ศาลาแก้วกู่ (วัดแขก) อุทยานเทวาลัย จ.หนองคาย (สำนักพุทธมามกสมาคม จ.หนองคาย)
แหล่งท่องเที่ยวห่างจากตัวเมืองหนองคายเพียง 3 กม. ด้วยความอลังการงานสร้างด้วยความศรัทธายิ่งใหญ่อาคารศาลาแก้วกู่ ภายในจัดเก็บวัตถุโบราณ พระพุทธรูปโบราณล้ำค่า และร่างอันสงบ ไม่เปื่อยเน่าของปู่เหลือ
สิ้นชีวิตมาแล้วกว่า 10 ปี นักพรต ผู้ก่อตั้ง ศาลาแก้วกู่
*** ศาลาแก้วกู่ สร้างโดยปรารถนาให้ที่แห่งนี้เป็น เมืองอมตะแก้วกู่มหานิพพาน หรือดินแดนแห่งการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เชื่อว่า ทุกศาสนาผสมผสานกันได้ ...ตั้งอยู่ ชุมชนสามัคคี อ.เมือง จ.หนองคาย ในพื้นที่ 42 ไร่ รูปปั้น ทั้งเล็กใหญ่แล้วว่ากันว่ามีไม่น้อยกว่าหลักพัน
ศาลาแก้วกู่สร้างขึ้นโดยการนำของ “ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” หรือ “ปู่เหลือ” (พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๕๓๙) ซึ่งมีประวัติชีวิตและผลงานอัศจรรย์ เกินกว่าจะประมวลได้ จึงขอเก็บความจากหนังสือ “ศาลาแก้วกู่” ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ พิมพ์ครั้งที่ ๓ มาไว้พอสังเขป
“เมื่อ นางคำปลิว สุรีรัตน์ (พี่สาวคนโต) ชาวหนองคาย แต่งงานได้ระยะหนึ่งก็ฝันว่ามีชีปะขาวนำนาคมรกตมามอบให้ แต่บอกว่าอีก ๗ เดือนค่อยไปรับมาเป็นของตน ต่อมาแม่ตั้งท้องลูกคนที่เจ็ดในวัยสูงอายุและหมดประจำเดือนแล้ว และคลอดเมื่ออายุครรภ์ได้ ๗ เดือน ทุกคนจึงเชื่อว่าเป็นไปตามนิมิตในฝัน นางคำปลิวและสามีจึงรับน้องชายมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่แรกเกิด
ด.ช.บุญเหลือชอบเข้าวัดมาแต่เด็ก พออายุได้หกขวบนางคำปลิวเสียชีวิตลง สามีนางคำปลิวมีภรรยาใหม่ ด.ช.บุญเหลือจึงกลับไปอยู่กับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด แต่มักขัดขวางห้ามปรามผู้ใหญ่ในทางบาปต่างๆ จึงไม่เป็นที่รักใคร่ของญาติพี่น้อง ครั้นอายุ ๑๒ ปี ทนความกดดันรอบข้างไม่ไหว จึงหนีออกจากบ้านรอนแรมไปจนพบสำนักอาศรมแก้วกู่ในเขตแดนลาวและได้ฝากตัว ศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติธรรมอยู่กับพระมุนีที่นั่น จนอายุครบ ๒๐ ปี พระมุนีจึงให้ออกจากสำนักไปจาริกแสวงบุญโปรดญาติโยมทั้งใกล้และไกล เมื่ออายุ ๓๐ ปี จึงได้กลับมาปรนนิบัติตอบแทนคุณในวาระสุดท้ายของชีวิตพ่อแม่ ก่อนแม่สิ้นบุญในปี ๒๕๐๗ ได้มอบที่ดิน ๘ ไร่ ณ บ้านเชียงควาน เมืองท่าเดื่อ เวียงจันท์ ไว้เป็นมรดก
ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ปู่เหลือได้พัฒนาที่ดินดังกล่าวสร้างเป็น “ปูชนียสถานเทวาลัยอย่างมหึมา” พุทธศาสนิกชนทั้งในภาคพื้นยุโรปและเอเชียเลื่อมใสมาก แต่เมื่อเกิดเหตุวิกฤตในราชอาณาจักรลาวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงปู่จึงพาลูกศิษย์ข้ามโขงมา และรวมกันจัดตั้งเป็น “พุทธมามกสมาคมจังหวัดหนองคาย” โดยกรมการศาสนารับรองให้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙
ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ สานุศิษย์ได้จัดซื้อที่ดินราว ๔๑ ไร่ ในเขตบ้านสามัคคี ต.หาดคำ ถวายให้เป็นที่ตั้งสำนักจวบจนปัจจุบัน
ต้นปี พ.ศ.๒๕๒๗ ปู่เหลือถูกใส่ความและมีผู้ไปแจ้งตำรวจตั้งข้อหาฉกรรจ์ (ซึ่งทางสำนักขอสงวนไว้) ต้องอยู่ในเรือนจำจนถึงปลายปี ๒๕๒๙ เมื่อออกมาแล้วก็สร้างเทวรูปอีกมากมาย ทั้งเล็กและใหญ่ และทั้งขนาดที่สูงถึง ๓๓ เมตร เมื่อสร้างทั้งพุทธรูและเทวรูปถึง ๒๐๙ ปางแล้ว ก็สร้างศาลาแก้วกู่หลังใหม่โดยรื้อหลังเก่า ( พ.ศ.๒๕๒๓ – ๒๕๓๘) ที่ทรุดโทรมลง ขณะก่อสร้างศาลาหลังใหม่ ปู่เหลือก็ล้มป่วยและต่อมาได้เสียชีวิตลงในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๙ สานุศิษย์ได้นำผอบแก้วใส่ร่างของท่านไว้ตามความประสงค์ก่อนสิ้นชีวิต”
สิ่งที่ ประจักษ์แก่สายตาเมื่อก้าวเข้าไปในมหัศจรรย์สถานแห่งนี้ นอกจากศาลาที่มีหลังคาเป็นรูปหมวก (หรือศิวลึงค์?!?) อันเป็นสถานที่จุดธูปเทียนบูชาแล้ว ก็จะเห็นอาคารสูงหลายชั้นที่เรียกว่า “ศาลาแก้วกู่” ใช้เป็นสำนักงาน จัดเก็บประวัติและข้าวของสารพัดชนิด หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมก็ได้
พื้นที่กลางแจ้งหรือที่หลายคนยกให้เป็น “พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง” มีสิ่งที่เรียกว่า “ปูชนียวัตถุและพุทธปูชนียสถานเทวาลัย” คือรูปปั้นพิสดารพันลึกมากมาย อาทิ รูปปั้นปางพระอิศวร – พระอุมาเสวยสุข ปางพระพุทธเจ้าเสด็จหนีออกบรรพชา ปางทรงศึกษาที่ธรรมะกับพระฤาษี ปางกามเทพ (คิวปิต) ปางฤาษีแก้วกู่อะธามา ปางพระขันทกุมาร ฯลฯ เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยก็จะทำพิธีอัญเชิญเทพเทวามาสถิต
นอกจากนี้แล้ว ยังมีรูปปั้นเล่าเรื่องต่างๆ อีกมาก ทั้งรูปปั้นเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ รามเกียรติ์ ตำนานพื้นบ้านเช่นท้าวฮุ่งท้าวเจือง รูปปั้นราหูอมจันทร์ ฯลฯ จนถึงปัจจุบันเมื่อรวมรูปปั้นทั้งเล็กใหญ่แล้วว่ากันว่ามีไม่น้อยกว่าหลัก พัน ที่ฐานของเทวรูปและรูปปั้นต่างๆ จะมีคำบรรยายจารึกไว้ซึ่งมีทั้งภาษาไทย ภาษาอีสาน และส่วนที่เรียกว่า “ปริศนาธรรม” บ้างคนนิยมมาเที่ยวชมที่นี่เหมือนมาเที่ยวชมภาพจำลองนรก-สวรรค์ และดินแดนรวมแห่งทุกศาสนา
ทั้งนี้ทางสำนักยังคงมีแผนจะดำเนินการก่อสร้างไปอีกเรื่อยๆ ตามกาลเวลาและศรัทธา และตามคำสอนของปู่เหลือที่ว่าทุกศาสนาผสมผสานกันได้ และปรารถนาให้ที่แห่งนี้เป็น “เมืองอมตะแก้วกู่มหานิพพาน หรือดินแดนแห่งการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง”
เรื่องและที่มา :
-
http://sala-saeoku.blogspot.com-
http://www.muangboranjournal.com