พิมพ์หน้านี้ - องคมนตรีชี้การศึกษาไปไม่รอดเหตุงบประมาณถูกโกง

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => การศึกษา => ข้อความที่เริ่มโดย: b.chaiyasith ที่ ธันวาคม 24, 2008, 05:29:03 PM



หัวข้อ: องคมนตรีชี้การศึกษาไปไม่รอดเหตุงบประมาณถูกโกง
เริ่มหัวข้อโดย: b.chaiyasith ที่ ธันวาคม 24, 2008, 05:29:03 PM
(http://www.komchadluek.net/2008/12/24/images/thumbFilename2_7811763low_copy3.jpg)
องคมนตรีชี้การศึกษาไปไม่รอด เหตุงบถูกโกงกินทุกจุด แนะทุกโรงเรียนติดป้าย"เขตปลอดการฉ้อราษฎร์บังหลวง" ฝากผู้บริหาร 5 องค์กรหลักศธ.คุมเข้มพบครูทุจริตให้ไล่ออก อบรมครูเพิ่มคุณธรรม แนะดึงคนเก่ง-คนดีมาเป็นครูหันมาผลิตครูเฉพาะสาขาวิชา จี้รัฐสนองพระราชดำริพัฒนาการศึกษาชายแดน ด้านนักวิชาการประสานเสียงปฏิรูปการศึกษารอบสองต้องเน้นพัฒนาคุณภาพครู -ผู้เรียน ระบบบริหารงบประมาณ หนุนเด็กเรียนรู้ตลอดชีวิต


เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม  2551 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ร่วมกับองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเสวนาระดมความคิดเห็น เรื่อง ทิศทางเพื่อการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 โดยมี รศ.ดร.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานในการเสวนา พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมในการเสวนา

 ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวว่า ปฏิรูปการศึกษา คือ การปรับเปลี่ยนระบบและนโยบายการศึกษาของชาติ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและนอกประเทศ โดยต้องไม่ติดกรอบระยะเวลา เนื่องจากสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ต้องเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนระบบและนโยบายการศึกษาของชาติอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เช่น จีนประสบปัญหานักศึกษาอาชีวศึกษาเรียนจบแล้วทำงานไม่เป็นเหมือนไทย แต่จีนมุ่งผลิตนักศึกษาอาชีวศึกษาให้ออกมาตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ ขณะที่ไทยติดเรื่องทำอย่างไรให้คนเข้าเรียนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น ดังนั้น อาชีวศึกษาควรทำมาตรฐานกลางวิชาชีพเพื่อให้นักศึกษาจบออกมาเป็นช่างฝีมือที่มีคุณภาพ

 องคมนตรี กล่าวอีกว่า  ส่วนจุดแตกหักของการปฏิรูปการศึกษาในช่วงเวลา 2552-2560 คือเรื่องคุณภาพการศึกษา ที่ต้องเพิ่มการศึกษาทุกประเภททุกระดับ ต้องคำนึงถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และการศึกษาสร้างอุปนิสัยคนในชาติที่ต้องการ รวมทั้งควรกำหนดว่าจะสร้างนิสัยพลเมืองไทยอย่างไร คุณลักษณะเก่ง ดี มีสุขเป็นอย่างไร เห็นว่าอุปนิสัยสำคัญที่ต้องสร้างคือ การสร้างนักเรียนที่มีความดี ยึดความถูกต้องชอบธรรมเพื่อให้เป็นนิสัยที่ติดตัวคนไทย

 “เรื่องสำคัญที่สุดของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา คือ ครู ต้องหาคนที่เหมาะสมมาเป็นครู โดยหลักสูตรผลิตครู ควรยกเลิกระบบผลิตครูเอกปฐมวัย เอกประถมศึกษา แต่เปลี่ยนเป็นเอกภาษาไทย เอกคอมพิวเตอร์ตามวิชาแทน เพื่อให้มีครูที่เก่งเฉพาะวิชา ไม่ใช่ครูคนเดียวสามารถสอนทุกวิชาเหมือนอดีตที่ผ่านมา ซึ่งหลักสูตรการผลิตครูควรเรียน 6 ปีเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในวิชาที่ศึกษา จบออกมาแล้วได้รับเงินเดือนเช่นเดียวกับแพทย์ นอกจากนี้ ต้องพัฒนาครูประจำการให้ดีและเก่งขึ้นเรื่อยๆ เป็นครูเทวดา แต่ระบบพัฒนาครูปัจจุบันไม่ได้ให้การพัฒนาที่เป็นเรื่องเป็นราว ครูเสียเวลากับการเขียนผลงานวิชาการขอตำแหน่งให้ตนเอง ทำให้ไม่มีเวลาสอนหนังสือ ซึ่งการพัฒนาครูก็ต้องรับฟังเสียงจากครูทั่วประเทศด้วย”ศ.นพ.เกษม กล่าว

 องคมนตรี กล่าวต่อไปว่า อยากเสนอให้ผู้บริหาร ศธ.เข้าไปดูเรื่องการศึกษาชายแดนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จย่าทรงออกแบบไว้ เนื่องจากที่ผ่านมาเรื่องการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนไม่อยู่ในความคิดของผู้บริหารการศึกษาเท่าไหร่ ขอให้เปลี่ยนการดูงานต่างประเทศไปเป็นดูงานพื้นที่ชายแดนไทย เพื่อนำสิ่งที่ได้ไปพบเห็นมาปรับเรื่องการศึกษาซึ่งจะช่วยเรื่องความมั่นคงของชาติได้ดีที่สุด

 “สิ่งสำคัญคือเรื่องงบประมาณด้านการศึกษา ที่ผ่านมางบการศึกษาที่ได้รับมามีฉ้อราษฎร์บังหลวงไปเท่าไหร่ เหลือสำหรับการพัฒนาการศึกษาเท่าไหร่ เพราะมีการกินกันทุกจุด ทำให้ระบบการศึกษาไปไม่รอด ดังนั้น ต้องพัฒนาระบบให้เป็นระบบธรรมาภิบาลปฏิบัติให้ลงไปสู่ทุกภาคส่วนของระบบการศึกษา ผมอยากให้มีป้ายทุกโรงเรียนว่าเขตปลอดการฉ้อราษฎร์บังหลวงด้วยซ้ำ และฝากผู้บริหารองค์กรหลักทั้ง 5แท่งขอให้เอาจริงกับการลงโทษครูที่ทุจริตคอรัปชั่น หากต้องเอาออกก็ขอให้เอาออก และให้กำหนดบทลงโทษให้หนักสำหรับเรื่องนี้ แล้วไปเพิ่มเรื่องคุณธรรม เพื่อให้งบประมาณลงไปถึงระบบการศึกษาอย่างแท้จริง”ศ.นพ.เกษมกล่าว

 ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษารอบสองควรมีการลงทุนการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ โดยเน้นการเท่าเทียมทางการศึกษาและสนับสนุนให้เอกชนมีบทบาททางการศึกษามากขึ้น ทั้งนี้ ข้อเสนอเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยในอนาคตนั้น ปรัชญาและแนวคิดการจัดการศึกษาต้องสมดุลกับคนส่วนใหญ่ โดยเน้นการสร้างคนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ให้มีสัมมาอาชีวะ มีความสามารถในการปรับตัว สามารถดำรงชีวิตได้ตามอัตภาพ เน้นการจัดการศึกษาให้เข้าถึงความรู้มากกว่าการจดจำเนื้อหา นอกจากให้ความสำคัญกับความเป็นไทยแล้ว การจัดการศึกษายังต้องเน้นไปที่การเป็นสังคมโลกด้วย

 “การปฏิรูปรอบใหม่ควรมีปรัชญาหลักว่าเราจะมุ่งเรื่องใด ซึ่งในส่วนของผู้เรียนนั้น ควรเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งต้องเน้นการมีส่วนร่วม บทบาทครู ผู้ปกครอง ครอบครัว ท้องถิ่น และการบริหารจัดการต้องกระจายอำนาจมีอิสระในการจัดการศึกษา เข้าถึงท้องถิ่นและประชากรระดับต่างๆ ขณะเดียวกันการติดตามประเมินผลก็ต้องมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงการศึกษาในสามมิติ โดยพิจารณาว่า ปฏิรูปอะไร เพื่ออะไร และมีจุดมุ่งหมายอย่างไร ใช้อะไรเป็นตัวกำหนด”ศ.ดร.ยงยุทธกล่าว

 รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษารอบแรกที่ผ่านมาตั้งโจทย์ผิด ดังนั้น การตั้งโจทย์ปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2 ต้องตั้งโจทย์ให้ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการ  หากไม่ปฏิรูประบบราชการก็จะไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้ เพราะคนที่มาทำการศึกษาคือข้าราชการ ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาในการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 คือ ปฏิรูประบบราชการ จะออกแบบการเรียนรู้อย่างไร การปฏิรูประบบการเงินเพื่อให้งบประมาณด้านการศึกษาลงไปถึงโรงเรียนกับเด็กอย่างแท้จริง

 "ที่สำคัญการศึกษาจะต้องไม่กลับไปกลับมาตามการเมือง เพราะทำให้นโยบายเรื่องการศึกษาไม่ต่อเนื่อง และควรต้องทบทวนองค์กรมหาชนต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาทำเรื่องการศึกษา เนื่องจากใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ไม่รู้ว่าเกิดผลกับคุณภาพเด็กแค่ไหน ขอฝากให้รัฐบาลชุดนี้นำข้อสรุปเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และพิจารณาว่าทำอย่างไรองค์กรหลักจึงจะมีขนาดเล็กลง โดยให้เอาเด็กและวิธีการเรียนการสอนเป็นตัวตั้ง"รศ.สมพงษ์ กล่าว

  ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า การปฏิรูปรอบแรกยึดหลักปฏิรูปผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่เนื่องจากต้องมีการปรับเปลี่ยนหลายด้าน ลำพังการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างเดียวคงทำได้ไม่เต็มที่ ต้องมีการปรับการบริหารจัดการ จึงนำมาสู่การปฏิรูป 3 เรื่อง คือ โครงสร้าง ครูและบุคลากร และทรัพยากร แต่ต้องยอมรับว่าด้านครูและบุคลากรซึ่งเป็นส่วนสำคัญ แต่มีการขับเคลื่อนได้น้อย ดังนั้น เห็นว่าในการปฏิรูปรอบต่อไปนั้น สามารถยึดแนวทางส่วนใหญ่จากการปฏิรูปรอบแรกได้  แต่ควรมีการทบทวนและจัดลำดับความสำคัญ โดยสิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญคือ การแก้ปัญหาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยจะต้องยกเรื่องการพัฒนาคุณภาพเป็นพระเอกในเรื่องนี้

 รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) กล่าวภายหลังเสวนาฯว่า จากการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ พอสรุปแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ได้ตรงกันว่า จะต้องเน้นหนักไปที่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ 1.การพัฒนาคุณภาพครู ทำอย่างไรให้ได้ครูที่มีคุณภาพ มีการพัฒนาครูประจำการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยให้ครูมีขวัญกำลังใจและภาคภูมิใจในการเป็นครู 2.การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้ทั่วถึงไม่มีเด็กตกหล่นอยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งเด็กต้องได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค และ 3.การจัดการบริหารจัดการงบประมาณให้เน้นไปที่ตัวครูและเด็กเป็นสำคัญ

 "หากสามารถดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้ คุณภาพการศึกษาไทยก็ดีขึ้นโดยสะท้อนผ่านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แต่ที่สำคัญกว่าคือ เด็กต้องเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตเพื่อดูแลตนเองได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ได้ให้ไว้ ว่าจะเน้นเรื่องคุณภาพการศึกษา ควบคู่กับคุณธรรม  จริยธรรม  และความเป็นไทย  ทั้งนี้  สกศ.จะจัดประชุมอย่างเป็นทางการร่วมกับ รมว.ศึกษาธิการ และเปิดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และผลักดันการปฏิรูปการศึกษาให้เดินหน้าต่อไป"  เลขาธิการสกศ. กล่าว