พิมพ์หน้านี้ - เครื่องดื่มตลาดชายแดนสุดอันตรายยีสต์ราแบคทีเรียยุบยับแถมหมดอายุ

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => เตือนภัย => ข้อความที่เริ่มโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ มิถุนายน 02, 2008, 07:11:30 AM



หัวข้อ: เครื่องดื่มตลาดชายแดนสุดอันตรายยีสต์ราแบคทีเรียยุบยับแถมหมดอายุ
เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ มิถุนายน 02, 2008, 07:11:30 AM
(http://pics.manager.co.th/Images/551000006953601.JPEG)

เครื่องดื่มชา กาแฟ ธัญญาหาร ตลาดชายแดน ไม่ปลอดภัย มีอันตรายต่อสุขภาพ พบยีสต์ รา แบคทีเรีย ยุบยับ แถมบางร้านขายของหมดอายุ เสี่ยงท้องเสีย ท้องร่วง ชี้ขั้นตอนการผลิตไม่มีมาตรฐาน จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องควบคุมคุณภาพสินค้าเข้มงวดขึ้น อย.ยอมรับผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนไม่ได้มาตรฐานมีเยอะจับกุมไม่หวาดไหว แนะประชาชนควรมีความรู้ความเข้าใจระมัดระวังเลือกซื้อ ระบุ หากไม่มีเลขทะเบียนอาหาร ถือเป็นสินค้าเถื่อน
       
       นางเกตุ สินเทศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 7 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และเครื่องดื่มธัญญาหาร เป็นเครื่องดื่มกลุ่มที่ประชาชนนิยมซื้อมาบริโภค โดยเฉพาะบริเวณตลาดที่ติดต่อกับชายแดน มีสินค้าให้เลือกมากมายหลากหลาย ทั้งยังมีราคาไม่แพง ซึ่งได้ทำการสำรวจคุณภาพเครื่องดื่ม ที่วางจำหน่ายทั้งผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ ระหว่างกุมภาพันธ์ 2550 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยการเลือกซื้อตัวอย่างจากร้านค้า นำมาผ่านกระบวนการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการจำนวน 43 ตัวอย่าง พบมีการปนเปื้อนจำนวน 18 ตัวอย่าง คิดเป็น 41.9% มีการปนเปื้อนเชื้อยีสต์และรา 15 ตัวอย่าง คิดเป็น 34.9% คอลิฟอร์ม แบคทีเรีย 7 ตัวอย่าง คิดเป็น 16.3% และบาซิลลัส ซีเรียส จำนวน 1 ตัวอย่าง คิดเป็นซึ่งเป็น 2.3% และพบคาเฟอีนต่ำกว่าที่กำหนด 1 ตัวอย่าง คิดเป็น 2.3% ดังนั้น คุณภาพโดยรวมของเครื่องดื่มจึงยังไม่มีความปลอดภัย

 “ผู้ที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอยบริเวณตลาดติดต่อชายแดน มักจะซื้อเครื่องดื่มเหล่านี้กลับไปบริโภค ครั้งละเป็นจำนวนมาก โดยหวังว่า ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มธัญญาหารจะส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่กลับกลายเป็นว่า เครื่องดื่มมีการปนเปื้อน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นยีสต์ รา แบคทีเรีย ล้วนส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเสียได้ นอกจากนี้ ยังพบว่า สินค้าบางส่วนหมดอายุนานแล้ว แต่ก็ยังมีการมาวางจำหน่าย ซึ่งหากผู้บริโภคตรวจดูสินค้าไม่ละเอียด ก็ทำให้ซื้อสินค้าหมดอายุไปบริโภคได้” นางเกตุกล่าว
       
       นางเกตุ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ การที่ผลการสำรวจออกมาในลักษณะเช่นนี้ สะท้อนถึงขั้นตอนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะที่มีการนำเข้าไม่เข้มงวด ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังหรือหามาตรการที่เหมาะสม ในการควบคุมคุณภาพเครื่องดื่ม เพื่อปกป้องผู้บริโภค โดยในระดับหน่วยงาน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะประสานข้อมูลไปยังหน่วงงานที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันให้เกิดการดูแลควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงสาธารณสุขจังหวัด ในการให้ความรู้ในกลุ่มของผู้ค้า ไม่ควรนำสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานมาจำหน่าย
       
       นางเกตุ กล่าวอีกว่า เครื่องดื่มที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศ เวียดนาม มาเลเซีย เกาหลี ลาว จีน สิงคโปร์ อเมริกา และผลิตในประเทศไทยบางส่วน แม้ผลการสำรวจจะไม่สามารถชี้ชัดว่า เครื่องดื่มชา กาแฟ หรือธัญญาหาร จากประเทศใดมีอันตรายต่อสุขภาพมากกว่ากัน และมีที่มาอย่างไร แต่สิ่งที่ผู้บริโภคพึ่งระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คือ ควรเลือกซื้อสินค้าที่ระบุแหล่งผลิต หรือแหล่งนำเข้าที่ชัดเจน มีเลขทะเบียนอาหาร ภาชนบรรจุ และหีบห่ออยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาด เพื่อเป็นการป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการบริโภคเครื่องดื่มที่มีโอกาสปนเปื้อนได้

 ด้าน นพ.ชาตรี บานชื่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนไม่ได้คุณภาพ ที่ขายบริเวณตลาดชายแดน หรือ ตลาดนัด ตลาดเร่ ไม่ทราบแหล่งที่มา ที่อยู่ผู้ผลิต หรืออ้างงว่าผลิตในประเทศไทย หรือต่างประเทศ แต่ไม่มีเลขทะเบียนอาหาร ซึ่งต้องขออนุญาต อย.ก่อน เป็นการรับรองความปลอดภัยของอาหาร ถือว่าเป็นอาหารเถื่อนที่ผิดกฎหมาย
       
       “อย.เข้มงวดในการตรวจจับผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ที่ไม่ได้มาตรฐานเข้มงวดอยู่ตลอด โดยมีสารวัตรอาหาร ผู้ตรวจ ดำเนินคดีกับผู้ค้า แต่ต้องยอมรับว่า มีผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ปลอมอยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร โดยเฉพาะตลาดมืด ตลาดนัด ตลาดเร่ ซึ่งเมื่อจับกุมแล้ว ก็นำกลับมาขายใหม่อีก ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ไม่ซื้อของปลอมที่ไม่มีคุณภาพ ตรวจดูฉลากของสินค้าให้ดี ว่า มีเลขทะเบียนอาหาร อย.หรือไม่ ซึ่งอาหาร เครื่องดื่มบางประเภทก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องซื้อ” นพ.ชาตรี กล่าว

โดย ผู้จัดการออนไลน์