สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

<< < (2/17) > >>

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00005

 

๕...

          พระบัวเฮียวนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ทั้งที่รู้ว่าท่านสัพยอก แต่ใจก็แสนจะปลื้ม อย่างน้อยมันเป็นนิมิตหมายอันดีว่าสักวันหนึ่ง ท่านคงจะได้ “เห็นหนอ” เช่นคนอื่น ๆ บ้าง ก็คุณนายสำไยอ่านหนังสือไม่ออกแท้ ๆ ยังได้นี่นา ท่านมีภาษีกว่าคุณนายคนนั้นตั้งแยะ แถมยังเดินจงกรม นั่งสมาธิเป็นอีกด้วย กำลังคิดเพลิน ๆ ท่านพระครูก็เอ่ยขึ้นว่า
                “เอาละ ต่อไปนี้อาตมาจะสอนเดินจงกรมระยะที่สอง ซึ่งเป็นระยะที่ยากที่สุดในบรรดาการเดินหกระยะ ไหนบัวเฮียวลองบอกมาซิว่า เดินจงกรมระยะที่สอง มีกี่หนอ”

          “สองหนอครับ ระยะที่สามมีสามหนอ”

          “ถูกแล้ว ระยะที่สองให้บริกรรมว่า “ยก – หนอ เหยียบ – หนอ” ขณะที่ปากว่า “ยก” ก็ให้ยกเท้าขวาขึ้นช้า ๆ สูงจากพื้นประมาณสามนิ้ว ยกเสร็จจึงว่า “หนอ” แล้วนิ่งไว้สักหนึ่งวินาที จึงค่อย ๆ เลื่อนเท้าไปข้างหน้าช้า ๆ โดยไม่ต้องบริกรรม ที่ว่ายากมันยากตอนนี้ ตอนที่ไม่มีองค์บริกรรม เลื่อนเท้าเสร็จก็นิ่งไว้หนึ่งวินาที แล้วจึงว่า “เหยียบ” พร้อมกับเหยียบลงไปช้า ๆ เมื่อเท้าถึงพื้นเรียบร้อยแล้ว จึงว่า “หนอ” จากนั้นจึงย้ายสติมาไว้ที่เท้าซ้าย ทำแบบเดียวกัน เมื่อเดินจนสุดทางแล้วให้กำหนดกลับ”

            ท่านเดินให้ดูอีกสามสี่ก้าว แล้วจึงบอกคนทั้งสี่ มีพระหนึ่ง คฤหัสถ์สามทดลองเดิน คนเป็นครูเดินได้โดยไม่ยากนัก แต่คนเป็นพระถึงกับเหงื่อตก คิดจะค้านพระอุปัชฌาย์ว่า

          “ก็ไหนหลวงพ่อว่าให้เดินวันละหนึ่งระยะยังไงล่ะ แล้วทำไมสามคนนี้ถึงเดินวันละสองระยะได้” ก็เลยเลิกล้มความตั้งใจ กระนั้นเสียงพระอุปัชฌาย์ก็ยังลอยมาเข้าหูว่า

          “สามคนนี้เดินระยะที่หนึ่งหกชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่หยุดพัก ก็เลยให้มาเดินระยะที่สองได้”

          เมื่อเห็นว่าแต่ละคนเดินได้ถูกต้องดีแล้ว ท่านพระครูจึงสั่งว่า

          “เอาละ กลับไปเดินระยะที่หนึ่งกับระยะที่สองอย่างละครึ่งชั่วโมง นั่งอีกหนึ่งชั่วโมง พยายามใช้เวลาเดินกับนั่งให้เท่า ๆ กัน ใครปฏิบัติครบสองชั่วโมงแล้วยังไม่ง่วง ก็ให้ทำใหม่อีกรอบหนึ่งจนกว่าจะง่วง เมื่อล้มตัวลงนอนก็ให้เอามือวางบนท้อง พยายามจับให้ได้ว่า หลับไปตอนพองหรือตอนยุบ แล้วก็อย่าลืม ตีสี่ต้องลุกมาเดินหนึ่งชั่วโมง นั่งหนึ่งชั่วโมง พรุ่งนี้แปดโมงเช้าค่อยมาสอบอารมณ์ แต่ถ้าใครมีปัญหาก็มาที่กุฏิอาตมาได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเกรงใจ ถ้าหลับอยู่ก็ให้เด็กปลุกได้”

          ท่านพระครูพูดเปิดทางเอาไว้เพราะ “เห็นหนอ” บอกว่าคืนนี้พระใหม่จะเจอปัญหา

          แยกกันไปยังที่พักของตนแล้วครูสามคนก็ลงมือปฏิบัติตามที่ท่านเจ้าอาวาสสอน คือเดินหนึ่งชั่วโมง นั่งหนึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วครูบุญมีกับครูอรุณจึงสวดมนต์ไหว้พระ ปูเสื่อกางมุ้งแล้วก็นอน ส่วนครูสฤษดิ์คิดว่า จะต้องตักตวงความรู้กลับไปบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงปฏิบัติต่ออีกรอบหนึ่ง ดังนั้นขณะที่ครูน้อยสองคนกำลังหลับอย่างมีความสุขอยู่นั้น ครูเป็นครูใหญ่ก็กำลัง “ยก – หนอ เหยียบ – หนอ” อย่างมีความสุขไม่แพ้กัน

          สวดมนต์ทำวัตรเย็นเสร็จ พระบัวเฮียวตั้งนาฬิกาปลุกไว้หนึ่งชั่วโมง แล้วจึงเดินจงรมระยะที่หนึ่ง เดินอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงจึงเปลี่ยนเป็นระยะที่สองซึ่งท่านไม่ถนัดนัก หากก็เดินจนกระทั่งเสียงกริ่งนาฬิกาดังขึ้น ท่านเดินไปกดปุ่ม ตั้งใหม่อีกหนึ่งชั่วโมง แล้วกำหนดนั่งสมาธิ อาการ พอง – ยุบ คล่องตัวขึ้น ไม่อึดอัดขัดข้องเหมือนเมื่อตอนเช้า

          ท่านนั่งไปเรื่อย ๆ กระทั่งสี่สิบห้านาทีผ่านพ้นไป จึงรู้สึกปวดขาทั้งสองข้าง แรก ๆ ก็พอทนได้ ท่านจึงกำหนด “รู้หนอ” ครั้นปวดมากเข้าจึงเปลี่ยนเป็น “ปวดหนอ” แล้วก็ไม่ใส่ใจกลับไปจับ พอง – ยุบ ต่อไปไม่ยอมเปลี่ยนท่านั่ง

          เมื่อจิตเริ่มตั้งมั่นเป็นสมาธิ อาการปวดดูเหมือนจะทุเลาลง ท่านรู้สึกสบายขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขึ้นกำหนด “สุขหนอ” ได้ จึงเสียดายนักเมื่อกริ่งนาฬิกาดังขึ้น พระใหม่กำหนดลืมตา เอื้อมมือไปกดปุ่มนาฬิกา แล้วลุกขึ้นเดินจงกรมระยะที่หนึ่งใหม่

          คราวนี้ท่านไม่ตั้งเวลา จะเดินจะนั่งจนเป็นที่พอใจโดยไม่ต้องให้เวลามาเป็นตัวกำหนด ท่านเดิน “ขวา – ย่าง – หนอ  ซ้าย – ย่าง – หนอ” อยู่พักใหญ่ ๆ จึงเปลี่ยนมาเป็น “ยก – หนอ  เหยียบ – หนอ” ระยะที่สองเดินยาก ท่านเลยเดินน้อยหน่อย เสร็จแล้วจึงกำหนดนั่ง อยากได้อารมณ์เหมือนเมื่อตะกี้ เพราะมันสุขสบายดีแท้ ๆ ภิกษุหนุ่มไม่รู้ตัวดอกว่า กำลังจะถูกมารหลอกล่อให้หลงทางเสียแล้ว ท่านนั่งกำหนด “พอง – หนอ  ยุบ -  หนอ” ไปเรื่อย ๆ รู้สึกชุ่มชื่นเย็นฉ่ำในหัวใจ อาการปวดเมื่อยไม่ปรากฏ ท่านสบายเสียจนไม่ยอมกำหนด “สุขหนอ” เพราะกลัวมันจะหายไป

          พระบัวเฮียวเพลิดเพลินในสุขกระทั่งลืมแม้องค์บริกรรม เมื่อไม่กำหนด พอง – ยุบ สติก็เผลอไผล จิตจึงฟุ้งซ่านล่องลอยไป ในภาวะนั้น ท่านเห็นตัวเองลอยอยู่กลางนภากาศ มีรัศมีสวยงามแผ่ซ่านออกมาจากกาย เสียงไพเราะกระซิบข้างหูว่า

          “ท่านสำเร็จแล้ว ท่านสำเร็จแล้ว ไปสิท่องเที่ยวไป อยากไปไหนก็ไปได้ทุกแห่งหน”

          “ถ้าอย่างนั้นฉันอยากไปนรก ช่วยพาฉันไปหน่อย” ท่านพูดโต้ตอบกับเสียงไพเราะนั้น

          “ไม่ต้องพา ท่าไปเองได้เพียงแค่นึกก็ถึงแล้ว”

          “จริงหรือ เอาละ ถ้าอย่างนั้นฉันนึกอยากไปเมืองนรก แล้วท่านก็รู้สึกว่าตัวเองล่องลอยไปถึงเมืองนรก เห็นยมบาลกำลังตักน้ำที่กำลังเดือดอยู่ในกระทะทองแดงกรอกปากบิดา ท่านจึงพูดกับยมบาลว่า

          “ท่านยมบาล อาตมาจะพาไปเที่ยวเมืองสวรรค์ ขอให้ช่วยโยมบิดาของอาตมาขึ้นจากนรกด้วยเถิด คนที่ท่านกำลังเอาน้ำร้อนกรอกปากอยู่นั้นแหละ คือโยมบิดาของอาตมา”

          “หลวงพี่ที่เคารพ นับประสาอะไร ที่จะช่วยโยมบิดาของหลวงพี่ได้เล่า แม้แต่แม่ยายผม ผมยังช่วยไม่ได้ ช่วยไม่ได้จริง ๆ ภรรยาเขาก็ขอร้องมา บอกให้ช่วยแม่ด้วยนะพี่นะ นึกว่าสงสารแก”

          “แม่ยายท่านทำบาปอะไรมาล่ะ”

          “แกฆ่าสัตว์ พวกหมู เป็ด ไก่ ห่าน ฆ่ามาไหว้เจ้าตอนตรุษจีนน่ะ ใจคอแกโหดเหี้ยม ทารุณดุร้าย”

          “ก็ท่านยมบาลทำไม่ช่วยไม่ได้เล่า”

          “โธ่หลวงพี่ ไอ้ผมก็อยากจะช่วย แต่โจทก์มันมาประท้วงกันเต็มไปหมด ทั้งหมู เป็ด ไก่ ห่าน ดูสิมันยืนประท้วงอยู่นั่น ส่งเสียงร้องระงมเลย”

          พระบัวเฮียวมองออกไปก็เห็นจริงดังยมบาลว่า สัตว์เหล่านั้นส่งเสียงร้องเซ็งแซ่ จับความได้ว่า

          “ไม่ได้นะยมบาล ช่วยไม่ได้ ยายคนนี้ทำให้พวกฉันทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ถ้ายมบาลช่วยมัน พวกฉันจะไปฟ้องพญายมราช ให้ลงโทษท่าน” โจทก์ขู่

          “เห็นไหมหลวงพี่ เห็นหรือยังว่า ผมช่วยไม่ได้จริง ๆ ถ้าผมช่วยโยมบิดาของหลวงพี่ เดี๋ยวพวกวัวควายมันก็ไล่ขวิดผมตายเท่านั้น ก็โยมบิดาของหลวงพี่ฆ่าวัว ฆ่าควายไว้เป็นร้อยเป็นพันตัว ถ้าไม่เชื่อผมจะไปเปิดบัญชีให้ดูก็ได้”

          “ไม่ต้องหรอกท่านยมบาล อาตมาเชื่อท่าน” พูดกับยมบาลแล้วจึงหันไปพูดกับโยมบิดาว่า

          “โยมพ่อ อาตมาพยายามช่วยแล้ว แต่ยมบาลเขาไม่ยอม โยมพ่ออดทนไปก่อนนะ อาตมากำลังปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดป่ามะม่วง แล้วจะแผ่ส่วนกุศลมาให้ อาตมาขอลา จะไปดูสวรรค์สักหน่อย”

          แล้วท่านก็ล่องลอยออกจากเมืองนรกไปเมืองสวรรค์ เยี่ยมเยียนสวรรค์เสียทุกชั้นตั้งแต่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี ได้เห็นเทพบุตร เทพธิดาเหาะไปมาอยู่ในอากาศ รูปร่างสะสวยงดงาม มีเครื่องประดับทำด้วยเพชรนิลจินดา ส่องแสงเป็นประกายวูบวาบ

          เมื่อเห็นท่านลอยผ่านหน้า เทพบุตร เทพธิดาเหล่านั้นต่างยกมือทำความเคารพ ท่านทักทายปราศรัยอยู่กับพวกเขา จนได้เวลาอันสมควรแล้วจึงลอยกลับมายังกุฏิ เห็นกายเนื้อของท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ก็รู้ว่า ร่างที่ล่องลอยอยู่นี้เป็น “กายทิพย์” จึงลอยไปเข้ากายเนื้อ แล้วจึงกำหนดลืมตา

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านสด ๆ ร้อน ๆ นี้ ทำให้ท่านเข้าใจผิดคิดไปว่าตัวเองสำเร็จแล้ว จึงอยากจะไปกราบเรียนให้ท่านพระครูทราบ ขณะนั้นเป็นเวลาตีสอง คงจะรอให้ถึงรุ่งเช้าไม่ไหว เพราะใจมันร้อนรน อยากให้พระอุปัชฌาย์ได้รู้ว่า ลูกศิษย์ของท่านสำเร็จแล้ว ได้ “เห็นหนอ” แล้ว

          พลันก็นึกถึงที่ท่านพูดอนุญาตไว้ เพราะตอนสามทุ่มเศษ ๆ แสดงว่าท่านจะต้องรู้ว่าศิษย์ของท่านจะมาหาในคืนนี้ คิดได้ดังนั้นจึงเดินดุ่ม ๆ ไปยังกุฏิเจ้าอาวาส โดยไม่สะทกสะท้านต่อความหนาวเย็นของอากาศ

          สุนัขสามสี่ตัวเห็นคนเดินดุ่ม ๆ มาในยามวิกาลเช่นนั้น ก็ส่งเสียงเห่ากรรโชกขึ้น แล้วพากันวิ่งกรูเข้ามา พระบัวเฮียวจึงต้องส่งเสียงทักทายออกไป สุนัขเหล่านั้นพร้อมใจกันหยุดเห่า แล้ววิ่งกลับไปยังที่ที่ตนนอน

          “สมชาย สมชาย เปิดประตูหน่อย” ท่านตะโกนเรียกลูกศิษย์วัด เด็กหนุ่มงัวเงียลุกขึ้นมาเปิดประตู แล้วจึงถามอย่างไม่พอใจนัก

          “หลวงพี่มาทำไมดึก ๆ ดื่น ๆ ผมกำลังหลับสบาย ๆ”

          “หลวงพ่อหลับหรือยัง” ถามแทนคำตอบ ศิษย์วัดมองขึ้นไปเห็นไฟยังสว่างอยู่จึงตอบว่า

          “ยังมั้ง ไฟยังเปิดอยู่นี่”

          “ขอขึ้นไปพบท่านหน่อยได้ไหม”

          “ให้ผมไปถามท่านดูก่อน ปกติท่านไม่อนุญาตให้ใครขึ้นไปข้างบน” พูดแล้วก็ขึ้นไปหาท่านพระครู ยังไม่ทันพูดอะไร ท่านก็พูดขึ้นเสียก่อนว่า

          “พระบัวเฮียวใช่ไหม บอกให้รออยู่ก่อน ประเดี๋ยวฉันจะลงไป” แล้วท่านก็ก้มหน้าก้มตาเขียนหนังสือต่อไปอีกสักครู่ จึงลงมาข้างล่าง

          “มีอะไรหรือ” ท่านทักขึ้น

          “หลวงพ่อยังไม่จำวัดอีกหรือครับ” พระใหม่ถาม

          “ยัง หมู่นี้งานยุ่งมาก ฉันลืมนอนมาหลายวันแล้ว”

          “หลวงพ่อไม่ง่วงหรือครับ”

          “ฉันกำหนดสติอยู่ตลอดเวลา มันก็เลยแก้ง่วงได้ จำไว้เวลาเธอง่วงมาก ๆ ให้ตั้งสติไว้ตรงลิ้นปี่แล้วกำหนด “ง่วง – หนอ  ง่วง – หนอ”  รับรองหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง”

            พระบัวเฮียวกำลังจะเอ่ยปากพูด ก็พอดีท่านพระครูพูดขึ้นว่า

          “นี่เธอรู้ไหม ฉันกำลังเขียนหนังสือคู่มือสอบกรรมฐาน เขียนมาได้ร้อยกว่าหน้าแล้ว เผื่อว่าฉันตายไป จะได้มีตำราไว้สอบอารมณ์ในการปฏิบัติ หนังสือแบบนี้ยังไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน”

            “จวนเสร็จหรือยังครับ”

          “ยัง คงอีกหลายปี นี่ฉันเขียนมาปีกว่าแล้ว เพิ่งได้ร้อยกว่าหน้าเอง มันไม่ใช่จะเขียนได้ง่าย ๆ เอาละทีนี้ เธอมีอะไรก็ว่าไป เสร็จธุระแล้วฉันจะได้กลับไปเขียนหนังสือต่อ” ท่านต้องพูดกันเอาไว้ก่อนเพื่อให้ผู้เป็นศิษย์รู้ว่าท่านมีงานที่จะต้องทำรออยู่

          “หลวงพ่อครับ ผมได้ “เห็นหนอ” แล้วครับ” บอกอย่างปีติ

          “อ้อ... เร็วถึงขนาดนั้นเชียวหรือ แล้วรู้ได้ยังไงว่าได้ หรือว่ามีใครมาบอก”

          “ครับ มีเสียงมากระซิบข้างหูผม”

          “กระซิบว่ายังไง”

          “บอกว่า “ท่านสำเร็จแล้ว ท่านสำเร็จแล้ว” ครับ”

            “อ้อ...” ท่านพระครูพูดยิ้ม ๆ พระบัวเฮียวเลยทำหน้าปั้นยาก ท่านพระครูยิ้มแบบนี้ทีไร เป็นได้เรื่องทุกที

          “แล้วเสียงที่เธอได้ยิน เป็นเสียงเดียวกันกับที่ได้ยินเมื่อปีที่แล้วหรือเปล่า”

          “ไม่ใช่แน่ ๆ ครับ เสียงเมื่อคืนไพเราะน่าฟังกว่า”

          “แล้วเขาว่ายังไงอีก” พระอุปัชฌาย์ซัก

          “เขาบอกให้ผมท่องเที่ยวไป อยากไปไหนก็ไปได้ทุกหนทุกแห่ง เพียงแต่นึกเท่านั้นก็ไปได้ แล้วผมก็เลยไปเที่ยวเมืองนรกเมืองสวรรค์ ที่เมืองนรกผมพบโยมพ่อด้วย ผมขอร้องให้ยมบาลให้ช่วยพ่อ แต่ท่านบอกว่าช่วยไม่ได้เพราะแม้แต่แม่ยายท่านเอง ท่านก็ยังช่วยไม่ได้”

          “เหมือนฉันเปี๊ยบเลย” ฉันก็เคยไปเห็นเมืองนรกมาแล้ว ก็เจออย่างที่เธอเล่ามานี่แหละ” พระบัวเฮียวยิ้มแป้นเมื่อท่านพระครูบอกว่า ท่านก็เคยเห็นนรกมาแล้วเช่นเดียวกัน

          “ถ้าอย่างนั้นผมก็สำเร็จแล้วจริง ๆ ใช่ไหมครับ” ถามอย่างตื่นเต้น

          “ใครบอกเธอล่อบัวเฮียว เธอถูกมารมันหลอกเอาน่ะซิ ถูกมารหลอกเหมือนกับที่ฉันเคยถูกหลอกมาแล้ว”

          คราวนี้พระบัวเฮียวถึงกับใจฝ่อแฟบลงไป ถามท่านเสียวอ่อยว่า

          “หมายความว่าอย่างไรครับ แสดงว่าผมเห็นไม่จริงใช่ไหมครับ”

          “จริงซิ เธอเห็นจริง ๆ แต่สิ่งที่เธอเห็นมันไม่จริง เข้าใจหรือยังล่ะ”

          “ยังไม่เข้าใจครับ หลวงพ่อกรุณาขยายความหน่อยเถิดครับ ผมชักงง” คนซื่อตอบซื่อ ๆ

          “คือที่เธอไปเห็นนรกสวรรค์น่ะ เธอเห็นจริง ๆ เหมือนกับตอนที่ฉันเห็น ฉันก็เห็นจริง ๆ แต่นรกสวรรค์ที่เธอเห็นหรือที่ฉันเห็นนั้น มันไม่จริง เรียกว่า เราสองคนต่างก็ไปเห็นของไม่จริงมาว่างั้นเถอะ ที่ว่าไม่จริง เพราะมันเป็นภาพลวงตาที่จิตของเราเป็นผู้สร้างขึ้น เขาเรียกว่า เทวบุตตมาร ฉันถึงว่าเธอถูกมารหลอกเอาไงล่ะ”

          “ถ้าอย่างนั้นแสดงว่า นรกสวรรค์ไม่ได้มีอยู่จริงใช่ไหมครับ”

          “มีซี เป็นชาวพุทธจะว่านรกสวรรค์ไม่มีได้ยังไง อีกหน่อยถ้ามีเวลาไปอ่านพระไตรปิฎกซะ จะได้หายสงสัย นั่นอยู่ในตู้นั่น” ท่านชี้ไปที่ตู้พระไตรปิฎก ซึ่งมีหนังสือเล่มสีน้ำเงินบรรจุอยู่เต็ม

          “หลวงพ่อครับ ในเมื่อนรกสวรรค์มีจริง แล้วทำไมสิ่งที่ผมกับหลวงพ่อเห็นจึงไม่จริงเล่าครับ” พระใหม่ยังไม่หายสงสัย แทนคำตอบ ท่านพระครูกลับย้อนถามว่า

          “เธอไม่แปลกใจบ้างหรือบัวเฮียว ว่าเธอมาปฏิบัติแค่สองวันก็สามารถเห็นนรกสวรรค์ ทีคนอื่น ๆ เขาปฏิบัติกันมาเป็นสิบ ๆ ปี ก็ยังไม่เห็น”

          “มันแล้วแต่บุญบารมีของแต่ละคนนี่ครับ” คนซื่อเลี่ยงตอบไปอีกทางหนึ่ง

          “ตอบอย่างนั้น มันก็มีส่วนถูกอยู่เหมือนกัน นี่จำไว้นะบัวเฮียว อะไรก็ตามที่เธอเห็นตอนนั่งสมาธิ เธอสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันจริงหรือไม่จริง”

          “พิสูจน์อย่างไรครับ” ถามอย่างสนใจ

          “ง่ายนิดเดียว เมื่อไหร่ที่เธอทิ้งองค์บริกรรม ก็แน่ใจได้เลยว่าสิ่งที่เธอเห็นมันเป็นภาพลวง แต่ถ้าเธอเห็นทั้ง ๆ ที่ยังมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม สิ่งนั้นมันก็จริง พูดง่าย ๆ ก็คือต้องใช้สติไปเห็น ทีนี้เข้าใจหรือยังล่ะ”

          “เข้าใจแล้วครับ หลวงพ่อครับ เมื่อกี้หลวงพ่อพูดถึงเทวปุตตมาร มันเป็นอย่างไรครับ”

          “อ้อ... มารที่ว่านี้ก็คือสิ่งที่มาขัดขวางไม่ให้เราทำความดี อย่างการนั่งสมาธินี่ถือว่าทำความดีขั้นสูงสุด อย่าลืม ทาน ศีล ภาวนา สามอย่างนี้มีระดับไม่เท่ากัน

          การให้ทาน ถือเป็นความดีขั้นธรรมดา

          การรักษาศีล เป็นความดีขั้นสูงกว่าทาน

          การบำเพ็ญภาวนา เช่นการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ถือเป็นความดีขั้นสูงสุด

เมื่อไรที่เราทำความดี เมื่อนั้นจะต้องผจญมาร มารมี ๕ ประเภทด้วยกันคือ

            ขันธมาร       ได้แก่ ความปวดเมื่อย คนตรงโน้น เจ็บตรงนี้ เวลาที่เธอปวดขาแทบหลุด นั้นแหละเธอกำลังผจญกับขันธมาร

          กิเลสมาร       ได้แก่ กิเลสต่าง ๆ เช่น นั่งแล้วอยากเห็นเลข ก็เป็นโลภะ นึกขัดเคืองเคียดแค้นคนอื่น ก็เป็นโทสะ หรือนั่งเพลิน ๆ ติดสุข ก็เป็นโมหะ

          เทวปุตตมาร ก็เช่นเห็นเทพบุตร เทพธิดา เห็นนรกสวรรค์ อย่างที่เธอเผชิญมาแล้ว

          อภิสังขารมาร ก็ได้แก่ ความคิดปรุงแต่ง อยากเห็นโน่นเห็นนี่ อยากได้ “เห็นหนอ” อยากสำเร็จเป็นพระอรหันต์

          ส่วนอันสุดท้ายคือ มัจจุราช อันนี้ร้ายที่สุด เพราะถ้าตายเสียแล้วโอกาสที่จะมานั่ง พอง – หนอ  ยุบ – หนอ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเธอจะต้องรู้เท่าทันมารเหล่านี้ ขอให้จำไว้ว่า “มารไม่มี บารมีไม่เกิด” เพราะฉะนั้น เธอต้องเอาชนะมารให้ได้”

          พระบวชใหม่เดินกลับกุฏิอย่างเหงาหงอย แอบรำพึงในใจว่า “ไม่น่าเล้ยตูเอ๊ย ถูกมารหลอกเข้าจนได้”

 

มีต่อ......๖

 

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00007

 

๗...

          ลูกศิษย์วัดนำรัฐมนตรีและคณะไปยังโรงครัว ซึ่งอุบาสกอุบาสิกากำลังนั่งรับประทานอาหารกันเป็นโต๊ะ ๆ ละประมาณ ๑๐ คน
                พวกเขาพากันมานั่งกรรมฐาน โดยมาส่วนตัวบ้าง มาเป็นคณะบ้าง บางคนก็มาเข้าสามวัน เจ็ดวัน บางคนก็มาอยู่เป็นเดือน และก็มีไม่น้อยที่ตั้งใจมาอยู่ ๗ วัน แต่พอครบกำหนดแล้วก็ไม่ยอมกลับ เพราะซาบซึ้งในรสพระธรรม ร้อนถึงสามีหรือภรรยาต้องมาอ้อนวอนขอให้กลับไปช่วยกันเลี้ยงลูก

            ส่วนประเภทที่มาแล้วอยู่ไม่ได้เพราะไม่ถูกชะตากับ พอง – หนอ ยุบ – หนอ ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปก็พอมีบ้าง แต่พวกที่มาแล้วไม่ยอมกลับนั้นมีมากกว่า

            รสชาติของอาหารมื้อนั้น ช่างอร่อยถูกปากคุณหญิงเสียนัก แม้จะเป็นอาหารพื้น ๆ ที่ดูแล้วไม่เชิญชวนให้รับประทาน แต่เมื่อได้ลิ้มลองเข้าไปแล้ว จึงรู้ว่าฝีมือระดับนี้ หาตัวจับยาก

            “แกงหน่อไม้อร่อยจัง ก่อนแกงต้องเอาหน่อไม่มาต้มก่อนหรือเปล่าจ๊ะ” คุณหญิงถามแม่ครัว

            “ไม่ใช่หน่อไม้หรอกค่ะคุณ นั่นแกงยอดมะพร้าวค่ะ ดูแล้วเหมือนหน่อไม้ รสชาติก็คล้าย ๆ กัน ใคร ๆ ก็คิดว่าเป็นหน่อไม้” แม่ครัวไม่รู้ว่าคนที่ตนกำลังพูดด้วยเป็นคุณหญิง นายตำรวจผู้ทำหน้าที่หิ้วกระเป๋าถือราคาแพงจึงต้องบอกว่า “ป้า นี่คุณหญิงนะป้า”

            “ขอโทษเจ้าค่ะคุณหญิง อีฉันไม่ทราบจริง ๆ อย่าถือสาคนบ้านนอกคอกนาเลยนะเจ้าค่ะ” แม่ครัวพูดพร้อมกับยกมือไหว้ประหลก ๆ

            “ไม่เป็นไรจ้ะ แหมกับข้าวอร่อยทุกอย่างเลย ปลาเกลือทอด เค็มกำลังพอดี แกงส้มผักกาดดองก็รสกลมกล่อม ใส่ผงชูรสหรือเปล่าจ๊ะ”

            “ไม่ได้ใส่เจ้าค่ะ หลวงพ่อท่านให้ใส่สติแทน บอกว่าผงชูรสก็สู้ไม่ได้”

            “เป็นยังไงจ๊ะ ใส่สติ” คุณหญิงไม่เข้าใจ

            “คือท่านให้แม่ครัวเข้ากรรมฐานเจริญสติปัฏฐาน ๔ คนละเจ็ดวัน เวลาทำกับข้าว ก็ให้กำหนดสติเจ้าค่ะ” ถึงตอนนี้ คุณหญิงไม่ค่อยเข้าใจ ได้ยิน “สติปัฏฐาน ๔” เป็นครั้งที่สองแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร อิ่มข้าวแล้วจะต้องไปเรียนถามท่านพระครูสักหน่อย เรื่องอะไร จะต้องมาถามแม่ครัวให้เสียชื่อคุณหญิงท่านรัฐมนตรี

            “คนมากจริง นี่ค่ากับข้าววันหนึ่ง ๆ คงตกหลายพันบาทซีนะ” คุณหญิงพูดพลาง หันไปมองโต๊ะอื่น ๆ ที่คนนุ่งขาวห่มขาวทั้งชายหญิงกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่

            “เจ้าค่ะ แล้วแต่แขกมากแขกน้อย ก็เลี้ยงคนทั้งวัดนี่เจ้าคะ บางวันมีคนถึงห้าร้อย คากับข้าวก็ตกสามพันบาท เฉลี่ยหัวละหกบาทต่อวัน นี่ขนาดวันละสองมื้อนะเจ้าคะ หลวงพ่อท่านให้ถือศีลแปดทุกคน”

            “แล้ววัดเอาเงินที่ไหนมาจ่ายล่ะจ๊ะ”

            “ก็มีคนมาบริจาคเรื่อย ๆ เจ้าค่ะ แต่ถ้าไม่มีจริง ๆ หลวงพ่อท่านก็...

            “ก็ทำไมจ๊ะ” คนเป็นคุณหญิงอยากรู้ แม่ครัวค้อมตัวลง เอามือป้องปากกระซิบว่า “หลวงพ่อท่านก็เชื่อเขามาเจ้าค่ะ พอมีเงิน ท่านก็เอาไปใช้เขา”

            “ตายจริง แล้วพวกที่มาอยู่วัดหลาย ๆ วัน ทางวัดไม่เก็บเงินเขาหรือ”

            “ไม่เก็บเจ้าค่ะ หลวงพ่อท่านไม่ให้เก็บ ท่านบอกว่า เขามาสร้างฟามดี เราต้องสนับสนุนเขา แต่ว่าบางคนเขาก็ทำบุญให้วัดบ้างเหมือนกัน ก็พลอยได้ประสมประเสกันไป ว่าก็ว่าเถอะนะคะคุณหญิง คนสมัยนี้ จะทำฟามดีทั้งที ก็ต้องให้จ้างกัน” แม่ครัวออกเสียง “ความ” เป็น “ฟาม”

            นายตำรวจที่ติดตามรัฐมนตรีแอบสังเกตว่า คณะอุบาสกอุบาสิกาที่มาบำเพ็ญศีลภาวนา ต่างพากันรับประทานอย่างสงบเสงี่ยม ไม่มีเสียงพูดคุยกันเลย พวกเขาซึ่งคุยกันเสียงดังเมื่อตอนเดินเข้ามา จึงต้องหยุดไปโดยปริยาย

            อีกประการหนึ่ง รสชาติของอาหารซึ่งแม้จะมีเพียงสามอย่างหากก็อร่อยถูกปากไปเสียทุกอย่าง ทำไมปากไม่ว่างพอที่จะคุยได้

            เสร็จจากอาหารคาว ก็เป็นอาหารหวาน ซึ่งมีเพียงอย่างเดียว คือ ข้าวเม่าพล่ารสเลิศ ที่ว่ารสเลิศเพราะหวาน มัน เค็ม พอดิบพอดี คุณหญิงมีอันต้องเรียกแม่ครัวคนเดิมมาถามอีกว่า

            “ป้าจ๊ะ ข้าวเม่าพล่าอร่อยจัง ทำยังไงจ๊ะ ฉันจะได้ไปบอกแม่ครัวที่บ้านให้ทำบ้าง” แม่ครัวหน้าบานอีกครั้ง สาธยายว่า ทำไม่ยากหรอกเจ้าค่ะคุณหญิง แต่ถ้าจะให้อร่อย มันต้ออาศัยแท้คติก”

            “อะไรจ๊ะ แท้คติค” คุณหญิง “เป็นงง”

            “เป็นภาษาฝาหรั่งน่ะเจ้าค่ะ คุณหญิงไม่เคยได้ยินหรือเจ้าคะ หล่อนออกเสียง ฝรั่ง ไม่ได้ เลยเป็น “ฝาหรั่ง” ไป

            “ไหน ลองสะกดให้ฟังหน่อยซิ มีตัวอะไรบ้าง เผื่อฉันจะรู้จัก”

            “โอ๊ย ไม่ได้หรอกเจ้าค่ะ อีฉันไม่ได้เรียนหนังสือ อย่าว่าแต่ภาษาฝาหรั่งเลย ภาษาไทยก็ยังไม่กระดิกหู”

            “อ้าว แล้วทำไมใช้คำภาษาฝรั่งได้ล่ะจะ”

            “อีฉันจำเขามาเจ้าค่ะ” แม่ครัวสารภาพ

            “สงสัยคงจะเป็น “เทคนิค” มั้งป้า” คนเป็นรัฐมนตรีท้วง

            “เออ เออ ใช่ ใช่ ค่ะ” แกหันไปพยักพเยิดกับรัฐมนตรี แล้วจึงหันไปพูดกับคุณหญิงว่า “มันต้องอาศัยเทคนิคเจ้าค่ะ คุณหญิง”

            “เทคนิคอะไรบ้าง ป้าบอกหน่อยได้ไหม”

            “อุ๊ย ทำไมจะไม่ได้ล่ะเจ้าคะ เทคนิคขั้นแรกก็คือ การเลือกข้าวเม่าที่จะนำมาพล่านั้น ต้องเลือกชนิดนิ่ม ๆ วิธีที่จะได้ข้าวเม่านิ่ม ๆ ก็ต้องอาศัยเทคนิคอีกเหมือนกัน คือข้าวที่จะเอามาคั่วนั้น จะต้องเกี่ยวมาตอนมันสด ๆ ที่เม็ดยังไม่ทันเหลือง แต่ถ้าเขียวเกินไปก็แสดงว่า ยังเป็นน้ำนมอยู่ ใช้ไม่ได้ ต้องให้สีอมเขียวอมเหลือง ถึงจะกำลังดี

            เสร็จแล้ว ก็เอามานวด ให้เหลือแต่เม็ด แล้วคั่ว คั่วเสร็จ ก็ใส่ครกตำทั้งที่ยังร้อน ๆ อย่าปล่อยให้เย็น เพราะข้าวเม่าที่ได้จะแข็ง ต้องตำร้อน ๆ ถึงจะนิ่ม เห็นมั๊ยคะว่าเวลาตำก็ต้องใช้เทคนิค พอตำเสร็จ ก็เอามาฝัดอย่างมีเทคนิค คือต้องเก็บกากออกให้หมด”

            “แหม เทคนิคแยะจังนะป้านะ” รัฐมนตรีขัดขึ้น

            “เจ้าค่ะ ไม่งั้นก็ไม่อร่อยซะเจ้าคะ”

            “จ้ะ ๆ แล้วยังไงอีกจ๊ะ” คุณหญิงอยากรู้

            “เมื่อฝัดเสร็จ ก็เอาเกลือมาละลายกับน้ำฝนที่อบด้วยดอกมะลิ ชิมพอให้เค็มปะแล่ม ๆ อย่าให้เค็มหรือจืดเกิน เสร็จแล้ว จึงเอาน้ำเกลือพรมข้าวเม่าให้ทั่ว เวลาพรมต้องใช้เทคนิคนะเจ้าคะ คือพรมให้พอหมาด ๆ ถ้าแฉะเกินไป ข้าวเม่าจะติดกันเป็นก้อน ถ้าพรมน้อยเกินไป ข้าวเม่าก็จะนิ่มไม่เสมอกัน

            เมื่อพรมน้ำเกลือทั่วแล้ว ก็หากาละมัง หรือ ฝาหม้อมาครอบหมักเอาไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างที่รอก็เอามะพร้าวมาขูด มะพร้าวก็ต้องเลือกที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป เวลาขูดก็ต้องใช้กระต่ายขูด ไม่ใช้เครื่องเพราะจะทำให้บูดเร็ว แล้วก็ไม่ต้องขูดให้ถึงก้นกะลา เดี๋ยวจะดูดำไม่น่ากิน

            เสร็จแล้ว จึงเอาไปคลุกกับข้าวเม่าที่หมักไว้ คลุกให้ทั่ว ๆ นะเจ้าคะ เวลาจะรับทาน ก็เอาน้ำตาลโรงหน้า บางคนก็นิยมรับทานกับกล้วยไข่ ไม่มีกล้วยไข่ จะใช้กล้วยน้ำว้าแทนก็พอได้

            อ้อ...น้ำตาลที่จะใช้ก็ต้องมีเทคนิคนะเจ้าคะ คือต้องเลือกชนิดที่เม็ดเล็ก ๆ ถ้าเม็ดใหญ่ต้องนำมาป่นเสียก่อน เวลาป่นต้องใช้ครกที่สะอาด เพราะหากมีกลิ่นพริกหรือกลิ่นกระเทียมปน มันก็เสียฟามอร่อยได้เจ้าค่ะ” สาธยายจบก็หอบฮั่ก ๆ เพราะเสียงที่ใช้ดังเกินพิกัดไปหน่อย

            “ขอบใจจ้ะป้า นี่ได้ความรู้อีกแยะเลย” พูดพลางยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม เพิ่งจะสังเกตว่า แม้แต่น้ำก็ยังอร่อย จึงออกปากชมว่า

            “น้ำนี่ดื่มแล้วชื่นใจจัง น้ำฝนหรือจ๊ะป้า”

            “เจ้าค่ะ หลวงพ่อท่านให้รองไว้ในแท้งค์ การรองน้ำฝนก็ต้องมีเทคนิคนะเจ้าคะ” คนเทคนิคมากอธิบายเห็นคนฟังไม่ซัก จึงพูดต่อไปว่า “คือตกหนแรกหนสอง อย่าเพิ่งไปรอง เพราะฝุ่นละอองยังไม่หมด ต้องหนสามหนสี่ถึงจะใช้ได้”

            ดังนั้น นอกจากจะอิ่มท้องแล้ว คุณหญิงยังได้เทคนิคการทำข้าวเม่าพล่าเป็นของแถมอีกด้วย อารมณ์เธอจึงดีขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ขัดข้องที่สามีจะกลับไปคุยกับท่านพระครูอีก เธอเองก็เริ่มจะสนใจ ท่านพระครูมีอะไร ๆ ที่พิเศษไปกว่าพระที่เธอเคยรู้จัก

            หลังอาหารเพล คณะของครูสฤษดิ์กลับไปปฏิบัติต่อยังศาลาที่พัก เวลาสองทุ่มท่านพระครูนัดให้ไปสอบอารมณ์และจะสอนเดินจงกรมระยะที่สี่ให้ วันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ท่านก็จะสอนเดินระยะที่ห้าและที่หก พวกเขาจะรู้จักวิธีเดินจงกรมทั้งหกระยะภายในสามวัน ท่านพระครูท่านยืดหยุ่นได้เสมอ กระนั้นท่านก็ต้องดูพื้นฐานและความสนใจของผู้เรียนด้วยว่า จะรับไหวหรือไม่

            รับประทานอาหารกันเป็นที่อิ่มหนำสำราญแล้ว รัฐมนตรีนำคณะของตนกลับมายังกุฏิเจ้าอาวาสอีกครั้ง ท่านพระครูรู้ว่า วันนี้จะต้องเล่าเรื่องคุณนายลำไย จึงให้ลูกศิษย์วัดไปตามพระบัวเฮียวมาฟังด้วย

            “พระคุณเจ้าไม่รู้สึกหิวหรือครับ” นายตำรวจถาม เพราะตัวเขาแม้จะรับประทานวันละสามมื้อ ก็ยังต้องหาอะไรรองท้องแทบทุกครั้งก่อนเข้านอน

            “ไม่หิว อาตมาชินแล้ว สมัยเดินธุดงค์ในป่าดงพระยาเย็น เคยอดเจ็ดวันเจ็ดคืนติด ๆ กัน ยังอยู่ได้” ท่านพระครูตอบ

            “พระคุณเจ้าคะ ดิฉัน เอ้อ...สงสัยจังค่ะว่า พระคุณเจ้ารู้ได้อย่างไรว่าคนนี้คิดอะไร หรือมีความเป็นมาอย่างไร” คุณหญิงถามขึ้น

            “อาตมาก็ใช้ “เห็นหนอ” น่ะซี คุณหญิงสนใจไหมเล่า”

            “สนใจค่ะ ทำยังไงคะ”

            “ไม่ยากหรอกคุณหญิง วิธีง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ต้องทำจริง ๆ ทำไม่จริงก็ไม่ได้ วิธีที่ว่าก็คือให้เจริญสติปัฏฐาน ๔ พอสติดีถึงขึ้น “เห็นหนอ” ก็เกิดเอง อย่าลืมว่า “เห็นหนอ” นี่มีค่ามหาศาลทีเดียว ใช้ดูกฎแห่งกรรมได้ชัดแจ๋วเลย

            ดิฉันขอเรียนวิชาที่ว่านี้ได้ไหมคะ หรือว่าผู้หญิงเรียนไม่ได้”

            “ทำไมจะไม่ได้ ผู้หญิงผู้ชายเรียนได้ทั้งนั้น ขอให้มีจิตกับกายก็แล้วกัน ถ้าคุณหญิงอยากเรียน ต้องมาเข้าชั้นเรียนที่วัดนี้อย่างน้อยเจ็ดวัน แล้วกลับไปฝึกต่อที่บ้านจนกว่าจะได้ อาตมาจะเล่าเรื่องคนที่ได้ “เห็นหนอ” ให้ฟัง อยากฟังไหมเล่า”

            “อยากฟังครับ” “อยากฟังค่ะ” ทุกคนตอบขึ้นพร้อมกัน

            “เอาละ อยากฟังก็จะเล่าให้ฟัง คุณนายลำไยแกเป็นเมียครูวงษ์ บ้านอยู่อ่างทอง ครูวงษ์เป็นครูประชาบาลจังหวัดอ่างทอง สอนวิชาศีลธรรม แต่กินเหล้าเมาทุกวัน นอกจากกินเหล้าแล้ว ยังเจ้าชู้อีกด้วย ส่วนคุณนายลำไยก็ปากจัด ด่าไฟแลบเลย แกอ่านหนังสือไม่ออก เพราะไม่เคยเรียน

            วันหนึ่ง แกมาหาอาตมา มาฟ้องเรื่องผัวเจ้าชู้ อาตมากับครูวงษ์รู้จักกันดี แกมาที่วัดนี้บ่อย ๆ พอคุณนายลำไยมาฟ้อง อาตมาเลยบอกแกว่า ถ้าอยากให้ผัวเลิกเจ้าชู้ ต้องมาเข้ากรรมฐานที่วัดเจ็ดวัน คุณนายลำไยก็มา อาตมาก็สอนให้แกเจริญสติปัฏฐาน ๔ ปรากฏว่า แกทำไม่ได้เลย เดินจงกรมก็ไม่ได้ ขวาย่างเป็นซ้ายย่าง ซ้ายย่างเป็นขวาย่าง เพราะแกไม่รู้กระทั่งว่าข้างไหนเท้าซ้าย ข้างไหนเท้าขวา

            อาตมาก็ลองให้แก่นั่งสมาธิด้วย การกำหนดว่า “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” แกก็ว่า ทำได้สบายมาก แล้วแกก็นั่งขัดสมาธิ ปากก็ว่า “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ  พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” ว่าเสียงดังเชียว แต่พออาตามาถามว่า พองท้องเป็นยังไง ยุบท้องเป็นยังไง แกก็ไม่รู้เรื่อง อาตมาก็จนปัญญา จึงถามแกว่าท่องพุทธคุณได้ไหม แกก็ว่าไม่ได้อีก เลยบอกให้แกกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นให้มาใหม่ เอาลูกมาด้วยคนหนึ่ง แกก็กลับไป

            รุ่งขึ้น ก็มากับลูกชายคนหนึ่งเป็นหนุ่มแล้ว อาตมาก็ให้ลูกแกจดบทสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และพาหุงมหากาฯ แล้วบอกไปสอนให้แม่ท่อง ท่องได้แล้วให้มาหา ลูกแกก็ไปสอนแม่ท่องวันละตัวสองตัว หายไปเดือนนึง แกก็กลับมา มาท่องให้อาตมาฟังได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่ว อาตมาก็บอกว่าดีแล้ว

            ทีนี้ เวลาไหว้พระสวดมนต์ให้ท่องพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และพาหุงมหากาฯ หนึ่งจบ แล้วท่องพุทธคุณอย่างเดียวเท่าอายุบวกหนึ่ง อายุแก ๕๒ ก็ให้ท่องวันละ ๕๓ แรก ๆ แกใช้นับเม็ดมะขามเวลาท่อง พอสติดีขึ้น ก็จำได้ไม่ต้องนับเม็ดมะขาม พอดีขึ้นอีก แกบอกแกท่องได้วันละ ๑๐๘ จบโดยไม่ต้องนับเม็ดมะขาม เพราะสติมันบอกเอง รู้เอง เหมือนกับที่เราตั้งนาฬิกาปลุกไว้จับเวลาตอนนั่งสมาธิ พอสติดี รู้เอง ไม่ต้องใช้นาฬิกา

            เมื่อสติดีขึ้น ๆ แกก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยอัตโนมัติ คือ แกมีอาชีพเลี้ยงหมูเลี้ยงวัวส่งขายโรงฆ่าสัตว์ แกก็เลิก เพราะสติมันบอกว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ ที่เคยด่าเป็นไฟแลบก็เลิก

            ต่อมา แกก็เดินจงกรมนั่งสมาธิเป็น โดยไม่ต้องมีใครบอกใครสอน มันเป็นเองโดยอัตโนมัติ เพราะสติดีถึงขั้น แกเดินจงกรมวันละสองชั่วโมง นั่งสมาธิวันละสองชั่วโมง ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน อย่าลืม พอสติดีเสียอย่าง อะไร ๆ มันก็ดีหมด”

            ท่านพระครูเน้น แล้วจึงเล่าต่อไปว่า

            “วันหนึ่ง ครูวงษ์ ผัวแกโกหกว่า จะไปเก็บค่าเช่านาที่ชัยนาท แต่ที่แท้ไปหาเมียน้อย ซึ่งเป็นแม่หม้ายอยู่ที่ปากน้ำโพ หายไป ๔ วัน ขากลับให้เงินแม่หม้ายไว้สามร้อย คุณนายลำไยแกอยากจะรู้ว่าผัวไปไหน แกก็ไหว้พระสวดมนต์ แล้วเดินจงกรม นั่งสมาธิอย่างละสองชั่วโมง

            ขณะที่จิตเป็นสมาธิ แกก็อธิษฐานว่า ขอให้แกได้ตาทิพย์ แกอยากจะรู้ว่านายวงษ์ไปทำอะไร อยู่ที่ไหน อธิษฐานจิตเสร็จ แกก็กำหนด “เห็นหนอ เห็นหนอ” แล้วแกก็เห็นหมดว่า ผัวไปทำอะไรที่ไหน คุณหญิงว่าดีไหม เรียน “เห็นหนอ” ไว้คอยตรวจดูว่าท่านรัฐมนตรีไปไหน” ท่านพระครูถามคุณหญิง

            “ดีค่ะ ดิฉันสงสัยอยู่บ่อย ๆ เหมือนกันว่า ที่เขากลับบ้านดึกดื่นอยู่บ่อย ๆ นั้น แอบไปจุ๋งจิ๋งกับอีหนูบ้างหรือเปล่า” คุณหญิงได้ทีเลยขี่แพะไล่เสีย

            “ผมไม่มีหรอกครับพระคุณเจ้า คุณหญิงตามแจไม่ยอมให้คลาดสายตาออกอย่างนี้” คนเป็นรัฐมนตรีกล่าวแก้ เลยถูกภรรยาขว้างค้อนเข้าให้

            “เอาละ มาฟังเรื่องคุณนายลำไยกันต่อ เป็นอันว่าแกรู้หมด เพราะ “เห็นหนอ” บอก เมื่อครูวงษ์กลับมา แกก็ชี้หน้า แต่ไม่ด่าเพราะเลิกด่าแล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนละก็ด่าแหลกเลย เดี๋ยวนี้แกไม่ด่า แต่ก็เท้าสะเอวชี้หน้า

            “แกไปไหนมา”

            “ครูวงษ์ตอบว่า “อ้าว ก็ไปเก็บค่าเช่านาที่ชัยนาทไง”

            “แล้วที่ไหนล่ะค่าเช่า” ครูวงษ์ก็ตอบอึก ๆ อัก ๆ ว่า

            “เขา...เอ้อ...เขาขอผลัดไปเดือนหน้า”

            คราวนี้คุณนายลำไยก็เลยสั่งสอนผัวเสียเลยว่า

            “ตาวงษ์ แกน่ะเป็นครูสอนศีลธรรมเสียเปล่า แต่ตัวแกไม่มีศีลธรรมเอาเสียเลย ทั้งขี้เหล้าเมายา เจ้าชู้ประตูดิน หมูหมาเกี้ยวสิ้นไม่เลือกหน้า แถมยังโกหกพกลมอีก ข้ารู้นะ แกไม่ได้ไปเก็บค่าเช่านา แต่แกไปหาเมียน้อยที่ปากน้ำโพ ให้เงินมันไปสามร้อย จริงไหม”

          ครูวงษ์ก็นึกในใจว่า “เอ...เมียเรารู้ได้ยังไงนะ สงสัยท่านพระครูวัดป่ามะม่วงบอกมา พรุ่งนี้จะต้องไปต่อว่าสักหน่อย”

            นี่ ครูวงษ์คิดอย่างนี้ หนอยแน่ะมาโทษอาตมาได้” ท่านพระครูพูดขัน ๆ

            “พอครูวงษ์คิดจะมาต่อว่าอาตมา คุณนายลำไยก็รู้เสียอีก เลยดุเอาว่า “นี่แกไม่ต้องไปโทษหลวงพ่อนะ ท่านไม่ได้บอกข้า ข้ารู้เอง” ครูวงษ์ก็ไม่เชื่อ รุ่งเช้าก็มาถามอาตมา อาตมาก็ปฏิเสธ ผลสุดท้าย ครูวงษ์ต้องยอมจำนน เลิกกินเหล้า เลิกเจ้าชู้ หันมาถือศีลกินเพล เลยกลายเป็นคนดีไปเลย ท่านรัฐมนตรีเห็นด้วยหรือยังว่า “เห็นหนอ” นั้นมีค่ามหาศาลทีเดียว”

            “เห็นด้วยครับ”

            “ดี เห็นด้วยน่ะดีแล้ว จะได้เล่าต่อ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร” แล้วท่านจึงเล่าต่อไปว่า

            “ในกาลต่อมา คุณนายลำไยก็ป่วยเป็นมะเร็งที่ลำไส้ หมอบอกว่า แกจะต้องตายภายในหนึ่งเดือน รักษาไม่ได้เพราะเป็นมาก อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด แกก็มานอนป่วยที่บ้าน นอนเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพราะเดินไม่ไหว นั่งไม่ไหว แกนอนกำหนด “ปวดหนอ ๆ” เพราะมะเร็งนี่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ก็ปวดทั้งนั้น

            คุณนายลำไยแกก็ใช้สติสู้กับทุกขเวทนา แกตั้งสติอธิษฐานจิตว่า ยังไม่อยากตาย เป็นห่วงลูก ขอให้ลูกเรียนจบได้งานการทำก่อนค่อยตาย ที่บ้านแกมีผึ้งหลวงมาอาศัยทำรังอยู่บนหลังคา รังใหญ่เท่ากระด้ง

            วันหนึ่ง ลูก ๆ ห้าคนก็มากันพร้อมหน้า แกก็บอกลูกว่า “ลูกดูนะ แม่จะแผ่เมตตาให้ผึ้ง และบอกให้เขามาช่วยดูดพิษมะเร็งให้แม่” แล้วแกก็หลับตา สักพักก็ลืมตาพูดดัง ๆ ว่า “ผึ้งจ๋า ช่วยข้าหน่อย ข้าปวดเหลือเกิน ช่วยมาดูดพิษมะเร็งออกให้ข้าด้วย” พอแกพูดจบ ผึ้งก็บินมาฝูงหนึ่ง มาเกาะที่ท้องแก ช่วยดูดพิษให้ ดูดเสร็จก็ร่วงลงมาตายเกลื่อนพื้นเลย

            วันต่อมา ก็มีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามา ขณะที่แกนอนอยู่บนแคร่ใต้ถุนบ้าน ลูก ๆ แกนึกว่าจะมากัดแม่ก็เตรียมจะฆ่า แต่แกห้ามไม่ให้ฆ่า แกแผ่เมตตาให้งูแล้วพูดว่า “งูเอ๋ย ช่วยมาดูดพิษมะเร็งให้ข้าหน่อย” งูตัวนั้นก็เลื้อยมาบนท้องแก ทำท่าเหมือนกัด ที่แท้ไม่ได้กัด แต่ดูดมะเร็งให้

            เสร็จแล้วก็เลื้อยออกไปได้สักสามสี่วา ก็นอนตายอยู่ตรงนั้น ลูก ๆ แกก็เอาไปฝัง เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก

            พวกนักข่าวจะมาขอเอาไปลงหนังสือพิมพ์ แต่อาตมาไม่อนุญาต เพราะถ้าคนอ่านเขาเกิดไม่เชื่อก็จะเป็นบาปเป็นกรรมเปล่า ๆ ปรากฏว่า คุณนายลำไยอยู่มาได้อีกสามปี กระทั่งลูก ๆ เรียนจบ เข้าทำงานได้หมด แกก็ตาย นี่ศพยังมาเผาที่วัดนี้” พูดพลางชี้ให้ดูเมรุซึ่งอยู่หลังวัด

            วันเผาศพแกยังแสดงฤทธิ์อีกนะ คือวันนั้น อาตมาไปธุระ กำหนดเขาจะเผาห้าโมงเย็น อาตมามาไม่ทันเขาก็ไม่รอ พอห้าโมงตรงเขาก็จุดไฟ ปรากฏว่าเผาเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่ยอมไหม้ ไฟก็ไม่ยอมติด อาตมากลับมาถึงประมาณทุ่มนึง ก็เลยไปจุดไฟ ปรากฏว่าไหม้เรียบร้อย

            อาตมาก็นึกถึงคำพูดของแกตอนก่อนตายว่า “หลวงพ่อต้องเป็นคนจุดไฟนะ ไม่งั้นฉันไม่ยอมไหม้เด็ดขาด” นี่แหละเรื่องของคุณนายลำไย อาตมาเล่าย่อ ๆ นะนี่ ถ้าเล่าละเอียดวันนี้ไม่จบหรอก” ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังต่างเงียบกันไปพักหนึ่ง แล้วคุณหญิงจึงถามว่า

            “พระคุณเจ้าคะ สมมุติมีคนด่าพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าจะโกรธเขาไหมคะ”

            “โกรธทำไม เขาด่าเขาก็บาปอยู่แล้ว ถ้าอาตมาโกรธ ก็ต้องบาปไปด้วยอีกคนนะซี”

            “แล้วถ้าเขาขอขมาลาโทษ จะยังบาปอยู่ไหมคะ”

            “ถ้าคนถูกด่าเขาอโหสิให้ ก็ไม่บาป แต่กรรมบางอย่างก็อโหสิให้กันไม่ได้ เช่น กรรมที่เป็นครุกรรม หรือที่เรียกว่า อนันตริยกรรม ซึ่งมี ๕ อย่าง คือ มาตุฆาต – ฆ่าแม่   ปิตุฆาต – ฆ่าพ่อ   อรหันตฆาต – ฆ่าพระอรหันต์       โลหิตุปบาท – ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต    และ สังฆเภท – การยุยงสงฆ์ให้แตกกัน

            ห้าอย่างนี้ อโหสิให้กันไม่ได้ เพราะเป็นกรรมหนัก และไม่เปิดโอกาสให้กรรมอื่นมาแทนที่ เหมือนที่พระเทวทัตทำร้ายพระพุทธเจ้า ๆ ไม่ถือโกรธแต่พระเทวทัตก็ต้องตกนรก เพราะทำกรรมหนักไว้ถึงสองอย่างคือ นอกจากทำร้ายพระพุทธเจ้าแล้ว ยังทำสังฆเภทอีกด้วย หรือเหมือนกับที่ลูกฆ่าแม่ แม่อโหสิให้ แต่ลูกก็ต้องตกนรก เพราะเป็นกรรมหนัก อโหสิให้แล้ว ผู้กระทำก็ยังไม่หมดบาป”

            คุณหญิงเกิดกลัวบาปกลัวกรรม เพราะแอบด่าท่านในใจเมื่อตอนเช้า จึงตัดสินใจสารภาพผิด

            “พระคุณเจ้าที่เคารพ ดิฉันแอบด่าพระคุณเจ้าในใจเมื่อตอนเช้า ดิฉันขออโหสิค่ะ” พูดจบก็ก้มลงกราบสามครั้ง

            “อาตมาอโหสิให้คุณหญิงตั้งแต่คุณหญิงด่านั่นแล้ว อย่างไรก็ตาม อาตมาขอชมเชยในความกล้าหาญของคุณหญิง คนที่ทำผิดแล้วยอมรับผิดนั้น หาได้ยาก อาตมาขอชมเชยคุณหญิงด้วยใจจริง” คุณหญิงปลาบปลื้มเสียจนน้ำตาไหล ท่านพระครูจึงชักชวนคุยเรื่องอื่นเสีย

            วันนั้น รัฐมนตรีและคณะออกจากกุฏิท่านพระครูเอาเมื่อตอนพลบค่ำ คุณหญิงถวายเช็คเงินสดแก่ท่านพระครูเป็นค่าอาหารพระเณรและผู้มาเข้ากรรมฐาน จำนวนเงินที่ระบุในเช็คค่อนข้างมาก ซึ่งถ้าหากนำไปซื้อทอง ก็จะได้ทองหนักถึงสิบสองบาทสองสลึง!

 

มีต่อ.......๘

 

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00008
 

๘...

        รัฐมนตรี คุณหญิง และผู้ติดตามพากันกลับไปแล้ว พระบัวเฮียวซึ่งนั่งสงบเสงี่ยมฟังท่านพระครูเล่าเรื่องคุณนายลำไยตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ถามขึ้นว่า

        “หลวงพ่อครับ ทำไมคุณหญิงนั่นแกกราบเบญจางคประดิษฐ์ไม่ได้ แต่ยังได้เป็นคุณหญิงเล่าครับ

        ท่านพระครูมองหน้าคนถาม ยิ้มตามแบบฉบับของท่านที่ใคร ๆ ชมว่ามีเสน่ห์ แล้วจึงพูดขึ้นว่า

        “เอ...ถามแปลกดี รู้สึกว่าเธอชอบถามอะไรแปลก ๆ อยู่เรื่อยนะ”

        “ก็ผมอยากรู้นี่ครับ” ตอบซื่อ ๆ

        “จะรู้ไปทำไม” บางครั้งท่านพระครูก็คิดว่า การได้ต่อปากต่อคำกับคนช่างซักก็ทำให้เพลินดีเหมือนกัน

        “รู้ไว้เพื่อประดับความรู้ซีครับหลวงพ่อ”

        “อ้อ...ถ้าอย่างนั้นก็จะได้บอกให้เอาบุญ”

        “ครับ รับรองว่าหลวงพ่อได้บุญล้ายหลาย”

        “เอ...เธอถามว่าอะไรนะ จำไม่ได้แล้ว” ท่านแกล้งยั่ว

        “หลวงพ่อความจำชักไม่ดีแล้วน่ะซีครับ แสดงว่าแก่แล้ว” คนซื่อได้ที

        “ชะชะ ได้ทีขี้แพะไหลเชียวนะ บัวเฮียวนะ”

        “เขาเรียกว่า ได้ทีขี่แพะไล่ต่างหากล่ะครับ”

        “ไล่ใครล่ะ”

        “ไล่แมวครับ”

        “งันก็แล้วไป นึกว่าไล่เธอละก็ยุ่งเชียวละ” คนซื่ออยากรู้เร็ว ๆ จึงถามขึ้นอีกว่า “หลวงพ่อยังไม่ได้ตอบผมเลยครับว่า ทำไมคนกราบเบญจางคประดิษฐ์ไม่เป็น ถึงได้เป็นคุณหญิง”

        “ก็ทำไมคนกราบเป็นถึงไม่ได้เป็นคุณหญิงเล่า การเป็นคุณหญิงเขาตัดสินหรือวัดกันที่การกราบการไหว้เมื่อไหร่ล่ะ คนที่จะได้เป็นคุณหญิงเขาต้องได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือที่เรียกว่า สายสะพายนั่นไง สงสัยอีกซีว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คืออะไร” ท่านพระครูแกล้งดักคอ

        “เครื่องราชอิสริยาภรณ์ก็คือสายสะพายน่ะซีครับ” คนความจำดีตอบ

        “อ้อ...เก่งนี่” ท่านพระครูออกปากชม

        “แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่ดีว่า ไอ้สายสะพายนี่มันเป็นแบบเดียวกับสายตะพายที่เขาเอามาร้อยจมูกวัวจมูกควายหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบเดียวกัน คุณหญิงคุณนายมิต้องถูกร้อยจมูกหรือ” คนขี้สงสัยถามอย่างสงสัย

        “มันไม่เหมือนกันหรอก สายตะพายนั่นมันเป็นเชือก เวลาเขาเอาเชือกมาร้อยจมูกวัวจมูกควาย เขาเรียกว่า สนตะพาย แต่สายสะพายเป็นผ้าแถบยาว ๆ กว้างประมาณคืบนึง พอจะเข้าใจหรือยังล่ะ”

        “ครับ ถ้าอย่างนั้นก็ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมแอบสังเกตเห็นคือ คุณหญิงแกท่าทางข่มผัวน่าดูเลย แล้วก็ไม่มีมารยาท ไปแอบฟังท่านคุยกัน ขนาดสมชายไปบอกก็ไม่ยอมลงมา นี่ถ้าเป็นเมียผมละก็ ฮึ่ม...ตบล้างน้ำเลย”

        คนช่างสังเกตยกมือขวาขึ้นตบอากาศอยู่ไปมาพลางทำเสียง “เฟี้ยว ๆ” ไปด้วย เห็นคนฟังไม่ว่ากระไร จึงวิจารณ์ต่อ

        “ท่าทางรัฐมนตรีก็กลัวเมียน่าดูเลย เสียเชิงชายหมด”

        “เอาเถอะน่า ใครเขาจะข่มกัน จะกลัวกันยังไงก็เรื่องของเขา มันหนักกบาลเธอหรือไงเล่า ถึงได้เดือดร้อนนัก” ท่านพระครูว่าให้

        “มันก็ไม่หนักหรอกครับ แต่ว่ามันก็ไม่ดีนัก ตัวเองออกใหญ่โตทั้งรูปร่างและตำแหน่ง ไม่น่ามากลัวผู้หญิงตัวเล็กนิดเดียว”

        “นี่แน่ะบัวเฮียว” คราวนี้ท่านพระครูพูดเป็นงานเป็นการ

        “นักปฏิบัติน่ะเขาไม่สนใจเรื่องของคนอื่นหรอก คือสติปัฏฐาน ๔ นั้น ไม่มีข้อไหนที่บอกให้สนใจสิ่งนอกตัว กาย เวทนา จิต ธรรม ล้วนอยู่ในตัวเราทั้งสิ้น เอาละทีนี้จะได้อธิบาย จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นสติปัฏฐานข้อที่สาม สองข้อแรกมีอะไรบ้าง ไหนบอกมาซิ” ท่านทดสอบความจำคนเป็นศิษย์

        “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กับ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ครับ”

        “เธอเข้าใจแล้วใช่ไหมว่าคืออะไร”

        “ครับ”

        “ดีแล้ว คราวนี้ก็มาพูดถึง จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่เธอกำลังคิด กำลังพูดอยู่นี่ มันเป็นจิตตานุปัสสนา เพราะเธอเอาจิตออกไปนอกตัว ไม่ใช้สติตามดูจิตของตัวเอง ปล่อยให้จิตซัดส่ายไปในเรื่องไม่เป็นเรื่อง เหมือนอย่างที่เธอกำลังพูดเรื่องคนอื่นอยู่ขณะนี้

        ดังนั้นนักปฏิบัติที่ดีจะต้องไม่มองออกนอกตัว ไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น ใครจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา หน้าที่ของนักปฏิบัติคือ ใช้สติตามดู ตามรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่เกิดขึ้นในตัวเอง อย่ามองออกนอกตัว จำไว้”

        “หลวงพ่อครับ การใช้สติตามดูกายกับเวทนานั้น ผมพอจะเข้าใจ แต่ตามดูจิตนี่ผมยังไม่เข้าใจครับ หลวงพ่อกรุณาอธิบายได้ไหมครับ”

        “ก็กำลังจะอธิบายอยู่นี่ไง เอาละ ฟังให้ดี จิตตานุปัสสนานั้น ถ้าว่ากันโดยหลักก็คือ การใช้สติตามดุจิตของตน ตามรู้จิตของตน รู้ชัดว่าจิตของตนในขณะนั้น ๆ เป็นอย่างไร เช่น มีราคะ โทสะ โมหะ หรือไม่ ฟุ้งซ่าน หรือเป็นสมาธิ หลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น เป็นต้น

        ขณะที่เธอเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิแล้วจิตคิดไปในเรื่องต่าง ๆ เธอก็ต้องรู้ในขณะนั้นว่า จิตกำลังฟุ้งซ่าน ก็พยายามทำให้มันเป็นสมาธิ ด้วยการเอาสติมาจดจ่ออยู่กับอิริยาบถ จะเป็นขวาย่าง ซ้ายย่าง หรือ พอง – ยุบ ก็แล้วแต่เธอกำลังเดินหรือนั่ง พูดง่าย ๆ ก็คือ ให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลาทุกขณะจิต อย่าลืม

        พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น เมื่อย่อลงแล้วเหลือเพียงข้อเดียวคือสติ ปัจฉิมโอวาทที่ประท่านแก่พระอานนท์และภิกษุห้าร้อยรูป ตอนใกล้จะปรินิพพานก็ทรงเน้นเรื่องสติ รู้ไหมปัจฉิมโอวาทนั้นว่าอย่างไร” ท่านถามพระบวชใหม่ทั้งที่รู้ว่าฝ่ายนั้นไม่รู้

        “ไม่ทราบครับ หลวงพ่อก็ทราบว่าผมไม่ทราบ แล้วยังจะแกล้งถามให้ผมอับอายขายหน้า” พระใหม่ตัดพ้อ

        “อ้าว ก็เปิดโอกาสให้เธอได้พูดบ้างยังไงล่ะ เดี๋ยวจะมาหาว่าฉันตีตั๋วพูดอยู่คนเดียว”

        “นิมนต์หลวงพ่อพูดเถอะครับ ผมขอตีตั๋วฟังอย่างเดียว”

        “เอาละ ถ้าอย่างนั้นก็ฟังต่อ ปัจฉิมโอวาทที่พระพุทธองค์ทรงประทานแก่บรรดาภิกษุมีใจความว่า.........ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราผู้ตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด....

        นี่แหละเป็นพระวาจาสุดท้ายของพระพุทธองค์ เพราะหลังจากตรัสเช่นนี้แล้วมิได้ตรัสอะไรอีก ทีนี้เธอเห็นหรือยังว่า คำสอนทั้งปวงที่ได้ประทานตลอด ๔๕ พรรษานั้นมาจบลงที่สติตัวเดียวนี้”

        “ไม่เห็นมีคำว่าสติเลยนี่ครับหลวงพ่อ” คนจำเก่งแต่คิดไม่เก่งท้วงขึ้น

        “อ้าว ก็ที่ทรงเตือนให้ไม่ประมาทนั้นไม่ใช่สติหรอกหรือ ไม่ประมาทก็คือให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกลมหายใจนั่นเอง ในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระชนมชีพอยู่นั้น ทรงให้ภิกษุตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่มาเดินจงกรม นั่งสมาธิ และกำหนดรู้อิริยาบถ ซึ่งก็คือการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อันถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ไหนเธอลองบอกมาซิว่า หน้าที่ของนักบวชในพุทธศาสนามีอะไรบ้าง”

        “แห่ะ แห่ะ ไม่ทราบครับ ก็หลวงพ่อยังไม่เคยสอน ท่านมหาก็สอนแต่กิจวัตรสิบอย่างตอนก่อนจะบวช มีหนึ่ง ลงอุโบสถ สอง บิณฑบาตเลี้ยงชีพ สาม สวดมนต์ไหว้พระ สี่ กวาดอาวาสวิหาร ลานพระเจดีย์ ห้า รักษาผ้าครอง หก อยู่ปริวาสกรรม เจ็ด โกนผม ปลงหนวด ตัดเล็บ แปด ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์ เก้า เทศนาบัติ สิบ พิจารณาปัจเวกขณ์ทั้ง ๔ เป็นต้น ไม่ทราบว่าจะเป็นอันเดียวกับที่หลวงพ่อถามหรือเปล่า

        “ที่เธอว่ามานั้นเป็นรายละเอียด แต่หน้าที่หลักของบรรพชิตที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มีเพียงสามข้อ คือศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และสั่งสอนธรรม อันนี้เป็นหน้าที่หลัก ศึกษาธรรม ก็คือต้องเรียนรู้วิธีปฏิบัติ เช่น วิธีเจริญสติปัฏฐาน ๔ เมื่อรู้แล้วต้องลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่รู้เฉย ๆ เหมือนอย่างพวกนักปรัชญา เมื่อปฏิบัติได้แล้วก็ต้องสั่งสอนคนอื่นได้”

        “เหมือนกับที่หลวงพ่อปฏิบัติอยู่ใช่ไหมครับ”

        “ใช่ ฉันเป็นลูกพระพุทธเจ้า ก็ต้องปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงสอน ถึงเธอก็เช่นเดียวกัน กล่าวกันว่า ในสมัยพุทธกาล มีเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งชื่อ กุรุ ชาวเมืองกุรุนิยมเจริญสติปัฏฐาน ๔ กันมาก ถึงขนาดเอามาเป็นคำทักทายปราศรัยกันในชีวิตประจำวัน

        เช่นเวลาเขาเดินไปพบคนรู้จัก แทนที่จะถามว่า “สวัสดี ไปไหนมาจ๊ะ ทานข้าวหรือยัง” อะไรทำนองนี้ เขากลับทักทายกันว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วหรือยัง” ถ้าเขาตอบว่า “ฉันเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่จ้ะ” เขาก็จะยกมือขึ้นสาธุ สาธุ แปลว่า ดีแล้ว ดีแล้ว แต่ถ้าคนตอบ บอกว่า “ยังเลยจ้ะ” คนถามก็จะพูดว่า “อัปเปหิ อัปเปหิ” แปลว่า จงหลีกไป จงหลีกไป” แล้วเขาก็จะรีบเดินหนีเหมือนดั่งว่า พบสิ่งอัปมงคล

        เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องรีบปฏิบัติ จะได้เป็นมงคลทั้งกับตัวเองและผู้อื่น เมื่อชาวเมืองกุรุพากันเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นนิจศีล ก็ทำให้เมืองเล็ก ๆ นั้นเจริญรุ่งเรือง ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์

        ครั้นพระพุทธองค์ทรงทราบ จึงเสด็จไปที่เมืองนั้น และทรงทำนายว่าต่อไปในกาลข้างหน้า เมืองกุรุจะกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งก็เป็นจริงตามพุทธทำนาย เพราะเมืองกุรุในปัจจุบันก็คือ เมืองนิวเดลีซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอินเดีย

        ทีนี้เธอเห็นหรือยังล่ะว่า การเจริญสติปัฏฐาน ๔ มีประโยชน์ มีอานิสงส์มากมายเพียงใด”

        “เห็นแล้วครับ และผมตั้งใจว่าจะพากเพียรให้ถึงที่สุด”

        “ดีแล้ว เดี๋ยวกลับไปเดินจงกรมชั่วโมงครึ่ง เอาระยะละครึ่งชั่วโมง แล้วนั่งสมาธิอีกชั่วโมงครึ่ง เวลานอนก็อย่าลืมกำหนด พอง – ยุบ ไปจนกว่าจะหลับ พยายามจับให้ได้ว่า หลับไปตอนยุบหรือตอนพอง จับได้หรือยังล่ะ”

        “ยังครับ”

        “เอาละ ยังไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คืนนี้พยายามใหม่ ได้เมื่อไหร่ให้มาบอกทันที เข้าใจไหม”

        “ครับ แล้วตอนสองทุ่มผมก็ไม่ต้องมาสอบอารมณ์ใช่ไหมครับ เพราะนี่ก็ทุ่มกว่าแล้ว”

        “ไม่ต้อง กลับไปอาบน้ำอาบท่า แล้วลงมือปฏิบัติไปจนกว่าจะถึงเวลานอน พรุ่งนี้ก็ตื่นตี ๔ มันจะง่วงเหงาหาวนอนก็ต้องฝืนใจ การทำความดีต้องฝืนใจจึงจะสำเร็จ เอาละ กลับไปได้แล้ว คืนนี้ฉันจะสอนครูสามคนให้เดินจงกรมระยะที่ ๔ เหลือเวลาพรุ่งนี้อีกวันเดียว เขาก็จะกลับกันแล้ว”

        “พรุ่งนี้หลวงพ่อจะให้เขาต่อระยะที่ ๕ กับ ๖ เลยไหมครับ”

        “ก็คิดว่ายังงั้น แต่ก็ต้องดูกำลังเขาก่อนว่าจะรับได้ไหม คนเป็นครูใหญ่คงได้ แต่อีกสองคนไม่ค่อยแน่ใจ สำหรับเธอวันละหนึ่งระยะดีแล้ว ค่อยเป็นค่อยไป เพราะเธอต้องอยู่ที่นี่อีกนาน”

        ท่านอธิบายเพื่อไม่ให้คนเป็นพระน้อยใจว่าท่านให้ความสำคัญกับคนเป็นฆราวาสมากกว่า

        “ถ้าเช่นนั้น ผมกราบลาละครับ เดี๋ยวต้องกลับไปสรงน้ำแล้วสวดมนต์ ทำวัตรเย็น จากนั้นจึงจะลงมือปฏิบัติ”

        “ไปเถอะ ขอให้พากเพียรให้ดี บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ก็ด้วยความเพียร นี่แหละ จำเอาไว้”

        พระบัวเฮียวกลับไปแล้ว ท่านพระครูจึงได้สรงน้ำชำระร่างกาย เหลือเวลาอีก ๒๐ นาทีจะสองทุ่ม ท่านจึงเขียนหนังสือคู่มือสอบอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งเขียนมาได้ปีเศษแล้ว และคงต้องใช้เวลาเขียนอีกหลายปีกว่าจะเขียนเสร็จ

        วันใดที่ภารกิจรัดตัวมาก อย่าว่าแต่จะเจียดเวลามาเขียนหนังสือเลย แม้เวลาจะจำวัดก็ยังไม่มี ยิ่งเรื่องขบฉันด้วยแล้ว ท่านให้ความสนใจน้อยที่สุด

        ด้วยเหตุนี้ สุขภาพของท่านจึงไม่อยู่ในข่ายที่เรียกว่าสมบูรณ์แข็งแรงเท่าใดนัก แม้จิตของท่านจะปลอดโปร่ง ไม่หิว ไม่ง่วง และไม่รู้สึกกระวนกระวาย แต่สังขารร่างกายของท่านก็ยังอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ ซึ่งย่อมจะต้องทรุดโทรมและร่วงโรยไปเร็วกว่าร่างกายที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีและสม่ำเสมอ

        เวลาสองทุ่มตรง คณะของครูสฤษดิ์ก็มาถึง ท่านพระครูสอบอารมณ์ให้ทีละคน แล้วจึงสอนการเดินจงกรมระยะที่สี่ซึ่งมี “สี่หนอ” โดยเพิ่ม “ยกส้น – หนอ”  ลงไปอีกหนึ่ง นอกนั้นเหมือนกับระยะที่สามทุกประการ การเดินจงกรมระยะที่สี่ จึงบริกรรมว่า “ยกส้น – หนอ ยก – หนอ ย่าง – หนอ เหยียบ – หนอ” เดินเป็นกันแล้ว ท่านจึงให้กลับไปปฏิบัติต่อยังศาลาที่พัก คนทั้งสามลุกออกไปเมื่อเวลาสามทุ่มครึ่ง

        ท่านพระครูกำลังจะขึ้นไปเขียนหนังสือต่อ ก็พอดีลูกศิษย์วัดมาเรียนว่า มีแขกมาขอพบ เมื่อท่านอนุญาต ชายหญิงคู่หนึ่งจึงเดินเข่าเข้ามาหาในมือประคองพานคนละใบ มีผ้าไตรเนื้อดีหนึ่งสำรับวางอยู่ในพานของผู้ชาย ส่วนของผู้หญิงเป็นดอกไม้ธูปเทียน เมื่อเดินเข่าเข้ามาใกล้ในระยะหัตถบาส จึงวางพานไว้ทางขวามือของตน แล้วกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง

        “เจริญพร โยมมายังไงกันค่ำ ๆ มืด ๆ” ท่านเจ้าอาวาสทัก

        “กระผมขับรถมาเองครับ จะพาภรรยามาขอขึ้นกรรมฐานจากหลวงพ่อครับ” ชายผู้เป็นสามีตอบ

        “อ้อ...แล้วจะอยู่กี่วันล่ะ”

        “ไม่อยู่ครับ จะให้เขากลับไปปฏิบัติที่บ้าน ผมสอนเดินจงกรม นั่งสมาธิให้เขาบ้างแล้ว มีปัญหาอะไรค่อยมากราบเรียนถามหลวงพ่อ” สามีเป็นคนตอบเช่นเคย

        ท่านพระครูจำได้ว่าชายผู้นี้ได้มาเข้ากรรมฐานที่วัดนี้เป็นเวลาเจ็ดวัน เมื่อปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ไป ๆ มา ๆ อยู่เสมอ

        “ถ้ายังงั้นก็ตามใจ แต่ถ้ามีโอกาสก็น่าจะมาอยู่สักเจ็ดวัน อยู่บ้านมันรักษาอารมณ์ได้ไม่ค่อยต่อเนื่อง เดี๋ยวเรื่องโน้นเรื่องนี้มากระทบ”

        “ค่ะ ดิฉันก็ว่าจะหาโอกาสมาให้ได้ รอให้ลูกคนเล็กโตอีกสักหน่อย ตอนนี้เพิ่งจะได้สามขวบกับสี่เดือน” ภรรยาพูดบ้าง

        “จะเอายังงั้นก็ได้ แต่บางคนลูกยังเล็กอยู่เขาก็มา ลูกศิษย์อาตมาคนหนึ่งเป็นอาจารย์อยู่กรุงเทพฯ เขามาเข้ากรรมฐานครั้งแรกเมื่อลูกชายอายุได้สี่เดือน มาอยู่ตั้งเจ็ดวัน แล้วก็มาบ่อย ๆ ใจเด็ดดีเหลือเกิน เขาบอกอาตมาว่า “หลวงพ่อคะ หนูไม่ยอมให้ลูกเต้ามาเป็นเกาะแก่งกันกลางทางกุศลเหมือนคนอื่น ๆ เขาหรอกค่ะ” อาตมาฟังแล้วก็นึกว่า เออเข้าใจคิด เข้าใจพูด”

        “อาจารย์ตัวที่เล็ก ๆ หน้าคม ๆ สวย ๆ ใช่ไหมครับ ผมเคยเห็นมาที่นี่บ่อย ดูเหมือนอายุจะราว ๆ ยี่สิบ ไม่น่าเชื่อว่ามีลูกแล้ว”

        “นั่นแหละ อายุสามสิบกว่าแล้วแต่ดูหน้าเด็ก ระวังนะ ชมคนอื่นว่าสวยต่อหน้าแม่บ้าน กลับไปเนื้อเขียว อาตมาไม่รู้นะ”

        “ดิฉันชินแล้วค่ะหลวงพ่อ ลูกคนอื่น เมียคนอื่นเขาชมว่าดีว่าสวยไปหมด ทีลูกตัวเมียตัว ไม่มีอะไรดีสักอย่าง ถึงดีก็ว่าไม่ดี” ฝ่ายภรรยาตั้งท่า “เปิดศึก” ท่านพระครูเห็นท่าไม่ดีจึงพูดจาไกล่เกลี่ยว่า

        “ผู้ชายก็อย่างนี้ทุกคนแหละโยม ไปถือสาให้เสียอารมณ์ทำไมเล่า ว่าแต่ว่าที่โยมจะกลับไปทำกรรมฐานที่บ้านน่ะ อาตมาขออนุโมทนาด้วย ทำได้วันละนิดละหน่อยก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำ นึกว่าสะสมหน่วยกิตเอาไว้ ท่านใช้คำพูดทันสมัย

        เสร็จจากพิธีขอกรรมฐาน สองสามีภรรยาจึงช่วยกันประเคนผ้าไตรถวายแด่ท่านพระครู แล้วจึงบอกลา

        “เดี๋ยวก่อนอย่างเพิ่งกลับ ประเดี๋ยวจะให้ดูของดี โน่นมากกันโน่นแล้ว”

        ท่านบุ้ยใบ้ไปที่ชายหญิงกลุ่มใหญ่ซึ่งพากันเดินตรงมาที่กุฏิของท่าน คนเดินหน้าถือถาดทองขนาดใหญ่มาด้วยใบหนึ่ง เมื่อมาถึง ยังไม่ทันได้ทำความเคารพเจ้าของกุฏิ พวกเขาก็พากันถอดเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ แหวน นาฬิกาข้อมือ สร้อยข้อมือ ออกใส่ถาดจนเต็มแล้วจึงช่วยกันยกไปวางต่อหน้าท่านพระครู

        สามีภรรยาผู้มาก่อนแอบนึกในใจว่า “โธ่เอ๋ย เราเอาแค่ผ้าไตรสำรับเดียวมาถวาย แต่คนกลุ่มนี้ช่างใจบุญ ใจกุศลกว่าเราหลายเท่านัก ขนาดของมีค่าในตัวก็พากันถอดมาถวายจนหมด ใจบุญแท้ ๆ”

        แล้วพวกเขาเหล่าก็พากันคะยั้นคะยอว่า “หลวงพ่อเสกหน่อย ช่วยเสกให้หน่อยจะได้ขลัง” ท่านพระครูจึงทำทีเป็นนั่งหลับตาทำปากขมุบขมิบแล้วเป่าพรวด ๆ ลงไปสามครั้งจึงลืมตา พูดว่า

        “เอ้าเสกแล้ว เสกให้แล้ว พอท่านพูดจบ คนเหล่านั้นก็กรูกันเข้ามาที่ถาด หยิบคนละหมุบคนละหมับเอาของของตัวคืน แล้วจึงพากันลากลับ ไม่ลืมเอาถาดทองใบใหญ่กลับไปด้วย เพราะเดี๋ยวนี้จะต้องไปให้หลวงพ่อวัดโน้นเสกอีก

        ท่านพระครูส่ายหน้าแล้วพูดกับสองสามีภรรยาว่า “พวกนี้เขาอีกระดับหนึ่ง ชวนให้มาเข้ากรรมฐาน เขาไม่เอา ชอบให้เสกให้เป่าตะพรึด ของจริงไม่ชอบ ชอบของปลอม” ท่านพูดยิ้ม ๆ

        “หลวงพ่อไม่อธิบายให้เขาฟัง หรือครับ” ชายผู้สามีถาม

        โธ่โยม ต่อให้อธิบายจนขาดใจเขาก็ไม่ฟัง เขารับได้แค่นั้น ก็ต้องแล้วแต่กรรมของแต่ละคน พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสสอนไว้ว่า “กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ทราบและให้ประณีต....ถ้าคนเราเข้าใจอะไร ๆ ได้เหมือนกันหมด โลกมันก็ไม่ยุ่งซี โยมเคยได้ยินชื่อหลวงพ่อเต๋ไหมเล่า”

“เคยครับ ได้ยินกิตติศัพท์ว่าท่านเก่งทางเสกเป่า”

“นั่นแหละ เสกจนตายคาที่เลย ขนาดท่านนอนพะงาบ ๆ จวนจะมรณภาพอยู่แล้ว พวกลูกศิษย์ยังเอาตุ๊กตามาให้เสกทีละหลายร้อยตัว ท่านก็ต้องเป่าต้องเสก เป่าจนลมไม่มี พวกลูกศิษย์ก็ว่าหลวงพ่ออดทนเอาหน่อย อดทนเอาหน่อย จวนเสร็จแล้ว ท่านก็ตามใจ เป่าให้จนลมหายใจสุดท้าย อาตมาเห็นแล้วสงสารท่าน แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะพวกลูกศิษย์เขาจะกันเอาอย่างนั้น พอพวกเขารู้ว่าท่านสิ้นลมกลับพากันบ่นเสียอีกว่า “แหมหลวงพ่อ ให้ช่วยแค่นี้ก็ต้องตายด้วย”

“หลวงพ่อครับ แล้วที่ว่าเสกเป่าแล้วจะทำให้ศักดิ์สิทธิ์หรือขลังจริงไหมครับ”

“มันจะไปขงไปขลังอะไรเล่า ก็เชื่อกันไปผิด ๆ หลวงพ่อเต๋เองท่านก็รู้ แต่ท่านบอกว่าห้ามเขาไม่ได้ อธิบายเขาก็ไม่ยอมฟัง ก็เหมือนกันที่อาตมาไม่สามารถอธิบายให้คนกลุ่มเมื่อกี้เข้าใจได้นั้นแหละ ถ้าจะเปรียบกับบัวสี่เหล่า ก็คงได้แก่พวกปทปรมะ สอนยังไงก็รับไม่ได้เพราะสติปัญญามีแค่นั้น แค่รับของปลอม”

“พวกบัวที่ติดโคลนตม ไม่มีโอกาสโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงอาทิตย์ได้ใช่ไหมครับ”

“นั่นแหละ พวกนั้นแหละ ผลสุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อของพวกเต่าพวกปลาไป โยมจำไว้เป็นตัวอย่างก็แล้วกัน

“ครับ เมื่อก่อนผมก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ต่อเมื่อมาพบหลวงพ่อถึงได้ตาสว่างขึ้น เพราะบารมีของหลวงพ่อแท้ ๆ เชียว”

        “ไม่ใช่บารมีของอาตมาหรอก บารมีของโยมเองนั่นแหละ ไม่งั้นคนกลุ่มเมื่อกี้เขาก็เหมือนโยมแล้วซี เรื่องอย่างนี้ต้องทำเองสร้างเองนะโยม”

        “ครับ เอ้อ...หลวงพ่อครับ กระผมกับภรรยารบกวนเวลาของหลวงพ่อมานาน เห็นจะต้องลากลับเสียที หลวงพ่อจะได้พักผ่อน”

        “จะกลับแล้วหรือ เอาละ ขอให้เจริญสุขนะโยมนะ หมั่นพากันเจริญกรรมฐานทุกวัน ไม่มีอะไรจะช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง แล้วว่าง ๆ อย่าลืมมาเข้ากรรมฐานสักเจ็ดวันนะโยมนะ” ท่านหันไปพูดกับคนเป็นภรรยา

        “ค่ะ” ฝ่ายนั้นตอบ แล้วสองสามีภรรยาจึงพากันลากลับ เมื่อเวลาเกือบสองยาม

 

มีต่อ........๙
 

 

 

 

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00009
 

๙...

               เสียงระฆังตอนตีสี่เงียบหายไปนานแล้ว แต่เสียงเห่าหอนของสุนัขยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่าย ๆ เพราะเมื่อตัวหนึ่งหยุด อีกตัวก็ตั้งต้นหอนใหม่ ผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่อย่างนี้เป็นเวลาเกือบชั่วโมงแล้ว

         ครูใหญ่กำลังเดินจงกรมระยะที่หกอยู่ รู้สึกรำคาญขึ้นมาตะหงิด ๆ เพราะแม้จะกำหนด “เสียงหนอ” ครั้งแล้วครั้งเล่า พวกมันก็ยังไม่ยอมหยุดเห่าหอน เหตุนี้กระมังที่เขาเปรียบเทียบคนพูดพร่ำไม่รู้จักกาลเทศะว่า “พวกปากหมา” แต่ก็แปลกตรงที่ว่าวันนี้ เสียงของพวกมันช่างโหยหวนชวนให้ขนลุกขนพองกว่าทุกวัน

         “หรือจะเป็นเพราะพวกมันรู้ว่าวันนี้เป็นวันพระ ถึงได้หอนนานกว่าปกติ” เขาคิด

         เดินจงกรมได้หนึ่งชั่วโมงเต็ม ๆ จึงกำหนดนั่ง หากยังไม่ทันได้นั่งก็เห็นพระรูปหนึ่งเดินขึ้นศาลาตรงมา แสงจากดวงไฟสี่สิบแรงเทียนแม้จะไม่สว่างไสวเท่าไฟนีออน แต่ก็ทำให้เห็นชัดว่า ภิกษุรูปนั้นอายุอยู่ในราวเจ็ดสิบเศษ ร่างการทรุดโทรมซูบผอม จีวรดูเก่าสกปรก แถมยังขาดกะรุ่งกะริ่ง เหมือนเอาผ้าขี้ริ้วมาห่อหุ้มร่างเอาไว้

         ภิกษุชราเดินตัวแข็งทื่อตรงมา ดวงตาจับจ้องอยู่ที่ใบหน้าของครูใหญ่ ครั้นใกล้เข้ามาในระยะสักสามเมตร จึงได้รู้ว่าท่านมิได้เดิน หากลอยมาในลักษณะเท้าเรี่ย ๆ กับพื้น สติบอกทันทีว่า สิ่งที่เห็นข้างหน้านั้นมาจากต่างภพภูมิ
               หันไปดูครูน้อยสองคน เห็นจะเริ่มเดินจงกรม เพราะมัวอิด ๆ ออด ๆ กว่าจะตื่นกันได้ก็เกือบ ๆ ตีห้าเข้าไปแล้ว มิหนำซ้ำ ยังเสียเวลาไปกับการล้างหน้าแปรงฟันอีกหลายนาที

         มีคนตื่นอยู่ถึงสองคนเช่นนี้ความกลัวก็ลดน้อยลง แต่เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เห็นไม่ใช่ภาพลวงตา จึงกำหนด “เห็นหนอ” สามครั้ง กำหนดแล้ว ภาพนั้นก็ยังไม่หายไป ครูวัยกลางคนจึงรวบรวมสติแล้วถามออกไปว่า

         “ท่านเป็นใคร ขึ้นมาทำอะไรที่นี่”

         “อาตมาเป็นพระอยู่วัดนี้ เขาเรียกอาตมาว่าหลวงตาเฟื่อง” เสียงนั้นแหลมเล็ก ผิดแผกไปจากเสียงมนุษย์ธรรมดาสามัญ

         “แล้วทำไมหลวงตาไม่ไปลงโบสถ์กับเขาล่ะครับ”

         “อาตมาไม่ต้องลงโบสถ์ อย่าตกใจ อาตมาไม่ได้มาร้าย คือว่า อาตมาตายไปเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ไปไหน” ฟังแล้วขนลุกซู่ เมื่อภิกษุชราบอกว่าตายแล้ว แต่เมื่อท่านบอกว่าไม่ได้มาร้าย จึงกลั้นใจถามออกไปว่า “แล้วท่านขึ้นมาบนนี้ มีจุดประสงค์อะไรหรือครับ”

         “มีสิ อาตมาจะมาขอส่วนบุญจากโยม อาตมาลำบากเหลือเกิน ต้องอด ๆ อยาก ๆ หนาวก็หนาว โยมช่วยบอกท่านพระครูด้วยว่า อาตมาขอผ้าไตรสักหนึ่งสำรับ แล้วเวลาโยมปฏิบัติกรรมฐาน ช่วยแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้หลวงตาเฟื่อง วัดป่ามะม่วงด้วย อาตมาจะได้ไปเกิดเสียที วนเวียนอยู่ที่นี่มาสิบปีแล้ว เพราะยังใช้กรรมไม่หมด”

         “เมื่อตอนท่านบวช ไม่ได้เจริญกรรมฐานหรือครับ จึงได้มีสภาพอย่างนี้”

            “เปล่า อาตมาหัวดื้อ ท่านพระครูบอกอาตมาก็ไม่เชื่อ เพราะเป็นคนทิฐิสูง เห็นว่าท่านพระครูเด็กกว่า ไหนเลยจะมาสอนอาตมาได้ ก็เพราะไม่เชื่อท่านนี่แหละ ถึงต้องมาเป็นเปรตอย่างที่โยมเห็นอยู่นี่”

         “เปรตหรือครับ ทำไมรูปร่างไม่เหมือนกับที่แม่เล่าให้ฟังสมัยผมเด็ก ๆ คือแม่บอกว่า เปรตตัวนั้นสูงเท่าต้นตาล ปากเท่ารูเข็ม มือเท่าใบลาน แสดงว่าแม่หลอกผมใช่ไหมครับ”

         “ไม่ได้หลอกหรอกโยม เปรตมีหลายประเภท อย่างอาตมานี่ เป็นประเภทปรหัตตุปชีวิกเปรต คือ เปรตที่มีการเลี้ยงชีวิตอยู่ โดยอาศัยบุญที่ผู้อื่นอุทิศให้ อาตมาถึงต้องมาขอส่วนบุญจากโยม โปรดเมตตาด้วยเถิด” เสียงนั้นทั้งขอร้องและวิงวอน

         “ถ้าอย่างนั้นผมจะแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้ทุกครั้งที่ทำกรรมฐาน ชื่อหลวงตาเฟื่องนะครับ”

         “ถูกต้อง อาตมาต้องขอขอบใจโยมเป็นอย่างมาก ขอให้โยมจงตั้งอกตั้งใจปฏิบัติต่อไป ทางนี้เป็นทางที่ประเสริฐที่สุดแล้ว อาตมายังนึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาที่มัวหลงประมาทมัวเมาในชีวิต จึงต้องมาตกระกำลำบากอย่างนี้ กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว จงอย่างได้เอาเยี่ยงอย่างอาตมาเลย นี่ถ้าได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง อาตมาจะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปจนตลอดชีวิตทีเดียว จะไม่ประมาทมัวเมาอีกแล้ว เข็ดแล้ว อาตมาลานะโยม”

         ร่างนั้นค่อย ๆ ลอยห่างออกมาแล้วจึงหายวับไปกับความสลัวของรุ่งอรุณ บัดดลนั้น บรรดาสุนัขที่ส่งเสียงเห่าหอนมาตั้งแต่ตีสี่ ต่างพากันเงียบเสียงลงราวกับนัด

         “ครูใหญ่ไม่สบายหรือเปล่าครับ ถึงได้ยืนพูดอยู่คนเดียวอย่างนั้น” ครูบุญมีเดินเข้ามาถามด้วยความสงสัย

         “ผมกำลังคุยกับหลวงตาเฟื่อง คุณไม่เห็นหรอกหรือ พระแก่ ๆ ที่เดินขึ้นมาเมื่อครู่นี้เอง”

         “ผมไม่เห็นใครสักคน ไม่เชื่อถามครูอรุณดูได้”

         “จริงครับ ครูใหญ่ยืนพูดงึมงำอยู่คนเดียว ฟังไม่ได้ศัพท์ว่าพูดอะไรบ้าง ไม่สบายหรือเปล่าครับนี่” ครูน้อยอีกคนถามอย่างเป็นห่วง

         “ปละ....เปล่า ผมไม่ได้เป็นอะไร ประเดี๋ยวผมจะไปพบหลวงพ่อสักหน่อย คุณสองคนไปเป็นเพื่อนผมหน่อยซี” ครูบุญมีดูนาฬิกาข้อมือแล้วท้วงว่า “เพิ่งจะตีห้าครึ่ง อีกตั้งครึ่งชั่วโมงท่านจึงจะออกจากโบสถ์ เราปฏิบัติกันไปพลาง ๆ ก่อนดีกว่า”

         “คุณสองคนไม่รำคาญเสียงหมาหอนหรือ มันเพิ่งหยุดไปเดี๋ยวนี้เอง อะไรของมันนักหนา หอนอยู่ได้เป็นชั่วโมง” ครูใหญ่บ่น

         “ใครว่า มันหอนตอนพระตีระฆังเดี๋ยวเดียวเท่านั้น เอ...เช้านี้ครูใหญ่มีอะไรแปลก ๆ พิกล หรือว่ายังไม่อยากกลับบ้าน” ครูบุญมีเย้า ครูใหญ่จึงตัดสินใจไม่เล่าเรื่องประหลาดให้คนทั้งสองฟัง เพราะสองคนนี้จะต้องคิดว่าเขา “ไม่สบาย” สู้เก็บไว้ถามท่านพระครูจะดีกว่า

         “ว่าไง จะไปกุฏิท่านพระครูกับผมได้ไหม” ครูใหญ่ชวนอีก

         “ไปก็ไป ไปนั่งสมาธิรอท่านก็ได้” ครูอรุณพูด แล้วทั้งสามคนจึงพากันไปนั่งรออยู่ที่กุฏิท่านพระครู อากาศภายนอกค่อนข้างหนาวเย็น เพราะย่างเข้าฤดูหนาว แต่ในจิตใจของครูใหญ่กลับร้อนรุ่มดั่งไฟสุมขอน ทั้งร้อนใจและใจร้อนอยากพบท่านพระครูเป็นที่สุด

         เสร็จจากสังฆกรรมในโบสถ์แล้ว ท่านพระครูจึงเดินกลับกุฏิเพื่อเตรียมออกบิณฑบาตโปรดสัตว์เช่นเดียวกับภิกษุอื่น ๆ ในวัด ครั้นถึงกุฏิก็ต้องแปลกใจเมื่อเห็นครูสามคนนั่งรออยู่ ท่านคิดว่าเขามาลา จึงชวนให้อยู่รับประทานอาหารเช้าก่อน

         “พวกผมยังไม่กลับหรอกครับ แต่ผมมีปัญหาบางอย่างจะมาเรียนถามหลวงพ่อครับ ต้องขอประทานโทษที่มารบกวนแต่เช้า” ครูใหญ่ออกตัว

         “มีอะไรหรือ ท่าทางดูร้อนใจพิกล”

         “หลวงพ่อครับ ที่วัดนี้มีพระชื่อ หลวงตาเฟื่องหรือเปล่าครับ” ท่านพระครูนั่งนึกอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง จึงตอบว่า

         “มี แต่ตายไปนานแล้ว แกเป็นจ่าสิบตำรวจ เกษียณอายุแล้วมาบวชที่นี่ ครูใหญ่รู้จักแกหรือ”

         “ไม่รู้จักหรอกครับ แต่ท่านมาหาผมเมื่อกี้นี้ มาแนะนะตัวว่าชื่อหลวงตาเฟื่อง” แล้วครูใหญ่จึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านพระครูฟังอย่างละเอียด ฟังแล้ว ท่านเจ้าของกุฏิจึงพูดขึ้นว่า

         “น่าอายเหลือเกิน ตัวเป็นพระแต่มาขอส่วนบุญจากญาติโยม ครูเห็นหรือยังล่ะว่า พระก็ไปทุคติ ไปอบายได้ถ้าประมาท หลวงตาเฟื่องแกดื้อ อาตมาเตือนด้วยความหวังดี แกก็ไม่เชื่อ เกียจคร้านเอาแต่กินกับนอน นอกจากนี้ยังขโมยของวัดไปฝากลูกฝากหลานเป็นประจำ โน่นบ้านแกอยู่ใต้วัดไปโน่น

            อาตมาบอกว่ามันบาปนะหลวงตา แกก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ เสร็จแล้วเป็นยังไง ไปเกิดเป็นเปรตเลยเห็นไหม ครูใหญ่น่าจะถามแกดูว่าทำไมถึงใช้ให้ครูมาขอผ้าไตร ทำไมแกไม่มาขอเอง”

         “ผมก็คิดจะถามอยู่เหมือนกัน แต่ยังไงไม่ทราบ ลืมเสียได้ สงสัยจะกลัวมากไปหน่อย”

         “แกคงรู้ว่า เมื่อคืนมีคนเขาเอาผ้าไตรมาถวายอาตมาหนึ่งสำรับ เลยใช้ให้ครูใหญ่มาขอ ฉลาดดีนี่ ถ้าอย่างนั้น เดี๋ยวโยมกลับไปปฏิบัติต่อจนถึงเวลาอาหาร รับทานอาหารกันแล้วค่อยมาหาอาตมา อาตมาจะออกไปบิณฑบาตอยู่เหมือนกัน เรื่องนั้นค่อยว่ากันใหม่”

         แล้วท่านพระครูจึงออกบิณฑบาต โดยมีนายสมชายหิ้วปิ่นโตเดินตามหลัง ครูสามคนกลับมายังศาลา ไม่มีใครพูดถึงหลวงตาเฟื่องอีก ด้วยกลัวว่าแก่จะมาปรากฏตัว ฟ้ายังไม่ทันสาง เพราะดวงตะวันยังไม่ขึ้น พวกอมนุษย์จึงมีสิทธิที่จะมาป้วนเปี้ยนให้เห็นได้

         ท่านพระครูฉันเช้าเสร็จได้สักพัก ครูใหญ่หนึ่งคนก็นำครูน้อยสองคนเข้ามาหา แต่ละคนมีกระเป๋าเสื้อผ้ามาด้วย แสดงว่าเตรียมพร้อมที่จะกลับ

         “อยู่กันอีกซักคืนเถอะน่า” ท่านเจ้าอาวาสแกล้งเย้า

         “ไม่ไหวครับ” สามเสียงตอบขึ้นพร้อมกัน

         “อ้าว เผื่อจะได้เลขเด็ด หลวงตาเฟื่องแกให้หวยแม่นนา” คราวนี้ครูบุญมีกับครูอรุณทำท่าสนใจ ครูบุญมีพูดว่า

         “อยากได้น่ะอยากหรอกครับ แต่กลัวจะช็อคไปเสียก่อน”

         “หลวงพ่อครับ ตกลงว่าหลวงพ่อจะให้ผ้าไตรหลวงตาเฟื่องใช่ไหมครับ” ครูใหญ่ทวงถาม เพราะไม่แน่ใจว่า “ภาระ” ที่รับปากมานั้นเสร็จสิ้นหรือยัง

         “เออแน่ะ เกือบลืม เอาอย่างนี้ เดี๋ยวอาตมาจะฝากผ้าให้ครูใหญ่นำไปถวายพระ ต้องถวายพระกรรมฐานนะ อย่าไปถวายซี้ซั้ว” ท่านพูดภาษาจีนก็เป็นเหมือนกัน

         “ทำไมต้องถวายเฉพาะพระกรรมฐานเล่าครับหลวงพ่อ” ครูอรุณถาม

         “ก็ท่านจะได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้หลวงตาเฟื่องได้ ถ้าพระที่ไม่ปฏิบัติ จะอุทิศไปไม่ถึง พระบางรูปทองบทกรวดน้ำไม่เป็นด้วยซ้ำ อย่างหลวงตาเฟื่องนี่ท่องได้เสียที่ไหน ขนาดบวชมาตั้งสิบพรรษา เวลาเขานิมนต์ไปสวด ก็ทำปากขมุบขมิบไปยังงั้นเอง แต่อย่าพูดไปนะ พระแบบหลวงตาเฟื่องเดี๋ยวนี้มีเยอะ แล้วท่านก็หัวเราะ จากนั้นจึงหยิบผ้าไตรส่งให้ครูใหญ่

         “ถือไปยังงี้แหละ ไม่ต้องห่งต้องห่อหรอก เดี๋ยวก็ได้ถวายแล้ว” ท่านพูดเช่นนี้ด้วยรู้ว่าคนทั้งสามจะไปพบพระธุดงค์กลางทาง เพราะ “เห็นหนอ” บอกอย่างนั้น

         “เอาเถอะ แล้วอาตมาจะช่วยแผ่เมตตาให้แกอีกแรงหนึ่ง จะได้ไปเกิดเร็ว ๆ นี่ถ้าครูใหญ่ไม่บอก อาตมาก็ไม่รู้ว่าแกไปเกิดเป็นเปรต ลืมไปเลย”

         “หลวงพ่อได้ “เห็นหนอ” แต่ทำไมไม่รู้เล่าครับ” ครูอรุณสงสัย

         “อ้อ...นี่แสดงว่าครูยังเข้าใจ “เห็นหนอ” ไม่ถ่องแท้ ดีแล้วที่พูดขึ้น อาตมาจะได้ถือโอกาสอธิบายเสียเลย จริงอยู่ แม้อาตมาจะได้ “เห็นหนอ” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะได้ตลอดเวลาเมื่อไหร่กัน แหม ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ยุ่งเลยน่ะซี วัน ๆ ไม่เป็นอันทำอะไรแล้ว เพราะเที่ยวไปเห็นคนโน้นคนนี้วุ่นวายไปหมด

         โปรดจำไว้ว่าเราจะ “เห็นหนอ” ก็ต่อเมื่อเราตั้งสติกำหนดจิตเท่านั้น อย่างที่อาตมากำลังคุยกับโยมอยู่นี่ อาตมาก็เห็นโยมเป็นโยมเหมือน ๆ กับที่คนอื่น ๆ เห็น แต่ถ้าอาตมาอยากรู้ว่าโยมกำลังคิดอะไรอยู่ อาตมาก็จะตั้งสติกำหนดจิต แล้ว “เห็นหนอ” จึงจะเกิด นี่มันเป็นยังงั้น พอจะเข้าใจหรือยังเล่า”

            “ครับ เข้าใจแล้วครับ หลวงพ่อครับ แล้วคนที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ มีโอกาสได้ “เห็นหนอ” ทุกคนไหมครับ” ครูบุญมีสงสัย

         “ไม่ทุกคน ก็คนที่จบปริญญาตรีได้เกียรตินิยมทุกคนหรือเปล่าเล่า”

         “ได้เป็นบางคนครับ” ครูอรุณตอบ

         “เหมือนกันนั่นแหละ คนที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ บางคนก็ไม่ได้ “เห็นหนอ” เพราะมันไม่ใช่จุดหมายของการปฏิบัติ เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น อาตมาจะยกตัวอย่างในสมัยพุทธกาลเรื่อง พระอุบลวัณณาเถรี  คนนี้เป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์มาก

         ในบรรดาพระเถระผู้มีฤทธิ์ ต้องยกให้พระโมคคัลลานะ แต่ถ้าพระเถรี ต้องยกให้พระอุบลวัณณา แต่ถึงแม้จะมีฤทธิ์ ก็ยังถูก นันทมาณพ ข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของกรรมเก่าครั้งอดีตชาติที่ท่านประพฤติผิดศีลข้อสาม คนก็พากันสงสัยว่า ทำไมทั้ง ๆ ที่มีฤทธิ์ยังถูกข่มขืนได้ นี่ก็เหมือนกัน คือเมื่อท่านยังไม่ตั้งสติกำหนดจิต ฤทธิ์มันก็ยังไม่เกิด

         ในคัมภีร์กล่าวว่า ตอนจะถูกข่มขืนนั้น ท่านไปข้างนอกมา ทั้งเหนื่อยทั้งร้อน กำลังจะนอนพัก นันทมาณพซึ่งซ่อนอยู่ใต้เตียงก็ถือโอกาสข่มขืนตอนนี้ เมื่อนันทมาณพข่มขืนเสร็จก็ถูกธรณีสูบ เพราะว่าทำร้ายพระอรหันต์ ถือว่ามีโทษหนัก บาปมาก เห็นไหมว่า ถ้าไม่ตั้งสติ กำหนดจิต ฤทธิ์ก็ไม่เกิด เหมือนอย่างที่อาตมาลืมหลวงตาเฟื่อง แล้วแกก็ไม่มาปรากฏให้เห็น ก็เลยไม่รู้กัน อ้อ...ยังเป็นเปรตอยู่หรือนี่”

         “ครับ ท่านบอกว่า เป็นปรทัตตุปชีวิกเปรต พวกเปรตนี่มีหลายประเภทหรือครับหลวงพ่อ”

         “เท่าที่อาตมาทราบ มีสี่ประเภท คือ ปรทัตตุปชิวิกเปรต คือ พวกที่มีชีวิตอยู่ด้วยการขอส่วนบุญจากผู้อื่น ชุปปิปาลิกเปรต คือ พวกที่ถูกเบียดเบียนด้วยการหิวข้าวหิวน้ำ นิชฌามตัฒหิกเปรต คือ พวกที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ และ กาลกัญจิกเปรต เป็นชื่อของอสุราที่เป็นเปรต ครูอยากจะเป็นเปรตประเภทไหนล่ะ” ท่านถามครูอรุณ

         “ไม่อยากเป็นสักประเภทเดียวครับ”

         “ทำกรรมอะไรจึงไปเกิดเป็นเปรตครับหลวงพ่อ” ครูบุญมีถาม

         “ก็ความโลภน่ะซี เขาเรียกว่า “จิตมีโลภะ” อย่างหลวงตาเฟื่องที่ขโมยของวัดไปให้ลูกกิน เพราะจิตยังมีโลภะ ยังห่วงลูก คนที่ตายขณะที่จิตมีโลภะ เช่นยังห่วงโน่นห่วงนี่ ไม่ว่าจะห่วงสมบัติหรือห่วงลูกหลาน ก็ถือว่ายังมีโลภะ ถ้าไม่ไปเกิดเป็นเปรต ก็ไปเกิดเป็นอสุรกาย

         ฉะนั้นโยมจงจำเอาไว้ เวลาตายต้องทำจิตให้ผ่องใส จะได้ไปสุคติภูมิ ถ้าตายขณะจิตมีกิเลส เช่นถ้ามีโทสะ จะไปเกิดเป็นสัตว์นรก ถ้ามีโลภะจะไปเกิดเป็นเปรตหรืออสุรกาย ถ้ามีโมหะก็จะไปเกิดเป็นเดรัจฉาน

         ดังนั้น ถ้ารู้ว่ากำลังจะตายก็อย่าไปห่วง อย่าไปโลภ โกรธ หลง จะได้ไม่ต้องไปอบายภูมิ อาตมาจะเล่าเรื่องจริงให้ฟังเรื่องหนึ่ง อยากฟังไหมเล่า”

         “อยากฟังครับ” คนทั้งสามตอบ

         “เอาละ อยากฟังก็จะเล่าให้ฟัง มีเจ้าคณะอำเภอรูปหนึ่ง อย่าให้อาตมาเอ่ยชื่อเลยนะ เพราะไหน ๆ ท่านก็มรณภาพไปแล้ว เจ้าคณะอำเภอรูปนี้ท่านสะสมผ้าไตรไว้เป็นร้อย ๆ สำรับ ใส่ตู้เรียงรายเต็มกุฏิไปหมดแล้วท่านก็หวงมาก ไม่ยอมแจกไตร เพราะตั้งใจว่า อายุครบ ๘๐ จะทำบุญใหญ่ แล้วค่อยแจกตอนนั้น

         แต่ปรากฏว่า พออายุ ๗๕ ปี ท่านก็มรณภาพแล้วไปเกิดเป็นเปรต เห็นไหม ประมาทนิดเดียว ไปเกิดเป็นเปรตเลย จะว่าท่านโลภก็ไม่เชิง เพราะท่านตั้งใจไว้ว่า อายุ ๘๐ ถึงจะแจก ทีนี้ท่านก็เลยตายขณะที่จิตมีโลภะ คือห่วงผ้าไตร

         “หลวงพ่อทราบได้อย่างไรครับ ว่าท่านไปเกิดเป็นเปรต” ครูใหญ่ถาม

         “ท่านมาบอกอาตมา มาแบบเดียวกับที่หลวงตาเฟื่องมาหาครูใหญ่นั้นแหละ แต่แย่กว่าหลวงตาเฟื่องตรงที่ไม่มีอะไรนุ่งห่ม มาแบบชีเปลือย ว่างั้นเถอะ มาถึงก็บอกอาตมาว่า

         “ท่านพระครู ผมหนาวเหลือเกินวันเผาศพ ช่วยเอาผ้าไตรแจกให้หมด แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ผมด้วย”

         อาตมาก็จัดการให้ คืนนั้นก็มาขอบใจ นุ่งห่มเรียบร้อย บอกว่าสบายแล้ว นี่เห็นหรือยัง ประมาทไม่ได้เลย เผลอไปนิดเดียวยังไปทุคติเสียได้

         นี่แหละ พระพุทธองค์ถึงได้ทรงเตือนนักว่า ไม่ให้ประมาท ทีนี้เห็นความสำคัญของสติหรือยังว่า การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลานั้น มีประโยชน์มาก เห็นด้วยไหมเล่า”

         “เห็นด้วยครับ” ครูสามคนตอบ แล้วครูใหญ่จึงพูดขึ้นว่า

         “หลวงพ่อครับ พวกผมเห็นจะต้องกราบลาและต้องขอกราบของพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูง ที่ได้เมตตาพวกผมให้ได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง ได้อาหารบำรุงร่างกาย แล้วยังได้ธรรมะบำรุงจิตใจอีกด้วย และในฐานะที่พวกผมเป็นครูบาอาจารย์ ก็จะนำความรู้นี้ ไปอบรมสั่งสอนแก่เยาวชนให้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบไปในอนาคต

         สุดท้ายนี้ พวกผมไม่มีอะไรจะตอบแทนพระคุณของหลวงพ่อ นอกจากจะขออนุญาตถวายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อสมทบทุนเป็นค่าอาหาร เลี้ยงพระ เณร และญาติโยมที่มาเข้ากรรมฐาน ได้ทราบมาว่า หลวงพ่อต้องรับภาระหนักในเรื่องนี้ พวกผมพอจะช่วยแบ่งเบาได้บ้างตามกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์” ครูใหญ่พูดค่อนข้างยาว แล้วจึงถวายเงินจำนวนหนึ่งซึ่งใส่ซองปิดผนึกอย่างเรียบร้อย

         “ขออนุโมทนา ขอให้ครูใหญ่และคณะจงเดินทางกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ แล้วขอให้หมั่นเจริญกรรมฐานกันทุกวัน ในสามคนนี้จะมีคนหนึ่งถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ อาตมาขอบิณฑบาต ขอให้เลิกเสีย เพราะมันเป็นการพนัน แต่ที่ซื้อไว้แล้วก็ไม่เป็นไร เอาเถอะ ที่จะถูกน่ะ ซื้อไว้แล้ว ไม่ต้องซื้อใหม่”

         บังเอิญคนทั้งสามต่างก็ซื้อไว้คนละฉบับ จึงพากันคิดว่าคนโชคดีที่ท่านพระครูพูดถึงนั้น คือตัวเขา คนเป็นครูใหญ่นั้นตั้งปณิธานไว้แล้วว่าจะเลิกอย่างเด็ดขาด ไม่ว่างวดนี้จะถูกหรือไม่ก็ตาม การได้มีโอกาสมาลิ้มรสพระธรรมในครั้งนี้ มีค่ากว่าการถูกรางวัลที่หนึ่งเป็นไหน ๆ

         เวลาตีสี่ของวันรุ่งขึ้น ท่านพระครูตื่นขึ้นปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลาสองชั่วโมงเช่นเคย และไม่ลืมที่จะแผ่เมตตาไปให้หลวงตาเฟื่องดังที่ได้ลั่นวาจาไว้กับครูใหญ่ เมื่อคืน ก่อนจำวัด ท่านก็ได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ภิกษุนั้นครั้งหนึ่งแล้ว ก็คงจะพอช่วยได้บ้าง แผ่เมตตาเสร็จ ท่านจึงกำหนดออกจากกรรมฐาน พอลืมตาขึ้น จึงเห็นหลวงตาเฟื่องนั่งพับเพียบพนมมือแต้อยู่ต่อหน้า

         “ผมมาขอบคุณท่านพระครูที่ได้ช่วยสงเคราะห์ ผมสบายแล้ว” ภิกษุชราบอกกล่าว

         “ท่านมาก็ดีแล้ว ผมอยากจะต่อว่าสักหน่อย” ท่านพระครูพูดขึ้น

         “ต่อว่ามาก ๆ ก็ได้ คราวนี้ผมยอมจำนนทุกอย่าง เข็ดแล้ว ถ้าผมเชื่อท่านพระครูเสียแต่แรกก็คงไม่ลำบากถึงปานนี้” ฝ่ายนั้นรำพึงรำพัน

         “เรื่องที่ผมอยากจะต่อว่าก็คือ ทำไมท่านไม่มาบอกผมตั้งแต่ทีแรก เพราะอย่างน้อยผมก็ช่วยท่านไม่ให้ต้องอด ๆ อยาก ๆ แล้วทำไมไม่มาบอกผมตรง ๆ ต้องไปผ่านทางครูใหญ่ ท่านไม่อายเขาหรือไง ที่เป็นพระ แต่ไปขอส่วนบุญจากฆราวาส มาขอจากพระด้วยกันก็ยังดี ท่านเห็นผมเป็นอะไร ถึงได้ข้ามหน้าข้ามตาไป” เจ้าของกุฏิต่อว่าต่อขานเป็นการใหญ่

         “ผมกลัวท่านพระครูจะไม่อภัยให้ก็เลยไม่กล้า อีกอย่าง ผมก็อยากจะรับกรรมที่ก่อขึ้นนั้นด้วยตนเอง ก็ท่านพระครูเคยสอนไว้ไม่ใช่หรือว่า รับกรรมแทนกันไม่ได้ ใครสร้างเหตุคนนั้นก็ต้องรับผล”

         “ถูกแล้ว แต่ผมหมายความว่า อย่างน้อยก็ยังช่วยให้ทุเลาเบาลางลงได้บ้าง”

         “แต่ตอนนี้ท่านก็ได้ช่วยผมแล้ว ผมเป็นหนี้บุญคุณท่านพระครูมากเหลือเกิน นี่ถ้าได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก ผมจะตั้งหน้าตั้งตาเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปจนตลอดชีวิต ผมรู้แล้วว่า การเวียนว่ายตายเกิดมันทุกข์อย่างไร ผมเห็นจะต้องลา ขอบพระคุณสำหรับผ้าไตรใหม่เอี่ยมที่ผมนุ่งห่มอยู่นี้”

         พูดจบ ภิกษุชราก้มลงกราบสามครั้ง แล้วร่างนั้นก็ค่อย ๆ เลือนหายไปในความสลัวของยามอรุณ

 

มีต่อ.........๑๐

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00010
 

๑๐...

               บ่ายจัดของวันที่แปดนับแต่วันบวช ขณะที่พระบัวเฮียวกำลังเดินไปยังกุฏิท่านพระครู เพื่อให้ท่านทดสอบอารมณ์ รถตู้สีครีมใหม่เอี่ยมคันหนึ่งก็แล่นเข้าประตูวัดมา มีรถเก๋งสีฟ้าแล่นตามมาติด ๆ เมื่อรถสองคันแล่นเข้ามาจอดคู่กันที่ลานวัด บุรุษสองคนกับสตรีสามคนได้ลงมาจากรถ พระใหม่ไม่ทันได้สังเกตว่า คนไหนลงมาจากคันไหน แต่ที่จำได้แม่นยำคือ บุรุษที่เดินนำหน้าคนทั้งสี่มานั้น คือครูที่มาจากนครสวรรค์ และเพิ่งออกจากกรรมฐานกลับไปเมื่อสามสี่วันก่อน

            คนทั้งห้าเดินตรงไปยังกุฏิท่านพระครูและถึงก่อนหน้าท่านเล็กน้อย เมื่อท่านไปถึงและทำความเคารพพระอุปัชฌาย์แล้ว ครูใหญ่จึงแนะนำกับคนทั้งสี่ว่า

            “นี่หลวงพี่บัวเฮียว อาจารย์สอนกรรมฐานให้พ่อ”

            แล้วทั้งหมดจึงก้มลงกราบสามครั้ง พระใหม่รู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ คนที่เป็นครูใหญ่ยกย่องให้เกียรติท่านถึงปานนั้น อีกทั้งหญิงสาวสองคนที่มาด้วยก็สวยหยาดเยิ้มจนท่านรู้สึกขวยเขิน

            “เจริญพรครูใหญ่ ครูบุญมีกับครูอรุณไม่ได้มาด้วยหรอกหรือ” ท่านพระครูทักทาย กระบวนจำชื่อคนแม่นไม่มีใครเกินท่านเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง

            “ไม่ได้มาครับเพราะโรงเรียนเปิดแล้ว ตัวผมก็ลางานมา จะพาครอบครัวมากราบหลวงพ่อ” แล้วจึงแนะนำสมาชิกทีละคน

            “คุณผ่องพักตร์แม่บ้านของผม สามคนเป็นลูกชื่อ ผ่องพรรณ วรรณวิไล ชัยชนะ อายุห่างกันคนละปี เรียนจนได้งานทำกันแล้วครับ”

         ท่านพระครูกำหนด “เห็นหนอ” พิจารณาคนทั้งสี่ทีละคน แล้วพูดขึ้นว่า “นี่คนนี้ฉลาด จะได้เป็นด็อกเตอร์” ท่านชี้ไปที่วรรณวิไล หญิงสาวยิ้มอาย ๆ ยกมือขึ้น “สาธุ” พร้อมกล่าวว่า “ขอให้สมพรปากเถิดเจ้าค่ะ”

         พระบวชใหม่แอบชื่นชมในใจว่า “เจ้าประคุณเอ๋ย รูปก็สวย เสียงก็ใส แถมยังความรู้สูงเสียด้วย ข้างฝ่ายพี่สาวก็สวยไม่แพ้กัน นี่ถ้าให้เราเลือกคงเลือกไม่ถูกกระมังหนอ มันเข้าทำนอง รักพี่เสียดายน้อง ครั้นจะรักน้องก็เสียดายพี่ จะเอายังไงดีวุ้ย”

            ท่านพระครูแอบสำรวจความคิดของพระใหม่ เห็นกำลังฟุ้งซ่านหนัก จึงพูดขึ้นว่า

         “เห็นไหมบัวเฮียว ที่ฉันบอกเธอว่าครูใหญ่ต้องกลับมาที่วัดนี้อีกภายในเจ็ดวัน ก็กลับมาจริง ๆ

         “แต่หลวงพ่อบอกว่าจะถูกรางวัลที่หนึ่งด้วยนี่ครับ” พระใหม่ทักท้วง คนเป็นครูใหญ่จึงพูดขึ้นว่า

         “เป็นความจริงครับ ผมกำลังจะกราบเรียนหลวงพ่ออยู่พอดี” พระอุปัชฌาย์มองหน้าลูกศิษย์เหมือนจะบอกว่า “เห็นไหมบัวเฮียว ที่ฉันพูดไว้น่ะ ผิดเสียที่ไหน”

            “ผมต้องกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ได้เมตตาให้ผมมีโชค” ครูใหญ่พูดพร้อมกับยกมือไหว้อย่างนอบน้อม

         “ไม่เกี่ยวกับอาตมาหรอกโยม” บางครั้งท่านก็เรียกครูใหญ่ว่า “โยม”

         “มันเป็นโชคของโยมเอง อาตมาเพียงแต่รู้เท่านั้น ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่าอาตมาจะรู้หรือไม่โยมก็ต้องถูกอยู่ดี เพราะโยมทำกรรมมาอย่างนั้น เรื่องของกรรมใครทำใครได้ ทำกรรมดีก็ได้ดี ทำกรรมชั่วก็ได้ชั่ว ลูกศิษย์ของอาตมาคนหนึ่งเขาไม่เล่นหวย ไม่เคยซื้อ ไม่ว่าจะเป็นหวยใต้ดินหรือหวยรัฐบาล แต่เมื่อถึงคราวที่กรรมดีมาให้ผล เขาก็ถูกรางวัลที่ ๑ จนได้

         เรื่องมีอยู่ว่าตาขี้เมาคนหนึ่งมาอ้อนวอนขายให้เขา เพื่อจะเอาเงินไปซื้อเหล้ากิน เขาบอกไม่ซื้อ ๆ ตานั่นก็เซ้าซี้จนเขารำคาญ เลยควักเงินให้ไปสิบบาทแล้วเอาล็อตเตอรี่มา ตกเย็นล็อตเตอรี่ออก ปรากฏว่าเขาถูกรางวัลที่ ๑ เห็นไหมคนมีชี อยู่ดี ๆ ก็มีคนเอาเงินมาให้ตั้งห้าแสน

         เขาก็สำนึกถึงบุญคุณตาขี้เมา ตั้งใจจะเอาเงินไปแบ่งให้บ้าง พอไปตามหาถึงได้รู้ว่า หมอนั่นช็อคตายไปแล้ว แกไปเที่ยวเร่ขายจนจำเลขได้ พอรู้ว่าถูกรางวัลที่ ๑ เกิดความเสียดาย เลยช็อค”

         ท่านพระครูเล่าจบ ลูกสาวคนโตของครูใหญ่จึงถามขึ้นว่า

         “แล้วแบบนี้คนที่ซื้อไปจะบาปไหมคะหลวงพ่อ”

         “ไม่บาปหรอกหนู เพราะเขาไม่ได้เจตนา แล้วจิตของเขาก็ไม่มีโลภะ แต่ซื้อเพื่อตัดรำคาญ”

         “ผมว่าตาขี้เมาคนนั้นไม่มีโชคมากกว่าใช่ไหมครับหลวงพ่อ” ครูใหญ่ถาม

         “ก็คงเป็นยังงั้นแหละ เงินมาอยู่ในมือแล้วยังเอามายัดเยียดให้คนอื่น พูดภาษาชาวบ้านก็ว่า ดวงจะไม่ได้ใช้เงิน”

         “อย่างคนที่ผมรู้จักคนหนึ่งครับหลวงพ่อ รายนี้ก็ถูกรางวัลที่ ๑ เหมือนกัน แกเอาเงินไปซื้อรถเก๋งแล้วก็ไปแต่งนางงามบ้านหมี่มาเป็นเมียน้อย ทั้งที่เมียแกยังอยู่ด้วยกัน หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่กับอบายมุข ทั้งสุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ผลที่สุดก็เลยวิบัติ คือ ถูกหวยได้ไม่ถึงเดือนก็ขับรถไปชนกับสิบล้อตายคาที่เลยครับ” ชัยชนะเล่า

         “นั่นแหละเขาเรียกว่าทุกขลาภ เพราะเขาไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม ไม่เข้าใจว่าที่ตนร่ำรวยขึ้นมานั้นกรรมดีมันมาให้ผล แทนที่จะสร้างกรรมดีเพื่อเติมเชื้อบุญต่อไปอีก กลับไปทำบาปคือประพฤติผิดศีล ก็เลยต้องพบกับความหายนะทันตาเห็น”

         “แสดงว่าคนที่มีเมียน้อยทุกคน จะต้องพบกับความหายนะใช่ไหมคะหลวงพ่อ” คุณผ่องพักตร์ถามขึ้น

         “ก็คงงั้นมั้ง หรือ ครูใหญ่ว่ายังไง”

         “ข้อนั้นผมไม่ทราบครับ ทราบแต่ว่าแม่บ้านผม เธอเป็นโรคหึงครับ ที่ถามหลวงพ่อเพราะแรงหึง กลัวว่าผมจะมีเมียน้อย” คนเป็นครูใหญ่ “ฟ้อง” กราย ๆ

         “ผู้หญิงเป็นโรคหึงทุกคนแหละโยม ต่างกันแต่ว่าใครจะมีอาการมากน้อยกว่ากัน”

         “หลวงพ่อไม่ได้เป็นผู้หญิง แล้วทราบได้อย่างไรคะว่า ผู้หญิงเป็นโรคหึงทุกคน” ผ่องพรรณถามขึ้น

         “ก็หนูไม่ได้เป็นหลวงพ่อ แล้วหนูทราบได้อย่างไรล่ะจ๊ะ ว่าหลวงพ่อไม่ทราบ” ท่านพระครูถามยิ้ม ๆ หญิงสาวมิรู้จะตอบประการใด จึงหันไปสบตากับหลวงพี่บัวเฮียว หวังให้ท่านช่วย

         “คุณโยมคงได้ “เห็นหนอ” น่ะครับหลวงพ่อ พระใหม่เอื้อนเอ่ยหมายจะช่วย “คุณโยม” ทว่ากลับทำให้เธองุนงงหนักขึ้น ท่านพระครูเห็นว่าเรื่องจะไปกันใหญ่ จึงวกกลับเข้ามาเรื่องเดิม

            “ตกลงครูใหญ่จะใช้ชีวิตแบบที่ลูกชายเล่ามาหรือเปล่าล่ะ น่าสนุกดีเหมือนกันนะ”

         “ไม่หรอกครับหลวงพ่อ ผมมันเข้าวัดเข้าวาเสียแล้ว บ้านเรามีห้าคนผมก็เอาห้าหาร ได้กันคนละแสน ทีนี้ผมก็บอกภรรยาและลูก ๆ ว่าหลวงพ่อรับนิมนต์ไปเทศน์ตามที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ ถ้ามีรถไว้ใช้สักคันก็จะสะดวกขึ้น ผมเลยบอกจะซื้อรถตู้ถวายหลวงพ่อ พวกเขาก็ช่วยกันลงขันมาซื้อรถ แล้วยังมีเงินเหลือสำรองเป็นค่าน้ำมันอีกสองหมื่น”

         พูดจลก็ถวายเงินสดและทะเบียนรถพร้อมลูกกุญแจแด่ท่านเจ้าอาวาส ท่านพระครูรับประเคนแล้ว ให้ศีลให้พรตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติ คนทั้งหมดรวมทั้งพระบัวเฮียวต่างพากันอนุโมทนาสาธุการ

         “หลวงพ่อคงต้องหาคนขับรถสักคนหนึ่งแล้วละครับ” ครูใหญ่เสนอแนะ

         “ก็มีแต่สมชายนี่แหละ ขับพอเป็นแล้ว แต่ยังไม่มีใบขับขี่”

         “ไม่ยากหรอกครับหลวงพ่อ ใบขับขี่ต่างจังหวัดทำง่ายกว่าในกรุงเทพฯ เพื่อน ๆ ผมมีใบขับขี่เกือบทุกคน ทั้งที่บางคนยังขับรถไม่เป็นด้วยซ้ำ” ชัยชนะออกความเห็น

         “แต่แบบนั้นไม่ค่อยดีนะเจ้าคะ เพราะนอกจากจะไม่ปลอดภัยสำหรับตัวเองแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่นอีกด้วย” วรรณวิไลเอ่ยขึ้น

         “จริงค่ะ หนูเห็นด้วยกับน้องวรรณ อย่างเพื่อนหนูนะคะ กำลังยืนพูดโทรศัพท์อยู่ในตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งตั้งอยู่ริมถนน คนที่เขากำลังคุยด้วยก็คือหนูเอง จู่ ๆ รถเก๋งคันหนึ่งก็พุ่งเข้ามาชนโครม เพื่อนหนูคอขาดกระเด็นออกมานอกตู้ซึ่งพังยับเยิน กระจกแตก คนชนก็ถูกอัดก๊อปปี้ตายคาพวงมาลัย

         หนูก็แปลกใจว่าเอ....กำลังคุยกันดี ๆ ก็มีเสียงดังโครมแล้วก็เงียบหายไป เลยขับรถออกตามหา ดีที่เขาบอกชื่อถนนไว้ตอนคุยกัน พอหนูเห็นเพื่อนหนูแทบช็อคเลยค่ะ

         ตำรวจสอบสวนได้ความว่า ผู้หญิงคนชนนั้นเพิ่งหัดขับรถ แถมวันนั้นแกทะเลาะกับสามีเลยขโมยรถขับไปกินเหล้า พอเมาก็ประมาทขับเสียเร็วเลยทำให้เพื่อนหนูพลอยเคราะห์ร้ายไปด้วย”

         ท่าทางคนเล่ายังไม่หายหวาดเสียว แต่พระใหม่กลับเพลิดเพลินกับเสียงใส ๆ ของคุณโยมจนเผลอสติ จ้องหน้าหล่อนไม่วางตา ครั้นเมื่อหญิงสาวเล่าจบจึงถามเชย ๆ ออกมาว่า

         “แล้วอย่างนี้จะเอาผิดกับใครเล่าครับหลวงพ่อ เพราะคนทำผิดก็ตายไปแล้ว”

         “อ้าว...ก๊อเอาผิดกะพระบัวเฮียวน่ะซี” ท่านพระครูตอบหน้าเฉย

         “ถ้างั้นหลวงพ่อก็ยุ่งแล้วละครับ เพราะถ้าพระลูกวัดถูกจับ สมภารก็ต้องถูกสอบสวนด้วย” คราวนี้คนเชยทำเป็นรู้

         “งั้นครูใหญ่ช่วยไปประกันตัวให้ด้วยก็แล้วกัน ไหนว่าเป็นลูกศิษย์เป็นอาจารย์กันไม่ใช่หรือ” ท่านพระครูโยนกลองไปที่ครูใหญ่

         “ครับ ไม่เป็นไร ผมประกันตัวให้หลวงพี่เอง” ครูสฤษดิ์พลอยเออออห่อหมกด้วย

         “แหม...คุณก็ หลวงพ่อท่านพูดเล่น ๆ คุณก็เอาเป็นจริงเป็นจังไปได้” คุณผ่องพักตร์ปรามสามี

         “คุณพ่อก็พูดเล่น ๆ นะคะคุณแม่” วรรณวิไลแก้แทนบิดา พระบัวเฮียวมีอันต้องคิดหนัก ว่าพี่น้องสองศรีคู่นี้ใครเสียงหวานกว่ากัน ก็เลยตัดสินใจไม่ได้อีกครั้ง

         “กรณีของเพื่อนหนู ก็ต้องโทษว่ากรรมใช่ไหมคะหลวงพ่อ” ผ่องพรรณถาม

         “แน่นอน โดยเฉพาะคนขับนั้นเป็นกรรมประเภททิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือกรรมที่ให้ผลในชาติปัจจุบันทันตาเห็น การดื่มสุราถือว่าละเมิดศีลข้อร้ายแรงที่สุดในบรรดาศีลห้า เฉพาะทำให้ขาดสติ เมื่อขาดสติเสียแล้วก็ละเมิดศีลข้ออื่น ๆ ได้หมด อันนี้แสดงให้เห็นว่าทำชั่วได้ชั่วทันตาเห็น

         ส่วนเพื่อนของหนูก็แสดงว่าต้องมีเวรมีกรรมเกี่ยวเนื่องมากับคนที่ชน คือมันต้องมีเหตุ ถ้าไม่มีเหตุมันก็ไม่มีผล หนูลองคิดง่าย ๆ ก็ได้ว่า ทำไมถึงต้องเป็นเพื่อนของหนู ทำไมไม่เป็นคนอื่น เพราะคนใช้โทรศัพท์เครื่องนี้ วัน ๆ มีมากมาย แต่ทำไมเขาไม่ถูกชน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาไม่ได้เป็นเจ้ากรรมนายเวรกันมา จริงไหมล่ะจ๊ะ” ท่านหันไปถามวรรณวิไล

         “จริงเจ้าค่ะ เหมือนอย่างคุณพ่อกับคุณแม่ ก็คงเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันมาใช่ไหมเจ้าคะหลวงพ่อ” หญิงสาวถามหมายจะยั่วบิดาและมารดา

         “แน่นอนจ้ะ ไม่เฉพาะคุณพ่อคุณแม่หรอก ถึงหนูเองก็เถอะ หลวงพ่อเห็นหมดแล้วว่าหนูจะต้องใช้เวรใช้กรรมกับคูกของหนูมากกว่านี้อีกหลายเท่า ถึงดวงการศึกษาหนูจะดี แต่ดวงคู่ครองค่อนข้างจะแย่ หนูต้องอดทนมาก ๆ ถึงจะอยู่กันได้ คู่ของหนูเข้าเป็นคนเจ้าทิฏฐิ ใจร้อน พูดก็ไม่เพราะ คือไม่เพราะแต่กับหนู แต่กับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะสาว ๆ เขาพูดเพราะมากเชียวละ หนูก็เลยเป็นโรคหึง แล้วโรคนี้มันจะทรมานจิตใจหนูมากทีเดียว”

         “เมื่อรู้อย่างนี้แล้วหนูก็ไม่แต่งกับเขาซีเจ้าคะหลวงพ่อ”

         “ไม่แต่งได้แหละดี ดีมาก ๆ เชียวละ แต่ถึงเวลานั้นจริง ๆ หนูจะไม่คิดอย่างนี้ ไม่พูดอย่างนี้ หนูจะมาหาหลวงพ่อแล้วพูดว่า...หลวงพ่อเจ้าคะ หนูไม่ได้รักเค้าหรอกเจ้าคะ แต่หนูสงสารเค้าถึงได้ยอมแต่งงานด้วย จริง ๆ นะเจ้าคะ....”

         “ท่านพูดเลียนเสียงวรรณวิไล ทำให้คนอื่น ๆ พากันหัวเราะทั้งหญิงสาวที่ชื่อวรรณวิไลด้วย

         “แล้วเขาเจ้าชู้ไหมเจ้าคะหลวงพ่อ” หล่อนถามอีก

         “จะว่าเจ้าชู้ก็ไม่เชิง แต่ผู้ชายที่พูดหวาน ๆ น่ะผู้หญิงชอบใช่ไหม นี่แหละสาวแก่แม่หมายตอมกันหึ่งเชียวละ”

         “แหม หนูชักใจไม่ดีแล้วซีเจ้าคะ หนูเชื่อว่าสิ่งที่หลวงพ่อพูดจะต้องเกิดขึ้นกับหนูจริง ๆ เห็นคุณพ่อบอกว่าหลวงพ่อได้ทิพยจักษุกับเจโตปริยญาณ” ประโยคหลังหล่อนพูดตามหลักวิชาที่เคยเรียน

         “จริงหรือไม่จริง หนูคอยดูไปก็แล้วกัน อีกแปดปีก็จะรู้ ถ้าไม่จริงมาต่อว่าหลวงพ่อได้” พระบัวเฮียวแอบคิดในใจว่า “เอ...เนื้อคู่ของคุณโยมจะใช่เราหรือเปล่าหนอ” ก็พอดีกับหญิงสาวถามขึ้น

         “แล้วตอนนี้เจอกันหรือยังเจ้าคะ พระใหม่ตั้งใจฟังเต็มที่ หากก็ต้องผิดหวังเมื่อท่านพระครูตอบว่า

         “เดินผ่านกันไปผ่านกันมาหลายครั้งแล้วที่มหาวิทยาลัย แต่ยังไม่เคยพูดกัน เขาไม่สนใจหนูหรอกเพราะเขามีคู่รักอยู่แล้ว ต้องชดใช้กรรมกับคนนั้นก่อนแล้วถึงจะมาเจอกับหนู”

         “แล้วตอนนี้เขาแต่งงานกันหรือยังเจ้าคะ”

         “ยัง อีกสองปีถึงจะแต่ง แต่งแล้วก็หย่ากันในปีนั้น ผู้หญิงเขาใจเด็ดทิ้งลูกทิ้งผัวไปอยู่กับชายอื่น คู่ของหนูก็เลยเป็นพ่อหม้ายลูกติด”

         “ก็ดีซีเจ้าคะหนูจะได้ไม่ต้องมีลูกของตัวเอง ลูกเขาก็เหมือนลูกเราจริงไหมคะพี่ผ่อง” หล่อนหันไปถามพี่สาว

         “พอถึงเวลานั้นจริง ๆ มันไม่เป็นอย่างที่หนูหวังไว้หรอกจ้ะ จำคำพูดของหลวงพ่อไว้นะจ๊ะคุณด็อกเตอร์ ว่าหนูน่ะจะต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่าเพราะสามี”

         หญิงสาวกลับมีอารมณ์ขันเพราะไม่เคยจริงจังกับชีวิต แต่เล็กจนโต หล่อนได้รับความรักความอบอุ่นมาโดยตลอด ทั้งคนในครอบครัวทั้งเพื่อนฝูงต่างรักใคร่หล่อนกันทุกคน ชีวิตของวรรณวิไลจึงยังไม่รู้จักคำว่าทุกข์ ทั้งไม่เคยคิดว่าจะต้องพบกับมัน

         หล่อนมิรู้ดอกว่า ความร่าเริงน่ารักและมองโลกในแง่ดีอันเป็นคุณสมบัติประจำตัวหล่อนนั้น อีกแปดปีมันจะไม่มีหลงเหลืออยู่เลย นอกจากจะไม่เหลือแล้วมันยังเปลี่ยนเป็นคุณสมบัติที่ตรงข้าม...ตรงข้ามโดยสิ้นเชิง อีกแปดปีหล่อนจะต้องมานั่งร้องไห้คร่ำครวญต่อหน้าพระภิกษุรูปนี้ หล่อไม่รู้ แต่ท่านพระครูท่านรู้

         “ก็แล้วแต่จังหวะจ้ะ หัวเข่าหนูน่ะแน่ ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าวันไหนโชคร้ายหน่อยก็จะเป็นหัวเข่าเขา ทำหัวเราะไปเถอะแล้วหลวงพ่อจะคอยดู”

         “ถึงขนาดนั้นเชียวหรือคะหลวงพ่อ” คุณผ่องพักตร์รู้สึกเป็นห่วงลูกสาวคนเล็ก

         “ก็เขาทำกรรมมาอย่างนั้นนี่โยม” ท่านพระครูตอบ

         “คนมีการศึกษาเขาจะทำกันถึงขนาดนั้นเชียวหรือคะหลวงพ่อ” เธอคัดค้าน

         “การศึกษาไม่เกี่ยวหรอกโยม ที่อาตมาเห็น ๆ มาน่ะ ขนาดจบปริญญาโท ปริญญาเอก ยังเตะกันตกบ้านไม่รู้กี่คู่ต่อกี่คู่” คราวนี้มารดาของวรรณวิไลนั่งเงียบกริบ นึกสงสารบุตรสาวที่จะต้องมารับกรรมทั้งที่อะไร ๆ ก็ดีมาโดยตลอด ท่านพระครูรู้จึงพูดปลอบว่า”

         “ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอกโยม ขอให้ถือว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม อาตมาเองก็ชดใช้กรรมมามากต่อมาก หนักกว่าลูกสาวโยมหลายเท่านัก คิดเสียว่าใช้ ๆ กันเสียให้หมด จะได้ไม่ต้องมีเวรมีกรรมต่อกันอีก”

         “ดิฉันห่วงลูกสาวน่ะค่ะ”

         “ห่วงเขาทำไมกันเล่า กรรมใครใครก็ใช้ แต่ไม่นานหรอกโยม เก้าปีหลังจากแต่งงานเขาก็จะสบาย คู่ของเขานั้นโดยเนื้อแท้ก็เป็นคนดี แต่ต้องมีเรื่องระหองระแหงกันจนหาความสุขไม่ได้ก็เพราะกรรมเก่า ก็ทำกับเขวไว้มากนี่นา”

         ท่านหันไปทางวรรณวิไล เห็นกฎแห่งกรรมของหล่อนอย่างถ้วนทั่ว ทว่าเจ้าตัวกลับไม่รู้ไม่เห็นกรรมของตัวเอง

         ฟังเขาคุยกันแล้วพระบัวเฮียวจึงรู้ว่า คู่ของวรรณวิไลไม่ใช่ท่าน ภิกษุหนุ่มจึงย้ายความหวังไปไว้ที่คนเป็นพี่สาวของหล่อน พอดีที่ผ่องพรรณถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อคะ แล้วหนูพบเนื้อคู่หรือยังคะ” พระใหม่ใจเต้นระริกด้วยหวังจะได้ยินคำตอบว่า “พบแล้วจ้ะ ตอนนี้ยังบวชเป็นพระอยู่” ใจแทบหยุดเต้นเมื่อท่านพระครูตอบว่า

         “จะมีเนื้อคู่สักกี่คนกันล่ะจ๊ะ ก็เพิ่งแต่งงานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง รถคันที่ขับมาก็ไม่ใช่ที่สามีเขาซื้อให้หรือจ๊ะ”

         พระบัวเฮียวหน้าซีดลงทันใด รู้สึกวาบหวิวคล้ายจะเป็นลม เพราะต้องพบกับความผิดหวังถึงสองครั้งสองคราติด ๆ กัน ใจหนึ่งท่านพระครูอยากจะสมน้ำหน้า แต่อีกใจก็นึกสงสาร จึงพูดเป็นเชิงปลอบโยนว่า

         “แต่บางคนก็โชคดีที่เกิดมาไม่มีเนื้อคู่ ไม่ต้องไปใช้เวรใช้กรรมกับใคร อย่างพระบัวเฮียวนี้ ดวงจะต้องบวชตลอดชีวิต และจะมีความสุขกว่าคนครองชีวิตคู่”

         “ผมขออนุโมทนาด้วยครับ” ครูใหญ่ยกมือขึ้น “สาธุ” แล้วพูดต่ออีกว่า “บุญของท่านเหลือเกินที่ไม่ต้องมารับผิดชอบชีวิตใคร ๆ ผมเข็ดแล้ว กว่าลูกจะโต จะเรียนจบ ผมลำบากแทบเลือดตากระเด็น ถ้ากลับไปเป็นโสดได้อีกครั้ง ผมจะขอบวชไปจนตลอดชีวิต”

         ภิกษุหนุ่มฟัง “ศิษย์อาวุโส” ของท่านพูดแล้วก็มีกำลังใจขึ้น พระอุปัชฌาย์รู้จึงเสริมอีกว่า

         “ถ้าชีวิตการครองเรือนให้ความสุขได้จริง เจ้าชายสิทธัตถะก็คงไม่สละราชสมบัติออกผนวชหรอก อยากรู้ไหมว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวอาตมาจะหาหลักฐานมายืนยัน”

         ท่านลุกขึ้นเดินไปที่ตู้พระไตรปิฎก หยิบเล่มที่ต้องการออกมาแล้ว จึงกลับมานั่งที่เดิม

         นี่ พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของกามไว้ในเล่มนี้” พูดพลางส่งคัมภีร์เล่มใหญ่ และบอกให้เปิดไปหน้า ๓๖๐

         “ไหนลองอ่าน ซัคควิสณสุตตนเทศ ตั้งแต่ข้อ๗๖๔ – ๗๖๖ ให้พรรคพวกฟังซิ” ครูสฤษดิ์จึงต้องอ่านด้วยเสียงที่ทุกคนได้ยินกันทั่วกันว่า

         “...ข้อ ๗๖๔ กามนี้เป็นเครื่องข้องมีความสุขน้อย มีทุกข์มาก บุคคลผู้มีปัญญารู้ว่ากามนี้เป็นดังฝี ดังนั้น แล้วพึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น

            ข้อ ๗๖๕ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขโสมนัสใด อาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้เกิดขึ้น สุขโสมนัสนั้นแลเรากล่าวว่า กามสุข กามสุขชุดนี้ กามสุขนี้เลว กามสุขนี้ลามก กามสุขนี้ให้เกิดทุกข์ กามนี้เป็นเครื่องช้อง มีความสุขน้อย

            ข้อ ๗๖๖...คำว่ากามนี้มีความยินดีน้อย มีความทุกข์ยาก กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษมาก

            กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส เหมือนโครงกระดูก...เหมือนชิ้นเนื้อ...เหมือนคบเพลิง...เหมือนหลุมถ่านเพลิง...เหมือนความฝัน...เหมือนของที่ยืมเขามา...เหมือนผลไม้...เหมือนดาบ และสุนัขไล่เนื้อ...เหมือนหอกและหลาว...เหมือนศีรษะงูเห่า...มีทุกข์มาก มีความยินดีน้อย มีความคับแค้นมาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า กามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก...

         ครูใหญ่อ่านจบ ท่านพระครูจึงถามขึ้นว่า
         “เป็นยังไง ซาบซึ้งหรือยัง เห็นแล้วใช่ไหมว่าเป็นพระนั้นได้เปรียบกว่าเป็นฆราวาสเป็นไหน ๆ”

         “แหม...หนูชักอิจฉาหลวงพ่อกับหลวงพี่แล้วซีเจ้าคะ ถ้าหนูเป็นผู้ชายคงต้องขอบวชแน่ ๆ เลย” วรรณวิไลพูดขึ้น หล่อนเป็นคนอ่อนไหวง่าย จึงซาบซึ้งและซึมซับอะไร ๆ ได้รวดเร็วกว่าคนอื่น ๆ

         “เป็นผู้หญิงก็บวชได้ คือบวชใจยังไงล่ะ บางคนกายบวชแต่ใจไม่ได้บวช เช่น พวกที่อาศัยผ้าเหลืองหากิน คนพวกนี้เขาเรียกว่า ตัวเป็นพระแต่ใจเป็นมาร”

            “บวชใจทำอย่างไรคะหลวงพ่อ” ถามอย่างสนใจ

         “ก็เจริญสติปัฏฐาน ๔ เหมือนที่คุณพ่อหนูเขาปฏิบัตินั่นยังไงล่ะ”

         “ถ้าเช่นนั้น ปิดเทอมหน้าหนูจะมาอยู่วัดสักเจ็ดวันนะคะคุณพ่อ” หล่อนบอกบิดา

         “ดีแล้วลูก เผื่อกรรมมันจะได้เบาบางลง” ครูใหญ่สนับสนุน

         “หลวงพ่อคะ แล้วชีวิตครอบครัวของหนูจะดีไหมคะ” ผ่องพรรณถามขึ้นบ้าง ฟังเรื่องราวของน้องสาวแล้วหล่อนพลอยใจไม่ดีไปด้วย วรรณวิไลทั้งสวยทั้งเก่ง ไม่น่าจะต้องมีกรรมอะไรหนักหนา

         “ดีจ้ะ ตอนนี้ดีเพราะกำลังข้าวใหม่ปลามัน แต่ต่อไปแย่หน่อย เพราะสามีเขาจะเลี้ยงหนูด้วยลำแข้งชนิดซี่โครงเหน็บข้างฝาเชียวละ รู้สึกจะหนักกว่ารายน้องสาวด้วยซ้ำ เพราะสามีหนูเขาเจ้าชู้ พอไปเจอคนใหม่ก็เบื่อคนเก่า” ท่านพระครูบอกไปตามที่ได้เห็นกฎแห่งกรรมของสองพี่น้อง

         “ลูกสาวดิฉันโชคร้ายทั้งสองคนเลยหรือคะหลวงพ่อ” คุณผ่องพักตร์ถาม รู้สึกหดหู่เศร้าหมองด้วยสงสารลูก

         “อย่าไปคิดอะไรมากเลยโยม ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เรื่องของกรรมเก่าก็ต้องชดใช้กันไป อย่าไปสร้างกรรมใหม่ขึ้นมาอีกแล้วกัน ชีวิตการครองเรือนก็เป็นอย่างนี้ สุขบ้างทุกข์บ้างปะปนกันไป”

         หลวงพ่อคะ แล้วหนูพอจะมีทางทำให้กรรมเบาบางลงบ้างไหมคะ” ผ่องพรรณถาม หล่อนเริ่มวิตกกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

         “จะกังวลล่วงหน้าไปทำไมเล่าหนู อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด เราต้องกล้าเผชิญกับความจริง การจะให้กรรมเบาบางลงมีวิธีเดียวคือมาเข้ากรรมฐานที่วัดนี้สักเจ็ดวันเป็นอย่างน้อย”

         “สามีหนูไม่ยอมให้มาแน่ ๆ ค่ะ ตั้งเจ็ดวัน นี่หนูขอมาหาคุณพ่อคุณแม่วันเดียวเขายังไม่ค่อยพอใจ”

         “ใช่ซีจ๊ะ ก็กำลังรักอยู่นี่ เขาไม่อยากให้คลาดสายตาสักเวลานาทีเอาเถอะ แล้วหนูจะได้มาอยู่วัดตอนที่เขาเบื่อหนูแล้ว ถึงเวลานั้นหลวงพ่อคงจะช่วยแนะนำได้บ้าง”

         “หนูต้องกราบขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ” พูดจบจึงก้มกราบสามครั้ง เป็นการฝากเนื้อฝากตัว คุยกันอีกพักใหญ่ ๆ คนทั้งห้าจึงลากลับ ท่านพระครูย้ำเตือนสตรีทั้งสองว่า

         “อย่าลืมมาเข้ากรรมฐานนะหนูนะ แล้วก็ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก รู้ไว้ดีกว่าไม่รู้ ที่หลวงพ่อบอกก็เพื่อจะให้หนูตั้งสติได้เมื่อพบกับเหตุการณ์อย่างนั้น จะได้ไม่ตกใจเกินไป อย่าลืมว่าใช้ ๆ ให้หมดกันไปเสียแล้วก็อย่างไปสร้างกรรมใหม่”

         ท่านจำเป็นต้องบอกต้องพูด เพราะคนส่วนมากเมื่อประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้ต่างผลุนผลัน พากันฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่าคนที่ทำให้ตัวเองเจ็บช้ำบ้าง ด้วยคิดว่าเป็นทางหนีทุกข์ แต่ข้อเท็จจริงนั้นนอกจากจะหนีทุกข์ไปไม่ได้แล้วยังทำให้เพิ่มทุกข์ผูกเวรกันหนักขึ้นไปอีก

         “จำไว้นะหนูนะ” ท่านย้ำเตือนอีกครั้ง

         “เจ้าคะ”

         “ค่ะ” สตรีทั้งสองรับคำพร้อมกับก้มลงกราบท่านพระครูและหลวงพี่บัวเฮียว แล้วจึงเดินไปยังลานจอดรถที่บิดามารดาและน้องชายรออยู่

 

มีต่อ........๑๑

 

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว