นายกรัฐมนตรีประกาศจัดบริการ
"ผู้ป่วยฉุกเฉิน"ทุกสิทธิ ทั้ง รพ.รัฐ-เอกชนทั่วไทย
"ไม่ถามสิทธิ-ไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า"
พร้อมวางมาตรการควบคุมราคายา การบริโภคยา
และระบบการสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค
คาดเริ่มใช้ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉินพร้อมกัน 1 เม.ย.นี้
สปส.รับลูกชงบอร์ดแก้ประกาศการแพทย์ 3 เม.ย.
ให้มีผลย้อนหลัง คาดใช้งบเพิ่ม 120 ล้านบาท
การจัดเชิงนโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ
โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
และนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมประชุม
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม
เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ
ประกอบด้วย
กองทุนสวัสดิการข้าราชการ
กองทุนประกันสังคม
และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ
โดยมีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
และคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
นายวิทยา เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ติดตาม 3 ประเด็นสำคัญ คือ
1. ความพร้อมการบูรณาการ ดูแลร่วมผู้ป่วยฉุกเฉิน ภายใต้มาตรฐานเดียวกันของ 3 กองทุน
โดยไม่มีการถามสิทธิ และไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า
2. มาตรการควบคุมราคายา และการบริโภคยาระยะยาว
3. มาตรการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค
ส่วนความคืบหน้าของการเตรียมความพร้อมให้บริการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินของ 3 กองทุนนั้น
นายกรัฐมนตรีได้ให้ 3 หน่วยงานจัดเตรียมแผนปฏิบัติการแก้ไขระเบียบกองทุน
เพื่อให้เกิดเอกภาพคล่องตัว ไม่ส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริหาร โรงพยาบาลภาครัฐ
ทั้งในและนอกสังกัด และรวมทั้ง รพ.เอกชนทั่วประเทศแล้ว
"ให้บริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินตามระบบปกติของทั้ง 3 กองทุน
และจะดูแลจนกว่าผู้ป่วยจะอาการทุเลาและกลับบ้านได้
หรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในระบบ โดยไม่ต้องมีระยะเวลาสิ้นสุด 72 ชั่วโมงเหมือนที่ผ่านมา
ซึ่ง สปสช.จะเป็นศูนย์กลางติดตามการเบิกจ่ายค่าบริการ
พร้อมทั้งจัดเตรียมสายด่วน 1330 ไว้ให้บริการข้อมูลแก่ประชาชน" นายวิทยากล่าว
เร่งทำมาตรการคุมราคายา
ส่วนมาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาระยะยาวนั้น
ที่ประชุมมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ 3 กองทุน
จัดทำมาตรการเพื่อควบคุมราคายา และการบริโภคยา เช่น การรวมซื้อยาที่ส่วนกลาง
หรือการต่อรองราคายา และส่งเสริมการสั่งยาโดยการใช้ชื่อสามัญทางยา เป็นต้น
ส่วนนโยบายการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ได้ให้ 3 กองทุนสุขภาพ
และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. บูรณาการ
ร่วมกันเสนอประเด็นลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ และลดการเจ็บป่วย
ซึ่งจะมีผลในการลดความจำเป็นในการเข้าสู่บริการบำบัดรักษาใน 5 เรื่องสำคัญในเบื้องต้น
ให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่
1. การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก
2. พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในระดับตำบล เพิ่มพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน
ลดพฤติกรรมเสี่ยงการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด
3. พัฒนาระบบการให้บริการเพื่อช่วยเลิกสูบบุหรี่
4. พัฒนาระบบการให้บริการเพื่อช่วยเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
5. การดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิต เผชิญความตายอย่างสงบ ปราศจากความเจ็บปวด
ดีเดย์ 1 เม.ย.เริ่มให้บริการ
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า
ที่ประชุมได้หารือเรื่องการพัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน
รวมถึงกรณีประสบอุบัติเหตุ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 3 ระบบ
ได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม
และระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ทั้ง รพ.รัฐและเอกชน
โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และให้การรักษาจนพ้นภาวะที่จำเป็น
ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้
โดยมีข้อตกลงทั้ง 3 ระบบจะใช้มาตรฐานเดียวกัน
หากผู้ป่วยไปใช้บริการนอกระบบที่ตนเองมีสิทธิอยู่
ก็ให้คิดค่ารักษาในอัตรา 10,500 บาทต่อระดับความรุนแรงของโรค (RW)
และคิดค่ารักษากรณีรักษาพยาบาลทั่วไป เช่น
การทำแผล จากอุบัติเหตุ ก็ให้คิดตามอัตราที่กรมบัญชีกลางกำหนดไว้
ตั้งค่าหัวบริการ 10,500 บาท
ในส่วนของประกันสังคมที่ต้องมาดำเนินการต่อ
จะมีการเสนอแก้ไขประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และอัตราการบริการกรณีอุบัติเหตุการเจ็บป่วยฉุกเฉิน
และประสบอันตราย โดยกำหนดให้กรณีผู้ป่วยระบบอื่นมาใช้บริการใน รพ.เครือข่ายระบบประกันสังคม
ก็ให้คิดค่ารักษาพยาบาลในอัตรา 10,500 บาทต่อระดับความรุนแรงของโรค (DRG)
และคิดค่ารักษาพยาบาลทั่วไปก็ให้คิดตามอัตราที่กรมบัญชีกลางกำหนด
ส่วนผู้ป่วยที่มีสิทธิอยู่ในระบบประกันสังคมเครือข่ายประกันสังคม (ผู้ประกันตน)
และเข้ารับการรักษาใน รพ.เครือข่ายประกันสังคม
ก็ยังคงคิดค่ารักษาพยาบาลในอัตรา 15,000 บาทต่อ RW
"จะมีการเสนอเข้าคณะกรรมการการแพทย์ในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้น
จะเสนอเข้าบอร์ดประกันสังคม ในวันที่ 3 เม.ย.นี้ เพื่อพิจารณาต่อไป
พร้อมกันนี้ จะมอบให้ สปส.เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจถึงระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน
ในระบบใหม่ว่ามีโรคใดบ้างที่เข้าข่าย เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ
เส้นเลือดสมองแตก หัวใจวายเฉียบพลัน" นพ.สุรเดชกล่าว
เขาบอกอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะกรรมการประกันสังคมจะประชุมในวันที่ 3 เม.ย.
ซึ่งหลังจากนโยบายเริ่มบังคับใช้ไปแล้วในวันที่ 1 เม.ย.
แต่จะมีการตั้งงบประมาณย้อนหลัง เพื่อรับระบบใหม่ในช่วง 6 เดือนแรก (เม.ย.-ก.ย. 2555)
คาดว่าจะใช้งบเพิ่มขึ้นอีก 120 ล้านบาท นอกจากนี้
ที่ประชุมยังได้หารือถึงการร่วมกันพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลโรคร้ายให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
โดยตั้งเป้าจะนำร่องโรคไต และเอดส์ ด้วยเช่นกัน
Credit
http://www.suthichaiyoon.com/detail/24853