พิมพ์หน้านี้ - เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร (ตอน๑)

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => ลึกลับ-เหลือเชื่อ-ธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: kittanan_2589 ที่ ตุลาคม 25, 2010, 08:39:11 PM



หัวข้อ: เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร (ตอน๑)
เริ่มหัวข้อโดย: kittanan_2589 ที่ ตุลาคม 25, 2010, 08:39:11 PM
(http://www.rd.go.th/samutsongkhram/uploads/RTEmagicC_normal_b002a.jpeg.jpeg)


ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ... จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

พระสีวลีเถระ
มหาโพธิสมาคมพุทธคยา อินเดีย


วิสัชนา : ขอเจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในธรรมและประสงค์จะศึกษาปฏิบัติธรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตไปสู่ความมีคุณค่า... คุณความดีและคุณธรรม

จากปุจฉาที่ยกขึ้นมาในครั้งนี้ ไม่ใช่อาตมายกขึ้นมาเอง แต่เป็นหัวข้อธรรมที่ตั้งขึ้นโดย พระสีวลีเถระ ที่ต้องการให้อาตมาวิสัชนาธรรมในรูปเทศนาธรรม เพื่อประโยชน์แห่งผู้ฟัง ซึ่งจะจัดให้มีการฟังบรรยายธรรมดังกล่าวในวันที่ ๑๗ ก.ย. ๒๕๕๓ นี้ ณ มหาโพธิสมาคม พุทธคยา อินเดีย เนื่องในวันครบรอบ ๑๔๖ ปี อายุกาลของท่านอนาคาริก ธรรมปาละ รัตนบุรุษแห่งศรีลังกา... อาตมาเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่าน จึงยกขึ้นมาเพื่อเป็นหัวข้อปุจฉาธรรมใน “ธรรมส่องโลก” ฉบับนี้ จะได้ชักชวนสาธุชนช่วยกันคิดว่า “จะปฏิบัติตนอย่างไรในฐานะพุทธศาสนิกชน เพื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่วุ่นวาย จนเกิดความทุกข์ทับถมมากเกินไป ในสังคมยุควัตถุนิยมที่ร้อนแรง มากไปด้วยความแก่งแย่ง เบียดเบียน ทะเลาะวิวาทกัน ไม่จบ...ไม่สิ้น จนต้องมีการคิดหากลเม็ดเด็ดพราย เพื่อนำไปใช้ในการต่อสู้แข่งขันกับคู่กรณี โดยประสงค์ความได้เปรียบ... ความได้ประโยชน์... ความได้กำไร และเพื่อความสมประสงค์ สมปรารถนาแห่งตน...”

ก่อนที่อาตมาจะสาธยายขยายความในรูปวิสัชนาธรรมตามที่ตั้งปุจฉาขึ้น ก็ใคร่นำสาธุชนไปอ่านคำถามของ ดร.วีรไท สันติประภพ รองผู้อำนวยการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีคำถามมาถึงอาตมา อันมีเนื้อหาสอดคล้องกับหัวข้อปุจฉาของพระสีวลีเถระ แห่งมหาโพธิสมาคม (พุทธคยา) โดยใจความว่า... “กราบเรียนหลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโสที่เคารพ ในวิถีแห่งความจริงของโลกที่เร่าร้อนด้วยความอยาก จึงเกิดการแข่งขันในทางการค้าอย่างรุนแรง มากไปด้วยเล่ห์เพทุบาย ต้องชิงไหว ชิงพริบ กันในทุกขณะ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์แห่งตน หรือชัยชนะที่หวังเหนือคู่ค้า ซึ่งไม่ทราบจะเรียกว่า เป็นบาปหรือไม่... จากการแข่งขันเพื่อความได้เปรียบในการลงทุนที่หวังผลกำไรต่อคู่ค้า คู่แข่ง โดยเฉพาะในโลกยุคไร้พรมแดน มีเสรีภาพในการแข่งขันการทำธุรกิจกันอย่างเต็มรูปแบบ การคิดหาวิธีการหรือแผนการ เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ มีชัยชนะเหนือคู่ค้า...คู่แข่ง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องกระทำ อันเป็นวิถีทางโลก ซึ่งอาจจะแตกต่างจากทางธรรม ซึ่งมุ่งเน้นการประกอบสัมมาอาชีวะ ซื่อสัตย์ ซื่อตรง มั่นคงด้วยเมตตากรุณา

แต่ในความจริงของการแข่งขันทางธุรกิจการค้าหรือในวงจรธุรกิจของสังคมปัจจุบันนั้น เรารู้ว่าอาจจะไม่ตรงไปตรงมา ไม่มีความโปร่งใสในการดำเนินงาน มีการจ่ายใต้โต๊ะ ไม่ซื่อตรงต่อกัน จนนำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชัน เพื่อให้ได้มาซึ่งโครงการที่สามารถประมูลชนะเหนือคู่แข่ง เพราะยอมจ่าย ๒๕% หรือให้ผลประโยชน์ตอบแทน เพื่อนำมาสู่ความสำเร็จในธุรกิจของตน ซึ่งเกิดเกมธุรกิจขึ้นมากมายในวงจรการค้าเสรีในปัจจุบัน ดังสภาพปัญหาของการอยู่ร่วมกันในเชิงการค้าที่จะต้องเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ชั้นเชิง ในการแข่งขัน ยิ่งเปิดโอกาสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทวีกำลังการแข่งขันมากเท่านั้น การชิงไหว ชิงพริบ เอารัด เอาเปรียบ เพื่อให้ก้าวไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ประสงค์จึงดุเดือด และออกจะไร้จรรยาบรรณแห่งความเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ อันควรแก่การมีไมตรีจิตต่อกัน ...ผู้มีกำลัง ...ผู้มีความพร้อม สูงกว่า มากกว่า ย่อมได้เปรียบคู่แข่งคู่ค้าเสมอ ทฤษฎีปลาใหญ่กินปลาเล็ก ยังมีให้เห็นเป็นปกติ โดยเฉพาะการใช้วิธีการทางลัดในทุกรูปแบบ เพื่อตัดหน้า ช่วงชิงประโยชน์ให้ได้มา จึงเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมขณะนี้... และส่งผลให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันหรือฉ้อโกงมากยิ่งขึ้นในสังคม