พิมพ์หน้านี้ - เปิดตำนาน 'นักดักจับพายุ'

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => นานาสาระ => ข้อความที่เริ่มโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ มีนาคม 18, 2008, 03:10:33 PM



หัวข้อ: เปิดตำนาน 'นักดักจับพายุ'
เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ มีนาคม 18, 2008, 03:10:33 PM
เปิดตำนาน 'นักดักจับพายุ'
(http://www.dailynews.co.th/web/images/logo.gif)
(http://ads.dailynews.co.th/news/images/2008/environment/3/17/157708_70924.jpg)

ครั้งหนึ่งภาพยนตร์เรื่อง Twister เคยทำให้ผู้คนทั่วโลกได้รู้จักกับพายุทอร์นาโด หนึ่งในภัยธรรมชาติอันร้ายแรงของทวีปอเมริกา แม้จะเป็นเพียงภาพยนตร์แต่ความโหดร้ายของธรรมชาติก็อ้างอิงมาจากข้อเท็จจริง เช่นเดียวกับผู้คนที่หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของลมหมุนที่ม้วนตัวเป็นเกลียวและทำลายทุกสิ่งที่มันผ่านทางไป
 
ทุกฤดูใบไม้ผลิ บนที่ราบกว้างใหญ่กว่า 180,000 ตารางกิโลเมตร ระหว่างเทือกเขาร็อคกี้กับเทือกเขาแอปปาลาเชียน อากาศที่แปรปรวนและมวลอากาศที่ปะทะกันจะผสมผสานกันก่อให้เกิดพายุทอร์นาโดมรณะหรือที่เรียกว่า “ทวิสเตอร์” นำมาซึ่งการทำลายล้างและความเสียหายย่อยยับ
 
และในช่วงเวลาที่ว่าของทุกปีบรรดานักวิทยาศาสตร์และคนบ้าพายุ รวมถึง ดร.จอช เวอร์แมน นักวิจัยอุตุนิยมวิทยา และ ชอน เคซีย์ นักสร้างภาพยนตร์ ต่างพยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ด้วยการเข้าไปภายในใจกลางทอร์นาโดเหมือนอย่างที่ตัวเอกในภาพยนตร์เคยทำให้คนทั่วโลกเห็นมาก่อน
 
ถึงจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกันแต่ในโลกของความเป็นจริงความปลอดภัยของพวกเขาเหล่านั้นต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง แม้จะรู้ดีว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับความโหดร้ายของธรรมชาติหนักหนาเพียงใด นั่นจึงทำให้เป็นที่มาของตัวช่วยอย่างอุปกรณ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะอย่างรถพิเศษสามคันที่ถูกคิดค้นขึ้นเป็นพิเศษ
 
สุดยอดของกองรบที่ไม่เกรงกลัวอันตรายนี้คือ รถดักทอร์นาโด (Tornado Intercept Vehicle) หรือรถ TIV รถกระบะหุ้มเกราะหนักอึ้งคันโต ซึ่งติดตั้งคุณสมบัติพิเศษมากมาย และถูกออกแบบมาเพื่อนำมันเข้าไปสู่ใจกลางของทวิสเตอร์
 
ชอน เคซีย์ สร้างรถ TIV ขึ้นโดยใช้โครงรถฟอร์ด F450 ปี 1996 มันถูกออกแบบให้หนัก กลม และเตี้ยติดพื้นมากที่สุด โดยพื้นฐานแล้ว รถ TIV คือแท่นเคลื่อนที่ซึ่งมีการป้องกันอันตรายสำหรับกล้อง IMAX และทำให้สามารถบันทึกภาพพายุทอร์นาโดที่พัดกระหน่ำเข้ามาตรง ๆ ได้
 
รถที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของทีมงานเท่าเทียมกันก็คือ รถดอปเปลอร์ติดล้อ (Doppler on wheels) หรือรถ DOW ซึ่งบรรทุกระบบเรดาร์ตรวจอากาศเคลื่อนที่ครบครัน เพื่อให้ข้อมูลล่าสุดใกล้เคียงเวลาปัจจุบันเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของพายุทอร์นาโด มันคือ สถานีเรดาร์เคลื่อนที่ครบวงจร ซึ่งสามารถให้ข้อมูลสภาพอากาศล่าสุดแก่รถ TIV และรถ SCOUT ทุก ๆ 19 วินาที
 
สุดท้ายคือรถ SCOUT มันอาจดูธรรมดาที่สุดในบรรดารถทั้งสามคัน แต่ที่จริงแล้วรถ SCOUT คือสถานีตรวจอากาศเคลื่อนที่ครบวงจร ซึ่งเดิมทีจอชใช้เป็นรถไล่ตามทอร์นาโดส่วนตัวรถ SCOUT มีภารกิจสองอย่างควบคู่กัน คือการตรวจสอบถนนที่รถ TIV และรถ DOW จะสามารถผ่านได้ ค้นหาเส้นทางดักพายุที่ดีที่สุด และวางอุปกรณ์วัดค่าไว้บนเส้นทางของทอร์นาโดที่กำลังจะมาถึง
(http://ads.dailynews.co.th/news/images/2008/environment/3/17/157708_70925.jpg)

มื่อทุกอย่างพร้อม ฤดูดักจับพายุที่พวกเขาเฝ้ารอมาตลอดทั้งปีก็เริ่มต้นขึ้น ในการไล่ล่าครั้งแรกชอน จอช และทีมงานทั้งหมดจะตามเซลพายุที่ไม่ยอมก่อตัว แต่แล้วพวกเขาก็พลาดทอร์นาโดลูกแรกของฤดูกาลซึ่งพัดกระหน่ำเมืองทูเลีย รัฐเทกซัส และทำลายเมืองนั้น
 
หนึ่งสัปดาห์ต่อมาสัญญาณต่าง ๆ ของสภาพอากาศปลุกพวกเขาให้ตื่นแต่เช้า พวกเขาไล่ตามหานานอยู่หลายชั่วโมง แต่ก็ไม่พบอะไร พอใกล้ค่ำพวกเขาพบพายุลูกหนึ่งและรี่เข้าไปหามัน แต่การปรับเปลี่ยนในนาทีสุดท้ายทำให้รถ TIV ไม่สามารถดักมัน ชอนเตรียมจะพอสำหรับวันนั้นแต่จอชก็พบพายุอีกลูกใกล้ ๆ ตำแหน่งของพวกเขา แต่มันมืดเกินกว่าจะถ่ายภาพ IMAX แต่ทีม TIV ก็สามารถดักมันได้สำเร็จ และบรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ตื่นเต้นมากกับข้อมูลดิบที่ได้
(http://ads.dailynews.co.th/news/images/2008/environment/3/17/157708_70926.jpg)

หลังเตร็ดเตร่อยู่แถวรัฐแคนซัสเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ รอคอยให้สภาพอากาศที่สงบสิ้นสุดลง จอช ชอน และทีมงานก็ออกล่าอีกครั้ง พวกเขาไล่ตามพายุเมโซไซโคลนลูกมหึมาข้ามใจกลางพื้นที่ส่วนด้ามกระทะของรัฐเทกซัส และลงสู่หุบเขาแม่น้ำแคนาเดียน ซึ่งเป็นเขตรกร้างปราศจากถนนลาดยางอย่างสิ้นเชิง ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะดักพายุลูกนี้
 
ชอนขัดคำสั่งของจอช และเร่งรถ TIV ไปตามถนนดิน มุ่งสู่จุดที่จะดักพายุ แต่สุดท้ายก็ตื่นตระหนกและสั่งให้ถอยจากหุบเขาซึ่งทำท่าว่าจะดักเขากับทีมงานไว้กลางพายุลูกมหึมา ภายในไม่กี่วันทีมงานก็ประสบความสำเร็จเมื่อจอชสามารถนำรถ SCOUT และรถ TIV ไปอยู่ที่ศูนย์กลางพายุทอร์นาโดสามลูก
 
แม้จะประสบความสำเร็จในการดักจับพายุหลายลูก แต่ความขัดแย้งในทีมงานก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน เมื่อจอชเพิกเฉยต่อลางสังหรณ์ของชอน ทีมงานจึงต้องลงเอยด้วยการพลาดทอร์นาโดลูกที่สร้างความหายนะเป็นประวัติการณ์ คือพายุระดับ EF5 ซึ่งทำลายเมืองกรีนส์เบิร์ก รัฐแคนซัสจนราบ
(http://ads.dailynews.co.th/news/images/2008/environment/3/17/157708_70927.jpg)

ฤดูแห่งพายุทอร์นาโดกำลังจะหมดลงอย่างรวดเร็ว แต่ชอนกับทีม TIV ของเขายังถ่ายช็อตทำเงินไม่ได้ ชอนผิดหวังรุนแรงขึ้นเมื่อพวกเขาใช้เวลาหลายวันคว้าน้ำเหลว และต้องขับรถติดต่อกันหลายกิโลเมตร ซ้ำร้ายรถ TIV ยังเสีย และทีมก็ต้องจำใจพักการไล่ล่าหนึ่งวัน
 
ติดตามเรื่องราวของนักล่าพายุได้ในสารคดีชุด STORM CHASERS ออกอากาศทุกวันอังคาร เวลา 22.00 น. เริ่ม 18 มี.ค. ทางทรูวิชั่นส์
(http://ads.dailynews.co.th/news/images/2008/environment/3/17/157708_70928.jpg)