สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

<< < (17/17)

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00078
๗๘...

         ก่อนเข้าสู่พิธีมงคลสมรสซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๘ นายสมชายก็เข้ากรรมฐานเป็นเวลา ๑๕ วัน ตามที่ได้สัญญาไว้กับท่านพระครู ชายหนุ่มตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อจะให้ได้บุญเท่ากับบวชหนึ่งพรรษา

            ในวันสุดท้ายของการปฏิบัติ เขารู้สึกอิ่มอกอิ่มใจนัก กลอนบทหนึ่งผุดขึ้นในความคิดและเขาก็จำได้แม่นยำทุกตัวอักษร

            โลกวุ่นนักขัดข้องลองมานี่

                 เพราะเรามีธัมมะจะให้ท่าน

                          ป่ามะม่วงร่มเย็นให้เป็นทาน

                                  อย่าได้ผ่านไปเปล่าเชิญเข้ามา

            เมื่อตนได้ลิ้มรสแห่งความสุขอันเกิดจากความสงบแล้ว จึงอยากให้คนเป็นคู่หมั้นได้มาสัมผัสกับสภาวะเช่นนี้บ้าง จึงไปเรียนปรึกษาท่านพระครู เพื่อขออนุญาต เพราะเหลือเวลาอีกตั้ง ๒๐ วัน กว่าจะถึงวันแต่งงาน

            “เป็นความคิดที่ดีทีเดียว ฉันอยากให้คู่สมรสทุกคู่เขาคิดอย่างเธอ เพราะจะทำให้ชีวิตแต่งงานเป็นไปอย่างราบรื่น ด้วยต่างฝ่ายต่างก็มีธรรมเสมอกัน” ท่านพระครูเห็นดีเห็นงามไปด้วย

            “ให้เขาเข้าสักเจ็ดวันก็พอนะครับหลวงพ่อ เวลาที่เหลือจะได้เอาไว้เตรียมงาน” ชายหนุ่มออกความเห็น

            “ก็ได้ เจ็ดวันก็ได้ ตามใจเขาก็แล้วกัน”

            “แล้วผมจะรวยไหมครับหลวงพ่อ พากันมาเข้ากรรมฐานแล้วจะรวยอย่างทิดจ่อยกับพี่จุกเขาหรือเปล่า”

            “แน่นอน ถึงไม่รวยโภคทรัพย์ ก็รวยอริยทรัพย์ หรือไม่ก็รวยทั้งสองอย่าง”

         “อริยทรัพย์คืออะไรครับ” ชายหนุ่มไม่เข้าใจ

            “คือทรัพย์อันประเสริฐ ทรัพย์ในที่นี้ก็คือคุณธรรมประจำใจอย่างประเสริฐ ๗ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และ ปัญญา” ท่านพระครูอธิบาย ครั้นเห็นคนเป็นศิษย์ทำหน้าไม่เข้าใจ จึงขยายความต่อไปอีกว่า

            “อริยทรัพย์เป็นทรัพย์ที่อยู่ภายในจิตใจ จึงดีกว่าทรัพย์ภายนอก เพราะไม่มีผู้ใดแย่งชิง ทั้งยังไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่าง ๆ ทำใจให้ไม่อ้างว้างยากจน และเป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย”

            “แต่ผมคิดว่าทรัพย์ภายนอกดีกว่านะครับ เพราะใช้ซื้ออะไรต่อมิอะไรที่ต้องการได้” ชายหนุ่มแย้ง

            “เธอมันก็เป็นเสียอย่างนี้ ชอบตะแบงอยู่เรื่อย ๆ ฉันไม่อยากพูดกับเธอแล้ว พูดไปก็เหมือนเป่าปี่ให้ความฟัง” ท่านพระครูเปรียบเทียบค่อนข้างรุนแรง

            “โธ่หลวงพ่อ อยู่ดีไม่ว่าดี มาด่าผมว่าเป็นความซะแล้ว คนอย่างผมออกฉลาดปราดเปรื่อง” ศิษย์วัดโวยวาย

            “ใช่ซี คนอย่างเธอน่ะฉลาด แต่ฉลาดในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ส่วนเรื่องที่เป็นเรื่องกลับไม่ฉลาด” ท่านหลีกเลี่ยงไม่ใช่คำว่า “โง่”

            “ทำไมจะไม่เป็นเรื่องเล่าครับ หลวงพ่อให้ผมเข้ากรรมฐาน ผมก็เข้าแล้ว แถมยังจะให้คู่หมั้นมาเข้าอีกด้วย แล้วอย่างนี้ไม่ฉลาดหรือครับ นี่ผมชักน้อยใจแล้วนะ หลวงพ่อไม่เคยเห็นความดีของผมเลย” คนพูดรู้สึกน้อยใจจริงดังวาจา

            “เข้าเค้าแล้ว” ท่านเจ้าของกุฏิพูดยิ้ม ๆ

            “มีอะไรอีกหรือครับ” ถามงง ๆ

            “เธอเคยได้ยินคนเขาพูดกันไหมว่า คนหัวล้านมักใจน้อย แสดงว่าใกล้ความจริงเข้ามาแล้ว”

            “เถอะครับ อะไรมันจะเกิดก็ให้มันเกิด ผมไม่อยากจะคิดมากแล้ว” ชายหนุ่มพูดปลง ๆ

            “ดี คิดอย่างนั้นได้ก็ดี จะได้ไม่มีทุกข์ ว่าแต่ว่าเรามาพูดเป็นงานเป็นการกันดีกว่า ฉันคิดว่าหลังจากเธอแต่งงานแล้ว เธอก็ต้องย้ายไปอยู่บ้านผู้หญิงเขา แล้วฉันก็จะต้องหาคนมาอยู่รับใช้แทนเธอ เจ้าขุนทองคนเดียวมันคงไม่ไหว แล้วฉันก็ไม่ค่อยจะไว้วางใจมันสักเท่าไหร่ เจ้านี่มันคุ้มดีคุ้มร้าย เอาแน่ไม่ได้ เธอคิดจะไปหางานอื่นทำหรือว่าจะยังมาขับรถให้ฉันล่ะ พูดมาตรง ๆ เลยไม่ต้องเกรงใจ”

            “ผมจะมารับใช้หลวงพ่อเหมือนเดิมครับ แต่ขอมาเช้าเย็นกลับ หรือถ้าวันไหนหลวงพ่อจะต้องไปธุระตั้งแต่ตีสี่ ผมก็จะมานอนที่วัด รับรองว่าไม่ให้บกพร่องในหน้าที่เลยครับ” ชายหนุ่มให้คำมั่นสัญญา

            “ดีแล้ว ขอบใจที่ยังเป็นห่วง แล้วฉันก็จะขึ้นเงินเดือนให้เธอจากเดือนละพันเป็นเดือนละพันสอง พอใจไหม”

            “เป็นพระคุณอย่างสูงครับ ว่าแต่ว่าหลวงพ่อจะให้ใครมาอยู่แทนผมครับ” เขาถาม

            “ฉันก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกัน เธอพอจะมองเห็นใครที่จะเข้ากับเจ้าขุนทองได้บ้าง คือมาอยู่แล้วจะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันให้ฉันต้องปวดหัวน่ะ” ชายหนุ่มครุ่นคิดอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งจึงตอบว่า

            “เจ้าสมชาติน้องชายผมซีครับหลวงพ่อ เจ้าหมอนี่มันใจเย็นแล้วก็ไม่ขัดใจใคร เจ้าขุนทองต้องชอบแน่ ๆ เลย”

            “แล้วตอนนี้เขาทำงานอะไร เธอคิดว่าเขาจะมาอยู่กับฉันหรือ”

            “มาแน่ครับ เจ้านี่มันเชื่อผม แล้วมันก็เคยบ่นว่าขี้เกียจทำนา คงไม่มีปัญหารับ เรื่องนี้ผมจะจัดการให้เรียบร้อย” ศิษย์วัดรับคำแข็งขัน

            “งั้นก็รีบไปจัดการเสียเลย ให้มาวันนี้พรุ่งนี้ได้ยิ่งดี”

            แล้ววันสำคัญที่สุดในชีวิตของนายสมชายก็มาถึง เป็นวันที่เขาแต่งตัวอย่างหล่อเหลาที่สุด และเจ้าสาวของเขาก็สวยสะดุดตากว่าทุกวัน

            แขกเหรื่อพากันมาร่วมงานอย่างคับคั่ง และส่วนมากก็เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านพระครู โดยเฉพาะเถ้าแก่บ๊กนั้น “รับไหว้” คู่บ่าวสาวเป็นเงินถึงหนึ่งหมื่นบาท

            เมื่อหายจากโรคร้าย บุรุษนั้นไม่ลืมวาจาที่เคยพูดไว้ ว่าจะให้เทวดาที่ต่ออายุให้ โดยคิดเฉลี่ยปีละหมื่นและเพราะเห็นว่านายสมชายมีบุญคุณ นำยามาให้อย่างสม่ำเสมอ จึงตั้งใจจะช่วยเหลือเขาจนสุดความสามารถ

            หลังจากปฏิบัติกรรมฐานอยู่ที่วัดป่ามะม่วงครบสามเดือนแล้ว ชายชราจึงกลับบ้าน และนำเงินมาถวายท่านพระครูห้าหมื่นบาท เพื่อสมทบทุนสร้างหอประชุม และทุนเสริมสมอง รายการละสองหมื่นบาท ส่วนอีกหนึ่งหมื่นบาทเขาถวายท่านพระครูไว้สำหรับใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็ได้นำเงินจำนวนนั้นมา “รับไหว้” คนเป็นศิษย์

            เพียงสองรายแรก คู่บ่าวสาวก็ได้เงินก้นถุงเป็นจำนวนถึงสองหมื่นบาท แล้วก็ยังมีรายละห้าพันบาทอีกสามรายคือ เถ้าแก่เส็ง คหบดี และอาจารย์ชิต โดยเฉพาะอาจารย์ชิตนั้นได้กำชับนักกำชับหนาว่าหากนายสมชายจะแต่งงานให้ส่งการ์ดเชิญไปให้เขาด้วย เพราะต้องการจะตอบแทนบุญคุณที่ชายหนุ่มได้ดูแลช่วยเหลือเขาเป็นอย่างดีระหว่างที่ป่วยอยู่ที่วัดป่ามะม่วง

            นอกจากรายใหญ่ ๆ ห้ารายแล้ว ก็มีรายละพัน รายละห้าร้อย ลดหลั่นลงมาเรื่อย ๆ และรายที่น้อยที่สุดก็คือห้าบาท ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดและส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงซึ่งจะยกกันมาทั้งครอบครัว แล้วพากันกินอย่างอิ่มหนำสำราญด้วยเงินช่วยเพียงห้าบาทเท่านั้น

            สัปดาห์ต่อมานายสมชายก็พาภรรยามากราบท่านพระครูที่วัดป่ามะม่วงและนำเงินมาถวายห้าหมื่นบาท

            “ผมขอถวายคืนหลวงพ่อ เพื่อสมทบทุนสร้างหอประชุมตามเจตนารมณ์ของคหบดีเขาครับ” เขาเรียนชี้แจง

            “ไปเอาเงินมาจากไหน” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

            “เงินที่เขารับไหว้และเงินช่วยงานครับ เบ็ดเสร็จได้ถึงเจ็ดหมื่น เพราะบารมีของหลวงพ่อทีเดียว ผมถึงได้เงินช่วยมากมายถึงปานนี้ แถวบ้านผมไม่เคยมีใครได้มากเท่านี้มาก่อนเลยครับ” ชายหนุ่มพูดอย่างภูมิใจ

            “แต่ถ้าเธอจะทำบุญก็ถือว่าเป็นเงินของเธอนะ เพราะคหบดีเขาให้เธอแล้ว เป็นอันว่างานนี้คหบดีได้บุญสองต่อ” ท่านเจ้าของกุฏิกล่าว

            “ครับ งั้นผมก็โชคดีที่ได้ทำบุญเป็นเงินจำนวนมากมายอย่างนี้”

            “แหม ถ้าหนูแต่งแล้วได้เงินช่วยมาก ๆ ยังงี้คงดีใจตายเลย” นายขุนทองว่า

            “ถ้างั้นก็อย่าแต่งเลยวะ ข้ายังไม่อยากให้เอ็งตาย อยากให้อยู่รับใช้หลวงพ่อไปก่อน” คนมากวัยกว่าออกความเห็น

            “แหม พี่ละก็ หนูแค่พูดเล่น ๆ เท่านั้นเอง อยู่กะหลวงลุง ขืนดีใจตายก๊อเสียชื่อหลวงลุงแย่ หนูรู้หรอกน่าเวลาดีใจมาก ๆ ต้องกำหนด “ดีใจหนอ ดีใจหนอ” รับรองว่าไม่ตาย” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดบวกอีกหนึ่งอธิบาย ท่านเจ้าของกุฏิจึงกล่าวเสริมอีกว่า

            “เออ รู้อย่างนี้ก็ดีแล้ว คนเราสมัยนี้ไม่ค่อยจะฝึกสติกัน ดีใจมากก็ช็อคตาย เพราะไม่รู้จักกำหนดสติ ไม่รู้จักวางเฉยในโลกธรรมทั้งฝ่ายอิฏฐารมณ์ และ อนิฏฐารมณ์ บางคนถูกรางวัลที่หนึ่งตั้งห้าแสนแต่กลับไม่ได้ใช้เงินแม้แต่บาทเดียว เพราะดีใจจนช็อคตายไปเสียก่อน”

         “ก็เขาไม่ได้มาเรียนกรรมฐานกับหลวงลุง จึงไม่รู้จักกำหนด “ดีใจหนอ ดีใจหนอ” ถ้าเป็นขุนทองเรอะ ส.บ.ม.”

            “แต่พูดกับทำไม่เหมือนกันหรอกนะเจ้าขุนทอง ข้าว่าเอ็งน่าจะลองปฏิบัติดู ไม่ใช่รู้แต่ทฤษฎี คนที่เรียนว่ายน้ำจากทฤษฎี พอตกน้ำก็ตายเรียบร้อยทุกราย”ท่านเจ้าของกุฏิเปรียบเทียบ

            “เอาไว้วันหนังหนูค่อยลอง รอให้ใจคอมันปลอดโปร่งกว่านี้อีกสักหน่อย” หลานชายผัดผ่อน

            “มัวผัดวันประกันพรุ่งอยู่นั่นแหละ ระวังจะสายเกินไป” ท่านพระครูเตือน

            “เถอะน่า รับรองว่าไม่สาย ไว้ใกล้ ๆ แต่งงานแล้วหนูค่อยเข้ากรรมฐาน แบบพี่สมชายไง” ชายหนุ่มให้เหตุผล

            “แล้วตอนนี้จวนหรือยัง จวนแต่งหรือยังจ๊ะ” ภรรยานายสมชายกระเซ้า

            “จวนแล้วฮ่ะ ยังขาดอีกอย่างเดียว” เขาตอบ

            “ขาดอะไร เผื่อพี่พอจะหาให้ได้” หล่อนแสดงน้ำใจไมตรี

            “ยังขาดเจ้าบ่าวฮะ นอกนั้นพร้อมแล้ว”

            “มันจะมากไปเจ้าขุนทอง มันจะมากไป” ท่านพระครูว่าคนเป็นหลาน

            “ไม่มากหรอกหลวงลุง ไม่เชื่อหลวงลุงจะลองดูก็ได้ ลองหาเจ้าบ่าวมาให้หนูซักคน แล้วดูซิว่าหนูจะยอมเข้ากรรมฐานหรือไม่”

            “ข้าไม่รู้จะไปหาที่ไหนมาให้เอ็ง ถ้าหาเจ้าสาวละก็พอจะหาให้ได้” คนเป็นสมภารรู้สึกอ่อนใจ

            “อุ๊ย หนูจะเอามาทำไมเจ้าสาวน่ะ ก็หนูเป็นเจ้าสาวอยู่แล้ว ขืนหามาอีกได้ฟ้าผ่าตายปะไร หลวงลุงนี่พิลึกจริง ๆ”

            “ข้าว่าเอ็งนั่นแหละพิลึก สมชายเธอเห็นด้วยไหม” ท่านถามคนเป็นศิษย์

            “อย่าไปเถียงกับมันเลยครับหลวงพ่อ ปวดหัวเปล่า ๆ มันจะว่ายังไงก็ปล่อยให้มันว่าไปคนเดียว อ้อหลวงพ่อครับ เจ้าสมชาติน้องชายผมไปไหนเสียล่ะครับ” ชายหนุ่มถามถึงน้องชายซึ่งได้มาอยู่รับใช้ท่านพระครูแทนเขาประมาณสิบวันแล้ว

            ช่วงก่อนแต่งงานเขามีธุระยุ่งมาก ประกอบกับท่านเจ้าของกุฏิไม่ได้มีธุระไปไหน เขาจึงไม่ได้มาวัดและไม่เห็นน้องชายเสียหลายวัน ท่านพระครูยังไม่ทันตอบ คนถูกถามหาก็เดินเข้ามาพอดี

            “อุ๊ยตาย พี่สมชาย พี่แป้งร่ำ มายังไงกันนี่ แหม ดีใจ๊ดีใจ” คนชื่อสมชาติทักทายดวยเสียงมีจริตจะก้าน นายสมชายมองหน้าท่านพระครู เหมือนจะถามว่าได้เกิดอะไรขึ้น

            “ดูเอาเอง” ท่านเจ้าของกุฏิตอบโดยไม่รอให้ถาม

            “สมชาติ เอ็งเป็นอะไรไป ก็เป็นผู้ชายอยู่ดี ๆ ไหงมากระตุ้งกระติ้งยังกะผู้หญิงล่ะ” คนเป็นพี่ชายสงกา

            “ก็ถามขุนทองเขาดูซี นิขุนทองนิ” ชายหนุ่มหันไปพยักพเยิดกับนายขุนทอง หนุ่มวัยยี่สิบสองหมาด ๆ ยิ้มอย่างมีชัยแล้วว่า

            “เขาเรียกออสโมซิสฮ่ะ คนเราจะอยู่ด้วยกันก็ต้องมีอะไร ๆ ที่คล้ายคลึงกัน ถึงจะอยู่ด้วยกันยืด”

            “แล้วที่เองอยู่กับข้ามานาน ทำไมเอ็งถึงไม่ปรับตัวให้เหมือนข้าหือ”นายสมขายแย้ง

            “พี่ไม่ปรับตัวเขาหาหนูต่างหากล่ะ สมชาติเขาฉลาดกว่าพี่เยอะตรงที่รู้จักปรับตัว.” คนเป็นหลานท่านพระครูว่า

            “เอาอีกแล้ว ว่าข้าโง่อีกแล้ว” สามีนางแป้งร่ำว่า

            “พี่สองคนมาธุระอะไรหรือเปล่าฮะ” นายสมชาติถามขึ้น คนเป็นพี่ชายจึงว่า

            “ก็จะมาดูเอ็งนั่นแหละว่าอยู่สุขสบายดีหรือเปล่า”

            “แล้วพี่เห็นว่าหนูสบายหรือเปล่าล่ะฮะ คนเป็นน้องย้อนถาม”

            “ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ที่รู้แน่ ๆ คือตัวข้านี่แหละยังไม่สบาย มาเห็นเอ็งเป็นแบบเจ้าขุนทองไปอีกคน บอกตามตรงว่าข้าไม่สบายใจเลย หลวงพ่อทำไมเลี้ยงผู้ชายให้กลายเป็นผู้หญิงล่ะครับ” เขาถือโอกาสต่อว่าท่านพระครู

         “ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็เลี้ยงมันเหมือนที่เลี้ยงเธอทุกอย่างนั่นแหละ แต่ทำไมมันถึงไม่เหมือนเธอก็ไม่รู้”

         “ต้องยกให้เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม ใช่ไหมครับ”

         “ก็คงต้องเป็นยังงั้น แต่ที่เธอเห็นนี่ยังไม่เท่าที่ฉันเห็นหรอก” ท่านโน้มตัวมากระซิบข้างหูคนเป็นศิษย์ว่า

         “ที่ฉันเห็นนะ เจ้าสองคนนี่มันเพี้ยนหนักกว่านี้อีก เวลามีพวกเด็กหนุ่ม ๆ หล่อ ๆ มาเข้ากรรมฐาน มันจะแวะเวียนไปแถวกุฏิกรรมฐานวันละหลายเวลา ไปแอบดูเขาแล้วก็เอามาวิพากษ์วิจารณ์ว่าหล่อยังงั้นยังงี้ บางทีก็ย่างกันเสียด้วยซ้ำ ท่าทางมันจะกู่ไม่กลับทั้งคู่นั่นแหละ” ท่านพระครูแฉพฤติกรรมของคนทั้งสอง

         “หลวงลุงนินทาอะไรหนู” หลานชายว่า

         “ข้าเปล่านินทา ข้าพูดความจริงต่างหากล่ะ”

         “ก็ถ้าพูดความจริงแล้วทำไมต้องกระซิบด้วยล่ะฮะ” นายขุนทองแย้ง

         “นั่นเพราะเอ็งไม่ยอมรับความจริงต่างหากล่ะ ข้าก็เลยต้องกระซิบน่ะซี หรือเอ็งจะเถียง”

         “ไม่เถียงก็ได้ฮะ ว่าแต่ว่าหลวงลุงลงรับแขกเถอะฮ่ะ หนูปล่อยให้พวกเขารอนานแล้ว” หลานชายเตือนนายสมชายและภรรยาจึงกราบลาท่านเจ้าของกุฏิ

         “ถ้าหลวงพ่อจะมีธุระไปไหนก็ให้เจ้าสมชาติไปตามผมนะครับ แต่ถ้ายังไม่มี ผมก็จะขอพักอีกสักสองสามวันแล้วค่อยมาทำงาน”

         “ไม่เป็นไร เชิญพักผ่อนตามสบายเถอะ ฉันยังไม่มีรายการไปไหนในช่วงนี้ ว่าจะสะสางให้เสร็จ ๆ เสียที โดยเฉพาะงานเขียนหนังสือ” ก่อนกลับชายหนุ่มยังสั่งนายขุนทองและนายสมชาติว่า

         “เอ็งสองคนช่วยกันดูแลหลวงพ่อให้ดีนะ อย่ามัวแต่ไปเที่ยวแอบดูหนุ่ม ๆ ล่ะ”

         “รับรองฮ่ะ ทีนี้ถ้าจะไปก็จะผลัดเวรกันไป จะไม่ไปพร้อมกัน ใช่ไหมขุนทอง” คนชื่อสมชาติพูดเสียงอ่อนเสียงหวาน

         “ใช่แล้วสมชาติ” คนพูดตั้งใจลากเสียงยาวจนเกิดความจำเป็น

         เมื่อท่านพระครูลงรับแขกที่กุฏิชั้นล่าง มีเจ้าทุกข์รออยู่แล้วประมาณยี่สิบคน สตรีวัยห้าสิบเศษเข้ามากราบ

         “จะให้ช่วยอะไรหรือโยม” ท่านเอ่ยขึ้นก่อน

         “คืออย่างนี้ค่ะ ลูกชายดิฉันมันหลงเมียเสียจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ดิฉันทนไม่ได้ค่ะ”

         “ทำไมถึงทนไม่ได้ล่ะโยม”

         “มันหมั่นไส้ค่ะ หมั่นไส้เหลือเกิน” คนเป็นแม่ผัวตอบ

         “อย่าไปหมั่นไส้เขาเลย เราน่าจะดีใจเสียอีกที่เห็นเขารักใคร่ปรองดองกัน คนเป็นแม่จะต้องมีมุทิตาจิต ไม่ใช่ไปหมั่นไส้เขา นะโยมนะ”

         “มันทำใจไม่ได้ค่ะหลวงพ่อ ดิฉันไม่เคยพบเห็นผู้ชายที่ไหนหลงเมียถึงปานนี้ ขนาดพ่อเด็กเขาก็ยังไม่เคยหลงดิฉันอย่างนี้มาก่อน”

         “โยมก็เลยอิจฉาลูกสะใภ้ใช่ไหมล่ะ” ยังไง ๆ ท่านก็เข้าข้างคนเป็นสะใภ้ เพราะยังจำฤทธิ์ร้ายของคนเป็นแม่ผัวในอดีตชาติได้ดี แม้ปัจจุบันจะไม่เคืองแค้น หากก็ยัง “จำ” ความร้ายกาจของฝ่ายนั้นได้

         “มันก็ไม่เชิงอิจฉานะคะ ถ้าเขาจะทำตัวดีกว่านี้ ดิฉันจะไม่อิจฉาเขาเลยค่ะ”

         “เขาทำตัวยังไงล่ะ”

         “โอ๊ย อย่าให้พูดเลยค่ะหลวงพ่อ พูดแล้วมันช้ำใจ” ว่าแล้วก็ร้องไห้ด้วยเคียดแค้นชิงชังในคนเป็นสะใภ้

         “ก็ถ้าไม่พูดแล้วอาตมาจะรู้ได้ยังไงล่ะ”

         “จริงซีคะ แหม ดิฉันไม่น่าโง่เลย” นางว่าตัวเอง แล้วเริ่มต้นเล่าเป็นฉาก ๆ อย่างชำนิชำนาญ เพราะเคยเล่าให้เพื่อนบ้านฟังทุกบ้านและทุกวันจนหาคนฟังไม่ได้ จึงต้องมาวัดป่ามะม่วงเพื่อเล่าให้ท่านพระครูฟัง

         “คืออย่างนี้นะคะหลวงพ่อ ลูกสะใภ้ของดิฉันน่ะ สวยก็ไม่สวยความรู้ก็ไม่สูง กิริยามารยาทหรือก็ไม่บ่งบอกว่าเป็นชาติผู้ดี แถมฐานะก็ยากจนข้นแค้น ดิฉันก็ไม่รู้ว่าไอ้ลูกชายของดิฉันมันไปหลงได้ยังไง ดิฉันจะไปขอลูกสาวเศรษฐีให้ เขาทั้งสวยทั้งรวยมันก็ไม่สนใจเขา ดันไปคว้าแม่นี่มาเป็นเมีย”

         “ก็เขาชอบของเขานี่โยม เขาคงจะเป็นเนื้อคู่กัน ปล่อยเขาไปเถอะอย่าไปยุ่งกับเขาเลย” สมภารวัดป่ามะม่วงกล่าวเตือน

         “ไม่ยุ่งได้ยังไงล่ะคะ หลวงพ่อดิฉันสงสารลูกชายค่ะ มันใช้ลูกชายฉันยังกะขี้ข้า หาเงินมาเลี้ยงมันแล้วยังต้องมานั่งหุงข้าวทำกับข้าวให้มันกิน ต้องซักผ้าให้ ซักแม้กระทั่งกางเกงในของมัน ขนาดดิฉันเป็นแม่แท้ ๆ ยังไม่เคยให้ลูกซักกางเกงใน” คนเป็นแม่ผัวพรรณนา

         “มันจะมากไป มันจะมากไป ถ้าถึงขนาดให้ผัวซักผ้าให้แบบนั้นก็แย่น่ะซี คนอย่างนี้หากินไม่ขึ้น โบราณเข้าถือนักหนา ผู้ชายที่รักเมียถึงขนาดนี้ อาตมาไม่สรรเสริญแน่ ไม่น่าสรรเสริญเลย” เป็นครั้งแรกที่ท่านเข้าข้างแม่ผัว

         “แล้วดิฉันจะทำยังไงคะหลวงพ่อ”

         “พามาหาอาตมา แล้วจะช่วยอบรมให้ พามาทั้งสองคนนั่นแหละ”

         “ค่ะ แล้วดิฉันจะพามา ของพระคุณหลวงพ่อมาก ดิฉันถือโอกาสกราบลาละค่ะ”

         รายต่อมาเป็นบุรุษวัยห้าสิบเศษ หน้าตาเขาหมองคล้ำเหมือนคนที่กำลังมีทุกข์อย่างหนัก กราบท่านพระครูแล้วจึงเรียนว่า “เรื่องของผมเป็นความลับครับ ถ้าหลวงพ่อจะกรุณา ผมอยากปรึกษาตัวต่อตัวครับ”

         “ไม่เป็นไร พูดเบา ๆ พอได้ยินกันสองคนก็ได้ โยมมีอะไรก็ว่าไปเลย” ท่านไม่อนุญาตให้ขึ้นข้างบน ด้วยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น

         “คืออย่างนี้ครับหลวงพ่อ คุณแม่ผมอายุแปดสิบ แล้วแกก็หลง หลงมาตั้งแต่ยังไม่เจ็ดสิบ ผมไม่กล้าพาไปไหน เพราะอับอายขายหน้ามาก แกมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ใคร ๆ เห็นเข้าก็ต้องตำหนิติเตียน ผมจะบาปไหมครับถ้าเอาความลับของผู้บังเกิดเกล้ามาเปิดเผยให้หลวงพ่อทราบ”

         “โยมมีจุดประสงค์อะไรที่ต้องทำเช่นนั้นล่ะ คือหมายถึงว่าโยมมีเจตนาดีหรือเจตนาร้ายต่อท่าน”

         “เจตนาดีครับ ที่ต้องเอามาเปิดเผยก็เพื่อจะช่วยแกน่ะครับ เมื่อหลวงพ่อฟังแล้วเผื่อจะแนะนำผมได้ว่าจะมีวิธีแก้อย่างไร” ท่านเจ้าของกุฏิตอบเขาว่า

         “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่บาป เพราะโยมทำด้วยเจตนาดี” เขาหันซ้ายหันขวาเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครมาได้ยิน แล้วจึงเล่าด้วยเสียงที่เบาที่สุด

         “คือแม่ผมแกชอบล้วงเข้าไปในผ้านุ่งครับ เอามือล้วงเข้าไปตรงนั้นแล้วก็ควักมาดม เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่อายุยังไม่เจ็ดสิบ ผมไม่กล้าพาแกไปไหน เพราะอับอายชาวบ้าน ก่อนหน้าที่ผมไม่ทราบว่าแกมีพฤติกรรมอย่างนี้ ผมก็พาแกไปทอดกฐินที่วัดต่างจังหวัด ซึ่งผมเป็นประธานของงาน ความที่ผมอยากให้แม่ได้บุญเลยพาแกไปด้วย แล้วแกก็ไปทำอย่างนี้ ทำให้ผมกับภรรยาอับอายเขามาก เพราะกรรมอะไรครับ แล้วผมจะแก้ไขอย่างไร” ท่านพระครูรู้สึกสังเวชใจที่ได้ยินได้ฟัง และท่านก็เห็นกฎแห่งกรรมของสตรีวัยแปดสิบอย่างทะลุปรุโปร่ง

         “มันเป็นกฎแห่งกรรมน่ะ โยมคุณแม่ของโยมทำกรรมไว้ตอนสาว แล้วกรรมนั้นก็มาให้ผลในตอนแก่ โดยอยากทราบไหมว่าท่านทำกรรมอะไรไว้”

         “อยากทราบครับ กรุณาบอกผมด้วยเถิดครับ”

         “โยมเชื่อเรื่องเสน่ห์ยาแฝดหรือเปล่า เรื่องผู้หญิงที่ชอบทำเสน่ห์ให้สามีหลง เคยได้ยินไหม”

         “เคยได้ยินครับ แต่ไม่ค่อยจะเชื่อว่าจะเป็นไปได้ คือผมหมายถึงว่ามันจะได้ผลน่ะครับ” คนมีแม่อายุแปดสิบตอบ

         “จะได้ผลหรือไม่ได้ผล มันก็ขึ้นอยู่กับคนถูกทำนะโยม ถ้าคนถูกทำจิตอ่อนก็ได้ผล แต่ถ้าเขาจิตแข็ง เสน่ห์ยาแฝดที่ว่าก็ทำอะไรเขาไม่ได้ ทีนี้ในกรณีของคุณแม่โยมนั้นได้ผล เพราะคนพ่อโยมเป็นคนจิตอ่อน ที่อาตมาพูดมานี้โยมอาจจะไม่เชื่อ เพราะฟังดูเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระใช่ไหม แต่ถ้าโยมคิดและพิจารณาตามหลักของเหตุผลแล้ว พฤติกรรมของคุณแม่โยมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีที่สุด”

         คำพูดของท่านพระครู ทำให้บุรุษวัยห้าสิบเศษหวนระลึกถึงเหตุการณ์สมัยที่เขายังเด็ก และมารดามักจะนั่งคร่อมบนอาหารที่จะให้บิดารับประทาน และหากเป็นผักสดและผลไม้ นางก็จะเอาซุกเข้าไปในผ้านุ่งเช็ดถูกับบริเวณใต้ท้องน้อยแล้วจึงนำไปให้บิดารับประทาน ท่านเจ้าของกุฏิให้เวลาเขาในการรำลึกนึกย้อนกลับไปยังอดีต เสร็จแล้วจึงพูดขึ้นว่า

         “เรื่องการทำเสน่ห์มันเป็นไสยศาสตร์ เป็นเดรัจฉานวิชา เมื่อคนถูกทำเสน่ห์ตายลง มันก็จะกลับมาหาตัวคนทำ โยมสังเกตหรือเปล่า คุณแม่โยมเริ่มมีพฤติกรรมแบบนี้หลังจากที่คุณพ่อเสียไปแล้ว”

         “ครับ คงจะจริงอย่างที่หลวงพ่อว่า คุณพ่อผมเสียชีวิตตอนคุณแม่อายุหกสิบเศษ ๆ หลังจากนั้นไม่นาน คุณแม่ก็มีพฤติกรรมแปลก ๆ อย่างที่เป็นอยู่” คนพูดรู้สึกร้อนอกร้อนใจที่มารดามามีอันเป็นเช่นนี้ได้

         “ผมจะช่วยแกได้อย่างไรครับ” ถามเสียงละห้อย

         “ช่วยไม่ได้หรอกโยม คนแก่จนหลงแล้วไม่มีทางแก้ได้ ต้องปล่อยไปตามกรรมของเขา สิ่งที่เกิดแล้วแก้ไม่ได้ ในกรณีนี้แก้ไม่ได้ โยมจำไว้เลย แล้วก็ไปสอนลูกหลานว่าอย่าไปทำเสน่ห์ สามีเขาจะรักหรือไม่รักก็ช่างเขา เพราะมันจิตใจของเขา เราไปห้ามไม่ได้ ถ้าไปทำเสน่ห์ให้เขามารัก บาปกรรมจะต้องตกอยู่ที่ตัวเรา เพียงแต่ว่ามันจะปรากฏผลให้เห็นเร็วหรือช้าเท่านั้น อาตมาเสียใจที่ไม่อาจช่วยคุณแม่ของโยมได้”

         “แต่ถึงจะช่วยแม่ไม่ได้ แต่ก็ช่วยผมได้ครับ เพราะเมื่อผมรู้เช่นนี้แล้วก็ทำใจได้ แม่แกเป็นคนทำกรรม แกก็ต้องรับผลของมัน แล้วผมก็จะสอนลูกหลานไม่ให้เอาเยี่ยงอย่างแก ถึงอย่างไรผมก็ได้รับประโยชน์จากการมาครั้งนี้ครับ” เขากล่าวด้วยใบหน้าที่ดูดีขึ้นนิดหนึ่ง นิดเดียวจริง ๆ

 

            มีต่อ........๗๙

 

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00079
๗๙...

            วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๒๑ บรรดาศิษยานุศิษย์ได้จัดงานวันคล้ายวันเกิดให้เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงอย่างสมเกียรติที่สุด หลายคนรู้ว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยอีกสองเดือนข้างหน้า ท่านจะต้องประสบอุบัติเหตุถึงแก่มรณภาพ ผู้ที่ยังตัดไม่ลงปลงไม่ตก พากันแอบร้องไห้ไว้ล่วงหน้า พระบัวเฮียวนั้นแม้จะตัดใจได้ หากก็ยังรู้สึกเสียดายอาลัยอาวรณ์

         ในความคิดของภิกษุหนุ่ม ปูชนียบุคคลเช่นท่านพระครูคงหายากนักในโลกอันแสนวุ่นวายนี้

         แจกันสีครามบรรจุดอกดาวเรืองสีเหลืองอร่ามตัดกับสีเขียวของใบเตยดูสวยแปลกตา ภิกษุเชื้อสายญวนตั้งใจตกแต่งอย่างประณีตที่สุด ด้วยรู้ว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้แสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อพระอุปัชฌายาจารย์ วงมโหรีปี่พาทย์ที่มาบรรเลงในงานเป็นวงเดียวกับที่เคยมาเล่นทุกปี ทว่าครั้งนี้คนฟังกลับรู้สึกว่าแต่ละเพลงที่บรรเลงนั้นฟังเศร้าสร้อยเสียดลึกเข้าไปถึงหัวใจหัวจิต ไม่ผิดกับบรรเลงในงานศพ!

         หอประชุมหลังใหญ่ขนาด ๗ x ๒๐ วา สิ้นเงินค่าก่อสร้างหนึ่งล้านห้าแสนบาท เสร็จทันเวลา และ ได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานวันเกิดครั้งสุดท้ายของท่านสมภารผู้ซึ่งสั่งเสียพระบัวเฮียวไว้ว่า ให้ใช้หอประชุมแห่งนี้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้สนใจใคร่ธรรม ตลอดจนญาติโยมผู้มีความทุกข์ เพราะต่อแต่นี้ไปจะไม่มีผู้ใดมาช่วยไขปัญหาหรือขจัดปัดเป่าทุกข์ให้เหมือนเช่นแต่ก่อน พวกเขาจะต้องแก้ปัญหาแก้ทุกข์ด้วยตัวเองโดยการมาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

         สำหรับมูลนิธิ “ทุนเสริมสมอง” นั้นมีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารกว่าหนึ่งล้านบาท เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมอบหมายให้พระมหาบุญเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการ นำดอกผลมาใช้เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ยากจน ส่วนหนังสือคู่มือการสอบอารมณ์วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเถ้าแก่เส็งและเถ้าแก่บ๊กได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์ขึ้นนั้น พระบัวเฮียวจะเป็นผู้เก็บรักษาและนำมาแจกญาติโยมที่สนใจในด้านการปฏิบัติ กิจการงานทุกอย่างสำเร็จเสร็จสิ้นลงด้วยดี ไม่มีอะไรติดขัดหรือคั่งค้าง ท่านพระครูเจริญคิดว่าท่านเตรียมตัวตายได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด และคงจะยังไม่มีผู้ใดทำได้เช่นนี้มาก่อน

         เวลา ๙ นาฬิกา บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งพระและฆราวาสพากันทยอยเข้ามาถวายดอกไม้สด และ กราบคารวะท่านพระครูผู้ซึ่งนั่งเด่นเป็นสง่าอยู่บนตั่งไม้สักสลักลายนกอ่อนช้อยงดงาม เบื้องหน้ามีแจกันและกระเช้าดอกไม้ตั้งเรียงรายจนล้นออกไปทางด้านข้างทั้งซ้ายและขวา รับประเคนดอกไม้จากศิษย์แล้ว ท่านจึงนำสิ่งของไปมอบให้โยมมารดาวัยเจ็ดสิบที่นั่งพับเพียบอยู่หน้าอาสนะสงฆ์ ของที่นำไปมอบมีผ้าโจงกระเบนลายไทยหนึ่งผืน เสื้อตัดด้วยผ้าลูกไม้อย่างดีหนึ่งตัว และปัจจัยอีกสองร้อยบาท ท่านประคองห่อของขวัญเดินเข้าไปคุกเข่าตรงหน้าโยมมารดา วางของไว้ทางด้านขวามือ แล้วก้มกราบมารดาสามครั้งแบบเดียวกับกราบพระ ด้วยถือว่ามารดาบิดาเป็นพระอรหันต์ของบุตร กราบเสร็จจึงหยิบห่อของขวัญมอบให้

         “โยมแม่ อาตมาขอกราบลา ขอให้โยมแม่จึงมีอายุยืนยาว มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคาพยาธิ” ท่านอวยพรมารดา

         “ท่านจะลาไปไหน” โยมมารดาถาม

         “อาตมาจะไปบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีต่อในปรโลก วันที่ ๑๔ ตุลาคม อาตมาจะออกเดินทาง” พระลูกชายตอบคำถามโยมมารดา

         “ขอให้ท่านโชคดี ขอให้บรรลุมรรค ผล สมดังความตั้งใจนะท่านนะ ไม่ต้องเป็นห่วงโยม พี่ ๆ น้อง ๆ ของท่านเขาคงจะดูแลโยมอย่างดี”

         “อาตมาขอกราบขอบพระคุณ พร้อมกันนี้อาตมาก็ขออโหสิกรรมจากโยมแม่ หากอาตมาได้พลาดพลั้งล่วงเกินโยมแม่ ไม่ว่าจะด้วยกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม ขอโยมแม่โปรดอโหสิกรรมให้อาตมาด้วย”

         “โยมอโหสิให้ท่านทุกอย่าง และโยมก็ขออโหสิกรรมจากท่านเช่นกัน”

         “อาตมาอโหสิให้โยมแม่” ท่านก้มลงกราบโยมมารดาอีกสามครั้ง แล้วจึงลุกขึ้นกลับไปนั่งพับเพียบบนตั่งไม้สัก

         เวลาสิบนาฬิกา พระสงฆ์ ๙ รูปซึ่งนิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัด เริ่มเจริญพระพุทธมนต์และสวดธรรมจักรไปจนถึงเวลาสิบเอ็ดนาฬิกายี่สิบเก้านาที จากนั้นญาติโยมช่วยกันประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ทั้ง ๙ รูป และพระภิกษุ สามเณรแห่งวัดป่ามะม่วงซึ่งมีทั้งสิ้น ๙๐ รูป รวมทั้งท่านเจ้าของวันเกิด เป็นปีที่มีพระเณรจำพรรษามากที่สุดนับตั้งแต่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้

         ภิกษุวัยห้าสิบเศษมีทีท่าว่าจะไม่ฉันภัตตาหารเหมือนเช่นเคย นายสมชายจึงไปกระซิบอาจารย์ชิตให้ช่วยคะยั้นคะยอให้ท่านฉัน บุรุษวัยหกสิบสี่จึงคลานเข้าไปนั่งคุกเข่าตรงหน้าตั่ง ประนมมือแล้วกล่าว “นิมนต์หลวงพ่อฉันสักนิดเถิดครับ ลูกศิษย์ลูกหารู้สึกไม่สบายใจที่เห็นท่านไม่ฉัน”

         ท่านพระครูมองอาหารคาวหวานที่ลูกศิษย์จัดใส่พานกระไหล่ทองมาถวาย แล้วจึงฉันไปสองสามคำเพื่อไม่ให้พวกเขาเสียน้ำใจ เสร็จแล้วจึงรวบช้อน ยกถ้วยบรรจุ “น้ำชา” ขึ้นดื่ม ตลอดชีวิตของท่าน มิเคยที่จะติดใจหลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง หรือสัมผัสที่น่าใคร่น่าพอใจ กามคุณ ๕ ไม่เคยมามีอิทธิพลเหนือความรู้สึกนึกคิดของท่าน

         เมื่อภิกษุและสามเณรทั้ง ๙๙ รูปเสร็จจากฉันภัตตาหาร บรรดาญาติโยมช่วยกันประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม

         “ปัจจัย” ที่พวกเขาถวายท่านพระครู มีจำนวนกว่าสองแสนบาท ซึ่งท่านตั้งใจจะนำไปสมทบทุนมูลนิธิ “ทุนเสริมสมอง” ต่อไป จากนั้นอาจารย์ชิตประกาศทางไมโครโฟนว่า ท่านพระครูจะแสดงธรรมเทศนาโปรดโยมมารดาและญาติโยม เพื่อให้คนฟังได้บุญอันเกิดจากการฟังธรรม หรือที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า “ธัมมัสสวนมัย”

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงอารัมภบทก่อนแสดงธรรมว่า “กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพและขอเจริญพรญาติโยมพุทธศาสนิกชนที่รักและนับถือทุกท่าน อาตมารู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาญาติโยมและศิษยานุศิษย์ได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานฉลองวันคล้ายวันเกิดให้อาตมา เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ทำบุญสร้างกุศลร่วมกัน กิจกรรมดังกล่าวนี้ แม้จะมิได้มีบัญญัติไว้ในหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากพุทธศาสนิกชนก็ได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานจนกลายเป็นประเพณี คือประเพณีทำบุญวันเกิด

         อย่างไรก็ตาม การจัดการวันเกิดที่อาตมาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ก็คือการร่วมวงสรวลเสเฮฮาดื่มสุรายาเมากัน เพราะการกระทำเช่นนั้น นอกจากจะไม่ได้บุญแล้วยังได้บาปอีกด้วย บางคนดื่มสุราเสียเมามายในวันเกิดแล้วขับรถไปชนกันถึงแก่ความตายก็มี ญาติโยมลองพิจารณาดู การตายแบบนั้นมันดีหรือไม่ อาตมารับรองได้ว่าเขาจะต้องไปทุคติ เพราะคนที่ตายขณะขาดสติเช่นนั้นไม่มีทางที่จะไปสุคติได้ อาตมาขอบิณฑบาตอย่าไปจัดฉลองวันเกิดกันแบบนั้นเลย เพราะนอกจากจะหาประโยชน์มิได้แล้วยังสื้นเปลืองเงินทองอีกด้วย” บรรดาญาติโยมที่ฟังอยู่ ไม่มีผู้ใดคิดโต้แย้งหรือคัดค้านในสิ่งที่ท่านพูด บางคนที่เคยทำเช่นนั้นก็ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะไม่ทำอีก

         “เอาละ ในโอกาสที่ญาติโยมได้พร้อมใจกันจัดงานวันเกิดให้อาตมาในวันนี้ อาตมาก็จะตอบแทนบุญคุณด้วยการแสดงพระธรรมเทศนาให้ญาติโยมฟัง โดยจะเทศน์เรื่อง “พระคุณแม่” และก็คงจะเป็นการเทศน์ครั้งสุดท้าย เพราะปีต่อ ๆ ไปคงจะไม่มีการจัดงานวันเกิดของอาตมาอีก” ท่านบอกเป็นนัย ๆ ซึ่งหลายคนรู้ว่าท่านหมายถึงอะไร

         “ที่อาตมาเลือกเทศน์เรื่องพระคุณแม่ เพราะรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของท่าน ถ้าไม่มีแม่เราทุกคนก็ไม่ได้เกิด อันนี้เป็นความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ ผู้ใดก็ตามที่คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อฟังเทศน์แล้วให้กลับไปหาแม่ ไปกราบเท้าขอศีลขอพรจากท่าน จะได้มั่งมีศรีสุข ส่วนคนที่เคยทำไม่ได้ไว้กับท่านก็นำธูปแพเทียนแพไปกราบขออโหสิกรรม ล้างเท้าให้ท่านด้วย เป็นการขอขมาลาโทษ

         บางคนไปรังเกียจคุณแม่ว่าแก่เฒ่าไม่สวยไม่งาม พอตัวเองแก่ก็เลยถูกลูกหลานรังเกียจ จึงเป็นกงกรรมกงเกวียนยืดเยื้อกันต่อไปอีก ใครที่คุณแม่ล่วงลับไปแล้วก็ให้หมั่นทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน และถ้าจะทำบุญด้วยการมาเจริญกรรมฐานแล้วอุทิศส่วนกุศลไป การทำเช่นนี้ถือว่าได้บุญมากที่สุดทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ”

         คนฟังซึ่งมีทั้งพระภิกษุ สามเณร และฆราวาสต่างพากันรำลึกนึกถึงมารดาตน คนที่เคยเถียงพ่อเถียงแม่คำไม่ตกฟาก ก็เพิ่งจะรู้ตัวว่าได้สร้างกรรมทำเข็ญไว้กับผู้บังเกิดเกล้า จึงคิดที่จะกลับไปทำตามที่ท่านพระครูแนะนำ

         “ญาติโยมโปรดจำไว้ วันเกิดของลูกคือวันตายของแม่ เพราะวันที่ลูกเกิดนั้นแม่อาจต้องเสียชีวิต การออกศึกสงครามเป็นการเสี่ยงชีวิตสำหรับคนเป็นพ่อฉันใด การคลอดลูกก็เป็นการเสี่ยงตายสำหรับคนเป็นแม่ฉันนั้น

         ในสมัยโบราณที่วิทยาการต่าง ๆ ยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนสมัยนี้ อัตราการตายเพราะการคลอดมีสูงมาก คนโบราณเขาจึงกล่าววันเกิดของลูกคือวันตายของแม่

         เมื่อคลอดลูกแล้ว แม่ก็ยังต้องประคบประหงมเลี้ยงดู ให้ดื่มเลือดในอกเป็นอาหาร ยามที่ลูกเจ็บป่วยก็อมยาพ่นฝนยาทารักษากันไปตามมีตามเกิด แม้เฝ้ากล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูกจนเติบใหญ่กระทั่งลูกแต่งงานมีเหย้ามีเรือนไปแล้ว แม่ก็ยังเฝ้าห่วงใยรักใคร่ไม่จืดจาง” ท่านหยุดจิบ “น้ำชา” จากถ้วย แล้วจึงเทศนาต่อ

         “อาตมาเห็นความทุกข์อย่างแสนสาหัสของคนเป็นแม่ก็ตอนที่เป็นหมอตำแยทำคลอดให้พี่สาว แม้ว่าเรื่องราวจะผ่านพ้นมาเกือบสี่สิบปีก็ยังจำภาพเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ติดตาติดใจมากระทั่งทุกวันนี้ อาตมาจะเล่าให้ญาติโยมฟัง” ท่านหยุดทบทวนเรื่องราวแต่หนหลังแล้วเล่าว่า

         “สมัยนั้นอาตมาอายุสิบหาแต่ยังไม่ประสีประสาอะไร ยังเปลือยกายโดดน้ำตูม ๆ กับเพื่อนอย่างสนุกสนาน แต่เด็กสมัยนี้อายุสิบหกเป็นหนุ่มกันแล้ว” ท่านเล่าถึงชีวิตแสนลำเค็ญในครั้งนั้นว่า “อาตมาอาศัยอยู่กับยาย ลำบากลำบนมาก ต้องหาเงินเรียนเอง ตื่นตั้งแต่ตีสาม หาบของไปขายในตลาดบางขาม ห่างจากบ้านไป ๑๔ กิโลเมตร ถึงตลาดตี ๔ กว่า ๆ ก็นั่งขายของซึ่งเป็นพวกผักสวนครัวที่ช่วยกันปลูกกับยาย พอตีห้าก็ขายหมด บางวันขายไม่ค่อยดี ก็ไปหมดเอา ๗ โมง จากนั้นก็หาบกระจาดเปล่ากลับบ้าน หิวข้าวก็ต้องทนเอาเพราะยายสั่งไม่ให้ซื้อเขากิน ให้กลับมากินบ้านเรา ยายว่าซื้อเขากินมันแพง จานละตั้งสามสตางค์ สู้กลับมากินข้าวที่บ้านไม่ได้ อาตมาก็จำเป็นต้องเชื่อยาย บางทีกว่าจะถึงบ้านหิวแทบลมจับ

         อยู่มาวันหนึ่งขณะที่อาตมาหาบกระจาดเปล่ากลับบ้านพบกับพี่สาวกลางทาง เขากำลังท้องแก่จะเดินทางไปคลอดลูกที่บ้านแม่ของเขาซึ่งเป็นป้าของอาตมา ที่ต้องเดินทางไปคลอดบ้านแม่เพราะเขาอยู่กับพ่อผัว แม่ผัว ซึ่งรังเกียจว่าเขาจนและไม่ยอมช่วยเหลือเกื้อกูลแต่ประการใด เดินไปได้ครึ่งทางก็เกิดปวดท้องนอนร้องครวญครางอยู่ใต้ต้นไทร พอเห็นอาตมาเดินผ่านมา เขาก็ดีใจพูดกับอาตมาว่า

         “น้องเอ๋ยช่วยพี่ด้วย พี่ปวดท้องใจจะขาดอยู่แล้ว ช่วยเอาลูกออกให้พี่ที” อาตมาถึงจะอายุสิบหกแต่ก็ยังไม่รู้ว่าเขาออกลูกกันยังไง ผู้ใหญ่เขาเคยพูดให้ฟังว่าเขาออกลูกทางปาก บางคนก็บอกออกทางสะดือ บางคนก็ว่าออกทางก้น อาตมาก็เชื่อ นึกว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ที่แท้ก็ถูกผู้ใหญ่หลอก เพิ่งมารู้ความจริงตอนทำคลอดให้พี่สาวนี่แหละ

         พี่สาวเขาก็ร้องใหญ่ เขาบอกปวดมาก แล้วก็เป็นลูกท้องแรกจึงยังไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการคลอดลูกมาก่อน ได้ยินพี่สาวร้องโอย ๆ อาตมาก็ทำอะไรไม่ถูก เลยถามเขาว่าจะให้ช่วยยังไง เขาก็บอกช่วยดึงเด็กออกจากท้องให้เขาที มันกำลังจะออกแล้ว อาตมาก็ยังงงอยู่เลยนึกถึงเทวดา ก็นึกตามประสาเด็ก ๆ ไม่รู้ว่าเทวดามีจริงหรือเปล่า แต่ยายเคยเล่าให้ฟังบ่อย ๆ ก็คิดว่าคงจะมีมั้ง เลยประนมมือบอกรุกขเทวดาประจำต้นไทรให้ช่วย แล้วก็ร่ายคาถาชุมนุมเทวดาที่ยายเคยสอนจนจำได้ขึ้นใจ” แล้วท่านจึงร่ายบทชุมนุมเทวดาด้วยเสียงที่ไพเราะเพราะพริ้งว่า...

            สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะ ระตะเฎ จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฎเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะ วัตถุมหิ เขตเต ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา ติฎฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระจะนัง สาธะโว เม สุณันตุฯ

            ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตาฯ

         คนฟังพากันยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ รู้สึกว่าหูของตนมีบุญที่ได้ฟังท่านร่ายพระคาถา

         “พอว่าคาถาจบ เทวดาเข้าสิงอาตมาเลย ที่รู้ว่าเทวดาเข้าสิงเพราะท่านมากระซิบข้างหูว่า “ดึงเด็กออกมา ดึงเด็กออกมา” อาตมาถาม “ดึงยังไง เด็กอยู่ที่ไหน” เทวดาบอก “อยู่ในท้อง เอามือล้วงเข้าไปในผ้านุ่งก็จะเจอหัวเด็ก” อาตมาก็ทำตาม ดึงพรวดสุดแรงเลย เสียงพี่สาวร้องกรี๊ดแล้วสลบเหมือดไปเลย อาตมาก็ตกใจ เพราะเห็นไส้ยาว ๆ ติดตัวเด็กออกมา คิดว่าเราคงดึงไส้พี่สาวออกมาหมดท้องแล้วมัง พี่สาวคงต้องตายแน่ ๆ จะทำยังไงดีหนอ เสียงเทวดากระซิบข้างหูว่า

         “ไม่ตายหรอก แค่สลบไปเท่านั้น ไปจัดการตัดสายรกให้เด็กก่อน ที่เธอเห็นนั่นเรียกว่าสายรก ไม่ใช่ใส้ของพี่สาวเธอหรอก” อาตมาก็ถามว่า “เอาอะไรตัดล่ะ มีดพร้าก็ไม่มี” เทวดาบอก “เอาเล็บของเธอนั่นแหละ จิกแน่น ๆ แล้วดึงมันจะขาดเอง” สมัยนั้นพวกหนุ่มรุ่น ๆ เขานิยมไว้เล็บยาวกัน เรียกว่าเป็นแฟชั่น อาตมาก็ไว้กับเขา คือเขาจะไว้เล็บข้างละสองนิ้ว นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วก้อย อาตมาก็ทำตามที่เทวดาบอก พอรกขาดเลือดพุ่งเลย เด็กส่งเสียงร้องอุแว้ ๆ ลั่นป่า เทวดาบอกอีกว่า “ไปเอาฝุ่นมาโรงตรงแผล” อาตมาก็กอบฝุ่นโรงลงไปปรากฏว่าเลือดหยุดไหลแต่เด็กไม่หยุดร้อง เทวดาก็บอกอีกว่า “เอากระบอกไม้ไผ่อันหนึ่งที่แขวนอยู่ที่กิ่งไทร ไม่ทราบเหมือนกันว่าใครนำไปแขวนไว้ อาจเป็นเทวดาก็ได้นะ” ท่านพูดยิ้ม ๆ คนฟังยิ้มตาม

         “ข้าง ๆ ต้นไทรมีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่ง อาตมาจึงหยิบกระบอกเดินไปตักน้ำมาหยอดใส่ปากเด็ก เจ้าหนูหยุดร้องไห้เลย ดูดหยดน้ำจากนิ้วมืออาตมา เสียงดังจุ๊บ ๆ เป็นภาพที่ซึ้งใจอาตมามาจนทุกวันนี้ ได้เห็นสัญชาตญาณการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชีวิตก็ตอนที่เจ้าหนูดูดน้ำจากนิ้วมือนี่แหละ พอได้น้ำเจ้าหนูก็หยุดร้อง

         เทวดาก็กระซิบข้างหูอีกว่า “ช่วยพี่สาวด่วน ดูดปากเอาเลือดที่คั่งออก” อาตมาก็เอามือง้างปากพี่สาว ดูดเลือดและเสมหะของพี่สาวแล้วบ้วนทิ้ง ไม่ได้นึกรังเกียจเพราะกลัวเขาจะตาย สักพักพี่สาวก็ฟื้น ถามว่า “น้องเอ๋ย ลูกพี่ผู้หญิงหรือผู้ชาย” พอรู้ว่าได้ลูกชายเขาก็ดีใจ อาตมาก็เลยช่วยพากลับบ้านทั้งแม่ทั้งลูก ปัจจุบันพี่สาวอายุเกือบ ๆ จะหกสิบ ส่วนหลานชายที่อาตมาทำคลอดอายุเกือบสี่สิบแล้ว นี่แหละที่ทำให้อาตมาเห็นใจคนเป็นแม่ แล้วก็รักแม่มาตั้งแต่บัดนั้น” เมื่อท่านเทศน์จบ หลายคนแอบเช็ดน้ำตารวมทั้งโยมมารดาของผู้เทศน์ด้วย

 

            มีต่อ........๘๐

 

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๘๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00080
๘๐...

            เช้าตรู่ของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ ขณะที่ท่านพระครูกำหนดจิตออกจากผลสมาบัติ เสียงหนึ่งก็ดังขึ้นใกล้หู “วันนี้ใช้หนี้นกเป็ดน้ำ” ท่านตอบในใจว่า “รู้แล้ว” เมื่อหกเดือนก่อนก็มาเตือนครั้งหนึ่งแล้ว” และยังไม่ทันจะลืมตา เสียงเดิมบอกอีกว่า “ใช้หนีเต่าด้วย”

            “ก็ใช้ไปแล้วไง ใช้ไปเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๔ ทำไมถึงมาทวงอีก” ท่านยังจำได้แม้เหตุการณ์จะผ่านมาจึงเจ็ดปีเต็ม ๆ “วันนั้นใช้แค่เงินต้น แต่วันนี้จะคิดดอกเบี้ย”

         “เป็นอันว่า วันนี้ใช้สองงานเลยก็ดีจะได้หมดหนี้หมดสิน” จากนั้นท่านจึงตั้งจิตแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์และเจ้ากรรมนายเวร โดยเฉพาะนกเป็ดน้ำฝูงนั้นกับเต่าอีกเจ็ดตัวที่รับจ้างเขาต้ม เสร็จกิจดังกล่าว จึงลงไปสรงน้ำ แปรงฟัน แล้วออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ โดยมีนายสมชายหิ้วปิ่นโตเดินตามหลัง

         “โยม อาตมาขอขอบใจที่ใส่บาตรให้ฉันมานาน วันนี้จะเป็นวัดสุดท้าย เพราะเวลาเที่ยงสี่สิบห้า อาตมาจะได้รับอุบัติเหตุรถคว่ำคอหักตาย มาบิณฑบาตไม่ได้อีก ขอให้โยมจงมีความสุขความเจริญนะโยมนะ” ท่านจะพูดเช่นนี้กับผู้มาใส่บาตรทุกคน หลายคนเชื่อและรู้สึกเสียใจที่จะไม่ได้พบเห็นท่านอีก แต่บางคนก็คิดว่า “หลวงพ่อวัดป่ามะม่วงท่าจะเพี้ยนเสียแล้ว มีอย่างที่ไหน มาบอกว่าจะตายวันนี้ ใครเล่าจะรู้วันตายของตัวเอง พิกลแท้ ๆ”

         กลับจากบิณฑบาตโปรดสัตว์ ท่านฉันภัตตาหารแล้วจึงจดบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนเช้า เสียงที่มาเตือนนั้นถูกท่านบันทึกไว้ทุกถ้อยคำ เสร็จแล้วจึงลงมารับแขกยังกุฏิชั้นล่าง ประโยคแรกที่พูดกับพวกเขาคือ “ต่อไปนี้ญาติโยมต้องช่วยตัวเองแล้วนะ พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปะโร สิยา – ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้” อาตมาเองก็จะไปในวันนี้แล้ว”       

         “หลวงพ่อจะไปไหนคะ” สตรีผู้หนึ่งถาม

         “ไปตาย” ท่านเจ้าของกุฏิตอบยิ้ม ๆ

         “หลวงพ่อพูดอย่างนี้ ลูกศิษย์ลูกหาใจฝ่อหมด อย่าพูดเล่นอย่างนั้นเลยครับ ผมขอร้อง” บุรุษผู้มาถึงเป็นคนแรกที่เข้าใจว่าท่านพูดเล่น

         “อาตมาพูดจริง ๆ นะ เมื่อเช้ามืด เจ้ากรรมนายเวรเขามาทวงแล้ว อาตมาเคยหักคอนกเป็นสิบ ๆ ตัว แล้วก็รับจ้างต้มเต่า วันนี้เที่ยงสี่สิบห้าต้องรถคว่ำคอหักตาย” คนฟังพากันตระหนก สตรีวัยกลางคนแนะนำว่า

         “ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อก็อย่าออกไปไหนซีคะ อย่าไปขึ้นรถ จะได้ไม่ต้องรถคว่ำ”

         ทำอย่างนั้นไม่ได้หรอกโยม นี่จะมาแนะนำให้อาตมาโกงเสียแล้ว โกงใครไม่โกง จะให้โกงกฎแห่งกรรม อาตมาทำไม่ได้หรอกโยม”

         “แล้วหลวงพ่อไม่เสียใจ ไม่เสียดายชีวิตหรือครับ” บุรุษอีกผู้หนึ่งถาม

         “เสียดายทำไมเล่าโยม คนที่เสียดายชีวิต แสดงว่า เขายังไม่เข้าใจคติแห่งความตาย การตายก็เหมือนการย้ายบ้าน คนที่ทำกรรมดีไว้มากก็จะได้ย้ายไปอยู่บ้านที่ดีกว่าหลังเก่า คือสะดวกสบายกว่า แต่คนที่ทำชั่วอาจจะต้องย้ายไปอยู่บ้านในนรก สำหรับอาตมาคงจะได้ไปอยู่บ้านที่ดีกว่านี้ จะนอนตื่นสักเที่ยงวัน เพราะไม่ต้องลงรับแขก” คราวนี้คนฟังหัวเราะ

         “แล้วกัน มาหัวเราะเยาะกันเสียแล้ว นี่อาตมาพูดจริง ๆ นะ บ้านนี้หาความสุขไม่ได้เลย ต้องทำงานหนักแสนหนัก จนแทบไม่มีเวลากินเวลานอน”

         “หนูไม่เคยเห็นใครเป็นแบบหลวงพ่อเลยค่ะ” หญิงสาวอายุน้อยที่สุดพูด “ขนาดรู้ว่าจะต้องตาย แทนที่จะเศร้าโศกเสียใจ กลับทำหน้าที่ได้ตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

         “นี่ พูดอย่างนี้แสดงว่ายังไม่เข้าใจ อุตส่าห์เปรียบเทียบให้ฟังก็แล้ว เอาอย่างนี้นะ สมมุติว่าหลวงพ่อเป็นข้าราชการชั้นโท แล้วอีกสองสามชั่วโมงข้างหน้า เขาจะเลื่อนให้เป็นชั้นเอก หลวงพ่อต้องมานั่งเศร้าโศกเสียใจหรือเปล่า หนูตอบมาซิ”

         “หลวงพ่อจะแน่ใจได้อย่างไรล่ะคะ เขาอาจจะลดลงไปเป็นชั้นตรีก็ได้” หญิงสาวยังคลางแคลง

         “ไม่ต้องห่วงหรอกหนู หลวงพ่อรับรองว่าจะไม่เป็นอย่างที่หนูคิด ถ้าหนูอยากรู้จริง ก็ต้องมาเข้ากรรมฐาน ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เมื่อใดเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง เมื่อนั้นความลังเลสงสัยก็จะหมดไป”

         “ก็หลวงพ่อจะไปแล้วใครจะมาสอนหนูล่ะคะ หลวงพ่อมีตัวแทนที่สามารถทำหน้าที่แทนหลวงพ่อได้ทุกอย่าง มีหรือเปล่าคะ”

         “ไม่มีหรอกหนู ถ้าจะให้หาแบบนั้นหาไม่ได้แน่ เพราะไม่มีใครจะเหมือนกันไปหมดทุกอย่าง แม้แต่ฝาแฝดที่หน้าตาเหมือนกัน จิตใจยังต่างกัน”

         “ถ้าเป็นอย่างนั้น คนคงไม่มาวัดนี้อีก ที่เขามาก็เพราะศรัทธาในหลวงพ่อ ไม่มีหลวงพ่อเสียแล้ว หนูเองก็คงไม่มา หนูพูดจริง ๆ นะคะ”

         “หนูอย่าไปยึดที่ตัวบุคคลซีจ๊ะ การเข้าวัดก็เพื่อมาแสวงหาธรรมะ แต่บางคนเข้าวัดเพราะไปชอบสมภาร ยิ่งสมภารหนุ่ม ๆ โอ้โฮ สาวแก่แม่หม้ายติดกันเกรียวเลย แบบนี้รับรองไม่ได้บุญ เอาละ ถึงแม้จะไม่มีอาตมาอยู่ในวัดนี้อีกต่อไป ญาติโยมก็ควรจะมาเข้ากรรมฐาน หอประชุมมีพร้อมแล้ว คนสอนก็มีแล้ว คือพระบัวเฮียว แล้วท่านก็สามารถเข้าผลสมาบัติได้ ซึ่งแปลว่า ท่านมีคุณธรรมสูงพอที่จะสอนคนอื่น ๆ ได้” ท่านแจ้งให้ญาติโยมทราบเกี่ยวกับพระบัวเฮียว

         “แสดงว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลใช่ไหมครับหลวงพ่อ เพราะผู้ที่จะเข้าผลสมาบัติได้ จะต้องเป็นพระอริยบุคคล ผมว่าอย่างน้อย ๆ ท่านต้องเป็นพระโสดาบัน ใช่ไหมครับ” ชายหนุ่มถาม

         “ก็คงจะเป็นอย่างนั้น”

         “ถ้าเช่นนั้น ผมจะมาเรียนกรรมฐานกับท่าน ผมแสวงหาพระอริยบุคคลมานานแล้ว ขอกราบเรียนตามตรงว่า ผมเริ่มจะเบื่อพระ เพราะเจอแต่ประเภทที่สอนเก่ง แต่ปฏิบัติไม่ได้ อย่างเช่น พระรูปหนึ่งซึ่งผมเคยศรัทธาท่านมาก หากเอ่ยชื่อ ผมว่าใคร ๆ ก็ต้องรู้จัก ท่านสอนเก่ง สอนออกวิทยุกระจายเสียงทุกวัน แต่เบื้องหลังชั่วร้ายอย่าบอกใคร เปรอะไปหมดทั้งเรื่องเหล้าเรื่องผู้หญิง เห็นว่าท่านมีเงินเป็นร้อย ๆ ล้าน แต่ผมเชื่อว่า เงินช่วยให้ท่านพ้นจากขุมนรกไม่ได้แน่ นับวันพระประเภทนี้จะมีมากขึ้นนะครับ” แม้จะรู้ว่าบุรุษนั้นพูดความจริง หากท่านพระครูก็จำต้องวางอุเบกขา ท่านพูดตัดบทว่า

         “กรรมของเขาน่ะโยม อย่าไปสนใจเรื่องของคนอื่นเลย พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน ๔ ให้พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งล้วนแต่อยู่ในตัวเราทั้งสิ้น อย่าเอาเรื่องนอกตัวเข้ามา แค่แบกขันธ์ ๕ ของตัวเอง ก็ทุกข์พอแล้ว อย่าเอาขันธ์ ๕ ของคนอื่นมาแบกอีกเลย ๕ ขันธ์หนักพอแล้ว อย่าไปเอา ๑๐ ขันธ์เลย” ท่านเปรียบเทียบตลก ยังผลให้คนฟังอมยิ้ม

         “วันนี้หลวงพ่อจะไปไหนหรือคะ” สตรีวัยกลางคนถามขึ้น

         “ไปบรรยายธรรมที่ วัดกวิศาวราราม จังหวัดลพบุรี เขาจะส่งรถมารับ” ท่านพระครูตอบ นายสมชายไม่ได้ทำกรรมมากับท่าน จึงไม่ต้องไปร่วมชะตากรรมในครั้งนี้

         เวลาสิบเอ็ดนาฬิกา นายแพทย์สมมิ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำจังหวัด พาครอบครัวมาถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณรวัดป่ามะม่วง เขามิได้มานิมนต์ไว้ล่วงหน้า ด้วยต้องการจะให้เป็น “สังฆทาน” อย่างสมบูรณ์แบบ

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงฉันภัตตาหารได้มากกว่าทุกครั้ง ยังผลให้ญาติโยมปลาบปลื้มใจ เพราะปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อน ฉันเสร็จท่านถือโอกาสแสดงพระธรรมเทศนา เพราะต้องการสงเคราะห์ญาติโยมเป็นครั้งสุดท้าย โยมผู้หญิงคนหนึ่งแอบนินทาท่านว่า “แหมหลวงพ่อท่านไม่ยอมหายใจทิ้งเลยนะ ทุกเวลานาทีของท่านช่างมีค่าเสียจริง” แม้จะกระซิบเบา ๆ หากผู้ถูกนินทาก็ได้ยิน ท่านพูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า

         “คนที่หายใจทิ้งเป็นคนไม่มีประโยชน์ ไม่สมควรจะมีชีวิตอยู่ เปลืองออกซิเจนเปล่า ๆ”

คนฟังพากันยิ้มทั้งที่ในอกสุดแสนเศร้า ด้วยรู้ว่า อีกไม่กี่นาทีข้างหน้าพวกเขาจะต้องสูญเสียปูชนียบุคคล เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด

         แม้จะเป็นการเทศน์ครั้งสุดท้าย หากคนฟังก็มิได้ตั้งใจฟังเท่าที่ควร ด้วยมัวกังวลกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เทศน์จบ ท่านพระครูบอกญาติโยมว่า “เดี๋ยวอาตมาจะต้องไปบรรยายธรรมที่วัดกวิศ แต่จะไปไม่ถึง เพราะจะเกิดอุบัติเหตุรถชนคอหักตายเวลาเที่ยงสี่สิบห้า อาตมาตั้งใจจะออกจากวัดเที่ยงครึ่ง จะได้ไม่ต้องไปตายไกลวัด เขาจะได้เอาศพกลับได้สะดวก” ท่านพูดด้วยสีหน้าท่าทางปกติ

         “อยากรู้ไหมว่า ทำไมอาตมาถึงต้องตายในวันนี้” ท่านถาม ไม่มีผู้ใดให้คำตอบ ด้วยต่างก็ทำใจไม่ได้ ทั้งสงสารทั้งเสียดายปูชนียบุคคลเช่นท่าน

         “เอาละ ไม่อยากรู้ก็ไม่เป็นไร แต่อาตมาอยากเล่า ญาติโยมจะได้เก็บไปคิดเป็นการบ้าน จะได้เชื่อว่าเวรกรรมนั้นมีจริง” เห็นคนฟังหน้าตาเศร้าสร้อย ท่านจึงพูดขึ้นว่า

         “ญาติโยมที่รักทั้งหลาย คนที่กำลังจะตายคืออาตมานะ ไม่ใช่ญาติโยม ทำไมต้องทำหน้าหมดอาลัยตายอยากกันอย่างนั้น” สตรีวัยกลางคนถึงกับปล่อยโฮ พูดละล่ำละลักว่า

         “ถ้าอีฉันตายแทนหลวงพ่อได้ อีฉันยอมตายจริง ๆ ชีวิตอีฉันหาประโยชน์มิได้ อยู่ไปก็เปลืองออกซีเจนอย่างหลวงพ่อว่า” ท่านพระครูยิ้มเพราะขำในถ้อยคำของหล่อน คนอื่น ๆ ก็ทำหน้าปั้นยาก จะยิ้มก็ไม่ใช่ร้องไห้ก็ไม่เชิง

         “เอาละ ๆ ขอบใจที่จะตายแทนอาตมา แม้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ทำกรรมแทนกันไม่ได้หรอกโยม ที่อาตมาต้องตายในวันนี้ก็เพราะ กรรมที่เคยหักคอนกกับรับจ้างต้มเต่า ตอนยิงนกนั่นอยู่มัธยมสาม อยู่กับยาย เวลาไปโรงเรียนก็ไม่เข้าเรียน แต่หนีครูไปเที่ยวยิงนกตกปลา แอบขโมยปืนแก๊ปของตาไป แล้วอาตมาก็มีความสามารถในการก่อกรรมทำเข็ญมาก เรียกว่าทำบาปขึ้น ยิ่งปืนแม่น เปรี้ยงเดียวนกเป็ดน้ำร่วงมาเป็นร้อยเลย ใครอยากรู้เทคนิคการยิงก็มาถามได้ เดี๋ยวอาตมาตายแล้วจะไม่มีใครบอก” ท่านพูดยิ้ม ๆ ทว่าคนฟังกลับยิ้มไม่ออก

         “ไม่มีใครถามหรือ งั้นอาตมาก็จะไม่บอก ให้วิชานี้มันตายตามอาตมาไปก็แล้วกัน” ท่านพูดเล่นเพราะหากมีผู้ถามขึ้นมาจริง ๆ ท่านก็จะไม่บอก เพราะสมณะย่อมไม่แนะนำบุคคลไปในทางชั่ว

         “ก็รวบรัดตัดใจความได้ว่า อาตมาเป็นแชมป์ยิงปืน แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็หนีไปยิงนกอีก พอลั่นไกเปรี้ยงนกก็ร่วงลงมาทั้งฝูง แต่มีตัวหนึ่งมันไม่ยอมตาย แค่ปีกหักบินไม่ได้ ความรักชีวิตทำให้มันวิ่งหนี อาตมาก็วิ่งตาม พอจับตัวได้มันก็จิกมืออาตมาเลือดพุ่งเลย ด้วยความโกรธ อาตมาหักคอมันทันที แถมถลกหนังหัวมันอีกด้วย ตอนนั้นเป็นคนจิตใจเหี้ยมโหดมาก เสร็จแล้วก็โยนทิ้ง มันยังดิ้นกระแด่ว ๆ และคงจะอาฆาตพยาบาทอาตมากระทั่งมันสิ้นใจ

         ส่วนเรื่องต้มเต่านั้น ทำตอนอยู่มัธยมหนึ่ง แล้วก็ใช้หนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๔ แต่เจ้ากรรมนายเวรเขาบอกตอนนั้นมันแค่เงินต้น วันนี้เขาจะคิดดอกเบี้ย แหมขนาดใช้หนี้กรรมก็ยังต้องใช้ทั้งต้นทั้งดอก นะโยมนะ” ท่านหันไปพยักพเยิดกับโยมคนหนึ่ง แล้วเล่าต่อ “เรื่องมีอยู่ว่า พวกขี้เมาเขาเกิดอยากจะกินเต่าแกล้มเหล้า ก็ไปซื่อเต่ามา ๗ ตัว แล้วจ้างอาตมาต้ม ให้ค่าจ้างหนึ่งบาท

         “บาทเดียวเองหรือคะหลวงพ่อ” สตรีผู้หนึ่งถาม

         “บาทเดียวน่ะมากแล้วนะโยม สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละสามสตางค์ เงินหนึ่งบาทซื้อก๋วยเตี๋ยวกินได้หนึ่งเดือนกับสามวัน อาตมาเอาเงินเขามา แล้วก็จัดการก่อไฟ เอาหม้อดินใบใหญ่ใส่น้ำขึ้นตั้งบนเตา พอน้ำเดือดก็เทเต่าเจ็ดตัวลงไป เต่ามันดิ้นใหญ่ คงจะสามัคคีกันดิ้น เพราะหม้อแตกเลย พอหม้อดินแตก มันก็พากันตะเกียกตะกายหนีเอาตัวรอดเข้ากอไผ่ไป โยมเชื่อไหม น้ำตามันไหลพราก ๆ แล้วมันก็ใช้สองขาหน้าปาดน้ำตา ที่โบราณเขาเปรียบเทียบว่า ร้องไห้น้ำตาเป็นเผ่าเต่า อาตมาก็เพิ่งประจักษ์ตอนนั้นแหละ เห็นแล้วรู้สึกทุเรศนัยน์ตา เลยปล่อยให้มันหนีไป พวกขี้เหล้าเขาก็โกรธ จะเอาค่าจ้างคืน อาตมาก็ไม่ยอมคืนให้ เลยไปลักปลาเค็มป้ามาปิ้งให้เขากินแทนเต่า โดนป้าด่าแหลกเลย นี่แหละกรรมที่อาตมาทำไว้ในวัยเด็ก แล้วก็กำลังจะไปใช้หนี้อีกไม่กี่นาทีข้างหน้า” ขณะนั้นเวลาเที่ยงครึ่ง รถที่ทางวัดกวิศาวรารามส่งมารับนั้นรออยู่แล้ว

         “เอาละ อาตมาเห็นจะต้องลา ขอให้ญาติโยมจงหมั่นเจริญกรรมฐาน ถ้าใครคิดถึงอาตมา ก็ให้ปฏิบัติมาก ๆ เอาละ ขอให้โชคดีมีความสุขทุก ๆ คนนะโยมนะ”

         รถที่มารับท่านพระครูเป็นรถสองแถวเก่า ๆ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนั่งหน้าคู่กับคนขับ ส่วนอุบาสกในชุดนุ่งขาวห่มขาวที่มาด้วย ได้ย้ายมานั่งข้างหลัง รถแล่นออกจากวัดตรงไปยังถนนสายเอเชีย เมื่อถึงทางแยกเข้าจังหวัดลพบุรี คนขับจึงชิดขวาเตรียมตัวเลี้ยว ถนนฝั่งตรงข้ามมีรถวิ่งมาหลายคัน จึงต้องหยุดรอจังหวะที่จะเลี้ยว

         ขณะนั้น รถทัวร์ของบริษัททันจิตวิ่งแซงรถคันอื่นมาด้วยความเร็วสูงถึง ๑๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง คนขับมองไม่เห็นรถสองแถวที่เปิดไฟเลี้ยวขวาอยู่ข้างหน้า จึงชนโครมเสียงดังก้องราวกับฟ้าถล่ม ร่างของภิกษุวัยห้าสิบเศษ กระเด็นออกจากตัวรถในลักษณะถลาร่อนดุจเดียวกับนกที่ถูกยิง ลอยละลิ่วไปตกลงบนพื้นถนน ห่างจากตัวรถถึงยี่สิบวา คอหักพับลงมาถึงราวนม หนังศีรษะเปิดตั้งแต่หน้าผากถึงท้ายทอย ท่านพระครูเจริญได้ชดใช้กรรมของท่านอย่างกล้าหาญที่สุด เมื่อเวลาสิบสองนาฬิกาสี่สิบห้านาที ของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑.

 

            จบบริบูรณ์

 

Admax:
สาธุกับท่าน ช่างเล็กๆ(LSV) ที่นำข้อมูลและเรื่องราวดีๆมีประโยชน์มาฝากครับ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว