พระพุทธศาสนากับป่า
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธศาสนากับป่า  (อ่าน 1909 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: พฤศจิกายน 09, 2011, 02:57:07 PM »

พระพุทธศาสนากับป่า
ความสำคัญของป่าไม้ในอดีตและปัจจุบัน

โดย รังสีธรรม ธรรมโฆษ‏
มนุษย์กับป่าไม้เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ในสมัยโบราณอาจกล่าวได้ว่า มนุษย์ฝากชีวิตไว้กับป่าไม้อย่างสิ้นเชิง สิ่งจำเป็นแก่ชีวิต ๔ ประการ ซึ่งเรียกว่า ปัจจัย ๔ มนุษย์ได้มาจากป่าโดยตรง

อาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ หัวมัน เมล็ดพืชผัก หรือแม้เนื้อสัตว์ก็ได้มา          จากป่า เครื่องนุ่งห่มไม่ว่าจะเป็นใบไม้ เปลือกไม้ หรือผ้าด้าย ผ้าไหมอันประณีต ล้วนเป็นผลิตผลจากป่า ที่อยู่อาศัยตั้งแต่โพรงไม้ ถึงบ้านเรือนอันใหญ่โตสวยงามก็หาได้จากป่า ยิ่งยารักษาโรคด้วยแล้ว ยิ่งเป็นผลิตผลจากป่าโดยตรง

แม้ในสมัยปัจจุบันที่โลกเต็มไปด้วยประดิษฐกรรมทางวิทยาศาสตร์อันมหัศจรรย์ต่างๆ นี้ ป่าไม้ก็หาได้สิ้นบทบาทในสังคมมนุษย์เสียทีเดียวไม่ อาจกล่าวได้ว่า มนุษย์สมัยใหม่ยังคงอาศัยป่าเท่ากัน หรืออาจจะมากกว่าสมัยโบราณ มีข้อแตกต่างกันแต่เพียงว่า ในสมัยโบราณคนอาศัยป่าโดยตรง เช่น กินผลไม้ในป่า อยู่โพรงไม้ นุ่งเปลือกไม้ ใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคในสมัยนี้ คนรู้จักหาประโยชน์จากป่าโดยวิธีที่ประณีตขึ้น เช่น นำพืชผลป่ามาปลูก แล้วปรับปรุงให้ดีขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ แทนที่จะอยู่โพรงไม้โดยตรง ก็รู้จักนำเอาไม้มาตัดเลื่อยไสกบ ประกอบเป็นอาคารบ้านเรือนอันสะดวกสบายและสวยงาม รู้จักเอาเปลือกไม้ ใบไม้ผลไม้มาปั่นและทอเป็นผ้าที่สวยงามและทนทาน รู้จักเอาพืชพันธุ์ต่างๆ มาสกัดเอาเฉพาะตัวยาที่บรรจุอยู่ในพืชพันธุ์นั้นๆ ไว้ใช้รักษาโรค

ดังนั้น มนุษย์จึงยังอาศัยป่าเช่นเดียวกับสมัยโบราณ เพราะจำนวนคนมากขึ้น จึงต้องมีการผลิตมากขึ้น เพื่อให้ทันกับความต้องการ ขอให้ผู้เห็นว่าป่าไม้ไม่มีความจำเป็นสำหรับโลกปัจจุบัน มองดูวัตถุเครื่องใช้สอยต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ตั้งแต่เก้าอี้ที่กำลังนั่งอยู่ จนถึงดินสอที่อยู่ในมือและกระดาษที่กำลังใช้เขียน แล้วคิดสืบสาวไปยังที่มาของสิ่งเหล่านั้น ในที่สุดก็จะพบว่าทุกสิ่งมีกำเนิดมาจากป่าแทบทั้งนั้น
ป่าไม้กับจิตใจมนุษย์
สภาพสังคมปัจจุบัน ทำให้มนุษย์เหินห่างจากป่าไม้ไปบ้าง ยิ่งประชาชนตามเมืองใหญ่ ๆ ก็ยิ่งมีความสัมพันธ์กับไม้น้อยลง แต่ถึงกระนั้นก็หาได้ลืมป่าเสียทีเดียวไม่ แทบทุกคนยังคิดถึงป่าและ           หาโอกาสที่จะไปเที่ยวป่า เมื่อได้ไปเที่ยวป่าเห็นใบไม้เขียวชอุ่มเย็นตา เห็นดอกไม้งาม ๆ ได้ความร่มเย็นจากร่มไม้และความสงบเงียบของป่า จะรู้สึกเป็นสุขอย่างประหลาด

เพราะเหตุไรจึงรู้สึกเช่นนั้น? ก็คือว่า เพราะบรรพบุรุษของเราเคยอาศัยอยู่ตามป่า ป่าจึงเป็นบ้านเก่าของเรา อุปนิสัย “ชอบป่า” ที่ได้รับถ่ายทอดสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ ยังคงฝังอยู่ในสายเลือด เมื่อได้หวนกลับไปเห็นป่า ซึ่งเป็นบ้านเก่าแก่ดั้งเดิมของตน จึงรู้สึกเป็นสุขใจอย่างลึกซึ้ง

คนเราย่อมตอบสนองอุปนิสัย “ชอบป่า” ของตนโดยวิธีต่างๆ เช่นเอารูปภาพเกี่ยวกับป่าแขวนไว้ตามฝาผนัง แล้วก็นั่งชมในยามว่าง หาไม้พรรณต่างๆ มาปลูกลงในกระถางตั้งไว้ตามบริเวณบ้านเรือนบ้าง จัดให้มีสวนเล็ก ๆ ไว้ตามหน้าบ้านหลังบ้านบ้าง จัดให้มีวนาหรือ Park ไว้ตามเมืองใหญ่ ๆ บ้าง เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ป่าไม้มีอิทธิพลเหนือจิตใจมนุษย์ทั่วไปมากเพียงไร
ป่าไม้กับศาสนา

ในตอนที่ผ่านมา ได้บรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างป่าไม้กับมนุษย์ชาติโดยทั่วไป ต่อไปนี้                  จักพรรณนาความสัมพันธ์ระหว่างป่าไม้กับศาสนาโดยทั่วไปแล้ว จึงจะวกเข้าหาพุทธศาสนาเฉพาะ             ในตอนหลัง

ศาสนาทุกศาสนามุ่งต่อจุดสูงสุด คือสัจธรรมหรือความจริงแท้อันแน่นอน อย่างใดอย่างหนึ่ง สัจธรรมนั้นอาจมีชื่อและลักษณะแตกต่างกัน ในศาสนาต่างๆ ศาสดาของศาสนานั้นๆ ได้วางหลักปฏิบัติไว้สำหรับให้ผู้นับถือดำเนินตาม เพื่อบรรลุถึงสัจธรรมนั้น การปฏิบัติตามหลักธรรม ยังผลคือความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคมนี้คือ หลักใหญ่ของศาสนาทุกๆ ศาสนา

ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ควรได้รับเกียรติว่า เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก นักประวัติศาสตร์ไม่อาจยุติลงได้ว่า ศาสนาพราหมณ์เกิดขึ้นเมื่อใด เพียงแต่สันนิษฐานว่า เกิดมาเกือบพร้อม ๆ กับมนุษย์เผ่าอารยัน ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบแม่น้ำอ๊อกซุส (Oxus) ระหว่างทะเลสาบแคสเปียน และภูเขา          ฮินดูกูช แล้วอพยพเข้าสู่คาบสมุทรอินเดีย ภายหลังคัมภีร์พระเวท ซึ่งเป็นบันทึกหลักคำสอนในศาสนาพราหมณ์ ได้เกิดขึ้นเมื่อ ๒๐๐๐ ถึง ๑๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล นับว่าเป็นตำราเก่าแก่ที่สุดในโลก

ศาสนาพราหมณ์เกิดขึ้นในป่า โดยมีบรรดาฤาษีดาบส ซึ่งเป็นนักนิยมไพรใช้ชีวิตบำเพ็ญเพียร              ภาวนาอยู่ในป่าเป็นผู้ให้กำเนิด ชาวอารยันหรือฮินดูแบ่งชีวิตคนออกเป็น ๔ ระยะ และปฏิบัติ                  ตามระยะทั้ง ๔ มาจนเป็นประเพณี

ระยะแรกเรียกว่า พรหมจารี
ระยะที่สองเรียกว่า คฤหัสถะ
ระยะที่สามเรียกว่า วนปรัสถะ
ระยะที่สี่เรียกว่า สันยาสี

พรหมจารี-ได้แก่ระยะตั้งแต่เกิด จนกระทั่งถึงวันแต่งงาน ตอนนี้ถือว่าเป็นวัยสำหรับแสวงหาวิชาความรู้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพในกาลต่อไป ดังนั้นหน้าที่อันสำคัญของพรหมจารี คือการศึกษาเล่าเรียน

คฤหัสถ์-ได้แก่ระยะตั้งแต่แต่งงานแล้ว จนถึงมีบุตรชายสืบสกุล ตอนนี้เป็นวัยสำหรับประกอบการงาน สร้างหลักฐานให้มั่นคง

วนปรัสถะ- ตามศัพท์แปลว่า ผู้อยู่ในป่า เมื่อมีบุตรชายสืบสกุลแล้ว มีหลักฐานมั่นคงแล้ว ก็สละเคหสถานบ้านเรือน ออกไปแสวงหาความสงบจิตสงบใจอยู่ตามป่า แต่ยังไม่ถือเพศเป็นนักบวช

สันยาสี-เมื่อเป็นวนปรัสถะ นานพอสมควรแล้ว ก็ถือเพศเป็นนักบวชอย่างจริงจัง ใช้เวลาให้หมดไปด้วยการบำเพ็ญตบะอย่างเคร่งครัด จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

ระยะแห่งชีวิตทั้ง ๔ นี้ ชาวอินเดียได้ถือเป็นหลักปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณกาล ดังนั้นเรื่องราวของอินเดียจึงเต็มไปด้วยเรื่องฤาษีชีไพร ที่อาศัยอยู่ตามป่าดง เลี้ยงชีพด้วยผลไม้และหัวมัน ฤาษีเหล่านี้เองเป็นผู้พบสัจธรรมแห่งศาสนาพราหมณ์ แล้วก็วางหลักปฏิบัติไว้ จนกลายเป็นระบบศาสนาอันยิ่งใหญ่อยู่ในปัจจุบัน

จากนี้จะเห็นได้ว่า ชาวอินเดียต้องใช้เวลาครึ่งหนึ่งแห่งชีวิตอยู่ในป่า และศาสนาพราหมณ์ก็เกิดมาจากป่าโดยตรง แสดงให้เห็นว่า ป่าเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาสัจธรรมและจริยธรรม อันนำสันติสุขมาสู่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัย
ศาสนาคริสเตียน ซึ่งเป็นศาสนาสำคัญศาสนาหนึ่งในโลก ก็อาจกล่าวได้ว่าเกิดมาจากป่าพระบัญญัติ ๑๐ ประการของศาสนาคริสเตียนนั้น ตามประวัติเล่าว่า โมเสสได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าบนยอดเขาลูกหนึ่ง ศาสนาอิสลามอุบัติขึ้นในโลก เมื่อพระมะหะหมัดได้รับพระบัญชาจากพระอ้าหล่าเจ้า โดยทางความฝันในทะเลทรายยอดเขา และทะเลทรายไม่ใช่ป่าโดยตรง แต่ก็จัดเข้าในจำพวกป่า เพราะดินแดนแถบนั้น ป่าไม้หายาก พื้นที่ส่วนมากเป็นทะเลทรายและภูเขาที่ไม่มีต้นไม้ขึ้นภูเขาและทะเลทรายอันสงบเงียบ จึงเป็นป่าของประชาชนในภาคนั้นของโลก เพราะมีลักษณะอันสำคัญ คือความสงบเงียบเช่นเดียวกับป่าไม้ เท่าที่ยกมานี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าศาสนาสำคัญๆ ในโลกล้วนเกิดมาจากป่า

ป่าไม้กับพุทธศาสนา

พุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทยของเรา ก็เกิดขึ้นในป่าเช่นเดียวกับศาสนาอื่น ๆ และน่าจะเป็นศาสนาที่มีความสัมพันธ์กับป่าไม้มากเป็นพิเศษ เพราะเหตุผลและเรื่องราวดังต่อไปนี้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ให้กำเนิดพุทธศาสนา มีพระประวัติเกี่ยวข้องกับป่าตั้งแต่วาระแรกจนถึงวาระสุดท้าย ทั้ง ๆ ที่พระชนกพระชนนี เป็นกษัตริย์อยู่ในพระราชวังอันมโหฬาร แต่เหตุการณ์ก็ชักนำให้พระชนนีไปประสูติพระโพธิสัตว์ในป่าจนได้ พระพุทธองค์จึงเสด็จอุบัติขึ้นมา เพื่อให้เกียรติแก่ป่าโดยตรง

ป่าลุมพินีเลยกลายเป็นปูชนียสถาน อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธที่มีความสำคัญยิ่งไปกว่ากรุงกบิลพัสดุ์เสียอีก หลังจากประสูติแล้ว ๒๙ ปี เจ้าชายสิทธัตถะก็เสด็จออกสู่ป่าอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่าเสด็จออกบรรพชา หลังจากทรงถือเพศนักบวชที่ฝั่งแม่น้ำอโนมานทีแล้ว ก็เสด็จท่องเที่ยวไปค้นคว้าหาทางพ้นทุกข์ จากสำนักอาจารย์ต่างๆ เป็นเวลาร่วม ๖ ปี จึงมาถึงป่าอันน่ารื่นรมย์ชายฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ที่ตำบลคยาสีสะประเทศ

การปฏิบัติอันถูกทางประกอบกับความสงบเงียบของราวป่าช่วยให้พระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้-คือรู้จริงเห็นแจ้ง ในสัจธรรมอันสูงสุดในพุทธศาสนากลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรมศาสดาของประชากรกว่า ๑ ใน ๓ ของพลโลกปัจจุบัน ป่าไม้บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลคยาสีละนั่นเอง เป็นจุดกำเนิดอันแท้จริงแห่งพุทธศาสนา สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ปัจจุบันนี้เรียกว่าพุทธคยา เป็น             ปูชนียสถานสำคัญที่สุดของชาวพุทธ

ทุก ๆ ปีมีพุทธศาสนิกชนจากประเทศต่างๆ ไปนมัสการเป็นจำนวนพันๆ หลังจากตรัสรู้แล้วไม่นานก็เสด็จไปยังกรุงพาราณสีและได้แสดงธรรมโปรดพระปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน เป็นอันว่าสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงเปิดเผยสัจธรรม ที่พระองค์ได้ตรัสรู้แก่คนอื่นเป็นครั้งแรก ก็คือป่าไม้อีกเหมือนกัน

หลังจากนั้น พระพุทธเจ้าก็เสด็จท่องเที่ยวสั่งสอนประชาชนไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่มากมาย              ในมัธยมประเทศเกือบทุกแห่งพระองค์พอพระทัยที่จะพักอยู่ในป่าภายนอกเมืองเสมอ หลักคำสอนสำคัญ มักจะทรงแสดง ชื่อประวัติของพุทธองค์ย่อมมาพร้อม ๆ กับชื่อของป่าลุมพินีวัน                  ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ป่าเวฬุวัน ป่าเชตวัน ป่ามหาวัน ป่าอันธวัน ป่าอัมพวัน ป่าลัฏฐิวัน ฯลฯ

ในวาระสุดท้ายพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ภายในป่าสาลวันใกล้เมืองกุสินาราภายใต้          ร่มไม้สาละ นับได้ว่าเป็นสิ่งประหลาดที่พระมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ได้อุบัติขึ้นมาในโลก               ภายใต้ร่มไม้ และเสด็จจากโลกนี้ไปภายใต้ร่มไม้เช่นเดียวกัน แทนที่จะเป็นภายใต้เศวตฉัตร                    ในท้องพระโรงอันตระการตาแห่งปราสาทราชมนเทียรอันโอฬาร
พระพุทธเจ้าส่งเสริมการอยู่ป่า

จุดมุ่งหมายสูงสุดในพุทธศาสนา คือ การชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ การที่จะทำจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ต้องอาศัยการรักษาศีลอย่างเคร่งครัด และการทำสมาธิบังคับจิตใจอย่างจริงจัง จนจิตใจสงบระงับอย่างแน่วแน่ แล้วจะเกิดปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้น ความรู้แจ้งเห็นจริงนั่นแหละ จะขจัดมลทินทั้งปวงออกไปจากจิตใจ การฝึกฝนอบรมจิตใจนั้น จะต้องอยู่ในที่สงบเงียบจึงจะได้ผล ที่อันสงบนั้นไม่มีที่ใดดีไปกว่าป่าเขาลำเนาไพรอันห่างไกลจากชุมนุมมนุษย์ ฉะนั้น นักบวชผู้ปรารถนาปัญญาญาณพิเศษในทุก ๆ ศาสนา จึงชอบอยู่ตามป่าตามเขา

ในสมัยพุทธกาล เมื่อคนใดคนหนึ่งบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าจะทรงบอกทางปฏิบัติ หรือบอกกัมมัฏฐานให้เป็นที่เข้าใจแล้ว ก็ส่งไปฝึกฝนตนเองอยู่ในป่าอันห่างไกล หรือบอกกัมมัฏฐานให้เป็นที่เข้าใจแล้ว ก็ส่งไปฝึกฝนตนเองอยู่ในป่าอันห่างไกล เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลรายงานผลแห่งการปฏิบัติของตนให้ทรงทราบ

สำหรับรูปที่ปฏิบัติไม่ได้ผล เพราะข้อปฏิบัติที่ให้ไปไม่ถูกกับจริตอัธยาศัย พระพุทธองค์ก็ทรง               บอกให้ใหม่ แล้วก็ส่งไปปฏิบัติอยู่ในป่าอีก ต่อเมื่อปฏิบัติจนจิตใจสะอาด อาจไว้วางใจได้แล้ว              จึงทรงอนุญาตให้อยู่ในอารามใกล้ชุมนุมชนได้

การอยู่ในป่า พระพุทธองค์ทรงถือเป็นหลักปฏิบัติอันจำเป็นอย่างหนึ่งของภิกษุในบรรดา                    หลักปฏิบัติ ๑๓ อย่างที่เรียกว่าธุดงค์ พระองค์ทรงยกย่องการอยู่ป่าไว้ในที่หลายแห่ง ภิกษุรูปใด ชอบอยู่ป่า พระองค์ก็ทรงยกย่องชมเชย และแนะนำให้ภิกษุอื่นถือเอาเป็นแบบอย่าง                          พระมหากัสสปะเถระได้รับยกย่องจากพุทธองค์ให้เป็นเอตทัคคะในทางอยู่ป่า
พระพุทธเจ้าห้ามทำลายป่า

ในพระวินัยบัญญัติสำหรับพระภิกษุ พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้ภิกษุทำลายพืชใด ๆ ทั้งหมด แม้แต่เพียงเมล็ดพืชที่จะเพาะให้เกิดได้ก็ทรงห้ามทำลายด้วย ภิกษุใดฝ่าฝืนทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุนั้น นี้ก็แสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นประโยชน์ของต้นไม้และป่าไม้ จึงทรงห้ามทำลายต้นไม้ไว้ ในพระวินัยบัญญัติตอนที่ว่า ด้วยอภิสมาจาร พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้ภิกษุจุดไฟเผาป่าเล่น เพราะเห็นแก่สนุก การกระทำเช่นนั้นถือว่าเป็นอนาจาร คือความประพฤติอันไม่สมควรแก่สมณะ               ทรงปรับอาบัติทุกกฎแก่ภิกษุผู้เผาป่า นี้จัดได้ว่าเป็นบทบัญญัติห้ามทำลายป่าโดยตรง

พระพุทธเจ้าทรงเห็นคุณของต้นไม้

เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ภายใต้ต้นโพธิ์ พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปจึงถือว่า ต้นโพธิ์ เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ และให้การเคารพกราบไหว้ เช่นเดียวกับปูชนียวัตถุอื่น ๆ เช่น พระพุทธรูป เป็นต้น พุทธศาสนิกชนบางคนไม่กล้าตัดต้นโพธิ์ แม้ว่าต้นโพธิ์นั้นจะขึ้นอยู่ในที่ที่ควรตัดก็ตาม พระพุทธเจ้าเองก็ทรงนับถือต้นโพธิ์ ในฐานะที่ได้ช่วยให้ร่มเงาแก่พระองค์จนได้ตรัสรู้ ตามพุทธประวัติเล่าว่าหลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จไปประทับยืนมองดูต้นโพธิ์ เป็นการแสดงความขอบคุณอยู่ ณ จุดจุดหนึ่งเป็นเวลาถึง ๗ วัน จุดที่พระองค์ประทับยืนมองดูต้นโพธิ์นั้น กลายเป็นปูชนียวัตถุอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า อุทเทสเจดีย์ มีเครื่องหมายปรากฏเป็นหลักฐานอยู่จนทุกวันนี้ แม้แต่พระพุทธเจ้ายังทรงเห็นบุญคุณของต้นไม้ ที่ให้ร่มเงาแก่พระองค์เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น พุทธศาสนิกชนควรที่จะถือเอาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติต่อต้นไม้ทั่ว ๆ ไป
การปลูกต้นไม้เป็นการทำบุญ

ต้นไม้เป็นสิ่งไม่มีชีวิต การทำลายต้นไม้ไม่เป็นการทำลายชีวิต แต่แสดงถึงจิตใจที่ขาดเมตตา จึงน่าจะจัดเป็นบาปได้ ยิ่งกว่านั้นทางพุทธศาสนายังถือว่าต้นไม้เป็นที่อยู่ของรุกขเทวดา การทำลายต้นไม้จึงเท่ากับทำลายบ้านเรือนของคนอื่น แม้ว่าเทวดาจะไม่ปรากฏตัวให้เห็นแต่จะปฏิเสธทีเดียวว่าไม่มีหาสมควรไม่

มูลเหตุที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุทำลายต้นไม้ ก็เพราะได้เกิดเรื่องขึ้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งไปตัดต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่ของรุกขเทวดา เทวดาตนนั้นได้รับความเดือดร้อน จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุทำลายต้นไม้ตั้งแต่นั้นมา พุทธศาสนาสอนมิให้เบียดเบียนแม้สิ่งไม่เห็นตัว (ตามนัยแห่งกรณียเมตตาสูตรว่าทิฏฺฐาวา เยจ อทิฏฺฐา สัตว์ที่เห็นตัวก็ตามไม่เห็นตัวก็ตาม) เมื่อผู้ทำตั้งใจเบียดเบียน จึงจัดเป็นบาปได้

เมื่อการทำลายต้นไม้เป็นบาป การปลูกต้นไม้ก็จัดได้ว่าเป็นบุญ เพราะเป็นการให้ชีวิตแก่พืช                และเมื่อต้นไม้นั้นโตขึ้น คนได้อาศัยร่มเงาหรือดอกผล ก็ชื่อว่าได้ให้ร่มเงาและดอกผลไม้เป็นทาน

พระอินทร์ซึ่งเป็นจอมเทพชั้นดาวดึงส์ เมื่อยังเป็นมนุษย์มาณพอยู่ในเมืองมนุษย์ ปรากฏว่าได้บำเพ็ญประโยชน์แก่คนอื่น โดยวิธีต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งการปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาแก่ประชาชนด้วย พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ยิ่งใหญ่ก็ทรงปลูกต้นไม้ไว้เป็นจำนวนมากมายเช่นเดียวกัน การปลูกต้นไม้มีคุณอย่างเดียว ไม่มีโทษ จึงจัดเป็นการทำบุญได้อย่างหนึ่ง

เท่าที่ได้บรรยายตั้งแต่ต้น ก็คงพอจะเห็นได้แล้วว่า พุทธศาสนาห้ามการทำลายไม้ และส่งเสริมให้บำรุงป่าไม้ จึงควรที่พุทธศาสนิกชนจะได้ตระหนักในข้อนี้ให้มาก
 

โดย  พี่เณร...นำมาฝาก


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: