สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

<< < (16/17) > >>

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00073
๗๓...

         วันที่ ๑๕ สิงหาคม ที่จะถึงนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านพระครู พระมหาบุญเล่าให้พระบัวเฮียวฟังว่า ในวันนั้น บรรดาศิษยานุศิษย์ผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาและเคารพนับถือในท่านพระครูจะแสดงมุทิตาจิต ด้วยการบำเพ็ญบุญถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรตลอดจนแม่ชีและผู้มาปฏิบัติกรรมฐาน ณ วัดป่ามะม่วง

            พระบัวเฮียวกำลังกังวลว่าท่านจะถวายสิ่งใดแด่พระอุปัชฌาย์ เพื่อเป็นของขวัญวันเกิด จึงขอคำแนะนะจากพระมหาบุญ ผู้ซึ่งบังเอิญมาแวะเยี่ยม

            “ผมเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องของขวัญวันเกิดพระ แล้วเรื่องอย่างนี้ก็ไม่มีระบุไว้ในคัมภีร์เสียด้วย เลยไม่รู้จะให้คำแนะนำแก่คุณว่าอย่างไร” ผู้อาวุโสกว่าพูดออกตัว

            “แล้วทุกปีที่ผ่าน ๆ มา หลวงพี่ถวายอะไรเป็นของขวัญวันเกิดท่านครับ” ภิกษุวัยยี่สิบหกถาม

            “ผมไม่ได้ถวายเป็นการส่วนตัว หากถวายในนามพระทั้งวัด” พระมหาบุญตอบไม่ตรงประเด็นนัก

            “คือผมอยากทราบว่าหลวงพี่ถวายอะไรมากว่าที่จะอยากทราบว่าหลวงพี่ถวายในนามของใครน่ะครับ” ผู้อ่อนวัยกว่าท้วงอย่างสุภาพ

            “แล้วคุณคิดว่าพวกผมถวายอะไรท่านล่ะ”

            “อย่าให้ผมคิดเลยครับ เพราะผมมักจะคิดอะไรไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเขา” คนบวชได้เก้าเดือนว่า

            “ก็หัดคิดให้เหมือนซีคุณ หัดบ่อย ๆ อีกหน่อยก็เก่งไปเอง”

            “คงจะไม่หัดหรอกครับ เพราะใจจริงแล้วผมก็ไม่อยากจะเหมือนชาวบ้านเขา ก็เป็นพระนี่ครับ จะให้เหมือนชาวบ้านได้ยังไง” ภิกษุเชื้อสายญวนว่า

            “งั้นมาถามผมทำไม” พระมหาบุญชักฉิว

            “ผมอยากรู้น่ะซีครับ เพราะหากผมรู้ว่าคนอื่น ๆ เขาถวายอะไร ผมจะได้ไม่ถวายซ้ำกับเขา”

            “อย่าไปคิดอย่างนั้นเลยคุณ อย่าไปคิดว่าจะไปซ้ำกับคนอื่นหรือไม่ ส่งที่คุณควรคิดก็คือ คุณจะต้องรู้ก่อนว่าหลวงพ่อท่านเป็นใคร แล้วคุณก็จะได้ถวายสิ่งที่คู่ควรกับท่าน”

            “แล้วหลวงพ่อท่านเป็นใครล่ะครับ” พระบัวเฮียวถามซื่อ ๆ หากพระมหาบุญลงความเห็นว่าท่าน “เซ่อ”

            “อะไรกัน คุณอยู่ที่นี่มาตั้งเกือบปีแล้ว ยังไม่รู้หรือว่าหลวงพ่อท่านเป็นใคร”

            “แล้วหลวงพี่รู้หรือเปล่าครับ” แทนคำตอบ พระบัวเฮียวกับย้อนถาม

            “ทำไมผมจะไม่รู้”

            “กรุณาบอกผมเอาบุญเถิดครับ”

            “ตกลง ผมจะบอกให้เอาบุญ ฟังให้ดีนะ”

            “ครับ ผมกำลังตั้งใจฟัง”

            “ตั้งใจอย่างเดียวไม่พอหรอกนะคุณ ถ้าจะให้ดีต้องกำหนด “ฟังหนอ” ด้วย” พระบัวเฮียวจึงกำหนด “ฟังหนอ” ตามคำแนะนำของพระมหาบุญ ผู้ซึ่งเฉลยว่า

            “หลวงพ่อ ท่านเป็นพระสงฆ์ เพราะฉะนั้นคุณคิดว่าอะไรเล่าที่จะคู่ควรกับพระสงฆ์” คนฟังถูกถามอีก

            “พระสงฆ์หรือครับ เอ พระสงฆ์คู่ควรกับอะไรหนอ” ภิกษุหนุ่มมีท่าทีครุ่นคิด คิดอยู่ค่อนข้างนานจึงตอบ

            “รู้แล้ว นึกออกแล้วพระสงฆ์ก็ต้องคู่กับสีกา ใช่ไหมครับหลวงพี่ แต่เอ ถ้าผมถวายสีกาหลวงพ่อก็ต้องอาบัติน่ะซีครับ แล้วอีกอย่างน้ำหน้าอย่างผมจะไปหาสีกาที่ไหนมาถวายท่าน” พระบัวเฮียวยั่ว

            “เลอะเทอะใหญ่แล้วคุณบัวเฮียว ธาตุไม่ปกติหรือยังไง หรือว่านอนไม่เต็มอิ่ม” ผู้อาวุโสกว่าทักท้วงเพราะทนฟังไม่ไหว

            “ไม่ใช่ทั้งสองอย่างครับ”

            “เอาละ ๆ ผมจะเฉลยให้คุณฟังเดี๋ยวนี้ จะได้สิ้นเรื่องสิ้นราว ฟังนะ”

            “หลวงพี่อย่าเลียนแบบหลวงพ่อซีครับ”

            “เลียนแบบยังไง”

            “ก็หลวงพี่พูดว่า “เอาละ ๆ” น่ะครับ คำ ๆ นี้หลวงพ่อท่านผูกขาด” พระบัวเฮียวพาออกนอนเรื่องจนได้

            “นี่คุณบัวเฮียว ผมชักจะหมดความอดทนแล้วนะ”

            “หมดก็สร้างขึ้นมาใหม่ได้นี่ครับ เอ๊ะ นี่หลวงพี่โกรธผมหรือ อย่านาครับ เขาพูดกันว่า “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” ฉะนั้นจึงไม่ควรโกรธ กำหนดซีครับหลวงพี่ “โกรธหนอ โกรธหนอ” พระมหาบุญเกิดความรู้สึกว่าไม่สามารถทนพูดคุยกับพระบัวเฮียวต่อไปได้ จึงลุกขึ้นเตรียมตัวกลับกุฏิของตน

            “อ้าวหลวงพี่จะไปแล้วหรือครับ ยังพูดกันไม่ทันรู้เรื่องเลย”

            “เพราะอย่างนั้นน่ะสิผมถึงจะกลับ ผมจะจำใส่ใจไว้ว่าหากจะพูดกับใคร ก็ต้องดูคนที่พอจะพูดกันรู้เรื่อง จะได้ไม่เสียเวลาและอารมณ์” ท่านประชด

            “งั้นผมเลิกยั่วหลวงพี่แล้ว จะได้พูดกันรู้เรื่อง ให้ผมแก้ตัวอีกครั้งนะครับ” คนชอบยั่วยอมจำนน

            “ก็ได้ ผมจะให้โอกาสคุณอีกครั้งเดียวเท่านั้นนะ เพราะผมเสียเวลามามากแล้ว”

            “ครับ ผมให้สัญญา หลวงพี่ตอบผมหน่อยซีครับ ว่าอะไรทีคู่ควรกับพระสงฆ์”

            “ก็ดอกไม้ยังไงล่ะ คุณไม่เห็นหรอกหรือ เวลาที่เราบูชาพระรัตนตรัย เราจะใช้ธูป เทียน และดอกไม้เป็นสัญญลักษณ์แทน พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องสมมุติ หากก็เป็นการสมมุติที่มีเหตุผล

            จากการอ่านคัมภีร์ ทำให้ผมทราบว่า ครั้งพุทธกาล เขานิยมใช้ดอกไม้และของหอมเป็นเครื่องสักการะองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่างเช่น พระจุนทเถระ ผู้เป็นน้องชายของพระสารีบุตร เมื่อท่านจะเข้าเฝ้าพระตถาคตก็จะสั่งช่างให้นำดอกไม้สดมาประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงาม คลุมด้วยตาข่ายที่บรรจงร้อยด้วยดอกมะลิ จากนั้นจึงนำไปถวายองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์”

            “ขอประทานโทษนะครับหลวงพี่ คือผมอยากทราบว่าองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ หมายถึงพระพุทธเจ้าใช่ไหมครับ”

            “ถูกแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมีหลายพระนาม เช่น “พระสมณโคดม” “พระบรมโลกเชษฐ์” “พระชินสีห์” “พระผู้พิชิตมาร” “พระสัพพัญญู” “พระตถาคต” ผมจำไม่ได้หมดหรอก ถ้าคุณอยากรู้วันหลังผมจะหาหนังสือมาให้”

            “ขอบคุณครับ พระจุนทะเถระต่อเถิดครับ”

            “ตกลง เล่าต่อก็ได้ คืออยู่มาวันหนึ่ง ท่านก็นำดอกไม้ของหอมซึ่งตกแต่งแล้วอย่างประณีตสวยงาม มาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสบุพพกรรม ซึ่งหมายถึงการกระทำแต่ครั้งอดีตของพระจุนทเถระในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ว่า

            พระจุนทเถระมิใช่จะถวายดอกไม้ของหอมแด่พระพุทธเจ้าเฉพาะในชาติปัจจุบันนี้เท่านั้น ในอดีตชาติท่านก็ได้เคยถวายดอกไม้ของหอมแด่พระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ๆ มาแล้ว อานิสงส์แห่งการกระทำนั้น ๆ ทำให้ท่านได้สวรรค์สมบัติ ๗๔ ชาติ เป็นพระราชา ๓๐๐ ชาติ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ จากนั้นจึงมาเป็นพระจุนทเถระ”

            “แต่อานิสงส์ที่ถวายดอกไม้แด่พระพุทธเจ้าในชาติที่เป็นพระจุนทเถระคงจะไม่เหมือนเดิมแล้วนะครับ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว คงไม่ต้องการสวรรค์สมบัติอีก”

            “แหม คุยกันมาตั้งนาน คุณเพิ่งจะมาแสดงความฉลาดปราดเปรื่องตอนนี้นี่เอง ผมนึกว่าคุณไม่มีสิ่งนี้อยู่ในตัวเสียอีก” พระบัวเฮียวไม่ทราบชัดว่าถูกชมหรือถูกตำหนิกันแน่ จึงถาม

         “ที่ผมพูดมานี้ถูกหรือเปล่าครับ”

         “ถูกซี ผมถึงว่าคุณฉลาดไงล่ะ จริงอย่างที่คุณว่า เมื่อพระจุนทเถระท่านได้โลกุตตระสมบัติเสียแล้ว โลกียสมบัติก็หมดความหมาย เปรียบเหมือนซากสัตว์เน่าเหม็นย่อมเป็นอาหารอันโอชะของนกแร้ง หากเป็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนสำหรับพญาหงส์” พระมหาบุญเปรียบเทียบไม่ตรงประเด็นนัก หากพระบัวเฮียวผู้ซึ่งแน่ใจแล้วว่าท่านชม จึงชมตอบว่า

         “โอ้โฮ หลวงพี่ก็คารมคมคายไม่เบาเหมือนกัน”

         “ตกลงคุณตัดสินใจได้หรือยังว่า จะถวายอะไรเป็นของขวัญวันเกิดหลวงพ่อท่าน” คนถูกชมรู้สึกเขินจึงวกกลับมาพูดเรื่องเดิม

         “ได้แล้วครับ ผมก็ต้องถวายดอกไม้ซีครับ แต่จะเป็นดอกอะไรนั้นต้องขออุบไว้ก่อน รับรองว่าไม่ใช่ดอกมะลิแน่ เพราะผมไม่ชอบทำอะไรเหมือนคนอื่น”

         “ดีแล้วละคุณ แต่ก็หวังว่าคุณคงไม่อุตริเอาดอกอุตพิตถวายท่านนะ ต้องบอกไว้ก่อนเพราะคุณมักจะทำอะไรแผลง ๆ อยู่เรื่อย”

         “รับรองครับ โถใครจะไปทำนอกเสียจากว่าสติฟั่นเฟือน”

         “ถ้าอย่างนั้นผมก็ขออนุโมทนาล่วงหน้า หลวงพ่อท่านเคร่งนะ ไม่เคยติดในลาภสักการะอันทำให้เสียความเป็นผู้ทรงศีล เวลาที่ท่านได้รับนิมนต์ไปงานวันเกิดพระด้วยกัน ท่านก็มักจะนำแจกันดอกไม้สดไปถวาย ในทรรศนะของผมเห็นว่า ดอกไม้สดทำให้เกิดความรู้สึกสดชื่น แล้วยังเป็นอุปกรณ์สอนไตรลักษณ์ได้อีกด้วย”

            “ผมไม่เข้าใจครับ หลวงพี่กรุณาขยายความหน่อยเถิดครับ”

         “ก็แสดงให้เห็นความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ และปราศจากตัวตนที่เที่ยงแท้ อย่างที่พูดกันติดปากว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นยังไง”

         “อ้อ งั้นผมก็เข้าใจแล้วครับ คือ ดอกไม้เมื่อมันยังสดก็ดูสวยงาม ครั้นเหี่ยวเฉาโรยราก็หาความสวยงามไม่ได้ เหมือนบุรุษและสตรีเมื่อยังอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวก็ดูสดชื่นเปล่งปลั่ง ครั้นพอแก่เฒ่าก็เฉาเหี่ยวดุจเดียวกับดอกไม้ แสดงให้เห็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร เพราะฉะนั้นบุคคลจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส อย่างนั้นใช่ไหมครับ”

         “ก็คงใช่ เอาเถอะ คุยกันนานแล้ว ผมเห็นจะต้องกลับไปปฏิบัติที่กุฏิของผมละ” พระมหาบุญกลับไปแล้ว พระบัวเฮียวจึงเริ่มปฏิบัติบ้าง

         วันอาทิตย์ แรมสิบค่ำ เดือนแปด เวลาประมาณยี่สิบสองนาฬิกา ขณะที่นายสมชายกำลังไขกุญแจประตูด้านหลังของกุฏิ ก็ได้ยินเสียงเรียกชื่อเขา “สมชายใช่ไหม หลวงพ่ออยู่หรือเปล่า” เมื่อชายหนุ่มเหลียวหลังไปดูก็พบว่าเป็นคหบดีมากับภรรยาและบุตรชายทั้งสาม แต่ละคนสวมชุดขาวราวกับจะมาเข้ากรรมฐาน เขายกมือไหว้สองสามีภรรยา ขณะที่เด็กหนุ่มสามคนยกมือไหว้เขา

         “ทำไมมาเสียดึกเชียวครับ” ชายหนุ่มถาม

         “มาแต่วันเกรงจะไม่พบหลวงพ่อ ได้ข่าวว่าท่านรับนิมนต์ไปข้างนอกแทบทุกวัน จริงหรือเปล่า”

         “ครับ บางทีคนก็นิมนต์ไปในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง” เขาหมายถึงนายแพทย์สมเจตนา ที่หลอกนิมนต์ท่านไปเปิดป้ายสำนักโสเภณี!

         “ต่อไปนี้ท่านบอกถ้าใครมานิมนต์ ท่านจะต้องสอบถามก่อนว่างานอะไร แล้วท่านก็จะพิจารณาว่าสมควรไปหรือไม่ เพราะงานท่านมากขึ้นทุกวัน แต่รับแขกอยู่ที่กุฏิก็รับแทนไม่หวาดไหว”

         “นี่แหละ เหตุผลที่ผมไม่มาตอนกลางวันก็เพราะไม่อยากรอคิวด้วย เลยเสี่ยงมาตอนกลางคืน คิดว่ายังไง ๆ ก็ต้องพบท่าน ฤดูนี้เป็นฤดูเข้าพรรษา โอกาสที่ท่านจะไปค้างแรมที่อื่นก็ไม่มี นอกเสียจากว่าจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

         “เชิญข้างในดีกว่าครับ” เขาเชิญคหบดีและครอบครัวเพราะยืนคุยกันข้างนอกมานาน เข้ามาแล้วชายหนุ่มจึงจัดการเปิดไฟภายในกุฏิ นำเครื่องดื่มร้อนมาบริการแขก เสร็จแล้วจึงขึ้นไปกราบเรียนท่านพระครู

         “ลงไปบอกเขาว่าอีกหนึ่งชั่วโมงฉันจะลงไป” ท่านเจ้าของกุฏิบอกเขาโดยไม่ละสายตาจากงานที่ทำ

         “ประเดี๋ยวเขาจะไม่กลับดึกเกินไปหรือครับ” ชายหนุ่มแสดงความห่วงใย

         “ดึกแน่ละเธอ เพราะฉันต้องการให้เขากลับหลังเที่ยงคืนไปแล้ว”

         “ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นครับ”

         “เพราะถ้าไปก่อนเที่ยงคืนจะต้องตายหมดทั้งครอบครัว เอาละ เธอลงไปบอกเขาก็แล้วกันว่า ฉันสั่งให้ปฏิบัติกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง”

         “แล้วหลวงพ่อจะให้ผมบอกเขาหรือเปล่าครับว่า หากกลับไปก่อนเที่ยงคืนจะต้องตายทั้งครอบครัว”

         “หากเขาถามก็บอกไปตามนี้”

         “ครับ” เมื่อชายหนุ่มลงมาแจ้งให้คนทั้งห้าทราบ พวกเขาก็มิได้ซักถามอะไร ต่างพากันปฏิบัติกรรมฐานตามที่ท่านสั่ง นายสมชายรู้สึกแปลกใจด้วยคิดว่าอย่างไรเสียก็จะต้องถูกซักถาม ชายหนุ่มมิรู้ดอกว่า “ผู้เข้าถึงธรรมย่อมเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย”

         เวลายี่สิบสามนาฬิกา ท่านพระครูจึงลงรับแขกรอบดึกอันเป็นรอบที่ไม่มีในตาราง โชคยังดีที่คนจัดตารางหลับปุ๋ยไปนานแล้ว มิฉะนั้นก็คงมีเรื่องมีราวให้ท่านเจ้าของกุฏิต้องรับรู้อีก กราบท่านพระครูแล้วหนุ่มต้อมจึงเอ่ยขึ้นว่า “หลวงตาสบายดีหรือครับ ผมรู้สึกว่าหลวงตาดูซูบไป คงจะงานหนักมากใช่ไหมครับ”

         “แต่หลวงตาชินกับมันแล้วละหนู ชีวิตนี้หาความสุขสบายไม่ได้เลย หลวงตาเกิดมาใช้กรรมนะ ใช้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมด” ภิกษุวัยห้าสิบเศษตอบ

         “แล้วอีกนานไหมครับถึงจะหมด” หนุ่มต่อถามบ้าง

         “ยังตอบไม่ได้หรอกหนู หลวงตาก็อยากจะใช้ให้มันหมด ๆ แต่กรรมของหลวงตามีมากเหลือเกิน ทยอยกันมาให้ชดใช้อยู่เรื่อย ๆ เมื่อปลายเดือนกุมภาก็ใช้หนี้ที่ไปหักขานก หลวงตาเลยมีอันต้องตกบันไดขาหัก ไปไหนมาไหนไม่ได้อยู่เดือนเต็ม ๆ ช่วงนั้นก็มีอาจารย์จากเชียงใหม่มาใช้กรรมที่นี่เหมือนกัน เพิ่งกลับไปก่อนเข้าพรรษาไม่กี่วัน ตอนนี้บวชเป็นพระอยู่วัดกู่คำ” ท่านหมายถึงอาจารย์ชิตผู้ซึ่งเปลี่ยนใจขอกลับไปบวชอยู่วัดใกล้บ้านหลังจากทราบว่าอีกสามปีภรรยาจะตายจาก

         สนทนาปราศรัยกันพอสมควรแล้ว เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงถามจุดประสงค์ของการมา คหบดีตอบว่า

         “ผมพาครอบครัวมาทำบุญครับ คราวก่อนผมถวายปัจจัย แต่หลวงพ่อไม่ยอมรับ เพราะเงินที่ได้มาไม่บริสุทธิ์ แต่คราวนี้เรามีปัจจัยที่บริสุทธิ์มาถวายครับ”

         “ไปได้มาจากไหนหรือ” ถามอย่างไม่ยินดียินร้ายตามวิสัยของสมณะ

         “ถูกรางวัลที่หนึ่งครับ นายต่อเขาซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิดผม พอถูกเขาก็เสนอแนะว่าน่าจะถวายหลวงพ่อครึ่งหนึ่ง คนอื่น ๆ พลอยเห็นดีเห็นงามไปด้วย ผมจึงนำมาถวายหลวงพ่อสองแสนห้าหมื่นบาทครับ” บิดาของนายต่อกราบเรียนท่านพระครู เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนึกย้อนไปถึงเสียงที่ได้ยิน ในวันอธิษฐานจิตช่วยนายสมชาย จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลาสิบห้าวันพอดี

         “อาตมาขออนุโมทนาในกุศลจิตที่โยมและครอบครัวได้ร่วมใจกันมาบำเพ็ญบุญในครั้งนี้ แต่ว่าเงินจำนวนนี้ โยมระบุไปหรือเปล่าว่า จะให้อาตมานำไปใช้ทำอะไร”

         “ไม่ได้ระบุค่ะ แล้วแต่หลวงพ่อจะนำไปใช้อะไรก็ได้ พวกเราขอถวายเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของหลวงพ่อค่ะ” นางกิมเอ็งกราบเรียน

         “ถ้าอย่างนั้น อาตมาก็จะขออนุญาตนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ในการอนุเคราะห์คนที่เขามีบุญคุณกับอาตมา เขากำลังต้องการเงินจำนวนห้าหมื่นบาท ส่วนที่เหลืออีกสองแสนอาตมาจะเก็บไว้เป็นกองทุนสร้างหอประชุมเพื่อให้ญาติโยมใช้เป็นที่ปฏิบัติกรรมฐาน เคยมีเศรษฐีสี่คนเขามาพบกันที่นี่โดยบังเอิญ และก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือจะมาสร้างหอประชุมถวายวัดนี้ เสร็จแล้วจะเป็นยังไงก็ไม่ทราบ เกิดเปลี่ยนใจไม่สร้างแล้ว” ท่านหมายถึงเศรษฐีสี่คนที่ท่านตั้งสมญาว่า “จตุรชัย”

         “แบบนี้ก็บาปซีครับหลวงตา รับปากกับพระแล้วมากลับคำ” หนุ่มติ๋งว่า

         “ก็ไม่เชิงกลับคำหรอกหนู แต่มันมีเหตุปัจจัยอื่นมาทำให้เขาลืม อาจจะมัวยุ่งอยู่กับเรื่องธุรกิจการค้า” ท่านพระครูพูดปกป้องคนทั้งสี่

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงสนทนาอยู่กับคหบดี และ ครอบครัวจนถึงยี่สิบสี่นาฬิกา จึงอนุญาตให้พวกเขากลับ

         “วันนี้ดึกหน่อยนะ เอาละ แล้วโยมก็จะรู้เองว่า เหตุใดอาตมาจึงหน่วงเหนี่ยวโยมไว้ไม่ให้ไปก่อนเที่ยงคืน”

         คหบดีและครอบครัวลุกออกไปแล้ว ท่านพระครูจึงมอบเงินให้นายสมชายห้าหมื่นบาทตามสัญญาที่เคยให้ไว้ ชายหนุ่มกราบท่านสามครั้งด้วยความซาบซึ้ง อดมิได้ที่จะเปรียบเปรยว่า

         “หลานสะใภ้หลวงพ่อถูกรางวัลที่หนึ่ง ซื้อรองเท้ามาถวายแค่แปดสิบบาท นี่เขาเป็นคนอื่นกลับถวายตั้งครึ่ง” เขาหมายถึง ครึ่งของห้าแสน ท่านพระครูจำต้องพูดปกป้องภรรยาของหลานชายว่า

         “มันไม่เหมือนกันหรอกนะสมชาย รายนั้นเขาจน แต่รายนี้เขามีเป็นร้อย ๆ ล้าน” ท่านมิได้พูดต่อถึงที่มาของเงินเหล่านั้น คนชั่วที่กลับตัวเป็นคนดีสมควรได้รับการสรรเสริญ ทว่าคนดีที่กลับกลายเป็นคนชั่วนี้สิน่าตำหนินัก

         เมื่อคหบดีขับรถพาครอบครัวมาถึงทางแยกเข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็พบรถตำรวจทางหลวงเปิดไฟฉุกเฉินอยู่กลางถนน รถหลายคนต้องจอดรอ นายต้อมอาสาลงไปสืบดูได้ความว่า เกิดอุบัติเหตุรถเก๋งชนกับรถบรรทุก คนที่อยู่ในรถเป็นผู้ชายสี่คน หญิงหนึ่งคน พากันเสียชีวิตทั้งหมด คนทั้งห้ามีความรู้สึกเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ แล้วก็รู้เดี๋ยวนั้นว่า เหตุใดท่านพระครูจึงให้พวกเขาออกจากวัดหลังเที่ยงคืนไปแล้ว...

 

            มีต่อ........๗๔

 

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00074
๗๔...

            เวลาสิบเอ็ดนาฬิกา ท่านพระครูเชื้อเชิญบรรดา “ผู้มีใบหน้าอันเปื้อนทุกข์” ไปรับประทานอาหารที่โรงครัว ตัวท่านเองกำลังจะขึ้นไปตอบจดหมายยังกุฏิชั้นบน เถ้าแก่เส็งกับคนขับแท็กซี่ประคองชายสูงอายุร่างผอมบางเข้ามาในกุฏิ คนทั้งสามกราบท่านเจ้าของกุฏิสามครั้ง แล้วคนที่อาวุโสที่สุดในที่นั้นก็กล่าวขึ้นว่า

            “หลวงพ่อครับ จำเถ้าแก่บ๊ก น้องชายผมที่ขายทองอยู่เยาวราชได้ไหมครับ หลวงพ่อเคยเล่าว่าเคยพาลูกศิษย์เข้าไปซื้อทอง” ท่านพระครูนึกอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งจึงตอบว่า

            “จำได้สิ แต่อาตมาไม่พาพวกเขาเข้าไปซื้อนะ เขาพากันเข้าไปเอง อาตมายืนรออยู่หน้าร้าน แล้วเถ้าแก่เจ้าของร้านเขานิมนต์เข้าไปดื่มน้ำชาแถมถวายเงินมาสร้างโบสถ์อีกสองพันบาท” ท่านเล่าเหตุการณ์เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนโน้น

            “เป็นไง เดี๋ยวนี้โยมเตี่ยสบายดีหรือ” ท่านหมายถึงเถ้าแก่บ๊กผู้ซึ่งพูดกับท่าน ในสมัยที่ท่านเป็นเด็กว่า “วังนี้ลื้อเลียกอั๊วะไอ้เจ๊กบ้า วังหน้าลื้อต้องเลียกอั๊วะว่าเตี่ย” ยังจำเพลงโปรดที่ท่านแต่งขึ้นล้อเลียนฝ่ายนั้นได้ “เจ๊กบ๊กตกน้ำตาย เมียร้องไห้เสียดายเจ๊กบ๊ก”

            “โยมเตี่ยไหนครับ” เถ้าแก่เส็งถามงง ๆ เพราะหากท่านจะหมายถึงบิดาของเขาก็คงเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อเตี่ยของเขาได้ลาจากโลกนี้ไปนานนับสิบปีแล้ว

            “ก็โยมเตี่ยของอาตมาไงล่ะ โยมเตี่ยบ๊กน่ะ”

            “อ๋อ นี่ไงครับ ผมพามากราบหลวงพ่อด้วย” ท่านเจ้าของกุฏิเพ่งพิศดูบุรุษร่างผอมบางตรงหน้า จึงพบว่าเขาไม่ได้ผอมอย่างเดียว หากซูบซีดไร้ชีวิตชีวา ไม่ต่างไปจากซากศพ ภาพผู้ชายวัยกลางคนร่างกำยำล่ำสันที่ท่านคุ้นหูคุ้นตาในวัยเด็กไม่มีหลงเหลืออยู่ในตัวบุรุษผู้นี้

            “โยมเตี่ยทำไมถึงผอมอย่างนี้ล่ะ” ท่านทัก

            “ท่างไม่ต้องเลียกอั๊วะว่าเตี่ยก็ล่าย เลียกไอ้เจ๊กบ๊กอย่างเลิมก็ล่าย” บุรุษร่างผอมบางพูดเสียงแหบเครือ

            “หมอเขาบอกเป็นมะเร็งลำไส้ครับหลวงพ่อ เขาไม่รับรักษาแล้ว ผมก็เลยชวนมาหาหลวงพ่อ ยังไง ๆ ก็ยังดีกว่าอยู่กรุงเทพฯ หมอเขาให้เวลาอีกสามเดือน ผมก็เลยเกิดความคิดว่าในช่วงสามเดือน ถ้าเขามาอยู่วัดก็อาจจะได้บุญกุศลติดตัวไปภพหน้า ไม่มากก็น้อย” คนเป็นพี่ชายเล่า

            “แล้วโยมเตี่ยไม่คิดถึงลูกหลานหรือ” ท่านเจ้าของกุฏิทดสอบสภาวะทางจิตใจคนป่วย

            “คิกถึงก็ต้องตักใจ ทำไงล่ายล่ะท่าง คงเลาเกิกเลี้ยวก็ต้องตาย อั๊วะทำงางหนักมาตาหลอกชีวิก เหลือเวลาอีกแค่สามเลือนก็ขอมาอยู่กับพะ ขอยึกเอาพะรักตะนะตัยเป็งที่พึ่ง เวลาตายจะล่ายตายตาหลับ ห่วงลูกหลานเลี้ยวตายตาไม่หลับ” น้องชายเถ้าแก่เส็งว่า

            “ดีจริงโยมเตี่ยคิดได้ยังงี้ดีมาก ๆ เลย เราต้องยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก เพราะนั่นเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ดังพุทธวจนะว่า” ท่านอัญเชิญพุทธพจน์มากล่าวให้คนทั้งสามฟังดังนี้

          มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อารามและรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ นั่นมิใช่สรณะอันเกษรมเลย นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั่นแล้วย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

          ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว เห็นอริยสัจจ์ คือความจริงอันประเสริฐสี่ ด้วยปัญญาอันชอบ คือเห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้ และหนทางมีองค์แปดอันประเสริฐเครื่องถึงความระงับทุกข์

          นั่นแหละเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

            “งั้งอั๊วะคิดถูกเลี้ยวใช่ไหมที่มาหาท่าง อั๊วะซำบายเลี้ยว ไม่กัวตายอีกต่อไปเลี้ยว” เถ้าแก่บ๊กกล่าวอย่างยินดี ท่านพระครูออกแปลกใจที่เห็นเขาไม่ทุรนทุรายเช่นคนที่เป็นมะเร็งโดยทั่ว ๆ ไป จึงถามขี้นว่า

            “โยมเตี่ยไม่ปวดหรือ อาตมาเห็นคนเป็นมะเร็ง เขาปวดร้อง โอย ๆ กัน แทบทั้งนั้น”

            “ปวกซีท่าง ทำไมจะไม่ปวก แต่ที่อั๊วะไม่แสดงอากางทุรงทุรายเพราะท่างช่วยอั๊วะ”

            “อาตมาช่วยโยมเตี่ยอย่างไรหรือ” ท่านเจ้าของกุฏิไม่เข้าใจ

            “ช่วยซี ท่านช่วยอัวะมากจริง ๆ อั๊วะถึงอยากมาตายกะท่าง เฮียเส็งลื้อช่วยอธิบายให้ท่างฟังหน่อย อั๊วะเหนื่อย..” เขายั้งปากไว้ท่าน ไม่เช่นนั้นคำว่า “ชิกหายเลย” ก็จะต้องเล็ดอดออกมา ตั้งแต่พี่ชายสอนกรรมฐานให้ เขาลดละ “ผรุสวาจา” ลงไปได้โขทีเดียว

            “คืออย่างนี้ครับหลวงพ่อ” เถ้าแก่เส็งอธิบาย

            “ตอนที่เขาป่วย ผมก็หมั่นไปเยี่ยมเขา ตอนนั้นเขามีอาการทุรนทุรายมากร้องโอดโอยจนถูกนางพยาบาลดุเอาบ่อย ๆ ลูกหลานไปเยี่ยมก็ด่าจนพวกเขาไม่ไปเยี่ยม พอพวกเขาไม่ไปก็ด่าอีก ผมก็เลยค่อย ๆ สอนกรรมฐานให้วันละเล็กละน้อย เริ่มตั้งแต่ให้ฝึกกำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” เขาก็พยายามทำตาม พออาการปวดทุเลาลง ผมก็ให้เขาหัดกำหนด พอง-ยุบ เรียกว่าเรียนกรรมฐานบนเตียงคนไข้เลยแหละครับ เขาก็ทำตามและก็รู้สึกดีขึ้นเรื่อย ๆ ลูกหลานมาเยี่ยมก็เลิกด่า

            เขาอยู่โรงพยาบาลสองเดือน หมอเจ้าของไข้ก็มากระซิบกับผมว่า ควรจะกลับไปอยู่บ้านเพราะถึงอย่างไรก็ไม่หาย ไส้เน่าแล้ว ผ่าตัดก็คงไม่ได้ผล ผมก็มาถามเขาว่าสมมุติว่าเขาจะมีชีวิตอยู่อีกสามเดือน เขาอยากจะทำอะไร เขาตอบทันทีว่าอยากไปอยู่วัดป่ามะม่วง ผมก็เลยไปขอให้นายสุขเขาพามานี่แหละครับ”

            “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่อาตมาช่วยหรอก พี่ชายของโยมเตี่ยต่างหากที่ช่วย” ท่านเจ้าของกุฏิไม่ยอมรับความดีความชอบ

            “ท่างนั่งแหละช่วย เพาะถ้าท่างไม่สองกำมะถางให้เฮียเส็ง เฮียเส็งเขาก็มาสองอั๊วะไม่ล่าย จริงล่ะป่าว” เถ้าแก่บ๊กพยายามยัดเยียดความดีให้ท่านพระครู

            “เอาละ จริงก็จริง อาตมาขออนุโมทนากับโยมเตี่ยด้วย ยังไง ๆ โยมเตี่ยก็ไม่ไปอบายภูมิแล้ว” ท่านเจ้าของกุฏิแสดงมุทิตาจิตต่อเขา  เพื่อความแน่ใจว่าน้องชายเถ้าแก่เส็งจะต้องตายในอีกสามเดือนข้างหน้าจริงดังที่แพทย์บอกหรือไม่ ท่านจึงใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบและก็ได้พบว่า บุรุษนี้มี “ทุนเดิม” อยู่หกสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว เหลืออีกสี่สิบเปอร์เซ็นต์ ท่านจะจัดการให้เถ้าแก่เส็งช่วยสิบเปอร์เซ็นต์ด้วยการเจริญกรรมฐาน แล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้ ส่วนอีกสามสิบเปอร์เซ็นต์ ท่านจะเข้า “ผลสมาบัติ” สามวันสามคืนช่วย “ดีเหมือนกัน เราจะได้ชดใช้กรรมที่เคยทำไว้กับแกสมัยที่เราเป็นเด็ก” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงคิดในใจ รู้สึกยินดีที่จะได้ชดใช้ “หนี้” ที่ทำไว้แต่ครั้งอดีต

            “โยมเตี่ย อาตมาถามจริง ๆ เถอะ ว่ากลัวตายหรือเปล่า”

            “ไม่กัว อั๊วะไม่กัวตาย แต่ก็ไม่อยากตาย” คนเป็นมะเร็งลำไส้ตอบ

            “แล้วถ้าสมมุติว่าโยมเตี่ยจะมีอายุยืนต่อไปอีกห้าปี โยมเตี่ยจะทำอะไร”

            “อั๊วะจาปะติบักกำมะถางเหมืองเฮียเส็งเขา จะปาติบักทุกวัง”

            “แล้วสมมุตินะ สมมุติอีกว่ามีเทวดาจะมาต่ออายุให้เตี่ยอยู่ตอไปได้อีกห้าปี เตี่ยจะเอาไหม”

            “เทวาลาหน้าไหนอีจามาต่อให้อั๊วะล่ะท่าง แต่ถ้ามีนะ อั๊วะจะให้เงิงอีห้าหมื่ง คิกชาเหลี่ยปีละหมึ่ง ถ้าอีกต่อล่ายสองปีก็ให้อีสองหมื่ง”

            “แหม เตรียมให้สินบนเชียวนะโยมเตี่ย แต่เอาเถอะ อาตมาจะบอกเทวดาเขาว่าไม่ให้คิดเงิน ให้ต่อให้ฟรี อยากรู้ไหมว่าเทวดาองค์นั้นอยู่ที่ไหน”

            “ไม่ลู้”

            “นี่ไง เทวดาองค์นี้ไง” ท่านชี้เถ้าแก่เส็ง “วิธีการ” ตามที่ “เห็นหนอ” รายงาน เถ้าแก่บ๊กดีใจเสียนัก มีความรู้สึกเหมือนโรคภัยไข้เจ็บมลายหายไปในบัดดลนั้น เขาก้มกราบท่านเจ้าของกุฏิด้วยความซาบซึ้งใจ

            “ตกลงโยมเถ้าแก่อยู่ที่นี่เจ็ดวันนะ อยู่เป็นเทวดาช่วยโยมเตี่ยเขาหน่อย” ท่านบอกเถ้าแก่เส็ง

            “ยินดีครับหลวงพ่อ แต่ผมคงจะต้องไปเอาเสื้อผ้า ไม่ได้เอาชุดขาวมาเพราะคิดว่าส่งเถ้าแก่บ๊กเขาแล้วก็จะกลับ”

พี่ชายคนป่วยว่า

            “ไม่มีปัญหาโยม ไม่มีปัญหา ประเดี๋ยวเบิกของวัดไปใช้ จะต้องกลับไปให้เสียเวลาทำไม แล้วพวกยาสีฟัน แปรงสีฟัน ประเดี๋ยวจะให้ลูกศิษย์เขาจัดการหามาให้”

            “ครับ อย่างนั้นก็ได้ครับ งั้นผมจะฝากนายสุขไปบอกคุณกิมง้อ เขาจะได้ไม่ห่วง” เขาหมายถึงคนขับแทกซี่มาด้วย นายสุขจึงได้โอกาสกราบเรียนท่านว่า

            “หลวงพ่อจำผมได้ไหมครับ ที่เคยมากับเถ้าแก่ครั้งที่แล้ว เดี๋ยวนี้ผมสบายแล้วครับหลวงพ่อ หนี้สินก็จัดการใช้คืนเถ้าแก่เขาหมดแล้ว รถแท็กซี่ที่ใช้ขับหาเงินทุกวันนี้ก็เป็นของตัวเอง ไม่ต้องเช่าเขาแล้ว ผมดีใจ ภูมิใจที่เป็นพลเมืองดี หากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าเถ้าแก่เอาผมเข้าคุกตั้งแต่ตอนนั้น ผมก็คงกลายเป็นไอ้มหาโจรไปแล้ว คุกไม่ได้ช่วยให้คนเป็นคนดีนะครับหลวงพ่อ เท่าที่ผมเคยเห็น คนดี ๆ ไปติดคุก ออกมา กลายเป็นคนชั่ว แล้วคนชั่วไปติดคุก ออกมายิ่งชั่วหนักเข้าไปอีก ผมว่ากิจการคุกนี่เลิกได้แล้วนะครับ สู้เอาคนชั่วมาเข้าวัดดีกว่า ยังพอจะมีโอกาสกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีได้บ้าง” คนขับแท็กซี่พูดเสียยืดยาวสมกับที่มีโอกาสได้พูด ท่านพระครูชอบอกชอบใจกับข้อเสนอแนะของเขา จึงชมว่า

            “เอ้อ เข้าที ความคิดของโยมเข้าที ถ้าอาตมามีโอกาสได้คุยกับท่านนายก จะลองเสนอท่านดูนะ” ท่านพูดยิ้ม ๆ

            “นี่ท่านข้าวกันมาหรือยัง คุยกันจนเพลิน ไปรับประทานอาหารกันเสียก่อนดีกว่านะ เชิญที่โรงครัวเลย สมชายมานี่หน่อย” ท่านเรียกหาศิษย์วัด

            “พาโยมเขาไปรับประทานอาหาร เสร็จแล้วพาไปหาที่พัก ให้พักห้องเดียวกันนะ จะได้ช่วยดูแลคนป่วย ให้โยมเถ้าแก่ช่วยดูแลโยมเตี่ย” ท่านจำต้องอธิบายให้แจ่มแจ้ง มิฉะนั้นศิษย์วัดก็จะเข้าใจว่าตัวเขาจะต้องไปนอนกับบุรุษทั้งสองด้วย “ขาดเหลืออะไรก็บอกเด็กเขานะโยม” ท่านบอกสองพี่น้อง

            “ขอบพระคุณครับหลวงพ่อ” เถ้าแก่เส็งพูดพร้อมกับยกมือไหว้หนึ่งครั้ง

            “ผมเลยถือโอกาสกราบลาหลวงพ่อเลยนะครับ” คนขับแท็กซี่กล่าวลา หากเขาอิ่มข้าวแล้วมาลาก็จะต้องรอคิวอีกนาน

            “เจริญพร แล้วเมื่อไหร่จะมาเข้ากรรมฐานล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

            “ผมปฏิบัติทุกวันเลยครับ เรียนมาจากเถ้าแก่” เขาบอก

            “ผมจะเปิดบ้านเป็นสำนักปฏิบัติแล้วนะครับหลวงพ่อ เดี๋ยวคนโน้นมาให้สอน เดี๋ยวคนนี้มาให้สอน” คนชื่อเส็งรายงาน

            “ดี ถ้าทำอย่างนั้นได้ถือเป็นกุศลมหาศาลทีเดียว ไม่มีอะไรจะดีไปกว่ากรรมฐานอีกแล้ว สร้างโบสถ์เจ็ดหลังก็ยังได้บุญไม่เท่าการปฏิบัติกรรมฐาน แล้วก็ไม่ต้องเสียเงินเสียทองอีกด้วย”

            คนทั้งสามลุกตามนายสมชายออกไปแล้ว บรรดาผู้มีใบหน้าอันเปื้อนทุกข์ก็พากันทยอยเข้ามา เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงไม่มีเวลาขึ้นไปตอบจดหมายช่วงเพล

            เวลาตีสอง ท่านพระครูจำต้องพักการเขียนหนังสือเพราะต้องพักผ่อนหลับนอน ท่านรู้ว่าหากตรากตรำกับงานมากเกินไป สังขารร่างกายก็จะทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ แม้เครื่องจักรก็ยังต้องหยุดพัก นับประสาอะไรกับคนซึ่งมีเลือดเนื้อและชีวิต

            ยังไม่ทันที่ท่านจะหลับ เสียงคุ้นหูก็ดังขึ้นว่า “จะบอกยาแก้โรคมะเร็งลำไส้ให้เอาไหม มะเร็งกะเพาะ มะเร็งลำไส้ ใช้ยานี้ได้”

          “ไปได้ตำรามาจากไหน” ท่านถามในใจ

            “ผีบอก” เสียงนั้นตอบ

            “ผีที่ไหน”

            “ที่ไหนก็อย่ารู้เลย แต่รับรองว่าหาย บอกคนหายมาหลายรายแล้ว”

            “แล้วรายนี้จะหายไหม ที่มาเมื่อตอนเพลน่ะ” ท่านทดสอบเสียงประหลาดว่าจะรู้จริงหรือไม่

            “หายพันเปอร์เซ็นต์ ก็ท่านจะเข้าผลสมาบัติช่วยเขาไม่ใช่หรือ”

            “ถ้ากินยาแล้วไม่ต้องช่วยไม่ได้หรือ”

            “รายอื่นได้ แต่รายนี้ไม่ได้”

            “ทำไมไม่ได้”

            “ก็ท่านลั่นวาจาไปแล้ว ถ้าไม่ทำตามนั้น ท่านก็เสียสัจจะน่ะซี”

            “งั้นก็บอกมา”

            “บอกแล้วต้องลุกขึ้นจดไว้นะ ไม่งั้นตอนเช้าลืมหมดไม่รู้ด้วย”

            “ต้องจดสิ อาตมาต้องจดไว้เป็นหลักฐานอยู่แล้ว ถ้าไม่เป็นอย่างที่บอกจะได้ปรับ จะให้ปรับที่ใครล่ะ”

            “ปรับตัวเองนั่นแหละ เอาละนะ จะบอกละ จำให้แม่น ๆ นะ ยาแก้โรคมะเร็งที่ว่านี้ก็คือ ใช้กล้วยน้ำว้าดิบมาหั่นตามขวาง หั่นทั้งเปลือกนะ จำได้หรือเปล่า กล้วยน้ำว้านะ กล้วยอื่นไม่ได้ แล้วก็ต้องดิบ ๆ สุกไม่ได้อีกเหมือนกัน ไม่ต้องปอกเปลือก นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง จ้างร้ายขายยาบดให้ละเอียด เวลาจะกิน ให้ชงกับน้ำร้อนเหมือนชงชา ดื่มวันละหลาย ๆ ครั้ง ยิ่งมากครั้งเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี เอาละลุกขึ้นไปจดได้แล้ว”

          “จะไปแล้วหรือ อยู่คุยกันก่อนซี” เมื่อไม่มีเสียงตอบ ท่านจึงลุกขึ้นมาจด เสร็จแล้วจึงจำวัด

            วันรุ่งขึ้น หลังจากฉันภัตตาหารเช้าเสร็จ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงพูดกับนายสมชายและนายขุนทองว่า

            “ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ฉันจะงดรับแขกสามวัน”

            “หลวงพ่อจะไปไหนหรือครับ” นายสมชายถาม

            “จะเข้าผลสมาบัติ ให้เธอยายไปอยู่กับพระบัวเฮียวชั่วคราว แล้วใส่กุญแจขังฉันไว้ข้างบน ห้ามเยี่ยมห้ามประกัน จนกว่าจะครบสามวัน”

            “แล้วถ้ามีแขกมาหาล่ะฮะ” หลานชายถาม

            “ก็บอกไปตามนี้ อย่าลืมนะ ห้ามใครขึ้นไปรบกวนเป็นอันขาด ไม่ว่ากรณีใด”

            “แล้วถ้าเกิดไฟไหม้ล่ะฮะหลวงลุง” หลานชายเป็นห่วง แต่กลับถูกนายสมชายตำหนิติเตียน

            “นั่นปากหรือ ที่พูดน่ะปากหรือ”

            “ถ้าไม่ใช่ปากแล้วจะเอาอะไรพูดล่ะ พี่นี่ถามแปลก หรือว่าพี่เอาตูดพูดได้” นายขุนทองย้อน

            “นี่พอที ๆ อย่ามาทะเลาะกันต่อหน้าต่อตาข้า” ท่านพระครูปราม

            “ก็เขามาว่าหนูก่อนนี่ฮะ” หลานชายยังไม่ยอมหยุด

            “ก็ปากเอ็งมันดีนักนี่ พูดอะไรออกมาแต่ละทีฟังได้เสียเมื่อไหร่” นายสมชายก็ไม่ยอมแพ้เช่นกัน

            “เอาละ ๆ พอกันทั้งคู่นั่นแหละ ขุนทองเอ็งไม่ต้องห่วงข้าหรอก ถ้าไฟมันจะไหม้ก็ให้มันไหม้ เอ็งขนของของเอ็งออกไปก็แล้วกัน แล้วก็ไม่ใช่มัวแต่ขนของจนลืมขนตัวเองออกไปล่ะ” ท่านบอกหลานชาย

            “แต่หนูห่วงหลวงลุงนี่ฮะ” ชายหนุ่มว่า

            “เออน่า ไม่ต้องห่วงข้าหรอก รับรองข้าไม่ถูกไฟคลอกตายหรอกน่า ดวงข้าจะไม่ต้องตายด้วยไฟ อ้อ สมชายเธอจัดการปรุงยาให้โยมน้องชายเถ้าแก่ด้วยนะ” แล้วท่านจึงบอก “ยาผีบอก” แก่ศิษย์วัด

            “เอาละ เดี๋ยวไปจัดการตามที่สั่งก็แล้วกัน สมชายเธอเป็นคนเก็บลูกกุญแจไว้ เก็บให้ดี ๆ นะ ใครขอไม่ต้องให้บอกว่าฉันสั่ง” ท่านไว้ใจนายสมชายมากกว่า เพราะหลานชายนั้นหากได้ “สินบน” ก็ใจอ่อนใจเปลี้ยตามนิสัยของคนที่งกมาตั้งแต่ก่อนเกิด

            สังการเสร็จท่านก็ลงมือตอบจดหมาย คิดว่าตอบไปอีกสองสามฉบับก่อนลงรับแขกก็ยังดี เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงไม่เคยหายใจทิ้ง!

 

มีต่อ........๗๕

 

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00075
๗๕...

            วันรุ่งขึ้น หลังจากฉันภัตตาหารเช้าแล้ว เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็อธิษฐานจิต เข้าผลสมาบัติเป็นเวลาสามวันสามคืน และจะไปออกในวันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๙ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๗

            ที่กุฏิชั้นล่าง บรรดาผู้มีใบหน้าอันเปื้อนทุกข์ เมื่อได้รับการบอกเล่าจากนายขุนทองก็พากันกลับไปด้วยความผิดหวัง บางคนก็ตำหนิท่านในใจว่า “ไม่ทำหน้าที่ของพระ” ทั้งที่ความจริงแล้วพระก็มิได้มีหน้าที่รับแขกแต่ประการใด ในพระวินัยก็ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าพระมีหน้าที่รับแขก

            ส่วนคนที่ไม่มีความเกรงใจก็ถึงกับด่าให้นายขุนทองได้ยิน หลานชายท่านพระครูจึงต้องอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด เขาได้เห็น “ธาตุแท้” ของคนบางคน ที่พอไม่ได้ดังใจก็แสดงความหยาบคายร้ายกาจออกมา นึกถึงถ้อยคำของหลวงลุงที่มักจะพูดเสมอ ๆ ว่า “ผู้หญิงที่น่าเกลียดคือ ผู้หญิงที่ตามใจตัว ผู้ชายที่น่ากลัวคือผู้ชายที่ไม่เกรงใจคน” วันนี้เขาต้องผจญกับหญิงชายประเภทนี้หลายราย ถึงกับต้องท่องไว้ในใจว่า “อดทน อดกลั้น อดทน อดกลั้น”

            แต่ก็มิใช่ว่าจะมีแต่คนเลวร้ายไปเสียหมด เพราะคนดีมีคุณธรรมก็มีอยู่ไม่น้อย ซึ่งเมื่อพวกเขาได้ทราบเรื่องที่นายขุนทองบอกกล่าวต่างพากันอนุโมทนาสาธุการ “สาธุหลวงพ่อท่านช่างมีเมตตาสูงเหลือเกิน ขอให้ท่านจงมีอายุยืนยาวเถิด เจ้าประคู้น”

            วันต่อมานายขุนทองก็ต้องปวดหัวหนักขึ้น เพราะคนที่มาขอพบหลวงลุงคือคุณหญิงปทุมทิพย์ คนที่แอบแช่งในใจว่า “ให้แล้วเอาคืน มะรืนนี้ตาย” แต่ก็เป็นการแช่งที่ไม่จริงจังอะไร คือมิได้ประกอบด้วยความอาฆาตมาดร้าย เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง คุณหญิงก็น่าจะตายตามคำแช่งของเขาไปแล้ว

            “นี่เธอ ฉันแอบสืบมาแล้ว ได้เรื่องแล้ว” คุณหญิงบอกเขาทันที่ที่พบหน้า

            “ได้เรื่องว่ายังไงฮะ” คนถามอยากรู้

            “ก็ได้เรื่องว่ามันแอบไปซื้อบ้านให้นังนั่นอยู่ แล้วตอนนี้ ตอนนี้...” คนเป็นคุณหญิงร้องไห้สะอึกสะอื้น

            “ตอนนี้เป็นไงฮะ” คนอยากรู้ซัก คุณหญิงใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตา สั่งน้ำมูกอีกฟูดใหญ่ ๆ จึงตอบว่า

            “มันออกลูกแล้ว เห็นว่าไปออกที่โรงพยาบาลเอกชน ตอนที่เธอเห็นมันคราวนั้นน่ะ มันท้องได้สามเดือนแล้ว” คนเล่าร้องไห้โฮ ๆ อย่างไม่อายผีสางเทวดา

            “แล้วคุณหญิงจะทำยังไงล่ะฮะ” นายขุนทองถาม

            “ฉันก็จะมาถามหลวงพอว่ามันอยู่โรงพยาบาลอะไร” คนพูดไม่ได้บอกหรือว่าได้เตรียมขวดน้ำกรดใส่มาในกระเป๋าถือด้วย ถ้ารู้ตำแหน่งแห่งที่จะตามไปเอาน้ำกรดสาดหน้ามันทั้งแม่ทั้งลูกให้สมแค้น

            “หลวงลุงท่านเข้าผลสมาบัติสามวันครับ ช่วงนี้ห้ามไม่ให้ใครรบกวน มะรืนนี้ตอนเช้าจึงจะออก” หลานชายท่านพระครูรายงาน

            “ให้ฉันพบเดี๋ยวเดียวเอง ฉันจะถามท่านนิดเดียวแล้วก็จะกลับ ไม่อยู่รบกวนนานหรอก” คนที่ตามใจตัวเสียจนชินว่า

            “ไม่ได้หรอกฮะคุณหญิง หลวงลุงสั่งไว้แล้วว่าห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน” ชายหนุ่มยืนกราน

            “ทำไมท่านต้องเข้าสมาบัติด้วยล่ะ”

            “เพื่อช่วยเถ้าแก่คนหนึ่งน่ะฮะ เถ้าแก่แกเป็นมะเร็งลำไส้ จะต้องตายภายในสามเดือน หลวงลุงเลยจะช่วยต่ออายุให้

            “โอ๊ย เหลวไหลไร้สาระสิ้นดี เธอไปตามท่านแล้วกัน เพราะว่าเรื่องของฉันสำคัญกว่า ไปเรียนท่านว่า คุณหญิงปทุมทิพย์มาขอพบ”

          “ไม่ได้หรอกฮะคุณหญิง ไม่ได้จริง ๆ ฮะ หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดยังคงปฏิเสธ คุณหญิงจึงเปิดกระเป๋าถือ หยิบธนบัตรใบละร้อยสองใบออกมาจากกระเป๋าสตางค์ส่งให้ชายหนุ่ม นายขุนทองไม่ยอมรับเพราะกลัวคนให้จะเอาคืนเหมือนคราวที่แล้ว หากก็พูดเสียงอ่อนลงว่า “กุญแจไม่ได้อยู่ที่หนูหรอกฮะ”

            “แล้วอยู่ที่ใครล่ะ” คุณหญิงถามอย่างหงุดหงิด

            “อยู่ที่พี่สมชายฮะ”

            “งั้นก็ไปเอามา บอกว่าคุณหญิงปทุมทิพย์สั่ง” คนเป็นคุณหญิงบัญชา ลืมไปว่าที่นี่เป็นวัด ไม่ใช่บ้านของเธอเอง

            “เขาไม่ให้หรอกฮะ ยังไง ๆ ก็ไม่ให้” ชายหนุ่มบอกอย่างรู้นิสัยของ “ลูกพี่”

            “ไม่ให้ก็ให้มันรู้ไป มันอยู่ที่ไหนไปตามมาพบฉันหน่อย” คนเป็นคุณหญิงแสดงอำนาจ และเรียกศิษย์วัดว่า “มัน”

            “หนูตามให้ได้ฮะ แต่เขาจะมาหรือไม่มาหนูไม่ทราบ แล้วก็บังคับเขาไม่ได้ด้วยฮะ” ว่าแล้วก็ลุกขึ้นไปตามนายสมชายที่กุฏิพระบัวเฮียว เมื่อเขาลุกออกไป ที่กุฎิท่านพระครูจึงมีคุณหญิงนั่งอยู่เพียงผู้เดียว

            “ท่านพระครูอยู่หรือเปล่าครับ” ชายผู้หนึ่งเข้ามาถาม เขามากับสตรีผู้หนึ่ง อายุประมาณยี่สิบเศษ

            “อยู่ แต่ท่านไม่ลงรับแขก” คุณหญิงบอก รู้สึกขัดเคืองที่ชายหญิงคู่นี้ไม่รู้ว่าเธอเป็นคุณหญิง ความที่อยากจะแสดงตัวจึงถามเขาว่า

            “เธอสองคนไม่เคยดูทีวีหรือไง หรือว่าที่บ้านไม่มีทีวี” ถามอย่างเหยียด ๆ บุรุษที่มากับคู่หมั้นสาวรู้สึกไม่พอใจกับหญิงสูงอายุคนนี้เรียกเขาว่า “เธอ” ราวกับว่าเขาเป็นคนขับรถของหล่อน ตัวเขาเพิ่งจบด็อกเตอร์มาจากอังกฤษแล้วก็เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย คู่หมั้นของเขาก็จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ที่มาหาท่านพระครู ก็เพื่อจะให้ท่านหาฤกษ์แต่งงานให้

            “มีครับ ที่บ้านผมมีทีวีสีด้วย ซื้อมาจากอังกฤษ” ด็อกเตอร์หนุ่มถือโอกาสคุยทับ จะมีสักกี่คนกันเชียวที่มีโทรทัศน์สีดู

            “แล้วพวกเธอไม่เคยเห็นฉันในทีวีหรือไง” เธอถามอีก ก็พยายามติดตามรัฐมนตรีไปทุกงานเพื่อจะให้ใคร ๆ ได้รู้จัก โดยเฉพาะเวลาออกทีวี “ไม่เคยครับ ผมกับคู่หมั้นเพิ่งกลับจากอังกฤษ เมื่อเร็ว ๆ นี้ แล้วก็กำลังยุ่งเรื่องเตรียมการแต่งงาน เลยไม่มีเวลาดูทีวี”

            “อ๋อ” ได้ยินว่าคนคู่นี้เพิ่งกลับจากอังกฤษ คุณหญิงจึงถือโอกาสคุยบ้าง” ฉันก็เคยไปอังกฤษหลายครั้ง ไปเยี่ยมลูก เคยได้ยินชื่อคุณหญิงปทุมทิพย์ ภรรยาท่านรัฐมนตรีผดุงเดชหรือเปล่า ฉันนี่แหละ” เธอคิดว่าคนทั้งสองจะต้อง  ยินดีปรีดาที่ได้รู้จักคุณหญิง หากก็ต้องผิดหวัง เมื่อฝ่ายนั้นพูดว่า

            “ผมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลยครับ โดยเฉพาะรัฐมนตรีเมืองไทย เราเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยเสียจนจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร” ฟังแล้วคุณหญิงอยากจะร้องกรี๊ด พอดีกับนายขุนทองเดินเข้ามา

            “พี่สมชายไม่อยู่หรอกฮะคุณหญิง หลวงพี่บอกว่าไปซื้อของที่ตลาดกับแม่ครัวตั้งแต่เช้า หนูก็ลืมสังเกตว่ารถไม่อยู่”

            “แล้วกุญแจล่ะ มันฝากกุญแจไว้หรือเปล่า”

            “เปล่าครับ เขาเอาไปด้วย”

            “แหม ร้ายจริง ๆ แล้วนี่ฉันจะต้องรออีกกี่ชั่วโมงกันนี่”

            “คุณหญิงค่อยมาวันอื่นดีไหมฮะ มาวันที่ ๑๑ ก็ได้ ท่านกำหนดออกจากสมาบัติวันนั้น”

            “โอ๊ย ฉันรออีกไม่ไหวแล้ว เอาอย่างนี้แล้วกัน เธอรู้จักพระเกจิอาจารย์ดัง ๆ ของจังหวัดนี้หรือเปล่า ฉันจะได้ไปหา ให้ท่านช่วยดูให้ยิ่งเป็นพระอรหันต์ก็ยิ่งดี” นายขุนทองแอบเถียงในใจว่า

            “โอ๊ย ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์จริง ท่านก็ไม่มาสนใจเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ อย่างนี้หรอกคุณหญิง” แต่ปากเขากลับพูดว่า “หนูไม่รู้จักหรอกฮะ”

            “อะไร เรื่องแค่นี้ก็ไม่รู้ เธอนี่แย่จริง งั้นฉันไปถามคนขับรถของฉันก็ได้ ไม่น่าเสียเวลามาเลยกู” เธอบ่น คนเป็นด็อกเตอร์กับคนจบปริญญาโทรู้สึกสังเวชใจใน “กายกรรม” และ “วจีกรรม” ของคนเป็นคุณหญิง หากก็มิได้พูดอะไรออกมา นายขุนทองเสียอีกที่ด่าไล่หลังว่า “อีคนเป็นคุณหญิงเพราะผัว” แล้วอธิบายให้หญิงชายคู่นั้นฟังว่า

            “พี่รู้ไหม ยายคุณหญิงนี่อาศัยบารมีผัวถึงได้เป็นคุณหญิง ถ้าผัวไม่เป็นรัฐมนตรีมีหรือจะได้เป็น จริงไหมพี่” คนฟังเพียงแต่ยิ้ม ๆ หากไม่ยอมออกความเห็น คนพูดจึงเปลี่ยนเรื่องถาม

            “พี่มีธุระมาหาหลวงลุงหรือฮะ”

            “ครับ ผมจะมาขอให้ท่านหาฤกษ์แต่งงาน” ฝ่ายชายบอก

            “ท่านงดรับแขกสามวันฮะ วันที่ ๑๑ พี่มาใหม่ก็แล้วกัน” คนพูดคาดว่าคงจะได้รับการต่อว่าต่อขานอีก เช่นเดียวกับรายอื่น ๆ หากก็ต้องผิดคาดเพราะเขาพูดว่า

            “งั้นวันที่ ๑๑ ผมจะมาใหม่นะครับ” พูดจบก็ลุกออกไป ไม่ถามเสียด้วยซ้ำว่าเหตุใดท่านพระครูจึงไม่ลงรับแขก

            “สาธุ ขอให้คนที่มาหาหลวงลุงน่ารักเหมือนคนคู่นี้ทุก ๆ คนเถิด เจ้าประคู้น” นายขุนทองแอบตั้งจิตอธิษฐาน

            ครู่หนึ่งเขาก็ได้ยินเสียงร้องกรี๊ด ๆ ดังมาจากลานจอดรถ เสียงนั้นแหลมลึกอย่างประหลาด ชายหนุ่มจึงวิ่งไปยังที่มาของเสียง แล้วก็พบคุณหญิงปทุมทิพย์ยืนเต้นเร่า ๆ ส่งเสียงกรี๊ด ๆ อยู่ข้างรถเบ๊นซ์ ชายวัยกลางคนแต่งชุดทหารยศพันตรียืนงงงันอยู่

            “เกิดอะไรขึ้นหรือฮะ” เขาถามนายทหาร

            “ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เห็นคุณหญิงท่านเดินผ่านต้นปีบมา ผมก็เตรียมลงมาเปิดประตูให้ท่าน แล้วท่านก็มายืนร้องกรี๊ด ๆ อย่างที่คุณเห็นนี่แหละ”

            “คุณหญิงฮะ คุณหญิง” ผู้ชายที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิง เข้าไปจับตัวคุณหญิงเขย่าแรง ๆ หมายจะให้เธอรู้สึกตัว

            “ว้าย อย่ามาถูกต้องตัวข้านะ” เสียงแหลมกรี๊ดใส่ นายขุนทองรู้ทันทีว่านั่นมิใช่คุณหญิง แต่จะเป็นใครนั้นต้องถาม

            “ข้าน่ะใครล่ะ แกเป็นใคร”

            “เป็นใครก็ช่างข้า อยากรู้จริง ๆ ก็ไม่ถามหลวงพ่อซี “วิญญาณ” ในร่างของคุณหญิงปทุมทิพย์ตอบ

            “บอกเดี๋ยวนี้ไม่ได้หรือ ทำไมจะต้องถามหลวงพ่อ ท่านกำลังอยู่ในสมาบัติ จะถามได้ยังไง”

            “ก็เพราะอย่างนี้ซี ข้าถึงมาเข้านังคุณหญิง หมั่นไส้มันตั้งแต่วันนั้นแล้ว แต่ที่ไม่กล้าทำอะไรเพราะเกรงใจหลวงพ่อ” แขกเหรื่อที่ตั้งใจจะมาหาท่านพระครู เมื่อเดินผ่านลานจอดรถจึงพากันหยุดดู รวมทั้งด็อกเตอร์กับคู่หมั้นซึ่งกำลังจะเดินไปที่รถของตน ประเดี๋ยวหนึ่ง บรรดาแม่ครัวก็ยกขบวนกันมานำหน้าด้วยนางบุญพา นางสาวนางบุญรับ

            “อะไรกันวะขุนทอง” นางถามหลานชายท่านพระครู

            “ไม่รู้เหมือนกัน ป้าดูเอาเองสิ” ชายหนุ่มบอก นางบุญพาจึงเข้าไปเขย่าตัวคุณหญิง พลางถามเสียงอ่อนหวาน

            “คุณหญิงเจ้าขา เป็นอะไรไปเจ้าคะ “ร่าง” ของคุณหญิงสะบัดอย่างแสนจะรังเกียจสัมผัสของฝ่ายนั้น

            “อย่ามาจับข้านะ นังคนสกปรก”

            “อิฉันอาบน้ำแล้วเจ้าค่ะ อาบเสร็จก็มานี่แหละ” นางบุญพาตอบ ครั้นสบตากับคุณหญิง ก็ถึงกับขนลุกซู่ เพราะคุณหญิงจ้องนางตาไม่กระพริบ รู้ได้ทันที่ว่านั่นมิใช่คุณหญิงแต่เป็น “ผี” จึงก้มกราบปะหลก ๆ “โอ๊ยกลัว...กลัวแล้วจ้ะ อย่าถือสาหาความอะไรกะฉันเลย ไปที่ชอบ ๆ เถอะ”

            “ข้าไม่ไป ข้าจะอยู่ช่วยหลวงพ่อดูแลวัด แกนังคนสกปรก คนอย่างแกต่อให้อาบน้ำอีกสักสิบตุ่มก็ไม่สะอาด เพราความสกปรกมันอยู่ที่ใจแก มันแนบเนื่องอยู่ในกาย ในใจของแก ข้ารู้ข้าเห็นมานานแล้ว แต่ที่ไม่ทำอะไรเพราะเกรงใจหลวงพ่อ ขอให้รู้ไว้ว่าข้ารอโอกาสนี้มานานแล้ว”

            “ได้โปรดเถอะจ้ะ อย่าทำฉันเลย ฉันไม่เคยทำผิดคิดร้ายใคร” คราวนี้ “วิญญาณ” ในร่างคุณหญิงเท้าสะเอวด้วยมือซ้าย ส่วนมือขวาชี้หน้าคนที่กำลังก้มกราบปะหลก ๆ กราบจนหยุดไม่ได้

            “หนอยแน่ะ พูดออกมาได้ว่าไม่เคยทำผิดคิดร้าย คนอย่างแกมันชั่วแล้วก็ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองชั่ว ชั่วทั้งกาย วาจา ใจ นึกว่าข้าไม่รู้หรือ แกมาทำครัวช่วยหลวงพ่อน่ะ แกบริสุทธ์ใจหรือก็เปล่า เวลาพวกแม่ครัวเขาเผลอ แกก็แอบเอาหอมกระเทียมบ้าง มีดบ้าง หมูบ้าง ปลาเค็มบ้าง ใส่พกกลับไปบ้าน ถึงคนอื่น ๆ จะไม่เห็น แต่ข้าก็เห็น” บรรดาแม่ครัวพากันจ้องหน้านางบุญพา แล้วถามเป็นเสียงเดียวกัน

            “จริงหรือ” นางกำลังจะปฏิเสธ “คุณหญิง” ก็ขู่ว่า

            “ถ้าพูดไม่จริง แม่จะหักคอทิ้งเดี๋ยวนี้แหละ”

            “โอ๊ย กลัวแล้วจ้ะกลัวแล้ว อย่าทำลูกช้างเลย หลวงพ่อช่วยลูกช้างด้วย” นางบุญพาร้องเสียงหลง นายสมชายกลับจากจ่ายตลาดกับหัวหน้าแม่ครัว เห็นคนยืนมุงอยู่ที่ลานจอดรถ จึงพูดกับหัวหน้าแม่คร้วว่า

            “เกิดอะไรขึ้นไม่รู้นะป้านะ หลวงพ่อท่านก็มาตัดสินให้ไม่ได้เสียด้วย ยังไง ๆ ผมก็ต้องรักษาคำมั่นสัญญาจนถึงที่สุด” เขานำรถเข้ามาจอดใกล้ ๆ แล้วชวนหัวหน้าแม่ครัวลงไปดู นายขุนทองรีบวิ่งมารายงาน

            “คุณหญิงถูกวิญญาณเข้าสิงแน่ะพี่ ด่ายายบุญพาใหญ่เลย” ศิษย์วัดดูประเดี๋ยวเดียวก็รู้ว่า นายขุนทองไม่ได้พูดเล่น จากประสบการณ์ที่เคยตามท่านพระครูไป “จับผี” หลายครั้ง จึงรู้ว่าผีที่มาเข้าคุณหญิงไม่ใช่ผีปลอม

            “ไปตามหลวงพี่บัวเฮียวมาด่วน” นายขุนทองรีบวิ่งไปยังกุฏิของพระบัวเฮียว เห็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่จึงว่า

            “ขออภัยนะฮะหลวงพี่ คุณหญิงถูกผีเข้าฮะ หลวงพี่ช่วยไปดูหน่อย” ภิกษุวัยเลยเบญจเพสพักการปฏิบัติไว้ชั่วคราว แล้วตามนายขุนทองไป

            เมื่อท่านไปถึง คนที่มุงดูอยู่พากันหลีกทางให้ท่านเข้าไปในวง “คุณหญิง” ก้มลงกราบสามครั้ง กราบอย่างสวยงามที่สุดเท่าที่นายสมชายเคยเห็น “ผีกราบพระก็เป็นด้วย กราบได้สวยกว่าคนเสียอีกแน่ะ” ศิษย์วัดคิดในใจ กราบพระบัวเฮียวแล้ว “คุณหญิง” ก็รายงานด้วยเสียงที่แสนจะไพเราะ

            “ดิฉันต้องขอกราบประทานโทษพระคุณเจ้านะเจ้าคะที่บังอาจมาก้าวก่ายเรื่องของมนุษย์ ดิฉันทนไม่ไหวจริง ๆ เจ้าค่ะ”

            “โยมมาจากไหนล่ะ” ภิกษุเชื้อสายญวนถาม

          “ดิฉันมากับเสานั่นเจ้าค่ะ เสาสีดำที่พิงอยู่ใต้ต้นปีบ”

            “การมาของโยมมีจุดประสงค์อะไรหรือ”

            “ดิฉันจะมาช่วยหลวงพ่อเจ้าค่ะ มาช่วยดูแลทำความสะอาดวัด”

            “แล้วทำไมต้องมาเข้าคุณหญิงเขาด้วยล่ะ ไม่น่าจะทำอย่างนี้” ภิกษุหนุ่มพูดเสียงตำหนิ

            “ก็อยากจะสั่งสอนเจ้าค่ะ สั่งสอนทั้งคุณหญิงและยายบุญพา”

            “แล้วสั่งสอนเสร็จหรือยัง”

            “เสร็จแล้วเจ้าค่ะ ดิฉันจะไปเดี๋ยวนี้แหละเจ้าค่ะ” พูดจบก็ก้มลงกราบสามครั้ง แต่ครั้งที่สามไม่ยอมเงย คุณหญิงปทุมทิพย์ฟุบอยู่ตรงนั้นในท่ากราบ

            “เอ้าโยมแม่ครัวช่วยนำคุณหญิงไปกุฏิหลวงพ่อหน่อย” บรรดาแม่ครัวยกเว้นนางบุญพา ต่างช่วยกันหามคุณหญิงด้วยความทุลักทุเล เพราะคนถูกหามคงจะน้ำหนักเจ็ดสิบกิโลกรัมเป็นอย่างน้อย!

            ช่วยกันเยียวยาอยู่สักครู่ คุณหญิงก็รู้สึกตัว

            “นี่ฉันมาอยู่ที่นี่ได้ยังไง” นายทหารผู้ทำหน้าที่ขับรถพามา จึงเล่าเหตุการณ์ให้เธอฟัง เล่าจบผู้ที่นั่ง ณ ที่นั้น ต่างพากันเหลียวหาทางบุญพา หากไม่มีผู้ใด ได้เห็นแม้แต่เงาของนาง! ผู้หญิงคนนั้นหนีไปแล้ว นางจะไม่กลับมาที่วัดนี้อีก

            เห็นหน้านายสมชาย คุณหญิงก็เริ่มแสดงอำนาจบารมี

            “นี่เธอ ช่วยเปิดประตูให้ฉันหน่อย ฉันจะขึ้นไปพบหลวงพ่อ” เธอออกคำสั่ง

            “ไม่ได้หรอกครับคุณหญิง ท่านสั่งผมไว้เลยว่าห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

            “นั่นเพราะท่านไม่ทราบว่าฉันจะมาน่ะซี เอาเถอะไม่ต้องพูดมาก เปิดประตูให้ฉันก็แล้วกัน อะไรเกิดขึ้นฉันขอรับผิดชอบเอง”

            “ไม่ได้หรอกครับคุณหญิง ยังไง ๆ ผมก็เปิดให้ไม่ได้” ชายหนุ่มยืนกราน

            “นี่เธอลืมไปแล้วหรือว่าฉันเป็นใคร” คุณหญิงปทุมทิพย์พูดเสียงกร้าว

            “ผมไม่ลืมหรอกครับ ไม่ลืมว่าคุณหญิงเป็นภรรยาของท่านรัฐมนตรีผดุงเดช” ในใจนั้นอดไม่ได้ที่จะเยาะเย้ย “อดีตภรรยา ส่วนภรรยาคนปัจจุบันเป็นเด็กอายุสิบหก”

            “ก็ในเมื่อรู้แล้วทำไมจึงกล้าขัดคำสั่งของฉัน” นายสมชายรู้สึกสมเพชคนเป็นคุณหญิงเสียนัก ผู้หญิงที่หลงยึดหลงติดกับหัวโขน! ชายหนุ่มระงับความขัดข้องหมองใจเอาไว้ แล้วพูดด้วยเสียงที่เป็นปกติว่า

            “ขอประทานโทษนะครับคุณหญิง ผมเปิดให้ไม่ได้จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภรรยารัฐมนตรีหรือ แม้กระทั่งภรรยานายกรัฐมนตรี ผมก็ไม่สามารถเปิดให้ได้ คุณหญิงค่อยมาวันอื่นเถิดครับ” คนเป็นคุณหญิงอยากจะร้องกรี๊ด หากก็ต้องระงับอารมณ์เอาไว้

            เมื่อเห็นว่าไม่สามารถจะทำให้ชายหนุ่มยินยอมได้ คุณหญิงจึงคิดจะขอยืมมือนายทหารวัยกลางคน จึงพูดขึ้นว่า

            “อันที่จริงฉันไม่น่าลดตัวลงมาพูดกับเธอหรอกนะ ควรจะเป็นหน้าที่ของคนขับรถของฉันมากกว่า บุญช่วยเธอจัดการให้ฉันที จัดการให้เขาทำตามคำสั่งของฉันด้วย แม้จะต้องใช้กำลังเธอก็ต้องทำ” เธอยื่นคำขาด

            “จะเอาผมไปฆ่าไปแกง ผมก็ไม่ยอมทำตามคำสั่งของคุณหญิง ถ้าผู้พันอยากได้ลูกกุญแจก็ข้ามศพผมไปก่อน” ศิษย์วัดพูดอย่างเด็ดเดี่ยว พันตรีบุญช่วยรู้สึกลำบากใจ เขายอมมาทำหน้าที่เป็นคนขับรถให้คุณหญิงก็เพราะหวังจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพันโท พันเอก กระทั่งถึงนายพล นี่ก็ไต่เต้ามาตั้งแต่เป็นนายสิบ อุตส่าห์ตามใจผู้หญิงอ้วนที่เอาแต่ใจตัวเองไปเสียทุกเรื่อง เบื่อจนสุดเบื่อหน่ายจนสุดหน่าย คิดว่าไปรับอาสาเป็นคนขับรถให้เมียร้อยรัฐมนตรียังจะดีเสียกว่า มีทางก้าวหน้ามากกว่านี้แยะ เด็กสาวคนนั้นคงจะไม่จู้จี้ขี้บ่นเหมือนยายแก่หมูตอนคนนี้

            “นั่งเซ่ออยู่ทำไม จัดการตามที่ฉันสั่งเดี๋ยวนี้”

            “ถ้าผมไม่ทำล่ะครับ” คนไต่เต้ามาจากนายสิบตัดสินใจแล้ว “เป็นไงเป็นกัน”

            “หา เธอพูดอะไรนะ” คุณหญิงแผดเสียงลั่นกุฏิ ดีที่ว่าพวกแม่ครัวพากันลุกออกไปทำหน้าที่ของตนแล้ว หลังจากที่มองหานางบุญพาไม่เห็น

            “คุณหญิงฟังไม่ถนัดหรือครับ ถ้างั้นฟังอีกครั้งนะครับ ผมจะพูดช้า ๆ ชัด ๆ” เขารวบรวมความกล้าอีกครั้ง แล้วพูดด้วยเสียงที่สั่นนิด ๆ ว่า “ผมไม่สามารถทำตามคำที่คุณหญิงสั่งได้หรอกครับ”

            “ดีละ งั้นฉันจะถอดยศเธอกลับไปเป็นนายสิบอย่างเก่า” คุณหญิงปทุมทิพย์ขู่

            “ถอดก็ถอดซีครับ แล้วผมจะไปขอให้ท่านรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ใหม่ก็ได้ ไปรับอาสาขับรถให้เมียน้อยของท่าน ขี้คร้านจะได้เป็นถึงนายพล!”     

 

มีต่อ........๗๖

 

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00076
๗๖...

            เวลาหกนาฬิกา ของเช้าวันที่ ๑๑ สิงหาคม ท่านพระครูออกจากผลสมาบัติดังที่ได้อธิษฐานจิตไว้ตอนก่อนจะเข้า ที่ต้องอธิษฐานจิตให้ออกตอนเช้าก็เพื่อจะได้ฉันภัตตาหารหลังจากที่ไม่ได้ฉันมาสามวันเต็ม ๆ เพราะนั่งขัดสมาธิอยู่กับที่เป็นเวลา ๗๒ ชั่วโมงติดต่อกัน

            เนื่องจากการเข้าสมาบัติในครั้งนี้มิได้เป็นไปอย่างปกติสามัญ หากต้องการจะต่ออายุให้เถ้าแก่บ๊ก ดังนั้นอาการที่ปรากฏหลังออกจากสมาบัติจึงผิดไปจากที่ได้เคยเป็น กล่าวคือแทนที่จะได้เสวยสุขเวทนาอันเกิดแต่สมาธิ กลับต้องมาเสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ถึงกับต้องกำหนด “ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ” อยู่ชั่วขณะ แล้วจึงกำหนดรู้ว่าทุกขเวทนาที่กำลังได้รับอยู่นั้น เป็นการถ่ายเทโรคภัยไข้เจ็บในตัวเถ้าแก่บ๊กมาสู่ตัวท่าน

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรู้สึกปวดท้องเป็นกำลัง ปวดท้องและคลื่นไส้อยากจะอาเจียน ท่านหยิบกระโถนมาวางใกล้ตัวและก้มหน้าอาเจียนโอ้ก ๆ สิ่งที่ออกจากปากมีทั้งเสมหะ น้ำลาย น้ำหนอง และตามด้วยโลหิตสด ๆ สีแดงฉาน ถ่ายเทของเสียออกมาแล้วรู้สึกสบายขึ้น หากก็เพียงชั่วขณะ หลังจากนั้นก็รู้สึกปั่นป่วนภายในท้องอีก คราวนี้ไม่มีทีท่าว่าจะพุ่งขึ้นทางลำคอแล้วออกทางปาก แต่กลับพุ่งลงไปทางเบื้องต่ำ

            ภิกษุวัยห้าสิบค่อย ๆ พยุงกายลุกขึ้น ตั้งสติให้มั่นคง มือยึดราวบันได เท้าก้าวลงช้า ๆ อย่างมีสติ พยายามกลั้นสิ่งที่อยู่ภายในท้องมิให้ไหลเลอะออกมาก่อนที่จะถึงห้องน้ำ

            ท่านใช้เวลาอยู่ในห้องสุขายี่สิบนาที เป็นยี่สิบนาทีแห่งความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เพราะไม่เพียงแต่จะถ่ายเป็นอุจจาระปะปนกับมูกเลือดออกมาเท่านั้น หากลมได้ตีกลับขึ้นเบื้องบน ผ่านลำคอออกมาทางปากอีกทางหนึ่ง

            ท่านรู้สึกเหนื่อยอ่อน หมดเรี่ยวแรงเหมือนว่าจะต้องดับดิ้นสิ้นชีวิตอยู่ภายในห้องแคบ ๆ นั้น แต่แม้จะรู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรงสักปานใดก็มีสติระลึกรู้ รู้ว่าท่านจะต้องไม่สิ้นชีวิตอยู่ในห้องน้ำนี้ เพราะ “กฎแห่งกรรม” บอกว่าท่านจะต้องเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุรถคว่ำ

            เมื่อโรคภัยไข้เจ็บที่รับมาจากเถ้าแก่บ๊กถูกถ่ายเทออกมาภายนอกจนหมดสิ้นแล้ว ท่านรู้สึกเบาเนื้อเบาตัวและสบายขึ้นเป็นลำดับ จึงจัดการสรงน้ำชำระร่างกายจนสะอาดสะอ้าน เสร็จแล้วจึงเดินขึ้นชั้นบนเพื่อรอฉันภัตตาหาร เสียงท้องร้องจ๊อก ๆ เพราะไม่มีอาหารอยู่ในกระเพาะเลย “รู้แล้วน่าว่าเอ็งหิว ข้าเองก็อดมาสามวันสามคืนเท่ากับเอ็งนั่นแหละ” ท่านพูดกับท้อง

            ครู่ใหญ่ ๆ นายสมชายกับนายขุนทอง ก็ช่วยกันลำเลียงอาหารและน้ำร้อนน้ำชาขึ้นมาถวาย เห็นท่าทางอิดโรยของท่านเจ้าของกุฏิ คนทั้งสองต่างพากันตกใจ

            “ทำไมหลวงพ่อดูซีดเซียว ไม่เอิบอิ่มเหมือนทุกครั้งที่ออกจากสมาบัติเลยนะครับ” ศิษย์วัดว่า

            “หลวงลุงไม่สบายหรือเปล่าฮะ” หลานชายถาม ท่านพระครูยอมรับว่า

            “หนักที่สุดในชีวิต เธอรู้ไหมสมชาย การช่วยครั้งนี้ฉันเกือบจะต้องเอาชีวิตของตัวเองเข้าแลก ถ้ากฎแห่งกรรมไม่บอกไว้ก่อนว่าฉันจะต้องตายเพราะอะไรแล้วละก็ ฉันคงจะตายไปแล้ว เธอจำไว้นะ เหนือฟ้ายังมีฟ้า แต่เหนือฟ้าขึ้นไปก็ยังมีกฎแห่งกรรม”

            จัดอาหารเสร็จแล้วคนทั้งสองจึงช่วยกันประเคน ท่านเจ้าของกุฏิ ฉันได้สักสองสามช้อนก็อิ่ม เพราะรู้สึกอ่อนเพลียจนฉันไม่ลง จึงได้แต่ดื่ม “น้ำชา” ที่รสชาติทั้งเฝื่อนทั้งขม

            “ฉันเสร็จ หลวงพ่อพักผ่อนสักหน่อยดีกว่าครับ อย่าเพิ่งลงรับแขกตอนนี้เลย” ศิษย์วัดขอร้อง วันนี้แขกมากันแน่นกุฏิ เพราะหยุดกิจการไปถึงสามวัน บางคนก็มารอตั้งแต่ตีสี่ นับวันคนก็ยิ่งมีทุกข์กันมากขึ้น ความเจริญทางวัตถุไม่ช่วยให้ความทุกข์ของพวกเขาลดลงแต่ประการใด

            “ขืนฉันพักผ่อน คนจะต้องขึ้นมาพังกุฏิฉันแน่ เอาละ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ฉันจะลงไปเดี๋ยวนี้แหละ ยังไม่ถึงเวลาก็ไม่เป็นไร ถือเสียว่าเป็นการชดเชยช่วงที่หยุด”

            คนที่มาตั้งแต่ตีสี่เป็นบุรุษวัยห้าสิบแปด เห็นท่านพระครูลงมาก็แทบจะวิ่งเข้าไปกอด “หลวงพ่อครับช่วยผมด้วย” ประโยคแรกที่เขาเอื้อนเอ่ยก็คล้าย ๆ กันกับของคนอื่น ๆ

            “โยมจะให้ช่วยอะไรล่ะ” ประโยคแรกของท่านพระครูที่พูดกับเขา ก็เหมือนกับพูดกับคนอื่น ๆ เช่นกัน

            “แม่เด็กหนีไปซะแล้ว หลวงพ่อช่วยตามให้หน่อย”

            “หนีไปไหนล่ะ”

            “ไม่ทราบครับ ถึงต้องมาถามหลวงพ่อไง”

            “อ้าว ก็นอนอยู่ด้วยกันยังไม่ทราบ แล้วอาตมาไม่ได้ไปนอนกะแม่เด็กเขา จะไปทราบได้ยังไงล่ะ” ท่านย้อนคนเมียหนี

            “แต่หลวงพ่อต้องทราบ เพราะใคร ๆ เขาก็มาหาหลวงพ่อกันทั้งนั้นเวลาที่เมียหนี หลวงพ่อตามกลับได้ทุกรายเลยด้วย” คนอายุห้าสิบแปดว่า

            “แต่ตอไปนี้อาตมาว่า จะเลิกตามให้แล้ว พระไม่ได้มีหน้าที่มาตามเมียให้ชาวบ้าน เมียใครก็ตามกันเอาเอง” ท่านแกล้งปฏิเสธ

            “โธ่หลวงพ่อ ช่วยผมสักครั้งเถอะครับ ผมกราบละ” เขาก้มลงกราบหนึ่งครั้ง

            “ไปทำยังไงเข้าล่ะ เขาถึงได้หนี”

            “ไม่ได้ทำอะไรครับ” คนตอบไม่พูดความจริง

            “ไม่ทำแล้วเขาจะหนีทำไมล่ะ ก็อยู่กันมาจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร แล้วทำไมถึงมาหนีไปตอนแก่ล่ะ บอกมาตรง ๆ ดีกว่าว่าไปทำอะไรเขา ถ้าโกหกไม่ช่วยนะเอ้า” ท่านเจ้าของกุฏิขู่ คนถือไม้เท้ายอดทองจึงพูดเสียงอ่อย ๆ

            “ก็แค่เอาฝาโอ่งทุบหัวทีเดียวเอง”

            “ฝาโอ่งนั่นทำด้วยอะไร อะลูมิเนียม หรือไม้”

            “ไม้ครับหลวงพ่อ ไม้ประดู่” รายนี้ท่านพระครูไม่จำเป็นต้องใช้ “เห็นหนอ” ช่วยตรวจสอบหรือช่วยตาม เพราะเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สตรีวัยห้าสิบเศษร้องไห้ร้องห่มมาหาพร้อมก้มให้ดูศีรษะซึ่งโนเป็นลูกมะกรูด

            “หลวงพ่อดูซีคะ พ่อบ้านเขาใช้ฝาโอ่งฟาดหัวอีฉัน ฝ่าโอ่งทำด้วยไม้ประดู่หนักห้ากิโล!”

          “ไปทำอะไรให้เขาโกรธล่ะ”

          “เขาหาว่าอีฉันทำกับข้าวไม่อร่อยค่ะ แหม! อยู่กันมาจนมีเขยมีสะใภ้แล้ว เกิดจะมาติว่ากับข้าวไม่อร่อย อีฉันไม่กลับไปอยู่กะมันแล้ว มาอยู่วัดป่ามะม่วงดีกว่า” แล้วนางก็อยู่ที่วัดนี้มาตั้งแต่วันนั้น

            รู้ต้นสายปลายเหตุแล้ว ท่านเจ้าของกุฏิจึงถามบุรุษวัยใกล้หกสิบว่า “เอายังงี้ไหมเล่า อาตมาจะตามให้ แต่โยมจะต้องกราบขอขมาเขา กราบงาม ๆ ตอหน้าอาตมาด้วย ทำได้ไหมเล่า ถ้าไม่ได้ก็ไม่ตามให้” คนเมียหนีตอบทันทีว่า

            “ผมทำไม่ได้หรอกครับหลวงพ่อ เรื่องอะไรจะไปกราบผู้หญิง ขนาดแม่ผมแท้ ๆ ยังไม่เคยกราบ นี่หลวงพ่อจะให้มากราบเมีย” เขาต่อว่า

            “ไม่เป็นไร กราบไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เอาละ ใครมีปัญหาอะไรก็ว่าไป” ท่านถามรายต่อไปโดยไม่สนใจคนอายุห้าสิบแปดที่นั่งคอตกอยู่หน้าอาสนะ

            ทหารยศพลตรีเข้ามากราบแล้วถามว่า “หลวงพ่อจำผมได้หรือเปล่าครับ ที่เคยมาบวชอยู่วัดนี้เมื่อปี ๒๕๐๐”

            “จำไม่ได้หรอกโยม ตั้งเกือบยี่สิบปีแล้ว ใครจะไปจำได้” ท่านพระครูพูดตรง ๆ นายพลตรีจึงส่งซองจดหมายเก่า ๆ ให้ท่านหนึ่งซอง ท่านเจ้าของกุฏิเปิดซองออกก็พบข้อความที่เขียนด้วยลายมือของท่านเอง กระดาษที่ใช้เขียนออกสีเหลือง เพราะความล่วงไปแห่งกาลเวลา ข้อความที่ปรากฏบนแผ่นกระดาษนั้นมีว่า

            “อาตมาขอบิณฑบาตนะโยม ขอให้เลิกประพฤติผิดศีลข้อสาม ถ้าเลิกไม่ได้ เวรกรรมจะไปตกที่ลูกสาวทั้งสามคนของโยม ไม่เชื่อก็คอยดูกันต่อไป ลงชื่อ พระครูเจริญ ฐิตธัมโม วัดป่ามะม่วง วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐”

            อ่านจบท่านเจ้าของกุฏิก็นึกถึงเรื่องราวแต่หนหลังได้ สมัยนั้นนายพลตรี มียศเป็นร้อยเอก ภรรยาเป็นทหารยศร้อยตรี มีลูกสาวสามคน ปี ๒๕๐๐ เขาได้ลาราชการมาบวชที่วัดนี้หนึ่งพรรษา บวชโดยมิได้มีศรัทธาแต่ประการใด มารดาขอให้บวชก็บวชไปอย่างนั้นเอง

            ระหว่างที่อยู่ในวัดก็ไม่ยอมปฏิบัติกรรมฐาน เพราะไม่เชื่อว่าบุญบาปมีจริง และเพราะไม่เชื่อจึงก่อกรรมทำชั่วอย่างไม่สะทกสะท้าน ท่านเคยเตือนให้เลิกผิดลูกผิดเมียชาวบ้าน เพราะก่อนมาบวชก็มีเรื่องอื้อฉาวคาวโลกีย์อยู่เป็นประจำ ครั้นมาบวชท่านขอบิณฑบาต เขาก็ไม่ยอมยกให้ ท่านจึงต้องเขียนข้อความข้างต้นให้เขาไว้ เพื่อสอนใจ คนเป็นนายพลกล่าวทั้งน้ำตาว่า

            “ผมเสียใจเหลือเกินครับ เสียใจที่ไม่เชื่อหลวงพ่อ สึกออกไปผมยังคงประพฤติระยำตำบอน เจ้าชู้ไม่เลือกลูกเขาเมียใคร เพราะไม่เชื่อหลวงพ่อ เพิ่งจะสำนึกเมื่อวานนี้เอง เลยชวนภรรยามาหาหลวงพ่อ คิดว่าหลวงพ่อต้องช่วยได้” ท่านเจ้าของกุฏิรู้ว่า เรื่องที่เขาจะพูดเป็นความลับจึงว่า

            “เชิญไปคุยกันข้างบนดีกว่า” ท่านลุกขึ้นแล้วพูดกับผู้ที่นั่งรอว่า “ขอตัวประเดี๋ยวนะ เดี๋ยวจะลงมาใหม่” พลตรีและภรรยาซึ่งขณะนี้มียศเป็นพันโทหญิง ลุกตามท่านเจ้าของกุฏิไปยังชั้นบน

            “เรื่องมันเป็นยังไง” ท่านพระครูถาม คนทั้งสองต่างกันร้องไห้ แล้วคนที่เป็นนายพลก็พูดขึ้นว่า

            “เวรกรรมเล่นงานผมแล้วครับหลวงพ่อ ลูกสามผมหนีออกจากบ้านทั้งสามคน ต่อมามีคนไปพบว่า พากันไปขายตัวอยู่ที่หาดใหญ่ ผมอับอายเหลือเกินครับหลวงพ่อ เสียศักดิ์ศรี เสียเชื่อเสียงวงศ์ตระกูล พ่อเป็นนายพล แม่เป็นนายพัน แต่ลูกเป็นโสเภณี”

            “เป็นความผิดของใครล่ะ ความผิดของลูกอย่างนั้นหรือ”

            “ความผิดของผมเองครับ เพราะผมไม่เชื่อหลวงพ่อ”

            “แล้วตอนนี้เชื่อหรือยัง”

            “เชื่อแล้วครับ โปรดช่วยผมด้วยเถอะครับ ผมสงสารลูก ไม่อยากให้เขาต้องไปมีอาชีพอย่างนั้น”

            “โยมทั้งสองอยากให้ลูกกลับมาหรือเปล่า”

            “อยากครับ ภรรยาผมก็อยากแต่ก็กลัวจะอับอายขายหน้า ผมคิดไม่ตกเลยครับว่าจะทำยังไงดี หลวงพ่อโปรดชี้ทางให้ผมด้วย”

            “ถ้าโยมอยากให้ลูกกลับก็ต้องยอมอายนะ ทำยังไงได้ ถึงเวลาที่ต้องอาย ก็ต้องยอม แต่ถึงอย่างไร อาตมาคิดว่ายังน่าอายน้อยกว่าที่เราทำความชั่ว ขออภัยนะที่อาตมาพูดตรง ๆ”

            “ดิฉันจะยอมอายค่ะหลวงพ่อ คิดถึงลูกเหลือเกิน” พันโทหญิงรำพัน คนเป็นนายพลต้องตัดสินใจอย่างหนัก ในที่สุดจึงพูดขึ้นว่า

            “ผมก็ยอมอายครับ ผมปลงตกเสียแล้ว ยังไง ๆ ลูกเขาก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข ส่วนตำแหน่งหน้าที่เป็นเพียงหัวโขน อีกประการหนึ่ง ลูก ๆ ต้องมาเป็นอย่างนี้ เพราะผมเป็นคนสร้างกรรมให้เขา หลวงพ่อช่วยผมหน่อยเถิดครับ ช่วยตามลูกสาวผมกลับด้วย” เขาวิงวอน ท่านเจ้าของกุฏิจึงเปรยขึ้นว่า

            “ไม่รู้อะไรกันนักหนา รายแรกจะให้ตามเมีย รายที่สองจะให้ตามลูก ทั้ง ๆ ที่อาตมาไม่มีทั้งลูกและเมีย” คนเป็นนายพลนายพันพากันยิ้มทั้งน้ำตา ท่านพระครูจึงบรรลุจุดประสงค์ในการทำให้คนทั้งสองคลายเครียด

            “เอาละ เป็นอันว่าอาตมาจะช่วยแต่จะต้องมีข้อแม้ คือโยมจะต้องอนุญาตให้อาตมานำเรื่องนี้ไปสั่งสอนคนอื่น ๆ ได้ เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับคนที่เขาไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ อย่างน้อยก็ทำให้เขาได้คิด โยมจะตกลงไหม”

            “ตกลงค่ะหลวงพ่อ ถ้าเขาไม่เชื่อ ดิฉันยอมมาเป็นพยานให้อีกด้วย พร้อมกันนี้ดิฉันขอฝากหลวงพ่อให้ช่วยเตือนบรรดาพ่อแม่ที่ทำแต่งานโดยไม่เอาใจใส่ดูแลลูกเต้า ถึงเขาจะได้เป็นใหญ่เป็นโต แต่ถ้าลูกกลายเป็นคนติดยาหรือลูกสาวไปทำตัวเหลวแหลกอย่างลูกของดิฉัน มันก็ไม่คุ้มกันเลย ดิฉันพลาดไปแล้วจึงไม่อยากให้พ่อแม่คนอื่น ๆ ต้องเป็นอย่างดิฉันอีก” พันโทหญิงสาธยาย

          “ผมด้วยครับหลวงพ่อ ผมขอฝากเตือนบรรดาเจ้าชู้ประตูดินทั้งหลายว่า อย่าได้ประพฤติผิดศีลธรรมอีกเลย บาปกรรมมันตามทันตาเห็นเชียวละ ผมเข็ดแล้วครับ เข็ดจริง ๆ” อดีตนักเลงหญิงว่า

            “เอาละ ๆ อาตมาขออนุโมทนาในกุศลจิตของโยมทั้งสองที่ยังอุตส่าห์ห่วงคนอื่น คนบางคนนะ เมื่อเขาประสบความหายนะ เขาก็อยากจะให้คนอื่นหายนะเช่นตัวบ้าง แต่โยมสองคนมีจิตใจดีจริง ๆ ขอกุศลจิตนี้ จงดลบันดาลให้ลูกสาวของโยมกลับคืนสู่อ้อมอกพ่อแม่โดยเร็วนะโยมนะ อาตมาขอเอาใจช่วย เอาละ ทีนี้ก็จะบอกวิธีที่จะเรียกลูกกลับบ้านภายในเจ็ดวัน โยมต้องมาเข้ากรรมฐานทั้งสองคน ประเดี๋ยวกลับไปจัดการลางานซะ ลามาเจ็ดวันเลย”

            “ไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือครับหลวงพ่อ” คนเป็นนายพลถามเพราะห่วงงาน

            “ไม่มี วิธีนี้ดีที่สุด อาตมาไม่ชอบให้ของปลอมใคร อย่างอื่นเป็นของปลอม แต่กรรมฐานเป็นของแท้และไม่มีวิธีใดที่จะแก้ปัญหาได้ดีเท่ากับการมาเข้ากรรมฐาน เอาละ โยมทำตามี่อาตมาบอกก็แล้วกัน มาอยู่วัดเจ็ดวัน กลับไปบ้านได้พบลูกแน่นอน แล้วก็ต้องสัญญากับอาตมานะว่าอย่าไปด่าเขา อย่าไปพูดถึงอดีตของเขา เรื่องเก่าอย่าเอามารื้อฟื้น ให้พูดกับเขาดี ๆ แล้วก็พามาหาอาตมานะ พามาทั้งสามคนนั่นแหละ อาตมาจะให้เขาเรียนกรรมฐานก่อน จากนั้นก็จะให้เรียนมหาวิทยาลัย”

            “คงเรียนไม่ได้มังครับหลวงพ่อ รู้สึกอายุจะเกินแล้ว” คนพูดหมายถึงเรียนมหาวิทยาลัย

            “ได้สิ ก็มหาวิทยาลัยเปิดมีไม่ใช่หรือ อาตมาจะให้เขาเรียนมหาวิทยาลัยเปิด รับรองว่าต้องจบแน่นอน เพราะเขามีดวงการศึกษาดีทั้งสามคน และต่อไปก็จะมีงานมีการทำเป็นหลักเป็นฐาน แล้วก็ได้สามีดีทุกคน โยมทำที่อาตมาแนะนำก็แล้วกัน ขอให้เชื่ออาตมาเถอะ เชื่อประเทศไทยสักครั้ง เอาละ รีบกลับไปขออนุญาตลางานกันได้แล้ว อาตมาจะลงไปรับแขกข้างล่างละ วันนี้แขกมากันแน่นกุฏิเลย”

            รายที่สามเป็นหญิงสาวหน้าตาคมคายละม้ายคล้ายแขก แล้วหล่อนก็เป็นแขกจริง ๆ เสียด้วย

            “หลวงพ่อจำหนูได้หรือเปล่าคะ” หล่อนถาม

            “เอ ก็คลับคล้ายคลับคลา แต่ยังนึกไม่ออก หนูเคยมาที่นี่บ่อยไหมจ๊ะ”

            “เคยมาครั้งเดียวค่ะ ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง หนูนำธูปเทียนแพมากราบหลวงพ่อค่ะ” พูดจบหล่อนก็ประเคนพานใส่ธูปเทียนแพ แล้วกราบสามครั้ง

            “หนูเป็นอิสลามไม่เคยกราบพระ หลวงพ่อเป็นพระคนแรกและคนสุดท้ายที่หนูจะกราบ”

            “ทำไมหรือหนู” ท่านเจ้าของกุฏิสงสัย

            “ก็หลวงพ่อช่วยให้หนูหายทุกข์ ตอนมาคราวที่แล้วหนูกำลังมีความทุกข์เพราะถูกโกงค่าเช่าบ้าน หลวงพ่อก็ช่วยจนหนูสามารถใช้หนี้ใช้สินเขาหมดแล้ว หนูจึงต้องมากราบหลวงพ่อ” ท่านพระครูจึงนึกออกว่า หญิงสาวผู้นี้คือคนที่เจ้าหมีไปเข้าฝันนั่นเอง

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรับแขกอยู่จนถึงเวลาสิบเอ็ดนาฬิกา จึงบอกให้พวกเขาไปรับประทานอาหาร ตัวท่านก็กำลังจะขึ้นข้างบนเพื่อฉันเพลเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากร่างกายทรุดโทรมเพราะการต่ออายุให้เถ้าแก่บ๊ก คนอื่น ๆ พากันลุกเดินออกไปยังโรงครัว ยกเว้นบุรุษวัยห้าสิบแปดที่มาขอให้ท่านพระครูช่วยตามเมีย

            บุรุษสูงวัยใช้ความคิดอย่างหนัก คิดแล้วคิดเล่าเฝ้าแต่คิด “หลวงพ่อนี่ประหลาดคนพิลึก มีอย่างรึ แค่เรามาขอให้ช่วยตามแม่อีหนูให้หน่อย กลับจะมาให้เรากราบเมีย หนอยแน่ขนาดแม่เรายังไม่เคยกราบ เรื่องอะไรจะต้องไปกราบเมีย”

            ครั้นนึกเห็นภาพที่ตนใช้ฝาโอ่งฟาดหัวคนเป็นเมียก็นึกสงสารจนน้ำตาไหล

            “เป็นไงเป็นกันวะ”  เขาตัดสินใจ “ถึงจะไม่เคยกราบแม่ แต่วันนี้จะกราบเมียละวะ” พอคิดตกก็ปรากฏว่าท่านพระครูเดินขึ้นข้างบนไปแล้ว

            “ไอ้หนูช่วยเรียกหลวงพ่อให้ลุงทีเหอะ” เขาบอกนายขุนทอง

            “อย่ากวนท่านเลยลุง ท่านกำลังไม่สบาย” ชายหนุ่มว่า

            “งั้นก็ช่วยขึ้นไปบอกท่านทีว่าลุงยอมกราบแม่อีหนูเขาแล้ว ให้ท่านช่วยตามให้ด้วย”

            “เดี๋ยวลุงพูดกับท่านเอาเองก็แล้วกัน รอให้ท่านลงมาเสียก่อน” บุรุษวัยใกล้หกสิบรู้สึกหงุดหงิด หากก็ปักหลักรอต่อไป ความจริงแล้วท่านเจ้าของกุฏิได้ยินที่เขาพูด แต่ท่านต้องการจะทรมานคนรังแกเมีย!

 

มีต่อ........๗๗

 

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00077
๗๗...

          เมื่อมาถึงกุฏิ คุณหญิงปทุมทิพย์ไม่พบนายขุนทอง จึงถามถึงบุรุษวัยห้าสิบเศษ ที่นั่งอยู่เพียงผู้เดียวตรงหน้าอาสนะ

          “ไปไหนกันหมด หลวงพ่ออยู่หรือเปล่า”

          “อยู่ครับ ท่านอยู่ข้างบน กำลังฉันเพล” เขาตอบ

          “งั้นช่วยขึ้นไปเรียนท่านด้วยว่า เสร็จแล้วให้ลงมาพบคุณหญิงปทุมทิพย์หน่อย” คน “ใหญ่ผิดที่” บัญชา

          “คงไม่ได้หรอกครับ ผมเองก็ยังต้องนั่งรอท่านอยู่ที่นี่” เขาปฏิเสธ เมื่อไม่ได้ดังใจ คนเป็นคุณหญิงก็ “แว้ด”

          “โอ๊ย ไม่รู้อะไรกันนักหนา ไปวัดไหน ๆ เจ้าอาวาสท่านก็รับรองอย่างดี ไม่เห็นจะเรื่องมากเหมือนเจ้าอาวาสวัดนี้เลย”

          “ก็ไปวัดอื่นซีครับ” คนกำลังหงุดหงิดเพราะเมียหนีพูดแดกดัน

          คุณหญิงหันมาค้อนแล้วว่า “ก็ไปมาแล้ว แต่มันไม่สำเร็จ”

          ฉันเสร็จท่านพระครูรีบลงมารับแขก ด้วยไม่อยากให้ญาติโยมต้องรอนาน ท่านสั่งให้นายขุนทองไปตามภรรยาของบุรุษผู้นั้นมา แล้วจัดการตามที่ได้ลั่นวาจาเอาไว้

          บุรุษวัยใกล้หกสิบก้มลงกราบขอขมาคนเป็นเมียต่อหน้าท่านพระครูและคุณหญิงปทุมทิพย์ ปลอบใจตัวเองว่า “ก็ยังดีกว่ากราบต่อหน้าคนทั้งกุฏิแหละวะ” จากนั้นจึงพากันกลับบ้าน

          ผู้มีความทุกข์ทั้งหลาย เมื่อรับประทานอาหารอิ่มแล้วก็พากันเดินกลับมาที่กุฏิ แล้วก็เลยต้องต่อคิวคุณหญิงผู้ซึ่งกำลังคุยอยู่กับท่านเจ้าอาวาส

          “คุณหญิงจะอยากรู้ไปทำไม” ท่านพระครูถาม เมื่อคุณหญิงปทุมทิพย์บอกจุดประสงค์ของการมาพบท่าน

          “ดิฉันจะได้ไปเยี่ยมเขาค่ะ เยี่ยมทั้งแม่ทั้งลูก” เธอไม่บอกความจริง

          “แล้วก็เอาน้ำกรดใส่กระเป๋าถือไปฝากด้วยใช่ไหม ขวดน้ำกรดที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าถือของคุณหญิงน่ะ” ท่านพระครูเห็นเพราะ “เห็นหนอ” บอก

          “ทำไมหลวงพ่อทราบคะ ดิฉันอุตส่าห์ซ่อนมาอย่างดี ดิฉันเจ็บใจค่ะ” คราวนี้เธอร้องไห้เพราะความคับแค้นใจ

          “แล้วการทำอย่างนั้นจะช่วยให้คุณหญิงหายเจ็บใจหรือ” คนเป็นคุณหญิงไม่ต่อบ ได้แต่ก้มหน้าร้องไห้กระซิก ๆ

          “อาตมาขอบิณฑบาตเถิดนะ อย่างได้สร้างเวรสร้างกรรมให้ตัวเองอีกเลย ที่คุณหญิงต้องมาเป็นเช่นนี้ก็เพราะกรรมเก่านะ ขอให้นึกเสียว่ากำลังใช้กรรม อาตมาสอนญาติโยมเสมอ ๆ ว่า “กรรมเก่าให้รีบใช้ กรรมใหม่อย่าไปสร้าง” คุณหญิงเชื่ออาตมาเถิดนะ”

          “ดิฉันทำกรรมอะไรไว้หรือคะหลวงพ่อ ถึงต้องมาเป็นเช่นนี้ ก่อนที่จะมาแต่งงานกับรัฐมนตรี ดิฉันก็เคยมีสามีมาก่อน แล้วก็ถูกเพื่อนแย่งไป” ถามทั้งน้ำตา

          “ถ้าคิดตามหลักของเหตุผลก็ต้องว่า เพราะคุณหญิงเคยไปแย่งของคนอื่นเขา ถ้าชาตินี้ไม่ได้ทำก็แสดงว่าต้องเคยทำมาแต่ครั้งอดีตชาติ แล้วกรรมนั้นมันติดตัวมาเกินหกสิบเปอร์เซ็นต์ อาตมาวิจัยไว้แล้วว่า ใครก็ตามที่ผิดศีลข้อสาม และบาปนั้นติดตัวมาเกินหกสิบเปอร์เซ็นต์ รับรองได้ว่ามีสามี สามีก็ต้องมีเมียน้อย มีภรรยา ภรรยาก็มีชู้ และถ้ามาในชาตินี้ยังเลิกไม่ได้ บาปกรรมก็จะไปตกกับลูกหลาน มีตัวอย่างแล้ว เพิ่งกลับไปเมื่อกี้นี้เอง สามีเป็นพลตรี ภรรยาเป็นพันโท มีลูกสาวสามคน ไปเป็นโสเภณีหมด เพราะพ่อเจ้าชู้ ลูกก็เลยต้องรับกรรม มาร้องไห้กับอาตมาทั้งผัวและเมีย เพิ่งกลับไปเมื่อสักครู่ อาตมาสั่งให้มาเข้ากรรมฐานเพื่อแก้กรรม ให้มาทั้งคู่เลย ไม่งั้นช่วยลูกให้เลิกอาชีพโสเภณีไม่ได้”

          “แล้วรายของดิฉันล่ะคะ ทำยังไงเขาถึงจะเลิกกัน” เธอถามอย่างสนใจ

          “ไม่ต้องทำอะไร เขาก็ต้องเลิกกันอยู่ดีนั่นแหละคุณหญิง ผู้หญิงอายุ ๑๖ ผู้ชายอายุ ๖๑ จะอยู่กันไปได้สักกี่น้ำ คุณหญิงไม่ต้องไปทำอะไรเขาหรอก ถ้าจะให้ดีก็สวดมนต์แผ่เมตตาให้เขามีความสุขความเจริญกัน” คุณหญิงปทุมทิพย์รีบค้านว่า

          “ดิฉันทำไม่ได้หรอกค่ะ มันฝืนกับความรู้สึกที่แท้จริง”

          “ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ แต่อาตมาขอเตือนนะ อย่าไปทำร้ายเขาอย่างที่คิด ใคร ๆ ก็มีกรรมด้วยกันทั้งนั้น อาตมาเห็นกฎแห่งกรรมของท่านรัฐมนตรีแล้ว อีกห้าปีคุณหญิงก็จะรู้อย่างที่อาตมารู้และเห็นอย่างที่อาตมาเห็น ไปจดไว้ได้เลยนะว่าปี ๒๕๒๒ จะเกิดอะไรขึ้นกับท่านรัฐมนตรี และคุณหญิงก็จะต้องทนทรมานไปอีกสามปี จนถึงปี ๒๕๒๕ จึงจะหมดกรรม นี่เฉพาะกรรมเก่านะ ถ้าคุณหญิงจะสร้างกรรมใหม่อีกก็เชิญ แล้วอย่ามาหาว่าอาตมาไม่เตือนก็แล้วกัน”

          “แต่ดิฉันเกลียดมันค่ะหลวงพ่อ ดิฉันเกลียดนังเด็กนั่น เกลียดลูกของมันด้วย”

          “คุณหญิงเคยเห็นลูกเขาแล้วหรือถึงได้เกลียด”

          “ยังไม่เคยค่ะ ตัวแม่มันดิฉันก็ยังไม่เคยเห็น”

          “แล้วทำไมต้องไปเกลียดล่ะ เอาเถอะ ต่อไปข้างหน้าคุณหญิงจะรักเด็กคนนี้ จำคำของอาตมาไว้ก็แล้วกันว่า คุณหญิงจะรักลูกของเขา”

          “เป็นไปไม่ได้หรอกค่ะ ใครจะไปรักลูกของศัตรู” เธอเถียง

          “รักหรือไม่รักก็คอยดูไปก็แล้วกัน อาตมาจะไม่เถียงกับคุณหญิงหรอก เถียงไปก็เปล่าประโยชน์ รอให้เวลานั้นมาถึงค่อยพูดกันใหม่”

          “ตกลงหลวงพ่อจะไม่บอกดิฉันจริง ๆ หรือคะว่ามันอยู่โรงพยาบาลอะไร”

          “บอกไม่ได้หรอกคุณหญิง ไว้คุณหญิงหายโกรธแค้น หายอาฆาตเขาเสียก่อน แล้วอาตมาจะบอก ตกลงไหม”

          “ตกลงค่ะ ถ้าอย่างนั้นดิฉันเลิกโกรธแค้น เลิกอาฆาตพยาบาทก็ได้ หลวงพ่อกรุณาบอกดิฉันเถิดค่ะ” เธออ้อนวอน

          “อาตมาก็ขอยืนยันอยู่อย่างเดิมว่าบอกไม่ได้ เพราะคุณหญิงเลิกแต่ปาก ส่วนใจนั้นยังโกรธยังอาฆาตเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่ามาพูดปดกับอาตมาเลย อาตมารู้ทั้งนั้นแหละ เรื่องอย่างนี้ใครจะมาโกหกอาตมาไม่ได้

          เอาอย่างนี้นะ อาตมาจะยกตัวอย่างโทษของความโกรธ ความริษยาอาฆาตให้คุณหญิงฟังสักเรื่อง เล่าย่อ ๆ นะ คือเรื่องของเจ้าหญิงโรหิณี ซึ่งเป็นขนิษฐาของ พระอนุรุทธเถระ และเป็นพระญาติของพระพุทธองค์

          หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จเทศนาโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ได้เสด็จมายังกรุง      กบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระพุทธบิดาเป็นครังที่สอง พระอนุรุทธเถระก็ตามเสด็จด้วย บรรดาพระประยูรญาติต่งพากันมาเข้าเฝ้า ยกเว้นเจ้าหญิงโรหิณีผู้ซึ่งเป็นโรคผิวหนังพุพองทั่วพระวรกาย ดุน่าเกลียดมาก จึงไม่ยอมมาเข้าเฝ้า พระอนุรุทธเถระจึงเสด็จไปยังพระตำหนักของพระขนิษฐา

          เจ้าหญิงโรหิณีกราบทูลพระเชษฐาถึงสาเหตุที่ไม่ยอมไปเข้าเฝ้า และทูลถามว่าพระนางเคยทำกรรมอะไรไว้จึงได้มีร่างกายพุพองน่าเกลียดเช่นนี้ พระอนุรุทธเถระ ตรัสเล่าปุพพกรรมแต่ครั้งอดีตชาติให้พระขนิษฐาฟังว่า

          สมัยหนึ่งพระนางได้เกิดเป็นพระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต แห่งเมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตมีพระสนมหลายคน คนหนี่งเป็นนางรำรูปร่างหน้าตาสวยงามจึงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพรหมทัตมากกว่าใคร ๆ พระมเหสีมีจิตริษยาในนางรำผู้นั้น วันหนึ่งจึงแอบนำผงเต่าร้างไปโรยไว้ในกระปุกใส่แป้งของนาง คุณหญิงรู้จัดผงเต่าร้างหรือเปล่า” ท่านเจ้าของกุฏิถามคนเป็นคุณหญิง

          “ไม่ทราบค่ะ” เธอตอบ

          “หมามุ่ยใช่ไหมคะหลวงพ่อ” สตรีผู้หนึ่งตอบและถามในประโยคเดียวกัน

          “ถูกแล้ว คุณหญิงรู้จักหมามุ่ยหรือเปล่า” คุณหญิงปทุมทิพย์ถูกถามอีก

          “ทราบค่ะ เห็นเขาว่าคันอย่าบอกใคร”

          “นั่นแหละ ๆ พระมเหสีก็เอาผงเต่าร้างไปโรยไว้ในกระปุกแป้งของนางรำเพราะความริษยา เมื่อนางทาแป้งก็เกิดอาการคันและมีตุ่มผื่นคันพุพองทั่วร่าง ทำให้ได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก จากผลกรรมนั้นทำให้เจ้าหญิงโรหิณีต้องมาเป็นโรคผิวหนัง ญาติโยมอย่าลืมนะว่าโรคกรรมนั้นไม่มีหมอที่ไหนรักษาได้ เหมือนอย่างเจ้าหญิงโรหิณีที่แพทย์หลวง กี่คน ๆ ก็ไม่สามารถรักษาได้ เมื่อพระนางได้ทราบกรรมครั้งอดีตชาติแล้ว จึงทูลถามพระอนุรุทธเถระว่าจะแก้กรรมได้อย่างไร”

          “ต้องเข้ากรรมฐานใช่ไหมครับ” บุรุษผู้หนึ่งตอบ มาวัดนี้ท่านสมภารพูดแต่เรื่องกรรมฐาน ๆ ใครจะแก้กรรมก็ต้องมาเข้ากรรมฐาน

          ท่านพระครูยิ้มด้วยนึกขำในคำตอบของบุรุษนั้น จึงสัพยอกเขาว่า

          “ถ้าเจ้าหญิงโรหิณีมาที่วัดนี้ อาตมาก็คงจะต้องให้เข้ากรรมฐาน แต่บังเอิญพระนางไม่ได้มา”

          “แล้วพระอนุรุทธเถระท่านทรงแนะนำให้พระขนิษฐาทำอย่างไรเพคะ” คุณหญิงถาม ผู้ที่นั่งฟังพากันหัวเราะคำถามของคนเป็นคุณหญิงซึ่งลงท้ายด้วย “เพคะ” ท่านเจ้าของกุฏิเองก็ขำ

          “ท่านทรงแนะนำให้พระขนิษฐาขายเครื่องประดับทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วนำทรัพย์ที่ได้ไปสร้างเป็นศาลาที่พักพระภิกษุที่เดินทางไกลผ่านมายังเมืองนี้ ให้ท่านได้รับความสะดวกมีทั้งที่พักและอาหาร ในยามค่ำคืนก็จุดประทีปโคมไฟให้แสงสว่างแก่ท่าน เจ้าหญิงโรหิณีทรงทำตามคำแนะนำของพระเชษฐา แผลพุพองนั้นก็ค่อย ๆ หายไป ๆ จนในที่สุดพระนางก็มีผิวพรรณผุดผ่องสวยงามเหมือนแต่ก่อน และในเวลาต่อมาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน”

          เล่าจบ ท่านเจ้าของกุฏิจึงถามคนเป็นคุณหญิงว่า “คุณหญิงเห็นโทษของความอาฆาตพยาบาทหรือยัง นี่ขนาดเอาผงเต่าร้างใส่ลงไปในแป้งก็ยังต้องมาเป็นโรคผิวหนังพุพองน่าเกลียด แล้วถ้าเอาน้ำกรดไปสาดเขา จะต้องรับกรรมสาหัสสากรรจ์สักเพียงใด อาตมาถึงต้องขอบิณฑบาตไงล่ะ”

          “ตกลงค่ะ ดิฉันยกให้ ที่หลวงพ่อขอบิณฑบาต ดิฉันยินดียกให้” พูดจบก็เปิดกระเป๋าถือหยิบขวดน้ำกรดซึ่งห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาลอย่างมิดชิดวางไว้บนอาสนะ กราบสามครั้งจึงรีบลุกออกไป ด้วยรู้สึกอับอายขายหน้าเหลือเกินแล้ว

          “หลวงพ่อครับผมขอความกรุณาช่วยเปลี่ยนชื่อและนามสกุลให้ผมใหม่ด้วยครับ” ทหารยศพันเอกพูดขึ้น

          “เปลี่ยนทำไมเล่า ชื่อเก่าก็ดีอยู่แล้ว พ่อแม่ตังให้ไม่ต้องเปลี่ยน ยิ่งนามสกุลด้วยแล้วห้ามเปลี่ยนเด็ดขาด คนเราจะดีจะเลวไม่ได้อยู่ที่ชื่อ แต่อยู่ที่การกระทำ ใครมาขอเปลี่ยนชื่อ อาตมาไม่เคยเปลี่ยนให้สักราย

          บางคนเขาเชื่อหมอดู บอกหมอดูให้เปลี่ยน เพราะชื่อเดิมเป็นกาลกิณี เขาว่าคนเกิดวันจันทร์ ชือจะต้องไม่มีสระเพราะจะเป็นกาลกิณี อาตมาก็บอกไม่ต้องเปลี่ยน แล้วก็ยกตัวอย่างให้ฟังว่า คนชื่อรวยแต่จนก็มี คนที่ชื่อสวยแต่ขี้เหร่ก็มี นี่ที่วัดนี้ มีคนเขามาบอกอาตมาว่าพรุ่งนี้จะพาลูกสาวชื่อสวยมากราบอาตมา ตอนนั้นอาตมาก็ยังหนุ่ม อายุซักยี่สิบกว่า ๆ โอ้โฮ คืนนั้นนอนไม่หลับเลย นึกถึงแต่หน้าแม่คนที่ชื่อสวย แล้วก็วาดภาพไว้ว่าคงจะสวยหยาดเยิ้มเหมือนเพชรา พอรุ่งเช้าเขาก็มา...”

          “สวยไหมคะหลวงพ่อ” สตรีผู้หนึ่งกระเซ้า ท่านตอบว่า

          “สวยซี โอ้โฮ แม่สวยคนนี้สวยจริง ๆ แต่สวยน่าเกลียดพิลึก ตัวดำ ตาตี่ แถมฟันยื่น อาตมาจะเป็นลมเสียให้ได้ นี่ถ้าอาตมาเชื่อหมอดูก็คงจะแนะนำแม่เขาให้เปลี่ยนชื่อลูกสาวเสียใหม่แล้วละ”

          “เปลี่ยนเป็นอะไรคะ” สตรีคนเดิมกระเซ้าอีก

          “เปลี่ยนเป็น “สวยน่าเกลียด” อีกรายนะ รายนี้เป็นผู้ชาย มาแบบเดียวกัน อายุจะหกสิบแล้วมาบอก “หลวงพ่อช่วยเปลี่ยนชื่อให้ผมหน่อย เมียด่าไม่พักเลย หมอดูเขาบอกถ้าเปลี่ยนชื่อใหม่เมียจะเลิกด่า” อาตมาก็ถามว่าใครตั้งชื่อให้ล่ะ เขาบอกพ่อตั้งให้ แต่พ่อตายไปแล้ว รับรองว่าแกไม่รู้ว่าผมไม่ใช้ชื่อที่แกตั้ง

          อาตมาก็ทักว่าอย่าเปลี่ยนเลย ถ้าเปลี่ยนรับรองเมียด่าคูณสอง ที่เคยด่าวันละสามชั่วโมงก็จะเพิ่มเป็นวันละหก เขาก็โกรธอาตมา เลยไปหาพระวัดอื่นเปลี่ยนให้ หลวงพ่อวัดนั้นก็ว่าต้องเปลี่ยนเป็นสมศักดิ์ ชื่อบุญช่วยเป็นกาลกิณี ต้องเปลี่ยนเป็นสมศักดิ์ รับรองผู้หญิงรัก เมียก็จะเลิกด่า แกก็เลยไปเปลี่ยนเป็นสมศักดิ์ เสร็จแล้วกลับมาเล่าให้อาตมาฟังว่า

          “หลวงพ่อ จริงอย่างที่หลวงพ่อพูด เมียผมด่าสามวันสามคืนเลย บอก ไอ้โง่ ชื่อบุญช่วยก็ดีอยู่แล้ว เสือกไปเปลี่ยนเป็นสมศักดิ์สมบ้าอะไรก็ไม่รู้” นี่เห็นไหม อยากไม่เชื่ออาตมา” คนฟังพากันหัวเราะครื้นเครง เพราะขำในเรื่องที่ท่านเล่า

          “แต่ของผมมันไม่เหมือนกับที่หลวงพ่อเล่านะครับ” นายพันว่า

          “ไม่เหมือนยังไงล่ะผู้พัน”

          “คือตัวผมเองไม่อยากเปลี่ยน แล้วผมก็เป็นคนไม่เชื่อหมอดู เมียก็ไม่ด่าผม แต่ที่ผมอยากเปลี่ยนทั้งชื่อและนามสกุล เพราะผมติดแหง่กอยู่แค่พันเอกพิเศษมาหลายปีแล้ว ขอเลื่อนขึ้นเป็นนายพล พอนายเขาเห็นชื่อก็ฉีกทิ้งทุกที เขาว่าผมปากเสีย ก็ผมมันคนตรง นายทำมิดีมิชอบ เช่นฉ้อราษฎร์บังหลวง ร่วมมือกับพวกพ่อค้าตัดไม้ทำลายป่า ผมก็ว่าเอาไม่เกรงใจ เขาก็เลยว่าผมปากเสีย แล้วก็ไม่ยอมเลื่อนให้ผมเป็นนายพล ทั้งที่ผลงานผมมีมาก ผมก็เลยจะเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลเสียใหม่เพื่อตบตานาย ได้เป็นนายพลเมื่อไหร่จะเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อเดิมนามสกุลเดิมทันที หลวงพ่อกรุณาเปลี่ยนให้ผมด้วยเถิดครับ”

          “ตกลง ตกลง กรณีนี้อนุโลมได้ เอาละ เดี๋ยวอาตมาจะเปลี่ยนให้แจ๋วไปเลย แล้วก็จะเสกให้ด้วย รับรองผู้พันได้เป็นนายพลแน่ อาตมารับรองพันเปอร์เซ็นต์”

          “ขอบพระคุณครับ ได้เป็นนายพลเมื่อไหร่ ผมแก้แค้นไอ้นายเฮงซวยคนนี้แน่ ๆ ผมมันคนตรงครับ ใครดีก็ว่าดี ใครชั่วก็ว่าชั่ว ไม่เหมือนไอ้พวกที่ชอบเลียแข้งเลียขา นายเลวยังไงมันก็ยกยอว่าดี นายมีเมียน้อยไปแย่งเมียชาวบ้านมา มันก็ยกย่องเมียน้อยนาย

          บางคนก็ถึงกับเกาะชายกระโปรงเมียน้อยนายขึ้นมาเป็นนายพันนายพล แต่ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ มันละอายใจ แล้วผมก็ว่าด้วย ไม่กลัวใครทั้งนั้น นายเขาก็เลยไม่ชอบผม แล้วก็หาว่าผมปากหมา” คนเล่าหยุดหายใจ ท่านพระครูหยิบกระดาษขึ้นมาแผ่นหนึ่ง เขียนชื่อและนามสกุลให้เขาใหม่ แล้วพับใส่ซองหลับตาทำปากขมุบขมิบ เป่าเพี้ยง ๆ สองครั้งแล้วส่งให้นายพันเอกพิเศษ

          “เอ้า รับรองชื่อนี้ได้เป็นนายพลแน่ แล้วอย่าลืมเปลี่ยนกลับเสียเล่า กลับมาใช้ชื่อเดิมที่พ่อแม่ตั้งให้”

          “ครับ ผมขอกราบของพระคุณมากครับ โอกาสนี้ผมขอถวายปัจจัยแด่หลวงพ่อไว้สำหรับใช้สอยส่วนตัว” เขาประเคนซองสีขาวแก่ท่าน

          “อ้อ ค่าจ้างเปลี่ยนชื่อหรือ” ท่านถามยิ้ม ๆ

          “หามิได้ครับ ผมตั้งใจจะทำบุญอยู่แล้วครับ” เขากราบสามครั้งแล้วจึงลุกออกไป

          “หลวงพ่อคะ ก็ไหนหลวงพ่อเคยพูดว่าไม่ชอบทางเสกเป่า แล้วทำไมวันนี้ หลวงพ่อทั้งเสกทั้งเป่าให้ผู้พันคนนั้นล่ะคะ” สตรีผู้หนึ่งทักท้วง

          “มันจำเป็นน่ะโยม กฎทุกกฎก็ยังต้องมีข้อยกเว้น แล้วทำไมกฎของอาตมาจะมีข้อยกเว้นบ้างไม่ได้ คืออย่างนี้นะโยม ใครที่มีทุนเดิมอยู่หกสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว อาตมาถึงจะช่วย ไม่ใช่ช่วยสุ่มสี่สุ่มห้า อย่างรายนี้เขาต้องได้เป็นนายพลแน่ ๆ อยู่แล้ว อาตมาก็เลยช่วยลุ้นเขาหน่อย เอาละ ใครมีอะไรก็ว่าไป

          เวลาสามทุ่ม แขกคนสุดท้ายลุกออกไปแล้ว หากท่านพระครูยังไม่ยอมลุกจากอาสนะ นายสมชายจึงถามว่า “หลวงพ่อเหนื่อยจนลุกไม่ไหวหรือเปล่าครับ ผมจะช่วยประคองขึ้นไปข้างบนนะครับ”

          “ไม่ต้องหรอก แขกกำลังจะมาอีกรายนึง เจ้าหมีมันวิ่งออกไปรับถึงหน้าประตูวัดแน่ะ” ท่าน “เห็น”

          “เป็นไปได้หรือครับ ก็เจ้าหมีมันไม่เคยเป็นมิตรกับใคร ทำไมเกิดจะไปญาติดีกับรายนี้”

          “ก็เหลนมัน มันมีศักดิ์เป็นปู่ทวดของแขกรายนี้ เห็นไหม พอเขาลงจากรถ มันก็เข้าไปเลียแข้งเลียขา เลียหมดทุกคน ทั้งลูก ๆ เขาด้วย”

          “ผมไม่เห็นหรอกครับ เพราะผมมองทะลุฝาอย่างหลวงพ่อไม่ได้” ชายหนุ่มว่า

          “ถ้าอยากทำได้ก็ต้องหมั่นปฏิบัติกรรมฐาน”

          “ผมว่าผมอยู่อย่างนี้ดีแล้วครับ ขืนเก่งเหมือนหลวงพ่อ ผมคงทนไม่ได้ ทำงานทั้งวันทั้งคืน แถมได้นอนวันละแค่สองชั่วโมง” พอดีกับเจ้าหมีนำ “อาคันตุกะ” เข้ามาในกุฏิ เป็นชายวัยสามสิบเศษ มากับภรรยาวัยเดียวกัน พ่วงท้ายด้วยบุตรชายหญิงวัยไล่เลี่ยกันถึงห้าคน

          “หลวงพ่อครับ ผมต้องขอโทษที่มารบกวนในยามวิกาล”

          “โยมมาจากไหนล่ะ” ท่านถามเหลนเจ้าหมี คนเป็นปู่ทวดส่งเสียงงี้ดง้าด แล้วก็เดินเลียลูกของเหลนอย่างรักใคร่จนครบทั้งห้าคน

          “ผมมาจากภูเก็ตครับ ทำเหมืองแร่อยู่ที่นั่น ผมกำลังจะพาครอบครัวไปเที่ยวเชียงใหม่ เพื่อนเขาสั่งมาว่า ให้แวะกราบหลวงพ่อที่วัดป่ามะม่วงให้ได้ เขาบอกว่าพอถึง ก.ม.ที่ ๑๓๐ ก็ให้เลี้ยวรถเข้าไป เขาพูดถึงหลวงพ่อให้ผมฟังบ่อย ๆ จนผมอยากจะมารู้จักหลวงพ่อ เพื่อนผมเขาเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ เขาชื่อจรินทร์ครับ”

          “อ้อ โยมจรินทร์นั่นเอง แล้วโยมทานอาหารกันมาแล้วหรือยัง หิวหรือเปล่า”

          “เรียบร้อยแล้วครับ หลวงพ่อครับ ผมขอถวายปัจจัยร่วมทำบุญกับหลวงพ่อครับ ถ้ามีนักเรียนยากจนขัดสน หลวงพ่อกรุณานำเงินจำนวนนี้ไปมอบเป็นทุนการศึกษาแก่เขาด้วย ผมขอถวายหนึ่งหมื่นบาทครับ” เขาประเคนซองสีขาวแด่ท่านเจ้าของกุฏิ

          “อาตมาขออนุโมทนาในกุศลจิตของโยมและครอบครัว ตกลงอาตมาจะจัดการให้ตามความประสงค์ และจะตั้งชื่อทุนนี้ว่า “ทุนเสริมสมอง” ถ้าใครจะมาสมทบอีก อาตมาก็จะได้ตั้งเป็นมูลนิธิ การช่วยให้คนยากจนได้เรียนหนังสือ จะทำให้ได้อานิสงส์คือลูกหลานของเราก็จะเรียนหนังสือเก่งและได้เป็นเจ้าคนนายคน อาตมาขออนุโมทนา”

          เมื่อเขาลากลับ เจ้าหมีก็กุลีกุจอไปส่งถึงรถ เลียแข้งเลียขาเหลนและลูก ๆ ของเหลน และวิ่งตามรถเบ๊นซ์คันนั้นไปจนถึงประตูหน้าวัด แล้วก็มิได้กลับเข้ามานอนที่กุฏิชั้นล่างเหมือนดังแต่ก่อน ท่านพระครู “รู้” ว่ามันจะลาโลกนี้ไปในวันรุ่งขึ้น เพราะหมดห่วงแล้ว เหลนของมันได้มาทำบุญที่วัดป่ามะม่วงตามที่มันคาดหวังและรอคอยมานาน

          รุ่งเช้า หญิงชราที่เข้ามาปฏิบัติกรรมฐานอยู่ในวัดป่ามะม่วงได้มาเล่าให้ท่านพระครูฟังว่า พบเจ้าหมีนอนหายใจระทดระทวยอยู่หน้ากุฏิกรรมฐาน จึงเรียกคนมาช่วยกันอุ้มมันไปอาบน้ำถูสบู่จนสะอาดสะอ้าน แล้วปูผ้าขาวให้มันนอน มันก็นอนตายอย่างสงบ เมื่อเวลาประมาณ ๙ นาฬิกา

          ท่านพระครูรับทราบแล้วจึงให้นายสมชายไปนิมนต์เณร ๔ รูปมาบังสุกุลให้มันพร้อมกับนำเงินใส่ซองถวายเณรไปรูปละ ๕๐ บาท

          บังสุกุลแล้ว นายสมชายก็จัดการขุดหลุมฝังศพเจ้าหมีไว้ที่ใต้ต้นปีบ เจ้าโฮมกับเจ้าขาวมาร่วมงานฝังศพพี่ชายของมันด้วย แต่มิได้ร้องไห้ คนที่ร้องไห้จะเป็นจะตายก็คือนายขุนทอง!

 

มีต่อ........๗๘

 

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว