ลุย3รง.น้ำมันปาล์มที่สุราษฎร์ฯเจ๊วาชี้ไม่นำเข้า
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
เมษายน 26, 2024, 01:50:11 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ลุย3รง.น้ำมันปาล์มที่สุราษฎร์ฯเจ๊วาชี้ไม่นำเข้า  (อ่าน 1888 ครั้ง)
Nattawut-LSV Team
E23IUY
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน808
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3581


อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2011, 07:54:00 AM »

DSIเตรียมเข้าตรวจ3รง.น้ำมันปาล์มในสุราษฎร์ฯของคนใกล้ชิดรองนายกฯธาริตสงสัยอคส.“เจ๊วา”ชี้ยังไม่นำเข้า


วันนี้ 22 ก.พ.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีน้ำมันปาล์มขาดแคลนจนรัฐบาลต้องสั่งนำเข้าน้ำมันปาล์ม 3 หมื่นตัน มาให้โรงงาน 4 แห่ง ผลิตออกจำหน่ายในราคาขวดละ 47 บาท แต่ยังไม่มีการนำน้ำมันปาล์มออกมาวางจำหน่าย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จึงส่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มที่สงสัยว่าจะกักตุนน้ำมันปาล์ม ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้นำเข้าน้ำมันปาล์มอีก 1.2 แสนตัน แต่กระทรวงพาณิชย์ขอให้ยับยั้งไว้รอการตรวจสอบตลาดก่อน ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ออกมาระบุว่า มีนักการเมืองชื่อ “ส” กับ “พ” เกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำมันปาล์มขาดตลาดในเวลานี้ ตามที่เสนอข่าวไปให้ทราบนั้น

ดีเอสไอตรวจรง.ในชลบุรี ต่อมา เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พ.ต.ท.สุริยา  สิงหกมล ผบ.สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม  พนักงานสอบสวนดีเอสไอพร้อมด้วยเจ้าพนักงานพาณิชย์จังหวัดชลบุรี เดินทางเข้าตรวจสอบเอกสารการผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันปาล์มของบริษัท สุขสมบูรณ์ น้ำมันปาล์ม จำกัด เลขที่ 97 ม.4 ต.ห้างสูง อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ผู้ผลิตน้ำมัน ยี่ห้อทับทิม ไชโย และโบนัส โดยมีนายศุภชัย  จินตนาเลิศ  ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท สุขสมบูรณ์  เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศมาเลเซีย เพื่อผลิตเป็นน้ำมันปาล์มจุกฟ้า ราคาควบคุมลิตรละ 47 บาท พร้อมนำเอกสารการเปิดL/C และสัญญาที่บริษัททำกับองค์การคลังสินค้า(อคส.) มอบให้ดีเอสไอตรวจสอบ ทั้งนี้ ดีเอสไอเน้นสอบถามประเด็นที่บริษัท สุขสมบูรณ์ ซึ่งได้รับโควตาผลิตน้ำมันปาล์ม 1,200 ตัน และยังขอปันส่วนน้ำมันปาล์มจากบริษัทอื่นอีกแห่งละ 100-200 ตัน จากบริษัทมรกต อินดัสตรีส์ บริษัทล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน , บริษัท พืชปทุมจำกัด , บริษัท ชุมพรปาล์ม และบริษัท เหล่าธงสิงห์ รวมโควต้าทั้งสิ้น 1,800 ตัน รวมถึงประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการให้ผู้ผลิตสำรองวัตถุดิบเพื่อผลิตน้ำมันปาล์มในราคาควบคุมแล้วให้กันคืนน้ำมันปาล์มจากโควต้า 30,000 ตัน

ไม่พบความผิดปกติ

พ.ต.อ.ณรัชต์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเอกสารการนำเข้าและการผลิตน้ำมันของบริษัทสุขสมบูรณ์ไม่พบความผิดปกติ และไม่พบว่ามีน้ำมันหลงเหลืออยู่ในถังเก็บของโรงงาน  หลังจากนี้ดีเอสไอจะต้องตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดและนำไปวิเคราะห์หลักฐานทางการบัญชีและภาษีอากร อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นการสำรองวัตถุดิบล่วงหน้าและการกันคืนจากโควตานำเข้า 30,000 ตัน ยังเป็นประเด็นที่ดีเอสไอยังติดใจสงสัยเรื่องการหักคืนว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งยังต้องรอการชี้แจงอย่างเป็นทางการจากกระทรวงพาณิชย์

อ้างภัยธรรมชาติต้นเหตุ

ในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ดีเอสไออีกชุดได้เข้าตรวจสอบการผลิตน้ำมันปาล์มของบริษัทน้ำมันพืชปทุม จำกัด จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันยี่ห้อเกสร และดอกไม้ ได้รับการจัดสรรโควตาให้ผลิตน้ำมันปาล์มล็อตที่สั่งซื้อจากประเทศมาเลเซียมากที่สุด คือ 6,000 ตัน โดยมีนายต้นพงศ์  ตริยานนท์ ผู้จัดการบริษัท ให้ข้อมูลและนำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการผลิต พร้อมยืนยันว่าโรงงานแห่งนี้ไม่ได้กักตุนน้ำมันเพื่อเก็งกำไร ได้รับโควตาผลิตน้ำมัน 6,000 ตัน แต่ได้ปันส่วนโควตาไปให้บริษัทสุขสมบูรณ์ จำกัด 100 ตัน โดยโควต้าที่ได้รับสามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันปาล์มได้ 4 ล้านลิตร ที่ผ่านมาได้ผลิตน้ำมันเต็มกำลังการผลิตเฉลี่ยวันละ 200,000 ลิตร ได้กระจายน้ำมันออกสู่ตลาดไปแล้ว  60-70 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสาเหตุของการขาดแคลนน้ำมันปาล์มเกิดจากภัยธรรมชาติภายในประเทศไม่ใช่การกักตุนสินค้า

บุกรง.คนใกล้ชิดรองนายกฯ

นายธาริต  เพ็งดิษฐ์  อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า วันเดียวกันนี้ดีเอสไอได้ประสางานกับพาณิชย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขอเข้าตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม ในพื้นที่สุราษฎร์ธานี  3 บริษัท คือ บริษัท ปาร์โก้เทรดดิ้ง จำกัด , บริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด และบริษัท ราชา ไบโอ-ดีเซล จำกัด ซึ่งที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่าบริษัทดังกล่าวเกี่ยวพันกับ นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ  รองนายกรัฐมนตรี  จึงทำให้ดีเอสไอไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ ดังนั้นเพื่อความโปร่งใส  ดีเอสไอยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างทำไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏแม้รัฐบาลจะเป็นคนสั่งการให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว แต่หากพบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาลก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ได้ละเว้นหรือเลือกปฏิบัติ

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ดีเอสไอจะส่งพนักงานสอบสวนไปร่วมสังเกตการณ์ประชุม คณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ ที่มีนายสุเทพ เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ว่าทำไมต้องเป็น 10 บริษัท ที่ได้โควต้าการผลิต การนำเข้าปาล์มจำนวน 30,000 ตัน เพราะมีอีกหลายบริษัทที่ประกอบกิจการผลิตปาล์มเช่นกัน

“ธาริต”งงทำไมต้องให้10รง.

นายธาริต  กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการตรวจสอบของดีเอสไอจะเน้นเรื่องข้อกฎหมายเป็นหลักว่าให้กระทำได้หรือไม่  ดังนั้นมุมมองอาจจะต่างจะเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องปกติ และทำกันมานาน เช่น การแบ่งโควต้า โดยความเป็นจริงน่าจะผิดกฎหมายหรือการกีดกันทางการค้าชัดเจน  เพราะประเทศไทยมีบริษัทที่ประกอบกิจการผลิตน้ำมันปาล์มว่า 30  แห่ง ดังนั้นจึงเกิดคำถามตามมาว่าทำไมต้องเป็น 10 บริษัท และทำไมองค์การคลังสินค้า(อคส.) ไม่สามารถจัดซื้อปาล์มได้ด้วยตนเอง ต้องนำโควต้ากว่า 30,000 ตัน ไปให้บริษัทเอกชน 10 แห่ง รวมลงทุนนำเงินเพื่อชื้อปาล์มจากต่างประเทศ  ทั้งๆที่อคส.เป็นหน่วยงานของรัฐ

ให้นำเข้าเสรี-ห้ามส่งออก  ที่ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า พณ.จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน พิจารณาแนวทางบริหารจัดการน้ำมันปาล์ม 2 แนวทาง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและมีราคาแพง โดยแนวทางแรก ให้นำเข้าได้เสรี และห้ามส่งออกชั่วคราว 3 เดือน เพื่อปรับปริมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์การขาดแคลนในประเทศ และแนวทางที่ 2 ให้ปรับการนำเข้า 1.2 แสนตัน จากน้ำมันปาล์มดิบแยกไข เป็นน้ำมันปาล์มสำเร็จรูป โดยให้มีคณะกรรมการบริหารจัดการนำเข้าระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ในการพิจารณาดูแล

พณ.ยันขายขวดละ47บาท

สำหรับการกำหนดราคาขายปลีก ยืนยันจะให้จำหน่ายราคาขวดละ 47 บาทต่อไป แต่หากต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นกว่าเดิม เสนอให้รัฐหางบประมาณมาชดเชยส่วนต่างเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค หรือหากรัฐเลือกไม่ต้องชดเชย แต่จะต้องอนุมัติให้มีการจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในราคาต้นทุน ที่บวกต้นทุนการนำเข้า ค่าใช้จ่ายนำเข้า และค่าใช้จ่ายขายลงไป ส่วนราคาจะเป็นเท่าไรให้คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณากำหนดมา

 “เป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์คือพยายามดูแลให้ราคาขายไม่เกิน 47 บาท โดยอยู่บนพื้นฐานโจทย์ที่รัฐบาลให้ว่าต้องดูแลราคาสินค้าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะน้ำมันปาล์มก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่ต้องดูแล โดย 2 ทางเลือกที่เสนอไป เป็นข้อเสนอของพาณิชย์ ถ้าไม่เอาก็ต้องมีข้อเสนอที่ดีกว่า ขอให้บอกมาว่าจะให้ทำอย่างไร”นางพรทิวากล่าว

“พรทิวา”ยันแก้ไขเต็มที่


นางพรทิวา กล่าวต่อว่า กระทรวงไม่ได้พิจารณานำเข้าปาล์ม 1.2 แสนตันล่าช้า แต่ต้องรอความชัดเจนจากภาคอุตสาหกรรมว่าต้องการใช้น้ำมันปาล์มแบบไหน อีกทั้งต้องดูเรื่องราคานำเข้า เพราะหลังจากที่มีข่าวว่าไทยจะนำเข้า ราคาก็พุ่งขึ้นต่อเนื่อง และเห็นว่า หากนำเข้าในราคาที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อราคาภายในประเทศ ไม่สามารถขายที่ 47 บาทได้ ก็ต้องรอให้ราคานิ่งก่อน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้พยายามแก้ปัญหาเต็มที่ โดยเมื่อเห็นขาดแคลน ก็เสนอให้นำเข้ารอบแรก 3 หมื่นตัน ตั้งแต่เดือน ม.ค.และขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตและกระจายออกสู่ตลาด แต่เมื่อเห็นปัญหายังไม่คลี่คลายจึงได้เสนอให้นำเข้าเพิ่มอีก 1 แสนตัน จนวันที่ 6 ก.พ. ให้นำเข้า 1.2 แสนตัน เป็นน้ำมันปาล์มดิบแยกไข และอยู่ระหว่างต่อรองราคา และที่ผ่านมาได้เตรียมขอแก้มติเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ให้เปิดนำเข้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ตามความต้องการของอุตสาหกรรม แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

 รัฐบาลต้องชดเชย8.39บาท รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การทำข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้ เนื่องจากนางพรทิวาไม่ได้เป็นกรรมการในบอร์ดปาล์มน้ำมัน จึงไม่สามารถที่จะเข้าไปโต้แย้งหรือโต้เถียงได้ โดยแนวทางในการชดเชยราคาการนำเข้าน้ำมันปาล์ม 1.2 แสนตัน ที่ขณะนี้ราคาน้ำมันปาล์มดิบตลาดต่างประเทศอยู่ที่กก.ละ 42 บาท โดยหากต้องการให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 47 บาท จะต้องชดเชยกก.ละ 8.39 บาท หรือใช้เงิน 1,006 ล้านบาท แต่หากรัฐบาลให้ชดเชยวงเงินน้อยลง อาจต้องปรับราคาขึ้นบ้างตามสัดส่วน หรือมากสุดกรณีไม่ต้องชดเชยเลย แต่ราคาขายจะขึ้นไปถึงขวดละ 56 บาท “เทพ”ให้ตรึงราคา47บาท ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ จะเสนอของบประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อไปแทรกแซงราคาน้ำมันปาล์มที่ขณะนี้ตรึงไว้ที่ขวดละ 47 บาท ว่า สามารถเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ ได้ แต่คงต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่ายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติวันที่ 22 ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวเห็นว่าควรจะยืนราคาขวดละ 47 บาทเอาไว้ เพราะประชาชนเพิ่งรับภาระจากการปรับราคาจาก 38 บาทมาเป็น 47 บาท หากไปขึ้นราคาอีกก็จะเป็นการซ้ำเติมประชาชนได้ ดังนั้นควรคิดหาวิธีการอื่นดีกว่า

เปลี่ยนนำเข้าทีละ2-3หมื่นตัน นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวตนเห็นว่าจำเป็นต้องทบทวนตัวเลขการนำเข้าน้ำมันปาล์ม 1.2 แสนตัน ที่คณะกรรมการฯได้อนุมัติไปเกือบเดือนแล้ว แต่จนถึงวันนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้นำเข้า และปลายเดือนนี้ผลผลิตของเราก็เริ่มออกสู่ตลาดหากไปยืนยันตัวเลขเดิมก็อาจจะกระทบกับภายในประเทศได้ ดังนั้นอาจต้องมาทบทวนกันใหม่ โดยอาจให้นำเข้ามาทีละ 2-3 หมื่นตันแทน

เมื่อถามว่าหากผลผลิตในประเทศออกมา ในเดือนมี.ค.นี้จะสามารถผลิตทำเป็นน้ำมันปาล์มได้ทันความต้องการของประชาชนหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า เชื่อว่าทัน ส่วนแนวคิดการนำเข้าในรูปแบบบรรจุขวดสำเร็จรูปนั้น ตนยังไม่ได้คิด ขณะนี้คิดอย่างเดียวว่ากระบวนการในการทำงานต้องชัดเจน และไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน ขณะเดียวกันต้องดูแลให้เกษตรกรขายปาล์มได้ราคาดีด้วย

สวน”พ”อาจเป็น”พร้อมพงศ์”

ส่วนกรณีที่โฆษกพรรคเพื่อไทยออกมาแฉมีนักการเมืองอักษรย่อ ส. ,พ และ อ.เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์นั้น นายสุเทพ กล่าวว่า น่าเบื่อ พวกที่ออกมาพูดอักษรย่อ ซึ่งไม่จริงสักคน ถ้าจริงให้บอกชื่อมาเลย จะได้จัดการได้ ตนจะไปรู้ได้อย่างไร อักษรย่อ พ. อาจจะเป็นพร้อมพงศ์หรือเปล่า ถ้าเป็น จ.ก็อาจจะเป็นจตุพรหรือเปล่า ส่วนที่ฝ่ายค้านอาจจะหยิบยกเรื่องนี้ไปเปิดเผยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ถือว่าดีมาก จะได้ชี้แจงกัน ตนสบายอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่มีเรือบรรทุกน้ำมัน 5 ลำลอยอยู่น่านน้ำอ่าวไทยตั้งแต่เดือน ม.ค.ก่อนที่ครม.จะอนุมัติให้นำเข้า นายสุเทพ กล่าวว่า ขอให้ึยืนยันมาว่ามีเรืออะไร ลอยลำอยู่ที่ไหน ที่แน่นอนคือถ้าลอยลำอยู่จริงก็เตรียมขาดทุนได้ เพราะตนกำลังจะยกเลิกไม่ให้นำเข้า ดังนั้นช่วยแจ้งเจ้าของเรือเหล่านั้นด้วยแล้วกัน

“ชวน”แนะกินของต้มหรือนึ่ง

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาราคาน้ำมันปาล์มแพง ว่า ตนเห็นใจรัฐบาลที่ขณะนี้ทราบว่าได้พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำให้หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ให้คำแนะนำกับประชาชนต่อกรณีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค อาทิ จากเดิมที่รับประทานอาหารทอด เปลี่ยนมาเป็นอาหารต้ม หรือ นึ่ง ซึ่งตนมองว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพด้วย เพราะอาหารต้ม หรือนึ่งไม่มีคอเรสเตอรอลสูง

“ผมได้พูดคุยกับชาวบ้าน และพรรคพวกในพื้นที่ภาคใต้ ถึงเรื่องปัญหาราคาน้ำมัน เขาก็บอกว่าจะหันมากินอาหารนึ่ง หรือ ต้มแทน แต่กลุ่มผู้ค้าของทอด เช่น กล้วยทอด คงทำได้ยาก แต่หากผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปกินอาหารต้ม หรือ นึ่ง จะทำให้มีน้ำมันสำหรับผู้ค้ากล้วยทอดได้ ผมเห็นใจคนที่เข้าคิวซื้อน้ำมัน  แต่เชื่อว่าปัญหานี้ไม่นานจะคลี่คลายได้ เพราะผลผลิตของต้นปาล์มของเกษตรกรเตรียมออกสู่ตลาดแล้ว” นายชวน กล่าว

ประณามนักการเมืองมีเอี่ยว

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยอ้างว่าปัญหาวิกฤตน้ำมันปาล์มมีนักการเมืองอักษร “ส.” มีส่วนทุจริตเรื่องสต๊อกน้ำมัน นายชวน กล่าวว่า ถ้ามีคนไปเกี่ยวข้องจริงก็เป็นเรื่องที่ต้องประณาม และต้องเอาผิดทางกฎหมายนักการเมืองที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง อักษรย่อใดๆ ก็ตามต้องจัดการให้เด็ดขาด

ส.ว.ชี้หัวคะแนนกักตุน นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธุ์ ส.ว.ขอนแก่น ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร รัฐต้องทำลายอำนาจผูกขาดของพ่อค้าคนกลางที่ผูกพันกับนักการเมือง และต้องประกันพืชผลกรณีฝนแล้ง น้ำท่วม ส่งเสริมผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น นายกฯต้องเอาจริง ใครทำผิดต้องลงโทษ อย่าทำแบบลูบหน้าปะจมูก ใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นเครื่องซักฟอก

นายประเสริฐ กล่าวว่า เมื่อ 8 เดือนก่อนมีพ่อค้าที่ที่ใกล้ชิดและเป็นหัวคะแนนของนักการเมืองใหญ่ทางใต้ส่งออกน้ำมันปาล์มในราคาที่ถูกไปเก็บไซโลที่สิงคโปร์เป็นจำนวนมาก เพราะรู้ว่าภาวะฝนแล้งต่อเนื่องจะทำให้น้ำมันปาล์มขาดแคลน เมื่อกระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้น้ำมันปาล์มขึ้นราคา ทันทีที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทนที่น้ำมันปาล์มจะพอใช้กลับมีการกักตุนเพื่อเก็งกำไรในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้สมประโยชน์ของพ่อค้าหัวใสคนดังกล่าว แม้โรงงานกลั่น 10 โรงงาน ได้รับส่วนแบ่ง 3 หมื่นตันที่นำเข้ามากลั่นก็ยังอ้างว่าไม่คุ้มกับการผลิต ทั้งนี้ ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ จะพิจารณานำเข้าอีก 120,000 ตัน ซึ่งกลั่นได้ 70 ล้านลิตร ต้องถามว่าสั่งซื้อจากใคร เกี่ยวข้องกับพ่อค้าหัวใสคนนั้นหรือไม่ ซึ่งอยากให้รัฐบาลคำนึงว่าในช่วงปลายเดือนมี.ค.-พ.ค.ผลปาล์มของชาวไร่จะออกสู่ตลาดพอดี จะทำให้เกษตรกรที่ปลูกปาล์มเดือดร้อนเพราะขายไม่ได้ราคา

สินค้า204อย่างจ่อขึ้นราคา

นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง กล่าวว่า รัฐบาลประมาทไม่หาทางป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ ทั้งที่มีสัญญาณเตือนภัยมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ที่เกิดภัยธรรมชาติน้ำท่วม ภาวะเงินเฟ้อ น้ำมันขึ้นราคา การปรับขึ้นค่าแรง รวมถึงสัญญาณวิกฤติภัยธรรมชาติทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลควรหาทางรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ ขณะนี้มีสัญญาณค่อนข้างชัดว่ามีนักธุรกิจบางคน กักตุนสินค้า โดยมีนักการเมืองบางคนร่วมกันหากินบนความเดือดร้อนประชาชน ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคอีกร่วม 204 รายการจ่อขยับราคา ตนให้ผู้ปฏิบัติงานส.ว.ไปสำรวจตลาดในพัทลุง พบว่าสินค้าทุกตัวปรับราคาขึ้น กลายเป็นยุคข้าวยากหมากแพงซึ่งจะเป็นจุดบ่อนทำลาย หากแก้ไม่ดีจะเป็นความล่มสลายของรัฐบาล ขณะที่สินค้าสำคัญอีกตัวที่ส่อวิกฤติคือน้ำตาล ซึ่งมีสัญญาณจากภัยธรรมชาติที่รัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยใหญ่สุดพื้นที่เกษตรถูกทำลายเกือบหมด ขณะที่อินโดนีเซียและรัสเซีย ที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลก็ไม่ยอมเพิ่มโควต้า จึงอยากถามว่ารัฐบาลจะมีแนวทางจัดการกับคนที่กักตุนสินค้า และนักการเมืองที่เอาเปรียบประชาชนที่กำลังเดือดร้อนแสนสาหัสอย่างไร

“เด็ดพี่”ว่าเรือ5ลำไปแล้ว นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่พรรคเพื่อไทยออกข่าวการขนน้ำมันปาล์มเข้าประเทศ ปรากฏว่าขณะนี้เรือทั้ง 5 ลำได้ออกจากน่านน้ำไทยไปอยู่น่านน้ำสากลเรียกร้อยแล้ว และขณะนี้มีข่าวว่าน้ำมันปาล์มที่กักตุนเอาไว้ได้มีการกระจายไปตามสถานที่ต่างๆ จากเดิมเก็บกักตุนเอาไว้ที่เดียว นอกจากนี้ขอให้จับตาดูการประชุมครม.และการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ ว่าจะมีการเสนอให้ตั้งกองทุนน้ำมันปาล์มมูลค่า 1 พันล้านบาท เพื่อตรึงราคาน้ำมันขวดให้เหลือขวดละ 47 บาท ซึ่งหากทำเช่นนั้นจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่สมประโยชน์กันในรัฐบาล เพราะหากไม่ยอมให้ขึ้นราคาก็ต้องเอาภาษีประชาชนมาใช้จ่าย หากให้ขึ้นราคาก็เท่ากับสามารถขายน้ำมันได้ในราคาแพงขึ้น

“เหลิม”จะเอาไปอภิปราย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ในฐานะประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เรื่องน้ำมันปาล์ม ว่า สำหรับเรื่องน้ำมันปาล์ม ตนจะนำไปอภิปรายในการอภิปรายผลงานของรัฐบาล โดยจะอธิบายให้เห็นภาพว่าน้ำมันปาล์มในประเทศมีที่มาอยู่ 3 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ ที่ผลิตน้ำมันปาล์มได้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจะผลิตได้มากบอกว่าผลิตได้น้อย หรือผลิตได้มาก ก็บอกว่าได้มาก แต่ทยอยขายแต่ละน้อยๆ อะไรก็มีปัญหาหมด รวมทั้งการนำไปผลิตน้ำมันไบโอดีเซลมากไปโดยไม่คำนึงถึงการอุปโภค จึงทำให้ประชาชนไทยต้องเข้าคิวซื้อสินค้าที่ไม่เคยมีมากว่า 25 ปีแล้ว ส่วนเรื่องนี้ใครได้ประโยชน์คงตอบยาก เพราะมันไม่มีใบเสร็จ แต่แน่นอนอยู่แล้วว่ามีคนได้ประโยชน์ ดังนั้นตนจะพูดถึงเรื่องการบริหารงานผิดพลาดจนทำให้เกิดราคาข้าวของแพงเช่นนี้

ขายน้ำมันปาล์มราคาถูก

วันเดียวกันนี้ ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนราธิวาสได้นำน้ำมันปาล์มฝาสีฟ้าราคาถูกของกระทรวงพาณิชย์ออกมาวางจำหน่ายให้ประชาชนรวมทั้งหมด 12,000 ขวด ราคาขวดละ 47 บาท เช่นเดียวกับสำนักงานการค้าภายในจังหวัดอุดรธานี นำน้ำมันปาล์มฝาสีฟ้ามาขายให้ประชาชนทั้งหมด 3,200 กล่อง และจะขายทุกวันที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานีวันละ 100 ขวด เพื่อให้ทั่วถึงประชาชนทุกครัวเรือน



บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!