นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
เมษายน 25, 2024, 01:07:38 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์  (อ่าน 1450 ครั้ง)
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2024, 10:46:14 AM »

 ping!
โค๊ด:
https://drsant.com/

โค๊ด:
https://www.youtube.com/channel/UCZrz1L1_ox8MFez2mvHrUkg


    
คัมภีร์สุขภาพดีHealthy Life Bibleโดยนพ.สันต์ใจยอดศิลป์/พญ.ดร.พิจิกา วัชราภิชาต

ในที่สุดผมก็เขียนหนังสือที่ผมอยากจะเขียนมาชั่วชีวิตได้สำเร็จ

คือผมอยากจะเขียนหนังสือที่ใช้เป็นหมอประจำบ้านของท่านแทนตัวผมเองได้
ให้หนังสือสามารถช่วยท่านป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังได้ด้วยตัวท่านเอง
ช่วยท่านแก้ปัญหาสุขภาพทั้งเรื่องฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉินด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด
และช่วยตอบคำถามทางการแพทย์ทุกด้านให้ท่านได้มากที่สุด
ผมตั้งชื่อหนังสือว่า “คัมภีร์สุขภาพดี”
เป็นหนังสือขนาดใหญ่หน่อย (19 x26 ซม.) หนา 423 หน้า
พิมพ์สี่สีเพราะมีภาพประกอบแยะ พิมพ์ด้วยอักษรตัวโต
แต่ก็คุมน้ำหนักไว้ที่ 750 กรัมเพื่อให้ผู้สูงวัยถือนอนอ่านได้

ขายในราคาเล่มละ 495 บาท ส่งให้ฟรี

หนังสือนี้ต้องซื้อกับหมอสมวงศ์ทางไลน์อย่างเดียว ที่
Line ID ชื่อ @healthylife
(โปรดสังเกตว่ามีตัว @ ด้วย และใช้อักษรตัวเล็กเขียนติดกันหมด)
ไม่วางตามร้านหนังสือเพราะจะทำให้ราคาหนังสือสูงขึ้น
กรณีไลน์มีปัญหาให้โทรศัพท์หาหมอสมวงศ์ (0868882521)
หรือเขียนอีเมลหา (somwong10@gmail.com)
หรือติดต่อทางเฟซบุ้คเพจ (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
แต่ไม่ว่าจะติดต่อเข้ามาทางไหน
ท้ายที่สุดก็ยังต้องไปซื้อขายกันที่ไลน์ที่เดียว
เพราะโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ต้องใช้ระดับอาวุโสมาดำเนินการเอง
หากซื้อขายกันหลายทางเดี๋ยวเป็น ลืม..ม แล้วท่านก็จะไม่ได้หนังสือ (หิ หิ)

การซื้อไม่ต้องจอง ใช้วิธีซื้อขายกันเลย
โดยท่านโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์
เลขที่บัญชี 328-255320-9 ชื่อบัญชี นางสมวงศ์ ใจยอดศิลป์
จะใช้วิธีสะแกนจ่ายจากตรงนี้ก็ได้
แล้วแชร์ใบเปย์สลิปพร้อมที่อยู่ทางไปรษณีย์ที่จะให้จัดส่งหนังสือ
ไปให้หมอสมวงศ์ทางไลน์ @healthylife
โดยหมอสมวงศ์จะจัดส่งหนังสือไปให้ทันที่ได้หนังสือ
หนังสือจะได้ต้นเดือนสค.
แต่เหตุที่ผมต้องแจ้งข่าวก่อนเพราะมีคนโทรศัพท์เข้ามามาก
ผมจะได้ไม่ต้องคอยอธิบาย

ผม “ขอ” แรงแฟนบล็อกให้ช่วยกระจายข่าวหนังสือนี้
ให้แพร่หลายหน่อยนะครับเป็นการช่วยหมอสันต์
ให้บรรลุเจตนาที่เขียนหนังสือนี้ขึ้นมา

ชื่อหนังสือ คัมภีร์สุขภาพดี   (Healthy Life Bible)

ในวัย 70 ปี ในยุคสมัยที่โรคของคนส่วนใหญ่คือโรคเรื้อรัง
ที่เกิดจากการกินและการใช้ชีวิตซึ่งแพทย์ไม่มีปัญญาที่จะไปรักษาให้หายได้
และหลักฐานวิทยาศาสตร์ก็ล้วนบ่งชี้ไปทางว่า

การเปลี่ยนวิธีกินวิธีใช้ชีวิตต่างหากที่จะทำให้ผู้คนหายจากโรคเรื้อรังได้

เวลาในชีวิตที่เหลืออยู่ของผมนี้ สิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุดก็คือ
ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้คนทั่วไปสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ด้วยตัวเอง
กล้าเปลี่ยน lifestyle หรือเปลี่ยนวิธีกินวิธีใช้ชีวิต
เพื่อให้ตนเองมีสุขภาพดีไม่เป็นโรคเรื้อรัง
ที่เป็นแล้วก็หายจากโรคเรื้อรังได้   

นั่นทำให้ผมคิดจะเขียนหนังสือสักเล่มไว้เป็นคู่มือสุขภาพสำหรับคนทั่วไป
แบบปูความรู้พื้นฐานเรื่องร่างกายมนุษย์และ
ผลวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อรังที่สำคัญไว้ให้อย่างหนักแน่น
คนในบ้านใครเป็นอะไรหรืออยากรู้อะไรก็มาเปิดอ่านดูได้ทุกเมื่อ
สอนวิธีกลั่นกรองข้อมูลหลักฐานวิจัยที่ตีพิมพ์กันอย่างดกดื่น
ในอินเตอร์เน็ทด้วยว่าอะไรเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน ผมคิดมาหลายปีแล้ว
แต่มันมาติดตรงที่ผมยังไม่สามารถสื่อเรื่องกลไกการทำงานของร่างกาย
และกลไกการเกิดโรคเรื้อรังให้เข้าใจง่ายๆได้
จะไม่พูดถึงเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ก็ไม่ได้
เพราะสมัยหนึ่งผมเคยไปสอนในชั้น
ที่ผู้เรียนเป็นกลุ่มแพทย์ที่จบแพทย์จากต่างประเทศ
แต่สอบใบประกอบโรคศิลป์ไม่ได้สักที
พอสอนไปได้ชั่วโมงเดียวผมสรุปได้ทันทีว่า
แพทย์เหล่านั้นมีปัญหาตรงที่ความรู้พื้นฐานเรื่องร่างกายมนุษย์
ไม่แน่นทำให้สร้างความรู้ต่อยอดไม่ได้
ดังนั้นเมื่อจะเขียนหนังสือเล่มนี้ผมจะต้องมีวิธีสื่อให้ผู้อ่าน
ซึ่งไม่มีพื้นอะไรเลยให้เข้าใจหลักพื้นฐานวิชาแพทย์อย่างถ่องแท้ก่อน
การจะสื่อเรื่องยากให้ง่ายมันต้องใช้ภาพช่วยบ้าง ใช้การ์ตูนบ้าง
แต่ผมเองวาดภาพไม่เป็น ผมเคยลองจ้างช่างวาดภาพ
เวชนิทัศน์มาลองวาดให้ก็ไม่ได้อย่างใจ
จึงทำได้แค่ “ซุกกิ้ง” คือ
จับโครงการเขียนหนังสือเล่มนี้ใส่ลิ้นชักไว้ตั้งหลายปี

จนกระทั่งผมได้พบกับคุณหมอมาย
นักอาหารบำบัด (พญ.ดร.พิจิกา วัชราภิชาต)
ตอนที่พบกันนั้นเธอตั้งรกรากอยู่ที่อังกฤษ มีครอบครัวอยู่ที่นั่น
ซื้อบ้านอยู่ที่นั่น ทำงานอยู่ที่นั่น
ได้ใบอนุญาตให้เป็นผู้พำนักตลอดชีพ (PR) ของประเทศอังกฤษแล้วด้วย

หมอมายนอกจากจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียนมามากทั้งปริญญา
แพทย์จากจุฬาและปริญญาโทปริญญาเอกจากมหา’ลัยลอนดอนแล้ว
ยังเป็นผู้ที่ได้ศึกษาต่อเนื่องและปฏิบัติด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง
ในเรื่องอาหารบำบัด ยิ่งไปกว่านั้นเธอมีงานอดิเรก
เป็นนักวาดภาพวาดการ์ตูนด้วย เมื่อเธอยอมรับคำชวนของผม
ให้กลับมาทำงานด้วยกันที่เมืองไทย หนังสือเล่มนี้จึงได้เกิด

ผมมั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นคู่มือให้ท่านดูแลสุขภาพตัวเองด้วยตัวเองได้ 99%
โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นความรู้ทางการแพทย์มาก่อนเลย
 มันเป็นหนังสือที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย ใช้เวลาอ่านสั้น
จบสมบูรณ์ในแต่ละเรื่องแต่ละตอนโดยไม่ต้องอ่านจนหมดเล่มถึงจะเข้าใจ
สงสัยเรื่องใดเมื่อใดก็เปิดอ่านเฉพาะเรื่องนั้นได้เมื่อนั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์…”

สารบัญ Table of content

1. ทำอย่างไรเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์

1.1 การเรียกรถฉุกเฉิน และแอ็พมือถือ EMS 1669 

1.2 เจ็บหน้าอกแบบด่วน

1.3 อัมพาตเฉียบพลัน

1.4 แพ้แบบเฉียบพลัน (Anaphylaxis)

1.5 หน้ามืด เป็นตะคริว เป็นลม หมดสติ

1.6 ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบอันตราย

1.7 ปวดท้องเฉียบพลันและท้องร่วง

1.8 กินสารพิษเข้าไป

1.9 สัมผัสสารพิษ

1.10 แผล ผิวหนังฉีกขาด

1.11 แผลถลอก

1.12 กระดูกหัก

1.13 การยกย้ายผู้บาดเจ็บ

1.14 ฟันหัก ฟันหลุด

1.15 สัตว์กัด งูกัด แมลงต่อย

1.16 พิษแมงกะพรุน

1.17 จมน้ำ

1.18 ไฟฟ้าดูด

1.19 บาดเจ็บกล้ามเนื้อ

1.20 ชัก

1.21 วิธีใช้สิทธิเบิกเงิน UCEP ในภาวะฉุกเฉิน

2. ทำความเข้าใจกลไกการเกิดโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อ

2.1 ไมโครไบโอม ชุมชนจุลชีพในลำไส้

2.2 อนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระ

2.3 การอักเสบในร่างกาย

2.4 การสูญเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ

2.5 การดื้อต่ออินซูลิน

3. สุขภาพดีด้วยตนเอง

3.1  โภชนาศาสตร์สมัยใหม่สำหรับทุกคน

3.1.1 คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)

(1) คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว

(2) คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน

(3) ทำไมเราจึงควรเลือกกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน

(4) Resistant starch คืออะไร

3.1.2 เส้นใยอาหาร (Fiber)

(1) เส้นใยแบบละลายน้ำได้

(2) เส้นใยแบบละลายน้ำไม่ได้

(3) ทำไมเราจึงควรเลือกกินอาหารที่มีเส้นใย

3.1.3 ไขมัน (Fat)

(1) ไขมันแบบอิ่มตัว (Saturated fat)

(2) ไขมันแบบไม่อิ่มตัว (Unsaturated fat)

3.1.4 ไขมันแบบไม่อิ่มตัว

(1) ไขมันแบบไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated fat)

(2) ไขมันแบบไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated fat)

3.1.5 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับไขมันที่ควรรู้

ประเด็นที่ 1. แคลอรีจากไขมัน

ประเด็นที่ 2. การกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัว

ประเด็นที่ 3. การก่อโรคทางหลอดเลือด

ประเด็นที่ 4. น้ำมันประกอบอาหารต่างชนิดทนความร้อนไม่เท่ากัน

ประเด็นที่ 5. เปรียบเทียบน้ำมันมะกอกแบบเวอร์จินกับแบบธรรมดา

3.1.6 คอเลสเตอรอล (Cholesterol)

(1) ไขมันเลว (LDL)

(2) ไขมันดี (HDL)

(3) LDL(C) และ LDL(P) คืออะไร

(4) LDL pattern A และ LDL pattern B คืออะไร

3.1.7 โปรตีน (Protein)

3.1.8 ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับโปรตีนที่ควรรู้

ข้อที่ 1. เข้าใจผิดว่าอาหารโปรตีนต้องได้มาจากเนื้อนมไข่ไก่ปลาหรือสัตว์เท่านั้น

ข้อที่ 2. เข้าใจผิดว่าพืชมีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบ

ข้อที่ 3. เข้าใจผิดว่าการขาดโปรตีนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในทางโภชนาการ

3.1.9 ผลเสียของโปรตีนจากสัตว์

3.1.10  แคลอรี (Calorie)

3.1.11 วิตามิน (Vitamins)

3.1.12 ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับวิตามินที่ควรรู้

          ข้อที่ 1. เข้าใจผิดว่าพืชมีวิตามินไม่ครบ

ข้อที่ 2. เข้าใจผิดว่าวิตามินสกัดเม็ดมีคุณสมบัติเหมือนกับวิตามินที่พบในอาหารธรรมชาติ

ข้อที่ 3. เข้าใจผิดว่าการกินวิตามินเสริมไม่มีโทษ

3.1.13 แร่ธาตุ (Minerals)

(1) ธาตุหลัก (Major elements)

(2) ธาตุเล็กธาตุน้อย (Trace elements)

3.1.14 น้ำ

(1) ทำไมเราต้องดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน

(2) เราควรดื่มน้ำวันละเท่าไร

3.1.15 Prebiotic

3.1.16 Probiotic

3.1.17 พฤกษาเคมี (Phytonutrients)

3.1.18 โภชนาการที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร

3.1.19 รูปแบบอาหารที่ใช้พืชเป็นหลักและไขมันต่ำ

3.1.20 อาหารรูปแบบเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean)

3.1.21 DASH อาหารรักษาความดันเลือดสูง

3.1.22 โภชนาการสำหรับแม่และเด็ก

3.2 การออกกำลังกาย

3.2.1 ประโยชน์ของการออกกำลังกาย

3.2.2 ชนิดของการออกกำลังกาย

3.2.3 มาตรฐานของการออกกำลังกาย

3.2.4 การประเมินตนเองก่อนออกกำลังกาย

3.2.5 การออกกำลังกายแบบแอโรบิก

3.2.6 กลุ่มกล้ามเนื้อพื้นฐานของร่างกาย

3.2.7 ระยะ (phase) ของการออกแรงกล้ามเนื้อ

3.2.8 การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น(flexibility)

3.2.9 การออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

3.2.10 การออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว

3.2.11 การออกกำลังกายแก้ไขออฟฟิศซินโดรม

3.2.12 ความปลอดภัยของการออกกำลังกาย

3.3 การจัดการความเครียด

3.3.1 ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ ANS (Autonomic nervous system)

3.3.2 Simplest meditation เทคนิคการวางความคิดแบบง่ายที่สุด

3.3.3 เทคนิคการตัดกระแสความคิด

3.3.4 Identity การสำนึกว่าเป็นบุคคล

3.3.5 Self inquiry เทคนิคการสอบสวนและลงทะเบียนความคิด

3.3.6 Body scan พลังชีวิตและการรับรู้พลังชีวิต

3.3.7 Concentrative meditation การฝึกสมาธิและเข้าฌาน

3.3.8 Breathing meditation อานาปานสติ

3.3.9 Coping with pain การรับมือกับอาการปวดด้วยวิธีทำสมาธิ

          3.4 การนอนหลับ

3.5 การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง

3.6 Simple-8 ดัชนีสุขภาพสำคัญ 8 ตัวง่ายๆ

          3.6.1 น้ำหนัก (ดัชนีมวลกาย)

3.6.2 ความดันเลือด

3.6.3 ไขมันในเลือด

3.6.4 น้ำตาลในเลือด

3.6.5 จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน

3.6.6 เวลาที่ใช้ออกกำลังกายต่อสัปดาห์

3.6.7 การสูบบุหรี่

3.6.8 การนอนหลับ

3.7 Tiny Habit การสร้างนิสัยใหม่ด้วยการทำนิดเดียว

3.8 การตรวจสุขภาพประจำปีและฉีดวัคซีนป้องกันโรค

3.9 ระยะสุดท้ายของชีวิต

4. พลิกผันโรคด้วยตนเอง         

          4.1 โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ต้นทางของโรคเรื้อรัง

4.2 โรคหัวใจขาดเลือด

                     4.2.1 โรคหัวใจขาดเลือดคืออะไร

                     4.2.2 อาการของโรคหัวใจขาดเลือดเป็นอย่างไร

4.2.3 การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ

4.2.4 การจัดการโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

4.2.5 การจัดการโรคหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ด่วน

4.2.6 อาหารสำหรับโรคหัวใจขาดเลือด

4.2.7 การออกกำลังกายสำหรับโรคหัวใจขาดเลือด

4.2.8 การรับมือกับความเครียดเฉียบพลันในโรคหัวใจ

4.2.9 การดื่มแอลกอฮอล์ในโรคหัวใจ

4.2.10 การตัดสินใจว่าจะทำบอลลูน/บายพาสหรือไม่

4.2.11 หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบต่างๆ

4.2.12 เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบต่างๆ

4.2.13 ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นอย่างไร

4.2.14 การป้องกันการตายกะทันหัน

4.3 โรคความดันเลือดสูง

4.3.1 โรคความดันสูงคืออะไร

4.3.2 นัยสำคัญของความดันเลือดสูง

4.3.3 สาเหตุของความดันเลือดสูง

4.3.4 การวัดความดันด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง

4.3.5 ความดันวัดที่บ้านกับที่โรงพยาบาลจะเชื่อตัวไหนดี

4.3.6 อาการของโรคความดันเลือดสูง

4.3.7 วิธีรักษาความดันเลือดสูงด้วยตนเอง

4.3.8 ยารักษาความดันเลือดสูงชนิดต่างๆ

4.3.9 การป้องกันโรคความดันเลือดสูง

4.3.10 ผลวิจัยความดันที่เอาไปพลิกผันโรคให้ตัวเองได้

4.3.11  วิธีลดและเลิกยารักษาความดันเลือดสูง

4.4 โรคเบาหวาน

4.4.1 โรคเบาหวานคืออะไร     

4.4.2 ชนิดของโรคเบาหวาน

4.4.3 กลไกการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1

4.4.4 กลไกการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (การดื้อต่ออินซูลิน)

4.4.5 การวินิจฉัยโรคเบาหวาน

4.4.6 มายาคติเกี่ยวกับโรคเบาหวาน

4.4.7 วิธีรักษาโรคเบาหวานโดยไม่ใช้ยา

4.4.8 วิธีลดและเลิกยาเบาหวาน

4.5 โรคไขมันในเลือดสูง

                     4.5.1 โรคไขมันในเลือดสูงคืออะไร

4.5.2 การรักษาไขมันในเลือดสูงด้วยตนเอง

4.5.3 ระดับ LDL ที่พึงประสงค์ตามระดับความเสี่ยงแต่ละคน

4.5.4 ความเสี่ยงและประโยชน์ของยาลดไขมัน

4.5.5 การลดและเลิกยาลดไขมัน

4.6 โรคอัมพาต

          4.6.1 โรคอัมพาตคืออะไร

4.6.2 การวินิจฉัยอัมพาตเฉียบพลัน

4.6.3 การจัดการโรคอัมพาตเฉียบพลัน

4.6.4 การฟื้นฟูหลังการเป็นอัมพาต

4.7 โรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์

4.7.1 นิยามโรคสมองเสื่อม

4.7.2 การตรวจคัดกรองโรคอื่นที่อาการคล้ายสมองเสื่อม

4.7.3 การรักษาสมองเสื่อมด้วยตนเอง

4.7.4 ยารักษาโรคสมองเสื่อม

4.7.5 อย่าเร่งให้ตัวเองเป็นสมองเสื่อมเร็วขึ้น

4.7.6 ยารักษาโรคสมองเสื่อม

4.8 โรคมะเร็ง

                     4.8.1 โรคมะเร็งคืออะไร

4.8.2 สาเหตุของโรคมะเร็ง

4.8.3 การวินิจฉัยโรคมะเร็ง

4.8.4 ข้อมูลเรื่องอาหารกับโรคมะเร็ง

4.8.5 การตรวจคัดกรองมะเร็ง

4.8.6 การรักษามะเร็งตามแบบแพทย์แผนปัจจุบัน

4.8.7 งานวิจัยรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยอาหาร

4.8.8 การดูแลรักษาตนเองหลังการผ่าตัดเคมีบำบัดฉายแสง

4.8.9 การแพทย์เลือกในการร่วมรักษามะเร็ง

4.9 โรคอ้วน

4.9.1 นิยามของโรคอ้วน

4.9.2 หลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก

4.9.3 การลดน้ำหนักด้วยอาหารพืชเป็นหลัก

4.10 โรคไตเรื้อรัง

4.10.1 นิยามโรคไตเรื้อรังและเกณฑ์วินิจฉัย

4.10.2 การรักษาโรคไตเรื้อด้วยตัวเองตามหลักฐานใหม่

4.10.4 โปตัสเซียมกับโรคไตเรื้อรังระยะต่างๆ

4.10.5 ฟอสเฟตจากอาหารพืชและสัตว์ต่อโรคไตเรื้อรัง

4.10.6 การป้องกันโรคไตเรื้อรัง

4.10.7 การบำบัดทดแทนไตแบบต่างๆ

5. Human body ร่างกายมนุษย์

          5.1 พื้นฐานโครงสร้างทางกายภาพในร่างกายของเรา

5.1.1 อวัยวะ

5.1.2 เนื้อเยื่อ

5.1.3 เซลล์

5.1.4 อวัยวะย่อยในเซลล์ (organelles)

5.1.5 โมเลกุลขนาดใหญ่

5.1.6 โมเลกุลขนาดเล็ก

5.1.7 อะตอม

5.1.8 อิเล็กตรอน โปรตอน และควาร์ก

          5.2 ระบบการทำงานต่างๆในร่างกายของเรา

                     5.2.1 Integumentary system ระบบผิวหนัง

5.2.2 Nervous system ระบบประสาท

5.2.3 Muscular system ระบบกล้ามเนื้อ

5.2.4 Skeletal system ระบบกระดูก

5.2.5 Respiratory system ระบบการหายใจ

5.2.6 Circulatory system ระบบการไหลเวียน

5.2.7 Alimentary system ระบบทางเดินอาหาร

5.2.8 Urinary system ระบบทางเดินปัสสาวะ

5.2.9 Reproductive system ระบบสืบพันธ์

5.2.10 Hematology system ระบบเลือด

5.2.11 Lymphatic system ระบบน้ำเหลือง

5.2.12 Endocrine system ระบบต่อมไร้ท่อ

5.2.13 Microbiomes ชุมชนจุลชีพในร่างกาย

5.2.14 Homeostasis ร่างกายนี้ซ่อมแซมตัวเองได้

6. อาการผิดปกติที่พบบ่อย (Common Symptoms)

6.1 ปวดหัว

6.2 ไข้

6.3 เจ็บคอ

6.4 คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม

6.5 ไอ

6.6 หอบ หายใจไม่อิ่ม

6.7 ปวดท้อง

6.8 ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ อาหารไม่ย่อย

6.9 ท้องเสีย

6.10 ท้องผูก

6.11 เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก

6.12 หน้ามืด เป็นลม

6.13 หมดสติ

6.14 ชัก

6.15 แขนขาอ่อนแรง

6.16 พูดไม่ชัด

6.17 ปากเบี้ยว

6.18 ตามืดเฉียบพลัน

6.19 ทรงตัวไม่อยู่

6.20 ปวดฟัน เสียวฟัน

6.21 ปวดท้องเมนส์

6.22 ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว

6.23 ปวดกระดูก

6.24 ปวดนิ้วมือ ปวดข้อมือ

6.25 ปวดหู

6.26 ปวดต้นคอ ปวดคอ

6.27 ปวดหัวไหล่

6.28 ปวดหลังปวดเอว

6.29 ปวดสะโพก

6.30 ปวดเข่า

6.31 ปวดน่อง

6.32 ปวดข้อเท้า

6.33 ปวดส้นเท้า

6.34 ปวดฝ่าเท้า

6.35 ปวดนิ้วเท้า

6.36 ปวดแสบเวลาปัสสาวะ

6.37 ปวดก้น

6.38 ปวดอวัยวะเพศ

6.39 ปวดตอนร่วมเพศ

6.40 ปวดอัณฑะ

6.41 เจ็บเต้านม ปวดเต้านม

6.42 เจ็บตา

6.43 ก้อนผิดปกติ

6.44 นอนไม่หลับ

6.45 นอนกรน

6.46 อ้วน ลงพุง น้ำหนักเพิ่ม

6.47 ผอม น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจลด

6.48 หนาวสั่น

6.49 ไม่สบาย

6.50 อ่อนเพลีย เปลี้ยล้า ไม่มีแรง

6.51 ลื่นตกหกล้มง่าย

6.52 หลังค่อม

6.53 ซีด โลหิตจาง

6.54 ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง

6.55 เขียว เล็บเขียว ปากเขียว มือเขียว

6.56 บวม

6.57 เหน็บ / ชา

6.58 สะอึก

6.59 ผิวสีคล้ำ

6.60 ลมพิษ

6.61 จ้ำเลือด

6.62 ผมร่วง

6.63 รังแค

6.64 ใจสั่น / ใจเต้นเร็ว

6.65 ตะคริว

6.66 มือสั่น

6.67 เวียนหัว บ้านหมุน

6.68 ขี้หลงขี้ลืม

6.69 เมารถเมาเรือ

6.70 เลือดกำเดาไหล

6.71 จมูกไม่ได้กลิ่น

6.72 แผลในปาก ร้อนใน

6.73 กลิ่นปาก

6.74 น้ำลายไหลจากมุมปาก

6.75 เสียงแหบ

6.76 กลืนลำบาก

6.77 คลื่นไส้ / อาเจียน

6.78 เรอเปรี้ยว / กรดไหลย้อน

6.79 เบื่ออาหาร

6.80 ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด

6.81 กลั้นอุจจาระไม่อยู่

6.82 กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ /ปัสสาวะบ่อย

6.83 ปัสสาวะเป็นเลือด

6.84 เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

6.85 ประจำเดือนไม่มี / ไม่มา

6.86 ตกขาว

6.87 ร้อนวูบวาบ

6.88 อวัยวะเพศไม่แข็งตัว

6.89 การคุมกำเนิด

6.90 ของเหลวหรือน้ำนมไหลจากเต้านม

6.91 ตามีอะไรลอยไปมา (Floaters)

6.92 ตาเห็นแสงระยิบระยับ

6.93 ตาแห้ง

6.94  ตาโปน

6.95  ตามัว / ตามืด

6.96  หนังตาตก

6.97 เสียงในหู

6.98 คันหู

6.99 หูตึง หูหนวก

6.100 หูน้ำหนวก

6.101 กังวล / เครียด

6.102 กลัวเกินเหตุ (panic)

6.103 ซึมเศร้า (depress)

6.104 ย้ำคิดย้ำทำ

6.105 เห็นภาพหลอน / ได้ยินเสียงหลอน

7. การแปลผลการตรวจทางการแพทย์

7.1 CBC การตรวจนับเม็ดเลือด

7.2 UA การตรวจปัสสาวะ

7.3 Blood chemistry การตรวจวิเคราะห์ทางชีวเคมีของเลือด


โค๊ด:
https://drsant.com/2023/07/%e0%b8%84%e0%b8%b1%e0%b8%a1%e0%b8%a0%e0%b8%b5%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%82%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%94%e0%b8%b5-healthy-life-bible-%e0%b9%82%e0%b8%94%e0%b8%a2-%e0%b8%99.html?fbclid=IwAR0Ak6noSEjhSVDa_z3yaE2SEpdhjcbNZ23VTrxbAE_B_K8zvlVdrHHA34w


บันทึกการเข้า

eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2024, 10:51:30 AM »

นิ่วอุดตันท่อน้ำดีจนเป็นดีซ่านและหายแล้ว แต่นิ่วลงมานิ่งอยู่ในถุงน้ำดี ควรผ่าตัดเอาออกไหม ?

เรียนคุณหมอที่เคารพ

ต.ค 63 ผมปวดท้อง ปวดตรงชายโครงด้านขวามีอาเจียน
และปวดเป็นพักๆเหมือนผีบิดไส้ หมอวินิจฉัยว่า
เศษก้อนนิ่วมันหลุดลงมาอุดตันท่อน้ำดีครับ
หลังจากนั้นก็อาการตาเหลืองตัวเหลืองหมอโรงพยาบาล …
ให้การรักษา 3-4 วันอาการเหล่านั้นก็ดีขึ้นตามลำดับ
ดีขึ้นจนถึงทุกวันนี้ครับ นอนโรงพยาบาล 3-4 วันหมอให้น้ำเกลือและให้ยา
ตรวจอุลตร้าซาวด์พบมีนิ่วในถุงน้ำดี 1.8 ซม. แล้วให้กลับบ้านได้
หมอนัดผ่าและเลื่อนมา 3-4 ครั้งแล้วครับ
หลังจากนั้นมาก็ไม่มีอาการปวดท้องอีกเลยตอนนี้ 2 กุมภาพันธ์ 67
แล้วครับอยากทราบว่าไม่มีอาการปวดท้องเลย
สมควรต้องผ่าตัดไหมครับ
รบกวนอาจารย์หมอให้คำแนะนำด้วยครับ..

ตอบครับ

1.. ประเด็นการวินิจฉัยโรค เรื่องราวทั้งหมดคือปกติร่างกายจะผลิตน้ำดีที่ตับ
ในบางคนหากมีเหตุเช่นการกินอาหารเช่นไขมันมากร่วมกับภาวะร่างกายขาดน้ำ
จะทำให้น้ำดีนั้นก่อตัวเป็นนิ่ว ทั้งน้ำดีและทั้งนิ่วจะเดินทางจากตับลงมาตามท่อน้ำดี
เพื่อมายังถุงน้ำดี รอเวลาที่จะถูกบีบไล่ลงไปย่อยอาหารในลำไส้
เมื่อใดก็ตามที่กินอาหารมีไขมันเข้าไป

ในกรณีของคุณ ขณะที่เดินทางมา นิ่วนั้นอุดตันท่อน้ำดี (bile duct obstruction)
แต่ตอนนี้นิ่วได้เดินทางมาถึงถุงน้ำดีเรียบร้อยแล้ว
การอุดตันจบลงไปแล้ว ทุกอย่างกลับเป็นปกติแล้ว
ยกเว้นมีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดีหนึ่งก้อน

2.. ถามว่ามาถึงวันนี้แล้วควรผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไหม
ตอบว่า ก่อนอื่น ขอให้เข้าใจการดำเนินของโรคต่อจากนี้
หากเราไม่ไปยุ่งอะไร นิ่วก้อนนั้นมันจะมีทางไปได้สี่ทางคือ

ทางที่ (1) นิ่วในถุงน้ำดีสลายตัวไปเอง ไปเป็นขึ้โคลน หรือเป็นน้ำดี ซึ่งไหลต่อไปได้ไม่ติดขัด

ทางที่ (2) นิ่วมันจะอยู่ในถุงน้ำดีอย่างนั้นแหละไปชั่วชีวิต โดยไม่มีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้น

ทางที่ (3) นิ่วจะถูกบีบออกจากถุงน้ำดีแล้วเดินทางต่อไปถึงลำไส้
แล้วออกไปทางทวารหนักได้เองโดยฉลุย ไม่มีอาการผิดปกติอะไร

ทางที่ (4) นิ่วจะถูกบีบออกมาจากถุงน้ำดีแล้วไปอุดตันท่อน้ำดีร่วม
หรืออุดตันปากทางลงไปในลำไส้ (ampulla of Vater)
เกิดรายการผีบิดไส้และดีซ่านรอบที่สอง

ทั้งสี่ทางนี้ มีพระเจ้าคนเดียวที่จะรู้ว่ามันจะเป็นไปแบบไหนกี่เปอร์เซ็นต์
ดังนั้นการจะผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้นิ่วที่อยู่อย่างสงบ
ในถุงน้ำดีออกมาอุดตันท่อน้ำดีร่วม (common bile duct)
จึงยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีประโยชน์คุ้มความเสี่ยงของการผ่าตัดหรือเปล่า

ในเรื่องนี้ที่เรารู้แล้วแน่ๆมีสองอย่าง คือ
อย่างที่ 1
วิชาแพทย์รู้แล้วว่าการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีและนิ่วในถุงน้ำดีออกทิ้งแบบยกยวง
จะไม่ช่วยป้องกันปัญหาการอุดตันท่อน้ำดีแบบที่เคยเกิดขึ้นกับคุณ
เพราะปัญหานั้นเกิดจากนิ่วที่ก่อตัวขึ้นที่ในตับ
ไม่ใช่เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี
อย่างที่ 2
วิชาแพทย์รู้แล้วว่าโอกาสพบมะเร็งถุงน้ำดีร่วมกับนิ่วในถุงน้ำดีมีน้อยมาก
เพราะมะเร็งถุงน้ำดีมีอุบัติการณ์เกิดต่ำมาก (ระดับต่ำกว่า 0.5%)
จนไม่คุ้มกับความเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิด (2.4%)
หากคิดทำการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกเพื่อป้องกันมะเร็ง

ณ จุดนี้การจะผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดจึงเป็นทางสองแพร่ง
ที่ข้อมูลที่จะช่วยคุณตัดสินว่าจะไปทางไหนดียังมีไม่พอ
ผมแนะนำให้คุณตัดสินใจเอาเองจากความรู้สึก
หรือสังหรณ์ในใจของคุณเองก็แล้วกัน
เพราะหลักฐานที่จะช่วยไม่มี

อนึ่ง การตัดถุงน้ำดีออกมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน
ที่เรียกว่ากลุ่มอาการหลังตัดถุงน้ำดี (post cholecystectomy syndrome)
ขึ้นประมาณ 10-25%
มีอาการคลื่นไส้อาเจียนท้องเสียง่าย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหารไขมัน
หากเลือกทางผ่าตัด คุณต้องยอมรับภาวะแทรกซ้อนอันนี้ก่อน
มิฉะนั้นจะไปผิดใจกับหมอเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

    Zackria R, Lopez RA. Postcholecystectomy Syndrome. 2023 Aug 28. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan–. PMID: 30969724.
    Portincasa P, MOschetta A, Palasciano G. Cholesterol gallstone disease. Lancet 2006 : 368(9531); 230-9.
    Redwan AA. Multidisciplinary approaches for management of postcholecystectomy problems (surgery, endoscopy, and percutaneous approaches). Surg Laparosc Endosc Percutan Tech. Dec 2009;19(6):459-69.
 ping!
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2024, 10:58:17 AM »

วิธีทำให้มีความสุขและดูอ่อนกว่าวัย - นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โค๊ด:
https://youtu.be/E5lqVuchwWg?si=2WxaZzqUy0Aop9Ap

#ชะลอวัย #ความสุข #ปล่อยวาง
#ชะลอวัย #ความสุข #ปล่อยวาง
#อาหารจากพืชเป็นหลัก #ปรึกษาหมอ​​
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2024, 11:35:39 AM »

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

October 4, 2012 by Sant Chaiyodsilp
ผมอายุ 42 ปีครับ น้ำหนัก 72 กก. สูง 165 ซม.
มีปัญหาปวดข้อเข่าบ่อยๆ ผลตรวจสุขภาพประจำปี
อย่างที่ส่งมาให้คุณหมอนี้
คือทุกปีบริษัทก็ให้ตรวจสุขภาพประจำปี
ตรวจแล้วไม่มีอะไร ก็จบกันไปปีต่อปี
โดยที่ผมเองก็ไม่ได้เข้าใจอะไรมากไปกว่าที่
หมอบอกว่า โอ.เค.
คือผมอยากจะเข้าใจผลการตรวจให้มากกว่านี้
เบื่อที่จะถามหมอแค่ว่าปกติใช่ไหมครับหมอ
แล้วหมอก็บอกว่าไม่มีอะไรนอกจากไขมันสูงเล็กน้อย
แล้วก็ผ่านไปอีกหนึ่งปี ผมอยากจะรู้ปัญหาสุขภาพของผมจริงจัง
ผมอยากให้คุณหมอสันต์ช่วยสอน

วิธีแปลผลการตรวจเลือดนี้ให้ด้วย

คือผมอยากรู้ความหมายของแต่ละค่า
ว่าผมจะเอาความหมายของมันไปใช้ประโยชน์
ในการดูแลตัวเองได้อย่างไรครับ

ขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

Blood Chemistry
FBS                        108 (ไม่เกิน 125 mg/dl)
HbA1C                    6.1 (ไม่เกิน 6.5%)
BUN                       23 (8-24 mg/dL)
Cr                         1.5 (0.7-1.2 mg/dL)
eGFR                     73 (มากกว่า 90 ml/min/1.73 sqm)
Uric acid                  8.4 (3.4 – 7.0)
Triglyceride               218 ( ไม่เกิน 200)
HDL-cholesterol         37 (มากกว่า 40 mg/dl )
LDL-cholesterol        133 (ไม่เกิน 130 mg/dL)
Total Cholesterol       214 (ไม่เกิน 240 mg/dL)
AST (SGOT)            55 (ไม่เกิน 40 IU/L)
ALT (SGPT)               42 (ไม่เกิน 34 IU/L)
Alkaline Phosphatase  57 (ไม่เกิน 128 mg/dL)
GTT                       84      (78 U/L)
HBs Ag                         Negative
Anti HBs                      Positive <344>

……………………………

ตอบครับ

จดหมายแบบว่าส่งผลการตรวจร่างกายมาให้ช่วยดูเนี่ย
มีแยะเลย ผมเคยสอนการแปลผลการตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) ไปแล้ว
เคยสอนแปลผลการวิเคราะห์ปัสสาวะ (UA) ไปแล้ว
วันนี้ผมจะรวบยอดสอนการแปลผลการตรวจเคมีในเลือดให้ฟัง
ท่านที่ถามมาคล้ายกันแต่ว่าผมไม่ได้ตอบ
ก็ขอให้เอาวิธีแปลผลที่คุยกันวันนี้
ไปแปลผลการตรวจของท่านเอาเองก็แล้วกัน

1.. Blood chemistry แปลตรงๆว่า เคมีของเลือด
หมายถึงระดับของสารต่างๆที่อยู่ในเลือด
ซึ่งก่อปฏิกิริยาเคมีได้
ซึ่งการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสารเหล่านี้
บ่งบอกไปถึงว่าจะมีโรคอะไรเกิดขึ้นในร่างกายบ้าง ?

 2.. FBS = ย่อมาจาก fasting blood sugar แปลว่า
ระดับน้ำตาลในเลือดหลังการอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
เป็นการตรวจสถานะของโรคเบาหวานโดยตรง
คือคนปกติค่านี้จะต่ำกว่า 100 mg/dL
ของคุณได้ 108
ถือว่าอยู่ในย่านใกล้จะเป็นเบาหวาน
ถ้าของใครสูงเกิน 125
ก็ถือว่าเป็นเบาหวานแล้วอย่างบริบูรณ์

3.. HbA1C = ย่อมาจาก hemoglobin A1C แปลว่า
ระน้ำตาลสะสมเฉลี่ยสามเดือนในเม็ดเลือดแดง
มีความหมายคล้ายๆกับค่า FBS คือ
โดยคำนิยามถ้าน้ำตาลสะสมเฉลี่ยของของใคร
สูงกว่า 6.5% ก็ถือว่าเป็นโรคเบาหวานไปแล้วอย่างบริบูรณ์
ค่า HbA1C นี้ดีกว่าค่า FBS ในสองประเด็น คือ

3.1 ทำให้เราตรวจคัดกรองเบาหวานได้ทุกเมื่อ
โดยไม่ต้องอดอาหารมาล่วงหน้า

3.2 การที่มันสะท้อนค่าน้ำตาลในเลือดในช่วงเวลาสามเดือนย้อนหลัง
จึงตัดปัญหาระดับน้ำตาลวูบวาบในช่วงหนึ่งวันก่อนการตรวจ
คือคนไข้บางคนที่จะทำตัวดีเฉพาะสองสามวันก่อนไปหาหมอ
เพื่อให้น้ำตาลในเลือดดูดี
พอคล้อยหลังหมอตรวจเสร็จก็ออกมาสั่งไอติมมากิน
เป็นกะละมังให้หายอยาก
คนไข้แบบนี้การตรวจ HbA1C จะทำให้ทราบ
สถานะที่แท้จริงของเบาหวานดีกว่า

4.. BUN =  ย่อมาจาก blood urea nitrogen แปลว่า
ไนโตรเจนในรูปของยูเรีย 
ตัวยูเรียนี้เป็นเศษของเหลือจากการเผาผลาญโปรตีนที่ตับ
ซึ่งต้องถูกกำจัดทิ้งโดยไต
การวัดระดับค่าของ BUN เป็นตัวบ่งบอกว่า
เลือดไหลไปกรองที่ไตมากพอหรือไม่
ในภาวะที่เลือดไหลไปกรองที่ไตน้อยลง เช่น
ในภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือสูญเสียเลือดไปทางอื่น
เช่นเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือในภาวะช็อก
ระดับของ BUN จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ค่าปกติของ BUN คือ 8-24 ของคุณวัดได้ 23
ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
อย่างน้อยก็บ่งบอกว่าเลือดยังไหลไปกรองที่ไตดีอยู่
ร่างกายไม่ได้อยู่ในภาวะขาดน้ำ หรือเสียเลือด

5.. Cr = เขียนเต็มว่า Creatinine แปลว่า
เศษเหลือจากการสลายตัวของกล้ามเนื้อ คือ
กล้ามเนื้อของคนเรานี้มันสลายตัวและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา
คนมีกล้ามมากก็สลายตัวมากสร้างมาก
Cr ซึ่งเป็นเศษซากที่สลายตัวออกมาจะถูกไตขับทิ้งไป
แต่ในกรณีที่ไตเสียการทำงาน เช่นเป็นโรคไตเรื้อรัง
ไตจะขับ Cr ออกทิ้งไม่ทันกับที่กล้ามเนื้อสลายออกมา
ทำให้ระดับ Cr ในเลือดสูงผิดปกติ
ค่าปกติของมันคือ 0.7-1.2 mg/dL
แต่ของคุณได้ตั้ง 1.5 ซึ่งสูงผิดปกติ
แสดงว่าไตของคุณเริ่มจะทำงานไม่ดีแล้ว
หรือเริ่มเป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว ตรงนี้ “เป็นเรื่อง”
ที่คุณจะต้องติดตามเจาะลึกต่อไป

6.. eGFR= เรียกสั้นๆว่า จีเอฟอาร์.
ย่อมาจาก estimated glomerular filtration rate แปลว่า
อัตราการไหลของเลือดผ่านตัวกรองของไตในหนึ่งนาที
ค่านี้ได้จากการคำนวณเอาจาก Cr กับอายุ และชาติพันธุ์ของเจ้าตัว
ห้องแล็บที่ยังไม่ทันสมัยจะไม่รายงานค่านี้
ถ้าเจ้าตัวอยากทราบค่านี้ต้องเอาค่า Cr ที่ได้ไปอาศัย GFR calculator
ตามเว็บในเน็ทคำนวณให้
ค่าจีเอฟอาร์.นี้มีประโยชน์มากในแง่
ที่ใช้แบ่งระดับความรุนแรงของคนที่ Cr ผิดปกติ
อย่างคุณนี้ว่ามีความรุนแรงเป็นโรคไตเรื้อรัง
ระยะไหนของ 5 ระยะ กล่าวคือ

ระยะที่ 1 ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว แต่ไตยังทำงานปกติ (จีเอฟอาร์ 90 มล./นาที ขึ้นไป)
ระยะที่ 2 ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว และไตเริ่มทำงานผิดปกติเล็กน้อย (จีเอฟอาร์ 60-89 มล./นาที)
ระยะที่ 3 ไตทำงานผิดปกติปานกลาง ไม่ว่าจะตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตหรือไม่ก็ตาม (จีเอฟอาร์ 30-59 มล./นาที)
ระยะที่ 4 ไตทำงานผิดปกติมาก (จีเอฟอาร์ 15-29 มล./นาที)
ระยะที่ 5. ระยะสุดท้าย (จีเอฟอาร์ต่ำกว่า 15 หรือต้องล้างไต)

     จะเห็นว่าแม้คุณจะยังไม่มีพยาธิสภาพที่ไต
(หรือมีแล้วก็ไม่รู้เพราะไม่ได้ตรวจ)
แต่จีเอฟอาร์ของคุณคำนวณได้ 57
ซึ่งต่ำกว่า 60  จึงจัดว่า
คุณเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 แล้ว
ตรงนี้มีนัยสำคัญ ถ้ามีเวลาตอนท้าย
ค่อยคุยกันว่าควรต้องทำอะไรต่อไป
ตอนนี้ขอสอนวิธีแปลผลเคมีของเลือดให้จบก่อนนะ

7.. Uric acid ก็คือกรดยูริกที่เป็นต้นเหตุของโรคเก้าท์นั่นแหละ
ค่าปกติของกรดยูริกในเลือดคือ 3.4-7.0
ของคุณได้ 8.4 ก็คือสูงผิดปกติ
เนื่องจากคุณไม่เคยมีอาการของเก้าท์ (เจ็บข้อ ข้อบวมแดง)
จึงเรียกคนแบบคุณนี้ว่าเป็นคนที่มีกรดยูริกสูง
โดยไม่มีอาการ (asymptomatic hyperuricemia)
ซึ่งยังไม่ถือเป็นภาวะที่ต้องกินยารักษาเก้าท์แต่อย่างใด

8..Triglycerideคือไขมันไตรกลีเซอไรด์
ซึ่งเป็นไขมันก่อโรคชนิดหนึ่งในร่างกายเรา
ระดับที่สูงจนต้องใช้ยาคือเกิน 200 mg/dl
ของคุณได้ 218 ก็ถือว่า
เป็นโรคไขมันในเลือดผิดปกติ
ชนิดไตรกลีเซอไรด์สูง

9.. HDL-cholesterol เรียกสั้นๆว่าเอ็ช.ดี.แอล.
เรียกอีกอย่างว่า “ไขมันดี”
เพราะมันเป็นไขมันที่ดึงไขมัน
ที่พอกหลอดเลือดออกไปจากหลอดเลือด
ดังนั้นยิ่งมีเอ็ช.ดี.แอล.มากก็ยิ่งดี
คนปกติควรมี
เอ็ขดีแอล.เกิน 40 mg/dl ขึ้นไป
ของคุณมี 37 ก็ถือว่าต่ำผิดปกติ
หมายความว่าเป็นคนมีความเสี่ยง
ที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมาก

10.. LDL-cholesterol เรียกสั้นๆว่าแอลดีแอล.
หรือเรียกอีกอย่างว่า “ไขมันเลว”
เพราะมันเป็นตัวไขมัน
ที่พอกอยู่ที่ผนังหลอดเลือด
และเป็นไขมันก่อโรคโดยตรง
การจะตัดสินว่าคนไข้คนไหนควรกินยา
ลดไขมันเมื่อไหร่ก็ตัดสินกัน
จากระดับแอลดีแอล.นี่แหละ
โดยเทียบกับความเสี่ยงในการ
เป็นโรคหัวใจหลอดเลือด (cardiac risk stratification)
ที่แต่ละคนมีเป็นทุนอยู่แล้ว  กล่าวคือ

ถ้ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่ำ (low cardiac risk)
เช่นอายุไม่มาก ไขมันไม่สูง ความดันไม่สูง ไม่สูบบุหรี่
ก็จะให้เริ่มทานยาลดไขมันเมื่อ LDL มากกว่า 160
ถ้ามีความเสี่ยงปานกลาง (moderate cardiac risk) เช่น
มีปัจจัยเสี่ยงหลักเกินสองอย่างขึ้นไป
จะให้เริ่มทานยาลดไขมันเมื่อ LDL มากกว่า 130
ถ้ามีความเสี่ยงสูง (high cardiac risk) หรือเป็นโรคหัวใจ
หรือเบาหวาน หรืออัมพาตแล้ว
จะให้เริ่มทานยาลดไขมันเมื่อ LDL มากกว่า 100

     ในกรณีของคุณนี้ น่าเสียดายที่คุณไม่ได้บอกความดันเลือด
สถานะของการสูบบุหรี่
และประวัติการตายของบรรพบุรุษมา
ผมจึงประเมินระดับชั้นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหลอดเลือดให้คุณไม่ได้
แต่หากดูจากดัชนีมวลกายที่สูงเกินปกติ (26)
น้ำตาลที่ค่อนไปทางสูง ไตรกลีเซอไรด์ที่สูงผิดปกติ
และไขมันดีที่ต่ำมาก
ผมเดาว่าระดับความเสี่ยง
ต่อการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดของคุณ
ต้องเป็นระดับปานกลางขึ้นไปแน่นอน
นั่นหมายความว่า ณ จุดนี้ คุณต้องรีบรีดไขมันเลว
ออกจากตัวให้เหลือต่ำกว่า 130 ให้ได้
ถ้าทำไม่ได้ คุณก็ต้องทานยาลดไขมัน

11. Total Cholesterol หมายถึงโคเลสเตอรอลรวมในร่างกาย
เป็นค่ารวมของไขมันสามอย่าง กล่าวคือ

    โคเลสเตอรอลรวม = ไขมันดี (HDL) + ไขมันเลว (LDL) + หนึ่งในห้าของไขมันไตรกลีเซอไรด์

     สมัยก่อนเราใช้ค่าโคเลสเตอรอลรวมตัวนี้ตัวเดียว
ในการประเมินไขมันในเลือด
จึงได้กำหนดค่าปกติไว้ว่าถ้าสูงเกิน 240 mg/dl
จึงจะถือว่าสูงและเริ่มใช้ยา
แต่สมัยนี้เราไม่ค่อยจะดูค่าโคเลสเตอรอลรวมกันเท่าไหร่แล้ว
เราดูเจาะลึกลงไปถึงไขมันแต่ละชนิด
และตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้ยาจากระดับไขมันเลว (LDL)
โดยไม่สนใจโคเลสเตอรอลรวมแล้ว
เพราะค่านี้มักชักนำให้เข้าใจผิด
ยกตัวอย่างเช่นตัวคุณนี้ถ้าดูค่าโคเลสเตอรอลรวม
จะเห็นว่าได้ 214 ซึ่งก็แค่สูงเกินพอดีไปบ้าง
แต่ไม่สูงถึงกับต้องใช้ยา
แต่ว่าจริงๆแล้วเป็นความเข้าใจผิด
เพราะกรณีชองคุณนี้ค่าโคเลสเตอรอลรวม
ดูต่ำอยู่ได้เพราะคุณมีไขมันดี (HDL) ต่ำกว่าปกติ
เลยพลอยทำให้ค่าโคเลสเตอรอลรวมต่ำไปด้วย
ทั้งๆที่คุณเป็นคนมีไขมันเลวอยู่ในระดับสูง
ถึงขั้นต้องใช้ยาแล้ว

12..AST(SGOT) = ย่อมาจาก aspartate transaminase
หรือชื่อเก่าว่า serum glutamic oxaloacetic transaminase
เป็นเอ็นไซม์ที่ปกติอยู่ในเซลของตับ
ซึ่งจะไม่ออกมาในเลือด
หากมีเอ็นไซม์ตัวนี้ออกมาในเลือดมาก
ก็แสดงว่าเซลตับกำลังได้รับความเสียหาย
เช่นอาจจะมีตับอักเสบจากการติดเชื้อหรือจากสารพิษ
หรือแม้กระทั้งจากแอลกอฮอล์
และไขมันแทรกเนื้อตับ ค่าปกติของ AST คือไม่เกิน 40 IU/L
แต่ของคุณได้ 55 ก็ถือว่าสูงกว่าปกติ
อาจมีเหตุอะไรสักอย่างให้เซลตับบาดเจ็บ
กรณีของคุณนี้เป็นคนน้ำหนักเกิน
ไขมันในเลือดสูง สาเหตุอาจเกิดจากตับอักเสบจากไขมันก็ได้
นอกจากนี้เอ็นไซม์ตัวนี้ยังมีอยู่ในอวัยวะอื่นเช่น
หัวใจ ไต สมอง ด้วย จึงไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่า
ถ้าเอ็นไซม์ตัวนี้สูงต้องเป็นเรื่องของตับเท่านั้น

13.. ALT (SGPT) = ย่อมาจาก alamine amintransferase
หรือชื่อเก่าว่า serum glutamic pyruvic transaminase
เป็นเอ็นไซม์ที่ปกติอยู่ในเซลของตับเช่นเดียวกับ AST
แต่ว่ามีความจำเพาะเจาะจงกับตับมากกว่า AST เสียอีก
และ ALT นี้จะออกมาในเลือดเมื่อเซลตับได้รับความเสียหายเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีเนื้องอกอุดตันทางเดิน
ค่าปกติของ ALT คือไม่เกิน 34 IU/L แต่ของคุณได้ 57
ก็ถือว่าสูงกว่าปกติอยู่ดี
ผมว่าคุณจะต้องมีอะไรสักอย่าง
ที่ไม่เป็นมิตรกับเซลตับ
ซึ่งต้องค้นหากันต่อไปว่ามันคืออะไร ?

14.. Alkaline Phosphatase = เป็นเอ็นไซม์ที่อยู่ในเซลของตับ
ทางเดินน้ำดี และของกระดูกเป็นส่วนใหญ่
ความหมายของเอ็นไซม์ตัวนี้หากมันสูงขึ้น
คืออาจจะมีปัญหาที่ทางเดินน้ำดี ตับ
หรือกระดูก
ค่าปกติในผู้ชายผู้ใหญ่ไม่เกิน 128 U/L
ของคุณได้ 57 ก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ

15.. GTT = ย่อมาจาก gamma glutamyl transpeptidase
เป็นเอ็นไซม์ในเซลตับและทางเดินน้ำดีเช่นเดียวกับ ALT
มีความไวต่อความเสียหายของเซลตับมากกว่า
แต่ขาดความจำเพาะเจาะจง หมายความว่าเมื่อ GTT สูง
จะเกิดจากอะไรก็ได้ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องของตับ
เช่นอาจมีปัญหาที่ตับอ่อน ที่หัวใจ ที่ปอด
หรือแม้กระทั่งเป็นเบาหวาน อ้วน หรือดื่มแอลกอฮอล์
ก็ทำให้ GTT สูงได้
สารตัวนี้จึงไม่มีประโยชน์ในการคัดกรองโรคเลย
อย่างของคุณก็สูงนะครับ
คือค่าปกติเขาไม่เกิน 78 U/L
แต่ของคุณได้ 84 เข้าใจว่าคงเป็น
เพราะคุณอ้วนนั่นละมัง

16.. HBs Ag = ย่อมาจาก hepatitis B surface antigen แปลว่า
ตัวไวรัสตับอักเสบบี.ซึ่งตรวจจากโมเลกุลที่ผิวของมัน
ถ้าตรวจได้ผลบวกก็แปลว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี.อยู่ในตัว
ของคุณตรวจได้ผลลบ ก็แปลว่า
ไม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี.

17.. Anti HBs = ย่อมาจาก antibody to hepatitis B surface antigen แปลว่า
ภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบบี.
คุณตรวจได้ผลบวกก็แปลว่าคุณมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสบี.แล้ว
ไม่ต้องไปแสวงหาการฉีดวัคซีน

      เอาละ ได้เข้าใจความหมายของสารเคมีแค่ละตัวแล้ว
คราวนี้ลองมาประเมินภาพรวมสุขภาพของคุณนะ
ว่าจากผลการตรวจสุขภาพครั้งนี้
คุณมีปัญหาซึ่งผมไล่เลียงจากเรื่องใหญ่ลงไปหาเรื่องเล็ก ดังนี้

ปัญหาที่ 1. เป็นโรคไตเรื้อรัง ระยะที่ 3
ปัญหาที่ 2. ไขมันในเลือดสูงถึงระดับต้องรักษา
ปัญหาที่ 3. ใกล้จะเป็นเบาหวาน
ปัญหาที่ 4. ดัชนีมวลการสูงเกินพอดี (พูดง่ายๆว่าอ้วน)
ปัญหาที่ 5. มีเอ็นไซม์ของตับสูงโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
ปัญหาที่ 6. กรดยูริกสูงโดยไม่มีอาการ
     
     โอ้.. อายุแค่ 42 ปีเอง ปัญหาแยะเหมือนกันนะเนี่ย

แต่คุณไม่ใช่คนพิเศษที่แย่กว่าคนอื่นมากมายหรอกครับ
คนไทยวัยคุณนี้ ซึ่งพวกการตลาดเขาเรียกว่า Generation X
หรือเรียกสั้นๆว่า Gen X คือ
มีอายุประมาณสามสิบกว่าไปถึงห้าสิบ

คนไทยรุ่นนี้เจาะเลือดมาดูเถอะครับ
สิทธิการิยะท่านว่าจะไม่ได้ตายดี อุ๊บ..ขอโทษ

ผมปากเสียอีกละ พูดใหม่ เจาะเลือดมาดูเถอะ
โครงสร้างของสารเคมีในเลือดแตกต่างจากคนไทยรุ่นก่อนนั้น
ราวกับเป็นมนุษย์คนละพันธ์
มีงานวิจัยหลายรายการมากที่สนับสนุนคำพูดของผม
รวมทั้งงานวิจัยของผมเองที่ศึกษาเคมีของเลือด
คนสุขภาพดีอายุ 40+ จำนวนสามพันกว่าคน
ที่มาตรวจสุขภาพที่รพ.พญาไท 2 พบว่า
เกินครึ่งมีไขมันในเลือดผิดปกติ
ถึงระดับที่ต้องใช้ยา
ประมาณหนึ่งในสามเป็นความดันเลือดสูง
โดยที่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัว
และหนึ่งในสามใกล้จะเป็นเบาหวาน
และมีดัชนีมวลกายเฉลี่ยสูงเกินพอดี
คือเป็นคนไทยรุ่นที่มีปัจจัยเสี่ยง
ที่จะเป็นโรคเรื้อรังอยู่เพียบ..บ..บ
จนสามารถคาดเดาได้เลยว่าคนวัยนี้จะ
จบชีวิต
ด้วยการป่วยเป็นโรคเรื้อรังอันได้แก่
โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง (อัมพาต)
ความดันเลือดสูง โรคไต โรคเบาหวาน เป็นต้น
จนผมอยากจะเปลี่ยนชื่อรุ่นจาก
Gen X เป็น Gen Sick แทน
เพราะว่ายังไม่ทันแก่ก็มีโรคแพลมออกมาให้เห็นเพียบแล้ว
เมื่อหลายเดือนก่อนมีหมอน้อยคนหนึ่งมาปรึกษาว่า
จะไปฝึกอบรมทางด้านผ่าตัดหัวใจดีไหม
อนาคตการทำมาหากินจะฝืดเคืองไหม
ผมรีบตอบว่า

     “เอาเลยน้อง พี่ดูไขมันในเลือดของคนไข้วัยสี่สิบห้าสิบวันนี้แล้ว
      เอ็งจบแล้วจะมีงานทำล้นมือไปอีกอย่างน้อยยี่สิบปี”

     ขอโทษ เผลอนินทา Gen X ไปซะหลายกระบุง
กลับมาที่เรื่องของคุณดีกว่า
เมื่อเรียงลำดับปัญหาสุขภาพได้แล้ว
ขั้นต่อไปก็ต้องวางแผนสุขภาพประจำปี
ว่าปีนี้คุณต้องทำอะไรบ้าง
ซึ่งกระบวนการนี้ต้องทำร่วมกันระหว่างตัวคุณ
ในฐานะคนไข้กับหมอที่ตรวจสุขภาพประจำปีให้คุณ
แต่วันนี้ผมทำให้คุณข้างเดียวก็แล้วกันนะ
สิ่งที่คุณจะต้องทำในปีนี้คือ

1.. คุณต้องรีบป้องกันไตของตัวเองไม่ให้เสื่อมไปมากกว่านี้ โดย

1.1  งดยาที่มีพิษต่อไตเด็ดขาด
โดยเฉพาะยาแก้ปวดแก้อักเสบ
ซึ่งผมเดาว่าคุณคงจะกินแก้ปวดเข่าของคุณอยู่ ต้องเลิก
หรือจำกัดให้เหลือน้อยที่สุด เพราะยานี้ทำให้ไตพัง

1.2 งดการตรวจวินิจฉัยด้วยการฉีดสารทึบรังสีอย่างสุดชีวิต
เพราะการฉีดสารทึบรังสีเป็นการขย่มเนื้อไต
ให้พังอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังได้มากที่สุด
ถ้าหมอจะทำต้องหาทางหลีก
ไปทำด้วยวิธีอื่นที่ไม่มีการใช้สารทึบรังสี

1.3 อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ เพราะร่างกายขาดน้ำ
เป็นตัวเร่งการเสื่อมของไต
ถ้าขาดน้ำมากๆไตอาจจะพังไปเลยในชั่วข้ามวัน
ให้คุณดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 2 ลิตร
ตั้งน้ำไว้ทุกหนทุกแห่ง
ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องทีวี ห้องน้ำ
เลิกนิสัยดื่มน้ำจากตู้เย็น
เพราะการต้องลุกเดินไป
เอาน้ำจากตู้เย็นทำให้ไม่ได้ดื่มน้ำสักที

1.4 สืบค้นให้แน่ใจว่าไม่มีโรคไตที่แก้ไขได้
แต่คุณยังไม่รู้ จะให้ดีไปหาหมอไตอย่างน้อยสักหนึ่งครั้ง
เพราะขณะนี้คุณเป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว
ไม่ไปหาหมอไตแล้วคุณจะไปหาลิง (อุ๊บ ขอโทษ)
คุณจะไปหาหมอสาขาไหนละครับ
การสืบค้นที่ควรทำคืออย่างน้อยควรตรวจอุลตร้าซาวด์ไตดูว่า
มีนิ่วซึ่งอาจจะเอาออกได้ง่ายๆหรือเปล่า
ตรวจโปรตีน (microalbumin) ในปัสสาวะ
เพื่อดูว่าการทำงานของไตเสียมากหรือเปล่า
คือถ้าเสียมากก็จะมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะมาก

2.. ในประเด็นไขมันในเลือดสูง อ้วน ใกล้เป็นเบาหวาน
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกันคือความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
การจะแก้ปัญหาเหล่านี้คุณต้องวางแผน
แก้ปัญหาเป็นชุดแบบเบ็ดเสร็จ
เรียกว่าต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง
(total lifestyle modification)
อันได้แก่

2.1 คุณต้องจัดเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวันไว้ออกกำลังกาย
และฝึกตัวเองทุกวันจนสามารถออกกำลังกายได้ถึงระดับมาตรฐาน
คือออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (แอโรบิก)
ได้จนถึงระดับหนักปานกลาง คือหอบแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้
นานอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 วัน
ควบกับการเล่นกล้ามอีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

2.2 คุณต้องปรับโภชนาการของคุณไปอย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือด้านหนึ่งคุณต้องลดการบริโภคอาหาร
ให้พลังงานลงให้เหลือสัก 1 ใน 4 ของที่เคยทานก็พอ
อาหารให้พลังงานตัวเอ้สามตัวคือ
 
(1) น้ำตาลที่เพิ่มเข้ามาในเครื่องดื่มซอฟท์ดริ๊งค์ต่างๆ
(2) ไขมันทรานส์ หมายถึงไขมันผงที่ใช้ทำอาหารอุตสาหกรรมเช่น
ครีมเทียม เนยเทียม เค้ก คุ้กกี้ ขนมกรุบกรอบ ไอศกรีม เป็นต้น
(3) คาร์โบไฮเดรตที่ขัดสี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ แป้ง ขนม ต่างๆ
     
      อีกด้านหนึ่งคุณต้องเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ให้มากๆๆ
      อย่างน้อยวันหนึ่งให้ได้ 5 เสริฟวิ่ง
      เรียกว่าให้ทานผักและผลไม้เป็นวัว

2.3 คุณต้องจัดดุลชีวิตคุณใหม่ หมายถึง
ดุลระหว่างงานกับชีวิต ต้องเรียนรู้วิธีจัดการความเครียด
และฝึกทำมันทุกวันจนมีทักษะ
ที่จะลดความเครียดให้ตัวเองอย่างได้ผล

2.4 คุณต้องลดน้ำหนักตัวเองลง
ถ้าสามารถลดจนดัชนีมวลกายเหลือสัก 23 ก็จะดี
นั่นคือลดน้ำหนักจาก 72 กก. เหลือ 62 กก.
แต่ถ้าไม่สามารถ ให้ลดลงจากเดิมสักสิบเปอร์เซ็นต์
คือเหลือ 65 กก. ก็ถือว่าพอรับได้
การลดน้ำหนักเป็นการยิงทีเดียวได้นกสามตัว คือ
(1) ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด
(2) รักษารักษาอาการปวดเข่า และ
(3) ป้องกันโรคเก้าท์ เพราะคุณมีกรดยูริกสูงเป็นทุนอยู่แล้ว 

2.5 หลังจากทำตัวดีได้ครบ 3 เดือน แล้ว
คุณต้องกลับไปหาหมออีกครั้งหนึ่งเพื่อประเมินปัจจัย
เสี่ยงของโรคหัวใจหลอดเลือดซ้ำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องไขมัน LDL
ซึ่งถ้าหากยังสูงเกิน 130 อยู่อีก
คราวนี้คุณต้องทานยาลดไขมัน
เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะไขมันในเลือดสูง
ชักนำคุณให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆถ้าประเมินแล้วพบก็แก้ไขเสียให้หมด
เช่นถ้าความดันเลือดสูงก็ต้องรีบรักษา
ถ้าสูบบุหรี่อยู่ต้องเลิก

3.. ในประเด็นที่มีเอ็นไซม์ของตับสูงผิดปกตินั้น
สิ่งที่พึงทำคือลดสิ่งที่จะเป็นพิษต่อตับออกไปก่อน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอลกอฮอล์
ยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอลนี่ก็เป็นพิษต่อตับ
แล้วเมื่อกลับไปโรงหมอในอีกสามเดือนข้างหน้า
ให้คุณตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบเอ.
และไวรัสตับอักเสบซี.ด้วย
เพราะหากยังไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบเอ.
คุณก็ควรจะฉีดวัคซีนซะ
เนื่องจากตับไม่ค่อยดีอยู่แล้ว
อะไรที่จะป้องกันตับไม่ให้เสียหายมากไปกว่านี้ได้ต้องรีบทำ
ในประเด็นการตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบซี.นั้น
หากพบว่าคุณเคยติดเชื้อตับอักเสบซี.
คุณต้องไปหาหมอตับ (hepatologist)
เพราะตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสซี.
อาจเป็นสาเหตุให้เอ็นไซม์สูง
ที่สำคัญคือปัจจุบันนี้
หมอตับอาจจะตัดสินใจใช้อินเตอร์เฟียรอน
รักษาไวรัสซี.ในจังหวะที่เหมาะสม

4.. ในประเด็นกรดยูริกสูงนั้น ยังไม่ใช่วาระหลักในตอนนี้
เพราะคุณยังไม่มีอาการของโรคเก้าท์
ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา สิ่งที่พึงทำคือ

4.1 หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนมาก เช่น
ตับ ไต ปลาซาร์ดีน ไก่งวง ส่วนอาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง เช่น
หน่อไม้ฝรั่ง เนื้อวัว เนื้อไก่ ปู เป็ด ถั่ว
เห็น กุ้ง หมู
นั้นก็ควรทานแต่พอควร

ส่วนอาหารที่มีสารพิวรีนน้อยเช่น
ผลไม้ ธัญพืช ไข่ นม มะเขือเทศ
ผักใบเขียวนั้น
ทานได้ไม่จำกัด

4.2. ถ้าอ้วน ต้องลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย
และปรับโภชนาการ เพราะยิ่งอ้วน ยิ่งเป็นเก้าท์มากขึ้น

4.3. ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ ต้องเลิก
เพราะแอลกอฮอล์ทั้งเป็นตัวให้พิวรีน
ซึ่งจะกลายเป็นกรดยูริกมากขึ้น
ทั้งทำให้ไตขับกรดยูริกทิ้งได้น้อยลง

4.4. ถ้าทานยาที่ทำให้เป็นเก้าท์ง่าย ต้องเปลี่ยน
ผมไม่ทราบว่าคุณทานยาอะไรอยู่บ้าง
ตรงนี้คุณไปดูเอาเองก็แล้วกัน

4.5 ตอนกลับไปหาหมอสามเดือนข้างหน้า
ให้ขอหมอตรวจสถานะของฮอร์โมนต่อมไทรอยด์
และพาราไทรอยด์ด้วยว่าเป็นอย่างไร
เพราะสาเหตุสองอย่างของเก้าท์คือ
โรคไฮโปไทรอยด์ และโรคไฮเปอร์พาราไทรอยด์
อย่างน้อยคุณต้องเจาะเลือดดูฮอร์โมนสองตัวนี้

    ที่ผมเขียนยืดยาวเนี่ยก็เพื่อเป็นตัวอย่าง
ให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นได้ไอเดียว่า
เมื่อเราไปตรวจสุขภาพประจำปี
เราควรใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้อย่างไร
นั่นคือเราต้องสรุปให้ได้ว่าจากข้อมูลที่ได้มา
เรามีปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง
แล้วก็จัดทำแผนว่าปีนี้เราจะทำอะไร
ให้สุขภาพของเราดีขึ้นบ้าง
แล้วก็…ลงมือทำ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม

 Fadem SZ, Rosenthal B. CKD-EPI and MDRD-GFR Calculator
using standardized serum creatinine, age, race, gender.
Accessed on October 3, 2012 at
โค๊ด:
http://nephron.org/cgi-bin/MDRD_GFR/cgi
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2024, 11:46:27 AM »

หมอสันต์เขียนจดหมายถึงรัฐบาลใหม่ (ฉบับแผ่นเสียงตกร่อง)

หมอสันต์เป็นคนชอบร้อง เมื่อเห็นอันตรายจะเกิดขึ้นก็ร้อง
และชอบร้องเฉพาะเวลาที่โอกาสเปลี่ยนแปลงจะมี
และผมก็ทำอย่างนี้เรื่อยมา หากมองดูประวัติศาสตร์
การพัฒนาระบบการแพทย์การสาธารณสุขของชาติ
จะเห็นว่าการก้าวกระโดดออกจากปลักโคลนตมของปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง
แต่ละครั้งเกิดขึ้นขณะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ
นับตั้งแต่การปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่
หลังการลุกฮือของนักศึกษาเมื่อ 14 ตค. 2516 แล้วก็มาถึง
การเกิดระบบสามสิบบาทหลังตั้งรัฐบาลโดยพรรคไทยรักไทย พศ. 2544
แล้วก็มาถึงการเกิดระบบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
หลังพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลประมาณพ.ศ. 2552
แม้ว่างานหลังนี้แบตจะหมดไปเสียก่อนกลางคันก็ตาม
แต่อย่างน้อยก็ได้เกิดงานจัดตั้งและเปิดป้ายขึ้นแล้ว
ดังนั้นช่วงจะเปลี่ยนให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งใหม่นี่แหละ
เป็นช่วงที่กระต่าย นก กา จะส่งเสียงร้องมากที่สุด
และผมก็ไม่เคยทิ้งโอกาสแบบนี้แทบทุกยุคทุกสมัย
บางสมัยแพทย์รุ่นน้องของผมเองเขาเป็นรัฐมนตรีผมก็ใช้วิธีจับเข่าคุย
เขาก็เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง บางสมัยมีคนสนิทกันต่อท่อตรงถึงนายกรัฐมนตรีได้
ผมก็เขียนจดหมายฝากไปยัดใส่มือท่าน
ถึงท่านอ่านแล้วจะเฉยผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะผมเป็นแค่กระต่าย นก กา
มีหน้าที่ร้อง ผมก็ร้อง ได้ร้องแล้วผมก็พอใจละ
เพราะผมมีกึ๋นทำได้แค่นั้น ตอนนี้ก็เป็นเวลาที่ผมควรจะร้องอีกแล้ว
และคำร้องของผมมุ่งตะโกนให้คนที่จะมามีบทบาทอำนาจในรัฐบาลฟัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกและรมต.สาธารณสุข
ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ผมร้องเรียนต่อเขาหรือเธอโดยตรงผ่านบล็อกนี้

    ประเด็นที่ผมจะร้องก็มีประเด็นเดียวซ้ำซากจนเป็นแผ่นเสียงตกร่องไปแล้ว
คือระบบการแพทย์และสาธารณสุขของชาติกำลังไปผิดทาง
ตรงที่เรามุ่งไปสู่การรักษาพยาบาลที่ใช้ยาและเทคโนโลยี
ซึ่งต้องซื้อฝรั่งเขามาและมันก็ใช่ว่าจะได้ผลกับโรคสมัยใหม่ที่เราเป็น
เราต้องเลิกเดินในทิศทางนั้น กลับหลังหันมาเดินในทิศทาง
การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยการสนับสนุนให้ประชาชน
มีศักยภาพในการสร้างเสริมสุขภาพของตัวเองได้
จัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพด้วยตัวเองได้
หากเราไม่รีบลงมือแก้เสียเดี๋ยวนี้
ระบบปัจจุบันนี้จะพาเราไปสู่ความ (ขอโทษ)..ฉิบหาย

ไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียวที่มีปัญหานี้
ฝรั่งอย่างเช่นอเมริกาเขาก็มีปัญหานี้
พวกนักร้องของเขาก็ร้องๆๆๆ แต่ของเขามันแก้ยากกว่าของเรา
โอบามาอยู่สองสมัยก็ยังแก้ไม่สำเร็จ เพราะของเขาระบบผลประโยชน์
มันถักทอกับการเมืองเสียจนแนบแน่นไม่มีทางจะแก้ปัญหาอย่างนี้ได้
แต่ของเราทำได้ เพราะเราเป็นประเทศยากจน ระบบผลประโยชน์ทางการค้า
ต่อการจัดการสุขภาพของผู้คนมันไม่ได้แน่นหนาขนาดนั้น
เราแก้ได้ เพราะการแก้ปัญหาในปี 2516 ก็ดี ปี 2544 ก็ดี ปี 2552 ก็ดี
เป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญและแหวกแนวมาก
แต่ทำไมเราทำได้ละ ดังนั้นคราวนี้หากเราจะทำ เราก็ต้องทำได้แน่นอน

    ประเด็นย่อยสำคัญๆที่ผมจะร้องก็คือ

    ประเด็นที่ 1. เราจะต้องย้ายโฟกัสจากดูแลสุขภาพที่เอาโรงพยาบาลเป็นฐาน
ไปสู่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เอาศักยภาพที่
จะดูแลตนเองของประชาชนที่บ้านเป็นฐาน
โดยกำหนดเป็นนโยบายอย่างตรงๆ โต้งๆ และอย่างเป็นวาระแห่งชาติ
และโดยกำหนดเจตนาอันแรงกล้าว่า
เราจะทุ่มทรัพยากรทั้งหมดไปที่ตรงนี้
จะใช้กลไกที่มีทั้งหมดเพื่อการนี้
ไม่เว้นแม้กระทั่งกลไกภาษี

ยกตัวอย่างเช่นหากเราสร้างระบบจูงใจด้วยภาษีว่า
ใครที่ดัชนีสุขภาพตัวสำคัญเช่น น้ำหนัก ไขมัน ความดัน น้ำตาลในเลือด
อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยๆไม่ได้เบิกยาของรัฐมากิน
ให้ใช้ผลตรวจเป็นหลักฐานลดหย่อนภาษีได้
แค่นี้คนก็จะหันมาสนใจที่จะจัดการปัจจัยเสี่ยง
ต่อโรคเรื้อรังของตัวเองด้วยขึ้นมาทันที
หรืออย่างเช่นหากเราขึ้นภาษีอาหารที่ทำให้เป็นโรคเรื้อรัง
ลดภาษีอาหารที่รักษาโรคเรื้อรัง แค่นี้การกินอาหารของผู้คน
ก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่เอื้อต่อการป้องกันโรคเรื้อรังแล้ว

การลดคนไปโรงพยาบาลโดยให้มีอำนาจดูแลตัวเองที่บ้านได้
อาศัยหมอพยาบาลเป็นผู้ช่วยแนะนำ
สามารถทำได้โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วย
มีหลักฐานวิทยาศาสตร์มากเกินพอที่แสดงว่า
เทคโนโลยีที่มีอยู่วันนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ
ของการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้านได้ดีกว่า
การไปโรงพยาบาลเสียอีก ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัย
ที่ทำที่รพ.บริกแฮมแอนด์วีแมนของฮาร์วาร์ด
พบว่าหากเปลี่ยนวิธีรักษาผู้ป่วยความดันเลือดสูง
มาเป็นให้วัดความดันที่บ้านส่งเข้าอินเตอร์เน็ทแบบอัตโนมัติ
แล้วมีผู้ช่วยแพทย์ที่ได้รับการอบรมให้รู้จักใช้อัลกอริทึ่ม
การปรับยาติดตามให้คำแนะนำทางอินเตอร์เน็ททุกสองสัปดาห์
จะเพิ่มอัตราการความคุมความดันได้จากหากทำแบบ
รักษากับแพทย์ในโรงพยาบาลแบบดั้งเดิมคุมได้ 50%
ขึ้นมาเป็นหากรักษาด้วยตัวเองที่บ้านคุมได้ถึง 80%
ในเวลาเพียง 7 สัปดาห์ เป็นต้น

อย่าลืมว่าการปลี่ยนแปลงทางการแพทย์และสาธารณสุข
ที่สำเร็จอย่างดีมาแล้วในอดีตทั้งสามขั้น คือเมื่อปี 2516, ปี 2544 และปี 2552
ก็ล้วนเปลี่ยนเพื่อไปให้ถึงจุดประสงค์อันนี้
คือการมุ่งส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้สำเร็จ

แต่ว่ามันเพิ่งอยู่ในระยะออกเดิน เรามาเดินต่อให้ถึงที่หมายกันเถอะ

 ประเด็นที่ 2. จะต้องย้ายโฟกัสจากการแพทย์แบบเอาโรคเป็นศูนย์กลาง
โดยอิงหลักฐาน (evidence based, disease centered, medicine)
มาเป็นการแพทย์แบบองค์รวม (holistic medicine)
โดยอิงศักยภาพในการดูแลตัวเองของประชาชน

สิ่งที่เรียกว่าการแพทย์แบบอิงหลักฐานนั้น
แท้จริงแล้วมันเป็นการแพทย์แบบอิงการเบิกจ่าย (reimbursement based medicine)
คืออะไรที่เบิกได้ แพทย์ก็จะทำ และสิ่งที่เรียกว่าหลักฐาน (evidence)
นั้นมีข้อดีอยู่มากก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็มีด้านมืดของมันเอง
กล่าวคือหลักฐานมากกว่าครึ่งหนึ่งมันเกิดจากการลงทุน
ผลิตหลักฐานขึ้นมาโดยผู้ค้ายาและผู้ค้าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์
เมื่อผู้ค้าเหล่านั้น “ใช้” ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้แทนขาย
โดยมีหลักฐานวิทยาศาสตร์เป็นโบรชัวร์ประกอบการขาย
ระบบก็ถูกมัดมือชกให้จัดสินค้าเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่เบิกจ่ายได้
ผลก็คือเราเสียเงินมาก แต่สิ่งที่ได้กลับมาในรูป
ของสุขภาพของประชาชนในภาพรวมกลับน้อย

     การแพทย์แบบเอาโรคเป็นศูนย์กลางต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ
เฉพาะสาขามากมายยิบย่อย ผู้เชี่ยวชาญออกแบบกระบวนการผลิตได้ลึกซึ้ง
เฉพาะในขอบเขตความชำนาญของตนแต่มองไม่เห็นภาพรวมของปัญหา
เช่นอายุรแพทย์หัวใจแบบรุกล้ำ (invasive cardiologist)
สามารถออกแบบกระบวนการตรวจสวนหัวใจใส่บอลลูนขยายหลอดเลือดที่ดีที่สุดให้ได้
แต่เมื่อเราทำตามสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราได้กระบวนการผลิต
ที่ใช้เงินมากแต่มีผลิตภาพโดยรวมต่ำ ยกตัวอย่างเช่น
สปสช.ตั้งใจจะควบคุมโรคหัวใจจึงให้ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจมาออกแบบระบบ
แต่สิ่งที่ได้มาคือศูนย์รักษาโรคหัวใจในต่างจังหวัดเป็นสิบๆแห่ง
สร้างตึก ซื้อเครื่องมือ ทุกแห่งทำบอลลูนใส่สะเต้นท์ให้คนไข้ฟรีหมด
ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจห้องล่างสองห้องได้ฟรี
แต่ละเคสต้นทุนหลายแสนทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ใช้เงินจำนวนมหาศาล
แต่หลักฐานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่ามันลดจุดจบที่เลวร้าย
และอัตราตายของโรคหัวใจลงได้น้อยมากหรือแทบไม่ได้เลย
ขณะที่อุบัติการณ์ของโรคก็เพิ่มเอาๆ

     ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัย COURAGE trial ที่ตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์
พบว่าการทำบอลลูนใส่สะเต้นท์คนไข้โรคหัวใจขาดเลือด
ที่ตีบสองเส้นบ้างสามเส้นบ้างทีมีอาการเจ็บหน้าอกเกรด 1-3
ให้ผลในระยะยาวไม่ต่างจากการไม่ทำเลย

     และอีกงานวิจัยหนึ่งชื่อ OAT trial ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเดียวกัน
พบว่าการเอาคนไข้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่รอดชีวิตมาได้ถึง 24 ชั่วโมง
มาแบ่งรับการรักษาสองแบบคือทำบอลลูนใส่สะเต้นท์กับไม่ทำอะไร
พบว่าอัตราตายและการเกิดจุดจบที่เลวร้ายในระยะยาวไม่ต่างกันเลย

     ขณะที่งานวิจัยที่รวบรวมโดยสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA)
ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Circulation พบว่าขณะที่การรักษาในระบบโรงพยาบาล
ลดอัตราตายโรคหัวใจลงได้ 20-30% แต่การสอนให้ผู้ป่วยดูแลตัวเอง
ด้วยดัชนีง่ายๆเจ็ดตัว (Simple 7) คือน้ำหนัก ความดัน ไขมัน น้ำตาล
การกินผักผลไม้ การออกกำลังกาย และบุหรี่
มีผลลดอัตราตายลงได้ถึงประมาณ 90%
(ตอนหลังเพิ่มเป็น Simple 8 คือเพิ่มการนอนหลับเข้าไปอีกหนึ่งอย่าง)

     ประเด็นที่ 3. จำเป็นต้องรีบใช้ประโยชน์จากรพ.สต.
(โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ที่เราตั้งขึ้นมาแล้วให้เต็มที่
เราตั้งรพ.สต.มาแล้ว 14 ปี เราผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นได้ถึงปีละ 2,000 คน
แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีแพทย์ไปประจำรพ.สต.
แสดงว่าเรายังฝังหัวในคติเดิมว่า
เราสอนแพทย์มาให้ทำแต่งานรักษาโรค
ไม่ได้สอนมาให้ทำงานส่งเสริมสุขภาพเพื่อไม่ให้เกิดโรค

มันไม่สำคัญดอกว่าจะให้รพ.สต.อยู่กับกระทรวงสธ.
หรืออยู่กับรัฐบาลท้องถิ่น เพราะไม่ว่าจะอยู่กับใคร
รพ.สต.จะเดินหน้าได้ก็ต้องได้การสนับสนุน
จริงจังจากรัฐบาลกลางอยู่ดี

ความสำเร็จของรพ.สต.นี้มันโยงใยกับการต้องเปลี่ยนคอนเซ็พท์ในการผลิตแพทย์
แพทย์ทุกวันนี้จบมาโดยที่ได้เรียนเรื่องอาหารและการโภชนาการ
ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของโรคเรื้อรังคนละไม่เกิน 4 ชั่วโมงตลอดหลักสูตร 6 ปี
ตัวแพทย์เองยังกินอาหารขยะและอาหารก่อโรคเป็นนิสัย
และแพทย์ส่วนใหญ่เป็นโรคไขมันในเลือดสูงซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก
ของโรคหัวใจหลอดเลือด พูดง่ายๆว่าแพทย์ที่ผลิตออกมาแล้ว
ทุกวันนี้ยังส่งเสริมสุขภาพตนเองไม่เป็นเลย
อย่าว่าแต่จะไปช่วยส่งเสริมสุขภาพให้คนอื่น
หากจะให้ไปอยู่รพ.สต.ผมว่าอยู่ได้ 7 วันก็เก่งแล้ว
เพราะไม่มีใครอยากทำอะไรที่ตัวเองทำไม่เป็น
ทำไปก็ไม่มีความสุข หนึไปจ่ายยารักษาโรค
ทำบอลลูนทำผ่าตัดอยู่ในโรงพยาบาลมันถนัดกว่า

ด้วยจำนวนแพทย์ที่จบต่อปีขณะนี้ ไม่มีความจำเป็นอะไร
ที่จะต้องบังคับให้แพทย์ทำสัญญาใช้ทุน เพราะแพทย์จบมาแยะจนไม่มีตำแหน่งงานให้
จังหวะนี้เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะบอกให้โรงเรียนแพทย์
ผลิตแพทย์ในสะเป็คที่จะไปทำงานรพ.สต.ได้สำเร็จ
โดยรัฐบาลประกันว่าจะรับเข้าทำงานทั้งหมด
ถ้าไม่ได้สะเป็คนี้ไม่ประกันว่าจะรับเข้าทำงาน
จะโดยวิธีตั้งโต๊ะสอบสะเป็คก่อนเข้าทำงานก็ได้
โดยวิธีนี้หลักสูตรของโรงเรียนแพทย์ก็จะเปลี่ยนได้เองอย่างรวดเร็ว
โรงเรียนที่ไม่เปลี่ยนจะไม่มีใครไปเข้าเรียนเพราะเรียนไปแล้ว
ตกงานต้องไปขายยาหรือขายเครื่องสำอางค์แทน
แล้วคนที่อยากจะเป็นแพทย์จริงๆใครเขาจะไปเรียน

     ประเด็นที่ 4. ระบบการสอนสุขศึกษาและพลศึกษาในโรงเรียนจะต้องเปลี่ยน
หากยังเปลี่ยนเนื้อหาหรือเปลี่ยนหนังสืออ่านประกอบไม่ได้ก็ยังไม่เป็นไร
เพราะอดีตสอนเราว่าแม้มีหนังสือสุขศึกษาที่มีเนื้อหาดีเลิศและเด็กท่องจำ
สุขบัญญัติสิบประการได้ขึ้นใจ แต่ศักยภาพในการจะดูแลสุขภาพตัวเอง
ของนักเรียนแทบไม่มีเลย ดังนั้นหากการเปลี่ยนเนื้อหาวิชามันยาก
จะเอาไว้ก่อนก็ได้ แต่ขอให้เปลี่ยนการจัดประสบการณ์เรียนรู้และสร้างทักษะ
ในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด
ทักษะหมายถึงการได้ลงมือปฏิบัติ เช่นทักษะอาหารก็เกิดจากการได้ลงมือ
กินอาหารที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี นั่นหมายความว่าระบบอาหาร
ของโรงเรียนจะต้องเปลี่ยน อะไรจะวางให้เด็กกินเป็นมื้อกลางวัน
ในโรงเรียนและรอบรั้วโรงเรียนต้องเปลี่ยน
เพราะถ้าไม่ได้กินอาหารสุขภาพที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีแล้ว
จะเกิดทักษะทางอาหารได้อย่างไร เป็นต้น

ทั้ง 4 ประการนี้คือ
(1) เลิกเอาโรงพยาบาลเป็นฐาน
เอาตัวประชาชนที่บ้านเป็นฐานในการสร้างเสริมสุขภาพแทน
(2) เปลี่ยนวิธีดูแลสุขภาพจากการเอาโรคเป็นศูนย์กลาง
เป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
(3) ใช้รพ.สต.จริงจังและเปลี่ยนวิธีผลิตแพทย์ให้ไปทำงานรพ.สต.ได้
(4) ปรับสุขศึกษาพลศึกษาในโรงเรียนเน้นการสร้างทักษะสุขภาพ
เป็นคำร้องเรียนของหมอสันต์ต่อรัฐบาลใหม่ที่จะมา
จะได้ผลประการใดนั้นผมเองไม่ทราบ
แต่ผมร้องเรียนเพราะผมเห็นว่าเป็นหน้าที่ของหมออาชีพ
เกิดมามีอาชีพนี้ ทำหน้าที่นี้มาร่วมห้าสิบปี มองเห็นภัยพิบัติในเรื่องนี้
ว่ากำลังเกิดขึ้นขณะที่คนอื่นยังมองไม่เห็น ผมก็ต้องร้องให้คนอื่นมองเห็น
เขาได้ยินแล้วจะเก็ทหรือไม่เก็ทจะทำหรือไม่ทำ
นั่นเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผมแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โค๊ด:
https://drsant.com/2023/05/%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%ad%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b9%8c%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b8%88%e0%b8%94%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%96%e0%b8%b6%e0%b8%87-2.html
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2024, 11:49:00 AM »

เจาะใจEP.38 : นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ กับการมีสุขภาพดีได้ด้วยตัวเองจากการกินและการใช้ชีวิต [17 ก.ย. 65]

โค๊ด:
https://youtu.be/_5z46ZpEGho

เช้า ผลไม้
กลางวัน กินรัยก็ได้ ไม่เคร่งครัด
เย็น ห้ามกิน ให้ดื่มแต่น้ำเปล่า


อาหาร คือต้นเหตุ 80% ของการป่วยเรื้อรัง

นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์

วว.ศัลยศาสตร์หัวใจหลอดเลือดทรวงอก (แพทยสภา),
วว.เวชศาสตร์ครอบครัว (แพทยสภา)
เป็นหมออาชีพในสาขาผ่าตัดหัวใจ (Cardiac surgeon)
ในขณะทำงานสายอาชีพได้เขียนตำราทางการแพทย์
เกี่ยวกับการดูแลปู้ป่วยวิกฤติ
โรคหัวใจและการช่วยชีวิตขั้นสูงไว้หลายเล่ม
อีกทั้งยังเคยเป็นคณะอนุกรรมการให้กับสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA)
ปัจจุบันคุณหมอหันมาทำงานเป็นแพทย์ส่งเสริมสุขภาพแทน
จากประสบการณ์ตรงที่เคยป่วยเป็นโรคหัวใจ
จนในที่สุดสามารถที่จะพลิกผันโรคได้ด้วยตนเอง
โดยไม่ใช้ยาและการผ่าตัด บวกกับความชอบส่วนตัว
ในการเผยแพร่ความรู้ด้านการป้องกันและพลิกผันโรคให้แก่บุคคลทั่วไป
ทั้งการเป็นวิทยากรรับเชิญ เขียนหนังสือ ทำรายการทีวี
และล่าสุดกับการสร้างศูนย์เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ขึ้น ที่ปากช่อง โคราช
พื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมสุขภาพให้กับผู้ป่วยและบุคคลทั่วไป
นอกจากนี้คุณหมอยังมีบล็อคส่วนตัวไว้คอยตอบคำถามสุขภาพ
ซึ่งมีผู้ติดตามอ่านบทความปีละไม่ต่ำกว่าสองล้านครั้ง
สำหรับเวลาว่างของคุณหมอนั้นส่วนใหญ่ก็จะหมดไปกับ
การทำไร่ ทำสวน ปลูกผัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คุณหมอมีความสุข
เพราะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #6 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2024, 12:02:30 PM »

LDL สูง มีโอกาสเป็นหลอดเลือดหัวใจไหม - นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โค๊ด:
https://youtu.be/2ZSpOXdpTOg?si=h987eTw43SRmFrVx
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #7 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2024, 12:12:10 PM »

เรียนคุณหมอสันต์

ฉันอายุ 75 ปี ไม่ได้มีการศึกษาสูงอะไร อยู่คนเดียว
เมื่อหลายวันก่อนฉันรู้สึกว่าตัวเองโงนเงน ทรงตัวไม่ถนัด จะล้ม
จนต้องนอนลงบนพื้นกระเบื้องกลางบ้าน
พยายามโทรศัพท์มือถือไปบอกหลาน (ลูกน้องสาว)
ที่ฉันเข้าใจว่าเขายังอาลัยอาวรณ์ฉันอยู่
แต่กดโทรศัพท์ผิดๆถูกๆไป
เข้าสายใครไม่รู้ไม่ได้พูดกับหลานสักที
ฉันลุกไม่ขึ้นจึงต้องนอนอยู่อย่างนั้นแต่หัวค่ำถึงรุ่งเช้า
จึงลุกเดินได้ อยากถามว่าอาการของฉันเป็นอะไร
ฉันจะอยู่คนเดียวได้ไหม ถ้าไม่ได้ฉันจะไปอยู่ที่ไหนดี
หมอสันต์ช่วยแนะนำด้วย
ฉันมีเงินอยู่ราว 2 ล้านบาท
มีบ้านชั้นเดียว 60 ตารางวา  หนึ่งหลัง

ตอบครับ

(update 14 มค. 57)

ก่อนอ่านคำตอบนี้ผมขอแจ้งข้อมูลใหม่ว่า
ขณะนี้โปรแกรม EMS 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน
ได้หยุดให้บริการด้วยเหตุใดไม่ปรากฎ
สถาบันฯได้ให้ข่าวว่าจะเอาไปให้ 191 ทำต่อ
ดังนั้นข้อมูลในบทความนี้อาจจะใช้การไม่ได้เสียแล้วครับ
ส่วนเขาจะกลับมาให้บริการอีกหรือไม่
ให้เมื่อไหร่ ผมจะพยายาม
ติดตามมาเล่าให้ฟังครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ตอบครับ

1.. ก่อนที่ผมจะลืม ให้คุณพี่ และท่านผู้อ่านทุกท่าน

ดาวน์โหลดแอ็พมือถือชื่อ “EMS 1669”
ไว้เสียแต่ตอนนี้เลยทุกคน
โหลดเดี๋ยวนี้เลย
แอ๊พนี้เป็นของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน
ถ้ามีแอ๊พนี้ เวลาจะเรียกรถพยาบาลก็แค่กดปุ่มแดง
อันเบ้อเร่อจึ๊กเดียว
แล้วรถฉุกเฉินเขาจะวิ่งมาตามโลเคชั่นที่คุณถือโทรศัพท์อยู่
ซึ่งแอ็พนี้มันจะแจ้งเขาไปเองแบบอัตโนมัติ
คุณไม่ต้องเสียเวลาบรรยายบอกทางว่า
เข้าซอยนั้นออกซอยนี้อย่างไร
เพราะเมืองไทยนี้เลขที่บ้านก็ไม่เรียงกัน
ซอยก็ไม่เรียงกัน บางหมู่บ้านซอยคี่อยู่ซ้าย
บางหมู่บ้านซอยคี่อยู่ขวา
แถมบ้างบ้านของตำบลหนึ่ง
ไปแทรกอยู่กลางซอยของอีกตำบลหนึ่งได้ไงก็ไม่รู้
เหมือนกันเช่น
บ้านหมอสันต์เป็นต้น
เพราะฉะนั้น.. EMS 1669 จงเจริญ


2.. อีกอย่างหนึ่งอย่าท้อถอยที่จะใช้เครื่องมือสื่อสาร
ถึงใช้ผิดๆถูกๆก็ต้องทู่ซี้ใช้
มีแฟนบล้อกท่านหนึ่งอายุแปดสิบกว่า
บอกผมว่ากว่าจะส่งเฟซบุ้คมาหาหมอสันต์ได้ส่งผิดไปสามที่
เขารุมท้วงมากันใหญ่ ไม่เป็นไร
ขอให้ทู่ซี้ใช้ ความสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารได้ถือว่าเป็น
instrumental activity daily living (IADL)
ซึ่งหากทำไม่ได้ก็จะหล่นจากการเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อม
ระดับเบาลงไปเป็นระดับปานกลางทันที
เพราะเมื่อใช้โทรศัพท์มือถือไม่ได้
ก็จะขาดคุณสมบัติข้อที่ว่า
“อยู่คนเดียวได้”
ไปโดยปริยาย

3.. ถามว่ามีอาการโคลงเคลงจนจวนเจียนจะล้ม
จึงนอนลงแซ่วอยู่กลางลานบ้านข้ามคืนเป็นโรคอะไร หิ หิ
ให้ข้อมูลมาแค่นี้จะตอบได้ไหมเนี่ย

แต่ชื่อว่าหมอสันต์จะตอบหมดแหละ ถูกผิดอีกเรื่องหนึ่ง
โอกาสเป็นไปได้มากที่สุดคือคุณพี่
เป็นอัมพาตเฉียบพลัน (stroke)
สมัยก่อนวงการแพทย์สอนคนทั่วไปว่า
วิธีวินิจฉัยสโตร้คคือ FAST ซึ่งแปลว่า

F คือ Face แปลว่าหน้าเบี้ยว

A คือ Arm แปลว่าแขนอ่อนแรง

S คือ Speech แปลว่าพูดไม่ชัด

T คือ Time แปลว่าให้รีบไปโรงพยาบาล

แต่ว่างานวิจัยตามหลังการเอา FAST ออกไป
ใช้พบว่า 14% ที่เป็นสโตร๊คไม่เก็ทว่าตัวเองเป็นสโตร๊ค
และไม่ได้รีบมาโรงพยาบาล
เพราะมีอาการไม่เข้าสะเป๊ค
เช่นมีอาการทรงตัวไม่อยู่อย่างคุณนี้บ้าง
มีอาการตามืดบ้าง จึงคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นสโตร้ค
ทำให้สมาคมหัวใจและสมาคมอัมพาตอเมริกา (AHA/ASA)
เปลี่ยนสโลแกนการวินิจฉัยอัมพาต
เฉียบพลันเสียใหม่ว่า BE-FAST คือ

B – Balance สูญเสียการทรงตัว

E – Eyes ตามืด

F – Face หน้าเบี้ยว

A – Arm แขนอ่อนแรง ยกไม่ขึ้น

S – Speech พูดไม่ชัด

T – Time เตือนว่าต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว

ดังนั้นครั้งต่อไปแฟนบล้อกหมอสันต์
ท่านใดเป็นสโตร๊คโปรดใช้สโลแกนอันใหม่นี้นะ

4.. ถามว่าอายุ 75 ปี เป็นสโตร๊คมาแล้วจะอยู่บ้านคนเดียวได้ไหม
ตอบว่าอยู่ด้าย..ย ทำไมจะไม่ได้
คนที่เขาอายุมากกว่านี้
เป็นอะไรมากกว่านี้

เขายังอยู่คนเดียวได้เลย

5.. ถามว่ามีบ้านหลังหนึ่ง มีเงินสองล้าน
จะไปอยู่ไหนดี ฮิ ฮิ ตอบว่า
ก็อยู่บ้านตัวเองนั่นแหละครับจะดิ้นรนไปอยู่ที่ไหนอีกละ
เพราะเวลาไม่มีแล้ว เอ๊ย..ไม่ใช่
เพราะอยู่บ้านของเราดีที่สุดแล้ว
แต่ว่าคุณพี่อย่าเที่ยวไป
โพนทะนาว่ามีเงินสองล้านนะ
เดี๋ยวจะถูกหลอกแฮ้บเงินผ่านมือถือแบบเนียนๆ
แล้วก็ระวังคนชอบเลียนเสียงหล่อๆ
โทรมาบอกว่าเป็นหมอสันต์
กำลังถังแตกฉุกเฉินช่วยโอนเงินให้หน่อย
(มีคนโดนมาแล้วและเสียเงินไปแล้วด้วย) หิ หิ

สรุปว่า

“..บ้าน คือวิมานของเรา
ยามพบความเศร้า
รีบกลับบ้านเราจะเปรมปรีดา
เพราะบ้านมีรัก น้ำใจ อภัยกรุณา
คอยเราอยู่ทุกเวลา
ในชายคาเขตบ้านของเรา..”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


 ping!
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #8 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 07, 2024, 06:39:31 PM »

หยุดโรคอันตราย (ตายทั้งเป็น) ด้วยวิถีธรรมชาติ โดย นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โค๊ด:
https://youtu.be/7nqI7QDv6iA?si=IpzTxt8Eq9w1d0Ln

 ping!
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #9 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 24, 2024, 07:48:21 AM »

ผลิตภัณฑ์แทนเกลือ (Salt Substitute) ของดีสำหรับผู้สูงอายุที่ความดันสูงแต่ขาดเค็มไม่ได้

ก่อนตอบคำถามวันนี้หมอสันต์ขอป่าวประกาศ
เป็นการโฆษณาคั่นว่าผมจะเริ่มทำรายการ
ตอบปัญหาสุขภาพแบบ LIVE ครั้งแรก
ในวันจันทร์ที่ 26 กพ. 67 เวลา 18.00-19.00 น.
คือจะเป็นการตอบคำถามสดๆทางออนไลน์วิดิโอคอล และโทรศัพท์
ซึ่งสามารถชมได้ทั้งทางยูทูบ เฟซบุ้ค
หาชมที่ไหนไม่ได้ก็มาชมที่เฟซบุ้คเพจของหมอสันต์นี่ก็ได้
ท่านที่มาชมแบบ LIVE ไม่ทัน
ก็มาชมแบบ was LIVE (แปลว่าแบบแห้ง) ภายหลังก็ได้
รายการนี้ผมตั้งใจจะทำต่อเนื่อง
ทุกวันจันทร์ที่ 2 และจันทร์ที่ 4 ของทุกเดือน
ตลอดไปจนกว่าแรงจะหาไม่
ช่วงไหนไปเทียวก็งด เป็นรายการให้ความรู้สุขภาพ
แบบองค์รวมเนื้อๆ
ไม่มีการขายของใดๆทั้งสิ้น


คุณหมอสันต์ที่เคารพ

คุณแม่อายุ 74 ปีเพิ่งเริ่มเป็นความดันเลือดสูง
หมอให้กินยาลดความดันสองตัว
แต่คุณแม่ไม่ยอมกิน ท่านไม่เชื่อหมอ
แต่เชื่อตัวเองมากกว่า
อยากปรึกษาคุณหมอว่า
จะมีอะไรอื่น ?
มาช่วยรักษาท่านแทนยาได้ไหมคะ

ตอบครับ

ผมพูดเรื่องการลดความดันเลือด
โดยไม่ใช้ยาไปหลายครั้งมากแล้ว
ทำเป็นวิดิโอก็มี
ทุกครั้งผมเน้นสี่เรื่องหลักคือ
(1) ลดน้ำหนักถ้าอ้วน
(2) กินพืชผักผลไม้มากๆ
(3) ออกกำลังกาย
(4) ลดเกลือ

วันนี้ผมจะขอพูดถึงแต่ประเด็นสุดท้ายคือ
การลดเกลือโซเดียมในอาหาร
ซึ่งหากทำไม่สำเร็จผมแนะ
ให้ใช้ผลิตภัณฑ์แทนเกลือ (Salt Substitute)
ซึ่งมีขายดาดดื่นในบ้านเราแทน
คำแนะนำของผมมีพื้นฐานจากงานวิจัยใหม่ๆ
ที่ทำอย่างดีรายการหนึ่งนี้ชื่อ DECIDE-Salt
เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร JACC
โดยเขาเอาผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราจีน
ที่ยังไม่ได้เป็นโรคความดันเลือดสูง
และไม่ได้กินยาลดความดันจำนวน 611 คน

มาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มหนึ่งให้กินอาหารที่ปรุงด้วยเกลือจริงๆตามปรกติ

อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารที่ปรุงด้วยผลิตภัณฑ์ทดแทนเกลือ
หรือ Salt Substitute

(ซึ่งมีส่วนผสมของ เกลือโซเดียมคลอไรด์ 62.5%
เกลือโปตัสเซียมคลอไรด์ 25%
เป็นของแต่งรสเสีย 12.5%)

ให้กินอาหารแบบนี้เป็นเวลานานสองปี

ผลวิจัยพบว่ากลุ่มที่กินผลิตภัณฑ์ทดแทนเกลือ
มีอุบัติการเป็นโรคความดันเลือดสูงต่ำกว่า
(11.7 vs 24.3 / person-year)
โดยที่ปัญหาความดันเลือดต่ำเกิดขึ้นน้อย
ในทั้งสองกลุ่มและไม่แตกต่างกันเลย
กลุ่มที่กินเกลือจริงความดันเพิ่มขึ้น
ขณะที่กลุ่มกินเกลือปลอม
ความดันไม่เปลี่ยนแปลง
ทำให้ความดันเลือดตัวบนเฉลี่ยต่างกันอยู่ 8.0 มม.ปรอท
เมื่อจบการวิจัย

งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานที่ดีมาก
ว่าผลิตภัณฑ์ทดแทนเกลือ

ป้องกันโรคความดันเลือดสูงในผู้สูงอายุได้

ความดันเลือดที่แตกต่างกัน 8 มม.นั้นถือว่าดีมาก
เมื่อเทียบกับผลของยาบางตัวเช่น Enaril
ลดความดันเฉลี่ยได้แค่ 5 มม.เท่านั้น

ดังนั้นผมแนะนำว่าสำหรับผู้สูงอายุที่ใกล้จะเป็น
หรือเป็นความดันเลือดสูงระดับไม่มาก
และมีความไม่ปลอดภัยจากการให้กินยา
หรือไม่ยอมกินยา
การใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนเกลือ
ทำอาหารแทนเกลือเป็นวิธีที่มีแต่
ได้กับได้ไม่มีอะไรเสียครับ

ก่อนจบผมขอพูดถึงสิ่งที่เขา
นิยมเอามาทำผลิตภัณฑ์แทนเกลือ
หรือ “salt substitute” สักหน่อย
คือเขาทำขึ้นมาให้มีรสเค็มเหมือนเกลือ
แต่มีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าเกลือของจริง
หรือไม่มีโซเดียมเลย
ของที่นิยมเอามาใช้แทนเกลือมีหลากหลาย
ผมยกตัวอย่างให้ดูดังนี้

1.. โปตัสเซียมคลอไรด์ เป็นตัวแทนโซเดียมที่เจ๋งที่สุด
ให้รสเค็มได้ใกล้เคียงกัน แต่มีผลต่อความดันเลือด
ไปในทางตรงกันข้ามกล่าวคือขณะที่โซเดียมเพิ่มความดัน
และโปตัสเซียมลดความดัน
เกลือโปตัสเซียมมีข้อพึงระวัง
ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังระดับ
ที่เริ่มมีโปตัสเซี่ยมคั่งอยู่ในร่างกายแล้ว

2.. แมกนีเซียมคลอไรด์ ซึ่งก็ให้รสเค็มเหมือนกัน
     แถมยังเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายจำเป็น
     ต้องใช้เป็นประจำอยู่แล้วด้วย

3.. แคลเซียมคลอไรด์ เค็มเหมือนกัน
     แถมใช้แทนยาเม็ดแคลเซียม
     ที่คนชอบกินกันได้อีกต่างหาก

4.. สมุนไพรและเครื่องเทศ
     บดผสมกันปั่นเป็นผงเพื่อให้เกิดรสชาติ
     จะได้ไม่ใช้เกลือมาก เช่น กระเทียม หัวหอม
     พริกไทยดำ ไทม์ โอเรกาโน เบซิล

5.. ผงชูรส(monosodium glutamate)
     ก็มีคนเอามาทำผลิตภัณฑ์ทดแทนเกลือ
     โดยเฉพาะหากมาจากทางญี่ปุ่น
     เพราะมันมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าเกลือ 40%
     และช่วยสร้างรสได้ดีกว่าเกลือที่เค็มลูกเดียวเสียอีก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โค๊ด:
บรรณานุกรม

    Xianghui Zhang, Yifang Yuan, Chenglong Li, Xiangxian Feng, Hongxia Wang, Qianku Qiao, Ruijuan Zhang, Aoming Jin, Jiayu Li, Huijuan Li, Yangfeng Wu. Effect of a Salt Substitute on Incidence of Hypertension and Hypotension Among Normotensive Adults. Journal of the American College of Cardiology, 2024; 83 (7): 711 DOI: 10.1016/j.jacc.2023.12.013
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #10 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 27, 2024, 06:53:23 AM »

โค๊ด:
https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=319980970604100

สาระ ความรู้เรื่อง สุขภาพ ครับ

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์  ได้แพร่ภาพสด Live

จันทร์ 26 กพ. 2567

 ping!
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #11 เมื่อ: มีนาคม 11, 2024, 02:18:47 PM »

ชีวิตวัยเกษียณที่ตีบตัน
March 11, 2024 by Sant Chaiyodsilp

คุณหมอสันต์ครับ
ผมเป็นวิศวกร อายุ 81 ปี ทำงานที่อเมริกามาหลายสิบปี
ตอนนี้เกษียณร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว มีความรู้สึกว่าชีวิตมันตีบตัน
มันไม่รู้จะทำอะไรต่อ ได้พยายามไปหลายแง่หลายมุม
ทั้งทำงานจิตอาสาก๊อกๆแก๊กๆ พบว่ามันไม่เวิร์ค
ความที่เรียนมามากทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ยอมรับอะไรที่อาศัยแต่ความเชื่อ
ก็ได้ลองศึกษา consciousness ในแง่มุมของ quantum physics ก็ยิ่งไม่เวอร์คใหญ่
อยากถามคุณหมอว่าทำอย่างไรชีวิตวัยเกษียณจึงจะไม่ตีบตัน

……………………………………………………………

ตอบครับ1.. ก่อนตอบคำถาม ผมติดใจที่คุณพี่บอกว่าได้ศึกษา consciousness
ในมุมของควันตั้มฟิสิกส์ ผมขอคุยกันตรงนี้ก่อนนะ
ก่อนอื่นสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป โปรดอย่าสับสนระหว่างควันตั้มฟิสิกส์
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเดอร์นฟิสิกส์ กับเมตาฟิสิกส์
ผมขอเคลียร์ตรงนี้ก่อนนะ ว่า

ควันตั้มฟิสิกส์ (Quantum physics) คือวิชาวิทยาศาสตร์
ที่ศึกษาถึงสสารและพลังงานในระดับที่เล็กกว่าอะตอม
ด้วยวิธีชั่งตวงวัดหรือใช้ตรรกะเชิงคณิตศาสตร์คิดคำนวณ
วิชานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาโมเดิร์นฟิสิกส์

โมเดิร์นฟิสิกส์ (Modern physics) คือวิชาฟิสิกส์ในยุคประมาณร้อยกว่าปีหลังมานี้
ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาถึงสสารและพลังงานด้วยหลักคิดทฤษฏีใหม่
ที่ทฤษฎีฟิสิกส์ยุคเก่าอธิบายไม่ได้ เช่น ทฤษฎีสัมพันธภาพ
ทฤษฏีความไม่แน่นอน เป็นต้น

เมตาฟิสิกส์ (Metaphysics) เป็นสาขาวิชาปรัชญาที่โฟกัส
เรื่องความจริง (reality) การดำรงอยู่ (existence) หรือการมีชีวิตอยู่ (being)
บางครั้งก็สนใจไปถึงคอนเซ็พท์ของเวลาและพื้นที่ว่างเปล่า (time and space)
เฉพาะส่วนที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึงยังอธิบายไม่ได้
ดังนั้นเมตาฟิสิกส์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ หรือจะพูดว่า
เมตาฟิสิกส์เป็นไสยศาสตร์ก็ไม่ผิด

2.. ความตีบตันในชีวิตเกษียณ ที่คุณพี่พูดถึงนี้
ท่านไม่ได้หมายถึงจนแต้มในเรื่องหาเงินไม่พอใช้
หรือชีวิตขาดความสุขสบาย
แต่ท่านหมายถึงความตีบตันในเรื่องการเรียนรู้และเติบโต
เพราะมาถึงวัยนี้แล้ว มันเป็นแบบว่า Been there, Done that คือ
ที่ไหนที่คนเขาอวดกันว่าได้ไป ตัวเองก็ไปมาหมดแล้ว
อะไรที่คนเขาอวดกันว่าได้ทำ ตัวเองก็ทำมาหมดแล้ว
แต่ชีวิตก็ยังอยู่ ยังไม่ตาย แล้วจะให้ทำอะไรต่อ
ลองศึกษาเชิงลึกเข้าไปในเรื่องความรู้ตัว (consciousness)
ในมุมของวิทยาศาสตร์ซึ่งรวมถึงควันตั้มฟิสิกส์ก็พบว่าไม่ส่งผลอะไรให้
มองเผินๆจึงรู้สึกว่ามันตีบตันเสียแล้ว
ชีวิตนี้จะเรียนรู้เติบโตได้อย่างไรต่อไป
หรือว่าต้องนั่งรอการมาของอาหารเย็น หรือความตาย
สุดแล้วแต่ว่าอย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน (หิ..หิ พูดเล่น)
ทั้งนี้คุณพี่ท่านมีข้อแม้ด้วยว่าต้องเป็นแนวทางวิทยาศาสตร์นะ
ไสยศาสตร์หรือความเชื่องมงายไม่เอา จบข่าว

3.. โอเค. ผมตอบคุณพี่ภายใต้กรอบของวิทยาศาสตร์ไม่เอาไสยศาสตร์..ว่า
การจะเรียนรู้เติบโตต่อไป จะต้องสรุปด้วยตรรกะเหตุผลให้ลงตัวก่อนว่า
“ฉัน” (consciousness) นี้ ไม่ได้เป็นอะไร
โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ดอกว่า “ฉัน” นี้เป็นอะไร
แค่นี้ก็ทะลายกรอบให้การเรียนรู้เติบโตเดินหน้าต่ออย่างฉลุยได้แล้ว
โดยผมแยกเป็นประเด็นย่อยสามประเด็น คือ

1.. ร่างกายนี้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเสื่อมสลายไป
โดยเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม และ
แลกเปลี่ยนหมุนเวียนโมเลกุลกันไปกันไปมา
ผ่านอาหาร น้ำ อากาศ แสงแดด เป็นต้น
โดยที่เราควบคุมบังคับหรือเปลี่ยนแปลงได้เพียงระดับหนึ่ง
ซึ่งเป็นระดับเล็กน้อย หรือพูดง่ายๆว่าหากเราเรียก
ตัวเราเองว่า “ฉัน” ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ “ฉัน”
นี่เป็นประเด็นที่หนึ่ง เราอาจอ้างแบบสมมุติหรือออกโฉนด
เอาแบบรู้แต่เฉพาะตัวเองว่ามันเป็นของฉัน แต่..มันไม่ใช่ “ฉัน”

2.. ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นในใจเรา
เป็นเพียงประสบการณ์ที่ “ฉัน” รับรู้และจดจำ เกิดขึ้นแล้วก็ดับหายไป
ดังนั้น ความคิดก็ดี อารมณ์ความรู้สึกก็ดี
ก็ไม่ใช่ “ฉัน” ซึ่งเป็นผู้รับรู้ประสบการณ์เหล่านี้
นี่เป็นประเด็นที่สอง

3.. ตัวตน (identity) ของเรา ที่เราร่วมกับคนรอบตัวสมมุติร่วมกันขึ้นว่า
เราเป็นคนชื่อนี้ เพศนี้ เรียนจบสถาบันนี้ มีอาชีพนี้ อยู่ประเทศนี้
นับถือศาสนานี้ ชอบพรรคการเมืองพรรคนี้ เป็นคนดีอย่างนี้
ทั้งหมดนี้เป็นคอนเซ็พท์หรือชุดของความคิดที่เราตั้งขึ้น
และยึดถือแบบรู้อยู่แก่ใจของเราเอง
จริงอยู่มันเป็นตัวกำหนดประสบการณ์ในใจเราว่า
ต้องมีทิศทางปกป้องและเชิดชูตัวตนนี้เข้าไว้
แต่ตัวตนนี้ก็ไม่ใช่ “ฉัน” ที่เป็นเพียงผู้รับรู้ประสบการณ์
ทั้งหลายเกี่ยวกับตัวตนนี้ นี่เป็นประเด็นที่สาม

ข้อสรุปเพียงสามข้อแค่นี้ คือ
(1) ฉันไม่ใช่ร่างกาย
(2) ฉันไม่ใช่ความคิดอารมณ์ความรู้สึก
(3) ฉันไม่ใช่ตัวตน
แค่นี้ก็มากเกินพอแล้วที่จะทำให้ “ฉัน”
มีความสุขจากการเรียนรู้เติบโตไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
จากการสามารถมองเห็นทุกอย่างแบบโปร่งใสไม่มีอะไรปิดบังบิดเบือน
โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเรียนควันตั้มฟิสิกส์ด้วยซ้ำไปว่า “ฉัน”
นี้มันเป็นใครมีหน้าตาที่แท้จริงเป็นอย่างไร และการที่ผมตั้งชื่อให้ “ฉัน”
ว่าคือ “ความรู้ตัว” นี้ก็เป็นเพียงการตั้งชื่อให้เพื่อให้สื่อสารกันได้ง่าย
แต่หากจะให้ผมนิยามคำว่า “ความรู้ตัว” นี้ให้ละเอียดผมก็นิยามให้ไม่ได้หรอก
เหมือนกับที่คุณพี่ก็เห็นแล้วว่าพวกฝรั่งเขายังเถียงกันไม่ตกฟากเลยว่า
consciousness นี้มันคืออะไรอยู่ที่ไหนหน้าตาอย่างไรทำงานอย่างไร
เอาสูตรของผมง่ายกว่า คือไม่ต้องไปนิยาม “ฉัน” ให้ได้ดอก
ไม่จำเป็น ไม่ต้องรู้หรอกว่า “ฉัน” เป็นอะไร แค่รู้ว่า “ฉัน”
ไม่ได้เป็นอะไรก็เดินหน้าไปกับชีวิตได้ฉลุยแล้ว
แล้วพูดก็พูดเถอะ อย่าหาว่า ส. ใส่เกือก เลยนะ มันคันปาก
ควันตัมฟิสิกส์ก็ดี โมเดิร์นฟิสิกส์ก็ดี เมตาฟิสิกส์ก็ดี
ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ประเด็น (irrelevant) มันล้วนเป็นการผลาญ
เวลาในชีวิตยามแก่ไปอย่างไร้สาระเท่านั้น

4.. เมื่อได้ยอมรับจากการชั่งตวงวัดด้วยตรรกะแบบวิทยาศาสตร์แล้วว่า “ฉัน”
ไม่ใช่อะไรทั้งสามอย่างนั้นแล้ว และลงมือฝ่าข้ามความเชื่อ
ความยึดติด หรือยึดถือพัวพัน กับสามอย่างนั้นไปให้พ้นเสียได้แล้ว
ชีวิตมันก็จะโล่งไม่ตีบตันอีกต่อไปในแง่ของการเรียนรู้และเติบโต
เพราะฉันที่เป็นอิสระจากร่างกาย จากความคิด
และจากตัวตน มันเป็นฉันที่สามารถรับรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ (unknown)
ได้อย่างโปร่งใส อย่างไม่ถูกอะไรปิดบังหรืออำพรางไว้ และได้อย่างไม่สิ้นสุด
นั่นแหละคือการเรียนรู้เติบโตต่อไปอย่างแท้จริงของผู้เกษียณทั้งหลาย
สิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่ๆนับจากนี้ จะเป็นพลังสร้างสรรค์ให้ทำอะไรได้อีก
ไม่รู้จบตราบใดที่ยังมีพลังชีวิตให้ทำอะไรได้อยู่
แล้วคำว่าตีบตันก็จะไม่มีในพจนานุกรม
ของผู้เกษียณหรือผู้สูงวัยอีกต่อไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โค๊ด:
https://drsant.com/2024/03/%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%a2%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%93%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%95%e0%b8%b5%e0%b8%9a%e0%b8%95%e0%b8%b1.html?fbclid=IwAR2zyFdKxgdVqrxZcZpbOFoh1vCIEfRX7zNskpG5jfCxHdz__lvqsEt-tPw

 ping!
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #12 เมื่อ: มีนาคม 13, 2024, 07:06:29 AM »

ทุกประเด็นเกี่ยวกับแอลกอฮอล์
March 12, 2024 by Sant Chaiyodsilp

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกที่ภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ผมไปตรวจสุขภาพ CAC ได้ 244 หมอหัวใจให้กินยาแอสไพริน ยา statin
และแนะนำให้ผมดื่มแอลกอฮอล์วันละสองดริ๊งค์ (ไวน์สองแก้ว)
ปกติผมไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ผมอยากถามคุณหมอสันต์ว่า
ผมควรดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรักษาโรคหัวใจ
ตามที่หมอแนะนำไหมครับ

ตอบครับ

ถามว่าหมอแนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรักษาหัวใจ
ควรดื่มไหม
ตอบว่า ไม่ควรดื่มครับ คำแนะนำเช่นว่านั้นไม่สอดคล้อง
กับหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีในปัจจุบัน


ไหนๆคุณก็เขียนมาแล้ว วันนี้ขอพูดถึงแอลกอฮอล์ในทุกประเด็นเลยนะ
และผมจะให้หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องไว้อย่างละเอียด
เพราะบทความนี้จะขัดแย้งกับคำแนะนำของหมอโรคหัวใจจำนวนมาก
ที่ยังปักใจเชื่อว่าแอลกอฮอล์
ลดอัตราตายของผู้ป่วยได้
ผมจะว่าไปทีละประเด็นนะ
เอาทุกประเด็นที่ผมนึกได้

ประเด็นที่ 1. แอลกอฮอล์คืออะไร

แอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol หรือ ethanol)
เป็นสารที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา มีอยู่ในเบียร์ สุรา ไวน์
ซึ่งเกิดขึ้นจากการหมักพืชที่มีแป้งหรือน้ำตาล
โดยอาศัยยีสต์เป็นผู้เปลี่ยนน้ำตาลหรือแป้งเป็นแอลกอฮอล์

ประเด็นที่ 2. หน่วยนับของแอลกอฮอล์

วงการแพทย์บอกปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มโดยใช้หน่วยเป็นดริ๊งค์ (drink)
โดยหนึ่งดริ๊งค์เท่ากับแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 14 กรัม
หรือเท่ากับ เบียร์ (5%) 12 ออนซ์ หรือ 360 ซีซี.
หรือลิเควียร์ (7%) 8 ออนซ์หรือ 240 ซีซี.
หรือเท่ากับไวน์ (12%) 5 ออนซ์ (150 ซีซี.)
หรือเท่ากับเหล้าสปิริต เช่น จิน รัม วอดก้า วิสกี้ (40%)
หนึ่งช็อต หรือ 45 ซีซี. (1.5 ออนซ์)

นอกจากนี้วงการแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ
ยังได้นิยามการดื่มพอประมาณ (moderate) ว่า
คือการดื่มไม่เกิน 2 ดริ๊งค์ในผู้ชาย
และไม่เกิน 1 ดริ๊งค์ในผู้หญิง

แอลกอฮอล์ไม่ว่าได้มาจากเครื่องดื่มชนิดไหน
จะเป็นเบียร์เป็นไวน์ก็มีผลเสียต่อสุขภาพเหมือนกัน
หากดื่มในปริมาณหรือจำนวนกรัมของแอลกอฮอล์ที่เท่ากัน

ประเด็นที่ 3. ผลเสียระยะสั้นของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ

    เพิ่มการตาย บาดเจ็บ และทุพลภาพจากอุบัติเหตุ ลื่นล้ม จมน้ำ หรือถูกไฟคลอก6,7
    เพิ่มพฤติกรรมรุนแรงรวมทั้งฆาตกรรม ฆ่าตัวตาย ทำร้ายร่างกาย
    ปลุกปล้ำข่มขืนกระทำชำเรา และความรุนแรงต่อคู่สมรส
    และบุตรธิดาของตนเองในครอบครัว 6-10
    เกิดภาวะพิษแอลกอฮอล์ฉุกเฉิน ซึ่งนำไปสู่ภาวะโคม่าและเสียชีวิตได้ 11
    เพิ่มพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่นมีเซ็กซ์โดยไม่ได้ป้องกัน
    หรือมีเซ็กซ์กับคู่นอนหลายคน
    ซึ่งนำไปสู่การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจและเกิดโรค
    ที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งโรค HIV12,13
    เพิ่มการแท้งบุตร ตายระหว่างคลอด กรณีผู้ดื่มเป็นหญิงตั้งครรภ์ 6,12,14,15

ประเด็นที่ 4. ผลเสียระยะยาวของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ

การดื่มแอลกอฮอล์เป็นอาจิณเรื้อรังนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังระดับรุนแรงหลายโรค รวมถึง

    โรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจพิการ อัมพาต
    โรคตับแข็ง และโรคของระบบทางเดินอาหาร เช่นหลอดอาหารอักเสบ
    กระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในทางเดินอาหาร6,16
    โรคมะเร็ง รวมทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร
    มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 6,17
    ทำให้ระบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เพิ่มโอกาสป่วยและตายจากโรคติดเชื้อ 6,16
    ทำให้ความจำเสื่อม สมองเสื่อม การเรียนรู้เสียหาย 6,18
    ทำให้เกิดโรคทางจิตและประสาทหลายโรค รวมทั้งโรคซึมเศร้า
    วิตกกังวล และเป็นบ้า (psychosis)6,19
    ทำให้เกิดปัญหาสังคม รวมถึงปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำงาน
    และมีผลกระทบต่อการจ้างงาน6,20,21
    ทำให้ติดสุราเนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารเสพย์ติดชนิดหนึ่ง 5

ประเด็นที่ 5. ความเข้าใจผิดว่าดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณแล้วลดอัตราตายได้

การดื่มแอลกอฮอล์ระดับมากเป็นผลร้ายต่อสุขภาพนั้น
เป็นที่ทราบและยอมรับกันดีมานานแล้ว
แต่ในช่วงประมาณปีค.ศ. 1990 เป็นต้นมา
วงการแพทย์ได้เผยแพร่ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์
ในระดับพอประมาณ (moderate) คือไม่เกินสองดริ๊งค์ในผู้ชายหนึ่งดริ๊งค์ในผู้หญิง

กับการลดอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือด
ตามผลการวิจัยเชิงระบาดวิทยาที่ได้มาในช่วงนั้น
จึงได้นำมาสู่ความนิยมการดื่มแอลกอฮอล์และความเชื่อว่า
การดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณทำไห้สุขภาพดีอย่างกว้างขวาง
ทั้งๆที่การสรุปข้อมูลเชิงระบาดวิทยาเหล่านั้น
ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยกวน (confound factors)
ซึ่งพบร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ และ
ซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้อัตราตายลดลง
ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยอัตราตายที่สัมพันธ์กับการดื่มไวน์แดง
ในหมู่ผู้กินอาหารเมดิเตอเรเนียนไม่ได้คำนึงถึงตัวอาหารเมดิเตอเรเนียน
ซึ่งมีแคลอรีส่วนใหญ่มาจากพืชและอาจเป็นปัจจัยหลัก
ที่ลดอัตราตายในกลุ่มผู้ดื่มไวน์แดงลง
เมื่อวิเคราะห์แยกปัจจัยกวนลักษณะนี้ออกไปแล้ว
ก็ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณ
กับการลดอัตราตายรวมแต่อย่างใด และอีกปัจจัยหนึ่ง
คือการจำแนกว่าผู้ดื่มแอลกอฮอล์น้อยแม้ระดับเคยดื่มครั้งเดียว
หรือสองครั้งในชีวิตก็ถูกจัดเข้ากลุ่มผู้ดื่มระดับพอประมาณหมด
ทำให้ให้ผลสรุปของงานวิจัยผิดเพี้ยนไป
เพราะในการวิเคราะห์ข้อมูลระดับลึกจะปรากฎเสมอว่า
อัตราตายของกลุ่มดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณนั้น
จะเป็นรูปตัว J คือต่ำมากในหมู่ดื่มน้อยมากและนานๆครั้ง
แล้วสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้ดื่มเป็นอาจิณและดื่มค่อนไปทางมาก

งานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสที่รวบรวมข้อมูลวิจัย
แบบไปข้างหน้ารวมประชากรในงานวิจัยได้ 3,998,626 คน
มาจากงานวิจัย 87 งาน ในจำนวนนี้มี
ผู้เสียชีวิตไปในระหว่างติดตามดู 367,103 คน
เมื่อได้วิเคราะห์โดยแยกปัจจัยกวนต่ออัตราตายที่สำคัญ
ทั้งเชิงบวกและเชิงลบออกไปอย่างละเอียดแล้ว
พบว่าอัตราตายรวมของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณ
ไม่ได้แตกต่างจากอัตราตายของผู้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด22   

แม้ในข้อสรุปดั้งเดิมที่ว่าการดื่มแอลกอออล์ระดับพอประมาณ
สัมพันธ์กับการเกิดจุดจบเลวร้ายของโรคหัวใจหลอดเลือดลงนั้น
ได้มาจากงานวิจัยฟรามิงแฮม24 ซึ่งเป็นกลุ่มคนชาติเดียว (อเมริกัน)
กลุ่มเล็กๆ จำนวน 1948 คน ซึ่งจัดว่าเป็นข้อมูลขนาดเล็ก
งานวิจัยตามดูกลุ่มคนหลายชาติหลายภาษาในยุคต่อมา
มีหลายรายการที่ให้ผลที่หลากหลายไปคนละทาง
งานวิจัยส่วนหนึ่งไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์
ระดับพอประมาณกับการลดอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดลงแต่อย่างใด
บางงานวิจัยกลับให้ผลไปทางตรงกันข้าม
ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยขนาดใหญ่ชื่อ INTERHEART study23
ซึ่งทำการศึกษาคนป่วยโรคหัวใจใน 52 ประเทศ จำนวน 15152 คน
ที่ป่วยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแล้วหมดทุกคน
เมื่อวิเคราะห์เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงร่วมกันของผู้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทั้งหมด
พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจสูงสุด
เก้าปัจจัยเรียงจากเสี่ยงมากไปหาน้อย คือ

(1) บุหรี่ 

(2) ไขมันในเลือดผิดปกติ (ApoB/ApoA)

(3) ความดันเลือดสูง

(4) เบาหวาน

(5) อ้วนลงพุง

(6) ความเครียด

(7) การกินผักผลไม้น้อยหรือไม่กิน

8 การดื่มแอลกอฮอล์

(9) การไม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

จะเห็นว่าในงานวิจัยนี้ซึ่งใหญ่กว่าและศึกษากับผู้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
แล้วโดยตรงจำนวนมากและหลากหลายชาติพันธ์
พบว่าแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำมาสู่การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย
ที่ติดเก้าอันดับสูงสุดและแรงกว่าการไม่ออกกำลังกายเสียอีก
ซึ่งขัดแย้งกับผลวิจัยเก่าก่อนหน้านี้ที่สรุปว่า
แอลกอฮอล์เป็นตัวลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด 

โดยสรุป การทบทวนหลักฐานที่มีนับถึงวันนี้
แอลกอฮอล์ทำให้อัตราตายรวมเพิ่มขึ้น รวมทั้ง

การตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดด้วย และ
การดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณ (1 ดริ๊งค์ในผู้หญิง 2 ดริ๊งค์ในผู้ชาย)
ก็ไม่ได้สัมพันธ์การลดอัตราตายรวมลงแต่อย่างใด
หากได้วิเคราะห์ผลวิจัยโดยแยกปัจจัยกวนออกไปอย่างละเอียดก่อน
ดังนั้นหมอสันต์จึงแนะนำว่าผู้ที่ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรเริ่มดื่มเลย
ผู้ที่ดื่มอยู่แล้วควรลดปริมาณการดื่มลงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
หรือเลิกดื่มไปเลยยิ่งดี
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดอยู่หรือไม่ก็ตาม
คำแนะนำนี้อาจขัดแย้งกับคำแนะนำของแพทย์โรคหัวใจจำนวนมาก
ท่านผู้อ่านต้องใช้วิจารณาญาณทบทวน
งานวิจัยที่ผมแนบท้ายบทความนี้
แล้วตัดสินใจเอาเองว่าท่านจะเชื่อใคร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
โค๊ด:
    Centers for Disease Control and Prevention. Alcohol-Related Disease Impact Application website. Accessed February 29, 2024.
    Esser MB, Leung G, Sherk A, Bohm MB, Liu Y, Lu H, Naimi TS. Estimated deaths attributable to excessive alcohol use among US adults aged 20 to 64 years, 2015 to 2019. JAMA Netw Open 2022;5:e2239485.
    Sacks JJ, Gonzales KR, Bouchery EE, Tomedi LE, Brewer RD. 2010 National and State Costs of Excessive Alcohol Consumption. Am J Prev Med 2015; 49(5):e73–e79.
    U.S. Department of Agriculture and U.S. Department of Health and Human Services. 2020 – 2025 Dietary Guidelines for Americans. 9th Edition, Washington, DC; 2020.
    Esser MB, Hedden SL, Kanny D, Brewer RD, Gfroerer JC, Naimi TS. Prevalence of Alcohol Dependence Among US Adult Drinkers, 2009–2011. Prev Chronic Dis 2014;11:140329.
    World Health Organization. Global status report on alcohol and health—2018. Geneva, Switzerland: World Health Organization; 2018.
    Alpert HR, Slater ME, Yoon YH, Chen CM, Winstanley N, Esser MB. Alcohol consumption and 15 causes of fatal injuries: A systematic review and meta-analysis. Am J Prev Med 2022;63:286–300.
    Greenfield LA. Alcohol and Crime: An Analysis of National Data on the Prevalence of Alcohol Involvement in Crime  [PDF – 229 KB]. Report prepared for the Assistant Attorney General’s National Symposium on Alcohol Abuse and Crime. Washington, DC: U.S. Department of Justice, 1998.
    Mohler-Kuo M, Dowdall GW, Koss M, Wechsler H. Correlates of rape while intoxicated in a national sample of college women. Journal of Studies on Alcohol 2004;65(1):37–45.
    Abbey A. Alcohol-related sexual assault: A common problem among college students. J Stud Alcohol Suppl 2002;14:118–128.
    Kanny D, Brewer RD, Mesnick JB, Paulozzi LJ, Naimi TS, Lu H. Vital Signs: Alcohol Poisoning Deaths — United States, 2010–2012. MMWR 2015;63:1238-1242.
    Naimi TS, Lipscomb LE, Brewer RD, Colley BG. Binge drinking in the preconception period and the risk of unintended pregnancy: Implications for women and their children. Pediatrics 2003;11(5):1136–1141.
    Wechsler H, Davenport A, Dowdall G, Moeykens B, Castillo S. Health and behavioral consequences of binge drinking in college. JAMA 1994;272(21):1672–1677.
    Kesmodel U, Wisborg K, Olsen SF, Henriksen TB, Sechler NJ. Moderate alcohol intake in pregnancy and the risk of spontaneous abortion. Alcohol & Alcoholism 2002;37(1):87–92.
    American Academy of Pediatrics, Committee on Substance Abuse and Committee on Children with Disabilities. 2000. Fetal alcohol syndrome and alcohol-related neurodevelopmental disorders. Pediatrics 2000;106:358–361.
    Rehm J, Baliunas D, Borges GL, Graham K, Irving H, Kehoe T, et al. The relation between different dimensions of alcohol consumption and burden of disease: an overview. Addiction. 2010;105(5):817-43.
    International Agency for Research on Cancer. Personal Habits and Indoor Combustions: A Review of Human Carcinogens, Volume 100E 2012. Available from: http://monographs.iarc.fr/ENG/Monographs/vol100E/index.php.
    Miller JW, Naimi TS, Brewer RD, Jones SE. Binge drinking and associated health risk behaviors among high school students. Pediatrics. 2007;119(1):76-85.
    Castaneda R, Sussman N, Westreich L, Levy R, O’Malley M. A review of the effects of moderate alcohol intake on the treatment of anxiety and mood disorders. J Clin Psychiatry 1996;57(5):207–212.
    Booth BM, Feng W. The impact of drinking and drinking consequences on short-term employment outcomes in at-risk drinkers in six southern states. J Behavioral Health Services and Research 2002;29(2):157–166.
    Leonard KE, Rothbard JC. Alcohol and the marriage effect. J Stud Alcohol Suppl 1999;13:139–146.
    Stockwell T, Zhao J, Panwar S, Roemer A, Naimi T, Chikritzhs T. Do “Moderate” Drinkers Have Reduced Mortality Risk? A Systematic Review and Meta-Analysis of Alcohol Consumption and All-Cause Mortality. J Stud Alcohol Drugs. 2016 Mar;77(2):185-98. doi: 10.15288/jsad.2016.77.185. PMID: 26997174; PMCID: PMC4803651.
    Yusuf S, Hawken S, Ounpuu S, Dans T, Avezum A, Lanas F, McQueen M, Budaj A, Pais P, Varigos J, Lisheng L; INTERHEART Study Investigators. Effect of potentially modifiable risk factors associated with myocardial infarction in 52 countries (the INTERHEART study): case-control study. Lancet. 2004 Sep 11-17;364(9438):937-52. doi: 10.1016/S0140-6736(04)17018-9. PMID: 15364185.
    Friedman LA, Kimball AW. Coronary heart disease mortality and alcohol consumption in Framingham. Am J Epidemiol. 1986 Sep;124(3):481-9. doi: 10.1093/oxfordjournals.aje.a114418. PMID: 3740047.

 ping!
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18651


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #13 เมื่อ: มีนาคม 13, 2024, 08:46:28 AM »

 THANK!! wav!!
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #14 เมื่อ: มีนาคม 16, 2024, 01:55:02 PM »

CA 19-9 (ขอโทษ).. อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน
March 16, 2024 by Sant Chaiyodsilp


เรียน อจ. หมอสันต์ ที่เคารพอย่างสูง

ดิฉันในวัย 49 ย่าง 50 ปี เมื่อ 30 ม.ค. 67
ตรวจสุขภาพประจำปี พบค่าไขมันในเลือดสูงปรี๊ด

TC 296 HDL 78 LDL  212 TG 37 แพทย์ 2 ท่าน ยืนยันว่า
ต้องทานยาลดไขมันนะ ปรับอาหารเองไม่ได้หรอก ไม่ลง
เป็นกรรมพันธุ์ ดิฉันไม่วี๊ดว๊ายอะไร รู้เหตุแห่งทุกข์
เพราะหลายเดือน ก่อนตรวจสุขภาพ ปล่อยเละเทะเรื่องการกินตามใจปาก
เบเกอรี่ปีใหม่ ของทอดที่ชอบ และมีการจัดการความเครียดที่ไม่ดี
ยกเว้นที่ทำได้คือ มีวินัย คือ ว่ายน้ำ 700-1000 เมตร และฝึกไอชิ ( Aichi) ในน้ำ
พูดให้เข้าใจง่ายคือ ฝึกไทชิ ในน้ำนั่นเอง
( เป็นวิชาที่คิดค้นโดยMr. …
ชาวญี่ปุ่น ดิฉัน ได้เรียนวิชานี้มาจาก …
ท่านเมตตาช่วยรักษากระดูกต้นแขนซ้ายที่หักให้ดิฉัน
แบบไม่ใช้ยา ไม่ผ่าตัด ใช้การบริหารในน้ำบนบกผสมกัน
แต่ต้องมีวินัยทำทุกวัน
จนกระดูกติดหายดี โดยทีไหล่ไม่ติด
ไม่ต้องดัด ดึง กายภาพใดๆ )

เข้าเรื่อง LDL ต่อค่ะ…พอมาลอง search เรื่อง LDL สูง
เจอคลิปที่คุณหมอสันต์ แนะนำให้ปรับพฤติกรรมและเจาะเลือด
ภายใน 6 สัปดาห์ ดิฉันไม่ลังเล ใช้ความรู้ทั้งที่เคยเรียน GHBY , SR
กับคุณหมอสันต์ และความรู้ที่คุณหมอ … ทั้งรักษาทั้งสอนให้
ได้พฤติกรรมครั้งใหญ่ แบบองค์รวมอีกครั้ง
ผ่านไป 6 สัปดาห์ LDL จาก 212 เหลือ 140 โอ้… มันเป็นไปได้ !!

2. ผลเลือดประจำปี นอกจาก ค่าไขมันที่สูง ก็มีค่า CA19-9 สูง ค่าปกติ 37
ค่าเลือดดิฉันได้ 61.99 (ซืัอแพคเกต สุขภาพ รพ. แห่งหนึ่ง มีตรวจอันนี้)
 พออ่านบทความคุณหมอ เรื่องค่าบ่งชี้มะเร็งสูง ก็ใจร่มๆ .. 
แต่เอาล่ะ ไหนๆ ค่ามันขึ้นแล้ว ก็นำผลลองไปหาหมอตามสิทธิประกันสังคม
(เพิ่งออกงานมา ยังไม่เคยลองใช้สิทธิ์แบบนี้)
เนื่องจากอายุเข้าเลข 5 แล้ว ก็จะมีส่องกล้อง
ลำไส้ใหญ่+ กระเพาะ ไปเลยในครั้งนี้ ส่วน
ค่า CA 19-9 หมอนัดเจาะดู เมื่อครบ 3 เดือน
นับจากการตรวจเจอครั้งแรก..
ดิฉันก็รอเวลาไปตรวจติดตามผลเลือดค่ะ
ใจก็กลางๆ ยังไม่วิตกอะไรนัก ในเรื่องค่า บ่งชี้  CA19-9 นี้
คุณหมอมีคำแนะนำใดๆ ช่วยแนะนำได้นะคะ
อื่นๆที่อยากขอบคุณ คุณหมอ เรื่องสิทธิ์ประกันสังคมนี้
ดิฉันเคยไปฟัง Lunch talk ที่ครัวปราณา เจอคุณหมอสันต์
ถามว่าเออรี่รีไทร์แล้ว จะส่งประกันสังคมต่อดีไหม ได้สิทธิ์ รพ. ราชวิถี
ตอนนั้นคุณหมอมองหน้าดิฉันแล้วบอกว่าราชวิถี ดีนะ น่าถือต่อ …
ถึงวันนี้พบว่ามาถูกทางค่ะ รพ. ราชวิถี ระบบ บุคคลากร
เครื่องมือทันสมัย ฯลฯ  ดีกว่าที่เคยที่คิดไว้มากเลยทีเดียว
เช่นเดียวกับอีกเรื่องที่เคยเรียนคลาส SR แล้วได้ถามคุณหมอว่า
ดิฉันเออรี่รีไทร์ดีไหม ทำงาน
แล้วเราเครียดมาก จนร่างกายพัง และเราก็กอบกู้ตัวเองไม่สำเร็จเสียที
คุณหมอตอบให้ว่าไม่ต้องคิดเลย.. (คือ ควรออก)  ออกมาแล้ว 1 ปีกว่าๆ
ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่หมด พบว่าจากคนที่มีสุขภาพกายใจแบบซอมบี้
เราค่อยๆ มีจัดสรรการฝึกฝนร่างกายและจิตใจใหม่ จนค่อยๆ
ได้คุณภาพชีวิตที่ดีคืนมา เงินหาย รายได้หด แต่แลกกับสุขภาพ
ความสงบสุข การฝึกฝนตนเองในมิติใหม่ๆ รวมถึงมิติด้านใน
นับว่าคุ้มค่ามากมาย เลยค่ะ หากแต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องอาศัยวินัย
และฝึกฝนทุกวัน ประมาณนี้ค่ะคุณหมอ
ขอให้คุณหมอสันต์มีใจเบิกบาน
สุขภาพแข็งแรง  อยู่เย็นเป็นประโยชน์

จาก … นักเรียน GHBY และ SR

…………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าไม่มีอาการผิดปกติอะไร
แต่เขาขายแพคเก็จตรวจสุขภาพมี CA19-9 ด้วยจึงซื้อตรวจ
แล้วได้ค่าสูงผิดปกติจะทำไงดี ผมขอแยกตอบเป็นสองกรณีนะ

1.1 สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป การไปใช้บริการของโรงพยาบาลนี้
ไม่ใช่ว่าเขาขายอะไรคุณต้องซื้อหมด เวลาคุณไปซูเปอร์มาร์เก็ต
จะซื้อน้ำปลาขวดเดียวทำไมคุณเลือกจัง
ของบางอย่างที่โรงพยาบาลเขาขายมันอาจไม่ใช่ของดีที่คุณควรซื้อ
แต่เขาเอามาวางขายเพื่อหารายได้
เขาขายหมดทุกอย่างแหละที่มันไม่ผิดกฎหมาย
โค้กเป๊บซี่เขาก็ยังขายเลย ไม่เฉพาะรพ.เอกชนนะ
รพ.ของรัฐก็ขายทุกอย่างที่หาเงินเข้ารพ.ได้
ถ้าห้ามโรงพยาบาลขายสินค้าขี้หมา
ที่ไม่มีประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างแท้จริงแบบเด็ดขาด
ผมว่าโรงพยาบาล 80% ต้องเลิกกิจการไปเพราะอยู่ไม่ได้
ดังนั้นมีโรงพยาบาลดีกว่าไม่มี แต่เวลาคุณไปโรงพยาบาล
คุณต้องตั้งใจซื้อของที่คุณรู้อยู่แล้วว่าคุณตั้งใจมาซื้อ
เหมือนเวลาตั้งใจไปซื้อะไรที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต

อย่าง CA19-9 นี้ทั่วโลกเขาตกลงกันผ่าน guidelines เป็นดิบดีแล้วว่า
ไม่ควรเอามาเที่ยวตรวจคนไข้เพื่อคัดกรองมะเร็ง
เพราะมันเสียมากกว่าได้ โหลงโจ้งแล้วมันชักนำ
ให้คนไข้ต้องเสียเงินต้องประสาทกิน
ต้องเจ็บตัวมากขึ้น แต่มันไม่ได้ลดอัตราตายของมะเร็ง
ที่พบร่วมกับค่า CA19-9สูงขึ้น (เช่นมะเร็งตับอ่อน) แต่อย่างใด
หมายความว่าถึงพบมะเร็งเร็วขึ้นก็ตายในเวลาเท่าเดิมอยู่ดี
ดังนั้นสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วยอะไร
เรื่อง CA19-9 นี้คำแนะนำของผมก็คือ (ขอโทษ).. “อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน”

1.2 สำหรับคุณ ซึ่งไปตรวจมาแล้ว และพบว่าค่า CA19-9 สูงผิดปกติแล้ว
 ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือโรค ปสด. (ประสาทแด๊กซ์)
ซึ่งเป็นโรคร้ายที่ต้องได้รับการแก้ไข วิธีแก้ไขอย่างนุ่มนวลที่สุด
ก็ต้องตรวจติดตามไปจนกว่ามันจะกลับลงมาปกติ
ถ้ามันไม่ลงก็ต้องตรวจ CT ช่องท้องและอุ้งเชิงกราน
ซึ่งผลการตรวจที่ได้อาจชักนำไปสู่อะไร
ที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นกี่อย่างก็ยังไม่อาจรู้ได้
ต้องรับมือกันไปทีละช็อต คุณไม่ต้องไปวิตกจริตล่วงหน้า
ให้ผลมันออกมาก่อน ถ้ามันทำท่าจะโกโซบิ๊กคุณค่อยเขียนเล่าผลมาอีกทีก็ได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของคุณในขั้นตอนนี้
ผมขอเล่าให้ฟังถึงรายงานผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งไปตรวจเช็คอัพ
แล้วได้ค่า CA19-9 สูงถึง 96,544.3 U/mL. หลังจากถูกตรวจสาระพัด
เข้าอุโมงไปหลายรอบแถมส่องโน่นแยงนี่แล้วก็ยังไม่พบอะไร
จึงต้องตามเจาะเลือดตามดูไปทุกหกเดือนอยู่นานสองปี
ค่า CA19-9 จึงลงมาอยู่ระดับปกติ
สรุปว่ามันสูงหลุดโลกโดยไม่มีสาเหตุอะไรเลย
ดังนั้นของคุณก็มองแง่ดีไว้ก่อนว่ามันคงจะไม่เจออะไรก็แล้วกัน

2.. ผมขอขอบคุณที่คุณกรุณาเล่าเรื่องการปรับวิถีชีวิต
ตัวเองจนลดไขมัน LDL จาก 212 เหลือ 140 มก/ดล
ในเวลาแค่เดือนกว่าโดยไม่ได้ใช้ยาเลย
คุณเป็นตัวอย่างคนจริงๆตัวเป็นๆที่พิสูจน์ให้เห็นจะจะว่า
การเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นวิธีรักษาโรคไขมันในเลือดสูง
ที่ได้ผลดีมากมิใยว่ามันจะสูงเพราะพันธุกรรมหรือสูงเพราะอะไรก็ตาม
ขอบคุณที่เล่าเรื่องส่วนตัวเพื่อแชร์
ให้เพื่อนๆแฟนบล็อท่านอื่นได้เอาไปใช้ประโยชน์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โค๊ด:
บรรณานุกรม

    Meira-Júnior JD, Costa TN, Montagnini AL, Nahas SC, Jukemura J. ELEVATED CA 19-9 IN AN ASYMPTOMATIC PATIENT: WHAT DOES IT MEAN? Arq Bras Cir Dig. 2022 Sep 16;35:e1687. doi: 10.1590/0102-672020220002e1687. PMID: 36134819; PMCID: PMC9484821.

CA19-9 คือ

ตรวจเลือดหามะเร็ง เขาตรวจหาอะไรกัน

            การตรวจเลือดชนิดต่างๆ เพื่อหามะเร็ง เช่น
ตรวจ CEA, CA 15-3, Alpha-fetoprotein ฯลฯ
ที่เราได้ยินจากโปรแกรมการตรวจเลือดต่างๆนั้น 
เป็นการตรวจหา Tumor marker (สารบ่งชี้มะเร็ง)

ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ สารบ่งชี้มะเร็งเบื้องต้น
ได้จากบทความ ... ตรวจเลือด หามะเร็งได้จริงหรือ?

CA 19-9  เป็นแอนติเจน carbohydrate antigen
ที่สามารถตรวจพบได้ในเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งหลายชนิด
เช่น มะเร็งของระบบเดินอาหาร, มะเร็งตับ, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม ฯลฯ 

CA 19-9  จัดเป็น tumor marker ที่ดีที่สุดในการช่วยวินิจฉัย
และติดตามผลการรักษา มะเร็งตับอ่อน
และมะเร็งของท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma)

นอกจากนี้ยังพบค่าสูงขึ้นได้ในโรค
ที่มีการอักเสบของตับ, ตับอ่อน, ท่อน้ำดีและถุงน้ำดี
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #15 เมื่อ: มีนาคม 24, 2024, 03:51:44 PM »

โค๊ด:
https://www.facebook.com/Wellnesswecare/videos/806922144610398/
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #16 เมื่อ: เมษายน 07, 2024, 08:44:19 AM »

ถั่วและนัทไม่ได้เพิ่มไขมันเลว (LDL) ตรงกันข้าม มันช่วยลดไขมันในเลือดได้

เรียนคุณหมอสันต์

ชอบกินถั่วและนัท แต่ไปหาหมอแล้ว
หมอห้ามกินถั่วและนัทเพราะมีไขมัน LDL สูง
หมอว่ากินมากไขมันในเลือดจะสูงขึ้น
อยากสอบถามคุณหมอว่า
เป็นโรคไขมันในเลือดสูง

กินถั่วและนัทได้หรือไม่คะ


ตอบครับ

งานวิจัยเรื่องถั่วและนัทต่อสุขภาพส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยขนาดเล็ก
จำเป็นต้องอาศัยผลการวิเคราะห์แบบรวม
ข้อมูลจากทุกงานวิจัย (meta analysis)
มาตอบคำถามของคุณ
ผมแยกเป็นสองประเด็นดังนี้

    ประเด็นผลของการกินถั่วและนัทต่อระดับไขมันในเลือด
งานวิจัยในภาพใหญ่พบว่าการกินถั่วและนัทสัมพันธ์กับ
การมีไขมันในเลือดดีขึ้น คือ

ไขมันรวมลดลง
ไตรกลีเซอไรด์ลดลง
ส่วนไขมันเลว(LDL)
บ้างว่าลดลงเล็กน้อย
บ้างว่าไม่เปลี่ยนแปลง

    ประเด็นผลของการกินถั่วและนัทต่อการเป็นโรค
งานวิจัยในภาพใหญ่พบว่าการกินถั่วและนัท
สัมพันธ์กับการป่วยเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด
และโรคเบาหวานน้อยลง
    ประเด็นความสับสนระหว่าง
คอนเซ็พท์ (concept) กับ ความจริง (fact)
คำแนะนำของแพทย์และข้อมูลที่ร่อนอยู่ในอินเตอร์เน็ท
มีจำนวนมากที่เป็นคอนเซ็พท์ แปลว่า ตรรกะ
หลักคิด ทฤษฎี สมมุติฐานเรื่องกลไกการออกฤทธิ์
ซึ่งมีเนื้อหาอยู่เยอะมาก
เรื่องเดียวมีได้หลายคอนเซ็พท์ซึ่งบ่อยครั้งก็ไปในทิศทางตรงกันข้าม
โดยที่ทั้งหมดนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับความจริงที่ได้จากการวิจัยในคน (fact)
ซึ่งงานวิจัยในคนนี้ก็ยังต้องแบ่งระดับชั้นและตรวจคุณภาพกันอีกว่า
เชื่อถือได้หรือไม่ได้
ประเด็นสำคัญคือพอได้ยินใครพูดถึง
คอนเซ็พท์อะไรในทางการแพทย์ขึ้นมา
ก็อย่ารีบไปกระต๊าก กระต๊าก..ก
แม้บางครั้งคนพูดถึงคอนเซ็พท์นั้นจะเป็นแพทย์เสียเอง
ให้ตรวจสอบกับข้อมูลความจริงที่ได้จากการวิจัย
ในคนจริงๆก่อนเสมอ ก่อนที่จะนำไปใช้
ในการดูแลสุขภาพตนเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

    Xia JY, Yu JH, Xu DF, Yang C, Xia H, Sun GJ. The Effects of Peanuts and Tree Nuts on Lipid Profile in Type 2 Diabetic Patients: A Systematic Review and Meta-Analysis of Randomized, Controlled-Feeding Clinical Studies. Front Nutr. 2021 Dec 1;8:765571. doi: 10.3389/fnut.2021.765571. PMID: 34926548; PMCID: PMC8679310.
    Afshin A, Micha R, Khatibzadeh S, Mozaffarian D. Consumption of nuts and legumes and risk of incident ischemic heart disease, stroke, and diabetes: a systematic review and meta-analysis. Am J Clin Nutr. 2014 Jul;100(1):278-88. doi: 10.3945/ajcn.113.076901. Epub 2014 Jun 4. PMID: 24898241; PMCID: PMC4144102.
 ping!
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #17 เมื่อ: เมษายน 21, 2024, 06:07:46 PM »

โค๊ด:
https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=442669714808647

Live สด วันอาทิตย์ 21 เมษา  2567
--------------------------------------------------------
รักษาต่อมลูกหมากโต ทั่วโลก 
บรรเทาด้วยการกินยา อย่างเดียว
"บ๊อคเกอร์"อาลฟ่า และเบลต้า
---------------------------------------
อายุ 67 กับการฉีดวัควีนไข้หวัดใหญ่ กับวัคซีนธรรมดา High Dose
ทางเลือกใหม่ของผู้สูงวัย
---------------------------------------
เกี่ยวกับ เบาหวาน พร้อมหลอดเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น
หมอบอกอยู่ได้ 6 เดือนจริงหรือไม่ ?
---------------------------------------
มะเร็งกับการตากแดด
---------------------------------------
เบาหวานกับการกินอาหาร และผลไม้รสหวาน
ค่าเบาหวานกับการเจาะเลือดก่อนและหลังอาหาร
คนละตัวกัน
-----------------------------------
คอเลสเตอรอล LDLC กับ วิตามิน ดี และการ ออกแดด
-------------------------------
1 ใน 3 คนไทย วิตามิน ดี ต่ำ
---------------------------------
มีสาระกับสุขภาพ มาก
บันทึกการเข้า
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13243


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #18 เมื่อ: วันนี้ เวลา 08:08:18 AM »

ทำไมถึงไม่ควรใช้น้ำมันผัดทอดอาหาร - นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โค๊ด:
https://youtu.be/EcR3YTbYkXo?si=qPhaqpVL8lICpO-i

ปี 2019 พศ.2562

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร BMK
ติดตามดูกลุ่มคน แสนกว่าคนตามดู 24 ปี

ประเด็นการกินอาหาร ผัดทอด กับ ไม่ผัดทอด

กินอาหารผัดทอดสัปดาห์ละ 1 เซิฟวิ่งขึ้นไป
(เซิฟวิ่งคือหน่วยนับทางโภชนาการ)
ใน 24 ปี มีคนตายหลายหมื่นคน
ความเสี่ยงตายของการกินอาหารผัดทอดกับไม่กินอาหารผัดทอด
แยกเป็น 3 กลุ่ม ๆหนึ่งกินไก่ทอด
กลุ่มสองกินปลาทอด
กลุ่มสามกินอาหารผัดทอดทุกชนิด
เที่ยบกับผู้ไม่กิน
อัตราตายรวม 3 ประเภทคือ
1 อุบัติเหตุ ฯลฯ
2 หลอดเลือด หัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์
3 มะเร็ง
คนส่วนใหญ่จะมา จบชีวิตที่ 3 ประเภท นี้

คนกินไก่ทอดอัตราตายเพิ่มขึ้น 13 %
อัตราตายหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ เพิ่มขึ้น 12%
คนกินปลาทอดอัตราตาย 7 %
อัตราตายจาก หลอดเลือด หัวใจ  13 %
คนกินอาหารทอดทุกชนิดอัตราตาย 8 %

การใช้น้ำมันซ้ำซากจะทำให้ก่อสารมะเร็ง อะโรเมตริก เพิ่มขึ้น

 ping!
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!