พิมพ์หน้านี้ - สินค้า-กับข้าว-ไก่-ไข่-ก๊าซ-ค่าไฟฟ้าฯจ่อขยับราคาอีก คนมีรายได้น้อยอ่วม รับ65

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => เส้นทางการเงิน-เศรษฐกิจ => ข้อความที่เริ่มโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ มกราคม 10, 2022, 09:07:46 AM



หัวข้อ: สินค้า-กับข้าว-ไก่-ไข่-ก๊าซ-ค่าไฟฟ้าฯจ่อขยับราคาอีก คนมีรายได้น้อยอ่วม รับ65
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ มกราคม 10, 2022, 09:07:46 AM
https://www.pohchae.com/2022/01/10/thai-price-increase
สินค้า-กับข้าว-ไก่-ไข่-ก๊าซ-ค่าไฟฟ้าฯจ่อขยับราคาอีก คนมีรายได้น้อยอ่วม รับปี 65
#สินค้า #กับข้าว  #ไก่  #ไข่  #ก๊าซ  #ค่าไฟฟ้า #ขยับราคา  #คนมีรายได้น้อยอ่วม  #รับปี65
------------------
(https://www.pohchae.com/wp-content/uploads/2022/01/%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%8765.jpg)

“..คนไทยทำใจยังไงไหว หมูก็แพง-อุปกรณ์ก่อสร้าง-เหล็ก-สินค้า-กับข้าว-ไก่-ไข่-บะหมี่สำเร็จรูป-ก๊าซหุงต้ม-ค่าไฟฟ้าฯ จ่อขยับราคายกชุด คนมีรายได้น้อยอ่วม รับปี 65 คาดสถานการณ์อาจยาวนานถึงสิ้นปี 65 .. “

ช่วงปลายปี 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ทำการสำรวจผลกระทบต้นทุนการผลิตสินค้า พบว่าปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบต่อราคาสินค้ามาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลจากลิตรละ 20 กว่าบาทเมื่อช่วงต้นปี 2564 มาถึงสิ้นปีอยู่ที่ 30 บาท แต่รัฐได้ช่วยอุดหนุนจนราคาลงมาอยู่ที่ 28 บาทกว่า และยังจะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่จะเริ่มตั้งแต่รอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 ที่จะเป็นต้นทุนสำคัญเพิ่มเข้ามา..



ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังระบุว่า ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นภายใน 3-6 เดือนข้างหน้าอีก 10-20% ซึ่งหมายความว่าจะหนีการปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ เพราะหากไม่ปรับราคาสินค้า ก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ เนื่องจากได้มีการตรึงราคาสินค้ามายาวนานแล้ว

ขณะที่หอการค้าไทยก็มองในทิศทางเดียวกันกับ ส.อ.ท. โดยประเมินว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันนับจากนี้จนถึงช่วงครึ่งแรกปี 2565 คงไม่ได้เห็นราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ที่ 20-30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลอีก มีแต่จะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บวกลบ และมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า การขนส่ง และยิ่งค่าไฟฟ้าที่จะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี ก็ยิ่งกระทบต่อต้นทุนอย่างหนัก

เตือนผู้บริโภคทำใจสินค้าขึ้นแน่
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เคยกล่าวไว้ว่า ผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ต้นทุนสินค้า และค่าขนส่ง โดยเอกชนพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐเพื่อรักษาระดับราคาสินค้าที่จำหน่ายในปัจจุบันให้ได้นานที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าในอนาคตสินค้าจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นแน่นอน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการและมีรายได้
“ผู้บริโภคต้องทำใจ และเตรียมรับมือกับราคาสินค้าที่จะขยับขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก” นายสนั่นกล่าว
ทางด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ก็กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างมาก และมีสินค้าบางส่วนได้ขยับขึ้นราคาไปแล้ว หากราคาน้ำมันยังปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เอกชนอาจมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มเติมอีก

มีอีกหลายปัจจัยที่กระทบต่อต้นทุน
นอกเหนือจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และค่าไฟฟ้ากำลังจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 และต่อเนื่องตลอดปี 2565 ยังมีปัจจัยด้านต้นทุนอื่นๆ อีกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปได้ปรับตัวสูงขึ้นมาต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2564 เช่น ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และข้าวสาลี เป็นต้น หรือสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทั้งเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ที่ปรับตัวสูงต่อเนื่องเช่นกัน รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมอย่าง เหล็ก เหล็กทำกระป๋อง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปอีกหลายรายการ

เหล็ก-ปุ๋ยเคมีราคาขยับแล้วมีสิทธิ์ขยับอีก
ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาราคาเหล็กได้ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้ว จนกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง โครงการลงทุนต่างๆ โดยมีแนวโน้มที่ราคาจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล โดยเฉพาะรถไฟฟ้า และทางด่วนที่จะมีการประมูลมากขึ้น
ขณะที่ปุ๋ยเคมีได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในปี 2564 เป็นอย่างมาก แม้กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแลจัดหาปุ๋ยราคาถูกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็ลดต้นทุนได้ไม่มากนัก และยิ่งราคาน้ำมันตลาดโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทิศทางราคาปุ๋ยก็จะยังคงทรงตัวในระดับสูงเช่นกัน และแน่นอนว่า ผลกระทบจากราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น จะทำให้สินค้าเกษตรทั้งผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรอื่นๆ มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

น้ำมันปาล์ม-อาหารสัตว์ขึ้นยาว
สำหรับน้ำมันปาล์ม ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นมาต่อเนื่องตามต้นทุนราคาปาล์มดิบที่ขยับสูงถึงแตะระดับ 9 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) โดยราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มจากที่เคยขายขวดลิตรละ 44 บาท ขยับเพิ่มเป็น 49 บาท และบางช่วงอยู่ที่ 54-55 บาท และในพื้นที่ห่างไกลที่การขนส่งไม่สะดวกราคาขยับไปถึง 57-58 บาทก็มี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอาหารปรุงสำเร็จ และอาหารสำเร็จรูปที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ไม่ได้รับกระทบจากแค่น้ำมันปาล์ม แต่ยังได้รับผลกระทบจากแป้งสาลีที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ส่วนในปี 2565 ต้องดูว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันที่กำลังจะออกสู่ตลาดจะมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน หากมีปริมาณไม่มาก ราคาผลปาล์มดิบก็จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และมีผลต่อราคาน้ำมันปาล์มขวดต่อไป ..

ขณะที่อาหารสัตว์ มีแนวโน้มที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง แม้กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาช่วยเชื่อมโยงจับคู่การซื้อข้าวไปทำเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ แต่ก็ช่วยลดต้นทุนได้ไม่มากนัก เพราะต้นทุนส่วนอื่นยังคงเพิ่มขึ้น ทำให้อาหารสัตว์เป็นอีกตัวที่มีความเสี่ยงที่ราคาจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อปรับราคาเพิ่มขึ้น ก็จะกระทบต่อเนื่องถึงการเลี้ยงสัตว์ ทั้งสัตว์ปีก ไก่ ไข่ สุกร และสัตว์น้ำ ที่จะทำให้สินค้าต่อเนื่องเหล่านี้มีการขยับราคาเพิ่มขึ้นตาม

ล่าสุดปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว คือ ราคาหมูเนื้อแดงปรับตัวสูงขึ้นเป็น กก.ละ 160-180 บาท และบางพื้นที่ขยับขึ้นไปถึง 200 บาท และมีโอกาสที่จะยืนราคานี้ยาวๆ เพราะปัจจุบันหมูเข้าสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้น ..

ติดตามคลิปภาพและเนื้อหาทั้งหมดได้ที่นี่ > https://www.pohchae.com/2022/01/10/thai-price-increase/