พิมพ์หน้านี้ - มารวมข้อมูล กระเจี๊ยบเขียว กันเถอะ

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

สารพัดช่าง-แนวทางอาชีพ => ●การเกษตร => ข้อความที่เริ่มโดย: worathep-LSV team ที่ มกราคม 30, 2007, 11:45:57 AM



หัวข้อ: มารวมข้อมูล กระเจี๊ยบเขียว กันเถอะ
เริ่มหัวข้อโดย: worathep-LSV team ที่ มกราคม 30, 2007, 11:45:57 AM
               
         
 
 
   
       
กระเจี๊ยบเขียว
   
   
กระเจี๊ยบเขียวเป็นผักส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งต่างประเทศนิยมบริโภคแพร่หลาย ตลาดสำคัญคือ ประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคกระเจี๊ยบเขียวมาก เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารและมีคุณค่าทางสมุนไพร รักษาโรค สำหรับคนไทยบริโภคกระเจี๊ยบเขียวมานานแล้ว เพราะเป็นผักพื้นบ้านของเราซึ่งปลูกง่าย ปลูกได้ตลอดปีและมีราคาไม่สูง
เราใช้ฝักอ่อนของกระเจี๊ยบเขียวเป็นอาหาร คือขนาดฝักยาว 4-9 ซม. ซึ่งเป็นขนาดที่เก็บเกี่ยวมาบริโภคแล้วจะมีคุณภาพดี อ่อน ไม่มีเส้นใย ฝักกระเจี๊ยบเขียวที่เก็บมาแล้ว ควรนำมาบริโภคทันทีสามารถนำมาประกอบอาหารได้ ตั้งแต่รับประทานเป็นผักจิ้ม ชุบแป้งทอด ยำต่าง ๆ ประกอบอาหารอื่น ๆ เช่น แกงเลียง แกงจืด และฝักกระเจี๊ยบเขียวตากแห้งสามารถทำชา ซึ่งมีกลิ่นหอมได้อย่างดี


กระเจี๊ยบเขียวเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหาร โดยเฉพาะวิตามินซี และแคลเซียมสูง เมื่อเทียบกับผักชนิดอื่น นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารจำพวกกัม (gum) และเพคติน (pectin) ในปริมาณสูงทำให้อาหารที่ประกอบขึ้นจากฝักกระเจี๊ยบมีลักษณะเป็นเมือก ซึ่งช่วยป้องกันอาการหลอดเลือดตีบตัน สามารถรักษาโรคความดันโลหิต บำรุงสมอง ลดอาการโรคกระเพาะอาหารและยังมีสารขับพยาธิตัวจี๊ดได้ ซึ่งปรากฏสรรพคุณในตำราแพทย์แผนโบราณ และการทดลองแพทย์แผนใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เมล็ดกระเจี๊ยบเขียวจัดเป็นแหล่งที่ให้น้ำมันไม่น้อยกว่า 14 เปอร์เซนต์ แล้วยังมีศักยภาพสามารถที่จะนำมาใช้เป็นแหล่งให้โปรตีนโดยมีปริมาณโปรตีนไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซนต์
แหล่งผลิตกระเจี๊ยบเขียวของโลก ได้แก่ แถบชายฝั่งทะเลแคลิเบียน ทวีปอัฟริกา โดยเฉพาะในประเทศซูดาน อียิปต์ ไนจีเรีย และในประเทศเขตเอเชีย ได้แก่ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทย แหล่งปลูกกระเจี๊ยบเขียว ได้แก่ เขตหนองแขม กรุงเทพฯ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี และสมุทรสาคร ซึ่ง เป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 2,000 ไร่ การส่งออก ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกฝักสดซึ่งร้อยละ 95 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดส่งไปประเทศญี่ปุ่น ในปี 2535 มีการส่งออกกระเจี๊ยบเขียวสดรวม 2,436 ตัน เป็นมูลค่า 113 ล้านบาท การส่งออกในรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋องในน้ำเกลือ ทางภาคเอกชน ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ในจังหวัดต่าง ๆ เช่น เชียงราย พิจิตร นครนายก และนครปฐม เป็นต้น กระเจี๊ยบเขียว แช่แข็ง เริ่มมีการส่งออกตั้งแต่ปี 2533 และในปี 2535 มีปริมาณส่งออกโดยแช่แข็ง 256 ตัน มูลค่า 18.9 ล้านบาท ตลาดรองของกระเจี๊ยบเขียว ได้แก่ ประเทศในยุโรป เช่น เยอรมันตะวันตก อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น สำหรับตลาดบรรจุกระป๋องแช่ในน้ำเกลือ ได้แก่ กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง
 
 
 
 
พันธุ์และแหล่งพันธุ์
กระเจี๊ยบเขียวมีพันธุ์ต่าง ๆ มากมายซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งความสูงของต้น ความยาวของฝักและสีฝัก พันธุ์พื้นเมืองเดิมจะมีเหลี่ยมบนฝักมากประมาณ 7-10 เหลี่ยม พันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่ใช้ปลูกเพื่อการส่งออกฝักสด และแช่แข็ง จะต้องเป็นพันธุ์ที่มีฝัก 5 เหลี่ยม สีฝักเขียวเข้ม มีเส้นใยน้อย ลำต้นเตี้ย ผิวฝักมีขนละเอียด ฝักดกให้ผลผลิตสูง ซึ่งพันธุ์ที่ใช้ปัจจุบันได้แก่
1. พันธุ์ของประเทศไทยปรับปรุงโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลักษณะฝักมีสีเขียวปานกลาง ฝักเมื่อตัดตามขวางเป็นรูปห้าเหลี่ยม ต้นแข็งแรง ผลผลิตสูง ราคาเมล็ดพันธุ์ 50-80 บาทต่อกิโลกรัม พันธุ์เหล่านี้ผู้ส่งออกและแปรรูปสามารถนำไปทดสอบตลาดได้ โดยเฉพาะตลาดยุโรป หรืออื่น ๆ
2. พันธุ์ลูกผสมชั่วที่หนึ่ง จากประเทศญี่ปุ่น เป็นพันธุ์ที่มีคุณสมบัติฝักอ่อนที่ตลาดญี่ปุ่นนิยมมาก ลักษณะฝักสีเขียวเข้มมาก ปลายฝักไม่มีจงอยยาว เมื่อตัดตามขวางของฝักเป็นรูป 5 เหลี่ยม ซึ่งมีเหลี่ยมเห็นได้ชัดเจน ต้นแข็งแรง ผลผลิตสูง ราคาเมล็ดพันธุ์แพงมากประมาณ 2,000-5,000 บาทต่อกิโลกรัม
3. พันธุ์ผสมเปิดจากต่างประเทศ ได้แก่ เคลมสัน สปายน์เลส ซึ่งฝักกลมป้อมและพันธุ์ดวอร์ฟกรีน สปายน์เลส ซึ่งมีฝักเรียวยาว เป็นพันธุ์ที่มี 8 เหลี่ยม สีเขียวปานกลางใช้ในการแปรรูปบรรจุกระป๋อง
4. พันธุ์ที่เกษตรกรเก็บพันธุ์เอง ซึ่งต้องทำอย่างถูกวิธีจะมีผลต่อคุณภาพฝักมาก อย่างไรก็ตามพันธุ์ที่จะใช้ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อกำหนดเป็นประการสำคัญ ซึ่งผู้ปลูกต้องทำการตกลงกับผู้ซื้อก่อนปลูก
 
 
 
 
ข้อควรคำนึงก่อนปลูก
1. เพื่อให้ได้กระเจี๊ยบเขียวมีคุณภาพตามความต้องการของตลาดเกษตรกร ควรให้ความเอาใจใส่ปฏิบัติดูแลรักษาถูกวิธีทุกระยะ โดยเฉพาะการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
2. ปัญหาโรคแมลงมีผลต่อคุณภาพมาก เพราะถ้าเกิดการแพร่ระบาดขึ้นแล้วก็ยากที่จะแก้ไข ควรปฏิบัติให้ถูกต้องแต่แรก เพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหาย เป็นการลดต้นทุนการผลิตและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
3. แรงงานในการเก็บเกี่ยว โดยปกติจะใช้แรงงานเฉลี่ย 2 คนต่อไร่ ถ้าปลูกพื้นที่มาก ควรคำนึงถึงความสามารถในการจ้างแรงงานในการเก็บเกี่ยวด้วยให้มีแรงงานพอเพียง ซื้อนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ก่อนจะตัดสินใจปลูกควรพิจารณาผู้ซื้อที่ดี มีความมั่นคงมีความเข้าใจเงื่อนไขให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการคัดคุณภาพเกษตรกรควรรวมตัวเป็นกลุ่ม กำหนดช่วงปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตพอเพียง ไม่มากหรือน้อยไปในแต่ละวัน
 
 
 
 
ฤดูปลูก
กระเจี๊ยบเขียวสามารถปลูกได้ตลอดปีในประเทศไทย แต่การปลูกเพื่อส่งออกต่างประเทศ จะปลูกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤษภาคมเท่านั้น เนื่องจากตลาดหลักคือประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถปลูกได้ในช่วงนี้ ญี่ปุ่นจะปลูกกระเจี๊ยบเขียวทางตอนใต้ของประเทศและจะหยุดปลูกในช่วงฤดูหนาวและเริ่มปลูกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ซึ่งผลผลิตจะออกราวเดือนพฤษภาคม การจะเริ่มปลูกเมื่อใดเกษตรกรต้องคำนึงถึงตลาดรับซื้อ ซึ่งจะต้องกำหนดแผนร่วมกันโดยมากจะหยอดเมล็ดราวเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เพื่อเก็บเกี่ยวประมาณตุลาคมถึงเมษายน หรือตามผู้ซื้อต้องการ
 
 
 
 
การให้น้ำ
กระเจี๊ยบเขียวชอบความชื้นปานกลาง ในช่วงฤดูหนาวและร้อนควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยให้แห้ง โดยเฉพาะในช่วงออกดอก และติดฝักปริมาณการติดฝักจะขึ้นกับการปฏิบัติดูแลรักษาเป็นหลัก มากกว่าขึ้นกับพันธุ์โดยเฉพาะการให้น้ำในช่วงนี้ควรหมั่นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเจริญเติบของต้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ฝักมีคุณภาพดี และมีปริมาณฝักที่ได้สูง ถ้าขาดน้ำผลผลิตจะต่ำ ฝักเล็กคดงอ ไม่ได้คุณภาพ
             การให้ปุ๋ย
เนื่องจากระยะเวลาในการปลูกยาวนานมาก ดังนั้นการใส่ปุ๋ยจึงต้องให้เพียงพอจึงจะทำให้ฝักตกและคุณภาพดี ในพื้นที่ที่มีอินทรีย์วัตถุสูง มีความอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะแปลงที่เคยปลูกผักกินใบมาก่อน ควรใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพราะกระเจี๊ยบเขียวมีพลังดูดซับปุ๋ยสูงมากไวต่อการทำปฏิกิริยากับปุ๋ย โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนต้องระมัดระวังมาก ถ้าใส่มากเกินไปจะทำให้ต้นเผือใบ ฝักโตเร็วเกินไป เป็นโรคและช้ำง่าย การใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง อาจใช้ในช่วงแรกก่อนติดฝักและหลังจากตัดต้นเพื่อเร่งการแตกกิ่งแขนง อัตราใส่ปุ๋ยโดยปกติ 20 วันต่อครั้ง ปริมาณปุ๋ย 10-25 กิโลกรัมต่อไร่ต่อครั้ง ตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งใช้ปุ๋ยประมาณ 75-100 กิโลกรัมต่อไร่ต่อฤดูปลูก ทั้งนี้ขึ้นกับความยาวนานของการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย
 
 
 
 
สภาพแวดล้อม
กระเจี๊ยบเขียวเป็นผักที่ปลูกได้ตลอดปีในประเทศไทย อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกและเติบโตคือ 20-30 องศาเซลเซียส กระเจี๊ยบเขียวขึ้นได้ที่อุณหภูมิต่ำสุด 18 องศาเซลเซียส ซึ่งในอุณหภูมิต่ำจะเจริญเติบโตช้าลง และถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส จะไม่เจริญเติบโตเลย กระเจี๊ยบเขียวเติบโตได้ดี ในดินเกือบทุกชนิด แต่ไม่ชอบดินที่มีน้ำขังแฉะหรือระบายน้ำยากและดินที่เป็นกรดจัด พีเอสควรอยู่ระหว่าง 6.0-6.8
 
 
 
 
การตัดต้น
เมื่อเก็บเกี่ยวได้ 1 1/2 เดือน ผลผลิตจะเริ่มลดลง ควรตัดต้นทิ้งให้แตกกิ่งด้านข้าง ซึ่งจะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และมีปริมาณมากกว่าเดิม การตัดต้นต้องตัดให้เหลือตาสำหรับแตกกิ่งแขนงด้านข้างหลังจากตัดแล้ว 6-7 ตา ซึ่งมักจะตัดให้เหลือตอสูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร จากพื้นดิน หลังจากตัดต้นแล้วควรใส่ปุ๋ยและดูแลรักษาอย่างดี เพื่อให้แตกแขนง การใส่ปุ๋ยในช่วงนี้จำเป็นมากเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นแก่ชรา สามารถปลูกระยะยาวได้
 
 
 
 
อายุการเก็บเกี่ยว
กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชที่โตเร็ว เมื่ออายุได้ 40 วัน จะเริ่มออกดอก หลังดอกบาน 5 วัน ฝักจะยาว 4-9 เซนติเมตร ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตฝักสดได้ มีขนาดและคุณภาพฝักดี คือ ฝักกระเจี๊ยบมีความอ่อนนุ่มมีรสชาด และเนื้อสัมผัสที่ผู้บริโภคพอใจ อ่อน ไม่มีเส้นใยตรงตามที่ตลาดต้องการ ฝักกระเจี๊ยบเขียวโตเร็วมากโดยเฉพาะอากาศร้อนจะเติบโตวันละ 2-3 เซนติเมตร เกษตรกรจึงต้องเก็บเกี่ยวทุกวัน และไม่ควรปล่อยทิ้งฝักที่สามารถตัดได้ให้หลงเหลืออยู่บนต้น เพราะต้นจะต้องส่งอาหารมาเลี้ยง ทำให้ผลผลิตต่ำ เกษตรกรจะสามารถเก็บฝักที่มีคุณภาพดีได้ประมาณ 1 ฝ -2 เดือน ฝักที่แตกยอดจะเริ่มหมดและไม่แข็งแรง สังเกตจะมีกิ่งแขนงออกจากต้น 2-3 กิ่ง ควรตัดต้นทิ้ง เพื่อให้แตกแขนงใหม่ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตได้อีกประมาณ 2 เดือน ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยตลอดฤดูปลูก 30 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน หรือประมาณ 3,000-5,000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อฤดูปลูก (ก.ย.-พ.ค.) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและความยาวนานในการเก็บผลผลิต
 
 
 
 
การเด็ดใบ
ในแปลงที่กระเจี๊ยบเขียวเจริญและมีใบมากเกินไป ทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงฝักด้านล่าง ฝักจะมีสีซีด ซึ่งตลาดไม่ต้องการ ควรตัดใบทิ้งบ้างเพื่อให้ต้นโปร่งการเด็ดใบทิ้งจะได้ผลมากในกรณีที่ปลูกแบบแน่นขนัด เพราะช่วยให้อากาศไหลเวียนดีขึ้น ป้องกันการเกิดโรค แมลงรบกวนและง่ายต่อการปฏิบัติการต่าง ๆ ด้วย การตัดใบอาจทำได้โดยสะดวก โดยระหว่างเก็บเกี่ยวให้ตัดใบทิ้งทีละใบพร้อม ๆ กับการตัดฝักทุกครั้ง จนกระทั่งเหลือใบใต้บริเวณที่จะติดผลไว้ต้นละ 2-3 ใบ อย่างไรก็ตามการเด็ดใบมากเกินไป จะมีผลเสียต่อการเจริญเติบโต และทำให้ฝักพองโต การเด็ดใบจึงขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย
 
 
 
 
การเก็บเมล็ดพันธุ์
สำหรับในกรณีที่เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์เอง ซึ่งได้ทำการตกลงกับผู้ซื้อแล้ว การเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องแนะนำเกษตรกร ปฏิบัติดังนี้ เมื่อกระเจี๊ยบเขียวเริ่มออกฝักแล้ว 5-10 ฝัก ให้คัดเลือกต้น ผูกพลาสติกสีเฉพาะต้นที่คัดเลือก โดยเลือกต้นที่ออกฝักค่อนข้างเร็วฝักสูงจากโคนค้นไม่เกิน 50 เซนติเมตร ฝักอ่อนได้ขนาดสม่ำเสมอกันตามที่ตลาดต่างประเทศต้องการฝัก 5 เหลี่ยม ฝักสีเขียวเข้ม มีขนน้อย มีเส้นใยน้อย ฝักตรงไม่โค้งงอ การเรียงฝักจากโคนต้นไปหายอดสม่ำเสมอเป็นระเบียบ ฝักดก ค่อนข้างจะทนต่อโรคแมลง เมื่อได้ต้นที่คัดเลือกตามลักษณะที่ต้องการแล้ว ใช้กรรไกรตัดฝักที่ออกก่อนแล้ว รวมทั้งดอกบานจากต้นที่คัดเลือกออกให้หมด ในต้นจะเหลือดอกที่ตูมยังไม่บาน นำถุงผ้ามุ้งขนาดเล็กมาคลุมต้นที่คัดเลือกป้องกันแมลงนำเกสรตัวผู้จากต้นอื่นไปผสม หรือจะใช้ถุงกระดาษแก้วสีขาวคลุมดอกที่ยังไม่บานดอกต่อดอกก็ได้ เมื่อฝักดังกล่าวจากต้นคัดเลือกแก่แล้วแกะเมล็ดผึ่งแดดให้แห้งแล้ว นำเมล็ดไปคลุกสารเคมีป้องกันโรคแมลงทำลายและนำไปเก็บไว้ในปี๊บที่มีปูนขาวรองก้นปี๊บ เกษตรกรจะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวไว้ทำพันธุ์ได้อย่างมีคุณภาพ การเก็บเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรส่วนใหญ่จะปล่อยให้ฝักด้านโคนต้นแก่แล้วเก็บเกี่ยวฝักดังกล่าวมาจากหลายต้นและเมล็ดรวมกันไว้ทำพันธุ์ต่อไป โดยไม่มีการคัดต้น หรือรู้ต้นพันธุ์ที่แน่นอน มีผลให้กระเจี๊ยบเขียวกลายพันธุ์ได้ โดยเฉพาะฝักอาจมีหลายเหลี่ยม 5-9 เหลี่ยม ซึ่งตลาดต่างประเทศต้องการฝักอ่อน 5 เหลี่ยมเท่านั้น

 
 
 
 
วิธีการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
ฝักกระเจี๊ยบเขียว จะเกิดการเหี่ยวหรือชอกช้ำได้ง่าย เนื่องจากเก็บเกี่ยวในระยะฝักอ่อน มีอัตราการตายใจสูง การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติต่าง ๆ หลังจากเก็บฝักแล้วจึงต้องทำอย่างปราณีตั้งแต่วิธีการเก็บจนถึงการเลือกภาชนะบรรจุหีบห่อ
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว
1. มีดเล็กหรือกรรไกรตัดแต่งกิ่งซึ่งต้องคมเสมอ มิฉะนั้นจะทำให้ช้ำ
2. ถุงมือผ้าและถุงมือยางเพราะกระเจี๊ยบเขียวมีขนซึ่งระคายเคืองผิวหนังมาก
3. ภาชนะที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว นิยมใช้ถังพลาสติก ซึ่งมีขนาดเล็ก 2-3 กิโลกรัมไม่ควรใหญ่กว่านี้
4. ภาชนะที่ใช้บรรจุผลผลิตและขนส่ง ควรให้ตะกร้าพลาสติกบรรจุฝักซึ่งมีรูระบายอากาศโดยรอบ เกษตรกรนิยมใช้เข่งไม้บุด้วยฟองน้ำบางและถุงปุ๋ย ซึ่งกันกระทบกระแทกได้พอควรแต่มีข้อเสีย คือ จะอับร้อนมาก ถ้ารอการขนส่งนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง จึงควรทำการเจาะรูให้ระบายอากาศได้โดยรอบ ขนาดบรรจุของเข่งหรือตะกร้าไม่ควรเกิน 12 กิโลกรัม
 
 
 
 
วิธีเก็บเกี่ยว
1. ควรเก็บเกี่ยวเวลาเช้าตรู่ 6-9 นาฬิกา ใช้มีดหรือกรรไกรตัดกระเจี๊ยบเขียวทีละฝัก อย่าตัดหลายฝัก วางในภาชนะอย่าโยน การตัดขั้วต้องตัดให้ตรง มีก้านติดไม่เกิน 1 เซนติเมตร และอย่าให้เป็นปากฉลาม ซึ่งจะขีดข่วนหรือทำให้ฝักอื่นเสียหายมาก เมื่ออยู่ในภาชนะบรรจุ
2. ภาชนะบรรจุผลผลิตต้องวางไว้ในที่ร่มเสมอ เช่น ใต้ร่มไม้ ถ้าไม่มีควรใช้ร่มกาง อย่าทิ้งไว้กลางแดด และรีบน้ำเข้าโรงพักผลผลิตโดยเร็วโรงพักผลผลิตควรมีลักษณะโปร่งอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่อับทึบ อาจจะเป็นชั้นมีหลังคา ใต้ถุนบ้านหรือเพิงก็ได้
การขนส่ง
รีบขนส่งโดยเร็ว ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรนานกว่า 2 ชั่วโมงหลังเก็บเกี่ยว และไม่วางภาชนะซ้อนกัน ระหว่างขนส่ง รถขนส่งถ้าไม่มีห้องเย็นควรโปร่งไม่ปิดทึบ
การคัดการบรรจุหีบห่อและการแปรรูป
1. การลดอุณหภูมิของผลผลิตจากแปลงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ซึ่งต้องทำก่อนการบรรจุหีบห่อ โดยการล้างด้วยน้ำเย็นที่สะอาดจำนวนมาก แช่กระเจี๊ยบเขียวให้อุณหภูมิลดลงเหลือ 10-15 องศาเซลเซียส น้ำล้างอาจผสมคลอรีน 200 พีพีเอ็ม เพื่อฆ่าเชื้อโรค
2. ผึ่งให้แห้ง ในกรณีต้องรอการคัดเลือกและบรรจุนาน ควรนำเข้าห้องเย็น
3. สำหรับการส่งออกสดนำออกมาคัดเกรดและบรรจุลงในถุงตาข่ายไนล่อนและกล่องกระดาษ การส่งออกสดไปยังประเทศในกลุ่มยุโรป นิยมใส่ถาดโฟม เก็บรักษาในห้องเย็นเพื่อรอการขนส่งต่อไป
 
 
 
 
ลักษณะคุณภาพของกระเจี๊ยบเขียวที่ตลาดต่างประเทศต้องการ
กระเจี๊ยบเขียวฝักสด
1. ฝักอ่อนสด มีเส้นใยน้อย
2. ปราศจากโรค แมลง หรือตำหนิจากโรคแมลง
3. รูปร่างฝักเป็น 5 เหลี่ยม ตรง ไม่คดงอ
4. ฝักต้องมีสีเขียวเข้มสม่ำเสมอทั้งฝัก
5. ความยาวฝัก 5-12 เซนติเมตร
       กระเจี๊ยบเขียวแช่แข็ง
1. ฝักอ่อนสด มีเส้นใยน้อย
2. ปราศจากโรคแมลงหรือตำหนิจากโรคแมลง
3. ฝักเป็น 5 เหลี่ยม สีเขียว
4. ความยาวฝัก 5-9 เซนติเมตร