หัวข้อ: แฮปปี้เบิร์ดเดย์กูเกิล เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ กันยายน 07, 2008, 11:43:51 am แฮปปี้เบิร์ดเดย์กูเกิล ย้ำชัด"IE8"อยู่นอกสายตา
(http://pics.manager.co.th/Images/551000011404701.JPEG) จากซ้าย Sergey Brin, Eric Schmidt และ Larry Page สามทหารเสือของกูเกิล ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน 1998 สองหนุ่ม Larry Page และ Sergey Brin ก่อตั้งบริษัทกูเกิลอิงค์ขึ้นมาด้วยคอมพิวเตอร์ 4 เครื่องพร้อมทุนสนับสนุนอีก 100,000 เหรียญ บนความเชื่อมั่นว่าเสิร์ชเอนจิ้นจะเปลี่ยนโลกอินเทอร์เน็ตได้ เมื่อ 10 ปีผ่านไป คอมพิวเตอร์ของกูเกิลมีมากมายจนนับไม่ได้ จำนวนพนักงานทั่วโลกราว 20,000 คน มูลค่าตลาดกว่า 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทำรายได้มากกว่า 4.8 หมื่นล้านเหรียญจากธุรกิจโฆษณาออนไลน์ตั้งแต่ปี 2001 ที่ผ่านมา ถือเป็นบริษัทอายุ 10 ขวบที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก เชื่อว่าอนาคต กูเกิลจะมีสิ่งใหม่มาเซอร์ไพรส์โลกไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง เพราะมีข่าวว่า 3 ทหารเสือ Eric Schmidt ซีอีโอกูเกิลตั้งแต่ปี 2001 และผู้ก่อตั้งอย่าง Brin และ Page ตกลงกันอย่างไม่เป็นทางการว่าจะเป็นมันสมองให้กูเกิลต่อไปจนถึงปี 2024 เป็นอย่างน้อย "IE8"อยู่นอกสายตา เมื่อ Larry Page หนึ่งในสองผู้ก่อตั้งกูเกิลถูกถามว่า Google Chrome เบราว์เซอร์ใหม่ล่าสุดถูกสร้างเพื่อชนกับ IE8 เบราว์เซอร์เวอร์ชันล่าสุดของไมโครซอฟท์ที่เปิดให้ทดลองใช้เป็นเวอร์ชันที่ 2 อยู่ในขณะนี้จริงหรือไม่ Page ตอบแสบสันต์ทำนองว่า ต้องเป็น IE9 เวอร์ชันหน้าจึงจะเหมาะเป็นคู่แข่งของ Chrome "กูเกิลตั้งใจแข่งขันกับทุกโปรแกรมที่ถูกตั้งเป็นค่าเริ่มต้น (default) มากับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่วางขายส่วนใหญ่" Page ยืนยัน "Google Chrome ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่จะทำเงินให้กูเกิลเลย แต่จะเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับประสบการณ์ท่องเน็ตของผู้ใช้ ซึ่งเมื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นรายได้จึงจะเข้ากระเป๋ากูเกิล" คำถามว่า ทำไมกูเกิลจึงแยกวงจากมอสซิลลา (Mozilla) องค์กรพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระซึ่งแจ้งเกิด Firefox เบราว์เซอร์น้องใหม่บนความร่วมมือกับกูเกิล ก็ได้รับคำตอบจาก Sundar Pichai ประธานฝ่ายจัดการผลิตภัณฑ์ของกูเกิล ว่าเพราะกูเกิลไม่ต้องการยัดเยียดความคิดของกูเกิลให้ใคร กูเกิลต้องการเป็นตัวเลือกให้ผู้ใช้ตัดสินใจเอง ไม่ใช่ดังแล้วแยกวง เรื่องนี้ John Lilly ซีอีโอ Mozilla โพสต์ไว้บนบล็อกแล้วว่า การเปิดตัว Chrome ไม่มีผลกระทบใดๆต่อความสัมพันธ์ระหว่างมอสซิลลาและกูเกิล ยืนยันว่าจุดยืนของสององค์กรไม่เหมือนกัน ภาระกิจและแนวคิดที่ต่างกันทำให้สององค์กรเดินไปคนละทาง โดยความร่วมมือกับกูเกิลในโครงการต่างๆของมอสซิลลาจะยังกินระยะเวลาไปถึงปี 2011 นักวิเคราะห์นั้นฟันธงว่า กูเกิลไม่ได้หวังจะเป็นผู้ให้บริการเบราว์เซอร์เจ้าตลาดจริงอย่างที่พูด แต่กูเกิลต้องการแย่งชิง"ความเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์พีซี"มาจากไมโครซอฟท์ โดย Sheri McLeish นักวิเคราะห์จาก Forrester Research บอกว่า Chrome เป็นความพยายามในการสร้างพื้นที่เพื่อบริการและชุดเครื่องมือของตัวเองในอนาคต ไม่ใช่การลงมาเล่นในตลาดเบราว์เซอร์ ที่สำคัญ McLeish เห็นว่ากลุ่มที่จะหวั่นไหวไปกับ Chrome คือกลุ่มเซียนเน็ต นักเรียน และผู้ชอบของใหม่อื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดเพียงน้อยนิดของเบราว์เซอร์ยักษ์ใหญ่ แต่เป็นกลุ่มตลาดหลักของ Firefox และเบราว์เซอร์ทางเลือกอื่นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมอสซิลลาควรเป็นห่วงการแจ้งเกิดของ Chrome ไว้บ้าง เพราะจากการประเมิน Chrome สามารถดึงผู้ใช้จาก Firefox ไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์แน่นอน โดย ผู้จัดการออนไลน์ |