พิมพ์หน้านี้ - ปลูกอ้อย3ไร่ "คั้นน้ำ-ทำอ้อยควั่น"

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

สารพัดช่าง-แนวทางอาชีพ => ●การเกษตร => ข้อความที่เริ่มโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ พฤษภาคม 01, 2008, 06:14:12 AM



หัวข้อ: ปลูกอ้อย3ไร่ "คั้นน้ำ-ทำอ้อยควั่น"
เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ พฤษภาคม 01, 2008, 06:14:12 AM
ปลูกอ้อย3ไร่ "คั้นน้ำ-ทำอ้อยควั่น" ทำเงินงามริมถนน"กบินทร์ฯ-นาดี"

(http://www.komchadluek.net/images2007/komchadluk_r1_c3.jpg)

(http://www.komchadluek.net/2008/05/01/images/thumbFilename2_ooy1.jpg)

เกษตรกรหนุ่มใหญ่วัย 51 ปี "สัญญา นามบุญเรือง" แห่ง ต.เมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ปลูกอ้อยบนพื้นที่ 3 ไร่ คั้นเป็นน้ำอ้อยสด ทำอ้อยควั่น-มัดลำขายริมถนนสาย 304 (กบินทร์บุรี-นาดี) อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ล้างหนี้ ธ.ก.ส. กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจนหลุดหนี้

ระบุรายได้ที่ผ่านมากระฉูดกว่าวันละ 1,000 บาท แต่ปัจจุบันเมื่อยอดรายรับเริ่มลดลง จึงเตรียมพลิกผืนดินครึ่งหนึ่งเปลี่ยนเป็นปลูกมันสำปะหลังพืชทดแทน

สัญญาเล่าว่า ประกอบอาชีพทำนาบนพื้นที่นาของครอบครัวในละแวกนั้น แต่มาเริ่มปลูกอ้อยเป็นอาชีพเสริมเมื่อปี 2540 บนพื้นที่ 3 ไร่ ติดทางหลวงสาย 304 (กบินทร์บุรี-นาดี) ก่อนถึงสี่แยกบ้านโคก ซึ่งเช่าจากนายทุนในราคาไร่ละ 300 บาท เพื่อนำผลผลิตอ้อยที่ได้มาผลิตและจำหน่ายในรูปของน้ำอ้อยคั้นบรรจุขวดพร้อมดื่ม อ้อยควั่นบรรจุถุง จำหน่ายแก่ผู้สัญจรไปมา โดยอ้อยที่ปลูกเป็นพันธุ์สายน้ำผึ้ง และพันธุ์สุพรรณบุรี 105

(http://www.komchadluek.net/2008/05/01/images/thumbFilename2_ooy3.jpg)

"ทำเป็นอาชีพเสริมจากการทำนาปี แต่พอดีบริเวณนั้นมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมบ้านโคก โรงงานหลายแห่งเกิดขึ้นและมีแรงงานทั้งในและนอกพื้นที่ จึงทำให้การค้าขายน้ำอ้อย อ้อยควั่น ดีมาก อย่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะได้ถึงวันละ 1,000-2,000 บาท ส่วนวันธรรมดา 700-800 บาท ซึ่งเราทำทั้งขายปลีก ขายส่ง"

จากรายได้ที่สูงในแต่ละวันตลอดเกือบ 10 ปี ที่ผ่านมา สัญญาบอกว่าสามารถส่งลูก 4 คน จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคน เพราะมีรายได้เหลือเก็บจากอาชีพเสริมนี้ถึงเดือนละเกือบ 2 หมื่นบาท หลังใช้หนี้เงินกู้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตลอดจนหนี้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธงก.ส.) จำนวน 6 หมื่นบาท ที่กู้มาเพื่อลงทุนจนไม่เป็นหนี้ในปัจจุบัน

ปัจจุบันแม้ว่าเศรษฐกิจจะถดถอย ประชาชนผู้เดินทางไปมาบนถนนสาย 304 ลดกำลังการซื้อลง ทำให้กิจการได้รับผลกระทบ สังเกตจากวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ รายได้จากเดิมกว่าวันละพันบาทจะเหลือ 700-800 บาทต่อวัน วันปกติเหลือ 300-500 บาทต่อวัน ขณะที่จำนวนปริมาณอ้อยมัด เดิมขายได้วันละ 10-20 มัดต่อวัน (1 มัด 6-7 ลำ) ก็ขายได้เพียง 1-3 มัดต่อวัน เหล่านี้ไม่ได้ทำให้สัญญาท้อถอย และยืนยันจะยึดอาชีพนี้ต่อไป

ขณะเดียวกัน เพื่อไม่ให้การดำเนินชีวิตของครอบครัวต้องเกิดภาวะเสี่ยงเกินไป สัญญาในฐานะหัวหน้าครอบครัวไม่ยอมตกกระแส เตรียมพลิกฟื้นที่นาที่มีอยู่กว่า 40 ไร่ โดยเกือบครึ่งปลูกมันสำปะหลังพืชทดแทน ที่จะถูกนำมาแปรรูปเป็นแก๊สโซฮอล์ เช่นเดียวกับเพื่อนเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ใกล้เคียงกันเกือบ 20 ราย ที่เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดนี้กันหมด

“ปีนี้ผมจะเปลี่ยนพื้นที่ครึ่งหนึ่งมาปลูกมันสำปะหลังแทน เนื่องจากราคามันสำปะหลังขณะนี้ราคาสูง เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้กิโลกรัมละ 2.30-2.40 บาท เตรียมไว้สำหรับอนาคต ซึ่งผมมองว่ามันสำปะหลังจะราคาดีขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนพื้นที่เดิมที่เหลืออยู่จะยังคงปลูกอ้อยเพื่อขายคั้นน้ำ และอ้อยควั่น-อ้อยมัดเหมือนเดิม” สัญญาบอกถึงอนาคตในการทำอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงชีพ

อนึ่ง ผลผลิตอ้อยของสัญญา เขาบอกว่า 1 ปีให้ผลผลิต 1 ครั้ง ระยะการปลูก 10 เดือน จะเริ่มหวานและผลิตจำหน่ายได้ การลงทุนปลูกไร่ละ 3,000-4,000 บาท รวมลงทุนค่าขวดพลาสติกบรรจุ ค่าน้ำแข็งบรรจุตู้แช่ใช้เงินราว 1 หมื่นบาท ราคาขายน้ำอ้อยคั้นขวดละ 15 บาท อ้อยควั่นถุงละ 10 บาท อ้อยมัดละ 50 บาท และหากขายเหมาก็จะงานละ 5,500 บาท หรือไร่ละ 2.2 หมื่นบาท