พิมพ์หน้านี้ - เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างไร (ตอน ๒)

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => ลึกลับ-เหลือเชื่อ-ธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: kittanan_2589 ที่ ตุลาคม 25, 2010, 08:40:04 PM



หัวข้อ: เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างไร (ตอน ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: kittanan_2589 ที่ ตุลาคม 25, 2010, 08:40:04 PM
(http://www.dhammathai.org/wb_eng/data/imagefiles/R84-1.jpg)


ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ... จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...

โดย....พระอาจารย์อารยะวังโส

พระสีวลีเถระ
มหาโพธิสมาคม พุทธคยา อินเดีย

วิสัชนา : คนดี... คนเก่ง ถูกฆ่าตายจากระบบดังกล่าวอย่างไร้คุณธรรมมิใช่น้อย มีการก่อกลุ่มทุนนิยมขนาดใหญ่เกิดขึ้นมาก และขยายอิทธิพลทางธุรกิจไปทั่ว ในขณะที่กลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กเริ่มอยู่ยาก หากขาดการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคม ซึ่งแน่นอนต้องพร้อมในทุกรูปแบบ แม้จะผิดกฎหมายและไม่ถูกต้องกับศีลธรรม!!

จากสภาพปัญหาที่เกิดจากการขับเคลื่อนของภาคสังคมที่ร้อนแรงด้วยไฟแห่งกิเลสจนละลายกรอบศีลธรรมอันดีของภาคสังคมเอง ดังปรากฏให้เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น จึงเป็นเรื่องยากยิ่งต่อการรักษาความดี รักษาคุณธรรม หรือรักษาแนวคิดที่มีศีลธรรมของบุคคลโดยทั่วไปที่ยังต้องเกี่ยวข้องกับโลก จึงใคร่ขอแนวทางธรรมที่สามารถปฏิบัติได้ สำหรับการอยู่ในวงจรการค้าที่มั่นคงด้วยคุณธรรมและความดี ตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ...ด้วยความเคารพ

จึงนมัสการมาด้วยความเคารพ
ดร.วีรไท สันติประภพ


จาก “คำถามของ ดร.วีรไท” และ “ปุจฉาของพระสีวลีเถระ” แม้จะมีรูปพยัญชนะความหมายแตกต่างกัน แต่ก็มีสาระธรรมอันเดียวกันอย่างน่าแปลกใจ อันควรแก่การพิจารณาหาความจริงในความหมายแห่งคำถาม และคำปุจฉาว่าสืบสานมาถึงจุดเดียวกันได้อย่างไร!? แม้ว่าพระสีวลีเถระจะมีปุจฉามาอย่างสรุปกระชับสั้น

และแม้ว่า ดร.วีรไท สันติประภพ นักวิชาการหนุ่มทางด้านเศรษฐศาสตร์ จะพรรณนาเล่าเรื่องมาพอที่จะให้เห็นภาพความจริง จึงนำมาสู่การค้นหาความหมายในรูปคำถามซึ่งตรงกันว่า “แล้วจะปฏิบัติตนอย่างไรในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่เจริญรุ่งเรืองทางด้านเทคโนโลยี ก้าวไกลทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ทันสมัยทางด้านนวัตกรรมและรูปแบบการสื่อสาร แต่เสื่อมถอยในทางด้านความรู้สึกที่ดี คุณธรรม และคุณความดีประจำจิตใจ... จนนำไปสู่รูปแบบสังคมที่ไร้กรอบศีลธรรม...

จากการก้าวกระโดดในความเจริญด้านความรู้ ความทันสมัยในทางโลกนิยม ซึ่งมุ่งเน้นวัตถุเป็นใหญ่ โดยมีจุดหมายสูงสุดของความต้องการที่แปลงค่าเป็นความสุข เมื่อถึงพร้อมในปัจจัย ๔ หรือครบถ้วนด้วยโลกธรรมด้าน...ลาภ ...ยศ ...สรรเสริญ ...สุข จึงทำให้สัตว์สังคมลืมความเป็นจริง อันเป็นสัจธรรมของการดำรงชีวิตที่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎธรรมชาติ ด้วยอำนาจโลภจิต และโทสจิต ที่แก่กล้าเข้มแข็ง จนสืบจิตสันดานให้ลุ่มหลง มัวเมา
เพิ่มพูนโมหจิตให้ทรงอำนาจในการเปลี่ยนแปลงวิถีความคิดนึก ให้ละทิ้งถิ่นฐาน บ้าน ศีลธรรม และอำนาจคุณความดีที่อ้างอิงหลักธรรมไปเสียสิ้น... อย่างไม่เคยคิดที่จะกลับมาเหลียวแลเลย... จึงกลายเป็นการก้าวย่างสู่การกลียุคอย่างรวดเร็วเกินกว่าคิด เราทั้งหลายจึงพบเห็นรอยต่อระหว่าง ๒ เขตแดนได้อย่างชัดเจน อันได้แก่ โลกและธรรม และพบว่าผู้มุ่งไปฝั่งโลกนั้นมีมากเหลือคณานับ ส่วนผู้มุ่งมาฝั่งธรรมนั้นสามารถนับตัวบุคคลได้... นี้คือปรากฏการณ์อันเป็นปกติในโลกวัตถุนิยม จึงไม่แปลกที่มีปุจฉาจากมหาโพธิสมาคมของอินเดีย (พุทธคยา) โดยพระสีวลีเถระ รองเลขาธิการมหาโพธิสมาคมฯ และคำถามของ ดร.วีรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มจากประเทศไทย