ทะเคะฮิสะเกษตรพันล้านแห่งจิบะ กับข้อคิด..ชาวไร่แดนอาทิตย์อุทัย รวยเพราะ...?
ปื้น ปากพนัง:
ร้านไอศกรีมเล็กๆ ติดกับไร่ ขายดีจนผู้คนจากต่างเมืองต้องแห่มาชิม
เจ้าของไร่ลูกท้อยะมะชิตะยังบอกอีกด้วยว่ากำลังคิดจะเอาไอศกรีมลูกท้อมาวางขายในประเทศไทยอยู่เหมือนกัน เล็งเอาไว้ว่าจะวางขายในร้านอาหารเป็นหลัก อย่างที่ทำสำเร็จมาแล้วในสิงคโปร์ เริ่มจากลูกค้าคนที่มาติดต่อซื้อลูกท้อจากสวนไปขาย บ่นว่าอยากกินลูกท้อช่วงนอกฤดูกาลด้วย จึงตกลงหอบไอศกรีมข้ามประเทศไปขายและได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลาม เรียกได้ว่า ยิ่งคิด ยิ่งมีทางไป ลองหันกลับมามองเพื่อนร่วมอาชีพจากแดนไทยดูบ้าง เหตุใดจึง ยิ่งคิด ยิ่งมีแต่ทางตัน คำถามนี้ตอบเลยว่าเป็นเพราะเรายังไม่มีหัวคิดบริหารและการจัดการที่ดีพอ ทวีนันท์ ชัยนา ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปผลิตภัฑณ์จากสถาบันอาหาร ช่วยวิเคราะห์ให้ฟัง
เราเคยพาผู้ประกอบการที่สงขลาไปขายตามงานผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น มีคุณป้าคนนึงทำ น้ำแกงส้ม ขาย ทำแบบชาวบ้านๆ เลย พอไปขาย เหมือนเราเป็นดอกไม้ป่าท่ามกลางดอกไม้พลาสติก คนก็มารุมซื้อของแกนะคะ เพราะแกไม่ใส่กรดซิติก แต่ใช้มะนาวแท้ๆ เขามีจุดขายก็เลยมีคนสนใจติดต่อ จนทางเซเว่นฯ เข้ามาจีบเลย แล้วให้ไปคิดดูว่าขายยังไง ไหวมั้ย
แต่บางทีความสำเร็จมันไม่ได้หมายความว่าต้องเข้าไปห้างใหญ่-ห้างดัง ส่งของได้ 6,000 สาขา เพราะถ้าเราส่งของเขา เขาขายไม่ออก เขาก็ไม่สั่งเพิ่ม หรือถ้าเราส่งไป เขาขายออก แต่เราผลิตไม่ทัน ไม่ใช่แค่เราขาดลูกค้านะ แต่เราจะโดนปรับตามมูลค่าที่เขาเสียหาย ก็เลยต้องหยุดการขายแบบนี้ก่อน และตอนนี้ก็อาศัยวิธีขายทางไปรษณีย์แทน โพสต์ขึ้นเว็บแล้วก็มีลูกค้ามาสั่ง และจุดแข็งที่ต่างจากรายใหญ่ก็คือ ใครสั่งมาเท่าไหร่ เราก็ส่งให้ เพราะค่าส่งคนซื้อเป็นคนจ่ายอยู่แล้ว เราต้องมีจุดขายของเราน่ะค่ะ
เท่าที่ลงไปช่วยเหลือเกษตรกรมาทำให้เห็นว่า พี่ๆ เกษตรกรเขารู้นะว่าทำยังไงให้ได้ของอร่อย แต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้อยู่ได้นาน จะทำยังไงให้ขายได้ เพราะฉะนั้น การฝึกอบรมเรื่องเทคนิคการแปรรูปน่าจะเหมาะกับพวกเขาที่สุด แต่เป็นการฝึกโดยไม่ได้ชี้แนะให้เขาไปทำธุรกิจอะไรนะคะ แต่จะบอกเป็นเทคนิคในเรื่องต่างๆ เช่น เทคนิคการใช้ความเย็นในการแปรรูป
อยากแนะนำเรื่องกระบวนการคิดในส่วนงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ค่ะ ปกติแล้วจะทำสินค้าสักชิ้นออกมา เราจะรวมกลุ่มกันแล้วซื้อ post it มาแปะค่ะ ว่าใครอยากทำอะไร แล้วมาดูว่าเป็นไปได้มั้ย ขายได้มั้ย ต้องลงทุนมั้ย แล้วก็ค่อยๆ ดึง post it ที่เป็นไปไม่ได้ออก สุดท้ายจากเป็นสิบๆ แผ่นก็จะเหลืออยู่ไม่กี่แผ่นค่ะ พอตัดสินใจจะทำผลิตภัณฑ์ตัวไหน เราก็ต้องลองทำในแล็บก่อน ทำออกมา ลองชิมก่อน แล้วถ้าใช้ได้ ถึงค่อยทำล็อตใหญ่ออกมา เพื่อให้คนกลุ่มใหญ่ชิมได้ หลังจากนั้น ถ้าคนจำนวนนั้นพึงพอใจกับมัน เราถึงจะเริ่มลงทุนสั่งทำบรรจุภัณฑ์ เพราะถ้าเมื่อไหร่เราลงทุนกับบรรจุภัณฑ์ปุ๊บ มันแสดงว่าเราจะต้องดันออกไปละ เพื่อให้ขายได้
แต่ชาวบ้านหลายๆ คนทำผิดขั้นตอนไป เห็นหลายๆ ที่ ชาวบ้านตัวเล็กๆ อยากจะทำกาแฟ ไปสั่งทำกล่องไว้ก่อนเลย พอทำเสร็จปุ๊บ กาแฟที่ทำขายไม่ได้ ก็เลยต้องเอาฉลากอะไรไม่รู้ไปติดบนกล่อง เปลี่ยนจากกาแฟเป็นชา มันเลยทำให้กล่องเราไม่สวย เพราะเราเลือกที่จะลงทุนก่อน ไม่ได้เลือกที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อน สุดท้ายก็เลยไปไม่รอด
ปื้น ปากพนัง:
สินค้าแต่ละอย่างมี Story มีป้ายติดบอกเล่าที่มาน่าสนใจ
หัด คิดมาก-สร้างเรื่อง
อยากรวยเหมือนเขา เจริญเหมือนเขา ต้องหัด คิดเยอะๆ ให้เหมือนเขา อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเกษตร ประจำกรุงโตเกียว ให้คำแนะนำสั้นๆ เอาไว้ก่อนเจาะลึกรายละเอียดเพิ่มเติม
มันเป็นพื้นฐานนิสัยของคนญี่ปุ่นเลยครับ คนที่เขาผลิต เขามีความตั้งใจ เวลาทำสินค้าออกมาสักอย่างหรือปลูกพืชออกมาสักชนิด เขาไม่ได้สักแต่คิดว่าจะทำให้ได้ตังค์ เขาอยากจะเอาความสุข ความอร่อย อยากมอบสิ่งดีๆ ให้ผู้บริโภค ไม่ใช่มองแค่เป็นสินค้าแล้วขายเพื่อให้ได้ตังค์ อันนี้มารู้มาจากที่เคยได้นั่งพูดคุยกับคนญี่ปุ่นหลายๆ คนเลยนะครับ ทำให้รู้ว่าเขาคิดกันอย่างนี้จริงๆ เขาอยากให้คนกินได้รับคุณภาพ สุขภาพดี
ที่เห็นชัดมากอีกอย่างคือทุกอย่างเขาจะมี Story เขามีจุดขายตลอด เขาจะเล่ามาหมดเลยว่า ข้าวจากนานี้จะมีรสชาติเป็นยังไง กลิ่นยังไง รสแบบไหน วิธีการผลิตแตกต่างจากที่อื่นยังไง เขาเล่ารายละเอียดทุกอย่างจนคนสนใจ คนซื้อรู้สึกว่ามันมีคุณค่า แต่เรื่องนี้ จะไปโทษว่าเกษตรกรบ้านเราไม่มีเรื่องเล่าอย่างเดียวมันก็ไม่ได้นะ มันขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมทางธรรมขาติด้วย อย่างญี่ปุ่น น้ำใต้ดินของเขาบางที่ก็เป็นน้ำแร่ แต่ละที่ก็มีแร่ธาตุต่างๆ ไม่เหมือนกัน เขาก็จะคิดหมดว่า ถ้าปลูกพืชตรงนี้ แถวแหล่งแร่นี้ แร่นี้จะช่วยให้พืชของเขาได้อะไร พิเศษยังไง เขาก็เอาตรงนี้มาเป็นจุดขาย เขามีการทำข้อมูลและวิจัยเกี่ยวกับแต่ละพื้นที่ออกมาและเอามาใช้ประโยชน์กันอย่างจริงจัง
ผมว่าเกษตรกรทุกคนก็อยากแปรรูปนะ ไม่ใช่ไม่อยาก แต่เขากลัวว่าทำออกมาแล้วจะขายได้มั้ย? และถ้าไม่มีเครื่องจักรเอง ส่งให้โรงสีเขาแปรรูป มันก็จบ จะลงทุนเครื่องจักรก็กลัวว่าลงทุนไปแล้วขายไม่ได้จะยิ่งเป็นหนี้ เพราะฉะนั้น จะแก้ปัญหา มันต้องแก้ทั้งระบบ ดูว่าควรให้ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานไหนเข้าไปช่วยดี หาคนมาจัดการเรื่องการตลาดและยกระดับไปพร้อมๆ กัน ภาครัฐอาจจะแค่เข้ามาช่วยให้มีถนน มีตลาดชุมชน มีโรงสี มีเครื่องจักรให้เกษตรกรได้ใช้ร่วมกัน ช่วยเปิดหูเปิดตาเกษตรกร พามาดูว่าเขามีวิธีการแปรรูปกันยังไง วันนึงเกษตรกรก็จะเข้มแข็งและสามารถยืนได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งเงินกู้
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Lite
เรื่องและภาพ: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000107793
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[*] หน้าที่แล้ว