขณะที่เขาลืมตาอยู่  จึงเป็นการมองท้องฟ้าที่ไม่ต่างจากการมองขวดน้ำ สุนัข ต้นไม้ ดอกไม้ ใบหน้าของคุณโท รวมทั้งสิ่งอื่น ๆ มากมายอันเป็น “รูป” ทั้งหลายที่ล้วนเดินผ่านเข้ามายังสะพานตา แม้รูปร่างหน้าตารายละเอียดของสิ่งที่เขามองมีลักษณะที่หลากหลาย แต่สิ่งเหล่านั้นก็ถูกรวบลงมาเหลือเพียงสิ่งเดียวคือ “รูป” ที่สามารถเดินผ่านเข้ามาทางสะพาน “ตา” ได้เท่านั้น และก็เช่นเดียวกับ “เสียง” ที่เข้ามาทางสะพาน “หู” “กลิ่น” ที่เข้ามาทางสะพาน “จมูก” เป็นต้น  การรับผัสสะเช่นนี้ของคุณเอกคือ การรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ รับรู้ “รูป” เฉย ๆ รับรู้ “เสียง” เฉย ๆ โดยไม่ต้องคิด หรือ พูดอะไรในหัว ทำให้เขาสามารถยืนอยู่ที่จุด ก โดยไม่ได้เปลี่ยนกระดาษสีขาวนั้นเป็นประตูแต่อย่างใด  ซึ่งหมายความว่า คุณเอกได้เดินทางถึงพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลแล้วโดยไม่ต้องเดินทางไปไหนเลย เขากำลังเผชิญหน้ากับสัจธรรมอันสูงสุดแล้ว เปรียบเหมือนคุณเอกสามารถกลับบ้านเดิมหรือบ้านของพระธรรมชาติเจ้าได้แล้ว กำลังใช้ชีวิตอมตะอยู่ในแผ่นดินของพระเจ้า กลายเป็น “คนภายใน” แล้ว ไม่ใช่คนเร่ร่อนที่หาบ้านตัวเองไม่เจอเหมือนคุณโท จักรวาลทั้งหมดได้หลอมรวมเป็นหนึ่ง จักรวาลทั้งหมดจึงเคลื่อนไปกลายเป็น ที่นี่ เดี๋ยวนี้

ใจ  ไม่มีความคิด (ไม่มีจิต)  กาย ---- ผัสสะบริสุทธิ์ = ถึงพรมแดนสุดท้าย = ถึงสัจธรรม

   คุณโทเอง ก็อยากรู้เรื่องพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลหรือสัจธรรมเยี่ยงคุณเอก แต่ด้วยความที่ไม่มีความรู้เรื่องวิปัสสนา ทันทีที่เขามองท้องฟ้าที่ห่มด้วยผ้าดาวระยิบระยับผืนนั้น คุณโทไม่สามารถมองท้องฟ้าในลักษณะที่เป็น “รูป” ที่ไม่มีอะไรแตกต่างจาก “รูป” อื่น ๆ เช่น ต้นไม้ ตู้ เก้าอี้ หนังสือ แมว ใบหน้าของคนรัก ฯลฯ เขาไม่สามารถมองเฉย ๆ โดยไม่คิด ผัสสะของคุณโทจึงไม่บริสุทธิ์

ใจ  มีความคิด (จิต) กาย ---- ผัสสะไม่บริสุทธิ์ = ไม่ถึงพรมแดนสุดท้าย =ไม่ถึงสัจธรรม

   เมื่อผัสสะไม่บริสุทธิ์แล้ว คุณโทจึงมุดเข้าไปหาพรมแดนสุดท้ายหรือสัจธรรมในท่อแห่งความรู้ทางโลกเสีย ซึ่งปัญญาชนส่วนมากคิดว่าอยู่ในนั้น  อยู่ในความรู้ที่กองเป็นภูเขา  โดยที่ไม่รู้ว่าอวกาศที่กว้างใหญ่ไพศาลของจักรวาลนี้จะเป็นทางตันได้อย่างไร คุณคงเห็นแล้วว่า สิ่งที่มาขวางกั้นภูมิปัญญาทางธรรมนั้น ไม่ใช่อะไรอื่นเลย คือ ความรู้ทางโลกอันมีรากเหง้ามาจากการคิดมากนั่นเอง 

พบทางตัน
   สาเหตุที่ดิฉันอยากแทนคำว่า สัจธรรม ด้วย พรมแดนสุดท้าย เพราะดิฉันต้องการให้คุณเห็นว่า ที่ปลายสุดของท่อแห่งความรู้ทางโลกนี้เป็นทางตัน มิใช่ที่โล่ง ๆ  ที่เราคิดว่ามีคำตอบหลากหลายยืนรอเราอยู่ โลกนี้จะมีคำถามมากกว่าคำตอบอยู่เสมอ There are more questions than answers.  การเห็นสัจธรรมอันสูงสุดมิใช่หมายความว่า ผู้รู้นั้นสามารถตอบคำถามทุกเรื่องที่มนุษย์ตั้งขึ้นมาได้ แม้พระพุทธเจ้าก็ยังปฏิเสธที่จะตอบปัญหาบางอย่างที่ท่านเรียกว่า อจินไตย คือ คำถามที่ไม่มีคำตอบ และไม่ได้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น เช่น จุดเริ่มต้นของจักรวาลมาอย่างไร ใครสร้างโลกมนุษย์ จิตใจของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร เป็นต้น
ผู้ที่หมดคำถามในตัวเองแล้วหรือกลับบ้านเดิมอย่างถาวรแล้วเท่านั้นจึงรู้ว่าการไม่คิดถึงคำถามเป็นคำตอบอยู่ในตัวมันเองแล้ว แต่คนที่ยังถามในเรื่องที่ไม่ควรถาม ไม่ควรรู้ (เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการดับทุกข์) ยังอยากรู้คำตอบของทุกเรื่องอยู่ละก็ จะยอมรับคำตอบในรูปลักษณะของความเงียบ ของการไม่ถาม ของการรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์นั้นย่อมไม่ได้ ไม่ยอมเชื่อ
วันหนึ่ง หลังจากที่ดิฉันได้สอนพาให้ลูกศิษย์ในชั้นไท้เก็กเข้าบ้านที่สี่ซึ่งเป็นการรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์แล้ว ดิฉันจึงสรุปให้พวกเขาว่า หากเขาสามารถรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ได้เช่นนี้ เขาได้เข้าถึงพระเจ้าแล้ว ได้พบสัจธรรมอันสูงสุดแล้ว นักศึกษาหญิงคนหนึ่งที่มักถามคำถามเสมอ มีใบหน้าที่แสดงออกถึงความสับสน และถามดิฉันว่า
เท่านั้นหรือ Is that it?!
ดิฉันจึงตอบไปว่า เท่านั้นแหละ That is it!
ดิฉันจึงมักพูดย้ำให้นักศึกษาชาวตะวันตกของดิฉันเสมอด้วยประโยคเหล่านี้ว่า

หากสัจธรรมอันสูงสุดไม่ได้อยู่ต่อหน้าของคุณแล้ว คุณคิดว่าคุณจะไปหามันได้ที่ไหนหรือ  If you cannot find the truth right where you are, where do you think you can find it?
   ภูมิปัญญาที่ลึกซึ้งที่สุดของจักรวาลมีความลึกเท่าผิวหนัง คือไม่มีความลึกเลย The most profound wisdom in the universe is skin deep.

   นี่เป็นคำพูดที่ซ้ำซากของผู้รู้จริงของทุกยุคทุกสมัย ใครที่เห็นสัจธรรมจริง ๆ แล้ว จะพูดเช่นนี้เหมือนกันหมด และไม่ใช่เป็นการพูดตาม ๆ เขา คนรู้จริงจะมีวิธีการพูดประโยคเก่า ๆ  ให้เป็นประโยคใหม่ ๆ ของตนเอง เป็นคุณสมบัติที่คนไม่รู้จริงจะทำไม่ได้   

รวบไม่เป็น ความรู้จึงแตกซ่าน
การใช้ความคิดของปัญญาชนนั้น ไม่ว่าจะคิดได้เก่งกาจอย่างไร  คิดได้ลึกซึ้งหรือซับซ้อนมากเพียงใด หากรู้จักรวบมันลงมาแล้ว มันก็เป็นเพียง “ความคิด” เท่านั้น เหมือนกับรูปที่มีมากหลากหลาย ก็คือ “รูปที่ผ่านเข้ามาทางตา” เท่านั้น หรือ เสียงหลากหลายก็คือ “เสียงที่ผ่านเข้ามาทางหู” เท่านั้น แต่นักคิดทั้งหลายก็มองไม่ออกเพราะขาดความรู้ทางธรรมนั่นเอง จึงเห็นความคิดในกลุ่มความรู้ทางโลกเป็นเรื่องตื่นเต้น น่าสนใจ น่าแสวงหา อยากรู้อยากเห็นอยู่ร่ำไป

โดยธรรมชาติของความคิดมีลักษณะเป็นมายา คือหลอกคนได้ หลอกให้เราเห็นว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องจริง แต่มันไม่จริง เป็นเพียง “ความคิด” เท่านั้น ที่ตกอยู่ภายใต้กฏแห่งความไม่แน่นอนของธรรมชาติ จึงเปลี่ยนแปลง พลิกไปพลิกมาได้เสมอ ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ล้วนถูกมายาหลอกเอาทั้งสิ้น ฉะนั้น การแสวงหาคำตอบเรื่องชีวิตและจักรวาลจึงไม่สามารถพบได้ด้วยวิธีการคิดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นจากการรับฟังผู้รู้จริงเสียก่อน 
ดิฉันจึงรวบความคิด ความจำ ความรู้สึก ทั้งหมดให้ลงมาเหลือเพียงคำ ๆ เดียวคือ จิต และแทนมันด้วยตัวการ์ตูนที่ชื่อ เจอรี่ เท่านั้น หากคุณรวบได้เช่นนี้ คุณจะพบสัจธรรมเร็วขึ้นมาก

ภาพถ่ายเหล่านี้มีความหมายต่อมนุษยชาติอย่างไร
   ไม่กี่ปีก่อน มีรายงานข่าวว่า ดาวเทียมเล็ก ๆ ที่เขาเรียกว่า probe ที่ส่งออกจากองค์การนาสาไปราวสองหรือสามทศวรรษก่อนนั้นได้เดินทางไปถึงดาวพฤหัส Jupiter แล้ว และได้ส่งภาพถ่ายด้านหลังของดาวพฤหัสกลับมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์เห็นภาพด้านหลังของดาวเคราะห์ยักษ์ดวงนี้ ทันทีที่นักดาราศาสตร์เหล่านี้เห็นภาพถ่ายเท่านั้น ต่างก็ตื่นเต้น ดีใจมากจนบางคนถึงกับน้ำตาไหล คนหนึ่งบอกนักข่าวว่า

 “คุณรู้ไม๊ว่า ภาพถ่ายเหล่านี้มีความหมายต่อมนุษยชาติอย่างไร”
Do you know what these pictures mean to humanity?

   ดิฉันฟังแล้วก็รู้สึกงง ไม่เข้าใจว่าภาพถ่ายเหล่านั้นจะมีความสำคัญต่อมนุษยชาติได้อย่างไร เพราะหากเอารูปเหล่านี้ไปให้คนจนที่หาเช้ากินค่ำหรืออดมื้อกินมื้อดู และถามเขาว่าจะเอารูปถ่ายหรืออาหาร คุณต้องรู้ว่าเขาจะเลือกอะไีร ในขณะที่โลกกำลังวุ่นวายด้วยปัญหาที่ทำให้คนเป็นทุกข์มากอยู่ทุกหย่อมหญ้าเช่นนี้ ภาพถ่ายด้านหลังของดาวพฤหัสจะมีความหมายอะไรต่อมนุษยชาติ ดิฉันก็นึกไม่ออก คุณล่ะ นึกออกไม๊
 นอกจากนั้น ปัญญาชนที่กำลังติดอยู่ในท่อแห่งความรู้ทางโลกนั้นจะสร้างอัตตาตัวตน ego ให้ตนเองอย่างไม่รู้ตัว เพราะถูกความคิดของตนเองหลอกเอา ในขณะที่เขาคิดเหมาเอาว่า เขารู้มาก รู้กว้าง รู้เรื่องสำัคัญเพียงเพราะมีปริญญายาวเป็นหางว่าวนั้น คนที่รู้จริงเพราะมีภูมิปัญญาทางธรรมจะมองออกว่า ที่จริงแล้ว คนเหล่านี้กำลังติดอยู่ในโลกแคบ ๆ ของความรู้ของตนเอง แต่ละคนกำลังใส่แว่นต่างสีและกำลังมองโลกผ่านสีแว่นของตนเอง จึงทะเลาะถกเถียงกันมากว่าฉันถูก เธอผิด ซึ่งทุกคนถูกหมด เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาเห็นจริงโดยผ่านสีแว่น ซึ่งเป็นความจริงแบบสัมพัทธ์เท่านั้น จึงทำให้ทุกคนเห็นผิดหมด เพราะตราบใดที่ยังไม่ยอมถอดแว่นต่างสีและหัดมองโลกตามที่มันเป็นจริงแล้วละก็ จะไม่มีวันเห็นของจริง ๆ เด็ดขาด 
ท่อแห่งความรู้ทางโลกจึงมีขอบเขตที่จำกัดมาก ตราบใดที่เป็นเรื่องการใช้ความคิดแล้ว จะต้องถูกหลอกไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอน ความรู้ทางโลกจึงเป็นท่อตันที่ไม่มีทางออกหากไม่ยอมรับฟังผู้รู้นำทางให้ 
   
สรุป
     คุณคงจะเห็นแล้วว่า การรับผัสสะและความคิดของมนุษย์เรามีความเกี่ยวข้องกับการรู้สัจธรรมอันสูงสุดหรือการไปถึงพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลได้อย่างไร บทความนี้ย่อมชี้ให้คุณเห็นอย่างชัดเจนว่า ความคิดของมนุษย์นี้เองเป็นตัวแปรที่จะทำให้ผู้แสวงหาไปถึงพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลได้หรือไม่ ซึ่งในที่สุด ก็รวบลงมาเหลือเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น คือ การฝึกสติปัฏฐานสี่ หากใครสามารถฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านได้เท่านั้น ผู้ปฎิบัติก็จะถึงพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลทันทีโดยไม่ต้องเดินทางเลย

   ผู้รู้จริงสามารถกระโดดได้เหมือนเสือในขณะที่กำลังนั่งอยู่
   The enlightened one can leap like a tiger while still sitting.
   
http://img521.imageshack.us/img521/5573/eskimobkk112ql9.swf

บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13256


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 17, 2007, 10:45:00 AM »

บทที่ห้า
ท่อแห่งความรู้ทางโลก
The Tube of Intellect
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
                    ในบทก่อน ดิฉันได้พูดถึงคุณเอกกับคุณโทยืนอยู่ ณ จุดเอ ในขณะที่คุณเอกสามารถรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ได้นั้น คุณโทกลับทำให้แผ่นกระดาษสีขาวนั้นกลายเป็นประตู และเขาก็เดินเข้าไปในท่อแห่งความรู้ทางโลกนั้น ยืนอยู่ในท่ามกลางความคิดและความรู้มากมาย วันนี้ ดิฉันจะเน้นเรื่องท่อแห่งความรู้ทางโลก

ความสัมพันธ์ระหว่างความคิด คำพูด และภาษา
   ก่อนเข้าเรื่อง  คุณต้องทราบก่อนว่า ความคิด คำพูด และภาษาเป็นเรื่องเดียวกันหมด แต่ต่างขั้นตอนเท่านั้น คำพูดและภาษาเป็นผลของความคิด หรือ จะพูดว่า ความคิดก็คือ คำพูดที่อยู่ในหัวนั่นเอง เมื่อต้องการสื่อสารเสียงที่อยู่ในหัว มันจึงออกมาเป็นคำพูดซึ่งก็คือภาษาต่าง ๆ นั่นเอง เช่น วัตถุลูกกลม ๆ ที่คนไทยเรียกว่า ลูกบอล นั้น สามารถเรียกมันได้ถึงร้อยกว่าภาษา ขึ้นอยู่ที่วัฒนธรรมภาษาที่คุณอยู่ แต่ร้อยกว่าภาษาที่พูดออกมานั้นก็ล้วนเป็นสื่อแทนความคิดหนึ่งเดียวในหัวอันเป็นผลของการเห็น “ลูกบอล” หนึ่งลูกที่เห็นอยู่เบื้องหน้าเท่านั้น

คุณคงอยากรู้ว่า แล้วความคิดของลูกบอลมาได้อย่างไร มันก็มาจากผัสสะนั่นเอง ทุกครั้งที่คุณเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งเรียกใหม่ว่า “โลกภายนอกหรือจักรวาลภายนอก” สิ่งเหล่านั้นก็เดินผ่านสะพานที่เป็นคู่สร้างคู่สมของมัน ทำให้โลกภายนอกเข้าถึงโลกภายในของเราได้ โลกภายนอกเหล่านั้นจึงถูกลดลงเหลือสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง (นาม) คือ กลายเป็นความจำ ความคิด ความรู้สึก ที่เนื่องกับลูกกลม ๆ ที่เห็นนั้น ในบทที่หนึ่ง ดิฉันได้พูดแล้วว่า ไอน์สไตน์เป็นนักฟิสิกส์คนแรกที่ยืนขึ้นมาพูดอย่างสง่าผ่าเผยว่า มวลกับพลังงานเป็นสิ่งเดียวกันแต่ต่างรูปแบบเท่านั้น
e=m   
energy = mass
ซึ่งเป็นหัวใจหลักของสูตร e=mc2 ที่นำมาสร้างพลังงา่นมหาศาล การค้นพบเรื่องความเหมือนกันของพลังงานกับมวลสารนี้สามารถนำมาอธิบายความรู้เรื่อง “รูปนาม” ของพระพุทธเจ้าได้อย่างเหมาะเจาะ ราวกับว่าพระพุทธเจ้าเข้าใจเรื่องนี้ก่อนไอน์สไตน์เสียด้วยซ้ำไป     ดิฉันจะนำคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเรียงให้คุณเห็นอย่างชัดเจน ดังนี้

รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส = รูปธรรม = โลกภายนอก = จักรวาลภายนอก = รูป = m
ความคิด ความจำ ความรู้สึก = นามธรรม = โลกภายใน = จักรวาลภายใน = นาม = e

ฉะนั้น การเห็นลูกบอลจนก่อให้เกิดความคิดเรื่องลูกบอลจึงเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อคุณแม่เห็นใบหน้าของลูกน้อย ได้ยินเสียงลูกร้องไห้หรือหัวเราะ ได้กลิ่นแป้งเด็กบนตัวลูก ได้สัมผัสความอ่อนนุ่มนวลเนียนของผิวหนังลูก จึงมีความคิด ความจำ ความรู้สึกที่เกี่ยวกับลูกน้อยที่ไร้เดียงสาของคุณ คุณจะเห็นได้ว่า ผัสสะและความคิดจึงเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ต่างรูปแบบกันเท่านั้น ฉะนั้น คำพูดและภาษาของคุณแม่ที่เกี่ยวข้องกับลูกจึงเป็นเรื่องเดียวกันด้วย จะได้สมการดังนี้

รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (ผัสสะ)   =    ความคิด ความจำ ความรู้สึก
คำพูด ภาษา            =   ความคิด ความจำ ความรู้สึก

โลกภายนอก, จักรวาลภายนอก   =    โลกภายใน, จักรวาลภายใน
รูปธรรม             =    นามธรรม
รูป                =    นาม
Mass               =   energy

การรู้ว่ารูปกับนามเป็นสิ่งเดียวกันเช่นนี้ คุณสามารถเรียนรู้โลกภายในของมนุษย์ที่จับต้องไม่ได้โดยผ่านสิ่งที่คุณจับต้องได้ นั่นคือ รูป หรือ มวล เช่น หากคุณต้องการรู้ว่า คน ๆ นี้เขาคิดและรู้สึกอะไร อย่างไร คุณต้องไปดูที่คำพูด และ ภาษาของเขา เหมือนชายหนุ่มที่เป็นโรคจิตที่นั่งรถไปกับดิฉัน หากเขาไม่ยอมพูดอะไรเลยแล้ว ดิฉันจะอ่านสภาวะจิตใจของเขาไม่ได้ว่า จิตใจของเขาอยู่ใกล้ไกลจุดปกติมากแค่ไหน แต่ถ้าเขาได้พูดแล้ว และถ้าพูดมากด้วย ดิฉันจะอ่านความคิด ความจำ ความรู้สึกของเขาได้ดีมากขึ้น เราจึงมักพูดว่า สายตาของมนุษย์เป็นหน้าต่างของจิตใจ จริงมากทีเดียว สายตาคนเป็นเรื่องของรูป mass เราสามารถอ่านความคิด ความรู้สึก ซึ่งเป็นเรื่องนาม energy โดยผ่านสายตาของคนที่เราพูดด้วยว่าเขามีความจริงใจกับเรามากแค่ไหน ฉะนั้น คนที่ไม่พูด หรือ พูดน้อย เราจะอ่านจิตใจของเขาได้ยาก     
 จึงสรุปได้ว่า เราสามารถตัดสินความซับซ้อนของความคิดและความรู้สึก หรือ จิตใจของคนได้โดยการดูที่ภาษาและคำพูดของเขา การคิดค้นทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของความคิดใหม่ ๆ ที่ซับซ้อนนั้นย่อมทำให้คำพูดและภาษามีความซับซ้อนมากขึ้น 

จิตใจไม่ซับซ้อนอยู่หลักนิ้วที่ ๔
เมื่อคุณเห็นวัตถุกลม ๆ  และต้องการสื่อสารบอกใครสักคน คุณก็ค้นหาในกล่องความจำของคุณ  คุณจำได้ว่าสิ่งกลม ๆ นี้เขาเรียกอะไร คุณจึงออกเสียงเรียกสิ่งกลม ๆ นั้นว่า “ลูกบอล” ทันทีที่คุณเรียกสิ่งที่คุณเห็นด้วยการเรียกชื่อเท่านั้น คุณก็ได้เข้ามายืนอยู่ที่หลักนิ้วที่ ๔ ของท่อแห่งความรู้นี้แล้ว
   หลักนิ้วที่ ๔ จะเป็นตัวแทนของกลุ่มบุคคลที่มีจิตใจเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน อาจเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยรับการศึกษาในระบบการศึกษาใด ๆ มาก่อน อาจจะยังเขียนไม่ออก อ่านไม่ได้ เช่น จิตใจของเด็ก ๆ คนอยู่ชนบทที่ทำอาชีพพื้นฐาน เช่น ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร รวมทั้งคนที่อยู่กับป่าเขาลำเนาไพร อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ คนเหล่านี้จิตใจของเขาไม่ซับซ้อน เพราะ ไม่ได้อ่านมาก จึงไม่มีความทรงจำมาก เมื่อรับผัสสะอะไรแล้ว ในหัวจึงไม่มีการปรุงแต่งวิเคราะห์มาก รู้เท่าที่จำเป็นต้องรู้อันเนื่องกับการดำรงอยู่รอดของชีวิตประจำวัน การสื่อสารของเขาจะทำด้วยภาษาที่ง่าย ๆ
   เมื่อลูกชายคนกลางของดิฉันที่ชื่อ เอ็นดู อายุได้สามขวบนั้น วันหนึ่งดิฉันซื้อแปรงสีฟัน ๕ อันเพื่อให้สมาชิกทั้ง ๕ ของครอบครัว เห็นลูกตื่นเต้น ดิฉันจึงหยิบแปรงสีฟันทั้งหมดให้ลูกเิอ็นดูไปเล่นก่อน ลูกชายเอาไปเรียงไว้บนพื้นโดยให้อยู่แนวเดียวกันหมด และแล้ว เธอก็เอานิ้วชี้เล็ก ๆ ชี้ไปที่แปรงสีฟันแต่ละอัน ในขณะที่ชี้นั้น ลูกก็พูดตามไปว่า
 “แปรงสีฟัน แปรงสีฟัน แปรงสีฟัน แปรงสีฟัน แปรงสีฟัน” 
การพูดเช่นนั้นของลูกเอ็นดูเป็นผลจากกล่องความทรงจำที่เล็กนั่นเอง ภาษาของเขาจึงง่าย ๆ ในขณะที่ลูกชายอายุ ๕ ขวบของดิฉัน จะพูดว่า
“แม่ซื้อแปรงสีฟัน ๕ อัน”
ซึ่งเป็นภาษาที่ซับซ้อนมากขึ้น คำว่า ๕ อันนี้จะต้องเกิดจากการคิดและการบวกเลข คุณจะเห็นความแตกต่างระหว่างภาษาของเด็ก ๆ ที่ยังเรียนอนุบาลอยู่ กับเด็กที่เรียนชั้นประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย คุณโตมากขึ้นเท่าไร ภาษาของคุณก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นอันเนื่องจากจิตใจที่ซับซ้อนนั่นเอง คุณจึงสามารถสังเกตความซับซ้อนของจิตใจคนในสังคมได้โดยการดูภาษาของสังคมนั้น หากภาษาซับซ้อนมาก จิตใจของคนก็ซับซ้อนตามไปด้วย 

ใครยืนอยู่ที่ไหน
   ฉะนั้น เราจะมาใช้ระดับการศึกษาและอาชีพของคน ซึ่งเป็นฝ่ายรูป mass  เป็นตัวแปรตัดสินความซับซ้อนของจิตใจคนซึ่งเป็นฝ่ายนาม energy โดยสมมุติกันอย่างคร่าว ๆ ว่า ใครยืนอยู่ที่ไหนในท่อแห่งความรู้นี้ จึงสมมุติว่า
•   หลักนิ้วที่ ๔  แทนคนที่ไม่ได้จบการศึกษาภาคบังคับ
•   หลักนิ้วที่ ๕ แทนคนที่จบการศึกษาภาคบังคับในชั้นมัธยมปลาย
•   หลักนิ้วที่ ๖ แทนคนที่เรียนปริญญาตรีที่เริ่มจับความรู้เฉพาะอย่าง
•   หลักนิ้วที่ ๗ แทนคนเรียนปริญญาโท ที่เน้นความรู้เฉพาะอย่างมากขึ้น
•   หลักนิ้วที่ ๘ แทนคนเรียนปริญญาเอก ที่เน้นความรู้เฉพาะอย่างมากขึ้นไปอีก
•   หลักนิ้วที่ ๙ แทนกลุ่มปัญญาชนผู้เป็นชนชั้นกลางที่ทำงานในตำแหน่งผู้นำไม่ว่าระดับใดระดับหนึ่งที่ต้องใช้ความคิดมาก แม้กลับบ้านแล้ว ควรจะหยุดคิดเรื่องงานและพักผ่อนกับครอบครัวได้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ดี ยังคงคิดติดพันอยู่ เช่น นักการเมือง ครู ผู้บริหาร ผู้พิพากษา ทนาย อัยการ หมอ นักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
•   หลักนิ้วที่ ๑๐ แทนจิตใจของนักคิด นักเขียน นักประพันธ์ ผู้มีอาชีพอยู่บนตัวหนังสือ รวมทั้งจิตใจของอัจฉริยะทั้งหลายที่ต้องคิดมาก  คิดซับซ้อนและคิดลึก นักวิทยาศาสตร์รวมทั้งนักประดิษฐ์คิดค้นทั้งหลายที่มีชื่อเสียงของโลก เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็จัดอยู่ในกลุ่มคนที่ยืนอยู่ ณ หลักนิ้วนี้

ขอให้คุณเข้าใจว่านี่เป็นเพียงการจัดกลุ่มแบบคร่าว ๆ เพียงให้คุณมองเห็นภาพเท่านั้น   
 ชาวนาในประเทศที่เจริญแล้วอย่างยุโรปและอเมริกา สภาวะจิตใจของเขาคงจะไม่ได้อยู่หลักนิ้วที่ ๔ แน่นอน เพราะส่วนมากมักจบปริญญาในสาขาเกษตรกรรม ฉะนั้น จึงจัดอยู่ในระดับ ๗ ถึง ๙ ก็ยังได้ วัยรุ่นที่เีรียนชั้นมัธยมอาจจะสามารถคิดได้ซับซ้อนลึกซึ้งเหมือนระดับอัจฉริยะ ฉะนั้น จึงจัดอยู่ในระดับหลักนิ้วที่ ๑๐ ได้

สาเหตุของการจัดกลุ่ม
    ถึงแม้ได้พูดมาแล้วทุกบท ก็ยังขอเน้นอีกว่าขณะนี้สังคมมนุษย์กำลังหลงทางเป็นอย่างมาก massive misdirection of life ไม่รู้ว่าตนเองต้องการเดินไปทิศทางไหน เหนือ ใต้ ออก ตก กำลังก้าวหน้าหรือถอยหลัง เจริญหรือตกต่ำ รุ่งเรืองหรือใกล้จะล่มจม จึงเกิดความสับสนวุ่นวายในจิตใจของคนหมู่มากจนก่อให้เกิดปัญหาสังคมที่ซับซ้อนและกลับมาสร้างความทุกข์ให้แก่คนมากขึ้นไปอีก สร้างวงจรอันเลวร้ายที่ออกได้ยากยิ่ง   
    นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ว่าทำไมเราจำเป็นต้องรู้จุดคงที่หรือจุดปกติของจักรวาลตามที่ไอน์สไตน์พูดถึง หากไม่มีจุดปกติอย่างแท้จริงใช้เป็นมาตรฐานการวัดแล้ว เราจะไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรที่ไม่ปกติ ถ้าไม่รู้ค่าสมบูรณ์ เราจะไม่รู้ค่าที่ไม่สมบูรณ์ เด็กที่เกิดมาในยุคนี้ที่เห็นแต่ปัญหาวุ่นวายในสังคมและศีลธรรมที่เสื่อมโทรมอยู่เป็นอาจิณ เมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่และไม่เคยเห็นอะไรที่ดีกว่านี้ให้เปรียบเทียบแล้ว เขาจะต้องคิดว่า ความสับสนวุ่นวายและความทุกข์ของสังคมเป็นเรื่องปกติธรรมดาของโลก ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น เพราะสังคมที่ปกติมากกว่านี้เคยมีอยู่ วัฒนธรรมสติปัฏฐานคือ สังคมที่ใกล้เคียงความปกติจริง ๆ 
ฉะนั้น การรู้เรื่องจุดปกติหรือสัจธรรมหรือพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งในบทก่อน ดิฉันก็ได้สมมุติจุด ก และการรับผัสสะอย่างประสบการณ์เอกหรือผัสสะบริสุทธิ์ให้เป็นพรมแดนสุดท้ายหรือจุดปกติของชีวิต  บทนี้จึงเป็นเรื่องต่อเนื่องจากบทที่แล้ว การเห็นกลุ่มบุคคลที่ติดอยู่ในท่อแห่งความรู้ทางโลกเช่นนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพชัดเจนว่าใครอยู่ที่ไหน ณ จุดไหนและห่างไกลจากจุด ก หรือจุดปกติของชีวิตมากแค่ไหน หากต้องการเดินทางกลับสู่สภาวะปกติแล้ว จะต้องเดินไกลแค่ไหน อย่างไร คุณจึงสามารถตัดสินตนเองได้จากการเปรียบเทียบในบทนี้
จึงขอให้เข้าใจว่าการจัดกลุ่มคร่าว ๆ ดังกล่าวข้างต้น เป็นการแยกแยะสภาวะที่ซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ที่ไม่จำกัดแต่ความรู้ทางโลกอย่างเดียว คนที่คิดมาก โดยเฉพาะคิดเรื่องกำไร ขาดทุน เรื่องได้ เรื่องเสีย ก็เป็นตัวแปรที่สามารถวัดสภาวะจิตใจที่ขึ้นลงจากน้อยไปหามาก ก็เปรียบเหมือนการยิ่งมุดลึกเข้าไปในท่อที่มืดมิดนี้เช่นกัน เช่น เมื่อได้เงินมาก ๆ ก็ดีใจอย่างสุดขีด เมื่อต้องสูญเสียเงินทองจำนวนมากด้วยสาเหตุใดก็ตาม จิตใจก็จะตกฮวบอย่างสุดขีดเช่นกันจนบางคนต้องฆ่าตัวตาย  คุณเท่านั้นที่รู้จักจิตใจตนเองดีกว่าคนอื่นว่ามีความยุ่งยากซับซ้อนและทุกข์มากแค่ไหน ฉะนั้นคุณก็สามารถจัดตนเองให้อยู่ในระดับที่คุณคิดว่าเหมาะสมได้
ขอให้เข้าใจอีกด้วยว่า กลุ่มคนที่อยู่ตั้งแต่หลักนิ้วที่ ๔ ถึง ๑๐ นี้ เหมือนกับข้อเปรียบเทียบของเส้นหนังยางที่บิด ๔ รอบถึง ๑๐ รอบในบทที่สามที่ดิฉันพูดเรื่องจิตใจปกติ กลุ่มคนเหล่านี้คือ ผู้ยังไม่รู้เรื่องพรมแดนสุดท้ายของชีวิต ไม่รู้เป้าหมายของชีวิตในแง่ที่ต้องหาจุดปกติว่ามันคืออะไร ต้องไปถึงได้อย่างไร เป้าหมายชีวิตของคนเหล่านี้จึงถูกตัดทอนลงเหลือเรื่องการแสวงหาความรู้ทางโลกให้มากที่สุด เพื่อใช้ความรู้นั้นเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความสำเร็จให้แก่ชีวิตในเรื่องการงาน การเงิน เกียรติยศ ชื่อเสียง และอำนาจ ซึ่งเปรียบเหมือนการเดินลึกเข้าไปในท่อแห่งความรู้นี้ อันมีทางตันเป็นที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ เพราะคนหมู่มากเห็นและทำเหมือนกันหมด ยกเว้นคนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งของสังคมที่ทำต่างออกไป เพราะรู้ว่าค่านิยมเหล่านั้นไม่ปกติ จึงต้องการแสวงหาความปกติที่แท้จริง อันเป็นเนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้ 

การเลี้ยวกลับ
   ทีนี้ลองหันกลับมาดูที่หลักของสามนิ้วแรกว่ามันเป็นตัวแืทนของคนกลุ่มไหน ในท่ามกลางคนจำนวนมากมายที่ติดอยู่ในท่อแห่งความรู้นี้ จะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งไม่จำกัดว่าเป็นเพศหญิงหรือชาย หนุ่มสาวหรือแก่เฒ่า ฉลาดหรือไม่ค่อยฉลาด รวยหรือจน มีสถานะสูงส่งหรือต่ำต้อย มีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ ไม่เป็นปัญหาเลย กลุ่มคนเหล่านี้ แทนที่ต้องการเดินลึกเข้าไปในท่อแห่งความรู้เหมือนคนหมู่มากของสังคม เขากลับไม่ทำเช่นนั้น
สาเหตุเป็นเพราะนี่เป็นกลุ่มคนที่ได้เรียนรู้จากการอ่านหนังสือของคนรู้จริง เช่น พระพุทธเจ้า และสาวกผู้รู้ตามของท่านอย่างแท้จริง จึงตระหนักชัดว่า การไขว่คว้าหาความสำเร็จทางโลกนั้นมิใช่หนทางที่จะช่วยให้ดับทุกข์และเป็นสุขมากขึ้น กลับจะพบทางตันของชีวิตต่างหาก เมื่อรู้แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่ยอมเดินลึกเข้าไปในท่อแห่งความรู้นี้ จึงเลี้ยวกลับเพื่อต้องการเดินทางออกจากท่อแห่งความมืดมนนี้และกลับออกมาที่จุด ก อันเป็นพรมแดนสุดท้ายหรือจุดปกติของชีวิตตามที่ผู้รู้จริงได้แนะนำไว้
    ฉะนั้น จากการศึกษาหาความรู้จากผู้รู้จริงในเรื่องชีวิต โลก และจักรวาล การศึกษาในแนวทางของศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อเดินทางไปสู่เป้าหมายปลายทางของชีวิตจึงเกิด  คนที่สามารถวกกลับมายืนอยู่ที่หลักนิ้วที่ ๓ คือ กลุ่มบุคคลที่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ที่ดิฉันได้แนะนำไว้ในคู่มือชีวิตภาคศีลธรรมและกฎแห่งกรรม นั่นคือ
๑.   พยายามรักษาศีล ๕ อย่างดีที่สุด
๒.   ฝึกหัดการให้และเสียสละในทุกรูปแบบ
๓.   ทำตัวเรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก
๔.   ไม่กลัวตาย
๕.   เชื่อกฎแห่งกรรม และ การเวียนว่ายตายเกิด   
 
ใครทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ไม่ว่าก่อนหน้านั้นจะยืนอยู่ที่หลักนิ้วที่ไหนก็ตาม ล้วนสามารถเดินวกกลับมาถึงหลักนิ้วที่ ๓ แล้วทั้งสิ้น หากเปรียบเทียบกับการบิดของเส้นหนังยาง จากที่เคยบิด ๔ รอบหรือมากกว่านั้น หนังยางก็ถูกบิดกลับเหลือการบิดเพียง ๓ รอบเท่านั้น ทุกคนที่ได้อ่านเรื่องนี้จึงสามารถตัดสินตนเองได้ว่าจะต้องเดินทางไกลแค่ไหนเพียงใดเพื่อกลับมาสู่หลักนิ้วที่ ๓ นี้   

หลักนิ้วที่ ๒ ต้องฝึกวิปัสสนา
การเดินทางต่อไปยังหลักนิ้วที่ ๒ หรือคลายเส้นหนังยางให้เหลือเพียง ๒ บิดนั้น ผู้เดินทางจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการฝึกสติปัฏฐานสี่หรือการพาตัวใจกลับบ้าน โดยเริ่มต้นที่เครื่องมือพื้นฐานของชีวิตก่อน  ต้องยอมรับว่ามนุษย์มีอายตนะที่ ๖ หรือ ตาใจเท่าเทียมกันหมด และรู้จักใช้เครื่องมือพื้นฐานหรือตาใจมองจุดกำหนดต่าง ๆ ที่ครูบาอาจารย์ทางวิปัสสนาได้สอนไว้ เช่น ใช้ตาใจดูลมหายใจ ดูการเคลื่อนไหวของกายซึ่งเปรียบเหมือนการพาตัวใจกลับบ้านที่หนึ่ง และการใช้ตาใจดูความรู้สึกของกาย เช่น เย็น อุ่น ร้อน อ่อน แข็ง นุ่ม เจ็บ ระบม เป็นต้น ซึ่งเป็นการพาตัวใจกลับบ้านที่สอง ใครที่สามารถทำได้เช่นนี้ในชีวิตประจำวันก็เท่ากับกำลังเดินทางจากหลักนิ้วที่ ๓ มาสู่หลักนิ้วที่ ๒ แล้ว จิตใจของคนเหล่านี้จะมีความคิดที่เป็นขยะน้อยลง ความคิดฟุ้งซ่านจะมีน้อยลง ความทุกข์ในใจก็จะน้อยตามไปด้วย จะสามารถมีสติอยู่กับงานที่ตนเองกำลังทำอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ถ้าใช้ข้อเปรียบเทียบของการขับรถไฟชีวิตที่จะพูดถึงในบทต่อไปแล้ว ก็หมายความว่า การเดินจากหลักนิ้วที่สามไปสู่หลักนิ้วที่สองเป็นขั้นตอนที่คนขับรถไฟขบวนชีวิต พยายามจะขับรถไฟของตนให้ได้ระดับเดียวกับรถไฟขบวนแรก หรือ ขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ จะเรียกว่า รถไฟขบวนสงบสุขก็ได้ ผลที่ได้คือ คนที่เดินทางอยู่ในขั้นตอนนี้ จิตใจจะสงบมากขึ้น อันเป็นผลจากการฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านนั่นเอง

 เริ่มเรียนรู้โลกภายในของตนเอง
   หลังจากที่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนารู้จักใช้ตาใจของตนเอง ซึ่งเป็นระหว่างการเดินทางจากหลักนิ้วที่สามเพื่อมุ่งสู่หน้าประตูของท่อที่มืดมนและกลับสู่บ้านเดิมที่จุด ก นั้น การเรียนรู้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในจิตใจของตนเองจึงเกิดขึ้นอย่างมโหฬาร และเป็นวิธีการเรียนรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะมีการใช้อายตนะพื้นฐานคือ ตาใจ เป็นผู้ดู หรือ ผู้สังเกตการณ์เหมือนการใช้ตาเนื้อดูปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของโลกภายนอก ซึ่งคนอยู่หลักนิ้วที่ ๔ ถึง ๑๐ จะใช้ตาใจไม่เป็น แม้มีอยู่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ตาใจจึงเหมือนถูกปิดไว้

ผู้ใช้ตาใจเป็นจึงเริ่มรู้จักปรากฏการณ์ในส่วนที่ไม่มีรูปร่าง (นาม) อันคือ ความคิด (สังขาร) ความจำ (สัญญา) และ ความรู้สึก (เวทนา) ซึ่งดิฉันได้รวบให้มันเป็นคำเดียวคือ จิต หรือ เจอรี่

ความคิด ความจำ ความรู้สึก   =   จิต      =   เจอรี่ = ผ้าปิดตาใจ
ความรู้สึกตัว (วิญญาณขันธ์)   =     ตัวใจ  หรือ ตาใจ   =   ทอม

สภาวะจิตใจ
ก่อนหน้าการเรียนรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์เช่นนี้ ทุกคนจะใช้ตาใจมองโลกภายนอกโดยผ่านกรอบของความคิดและความรู้สึกของตนเองหรือจิตซึ่งเหมือนผ้าปิดตาใจ ดังในรูป

ใจจิต--- กาย --- เห็นโลกภายนอกตามกรอบความคิดของตน = มองอย่างคนตาบอด 

การมองโลกโดยผ่านความคิดเช่นนี้จึงเปรียบเหมือนการเดินไปสู่ทางตันของอุโมงค์ที่มืดมิดนี้ คนที่ไม่เคยฝึกวิปัสสนา เขาจะไม่มีทางเลือกอื่นในการมองโลกภายนอก คือ ไม่สามารถที่จะไม่มองโลกโดยผ่านความคิด จำเป็นต้องมองโลกภายนอกโดยผ่านความคิดเพียงถ่ายเดียว เพราะ จิตกับใจเหมือนเป็นแม่เหล็กต่างขั้วที่ดูดเข้าหากัน สภาวะของจิตกับใจจึงติดกันเหมือนเป็นสภาวะเดียวเท่านั้น การเขียนคำว่า “จิตใจ” ติดกันในภาษาไทยเราจึงเป็นผลของสภาวะ “จิตใจ” อย่างแท้จริง แต่อย่างน้อยภาษาไทยเรายังใช้สองคำมาควบติดกัน จึงพอรู้บ้างว่า มันเป็นคนละธาตุ คนละขันธ์กัน แต่ปัญญาชนฝรั่งจะดูไม่ออกเลย เพราะเขาใช้คำว่า mind เพียงคำเดียว และยังมีคำอย่างเช่น consciousness, soul ซึ่งถ้าไม่มีการแยกแยะอย่างเป็นระบบตามที่พระพุทธเจ้าแยกในเรื่อง ขันธ์ ๕ แล้วละก็ การเรียนรู้เรื่องจิตใจอันเป็นธรรมชาติฝ่ายนามอย่างถูกต้องจะไม่เกิด นี่จึงเป็นเหตุผลใหญ่ที่นักการศึกษาฝ่ายตะวันตกจำเป็นต้องกวาดเรื่องจิตใจให้ไปรวมกับรูปที่สมอง เขาจึงเริ่มศึกษาจิตใจได้ แต่จะได้ความรู้ที่ถูกต้องหรือไม่นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

วิปัสสนาเหมือนการคว้านก้อนมะเร็ง
เมื่อมีการฝึกวิปัสสนาแล้ว จิตกับใจของผู้ปฏิบัติจะเริ่มหลุดร่อนออกจากกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนของการเดินตามผู้รู้จริงอย่างพระพุทธเจ้าที่สอนเรื่องการหลุดพ้นจากความทุกข์ การดับทุกข์ที่แท้จริงก็คือ การพยายามทำให้จิตกับใจหลุดและพ้นออกจากกัน เพราะจิตคือตัวที่แบกทุกข์ จิตคือตัวที่เป็นแผล ตัวเจ็บป่วย หรือ ตัวผิดปกติ จึงต้องคว้านเอาส่วนที่เป็นปัญหาออกไปเหมือนหมอผ่าตัดคว้านเอาเนื้อร้ายที่เป็นมะเร็งออกจากร่างกาย การฝึกวิปัสสนาจึงเหมือนการทำลายพลังสนามแม่เหล็กที่มีอยู่ระหว่างจิตกับใจ  เป็นการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง

ก่อนฝึกวิปัสสนา ร่างกายจิตใจหรือขันธ์ ๕ ของมนุษย์เป็นเช่นนี้

ตัวใจจิต   ---------    ตัวกาย ---------   ผัสสะไม่บริสุทธิ์, ชีวิตไม่ปกติ

   เมื่อมีการฝึกวิปัสสนา จิตกับใจจะเริ่มหลุดร่อนออกจากกัน  เมื่อมีสติพาตัวใจกลับบ้านได้ จิตกับใจก็หลุดออกจากกัน แต่เมื่อตัวใจไม่อยู่ติดบ้าน ไปติดความคิด จิตกับใจก็ดูดเข้าหากันอีก จึงอยู่คาบเกี่ยวกันระหว่างผัสสะบริสุทธิ์กับไม่บริสุทธิ์ จึงใช้ชีวิตที่ปกติบ้างหรือไม่ปกติบ้าง

ตัวใจ <----- จิต ---  ตัวกาย ----   ผัสสะ (ไม่) บริสุทธิ์, ชีวิต(ไม่) ปกติ

อยู่อย่าง ๕ ขันธ์ก็ได้ อยู่อย่าง ๒ ขันธ์ก็ได้
ผู้หลุดพ้นจากความทุกข์แล้วเช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก จิตกับใจจะหลุดร่อนออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดแล้วละก็  ขันธ์ ๕ จะเหลือเพียง ๒ ขันธ์ คือ กาย (รูปขันธ์) กับ ใจ หรือ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (วิญาณขันธ์)  ขอให้เข้าใจว่า ความคิด (สังขารขันธ์) ความจำ (สัญญาขันธ์) ความรู้สึก (เวทนาขันธ์)  มีธรรมชาติของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หายไปเหมือนการเกิดของรุ้งกินน้ำ พยับแดด กับภาพเหมือนในกระจก ปัจจัยมี มันก็เกิด ปัจจัยเปลี่ยนมันก็หายไป ผู้หลุดพ้นแล้วจึงมีปัจจัยที่สามารถทำให้ ๓ ขันธ์นี้หายไปได้เหมือนการหายของรุ้งกินน้ำโดยการรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้ความคิด ก็เข้าสู่โลกที่บริสุทธิ์หรือโลกนิพพานทำให้ ๓ ขันธ์นั้นร่องหนไปก่อน จึงเหลือเพียง ๒ ขันธ์เช่นนี้

ตัวใจ  ---- ตัวกาย ---    ผัสสะบริสุทธิ์,  ใช้ชีวิตที่ปกติธรรมดา, ถึงนิพพาน

แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ความคิด เช่น ต้องสื่อสารเพราะยังอยู่ร่วมกับสังคม ต้องสอนให้คนพ้นทุกข์ ต้องเขียนหนังสือ ก็สามารถสร้างปัจจัยเพื่อเรียก ๓ ขันธ์นั้นกลับคืนมาได้ ใช้เสร็จก็สร้างปัจจัยให้มันร่องหนหายไปอีก ผู้หมดปัญหาชีวิตจึงสามารถใช้ความคิดอย่างเป็นอิสระ เป็นการใช้ความคิดอย่างไม่มีพลังสนามแม่เหล็กเหลืออีกแล้ว เพราะได้ถูกทำลายหมดแล้ว สามารถรับผัสสะบริสุทธิ์ได้แม้ใช้ความคิดอยู่ จะใช้ความคิดก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ เหมือนทอมเอาหนูเจอรี่มาใช้งาน เมื่อใช้งานเสร็จ ก็ปล่อยหนูเจอรี่ออกจากบ้านไปอย่างว่าง่าย บ้านของใจจึงว่างจากความคิดได้ง่าย ๆ  หรือ จะเปรียบเทียบว่า ตัวใจออกจากบ้านไปทำธุระ เสร็จธุระแล้วก็พาตัวใจกลับบ้าน กลับมาเป็นตัวของตัวเอง กลับเข้าบ้านนิพพานอีก จึงได้รูปเช่นนี้

ตัวใจ -- จิต -- ตัวกาย ---  ผัสสะบริสุทธิ์, ยังคงใช้ชีวิตที่ปกติธรรมดา, ถึงนิพพาน

เริ่มรู้จักการถูกครอบงำ
ผลจากการฝึกทักษะเรื่องพาตัวใจกลับบ้านนี้เอง ผู้เดินทางจะเริ่มเห็นพลังของจิตหรือเจอรี่ว่ามันมีมากมายมหาศาลเพียงใดในแง่ที่เป็นนายเหนือตัวใจหรือแมวทอม ผู้ปฏิบัติจะเห็นสภาวะมืดมิดหรือหมดอิสรภาพเมื่อ “ตัวใจ” ถูก “จิต” ครอบงำ เหมือนเอาแว่นตาดำติดกาวหนา ใส่แล้วดึงไม่ออกทั้ง ๆ ที่รู้สึกรำคาญสายตามาก อยากเอาเจ้าแว่นตาดำออกเสีย จะได้เห็นอะไรชัด ๆ ตามสีที่มันเป็นจริงสักหน่อย ก็ทำไม่ได้  จิตที่ครอบงำใจยังสามารถเปรียบเหมือนแมวทอมถูกหนูเจอรี่ที่ถือฆ้อนใหญ่ ๆ มาทุบตีเอา ทอมที่อ่อนแอจึงเป็นทาสรับใช้ของเจอรี่ที่แข็งแรงกว่าไปทั้งชาติ ผู้ฝึกจะเห็นได้ชัดว่า เจอรี่สามารถสั่งงานแมวทอมเหมือนตัวเองเป็นเจ้าของบ้านใจเรา ซึ่งที่จริง ไม่ควรเป็นเช่นนั้นถ้ารู้จักวิธีให้อาหารชีวจิตและวิตามินแก่แมวทอม  เมื่อทอมแข็งแรงมากกว่าหนูอันธพาลเจอรี่แล้ว เจอรี่จะถอยทัพเอง่

จิตมีธรรมชาติเป็นมายา
 อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เดินทางหรือผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจะเริ่มมองออกคือ รู้ว่าความคิดและความรู้สึกของมนุษย์มีลักษณะเป็นมายา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ หายไป เหมือนการเกิดขึ้นของรุ้งกินน้ำ พยับแดด และภาพเหมือนในกระจก เหตุผลที่เจอรี่สามารถบังคับให้แมวทอมผู้เป็นเจ้าของบ้านใจนี้ทำในสิ่งที่ตนเองสั่งโดยเฉพาะเรื่องตามใจกิเลส เป็นเพราะเจอรี่มีความสามารถในการหลอกลวงแมวทอมนั่นเอง เพราะถูกหลอกจึงยอมทำตาม
ทุกครั้งที่เจอรี่หลอกและสั่งงานแมวทอมได้สำเร็จ จิตกับใจจะถูกดูดติดกันเสมอ เพราะมีการคิด จึงเกิดผลเป็นคำพูดและการกระทำทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว แต่เจอรี่อันธพาลมักครอบงำตัวใจของมนุษย์มากกว่าเจอรี่ที่เป็นมิตร เพราะปัญหาสังคมล้วนเป็นผลของความคิดฝ่ายดำหรือเจอรี่อันธพาลที่เกิดในใจก่อน จึงเกิดการกระทำที่สร้างความทุกข์ให้คนหมู่มากได้เช่นนี้

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เดินทางกลับบ้านเดิมไม่สามารถเข้าใจได้ก่อนการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ แต่เมื่อใช้ตาใจเป็น จึงเห็นหมด จึงเข้าใจได้ถูกต้องว่า คนหมู่มากของสังคมล้วนถูกความคิดของตนเองหลอกลวงเอาและสูญเสียอิสรภาพทางจิตใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งสิ้น จึงเข้าใจตัวเอง เริ่มเห็นตัวจริงของตนเอง เริ่มเข้าใจปัญหาสังคม เข้าใจโลก เข้าใจจักรวาลที่เราอยู่

เดินไปสู่ทางออก
    เมื่อตระหนักชัดถึงผลเสียของสิ่้งที่จิตหรือเจอรี่สามารถทำกับตนเอง (ตัวใจ) แล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะมุ่งมั่นพาตัวใจกลับบ้านเสมอ ซึ่งเป็นการต่อสู้กับศัตรูในสนามรบที่ถูกต้อง fighting in the right battlefield เมื่อมีการต่อสู้ห้ำหั่นกับศัตรูหรือเจอรี่ในบ้านของใจแล้ว การเดินทางไปข้างหน้าย่อมเกิด ตราบใดที่มีการฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านอย่างสม่ำเสมอ ทำด้วยความอดทน ไม่ท้อถอยแล้ว ความก้าวหน้าของการปฏิบัติจะเกิดเองอย่างเป็นธรรมชาติโดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่รู้ เพราะยังมีความทุกข์อยู่ 
   ผู้ปฏิบัติจะเริ่มเห็นการก่อตัวของความคิดได้ชัดเจนขึ้น สามารถหยุดความคิดไม่ให้หลอกหลอนตนเองได้เร็วขึ้น  การควบคุมจิตใจตนเองจึงทำได้ดีขึ้น ตอนไหนที่ทำไม่ได้ก็จะเป็นทุกข์
    การเข้าสนามรบห้ำหั่นกับกองทัพของหนูเจอรี่ก็จะเป็นไปเช่นนี้นานนับปี เจอรี่จะเริ่มอ่อนกำลังลง  เจอรี่ซึ่งเคยเป็นคนบงการให้ทอมทำงานรับใช้ตนอย่างหัวปักหัวปำนั้นกลับกลายเป็นสิ่งตรงกันข้ามเสียแล้ว ทอมกลับมาเป็นผู้ใช้งานเจอรี่แืทน ทำให้ผู้เดินทางมีจิตใจมั่นคง  มีความสุข สงบ มากขึ้น จิตใจไม่ขึ้นลงมากเหมือนที่เคยเป็น เริ่มรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง สามารถกอบกู้ “ตัวจริง ๆ ของเรา” หรือ “ความเป็นปกติ” ของชีวิต กลับคืนมา เริ่มมีความหวังต่อชีวิตมากขึ้น     

รายละเอียดของหลักนิ้วที่ ๑
   เมื่อมีการพาตัวใจกลับบ้านอย่างสม่ำเสมอนานนับปี  ผู้เดินทางก็จะค่อย ๆ เดินทางมาถึงช่วงแรกของหลักนิ้วที่ ๑ ถึงตอนนี้ ตาใจของนักปฏิบัติจะมีความคมชัดมากขึ้นจนสามารถเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดในโลกภายในได้อย่างชัดเจน  จะเห็นการก่อตัวของความเป็นมายาของความคิดได้ชัดมากขึ้น และสามารถทำลายภาพมายาของความคิดได้อย่างทันท่วงที การทำศึกสงครามกับกองทัพของเจอรี่ก็ยังมีอยู่ แต่อยู่ในลักษณะที่ได้เปรียบเจอรี่แล้ว
   เพราะเห็นพิษสงและฤทธิ์เดชของเจอรี่ ผู้ปฏิบัติจะมีความรู้สึกว่าอยากจะเอาชนะกองทัพของเจอรี่ให้รู้แล้วรู้รอดไปเสียที จะได้ยุติสงครามภายในสักที ถึงจุดหนึ่ง ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานสี่จะมีความรู้สึกว่าอยากหลุดพ้นให้หมดเรื่องหมดราว จะได้หมดทุกข์กันเสียที เพราะเบื่อการต่อสู้เต็มทีแล้ว อยากเป็นฝ่ายชนะสงครามภายในให้รู้แล้วรู้รอด
   การปฏิบัติที่ถูกทางในพระพุทธศาสนา ย่อมประกอบด้วย การมี มรรค ผล นิพพาน ผู้ปฏิบัติถึงจุดนี้จะมีทั้งมรรคและผล มรรคคือการเฝ้าดูความคิด การพาตัวใจกลับบ้าน ผลคือ ความรู้สึกที่สุข สงบ เพราะการคลายตัวของความคิดเมื่อตัวใจอยู่ติดบ้านหรือฐานของสติเช่นลมหายใจ การเคลื่อนไหวของกาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติยังรู้สึกขาดแคลนอยู่คือ พระนิพพาน ยังไม่รู้ว่าพระนิพพานคืออะไร อยู่ที่ไหน
   ประสบการณ์ภายในเหล่านี้คือ สิ่งที่อาจจะเกิดกับบุคคลที่ปฏิบัติสติปัฎฐานสี่และเดินทางมาถึงช่วงแรกของหลักนิ้วที่ ๑

เริ่มเดินลงเขา
   การเดินทางในช่วงหลังของหลักนิ้วที่ ๑ นี้จะเป็นการเดินลงเขาแล้ว หลังจากที่ได้ต่อสู้กับกองทัพหนูมานานหลายปีนั้น เจอรี่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้แล้ว ทอมได้กลายเป็นแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ ทำให้กองทัพหนูพ่ายแพ้อย่างยับเยิน หนูเจอรี่เริ่มวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนทันทีที่เห็นทอม นี่เป็นช่วงเวลาที่การปฏิบัติจะเป็นอัตโนมัติ สติของผู้ปฏิบัติจะไวมาก สามารถเห็นการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปของความคิดได้เสมอ สามารถดีดความคิดออกจากใจโดยไม่ต้องต่อสู้มากนัก เปรียบเหมือนแมวทอมนั่งอยู่ที่มุมห้อง เมื่อเห็นเจอรี่วิ่งเข้ามาในบ้านคราใด ก็ไม่ต้องลุกขึ้นวิ่งให้เหนื่อยเพื่อไปตะปบเจอรี่เหมือนที่ต้องทำในอดีตแล้ว บัดนี้ มีความสามารถใหม่ ๆ คือ สามารถยืดเท้าไปตะปบเจอรี่อย่างง่ายดายทั้ง ๆ ที่ยังนั่งเกยคางนอนอยู่มุมห้องอย่างผ่อนคลาย ผู้ปฏิบัติจะมีสติอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในยามตื่น ตัวใจจะมีสติเฝ้าดูการทำงานของความคิดตลอดเวลา และจะสามารถแยกแยะออกว่า ความคิดไหนควรใช้มันและความคิดไหนไม่ควรเสียเวลากับมันเลย
   การเดินทางในช่วงหลังนี้จึงเหมือนกับไม่มีอะไรต้องทำมากแล้ว เพราะได้ทำทุกอย่างที่ต้องทำ คือ มีสติอยู่กับฐานเสมอ ฉะนั้น จึงเหลือแต่การนั่งคอยวันที่จะออกจากท่อแห่งความมืดมนนี้อย่างถาวรเท่านั้น แต่เป็นการคอยแบบไม่ต้องคอย ใครที่ทำได้เช่นนี้ ก็เท่ากับได้มายืนอยู่ที่ส่วนหลังสุดของหลักนิ้วที่ ๑ แล้ว กำลังจะรอออกประตูหน้าเพื่อกลับมายืนอยู่ที่จุด ก อันเป็นพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลอย่างถาวรเท่านั้น

  “ยูริก้า!”
   ในที่สุด เวลาของการรอคอยก็จะมาถึง เมื่อมีการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ แม้จะเชื่องช้าเพียงใด ไม่เป็นไร  การถึงจุดหมายปลายทางย่อมเกิดเองอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ตะวันย่อมเคลื่อนจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจะมีขณะหนึ่งของชีวิตที่คาดไม่ถึง จู่ ๆ ตัวใจของผู้เดินทางจะหลุดและพ้นจากจิตอย่างสิ้นเชิง เห็นตนเองถูกดีดกลับออกมายืนที่จุด ก อันเป็นพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลอย่างทันทีทันใด จึงสามารถเห็นทุ่งโล่งที่กว้างใหญ่ไพศาล เห็นท้องฟ้าที่ถูกปูด้วยพรมปักด้วยกลุ่มดาวระยิบระยับ จึงรู้ทันทีว่าโลกใหม่ที่เห็นนี้แตกต่างจากโลกเก่าที่เพิ่งละจากมาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย โลกเก่ามืดมิดด้วยอวิชชา โลกใหม่สว่างจ้าเฉิดฉายด้วยแสงแห่งปัญญา   
จากการอ่านประสบการณ์ของผู้มีประสบการณ์เช่นนี้ ทุกคนจะมีปฏิกิริยาที่เหมือนกัน คือ ไม่เชื่อว่าในจักรวาลจะมีสภาวะนี้อยู่ จึงล้วนร้องออกมาอย่างงงงันเหมือนอาร์คีมีดีสร้องว่า “ยูริก้า” หรือ “ฉันรู้แล้ว” คือ รู้ว่า
๑.   สภาวะนี้คือ สัจธรรมอันสูงสุดที่ไม่มีอะไรไปเหนือได้อีกแล้ว 
๒.   ตัวใจได้เดินทางมาถึงพรมแดนสุดท้ายของชีวิตแล้ว ได้พบตัวจริง ๆ ของตนเองที่มีแต่ความเป็นปกติธรรมดา ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แปลกประหลาด พิสดารเหมือนที่เคยคิดไว้ จึงรู้ว่า คนอื่นคาดการณ์สภาวะนี้ไว้ผิดหมดด้วยความที่ยังไม่ได้เดินทางถึงพรมแดนสุดท้ายของชีิวิตด้วยตนเอง เหมือนคนที่มีเล็บติดเนื้ออยู่ตลอดชีวิต จะไม่มีวันรู้จักสภาวะของเล็บที่อยู่แยกจากเนื้อ เหมือนคนที่ไม่เคยไปภูกระดึง จะไม่สามารถบรรยายความสวยงามของภูกระดึงได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
๓.   ตนเองได้กลายเป็นผู้รู้ตามพระบรมศาสดาแล้ว

ต้องให้ปริญญาตัวเอง
สัจธรรมอันสูงสุดจะต้องเป็นความรู้ที่เด็ดขาดและเบ็ดเสร็จอยู่ในตัว เป็นสภาวะที่มีคำตอบอยู่ในตัวมันเอง จึงเป็นสัจธรรมสูงสุดได้  เพราะ เจ้าของความรู้นี้จะถามคนอื่นไม่ได้แล้วว่าความรู้นี้ใช่สัจธรรมหรือไม่ ไม่มีคนให้ถามแล้วนอกจากพระบรมศาสดาซึ่งท่านก็ไม่ได้อยู่ให้ถามได้ สิ่งที่เหลือให้ถามคือ ตัวสัจธรรมเอง ความรู้ในระดับยูริก้านี้จึงต้องมีความเด็ดขาดและให้คำตอบในตัวมันเองได้  จึงเป็นความรู้ที่ผู้เข้าถึงแล้วต้องออกใบปริญญาให้ตนเอง ต้องสามารถรับประกันตัวเองได้ ไม่มีทางอื่น ใครที่เห็นจริงก็จะรู้จริงจากสภาวะที่ตนเห็นอยู่ ใครที่ยังไม่เห็นก็ไม่มีคำตอบจากสภาวะที่เด็ดขาด จึงยังรู้ไม่จริงแม้จะมีความรู้เรื่องอื่น ๆ มากมายก็ตาม   
    คนที่สามารถเดินทางมายืนอยู่ที่จุด ก ได้อย่างถาวรนี้ จำเป็นต้องรู้ข้อมูลที่สำคัญอันยิ่งยวดเหล่านี้   จึงจะสามารถเป็นผู้นำทางให้แก่คนเดินทางที่หลงทิศชีวิตทั้งหลายได้ เพื่อพาพวกเขากลับบ้านเดิม หรือ พาคนที่ติดอยู่ในอุโมงค์อันมืดมิดออกมาสู่ทุ่งโล่งที่มีแสงสว่างอันเจิดจ้าของปัญญา   

ทำไมอัจฉริยบุคคลจึงชอบงานเรียบง่าย
   หลายปีก่อน ดิฉันได้มีโอกาสดูสรรคดีเรื่องหนึ่ง เป็นการติดตามชีวิตของชายสามสี่คน ทุกคนล้วนจัดอยู่ในกลุ่มที่มีไอคิวระดับสูงมากในวัยเด็ก จึงล้วนมีความสามารถพิเศษไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในขณะที่สังคมคิดว่าเด็ก ๆ ที่ชาญฉลาดในระดับอัจฉริยะเหล่านี้จะเติบโตขึ้นมาและมีงานที่อยู่แวดวงของปัญญาชนในสถาบันการศึกษาที่สูงส่งนั้น ข้อเท็จจริงกลับกลายเป็นว่า คนฉลาดมากเหล่านี้กลับมายึดอาชีพของช่างไม้บ้าง ช่างซ่อมท่อประปาบ้าง เป็นชาวนาที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในชนบทบ้าง หรือเป็นพ่อครัวทำอาหารบ้าง
   ที่จริงแล้ว นี่มิใช่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดเลย ข้อเปรียบเทียบของท่อความคิดอันเป็นภูมิปัญญาฝ่ายโลกนี้  จะสามารถอธิบายถึงสาเหตุที่ว่าทำไมคนในระดับอัจฉริยะเหล่านี้จึงเลือกที่จะทำงานเรียบง่ายที่สังคมมักจะให้คุณค่าว่าเป็นงานต่ำ เพราะคนที่มีไอคิวสูงเหล่านี้รู้ข้อเท็จจริงว่า เมื่อประตูแห่งความรู้หนึ่งเปิดออกนั้น มันเพียงเปิดให้เราก้าวไปสู่อีกประตูหนึ่งที่อยู่ถัดไปเท่านั้นเอง และก็เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่เป็นเรื่องการขบคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการของสมองแล้วไซร้ การแก้ปัญหาที่แท้จริงจะไม่เกิด ไอน์สไตน์พูดเองว่า
   “เราต้องไม่บูชาภูมิปัญญาฝ่ายโลกเหมือนมันเป็นพระเจ้า เพราะมันเหมือนกล้ามเนื้อที่แข็งแรง แต่ขาดบุคลิกที่ดี”

   คนที่มีไอคิวยิ่งสูงจนถึงระดับอัจฉริยะนั้นจึงเปรียบเหมือนเขาได้เดินเข้าไปถึงสุดท่อของความคิดและเห็นกำแพงก่อนคนอื่น  เมื่อได้พบทางตันของความคิดแล้ว ย่อมเป็นธรรมชาติอยู่เองที่จะต้องเดินเลี้ยวกลับมาตามท่อเพื่อออกมายืน ณ จุด ก อีก จึงเลือกใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ต้องคิดซับซ้อนมาก ซึ่งมีความเอร็ดอร่อยมากกว่าการใช้พลังอำนาจของสมอง ไอน์สไตน์เป็นคนพูดเองว่า
“ถ้าผมสามารถเลือกใช้ชีวิตได้อีก คราวนี้ผมจะเลือกเป็นนายช่างซ่อมท่อประปา”
“โต๊ะหนึ่งตัว เก้าอี้หนึ่งตัว ผลไม้หนึ่งถาด และไวโอลินหนึ่งตัว จะมีอะไรอีกเล่าที่จะสามารถทำให้ชายคนหนึ่งมีความสุขมากกว่านี้”
    คนที่เป็นอัจฉริยะเท่านั้นจึงจะเข้าใจผู้ที่เป็นอัจฉริยะด้วยกันได้  It takes a genius to understand a genius. นี่แหละคือ เหตุผลที่ว่าทำไม คนที่มีไอคิวสูงมากเหล่านี้จึงกลับมายึดอาชีพธรรมดา ๆ ที่ไม่มีอะไรตื่นเต้นเช่นนั้น

 สรุป
คุณคงเห็นแล้วว่า หากไม่มีความรู้ในขั้นแตกหักที่บอกชัดเจนว่านี่คือ พรมแดนสุดท้าย   หรือ สัจธรรมอันสูงสุด แล้ว การนำทางที่ถูกต้องย่อมไม่มี การเดินทางเพื่อให้ถึงเป้าหมายปลายทางของชีวิตที่แท้จริงย่อมไม่เกิด ความรู้ทุกอย่างจะเป็นการรู้อย่างสัมพัทธ์เป็นความรู้ที่เดินกลับไปมาอยู่ในอุโมงค์เท่านั้น ไม่มีการรู้อะไรที่จริงแท้เลย 
แล้วคุณล่ะ พร้อมที่จะเดินวกกลับออกจากท่อความคิดอันตีบตันเพื่อค้นหาความปกติของชีวิตด้วยตนเองแล้วหรือยัง

http://img521.imageshack.us/img521/5573/eskimobkk112ql9.swf
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13256


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: พฤศจิกายน 17, 2007, 10:56:31 AM »

บทที่หก
ที่นี่ เดี๋ยวนี้
Here and Now
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
   ในห้าบทแรก ดิฉันได้พยายามบอกคุณว่า จุดคงที่ของจักรวาลหรือสัจธรรมอันสูงสุดในธรรมชาตินั้นมีอยู่อย่างแน่นอน ในบทนี้ ดิฉันจะโยงสัจธรรมอันสูงสุดให้เข้าหาเรื่องเวลาเพื่อให้คุณเห็นอย่างชัดเจนว่า การที่ใครสักคนหนึ่งต้องการเข้าถึงสัจธรรมนั้นจะต้องทำอะไร อย่างไร ซึ่งเป็นมุมมองที่ดิฉันสามารถอธิบายอุดมคติที่สูงสุดของศาสนาเช่น พระนิพพาน พระเจ้า ให้เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด เพราะเรื่องเวลา เช่น อดีต อนาคต ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นเรื่องกลาง  ๆ ที่เป็นสากล นี่เป็นมุมมองที่ปัญญาชนผู้ไม่สนใจศาสนธรรมเลย ก็สามารถเข้าใจและเห็นตามได้ไม่ยากนัก พร้อมกันนั้น คุณก็จะได้เห็นความสำคัญของการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ว่า มันจะช่วยให้คุณเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดนี้ได้อย่างไร ซึ่งเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านนี้ เป็นเรื่องที่ดิฉันได้เน้นมาตลอดในหนังสือเล่มนี้
           เนื่องจากดิฉันได้เขียนบทนี้ในรูปของจดหมายที่ดิฉันตอบให้แก่ลูกศิษย์ชาวคามารูนคนหนึ่งและมอบให้ลูกศิษย์ทุกคนเป็นของขวัญปีใหม่ ดิฉันจึงยังอยากคงรูปแบบของจดหมายไว้เช่นเดิม 
เมืองยาอุนเด้
ประเทศคามารูน
1 มกราคม 2004
สวัสดีครับอาจารย์ศุภวรรณ
      
สวัสดีปีใหม่ครับ ไม่ว่าผมจะอ่านจดหมายของอาจารย์หรือเขียนถึงอาจารย์ ผมรู้สึกเป็นสุขเสมอครับ ผมไม่ทราบจริง ๆ ว่า อาจารย์หาเวลาที่ไหนมาให้พวกเราแต่ละคนและทุกคนได้เสมอเช่นนี้

ผมได้รับอีเมล์ของอาจารย์ทุกฉบับ และแน่นอน ผมอ่านทุกฉบับเลยครับ จริงไม๊ครับว่า เวลาที่เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ แล้ว เราไม่มีวันรู้ว่าหากได้อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ แล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร วันนี้ ผมตัดสินใจที่จะอ่านอีเมล์ของอาจารย์ทุกฉบับอีก ที่จริงแล้ว ผมจะทำเช่นนี้เป็นระยะ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผมไม่ได้พลาดเมล์ฉบับไหนของอาจารย์เลย

สองสามวันที่ผ่านมานี้ ผมค่อนข้างเครียดครับเพราะมีงานมากเหลือเกิน และผมก็เกรงว่าผมจะทำงานเหล่านี้ให้หมดได้อย่างไรด้วยเวลาที่น้อยนิดและเงินทองที่จำกัดจำเขี่ยเช่นนี้ และแล้ว ผมก็ไปอ่านพบจดหมายของอาจารย์ฉบับหนึ่งที่ให้คำตอบที่เรียบง่ายและสมบูรณ์ที่สุดให้กับผม อาจารย์บอกว่า

“มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่เราต้องทำให้กับตัวเองเสมอ นั่นคือ การพาตัวใจของเรากลับบ้านที่หนึ่งโดยการเฝ้าดูสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ ที่นี่ เดี๋ยวนี้”

ผมอ่านเพียงเท่านั้นแหละ ใจของผมโล่งขึ้นมาทันทีครับ อาจารย์ ทำให้ผมมีความสุขมากทั้งวัน และผมสงสัยตัวเองเหลือเกินว่าทำไมผมจึงชอบใช้เวลาคิดถึงวันพรุ่งนี้มากเหลือเกิน
      ช่วงเวลานี้ของปีก่อน ผมกำลังตกนรกอยู่ แต่ปีนี้ผมไม่ต้องเป็นบ้าเช่นนั้นอีกแล้ว ชีวิตคงต้องเป็นไปตามสิ่งที่ผมเลือกให้มันเป็นตราบใดที่ผมสามารถมีสติและพาตัวใจกลับบ้านได้ จริงไม๊ครับ อาจารย์

ผมรู้สึกว่าผมได้พัฒนาความสามารถที่จะอ่านเรื่องราวของอนาคตได้บ้างซึ่งช่วยผมได้มากทีเดียว การรับผัสสะของผมชัดเจนมากขึ้น และผมรู้สึกว่าผมสามารถรู้ว่าบางสิ่งบางอย่างกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งบางอย่างก็เกิดขึ้นจริงอันมีผลกระทบถึงผมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งครับ

ผมได้พยายามทำใจของผมเป็นปกติโดยการพาตัวใจกลับบ้านเสมอ แ่ต่ผมต้องยอมรับครับว่าเจอรี่แข็งแรงและมีเล่ห์เหลี่ยมมากเหลือเกิน จนผมสงสัยว่าเมื่อไหร่เจอรี่จึงจะเลิกราและปล่อยให้ทอมอยู่อย่างเป็นสุขเสียบ้าง (ยิ้ม)
ขอให้อาจารย์มีความสุขในวันปีใหม่ครับ กรุณาส่งความระลึกถึงให้ครอบครัวของอาจารย์ด้วยครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง
มาซง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
2 มกราคม 2004
สวัสดีปีใหม่ค่ะ มาซง

   ขอบคุณมากค่ะสำหรับจดหมายของคุณ ดิฉันรู้สึกดีใจมากค่ะที่คุณสามารถจับหลักการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ได้ดีทีเดียว สิ่งที่คุณได้อธิบายในอีเมล์ของคุณนั้ันคือเป้าหมายที่ดิฉันต้องการให้ลูกศิษย์ของดิฉันทุกคนทำได้ คุณคงเห็นด้วยตนเองแล้วว่า คราใดที่คุณพาตัวใจกลับบ้านได้นั้น คุณก็เห็นผลของมันทันที คุณมีความสุขทันที โดยไม่ต้องรอนานเลย จริงไม๊
   ที่จริงแล้ว ขบวนการปฏิบัติสติปัฏฐานตั้งแต่การปล่อยวางความคิดและพาตัวใจกลับมาอยู่กับของจริง ๆ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ นั้นเป็นเรื่องยากมากสำหรับทุกคน แต่ก็เป็นเพียงช่วงต้น ๆ ของการฝึกทักษะเท่านั้น คนที่มีความเพียร พยายาม ขยันฝึกแล้วละก็ ทักษะของเขาจะเก่งขึ้น และจะได้นิสัยที่ดีที่สุดไปอย่างหนึ่ง คือ นิสัยแห่งใจที่ยอมอยู่ติดบ้าน (มีสติอยู่กับฐาน) เมื่อนั้น เจ้าของชีวิตก็จะได้รับการคุ้มครองจากนิสัยใหม่หรือทักษะใหม่ของตนเอง จึงกลายเป็นคนโชคดีที่สุดในโลกไปอีกคนหนึ่ง พูดโดยเปรียบเทียบแล้ว ใครที่พาตัวใจกลับบ้านได้ ในช่วงขณะนั้น ก็เปรียบเหมือนคน ๆ นั้นได้ก้าวย่างเข้าไปในดินแดนของพระเจ้าแล้ว ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ มันก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำเลย นี่คือความโชคดีและร่ำรวยอย่างมากมายมหาศาล ยากที่จะหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ การอยู่ในห้องที่สว่างแม้เพียงชั่วอึดใจเดียวก็ยังดีกว่าการอยู่ในห้องมืดถึงล้านปี ดิฉันเชื่อเช่นนั้นนะ

   ดิฉันอยากจะถือโอกาสนี้อธิบายให้คุณทราบว่า ทำไมคุณจึงรู้สึกเป็นสุขมากเมื่อมีโอกาสพาตัวใจกลับมาอยู่กับที่นี่ เดี๋ยวนี้ คุณจำเรื่องรถไฟสองขบวนที่วิ่งด้วยความเร็วเท่ากัน ที่ไอน์สไตน์พูดถึงเมื่อเขาพยายามอธิบายเรื่องทฤษฎีสัมพัทธภาพได้หรือไม่ เรื่องรถไฟสองขบวนวิ่งในระดับเดียวกันนี้ เป็นเรื่องที่ดิฉันเรียนจากคุณครูสอนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่สมัยที่ดิฉันเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายแล้ว  ซึ่งดิฉันก็ไม่เคยคิดถึงมันอีกเลยจนกระทั่งในช่วงสี่ห้่าปีให้หลังนี้ ดิฉันเริ่มคิดถึงมันบ่อยขึ้น ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าทำไม รู้แต่ว่าอยากจะนำเรื่องนี้มาเชื่อมโยงกับงานเขียนของดิฉันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถทำได้สักที

จนกระทั่งเทอมฤดูใบไม้ร่วงที่ดิฉันเพิ่งสอนเสร็จก่อนคริสมาสนี้เอง มีวันหนึ่ง ดิฉันต้ิองร้อง “ยูริก้า” ออกมาอีกอย่างดีใจ เพราะสามารถคิดเรื่องนี้ออกได้อย่างฉับพลันทันใด เหมือนการตรัสรู้ simultaneous enlightenment เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างคุณอาคีมีดีสนี่แหละ  มาบัดนี้ ดิฉันจึงสามารถนำความคิดเรื่องรถไฟสองขบวนมาพูดและทำให้มันเป็นข้อเปรียบเทียบของดิฉันเองเพื่อช่วยให้ลูกศิษย์เข้าใจเรื่องการฝึกปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ได้ดีขึ้น 

   นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ดิฉันจะอธิบายเรื่องนี้ด้วยการเขียน กรุณาติดตามให้ดีนะคะ เพราะถ้าคุณสามารถเข้าใจได้แล้วละก็ คุณจะมีเหตุผลที่ดีที่จะให้กำลังใจและช่วยกระตุ้นให้คุณปฏิบัติสติปัฏฐานมากขึ้น   

คำใหญ่ ๆ
หากคุณได้อ่านหนังสือของดิฉันทุกเล่มแล้วละก็ คุณคงต้องทราบแล้วว่า สิ่งที่ดิฉันเรียกว่า “คำใหญ่ ๆ” นั้น ดิฉันหมายถึง พระนิพพาน พระเจ้า เต๋า ต้นไม้แห่งชีวิต ชีวิตอมตะ สัจธรรมอันสูงสุด ซึ่งดิฉันได้ตั้งคำศัพท์ของตนเองขึ้นใหม่ว่า ผัสสะบริสุทธิ์ ซึ่งคำเหล่านี้ล้วนเป็นสภาวะเดียวกับ ที่นี่ เดี๋ยวนี้  ดิฉันมักจะเลี่ยงคำใหญ่ ๆ ที่อิงศาสนาเหล่านั้นเสมอ และใช้คำว่า ผัสสะบริสุทธิ์ แทน แต่ด้วยข้อเปรียบเทียบที่จะนำเสนอนี้ ดิฉันจะสามารถนำคำใหญ่ ๆ เหล่านี้มาพูดประสานกันได้อย่างสอดคล้องกับ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นคำที่เนื่องกับศาสนาแต่อย่างใด เป็นคำที่มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้สามารถเชื่อมโยงได้ง่าย ๆ

ผู้รู้ องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้
เพื่อช่วยให้คุณสามารถไปถึงเป้าหมายปลายทางของชีวิตได้เร็วขึ้น ดิฉันจะเริ่มต้นด้วยการอธิบายเรื่อง ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ว่ามันมีหน้าตาอย่างไรเสียก่อน
คุณอาจจะคิดว่านั่นเป็นคำพูดที่แสนประหลาดและเป็นสิ่งที่คุณไม่เคยคิดมาก่อน ทำไมจึงต้องรู้จักหน้าตาของที่นี่ เดี๋ยวนี้ ด้วย และจะรู้จักมันได้หรือ เพราะมันเกี่ยวข้องกับเรื่องเวลาซึ่งไม่น่าจะมีรูปร่างหน้าตา ตรงนี้ละค่ะ คือเหตุผลที่คนไม่รู้จักพระเจ้ากับพระนิพพาน เพราะเขาไม่รู้จักหน้าตาของ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เปรียบเหมือนว่า คุณต้องการมาหาบ้านหลังหนึ่ง แต่คุณกลับไมู่รู้ว่าบ้านหลังนั้นมีหน้าตาอย่างไร บ้านเลขที่เท่าไร ถนนไหน เมืองไหน ประเทศไหน  เมื่อคุณไม่มีข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ แล้วคุณจะไปหาบ้านหลังนั้นพบได้อย่างไร ย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นี่เป็นเรื่องนามธรรม เรื่องของชีวิตจิตใจ จึงยากมากขึ้นหลายเท่าตัว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผู้รู้นำทาง เพราะผู้รู้จริงจะรู้จักหน้าตาของพระนิพพานหรือพระเจ้า จึงสามารถบอกทางคุณได้ หรือ บอกให้คุณมองหาบ้านที่มีลักษณะเช่นนี้ ๆ
ในกรณีของคุณซึ่งเป็นชาวคริสต์ และ รักพระเจ้ามาก หากคุณต้องการไปให้ถึงดินแดนของพระเจ้าละก็ แน่นอน คุณจำเป็นต้องมีข้อมูลหลัก ๆ ว่า อาณาจักรของพระเจ้าอยู่ที่ไหนเสียก่อน มีหน้าตาอย่างไร  นี่ก็เป็นสิ่งที่ชาวพุทธอย่างดิฉันต้องทราบเช่นกันว่าพระนิพพานอยู่ที่ไหนและมีหน้าตาอย่างไรเสียก่อน จึงไปหาถูก มิเช่นนั้นแล้ว คุณในฐานะผู้เดินทางจะเริ่มต้นไม่ถูกเลย ซึ่งคุณย่อมเห็นแล้วว่า ผู้นำทางที่รู้ทางจริง ๆ หรือ ผู้รู้ หรือ ไกด์ของชีวิตนี่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากที่สุดที่จะช่วยให้ผู้เดินทางชีวิตทั้งหลายไปถึงเป้าหมายปลายทางของชีวิตได้ หากไม่มีบุคคลเหล่านี้มาช่วยนำทางให้เราแล้ว การเดินทางย่อมไม่เกิด ชาวคริสต์ก็มีพระคริสต์เป็นผู้นำทางชีวิต ชาวพุทธก็มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้นำทาง ชาวอิสลามก็มีพระอัลเลาะห์เป็นผู้นำทาง เป็นต้น
 
ปัจจุบันจริง ๆ คือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้
ดิฉันจึงขอสรุปก่อนว่า หากคุณต้องการรู้จักพระเจ้าของคุณละก็ คุณต้องพยายามทำความเข้าใจเรื่อง ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ให้ได้เสียก่อน
ชาวพุทธที่ฝึกวิปัสนาหรือสติปัฏฐานสี่นั้น ครูบาอาจารย์มักเตือนเสมอว่าขอให้จับ “ปัจจุบันขณะ” ให้ทัน ซึ่งคนส่วนมากจะรู้สึกเหมือนกันหมดว่า การจับปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่รู้จะจับอย่างไร มันจึงจะอยู่มือ จับ ๆ อยู่ เดี๋ยวมันก็หลุดมือไปแล้ว คิดฟุ้งซ่านอีกแล้ว ตรงนี้แหละ เราจึงต้องมาทำความรู้จักกับตัวปัจจุบันจริง ๆ นี้เสียก่อน รู้จักหน้าตามันเสียก่อน จะได้จับให้มันติดคามือเราได้
 ตัวปัจจุบันจริง ๆ ก็คือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ นั่นเอง  ขอให้คุณหานาฬิกามาเรือนหนึ่งซึ่งมีเข็มวินาทีที่ไม่ได้หยุดเป็นท่อน ๆ แต่เป็นเข็มวินาทีที่กวาดไปตลอดเวลาอย่างไม่หยุดยั้ง อย่าเอานาฬิกาดิจิตอลนะคะ มันไม่มีประโยชน์สำหรับงานนี้ค่ะ นาฬิกาบางยี่ห้อจะมีเข็มวินาทีชนิดกวาดไปตามหน้าปัดค่ะ ไม่ต้องไปซื้อนะคะ ขอให้นึกภาพเท่านั้น ธรรมชาติของที่นี่ เดี๋ยวนี้ มีการเคลื่อนที่เหมือนกับเข็มวินาทีที่กวาดไปตลอดเวลา อย่างไรก็อย่างนั้นล่ะค่ะ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เคลื่อนไปในลักษณะคงที่ สม่ำเสมอ และแน่นอน ตั้งแต่เมื่อไรและจะไปจบที่เมื่อไร ไม่ต้องถามนะคะ มันไม่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องรู้ 

  เข้าถึงสัจธรรมในฐานะที่เป็นที่นี่ เดี๋ยวนี้
 ถ้าคุณเคยนั่งรถไฟแล้ว คุณจะรู้ว่าหากรถไฟสองขบวนสามารถวิ่งด้วยความเร็วพร้อมกันแล้ว คนที่นั่งอยู่ริมหน้าต่างของรถไฟที่หันหน้าเข้าหากันนั้นจะไม่รู้ว่าตนเองกำลังเคลื่อนที่อยู่ หากไม่มองไปที่เสาไฟฟ้าข้างทาง ต้องสมมุติต่อเสียหน่อยว่า รถไฟคันที่เรานั่งอยู่นั้นสามารถวิ่งได้ราบเรียบโดยไม่มีการสั่นสะเทือนใด ๆ เลย แม้น้ำในแก้วก็ไม่กระเพื่อมแม้แต่น้อยนิด   เมื่อดิฉันเป็นเด็ก ๆ ดิฉันมักต้องขึ้นรถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปหาคุณพ่อที่ลพบุรีเมื่อปิดเทอม จึงสังเกตเห็นข้อเท็จจริงนี้ เมื่อมาเรียนเรื่องทฤษฎีสัมพัทธภาพอย่างย่อ ๆ  คุณครูชั้นมัธยมพูดเรื่องรถไฟสองขบวน จึงเข้าใจได้ทันทีเพราะมีประสบการณ์มาก่อน

   สิ่งที่ดิฉันต้องการเปรียบเทียบคือ จะสมมุติให้รถไฟขบวนแรกเป็นเวลาปัจจุบันจริง ๆ หรือ “รถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้” ส่วนรถไฟขบวนที่สองที่จะเดินขนานกับรถไฟขบวนแรกคือตัวเรา ตัวมนุษย์แต่ละคนที่มีจิตใจ หรือ มีความคิด ความจำ ความรู้สึก รถไฟขบวนที่สองนี้ ดิฉันจะเรียกมันว่า “รถไฟขบวนชีวิต” เพราะเป็นสิ่งเปรียบเทียบกับชีวิตของมนุษย์ทุกคน
เป้าหมายที่เราต้องการบรรลุคือ เราในฐานะที่เป็นรถไฟขบวนชีวิตนี้ จะต้องสามารถขับรถไฟของเราเพื่อวิ่งให้ได้ระดับเดียวกับรถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ ที่วิ่งด้วยความเร็วคงที่ อย่างสม่ำเสมอ วิ่งไปเรื่อย ๆ ของมันอยู่เช่นนั้นอย่างไม่เคยหยุดยั้งเหมือนเข็มวินาทีของนาฬิกาที่กวาดไปเรื่อย เมื่อรถไฟสองขบวนนี้สามารถวิ่งได้ระดับเดียวกันแล้วละก็ ค่าคงที่ระหว่างขบวนจะเกิดขึ้นทันที โดยที่ตัวเราจะสามารถประกบ เดินเคียงข้างกับที่นี่ เดี๋ยวนี้ได้ทันที หรือสามารถอธิบายได้เช่นกันว่า ในขณะนั้น ๆ   ตัวเราได้กลายเป็นที่นี่ เดี๋ยวนี้ ตัวเราได้กลายเป็นปัจจุบันขณะแล้ว และหากที่นี่ เดี๋ยวนี้ คือ สัจธรรมอันสูงสุด ย่อมหมายความว่า ตัวเราได้เข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดในลักษณะเช่นนี้

ถ้าแทนรถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นคำใหญ่ ๆ ของศาสนา
  คุณจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น หากดิฉันจะเรียกรถไฟขบวนแรกว่า ขบวนพระเจ้าแทนที่จะเรียกขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้้  เมื่อใดที่คุณผู้ขับรถไฟชีวิตสามารถวิ่งได้ระดับเดียวกับรถไฟขบวนพระเจ้าแล้วละก็  เมื่อนั้น คุณก็สามารถเดินเคียงข้างไปกับพระเจ้าของคุณทันที คุณจะสามารถเห็นใบหน้าของพระเจ้าได้ชัดเจน การเข้าถึงดินแดนของพระเจ้าคือ การเข้าถึงได้ด้วยวิธีนี้

                หากรถไฟขบวนแรกเป็นต้นไม้แห่งชีวิต The Tree of Life ขอให้คุณนึกภาพที่สนุกสนานเช่นนี้ว่า เมื่อคุณสามารถนำรถไฟชีวิตมาวิ่งขนานกันแล้วละก็ เมื่อนั้น พระเจ้ากำลังหยิบยื่นผลไม้แห่งชีวิตจากรถไฟขบวนของท่านให้กับคุณอยู่ คุณก็สามารถรับผลไม้นั้นจากมือของพระเจ้าได้อย่างง่ายดาย ไม่หลุดจากมือ เพราะคุณสามารถขับรถไฟขบวนชีวิตของคุณได้ระดับเดียวกับขบวนของพระเจ้า คุณจึงสามารถรับประทานผลไม้จากต้นไม้แห่งชีวิตที่พระเจ้าได้ประทานให้คุณในลักษณะเช่นนี้
                         
                           หากรถไฟขบวนแรกเป็นขบวนพระนิพพาน เมื่อนั้น คุณก็ได้เข้าถึงพระนิพพานแล้ว เห็นหน้าตาของพระนิพพานว่าเป็นอย่างไรแล้ว เพราะกำลังเดินขนานกับพระนิพพาน   
   หากรถไฟขบวนแรกเป็นการใช้ชีวิตอย่างเป็นอมตะ หรือ การเข้าถึงสภาวะของ เต๋า การสามารถขับรถไฟขบวนชีวิตให้ขนานกับขบวนแรกได้ เมื่อนั้น  คุณก็กำลังใช้ชีวิตอย่างเป็นอมตะแล้ว หรือ เข้าถึงสภาวะของเต๋าแล้ว
   
 โดยใช้การเปรียบเทียบของรถไฟสองขบวนที่วิ่งขนานกันเช่นนี้ คุณจะเห็นภาพพจน์ได้ชัดเจนมากขึ้นว่า สภาวะสัจธรรมอันสูงสุดไม่ได้เป็นสภาวะที่อยู่นิ่ง ๆ ไม่เดินเหินแต่อย่างใด เพราะอย่างที่ไอน์สไตน์ได้พูดแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในเอกภพทั้งหมดนี้กำลังเคลื่อนอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งเวลา นี่จึงเป็นความยากของการเข้าถึงสัจธรรมในขั้นสูงสุด เพราะ มันไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ ให้เราจับจองได้ แตะต้องได้เหมือนวัตถุที่จับมาวางให้มันอยู่นิ่งเฉยได้ ฉะนั้น การเข้าถึงสัจธรรมสูงสุด เข้าถึงพระเจ้า เข้าถึงนิพพาน เข้าถึงชีวิตอมตะ จำเป็นต้องทำให้มันเกิดขึ้นด้วยวิธีการของการขับรถไฟชีวิตให้วิ่งทันกับรถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ทันเท่านั้น ต้องอยู่ในลักษณะที่มีความเร็วเท่ากันอย่างสนิท ไม่เหลื่อมล้ำ หรือต่างระดับกันแม้แต่น้อยนิด เพราะหากพระเจ้ากำลังหยิบยื่นผลไม้แห่งชีวิตให้คุณละก็ คุณขับรถไฟเหลื่อมล้ำไปเพียงนิดเดียวเท่านั้น คุณก็คว้าผลไม้นั้นไม่ได้แล้ว จึงต้องให้พอดิบพอดีจริง ๆ พอทำได้แล้วละก็ เมื่อนั้น เราในฐานะปัจเจกชนจะเข้าถึงสัจธรรม เข้าถึงพระเจ้า พระนิพพาน ที่นำความสุขอันเป็นอมตะให้เราได้ทันที
ความคิดเป็นตัวแปร
หากเรากำลังพูดถึงรถไฟสองขบวนจริง ๆ แล้ว ย่อมไม่มีปัญหา เพราะไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้รถไฟสองขบวนวิ่งในระดับเดียวกัน ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เรื่องรถไฟนี้เป็นเพียงสิ่งเปรียบเทียบเท่านั้น รถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไม่มีปัญหา เพราะมันวิ่งของมันเองอยู่เช่นนั้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ช้า ไม่เร็ว รักษาระดับอย่างคงที่มาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อไรจนถึงเมื่อไร ไม่ต้องถาม จึงเป็นปัจจัยคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอนันตกาล ปัญหาอยู่ที่รถไฟขบวนชีวิต คือ มนุษย์ปัจเจกชนคนหนึ่ง ๆ ที่มีความคิด ความจำ กับความรู้สึก หรือ มีเจอรี่อยู่ในหัวในใจทั้งสิ้น เจอรี่นี้แหละที่จะสร้างปัญหาทำให้รถไฟชีวิตวิ่งช้าหรือเร็วกว่าขบวนแรกเสมอ และอย่างที่คุณบอกนั่นแหละ คุณได้รู้ฤทธิ์ของเจอรี่แล้วว่ามันมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวมากแค่ไหน

ที่นี่ เดี๋ยวนี้ มีพื้นที่เล็กและบางมาก
   หากคุณเข้าใจธรรมชาติของปัจจุบันขณะหรือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ได้อย่างถ่องแท้จนถึงแก่นของมันแล้วละก็ คุณจะเห็นว่า ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นเหมือนหมอนอิงที่อยู่ระหว่าง “อดีตหมาด ๆ” กับ “อนาคตจวนเจียน” เสมอ เพราะที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ มันเคลื่อนตลอดเวลา  ฉะนั้น ในขณะที่ ปัจจุบันขณะกำลังเคลื่อนไปในอัตราคงที่นั้น มันจะสร้างอดีตหมาด ๆ กับอนาคตจวนเจียนเสมอ ไม่เชื่อ คุณก็ลองหันกลับไปดูที่หน้าปัดนาฬิกาอีกครั้ง พื้นที่เล็ก ๆ ที่เข็มวินาทีกวาดไปนั้นคือ ปัจจุบันขณะที่แท้จริง หรือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ซึ่งมีเพียงนิดเดียวเท่านั้น และมันก็ไม่ได้จับจองที่ไว้ถาวรเลย มันเคลื่อนไปเรื่อย จึงมีอดีตและอนาคตที่สด ๆ ร้อน ๆ เสมอเช่นกัน  อดีต กับ อนาคต จะกินพื้นที่ของชีวิตมากกว่าปัจจุบันขณะหรือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ซึ่งกินที่นิดเดียว คุณดูหน้าปัดนาฬิกาอีกสิ เข็มวินาทีกินที่นิดเดียวเสมอ พื้นที่นอกเหนือจากนั้นตั้งแต่เลข ๑๒ จนจดเลข ๑๒ อีก ล้วนเป็นอดีตและอนาคตทั้งสิ้น ขอให้คุณอย่าลืมว่า เราไม่ได้พูดถึงเวลาเพียง ๒๔ ชั่วโมงเท่านั้นนะ เพราะทุกอย่างที่ผ่านพ้นจากที่นี่ เดี๋ยวนี้ แล้ว ล้วนเป็นอดีตหมด อะไรที่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ยังเลียไม่ถึงจึงจัดเป็นอนาคตหมด   

ความคิดคือกล่องเวลาของอดีตและอนาคต
    เพื่อการเข้าใจอย่างรวบรัด  ดิฉันอยากให้คุณเข้าใจว่า  ทุกครั้งที่คุณคิด แม้คุณจะกำลังคิดเรื่องกลาง ๆ ของปัจจุบันอยู่แท้ ๆ ก็ตาม ขอให้คุณเชื่อดิฉันว่า ในขณะนั้น ๆ คุณกำลังติดอยู่ในกล่องเวลาของอดีตและอนาคตแล้วโดยไม่มีทางเลือก เช่น คุณมองไปที่กำแพงข้างหน้าคุณที่ทาสีเขียว และคุณก็คิดโดยการพูดดัง ๆ ในหัวว่า “กำแพงสีเขียว” เท่านั้นแหละ ฟังดูแล้ว ไม่เห็นน่าจะเป็นอดีตหรืออนาคต แต่ที่จริง เป็นแล้วค่ะ คุณได้ติดอยู่ในกล่องเวลาของอดีตแล้ว เพราะอะไร เพราะคำว่า กำแพง กับ สีเขียว ล้วนเป็นความรู้ที่คุณได้จำมาจากอดีต จริงหรือไม่ คุณมองสิ่งก่อสร้างสี่เหลี่ยมที่อยู่เบื้องหน้า คุณจำได้ว่า ของหน้าตาอย่างนี้เรียกว่า กำแพง เมื่อคุณเห็นสี คุณก็จำได้ว่า สีเช่นนี้เขาเรียก สีเขียว

   ฉะนั้น คุณเห็นแล้วหรือยังว่า แม้ความคิดที่คุณคิดว่าเนื่องกับปัจจุบันแท้ ๆ เช่น กำแพงสีเขียว นี้ก็ยังกลายเป็นเรื่องของอดีตไปได้ แม้ลมหายใจเข้าออกของคุณที่กำลังเกิดเดี๋ยวนี้ก็ยังเต็มไปด้วยอดีตหมาด ๆ และอนาคตจวนเจียน ตลอดเวลา แล้วคุณจะเอาอะไรกับความคิดกลุ่มที่คุณคิดถึงเรื่องราวของอดีตจริง ๆ เช่น เรื่องราวที่เกิดเมื่อนาทีก่อน ชั่วโมงก่อน เมื่อเช้านี้ เมื่อคืนนี้ เมื่อวานนี้ เมื่อวานซืน เมื่ออาทิตย์ก่อน เดือนก่อน ปีก่อน สิบปีก่อน ห้าสิบปีก่อน ร้อยปีก่อน พันปีก่อน ห้าพันปีก่อน หรือ ล้าน ๆ ปีก่อน ทุกครั้งที่คุณคิดเรื่องของอดีตเหล่านี้ ก็เท่ากับคุณกำัลังนั่งแช่อยู่ในกล่องเวลาของอดีต หากคุณกำลังคิดเรื่องของอนาคต คุณก็กำลังนั่งแช่อยู่ในกล่องเวลาของอนาคต และคุณก็นั่งแช่อยู่เช่นนั้น ไม่ได้เคลื่อนไปไหนอย่างแท้จริงเลย ในขณะที่ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง การติดในความคิดนี้แหละเป็นเรื่องการเดินทางไปกับยานพาหนะเวลา time machine ในความหมายที่ลึกซึ้งกว่าเรื่องในนวนิยายวิทยาศาสตร์มากมายนัก 
อย่าเพิ่งตกใจนะคะ หากดิฉันพูดว่า ความรู้ทางโลกทั้งหมดที่คุณกำลังไขว่คว้าด้วยความเครียดเพื่อให้ได้ปริญญามาอย่างยากลำบากนั้น ล้วนเป็นเรื่องของการศึกษาที่ติดอยู่ในกล่องเวลาทั้งสิ้น ยังไม่ได้เข้าใกล้สัจธรรมเลยแม้หลายสาขาอ้างว่ากำลังแสวงหาอยู่ก็ตาม โดยเฉพาะดาราศาสตร์ กว่าแสงของดาวบางดวงเดินทางมาถึงโลก ดาวดวงนั้นก็สาบสูญไปนานมากแล้ว แต่ไม่ต้องตกใจ ละทิ้งการเรียนนะคะ ความรู้ทางโลกก็สำคัญและยังจำเป็นอยู่อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่า ถ้าจะให้ดีที่สุดแล้ว ควรเรียนเคียงคู่ไปกับความรู้ของพระพุทธเจ้าด้วยเท่านั้น ก็จะสมบูรณ์ ไม่แตกซ่าน ไม่สร้างปัญหา ไม่เป็นความรู้เหมือนดาบสองคม

ความคิดทำให้รถไฟสองขบวนวิ่งต่างระดับกัน
เมื่อนำเรื่องกล่องเวลาของอดีตและอนาคตมาเปรียบเทียบกับรถไฟสองขบวนนี้แล้ว ย่อมหมายความว่า ทุกครั้งที่คุณกำลังคิดถึงอดีตนั้น รถไฟชีวิตจะเดินช้ากว่ารถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ และเมื่อใดที่คุณกำลังคิดถึงเรื่องราวของอนาคตแล้วละก็ คุณก็กำลังนั่งอยู่ในกล่องเวลาของอนาคต จึงทำให้รถไฟชีวิตวิ่งขึ้นหน้า เร็วกว่ารถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไปทันที
ฉะนั้น จึงขอให้เข้าใจเช่นนี้ว่า ทุกครั้งที่คุณคิดเท่านั้นแหละ คุณก็ได้เข้าไปนั่งในกล่องของเวลาที่เป็นอดีตหรืออนาคตแล้วทันที  คุณจึงไม่สามารถขับรถไฟชีวิตให้ได้ระดับเดียวกับรถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ รถไฟของคุณถ้าไม่วิ่งช้าเกินไป ก็วิ่งเร็วเกินไป จึงใช้ไม่ได้
หากให้รถไฟขบวนแรกเป็นพระเจ้าหรือพระนิพพาน คุณก็พลาดที่จะเห็นหน้าพระเจ้าหรือพระนิพพานอย่างเต็มที่  พลาดโอกาสที่จะอยู่กับพระเจ้าหรือพระนิพพาน เพราะคุณวิ่งไม่ได้ระดับเดียวกับรถไฟขบวนพระเจ้าหรือขบวนพระนิพพาน
วาดรูปรถไฟขบวนที่นี่เดี๋ยวนี้ให้อยู่ซ้ายมือ ส่วนขบวนชีวิตที่อยู่ขวามือนั้นให้วาดเหลื่อมไปด้านหลัง มีคนหนึ่งคนนั่งอยู่ที่ริมหน้าต่างทั้งสองขบวน เขียนลูกศรขวาง <------ ที่อยู่ระหว่างกลาง เขียนใต้ภาพว่า “เมื่อเจ้าของชีวิตติดอยู่ในความคิดของอดีต รถไฟขบวนชีวิตจะเดินช้ากว่ารถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ ทำให้ค่าคงที่ของจักรวาลหายไป จึงไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับที่นี่ เดี๋ยวนี้ จึงไม่เห็นหน้าพระเจ้า จึงไม่รู้จักพระนิพพาน”

หากให้รถไฟขบวนแรกเป็นพระเจ้าผู้กำลังหยิบยื่นผลไม้แห่งชีวิตให้คุณ และคุณติดความคิดของอดีตอยู่ คุณก็ไม่สามารถรับผลไม้ชีวิตจากพระหัตถ์ของท่านได้ เพราะวิ่งไม่ทันท่าน  จึงพลาดโอกาสรับประทานผลไม้แห่งชีวิต
 วาดรูปของพระเจ้าหยิบยื่นผลไม้ชีวิตให้ในรถไฟขบวนหนึ่ง และรถไฟชีวิตอยู่เยื้องไปด้านหลัง เขียนใต้ภาพว่า เมื่อติดความคิดของอดีต ก็ไม่สามารถรับผลไม้แห่งชีวิตจากพระหัตถ์ของพระเจ้าได้
 
ในทำนองเดียวกัน หากให้รถไฟขบวนแรกเป็นสัจธรรมอันสูงสุด หรือเป็นการใช้ชีวิตอย่างเป็นอมตะ Eternal life คุณก็พลาดโอกาสเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุด หรือพลาดการใช้ชีวิตอย่างเป็นอมตะ เพราะคุณไม่สามารถขับรถไฟของคุณให้ได้ระดับเดียวกับขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ นั่นเอง

   ในทางตรงกันข้าม หากคุณติดอยู่กับความคิดของอนาคต รถไฟขบวนชีวิตของคุณก็จะวิ่งเร็วกว่ารถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ ขบวนพระเจ้า พระนิพพาน สัจธรรมอันสูงสุด หรือ ขบวนชีวิตอมตะ ค่าคงที่ของจักรวาลจึงหายไป ทำให้คุณมองไม่เห็นพระนิพพานหรือพระเจ้า

 วาดรูปรถไฟขบวนที่นี่เดี๋ยวนี้ให้อยู่ซ้ายมือ ส่วนขบวนชีวิตที่อยู่ขวามือนั้นให้วาดเหลื่อมไปด้านหน้า มีคนหนึ่งคนนั่งอยู่ที่ริมหน้าต่างทั้งสองขบวน เขียนลูกศรขวาง <------ ที่อยู่ระหว่างกลาง เขียนใต้ภาพว่า “เมื่อเจ้าของชีวิตติดอยู่ในความคิดของอนาคต รถไฟขบวนชีวิตจะเดินเร็วกว่ารถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ ทำให้ค่าคงที่ของจักรวาลหายไปเช่นกัน จึงไม่เห็นพระเจ้าหรือพระนิพพาน”

ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องอาศัยความคิด
เมื่อความคิดทุกความคิดเป็นเรื่องของอดีตและอนาคตแล้วละก็ ย่อมหมายความว่าในขณะที่ผู้ขับรถไฟขบวนชีวิตสามารถทำใจให้อยู่กับที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือ ปัจจุบันขณะได้จริง ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ บาง ๆ นั้นแหละ ภายในใจของผู้ขับรถไฟจะต้องไม่มีความคิดเลย ทันทีที่ใจของเราปลอดจากความคิด (จิต) หรือ ทอมหลุดจากการถูกรบกวนของเจอรี่แล้วละก็ ช่วงเวลานั้นเองที่ผู้ขับรถไฟจะสามารถนำรถไฟขบวนชีวิตมาเดินขนานกับรถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ได้ทันที จึงสามารถเห็นใบหน้าของพระเจ้า สามารถรับประทานผลไม้จากต้นไม้แห่งชีวิตที่พระเจ้าประทานให้ เห็นพระนิพพาน เห็นสัจธรรมอันสูงสุด และกำลังใช้ชีวิตอมตะอยู่
ในภาคปฏิบัติจริง ๆ หากคุณต้องการอยู่กับปัจจุบันขณะให้ได้จริง ๆ ละก็ ไม่จำเป็นต้องไป “จับตัวปัจจุบัน” ให้ยุ่งยาก ทำอย่างเดียวเท่านั้น คือ พาตัวใจกลับบ้านที่หนึ่งกับสองโดยไม่ต้องมีเสียงในหัว ขอให้รู้ลมหายใจ การเคลื่อนไหว และความรู้สึกของกายอย่างเงียบกริบในหัวจริง ๆ ทำเพียงเท่านี้ก็คือ การจับตัวปัจจุบันได้แล้ว อยู่กับปัจจุบันขณะแล้ว ทำเพียงเท่านั้นก็ได้ชนบ้านที่สี่แล้ว สามารถรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์แล้ว บ้านทั้งสี่หลังทะลุกันเป็นบ้านใหญ่หลังเดียวแล้ว  คุณก็ได้ขับรถไฟขบวนชีวิตของคุณขนานกับรถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้แล้ว 
                                                                                               
ฉะนั้น ดิฉันจะสรุปให้คุณเห็นอย่างชัดเจนในรูปของสมการ ดังนี้

อดีต อนาคต   =   ความคิด ความจำ ความรู้สึก      = ผัสสะไม่บริสุทธิ์
ที่นี่ เดี๋ยวนี้    =     ไม่คิด ไม่จำ ไม่รู้สึก (เฉย ๆ)       = ผัสสะบริสุทธิ์

สัจธรรมไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการคิด
การเปรียบเทียบด้วยรถไฟสองขบวนเช่นนี้จะสามารถทำให้คุณเห็นได้ชัดเจนว่า ประสบการณ์ของพระเจ้าและพระนิพพานนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของการจินตนาการด้วยความคิดนึกแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องการมีประสบการณ์ เป็นเรื่องการใช้อายตนะของเราเข้าไปสัมผัส ไปดู ฟัง ดมกลิ่น ลิ้นชิมรส และสัมผัสกับตัวพระเจ้า ตัวพระนิพพาน หรือตัวสัจธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งเปรียบเทียบได้กับลักษณะของการขับรถไฟขบวนหนึ่งให้ได้ระดับขนานกับรถไฟอีกขบวนหนึ่ง จึงจะเห็นหน้าซึ่งกันและกันได้อย่างชัดเจนเหมือนเป็นคน ๆ เดียวกันด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นวิธีการเข้าถึงปรากฏการณ์หนึ่งในธรรมชาติที่เป็นสัจธรรม เป็นความจริงในขั้นอันติมะที่ไม่มีอะไรอื่นไปเหนือมันได้อีกแล้ว 

สัจธรรมเปรียบเทียบได้กับการเกิดขึ้นของ “ตัก”
ข้อเปรียบเทียบอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถอธิบายการเกิดขึ้นของสภาวะสัจธรรม คือ  เหมือนการทำให้เกิดสภาวะของ “ตัก” ที่เกิดได้เมื่อนั่งลง และสามารถเอาของมาวางลง หรือให้ลูกหลานตัวเล็ก ๆ ได้นั่งเล่น สภาวะตักนี้จะไม่เกิด หากคนไม่ยอมนั่ง แต่พอนั่งลงปุ๊บ ตักเกิดทันที การเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดจึงเหมือนการเกิดขึ้นของตัก ไม่ใช่เป็นเรื่องของการอ่านหนังสือให้รู้ว่ามีสภาวะตักเมื่อนั่งลง แต่เป็นเรื่องการทำสภาวะตักให้เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างกันมาก ต่อให้คุณรู้ว่าตักเป็นอย่างไร เกิดได้อย่างไรจากตำรับตำรา แต่หากคุณไม่ยอมนั่ง ตักก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับคุณ หากคุณเอาแต่อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับพระเจ้าหรือพระนิพพาน แต่ไม่ยอมทำให้มันเกิดเป็นจริงขึ้นมา คุณก็ได้แต่ตัวหนังสือ ไม่มีวันได้ของจริงแน่นอน 

 จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากพระพุทธเจ้า
ฉะนั้น คุณจะเห็นได้ว่า ตัวปัญหาใหญ่ในที่นี้คือ ความคิด  ที่ทำให้ผู้ขับรถไฟชีวิตติดอยู่ในกล่องเวลาของอดีตและอนาคต จึงทำให้รถไฟชีวิตวิ่งไม่ได้ระดับเดียวกับรถไฟพระเจ้าหรือพระนิพพาน ตรงนี้แหละ มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องพึ่งพาความรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว เพราะจู่ ๆ จะบอกให้คนไม่คิด ไม่จำ ไม่รู้สึก นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องทำอย่างมีหลักการ จำเป็นต้องมีผู้รู้จริงมาบอกให้ และพระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ผู้รู้จริงท่านแรกในโลกที่สามารถบอกเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ว่า จะทำอย่างไรจึงจะทำให้ความคิดหลุดออกและว่างจากหัวของเราได้ เพื่อว่าในขณะนั้น ๆ เราจะได้นำรถไฟชีวิตวิ่งไปให้ได้ระดับเดียวกับรถไฟขบวนพระเจ้าหรือพระนิพพาน

สติปัฏฐานสี่คือคำตอบ
วิธีการที่จะทำใจของเราให้ว่างจากความคิด ความจำ และความรู้สึก ก็โดยการฝึกสติปัฏฐานสี่ หรือ วิปัสสนา ซึ่งภาษาของดิฉันคือ การพาตัวใจกลับบ้าน Bringing your mental self back home. ทุกครั้งที่ผู้ฝึกสติปัฏฐานสามารถพาตัวใจกลับบ้านหลังใดหลังหนึ่งในสี่บ้าน (สี่ฐาน) ได้แล้ว เมื่อนั้น ความคิด ความจำ ความรู้สึก ซึ่งเป็นกล่องเวลาของอดีตและอนาคตก็จะหลุดลุ่ยออกจากหัวของเรา ทำให้ตัวใจของเราว่างจากจิตหรือความคิดหรือเจอรี่ จึงทำให้เราสามารถมายืนอยู่ต่อหน้าพระนิพพาน หรือ พระเจ้า หรือ สัจธรรมอันสูงสุดได้ทันที รถไฟทั้งสองขบวนจึงสามารถวิ่งได้ในระดับเดียวกันด้วยวิธีการฝึกวิปัสสนาหรือพาตัวใจกลับบ้านนี่เอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ปฏิบัติสามารถเข้าบ้านที่สี่ได้แล้ว บ้านทั้งสี่หลังจะถูกทำให้ทะลุเป็นบ้านหลังใหญ่มากหลังเดียวเท่านั้น แต่หลังเดียวนี้จะมีความใหญ่โตครอบจักรวาลเลยทีเดียว  ผู้ปฏิบัติจะเกิดปัญญาเข้าใจชีวิตของตนเองอันเนื่องกับจักรวาลที่ตนอยู่  การจะเข้าบ้านหลังใหญ่หลังเดียวนี้ได้ คือ การปฏิบัติสติปัฏฐานจนสามารถเข้าบ้านที่สี่หรือรับ “ผัสสะอย่างบริสุทธิ์” ได้นั่นเอง 
   
ใคร ๆ ก็คิดออกได้
   ดิฉันมีลูกศิษย์ชายคนหนึ่งชื่อจามาล  เป็นลูกครึ่งอังกฤษกับอิหร่านและนับถือศาสนาอิสลาม เป็นชายหนุ่มหน้าตาหล่อเหลามีลักษณะของความเป็นปัญญาชนเต็มตัว เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ คุณพ่อเป็นนักการเมือง จึงไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ  วันหนึ่งดิฉันได้อธิบายเรื่องที่นี่ เดี๋ยวนี้ ในลักษณะที่ดิฉันอธิบายในจดหมายนี้แหละ ดิฉันสังเกตได้ว่า หนุ่มจามาลฟังอย่างตั้งอกตั้งใจมากกว่าใคร มีการพยักหน้าแบบเห็นด้วยอยู่บ่อยครั้ง พอจบชั่วโมง จามาลเข้ามาหาดิฉันและพูดอย่างตื่นเต้นว่า
   “คุณซูครับ ผมขออนุญาตคุยกับคุณสักครู่ได้ไหมครับ ผมต้องการให้คุณดูอะไรสักอย่างหนึ่ง ผมตื่นเต้นและดีใจมากที่สุดในสิ่งที่คุณได้พูดไปในชั่วโมงนี้ คุณได้ให้คำตอบในสิ่งที่ผมต้องการรู้มานานแล้ว ผมตื่นเต้นจนบอกไม่ถูกแล้วครับนี่”
   จามาลได้นำกระดาษขาวแผ่นหนึ่งออกจากกระเป๋าของเขา เมื่อคลี่ออก ก็เป็นแผ่นใหญ่พอสมควร มีการขีดเขียนอะไรมากมาย ในท่ามกลางตัวหนังสือและภาพเหล่านั้นก็มีหนังสือตัวใหญ่ ๆ อยู่ตรงกลางแผ่นกระดาษที่ถูกขีดเส้นใต้สองเส้นและกำกับด้วยดาวใหญ่ ๆ ทั้งสองด้าน คำ ๆ นั้นคือ Here and Now หรือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้
   และแล้ว จามาลก็เล่าอย่างตื่นเต้นว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง เขาไปเที่ยวที่เวลส์ซึ่งมีภูเขามากมาย ไปคนเดียว วันที่เขาขีดเขียนสิ่งเหล่านี้คือวันที่เขามานั่งอยู่บนยอดเขาลูกหนึ่ง จึงใช้เวลาคิดถึงเรื่องราวอันเป็นแก่นสารของชีวิต นั่นเป็นเทอมแรกที่จามาลมาเรียนกับดิฉันและชั่วโมงนั้นคงจะเป็นชั่วโมงที่ ๗ หรือ ๘ ของเทอมแล้ว คงจะได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่ดิฉันพูดไปแล้วบ้าง
จามาลบอกว่า เขาคิดได้ถึงจุดที่เขาสรุปกับตัวเองว่า แก่นสารของชีวิตน่าจะอยู่ที่ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เขาจึุงขีดเส้นใต้ กากบาทไว้ชัดเจนเช่นนั้น แต่เขาไม่สามารถคิดต่อได้ว่ามันคืออะไร อย่างไร จนกระทั่งดิฉันมาพูดเรื่องที่นี่ เดี๋ยวนี้ ในชั่วโมงนั้น เขาจึงตื่นเต้นมาก บอกว่าอกแทบจะระเบิด และกล่าวขอบคุณดิฉัน บอกว่า ไม่เคยคิดฝันเลยว่าจะมีใครที่สามารถให้คำตอบในเรื่องที่เขาต้องการได้ชัดเจนเช่นนี้ ดิฉันมีนักศึกษาชาวมุสลิมอยู่หลายคน แต่จามาลเป็นนักศึกษามุสลิมคนแรกที่เข้ามาคุยอย่างสนิทสนมนับจากวันนั้นเป็นต้นมา และได้เขียนเสียงสะท้อน feedback ให้แก่ดิฉันถึงสองครั้ง 
   ดิฉันเล่าเรื่องของจามาลให้คุณรับรู้ เพราะต้องการให้คุณเห็นว่าแม้คนไม่ได้สนใจ พระพุทธศาสนาเลย ก็สามารถคิดถึงเรื่องสัจธรรมได้ เพราะนี่เป็นเรื่องสากล universal หากตั้งใจคิดให้ถี่ถ้วนและลึกซึ้งสักหน่อย อย่างทฤษฎีเอกภาพของไอน์สไตน์ก็คือการคิดเรื่องสัจธรรมนั่นเอง ความคิดของจามาลก็เช่นกัน เด็กหนุ่มคนนี้คิดได้ไกลและลึกซึ้งมากถึงขนาดรู้แล้วว่า ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ได้ซ่อนคำตอบบางอย่างของชีวิตไว้ เพียงแต่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกเท่านั้น คนที่คิดลึกและคิดอย่างรอบคอบถี่ถ้วนแล้ว จะมองออกได้ไม่ยากเลยว่า นอกจากที่นี่ เดี๋ยวนี้แล้ว ไม่มีอะไรจริงสักอย่างเดียว
สิ่งที่จริงที่สุด ที่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน เป็นเนื้อเป็นหนังจริง ๆ คือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เท่านั้น ฉะนั้น ตัวสัจธรรม หรือ ตัวความจริงที่มันจริง ๆ ก็คือ ทุกอย่างที่เราเห็นได้ สัมผัสได้ในขณะนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ นั่นเอง ก็คือ รูป รส กลิ่น เสิียง สัมผัส ของที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือ ผัสสะบริสุทธิ์ นั่นเอง ไม่เชื่อ คุณก็ลองคิดตามดิฉันสิ
   ไป ๆ มา ๆ การคิดที่ดิฉันเรียกว่าลึกซึ้งนั้นกลับมาอยู่ในสิ่งที่ไม่มีความลึกอะไรเลย สัจธรรมในฐานะที่เป็นผัสสะบริสุทธิ์ที่กำลังเกิดที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นความจริงที่ไม่มีความลึกซึ้งอะไรแม้แต่นิดเดียว เป็นเรื่องตื้นที่สุดจนไม่รู้จะตื้นอย่างไร ดังที่นักศึกษาหญิงของดิฉันคนหนึ่งเคยรำพึงออกมาอย่างไม่เชื่อว่า Is that it? เท่านั้นหรือ จึงกลายเป็นเรื่องยากที่สุด เพราะคนส่วนมากมองข้ามไปอย่างสนิท แต่ถึงแม้จะมองออกบ้างแล้วอย่างจามาล ถ้าไม่มีการอธิบายอย่างที่ดิฉันกำลังทำในบทนี้ และไม่นำเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านเข้ามาแล้ว ก็คงไม่พ้นเรื่องการคิดอย่างปรัชญา คือ มีแต่ความคิด แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าถึงที่นี่ เดี๋ยวนี้ได้อย่างไร       

ต้องฝึกทักษะของการขับรถไฟ
ฉะนั้น คุณจะเห็นได้ว่า การเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดนั้นถูกตีวงแคบมาสู่เรื่องเดียวเท่านั้น คือ ทำอย่างไรเราจึงสามารถขับรถไฟชีวิตให้ได้ระดับเดียวกับรถไฟขบวนพระเจ้าหรือพระนิพพาน จะทำได้ก็โดยการฝึกสติปัฏฐานหรือภาษาของดิฉันคือ การพาตัวใจกลับสู่บ้านทั้งสี่นั่นเอง ไม่ว่าผู้ฝึกกำลังพาตัวใจกลับมาสู่บ้านหลังใดหลังหนึ่งในสี่บ้านนี้ เมื่อนั้น ผู้ปฏิบัติก็จะปลอดจากความคิด หรือ มีตัวใจที่ว่างจากจิตทันที ในช่วงขณะที่สั้น ๆ นั้นเอง   รถไฟสองขบวนได้วิ่งขนานกันแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำคือ ฝึกทักษะของการพาตัวใจกลับบ้านบ่อย ๆ เมื่อทักษะของเราดีขึ้นแล้ว เวลาที่เราสามารถเดินเคียงข้างกับพระเจ้า พระนิพพาน หรือ สัจธรรมอันสูงสุด ย่อมยืดออกไป นานขึ้นเรื่อย ๆ ในลักษณะเช่นนี้ จนในที่สุด ทักษะของการขับรถไฟชีวิตขนานกับรถไฟขบวนสัจธรรมจะกลายเป็นธรรมชาติของเราเอง จะสามารถใช้ชีวิตของทุกลมหายใจได้อย่างรู้ตัวทั่วพร้อม เป็นธรรมชาติของมันเอง เหมือนคนขับรถเก๋งเก่งแล้ว พอนั่งหลังพวงมาลัยก็ขับได้อย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนคนฝึกพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เมื่อพูดได้เก่งแล้ว ก็พูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องฝืนอีกแล้ว

ไอน์สไตน์ขาดเครื่องมือ
ความคิดของไอน์สไตน์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุดนิ่งของจักรวาล The absolute ruling point in nature หรือ ทฤษฎีสรรพสิ่งที่เขาปลุกปล้ำอยู่ ๓๐ ปีนั้น ที่จริงแล้ว ลึกซึ้งมาก เขารู้ว่าต้องมีสิ่งหนึ่งที่สามารถให้คำตอบแก่ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลได้ ซึ่งที่จริงมีอยู่ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อายตนะนั้นมีอยู่” อายตนะ ในที่นี้ ท่านหมายถึงพระนิพพาน ถึงแม้สัจธรรมของทุกสิ่งมีอยู่ แต่ไอน์สไตน์ก็ค้นไม่พบเพราะขาดเครื่องมือคือ ครูบาอาจารย์ที่สามารถถ่ายทอดความรู้เรื่องวิปัสสนา หรือ สติปัฏฐานสี่ให้ น่าเสียดายที่ไอน์สไตน์ไม่ได้เกิดในเมืองพุทธ มิเช่นนั้น อัจฉริยะบุคคลผู้นี้อาจจะสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกยุคใหม่ให้เป็นโลกที่น่าอยู่มากกว่านี้ก็เป็นได้ ความเป็นอัจฉริยบุคคลของเขาบวกกับความรู้เรื่องสติปัฏฐานสี่ย่อมสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ในแง่ของการสร้างสรรค์อารยธรรมที่เอื้ออำนวยให้มนุษย์หันเข้าหาสัจธรรมได้อย่างแท้จริง ดิฉันกำลังฝันอยู่หรือเปล่านี่?

สรุป
มาซง จากที่อธิบายมาโดยใช้ข้อเปรียบเทียบของรถไฟสองขบวนนี้แล้ว คุณคงจะเข้าใจได้ชัดเจนแล้วว่าทำไมคุณจึงรู้สึกเป็นสุขมากขึ้นมาอย่างฉับพลันทันใดเมื่อคุณสามารถพาตัวใจกลับบ้าน และมาอยู่กับที่นี่ เดี๋ยวนี้  เพราะในขณะนั้น คุณได้เข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดแล้ว ในฐานะที่คุณเป็นชาวคริสต์ ก็เท่ากับว่าคุณได้ย่างเข้าไปในอาณาจักรของพระเจ้าแล้ว ได้กลับสู่สวนอีเดนของท่านแล้ว คุณจึงมีความสุขมาก เมื่อคุณกลับมาสู่ฐานของสติเช่นลมหายใจเท่านั้น ปัญหาในใจที่มากับความคิดจะหายไปเหมือนปลิดทิ้ง เจอรี่จะปล่อยทอมให้อยู่สบายหน่อย แต่ก็แน่นอนแหละ คุณอาจจะอยู่ในดินแดนของพระเจ้าไม่ได้นาน เพราะทักษะในการขับรถไฟชีวิตของคุณยังไม่เก่ง คือ คุณยังติดการคิด ยังปล่อยวางความคิดไม่ได้อย่างทันท่วงที จึงยังไม่สามารถขับรถไฟชีวิตให้ได้ระดับเดียวกับรถไฟพระเจ้าตลอดเวลา
ก็ไม่เป็นไรนะ ค่อย ๆ ฝึกไปนะคะ คุณโชคดีมากแล้วที่เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนาทั้ง ๆ ที่อยู่ประเทศคามารูน ในทวีปอาฟริกาแท้ ๆ คุณไอน์สไตน์ยังไม่โชคดีเท่าคุณนะ ชาวพุทธไทยจะมองคุณในลักษณะที่มีบุญบารมีมากเลยค่ะ คนมีบารมีในทางธรรม แม้อยู่ไกลเพียงใด ก็ยังหาครูบาอาจารย์พบจนได้ บางคนที่อยู่แสนจะใกล้ชิดครูบาอาจารย์แท้ ๆ แต่กลับไม่ไ่ด้ความรู้อะไรไปเลย น่าเสียดายมาก เรื่องของบุญบารมีนี่ ไม่เข้าใครออกใคร ของใครก็ของเขาจริง ๆ  เอานะคะ ฝึกไปเรื่อย ๆ แล้วคุณจะเก่งขึ้นเอง อีกหน่อยก็จะสามารถอยู่ในดินแดนของพระเจ้าได้นานขึ้น

 มาซง เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่สองของปีใหม่ ดิฉันจึงขอถือโอกาสมอบจดหมายฉบับนี้เป็นของขวัญวันปีใหม่ให้คุณและลูกศิษย์ของดิฉันทุกคนที่อาศัยอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยที่ดิฉันจะส่งเป็นอีเมล์ให้พวกเขาได้อ่านกันเหมือนกับจดหมายฉบับก่อน ๆ ที่ดิฉันเขียนให้ลูกศิษย์คนอื่น แต่คุณก็ยังได้อ่านเช่นกัน นี่ก็เป็นวิธีการของดิฉันที่พยายามจะช่วยกอบกู้วัฒนธรรมสติปัฏฐานให้กลับมาสู่สังคมโลกอีก อาจเป็นเรื่องเพ้อฝันก็จริงอยู่ แต่ที่จริงแล้ว หากคุณเป็นเพียงคนเดียวในโลกที่พาตัวใจกลับบ้านได้ ดิฉันก็ำพอใจแล้วค่ะ
 ขออวยพรให้คุณมีความสามารถขับขี่รถไฟของชีวิตได้เก่ง ๆ นะคะ ขอให้มีความอดทนต่อสถานการณ์ทุกอย่างของชีวิต อย่าท้อถอย และก้มหน้าก้มตาฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านเสมอ ชีวิตของคุณจะเป็นสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่ตกต่ำอีกแล้วค่ะ

                  
http://img521.imageshack.us/img521/5573/eskimobkk112ql9.swf

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: