กระทู้ธรรม

กระทู้ธรรม

(1/48) > >>

kittanan_2589:
รวมข้อธรรมะจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติครับ

ที่มา: http://www.watthakhanun.com/webboard/index.php

kittanan_2589:
กระทู้นี้ ตั้งขึ้นจากเรื่องที่กัลยาณมิตรนำมาฝากเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว
"ธรรมสวัสดี.......วันนี้วันพระ
มีเรื่องสิ้นโลก.....เหลือธรรมมาฝากกันครับ"
แต่ที่ไม่ได้นำไปลงไว้ในกระทู้ "อันเนื่องมาจากกัลยาณมิตร"
ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องของหลวงปู่เทสก์ ที่สมควรลงไว้เฉพาะต่างหาก

โดย


พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์
(เทสก์ เทสรังสี)

วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

"โลก คือ จิตของคนเรา มาหลอกลวงจิต
ให้หลงในสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นจริงเป็นจัง
แต่แล้วสิ่งเหล่านั้น เป็นแต่เพียงมายาเท่านั้น
เกิดมาแล้วก็สลาย แตกดับไปเป็นธรรมดาของมัน"

kittanan_2589:
พระพุทธเจ้า ได้อุบัติเกิดขึ้นมาในโลก เป็นศาสดาเอกด้วยการตรัสรู้ชอบเอง ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สอน แล้วก็นำเอาธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น มาสอนแก่มนุษย์ทั้งปวง ด้วยธรรมที่สอนนั้น สอนมีเหตุมีผลมิใช่ไม่มีเหตุมีผล เป็นของอัศจรรย์ สมควรที่ผู้ฟังทั้งหลายตรึกตรองแล้วเข้าใจได้ แลไม่ได้บังคับให้ผู้ใดมานับถือ แต่เมื่อผู้ฟังทั้งหลายมาฟังตรึกตรองตามเหตุผลแล้ว เห็นดี เห็นชอบ มีเหตุมีผล แล้วเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้ามานับถือด้วยตนเอง ซึ่งผิดจากศาสนาอื่นแลลัทธิอื่น บางลัทธิบางศาสนาอื่นซึ่งเขาห้ามไม่ให้วิจารณ์ศาสนาของเขา ส่วนพุทธศาสนาท้าให้วิจารณ์ได้เต็มที่เลย วิจารณ์เห็นเหตุ เห็นผล แน่ชัดด้วยตนเองแล้ว จึงนับถือด้วยความเป็นอิสระ แลเมื่อยอมรับนับถือแล้ว ความคิดความเห็นและการปฏิบัติก็จะเป็นไปในแนวเดียวกันทั้งหมด โดยมิได้บังคับหรือนัดแนะกันไว้ก่อนเลย หากแต่เป็นไปตามเหตุผลดังนี้คือ

ขั้นที่ ๑ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
“กมฺมสฺสกา กมฺมทายาทา กมฺมโยนี กมฺมพนฺธู กมฺมปฏิสรณา
ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ”

ทั้ง ๖ อย่างนี้ เชื่อมั่น แน่วแน่อยู่ในใจของตน ทุก ๆ คน ตลอดชีวิต

กมฺมสฺสกา คนเราเกิดขึ้นมา พอรู้ภาวะเดียงสาแล้ว ก็ตั้งหน้าตั้งตากระทำแต่กรรมเรื่อยไป ไม่ด้วยกาย ก็ด้วยวาจา หรือด้วยใจ จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ เรียกว่า กมฺมสฺสกา ๑
การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีผลทั้งนั้น ไม่ดีก็ชั่ว ไม่เป็นบาปก็เป็นบุญ จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น กาย วาจา และใจ เกิดมาได้กระทำกรรมนั้น ๆ ไว้ ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น ๆ สืบไป เรียกว่า กมฺมทายาทา ๑

ผลของกรรมดีย่อมนำเอากาย วาจา และจิตอันนี้ให้ไปเกิดเป็นสุขในโลกนี้แลโลกหน้า ผลของกรรมชั่วย่อมนำเอากาย วาจา และจิตอันนี้ให้ไปเกิดเป็นทุกข์ในโลกนี้แลโลกหน้าเรียกว่า กมฺมโยนี ๑
กรรมที่กาย วาจา และใจได้กระทำไว้ในภพก่อน บันดาลให้ในภพที่ตนเกิดแล้วให้เป็นไปต่าง ๆ นานาเรียกว่า กมฺมพนฺธู ๑
คนเราเกิดมาเพราะกรรมดังที่อธิบายมาแล้ว แล้วจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องมีการกระทำทั้งนั้น ไม่ทำดี ก็ทำชั่ว เพื่อการเลี้ยงชีพของตน เราต้องอาศัยกรรมนั้น ๆ เป็นเครื่องอยู่อาศัย ฉะนั้น กรรมนั้นจึงเรียกว่า กมฺมปฏิสรณา ๑
ฉะนั้น บุคคลเกิดมาจึงควรตัดสินใจของตนเองว่าเราจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว กรรมดีแลกรรมชั่วนั้นไม่ใช่เป็นของคนอื่น เป็นของเราเอง กรรมนี้เท่านั้นจะจำแนกแจกมนุษย์แลสัตว์ให้เป็นต่าง ๆ นานาได้ นอกจากกรรมแล้ว ใครแลสิ่งใดในโลกนี้จะมาจำแนกไม่ได้เลย จึงเรียกว่า กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ ๑
ทั้ง ๖ อย่างนี้ ย่อมเชื่อแนบแน่นอยู่ในใจของผู้นับถือพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิต

มนุษย์คนเราเกิดมาเพราะกรรมยังไม่สิ้นสุด กรรมเก่าที่นำให้มาเกิดนั่นแหละพาให้กระทำกรรมใหม่อีก กรรมใหม่นั้นแหละเป็นเหตุให้นำไปเกิดชาติหน้าเป็นกรรมเก่าอีก อธิบายว่า กรรมใหม่ในชาตินี้เป็นเหตุให้นำไปเกิดเป็นกรรมในชาติหน้าต่อไป
อนึ่ง กรรมทั้งหมดเกิดจาก กาย วาจา แลใจ สายเดียวกันทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่า กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ของกรรมด้วยกันแลกัน จึงเรียกว่า กมฺมพนฺธู
ผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ดังที่อธิบายมาแล้ว ได้ชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนาหรือเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์เป็นขั้นแรก

kittanan_2589:
ขั้นที่ ๒ จะต้องมีศีล ๕ ประจำอยู่ในตัวเป็นนิจ

ศีล ๕ นี้ เมื่อเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมแล้ว รักษาง่ายนิดเดียว เพราะศีล ๕ พระพุทธเจ้า พระองค์ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว เมื่องดเว้นจากการกระทำความชั่วแล้ว ก็เป็นอันว่ารักษาศีลเท่านั้นเอง บาปกรรม ความชั่วทั้งหมดที่คนเราหรือสัตว์ทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ในโลก ท่านประมวลไว้รวมกันอยู่ มี ๕ ข้อเท่านั้นเอง ใครจะทำอะไรหรือที่ไหน ก็มารวมลง ๕ ข้อนี้ทั้งนั้น

จิต เป็นตัวการของสิ่งทั้งปวงหมด ท่านจึงให้สำรวมจิต
• จิตคิดงดเว้นที่จะฆ่าสัตว์ตัวเป็นให้ตาย ๑
• จิตคิดงดเว้นที่จะลักขโมยของเขาที่เจ้าของหวงแหนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ๑
• จิตคิดงดเว้นที่จะไม่ล่วงละเมิดผิดลูกเมียของคนอื่น ๑
• จิตคิดงดเว้นที่จะไม่กล่าวคำเท็จ คำไม่จริงคำหยาบคายหรือวาจาส่อเสียดผู้อื่น ๑
• จิตคิดที่จะไม่ดื่มสุราเมรัย น้ำดองของมึนเมา ๑

ทั้ง ๕ ข้อนี้ ถ้าคนใดรักษาได้ ก็ได้ชื่อว่ารักษาศีล ๕ ได้ อันเป็นเหตุนำความสุขมาให้แก่หมู่มวลมนุษย์ทั้งปวง ถ้างดเว้นไม่ได้ ก็ได้ชื่อว่าคนนั้นไม่มีศีล อันจะเป็นเหตุให้นำความทุกข์เดือดร้อนมาให้แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านจึงงดเว้นบาปกรรม ความชั่วทั้งปวงเหล่านี้ แล้วแนะนำสั่งสอนมวลมนุษย์ทั้งปวงให้งดเว้นทำตามด้วย

ผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ดังได้อธิบายมาแล้ว
แลมีศีล ๕ เป็นเครื่องรักษา กาย วาจา แลใจ
ผู้นั้นได้ชื่อว่าเข้าถึงพระพุทธศาสนาเป็นที่สอง
แล้วจึงตั้งใจชำระจิตใจของตนด้วยการทำสมาธิต่อไป

ถ้าไม่เข้าถึงหลักพระพุทธศาสนาแล้ว จะทำสมาธิชำระจิตของตนได้อย่างไร แม้แต่ความเห็นของตนก็ยังไม่ตรงต่อคำสอนของพระพุทธศาสนา เช่น เห็นว่ากรรมที่ตนกระทำแล้ว คนอื่นแลสิ่งอื่นเอาไปถ่ายทอดให้คนอื่นแลสิ่งอื่นได้ หรือกรรมที่ตนกระทำไว้แล้วให้คนอื่นเอาไปใช้ให้หมดสิ้นไปได้ อย่างนี้เป็นต้น
ศีล บางคนที่ว่าต้องรักษาที่กาย ที่วาจา ไม่ต้องไปรักษาที่ใจ ใจเป็นเรื่องของสมาธิต่างหาก กาย วาจา มันจะเป็นอะไร มันจะทำอะไร มันก็ไม่กระเทือนถึงสมาธิ ตกลงว่า กาย กับใจ แยกกันเป็นคนละอัน ตรงนี้ผู้เขียนไม่เข้าใจจริง ๆ เรื่องเหล่านี้พิจารณาเท่าไร ๆ ก็ไม่เข้าใจจริง ๆ ขอแสดงความโง่ออกมาสักนิดเถอะ
สมมติว่า คนจะไปฆ่าเขาหรือขโมยของเขา จำเป็นจิตจะต้องเกิดอกุศลบาปกรรมขึ้นมา แล้วจะต้องไปซุ่มแอบเพื่อไม่ให้เขาเห็น เมื่อได้โอกาสแล้ว จะต้องลงมือฆ่าหรือขโมยของของตามเจตนาของตนแต่เบื้องต้น การที่จิตคิดจะฆ่าหรือขโมยของเขาแล้วไปซุ่มอยู่นั้น ถึงแม้ศีลจะไม่ขาด แต่จิตนั้นเป็นอกุศล พร้อมแล้วทุกประการที่จะทำบาปมิใช่หรือ
ถ้าจิตอันนั้นมีสติรักษา สำรวมได้ไม่ให้กระทำ เลิกซุ่มเสีย ศีลก็จะไม่ขาด

ตกลงว่าใจเป็นตัวการ
ใจเป็นต้นเหตุที่จะทำให้ศีลขาดแลไม่ขาด
จะว่ารักษาศีลไม่ต้องรักษาใจได้อย่างไร

ท่านว่า รักษาศีล คือ รักษาที่กาย วาจา ใจ ๓ อย่างนี้ มิใช่หรือ
ในทางธรรม พระพุทธเจ้าก็เทศนาว่า
“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจถึงก่อน สำเร็จแล้วด้วยใจ”
จะพูด จะคุย ก็เกิดจากใจทั้งนั้น พูดถึงธรรมแล้ว ที่จะไม่พูดถึงเรื่องใจแล้วไม่มี คำว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน” นั้นชัดเจนเลยทีเดียว ที่ว่า “ธรรมทั้งหลาย” นั้น หมายถึงการกระทำทุกอย่าง
ทำดีเรียกว่า กุศลธรรม ทำชั่วเรียกว่า อกุศลธรรม ทำไม่ดี ไม่ชั่ว เรียกว่า อพยากฤตธรรม เรียกย่อ ๆ เรียกว่า ทำบุญ ทำบาป หรือไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป (ข้อสุดท้ายนี้ ไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่จะไม่ทำบาป ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง)
เมื่อผู้เขียนพิจารณาถึงเรื่องเหตุ ผล ในธรรมทั้งหลายแล้ว ที่ว่า ศีล ให้รักษาที่กายแลวาจา สมาธิ ให้รักษาที่ใจ ไม่ปรากฏเห็นมี ณ ที่ใด หากผู้เขียนจำตำราที่เขียนไว้ไม่เข้าใจ หรือตีความหมายของท่านไม่ถูก เพราะความโฉดเขลาเบาปัญญาของตนเอง ก็สุดวิสัย
พระพุทธองค์ยังทรงเทศนาให้พระผู้กระสันอยากสึกว่า พระวินัยในพระศาสนานี้มีมากนัก ข้าพระองค์ไม่สามารถจะรักษาให้บริบูรณ์ได้ ข้าพระองค์จะสึกละ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “อย่าสึกเลย ถ้าพระวินัยมันมากนัก เธอจงรักษาเอาแต่ใจอันเดียวเถิด” นี่แหละ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้เอาแต่ใจอันเดียวซ้ำเป็นไร นี้เรารักษาศีล จะทิ้งใจเสีย แล้วจะรักษาศีลได้อย่างไร ผู้เขียนมืดแปดด้านเลยจริง ๆ

ฆราวาสผู้มีศรัทธาแก่กล้า จะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ก็ได้ แต่ศีล ๑๐ นั้น รักษาตลอดเวลาไม่ได้ ถ้าเรามีศรัทธา จะรักษาเป็นครั้งคราวนั้นได้ ส่วนศีล ๒๒๗ ก็เช่นเดียวกัน จะรักษาข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ พระพุทธเจ้าพระองค์ไม่ห้าม แต่อย่าไปสมาทานก็แล้วกัน
อย่างครั้งพระฆฏิการพรหมเสวยพระชาติเป็นฆฏิการบุรุษ เลี้ยงบิดามารดาตาบอดทั้งสองข้าง ทั้งสองข้าง ทั้งสองคน ด้วยการตีหม้อเอาไปแลกอาหารมาเลี้ยงบิดา มารดา ตาบอด อยู่มาวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าชื่อ กัสสปะ เสนาสนะของสงฆ์ไม่มีเครื่องมุง พระองค์ใช้ให้พระไปขอเครื่องมุงกับฆฏิการบุรุษ ฆฏิการบุรุษรื้อหลังคาบ้านถวายพระสงฆ์ทั้งหมด ในพรรษานั้น ฆฏิการบุรุษมุงด้วยอากาศตลอดพรรษา ฝนไม่รั่วเลย

วันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินนิมนต์พระพุทธเจ้าชื่อ กัสสปะ เข้าไปเสวยในพระราชวัง
พอเสร็จแล้วจึงได้อาราธนาขอนิมนต์ให้จำพรรษาในสวนพระราชอุทยาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า
“ขอถวายพระพร อาตมาภาพได้รับนิมนต์ของฆฏิการบุรุษก่อนแล้ว”
พระเจ้าแผ่นดินจึงตรัสว่า “ข้าพระองค์เป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลายในแว่นแคว้นอันนี้มิใช่หรือ เมื่อข้าพระองค์นิมนต์ทำไมจึงไม่รับ ฆฏิการบุรุษมีดีอย่างไร”
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเล่าพฤติการณ์ของฆฏิการบุรุษถวายพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งแต่ต้นจนอวสาน
เมื่อพระองค์ได้สดับแล้วก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในฆฏิการบุรุษเป็นอันมาก จึงให้ราชบุรุษเอาเกวียนบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ มีข้าวสาร ถั่ว งา เนยใส เนยข้น เปรียง(น้ำมัน) เป็นต้น ไปให้แก่ฆฏิการบุรุษ
เมื่อฆฏิการบุรุษเห็นจึงถามว่า นั้นใครให้เอามา ราชบุรุษจึงบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้เอามาให้ท่าน
ฆฏิการบุรุษจึงบอกว่า ดีแล้วพระเจ้าแผ่นดินพระองค์มีภาระมาก เลี้ยงผู้คนเป็นจำนวนมาก เราหาเลี้ยงกับสามคนไม่ลำบากอะไร
ช่วยกราบบังคมทูลว่าของทั้งหมด เราขอถวายคืนให้พระเจ้าแผ่นดินไว้ตามเดิมก็แล้วกัน

ฆฏิการบุรุษเป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้า เพียงแค่ขุดดินมาปั้นหม้อก็ไม่ทำ อุตส่าห์ไปหา ขุยหนู ขุยตุ่น และตลิ่งที่มันพัง เอามาปั้นหม้อ ส่วนสิกขาบทที่หยาบกว่านั้น ทำไมผู้รักษาศีลจะละเว้นไม่ได้ (ขุย = ดินที่สัตว์เล็กขุดทิ้งไว้ที่ปากรู)
ศีล ๕ เป็นเสมือนท่านบัญญัติตราไว้สำหรับโลกนี้ ผู้จะทำดีต้องเว้นข้อห้าม ๕ ประการนี้ ผู้จะประพฤติความชั่วก็ทำตาม ๕ ข้อนี้เป็นหลักฐาน จะพ้นจาก ๕ ข้อนี้แล้วไม่มี
ผู้จะถึงพระไตรสรณาคมน์ ต้องถือหลัก ๕ ประการนี้ให้มั่นคง คือ
ไม่ประมาทพระพุทธเจ้า ๑ ไม่ประมาทพระธรรม ๑ ไม่ประมาทพระสงฆ์ ๑
ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
เชื่อว่าเราทำดีต้องได้ดี เราทำชั่วต้องได้ชั่ว
ไม่เชื่อว่าของภายนอกจะมาป้องกันภัยพิบัติเราได้ ๑
ไม่ทำบุญภายนอกพระพุทธศาสนา ๑


การเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ว่าเราทำดีย่อมได้ดี เราทำชั่วย่อมได้ความชั่ว ชัดเจนในใจของตนแล้ว ศีล ๕ ย่อมไหลมาเอง ๓ ข้อเบื้องต้นแลข้อหนึ่งเบื้องปลาย ไม่เป็นของสำคัญ
ฆราวาสต้องสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ถึงศีล ๑๐ แลศีล ๒๒๗ ฆราวาสก็รักษาได้เป็นข้อ ๆ แต่อย่าสมาทานก็แล้วกัน เพราะศีลคือข้อห้ามไม่ให้ทำบาป ฆราวาสก็ไม่มีข้อบังคับว่าไม่ให้ทำบาปเท่านั้นข้อเท่านี้ข้อ ถึงแม้พระภิกษุแลสามเณรก็เหมือนกัน ที่พระองค์บัญญัติไว้ ฆราวาสต้องรักษาศีล ๕ ศีล ๘ สามเณรต้องรักษาศีล ๑๐ ภิกษุต้องรักษาศีล ๒๒๗ นั้น พระองค์ทรงบัญญัติพอให้เป็นมาตรฐานเบื้องต้น ให้เป็นเครื่องหมายว่า ฆราวาส สามเณร ภิกษุ มีชั้นภูมิต่างกันอย่างนี้ ๆ เท่านั้น
ถ้าเห็นว่าบาปกรรมที่ตนทำลงแล้วจะต้องตกมาเป็นของเราเอง แล้วงดเว้นจากบาปกรรมนั้น ๆ จะมากเท่าไรยิ่งเป็นการดี ดังที่อธิบายมาแล้ว พระพุทธองค์ก็มิได้ห้าม ทรงห้ามแต่การกระทำความชั่วอย่างเดียว

เมื่อพูดถึงความชั่ว คือบาปแล้ว คนเกิดมาในโลกนี้เจอะเอามากเหลือเกิน แทบจะกระดิกตัวไม่ได้เลยทีเดียว กระดิกตัวไปที่ไหนก็เจอแต่บาปทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงสรุปให้พวกเราเห็นย่อ ๆ ไว้ดังนี้
ให้เข้าหาจิต จับจิตผู้คิด ผู้นึก ให้ได้เสียก่อน จิต มันคิดนึกอยากจะทำบาปทางกาย มันสั่งให้กายนี้ไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ของคนอื่น สั่งให้กายนี้ไปประพฤติผิดในกาม จิตมันคิดนึกอยากจะทำบาปด้วยวาจา มันก็สั่งวาจาให้ไปกระทำบาป ด้วยการพูดเท็จ พูดคำหยาบคาย ด่าคนนั้นคนนี้ พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล หาประโยชน์มิได้ จิตมันคิดนึกอยากจะทำความชั่วทางกาย ด้วยการกระทำกายอันนี้ให้เป็นคนบ้า มันก็ให้กายนี้เอาน้ำเมามากรอกใส่ปาก แล้วก็ดื่มลงไปในลำคอ กายก็จะแสดงฤทธิ์บ้าออกมาต่าง ๆ นานา
ตรงกันข้าม ถ้าจิตมันละอายจากบาป กลัวบาปกรรม เห็นโทษที่จิตคิดไปทำเช่นนั้น แล้วจิตไม่คิดนึกที่จะทำเช่นนั้นเสีย กายแลวาจาอันนี้ก็จะเป็นศีลขึ้นมา
นี่แหละ ถ้าผู้ใดเห็นจิตอันมีอยู่ในกาย แลวาจาอันนี้แล้ว แลจับจิตอันนี้ได้แล้ว จะเห็นบาปกรรมแลศีลธรรม ซึ่งอยู่ในโลกทั้งหมด บาปกรรม ศีล แลธรรม ย่อมเกิดจากจิตนี้อันเดียวเท่านั้น ถ้าจิตอันนี้ไม่มีเสียแล้ว บาปกรรม ศีล แลธรรม เหล่านั้นก็ไม่มี รักษาศีลต้องถือจิต รักษาจิตก่อน จึงรักษาศีลถูกตัวศีลแท้

ดังผู้เขียนเคยได้ยินพระบางรูปพูดว่า พระมีศีล ๒๒๗ ข้อ ฆราวาสมีศีล ๕ ข้อ ฆราวาสต้องรักษาศีลให้ดีนะ ถ้าไม่ดีมันขาดเอา ถ้าข้อหนึ่งก็คงยังเหลือ ๒ ข้อ ถ้าขาด ๔ ข้อก็คงยังเหลือข้อเดียว ถ้าขาด ๕ ข้อก็หมดกันเลย
ไม่เหมือนพระภิกษุท่านมีศีล ๒๒๗ ข้อ ถึงท่านขาด ๙–๑๐ ข้อ ท่านก็ยังเหลืออยู่แยะนี่ แสดงว่าท่านองค์นั้นท่านรักษาศีลไม่ได้รักษาที่ใจ รักษาแต่กาย วาจา ๒ อย่างเท่านั้น ไม่ได้คิดว่า ใจผู้คิดล่วงละเมิดในสิกขาบทนั้น ๆ เป็นบาป แล้วจึงบังคับให้กาย วาจาทำ ก็สนุกดีเหมือนกัน เอาศีลสิกขาบทนั้น ๆ มาอวดอ้างกันว่าใครจะมีศีลมากกว่ากัน

ความจริงแล้ว พระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้นั้น ทรงบัญญัติเข้าถึงกาย วาจาและใจ
ที่แสดงออกมาทางกายแลวาจานั้น ส่อถึงจิตผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง แล้วจึงบังคับให้กาย แลวาจา กระทำตามต่างหาก ดังที่อธิบายมาแล้วในข้างต้น

พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ เพื่อให้พระภิกษุสามเณร ผู้ไม่รู้พระวินัยให้ปฏิบัติตามนั้น นับว่าเป็นบุญแก่พวกเราอักโขแล้ว ประพฤติ สิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม ไม่เหมาะสมแก่สมณสารูป พระองค์ห้ามไว้ไม่ให้กระทำ เพื่อความดีของตนเองนั้นแหละ มิใช่เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น แลมิใช่เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ เราหาที่พึ่งไม่ได้แล้ว พระองค์มาเป็นที่พึ่ง ชี้บอกทางให้ นับว่าเป็นบุญเหลือล้นแก่พวกเราแล้ว
ผู้รักษาศีลไม่เข้าถึงใจ ถึงจิตแล้ว รักษาศีลยาก หรือ รักษาศีลเป็น “โคบาลกะ” ว่า เมื่อไหร่หนอจะถึงเวลามืดค่ำ จะไล่โคเข้าคอก แล้วเราจะได้พักผ่อนนอนสบาย ไม่เข้าใจว่า
เรารักษาศีลเพื่อความบริสุทธิ์สะอาดของกาย วาจา แลใจ
รักษาได้นานเท่าไร มากเท่าไร ยิ่งสะอาดมากเท่านั้น
รักษาจนตลอดชีวิตได้ยิ่งดีใหญ่
เราจะได้ละความชั่วได้ในชาตินี้ไปเสียที
[/color]

คนเราไม่รู้จักศีล (คือตัวของเรา) และไม่เข้าถึงศีล (คือข้องดเว้น ข้อห้ามไม่ให้ทำความชั่ว) จึงโทษพระองค์ว่า บัญญัติศีลไว้มากมาย สมาทานไม่ไหว มีคนบางคนพูดว่า บวชนานเท่าไร ดูพระวินัยมาก ๆ มีแต่ข้อห้าม นั่นก็เป็นอาบัติ นี่ก็เป็นอาบัติ
คำพูดของผู้เห็นเช่นนั้นนับว่าน่าสลดสังเวชมาก พระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาในเมืองไทยของเรา นับตั้งสองพันกว่าปีแล้ว แสงธรรมยังไม่ส่องถึงจิต ถึงใจของเขาเลย น่าสงสารจริง ๆ เหมือนกับเต่านอนเฝ้ากอบัว ไม่รู้จักกลิ่นดอกบัวเลย

เมื่อศีลเข้าถึงจิต เข้าถึงใจแล้ว เราไม่ต้องรักษาศีล ศีลกลับมารักษาตัวเราเอง ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใด ๆ ศีลต้องระวังสังวรอยู่ทุกอริยาบถ ไม่ให้ละเมิดทำความชั่ว แม้แต่จิตจะคิดวิตกว่าเราจะทำความชั่ว ก็รู้แล้ว แลจะละอายต่อความชั่วนั้น ๆ ทั้งที่คนทั้งหลายยังไม่ทันจะรู้ความวิตกของเรานั้นเลย
ความเกลียด โกรธ พยาบาท อาฆาต ทั้งหลายมันจะมีมาจากไหน เพราะหัวใจมันเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา เข้ามาอยู่เต็มไปหมดแล้วในหัวใจ
ศีล คือ ความปกติของกาย วาจา แลใจ
ถ้าใจไม่ปกติเสียแล้ว กาย วาจา มันจะปกติไม่ได้
เพราะกาย วาจา มันอยู่ในบังคับของจิต
ดังอธิบายมาแล้วแต่เบื้องต้น

เพราะฉะนั้น ผู้ต้องการให้เข้าถึงศีลที่แท้จริง แลเข้าถึงพุทธศาสนาให้จริงจัง
พึงฝึกหัดจิตของตนให้เป็นสมาธิต่อไป

kittanan_2589:
ขั้นที่ ๓ การฝึกหัดสมาธิ

ก็ไม่พ้นไปจากฝึกหัดกาย วาจาแลใจอีกนั่นแหละ ใครจะฝึกหัดโดยวิธีใด ๆ ก็แล้วแต่เถอะ ถ้าฝึกหัดสมาธิที่ถูกในทางพระพุทธศาสนาแล้ว จำจะต้องฝึกหัดที่กาย วาจา แลใจ นี้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะพระพุทธศาสนาที่สอน สอนที่ กาย วาจา แลใจ นี้อย่างเดียว ไม่ได้สอนที่อื่น ๓ อย่างนี้ ถ้ายังพูดถึงพระพุทธศาสนาอยู่ตราบใด หรือพูดถึงการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ตราบใด พูดถึงมรรค ผล นิพพาน อยู่ตราบใด ย่อมไม่พ้นจากกาย วาจา แลใจ ถ้ายังมีสมมุติบัญญัติอยู่ตราบใด ต้องพูดถึง กาย วาจา แลใจ อยู่ตราบนั้น ถ้ายังไม่ดับขันธ์เป็นอนุปาทิเสสนิพพานเมื่อใด จำจะต้องพูดถึงอยู่ตราบนั้น

ฝึกหัดสมาธิภาวนา นึกเอามรณานุสติเป็นอารมณ์ ให้นึกถึงความตายว่า เราจะต้องตายแน่แท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะความ ตายเป็นที่สุดของชีวิตคนเรา เมื่อตายแล้วก็ทอดทิ้งสิ่งทั้งปวงหมด ไม่ว่าจะของรักและหวงแหนสักปานใด ต้องทอดทิ้งทั้งหมด การบริกรรมมรณานุสติเป็นอุบายที่สุดของอุบายทั้งปวง จะพิจารณาลมหายใจเข้า หายใจออก ในที่สุดก็ลงความตาย จะพิจารณาอสุภกรรมฐาน ในที่สุดก็ลงความตาย

เมื่อพิจารณาถึงความตายแล้ว มันมิอาลัยในสิ่งทั้งปวงหมดสิ้นจะคงเหลือแต่จิตอันเดียวนั้นแหละ ได้ชื่อว่าชำระจิตแล้ว แล้วจะมีขณะหนึ่ง จิตจะรวมเข้าเป็น สมาธิ คือจิตจะหยุดนิ่งเฉย ไม่คิด ไม่นึกอะไรทั้งหมด แต่รู้ตัวอยู่ว่าเราอยู่เฉย จะนานเท่าไรก็ได้ ถ้าจิตนั้นมีพลังแก่กล้า
บางทีเมื่อชำระจิต ปราศจากอารมณ์ทั้งหมดแล้ว จะยังเหลือแต่จิตดังอธิบายมาแล้ว จิต จะรวมเข้า มีอาการวูบวาบเข้าไป แล้วจะเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ หลายอย่าง นั่นก็อย่าไปยึดเอา นั้นแหละเป็นตัวมารอย่างร้ายกาจ ถ้าไปยึดเอา สมาธิจะเสื่อมเสีย แต่คนทั้งหลายก็ไปยึดเอาอยู่นั้นแหละ เพราะเห็นเป็นของแปลกประหลาด แลบางอาจารย์ก็สอนให้ไปยึดถือเอาเป็นอารมณ์เสียด้วย จะเป็นเพราะท่านไม่เคยเป็น หรือท่านไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นมาร ก็ไม่ทราบ

บางคนฝึกหัดภาวนาสมาธิ ใช้คำบริกรรมว่า “อานาปานุสติ” โดยพิจารณาลมหายใจเข้า-ออก หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ต้องตาย หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ต้องตาย ความตายของคนเรามีอยู่นิดเดียว มีเพียงแค่หายใจเข้า หายใจออก เท่านี้เอง แล้วพึงจับเอาแต่จิตนั้น ลมก็จะหายไปเองโดยไม่รู้ตัว จะยังเหลือแต่จิตใสสว่างแจ๋วอยู่ผู้เดียว จิตที่ใสสว่างนี้ ถ้ามีสติแก่กล้าจะอยู่ได้นาน ๆ ถ้าสติอ่อนจะไม่นาน หรือรวมเข้าภวังค์เลยก็ได้

จิตเข้าภวังค์นี้จะมีอาการหลายอย่าง อย่างหนึ่งเมื่อจิตจะรวม จิตน้อมเข้าไปยินดีพอใจกับสุขสงบที่จิตรวมนั้น แล้วจิตจะเข้าภวังค์ มีอาการเหมือนกับคนนอนหลับ หายเงียบเลย อยู่ได้นาน ๆ ตั้งเป็นหลายชั่วโมงก็มี บางคนขณะที่จิตเข้าภวังค์อยู่นั้น มันจะส่งไปเห็นนั่นเห็นนี่ต่าง ๆ นานา บางทีเป็นจริงบ้างไม่จริงบ้าง บางคนก็ไม่เห็นอะไร เงียบไปเฉย ๆ เมื่อถอนออกจากภวังค์มาแล้ว จำนิมิตนั้นได้บ้างไม่ได้บ้าง บางคนมีอาการวูบเข้าไปเปลี่ยนสภาพของจิตแล้วเฉยอยู่ มันเกิดหลายเรื่อง หลายอย่าง แล้วแต่อุปนิสัยของคน

ภวังค์นี้ถึงมิใช่หนทางให้พ้นจากทุกข์ก็จริงแล แต่มันเป็นหนทางให้ถึงความบริสุทธิ์ได้ ผู้ฝึกหัดจะต้องเป็นไปเป็นขั้นแรก แลเราจะแต่งเอาไม่ให้เป็นก็ไม่ได้ ผู้ฝึกหัดสมาธิจะเป็นทุก ๆ คนถ้าสติอ่อน หมั่นเป็นบ่อย ๆ จนเคยชินแล้ว เห็นว่าไม่ใช่หนทางแล้ว มันหากแก้ตัวมันเองดอก ดีเหมือนกันนั่งหลับ มันเป็นเหตุให้ระงับจิตฟุ้งซ่านไปพักหนึ่ง ดีกว่าจิตไปฟุ้งซ่านหาโน่นหานี่ ตลอดวันค่ำคืนรุ่ง สิ่งทั้งปวง ถ้าเราไม่เห็นด้วยตัวเองแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เรารู้ไว้มาก ๆ แล้วภายหลังจะได้ไม่หลงอีก

บางคนฝึกหัดภาวนา กำหนดเอา อสุภะ เป็นอารมณ์ พิจารณาร่างกายตัวของเรา ให้เห็นเป็นอสุภะไปทั้งตัวเลย หรือพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งให้เป็นอสุภะก็ได้ เช่น พิจารณาผม ขน เล็บ หรือจะพิจารณาของภายในมี ตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น ให้เห็นเป็นปฏิกูลเปื่อยเน่า น่าพึงเกลียด เป็นของไม่งาม ให้พิจารณาจนเห็นชัด
เบื้องต้นพึงพิจารณาโดยอนุโลมเอาของภายนอกมาเทียบ เช่น เห็นคนตาย หรือสัตว์ตายขึ้นอืดอยู่เอามาเทียบกับตัวของเราว่า เราก็จะต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันค่อยเห็นตัวของเราชัดขึ้นโดยลำดับ จนชัดขึ้นมาในใจ แล้วจะเกิดความสังเวชสลดใจ จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิ นิ่งแน่วเป็นอารมณ์อันเดียว ถ้าสติอ่อนจิตจะน้อมเข้าไปยินดีกับความสงบสุข มันจะเข้าสู่ภวังค์ มีอาการดังอธิบายมาแล้วในเรื่อง มรณานุสติ แล อานาปานุสติ วางคำบริกรรมแล้วสงบนิ่งเฉยบางคนก็เกิดนิมิตต่าง ๆ นานา เกิดแสงสว่างเหมือนกับพระอาทิตย์ แลพระจันทร์ เห็นดวงดาว เห็นกระทั่งเทวดา หรือภูต ผี ปีศาจ แล้วหลงไปจับเอานิมิตนั้น ๆ สมาธิเลยเสื่อมหายไป

บางอาจารย์เมื่อนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว สอนให้ถือเอานิมิตนั้น เป็นขั้นเป็นชั้นของมรรคทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น เช่น นิมิตเห็นแสงเล็กเท่าแสงหิ่งห้อย ได้สำเร็จชั้นพระโสดาบัน เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาหน่อยเท่าแสงดาว ได้สำเร็จชั้นพระสกทาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระจันทร์ ได้สำเร็จชั้นพระอนาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระอาทิตย์ ได้สำเร็จชั้นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น
ไปถือเอาแสงภายนอก ไม่ถือเอาใจของคนที่บริสุทธิ์มากน้อยเป็นเกณฑ์ ความเห็นเช่นนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริงนัก ผู้อยากได้ชั้นได้ภูมิ เมื่ออาจารย์ถาม ก็แสดงถึงแสงอย่างนั้น แล้วก็ถือว่าตนถึงขั้นนั้นแล้ว แต่อาจารย์ไม่ถามถึงกิเลส แลตนก็ไม่รู้กิเลสของตนเลยว่ามันมีเท่าไร มันหมดไปเท่าไรแล้ว เดี๋ยวกิเลสคือโทสะ มันเกิดขึ้นมา หน้าแดงก่ำ มรรคผลนั้นเลยหายหมด การสอนให้จับเอานิมิต เกิดทีแรกแล้วทีหลังไม่เป็นอีกเด็ดขาด อย่างนี้มันจะเป็นของจริงได้อย่างไร นิมิตเกิดจากภวังค์เป็นส่วนมาก ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรคโดยเฉพาะอยู่แล้ว มันจะเป็นมรรคได้อย่างไร

จริงอยู่ คนภายนอกพระพุทธศาสนาก็ทำสมาธิได้มิใช่หรือ เช่น ฤๅษีชีไพร เป็นต้น
คนเหล่านี้เขาทำกันมาแต่พระพุทธเจ้าของเรายังไม่อุบัติขึ้นในโลก เขาทำก็ได้เพียงแค่ขั้นโลกิยฌานเท่านั้น
ส่วนโลกุตรสมาธิ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สอนแต่พระองค์เดียว ไม่มีใครสอนได้ในโลก
ผู้เข้าถึงฌานสำคัญตนว่าเป็นสมาธิแล้ว ก็เลยพอใจยินดีในฌานนั้น ติดอยู่ในฌานนั้น

ฌาน กับ สมาธิ มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ผู้ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นเป็นอันเดียวกัน
เพราะ ฌาน แล สมาธิ สับเปลี่ยนกันได้ อารมณ์ก็อันเดียวกัน ต่างแต่การเข้าภวังค์ แลเข้าสมาธิเท่านั้น
เมื่อเข้าภวังค์ จะน้อมจิตลงสู่ความสงบสุขอย่างเดียวแล้วก็เข้าภวังค์เลย
ถ้าเข้าสมาธิ จิตจะกล้าแข็ง มีสติอยู่เป็นนิจ จะไม่ยอมน้อมจิตเข้าสู่ความสงบสุข
จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ช่าง แต่จิตนั้นจะพิจารณาอยู่ในธรรมอันเดียวอย่างนี้เรียกว่า สมาธิ

แท้จริงนิมิตทั้งหลาย ดังที่ได้อธิบายมาแล้วก็ดี หรือนอกไปกว่านั้นก็ดี ถึงมิใช่เป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์ก็จริงแล
แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะต้องได้ผ่านทุก ๆ คน เพราะการปฏิบัติเข้าถึงจิตรวมเข้าถึงภวังค์แล้วจะต้องมี
เมื่อผู้มีวาสนาเคยได้กระทำมาเมื่อก่อน เมื่อเกิดนิมิตแล้ว จะพ้นจากนิมิตนั้นหรือไม่
ก็แล้วแต่สติปัญญาของตน หรืออาจารย์ของผู้นั้นจะแก้ไขให้ถูกหรือไม่
เพราะของพรรค์นี้ต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ ถ้าหาไม่แล้วก็จะต้องจมอยู่ปลัก
คือนิมิตนั้น นานแสนนาน เช่น อาฬารดาบส แลอุททกดาบส เป็นตัวอย่าง

ความรู้แลนิมิตต่าง ๆ เกิดจากคำบริกรรม เมื่อจิตรวมเข้าภวังค์แล้ว
คำบริกรรมมีมากมาย ท่านแสดงไว้ในตำรามีถึง ๔ อย่าง มีอนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กสิณ ๑๐ เป็นต้น
ที่พระสาวกบางองค์บริกรรมแล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ยังมีมากกว่านี้ แต่ท่านไม่ได้เอารวมไว้ในที่นี้
ยังมีมากกว่านั้น เช่น องค์หนึ่งไปนั่งอยู่ริมสระน้ำ เห็นนกกระยางโฉบกินปลา
ท่านไปจับเอามาเป็นคำบริกรรมจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
คำบริกรรมแล้วแต่อัธยาศัยของบุคคล มันถูกกับอัธยาศัยของตนก็ใช้ได้ทั้งนั้น
ที่ท่านแสดงไว้ ๔๐ อย่างนั้น พอเป็นเบื้องต้นเฉย ๆ ดอก
ถึงผู้เขียนนำมาแสดงไว้ ๓ อย่างนั้น ก็พอเป็นบทเบื้องต้นข้อใหญ่ที่สำคัญ ๆ เท่านั้น
ผู้ภาวนาถ้าไม่ถูกจริตนิสัยของตนแล้ว จะเอาอะไรก็ได้ แต่ให้เอาอันเดียว
อย่าเอาหลายอย่างมันจะฟุ้งแลลังเลไม่ตั้งมั่นในคำบริกรรมของตน

คำบริกรรมนี้ให้เอาอันเดียว ถ้ามากอย่างจิตจะไม่รวม
เมื่อพิจารณาไป ๆ แล้ว จิตมันจะมารวมนิ่งเฉยอยู่คนเดียว แล้วให้วางคำบริกรรมนั้นเสีย
ให้จับเอาแต่จิตผู้นิ่งเฉยนั้น ถ้าไม่วางคำบริกรรมเดี๋ยวมันจะฟุ้งอีก จับจิตไม่ได้
ถึงฌาน แลสมาธิ ก็เหมือนกัน เมื่อเกิดนิมิตแลความรู้ต่าง ๆ
แล้วไปจับเอานิมิตแลความรู้นั้น ไม่เข้ามาดูตัวผู้ที่ส่งออกไปดูนิมิตแลความรู้นั้น
เมื่อความรู้แลนิมิตนั้นหายไปแล้วจับเอาจิตไม่ได้

ใจ ๑ นิมิต ๑ ผู้ส่งออกไปดูนิมิต ๑ สามอย่างนี้ให้สังเกตให้ดี
เมื่อนิมิตแลความรู้เกิดขึ้น อาการทั้งสามอย่างนี้จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน
ถ้าจับ ใจ คือ “ผู้รู้” ไม่ได้ เมื่อนิมิตและความรู้นั้นหายไป ผู้รู้อันนั้นก็หายไปด้วยแล้วจะจับเอาตัวผู้รู้นั้นไม่ได้สักที

คำบริกรรม ก็ต้องการให้จิตรวมเข้าอยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อจิตรวมเข้ามาอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ววางคำบริกรรมนั้นเสีย จับเอาแต่ผู้รู้อันเดียวก็ใช้ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำบริกรรมอะไรก็ตาม ผู้บริกรรมภาวนาทั้งหลาย ขอให้พิจารณาดูให้ถี่ถ้วน บริกรรมอันเดียวกัน แต่เวลามันรวมเข้าเป็นภวังค์ แลเป็นสมาธิมันต่างกัน คือว่า
บริกรรม มรณานุสติ พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ จนแน่ชัดว่าเราต้องตายแน่แท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่งตายแล้วไปคนเดียว สิ่งทั้งปวงละทิ้งหมด แม้แต่ปิยชนของเราเอาไปด้วยก็ไม่ได้ เมื่อเห็นชัดเช่นนั้นแล้ว จิตจะเพ่งแต่ความตายอย่างเดียว จะไม่เกี่ยวข้องถึงเรื่องอื่นทั้งหมดแล้ว จิตจะรวมเข้าเป็นภวังค์หายเงียบ ไม่รู้สึกตัวสักพักหนึ่ง หรือรวมเข้าเป็นภวังค์วูบวาบคล้ายกับคนนอนหลับ แล้วเกิดความรู้ตัวอยู่อีกโลกหนึ่ง (โลกของจิต) แล้วมีความรู้เห็นทุกอย่างเหมือนกับความรู้เห็นที่อยู่ในโลกนี้ แต่มันยิ่งกว่าโลกนี้ แลจะเทียบกับโลกนี้ไม่ได้ เป็นแต่รู้สึกได้ในเมื่อจิตนั้นยังไม่ออกจาภวังค์ หรือจิตมีอาการดังกล่าวแล้วเข้าไปนิ่งเฉยอยู่ไม่มีอารมณ์ใด ๆ ทั้งหมด นอกจากความนิ่งเฉยอย่างเดียวเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า จิตรวมเข้าเป็น “ภวังค์”

บริกรรม มรณานุสติ พิจารณาความตาย ดังอธิบายแล้วแต่เบื้องต้น แต่คราวนี้เวลามันจะรวมเข้าเป็นสมาธิ มันจะต้องตั้งสติให้กล้าหาญ เข้มแข็งไม่ยอมให้จิตเข้าสู่ภวังค์ได้ พิจารณา มรณานุสติ ถึงเหตุแห่งความเกิดว่า มันเกิดอย่างไร พิจารณาถึงความตายว่า มันตายอย่างไร ตายแล้วไปเป็นอะไร จนความรู้แจ่มแจ้งชัดขึ้นมาในใจ จนจิตเกิดความปราโมทย์ร่าเริงอยู่กับความปราโมทย์นั้น (จะไม่มีปีติ ปีติเป็นอาการของฌาน) อย่างนี้เรียกว่า “สมาธิ”

ฌาน แล สมาธิ พิจารณาคำบริกรรมอันเดียวกัน แต่จิตที่มันเข้าไปมันต่างกัน ฌาน รวมเข้าไปเป็นภวังค์ ให้นึกน้อมเอาอารมณ์อันเดียวคือ ความตาย แลเพื่อความสงบอย่างเดียวแล้วเป็นภวังค์ ส่วน สมาธิ นั้น ตั้งสติให้กล้าแข็ง พิจารณาความตายให้เห็นชัดตามเป็นจริงทุกสิ่ง จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ไม่คำนึงถึง ขอแต่ให้เห็นชัดก็แล้วกัน แต่ด้วยจิตที่แน่วแน่พิจารณาอารมณ์อันนั้น มันเลยกลายเป็นสมาธิไปในตัว เกิดความรู้ชัดขึ้นมา เกิดปราโมทย์ร่าเริงในธรรมที่ตนพิจารณาอยู่นั้น แจ่มแจ้งอยู่ในที่เดียวแลคนเดียว จะพิจารณาไปรอบ ๆ ข้าง ก็จะมาชัดแจ้งในที่เดียว หายสงสัยหมด

ฌาน แล สมาธิ บริกรรมอันเดียวกัน แต่มันเป็นฌาน แลเป็นสมาธิต่างกันดังอธิบายมานี้ พอเป็นตัวอย่างแก่ผู้ปฏิบัติ นอกเหนือจากคำว่าบริกรรมที่อธิบายแล้ว จะเป็นคำบริกรรมอะไรก็ได้ แต่มันเป็นฌาน แลสมาธิ จะต่างกันตรงที่มันจะรวมไปเท่านั้น ทางที่ดีที่สุดไม่ต้องไปถือเอาคำ ที่ฌาน ภวังค์ แลสมาธิ ให้พิจารณาเอาแต่อาการของจิตที่รวมเข้าไปมีอาการต่างกันอย่างไร ดังได้อธิบายมาแล้ว ก็จะเห็นชัดเลยทีเดียว

ผู้ทำฌานได้ชำนาญคล่องแคล่ว จะเข้าจะออกเมื่อไหร่ก็ได้แล้ว ถ้าหากผู้นั้นเคยบำเพ็ญมาแล้วแต่ชาติก่อน ก็จะทำอภินิหารได้ตามความต้องการของตน เป็นต้นว่า มีความรู้เห็นนิมิตตนเองแลคนอื่น เคยได้เป็นบิดา มารดา เป็นบุตร ธิดา แลสามี ภรรยา หรือเคยได้จองเวรจองกรรม อาฆาต บาดหมางแก่กันและกันมาแล้วแต่ชาติก่อน เรียกว่า “อตีตังสญาณ” อตีตังสญาณนี้ บางทีบอกชื่อแลสถานที่ที่เคยกระทำมาแล้วนั้นพร้อมเลยทีเดียว

บางทีก็เห็นนิมิตแลความรู้ขึ้นมาว่าตนเอง แลคนอื่น มีญาติพี่น้องเราเป็นต้น ที่มีชีวิตอยู่ จะต้องตายวันนั้นวันนี้
หรือปีนั้นปีนี้ หรือจะได้โชคลาภ หรือเป็นทุกข์จนอย่างนั้น ๆ
เมื่อถึงกำหนดเวลาก็เป็นจริงอย่างที่รู้เห็นนั้นจริง ๆ นี้เรียกว่า “อนาคตังสญาณ”

“ อาสวักขยญาณ” ท่านว่า ความรู้เห็นในอันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป ข้อนี้ผู้เขียนขอวินิจฉัยไว้สักนิดเถอะ เพราะกังขามานานแล้ว ถ้าแปลว่าความรู้ความเห็นของท่านผู้นั้น ๆ ท่านทำให้สิ้นอาสวะไปแล้วก็ยังจะเข้าใจบ้าง เพราะญาณก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี เกิดจากฌานทั้งนั้น และในนั้นก็บอกชัดอยู่แล้ว ฌาน ถ้าแปลว่า ความรู้เห็นอันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป ก็แสดงว่า ได้ฌานแล้วทำหน้าที่แทนมัคคสมังคีในมัคค์นั้นได้เลย ถ้าพูดอย่างนี้มันตรงกันข้ามกับที่ว่า มัคคสมังคี เป็นเครื่องประหารกิเลสแต่ละมัคค์

ญาณ ๓ เกิดจากฌาน ฌานดีแต่รู้เห็นคนอื่น สิ่งอื่น ส่วนกิเลสภายในใจของตนหาได้รู้ไม่
ญาณ ๓ ก็ดี หรือบรรดาญาณทุกอย่าง
ไม่เคยได้ยินท่านกล่าวไว้ที่ไหนเลยว่า “ญาณประหาร” มีแต่ “มัคคประหาร” ทั้งนั้น
มีแต่ อาสวักขยญาณ นี้แหละที่แปลว่าวิชาความรู้ อันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป
จึงเป็นที่น่าสงสัยยิ่งนัก ท่านผู้รู้ทั้งหลายกรุณาพิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้ด้วย
ถ้าเห็นว่าไม่ตรงตามผู้เขียนแล้ว โปรดจดหมายส่งไปที่ที่อยู่ของผู้เขียนข้างต้นด้วย
จักขอบพระคุณอย่างยิ่ง

“อาสวักขยญาณ” มิได้เกิดจากฌาน ฌานเป็นโลกียะทั้งหมดตลอดถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ
เพราะโลกุตตรฌาน ไม่เห็นท่านแสดงไว้ว่ามีองค์เท่านั้นเท่านี้
ท่านผู้เข้าเป็นโลกุตตระต่างหาก จึงเรียกฌาน เป็นโลกุตตระตามท่าน
เหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินแล้วจึงเรียกว่าทรงพระขรรค์ นี่ก็ฉันใด
ถ้าแปลว่า รู้จักท่านที่ทำกิเลสอาสวะให้สิ้นไป ก็ยังจะเข้าใจบ้าง

อนึ่ง ท่านยังแยกฌานออกเป็นภวังค์ มี ๓ คือ ภวังคุบาท ๑ ภวังคจรณะ ๑ ภวังคุปัจเฉทะ ๑
ตามลักษณะของจิตที่รวมเข้าไปเป็นภวังค์
ส่วนสมาธิก็แยกออกเป็นสมาธิ ดังอธิบายมาข้างต้นเป็น ๓ เหมือนกัน
คือ ขณิกสมาธิ ๑ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑

ส่วนการละกิเลสท่านก็แสดงไว้ ไม่ใช่ละกิเลส เป็นแต่กรณีข่มกิเลสของตนไว้ไม่ให้มันเกิดขึ้นด้วยองค์ฌานนั้น ๆ
ส่วนการละกิเลสของสมาธิท่านแสดงไว้ว่า พระโสดาบัน ละกิเลส ได้ ๓ คือ
ละสักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑
พระสกทาคามี ละได้ ๓ ตัวเบื้องต้นและยังทำให้ราคะเบาบางลงอีก
พระอนาคามี ละได้ ๓ ตัวเบื้องต้นนั้นได้เด็ดขาดแล้วยังละกามราคะและปฏิฆะให้หมดไปอีกด้วย
นี้แสดงว่าฌานเป็นโลกิยะโดยแท้ ส่วนสมาธิเป็นโลกุตตระ ละกิเลสได้ตามลำดับ ดังอธิบายมาแล้ว

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป