พิมพ์หน้านี้ - กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เตือนหนาวนี้ ระวังอันตรายจากเครื่องทำน้ำอุ่น

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => เตือนภัย => ข้อความที่เริ่มโดย: b.chaiyasith ที่ พฤศจิกายน 30, 2009, 06:35:20 PM



หัวข้อ: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เตือนหนาวนี้ ระวังอันตรายจากเครื่องทำน้ำอุ่น
เริ่มหัวข้อโดย: b.chaiyasith ที่ พฤศจิกายน 30, 2009, 06:35:20 PM
ตือนประชาชนเลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย โดยให้ช่างผู้ชำนาญการมาติดตั้งสายดินกับเครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่วเป็นอุปกรณ์เสริม พร้อมทั้งหมั่นตรวจสอบ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  เตือนประชาชนเลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย  สวิตซ์และส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องเป็นชนิดกันน้ำ โดยให้ช่างผู้ชำนาญการมาติดตั้งสายดินกับเครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่วเป็นอุปกรณ์เสริม  พร้อมทั้งหมั่นตรวจสอบ  ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ หากชำรุดให้แจ้งช่างผู้ชำนาญการมาซ่อมแซมทันที (http://www.vcharkarn.com/uploads/179/179597.jpg)

          นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า สภาพอากาศที่หนาวเย็นในระยะนี้ ทำให้เครื่องทำน้ำอุ่นได้รับความนิยมมากขึ้น  แต่เนื่องจากเครื่องทำน้ำอุ่นมีกลไกการทำงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำและไฟ หากเลือกซื้อ  ติดตั้งหรือใช้งานอย่างไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะนำข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

การเลือกซื้อ ห้ามซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นมือสอง หรือเครื่องใช้ราคาถูกจากบางประเทศที่ผลิตแบบไม่ได้มาตรฐาน เพราะนอกจากจะมีอายุการใช้งานสั้นแล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายในขณะใช้งานได้  ควรเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีขนาดเหมาะสมกับความจำเป็นและการใช้งาน  มีถังเก็บน้ำภายในตัวเครื่อง  มีฉนวนหุ้ม และระบบตัดไฟ  ตำแหน่งสวิตซ์ไฟต้องไม่อยู่ใต้หม้อต้มน้ำร้อน เพราะหากหม้อต้มน้ำร้อนรั่ว น้ำที่รั่วจะหยดลงสวิตซ์ไฟ ก่อให้เกิดอันตราย เลือกใช้สวิตซ์และส่วนประกอบต่างๆของเครื่องที่เป็นชนิดกันน้ำได้  มีฝาหน้าเป็นพลาสติกและฝาหลังเป็นโลหะ เพราะหากเกิดไฟฟ้ารั่ว กระแสไฟจะได้ไหลผ่านน๊อตหรือสกรูที่ยึดฝาหลังกับผนังปูน ซึ่งจะช่วยลดอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว ตลอดจนลักษณะของเครื่องทำน้ำอุ่นต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ มีคู่มือการใช้งาน  ใบรับประกันคุณภาพ พร้อมเครื่องหมายรับรองคุณภาพจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) อย่างครบครัน (http://www.vcharkarn.com/uploads/179/179598.jpg)   

          การติดตั้ง  ควรให้ช่างไฟฟ้าที่มีความชำนาญเป็นผู้ดำเนินการ ไม่โยกย้ายหรือติดตั้งด้วยตนเอง  เลือกใช้สายดินและสายไฟ  ที่มีขนาดเหมาะสมกับเครื่องทำน้ำอุ่น  ติดตั้งเครื่องป้องกันไฟฟ้าดูด ตัวตัดไฟฟ้าหรือเบรกเกอร์  เพราะหากกระแสไฟฟ้ารั่ว จะได้ไหลลงดินได้อย่างรวดเร็ว  จุดที่ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นต้องอยู่ในระดับสูงกว่าฝักบัว เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าเครื่อง  ทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต

          การใช้งาน ควรศึกษาและปฏิบัติตามวิธีการใช้งานจากคู่มือ คำแนะนำที่ติดอยู่กับฉลากสินค้าอย่างเคร่งครัด ไม่ควรงอหรือพับสายฝักบัว เพราะจะทำให้สายฝักบัวชำรุด  จนเป็นสาเหตุให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่วได้  ไม่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง  เพราะหากฟ้าผ่ากระแสไฟอาจไหลมาตามสายไฟและถูกไฟฟ้าดูดจนเสียชีวิต  เมื่อใช้งานเสร็จควรปิดสวิตซ์ไฟทันที 

          การตรวจสอบ  ควรให้ช่างผู้ชำนาญการมาตรวจสอบสวิตซ์ป้องกันไฟฟ้าดูดและไฟฟ้ารั่ว และสภาพเครื่องทำน้ำอุ่นอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเครื่องที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนาน  กรณีตรวจพบความผิดปกติของเครื่องทำน้ำอุ่น ให้แจ้งศูนย์บริการหรือช่างผู้ชำนาญการมาแก้ไข  ไม่ควรซ่อมแซมด้วยตนเอง  หากเกิดข้อผิดพลาดอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต 

          การทำความสะอาด ให้ปิดเบรกเกอร์ควบคุมไฟฟ้าทุกครั้ง  แล้วใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้แห้ง ห้ามนำผ้าเปียกที่ชุ่มน้ำเช็ดทำความสะอาดหรือฉีดพ่นน้ำที่ตัวเครื่องอย่างเด็ดขาด  เพราะอาจเกิดไฟฟ้าช๊อตได้   

          ที่สำคัญในการใช้งานควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่เลือกซื้ออุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยหรือติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นด้วยตนเองโดยเด็ดขาด  เพราะความประหยัดอาจนำไปสู่ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้

ที่มา

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย