กระทู้ธรรม

กระทู้ธรรม

<< < (3/48) > >>

kittanan_2589:
คราวนี้จะเห็นได้ชัดเลยทีเดียวว่า สรรพกิเลสทั้งปวงและโทษทุกข์ทั้งหลายที่มนุษย์คนเราพากันได้เสวยอยู่นี้
ล้วนแต่จิตผู้เดียวเป็นผู้หามาใส่ถ้าจิตไม่ไปหามาใส่แล้ว จิตก็จะกลายเป็นใจ
ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง อยู่เป็นสุขโดยส่วนเดียว

เหมือนต้นกล้วยไม่มีแก่น แกะกาบไป ๆ ผลที่สุดเลยหาแก่นไม่ได้ มีแต่กาบอย่างเดียว
ผู้ภาวนาทั้งหลายล้วนแต่แกะกาบหาแก่นแท้ของธรรมทั้งนั้น
ผู้หาแก่นของธรรมแต่แกะกาบไม่หมดจึงไม่เห็นธรรม

ผู้ภาวนายังไม่ถึงจิตถึงใจพากันกลัวนักกลัวหนาว่า
เมื่อจิตเข้าถึงใจแล้วจะไม่ทำให้เกิดความรู้อะไรต่าง ๆ
เมื่อไม่เกิดความรู้ ความสิ้นทุกข์มันจะมีมาแต่ไหน มันก็โง่เท่านั้นเอง
แม้พระผู้ใหญ่บางท่านก็พูดกับผู้เขียนเองเช่นนี้เหมือนกัน
ผู้เขียนเคยได้อธิบายแล้วว่า จิตเป็นผู้ส่งส่ายหาอารมณ์ต่าง ๆ มาครอบงำจิต
เมื่อจิตเห็นโทษของอารมณ์นั้น ๆ แล้ว จิตสละอารมณ์นั้นเสีย
แล้วเข้ามารวมเป็นหนึ่ง เลยกลายเป็นใจ
มิใช่เข้ามาอยู่เป็นใจเลยโดยมิได้ตรึกตรองพิจารณาให้รอบคอบ
เรียกว่า พิจารณาเหตุผลทุกแง่มุมจนถึงพระไตรลักษณ์ ไม่มีที่ไปแล้วจึงเข้าถึง
เมื่อเป็นเช่นนี้จะเรียกว่าไม่มีปัญญาได้อย่างไร
ก็มีปัญญาตามชั้นตามภูมิของตนนั้นเอง

ดังได้อธิบายมาแล้วว่า
จิตเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ถ้าไม่มีจิตกิเลสมันจะมีมาแต่ไหน
ทั้งเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ถ้าหาจิตไม่ได้แล้วจะไปคิดปรุงแต่ง หาปัญญามาที่ไหน
เป็นเหตุให้เกิดกิเลสเพราะจิตส่งส่ายไม่เข้าถึงใจ “คือความเป็นกลาง”
เป็นเหตุให้เกิดปัญญาเพราะจิตส่งส่ายไปในที่ต่าง ๆ แล้วรวมเข้ามาลงในพระไตรลักษณ์
แล้วหยุดนิ่งเฉย รู้ตัวอยู่ว่านิ่งเฉย เข้าถึงใจ

เหมือนกับตัวไหม เขาเลี้ยงด้วยหม่อน โตขึ้นโดยลำดับ จนกลายมาเป็นบุ้ง
แก่แล้วชักใยหุ้มตัวมันเอง เขาเรียกว่า ดักแด้ แก่เข้าแล้วเจาะรังออกมา เขาเรียกว่าแมลงบี้
ออกไข่ตั้งเยอะแยะ นับเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ตัว ฉันใด จิตก็ฉันนั้น
เมื่อมันรวมตัวเข้าเป็นใจแล้ว จะไม่มีอาการอะไรทั้งหมด
เมื่อมันออกจากใจมาแล้ว มันจะมีอาการมากมายเหลือจะประมาณ
(แต่ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ท่านจะไม่ยอมให้มันออกไปเที่ยวเกิดอีก ประหารในที่เดียวเลย)
สรรพกิเลสของมนุษย์ผู้ไม่ได้ทำสมาธิภาวนา จิตยังวุ่นอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ก็เหมือนกับลูกแมลงบี้ที่เกิดจากแม่ตัวเดียว มีลูกนับเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ตัวฉะนั้น

สรุปแล้ว กิเลสทั้งหลายของมนุษย์เรานี้เกิดจากจิตแต่ผู้เดียว
เมื่อสัมปยุตไปด้วยอายตนะทั้ง ๑๒ คือ ภายนอก ๖ มีรูป เสียง เป็นต้น
อายตนะภายใน ๖ มีตา หู เป็นต้น กระทบกัน แล้วก็เกิดผัสสะขึ้นมา
แล้วก็แผ่ออกเป็นลูกหลาน ลุกลามไปทั่วทั้งโลก
ให้เกิดความยินดียินร้าย ความรัก ความชัง เกลียด โกรธ
แล้วประหัตประหารฆ่าฟันซึ่งกันและกัน ทำให้โลกนี้วุ่นวายไปหมด
เมื่อรู้เช่นนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรระวังสังวรอย่าให้จิตไปสัมปยุตด้วยอายตนะทั้ง ๑๒ เหล่านั้น
ทำใจให้เป็นกลางวางเฉยอยู่คนเดียว ถึงแม้จิตจะใช้อายตนะทั้งหลายเป็นเครื่องเที่ยว
ก็ให้ระวังใจไว้ อย่าให้หลงตามจิต
เมื่อใจไม่หลงตามจิต เพราะใจรู้เท่าเข้าใจอาการของจิต
ว่าจิตเป็นผู้นำอารมณ์ให้ปรุงแต่งวุ่นวาย
ใจก็จะอยู่คนเดียวตามธรรมชาติของใจ เมื่อใจเป็นธรรมชาติของมันแล้ว
จิตจะปรุงจะแต่งก็เข้าไม่ถึงใจ เพราะใจไม่มีอาการไปแลอาการมา ไม่มีนอกแลใน
ไม่มีความยินดีแลยินร้าย ปล่อยวางเฉยในสิ่งทั้งปวงแล้ว จิตก็จะขวยเขินไปเอง
นักปฏิบัติเมื่อเห็นชัดเจนตามเป็นจริงดังได้อธิบายมานี้แล้ว
จะเห็นสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม แลนามธรรมทั้งหลาย เห็นเป็นแต่สักว่า สภาวธรรม เท่านั้น
เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย หมดเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้น ไม่มีอะไรจะเป็นจริงเป็นจังเลย
แล้วแผ่นดินคือกายผืนแผ่นเล็ก ๆ อันนี้ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ก็จะบรรจุเต็มไปด้วยธรรมทั้งหมด
ตามองออกไปเห็นรูป ก็จะเห็นเป็นสักแต่รูปธรรมเท่านั้น ไม่เห็นเป็นอย่างอื่น
หูได้ฟังเสียง ก็จะเห็นเป็นสักแต่ว่าเป็นธรรมเท่านั้น จะไม่เป็นอย่างอื่น
จมูกถูกกลิ่น ลิ้นถูกรส กายถูกสัมผัส ใจมีอารมณ์เกิดขึ้น ก็สักแต่ว่าเป็นธรรมเท่านั้น
มิใช่สัตว์ ตัวตน เรา เขา หรืออะไรทั้งสิ้น

คนไทยทั้งประเทศ เมื่อได้แผ่นดินคนละผืนเล็ก ๆ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ อันนี้แล้ว
ตั้งใจรักษาแผ่นดินอันนี้ให้เป็นธรรม เมื่อต่างคนต่างรักษาแผ่นดินของตนให้เป็นธรรมแล้ว
ประเทศไทยก็จะกลายเป็นแผ่นดินธรรมไปทั้งหมด
คราวนี้ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะสบายไม่ต้องลำบาก.

สิ้นโลก เหลือธรรม
(ภาคปลาย)
โดย
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
(เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


โลกอันนี้มันหากเป็นอยู่อย่างนั้น
อย่าถือว่าเป็นของเรา
ถือเอาก็ไม่ได้อะไร ไม่ถือก็ไม่ได้อะไร
ปล่อยวางเสียให้เป็นของโลกอยู่ตามเดิม
พากันมาฟังความเสื่อมฉิบหายของโลกต่อไป
“โลก” คือ ความเสื่อมอันจะต้องถึงแก่ความฉิบหายในวันหนึ่งข้างหน้า เขาจึงเรียกว่าโลก
ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วคำว่า โลก ก็จะไม่มี โลกเกิดจากวัตถุอันหนึ่งซึ่งเป็นก้อนเล็ก ๆ
อันเกิดจากฟองมหาสมุทรที่กระทบกันแล้วกลายเป็นก้อนเล็ก ๆ ขึ้นก่อน
จะเรียกว่าอะไรก็เรียกไม่ถูก เรียกว่าธาตุอันหนึ่งก็แล้วกัน
คือหมายถึงวัตถุธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาเอง เป็นเอง
แล้วค่อยขยายกว้างใหญ่ไพศาลจรดขอบเขตแม่น้ำและมหาสมุทรทั้งสี่
โดยมีจักรวาลเป็นขอบเขต แล้วค่อยปริออกมาเป็นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ
แปรสภาพเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ กัน มีอวัยวะครบบริบูรณ์
แล้วมีจิตวิญญาณซึ่งคุ้นเคยเป็นกันเองเข้ามาครอบครองทำหน้าที่บังคับบัญชาธาตุนั้น ๆ
ให้เป็นไปตามวัตถุของโลก ซึ่งเราเรียกกันว่า “คน” นั่นเอง
แต่ละคนหรือตัวตนที่สมมติว่าคนนี้ ก็จะต้องเสื่อมสลายไปในวันหนึ่งข้างหน้าเช่นเดียวกัน
แม้ในเดี๋ยวนี้ คนหรือที่เรียกว่ามนุษย์สัตว์โลกหรือมนุษย์โลกก็กำลังเสื่อมไปอยู่ทุกวัน ๆ
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จพระโพธิญาณใหม่ ๆ
มนุษย์ชาวโลกนี้มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี ระยะเวลาผ่านไป ๑๐๐ ปี อายุคนจะลดน้อยถอยลงมาปีหนึ่ง
ปัจจุบันนี้ พระพุทธองค์นิพพานไปได้ประมาณ ๒,๕๐๐ ปีแล้ว อายุของมนุษย์จะเสื่อมลงคงเหลือประมาณ ๗๕ ปี
ถ้าคำนวณตามแบบนี้ อายุของมนุษย์ก็เสื่อมเร็วนักหนา อายุของมนุษย์จะเสื่อมลงไปอย่างนี้เรื่อย ๆ
จนกระทั่งเหลือ ๑๐ ปี ก็มีครอบครัว เป็นผัวเมียสืบพันธุ์กัน
แม้สัตว์เดรัจฉานอื่น ๆ ก็เสื่อมลงโดยลำดับเช่นเดียวกันกับมนุษย์
ดินฟ้าอากาศก็เปลี่ยนแปลง แปรปรวนเป็นไปต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้เกิดกลียุคฆ่าฟันกันตายเป็นหมู่ ๆ เหล่า ๆ
สัตว์ตัวใหญ่ที่มีอิทธิพลก็ทำลายสัตว์ตัวน้อย ให้ล้มตายหายสูญเป็นอันมาก
มนุษย์จะกลายเป็นคนไม่มีพ่อแม่พี่น้อง หรือญาติวงศ์ซึ่งกันและกัน
เมื่อเห็นหน้ากันและกันก็จับไม้ค้อนก้อนดินขึ้นมากลายเป็นศาสตราวุธประหัตประหารฆ่ากันตายเป็นหมู่ ๆ
เรื่องศีลธรรมไม่ต้องพูดถึงเลย แม่น้ำลำคลอง ห้วย หนอง คลอง บึง ก็เหือดแห้งเป็นตอน ๆ
ฝนไม่ตกเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ปี มีแต่เสียงฟ้าร้องครืน ๆ แต่ไม่มีฝนตกเลย
เมื่อเป็นเช่นนั้น น้ำในทะเลอันใหญ่โตกว้างขวางและลึกจนประมาณมิได้ ก็เหือดแห้งกลายเป็นทะเลทราย
ปลาตัวหนึ่งซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อว่า “ติมังคละ” ก็นอนตายอยู่บนกองทราย
และโดยอำนาจของแดดเผาผลาญ ทำให้ปลาตัวนั้นมีน้ำไหลออกมาบังเกิดเป็นไฟลุกท่วมท้น
ทำให้มนุษย์โลกทั้งหลายฉิบหายเป็นจุณวิจุณ เขาเรียกว่าไฟบรรลัยโลก
โลกนี้ทั้งหมดก็จะกลายเป็นอัชฌัตตากาศอันว่างเปล่า
สัตว์ที่มีวิญญาณก็จะขึ้นไปเกิดในภพของพรหมชั้นอาภัสสระ ซึ่งไฟนั้นไหม้ไม่ถึง
ในหนังสือไตรโลกวิตถารท่านกล่าวว่า
โลกนี้ทั้งหมดจะต้องฉิบหายโดยอาการ ๓ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ๓ ประการนี้เป็นเหตุ
สัตว์หนาไปด้วยราคะ โลกนี้จะต้องฉิบหายด้วยน้ำ
สัตว์หนาไปด้วยโทสะ โลกจะต้องฉิบหายด้วยไฟ
สัตว์หนาไปด้วยโมหะ โลกจะต้องฉิบหายด้วยลม
โลกจะต้องฉิบหายด้วยการบรรลัยโลกกันอยู่อย่างนี้ ในระหว่างกัลป์ใหญ่ ๆ
ไฟบรรลัยโลกเล็ก ๆ ที่เกิดในระหว่างกัลป์ใหญ่ ๆ นี้ มีปัญหาน่าพิจารณา

น้ำราคะอันมีอยู่ในมนุษย์ชาวโลก แต่ละคนมีอยู่น้อยนิดเดียว
ทำไมท่านแสดงว่าสามารถท่วมโลกได้จนเป็นน้ำบรรลัยโลก
โทสะและโมหะก็เหมือนกัน อยู่ในตัวมนุษย์โลกซึ่งมองไม่เห็น
ทำไมจึงแสดงฤทธิ์ใหญ่โตจนไหม้โลก และพัดเอาโลกจนฉิบหาย
ขอนักปราชญ์เจ้าจงใช้ปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้
เห็นจะไม่ท่วมโลกและเผาโลกให้ฉิบหายเป็นกัปเป็นกัลป์ดังว่านั้นก็ได้

พวกเราชาวโลกผู้มีน้ำและไฟหรือลมอยู่ในตัวนิดหน่อยนี้คงจะมองเห็นฤทธิ์เดช
เรื่องของทั้ง ๓ นี้ ว่ามีฤทธิ์เดชเพียงใด ราคะคือความกำหนัดยินดีในสิ่งสารพัด
วัตถุทั้งปวงมีผัวเมียเป็นต้น มันท่วมท้นอยู่ในอกโดยความรักใคร่อันหาประมาณมิได้
โทสะคือไฟกองเล็ก ๆ นี้ก็เหมือนกัน มันไหม้เผาผลาญสัตว์มนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ
โมหะก็เช่นเดียวกัน มันพัดเอาฝุ่นละอองกิเลสภายนอกและภายใน
มาท่วมทับหัวอกของคนจนมืดมิด ให้เข้าใจว่า สิ่งที่ผิดเป็นถูก

ของ ๓ อย่างนี้มีฤทธิ์เดชมหาศาล สามารถทำลายโลกให้เป็นกัปกัลป์ได้
และกัปนั้นท่านไม่ได้แสดงว่ามีอายุเวียนมาสักเท่าไร
เป็นแต่แสดงว่าเป็นกัปเล็ก ๆ ในระหว่างกัปใหญ่
เห็นจะเพราะน้ำราคะ ไฟโทสะ ลมโมหะ ท่วมโลกและเผาผลาญโลกนี้ไม่หมดสิ้น
ท่านถึงไม่แสดงถี่ถ้วน เพียงแต่พูดเปรย ๆ เพื่อให้นักปราชญ์ผู้มีปรีชาเอามาคิด เพื่อไม่ให้หลงผิด ๆ ถูก ๆ
รู้จักชัดแจ้งโดยใจของตนเอง ชัดแจ้งด้วยใจของตน แล้วนำมาพิจารณาเฉพาะตน ๆ
ความฉิบหายของโลกเป็นมาอย่างนี้แล้ว ๆ เล่า ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
พระบรมโพธิสัตว์ผู้ซึ่งท่านได้บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศมาครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว
ชาวสวรรค์ทั้งปวงเล็งเห็นว่าโลกนี้วุ่นวายเดือดร้อนกันมาก จึงได้ไปทูลเชิญพระบรมโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต
ลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะตระกูลศากยราช
เมื่อคลอดออกจากครรภ์ของพระมารดาแล้ว เสด็จย่างพระบาทได้เจ็ดก้าว
ทรงแลดูทิศทั้งสี่แล้วเปล่งอาสภิวาจาว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺมึ” เราจะเป็นเลิศในโลก
เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้นมาก็ได้เสวยความสุขอันเลิศ
จนกระทั่งเสด็จหนีออกบรรพชา ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ถึง ๖ พรรษา
จึงได้ค้นพบพระอริยสัจธรรมสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อพระพุทธองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จึงทรงพิจารณามองเห็นสัตว์โลกที่เดือดร้อนวุ่นวาย
ด้วยไม่มีศีลธรรมเป็นเครื่องครอบครองหัวใจ จึงเป็นเหตุให้เกิดการอิจฉาริษยา
ฆ่าฟันกันตายเป็นหมู่ ๆ เหล่า ๆ เป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่ตลอดกาล
และด้วยอาศัยพระเมตตากรุณาอันใหญ่หลวงของพระพุทธองค์ที่ทรงมีต่อมนุษย์สัตว์โลกทั้งหลาย
จึงทรงเทศนาสั่งสอนสัตว์นิกรทั้งหลายให้เข้าถึงธรรมะ ให้มีศีลธรรมประจำตนของแต่ละคน ๆ
เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดกาล ดั่งที่พระองค์ทรงเทศนาธรรมโลกบาล
คือธรรมอันเป็นเครื่องคุ้มครองสัตว์โลก มี ๒ อย่าง คือ หิริ และ โอตตัปปะ
แต่มนุษย์ชาวโลกทั้งหลายกลับเห็นว่าพระพุทธเจ้าเกิดมาทีหลังโลก ท่านต้องคุ้มครองเราซิ
ไม่ให้มีอันตรายและเดือดร้อนวุ่นวายถึงจะถูก
ความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่สอนให้มนุษย์เป็นทาสกรรมซึ่งกันและกัน
แต่พระองค์ทรงสอนให้มนุษย์มีอิสระคุ้มครองตัวเองแต่ละคน จึงจะอยู่เย็นเป็นสุข
ถ้าพระองค์ทรงสอนให้เป็นทาสกรรมซึ่งกันและกัน
เหมือนกับตำรวจและทหารต้องอยู่เวรเข้ายามรักษาเหตุการณ์อยู่ทุกเมื่อแล้ว
โลกนี้ก็จะดูเดือดร้อนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดกาล
แต่พระองค์ทรงสอนหัวใจคนทุกคนให้รักษาตนเองโดยมีหิริ-โอตตัปปะ
คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ถ้าทุก ๆ คน มีธรรมสองอย่างนี้อยู่ในหัวใจแล้ว
ก็จะไม่มีเวรมีภัยและการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
มนุษย์คือโลกเล็ก ๆ นี้ก็จะอยู่เป็นสุขตลอดกาล
แล้วโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลก็จะพลอยอยู่เย็นเป็นสุขไปด้วย
เป็นวิสัยธรรมดาของโลกที่จะต้องมีความเห็นเข้าข้างตัวเอง คือ เห็นว่า
พระพุทธเจ้าจะต้องคุ้มครองรักษาโลกเหมือนกับตำรวจรักษาเหตุการณ์ฉะนั้น
เหตุนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมแล้วจึงทรงสอนมนุษย์ชาวโลก
ให้มีศีลธรรมเกิดขึ้นในใจของตนแต่ละคน
มนุษย์จึงจะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้ในโลกนี้ทั้งหมด
โลกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้เกิดขึ้นมาก่อน แล้วธรรมจึงค่อยเกิดขึ้นภายหลัง
ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า โลกธรรมแปด
โลกเกิดขึ้นที่ใดธรรมต้องเกิดขึ้นที่นั่น ถ้าโลกไม่เกิดธรรมก็ไม่มี
ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโลกธรรมแปดนั้น
หมายถึงโลกธรรม ๔ คู่ มีอาการ ๘ อย่างคือ
มีลาภ-เสื่อมลาภ ๑
มียศ-เสื่อมยศ ๑
มีสรรเสริญ-นินทา ๑
มีสุข-ทุกข์ ๑




kittanan_2589:
เมื่อโลกเกิดขึ้นแล้ว พระองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงไปเหนือโลก
ตัวอย่างเช่น ความได้ในสิ่งสารพัดทั้งปวงเรียกว่า ลาภเกิดขึ้น
มนุษย์ได้ลาภก็เกิดความพอใจยินดี แล้วก็ไม่อยากให้ลาภเสื่อมเสียไป
และเมื่อลาภเสื่อมเสียไป ก็เกิดความเดือดร้อนตีโพยตีพาย
วุ่นวายกระสับกระส่ายไม่เป็นอันจะกินจะนอน
นั้นเรียกว่า โลก โดยแท้ พระองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลกแท้ คือ
แสดงความได้ลาภ-เสื่อมลาภ ให้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นธรรมดาของโลก
แต่ไหนแต่ไรมาโลกนี้ต้องเป็นอยู่อย่างนั้น เราจะถือว่าของกู ๆ ไม่ได้
ถ้ายึดถือว่าของกู ๆ อยู่ร่ำไป เมื่อลาภเสื่อมไปมันจึงเป็นทุกข์เดือดร้อนกลุ้มใจ
นั่นแสดงให้เห็นชัดเลยว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของตน มันจึงเสื่อมไปหายไป
ถ้ามันเป็นของเราแล้วไซร้ มันจะหายไปที่ไหนได้
ท่านจึงว่ามันเป็นอนัตตาไม่ใช่ของตนของตัว มันจึงต้องเป็นไปตามอัตภาพอันแท้จริงของมัน
จึงเรียกว่าพระพุทธองค์ทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลกให้เห็นโลกเป็นธรรมนั่นเอง

ความได้ยศ-เสื่อมยศ ก็เช่นเดียวกัน
ได้ยศคือความยกย่องว่าเป็นใหญ่เป็นโต มีหน้ามีเกียรติ มีอำนาจหน้าที่ มีชื่อเสียง
จิตก็พองตัวขึ้นไปตามคำว่า “ยศ” นั้น หลงยึดว่าเป็นของตัวจริง ๆ จัง ๆ
ธรรมดาความยกย่องของคนทั้งหลายแต่ละจิตละใจก็ไม่เหมือนกัน
เขาเห็นดีเห็นงามในความมียศศักดิ์ของตนด้วยประการต่าง ๆ เขาก็ยกยอชมเชยด้วยความจริงใจ
แต่เมื่อเขาเห็นกิริยาวาจาอันน่ารังเกียจของตนที่แสดงออกมาด้วยอำนาจของยศศักดิ์
เขาก็จำเป็นต้องเสแสร้งแกล้งปฏิบัติไปด้วยความเกรงกลัว
ตนกลับไปยึดถือยศศักดิ์นั้นว่าเป็นของจริงของจัง
เมื่อมันเสื่อมหายไป ความเกรงใจจากคนอื่นก็หมดไปด้วย
ตนเองก็กลับโทมนัสน้อยใจ ไม่เป็นอันหลับอันนอน อันอยู่อันกิน
แท้จริงแล้วความได้ยศ-เสื่อมยศนี้ เป็นของมีอยู่ในโลกแต่ไหนแต่ไรมาเช่นนี้ ตั้งแต่เรายังไม่เกิดมา
พระพุทธองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลก ให้เห็นว่า
ได้ยศ-เสื่อมยศนี้เป็นของมีอยู่ในโลก มิใช่ของใครทั้งหมด
ถ้าผู้ใดยึดถือเอาของเหล่านั้นย่อมเป็นทุกข์ไม่มีสิ้นสุด
ให้เห็นว่ามันเป็นอนัตตาไม่ใช่ของใครทั้งหมด
มันหากเป็นจริงอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา
สรรเสริญ-นินทา ความสรรเสริญและนินทาก็เช่นเดียวกัน ในตัวคนคนเดียวนั่นแหละ
เมื่อเขาเห็นกิริยาอาการต่าง ๆ ที่น่าชมน่าชอบ เขาก็ยกยอสรรเสริญชมเชย
แต่เมื่อเขาเห็นกิริยาวาจาที่น่ารังเกียจ เขาก็ติเตียน
คนผู้เดียวกันนั่นแหละมีทั้งสรรเสริญและนินทา มันจะมีความแน่นอนที่ไหน
อันคำสรรเสริญและนินทาเป็นของไม่มีขอบเขตจำกัด
แต่คนในโลกนี้โดยมากเมื่อได้รับสรรเสริญจากมนุษย์ชาวโลกทั้งหลายที่เขายกให้ ก็เข้าใจว่าเป็นของตนของตัวจริง ๆ จัง ๆ
อันสรรเสริญไม่มีตัวตนหรอก มีแต่ลม ๆแล้ง ๆ หาแก่นสารไม่ได้ แต่เรากลับไปหลงว่าเป็นตัวเป็นตนจริง ๆ
ไปหลงหอบเอาลม ๆ แล้ง ๆ มาใส่ตนเข้า ก็เลยพองตัวอิ่มตัวไปตามความยึดถือนั้น
ไปถือเอาเงาเป็นตัวเป็นจริงเป็นจัง แต่เงาเป็นของไม่มีตัว
เมื่อเงาหายไปก็เดือดร้อนเป็นทุกข์ โทมนัสน้อยใจไปตามอาการต่าง ๆ ตามวิสัยของโลก
แท้จริงสรรเสริญ-นินทา มันหากเป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา ก่อนที่เราจะเกิดมาเสียอีก
พระพุทธองค์ทรงเห็นว่ามนุษย์โง่เขลาหลงไปยึดถือเอาสิ่งไม่แน่นอนมาเป็นของแน่นอน จึงเดือดร้อนกันอย่างนี้
แล้วพระองค์ก็ทรงบัญญัติธรรมทับลงเหนือโลกอันไม่มีแก่นสารนี้ ให้เห็นชัดลงไปว่ามันไม่ใช่ของตัวของตน
เป็นแต่ลม ๆ แล้ง ๆ สรรเสริญเป็นภัยอันร้ายกาจแก่มนุษย์ชาวโลกอย่างนี้
แล้วก็ทรงสอนมนุษย์ชาวโลกให้เห็นตามเป็นจริงว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นอนัตตา จะสูญหายไปเมื่อไรก็ได้
มนุษย์ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นตามเป็นจริงดั่งที่พระองค์ทรงสอนแล้ว ก็จะคลายความทุกข์เบาบางลงไปบ้าง
แต่มิได้หมายความว่า โลกธรรมนั้นจะหายสูญไปจากโลกนี้เสียเมื่อไร
เป็นแต่ผู้พิจารณาเห็นตามเป็นจริงดั่งที่ว่ามาแล้ว ทุกข์ทั้งหลายก็จะเบาบางลงเป็นครั้งคราว
เพราะโลกนี้ก็ยังคงเป็นโลกอยู่ตามเดิม ธรรมก็ยังคงเป็นธรรมอยู่ตามเดิม
แต่ธรรมสามารถแก้ไขโลกได้บางครั้งบางคราว เพราะโลกนี้ยังหนาแน่นด้วยกิเลสทั้ง ๘ ประการอยู่เป็นนิจ
ความเดือดร้อนเป็นโลก ความเห็นแจ้งเป็นธรรม ทั้งสองอย่างเป็นเครื่องปรับปรุงเป็นคู่กันไปอยู่อย่างนี้
เมื่อกิเลสหนาแน่นก็เป็นโลก เมื่อกิเลสเบาบางก็เป็นธรรม

มีสุข – ทุกข์ ทุกข์เป็นของอันโลกไม่ชอบ แต่ก็เป็นธรรมดาด้วยโลกที่เกิดมาในทุกข์ อันนี้ก็เป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่นั่นเอง
ความสุขย่อมเป็นที่ปรารถนาของโลกโดยทั่วไป ฉะนั้นเมื่อความทุกข์เกิดขึ้นจึงเดือดร้อน เมื่อความสุขหายไปจึงไม่เป็นที่ปรารถนา
แต่แท้ที่จริงความทุกข์และความสุขที่เกิดขึ้นแล้วหายไปนั้น มันหากเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
เราเกิดมาทีหลังโลก เราจึงมาตื่นทุกข์ตื่นสุขว่าเป็นของตนของตัว ยึดมั่นสำคัญว่าเป็นจริง เป็นจัง
เมื่อทุกข์เกิดขึ้นสุขหายไป จึงเดือดร้อนกระวนกระวาย หาที่พึ่งอะไรก็ไม่ได้
พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่าโลกอันนี้มีแต่ทุกข์ไม่มีสุขเลย

ฉะนั้น ทุกข์จึงเป็นเหตุให้พระองค์พิจารณาจนเห็นตามสภาพความเป็นจริง แล้วทรงเบื่อหน่ายคลายจากทุกข์นั้น
จึงทรงเห็นพระอริยสัจธรรมแล้วพระองค์ก็ทรงบัญญัติธรรมลงเหนือทุกข์-สุข ให้เห็นว่า
โลกอันนี้มันหากเป็นอยู่อย่างนั้น อย่าถือว่าเป็นของเรา ถือเอาก็ไม่ได้อะไร ไม่ถือก็ไม่ได้อะไร
ปล่อยวางเสียให้เป็นของโลกอยู่ตามเดิม
ทรงรู้แจ้งแทงตลอดว่าอันนั้นเป็นธรรม โลกธรรมจึงอยู่เคียงกัน ดังนี้
ความเป็นอยู่ของโลกทั้งหมดเมื่อประมวลเข้ามาแล้วก็มี ๔ คู่ ๘ ประการ ดั่งอธิบายมาแล้ว
ไม่นอกเหนือไปจาก ธรรม ๔ คู่ ๘ ประการนี้ โลกเกิดมาเมื่อไร ก็ต้องเจอธรรม ๔ คู่ ๘ ประการนี้เมื่อนั้น อยู่ร่ำไป
พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงอุบัติขึ้นมาก็เพื่อมาแก้ทุกข์ ๔ คู่ ๘ ประการนี้ทั้งนั้น
พระองค์จึงตรัสว่า “เอส ธมฺโม สนนฺตโน” ธรรมนี้เป็นของเก่าแก่แต่ไหนแต่ไรมา
พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็มาตรัสรู้ในธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าจะมีคำถามว่า
พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในโลกก็เอาของเก่าที่พระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ตรัสไว้แล้วแต่เมื่อก่อนมาตรัสรู้หรือ
วิสัชนาว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นของที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน
และไม่มีครูบาอาจารย์สอนเลย พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองต่างหาก
ไม่เหมือนความรู้ที่เกิดจากปริยัติ ความรู้อันเกิดจากปริยัติไม่ชัดแจ้งเห็นจริงในธรรมนั้น ๆ
ส่วนธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของ ปจฺจตตํ รู้ด้วยตนเอง ไม่มีใครบอกเล่า และก็หายสงสัยในธรรมนั้น ๆ
แต่เมื่อรู้แล้วมันไปตรงกับธรรมที่พระองค์ทรงเทศนาไว้แต่ก่อน เช่น
ทุกข์เป็นของแจ้งชัดประจักษ์ในใจ สมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อละสมุทัยก็ดำเนินตามมรรคและถึงนิโรธ
ตรงกันเป๋งกับธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แต่ก่อน ๆ โน้น จึงเป็นเหตุให้เข้าถึงอริยสัจ
ไม่เหมือนกับคนผู้เห็นตามบัญญัติที่พระองค์ตรัสไว้แล้ว และจดจำเอาตามตำรามาพูด
แต่ไม่เห็นจริงตามตำราในธรรมนั้น ๆ ด้วยใจตนเอง

เมื่อโลกนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีการใช้จ่ายใช้สอยแลกเปลี่ยนวัตถุสิ่งของซึ่งกันและกัน จึงจะอยู่ได้
เหตุนั้นรัฐบาลจึงคิดเอาวัตถุธาตุคือโลหะแข็ง ๆ มาทำเป็นรูปแบน ๆ กลม ๆ
แล้วจารึกตัวเลขลงบนแผ่นโลหะนั้นเป็นเลขสิบบ้าง ยี่สิบบ้าง หนึ่งร้อยบ้าง
ที่เรียกว่า เหรียญสิบบาท ยี่สิบบาท ร้อยบาท เป็นต้น
หรือเอากระดาษอย่างดีมาจัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
แล้วใส่ตัวเลขลงไปเป็น สิบบ้าง ยี่สิบบ้าง หนึ่งร้อยบ้าง ห้าร้อยบ้าง
ตามความต้องการแล้ว เรียกว่า ธนบัตร
เอาไว้ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนซื้อขายซึ่งกันและกัน
เมื่อมีเงินจะซื้อวัตถุสิ่งของอะไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ
คนที่ต้องการเงินเขาก็เอาวัตถุสิ่งของ อีกคนหนึ่งต้องการธนบัตรที่มีราคาเท่ากัน
ก็จะเป็นวัตถุหรือเงินตราก็ช่าง เรียกว่า “ได้”
แต่เมื่อได้วัตถุมาเงินก็หายไป เมื่อได้เงินมาวัตถุก็หายไป
เรียกว่าได้ลาภเสื่อมลาภพร้อมกันทีเดียว
เมื่อโลกนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีการใช้จ่ายใช้สอยแลกเปลี่ยนวัตถุสิ่งของซึ่งกันและกัน จึงจะอยู่ได้
เหตุนั้นรัฐบาลจึงคิดเอาวัตถุธาตุคือโลหะแข็ง ๆ มาทำเป็นรูปแบน ๆ กลม ๆ
แล้วจารึกตัวเลขลงบนแผ่นโลหะนั้นเป็นเลขสิบบ้าง ยี่สิบบ้าง หนึ่งร้อยบ้าง
ที่เรียกว่า เหรียญสิบบาท ยี่สิบบาท ร้อยบาท เป็นต้น
หรือเอากระดาษอย่างดีมาจัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
แล้วใส่ตัวเลขลงไปเป็น สิบบ้าง ยี่สิบบ้าง หนึ่งร้อยบ้าง ห้าร้อยบ้าง
ตามความต้องการแล้ว เรียกว่า ธนบัตร
เอาไว้ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนซื้อขายซึ่งกันและกัน
เมื่อมีเงินจะซื้อวัตถุสิ่งของอะไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ
คนที่ต้องการเงินเขาก็เอาวัตถุสิ่งของ อีกคนหนึ่งต้องการธนบัตรที่มีราคาเท่ากัน
ก็จะเป็นวัตถุหรือเงินตราก็ช่าง เรียกว่า “ได้”
แต่เมื่อได้วัตถุมาเงินก็หายไป เมื่อได้เงินมาวัตถุก็หายไป
เรียกว่าได้ลาภเสื่อมลาภพร้อมกันทีเดียว

kittanan_2589:
อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุดในโลก ไม่มีอำนาจใดอาจมาทำลายได้
แม้อำนาจของกรรมดีก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมชั่ว
และอำนาจของกรรมชั่วก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมดี
อย่างมากที่สุดที่มีอยู่คืออำนาจของกรรมดี
แม้ทำให้มากให้สม่ำเสมอในภพภูมินี้
ก็อาจจะทำให้อำนาจของกรรมชั่วที่ได้ทำมาแล้ว ตามมาถึงได้ยาก

ธรรมสำคัญประการหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญคือ เมตตาธรรม
ใครทั้งหลายก็สรรเสริญบรรดาผู้มีเมตตาธรรม
ในขณะเดียวกันก็มีผู้ต้องเป็นทุกข์เพราะมีเมตตา
ด้วยหลงเข้าใจว่า เมื่อมีเมตตา มีความสงสารก็ต้องมีใจไม่เป็นสุข ซึ่งที่จริงหาถูกต้องไม่

มีเมตตาต่อเขาผู้เป็นทุกข์นั้นดีนัก แต่อย่าลืมเมตตาตน
ตนเองปล่อยให้ใจตัวเองเป็นทุกข์เพราะเมตตาเขา
ไม่มีอำนาจใดจะไปสู้กับอำนาจธรรมของใครได้

เมื่อเชื่อในเรื่องอำนาจกรรมเช่นนี้
ใจที่มีเมตตาก็จะเป็นการมีเมตตาอย่างถูกต้อง อย่างมีปัญญา
ไม่พาใจตนเองไปสู่ความเร่าร้อนด้วยความเมตตาที่ไม่ถูกต้อง

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร


kittanan_2589:
พูดมาก เสียมาก
พูดน้อย เสียน้อย
ไม่พูด ไม่เสีย
นิ่งเสีย โพธิสัตว์

“มนุษย์ผู้ใดเห็นแก่งานส่วนตัว…
…มนุษย์ผู้นั้นจะไม่มีงานทำในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใดเห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว
…มนุษย์ผู้นั้นจะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใดเห็นแก่นอนมาก
…มนุษย์ผู้นั้นจะไม่ได้นอนในไม่ช้า”

“นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา”

สมเด็จพระสังฆราชคุรูปาจารย์ หลวงปู่ทวด(เหยียบน้ำทะเลจืด)
พระเถระสมัยกรุงศรีอยุธยา

kittanan_2589:
" ถ้าต้องพูดกับคนทุกคนแล้ว ..คงไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมแน่.."
" การเห็นเป็นเหตุแห่งการคิด การคิดเป็นเหตุแห่งการเห็น...ถ้าคิดดีก็เป็นทางเย็น ถ้าคิดไม่เป็นก็เย็นสบาย .."
" ตายเป็นเหม็นเน่า เราเขาเหมือนกัน...อยู่ไปทุกวัน ใครได้ก็ดี ใครมีก็ได้ !"
" พระนิพพาน..ความรู้พิเศษ.. พระนิพพานเปรียบเหมือนคุณของอากาศ..อธิบายว่า..อากาศมีคุณ ๑๐ ประการ
๑. ไม่รู้จักเกิด
๒. ไม่รู้จักแก่
๓. ไม่รู้จักตาย
๔. ไม่กลับเกิดอีก
๕. ไม่จุติ
๖. ใครจะข่มเหงลอบลักเอาไปไม่ได้
๗. เป็นของดำรงสภาพไว้ได้โดยไม่ต้องอาศัยอะไร
๘. สำหรับฝูงนกบินไปมา
๙. ไม่มีอะไรมากางกั้น..แล
๑๐. ที่สุดไม่ปรากฏ"

หลวงพ่อเกษม เขมโก
สุสานไตรลักษณ์ อ. เมือง จ. ลำปาง

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว