คำอธิษฐานจิตเป็นจริงได้อย่างไร
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คำอธิษฐานจิตเป็นจริงได้อย่างไร  (อ่าน 2440 ครั้ง)
Nattawut-LSV Team
E23IUY
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน808
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3581


อีเมล์
« เมื่อ: มีนาคม 15, 2009, 07:29:40 AM »

คำอธิษฐานจิตเป็นจริงได้อย่างไร

--------------------------------------------------------------------------------

ถาม

หลวงพ่อเจ้าคะ เวลาทำบุญแล้วอธิษฐานจิต คำอธิษฐานจิตของเรา จะเป็นจริงในปัจจุบันได้อย่างไร แล้วมีหลักในการอธิษฐานจิตที่ถูกต้องอย่างไรเจ้าคะ ?

ตอบ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในการทำบุญทำทานแต่ละครั้งนั้น ไม่ว่าจะอธิษฐาน หรือว่าไม่อธิษฐานก็ตาม บุญย่อมส่งผลอย่างแน่นอน แต่จะมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เดี๋ยวค่อยมาดูกัน
การอธิษฐานจิตคืออะไร

คำว่า “ อธิษฐาน ” ที่พวกเราได้ยินกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกก็คือ การตั้งผังสำเร็จขึ้นมาในใจ โดยอาศัยบุญที่ทำในแต่ละครั้งมาเป็นงบประมาณ ช่วยส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จขึ้นมา ยกตัวอย่าง เวลาที่เขาจะสร้างบ้านกันสักหลังหนึ่ง คนที่มีปัญญา มีความรู้ เขาก็จะเขียนแบบบ้านที่จะสร้าง ทำเป็นแบบพิมพ์เขียวขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นก็แก้ไขแล้วแก้ไขอีกจนกระทั่งได้แบบที่ถูกใจ คือรบกันในกระดาษให้เสร็จก่อนนั่นเอง

เมื่อได้แบบบ้านเรียบร้อยแล้ว ก็จัดเตรียมงบประมาณ และไปหาช่างมา ถึงเวลาก็สร้างบ้านตามแบบที่ได้เตรียมเอาไว้ ทำอย่างนี้จะใช้เวลาในการก่อสร้างไม่มาก วัสดุที่ใช้ก็ไม่เสียหาย ไม่เปลืองงบประมาณ และสามารถกำหนดเวลาได้ชัดเจน

ส่วนคนบางประเภท ไม่ได้เขียนแบบบ้านที่จะสร้างออกมาก่อน แค่นึกๆ อยู่ในใจก็ลงมือสร้างเลย ปรากฏว่ากว่าจะสร้างบ้างเสร็จ ต้องสร้างไป รื้อไป ปรับไป เปลี่ยนไป อยู่ตลอดเวลา ทำให้เสียเวลา แล้วก็เปลืองงบประมาณด้วย
เช่นเดียวกัน ในการประกอบคุณงามความดี ด้วยการทำทาน ด้วยการสงเคราะห์ ด้วยการรักษาศีล ด้วยการศึกษาธรรมะ หรือว่าจะนั่งสมาธิภาวนาให้ใจใสก็ตาม ไม่ว่าเราจะอธิษฐานตั้งเป็นผังสำเร็จขึ้นมาหรือไม่ เมื่อถึงเวลาแม้บุญจะส่งผลออกมาตามปกติ เหมือนอย่างกับการปลูกต้นไม้ เช่น เมื่อปลูกต้นกล้วยลงไป แล้วรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ถึงเวลาต้นกล้วยนั้นก็จะออกใบ ออกปลี แล้วก็กลายเป็นผลให้เรากินในที่สุด


ในการประกอบคุณงามความดีต่างๆ ก็เหมือนกัน เมื่อเราปลูกพืชแห่งความดีลงไปแล้ว ถึงเวลาผลแห่งความดีก็จะออกมา แต่ว่าถ้าเราไม่ได้อธิษฐานตั้งผังเอาไว้ให้ดี พอบุญส่งผล บางทีบุญที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ไปต่อบุญ แต่ไปต่อบาปเข้าก็ได้

ยกตัวอย่าง เคยทำทานเอาไว้ดี ถึงคราวบุญส่งผล ทำให้กลายเป็นคนรวยขึ้นมา ซึ่งอาจจะรวยในชาตินี้ หรือว่าชาติไหนๆ ก็ตาม แต่เนื่องจากไม่ได้วางแผนเอาไว้ว่าจะใช้เงินอย่างไร พอดีมีเพื่อนมาชวนไปดื่มเหล้า หรือมาชวนไปเล่นไพ่ เราก็ไปกับเขาทันที

เพราะฉะนั้น เงินที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรง ด้วยหยาดเหงื่อของเราเอง กลับกลายมาเป็นอุปกรณ์พาเราลงนรก เพราะว่าเราใช้เงินไม่เป็น ส่วนใครที่ทำบุญแล้วอธิฐานจิต คือตั้งผังสำเร็จที่จะเอาบุญไปต่อบุญ คนๆ นั้นย่อมมีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป



หลักในการอธิษฐาน

หลักในการอธิษฐานง่ายๆ ตามที่ปู่ย่าตายายของเราท่านได้สั่งเอาไว้ ว่าจะอธิษฐานอะไรก็อธิษฐานไปเถอะ แต่ว่าต้องให้รัดกุมด้วย เช่น ด้วยบุญที่ข้าพเจ้าทำดีแล้วนี้ ไม่ว่าบุญจากการทำทาน บุญจากการรักษาศีล บุญจากการทำภาวนาก็ตาม

๑. ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ด้วย กาย วาจา ใจ ยิ่งๆ ขึ้นไป

๒. ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังต้องเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏสงสารนี้ ไม่ว่าจะอีกกี่ภพกี่ชาติก็ตาม ถ้าหากพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ที่ไหน ขอให้ข้าพเจ้าได้ไปเกิดที่นั่น

๓. เมื่อได้เกิดในถิ่นที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าขยันที่จะทำทาน รักษาศีล ทำสมาธิเจริญภาวนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

นอกจากนี้ถ้าเราศึกษาธรรมะบทไหนมา หรือว่าประสบอุปสรรคในชีวิตด้วยเรื่องอะไร ให้เอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นคำอธิษฐาน เพื่อป้องกันและแก้ไขตัวเองให้เรียบร้อย เช่น ทั้งๆ ที่เราตั้งใจทำความดีมาตลอดชีวิต แต่ว่ามีเพื่อนร่วมงานที่เกเรเหลือเกิน ข้างบ้านก็มีแต่พวกขี้เมา เพราะฉะนั้นเวลาทำบุญแต่ละครั้ง จึงอธิษฐานว่า

“ สาธุ นับแต่วันนี้เป็นต้นไป คนภัยคนพาลอย่าได้เจอะได้เจออีกเลย เพื่อนบ้านพาลก็ไม่เอา เพื่อนร่วมงานพาลก็ไม่เอา แม้ที่สุดพี่น้องพาลก็อย่าได้เจอะเจอเลย”

คือเมื่อประสบทุกข์ ก็เอาทุกข์นั้นแหละมาช่วยเตือนสติตัวเอง โดยการอธิษฐานตีกรอบล้อมคอกเอาไว้

หรือบางท่านทำบุญมาดี ละโลกแล้วคงจะได้ไปเกิดในสวรรค์แน่ๆ แต่ว่าอยากจะเกิดในสวรรค์ชั้นที่เหมาะแก่การสร้างบารมี เช่นสวรรค์ชั้นดุสิต ที่พระโพธิสัตว์ท่านชอบไปอยู่กัน จึงอธิษฐานว่า

“ สาธุ ด้วยบุญที่ข้าพเจ้าทำดีแล้วนี้ ถ้าละจากโลกมนุษย์เมื่อไหร่ อย่าต้องไปที่อื่นเลย ขอไปพักอยู่ที่ดุสิตบุรี ไปเป็นเทวดาอยู่ใกล้ๆ พระโพธิสัตว์ จะได้ไปฟังเทศจากท่านต่อได้”

คำอธิษฐานเหล่านี้ จะมีเพิ่มขึ้นทับทวีไปเรื่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอะไรมาล่วงล้ำกล้ำเกินเราได้ และสนับสนุนให้เราสร้างบุญบารมีได้อย่างเต็มที่

อธิษฐานจึงจัดเป็นหนึ่งในบารมี ๑๐ ทัศ ซึ่งพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ ก่อนจะมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ท่านอธิษฐานกันมาอย่างเชี่ยวชาญทีเดียว

เพราะฉะนั้น ทำบุญแล้วตั้งใจอธิษฐานและตั้งใจศึกษาเรื่องการอธิษฐานจากพระไตรปิฎกให้ดี การสร้างความดี การสร้างบารมีของเรา จะได้ไม่ไปสะดุดในภพเบื้องหน้า จนกระทั่งถึงวันลาจากโลกนี้ไปสู่พระนิพพาน


ขอขอบคุณที่มาครับ  http://www.dhammakid.com/board/index.php?topic=2085.0  ขอบคุณ


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: