ร่วมสร้างประเทศไทย จากใจ..คนเป็นครู
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
พฤษภาคม 15, 2024, 01:12:04 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ร่วมสร้างประเทศไทย จากใจ..คนเป็นครู  (อ่าน 1734 ครั้ง)
b.chaiyasith
แก้ปัญหาไม่ตกคุยกันเวลางานline:chiabmillion
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน650
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3004


ไม้ดีไม่ลอยน้ำมาไกล


อีเมล์
« เมื่อ: ตุลาคม 23, 2009, 10:00:51 AM »

ต้องการเปลี่ยนประเทศไทย หรือปฏิรูปสังคม  เศรษฐกิจ  การเมืองหรืออะไรให้ดีตามที่ปรารถนาเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน  หลักการสำคัญไม่พ้นเรื่อง “คน”
จะทำอย่างไรให้คนทั้งชาติเห็นคล้อยเพื่อทำตามโมเด็ม หรือต้นแบบที่เราต้องการ
งานนี้ขอยืนยันและนอนยัน   และมีเครื่องพิสูจน์แล้วว่า  มีคนเห็นพ้องต้องกันกับสถาบันเครือข่ายทางปัญญา   เห็นด้วยกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยน และคนสำคัญที่จะต้องให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนคือ “ครู” ผู้สร้างคน
                อย่างน้อยจดหมายน้อยจากครูคนหนึ่งที่อ่านคอลัมน์นี้ ก็บอกอะไรที่น่าสนใจมากมาย ..ลองอ่านดูครับ
 
จากประสบการณ์ที่เคยเป็นทั้งครูสอนในโรงเรียนตามหลักสูตร และเคยรับจ้างสอนกวดวิชา รวมทั้งเคยบริหารสถาบันศึกษามาหลายรูปแบบ จึงขอเล่าบางสิ่งบางอย่างผ่านคุณเปลว ไปยังผู้เขียนคอลัมน์ โดยขอบังอาจแถลงเสริมประเด็นที่ยกขึ้นมา ดังต่อไปนี้ครับ
                อย่างแรก ......... เด็กไปโรงเรียนตามหน้าที่  เสร็จแล้วต้องขวนขวายแก่งแย่งกันไปหาความรู้เพิ่มเติมนอกรั้วโรงเรียนจากสถาบันกวดวิชาต่างๆ..........สงสัยกันหรือไม่ว่า   ทำไม? ครูในโรงเรียนกวดวิชาจึงถ่ายทอดได้เก่งกว่าครูตามโรงเรียน ..........ทำยังไง?  ที่เราจะจ้างครูกวดวิชาไปสอนประจำในโรงเรียน

                ตรงนี้ประมวลจากประสบการณ์ของตนเองได้ว่า เด็กแห่ไปใช้บริการโรงเรียนกวดวิชาด้วยเหตุผลักดันหลายประการประกอบกัน ได้แก่

-          สังคมไทยหล่อหลอมกันมาแบบไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง จะทำอะไรคอยหวังให้มีผู้อื่นมาช่วยเหลือ เด็กส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นตนเองว่าการมานะคร่ำเคร่งศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจะเพียงพอสำหรับการแข่งขัน และยิ่งเห็นผู้อื่นเขากวดวิชากันทั้งนั้น ยิ่งเห็นว่าตนเองไม่สามารถชนะเขาได้ แม้แต่ความต้องการให้มีผลการเรียนที่ดีในชั้นเรียนก็ต้องไปเรียนกวดวิชา ประเด็นหลังนี้ผู้ปกครองมักจะเป็นผู้ผลักดัน

-          การสอนของครูในชั้นเรียนตามกรอบของหลักสูตร ครูย่อมต้องมุ่งเข้าสู่ผลสัมฤทธิ์แห่งการเรียนรู้ที่วางมาตรฐานไว้ แต่นักเรียนมิใช่จะเต็มใจรับความรู้กัน เรียนเพราะมีหน้าที่ต้องเรียนและคิดไปข้างหน้าแต่เพียงว่าขอให้ได้คุณวุฒิเท่านั้น ครูจึงไม่สามารถเน้นเฉพาะเจาะจงลงไปในส่วนที่นักเรียนจะนำความรู้ไปแข่งขันกับเขา  คือนักเรียนไม่พร้อมจะรับ  แต่ก็มีครูอีกจำนวนมากที่ด้อยคุณภาพในการสอน ที่สำคัญคือไม่มีความสามารถสร้างแรงจูงใจแก่นักเรียนเพื่อให้นักเรียนมีความสุขกับการเรียนรู้

-          สังคมครูที่ถูกชักจูงให้ดำเนินชีวิตบนความหรูหราฟุ้งเฟ้อ ทำให้ครูต้องหารายได้เสริม ประกอบกับครูชั้นผู้น้อยมีค่าตอบแทนต่ำไม่พอใช้จ่าย สิ่งที่ทำได้ง่ายคือการรับสอนกวดวิชา มีบ่อยๆที่ผู้ปกครองบ่นว่าเด็กถูกครูชักชวนให้ไปกวดวิชานอกเวลากับครู โดยที่เวลาสอนในห้องเรียนครูจะสอนไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เมื่อไปกวดวิชานอกเวลาที่บ้านครูแล้วสอนเข้าใจดี

-          ระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับหรือประเภทต่างๆ   สำหรับการทดสอบความรู้ทางวิชาการนั้น จำเป็นต้องใช้ปัญหาทดสอบแบบปรนัยชนิดเลือกคำตอบข้อที่ถูกที่สุดเป็นส่วนใหญ่ เพราะสะดวกต่อการตรวจข้อสอบ การสร้างปัญหาสอบใช้กรรมการที่แต่งตั้งขึ้น ซึ่งกรรมการเกือบทั้งหมดมักจะมิใช่ผู้ซึ่งเคยสอนในระดับความรู้ที่จะใช้ทดสอบเด็ก ใช้ตำราหลักในหลักสูตรเป็นเครื่องมืออ้างอิงหลักในการออกข้อสอบ ตัวอย่างเช่นการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยซึ่งทดสอบพื้นฐานความรู้ระดับมัธยมปลาย กรรมการแต่งปัญหาสอบจะเป็นอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่  ข้อสอบไม่อยู่นอกกรอบของตำราในหลักสูตรก็จริง แต่จะไม่ค่อยตรงกับองค์ความรู้ที่เด็กได้รับมาจากแต่ละโรงเรียน ข้อยืนยันคือมีโรงเรียนใดสามารถสอนได้ครบทุกเรื่องในตำราแต่ละเล่มได้บ้าง? จุดเน้นของแต่ละโรงเรียนจึงไม่เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อมาเจอข้อสอบกลางเข้า นักเรียนผู้ที่รับความรู้ได้น้อยมากจากชั้นเรียนจึงต้องพึ่งโรงเรียนกวดวิชา คำว่ากวดนั้นชัดเจนอยู่แล้วว่าเร่งรีบและไล่ให้ทัน ความรู้นั้นต้องวางไว้ก่อน  สาระการกวดวิชาจึงอยู่บนการคิดค้นวิธีเอาชนะข้อสอบ กลยุทธ์คือรวบรวมสถิติข้อสอบในปีที่ผ่านๆมาแล้วฝึกหัดทำให้ได้มากที่สุด  ตรงนี้อาจตอบได้ว่าจะเชิญครูกวดวิชาที่เก่งๆไปสอนในชั้นเรียนแล้วเด็กจะเรียนรู้เรื่องขึ้นหรือไม่?

-          การสอบแข่งขันด้านวิชาการ ผู้เข้าสอบแทบจะไม่มีผู้ที่ไม่ได้กวดวิชาเลย จึงสรุปได้ว่าเป็นการแข่งขันกันด้วยพื้นฐานที่ได้จากโรงเรียนกวดวิชา มิใช่พื้นฐานองค์ความรู้ซึ่งได้จากชั้นเรียนในโรงเรียน มี เด็กจำนวนมากที่เข้าเรียนกวดวิชาโดยมิได้ตั้งใจเรียนแม้แต่น้อย คือเรียนเพราะผู้ปกครองผลักดันหรือคิดว่าเข้ามาชุบตัวเผื่อจะมีโอกาส  และก็มีผู้โชคดีเสมอที่ผ่านการคัดเลือกเนื่องจากเก็งข้อสอบตรงเข้าพอดี

อีกเรื่องหนึ่งคือ การมีครูเก่งสอนในโรงเรียนภาคปกติ จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กมีปัญญา  รู้จักคิด  รู้จักวางแผน มองหาคำตอบด้วยตนเอง  เรียนรู้การอยู่ร่วมด้วยความรับผิดชอบ  พร้อมๆ กับการแบ่งปันช่วยเหลือร่วมมือก้าวสู่เป้าหมายที่แยกแยะถูกต้องชั่วดี  ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตา   แข่งขันกันทุกวิถีทางเพื่อกระดาษแผ่นเดียว เสร็จแล้วได้คนเก่งแต่โกง สร้างปัญหาให้สังคมไม่รู้จบ

เรื่องครูเก่งนี้ ผมเห็นว่าการศึกษาระดับพื้นฐาน(ประถม-มัธยม)สำคัญที่สุด ต้องมีครู(ไม่ใช่อาจารย์)ผู้สามารถใกล้ชิด ประคบประหงม หล่อหลอมเด็ก เปรียบเสมือนพ่อ-แม่คนที่สอง  สำหรับในระดับอุดมศึกษานั้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว พึงขวนขวายรับผิดชอบหาความรู้ใส่ตนได้เอง ใครไม่ใฝ่หาก็ไม่ได้ ดังได้กล่าวแล้วว่าระดับพื้นฐานนี้การสร้างแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญและให้เด็กมีความสุขกับการเรียน

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ บัญญัติว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาคือการศึกษาที่ทำให้คนเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ อันนี้ผมขอค้านเด็ดขาด  คือต้องให้การศึกษาระดับพื้นฐาน(จบมัธยมปลาย)เป็นการสร้างคนให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เพราะอายุสิบแปดปีแล้ว มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนได้แล้ว และเมื่อจบการศึกษาระดับนี้แล้ว ผู้ซึ่งยังไม่สามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไปต้องสามารถทำงานหารายได้เพื่อดำรงชีวิตไปก่อน การศึกษาระดับอุดมศึกษาควรเป็นระดับต่อยอดเพื่อหาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือเพื่อเสริมความสามารถในการงานที่ทำอยู่

บ้านเรามีของดีอยู่แล้ว แต่คนรุ่นหลังทำลายจนพินาศสิ้น คือเดิมเราเคยมี โรงเรียนฝึกหัดครู ซึ่งเป็นสถาบันหล่อหลอมคนให้เป็นครูในอุดมคติ โดยมุ่งสร้างคุณลักษณะของครูผู้ที่จะทำให้เด็กมีความสุขในการเรียน ให้ครูมีลักษณะแม่พิมพ์ของชาติ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กได้เสมอ โดยพื้นฐานความรู้วิชาการนั้นมีสูงกว่าระดับการศึกษาของกลักสูตรไม่มากนัก คือมุ่งผลสัมฤทธิ์ของการถ่ายทอดความรู้เป็นสำคัญโดยครูมิต้องมีวุฒิการศึกษาสูงกว่าระดับที่สอนมากนัก  แต่ในเวลาต่อมาความกระหายปริญญาของนักเรียนฝึกหัดครู ผนวกกับความมักใหญ่ใฝ่สูงของผู้บริหารสถาบันซึ่งต้องการยกระดับสถาบันให้สูงขึ้นเพื่อการยกระดับฐานะตำแหน่งและขอบเขตอำนาจในการบริหารของตน นักการเมืองที่บริหารประเทศก็เห็นว่าสมประโยชน์กับตน โรงเรียนฝึกหัดครูจึงกลายพันธุ์ยกระดับเป็น วิทยาลัย สถาบัน มาจนเป็นมหาวิทยาลัย และล้มเลิกกิจกรรมสร้างครูในอุดมคติทั้งหมดโดยดำเนินงานให้ความรู้ในทุกสาขาในรูปแบบมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นตลาดวิชาเต็มตัว

ดังนั้นครูในปัจจุบันจึงเป็นผลผลิตของการศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันที่เสนอสาขาความรู้หลากหลายให้คนมาเลือกเรียนแล้วนำความรู้ที่ได้บ้างไม่ได้บ้าง(แต่มหาวิทยาลัยได้เงินครบ)ไปเลี้ยงตนเองเอาตามบุญกรรมของแต่ละคน สถาบันที่กลายพันธุ์มาจากโรงเรียนฝึกหัดครูอาจมีวิชาครูให้เรียนบ้างสองสามวิชา หาเพียงพอไม่ แถมผู้ที่เรียนก็มิใช่ต้องการเป็นครู ในขณะเรียนก็มิได้มีบุคลิกภาพที่จะเตรียมตนเองไปเป็นแม่พิมพ์ให้เด็ก  เมื่อไปเป็นครูก็มุ่งกิจหลักที่เกี่ยวกับตนเองเป็นส่วนใหญ่ คือ ดิ้นรนสำหรับรายได้เพื่อให้พอใช้จ่ายและให้มีหน้ามีตาในสังคมที่ค่อนไปทางหรูหราฟุ้งเฟ้อ  ศึกษาต่อให้ได้ปริญญาสูงขึ้นเพื่อได้ตำแหน่งสูงขึ้นเร็วๆ  ผมเห็นว่าการสอนแค่ระดับมัธยมไม่จำเป็นต้องมีคุณวุฒิสูงถึงปริญญาโท-เอก  ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องเขียนหนังสือทำผลงานทางวิชาการ(ซึ่งเอาไปใช้ไม่ได้ นอกจากทำให้เป็นที่พอใจของกรรมการ)เพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนฐานะ  แล้วอย่างนี้เวลาที่จะทุ่มเทให้กับเด็กจะเหลือสักเท่าใด

เท่าที่สาธยายมานี้ อาจมีผู้เดาว่าผมคงเป็นผลผลิตจากโรงเรียนฝึกหัดครู  ยืนยันอย่างสัตย์จริง ผมมิได้ผ่านการศึกษามาจากโรงเรียนฝึกหัดครูแต่ประการใด แต่ได้เคยเข้าไปสัมผัส เคยร่วมกิจกรรม และทำให้มีความเลื่อมใส และครูของผมในระดับมัธยมก็จบจากโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นส่วนใหญ่ ครูทุกคนเป็นที่เคารพรักใคร่ของเด็กแม้บางท่านจะดุมากก็ตาม ผมมีความสุขเมื่ออยู่ใกล้ครูและเมื่อครูพูดคุยด้วยความเอื้ออาทรต่อเรา เมื่อผมไปเห็นโรงเรียนฝึกหัดครูก็ได้คำตอบว่าครูของเราได้รับการหล่อหลอมจากแหล่งนี้เองจึงสมที่เป็นปูชนียบุคคลของศิษย์

เมื่อได้ทำหน้าที่เป็นครู เป็นผู้บริหารการศึกษารวมทั้งเป็นผู้บริหารในด้านอื่นๆ  ได้คลุกคลีกับบุคลากรประเภทต่างๆ ก็ได้ประสบการณ์ว่าผู้ซึ่งมีหน้าที่การงานเกี่ยวกับการจรรโลงสังคมและช่วยเหลือผู้อื่น เช่น ครู แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพยากรของชาติ ฯลฯ นั้นจำเป็นต้องได้รับการฝึกสอนอบรมเป็นการเฉพาะโดยมุ่งที่การสร้างคุณลักษณะในการอุทิศตนเพื่อสังคมเป็นสำคัญ ต้องเป็นผู้ที่พร้อมในการเสียสละที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าว รับการฝึก สอน อบรม และฝึกหัดให้มีคุณลักษณะรวมทั้งความรู้ความสามารถให้ตรงกับที่กำหนดไว้และใช้งานได้เลยเมื่อฝึกอบรมจบแล้ว และสมควรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตตามคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน มีความเป็นอยู่ที่พอเพียงสำหรับมุ่งรักษาเกียรติของตนเหนือกว่าการแสวงหาความมั่งคั่ง    ความก้าวหน้าเป็นไปด้วยการเทิดเกียรติคุณไปตามลำดับและให้ความมั่นคงในชีวิตโดยมีความแตกต่างในค่าตอบแทนระหว่างชั้นต้นกับชั้นสูงสุดไม่มากนัก และหากมีการกำหนดอายุงานเป็นห้วง ผู้ที่ทำงานครบห้วงเวลาและต้องออกไปสู่อาชีพการงานด้านอื่นโดยมีคุณงามความดีในห้วงการทำงานที่ผ่านมาก็สมควรจัดระบบค่าตอบแทนสำหรับการออกจากงานให้สมเกียรติในระดับที่สามารถเป็นทุนในการสร้างความก้าวหน้าสำหรับอาชีพใหม่ได้ต่อไป.

สร้างคนให้ได้ตามต้องการนั้นสร้างยากยิ่งนัก จึงไม่มีใครอยากทำ เพราะใช้เวลานานและต้องมีความต่อเนื่อง มีผลงานไม่ทันใจ จึงหันไปสร้างวัตถุกันหมด

จดหมายยาวกว่านี้ครับ  แต่สรุปใจความได้ว่า  ทุกมุมของสังคมไทยมีคนเห็นว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนเช่นกัน ดังนั้นเราก็ควรจะช่วยกันคนละไม้คนละมือ  จากมุมของตัวเอง  สักวันก็จะค่อยๆขยายวงกว้างครอบคลุมทั้งประเทศไทยได้  ..ดีกว่าอยู่เปล่าๆ  เอาแต่บ่นๆๆๆจริงไหม
 
นายใฝ่ฝัน   ปฏิรูป
ทีมาไทยโพสต์ ขอบคุณ


บันทึกการเข้า

"CHIAB"
มนุษย์เราแต่ละคน  ต่างไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไม่มีใครรู้จักกันมาก่อนเลย  แล้ววันหนึ่งก็มาพบหน้ากัน  สมมุติเป็นพ่อ  เป็นแม่  เป็นเมีย  เป็นสามี  เป็นลูก  อยู่ร่วมกัน  ใช้ชีวิตร่วมกัน และแล้ววันหนึ่ง  ก็แยกย้ายด้วยการ  "ตายจาก"  กันไปสู่  ณ  ที่ซึ่งไม่มีใครได้ตามพบ  คืนสู่ความเป็นผู้ไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไปไหน  และคืนสู่ความเป็น  "คนแปลกหน้า"  ซึ่งกันและกันอนันกาลอีกครั้งหนึ่ง...และอีกครั้งหนึ่ง!?
ขอขอบคุณ คุณเปลว สีเงิน ที่ให้ข้อคิดดีๆ

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!