เรื่องดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา
www.isranews.org อ้างแหล่งข่าวจากศาลยุติธรรม ระบุว่า
ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)เมื่อเร็วๆนี้ ได้พิจารณาลงโทษทางวินัยผู้พิพากษาชั้นใหญ 7 นาย
ที่ถูกกล่าวหาว่าให้ประกันตัวจำเลยในคดีข่มขืนกระทำชำเรา
และคดียาเสพติดผิดระเบียบและกฎหมาย ซึ่งก.ต.มีมติให้ลงโทษผู้พิพากษาแต่ละรายดังนี้
1.ให้ นายองอาจ โรจนสุพจน์ ผู้พิพากษาอาวุโส อดีตรองประธานศาลฎีกา
นายสิงห์พล ละอองมณี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา พ้นจากตำแหน่ง(ไล่ออก)
ตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 32(7)
2. ให้ นายอดิศักดิ์ ทิมมาศย์ ผู้พิพากษาอาวุโส อดีตประธานศาลอุทธรณ์
นายสิทธิชัย พรหมศร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา พ้นจากตำแหน่ง(ให้ออก)
ตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 32 (7)
3.ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือน ผู้พิพากษาศาลฎีกา 2 นาย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 76 (4)
4.ให้ภาคทัณฑ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1(อดีตรองอธิบดีศาลอาญา)ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 76 (5)
แหล่งข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้พิพากษากลุ่มนี้
ประธานศาลฎีกาได้สั่งให้พักราชการนายองอาจ โรจนสุพจน์ อดีตรองประธานศาลฎีกา
นายสิงห์พล ละอองมณี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ซึ่งเป็นอำนาจของประธานศาลฎีกา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมมาตรา74 ที่ระบุว่า
เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน
หรือถูกฟ้องคดีอาญา ถ้า ก.ต. เห็นว่าจะให้อยู่ในหน้าที่ราชการระหว่างสอบสวนหรือพิจารณา
จะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้พักราชการก็ได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า การให้ไล่ออก-ให้ออกผู้พิพากษาจากการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ถือเป็นการลงโทษทางวินัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง
และเป็นผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งสูงซึ่งศาลยุติธรรมมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้ซึ่งจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่น
ในการปฏิบัติหน้าทีของศาลยุติธรรมมากขึ้นว่า เป็นไปอย่างซื่อสัตย์สุจริต เป็นไปตามระเบียบแบบแผนและรอบคอบ
หลังจากที่ ก.ต.มีมติให้ไล่ออกนายสมศักดิ์ จันทกุล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553
ซึ่งถูกกล่าวหาในทำนองเดียวกัน ในเรื่องการให้ประกันตัวจำเลย
ก็เริ่มมีการสอบสวนข้อเท็จจริงผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องเรื่อยมาแหล่งข่าวกล่าว
อนึ่ง สำหรับการลงโทษให้ผู้พิพากษาพ้นจากตำแหน่งมีรายละเอียดดังนี้
มาตรา 77 การไล่ออกนั้น ประธานศาลฎีกาจะสั่งลงโทษได้ เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
(2) กระทำความผิดอาญาและต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เว้นแต่เป็นความผิดโดย ประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(3) ไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการและจริยธรรมของข้าราชการ ตุลาการ
และการไม่ถือและปฏิบัตินั้นเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
(4) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือ (5) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
มาตรา 78 การปลดออกนั้น ประธานศาลฎีกาจะสั่งลงโทษได้ เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องถูกไล่ออกจากราชการ หรือถึงขั้นที่จะต้องไล่ออก
แต่มีเหตุอันควรลดหย่อน หรือต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
มาตรา 79 การให้ออกนั้น ประธานศาลฎีกาจะสั่งลงโทษได้ เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องถูกปลดออก หรือถึงขั้นที่จะต้องปลดออก
แต่มีเหตุอันควรลดหย่อนข้าราชการตุลาการผู้ใดถูกสั่งให้ออกตามมาตรานี้ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเสมือนว่าผู้นั้นลาออกจากราชการ
นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยหนนี้หยุดปฎิบัติหน้าที่หมดแล้ว
ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543
ถามว่าผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องจะฟ้องร้องขอเพิกถอนคำสั่งมติ ก.ต.ต่อศาลปกครองได้หรือไม่
นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ตามกฎหมายนั้นบัญญัติไว้ชัดเจนว่าไม่สามารถฟ้องร้องได้
ถามต่อว่าจะมีการดำเนินคดีอาญาต่อผู้พิพากษาที่ถูกดำเนินการทางวินัยหรือไม่
และเป็นอำนาจของใคร นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในเรื่องนี้
ซึ่งทางสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นเพียงหน่วยงานทางธุรการเท่านั้น
Cr.
http://www.naewna.com/