ญี่ปุ่น ทำอย่างไรให้ สินค้าเกษตร มีราคาแพง เช่นข้าวกิโลกรัมละ 3,000 บาท??
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
มีนาคม 29, 2024, 06:49:18 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ญี่ปุ่น ทำอย่างไรให้ สินค้าเกษตร มีราคาแพง เช่นข้าวกิโลกรัมละ 3,000 บาท??  (อ่าน 379 ครั้ง)
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18613


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 03, 2023, 12:33:21 PM »


https://108kaset.com/2023/02/03/japan-agricultural-products-expensive
ญี่ปุ่น ทำอย่างไรให้ สินค้าเกษตร มีราคาแพง เช่นข้าวกิโลกรัมละ 3,000 บาท??

#ญี่ปุ่น  #ทำอย่างไร  #สินค้าเกษตร #ราคาแพง #ข้าวกิโล3พัน
---------------------


ข้าวกิโลกรัมละ 3,000 บาท หรือผลไม้อย่างเช่น เมลอน ราคาคู่ละ 1.6 ล้านบาท
คงไม่มีใครเชื่อว่า ราคาสินค้าเกษตรจะสูงมากขนาดนี้ แต่นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถขายสินค้าเกษตรให้มีราคาแพงได้
ซึ่งแม้ว่าสินค้าเกษตร จะไม่ได้เป็นสินค้าส่งออกหลักของญี่ปุ่น
และญี่ปุ่นเอง ก็ไม่ได้เป็นผู้ผลิตอาหาร รายหลักของโลก
แต่ในปีที่ผ่านมา กลับมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร สูงถึง 211,799 ล้านบาท
ทำไมญี่ปุ่น ถึงสามารถขายสินค้าเกษตร ให้มีราคาแพงได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

..ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร เพราะมีลักษณะภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขา ทำให้เหลือพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรมจริง ๆ เพียง 12% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น
และผลจากสงคราม ก็ยังทำให้ไร่นาเสียหาย อีกทั้งเกษตรกรในญี่ปุ่นแต่ละราย ต่างครอบครองที่ดินขนาดเล็ก เฉลี่ยเพียง 6 ไร่ หรือบางรายยังไม่มีที่ดินสักแปลงเป็นของตัวเอง และต้องเช่าที่ดินจากนายทุนในการทำนา
ซึ่งปัญหานี้เอง ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่น ตัดสินใจที่จะปรับปรุงภาคเกษตรกรรมครั้งใหญ่
เพื่อให้มีอาหารที่เพียงพอ สำหรับความต้องการในประเทศ และต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนญี่ปุ่นในสมัยนั้น
โดยนโยบายที่เกิดขึ้น ก็เช่น การปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ รัฐบาลมีการออกกฎหมาย ห้ามถือครองที่ดินในสัดส่วนเกินกว่าที่รัฐกำหนดไว้ ทำให้บรรดาเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ ต้องขายที่ดินให้กับรัฐ
และรัฐเองก็นำที่ดินเหล่านี้ ไปขายให้กับเกษตรกร ที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินน้อย โดยขายในราคาคงที่ และไม่มีการคิดดอกเบี้ย
เกษตรกรจึงมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง และสามารถพัฒนาผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นได้ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการผลิต
อย่างไรก็ตาม แม้เกษตรกรจะครอบครองที่ดินมากขึ้น อีกทั้งนายทุนที่ถือครองที่ดินขนาดใหญ่ ก็ลดลงไปมาก แต่ราคาขายผลผลิตและช่องทางการตลาด ยังเป็นส่วนสำคัญที่ต้องพัฒนา
ดังนั้นในปี 1948 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร หรือ JA ให้เป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือเกษตรกรญี่ปุ่น ทั้งในด้านการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยี ให้บริการด้านสินเชื่อและการเงิน
รวมไปถึงเป็นตัวกลาง ในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นตัวแทนที่ช่วยดูแลผลประโยชน์ ระหว่างเกษตรกรกับรัฐบาล
โดยเฉพาะข้าว ที่ถือเป็นอาหารหลักของคนในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะมีการอุดหนุนด้านราคา โดยคนกลางรับซื้อในราคาที่กำหนดไว้ จากนั้นจึงนำไปขายต่อให้อุตสาหกรรมภายในประเทศ ทำให้เกษตรกรญี่ปุ่นมีรายได้ที่แน่นอน
แต่เรื่องนี้ ก็กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญให้กับภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่น เพราะการอุดหนุนที่มากเกินไป ทำให้เกษตรกรเลือกที่จะปลูกข้าว เพราะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล และขาดแรงจูงใจที่จะผลิตหรือพัฒนาสินค้าเกษตรอื่น ๆ เช่น ผักหรือผลไม้
ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ สินค้าเกษตรของญี่ปุ่นต้องปรับตัว เพื่อให้อยู่รอดทั้งในประเทศและนอกประเทศ มีอย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกเลยคือ ญี่ปุ่นเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ในปี 1994
ทำให้ไม่สามารถอุดหนุนสินค้าเกษตรของตัวเองได้เหมือนเดิม เพราะขัดต่อระเบียบของ WTO ที่ต้องลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศให้มากที่สุด
รัฐบาลจึงเปลี่ยนจากการอุดหนุนราคาข้าว ไปเป็นการให้เงินส่วนต่างกับเกษตรกร ที่ปลูกพืชอย่างอื่นนอกเหนือจากข้าว รวมถึงปรับลดเงินทุนสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการทะลักของสินค้าเกษตร ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาต่ำกว่า
ทำให้ภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่นไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า
เรื่องต่อมาคือ อุตสาหกรรมอื่น ๆ ของญี่ปุ่น เติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเคมีภัณฑ์ ทำให้รายได้จากนอกภาคเกษตรกรรมเหล่านี้สูงกว่ามาก
เกษตรกรจึงเปลี่ยนไปทำอาชีพในภาคอุตสาหกรรม และใช้เวลาว่างในวันหยุด ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพเสริม ทำให้การพัฒนาเกษตรกรรมของญี่ปุ่นมีความไม่ต่อเนื่อง
อีกเรื่องหนึ่งคือ พฤติกรรมการบริโภคของคนญี่ปุ่น เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
เพราะคนญี่ปุ่นมีแนวโน้มบริโภคข้าวน้อยลง
แต่มีการบริโภคเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์นมมากขึ้น
การอุดหนุนราคาข้าว จึงกลายเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด
แล้ว ญี่ปุ่น ปรับตัวอย่างไร ให้ภาคเกษตรกรรมยังอยู่รอดได้ ?
รัฐบาลญี่ปุ่นเอง ก็มองเห็นปัญหาหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรรม นั่นคือ
– ต้นทุนการผลิตที่แพงกว่าประเทศอื่น ซึ่งเกิดจากขนาดพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมต่อคนที่น้อย
– การขาดนวัตกรรมการเกษตรใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิต และจำนวนครัวเรือนที่ทำเกษตรกรรมมีน้อยลง
โดยการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากการแก้ปัญหา การครอบครองที่ดิน ด้วยการอนุญาตให้มีการรวมที่ดินทั้งเอกชน และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการผลิตถูกลง และสามารถแข่งขันในตลาดได้
นอกจากการลดต้นทุนที่สูงเกินไปแล้ว
รัฐบาลญี่ปุ่นยังเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรด้วยการ “ทำให้เป็นสินค้าพรีเมียม”
โดยมี JA เป็นหน่วยงานหลัก ที่ทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเกษตรใหม่ ๆ เช่น การปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น
รวมถึงการต่อยอดและเพิ่มมูลค่า เช่น นำข้าวญี่ปุ่นไปทำเป็นเหล้าสาเก หรือของเหลือชีวภาพจากสินค้าเกษตร ก็นำไปแปรรูปเป็นหลอดชีวภาพ ถุงใส่ของ ถุงขยะสำหรับใช้ในครัวเรือน
หรือแม้แต่การเพิ่มมูลค่าทางการตลาด เช่น สอดแทรกเรื่องราวเข้าไปในสินค้า หรือกระบวนการผลิต ทำให้สินค้ามีความแตกต่างจากคู่แข่ง และสามารถตั้งราคาได้สูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างระบบการตรวจสอบแบบย้อนกลับ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า สินค้ามีความปลอดภัยตั้งแต่การผลิต การขนส่ง ไปจนถึงการจำหน่าย
ระบบนี้เป็นการควบคุมเกษตรกร ให้ใส่ใจทุกกระบวนการผลิตของตัวเอง และดูแลคุณภาพของผลผลิต ให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด จึงทำให้สินค้าเกษตร สามารถเป็นสินค้าพรีเมียม และผู้บริโภคก็รู้สึกว่าคุ้มค่าต่อราคาที่จ่ายไป
ดังนั้น คนญี่ปุ่นจึงมักจะซื้อของฝากเป็นผลไม้ ที่มีราคาแพงให้ระหว่างกัน ซึ่งเป็นการแสดงความห่วงใยกับคนที่เรานำของไปฝากในทุกเทศกาล หรือสินค้าเกษตรแปรรูปอื่น ๆ ที่มีเรื่องราวเฉพาะตัว เพื่อสื่อถึงความใส่ใจ และความสำคัญที่ผู้มอบมีต่อผู้รับ
ผลจากนโยบายที่ถูกทาง ก็ได้สะท้อนไปยังมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของญี่ปุ่น
โดยมูลค่าการส่งออกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ
– ปี 2012 มูลค่าการส่งออก 70,527 ล้านบาท
– ปี 2017 มูลค่าการส่งออก 130,684 ล้านบาท
– ปี 2021 มูลค่าการส่งออก 211,799 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี โดยเติบโตเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี
อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าแม้จะมีปัญหามากมาย จนทำให้ภาคเกษตรกรรมในญี่ปุ่น เหลือสัดส่วนเพียง 1-2% ของเศรษฐกิจประเทศ และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป
แต่การทำให้สินค้ามีความพรีเมียม กลายเป็นทางออกที่ทำให้สามารถขายสินค้า ในราคาแพงได้ และแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไม่น้อยหน้า
ซึ่งสำหรับประเทศไทยเอง ในขณะที่เราเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้กับอินเดีย หรือกุ้งให้กับเวียดนาม รวมถึงสินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อยลง

เราอาจจะต้องกลับมานั่งมองตัวเองว่า
สินค้าเกษตรของเรา ต้องแข่งขันอย่างไรถึงจะเหมาะสม
ซึ่งการทำให้สินค้าเกษตรของประเทศไทย มีคุณภาพ และมีเรื่องราว
ก็อาจกลายเป็นทางออก ที่ดีกว่าการลดต้นทุน
แล้วแข่งกันว่าของใคร ราคาถูกกว่ากัน..


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!