การเลี้ยงปลาตู้ทะเล (marine aquaculture)
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
เมษายน 19, 2024, 07:57:13 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การเลี้ยงปลาตู้ทะเล (marine aquaculture)  (อ่าน 14597 ครั้ง)
Nattawut-LSV Team
E23IUY
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน808
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3581


อีเมล์
« เมื่อ: มิถุนายน 13, 2009, 06:12:02 PM »





      การเลี้ยงปลาสวยงามในประเทศไทยมีมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปลาที่นิยมเลี้ยงกันในสมัยอดีตมักจะเป็นปลากัด ทั้งเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงามและเพื่อการกัดกันเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินไปจนถึงการเล่นพนัน ต่อมาได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศ การนำปลาจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงจึงเริ่มขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา ปลาที่นิยมเลี้ยงกันโดยทั่วไปคือปลาทอง ซึ่งมีลักษณะที่สวยงาม และมีชื่อที่เป็นมงคล ประกอบกับการมีราคาที่ค่อนข้างถูก ปลาทองจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สำหรับการเลี้ยงปลาทะเลนั้นเริ่มต้นเมื่อใดไม่เป็นที่ปรากฏ ในระยะยี่สิบกว่าปีมานี้การเลี้ยงปลาทะเลยังไม่เป็นที่แพร่หลายกันมากนัก เนื่องจากความยุ่งยากในการเลี้ยง กอรปกับปลาทะเลมีราคาที่สูงกว่าปลาน้ำจืดเป็นอย่างมาก แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีหนังการ์ตูนเรื่อง นีโม่ ปลาเล็กหัวใจโต ของวอล์ทดิสนีย์ได้ถูกนำมาฉายในประเทศไทย การเลี้ยงปลาทะเลได้มีความนิยมขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงเวลาดังกล่าวจะสามารถเห็นร้านขายปลาการ์ตูนตามตลาดนัดสวนจตุจักรและตลาดปลาสวยงามต่างๆ ปลาการ์ตูนส้ม-ขาว เป็นสัญญลักษณ์ที่นักเลี้ยงปลาทะเลหรือชมรมต่างๆได้มีการนำไปทำเป็นสัญลักษณ์ประจำชมรมของตน ปัจจุบันการเลี้ยงปลาทะเลได้มีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายสืบเนื่องมาจากการ์ตูนเรื่องดังกล่าว อุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงและพันธุ์ปลาต่างๆ จึงสามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป ในการเริ่มเลี้ยงปลาทะเลนั้นผู้ที่มีความสนใจจะเลี้ยงปลาทะเลจะต้องมีการศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดี ทั้งนี้เนื่องจากปลาทะเลมีราคาที่ค่อนข้างสูง ตั้งแต่ราคาเป็นร้อยไปจนถึงราคาเป็นหมื่น อีกทั้งอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการเลี้ยงก็มีราคาที่สูงมาก นอกจากการเลี้ยงปลาแล้วตู้ทะเลยังสามารถเลี้ยงก้นตู้ หรือปะการังได้อีกด้วย ซึ่งในการเลี้ยงก้นตู้นี้จะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับผู้เลี้ยงอีกเป็นอย่างมาก การดูแลสัตว์ทะเลไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เลี้ยงจะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มันอยู่ ตลอดจนลักษณะอาหารที่มันกิน ดังนั้นผู้ที่จะเลี้ยงปลาทะเลจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลเป็นอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเลี้ยง ทั้งนี้เนื่องจากจะไม่ต้องเสียเงินไปมากมายแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรอีกทางหนึ่งด้วย
ทำอย่างไรเมื่อจะเลี้ยงปลาทะเล
   


เมื่อท่านคิดที่อยากจะเลี้ยงปลาทะเลสักตู้หนึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่ท่านจะสามารถทำได้อย่างง่ายๆ เหมือนกับการเลี้ยงปลาตู้น้ำจืด เพราะหากท่านไม่มีความรู้ความเข้าใจ
ประกอบกับการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแล้ว ปลาของท่านที่ซื้อมาอาจอยู่กับท่านได้ไม่ทันข้ามวันก็เป็นได้ ลักษณะตู้ปลาทะเลมีความแตกต่างจากตู้ปลาน้ำจืดตรงที่การจัดสิ่งแวดล้อมและการควบคุมสิ่งแวดล้อมภายในตู้นั้นทำได้ค่อนข้างยาก และต้องใช้เวลาพอสมควร สิ่งแรกที่ท่านควรจะทำคือการศึกษาหาข้อมูลจากหนังสือ คู่มือเลี้ยงปลาทะเลหรือตามเวปต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปลาทะเล ซึ่งมีอยู่ด้วยกันมากมาย เช่น http://www.genepoolaquarium.com/, http://oceanlover.pantown.com/, http://reefjungle.com, www.thailandreef.co m , www.siamreefclub.co m  เวปต่างๆเหล่านี้จะมีการเขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปลาทะเล หรือมีผู้ซักถามปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นหลังจากการเลี้ยงปลาทะเลซึ่งจะเป็นประโยชน์กับท่านในการพิจารณาตัดสินใจที่จะเลี้ยงปลาทะเลหรือไม่ต่อไป เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลี้ยงก็ต้องมาดูเงินในกระเป๋าของท่านเป็นลำดับต่อไปว่าจะมีเพียงพอสำหรับความต้องการพื้นฐานหรือไม่ จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่ามีรายจ่ายสำหรับการเลี้ยงปลาทะเลมากพอสมควรทั้งเรื่องอาหาร เกลือชุดทดสอบต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในการเลี้ยงปลาทะเล และมีผู้เลี้ยงหลายรายที่ทนแบกรับภาระนี้ไม่ไหวจนต้องเลิกเลี้ยง สำหรับผู้ที่ไม่มีอุปกรณ์เลี้ยงปลามาก่อนเลยอาจจะต้องจ่ายเงินมากกว่าผู้ที่มีอุปกรณ์การเลี้ยงบ้างแล้ว โดยเฉพาะตู้ที่ใช้ในการเลี้ยงปลาจะต้องเป็นตู้ที่มีความหนามากพอสมควร ทั้งนี้เนื่องจากความหนาแน่นของน้ำทะลมีมากกว่าน้ำจืด ประกอบกับท่านจะต้องมีหินเป็นสำหรับช่วยในการบำบัดน้ำและปรับสภาพต่างๆ ขารองตู้ที่ใช้ก็ควรเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีขนาดสามารถรองรับน้ำหนักได้ ซึ่งปัจจัยที่แตกต่างจากตู้น้ำจืดทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงปลาทะเลมีราคาที่สูงมาก หากท่านมีความพร้อมดังกล่าวข้างต้นแล้วจึงจะสามารถดำเนินการในขั้นต่อไปได้
จะตั้งตู้ปลาทะเลที่ไหนดี?
   

สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนการเลี้ยงปลาทะเลคืการเลือกทำเลที่ตั้งภายในบ้านของท่านว่าบริเวณใดที่เหมาะสมสำหรับการตั้งตู้ปลาทะเล (คงไม่ถึงกับต้องเชิญซินแสมาดูฮวงจุ้ยนะครับ) สำหรับบริเวณที่ตั้งตู้ปลาทะเลนั้นส่วนใหญ่จะตั้งไว้ในบ้าน ภายในห้องนั่งเล่น หรือห้องทำงานเพื่อใช้ผ่อนคลายอิริยาบถที่เหนื่อยล้าจากการทำงานได้ ในต่างประเทศได้มีการตั้งตู้ปลาในโรงพยาบาล ซึ่งพบว่าจะทำให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น  สำหรับสถานที่ตั้งตู้ปลาทะเลนั้นมีข้อควรคำนึงหลายประการด้วยกันดังนี้
   

พื้นที่ตั้งมั่นคง แข็งแรง สะดวกต่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำ พื้นที่ตั้งตู้ปลาทะเลควรจะเป็นพื้นเรียบ และมีความแข็งแรงเนื่องจากตู้ปลาทะเลนั้นจะมีน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก ทั้งปริมาตรน้ำที่อยู่ในตู้และน้ำหนักของหินเป็นที่นำมาใช้ในการบำบัดน้ำภายในตู้และการตกแต่งตู้ หากบริเวณที่ตั้งไม่แข็งแรงแล้วอาจจะทำให้เกิดการทรุดเอียงในบริเวณดังกล่าวได้ หรือหากพื้นที่ตั้งตู้เอียงแล้วอาจทำให้เกิดการแตกของตู้ปลาของท่านได้  นอกจากนี้พื้นที่ตั้งควรมีท่อระบายน้ำอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้เนื่องจากในการเลี้ยงปลาทะเลนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำปริมาณ 10-20 % ทุกเดือน หรือกรณีที่มีสัตว์ตายภายในตู้อาจจะต้องมีการเปลี่ยนน้ำในปริมาณที่มาก หากสถานที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากท่อระบายน้ำแล้วจะทำให้เกิดความลำบากในการเปลี่ยนถ่ายน้ำได้
   

ไม่ควรตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง การตั้งตู้ปลาไม่ควรอยู่ในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง และไม่ควรให้มีลมโกรก ทั้งนี้เนื่องจากการที่มีแสงแดดส่องจะทำให้ตู้ปลาทะเลได้รับแสงมากเกินความจำเป็น ไม่สามารถควบคุมปริมาณแสงในแต่ละวันได้ อาจทำให้เกิดการเจริญของตะไคร่สีแดง เกิดขึ้นได้และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าทางเคมีในน้ำทะเลตามมา ผลกระทบทางอ้อมของแสงแดดคือจะทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นโดยเฉพาะตู้เลี้ยงปลาที่มีขนาดเล็ก การที่อุณหภูมิในแต่ละวันมีความแตกต่างกันจะทำให้ปลาไม่สามารถปรับสภาพตัวเองได้และอาจเกิดโรคจุดขาวตามมา
   

บริเวณที่ตั้งควรอยู่ห่างไกลจากอุปกรณ์ที่เป็นเหล็ก หรือโลหะ บริเวณที่ทำการตั้งตู้ปลาทะเลนั้นควรหลีกเลี่ยงการตั้งอยู่ในห้องที่มีอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กหรือโลหะ ทั้งนี้เนื่องจากน้ำทะเลมีความเค็มที่ค่อนข้างสูง และอาจเกิดการกัดกร่อนทำให้เป็นสนิมได้ ในกระบวนการและกิจกรรมต่างๆนั้นอาจเกิดการหยด กระเซ็น หรือระเหยของน้ำทะเล ทำให้ละอองน้ำหรือหยดน้ำเหล่านั้นไปจับกับผิววัตถุและเกิดสนิมขึ้นได้
   

มีพื้นที่กว้างขวางและเพียงพอ เนื่องจากตู้เลี้ยงปลาทะเลของท่านสำหรับมือใหม่ควรที่จะเริ่มต้นการเลี้ยงจากตู้ขนาดไม่ต่ำกว่า 48 นิ้ว เพราะจะทำให้สิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายในตู้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก และไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้เลี้ยง สถานที่ที่จะตั้งตู้ขนาด 48 นิ้ว จึงควรมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1.5 X 1 เมตร สำหรับตั้งตู้ปลา และพื้นที่สำหรับดำเนินกิจกรรมอีกไม่ต่ำกว่า 2 เท่าของพื้นที่ตั้งตู้ หากท่านมีความประสงค์ที่จะเลี้ยงปลาในตู้ที่มีขนาดใหญ่กว่านี้จะต้องเพิ่มพื้นที่มากขึ้นกว่านี้ นอกจากตัวตู้เองแล้วอาจต้องมีถังออกซิเจนไว้สำหรับเวลาฉุกเฉินเมื่อเกิดไฟดับ บริเวณที่ตั้งตู้เลี้ยงปลาควรที่จะมีปลั๊กไฟที่เพียงพอกับการเลี้ยงด้วยเนื่องจากการเลี้ยงปลาทะเลจะต้องมีอุปกรณ์ประกอบมากมายหลายอย่างด้วยกันเช่น โคมไฟ ปัมป์น้ำ สกิมเมอร์ ฮีตเตอร์ ชิลเลอร์ อุปกรณ์ต่้างๆเหล่านี้บางชิ้นกินไฟค่อนข้างมาก หากสายไฟมีขนาดเล็กอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ตำแหน่งที่ติดตั้งปลั๊กไฟควรอยู่สูงจากพื้นไม่ต่ำกว่าตัวตู้และควรมีสายดินเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
   

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นข้อควรคำนึงในการเลือกสถานที่ตั้งตู้เลี้ยงปลาเพื่อให้การเลี้ยงปลาทะเลของท่านดูสวยงามและไม่เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงในอนาคต นอกจากนี้ยังอาจต้องมีพื้นที่สำหรับการขยายงานหากมีความประสงค์ที่จะเลี้ยงปลาเพิ่มด้วย
จะเลี้ยงปลาทะเลจะต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง
   

เมื่อท่านเลือกทำเลที่ตั้งตู้ปลาทะเลได้แล้วขั้นตอนต่อไปคือการเลือกซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงปลาะทะเล หากท่านเป็นผู้เลี้ยงมือใหม่ก็คงจะต้องเตรียมอุปกรณ์มากขึ้นกว่าผู้ที่เคยเลี้ยงปลามาก่อนแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงปลาทะเลมีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง คุณภาพและราคาก็แตกต่างกันออกไป ก่อนที่ทำการซื้ออุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้ท่านควรที่จะศึกษาถึงคุณสมบัติและข้อดี-ข้อเสียของอุปกรณ์แต่ละชนิด รวมถึงราคาในท้องตลาดที่จำหน่ายกันอยู่ จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่ามีผู้เลี้ยงปลาทะเลหลายรายที่มิได้สืบราคาก่อนการเลือกซื้ออุปกรณ์การเลี้ยง มักถูกโก่งราคา หรือซื้อของแพงกว่าราคาปกตินั้นเอง แหล่งข้อมูลที่ท่านสามารถสืบค้นหาได้ก็ตามเวปไซต์ที่ขายอุปกรณ์การเลี้ยง หรือสอบถามราคา ข้อดี-ข้อเสียจากเวปบอร์ดที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้ท่านได้ของดี ราคาถูก แต่อย่างไรก็ตาม ราคาและคุณภาพก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อด้วย แหล่งจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับเลี้ยงปลาทะเลนั้นที่รู้จักกันดีคงไม่พ้น ตลาดนัดสวนจตุจักร สนามหลวง 2 ซึ่งสองสถานที่นี้เป็นแหล่งขายอุปกรณ์การเลี้ยงปลาที่ใหญ่ในกรุงเทพฯ ส่วนในต่างจังหวัดนั้นอุปกรณ์สำหรับเลี้ยงปลาทะเลมีค่อนข้างน้อย หนทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการสั่งซื้อสินค้าที่มีการโฆษณาขายทางเวปไซต์ (ตรงนี้สามารถช่วยเราในการเช็คราคาสินค้าได้ แต่ราคาอาจค่อนข้างสูงกว่าตลาดจริงและต้องมีค่าขนส่งเพิ่ม) หากท่านใดต้องการความสะดวกสบายโดยไม่ต้องไปเลือกซื้อสินค้าเองก็มีบริการพิเศษที่จะดำเนินการรับเหมาตั้งตู้ปลาให้ท่านถึงบ้าน หรืออาจมีการตกแต่งเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศภายในบ้านของท่าน รวมถึงการบริการบำรุงรักษาแลดูแลตู้ปลาให้ท่านด้วย(แต่ต้องเสียค่าบริการเพิ่มนะ)  หากท่านต้องการสร้างตู้ปลาของท่านด้วยมือของท่านเองก็คงต้องออกไปดำเนินการเลือกซื้ออุปกรณ์ด้วยตัวท่านเองจะดีกว่าเพราะจะได้ของที่ถูกใจและราคาไม่แพงมากนัก อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับตู้ปลาทะเลมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ดังนี้
   

1.ตู้เลี้ยงปลา (aquarium tank) ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้นแล้วว่าตู้เลี้ยงปลาทะเลนั้นมีลักษณะพิเศษกว่าตู้ปลาน้ำจืดตรงที่จะต้องแบกรับน้ำหนักที่มากกว่าปกติและต้องทนต่อความเค็ม ดังนั้นในการเลือกตู้ปลาสำหรับเลี้ยงปลาทะเลจึงควรเลือกตู้ที่มีกระจกหนาพอที่จะรองรับน้ำหนักของน้ำทะเลและหินต่างๆได้ โดยทั่วไปแล้วความหนาของกระจกที่ใช้เลี้ยงปลาทะเลนั้นจะมีความหนาไม่ต่ำว่า 2.5 หุน (1หุนเท่ากับ 1/8 นิ้ว หรือประมาณ 2 มิลลิเมตร) สำหรับรูปแบบตู้ก็มีแตกต่างกันไปทั้งแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมจัตตุรัส หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม ทรงกลม ขึ้นอยู่กับความพอใจและความชอบของผู้ซื้อ บางครั้งผู้ซื้ออาจสั่งต่อเป็นพิเศษก้ได้ โดยเลือกร้านที่มีความชำนาญและต้องแจ้งวัตถุประสงค์ให้ทางร้านทราบชัดเจนวง่าจะใช้เลี้ยงปลาทะเล เพื่อที่จะได้ตู้ปลาที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาทะเล ไม่เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง ผู้เลี้ยงปลาหลายคนที่ไม่ได้ทำการศึกษาก่อนเริ่มเลี้ยง เมื่อเลี้ยงไปได้ระยะหนึ่งจะเกิดปัญหาขึ้น ปัญหาที่พบบ่อยคือการรั่วซึมของตู้ไปจนถึงตู้แตก (คงเหมือนสึนามิขนาดย่อมภายในบ้าน) สิ่งที่ควรพิจารณาต่อจากตู้เลี้ยงปลาคือระบบกรองน้ำที่ควรจะมีประสิทธิภาพในการกรองน้ำให้ใส ซึ่งระบบกรองในตู้ทะเลนี้อาจเป็นกรองข้าง หรือกรองล่างก็ได้แล้วแต่การจัดการของผู้เลี้ยง ซึ่งระบบกรองแต่ละระบบก็จะมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันออกไป ระบบกรองข้างจะมีราคาที่ไม่แพงมาก แต่จะไม่มีพื้นที่สำหรับเรฟูเจี้ยม และไม่สวยงาม ส่วนตู้กรองล่างนั้นจะมีส่วนพื้นที่ที่ใช้สำหรับทำการบำบัดน้ำได้ค่อนข้างมาก บริเวณที่เลี้ยงปลาจะมีความสวยงาม ไม่มีระบบกรองเกะกะ มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำดีกว่ากรองข้าง สามารถทำเรฟูเจียมได้ แต่มีข้อด้อยตรงที่มีราคาแพง ต้องเจาะพื้นตู้ ส่วนขาตู้ที่รองรับตัวตู้นั้นควรเป็นขาที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง สามารถรองรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ไม่ควรนำขาเหล็กมาใช้ในการเลี้ยงปลาทะเลเนื่องจากจะเกิดการผุกร่อนได้ง่าย และเกิดความเสี่ยงต่อตัวตู้ที่มีน้ำหนักมาก สำหรับตู้ปลาทะเลนั้นไม่นิยมใช้ฝาตู้ เนื่องจากผู้เลี้ยงปลาทะเลส่วนใหญ่มักเลี้ยงปะการังหรือที่นิยมเรียกกันว่าก้นตู้ด้วย ปะการังหลายชนิดต้องการแสงสว่างในการสังเคราะห์อาหารเพื่อการเจริญเติบโต และแสงที่ใช้ควรจะมีความเข้มของแสงมากในระดับเกิย 10,000 เคลวิน (K) ซึ่งแหล่งกำเนิดแสงดังกล่าวมักใช้หลอดไฟชนิดเมทัลฮาไดลด์ (metal halide) หลอดไปชนิดเมทัลฮาไลด์นี้เมื่อทำงานได้ระยะนึงจะเกิดความร้อนขึ้น ความร้อนดังกล่าวจะเกิดการถ่ายทอดไปยังน้ำทะเลที่ใช้เลี้ยง หากไม่มีเครื่องปรับอุณหภูมิช่วยแล้วจะทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น ส่งผลเสียต่อปะการังที่เลี้ยงได้ หลอดไฟชนิดดังกล่าวควรอยู่สูงจากขอบบนของตู้ในระยะที่เหมาะสม (ประมาณ 10 นิ้ว) เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการถ่ายเทความร้อนไปยังน้ำ ซึ่งจะไม่สะดวกในการปิดฝาตู้ นอกจากนี้ตู้เลี้ยงปลาทะเลยังจะต้องมีพัดลมคอยเป่าลมร้อนด้านบนของตู้เพื่อใช้สำหรับเป่าความร้อนที่ลงมายังผิวน้ำให้ระบายออกไป ดังนั้นฝาตู้จึงไม่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงปลาทะเล ยกเว้นการเลี้ยงเฉพาะปลาเพียงอย่างเดียว ตู้ปลาทะเลอาจเป็นตู้กระจกทั่วไปหรือเป็นตู้เฟอร์นิเจอร์ก็จะช่วยให้ตู้ของท่านดูสวยงามขึ้นได้ หากมีกรองล่างจะช่วยซ่อนกรองล่าง ทำให้ไม่ดูเกะกะ
   

2. ปั๊ม (pump) ปั๊มเป็นอุปกรณ์หลักอย่างหนึ่งที่จะช่วยในการกรองน้ำ ทำให้น้ำภายในตู้เกิดการหมุนเวียนและช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ ปั๊มมี 2 ชนิดคือปั๊มน้ำและปั๊มลม โดยส่วนใหญ่ปั๊มน้ำจะต้องใช้ร่วมกับตู้กรองหรือกั้นกรอง ปั๊มน้ำจะมีระบบการทำงานของเครื่องโดยการปล่อยกระแสไฟเข้าไปในแกนแม่เหล็กแล้วจะทำให้แท่งแม่เหล็กเกิดการหมุน ที่ปลายด้านหนึ่งของแท่งแม่เหล็กจะมีใบพัดติดอยู่ เมื่อแท่งหมุนจะเป็นตัวพัดเอาน้ำจากภายนอกไหลเข้าสู่ภายในปั๊มแล้วออกสู่ช่องทางออก ตรงปลายท่อน้ำออกจะมีช่องอากาศขนาดเล็กเชื่อมอยู่ เมื่อน้ำถูกดันออกจะทำให้เกิดแรงดึงอากาศเข้ามาสู่ท่อน้ำออก ทำให้น้ำที่พ่นออกมามีฟองอากาศขนาดเล็กออกมาด้วย การใช้ปั๊มน้ำในกรองข้างจะต้องต่อท่อน้ำออกโดยให้ดูดน้ำจากระบบกรองไปสู่ระบบเลี้ยงปลา แค่นี้ก็จะเกิดการหมุนเวียนของน้ำ โดยน้ำที่ถูกปั๊มออกจากช่องกรองก็จะไหลไปยังตู้เลี้ยงเมื่อปริมาณน้ำสูงขึ้น น้ำก็จะล้นลงมาสู่ช่องกรองอีกครั้งหนึ่ง รายละเอียดจะกล่าวในเรื่องเครื่องกรองน้ำอีกครั้งหนึ่ง
   

3. อุปกรณ์กรองน้ำ (filter) อุปกรณ์กรองน้ำมีมากมายหลายชนิด ทั้งที่มีราคาแพงเป็นพันไปจนถึงราคาถูกไม่กี่สิบบาท อุปกรณ์กรองนี้จะเป็นตัวที่จะช่วยให้เกิดการกรองขยะ ขี้ปลา และตะกอนสิ่งสกปรกออกจากระบบเลี้ยงปลา นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการเติมออกซิเจนซึ่งเป็นประโยชน์ทางอ้อมของอุปกรณ์กรอง ในที่นี้จะขอกล่าวเพียงกรองข้างและกรองล่าง ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ในการเลี้ยงปลาทะเลเป็นส่วนใหญ่
   
กรองข้าง จะใช้หลักการของการล้นของน้ำในระบบเลี้ยงไปยังส่วนที่เป็นช่องกรอง โดยปริมาณน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงจะต้องมีปริมาตรที่สูงกว่าขอบของตัวกรอง  น้ำที่ล้นเข้าสู่ตัวกรองจะต้องผ่านใยกรองเป็นอันดับแรกซึ่งจะช่วยในการกรองเอาสิ่งสกปรกออกเป็นขั้นแรก ต่อมาน้ำจะผ่านใยกรองลงมายังส่วนถัดมา ซี่งมักจะใส่ไบโอบอล(พลาสติกเป็นลูกกลมๆคล้ายๆหวี) ซึ่งจะเป็นตัวกระจายน้ำ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนเกิดขึ้นในน้ำ ส่วนถัดมาจะเป็นส่วนล่างสุดที่จะใส่ปะการังเบอร์ 0 ไว้เพื่อเป็นที่ยึดเกาะของแบคทีเรีย ส่วนนี้อาจจะมีปั๊มน้ำสำหรับปั๊มน้ำออกจากระบบกรองไปยังระบบเลี้ยงปลา เพียงแค่นี้ก็จะเกิดระบบการกรองที่สมบูรณ์แบบได้แล้ว
   
กรองล่าง กรองล่างนี้จะมีความยุ่งยากกว่ากรองบนตรงที่จะต้องมีการดึงน้ำจากระบบเลี้ยงปลาเข้าสู่ระบบกรองล่าง อาจใช้การเจาะพื้นตู้หรือใช้ปั๊มดูดน้ำจากระบบไปยังกรองล่าง หรือใช้ระบบกาลักน้ำก็ได้ น้ำจากระบบเลี้ยงจะไหลไปยังกรองล่างซึ่งจะถูกกั้นเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกจะมีลักษณะคล้ายกรองข้าง ซึ่งจะทำหน้าที่ในการกรองสิ่งสกปรกจากระบบเลี้ยง  ส่วนต่อมาจะเป็นส่วนที่มีช่องน้ำไหลจากส่วนแรกมาขังไว้ ส่วนนี้อาจจะเรียกว่าเรฟูเจี้ยม ซึ่งมักใส่สาหร่ายไว้สำหรับการบำบัดน้ำ ซึ่งสาหร่ายที่ใส่นี้จะเป็นตัวช่วยในการกำจัดของเสียจำพวกแอมโมเนีย (ammonium waste) โดยสาหร่ายจะดึงแอมโมเนียมาใช้ในการเจริญเติบโต ซึ่งส่วนนี้จะต้องมีแสงไฟสำหรับให้สาหร่ายสังเคราะห์แสงด้วย ถัดมาจะเป็นช่องน้ำล้นออกไปสู่ส่วนที่สาม ซึ่งจะมีปั๊มน้ำและสกิมเมอร์ไว้สำหรับบำบัดน้ำ ปั๊มน้ำจะช่วยในการส่งน้ำจากกรองล่างขึ้นไปยังระบบเลี้ยงอีกครั้งหนึ่ง เพียงเท่านี้ก็จะเกิดการกรองที่สมบูรณ์ได้
   


นอกจากการกรองทั้งสองชนิดที่กล่าวมาแล้วยังมีระบบกรองอีกหลายชนิด เช่น เครื่องกรองนอก เป็นต้น การเลือกระบบกรองที่ดีจะช่วยให้สภาพน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงช้าและทำให้น้ำมีคุณภาพดีเสมอ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับสิ่งมีชีวิตภายในตู้ด้วย หากมีการเลี้ยงปะการังอยู่ภายในระบบเลี้ยง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ปะการังอาจปล่อยไข่หรือน้ำเชื้อออกมา ทำให้น้ำในระบบเลี้ยงเกิดความขุ่น ก็มีความจำเป็นที่ผู้เลี้ยงจะต้องทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 40-50% เพื่อให้คุณภาพน้ำดีขึ้น แม้ว่าจะมีระบบกรองที่ดีเพียงไรแต่การเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำทุกๆ 2 -4 สัปดาห์ เพื่อให้คุณภาพน้ำอยู่ในระดับที่ดีและเป็นการเสริมแร่ธาตุบางชนิดที่ปลาและสัตว์น้ำต้องการอีกด้วย



4. สกิมเมอร์ (skimmer) สกิมเมอร์หรือเครื่องกำจัดโปรตีนเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นอีกชิ้นหนึ่งสำหรับการเลี้ยงปลาทะเล เพราะเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยกำจัดโปรตีนที่ปลาและสัตว์น้ำขับออกมาสู่ระบบเลี้ยง หากไม่มีสกิมเมอร์จะทำให้เกิดการสะสมของโปรตีนในน้ำ และอาจทำให้ปลาตายได้ การทำงานของสกิมเมอร์จะใช้หลักการของการทำให้น้ำทะเลเกิดฟอง โดยโปรตีนที่ละลายอยู่จะทำให้น้ำทะเลมีแรงตึงผิวมากขึ้นและติดอยู่ที่ฟองอากาศ ตัวฟองอากาศนี้เองที่จะเป็นตัวนำพาโปรตีนที่อยู่ในน้ำทะเลถูกขจัดออกจากระบบ โปรตีนจึงถูกจับอยู่ในฟองอากาศ เมื่อฟองอากาศล้นจากท่อจะถูกจับอยู่ในถ้วยดักของสกิมเมอร์ สกิมเมอร์มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ ทำให้ราคาแตกต่างกันไปตามประสิทธิภาพในการกำจัดโปรตีน ในอดีตสกิมเมอร์จะใช้ปั๊มลมเป็นตัวทำให้เกิดฟองอากาศ แต่ฟองอากาศที่ออกมาก็ยังไม่เพียงพอกับการกำจัดโปรตีนออกไปได้ ระบบนี้เรียกว่า air stone system ส่วนในปัจจุบันจะใช้ปั๊มน้ำในการทำให้เกิดฟอง โดยปั๊มน้ำจะเป็นตัวพ่นน้ำเข้าไปในสกิมเมอร์ พร้อมกับมีการฉีดลมเข้าไปด้วยทำให้เกิดฟองอากาศ ซึ่งสกิมเมอร์รูปแบบนี้เป็นที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน และราคาไม่แพงมาก หลักในการเลือกสกิมเมอร์เพื่อใช้งานนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายประการดังนี้



ประสิทธิภาพในการทำงาน (capacity) การเลือกสกิมเมอร์เพื่อใช้งานนั้นท่านจะต้องทราบปริมาตรของน้ำในระบบที่ท่านทำการเลี้ยงปลาอยู่ก่อน โดยสามารถคำนวณได้จากสูตร กว้าง X ยาว X สูง X 0.016 ก็จะได้ปริมาตรน้ำที่ตู้ของท่านบรรจุได้  เช่นขนาดตู้ของท่านกว้าง 24 ”  ลึก 12 ” สูง 15 ” จะสามารถคำนวนปริมาตรน้ำได้เท่ากับ 24 X 12 X 15 X 0.016 = 69.12 ลิตร เมื่อทานจะซื้อสกิมเมอร์จะต้องซื้อขนาดที่สามารถทำงานได้มากกว่า 2 เท่า ของปริมาตรความจุของตู้ คือประมาณ 140 ลิตรต่อชั่วโมง การเลือกสกิมเมอร์ที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูงจะทำให้ปริมาณการกำจัดโปรตีนออกจากระบบเลี้ยงเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ระบบการทำงาน (skimmer system) ระบบการทำงานของสกิมเมอร์จะมีอยู่หลายแบบด้วยกัน เช่น Air Stone System, Terbo Air Stone System, Ventury System, Needle Wheel System, Terbo Needle Wheel System, Terbo Ventury Sysytem เป็นต้น ซึ่งแต่ละระบบจะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป การที่จะเลือกระบบการทำงานของสกิมเมอร์แบบใดก็ขึ้นอยู่กับขนาดของตู้และชนิดของ

สัตว์น้ำในตู้ทะเล
ตำแหน่งที่ตั้ง (place) ในการใช้สกิมเมอร์เพื่อกำจัดโปรตีนในตู้ปลานั้นควรที่จะคำนึงถึงตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องด้วย ทั้งนี้เพื่อความสวยงามและความปลอดภัยเป็นหลัก ในกรณีที่ระบบกรองเป็นตู้กรองล่างจะไม่ค่อยมีปัญหาเนื่องจากจะสามารถวางสกิมเมอร์ไว้ในบริเวณกรองล่างได้  โดยส่วนใหญ่แล้วตำแหน่งของสกิมเมอร์มักจะแขวนไว้ที่ข้างตู้บริเวณด้านหลังตู้เพื่อความสวยงามและหลีกเลี่ยงการชนจนแตกหักเสียหายด้วย สกิมเมอร์โดยทั่วไปมี

3 แบบด้วยกันคือ แบบวางพื้น (ground) แบบแขวน (hang on) และแบบวางในตู้ (internal)
ช่องอากาศเข้า (air inlet) ช่องอากาศเข้านี้มีไว้สำหรับป้อนอากาศเข้าไปในน้ำเพื่อทำให้เกิดฟอง ควรเลือกเครื่องสกิมเมอร์ที่มีค่าที่ทำให้เกิดฟองได้สูง เพราะจะทำให้การกำจัดโปรตีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ช่องน้ำเข้า (water inlet) ช่องน้ำเข้านี้จะเป็นช่องสำหรับต่อกับปั๊มน้ำเพื่อนำน้ำเข้ามาสู่สกิมเมอร์ ปริมาณน้ำที่เข้ามาในสกิมเมอร์นี้จะขึ้นอยู่กับขนาดกำลังของปั๊มน้ำ ซึ่งจะต้องเลือกขนาดของปั๊มให้มีความสัมพันธ์กับขนาดของสกิมเมอร์ด้วย เพื่อให้การทำงานเกิดความสัมพันธ์กัน



5. เครื่องควบคุมอุณหภูมิ (chiller) ในการเลี้ยงปลาทะเลนั้นจะมีการเลี้ยงปะการังควบคู่กันไปด้วยเพื่อความสวยงามและความเป็นธรรมชาติ ปะการังส่วนหนึ่งจะช่วยในการทำให้ระบบนิเวศน์ในตู้เลี้ยงสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การเลี้ยงปะการังนั้นปัจจัยที่สำคัญอยู่ที่คุณภาพน้ำ แสงสว่าง และอุณหภูมิ ปะการังส่วนใหญ่จะไม่ชอบอุณหภูมิที่สูง การควบคุมอุณหภูมิจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับปะการัง ผู้เลี้ยงจะต้องทำการควบคุมอุณหภูมิของน้ำมิให้สูงมากเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกสถานที่ตั้งไม่ควรโดนแดด ปัจจัยที่จะทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงเกินไป เช่น ระยะเวลาที่เปิดไฟ อุณหภูมิในสิ่งแวดล้อม ........


ที่มา http://www.trangpets.com/index.php?topic=363.0


บันทึกการเข้า

suvitp
member
*

คะแนน2
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 17


อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: มกราคม 04, 2010, 09:53:10 AM »

เพิ่งเข้ามาอ่าน ถึงได้รู้ว่ามีหลายอย่างที่ทำไม่ถูกวิธี
เคยเลี้ยงแล้วเลิกไป แต่ก็คิดจะลองใหม่
ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลดีๆ
 lv!
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!