มอนเตเนโกร (อังกฤษ: Montenegro) ออกเสียง: [ˈmɔntɛˌnɛːgrɔ] (เซอร์เบีย: Црна Гора; Crna Gora) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐมอนเตเนโกร (Republic of Montenegro) เป็นประเทศเอกราชประเทศใหม่ล่าสุดของโลก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป มีอาณาเขตจรดทะเลเอเดรียติกและโครเอเชียทางทิศตะวันตก จรดบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาทางทิศเหนือ จรดเซอร์เบียทางทิศตะวันออก และจรดแอลเบเนียทางทิศใต้
ในอดีต มอนเตเนโกรมีสถานะเป็นสาธารณรัฐในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย และต่อมาได้เป็นส่วนหนึ่งในสหภาพการเมืองของเซอร์เบีย-มอนเตเนโกร หลังจากมีการลงประชามติเมื่อวันที่21 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 มอนเตเนโกรก็ได้ประกาศเอกราชในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มอนเตเนโกรได้รับการกำหนดให้เป็น "รัฐประชาธิปไตย สวัสดิการ และสิ่งแวดล้อม"
ประวัติศาสตร์ระยะแรกของชนเผ่ามอนเตเนโกรเริ่มปรากฏชัดเจนในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ในฐานะเป็นรัฐกึ่งอิสระชื่อว่า ดูเคลีย (Duklija) ต่อมาจึงมีการสถาปนาระบอบกษัตริย์ขึ้น ซึ่ง สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 7 ได้ทรงมีประกาศรับรองความเป็นอิสระของดูเคลีย และยอมรับพระเจ้ามีไฮโลแห่งดูเคลียอย่างเป็นทางการ เมื่อปี ค.ศ. 1077
ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 มอนเตเนโกรได้ถูกจักรวรรดิออตโตมันเข้ายึดครอง แต่ด้วยเหตุที่ว่าเป็นรัฐชายแดนทางตะวันตกของคาบสมุทรบอลข่าน อำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิจึงแผ่ขยายเข้าไปได้ไม่มากนัก กษัตริย์ของมอนเตเนโกรตั้งแต่ปลางยุคกลางจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงมีอำนาจปกครองประเทศด้วยความอิสระพอควร
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 กษัตริย์มอนเตเนโกร โดยพระเจ้านิโคลัสที่ 1 แห่งราชวงศ์นีเยกอช ทรงพยายามปลดแอกประเทศจากการอยู่ใต้อำนาจการปกครองของจักรวรรดิออตโตมันหลายครั้ง ซึ่งในที่สุดแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2421 (ค.ศ. 1878) รัสเซียซึ่งได้ทำสงครามกับจักรวรรดิออตโตมันได้รับชัยชนะและส่งผลให้มีการตกลงสนธิสัญญาซานสเตฟาโน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้รัสเซียมีอิทธิพลมากขึ้นในกลุ่มรัฐบอลข่าน อังกฤษและออสเตรีย-ฮังการีจึงคัดค้านและนำไปสู่การประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน เพื่อทบทวนสนธิสัญญาซานสเตฟาโนและจัดทำสนธิสัญญาเบอร์ลินขึ้นแทน ซึ่งสนธิสัญญฉบับนี้ส่งผลให้มอนเตเนโกรได้รับดินแดนเพิ่มเติมพร้อมเป็นเอกราชจากออตโตมัน
ความผันผวนทางการเมืองในคาบสมุทรบอลข่าน และกระแสชาตินิยมจากการเคลื่อนไหวของขบวนการอุดมการณ์รวมกลุ่มสลาฟ (Pan- Slavism) ได้นำไปสู่การเกิดสงครามบอลข่านสองครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 1912 - 1913 สงครามบอลข่านครั้งแรกเป็นสงครามระหว่างสันนิบาตบอลข่านซึ่งประกอบด้วย ประเทศกรีซ บัลแกเรีย เซอร์เบีย และมอนเตเนโกร กับจักรวรรดิออตโตมันซึ่งผลที่ออกมาคือชัยชนะของสันนิบาต ส่งผลให้ทางออตโตมันต้องสูญเสียดินแดนในยุโรกเกือบทั้งหมด พร้อมยอมให้มีการจัดตั้งประเทศแอลเบเนียขึ้น แต่เนื่องด้วยความไม่พอใจของเซอร์เบียและมอนเตเนโกรเพราะต้องการผนวกดินแดนชายฝั่งของแอบเบเนียเพื่อเป็นทางออกทะเล และความไม่พอใจของบัลแกเรียที่ได้เห็นว่าเซอร์เบียได้รับผลประโยชน์มากกว่า บัลแกเรียจึงเปิดฉากสงครามบอลข่านครั้งที่ 2 ขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1913 แต่ผลออกมาคือการพ่ายแพ้ของบัลแกเรีย ส่งผลให้เซอร์เบียและมอนเตเนโกรได้รับดินแดนเพิ่มเติมอีกประมาณหนึ่งเท่าของพื้นที่เดิมของประเทศ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มอนเตเนโกรได้เข้าสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรในการทำสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่ด้วยกองกำลังที่เล็กเพียงประมาณ 5 พันคน กองกำลังมอนเตเนโกรจึงประสบความพ่ายแพ้ต่อกองทัพออสเตรีย-ฮังการี
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2461 (ค.ศ. 1918) มอนเตเนโกรได้ตัดสินใจรวมประเทศเข้ากับราชอาณาจักรเซอร์เบีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นแกนนำสำคัญในการรวมชนเชื้อสายสลาฟใต้เข้าด้วยกันหลังสงครามยุติและสถาปนา "ราชอาณาจักรเซิร์บ โคกแอต และสโลวีน" ขึ้น โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งยูโกสลาเวีย แห่งราชวงส์คาราจอร์เจวิชเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1924 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 ทรงประกาศยุบสภาและปกครองด้วยระบอบเผด็จการ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "ยูโกสลาเวีย" แต่ด้วยความไม่พอใจของชนชาติต่างๆในการปกครองแบบเผด็จการของพระองค์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 จึงถูกลอบปลงพระชนม์โดยพวกโครแอตชาตินิยมในขณะที่เสด็จฯเยือน ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1934 เจ้าชายปีเตอร์ที่ 2 พระราชโอรสวัย 11 ชันษาจึงเสด็จขึ้นครองบัลลังก์แทน
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ยูโกสลาเวียถูกนานาประเทศเข้ายึดครอง ยอซีบ บรอซ (Josip Brozi) หรือตีโต (Tito) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียจึงได้ก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยประเทศออกจากการยึดครอง ซึ่งในที่สุดก็สามารถปลดแอกตนเองออกมาได้ ส่วนตีโตนั้นได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้นำประเทศ ซึ่งเขาก็ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมแบบสหภาพโซเวียตวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) และเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็น สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย ซึ่งประกอบด้วย 6 รัฐ กล่าวคือ สโลวีเนีย โครเอเทีย เซอร์เบีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร และมาซิโดเนีย และอีก 2 มณฑลอิสระ โคโซโวและวอยโวดีนา และถึงแม้ว่ามอนเตเนโกรจะรวมตัวอยู่กับยูโกสลาเวียซึ่งมีการปกครองในระบอบสังคมนิยม แต่มอนเตเนโกรก็มีอำนาจการปกครองภายในอย่างสมบูรณ์
การล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชของรัฐต่างๆ ที่รวมตัวกันอยู่ในยูโกสลาเวีย รัฐโครเอเชีย สโลวีเนีย มาซิโดเนีย และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา ได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) แต่เซอร์เบียและมอนเตเนโกรกลับรวมตัวกันอยู่ดั่งเดิม พร้อมกับเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย" และมีนายสลอบอดัน มีโลเซวิช (Slobodan Miloseviv) เป็นประธานาธิบดีคนแรก ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศอีกครั้งเป็น เซอร์เบียและมอนเตเนโกร แต่ละรัฐมีอำนาจปกครองตนเองสูงสุด มีเพียงการทหารและการต่างประเทศที่รวมกันเป็นหลัก
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ได้มีการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากเซอร์เบีย โดยร้อยละ 55.4 ซึ่งเกินเกณฑ์ขั้นต่ำ (ร้อยละ 55) ที่สหภาพยุโรปกำหนดที่จะให้การรับรอง และด้วยเหตุนี้มอนเตเนโกรจึงประกาศแยกตัวเพื่อมาเป็นประเทศใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปีเดียวกัน ปัจจุบันมอนเตเนโกรได้รับการรับรองจากนานาประเทศ และเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติลำดับที่ 192 และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ หลายองค์การแล้ว [1]
ประชากร 2546 ประมาณ 620,145 (อันดับที่ 164)
- 2546 สำรวจ 620,145
- ความหนาแน่น 44.9/กม.² (อันดับที่ 126)
GDP (PPP) 2548 ประมาณ
- รวม 1.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 167)
- ต่อประชากร 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 117)
เมืองหลวง
พอดกอรีตซา (อักษรโรมัน: Podgorica; อักษรซีริลลิก: Подгорица) เป็นเมืองหลวงของประเทศมอนเตเนโกร มีพิกัดภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ที่ละติจูด 42.47 องศาเหนือ และลองจิจูด 19.28 องศาตะวันออก มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 44 เมตร จากการสำรวจพบว่าในปี พ.ศ. 2546 เมืองนี้มีประชากร 136,473 คน
พอดกอรีตซามีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดี คือ ตั้งอยู่บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำริบนีตซา (Ribnica) และแม่น้ำมอราตชา (Morača) ทางทิศเหนืออยู่ห่างจากศูนย์สกีฤดูหนาวเพียงไม่กี่กิโลเมตร ทางทิศใต้ก็เกือบจะติดกับทะเลเอเดรียติก ทำให้เมืองนี้มีสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐาน
ชื่อพอดกอรีตซาในภาษาเซอร์เบีย เมื่อแปลตามตัวอักษรจะมีความหมายว่า "ใต้กอรีตซา" กอรีตซา (หมายถึง ภูเขาลูกเล็ก ๆ) เป็นชื่อของเขาลูกหนึ่งซึ่งสามารถมองลงไปเห็นเมืองนี้ได้ บริเวณเมืองเก่าของเมืองนี้มีชื่อว่า โดเกลอา (Doclea) ในสมัยก่อนโรมันและสมัยโรมัน ต่อมาในสมัยกลางเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ริบนีตซา (Ribnica) และในระหว่างปี พ.ศ. 2488 - พ.ศ. 2535 (1945 - 1992) ถูกเรียกว่า ตีโตกราด (Titograd) พอดกอรีตซาเป็นที่ตั้งของโรงละครและห้องสมุดหลายแห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัย 1 แห่ง
เชื้อชาติ มอนเตเนโกร 43.16% เซิร์บ 31.99% บอสนีแอก 7.77% แอลเบเนีย 5.03% เชื้อชาติต่าง ๆ ที่เป็นชาวมุสลิม 3.97% โครแอต 1.1% ยิปซี (โรมา) อียิปต์ และอิชคาลี 0.46%
ศาสนา ศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ 74% ศาสนาอิสลาม 17.74%
สุจิตรา วุฒิเสถียร. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.
^
http://www.mfa.go.th/web/479.php?id=281 กระทรวงการต่างประเทศ