พิมพ์หน้านี้ - รักษาโรคเหลอดเลือดแดงโคโรนารี

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => สุขภาพ => ข้อความที่เริ่มโดย: Nattawut-LSV Team ที่ ตุลาคม 10, 2010, 07:48:38 AM



หัวข้อ: รักษาโรคเหลอดเลือดแดงโคโรนารี
เริ่มหัวข้อโดย: Nattawut-LSV Team ที่ ตุลาคม 10, 2010, 07:48:38 AM
(http://www.dailynews.co.th/content/images/1010/10/newpaper/p6url_cheevit.jpg)

ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดโคโรนารีตีบตันอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องรักษา เพราะอาการจะเกิดเมื่อเกิดความไม่สมดุลของหัวใจ เหมือนคนที่ไม่หิว นอนเฉย ๆ แล้วอิ่มทิพย์ ไม่กินอาหาร ไม่ดื่มน้ำ  อยู่ได้สักพักก็จะทรุดลง ในขณะที่ถ้าเราไปออกแรง เล่นกีฬา ทำงานหนัก ย่อมต้องหิวเป็นธรรมดา และอาจจะหิวมากด้วยถ้าอดอาหารมาหลาย ๆ มื้อ ดังนั้นหากผู้ป่วยไม่มีอาการ ลองสังเกตดู มักจะไม่ได้ออกแรงเลย สังคมไทยเราเป็นสังคมตะวันออก มีลูกหลานดูแลผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้ออกแรง เลยทำให้ไม่เกิดอาการ นี่เป็นสาเหตุหลักเลย ต่างจากสังคมตะวันตก เป็นสังคมเล็ก ๆ อยู่กัน 2 คนตายาย ต้องช่วยตัวเอง ทำให้สังเกตอาการได้เร็ว รู้ความเจ็บป่วยก่อนที่จะหนักเกินไปมาพบแพทย์โดยเร็ว

    ปกติสามารถรักษา อาการหัวใจขาดเลือดได้ 3 วิธีได้แก่ รับประทานยา การผ่าตัดต่อทางเบี่ยงหลอดเลือดหรือบายพาสหลอดเลือด และรักษา ผ่านสายสวนด้วยบอลลูนร่วมกับการสอดฝังขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือดโคโรนารี ซึ่งวิธีสุดท้ายได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากอยู่โรงพยาบาลสั้นกว่าการผ่าตัด     หลักการรักษาเพื่อเพิ่มเลือดไปหัวใจ จะต้องคำนึงถึง 4 ปัจจัยสำคัญ ๆ คือ

    1.มีอาการเจ็บหน้าอกขณะออกแรง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ควรจะประเมินปริมาณการออกแรงด้วย เพราะหากเจ็บหน้าอกขณะออกแรงหนัก ๆ เช่น แบกหามของหนัก จะรุนแรงน้อยกว่าหากเจ็บหน้าอกทั้ง ๆ ที่ออกแรงน้อย ๆ เช่น ขณะอาบน้ำบิดเสื้อผ้าซึ่งมักจะสัมพันธ์กับหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง

    2.ตรวจพบหัวใจขาดเลือด เป็นการตรวจพิเศษเพื่อที่จะแสดงว่าหัวใจขาดเลือดจริงตรวจวัดความรุนแรงได้เพราะเป็นการตรวจทางสรีระ เช่น การทดสอบการเดินออกแรงบนสายพาน สัญญาณว่าหัวใจ ขาดเลือด ได้แก่ พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ส่วนระนาบเอสทีลดต่ำ ลง (STsegment depression) หรือตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน ร่วมกับการออกกำลังเดินบนสายพาน (Exercise echocardiography) หรือร่วมกับการใช้ยาโดบิวทามีนซึ่งเป็นยาเร่งหัวใจ (Dobutamine echocardiography) สัญญาณที่สำคัญ ได้แก่ หัวใจส่วนที่ขาดเลือด จะบีบตัวผิดปกติจากเดิม ทำให้เราทราบความรุนแรงของโรค โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการ บางรายตรวจพบว่าความดันเลือดตก ซึ่งจะบ่งชี้ความรุนแรงมากขึ้นไปอีก

    3.ตรวจพบหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการตรวจเอกซเรย์ความถี่สูง เช่น การตรวจ (64 slice computerizedtomogra phy coronaryangiography) ซึ่งนิยมใช้กันมากในปัจจุบันว่า มีการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจตรงไหน ตำแหน่งใด หรือตรวจกรองวัด ปริมาณหินปูนที่หลอดเลือด Coronary calcium scoring) ซึ่งจะบอกว่าหลอดเลือดหัวใจแข็ง สัมพันธ์กับการตีบตัน

    4.การรักษาด้วยยา ผู้ป่วยควรได้รับการรักษามาก่อนด้วยยาอย่างน้อย 3 ขนาน แล้วพบว่าไม่ได้ผล จึงจะสมควรได้รับการรักษาโดยเพิ่มเลือดที่หัวใจ ไม่ใช่ทุกรายที่ป่วยด้วยหลอดเลือดตีบที่ต้องรักษาแบบเพิ่มเลือด ยาหลัก ๆ ได้แก่ ยาแอสไพริน (aspirin) ยาต้านเบต้า (beta blocker) ยาลดไขมันชนิดสแตติน (statin) และยาลดความดันโลหิต เช่น ยาต้านเอส (ACE-inhibitor)

    หากพบว่ามีปัจจัยข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวแล้ว ควรต้องได้รับการรักษาแบบเพิ่มเลือดไปหัวใจ ซึ่งสามารถรักษาได้ 2 วิธีคือ การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและ/หรือขดลวดและการผ่าตัดต่อทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจ

รักษาด้วยบอลลูนขดลวด

    ขดลวดที่ใช้ทำจากสเตนเลสไม่มีปฏิกิริยากับร่างกาย อยู่ติดแนบกับผนังหลอดเลือดไปตลอด เป็นวิธีที่ทำง่ายกว่า เจ็บตัวน้อย ไม่มีแผลเป็น อยู่โรงพยาบาลน้อย แต่มีข้อจำกัด คือ การตีบซ้ำ พบได้ไม่เกินร้อยละ 8-10 ยกเว้นหลังรักษารอยโรคที่รุนแรง เช่น อุดตันมานาน รอยโรคที่ตีบยาว ๆ หรือรอยโรคที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็ก ๆ หรือในรายเบาหวาน จะตีบตันซ้ำบ่อยกว่า ราวร้อยละ 13-20 ทีเดียว ถึงแม้จะใช้ขดลวดแบบเคลือบยาเพื่อ  ต้านการตีบซ้ำก็ตาม นอกจากนี้ยังต้องรับประทานยาต้านเกล็ด เลือด 2 ขนานนานอย่างน้อย 1 ปีด้วย

    การผ่าตัดต่อทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจ

    ได้ผลดีกว่าการทำบอลลูนหากเป็นเบาหวานหรือตีบที่ขั้วซ้าย หรือตีบตัน 3 เส้นและหัวใจคราก แต่จะอยู่โรงพยาบาลนานกว่า แผลผ่าตัดดูน่ากลัว ระยะพักฟื้นนานกว่า แต่     ผลการรักษาดีและคงทนถาวรกว่าการทำบอลลูนใส่ขดลวดเสียอีก  ข้อจำกัด     คือ ต้องดมยาสลบ ผ่าตัดใหญ่ ใส่ท่อหายใจ จึงมีข้อจำกัดหากเป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือสูงอายุมาก ๆ

        รอยโรคที่สมควรได้รับการรักษาเพิ่มเลือดมากที่สุด ได้แก่ รอยโรคที่ตีบที่หลอดเลือดซ้ายหลักหรือซ้ายแขนงส่วนต้น ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะลดอัตราตายได้ นอกจากนั้นแล้วได้แก่ หลอดเลือดตีบ 2-3 เส้น หัวใจบีบตัวลดลง ดังนั้นหากท่านไปตรวจสุขภาพซึ่งปัจจุบันมักเสริมการตรวจ 64 slice CTA ไปด้วยและพบการตีบนอกเหนือจากที่กล่าว หมอชวนทำบอลลูนเลยไม่ควรทำในทันที ต้องกลับมาทบทวนว่าจริง ๆ แล้วมีอาการหรือไม่ หัวใจขาดเลือดโดยไม่มีอาการหรือไม่ การทำบอลลูนจะป้องกันหัวใจตายได้จริงหรือ (ใช่ถ้าตีบที่ขั้วซ้าย หรือแขนงซ้ายส่วนต้นที่เรียก LAD ส่วนต้น).

    ข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ดำรัส ตรีสุโกศล อายุรแพทย์โรคหัวใจ ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช และที่ปรึกษาศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์