สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

(1/17) > >>

ช่างเล็ก(LSV):
เป็นเรื่องจริงปนเรื่องแต่ง และเพิ่มอรรถรสในเนื้อเรื่องให้น่าสนใจ น่าติดตาม ทั้งยังให้ประโยชน์กับผู้อ่านในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกรรม โดยคุณสุทัสสา อ่อนค้อม มี ๘๐ ตอนจบ

....ผมได้รับแผ่นซีดีชุดนี้มาเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน แด่ผู้ที่สนใจ น้อมนำรับสิ่งที่ดีๆมาสู่ตัวเอง ...หวังใจว่าคงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นใหม่ในธรรมะปฎิบัติ..
...และขอภาวนาให้กุศลบุญจงบังเกิดแด่คุณพ่อ-คุณแม่-ญาติมิตร-พี่น้อง-ครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าและท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติชอบด้วยเทอญ...
.... จากอนุชิต สุวรรณรัตน์..ศิษย์หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี..... :P :)
"...อยากให้ทุกท่าน ติดตามอ่านให้ครบทั้ง 80 ตอน ...อย่างน้อยจิตใจท่านจะเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอย่างแน่นอน ."

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00001

 

คำนำ
         

ข้าพเจ้าเกิดในครอบครัวที่บรรพบุรุษนับถือพุทธศาสนา พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พาเข้าวัดตั้งแต่เล็ก ๆ โดยเฉพาะเทศกาล “เทศน์มหาชาติ” จะพากันไปวัดตั้งแต่ตีสี่ตีห้า เพื่อจะได้ฟังพระสวด “คาถาพัน” ได้ครบ ๑,๐๐๐ คาถา ด้วยเชื่อวันว่าเมื่อตายจะได้ขึ้นสวรรค์

ก่อนนอน คุณพ่อคุณแม่ก็จะเล่านิทานที่เกี่ยวกับนรกสวรรค์ให้ฟังเสมอ ๆ เช่น เรื่องเทพบุตร เทพธิดา ที่มีความสุขอยู่ในวิมานสวย ๆ หรือเรื่องพระมาลัยไปเทศน์โปรดสัตว์ที่เมืองนรก เป็นต้น ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความคิดคำนึงและจินตนาการไปต่าง ๆ ตามประสานเด็ก ทรรศนะที่มีต่อพระพุทธศาสนาในวัยขนาดนั้น คือ ต้องทำความดีจึงจะได้ขึ้นสวรรค์ แล้วไม่อยากทำความชั่ว เพราะกลังจะไปตกนรก ความเชื่อเรื่องกรรมจึงมีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

เมื่อจบมัธยมต้นจากต่างจังหวัด ได้เข้ามาสอบเรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (รุ่น ๒๙) ในกรุงเทพฯ อาศัยอยู่กับครอบครัวมุสลิมซึ่งเขารักเหมือนลูกสาว คุณยายของบ้านเป็นชาวพุทธและไปฟังเทศน์ที่วัดทุกวันอาทิตย์ ไปวัดโพธิ์บ้าง วัดพระแก้วบ้าง ข้าพเจ้าก็ตามคุณยายไปแล้วก็สังเกตว่าคนที่ไปวัด มีแต่คนแก่ ๆ ข้าพเจ้าตอนนั้นอายุ ๑๘ ปี จึงเป็นคนเดียวที่อายุน้อยที่สุด

จบโรงเรียนเตรียมฯ ก็สอบเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์จุฬา พักที่หอพักนิสิตหญิงจุฬาฯ (ปัจจุบันเป็นศูนย์การค้ามาบุญครอง) วันอาทิตย์ก็ได้ไปเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่วัดบวรนิเวศ เป็นลูกศิษย์ ท่านเจ้าคุณธมฺมสาโร ภิกขุ

จบปริญญาตรีแล้ว ทรรศนะที่มีต่อพระพุทธศาสนาก็ยังอยู่ในระดับนรกสวรรค์ ต่อเมื่อเรียนปริญญาโท สาขาปรัชญา ที่คณะและมหาวิทยาลัยเดิม ทำให้ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนากว้างขวางขึ้น อาจารย์ผู้ให้ความรู้และเป็นแรงจูงใจให้หันมาศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง คือ ท่านรองศาสตราจารย์ ดร. สุนทร ณ รังสี ส่วนพระสงฆ์นั้น ข้าพเจ้าเคารพและศรัทธา ท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ในความเป็นปราชญ์ทางด้านพระพุทธศาสนาของพระคุณท่าน และท่านก็ได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ด้านปริยัติแก่ข้าพเจ้าด้วยความเมตตาอย่างหาที่เปรียบมิได้

ในด้านการปฏิบัติ ข้าพเจ้าเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเมื่อปี ๒๕๒๖ เมื่อทางวิทยาลัยส่งให้เข้าอบรมปฏิบัติธรรมที่ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ข้าพเจ้าได้เป็นศิษย์ของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ ตั้งแต่บัดนั้น (ปัจจุบันหลวงพ่อได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นที่ พระราชสุทธิญาณมงคล) และชีวิตก็พลิกผันหันเข้าหาธรรมะอย่างเต็มภาคภูมิ นับแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ ทรรศนะที่มีต่อพระพุทธศาสนาได้ก้าวพ้นจากระดับนรกสวรรค์ขึ้นมา ข้าพเจ้าไม่อยากเกิดในสวรรค์ เพราะเป็นภูมิที่ยังต้องเวียนว่าย ข้าพเจ้ามีความใฝ่ฝันที่จะข้ามพ้นจากสงสารสาคร แต่ก็คงจะเป็นได้เพียงความฝัน เพราะยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งพบว่าการจะเข้าถึงมรรค ผล นิพพาน นั้นยากแสนยาก และหากผู้ปฏิบัติขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็อาจหลงทางได้ง่าย

การไปวัดอย่างสม่ำเสมอ เรื่องได้ฟังธรรมเทศนาจากท่านเจ้าคุณหลวงพ่อหลายต่อหลายครั้ง บางเรื่องก็ฟังซ้ำถึงหกเจ็ดครั้ง (แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยเบื่อ) และความที่เป็นคนช่างจดช่างจำ เรื่อง “ไฟไหนเล่าร้อนเท่าไฟนรก” และ “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” จึงเกิดขึ้น

ความปลาบปลื้มใจพูนทวีจนสุดจะพรรณนา เมื่องานเขียนของข้าพเจ้าได้รับความนิยมจากท่านผู้อ่านมากมายเกินความคาดหมาย ข้าพเจ้ารู้สึกปีติที่ได้ทำหน้าที่ช่วยเผยแผ่คำสอนของท่านเจ้าคุณหลวงพ่อผู้ซึ่งดำเนินตามรอยบาทขององค์พระศาสดาอย่างแน่วแน่ ข้าพเจ้าจึง “ได้บุญ” จาก ธัมมัสสวนมัย และ ธัมมเทสนามัย ในเวลาเดียวกัน

ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อผู้มีพระคุณต่อข้าพเจ้า ท่านเมตตาช่วยเหลือข้าพเจ้าทุกอย่าง และยังสนับสนุนส่งเสริมให้ข้าพเจ้าไปเรียนปริญญาเอกที่ประเทศอินเดีย การได้ใช้ชีวิตใน “แดนพุทธภูมิ” ทำให้ข้าพเจ้าได้ความรู้และประสบการณ์ด้านพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ท่านอาจารย์ เขมานันทะ (พระมหาบาง สิมพลี) ได้เมตตาช่วยเหลือในเรื่องการสมัครเรียนที่ มหาวิทยาลัยมคธ ตลอดจนช่วยสงเคราะห์ให้ได้พำนักในวัดทิเบต อันเป็นวัดของฝ่ายมหายาน ข้าพเจ้าจึงได้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นกำไรชีวิต

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณนิตยสาร กุลสตรี โดยเฉพาะ คุณยุพา งามสมจิตร ผู้ซึ่งข้าพเจ้าเคารพนับถือดุจครูอาจารย์ ด้วยท่านทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เกิดในบรรณพิภพ

ข้าพเจ้าถือโอกาสนี้ แสดงคารวะและกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อท่านผู้มีพระคุณทุกท่านที่กล่าวข้างต้น และต่อท่านผู้อ่านที่ได้เมตตาช่วยค้ำจุนให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ในโลกของตัวหนังสือได้อย่างมั่นใจ

ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่านเทอญ

                                                                                      สุทัสสา  อ่อนค้อม

 

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
 

๑...

          กิจวัตรประจำวันของท่านพระครูคือ ตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่ แล้วปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไปจนถึงหกโมงเข้า จากนั้นจึงจะออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ให้ชาวบ้านร้านถิ่นได้มีโอกาสสร้างคุณความดี ด้วยการบริจาคทาน เพื่อขจัดความตระหนี่เหนียวแน่นออกไปจากจิตใจ

          ท่านพระครูถือว่า การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่สำคัญเป็นลำดับแรก พระ เณร ทุกรูปที่อาศัยอยู่ในวัดป่ามะม่วงแห่งนี้ จะต้องปฏิบัติทุกวัน เพื่อขัดเกลากิเลสเครื่องเศร้าหมองในตัวให้ลดน้อยลง และต้องนำไปสั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม เป็นอันได้ประโยชน์ทั้งสองส่วน คือประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน

          ในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาส ท่านพระครูย้ำเตือนพระลูกวัดอยู่เสมอว่า “หน้าที่ของบรรพชิตที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ มีสามข้อคือ ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และสั่งสอนธรรม ผู้ใดเกียจคร้านละเลยต่อหน้าที่ถือว่าบวชเสียข้าวสุก และได้ชื่อว่ายังชีพอยู่ด้วยการเบียดเบียนชาวบ้าน พวกญาติโยมเขาไม่เลื่อมใสศรัทธาพระประเภทนี้”

            “ถ้าอย่างนั้นพวกพระที่ตั้งตัวเป็นอาจารย์ใบ้หวย รับปลุกเสกลงเลขยันต์ ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของพระใช่ไหมครับหลวงพ่อ” พระบวชใหม่รูปหนึ่งถามขึ้น

          “ฉันไม่อยากเรียกคนประเภทนั้นว่าพระ เรียกว่าพวกอาศัยผ้าเหลืองหากินดูจะเหมาะกว่า คนสมัยนี้มักหากินกันแปลก ๆ ไม่ยักกลัวบาปกลัวกรรม”

          “เขาคงไม่เชื่อว่าบาปกรรมมีจริงกระมังครับ”

          “แต่บางคนทั้ง ๆ ที่เชื่อก็ยังทำฉันไม่อยากจะพูด พระบางองค์เป็นถึงท่านเจ้าคุณแต่เบื้องหลัง.....อย่าพูดดีกว่า ฉันไม่อยากพูดเรื่องนี้ มันกระทบกระเทือนสถาบันสงฆ์ เพราะพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยังมีอีกมาก” ท่านพระครูพูดอย่างปลงตก

          “หลวงพ่อครับ ผมเคยฟังมาว่า ท่านเจ้าคุณบางองค์ ค้ายาเสพติดจริงหรือเปล่าครับ” ภิกษุหนุ่มถามอีก

          “อย่าคิดอะไรมาก ตั้งหน้าตั้งตาเจริญกรรมฐานไปดีกว่า บางครั้งการรู้อะไรมาก ๆ มันก็เป็นภัยกับตัวเราเอง คิดเสียว่า....ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์... พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม บุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ....ข้อนี้เป็นสัจธรรม”

            “ครับ ผมสบายใจมากขึ้นที่ได้มาบวชอยู่วัดนี้” ผู้บวชใหม่พูดอย่างปลาบปลื้ม

          “ที่นี่ไม่รับคนโกนหัวห่มผ้าเหลือง แต่ไม่ทำหน้าที่ของพระ ใครมาอยู่วัดนี้แล้วไม่เอากรรมฐานก็นิมนต์ไปอยู่วัดอื่น ฉันต้องการคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ ขึ้นชื่อว่าสงฆ์ต้องเป็น “สุปฏิปันโน” ที่แท้จริง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นศากยบุตรอย่างสมบูรณ์แบบ” ท่านพระครูพูดเสียงหนักแน่น ชื่อเสียงด้านความเคร่งครัดในการปฏิบัติของพระวัดนี้ขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ ทั้งบรรพชิตและฆราวาสผู้มุ่งความสงบทางจิต พากันมุ่งหน้ามายังวัดแห่งนี้ซึ่งตั้งเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐาน และ มีชื่อเสียงโด่งดังมานาน

          กุฏิกรรมฐานถูกสร้างขึ้นหลังแล้วหลังเล่าจนเต็มบริเวณวัด กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของบรรดาผู้แสวงหาโมกขธรรม ผู้ไม่ถือว่าเรื่องที่พักอาศัยเป็นอุปสรรคต่อการสร้างบุญบารมี ด้วยเหตุนี้จึงมักปรากฏอยู่เสมอที่พวกเขาพากันไปกางกลดอยู่นอกวัดโดยไม่อาทรต่อความร้อนหนาวของอากาศ ขอเพียงให้จิตสงบเย็นเท่านั้น

          เช้าวันหนึ่งในต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ หลังจากที่ท่านพระครูปฏิบัติกรรมฐานเสร็จก็เตรียมตัวออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ โดยมีลูกศิษย์หิ้วปิ่นโตเดินตามหลัง เมื่อท่านอุ้มบาตรเดินออกมาถึงหน้าประตูเข้าวัด ก็พบชาย ฉกรรจ์ผู้หนึ่งอายุราว ๆ สามสิบปี สะพายกระเป๋าเสื้อผ้าใบย่อมไว้บนบ่าข้างขวา เดินเข้ามานั่งยอง ๆ ยกมือไหว้แล้วถามท่านด้วยอาการตื่นเต้นว่า “ท่าน... ท่านพระครูเจริญ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงใช่หรือเปล่าครับ” เสียงที่พูดฟังแปร่งหู แสดงว่าไม่ใช่คนถิ่นนี้

“ฉันนี่แหละ เธอคงไม่ใช่คนแถวนี้ใช่ไหม” ท่านถาม ท่าทางเขาดีใจและประหลาดใจระคนกัน รีบตอบท่านไปว่า “ครับ ผมมาจากกาฬสินธุ์”

          “มีธุระอะไรกับฉันหรือ”

          “มีครับ สำคัญมาก แต่...ผม...คือ...มันเป็นความลับครับ” เขาพูดอึก ๆ อัก ๆ ครั้นจะบอกไปตามตรงว่าไม่อยากให้ลูกศิษย์ของท่านรู้ ก็เกรงว่าเจ้าหมอนั้นจะตั้งตัวเป็นศัตรู

          “เอาละฉันเข้าใจ ว่าแต่ว่าธุระของเธอด่วนมากหรือเปล่า ถ้าไม่รีบร้อน รอฉันกลับจากบิณฑบาตเสียก่อนจะได้ไหม” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงหาทางออกให้

          “ได้ครับ ได้ ผมจะรอท่านอยู่ตรงนี้” ชายต่างถิ่นรีบตอบ ท่านพระครูตั้งสติกำหนด “เห็นหนอ” แล้วเพ่งสายตาไปยังที่หน้าผากของเขา ก็ได้รู้ว่า บุคคลนี้มิได้มาร้าย จึงชี้มือไปที่กุฏิของท่านแล้วพูดว่า

          “ไปนั่งรอที่กุฏิของฉันดีกว่า นั้นหลังนั้น” ชายหนุ่มยกมือไหว้อีกครั้ง แล้วจึงเดินไปรอที่กุฏิตามคำสั่งของท่าน เขาดีใจและแปลกใจมากที่เหตุการณ์ช่างตรงกับความฝัน พระรูปนั้นมาปรากฏให้เขาเห็นในฝันติด ๆ กันถึงสามคืนจนเขาจำท่านได้ติดตา ช่างเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

          เขาปลดกระเป๋าออกจากบ่าวางมันลงที่พื้น แล้วเดินสำรวจไปรอบ ๆ วัด ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่เขาเห็นในฝัน เสียงประหลาดสั่งให้เขามา “แก้กรรม” ที่วัดแห่งนี้ บอกชื่อวัด ที่ตั้ง พร้อมทั้งชื่อสมภารเสร็จสรรพ เขาสู้อุตส่าห์เดินทางดั้นด้นมาเพื่อจะพิสูจน์และก็ได้พบแล้ว เพียงแต่ยังไม่รู้เท่านั้นว่า “แก้กรรม” เป็นอย่างไร แต่ก็แปลกที่เสียงนั้นช่างไม่เหมือนกับเสียงของท่านพระครูเลยสักนิด มันก้องกังวานและดูมีอำนาจลึกลับอย่างไรชอบกล จะเป็นเสียงใครหนอ คงจะต้องถามท่านพระครูดู ท่านคงจะรู้ เขาแน่ใจว่าท่านต้องรู้

          เกือบแปดโมงท่านพระครูและลูกศิษย์จึงกลับมา ท่านวางบาตรไว้บนอาสนะแล้วจึงเข้าไปล้างมือล้างเท้าในห้องน้ำ ลูกศิษย์จัดเตรียมสำรับไว้พร้อมแล้วจึงถอยออกมานั่งคอยรับใช้อยู่ห่าง ๆ

          ท่านพระครูตั้งสติพิจารณาอาหารแล้วจึงลงมือฉันพร้อมทั้งทำกรรมฐานเริ่มตั้งแต่ “เห็นหนอ...ตัก...ยก...มา...อ้า...ใส่...เคี้ยว...กลืน” ทุกอิริยาบถถูกกำกับด้วย “หนอ” ข้าวแต่ละคำจึงถูกท่านฉันอย่างมีสติ

          ฉันเสร็จ ลูกศิษย์ยกสำรับมาวางที่พื้นเพื่อจะกินอาหารที่เหลือและเก็บไว้กินมื้อกลางวันกับมื้อเย็น ส่วนท่านพระครูท่านฉันมื้อเดียว บางวันมีงานยุ่งมากก็ไม่ฉัน ไม่จำวัด แต่ท่านก็ไม่มีอาการอ่อนเพลียหรือเมื่อยล้า เพราะอยู่ด้วยอำนาจของสมาธิที่คนธรรมดา ๆ ไม่อาจทำเช่นนั้นได้

          “เอ้า กินข้าวกินปลาเสียก่อน มีเรื่องอะไรค่อยว่ากันทีหลัง” ท่านบอกชายแปลกหน้า ลูกศิษย์วัดตักข้าวใส่จานสองจานแล้วเรียกเขามาร่วมวง ท่านพระครูลุกออกไปแปรงฟันบ้วนปากในห้องน้ำ

          รับประทานอาหารเสร็จ ชายหนุ่มช่วยลูกศิษย์วัดล้างจาน เสร็จแล้วจึงเข้าไปหาท่านพระครู เป็นท่านนั่งขัดสมาธิก็นั่งท่านั้นบ้าง ลูกศิษย์วัดต้องมากระซิบว่า ให้นั่งพับเพียบ

          “เธอชื่ออะไร มาที่นี่ได้อย่างไร” ท่านพระครูถาม

          “บัวเฮียวครับ ผมเดินมา” ชายหนุ่มผู้มีนามว่าบัวเฮียวตอบ

          “เดินมาจากไหน คงไม่ใช่จากกาฬสินธุ์นะ”

          “ครับ ผมเดินมาจากกาฬสินธุ์ กว่าจะถึงที่นี่กินเวลาสิบห้าวันพอดี” เขาตอบ

          “ทำไมถึงไม่ขึ้นรถมาล่ะ รถโดยสารก็มีออกเยอะแยะ”

          “ในฝันเขาบอกให้เดินมาครับ”

          “อ้อ เชื่อฝัน” ท่านพระครูยิ้มอย่างใจดี บางครั้งคนที่มาหาท่านก็มีเรื่องแปลก ๆ มาเล่าให้ฟังเสมอ ๆ

          “เอ ชื่อแปลกดีนะ ฟังเหมือนชื่อญวน เป็นญวนหรือเปล่า” ท่านวกกลับมาถามเรื่องชื่อ

          “ผม...อ้า...เป็นไทยครับ” นายบัวเฮียวรีบตอบ เขากลัวท่านพระครูจะไม่ยอมให้บวช ถ้ารู้ว่าเป็นคนญวน

            “แล้วไปยังไงมายังไง จึงได้มาถึงที่นี่”

          “เรื่องมันแปลกประหลาดมาเชียวครับ ท่านพระครู”

          “เรียกฉันว่าหลวงพ่อ เหมือนที่คนอื่นเขาเรียกก็แล้วกัน”

          “ครับ หลวงพ่อ ผมจะเล่าให้หลวงพ่อฟังตั้งแต่ต้นเลยนะครับ” ชายหนุ่มนิ่งไปอึดใจหนึ่ง เหมือนจะทบทวนความทรงจำ แล้วจึงเริ่มต้นเล่า

          “ผมเกิดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พ่อกับแม่ทำงานอยู่ในโรงฆ่าสัตว์ พ่อมีหน้าที่ฆ่าวัวฆ่าควาย ซึ่งวันหนึ่ง ๆ จะฆ่าหลายตัว ส่วนแม่ก็ช่วยแล่เนื้อ หนัง กระดูก ตลอดจนพวกเครื่องในออกจากกัน เพื่อเตรียมส่งขาย มีร้านค้าย่อยมารับเอาไปขายราว ๆ ตีสี่ ผมก็เกิดและโตมาในโรงฆ่าสัตว์ ได้เห็นพ่อกับแม่ทำงานทุกวัน เถ้าแก่เขาให้พวกเรากินอยู่ในนั้นเสร็จ เมื่อผมโต พ่อก็พาไปเข้าโรงเรียนรัฐบาลพอจบประถมสี่ ก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน แรก ๆ ก็ช่วยแม่แล่เนื้อ พอโตอายุสิบสี่สิบห้า ก็ช่วยพ่อฆ่าวัดควาย ปีต่อมาพ่อตาย เถ้าแก่เลยให้ผมทำงานแทนพ่อ...”

          “พ่อเธอเป็นอะไรตาย” ท่านพระครูถามขึ้น นายบัวเฮียวนิ่งไปพักใหญ่ ๆ เมื่อถูกถามเรื่องที่ทำให้สะเทือนใจ ในที่สุด จึงเล่าให้ท่านฟังว่า “พ่อถูกแม่แทงตายครับ พ่อผมแกชอบกินเหล้า พอเมาแล้วก็หาเรื่องทะเลาะกับแม่ วันที่แกจะตายนั้นแกเมามาก ถึงกับลงไม้ลงมือกับแม่ แม่สู้ไม่ไหว เลยคว้ามีดที่ใช้แทงคอสัตว์นั้น แทงพ่อ” ถึงตอนนี้เขาหยุดเล่า ภาพเหตุการณ์สยดสยองในครั้งนั้นผุดขึ้นในความทรงจำ มันแจ่มแจ้งชัดเจน เหมือนกับเพิ่งเกิดขึ้น ทั้งที่วันเวลาล่วงเลยมาถึงสิบปีแล้ว

          “แม่เธอก็ต้องติดคุกนะสิ”

          “ครับ แม่ถูกจับฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ศาลตัดสินให้จำคุกยี่สิบปี แต่ลดให้ครึ่งหนึ่ง เพราะแม่รับสารภาพ พอปี ๒๕๐๖ ก็ได้รับการลดโทษอีกครึ่งหนึ่ง เนื่องในโอกาสที่ในหลวงอายุสามรอบ”

          “เป็นคนไทยต้องพูดราชาศัพท์ได้เขาเรียกว่า ทรงเจริญพระชนมายุครบสามสิบหกพรรษา” ท่านพระครูขัดขึ้น นายบัวเฮียวหน้าซีดรีบแก้ตัวเป็นพัลวัน

          “ผมจบแค่ ป.๔ พูดไม่เป็นหรอก แต่ผมก็เป็นคนไทย”

          “เอาละ เอาละ ไหนเล่าต่อไปซิ”

          “ครับ แม่ติดคุกอยู่ห้าปี พอออกจากคุก ก็มาทำงานอยู่ที่เก่า ผมก็อยู่กับแม่มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งผมอายุได้ยี่สิบห้าปี ก็มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นกับผม หลวงพ่ออาจไม่เชื่อก็ได้” เขาหยุดเล่าและมองหน้าท่านเหมือนจะหยั่งดูท่าทีของอีกฝ่าย

          “เล่าไปเถอะ เชื่อหรือไม่เชื่อแล้วฉันจะบอกทีหลัง” ท่านพระครูกล่าวเสียงเรียบ ชายหนุ่มจึงเล่าต่อไปว่า

          “คือเมื่อปีที่แล้ว ผมฝันประหลาดติด ๆ กันถึงสามคืน ตอนที่ฝัน ตื่นอยู่ก็ไม่เชิง ในฝัน ผมเห็นแสงสว่างวาบขึ้น แล้วเห็นหลวงพ่อ เห็นวัดภาพที่เห็นในฝันนั้นชัดเจนมาก จากนั้น ก็มีเสียงก้องกังวานดังขึ้น ไม่ทราบว่าเป็นเสียงใคร แต่คงไม่ใช่เสียงหลวงพ่อ มันเหมือนลอยมาจากอากาศ เสียงนั้นบอกว่า “บัวเฮียว ภาพที่เห็นคือวัดป่ามะม่วง พระรูปนั้นชื่อพระครูเจริญ เป็นเจ้าอาวาส เจ้าจงไปหาท่าน แล้วให้ท่านบวชให้ วัดนี้อยู่ท่างทิศตะวันตก ให้เจ้าเดินทางไปสิบห้าวันก็จะถึงวัด เจ้าจะสามารถแก้กรรมได้ที่วัดนี้”  แล้วภาพและเสียงก็หายไป ผมสะดุ้งตื่น ก็ได้เวลาทำงานพอดี ตอนแรกผมไม่ได้ใส่ใจ คิดว่า กินมาก ก็ฝันมาก พอคืนที่สองที่สามก็ฝันแบบเดียวกันนี้อีก เล่าให้แม่ฟัง แกก็บอกให้ลองทำตามฝันดู ผมจึงไปขอลางานเถ้าแก่ แกไม่ให้ลาเพราะไม่มีคนแทน ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ทำงานมาอีกปีหนึ่ง แล้วก็ได้โอกาสเมื่อแม่มีผัวใหม่ คือ ผัวใหม่แม่สมัครมาทำงานแทนผม เถ้าแก่เลยยอมให้ลาออกและเดินทางมานี่แหละครับ”

          “แล้วตอนนั้นแม่ของเธออายุเท่าไร”

          “สี่สิบกว่าครับ”

          “อ้อ สี่สิบหว่ายังแต่งงานใหม่ได้” ท่านพระครูพูดยิ้ม ๆ

          “ครับ เอ้อ พ่อใหม่ผมอายุแก่กว่าผมสักสองสามปีเห็นจะได้”

          “เรียกว่า ได้ผัวเด็กคราวลูกงั้นเถอะ”

          “ครับ แต่เขาเป็นคนดี ขยันขันแข็งแล้วไม่กินเหล้า” นายบัวเฮียวพูดราวกับว่าความดีของพ่อเลี้ยงจะทำให้ความผิดของแม่ลดน้อยลง เพราะการแต่งงานกับเด็กคราวลูกคราวหลาน ถือเป็นเรื่องผิดในสายตาของคนทั่ว ๆ ไป ถึงจะมีบางคนว่าไม่ผิด แต่อย่างน้อยมันก็ผิดปกติ

            ท่านพระครูเชื่อตามที่ชายหนุ่มเล่ามาทุกประการ แต่เพื่อความแน่ใจ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ คิดดังนั้น ท่านจึงตั้งสติกำหนด “เห็นหนอ” อีกครั้ง และก็รู้ว่าสิ่งที่เขาเล่ามาเป็นความจริงเกือบหมด ยกเว้นเรื่องเดียวคือ พ่อหนุ่มผู้นี้เป็นคนญวน ไม่ใช่คนไทย ท่านเข้าใจถึงสาเหตุที่เขาต้องพูดปด และคนที่พูดปดได้ก็เพราะจิตยังหยาบ ต่อเมื่อปฏิบัติกรรมฐานจนจิตละเอียดประณีตขึ้น ก็จะเกิดหิริโอตัปปะ คือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เมื่อนั้น เขาก็จะเลิกทำชั่ว พูดชั่ว และคิดชั่ว

          “ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเสียงนั้นบอกให้ผมมาแก้กรรมที่วัดนี้ ผมมีกรรมอะไรที่ต้องแก้ ในเมื่อผมไม่เคยทำเวรทำกรรมกับใคร” หนุ่มวัยเกือบสาบสิบเอ่ยขึ้น เขายังไม่รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ การเติบโตมาในโรงฆ่าสัตว์ ได้เห็น ได้ทำปาณาติบาตจนชิน ทำให้จิตใจของเขาหยาบกระด้างเกินกว่าคนปกติ

          “ลองนึกดูให้ดี ๆ ซิ ถ้าเหตุไม่มีแล้วผลมันจะเกิดได้อย่างไร” ท่านพระครูลองทดสอบคุณสมบัติทางใจของเขา นายบัวเฮียวนั่งนึกอยู่หลายนาที แต่ก็นึกไม่ออก จึงปฏิเสธเสียงหนักแน่น

          “ไม่เคยจริง ๆ ครับ ตั้งแต่จำความได้ ผมไม่เคยทำร้ายใคร ไม่เคยลักขโมย ไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อน”

          “ไม่จริงมั้ง” ท่านพระครูขัดขึ้น

          “จริงครับหลวงพ่อ ผมสาบานได้”

          “อย่าเลย ฉันไม่ชอบการสบถสาบาน เอาเถอะ ถ้ายังนึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร แต่เธอไม่สงสัยบ้างเลยหรือว่า ในเมื่อเธอไม่เคยทำบาปแล้ว ทำไมถึงเกิดนิมิตว่าจะต้องมาแก้กรรมที่นี่ สิ่งที่เธอเล่ามานั้นไม่ใช่ความฝันแน่นอน เขาเรียกว่านิมิต คนที่จะเห็นนิมิตเช่นนี้ได้ จะต้องเป็นคนโชคดี เพราะเรื่องอย่างนี้ไม่เกิดกับใครง่าย ๆ เหมือนคนที่ตายไปตกนรก แล้วกลับฟื้นขึ้นมาเล่าให้คนอื่นฟังนั้น เป็นคนโชคดีมาก”

            “ทำไมหลวงพ่อถึงคิดว่า คนที่ไปนรกเป็นคนโชคดีเล่าครับ” ชายหนุ่มถามอย่างสงสัย

          “ไม่เรียกว่าโชคดี แล้วจะเรียกอะไร ก็คนประเภทนี้มีสักกี่คนกันเล่าที่โชคดี เพราะเขาได้กลับมาแก้ตัวอีกครั้ง ฉันเห็นมานักต่อนักแล้ว พวกคนที่ว่าไม่เชื่อนรก พอฟื้นขึ้นมาก็เห็นรีบทำบุญสร้างคุณความดีกันทุกราย เพราะได้ไปเห็นของจริงมาแล้ว พอเขาทำดี เมื่อตายลงอีกครั้งก็ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ” ท่านพระครูอธิบาย

          “อบายภูมิแปลว่านรกหรือครับ” คนฟังเริ่มสนใจด้วยไอละออกของ “บุญเก่า” ยังพอมีเชื้อเหลือหลงอยู่บ้าง

          “อบายภูมิ หมายถึง ภูมิที่ไม่เจริญ ได้แต่ นรก เปรต อสุรกาย และ เดรัจฉาน คนที่ทำความชั่ว เมื่อตายลงไปจะไปเกิดในอบายภูมินี้”

          “ทำอะไรบ้างครับ จึงจะเรียกว่าทำชั่ว” เขาถามอีก

          “ก็ละเมิดศีลห้านี่แหละ รู้จักศีลไหมล่ะ พ่อแม่เคยพาไปทำบุญที่วัดบ้างหรือเปล่า” ท่านพระครูถามทั้งที่รู้คำ   ตอบดี “เห็นหนอ” ทำให้ท่านรู้กฎแห่งกรรมของบุรุษผู้นี้อย่างทะลุปรุโปร่ง

          “ไม่เคยครับ พ่อกับแม่ไม่เคยเข้าวัดไปทำบุญ แต่ถ้าเข้าไปดูหนังดูลิเกในวัดละก็บ่อย” ตอบอย่างพาซื่อ

          “ถ้าอย่างนั้น เธอก็ไม่รู้น่ะซีว่า การกระทำที่ละเมิดศีลห้ามีอะไรบ้าง อยากรู้ไหมล่ะ”

          “อยากครับ หลวงพ่อช่วยบอกผมหน่อยเถิดครับ”

          “งั้นก็ตั้งใจฟังให้ดีนะ การกระทำที่ละเมิดศีลก็ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักขโมย การเป็นชู้กับลูกเมียคนอื่น การพูดปด การดื่มสุราเมรัย”  ท่านพระครูอธิบาย เพราะถือว่า การสั่งสอนธรรมเป็นหน้าที่ของพระโดยตรง

          ได้ฟังถ้อยคำของเจ้าอาวาส นายบัวเฮียวรู้สึกสะท้านสะเทือนในหัวอก เขาละเมิดศีลไปสองข้อแล้ว คือฆ่าสัตว์กับพูดปด ส่วนอีกสามข้อยังไม่เคยทำ โดยเฉพาะข้อสุดท้ายนั้น เขาจะไม่ล่วงละเมิดอย่างเด็ดขาด ก็ไม่ใช่เพราะดื่มสุราเมรัยหรอกหรือ พ่อจึงต้องจบชีวิตอย่างเอนจอนาถ

          “หลวงพ่อครับ ฆ่าสัตว์ก็บาปด้วยหรือครับ” เขากังขา

          “แน่นอน”

          “ถ้าอย่างนั้น ผมคงบาปมากเลย เพราะฆ่าวัวฆ่าควายทุกวัน ยกเว้นวันพระซึ่งทางการเขาห้าม ผมคิดว่าฆ่าคนถึงจะบาป” ชายหนุ่มเพิ่งจะเข้าใจ สิ่งแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดูได้หล่อหลอมให้เขาเป็นผู้มีจิตใจหยาบกระด้าง แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เขาเป็นคนจิตใจดี มีเมตตากรุณา และด้วยเหตุนี้ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จึงบังเกิดขึ้นเมื่อกุศลผลบุญแต่ปางก่อนดลใจให้มาพบกัลยาณมิตร

          “ทีนี้ เธอคงรู้แล้ววีนะว่า ทำไมถึงต้องแก้กรรม” ท่านพระครูถามเขา

          “ครับ” นายบัวเฮียวตอบ เขาก้มหน้านิ่งด้วยความรู้สึกละอายใจที่โกหกท่านเรื่องเชื้อชาติของตน ในที่สุดจึงตัดสินใจถามขึ้นว่า

            “หลวงพ่อครับ คนที่ไม่ใช่คนไทย จะบวชที่วัดนี้ได้ไหมครับ”

          “ทำไมจะไม่ได้เล่า ที่นี่ไม่จำกัดเชื้อชาติ ถ้ามีจิตศรัทธามาขอบวชและมีคุณสมบัติครบ ก็บวชได้ทั้งนั้น” ท่านพระครูตอบ

          “แล้วคุณสมบัติที่ว่า มีอะไรบ้างครับ”

          “อันดับแรก ก็ต้องเป็นคนมีอาการครบ ๓๒ ไม่พิกลพิการ หรือ บ้า ใบ้ บอด หนวก แล้วก็ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ หรือถ้ามีเมีย ก็ต้องให้เมียอนุญาต”

          “ถ้าเมียไม่มีแล้วพ่อตาย จะบวชได้ไหมครับ”

          “ก็แม่อนุญาตหรือเปล่าเล่า”

          “อนุญาตครับ”

          “ถ้าเช่นนั้นก็บวชได้ไม่มีปัญหา ถามทำไมหรือ” ท่านแกล้งถามไปอย่างนั้นเอง ความจริงท่านรู้วาระจิตของชายที่นั่งตรงหน้าหมดสิ้นแล้ว

          “หลวงพ่อครับ ผมต้องขอโทษที่โกหกหลวงพ่อ” หากได้รับการศึกษาอบรมมาดีกว่านี้ นายบัวเฮียวคงจะพูดว่า “พระเดชพระคุณหลวงพ่อครับ กระผมต้องกราบขออภัยที่ไม่ได้พูดความจริงกับหลวงพ่อ...”

          “ขอโทษเรื่องอะไรหรือ”

          “เรื่องที่ผมโกหกว่าเป็นคนไทยน่ะครับ จริง ๆ แล้ว ผมไม่ใช่คนไทย พ่อแม่ผมเป็นญวน แต่ผมเกิดในเมืองไทยจึงได้สัญชาติไทย แต่เชื้อชาติญวน

          “แล้วทำไมต้องพูดปดด้วยเล่า” แม้ท่านพระครูจะล่วงรู้เหตุผลกลในของเขาเป็นอย่างดี หากท่านก็จำต้องถามเพื่อให้เขาได้พูดออกมาเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า เขาได้ขอขมาในความผิดนั้นแล้ว

          “ก็ถ้าพูดความจริง ผมกลัวหลวงพ่อจะไม่ยอมรับบวชให้ผมครับ” เขาตอบ

          “อ้าวแล้วกัน นี่ฉันไปรับปากรับคำว่าจะบวชให้เธอตั้งแต่เมื่อไหร่” ท่านตั้งใจจะล้อเล่น แต่นายบัวเฮียวเข้าใจว่า ท่านพูดจริง ใจที่กำลังฟูฟ่องนั้น กลับฟุบแฟบลงเสียทันใด

มีต่อ.......๒
         

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00002

 

๒...

          นายบัวเฮียวนั่งพับเพียบมานานจนรู้สึกเมื่อย จึงเปลี่ยนเป็นนั่งชันเข่า รู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงที่ท่านพระครูปฏิเสธที่จะบวชให้ เขามองท่านตาละห้อย คิดหาถ้อยคำที่จะพูดอ้อนวอนท่าน หากก็คิดไม่ออก จึงไม่มีคำพูดใด ๆ เล็ดลอดออกมาจากริมฝีปากค่อนข้างหนาคู่นั้น เห็นท่าทางผิดหวังของเขา ท่านพระครูได้นึกสงสาร จึงพูดขึ้นว่า

          “ฉันพูดเล่นหรอกนะ เอาเถอะในเมื่ออยากบวชก็จะบวชให้  เธออ่านหนังสือออกไม่ใช่หรือ จบประถมสี่นี่นะ” ใจที่ฟุบแฟบกลับฟูฟ่องขึ้นอีกครั้ง จึงตอบท่านว่า “ครับ พออ่านออกเขียนได้”

          “ดีแล้ว ต้องหัดท่องคำบาลีที่เรียกกันว่า “ขานนาค” ให้คล่อง ท่องได้เมื่อไหร่ก็บวชให้เมื่อนั้น”

          “ใช้เวลาสักกี่วันครับหลวงพ่อกว่าจะท่องได้”  ถามอย่างปีติ

          “ก็ต้องแล้วแต่เธอ ถ้าความจำดีก็ได้เร็ว ไม่เกินสามวันเจ็ดวันก็ได้ แต่ถ้าความจำไม่ดีก็อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน เอาละ เดี๋ยวจะหาพระให้มาเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลบอกกล่าว ฉันไม่ค่อยมีเวลา ไหนจะต้องคอยรับแขกที่มาเข้ากรรมฐาน บางวันเขาก็นิมนต์ไปบรรยายธรรมต่างที่ต่าง ๆ ครั้นจะไม่รับนิมนต์เขาก็จะติฉินนินทาเอาได้ ว่าไม่ทำหน้าที่พระ” ประโยคหลังท่านบ่นกราย ๆ

          “พระที่หลวงพ่ออยู่ที่ไหนครับ”

          “อยู่วัดนี้แหละ สมชายมานี่หน่อยซิ” ท่านเรียกลูกศิษย์วัดซึ่งกำลังทำความสะอาดกุฏิอยู่ชั้นบน เด็กหนุ่มคลานเข้ามาหาท่าน แล้วจึงถาม

          “หลวงพ่อมีอะไรจะใช้ผมหรือครับ”

          “ช่วยไปดูซิว่าพระมหาบุญอยู่หรือเปล่า ถ้าอยู่บอกให้มาพบฉันหน่อย มีธุระจะพูดด้วย” เด็กหนุ่มคลานออกไปจนถึงประตูแล้วจึงลุกขึ้นเดิน สักครู่ก็กลับมาพร้อมพระรูปหนึ่งอายุประมาณสี่สิบปี เมื่อมาถึงภิกษุรูปนั้นนั่งกราบเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงถามขึ้นว่า

          “หลวงพ่อมีอะไรจะให้ผมรับใช้หรือครับ”

          “มีสิท่านมหา นี่เขาจะมาขอบวช จะให้ท่านมหาช่วยสอนเรื่องการเตรียมตัวบวช รู้จักท่านมหาเสียสิ บัวเฮียว” นายบัวเฮียวยกมือไหว้แบบเดียวกับที่ไหว้ท่านพระครู พร้อมกับยิ้มให้ท่านมหา

          “คงต้องสอนเรื่องการกราบการไหว้ให้ด้วย คงหนักหน่อยนะ นึกว่าเอาบุญก็แล้วกัน” ท่านพระครูพูดอย่างเกรงใจ

          “ไม่เป็นไรครับ ผมจะช่วยดูแลให้ดีที่สุด หลวงพ่อวางใจได้ แล้วจะให้เขาพักที่ไหนครับ”

          “คงต้องให้อยู่กุฏิเดียวกับท่านมหาไปก่อน ออกพรรษามีกุฏิว่างแล้วค่อยให้แยก อีกสองวันพระ ก็จะออกพรรษาแล้วนะ ทนอึดอัดไปก่อนนะบัวเฮียวนะ”

          “ไม่เป็นไรครับ ผมต้องขอบคุณหลวงพ่อและท่านมหาที่ช่วยเหลือผมมาก”

          คำพูดนั้นไม่ไพเราะนัก ทว่าก็ออกมาจากใจจริง

          “เอาละ เป็นอันว่าเสร็จธุระแล้ว ท่านมหาพาไปที่กุฏิเลย มีอะไรขัดข้องก็มาบอกฉันได้ ขอให้เชื่อฟังท่านมหาเขานะบัวเฮียวนะ” ท่านหันไปสั่งนายบัวเฮียว ซึ่งชายหนุ่มก็รับคำแข็งขัน พระมหาบุญกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วจึงบอกให้นายบัวเฮียวกราบบ้าง หนุ่มญวนทำตามอย่างว่าง่ายแม้ท่าทางจะดูเก้ ๆ กัง ๆ ด้วยไม่เคยทำมาก่อน

          นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา หากผู้ใดเดินผ่านกุฏิของพระมหาบุญก็จะได้ยินเสียง “เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา...” หรือไม่ก็เป็น “....อุกาสะ วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต...” ดังออกมาจากกุฏิ บางครั้งก็เป็นเสียงสวดยถาสัพพี บางวันก็เป็นเสียงสวดธรรมจักร แล้วแต่ใครจะผ่านไปได้ยินตอนใด

          พระมหาบุญลงความเห็นว่า แม้นายบัวเฮียวจะดูเป็นคนเซ่อ ๆ ซ่า ๆ แต่ก็ว่านอนสอนง่าย และมีความจำเป็นเลิศ ชั่วเวลาเพียงสี่วัน เขาก็สามารถท่อง “ขานนาค” ได้อย่างคล่องแคล่วและถูกต้องแม่นยำ การไหว้การกราบก็ทำได้สวยงามดูไม่เคอะเขินขัดหูขัดตาเหมือนตอนที่มาใหม่ ๆ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรับฟังรายงานจากพระมหาบุญด้วยความยินดี

          ก่อนออกพรรษาห้าวัน นายบัวเฮียวก็เขาพิธีอุปสมบท โดยมีท่านพระครูเจริญเป็นพระอุปัชฌาย์ พระคู่สวดได้แก่ พระมหาบุญซึ่งรับหน้าที่เป็นพระกรรมวาจาจารย์ กับพระมหาเปล่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์ อีก ๒๕ รูปเป็นพระอันดับ ทุกรูปล้วนเป็นพระวัดป่ามะม่วงทั้งสิ้น

          วันที่นายบัวเฮียวบวช ท่านพระครูงดออกบิณฑบาตโปรดสัตว์หนึ่งวัน เมื่อออกจากกรรมฐานในตอนเช้าแล้ว จึงจัดการให้ช่างตัดผมมาโกนผมให้นายบัวเฮียว โดยท่านนั่งดูอยู่ใกล้ ๆ ช่างตัดผมใช้กรรไกรตัดผมให้สั้นเสียก่อน แล้วจึงใช้มีดโกน ทันทีที่ใบมีดโกนสัมผัสหนังศีรษะ นายบัวเฮียวรู้สึกเสียบวาบไปทั่วร่างกาย พลันก็ระลึกนึกถึงบิดามารดา อยากให้บุคคลทั้งสองมาร่วมงานด้วย โดยเฉพาะบิดานั้นเขาคิดถึงมาก ไม่รู้ว่าป่านฉะนี้จะไปเกิด ณ ที่ใด แต่ก็คงไม่พ้นอบายภูมิ เพราะท่านพระครูบอกว่า คนที่ทำกรรมชั่วจะต้องไปเกิดที่นั่น คิดแล้วชายหนุ่มก็ร้องไห้ แรก ๆ ก็น้ำตาไหลเฉย ๆ หนักเข้าก็ถึงกับสะอื้นฮัก ๆ จนท่านพระครูสังเกตรู้ ส่วนช่างตัดผมไม่พูดว่ากระไร คงทำหน้าที่ของตนต่อไป “เธอร้องไห้ทำไมหรือบัวเฮียว” ว่าที่อุปัชฌาย์ถาม

          “ผม...ผมคิดถึงพ่อกับแม่ครับ” ตอบปนสะอื้น ท่านพระครูเข้าใจความรู้สึกของเขา จึงพูดปลอบว่า

          “คิดถึงทำไม ก็แม่เธอเขามีความสุขไปแล้ว ไหนเธอบอกว่าพ่อเลี้ยงเขาเป็นคนดียังไงล่ะ”

          “ครับ แต่ผมก็อยากให้แม่มาร่วมงานในวันนี้ อยากให้แกมาเห็นชายผ้าเหลือง” พูดพลางใช้มือปาดน้ำตา

          “ยังไง ๆ เสียเขาก็ต้องได้เห็น แก้กรรมแล้วก็กลับไปเยี่ยมเขาได้ จะมานั่งเสียอกเสียใจทำไม”

          “ครับ” เขารับคำและหยุดร้องไห้ แต่ยังสะอึกสะอื้น พระครูท่านหยิบกระดาษเช็ดหน้าส่งให้เขาเช็ดน้ำมูกและน้ำตา เงียบกันไปครู่หนึ่ง หนุ่มวัยเกือบสามสิบก็เอ่ยขึ้นว่า

          “หลวงพ่อครับ แล้ว...พ่อ...พ่อ...ผมไปเกิดที่ไหนก็ไม่รู้” พูดแล้วก็ร้องไห้อีก ท่านพระครูจึงพูดตัดบทว่า

          “อย่าเพิ่งไปคิดอะไรมาก ทำใจให้สบาย วันนี้เป็นวันมงคลของเธอนะ ขอให้ห่วงตัวเอง ช่วยตัวเองให้ได้เสียก่อน แล้วจึงค่อยคิดช่วยคนอื่น ผู้อื่นจะกระโจนลงไปช่วยคนตกน้ำ จะต้องว่ายน้ำเป็นเสียก่อน มิฉะนั้นก็จะพากันจบน้ำตายทั้งสองคน เรื่องพ่อของเธอนั้น หากเธอหมั่นทำกรรมฐานแล้วแผ่เมตตาไปให้ ก็อาจจะช่วยแกได้บ้าง” พูดแล้วก็หยิบกระดาษเช็ดหน้าส่งให้เขาอีกครั้ง

          “จริงหรือครับหลวงพ่อ” ถามพลางรับกระดาษไปเช็ดน้ำตาและน้ำมูก ไม่ลืมที่จะประนมมือไหว้และกล่าวคำขอบคุณทุกครั้งก่อนรับของ

          “ฉันจะโกหกเธอทำไมกันเล่า” นายบัวเฮียวเกรงท่านจะโกรธ จึงพูดขึ้นว่า “ขอโทษครับ ถ้าอย่างนั้นผมจะตั้งใจปฏิบัติให้ดีที่สุด”

          “ดีแล้ว ฉันขออนุโมทนาด้วย จำไว้เถิดว่า อะไร ๆ ก็ไม่เหลือวิสัยของบุคคลที่มีความเพียรไปได้” เจ้าอาวาสพูดให้กำลังใจ

          เสร็จจากโกนผม ท่านพระครูจึงบอกให้นายบัวเฮียวไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหมดจน เพื่อเตรียมเข้าพิธีในพระอุโบสถ พิธีจะเริ่มในเวลา ๙.๐๙ นาฬิกา

          ค่ำวันเดียวกันนั้น พระบัวเฮียวได้นำพานดอกไม้ธูปเทียนมาขอขึ้นกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์อีกครั้งหนึ่ง ท่านพระครูเจริญอธิบายให้พระใหม่เข้าใจว่า การขอกรรมฐานในพิธีซึ่งทำกันในพระอุโบสถเมื่อเช้านี้ เป็นการทำตามประเพณีเท่านั้น เพราะหลังจากบวชแล้ว พระส่วนใหญ่ก็มิได้นำไปปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกฎสำหรับพระวัดนี้ว่า พระบวชใหม่จะต้องมาขอกรรมฐานอีกครั้งเพื่อเป็นการยืนยันว่า จะตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ตลอดระยะเวลาที่ดำรงเพศเป็นบรรพชิต

          เมื่อพระบัวเฮียวกล่าวคำขอสมาทานกรรมฐานแล้ว ท่านพระครูจึงลงมือสอนด้วยตนเอง

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง ท่านมีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติมามาก สมัยที่บวชใหม่ ๆ ท่านเจริญสมถกรรมฐาน โดยการกำหนด “พุทโธ” เป็นองค์บริกรรม ปฏิบัติสมถกรรมฐานอยู่หลายปี จนได้อภิญญา แต่ก็เป็นโลกียอภิญญา ซึ่งเมื่อมีได้ก็เสื่อมได้ ไม่แน่นอนและไม่นำไปสู่ความหลุดพ้น

          เมื่ออายุได้ ๔๕ ปี ท่านได้ธุดงค์ไปในป่าดงพระยาเย็น เพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะแนะนำเรื่องการปฏิบัติได้ ป่าดงพระยาเย็นนี้ แต่เดิมมีชื่อว่า ป่าดงพระยาไฟ ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงเปลี่ยนมาเป็น ดงพระยาเย็น เพื่อให้ฟังดูไพเราะและไม่น่ากลัวเหมือนชื่อเดิม

          ที่ป่าดงพระยาเย็น ท่านพระครูเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ จาก “พระในป่า” แล้วท่านก็ได้พบว่า ไม่มีทางสายใดที่จะประเสริฐเท่ากับทางสายนี้อีกแล้ว ท่านเพิ่งจะเข้าใจซาบซึ้งในพุทธวจนะที่เคยอ่านพบในพระไตรปิฎก ความว่า “....ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นความโศกแลปริเทวะ เพื่อความอัสดงแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุโลกุตตรมรรค เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน นี่คือ สติปัฏฐาน ๔...”

          นับเป็นโชคอันดี เป็นลาภอันประเสริฐของท่านพระครูที่ได้ไปพบกัลยาณมิตร ด้วย “พระในป่า” รูปนั้นท่านประกอบด้วยกัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการครบบริบูรณ์คือ น่ารัก น่าเคารพ น่าเจริญใจ รู้จักว่ารู้จักพูด ยอมให้พูดยอมให้ว่า แถลงเรื่องลึกซึ้งได้ และไม่ชักนำในเรื่องที่ไม่ควร เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่กับ “พระในป่า” เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม

          การดำเนินมรรคาที่ถูกต้องหนึ่ง การพบกัลยาณมิตรหนึ่ง ความไม่ย่อหย่อนในการประกอบความเพียรหนึ่ง และบุญบารมีที่ได้สะสมมาแล้วแต่ชาติปางก่อนหนึ่ง องค์ประกอบทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเหตุปัจจัยให้การปฏิบัติของท่านก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กระทั่งได้บรรลุโลกุตตรธรรมในที่สุด

          นับแต่บัดนั้นจนบัดนี้ ท่านได้สัมผัสกับความสุขที่แท้จริง และได้ตระหนักชัดแล้วว่า “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ – สุขอื่นที่ยิ่งกว่าความสงบไม่มี

          ด้วยจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตา ปรารถนาจะให้เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้เข้าสู่ภาวะอันประเสริฐบริสุทธิ์นั้นบ้าง ท่านจึงทำวัดให้เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐาน ฝึกอบรมพระเณรในวัดให้รู้วิธีปฏิบัติ เช่น การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ตลอดจนการกำหนดรู้ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น

          วัดป่ามะม่วงจึงหลายเป็นสถานที่ดับร้อนผ่อนทุกข์ของชนเป็นอันมาก เพราะเป็นที่สัปปายะ คือความสะดวก ๔ ประการ ได้แก่ เสนา – สนสัปปายะ – มีที่พักอาศัยสะดวก อาหารสัปปายะ – มีอาหารการบริโภคสะดวก บุคคลสัปปายะ – มีบุคคลที่เกี่ยวข้องทำให้สบายใจ เพราะธรรมสัปปายะ – มีหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะแก่จริตของผู้ปฏิบัติธรรม ความสะดวก ๔ ประการนี้มีอยู่พร้อมมูลในวัดป่ามะม่วงที่ท่านพระครูเจริญเป็นเจ้าอาวาส

          เมื่อพระบัวเฮียวกล่าวคำขอสมาทานกรรมฐานเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงซักถามพระบวชใหม่เพื่อต้องการทราบพื้นฐานความรู้

          “พระมหาบุญท่านสอนอะไรมาบ้างหรือยัง” ท่านหมายถึงเรื่องการปฏิบัติ

          “สอนแล้วครับ” พระบวชใหม่ตอบ

          “ท่านสอนอะไรบ้าง”

          “ท่านอนเมือนกับหลวงพ่อสอนนั่นแหละครับ พระบัวเฮียวตอบซื่อ ๆ       

          “ฉันยังไม่ได้สอนเธอนี่นา ก็กำลังจะสอนอยู่นี่ไง” พระอุปัชณาย์ท้วง

          “สอนครับ ก็หลวงพ่อเคยสอนให้ผมเชื่อฟังท่านมหา ท่านมหาก็สอนให้ผมเชื่อฟังพลวงพ่อ” พระใหม่ขยายความ

          “อ้อ...แต่ที่ฉันถามนั้น หมายถึงการปฏิบัติกรรมฐานต่างหากล่ะ พระมหาบุญท่านสอบการเดินจงกรม การนั่งสมาธิให้บ้างหรือยัง” ผู้อาวุโสกว่าเริ่มจะรู้สึกถึงความซื่อที่มีระดับใกล้เคียงกับ “เซ่อ” ของพระผู้เป็นลูกศิษย์

          “ยังครับ” คราวนี้พระบัวเฮียวตอบแข็งขัน

          “ถ้าอย่างนั้นก็เริ่มต้นกันเลย เอาละ ยืนขึ้น ฉันจะสอนเดินจงกรมระยะที่หนึ่งให้” แล้วท่านก็ลุกขึ้น ผู้บวชใหม่ลุกตาม แต่ตั้งใจว่าจะปฏิบัติให้ดีที่สุด เพราะศรัทธาปสาทะที่มีต่อท่านพระครูนั้น เป็นเสมือนโอสถขนาดเอกที่จะทำให้ตนหายจากโรคได้

          “การเดินจงกรม มีทั้งหมด ๖ ระยะ ระยะที่หนึ่งมีหนึ่ง “หนอ” ระยะที่สองก็มีสอง “หนอ” แล้วก็เพิ่มขึ้นระยะละหนึ่ง “หนอ”ไปเรื่อย ๆ จนถึงระยะที่หก ก็มีหก “หนอ” ผู้เป็นอุปัชฌาย์อธิบาย

          “หนอ แปลว่าอะไรครับหลวงพ่อ” ถามอย่างใคร่รู้ หากในใจนั้นคิดเล่น ๆ ว่า “หนอ ๆ แหน ๆ อะไรกันวุ้ย หลวงพ่อนี่พิกลจริง ๆ”

          “ถ้าจะเอาคำแปลกันจริง ๆ มันก็ไม่มี เพราะมันเป็นคำอุทาน เหมือนเวลาเราพูดว่า สุขจริงหนอ ดีใจหนอ อะไรพวกนี้ แต่ในการปฏิบัติธรรม เราเอา “หนอ” มาใช้เป็นองค์บริกรรม เช่น ขวา – ย่าง – หนอ   ซ้าย – ย่าง – หนอ “หนอ” ในที่นี้แปลว่า “กำลัง” หรือจะแปลว่า “รู้” ก็ได้เหมือนกัน คือ รู้ปัจจุบัน เช่นรู้ว่าเรากำลังเดิน รู้ว่ากำลังกิน สรุปก็คือ “หนอ” เป็นตัวบอกให้เรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลานั่นเอง เข้าใจหรือยังล่ะ” ท่านพระครูอธิบาย ท่านไม่รู้สึกแปลกใจว่า เหตุใดพระบวชใหม่ทุกรูปก็เคยถามท่านแบบเดียวกันนี้มานักต่อนักแล้ว

          “เข้าใจแล้วครับ ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อสอนผมเดินทั้งหกระยะเลยได้ไหมครับ วันหลังจะได้ไม่ต้องมารบกวนหลวงพ่อ” พระใหม่พูดด้วยความเกรงใจ

          “ไม่ได้หรอก ต้องเดินวันละหนึ่งระยะแล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน อย่าใจร้อน ปฏิบัติธรรมต้องใจเย็น ๆ จึงจะได้ผล เอาละฉันจะเดินระยะที่หนึ่งให้ดู ลำดับแรก ยืนตัวตรง เอามือไขว้หลัง นี่อย่างนี้” พระบัวเฮียวทำตาม หากมือที่ไขว้นั้นเอามือซ้ายทับมือขวาและแขนห้อยลงแบบสบาย ๆ

          “ทำอย่างนั้นไม่ได้ นี่ต้องเอามือขวาทับมือซ้าย แล้วยกมือที่ไขว้ขึ้นมาไว้บริเวณกระเบนเหน็บ ไม่ใช่ห้อยสบาย ๆ แบบนั้น” ท่านจับมือทั้งสองของพระใหม่ และจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

          “เอาละ เสร็จแล้วกำหนด “ยืนหนอ” ห้าครั้ง หายใจยาว ๆ เอาสติไว้ที่ศีรษะ พอบอก “ยืน....ค่อย ๆ ลากสติลงมาช้า ๆ พอถึงคำว่า “หนอ” สติก็จะมาอยู่ที่เท้าพอดี แล้วจึงลากขึ้นด้วยวิธีเดียวกัน เพราะฉะนั้น “ยืน....หนอ” ห้าครั้ง เราก็จะลากสติ ลง...ขึ้น ลง...ขึ้น ลง ลองทำซิ” พระใหม่ทำตามคำบอก และก็ทำได้โดยไม่ข้องขัด ท่านพระครูพอใจที่เขาเป็นคนสอนง่าย

          “หลวงพ่อครับ ทำไมต้องพูดว่า “ยืน...หนอ” ตั้งห้าครั้งเล่าครับ” ถึงจะสอนง่ายแต่ก็ชอบซัก

          “ที่ต้องบริกรรมห้าครั้งก็เอามาจาก ตจปัญจกกรรมฐาน นั่นไง ไหนบอกมาซิว่า ตจปัญจกกรรมฐานมีอะไรบ้าง”

          “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ครับ” พระบัวเฮียวว่าเร็วปรื๋อ เพราะเป็นคนจำแม่น

          “แปลด้วย”

          “เกสา – ผม โลมา – ขน นขา – เล็บ ทันตา – ฟัน ตโจ – หนัง ครับ”

          “ดีมาก นี่แหละการให้ ยืน...หนอ ห้าครั้ง ก็เพื่อจะให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่บางสำนักเขาก็ให้ “ยืน...หนอ” สามครั้ง โดยลากสติขึ้นลงเฉย ๆ อันนี้ก็แล้วแต่ใครจะถนัดอย่างไร เพราะถึงจะปฏิบัติแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ก็มีจุดหมายอันเดียวกัน คือ ความหลุดพ้นจากทุกข์ เอาละ เมื่อ ยืน...หนอ ห้าครั้งแล้วก็จะเริ่มต้น ไหนบอกมาก่อนซิว่า ตอนนี้สติอยู่ที่ไหน”

          “ที่เท้าครับ”

          “ดีมาก เอาละ ทีนี้ก็ย้ายสติมาไว้ที่เท้าขวา เพราะเราจะก้าวเท้าขวาก่อน นี่ก้าวที่หนึ่งบริกรรมว่าอย่างนี้ “ขวา – ย่าง – หนอ” ต้องก้าวช้า ๆ แล้วการบริกรรมที่ต้องให้ทันปัจจุบันด้วย นี่เห็นไหม เดินหนึ่งก้าวก็หนึ่ง “หนอ” เอาละ ทีนี้จะก้าวเท้าซ้ายก็ย้ายสติมาไว้ที่เท้าซ้าย บริกรรมว่า “ซ้าย – ย่าง – หนอ” พร้อมกับก้าวไปด้วย” ท่านลองเดินให้ดูสี่ห้าก้าว แล้วจึงให้พระใหม่ลองทำให้ดู พระบัวเฮียวก็เดินอย่างรวดเร็ว

          “หยุดก่อน หยุดก่อน เดินเร็วอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเดินช้า ๆ เหมือนอย่างที่ฉันเดินให้ดูนั่งไง”

          “ทำไมต้องเดินช้า ๆ ด้วยครับหลวงพ่อ” ถามเพราะไม่เข้าใจ

          “ที่ต้องเดินช้า ๆ ก็เพื่อจะได้เห็นสัจธรรม เดินเร็ว อิริยาบถไปบังสัจธรรม เดินเร็ว อิริยาบถไปบังสัจธรรมหมด รู้หรือยัง”

          “สัจธรรมคืออะไรครับ” คนช่างสงสัยถามอีก

          “ถ้าอยากรู้ก็ต้องเร่งทำความเพียร หมั่นเดินจงกรมนั่งสมาธิ ฝึกสติให้มาก ๆ สติดีเมื่อไหร่ก็จะรู้เอง”

          “งั้นก็แปลว่า ตอนนี้ผมสติไม่ดีน่ะซี เปล่านะครับหลวงพ่อ ผมไม่ได้บ้านะครับ” พระใหม่ร้อนตัวด้วยเข้าใจความหมายไม่ตรงกับผู้พูด

          “ฉันก็ไม่ได้ว่าเธอบ้านี่นา จำไว้นะ เมื่อเธอจะไปสอนคนอื่นต่อไปในวันข้างหน้า คนบ้าอย่าเอามาเข้ากรรมฐานเด็ดขาด บางคนไม่เข้าใจ คิดว่าเอาคนบ้ามาเข้ากรรมฐานจะทำให้หายได้ ไม่จริงเลย มีแต่จะทำให้บ้าหนักขึ้น ก็อย่างเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สติไม่ค่อยดี ญาติเลยพามาเข้ากรรมฐาน ฉันก็ไม่รู้ เพราะพระมหาบุญท่านเป็นคนสอน แหม พอเดินจงกรมได้สามวันก็ออกฤทธิ์เลย ลุกขึ้นรำป้อ ใครห้ามก็ไม่ฟัง คนเขามาตามฉันไปดู ฉันเลยให้ญาติมาพาส่งปากคลองสาน”

          “แล้วเขายอมไปแต่โดยดีหรือครับ”

          “อ้าว ถ้ายอมก็ไม่ใช่คนบ้าซี”

          “แล้วทำยังไงถึงไปได้ล่ะครับ”

          “พระมหาบุญท่านใช้อุบายให้ญาติหลอกว่าสำนักนี้สอนไม่ดี รำก็ไม่สวยสู้สำนักโน้นไม่ได้ เขาก็ต้อนขึ้นรถบอกจะพาไปสำนักโน้น ก็เลยพาไปได้”

          “ทำไมคนบ้าถึงปฏิบัติไม่ได้เล่าครับ” พระใหม่ถามอีก

          “เอาละ ฉันจะยังไม่ตอบเธอ ให้เธอรู้เอาเองเมื่อได้ปฏิบัติถึงระดับหนึ่งแล้ว อยากเตือนสักนิดว่า ความลังเลสงสัยจนเกินขอบเขต มันจะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ เก็บความสงสัยไว้ก่อน ปฏิบัติมาก ๆ เข้าก็จะหายสงสัยไปเอง” ผู้เป็นอุปัชฌาย์แนะแนว

          “ครับหลวงพ่อ ถ้าอย่างนั้นผมจะตั้งใจปฏิบัติให้ก้าวหน้าโดยเร็ว” ว่าแล้วก็เดินจงกรมอย่างตั้งอกตั้งใจ

          “เอาละ ทีนี้พอเดินสุดทางซึ่งไม่ควรจะมากว่าสามเมตร ก็กำหนดกลับโดยบริกรรมว่า “กลับ – หนอ” อย่างนี้” ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พระบัวเฮียวทำตามโดยไม่ยากนัก

          “เอาละ เมื่อเดินเป็น กลับเป็นแล้ว พรุ่งนี้ฉันจะสอนการนั่งให้ สำหรับวันนี้เดี๋ยวเธอกลับไปเดินจงกรมต่อที่กุฏิของเธอให้ได้หนึ่งชั่วโมง จากนั้น ก็ให้นอนหงายเอามือขวาวางบนท้อง สังเกตอาการ พอง – ยุบ ของท้อง เมื่อท้องพองให้บริกรรมว่า “พอง – หนอ” เมื่อยุบก็ให้บริกรรมว่า “ยุบ – หนอ” ไปจนกว่าจะหลับ พยายามจับให้ได้ว่า หลับไปตอนพองหรือตอนยุบ เอาละ กลับไปได้แล้ว”

          “ผมต้องอขกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูง ที่ได้เมตตาสอนให้” พูดพร้อมกับก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วจึงค่อย ๆ คลานถอยหลังออกมา ครั้นถึงประตูจึงหันหลังกลับ ลุกขึ้นเดินไปยังกุฏิของตน ซึ่งอยู่รวมกับพระมหาบุญ ขณะเดินท่านก็กำหนด ซ้าย – ขวา ไปตลอดทาง กระนั้นเสียง “หนอ ๆๆ” และ “เอาละ ๆๆ” ก็ยังก้องอยู่ในโสตประสาท วันนี้ พระอุปัชฌาย์ของท่านใช้คำว่า “หนอ” กับ “เอาละ” มากที่สุด

 

มีต่อ.....๓

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00003

 

๓...

          พระบัวเฮียวกลับกุฏิด้วยความเอิบอิ่มใจ ท่านจัดการล้างมือล้างเท้าให้สะอาดเรียบร้อย แล้วจึงสวดมนต์ทำวัตรเย็น พระวัดนี้จะลงโบสถ์สวนมนต์ทำวัตร เช้า – เย็น และสวดปาติโมกข์ พร้อมกันก็เฉพาะในวันพระเท่านั้น และหากรูปใดทำผิดวินัยเล็ก ๆ น้อย ที่ไม่ใช่อาบัติขึ้นปาราชิก ก็จะปลงอาบัติกันในวันนี้ ส่วนวันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วันธรรมสวนะ ต่างคนก็ต่างปฏิบัติอยู่ในกุฏิของตน มีปัญหาหรือสงสัยในเรื่องใดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติ ก็จะไปเรียนถามท่านเจ้าอาวาส

          พระมหาบุญมอบนาฬิกาปลุกขนาดเล็กให้พระบวชใหม่หนึ่งเรือน

          “เอาไว้จับเวลา ตอนแรก ๆ ต้องอาศัยนาฬิกาปลุก แต่พอปฏิบัติไปนาน ๆ จิตมันรู้ได้เอง อย่างผมเดี๋ยวนี้ไม่ต้องพึ่งนาฬิกา อยากปฏิบัติกี่ชั่วโมงก็กำหนดจิตเอาไว้เหมือนกับการตั้งนาฬิกาปลุก พอถึงเวลาที่กำหนด จิตมันบอกเอง มันก็แปลกนะคุณบัวเฮียว ตอนปฏิบัติใหม่ ๆ ท่านพระครูก็บอกผมอย่างนี้ ตอนนั้นผมไม่เชื่อ ผมมันคนหัวรั้น ไม่ยอมเชื่อใครง่าย ๆ แต่ก็ชอบลองชอบพิสูจน์และผมก็ได้พิสูจน์แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง”

          ท่านสอนวิธีใช้ให้ด้วย พระบัวเฮียวตั้งเวลาไว้หนึ่งชั่วโมง แล้วจึงเริ่มต้นเดินจงกรม อาศัยที่ความจำดี จึงเดินได้ถูกต้องตามขึ้นตอนทุกประการ ท่านเดินไปเดินมาในกุฏิซึ่งมีความยาวประมาณสามเมตรด้วยความเพลิดเพลินกระทั่งเสียงกริ่งนาฬิกาดังขึ้น กดปุ่มนาฬิกาให้หยุดคำรามแล้วตั้งใหม่ให้ปลุกตอนตีสี่

          หยิบเครื่องนอนซึ่งมีเสื่อ หมอนกับผ้าห่ม มาจัดการปูที่นอนข้าง ๆ พระมหาบุญ คลี่ผ้าออกคลุมกายด้วยอากาศเริ่มหนาวเย็น เพราะย่างเข้าฤดูเหมันต์ ปิดไฟแล้วจึงเอนกายลงใช้มือขวาวางบนท้อง สังเกตอาการ พอง – ยุบ พร้อมกับบริกรรม “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” ตามที่พระอุปัชฌาย์สอน สักครู่ก็ม่อยหลับไปโดยจับไม่ได้ว่า หลับไปตอนพองหรือตอนยุบ

          เสียงกริ่งนาฬิกาดังขึ้นเมื่อเวลาตีสี่พร้อม ๆ กับเสียงพระตีระฆัง ตามด้วยเสียงเห่าหอนของสุนัขซึ่งจะพากันหอนเห่าทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเหง่งหง่างของระฆัง ซึ่งดังก้องกระหึ่มไปทั่วบริเวณ พระบัวเฮียวสะดุ้งตื่นแต่ยังงัวเงียเพราะหลับไม่เต็มอิ่ม

          อากาศตอนเช้ามืดหนาวเย็นน่าที่จะซุกกายอยู่ภายใต้ผ้าห่มอันอบอุ่น ท่านจึงเอื้อมมือไปกดปุ่มนาฬิกาหมายจะนอนต่อ แต่เสียงที่ดังอยู่ริมหูทำให้ท่านหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง

          “บัวเฮียว ถ้าเจ้าเกียจคร้านเห็นแก่หลับแก่นอน ไม่รีบเร่งทำความเพียร เจ้าก็จะไม่สามารถแก้กรรมได้ เจ้าเดินมาถูกทางแล้ว ขอให้เดินต่อไปอย่าท้อถอย ตื่นขึ้นเดินจงกรมเดี๋ยวนี้”

          จำได้แม่นยำว่าเป็นเสียงลึกลับที่เคยได้ยินเมื่อปีที่แล้ว พระบวชใหม่รีบลุกขึ้นล้างหน้าแปรงฟัน สวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้วเดินจงกรม พระมหาบุญลุกออกไปปฏิบัติที่หน้าพระอุโบสถ เพื่อเปิดโอกาสให้พระบัวเฮียวได้ปฏิบัติอย่างอิสระ

          ไก่ป่าที่ส่งเสียงขันประชันกับเสียง “กาเว้า กาเว้า” ของเจ้านกกาเหว่านั้นมิได้สร้างความรำคาญให้กับผู้บวชใหม่ เพราะท่านรู้จักกำหนดว่า “ไก่ขันหนอ” “นกร้องหนอ” และเมื่อได้ยินเสียงสุนัขเห่า ท่านก็กำหนดว่า “หมาเห่าหนอ”

          เดินจงกรมได้สักครู่หนึ่ง ก็รู้สึกว่าท้องร้องโครกครากด้วยไม่ชินกับการอดข้าวมื้อเย็น สักครู่เสียง “ปู้ด ๆ    ป้าด ๆ” ก็ดังขึ้นเป็นระยะ คราวนี้พระบวชใหม่ต้องใช้เวลาขบคิดว่าจะกำหนดอย่างไร ก็ท่านพระครูสอนเพียงให้กำหนดยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ แต่ตอนผายลมท่านไม่ได้บอกไว้ ภิกษุคนซื่อเลยกำหนดเอาเองว่า “ตด – หนอ” แล้วก็มีอันต้องกำหนดอย่างนี้บ่อยครั้ง

          ท่านไม่เข้าใจระบบการทำงานของร่างกายว่า เมื่อไม่มีอาหารอยู่ในกระเพาะ ลมที่อัดอยู่ในช่องท้องก็ปั่นป่วนและหาทางระบายออก อาการเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับพระบัวเฮียวเท่านั้น ผู้เริ่มปฏิบัติกรรมฐานทุกคนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต คฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรี เด็กหรือผู้ใหญ่ ย่อมมีอาการแบบเดียวกันนี้ แท้จริงมันเป็นเพียงการปรากฏของสภาวธรรมเท่านั้น

          เดินจงกรมเสร็จท่านก็เอนกายลงนอน เอามือวางบนท้อง ครั้งนี้ท่านลง “หนอ” ไม่ทัน จึงได้แต่ “พอง – ยุบ พอง – ยุบ” เท่านั้น

          เวลาหกนาฬิกา พระบัวเฮียวออกบิณฑบาตกับพระอีกสี่รูป มีพระมหาบุญนำหน้า ส่วนท่านเดินหลังสุดเพราะเพิ่งบวช ท่านพระครูไม่ให้พระในวัดนี้ไปบิณฑบาตทางเดียวกันเกินห้ารูป และให้แบ่งแยกกันไปเป็นสาย ๆ จะได้โปรดสัตว์ได้ทั่วถึง

          กลับจากบิณฑบาตจึงไปฉันรวมกันที่หอฉัน ยกเว้นท่านพระครูซึ่งจะบิณฑบาตเดี่ยว และกลับมาฉันตามลำพังที่กุฏิของท่าน แต่ถ้าเป็นวันพระ หรือในโอกาสพิเศษที่มีคนมาทำบุญเลี้ยงเพล ท่านก็จะไปฉันที่ศาลาการเปรียญพร้อมกับภิกษุอื่น ๆ และวันนั้นท่านก็จะฉันสองมื้อเพื่อไม่ให้ญาติโยมเขาเสียความตั้งใจ ท่านรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่เคร่ง ครัดรัดตัวจนเกินไป แต่ก็ไม่ให้ผิดวินัยของสงฆ์

          เมื่อพระฉันเสร็จ พวกลูกศิษย์ก็จะแบ่งอาหารเก็บไว้ถวายเพลส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งพวกเขาก็ตั้งวงรับประทานกัน วันใดอาหารมีไม่พอ ทางโรงครัวก็จะทำขึ้นมาเสริม งานหนักที่สุดเห็นจะได้แก่งานโรงครัว เพราะมีคนมาเข้ากรรมฐานแทบไม่เว้นแต่ละวัน บางครั้งก็มากันเป็นคณะคราวละร้อยสองร้อย ท่านพระครูก็ต้อนรับขับสู้อย่างดี ทั้งเรื่องที่พักและอาหาร เท่าที่จะสามารถอำนวยความสะดวกให้ได้ ผู้ที่มาวัดต่างพากันประทับใจในอัธยาศัยไม่ตรีของท่าน ไม่มีใครที่มาวัดนี้แล้วจะไม่อยากมาอีก

          พระบัวเฮียวกลบไปกุฏิของท่าน เดินจงกรมให้อาหารย่อยแล้ว จึงสรงน้ำทำความสะอาดร่างกาย หลังจากนั้นก็ไปหาท่านพระครูเพื่อให้ท่าน “สอบอารมณ์” และสอนวิธีนั่งสมาธิ

          “เป็นยังไง เมื่อคืนนอนหลับสบายไหม” ท่านพระครูถามหลังจากที่พระใหม่ทำความเคารพและนั่งในที่อันสมควรแล้ว

          “สบายครับ” พระบัวเฮียวตอบ แต่มิได้เล่าเรื่อง “เสียงลึกลับ” ให้ฟัง ด้วยเกรงจะถูกท่านดุว่าเกียจคร้าน

          “หลับไปตอนยุบหรือตอนพองล่ะ”

          “เอ้อ... จะ... จับไม่ได้ครับ” ผู้บวชใหม่สารภาพ คิดว่าคงจะถูกพระอุปัชฌาย์ดุ แต่ท่านกลับพูดว่า

          “เอาละ ยังจับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คืนนี้ค่อยลองอีกที” ภิกษุวัยใกล้สามสิบค่อยโล่งอก แถมยังแอบล้อเลียนท่านในใจว่า “ฮั่นแน่ หลวงพ่อพูด “เอาละ” อีกแล้ว สงสัยท่านคงใช้คำนี้วันละหลายร้อยหน” พระใหม่มิได้รู้ตัวดอกว่าผู้อาวุโส “อ่านใจ” อยู่เงียบ ๆ

          “เป็นศิษย์อย่าหัดล้อเลียนครูบาอาจารย์” ท่านพระครูกล่าวเสียงเรียบ แต่พระบัวเฮียวถึงกับสะดุ้ง

          “ทำไมหลวงพ่อรู้ครับ” ถามเสียงอ่อย

          “ก็ทำไมฉันจะไม่รู้เล่า ท่านย้อนถาม พระบวชใหม่อดคิดไม่ได้ว่า “ท่านพระครูนี่ยังกับเป็นผู้วิเศษ สงสัยคงเป็นพระอรหันต์”

          “ฉันไม่ใช่ผู้วิส่งวิเศษอะไรหรอก แล้วก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ด้วย ถ้าจะเป็นก็คงเป็นได้แค่พระอรเห” ท่านพูดยิ้ม ๆ คนเป็นศิษย์ยิ่งพิศวงงงงวยหนักขึ้น ไม่รู้ว่าท่านอ่านใจผู้อื่นได้อย่างไร

          “อย่าเพิ่งไปสงสัยว่าทำไมฉันถึงทำได้ ถ้าเธอปฏิบัติเคร่งครัดไม่ช้าก็ต้องทำได้เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร” ฟังพระอุปัชฌาย์พูดแล้ว พระบวชใหม่ได้กำลังใจขึ้นอีกเป็นกองและคิดว่าจะทำให้ดีที่สุด

          “เอาละ ทีนี้เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า เธอจับพอง – ยุบ ได้ชัดหรือยัง”

          “พองชัดครับ แต่ยุบยังไม่ค่อยชัดแล้วก็ลง “หนอ” ไม่ค่อยทัน บางทีเลยได้แค่ พอง – ยุบ พอง – ยุบ”

          “ต้องพยายามลง “หนอ” ให้ได้ เอาละ ถ้าจิตไวขึ้นก็จะได้เอง ไม่ต้องไปเครียดกับมันมาก แต่เรื่องกำหนดนั่น เธอยังทำไม่ถูกนะ เอาละ ฉันอธิบายสติปัฏฐาน ๔ ให้เธอฟังอย่างคร่าว ๆ สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งของสติ หมายถึง การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม วันนี้จะเอากายก่อน การตั้งสติกำหนดพิจารณากายหรือพิจารณาเห็นกายในกายที่เรียกเป็นภาษาธรรมะว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องการเอาสติตามรู้กาย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การหายใจเข้าออก ยืน เดิน นั่ง นอน ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ อย่างที่ฉันเกริ่นไว้เมื่อคราวที่แล้ว คำว่า “กาย” ในที่นี้จึงหมายถึงร่างกายของเราเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ไม่ต้องสนใจ เพราะฉะนั้นเธอกำหนดว่า “ไก่ขันหนอ” “หมาเห่าหนอ” นั้นใช้ไม่ได้เพราะมันไม่เป็นกายานุปัสสนา

          พระบัวเฮียวแปลกใจเป็นครั้งที่เท่าไหร่ของเช้านี้ก็นับไม่ถ้วนเสียแล้ว ท่านพระครูมีอะไร ๆ ให้ท่านพิศวงหลงใหล และท้าทายต่อการพิสูจน์ทดลองไปเสียทุกเรื่อง พลันพระบวชใหม่ก็นึกได้ถึงคำบริกรรมของท่านตอนผายลม นึกหวั่นหวาดในใจว่า ท่านจะรู้หรือไม่หนอ ก็พอดีท่านพูดขึ้นว่า

          “ทำไมจะไม่รู้ นั้นก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน ไม่มีใครเขาบริกรรมพิลึกพิลั่นอย่างเธอหรอก” พระใหม่รู้สึกอายเป็นกำลัง จึงโอดครวญว่า

          “โธ่ หลวงพ่อครับ ก็ผมบริกรรมในใจแท้ ๆ ทำไมหลวงพ่อถึงได้ยินเล่าครับ อีกอย่างผมก็ทำอยู่ที่กุฏิผมโน่น”

          “ฉันก็กำหนด “เห็นหนอ” นั่นซี จะไว้นะบัวเฮียว “เห็นหนอ” นี้มีค่าหลายล้าน อย่าไปคิดว่าหนอ ๆ แหน ๆ เป็นเรื่องเหลวไหล ถ้าเธอฝึกสติดีจนถึงขึ้นแล้ว เธอจะใช้ “เห็นหนอ” ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมหาศาลทีเดียว”

          “ใช้ดูเลขดูหวยได้ไหมครับหลวงพ่อ”

          “ได้ แต่เขาไม่ทำกันเพราะการปฏิบัติธรรมเป็นไปเพื่อละกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ แต่ถ้าเธอเอาไปใช้ในทางนั้นมันเป็นการเพิ่มกิเลส ผิดจุดประสงค์ที่แท้จริงของการปฏิบัติ”

          “ครับ ผมเข้าใจแล้ว หลวงพ่อกรุณาอธิบายกายาสนาต่อเถิดครับ”

          “กายานุปัสสนา ต้องเรียกให้ถูก เวลาไปสอนคนอื่นจะได้ไม่เลอะเลือน เลื่อนเปื้อน”

          “ครับ กายานุปัสสนา” ผู้เป็นศิษย์ทวนคำ

          “นั่นแหละถูกต้อง เอาละ ก่อนจะเข้าใจกายานุปัสสนา จะต้องเข้าใจอายตนะเสียก่อน อายตนะ แปลว่า สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ แบ่งเป็นอายตนะภายใน ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายในทำหน้าที่เป็นตัวรู้ ส่วนอายตนะภายนอกเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพะ และธัมมารมณ์ สิ่งที่ตาเห็นจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราเรียกว่า รูป ตาจึงคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ไหนลองบอกซิว่าลิ้นคู่กับอะไร”

          “อาหารที่กินเข้าไปครับ” ตอบอย่างภาคภูมิด้วยคิดว่าคำตอบนั้นถูกต้องแล้ว

          “ผิด ตอบใหม่อีกทีซิ”

          “ลิ้นคู่กับฟันครับ” คราวนี้ไม่ค่อยมั่นใจนัก

          “ผิดอีก จะลองอีกทีไหม”

          “ไม่แล้วครับ”

          “เอาละ ถ้าอย่างนั้นเวลาที่เรากินอาหารแล้วรู้ว่า เผ็ด หวาน มัน เค็ม เราเรียกว่าอะไร”

          “เรียกว่า แซ่บ ครับ” ท่านพระครูรู้สึกอ่อนใจ จึงเฉลยให้ฟังจะได้สิ้นเรื่องสิ้นราว

          “เขาเรียกว่า รส จำไว้ ส่วนสิ่งที่มากระทบกายเราเรียกว่า โผฏฐัพพะ เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง และสิ่งที่มากระทบใจ เรียกว่า ธัมมารมณ์ เช่น ดีใจ เสียใจ ทุกข์ใจ จำได้หรือยังล่ะ เอาละ ไหนลองทบทวนซิ อายตนะภายนอกมีอะไรบ้าง”

            “ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครับ”

          “อ้อ... ตาเธอ หูเธอ ลอยอยู่ข้างนอกว่างั้นเถอะ ไหนตอบใหม่ซิ เอาให้แน่ ๆ”

          “รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และกามารมณ์ ครับ”

          “ธัมมารมณ์เว้ย ไม่ใช่กามารมณ์ คนละเรื่องเลย” คนสอนบ่นอุบและเผลอพูดคำว่า “เว้ย” ออกมา

          “เอาละ ทีนี้อายตนะภายในเธอก็รู้แล้วสินะ ต่อไปจะได้กำหนดได้ถูกต้อง”

          “หลวงพ่อครับ กำหนดกับบริกรรมนี่เหมือนกันไหมครับ”

          “เหมือนกัน จะใช้ว่ากำหนดก็ได้ หรือจะใช้ว่าบริกรรมก็ได้ ทีนี้เมื่อเธอได้ยินเสียงไก่ขัน สุนัขเห่า หรือเสียงอะไรก็แล้วแต่ที่รับรู้โดยทางหูให้เธอกำหนดว่า “เสียงหนอ” เท่านั้น ไม่ต้องไปใส่ใจ ไม่ต้องไปวิจัยว่ามันเป็นเสียงอะไร ตาเห็นอะไรก็ตามให้กำหนดว่า “เห็นหนอ” แล้วก็จบกัน เวลาผายลม ถ้ามันดังก็กำหนดว่า “เสียงหนอ” ถ้ามันไม่ดังก็กำหนดว่า “รู้หนอ” คือเอาใจไปรู้มัน เอาละทีนี้ ถ้ามันมีกลิ่นด้วย เธอจะกำหนดว่าอย่างไร” พระใหม่ถูกทดสอบอีก

          “ถ้าเป็นของตัวเองก็ “หอมหนอ” แต่ถ้าเป็นของคนอื่นก็ “เหม็นหนอ” ครับ” คราวนี้ท่านพระครูหัวเราะชอบใจ

          “เออ เข้าทีดีนี่ เข้าใจตอบ” คนตอบก็เลยหน้าบานด้วยคิดว่าถูกต้องดีแล้ว

          “จริง ๆ นะบัวเฮียว คนอย่างเธอจะว่าสอนง่ายก็ไม่ใช่ ครั้นจะว่าสอนยากก็ไม่ใช่อีก” ยังไม่ทันที่ท่านจะพูดต่อ พระบัวเฮียวก็ขัดขึ้นว่า

          “จะว่าสอนง่ายก็ใช่ จะว่าสอนยากก็ใช่ ต่างหากเล่าครับ”

          “เอาละ ๆ นี่บอกตามตรงนะบัวเฮียว ฉันไม่รู้เลยว่าจริง ๆ แล้ว เธอโง่หรือฉลาดกันแน่”

          “จะว่าโง่ก็ใช่ จะว่าฉลาดก็ใช่ ยังงันหรือเปล่าครับ”

          “ก็ทำนองนั้นแหละ เอาละ เอาเป็นว่าฉันคิดว่าเธอฉลาดก็แล้วกัน ขอให้ฉลาดอย่างนี้ตลอดไปนะ” ท่านตั้งใจประชด

          “สมพรปากครับ” พูดพร้อมกับยกมือขึ้น “สาธุ” ท่านพระครูคร้านที่จะต่อปากต่อคำ จึงวกกลับมาเข้าเรื่องเดิม

          “เอาละ เมื่อเธอเข้าใจอายตนะภายใน ภายนอก แล้วทีนี้เวลาปฏิบัติจะได้กำหนดได้ถูกต้อง จำไว้ว่าอย่าไปปรุงแต่ง ให้กำหนด “รู้” เฉย ๆ

          “ทำไมถึงปรุงแต่งไม่ได้เล่าครับหลวงพ่อ”

          “ก็ถ้าปรุงแต่งมันก็เป็นกิเลสน่ะซี อย่างเช่นที่เธอกำหนดว่า “หอมหนอ” มันเป็นโลภะ “เหม็นหนอ” ก็เป็นโทสะ ถ้าทำเฉยไม่กำหนดรู้ มันก็เป็นโมหะ ดังนั้นถ้าจะให้ถูกก็ต้องกำหนดว่า “กลิ่นหนอ” โดยไม่ไปปรุงแต่งว่า มันจะหอมหรือจะเหม็น เข้าใจหรือยังล่ะ”

          “เข้าใจแล้วครับ”

          “ดีแล้ว เอาละ ทีนี้บอกมาซิว่า ถ้าได้ยินเสียงนกร้อง จะกำหนดว่าอย่างไร”

          “เสียงหนอ ครับ”

          “ทำไมไม่กำหนดว่า “นกร้องหนอ” ล่ะ”

          เพราะถ้ากำหนดอย่างนั้นมันก็ไม่เป็นกายานุปัสสนา มันอยู่นอกกายของเรา เราต้องกำหนดรู้เฉพาะที่อยู่ในกาย”

          “ดีมาก ดีมาก เอาละ ทีนี้ก็ฝึกนั่งสมาธิได้แล้ว จงจำไว้ว่าเมื่อเดินจงกรมเสร็จต้องนั่งสมาธิทันที ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเสียก่อนแล้วจึงค่อยมานั่ง ต้องทำให้มันติดต่อกันจะได้รักษาอารมณ์กรรมฐานเอาไว้ไม่ให้รั่วไหลไปทางอื่น วิธีนั่งก็กำหนด “นั่งหนอ” ก่อนแล้วค่อย ๆ นั่งลงไป การนั่งสมาธิมี ๓ แบบ คือ สมาธิชั้นเดียว นั่งอย่างนี้ งอเข่าขาซ้ายและขาขวาวางบนพื้น ถ้าสมาธิสองชั้นก็ยกขาขวาวางทับบนขาซ้าย ถ้าสามชั้นหรือที่เรียกว่าสมาธิเพชร ก็ยกขาซ้ายทับขาขวาแล้วยกขาขวาทับขาซ้ายอีกทีหนึ่ง”

          แล้วท่านก็สาธิตวิธีนั่งทั้งสามแบบให้พระบัวเฮียวดู พระใหม่ทำตามได้สองแบบแรก และพยายามจะทำแบบที่สามแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะมันรู้สึกเหมือนขาจะหัก

          “ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ประเดี๋ยวขาแข้งหักไปจะยุ่งกันใหญ่ ปฏิบัตินาน ๆ เข้าก็ทำได้เอง เอาละวันนี้นั่งสองชั้นไปก่อน นั่นอย่างนั้นถูกแล้ว เอาละ ทีนี้ก็เอามือวางบนหน้าตัก ให้มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น ค่อย ๆ หลับตาลงช้า ๆ เอาสติไปไว้ที่ท้องเหนือสะดือขึ้นมาประมาณสองนิ้ว รู้สึกหรือยังว่าท้องมันพองแล้วก็ยุบ”

          “รู้แล้วครับ”

          “มันพองก่อนหรือว่ายุบก่อน”

          “พองก่อนครับ”

          “นั่นแหละถูกต้องแล้ว คนที่บอกว่า ยุบก่อน แสดงว่ายังจับไม่ได้ โดยธรรมชาติแล้วเราจะจับพองได้ก่อนยุบเสมอ จึงให้บริกรรมว่า “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” แสดงว่ารู้ไม่จริง เอาละ ต่อไปนี้ลองนั่งดูสักสี่สิบนาที อย่าไปคิดเรื่องอื่น พยายามให้สติจับอยู่ที่ พอง – ยุบ ตลอดเวลาได้ยินเสียง ได้กลิ่นอะไรก็กำหนดไปตามจริง ต้องกำหนดให้ทันปัจจุบันด้วย แล้วอย่าไปปรุงแต่ง เอาละนั่งไป ครบกำหนดเวลาแล้วฉันจะบอกเอง”

 

มีต่อ......๔

 

ช่างเล็ก(LSV):
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00004

 

๔...

                ในความรู้สึกของพระบัวเฮียว เวลาสี่สิบนาทีช่างดูยาวนานเสียหนักหนา ท่านจับ พอง – ยุบ ได้ในช่วงแรก ๆ กระนั้นก็ยังลง “หนอ” ไม่ค่อยจะทัน เพราะมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก นั่งไปสักครู่ให้รู้สึกอึดอัดขัดข้อง ลมในท้องเริ่มปั่นป่วนอีกครั้ง ท่านพยายามกลั้นเอาไว้ หากปล่อยปู้ดป้าดออกมาเกรงจะต้องอับอายขายหน้า เมื่ออั้นไว้หนักเข้าก็กลายเป็นความกังวลจนจับ พอง – ยุบ ไม่ได้

            “อย่าไปกังวลแล้วก็ไม่ต้องไปกลั้น เขาอยากจะออกมาก็ให้เขาออกอย่าไปฝืนเขา มันเป็นการปรากฏของสภาวธรรม ให้กำหนด “เสียงหนอ” หรือ “กลิ่นหนอ” ไปตามความเป็นจริง” ท่านพระครูซึ่งนั่งควบคุมอยู่ห่าง ๆ พูดขึ้น พระใหม่จึงหมดกังวลเรื่องลม ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ หันมาจับ พอง – ยุบต่อ หากก็จับได้ไม่นานเพราะอาการปวดเมื่อยเริ่มปรากฏ ท่านรู้สึกปวดขาเป็นกำลัง คิดอยากจะถามพระอุปัชฌาย์ว่าจะเปลี่ยนท่านั่งได้หรือไม่ ฝ่ายนั้นก็พูดขึ้นทันทีว่า

            “อย่าเปลี่ยน นี่แหละเขาเรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องให้เห็นของจริงถึงจะเข้าใจ เอาสติไปเพ่งตรงที่ปวดแล้วกำหนดว่า “ปวดหนอ ปวดหนอ” จากนั้นก็ไม่ต้องไปในใจ ให้กลับมากำหนด พอง – ยุบ อีก”

            เมื่อมีคนคอยช่วยเหลืออยู่เช่นนี้ทั้งยังสามารถ “อ่านใจ” ผู้อื่นได้ด้วย พระบัวเฮียวจึงหายกังวล ท่านพระครูอยากให้การนั่งของพระใหม่เป็นไปตามธรรมชาติ ครั้นเห็นว่าได้แนะนำพอสมควรแล้ว จึงลุกจากที่นั้นไปอย่างเงียบ ๆ ปล่อยผู้เป็นศิษย์ให้นั่งอยู่ตามลำพัง

            พระบัวเฮียวไม่รู้ว่าพระอุปัชฌาย์ลุกออกไป ท่านพยายามจับ พอง – ยุบ อย่างเคร่งครัด ต่อเมื่ออาการปวดขาทวีความรุนแรงขึ้น พระใหม่ก็หมดความอดทน ค่อย ๆ เปลี่ยนท่านั่งจากขาขวาทับขาซ้าย มาเป็นขาซ้ายทับขาขวา รู้สึกค่อยยังชั่วขึ้น ทั้งอุปัชฌาย์ก็มิได้ว่ากระไร จึงกระหยิ่มยิ้มย่องว่าตนปฏิบัติถูกต้องแล้ว

            “อหังการ” ก็เกิดขึ้น ท่านเริ่มคิดฟุ้งซ่าน จิตซึ่งโดยธรรมชาติไม่อยู่นิ่งอยู่แล้วก็ซัดส่ายหนักขึ้น คิดเรื่องโน้นไปเรื่องนี้ เตลิดเปิดเปิงไปยกใหญ่ ชั่วเวลาไม่กี่นาทีที่ท่านพระครูลุกออกไป พระบัวเฮียวก็คิดอะไรต่อมิอะไรไปร้อยแปด เมื่อจิตฟุ้งซ่าน สติก็จับ พอง – ยุบ ไม่ได้ สมาธิไม่เกิด

            อีกสิบนาทีจะครบกำหนดเวลา ท่านพระครูก็กลับมา ท่าน “ตรวจสอบ” คนที่กำลังนั่งสมาธิอยู่ก็รู้วาระจิตของเขา จึงพูดขึ้นว่า

            “สนุกใหญ่เลยนะบัวเฮียวนะ ทำไมถึงไม่กำหนด “ฟุ้งซ่านหนอ” ล่ะ”

            พระใหม่จึงตั้งสติกำหนด “ฟุ้งซ่านหนอ” “ฟุ้งซ่านหนอ” แล้วกลับมากำหนด พอง – ยุบ ประเดี๋ยวหนึ่งอาการปวดขาก็ประดังขึ้นมาอีก ปวดราวกับว่ามันจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ คิดที่จะเปลี่ยนท่านั่ง ท่านพระครูก็กำชับขึ้นว่า

            “อย่าเปลี่ยน ให้กำหนด “อดทนหนอ พากเพียรหนอ” แล้วกลับไปที่ พอง – ยุบ อีก”

            “มันไม่ไหวแล้วครับหลวงพ่อ พระบัวเฮียวคร่ำครวญอยู่ในใจ คราวนี้รู้แล้วว่าท่านต้องรู้ อะไร ๆ ในใจของท่าน พระอุปัชฌาย์รู้หมด

            “ต้องไหวซี ตั้งใจไว้เลยว่า ตายเป็นตาย”

            “ผมยังไม่อยากตายที่ครับ” พระใหม่แอบเถียงในใจ

            “ยังไม่อยากตาย แต่ถ้าถึงที่มันก็ต้องตาย แต่ถ้าตายในขณะปฏิบัติก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ ไม่ต้องไปอบายภูมิ เลือกเอาว่าจะเอาอย่างไหน”

            “งั้นก็เอาอย่างหลังครับ” ตอบในใจเช่นเคย

            “ดีแล้ว ต้องกล้าหาญอย่างนี้ถึงจะเรียกว่า ศากยบุตร นี่แหละ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา”

          “เวทนาที่แปลว่าสงสารใช่ไหมครับ” คนถามถามในใจ แต่คนตอบตอบออกมาดัง ๆ เพราะคลื่นใน “เครื่องรับ” กับ “เครื่องส่ง” ไม่ตรงกัน คนตอบสามารถเข้าใจในความในใจของคนถาม หากคนถามไม่สามารถ “อ่านใจ” ของคนตอบได้

            “ไม่ใช่ เวทนา แปลว่า ความรู้สึก มี ๓ อย่างคือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อทุกขมสุขเวทนา หมายถึง ความ รู้สึกสุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ หรือที่เรียกว่า เฉย ๆ รู้สึกอย่างไรก็กำหนดไปอย่างนั้น เช่นขณะที่เธอปวด เธอเป็นทุกข์ ก็กำหนด “ปวดหนอ” ถ้าสุข ก็กำหนด “สุขหนอ” ถ้ารู้สึกเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็กำหนด “เฉยหนอ” คือ ต้องตามรู้ความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา แล้วก็กำหนดรู้เท่านั้น ห้ามไปจับไปยึด”

            ภิกษุหนุ่มตั้งสติข่มทุกขเวทนาไว้อย่างยากเย็น พยายามทำตามที่พระอุปัชฌาย์สอน หากอาการปวดก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นราวกับชีวิตจะแตกดับลงเสียเดี๋ยวนั้น ท่านจึงฮึดสู้ด้วยการกำหนดว่า “ตายเป็นตาย” แล้วก็นั่งต่อไปอย่างไม่สะทกสะท้าน พยายามให้สติจับอยู่ที่อาการ พอง – ยุบ ของท้อง

            “เอาละ ได้เวลาแล้ว กำหนด “อยากพักหนอ” สามครั้งแล้วค่อย ๆ ลืมตา เห็นอะไรก็กำหนดเห็นหนอ”

            “ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานนั้น เสียงของท่านพระครูจึงประดุจเสียงสวรรค์ที่ล่องลอยมาจากนภากาศ การต่อสู้กับทุกขเวทนาสิ้นสุดลง พระบัวเฮียวกำหนดตามที่ท่านสอน

            เมื่อลืมตาขึ้น สิ่งแรกที่เห็นก็คือ ใบหน้าที่เปี่ยมด้วยเมตตาของผู้เป็นอาจารย์ รู้สึกร้อนวูบทั่วร่างแล้วเปลี่ยเป็นเย็นซาบซ่านไปทั่วทุกขุมขน น้ำตาไหลพราก ๆ ด้วยความปีติ ท่านก้มลงกราบพระอุปัชฌาย์ด้วยความรู้สึกสำนึกในพระคุณอย่างหาที่สุดมิได้

            ศีล สมาธิ ปัญญา ได้ซักฟอก และ ขัดเกลาจิตใจที่เคยหยาบกระด้างของท่านให้ละเอียดประณีตขึ้น กตัญญูกตเวทิตาธรรม จึงเกิดเองโดยมิต้องมีผู้ใดมาบอกกล่าว

            “เอาละ ทีนี้ก็มาสอบอารมณ์กัน ประเดี๋ยวจะได้กลับไปพักผ่อน คืนนี้จะได้สอนการเดินระยะที่สองให้”

            “ครับ เอ้อ... ผมอยากจะเรียนถามหลวงพ่อว่า ทำไมจิตของเรามันจึงอยู่นิ่งไม่ได้ ชั่วเวลาที่ผมนั่ง ผมคิดอะไรต่อมิอะไรไปร้อยแปด มันไม่สงบเลยครับ ที่แปลกก็คือ เวลาที่ไม่ได้นั่งสมาธิกลับไม่คิดอะไร”

            “นั่นแหละธรรมชาติของจิตละ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสเปรียบเทียบจิตว่า ไม่อยู่นิ่งเหมือนลิง ปกติลิงจะไม่อยู่เป็นสุข ต้องหลุกหลิกวางนี่จับโน่น ทำท่านั้นท่านี้อยู่ตลอดเวลา นอกจากจะหลับเสียเท่านั้น แม้แต่หลับก็ยังหานอนหลับนานไม่ เพราะฉะนั้นถึงต้องมาฝึกจิตกันยังไงล่ะ”

            “ทำไมจิตมันถึงฟุ้งซ่านเฉพาะเวลานั่งสมาธิเล่าครับ ในเวลาปกติทำไมมันจึงไม่ฟุ้งซ่าน” ภิกษุหนุ่มถามอีก

            “จิตมันฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ ไม่ว่าจะตอนนั่งหรือไม่นั่ง เพราะจิตมันมีหน้าที่รู้อารมณ์ แต่ตอนนั่งเรารู้สึกว่ามันฟุ้งซ่าน เพราะเราเอาสติไปกำกับมัน บังคับมันให้จดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียว มันเลยต่อต้าน แต่ในเวลาปกติราไม่ได้เอาสติไปกำกับมัน เราจึงไม่รู้ว่ามันฟุ้งซ่าน พูดง่าย ๆ ก็คือจิตมันฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ค่อยจะรู้ เมื่อใดที่เอาสติไปกำกับมัน เราจึงจะรู้ชัด เข้าใจหรือยังล่ะ”

            ท่านพระครูนึกชมพระมหาบุญที่สามารถอบรมบ่มนิสัย จนกระทั่งพระบัวเฮียวเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ทั้งกิริยามารยาท ตลอดจนการพูดการจาดูดีขึ้น ผิดกับเมื่อตอนมาใหม่ ๆ ราวกับเป็นคนละคน

            “หลวงพ่อครับ แล้วเรื่องเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่หลวงพ่อสอนตอนผมนั่งสมาธิ มีบางตอนที่ผมยังไม่เข้าใจครับ เช่นที่หลวงพ่อบอกไม่ให้ยึด สุขก็ไม่ให้ยึด ทุกข์ก็ไม่ให้ยึด หมายความว่าอย่างไรครับ”

            “หมายความว่า เวทนามันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งหลาย นั่นคือมันไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และปราศจากตัวตนที่เที่ยงแท้ พูดให้เข้าใจง่ายเข้าก็คือ มันมีลักษณะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จึงไม่มีอะไรให้ยึด ฉะนั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏบาน ก็คือ การใช้สติตามดูเวทนา และ กำหนดรู้ในขณะนั้น ๆ ว่า มันสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ แล้วก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของมันเหมือนกับเวลาเธอนั่ง เมื่อปวดก็เป็นทุกขเวทนา เธอก็กำหนด “ปวดหนอ” แล้วก็วางมันเสีย ไม่ไปจับไปยึด ประเดี๋ยวมันก็หายไปเอง”

            “การกำหนดว่า “ปวดหนอ” ก็เพื่อให้หายปวดใช่ไหมครับ”

            “ไม่ใช่ บางคนไปเข้าใจผิดคิดว่า การกำหนดเช่นนี้ จะทำให้หายปวด ซึ่งความจริงแล้วจะกำหนดหรือไม่กำหนด มันก็ต้องหายปวดตามสภาพของมันอยู่แล้ว เพราะเวทนามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุปัจจัย เราไม่สามารถไปบังคับบัญชามันได้ เราทำได้ก็เพียงกำหนดรู้มันเท่านั้น”

            ท่านพระครูอธิบาย พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นลูกศิษย์วัดยืนลับ ๆ ล่อ อยู่ตรงประตู จึงถามออกไปว่า

            “มีอะไรหรือสมชาย” เด็กหนุ่มคลานเข้ามา กราบสามครั้งแล้วรายงานว่า “มีคนจากนครสวรรค์เขามาขอขึ้นกรรมฐานกับหลวงพ่อครับ”

            “บอกให้เขาเข้ามาได้เลย” พระบัวเฮียวตั้งท่าจะลา แต่ท่านพระครูห้ามไว้ สักครู่ชายวัยกลางคนก็ประคองพานดอกไม้ธูปเทียนเดินเข่าเข้ามาหาท่านพระครู พร้อมกับเพื่อนวัยเดียวกันอีกสองคน เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงสั่งให้พระบัวเฮียว นำคนทั้งสามกล่าวคำขอสมาทานกรรมฐาน แล้วให้สอนการเดินจงกรมและนั่งสมาธิด้วย

            พระใหม่รู้สึกขัดเขินเพราะตัวท่านเองก็เพิ่งจะหัดมาได้สองวันเข้าวันนี้ หากท่านก็สอนอย่างตั้งอกตั้งใจที่สุด จนชายทั้งสามสามารถเดินจงกรมระยะที่หนึ่งได้และรู้วิธีนั่งสมาธิ

            “เอาละ เดี๋ยวไปทานข้าวทานปลา แล้วกลับไปปฏิบัติยังกุฏิของตน สองทุ่มค่อยมาสอบอารมณ์ ได้ที่พักหรือยัง” ท่านถามคนที่ถือพานเมื่อตอนเข้ามา เพราะเขามีลักษณะเป็นผู้นำมากกว่าอีกสองคน

            “ยังครับ พวกผมเพิ่งมาถึงครับ” เขาตอบอย่างนอบน้อม

            “สมชายไปดูซิว่ามีกุฏิกรรมฐานหลังไหนว่างอยู่บ้าง”

            “ไม่มีเลยครับหลวงพ่อ ผมไปสำรวจมาแล้ว” เด็กหนุ่มตอบ

            “ถ้าอย่างนั้นไปพักบนศาลาก็แล้วกัน เดี๋ยวจะให้เขาจัดมุ้งจัดหมอนไปให้ บนศาลาไม่มีมุ้งลวด” แล้วจึงถามอีกว่า

            “จะอยู่ปฏิบัติกันกี่วันล่ะ”

            “สามวันครับ พอรู้วิธีก็จะกลับไปปฏิบัติต่อที่บ้าน”

            “ทำไม่ไม่อยู่สักเจ็ดวันล่ะ สามวันมันน้อยไป”

            “อยู่ไม่ได้ครับหลวงพ่อ พวกผมเป็นครูต้องกลับไปสอนนักเรียน ช่วงนี้หยุดเทอมจึงมาได้”

            “หยุดแค่สามวันเองหรือ”

            “หยุดมาสิบกว่าวันแล้วครับ แต่พวกผมเกิดนึกอยากมาเอาเมื่อตอนใกล้จะเปิด”

            “อ้อ... เอาละ ถึงจะอยู่แค่สามวัน ถ้าตั้งใจปฏิบัติจริง ๆ จัง ๆ ก็จะได้ผลพอสมควร ไหนชื่ออะไรกันบ้าง เผื่อวันหลังเจอกันจะได้ทักทายได้ถูกต้อง”

            “ผมชื่อสฤษดิ์ครับ เป็นครูใหญ่”

            “ผมชื่อบุญมี อีกคนชื่ออรุณ เป็นครูน้อย มาเป็นเพื่อนครูใหญ่ครับ” ครูบุญมีพูดเป็นครั้งแรก ส่วนครูอรุณยังไม่ยอมพูด

            “อ้อ... มาเป็นเพื่อนเท่านั้นหรอกหรือ อาตมานึกว่าตั้งใจมาปฏิบัติ ที่แท้ก็มาเป็นเพื่อน แต่เอาเถอะไหน ๆ ก็ชื่อว่าได้มาแล้ว ตั้งใจปฏิบัติให้เต็มที่ก็แล้วกัน เดี๋ยวสมชายพาแขกไปทานอาหารด้วยนะ”

            ประโยคหลังท่านพูดกับลูกศิษย์วัด แล้วหันมาบอกคนเป็นครูใหญ่ว่า “ตามเด็กวัดไป ทานข้าวทานปลาให้อิ่มหนำสำราญเสียก่อน แล้วค่อยปฏิบัติ มีปัญหาอะไรก็มาถามอาตมาได้ทุกเวลา”

            คนทั้งสามกราบท่านแล้วจึงลุกตามเด็กวัดออกไป คนเป็นครูใหญ่เดินนำหน้า

            “นี่บัวเฮียว เธอจำไว้นะ คนที่เดินออกหน้าจะต้องถูกรางวัลที่หนึ่ง เชื่อฉันไหมล่ะ”

            “หลวงพ่อทราบได้อย่างไรครับ”

            “ก็ “เห็นหนอ” บอก คอยดูก็แล้วกัน เขาจะต้องกลับมาที่วัดนี้อีกภายในเจ็ดวันนับแต่วันกลับไป”

            “แล้วหลวงพ่อจะบอกเขาก่อนไหมครับว่า เขาจะถูกรางวัลที่หนึ่ง”

            “บอกไม่ได้ซี เดี๋ยวก็ไม่เป็นอันปฏิบัติ”

            “หลวงพ่อครับ แล้วผมจะได้ “เห็นหนอ” อย่างหลวงพ่อไหมครับ” ถามอย่างสนใจ

            “ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าเธอหมั่นประกอบความเพียรอย่างสม่ำเสมอ ก็พอจะมีทาง” ท่านตอบแบ่งรับแบ่งสู้

            “นอกจากหลวงพ่อแล้วมีคนอื่นได้อีกไหมครับ”

            “มีหลายคนเหมือนกัน มันไม่ยากอะไรนี่ อย่างคุณนานลำไยแกก็ได้ ขนาดแกอ่านหนังสือไม่ออก เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ไม่เป็น แต่แกมีความเพียรดี เรื่องมันยาว ถ้าอยากรู้วันหลังจะเล่าให้ฟัง อย่าลืมว่าจุดประสงค์สำคัญที่เธอมาที่นี่ก็เพื่อมาแก้กรรม ส่วนอย่างอื่นถือว่าเป็นผลพลอยได้ เอาละ ไปได้แล้วเดี๋ยวคนอื่นเขาจะรอ สิบเอ็ดโมงกว่าแล้ว”

            รับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชายทั้งสามจึงตามเด็กวัดไปยังศาลา พวกเขามีกระเป๋าเดินทางใบเล็กมาคนละใบ เด็กหนุ่มนำเครื่องนอนมาแจกให้คนละชุดแล้วจึงลงมา ปล่อยให้เขาได้พักผ่อนกันตามลำพัง ครูสฤษดิ์เตรียมตัวเดินจงกรม ขณะที่ครูบุญมีและครูอรุณ จัดแจงปูเสื่อพร้อมกับพูดออกตัวว่า

            “ของีบเอาแรงสักพัก ครูใหญ่ปฏิบัติไปคนเดียวก่อนนะครับ”

            คนเป็นครูใหญ่จึงพูดขึ้นด้วยเสียงปกติว่า

            “คุณจะนอนกันผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกนะ เท่าที่อุตส่าห์มาเป็นเพื่อนผมก็ดีถมไปแล้ว แต่คุณจะไม่ลองดูสักหน่อยหรือ ว่าที่นี่มีดีอะไรคนถึงพากันหลั่งไหลมาจนกุฏิไม่พอให้พัก เวลานอนเรายังมีอีกมาก น่าจะตักตวงวิชาความรู้เอาไว้ ไหน ๆ ก็เสียเวลามาแล้ว”

            พูดจบก็เริ่มเดินจงกรมอย่างขะมักเขม้น ครูน้อยสองคนมองตากันแล้วต่างก็ได้คิด จึงพากันลุกขึ้นเดินจงกรมบ้าง

            ช่วงเวลานั้น หากใครมองขึ้นไปบนศาลา ก็จะเห็นคนสามคนกำลังเดิน “ขวา – ย่าง – หนอ  ซ้าย – ย่าง – หนอ”  อยู่อย่างเพลิดเพลินตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงหกโมงเย็นโดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย

            ท่านพระครูใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบดูก็รู้ว่าพวกเขา “รื่นเริงในธรรม” เสียจนไม่สามารถกำหนดนั่งได้ จึงเดินไปยังศาลาเพื่ออนุเคราะห์ คนทั้งสามเห็นเจ้าอาวาสเดินขึ้นมาก็รู้สึกตัว รีบนั่งลงกราบท่านพร้อมกันราวกับนัด

            “ไงโยม เดินกันตั้งหกชั่วโมงไม่รู้สึกเมื่อยกันบ้างหรือ”

            “หกชั่วโมงเชียวหรือครับ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน รู้แต่ว่ามันเพลินจนลืมกำหนดนั่ง นี่ถ้าหลวงพ่อไม่ขึ้นมา สงสัยพวกผมคงเดินกันจนถึงเช้า” คนเป็นครูใหญ่พูด

            “แน่นอน แบบนี้เขาเรียกว่า “รื่นเริงในธรรม””

            “แล้วดีไหมครับ” ครูอรุณเพิ่งจะพูดเป็นครั้งแรก

            “ไม่ดีแน่ เพราะสมาธิกับวิริยะมีมากจนสติตามไม่ทัน การปฏิบัติธรรมที่จะได้ผลดีจะต้องให้ สมาธิ วิริยะ และสติ สมดุลกัน ไม่ให้อันหนึ่งอันใดล้ำหน้าอันอื่น เอาละ ทีนี้ก็กำหนดนั่ง ให้นั่งคนละหนึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วอาบน้ำอาบท่าให้เรียบร้อย สองทุ่มไปหาอาตมาที่กุฏิ”

            คนทั้งสามก้มลงกราบท่านสามครั้ง แล้วจึงกำหนดนั่งสมาธิ ท่านพระครูนั่งอยู่อีกครู่หนึ่ง เห็นเขาปฏิบัติกันถูกต้องดีแล้ว จึงเดินกลับกุฏิของท่าน

             เมื่อพระบัวเฮียวมาสอบอารมณ์ที่กุฏิของพระอุปัชฌาย์ ก็พบว่าครูทั้งสามคนนั่งคุยกับท่านพระครูอยู่ก่อนแล้ว พวกเขาทำความเคารพเมื่อท่านไปถึง แล้วเจ้าอาวาสก็ถามคนเป็นครูใหญ่ขึ้นว่า

            “มีอาการอย่างไรบ้าง กำหนด พอง – ยุบ ชัดไหม”

            “ชัดครับ แต่รู้สึกอึดอัด มีลมอัดอยู่ในท้องมากจนทำให้ปั่นป่วน” ครูใหญ่รายงาน

            “แล้วโยมทำยังไง”

            “ก็ปล่อยให้มันออกมาโดยวิธีธรรมชาติครับ”

            “กำหนดหรือเปล่า”

            “กำหนดครับ ผมก็กำหนดไปตามจริง “เสียงหนอ” บ้าง “กลิ่นหนอ” บ้าง ครูใหญ่ตอบอย่างฉะฉาน

            “แล้วโยมล่ะ” ท่านหันไปถามครูบุญมี

            “เหมือนครูใหญ่ครับ” ครูบุญมีตอบ ท่านจึงหันไปทางครูอรุณ “ผมนั่งหลับน้ำลายไหลยืดเลยครับ” ครูอรุณตอบ คนอื่น ๆ พากันหัวเราะ รวมทั้งท่านพระครูและพระบัวเฮียว

            ที่เจ้าอาวาสสอบอารมณ์คนทั้งสามต่อหน้าพระบัวเฮียว ก็เพื่อต้องการสอนพระบวชใหม่ทางอ้อม ท่านมองหน้าผู้เป็นศิษย์เหมือนจะพูดว่า “เห็นไหมบัวเฮียว คนอื่น ๆ เขาไม่เห็นเรื่องมากอย่างเธอเลย”

            ชะรอยพระบวชใหม่จะเดาความคิดของท่านออก จึงแอบเถียงในใจว่า “โธ่ หลวงพ่อครับ ก็พวกเขาเป็นครู ผมมันแค่ ป.๔ จะให้เก่งกาจเท่าเขาได้ยังไง”

            พระอุปัชฌาย์นึกขำที่คนเป็นลูกศิษย์ชักจะอ่านความคิดของท่านออก จึงสัพยอกขึ้นว่า

            “รู้สึกว่าเธอจะได้ “เห็นหนอ” แล้วนะบัวเฮียว”

 

มีต่อ.....๕

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป