หัวข้อ: 8 พันธุ์ 1,893 กิโลกรัม 'ข้าวแรกนาขวัญ' 'สิริมงคล' แห่ง 'ไทย' เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ พฤษภาคม 09, 2008, 07:48:57 am 8 พันธุ์ 1,893 กิโลกรัม 'ข้าวแรกนาขวัญ' 'สิริมงคล' แห่ง 'ไทย'
(http://ads.dailynews.co.th/column/images/2008/politic/5/9/56908_53241.jpg) ในปี พ.ศ.2551 นี้ “วันพืชมงคล” ตรงกับวันที่ 9 พ.ค. อันเป็นวันที่จะมี “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ซึ่งเป็นพระราชพิธีสิริมงคลแก่พรรณพืช เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย ที่มีมาแต่โบราณกาล โดยในพระราชพิธีนี้จะมีการขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพยดาทั้งปวง ประสิทธิ์ประสาทให้พืชพันธุ์ธัญญาหารในราชอาณาจักรอุดมสมบูรณ์งอกงามเจริญดี ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พระสงฆ์จะมีการเจริญพระพุทธมนต์คาถาสำหรับพืชมงคล จะมีพืชพันธุ์ต่าง ๆ ถูกนำมาประกอบในพระราชพิธี และหนึ่งในพืชพันธุ์สำคัญในพระราชพิธีก็คือ “ข้าว” พืชอาหารที่สำคัญยิ่งของไทยและอีกหลายประเทศ !! ยุคปัจจุบันเฉลี่ยแล้วทั่วโลกมีความต้องการข้าว-ต้องการบริโภค ปีละประมาณ 417.7 ล้านตัน ซึ่งประเทศไทยแม้จะมิได้ปลูกข้าวได้มากที่สุดในโลก แต่ก็เป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ด้วยสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 36 รองลงมาคือเวียดนาม ประมาณร้อยละ 20, อินเดีย ประมาณร้อยละ 18 ข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับข้าว จากเว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ข้าวเป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้า ถือเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเช่นเดียวกับหญ้า ต้นข้าวจะมีลักษณะภายนอกบางอย่าง เช่น ใบ กาบใบ ลำต้น และรากคล้ายต้นหญ้า แต่ข้าวสามารถกินเมล็ดได้ และเป็นหนึ่งในพืชอาหารที่นิยมบริโภคกัน ข้าวที่นิยมบริโภค จะมีอยู่ 2 สปีชีส์ใหญ่ ๆ คือ... Oryza glaberrima ปลูกเฉพาะในเขตร้อนของแอฟริกาเท่านั้น และ Oryza sativa ปลูกทั่วไปทุกประเทศ โดยข้าวชนิด Oryza sativa ยังแยกออกได้เป็น... indica มีปลูกมากในเขตร้อน, japonica มีปลูกมากในเขตอบอุ่น และ Javanica ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยจะเป็นพวก Indica ซึ่งแบ่งออกเป็น “ข้าวเจ้า “และ “ข้าวเหนียว” หากจำแนกประเภทของข้าวคือข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ในทางคุณค่า-ทางวิทยาศาสตร์ เมล็ดข้าวเจ้าจะประกอบด้วยแป้งอมิโลส (Amylose) ประมาณร้อยละ 15-30 ขณะที่เมล็ดข้าวเหนียวประกอบด้วยแป้งอมิโล เพคติน (Amylopectin) เป็นส่วนใหญ่ และมีแป้งอมิโลสประมาณร้อยละ 5-7 ด้วยความที่เป็นพืชอาหารสำคัญ ข้าวจึงถูกมนุษย์คัดสรร-ปรับปรุงพันธุ์มาตลอดตั้งแต่มีประวัติศาสตร์การเพาะปลูก ซึ่งข้าวในปัจจุบันมีหลากหลายพันธุ์ทั่วโลก ให้รสชาติและประโยชน์ใช้สอยต่างกันไป และแน่นอนว่าถ้าจะพูดถึงข้าวไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็ย่อมจะเป็น “ข้าวหอมมะลิ” “ข้าว” เป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยมาก ทั้งในแง่ของการบริโภคของประชากรและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อพสกนิกรไทยและชาวนาไทยที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่อง “ข้าว” เป็นอย่างมาก และสำหรับ “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ใน “วันพืชมงคล” อันเป็นพระราชพิธีเพื่อสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ รวมถึงข้าว ซึ่งเป็นการสนับสนุนส่งเสริมชาวไร่ชาวนาในการประกอบอาชีพ เพื่อผลิตพืชอาหารป้อนความต้องการบริโภคในประเทศ และเพื่อส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ และความอยู่ดีกินดีของประชาชน องค์ “พ่อหลวง” แห่งปวงไทยก็ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ทรงปลูกพันธุ์ข้าวทดลองในนาทดลองบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ส่วนหนึ่งก็ได้พระราชทานนำเข้าในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระราชทานนี้ จะมีการแบ่งเพื่อใช้หว่านที่ลานประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจัดบรรจุซองส่งไป ยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรสำหรับแจกจ่ายแก่เกษตรกร เพื่อเป็น สิริมงคล กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปี 2551 นี้ ทางกรมการข้าวระบุว่า... นอกจากเมล็ดพรรณพืชต่าง ๆ รวม 40 ชนิด ที่ได้รับพระราชทานจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในโครงการพิเศษต่าง ๆ แล้ว สำหรับ “ข้าว” ได้มีการดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำพันธุ์ “ข้าวนาสวน 6 พันธุ์” เพื่อ “นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ข้าวทั้ง 6 พันธุ์นี้ ประกอบด้วย... สุพรรณบุรี 1, กข 29 (ชัยนาท 80), กข 31 (ปทุมธานี 80), ขาวดอกมะลิ 105, กข 6, พัทลุง และนอกจากนี้ยังมี “ข้าวไร่ 2 พันธุ์” ได้แก่... ซิวแม่จัน และ ดอกพะยอม ซึ่งรวมน้ำหนักเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งสิ้นคือ 1,893 กิโลกรัม ที่จะนำเข้าพระราชพิธีฯ ในวันที่ 9 พ.ค. 2551 นี้ และในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งจะจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุซองพลาสติกแจกจ่ายให้ศูนย์ข้าวชุมชน ชาวนา ตลอดจนประชาชน ตามประเพณีนิยม และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ รวมแล้วก็ “8 พันธุ์” น้ำหนักทั้งสิ้น “1,893 กิโลกรัม” คือ “ข้าวแรกนาขวัญ-ข้าวพระราชทาน ปี 2551” นี้ จะเป็น “มิ่งขวัญและสิริมงคล” แก่ปวงไทยสืบไป. |