กระทู้ธรรม

กระทู้ธรรม

<< < (6/48) > >>

kittanan_2589:
เรื่องของเทวดากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมากมายในพระไตรปิฎกทั้ง ที่เป็นเหตุการณ์ทั่วไปรวมไปถึงบางส่วนที่เป็นข้ออรรถข้อธรรมที่สามารถนำมา ใช้ในการปฏิบัติเพื่อการบรรลุมรรคผลพระนิพพานในชาติปัจจุบัน
ดังนั้น กระทู้นี้จะขอยกเรื่องของเทวดาที่มีมาในพระพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎกที่พอจะหา ข้อมูลได้ มาให้ได้อ่านกันเป็นข้อธรรมในรูปแบบของ "เทวดากล่าว พระพุทธเจ้าตรัส" ขอเชิญท่านทั้งหลายพิจารณานำไปใช้ตามความพอเหมาะของตนให้เจริญในธรรมด้วยกัน นะครับ

ผู้ไม่ถูกชักนำไปในวาทะของผู้อื่น

เทวดากล่าว
"บุคคลเหล่าใดลืมเลือนพระธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านั้นย่อมถูกชักนำไปในวาทะของบุคคลอื่นได้ บุคคลเหล่านั้นนับว่า..หลับไม่ตื่น.. เวลานี้เป็นเวลาอันสมควรเพื่อจะตื่นขึ้นของคนเหล่านั้น"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"บุคคลเหล่าใดไม่ลืมเลือนพระธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านั้นจะไม่ถูกชักนำไปตามวาทะของบุคคลอื่น เพราะบุคคลผู้รู้ดี รู้ทั่วถึงธรรมโดยชอบย่อมประพฤติธรรมสม่ำเสมอ ในเมื่อบุคคลอื่น ๆ ยังประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ กันอยู่"

ความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรม

เทวดากล่าว
"บุคคลเหล่าใด ยังไม่รู้แจ่มแจ้งในพระธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านั้น ย่อมถูกชักนำไปในวาทะของบุคคลเหล่าอื่นได้ บุคคลเหล่านั้น นับว่ายังหลับอยู่ ไม่ตื่น เวลานี้เป็นเวลาอันควรเพื่อตื่นขึ้นของบุคคลเหล่านั้น"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"บุคคลทั้งหลายเหล่าใด รู้แจ่มแจ้งในพระธรรมทั้งหลายแล้ว บุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ถูกชักนำไปในวาทะของบุคคลเหล่าอื่น
บุคคลผู้รู้ดีทั้งหลาย รู้ทั่วถึงโดยชอบแล้ว ย่อมประพฤติเสมอในหมู่สัตว์ผู้ประพฤติไม่เสมอ"

ชีวิตอันความชราต้อนเข้าไป

เทวดากล่าว
"ชีวิตมีช่วงอายุเวลาสั้น ถูกชราต้อนเข้าไปเรื่อย
เมื่อบุคคลถูกความชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีใครช่วยป้องกันได้
บุคคลเมื่อเล็งเห็นภัยนี้ในมรณะ ควรบำเพ็ญบุญทั้งหลายที่จะนำความสุขมาให้ไว้เถิด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ชีวิตมีช่วงอายุเวลาสั้น ถูกชราต้อนเข้าไปเรื่อย
เมื่อบุคคลถูกความชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีใครช่วยป้องกันได้
บุคคลเมื่อเล็งเห็นภัยนี้ในมรณะ ควรละโลกามิสเสีย มุ่งแต่สันติเถิด"

กาลเวลาล่วงผ่านไป

เทวดากล่าว
"กาลเวลาย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ช่วงแห่งวัยก็ย่อมละไปตามลำดับ
บุคคลเมื่อเล็งเห็นภัยนี้ในมรณะ ควรบำเพ็ญบุญทั้งหลายที่จะนำความสุขมาให้..ไว้เถิด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"กาลเวลาย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ช่วงแห่งวัยก็ย่อมละไปตามลำดับ
บุคคลเมื่อเล็งเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงละโลกามิสเสีย มุ่งแต่สันติเถิด"

ความลำบากในการบำเพ็ญธรรม

เทวดากล่าว
"ภาวะของสมณะ คนไม่ฉลาดบำเพ็ญได้ลำบาก และอดทนได้ยาก เพราะว่าในภาวะของสมณะนั้นมีความคับใจมาก ที่เป็นเหตุให้คนพาลติดขัด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"คนพาลประพฤติธรรมของสมณะเป็นเวลานานเท่านาน หากยังห้ามจิตไว้ไม่ได้ ยังตกอยู่ในอำนาจแห่งความดำริวิตก ก็จะพึงติดขัดทุก ๆ อารมณ์
หากภิกษุยับยั้งความวิตกไว้ได้ เหมือนเต่าหดอวัยวะของมันไว้ในกระดอง ไม่ถูกตัณหานิสัย และทิฐินิสัยพัวพัน ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ดับกิเลสได้แล้ว จะไม่พึงถูกใครติเตียนได้เลย"

กีดกันอกุศลธรรมด้วยหิริ

เทวดากล่าว
"บุรุษกีดกันอกุศลธรรมได้ด้วยหิริ*มีอยู่น้อยคนในโลก
ภิกษุรูปใดบรรเทาความหลับได้ เหมือนม้าชั้นดีหลบแส้ได้ฉะนั้น ภิกษุรูปนั้นมีอยู่น้อยในโลก"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้กีดกันอกุศลธรรมได้ด้วยหิริ มีสติ ประพฤติธรรมอยู่ทุกเมื่อ ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพเหล่านั้นมีอยู่น้อยองค์ในโลก
ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพทั้งหลาย บรรลุที่สุดแห่งทุกข์แล้ว ย่อมประพฤติธรรมได้สม่ำเสมอ เมื่อคนอื่นยังประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ กันอยู่"

* หิริ - ความละอาย

kittanan_2589:
ละกิเลสประหนึ่งถูกแทงอยู่ด้วยหอก

เทวดากล่าว
"ภิกษุพึงมีสติหลีกเร้นอยู่ เพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกแทงด้วยหอกมุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ ฉะนั้น"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ภิกษุพึงมีสติหลีกเร้นอยู่ เพื่อละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษที่ถูกแทงด้วยหอกมุ่งถอนออก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ ฉะนั้น"

วิบากกรรม

เทวดากล่าว
"วิบากแห่งกรรมย่อมไม่ถูกต้องบุคคลผู้ไม่ก่อกรรม
วิบากแห่งกรรมพึงถูกต้องบุคคลผู้ก่อกรรมเท่านั้น
เพราะฉะนั้น วิบากแห่งกรรมจึงถูกต้องบุคคลผู้ก่อกรรม ผู้ประทุษร้ายบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายโดยแท้"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"บุคคลใดประทุษร้ายต่อนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้บริสุทธิ์จากกิเลส บาปย่อมย้อนกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลโดยแท้ ประดุจธุลีอันละเอียดที่เขาซัดไปทวนลมแล้วย้อนกลับมา ฉะนั้น"

การห้ามใจ

เทวดากล่าว
"บุคคลพึงห้ามใจแต่อารมณ์ใด ๆ ไว้ได้ ทุกข์ย่อมไม่เข้าถึงบุคคลนั้นเพราะเหตุแห่งอารมณ์นั้น ๆ
บุคคลพึงห้ามใจแต่อารมณ์ทั้งปวง บุคคลนั้นย่อมพ้นจากทุกข์ เพราะเหตุแห่งอารมณ์ทั้งปวง"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"บุคคลไม่พึงห้ามใจแต่อารมณ์ทั้งปวงที่เป็นเหตุให้ใจมีความสำรวม
บาปย่อมเกิดขึ้นจากอารมณ์ใด ๆ บุคคลพึงห้ามใจจากอารมณ์นั้น ๆ เสีย"

การนั่งใกล้พระสุคตเจ้า

เทวดากล่าว
"ชนเหล่าใดนั่งใกล้พระสุคตเจ้า มอบตนไว้ในศาสนาของพระโคดม ไม่ประมาทแล้วตามศึกษาอยู่ ชนเหล่านั้นถึงความสุขแล้วหนอ"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ชนเหล่าใดเป็นผู้เพ่งพินิจ ตามศึกษาในข้อสั่งสอนที่เรากล่าวไว้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่ประมาทอยู่ในกาล ไม่พึงไปสู่อำนาจแห่งมัจจุเลย"
(เวณฑุสูตร)

ผู้มีสติในที่คับขัน

เทวดากล่าว (ปัญจาลจัณฑเทวบุตร)
"บุคคลผู้มีปัญญามาก ได้ประสบโอกาสในที่คับขันหนอ
ผู้ใดได้บรรลุฌานย่อมเป็นผู้ตื่น ผู้นั้นเป็นผู้หลีกออกได้อย่างองอาจ เป็นมุนี"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ก็ชนเหล่าใด แม้อยู่ในที่คับขัน แต่กลับได้สติเพื่อการบรรลุพระธรรม คือ พระนิพพาน ชนเหล่านั้นตั้งมั่นดีแล้วโดยชอบ"
(ปัญจาลจัณฑสูตร)

ผู้ที่เรียกว่าพราหมณ์

เทวดากล่าว (ทามลิเทวบุตร)
"พราหมณ์ผู้ไม่เกียจคร้าน พึงทำความเพียรนี้ เพราะละกามทั้งหลายได้เด็ดขาดแล้ว ด้วยเหตุนั้น เขาจึงไม่ปรารถนาภพ"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ทามลิ กิจไม่มีแก่พราหมณ์* เพราะว่าพราหมณ์ทำกิจเสร็จแล้ว
บุคคลยังไม่ได้ท่าจอดในแม่น้ำทั้งหลายเพียงใด เขาเป็นสัตว์บก ต้องพยายามด้วยตนเองทุกอย่างเพียงนั้น
ก็พวกเขาผู้นั้นได้ท่าเป็นที่จอดแล้ว ยืนอยู่บนบก ก็ไม่ต้องพยายามเพราะเขาถึงฝั่งแล้ว
ดูก่อนทามลิเทวบุตร นี่เป็นข้ออุปมาแห่งพราหมณ์ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ พราหมณ์นั้นถึงที่สุดแห่งชาติและมรณะแล้ว ไม่ต้องพยายามเพราะเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว"
(ทามลิสูตร)
*พราหมณ์ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคหมายถึงพระขีณาสพ

ผู้เข้าถึงฌาน

เทวดากล่าว (จันทิมสเทวบุตร)
"ก็ชนเหล่าใดเข้าถึงฌาน มีจิตเป็นสมาธิ มีสติ มีปัญญา
ชนเหล่านั้นจักถึงความสวัสดี ประดุจเนื้อทรายในชวากเขา ไร้ริ้นยุง ฉะนั้น"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ก็ชนเหล่าใดเข้าถึงฌาน ไม่ประมาท ละกิเลสได้
ชนเหล่านั้นจักถึงฝั่ง ประดุจปลาทำลายข่ายได้แล้วว่ายไป ฉะนั้น"

โลก

เทวดากล่าว
"โลกอันอะไรนำไป อันอะไรเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไรหนอ"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจธรรมอย่างหนึ่งคือจิต"

เทวดากล่าว
"โลกอันอะไรหนอนำไป อันอะไรหนอเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไรหนอ"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"โลกอันตัณหาย่อมชักนำไป อันตัณหาย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจธรรมอย่างหนึ่งคือตัณหา"

เทวดากล่าว
"โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้ อะไรเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละขาดซึ่งธรรมอะไรจึงเรียกว่านิพพาน"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ มีวิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาได้ขาด จึงเรียกว่านิพพาน"

เทวดากล่าว
"โลกมีอะไรเป็นเครื่องผูกไว้ อะไรเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละอะไรเสียได้จึงตัดเครื่องผูกได้หมด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้ โลกนั้นมีวิตกเป็นเครื่องเที่ยวไป เพราะละตัณหาได้เด็ดขาด จึงตัดเครื่องผูกได้หมด"

เทวดากล่าว
"โลกอันอะไรผูกเอาไว้ เพราะกำจัดอะไรเสียได้จึงหลุดพ้น เพราะละอะไรได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทุกอย่าง"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"โลกอันความอยากผูกเอาไว้ เพราะกำจัดความอยากเสียได้จึงหลุดพ้น เพราะละความอยากได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด"

สางเครื่องยุ่ง

เทวดากล่าว
"หมู่สัตว์ยุ่งทั้งภายใน ยุ่งทั้งภายนอก ถูกความยุ่งพาให้นุงนังแล้ว ข้าแต่พระโคดม เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ว่า ใครพึงสางเครื่องยุ่งนุงนังนี้ได้"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"นรชนคนมีปัญญา เห็นภัย ดำรงมั่นแล้วในศีล อบรมจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญาเครื่องรักษาตัวรอดนั้น พึงสางเครื่องยุ่งนุงนังนี้ได้
บุคคลเหล่าใดกำจัดราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว บุคคลเหล่านั้น มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่ไกลจากกิเลส บุคคลเหล่านั้นสางตัณหาอันเป็นเครื่องยุ่งได้แล้ว นามก็ดี รูปก็ดี ปฏิฆสัญญาและรูปสัญญาก็ดี ดับหมดในที่ใด ตัณหาอันเป็นเครื่องยุ่งนั้น ก็ย่อมขาดหมดไปในที่นั้น"


บุคคลให้สิ่งใดจึงชื่อว่าให้สิ่งนั้น

เทวดากล่าว
"บุคคลให้อะไร ชื่อว่าให้กำลัง
ให้อะไร ชื่อว่าให้วรรณะ
ให้อะไร ชื่อว่าให้ความสุข
ให้อะไร ชื่อว่าให้จักษุ
และบุคคลเช่นไร ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"บุคคลให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง
ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ
ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข
ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ
และให้ที่พักพาอาศัย ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ส่วนผู้ที่พร่ำสอนพระธรรม ชื่อว่าให้อมฤตธรรม"

บุญที่เจริญทั้งกลางวันกลางคืน

เทวดากล่าว
"บุญย่อมเจริญทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดกาลทุกเมื่อ แก่ชนพวกไหน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในพระธรรม และสมบูรณ์ด้วยศีลแล้วย่อมไปสู่สวรรค์เล่า"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ชนเหล่าใดสร้างวัดวาอาราม ปลูกสวนไม้ดอกไม้ผล ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา สร้างสะพาน สระน้ำ บ่อน้ำ และบ้านเรือนที่พักอาศัยให้เป็นทาน บุญย่อมเจริญแก่เขาทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดกาลทุกเมื่อ ทั้งชนเหล่านั้นยังตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล จึงไปสู่สวรรค์อย่างแน่นอน"
(วนโรปสูตร)

เหตุให้วรรณะผ่องใส

เทวดากล่าว
"ผิวพรรณของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่แต่ในป่า เป็นสัตบุรุษ ประพฤติธรรมอันประเสริฐ ฉันอาหารมื้อเดียว ย่อมผ่องใสเพราะเหตุแห่งอะไร"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ภิกษุทั้งหลาย ย่อมไม่คิดเสียดายถึงปัจจัยที่ล่วงมาแล้ว และย่อมไม่ปรารถนาปัจจัยที่ยังไม่มาถึง ย่อมเลี้ยงชีพด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ผิวพรรณของภิกษุเหล่านั้น จึงผ่องใสด้วยเหตุนั้น
เพราะปรารถนาในปัจจัยที่ยังไม่มาถึง และเพราะหวนคิดเสียดายถึงปัจจัยที่ล่วงมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ภิกษุทั้งหลายผู้ยังเขลาอยู่ จึงซูบซีดไปเหมือนต้นอ้อสดถูกถอนขึ้นแล้ว ฉะนั้น"
(อรัญญสูตร)

kittanan_2589:
เมื่อคนที่มีดวงตาเห็นธรรมมองไปที่สิ่งใดในโลก เขาจะเห็นไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในสิ่งนั้นพร้อมกันไปด้วย ทั้งนี้เพราะไตรลักษณ์เป็นสามัญลักษณะคือลักษณะที่สรรพสิ่งต้องมีเหมือนกัน หมด ดังนั้น เราจึงกล่าวได้ว่า

คนที่เห็นไตรลักษณ์ก็คือคนที่เห็นสรรพสิ่งเป็นหนึ่งและเห็นความเป็นหนึ่งในสรรพสิ่ง

ที่ว่า “เห็นสรรพสิ่งเป็นหนึ่ง” หมายถึงว่า มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีสามัญลักษณะหรือลักษณะร่วมกันเหมือนกันคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ที่ว่า “เห็นความเป็นหนึ่งในสรรพสิ่ง” หมายถึงว่า เห็นสามัญลักษณะคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง

ผู้ที่เห็นสรรพสิ่งเป็นหนึ่งและเห็นความเป็นหนึ่งในสรรพสิ่งชื่อว่ามีดวงตาเห็นธรรม

ผู้ใดเห็นมี “ดวงตาธรรม” ผู้นั้นชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระวักกลิว่า
“โย หิ ปสฺสติ สทฺธมฺมํ โส มํ ปสฺสติ ปณฺฑิโต” เป็นต้น แปลความว่า “ผู้ใดเห็นสัทธรรม ผู้นั้นเห็นเรา เขาเป็นบัณฑิต ส่วนผู้ที่ไม่เห็นสัทธรรม แม้จะมองดูเราก็ไม่เห็นเรา”

ดังนั้น เรากราบพระพุทธรูปครั้งใด ต้องเตือนตัวเองทุกครั้งให้มองเห็นธรรมคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นธรรม จิตของเราจะเข้าสู่กระแสนิโรธคือความดับทุกข์ เราจะสามารถอยู่ในโลกโดยไม่จมอยู่กับโลกธรรม แต่สามารถลอยตัวอยู่เหนือโลกธรรมทั้งปวงเหมือนดอกบัวที่เบ่งบานอยู่เหนือ น้ำ”

เมื่อเรากราบพระพุทธรูป เราจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนดอกบัว ที่เป็นอย่างนี้เพราะพระพุทธเจ้าทรงเปรียบพระองค์เองเหมือนดอกบัวที่เกิดจาก โคลนตมแต่โผล่พ้นน้ำโดยไม่แปดเปื้อนมลภาวะรอบข้าง พระพุทธเจ้าทรงอยู่ในโลกโดยที่จิตใจของพระองค์อยู่เหนือโลกธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปุณฺฑรีกํ ยถา อุคฺคํ” เป็นต้น แปลความว่า “ดอกบัวโผล่พ้นน้ำ ไม่แปดเปื้อนน้ำ ฉันใด เราอยู่ในโลก ไม่แปดเปื้อนด้วยโลกธรรม ฉันนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพุทธะ”

สมดังคำประพันธ์ที่ว่า
“องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน
ตัดมูลเกลศมาร บ่ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว
ราคี บ พันพัว สุวคนธ กำจร”

ขอทุกท่านจงมีดวงตาเห็นธรรมและมีจิตใจที่เบิกบานเหมือนดอกบัว

จากหนังสือ ดวงตาเห็นธรรม พระธรรมโกศาจารย์, ศ.ดร.(ประยูร ธมฺมจิตฺโต) มูลนิธิมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เพิ่มเติม

ดวงตาเห็นธรรม
สิ่งไหนรู้ได้คิดได้ สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เพราะเราเป็นผู้เห็นสิ่งนั้น
เราเห็นพระอาทิตย์ขึ้น-ลง แสดงว่าเราไม่ใช่พระอาทิตย์
เราเห็นเราตั้งแต่เด็กจนโต แสดงว่าเราไม่ใช่เรา
เราเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็แสดงว่าเราไม่ใช่ธรรม และเมื่อพิจารณาแล้วก็จะเห็นแต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคงอยู่ไม่ได้ทั้งหมดในใจ เรา แล้วสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนเห็นมันตั้งแต่ต้นจนจบ.
.สิ่งไหนเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เพราะเราเห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง.
.หากันแทบตายที่แท้ก็อยู่กับเรานี่เอง.
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม

kittanan_2589:
ตา มีธรรมชาติเหมือนงู งูมันชอบอยู่ในที่รกเช่นป่า อยู่ในที่แคบเช่นรู และชอบแอบซ่อนตัว ตาของคนเราก็ชอบดูอะไรที่เป็นของแอบ ๆ ซ่อน ๆ ปกปิด อะไรที่เขาปิดเขาซ่อน ตาจะชอบซอกแซก อยากรู้อยากดู

หู มีธรรมชาติเหมือนจระเข้ ชอบอยู่ในที่น้ำลึก ๆ เย็น ๆ หูก็ชอบฟังเสียงที่ทำให้เย็นหูเย็นใจ เสียงดุเสียงร้อนใจไม่ชอบฟัง

จมูก มีธรรมชาติเหมือนนก ชอบที่โล่ง อากาศบริสุทธิ์ ได้บินไปมาอย่างอิสระ จมูกก็ชอบความโล่งโปร่งสบาย

ลิ้น มีธรรมชาติเหมือนสุนัขบ้าน เศษอาหารอะไรใครจะทิ้งลงมาจากเรือน เป็นต้องขอลองกินเสมอ ลิ้นก็ชอบลิ้มรสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรสดีหรือรสไม่ดี ชิมดูทั้งนั้น

กาย มีธรรมชาติเหมือนสุนัขใน สุนัขป่า สุนัขจิ้งจอก ชอบคลุกคลีเคี้ยวกินซากศพต่าง ๆ ร่างกายคนเราก็เหมือนกัน ชอบคลุกคลีเคล้าคลึงสัมผัสกับร่างกายของผู้อื่น (เพศตรงข้าม) ซึ่งว่าที่จริงร่างกายนั้นไม่ว่าจะเป็นของใคร แท้ที่จริงแล้วก็เหมือนซากศพด้วยกันทั้งสิ้น

ใจ มีธรรมชาติเหมือนลิง ซึ่งชอบลุกลี้ลุกลน ซุกซนว่องไว ไม่อยู่นิ่งไม่สงบใจ ใจก็ว่องไวในการคิด คิดได้รวดเร็ว เรื่องนี้เรื่องนั้นไม่มีหยุดนิ่ง

ถ้าเราทดลองเอาท่อนไม้มาท่อนหนึ่ง เอาสัตว์ทั้ง ๖ อย่างนี้ผูกไว้ คงจะเกิดโกลาหลวุ่นวาย เพราะต่างตัวก็ต่างจะลากท่อนไม้ไปตามที่มันชอบ ทำนองเดียวกัน อวัยวะทั้ง ๖ นี้ มีธรรมชาติไม่เหมือนกันจึงคอยทำความทุกข์ให้แก่กันและกันอยู่เสมอ เช่น ใจอยากทำกรรมฐานเจริญภาวนา ให้คิดถึงสิ่งใดอยู่เรื่องเดียว เดี๋ยวหูก็ลากไปฟังเสียงคนคุยกัน เสียงสุนัขเห่า เสียงลมพัด ฯลฯ จมูกลากไปได้กลิ่นกับข้าวน่าอร่อย กายลากไปรำคาญอากาศร้อนอบอ้าว ดังนี้เป็นต้น

ถ้าหากเราขาดสติไม่รู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ ก็จะต้องได้รับทุกข์ยากต่าง ๆ ในการคอยดูแลตามใจอวัยวะเหล่านี้ เผลอไผลนิดเดียวสิ่งที่มากระทบก็จะก่อให้เกิดกิเลสต่าง ๆ มากมาย กิเลสบีบบังคับให้กาย วาจา ใจ ประกอบอกุศลกรรม กรรมชั่วเหล่านั้นเมื่อทำไปแล้วก็จะเกิดเป็นวิบาก ผลของกรรมก็คอยตามทวงหนี้เจ้าของ เจ้าของถูกกรรมเลว ๆ เหล่านั้นทวงหนี้ ต้องประสบทุกข์ภัยต่าง ๆ ทุกข์เหล่านั้นบีบจิตใจให้ประกอบกรรมขึ้นมาอีก และถ้าผู้นั้นเป็นคนไม่มีปัญญาเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็จะมีตัวกิเลสที่ชื่อโมหะ หรืออีกชื่อเรียกว่าอวิชชา(ไม่รู้ตามจริง) เข้าคอยผสมโรงแทรกสิงในใจ บีบใจให้ทำกรรมแล้วก็มีวิบาก วนเวียนซ้ำซากเป็นวัฏจักร


องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า
เห็น สิ่งใด ก็ให้รู้ สักแต่ว่าเห็น
ได้ยิน สิ่งใด ก็ให้รู้ สักแต่ว่าได้ยิน
ได้กลิ่น สิ่งใด ก็ให้รู้ สักแต่ว่าได้กลิ่น
เคี้ยวกิน สิ่งใด ก็ให้รู้ สักแต่ว่าได้ลิ้มรส
สัมผัส ด้วยร่างกายใน สิ่งใด ก็ให้รู้ สักแต่ว่าได้สัมผัส

จึงเป็นการตัดไฟที่ต้นลม ตัดแต่ต้น ไม่ให้หมุนเวียนเอาความทุกข์เข้ามาเกิด

กามคุณ ๕ อย่างที่วิเศษ คือ รูป ๑ เสียง ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ สัมผัส ๑ ทั้ง ๕ นี้ พระอริยเจ้าพึงเสพอยู่เป็นนิตย์นั้น ได้แก่

รูปกรรมฐาน ๑๒ คือ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ มรณานุสติ ๑ เป็น ๑๒
เสียงที่พระอริยเจ้าพึงฟังนั้น คือ เสียงที่กล่าวเป็นธรรม เสียงที่ไม่เป็นธรรมแล้วท่านไม่ฟัง
กลิ่นที่ท่านยินดีนั้น ได้แก่ กลิ่นอสุภะ
รสที่ท่านยินดีนั้น ได้แก่ รสพระธรรม
สัมผัสที่ท่านยินดีนั้น ได้แก่ ฌานสมาบัติ มรรคผล

kittanan_2589:
ในเมืองพาราณสี มีเศรษฐีท่านหนึ่ง มีนามว่าท่านจุลลกเศรษฐี เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม เป็นบัณฑิตที่รู้จักปรากฏการณ์ต่าง ๆ รู้นิมิตต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
วันหนึ่งจุลลกเศรษฐีไปเข้าเฝ้าพระราชา ในระหว่างทางเห็นหนูตายอยู่ตัวหนึ่ง ท่านเศรษฐีมองดูท้องฟ้าแล้วกล่าวขึ้นว่า

"กุลบุตรผู้มีดวงตา คือปัญญา อาจเอาหนูตัวนี้ไปกระทำการเลี้ยงดูภรรยา และประกอบการงานได้"

ขณะนั้น ชายผู้ยากไร้คนหนึ่งชื่อ จูฬันเตวาสิก ได้ยินท่านเศรษฐีกล่าวเช่นนั้น ก็คิดว่า ท่านเศรษฐีไม่รู้จริงคงไม่พูด จึงเอาซากหนูตายตัวนั้นไปขายคนเลี้ยงแมวเพื่อให้เป็นอาหารแมว ได้ทรัพย์จากคนเลี้ยงแมวมากากณึกหนึ่ง (กากณึก เป็นมาตราเงินอินเดียในสมัยนั้นที่มีค่าน้อยที่สุด เทียบมาตราเงินไทย ๑ สตางค์)
กากณึก [กา-กะ-หฺนึก] น. ทรัพย์มีค่าเท่าค่าแห่งชิ้นเนื้อพอกานำไปได้; เป็นชื่อมาตราเงินอย่างต่ำที่สุด.

จากนั้น จูฬันเตวาสิกก็นำทรัพย์หนึ่งกากณึกหนึ่งนั้น ไปซื้องบน้ำอ้อย (น้ำอ้อยที่เคี่ยวแล้วทำเป็นแผ่นเล็ก ๆ) แล้วนำหม้อใบหนึ่งตักน้ำ ไปยืนคอยพวกช่างดอกไม้ที่เดินทางกลับจากป่า ให้ชิ้นน้ำอ้อยชิ้นเล็ก ๆ กับช่างดอกไม้เหล่านั้น และให้ดื่มน้ำคนละกระบวย พวกช่างดอกไม้เดินทางมาเหนื่อย ได้งบน้ำอ้อยกับน้ำดื่มก็มีความพอใจ สดชื่น ชื่นกาย ชื่นใจ จึงต่างมอบดอกไม้คนละกำมือแก่เขาเป็นเครื่องตอบแทน

จูฬันเตวาสิก จึงเอาดอกไม้นั้นไปขาย ได้เงินกลับมามากขึ้น ก็นำเงินนั้นไปซื้องบน้ำอ้อย แล้วไปยืนคอยพวกช่างดอกไม้เช่นเดิม เขาทำเช่นนี้อยู่เป็นประจำ จนเขามีเงินถึง ๘ กหาปณะ (๔ บาทเท่ากับ ๑ กหาปณะ) "เริ่มรวยแล้ว"

วันหนึ่ง ฝนตก เกิดพายุหนัก กิ่งไม้แห้งบ้าง สดบ้าง ถูกพายุพัดหักหล่นลงมาในพระราชอุทยานเป็นอันมาก คนเฝ้าอุทยานไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรดี จูฬันเตวาสิกได้พบเข้าจึงรีบไปบอกกับคนเฝ้าพระราชอุทยานว่า ถ้าให้ใบไม้ กิ่งไม้เหล่านั้นแก่เขา เขาอาสาจะขนออกไปให้เอง คนเฝ้าสวนดีใจที่ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยขนเอง จึงรีบบอกให้เขามาขนออกไปได้ในทันที

พอได้ความดังนั้น จูฬันเตวาสิกจึงรีบกลับไปที่สนามเด็กเล่น นำน้ำอ้อยเลี้ยงแก่เด็ก ๆ แล้วขอแรงเด็ก ๆ ให้ช่วยกันขนกิ่งไม้ออกมาจากพระราชอุทยาน ในเวลาไม่นานกิ่งไม้จำนวนมากก็ถูกขนมากองอยู่ที่หน้าประตูพระราชอุทยาน ก็พอดีกับช่างหม้อหลวงที่มาเที่ยวหาฟืน เพื่อนำไปเผาภาชนะดินของหลวงพบเข้า จึงขอซื้อกิ่งไม้เหล่านั้นจากจูฬันเตวาสิกในทันที

จากการขายไม้ ชายยากจนอย่างจูฬันเตวาสิก จึงมีทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น ๑๖ กหาปณะแล้ว
เมื่อมี ทรัพย์มากขึ้น เขาจึงจะขยายกิจการออกไป โดยการตั้งตุ่มน้ำไว้ไม่ไกลจากประตูเมือง เพื่อคอยให้บริการแก่คนหาบหญ้า ๕๐๐ คน เหล่าคนหาบหญ้าพอใจในบริการที่มีน้ำใจของเขา จึงเอ่ยปากว่า หากจูฬันเตวาสิกต้องการให้พวกตนช่วยอะไร ขอให้บอกได้เลย

นอกจากคนหาบหญ้าแล้ว จูฬันเตวาสิกยังได้ผูกมิตรกับคนมากหน้าหลายตา ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก และมีเพื่อนฝูงมากมาย
วันหนึ่ง มีเพื่อนคนหนึ่งมาบอกข่าวแก่เขาว่า พรุ่งนี้จะมีพ่อค้าม้านำม้า ๕๐๐ ตัวมายังนครแห่งนี้ จูฬันเตวาสิกจึงไปพบคนหาบหญ้า และขอซื้อหญ้าจากคนหาบหญ้าทั้งหมดมาเตรียมเอาไว้

วันรุ่งขึ้น เมื่อพ่อค้าม้านำม้า ๕๐๐ ตัวมาถึง ก็พบว่ามีเพียงจูฬันเตวาสิกเท่านั้นที่มีหญ้าขาย จึงขอซื้อหญ้าทั้งหมดจากจูฬันเตวาสิก เขาได้กำไรจากการขายหญ้าในครั้งนี้ถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ

โอกาสต่อมา ก็มีเพื่อนมาแจ้งข่าวแก่เขาว่า จะมีพ่อค้านำเรือสำเภาขนาดใหญ่มาจอดเทียบท่า
จูฬันเตวาสิกไม่รอช้า รีบไปขอเหมาสินค้าทั้งลำเรือเอาไว้ เมื่อพ่อค้ารายอื่นมาถึง หาสินค้าไม่ได้จึงต้องมาขอซื้อสินค้าจากเขา สุดท้ายเขาได้ทรัพย์มาเป็นจำนวนถึง ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ (กลายเป็นเศรษฐีไปแล้ว!)

เมื่อได้ทรัพย์เป็นจำนวนมากเช่นนี้ จูฬันเตวาสิกก็เกิดความคิดว่า "เรารวยขึ้นมาได้เพราะท่านจุลลกเศรษฐี เราควรเป็นคนกตัญญู นำทรัพย์ที่ได้ไปตอบแทนพระคุณท่านเศรษฐี"

เร็วเท่าใจคิด จูฬันเตวาสิกถือทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะไปมอบให้เศรษฐีเพื่อเป็นการตอบแทน พอท่านเศรษฐีทราบเรื่องทั้งหมด เห็นสติปัญญา และความเฉลียวฉลาด จึงยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย และเมื่อท่านจุลลกเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว จูฬันเตวาสิกก็ได้เป็นเศรษฐีแห่งเมืองนั้นสืบต่อมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นตรัสพระธรรมเทศนานี้ ทรงเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมยิ่งทีเดียว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

"บุคคลผู้มีปัญญา รู้จักใคร่ครวญ ย่อมตั้งตนได้ด้วยทรัพย์อันเป็นต้นทุนแม้มีประมาณน้อย เหมือนคนก่อไฟกองน้อย ให้เป็นกองใหญ่ ฉะนั้น"

นิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า การเชื่อฟังท่านผู้รู้ ไม่ดูเบาต่อคำสั่งสอน พยายามปฏิบัติตาม และทำอย่างมีปัญญา ใคร่ครวญพิจารณาให้ดี มีความคิดรอบคอบ และเมื่อได้ทรัพย์มาแล้วก็ระลึกถึงผู้มีพระคุณ บุคคลผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้ ย่อมไม่ตกต่ำ มีแต่จะตั้งตนได้และเจริญรุ่งเรือง ความรู้ ความประพฤติ และการงานที่ดีย่อมเป็นที่พึ่งพิงของบุคคลได้ดีกว่าสิ่งอื่น ดังภาษิตที่ว่า "ไม่มีมิตรใดเสมอได้ด้วยวิชชา"

ชะตากรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยั่ง ถึงได้ แต่ความเพียรพยายามเป็นสิ่งที่เรารู้ได้และอยู่ในอำนาจของเรา การทำความเพียรให้เป็นหน้าที่ของเรา การให้ผลเป็นหน้าที่ของกรรม

เมื่อหวังความสำเร็จผล ก็ต้องรู้จักรอคอย และควรคอยอย่างสงบ ไม่ใช่กระวนกระวายใจ อะไรที่ควรได้ ย่อมได้มาเองโดยผลแห่งกรรม หรือความเพียรชอบนั้นแล

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว