วันแม่แห่งชาติ
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
พฤษภาคม 16, 2024, 12:45:04 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วันแม่แห่งชาติ  (อ่าน 5867 ครั้ง)
winai4u-LSV team
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน673
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3025



« เมื่อ: สิงหาคม 11, 2007, 04:20:41 PM »

วันแม่แห่งชาติ ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2519 โดยคณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงปัจจุบัน

<a href="http://winai.leksound.net/over.wma" target="_blank">http://winai.leksound.net/over.wma</a>

สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่คือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย

ความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย

งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ.สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน

ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ คือ ดอกมะลิ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ

   1. ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
   2. การประดับไฟเฉลิมพระเกียรติ และประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
   3. จัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการ การแสดง การประกวดต่างๆ เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่
   4. การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศล
   5. นำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่

แม่…พระในบ้าน
พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)


ความหมายของคำว่า ‘แม่’
     คำว่า ‘แม่’ ในภาษาไทยนั้น เป็นคำที่น่าฟัง ไพเราะเสนาะหู เป็นคำที่เด็กพูดก่อนคำใด ๆ เด็กพูดได้นี่ต้องพูดคำว่า ‘แม่’ ก่อน  แต่ว่าอาจจะพูดไม่ชัด ออกเสียง เป็น ‘มะ’ เป็น ‘แมะ’ อะไรไปก็ได้ แต่จุดหมายก็คือเรียกคนที่เขารู้จักมาก่อนใคร ๆ เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับตัวเขากว่าใคร ๆ ผู้ที่ใกล้ชิดต่อเด็กน้อย ๆ ก่อนใคร ๆ ก็คือแม่สัมผัสที่เด็กได้สัมผัสก่อนใคร ๆ ก็คือเนื้อหนังของแม่ น้ำนมของแม่ ที่ทำให้เด็กรู้จักแม่แล้วก็อยากเข้าใกล้ เวลาใดเด็กร้องไห้ พอแม่อุ้มมาประทับที่อก หยุดร้องทันที ที่หยุดร้องได้ก็เพราะเขาได้สัมผัสกับเนื้อหนังที่เขารู้จักดีว่าเป็นเนื้อหนังที่มีแต่ความรัก มีแต่ความเมตตาต่อตัว เขาจึงได้เกิดความรักความเคารพบูชา
      คำว่า ‘แม่’ จึงเป็นคำที่มีความหมายในทางชื่นอกชื่นใจ เราจึงเรียกคนที่เกิดเรามาว่า ‘แม่’ เรียกคำอื่นมันก็ไม่ชื่นใจ

แม่มีความรักที่บริสุทธิ์
      ในหมู่คนไทยเราเองนั้น  เรียกคำว่าแม่มาตั้งแต่โบราณ  ในครอบครัวที่เป็นผู้ดีหน่อย ก็ใช้คำว่า ‘คุณ’ เข้ามาข้างหน้าเป็นคำให้เกียรติว่า คุณแม่ คุณพ่อ คุณน้า คุณอา คุณลุง คำว่า ‘คุณ’ นี้ เป็นคำเพิ่มเข้ามา ก็ด้วยความเชิดชูบูชานั่นเอง แต่ถึงแม้เราเรียกว่า  ‘แม่’  เฉย ๆ มันก็เป็นคำที่น่าฟังอยู่นั่นเอง
      ผู้หญิงเรานี่อยากจะให้ใคร ๆ เรียกว่าแม่ เพราะเขาเรียกว่าแม่นั้น เป็นการแสดงความรักที่บริสุทธิ์ เป็นการแสดงความรักที่มีความเคารพอยู่ในตัว เรียกอย่างอื่นมันเป็นความรักแบบอื่น เรียกว่าแม่นี่ เป็นความรักที่มีความเคารพสักการบูชา  เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้เป็นแม่ย่อมมีความสบายใจ คนที่ไม่มีโอกาสเป็นแม่เพราะอะไรก็ตาม ก็อยากจะเป็นแม่ของคนอื่นเขา จึงต้องเลี้ยงเด็กไว้ แล้วให้เด็กนั้นเรียก ว่าแม่ ก็สบายใจ ยิ่งคนที่ไม่ใช่แม่ เช่น เป็นแม่เลี้ยง แม่เลี้ยงก็เป็นแม่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่แม่เกิด เป็นแม่เลี้ยง

คนที่เลี้ยงเรานั่นแหละคือแม่
      ความจริงแม่เลี้ยงนั่นแหละสำคัญกว่าแม่เกิด เพราะคนบางคนแม่เกิดตายไปเสียแล้ว แล้วก็มีคนอื่นมาสมัครเป็นแม่ เขาไม่ได้เกิดเรามา แต่เขาสมัครมาเลี้ยงเรา ให้ความอุปถัมภ์ค้ำชูแก่เรา ให้เราได้อยู่ได้กินอย่างสะดวกสบาย มีความเสียสละทุกอย่างเพื่อให้เด็กนั้นเจริญเติบโต  ความจริงคนที่เป็นแม่เลี้ยงควรจะได้รับความเคารพบูชามากกว่าแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงเสียอีกด้วยซ้ำไป
      สมัยนี้เด็กบางคนเมื่อรู้ว่าไม่ใช่แม่ของตัว กลับดูหมิ่นไม่เคารพ เวลามีอะไรนิดหน่อยก็นึกในใจว่า ก็ไม่ใช่ลูกของแม่  แม่จึงไม่รักหนู  การคิดเช่นนั้นเป็นการคิดเอาเอง ไม่ใช่คิดถูกต้อง น้ำใจของแม่ที่เป็นแม่เลี้ยงหรือทำหน้าที่เลี้ยงเด็ก  ก็มีความรักความเอ็นดูต่อเด็กนั้นเหมือนกับแม่บังเกิดเกล้าเหมือนกัน  บางทีอาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นอย่ารังเกียจคำว่าแม่เลี้ยงพ่อเลี้ยง  แต่ควรจะนึกว่าเขาเป็นแม่ที่เลี้ยงเรา  เขาเป็นพ่อที่เลี้ยงเรา  เราก็ควรจะเคารพสักการบูชาเช่นเดียวกัน สำหรับคนที่ไม่มีลูก ก็อยากจะเป็น แม่อย่างนี้   แต่คนที่มีโอกาสได้เป็นแม่ก็มีความสบายใจที่ได้ทำหน้าที่เลี้ยงลูก

ความหวังของแม่      ผู้หญิงเราเมื่อแต่งงานแล้วก็อยากจะเป็นแม่ด้วยกันทั้งนั้นถ้ามีโอกาสจะเป็นก็มักจะวิ่งเต้นขวนขวาย  เขาบอกว่าหลวงพ่อที่ไหนศักดิ์สิทธิ์   หรือมีอะไรศักดิ์สิทธิ์ก็มักจะไปกราบไปไหว้ เพื่อขอให้มีลูกกับเขาบ้าง   อันนี้แสดงว่าน้ำใจของสตรี  เมื่อแต่งงานแล้วก็อยากจะเป็นแม่ต่อไป  ทำไมท่านจึงอยากเป็นแม่   เพราะว่าเมื่อไม่มีลูกก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรให้ใคร  เด็กเป็นความหวังของครอบครัว  เป็นอนาคตของวงศ์สกุล เพราะฉะนั้นครอบครัวใดมีบุตรมีธิดาก็สบายใจ  สบายใจว่าทรัพย์ที่เราหาไว้นั้นไม่ไปไหน  จะตกแก่ทายาท ของเรา  เมื่อเราแก่ชราลงไปจะมีคนเลี้ยงดูเรา ให้ความสุขความสบายแก่เรา  อันนี้เป็นความปรารถนาของมารดาทั่ว ๆ ไป
      คิดไปแล้วก็เหมือนกับมารดาเห็นแก่ตัว  แต่ความจริงไม่ใช่  มันเป็นความคิดที่เป็นธรรมชาติของสตรีที่อยากจะเป็นแม่ และเมื่อได้เป็นแม่ก็มีความสบายใจ ไม่อิดหนาระอาใจที่จะเลี้ยงบุตรธิดาของตนให้มีความเจริญเติบโต

คุณธรรมของแม่
      คนที่เป็นแม่มีคุณธรรมในใจหลายอย่าง เช่น เป็นผู้มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาพร้อม ในทางพระพุทธศาสนาจึงเรียกคนที่เป็นแม่ว่าเป็น ‘พรหม’ ของบุตรธิดา ชื่อว่าเป็นพรหมก็เพราะมีคุณธรรมของพรหม พรหมนั้นไม่ใช่รูปปั้นสี่หน้าที่ตั้งอยู่หน้าโรงแรมเอราวัณ แต่หมายถึงคนที่มีคุณธรรมสี่ประการประจำใจ เช่น มี เมตตา ปรารถนาความสุขความเจริญแก่ผู้อื่น มี กรุณา สงสาร อยากจะช่วยคนอื่นให้พ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน  มี  มุทิตา คือยินดีเพลินใจในเมื่อคนอื่นนั้นมีความสุขความเจริญ  มีความก้าวหน้า ในชีวิตในการงาน  ส่วนอุเบกขา  นั้นเรียกว่าวางเฉย  ไม่ใช่เฉย ๆ แต่เฉยเพราะยังไม่มีเรื่องที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง  เหตุการณ์ปกติ  คล้ายกับคนที่สตาร์ตรถยนต์ติดดีแล้ว  ก็นั่งดูเฉย ๆ เมื่อใดเครื่องมันดังคึ่กคั่กก็เข้าไปแก้ไข  แม่ของเราก็เป็นอย่างนั้น  เมื่อลูกเป็นไปโดยปกติก็ไม่ยุ่งอะไร  แต่ท่านมองดูอยู่ด้วยความสนใจ  มีอะไรขัดข้องมีอะไรเป็นทุกข์เป็นร้อน  คนที่จะวิ่งเข้ามาประคับประคองเราก่อนใคร  ก็คือแม่ของเรานั่นเอง  เพราะคุณแม่ท่านมีคุณธรรม ท่านมีหน้าที่ให้  ไม่ได้หวังอะไรตอบแทนมากนัก  เว้นไว้แต่ลูกมีความสำนึก  แล้วก็ให้  ถึงไม่ให้ท่านก็ไม่ไปประท้วง  ไม่คิดอะไรจากลูกของท่าน  ท่านอยากเห็นความสุขความสบายจากลูก

ความชื่นใจของแม่จากลูก
       เมื่อลูกมีความเจริญทั้งกายทั้งใจ  มีความเติบโต  มีหน้าที่การงานทำเป็นหลักฐาน  แม่นั่นแหละเป็นผู้มีความชื่นใจที่สุด  มีความสบายใจที่สุดกว่าใคร ๆ เมื่อใดลูกตกต่ำชีวิตไม่ก้าวหน้า  มีปัญหา มีความทุกข์ความเดือดร้อน ผู้ที่มาเป็นทุกข์กับเราก่อนใคร ๆ ก็คือคุณแม่นั่นเอง  เพราะฉะนั้นแม่นี่คือผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์ของเรา  เป็นสหาย ผู้คอยให้ความช่วยเหลือแก่เราตลอดเวลา  ไม่มีคนใดจะมีน้ำใจเท่าแม่ เราลองคิดดู  แม่นั่นแหละเป็นผู้มีน้ำใจต่อเราอย่างแท้จริง สมกับที่ท่านเรียกว่าเป็นพรหม ท่านมีพรหมวิหารธรรมอยู่ในใจครบถ้วน ทีเดียว

แม่คือเทวดาและร่มโพธิ์ร่มไทรของลูก
      อีกประการหนึ่ง  ท่านเรียกแม่ว่า  เทวดา  เพราะให้ความคุ้มครองให้ความรักษา  ท่านกล่าวว่าบ้านเรือนใดมีการเคารพมารดา บิดา บูชามารดาบิดา บ้านเรือนนั้นมีเทวดาคุ้มครองรักษา  บ้านเรือนใดบุตรธิดาไม่เคารพ  ไม่บูชา  ไม่สักการะต่อมารดาบิดา  บ้านเรือนนั้นไม่มีเทวดารักษา  เทวดาก็คือความงามความดีนั่นเอง  ไม่ใช่เทวดา ที่เขาเขียนไว้ตามฝาผนัง  เทวดาก็คือคุณธรรม  ครอบครัวใดเคารพ มารดาบิดา  คนในครอบครัวนั้นมีคุณธรรม  มีความรักพ่อรักแม่  ความรักพ่อรักแม่นั่นแหละคือสิ่งคุ้มครองครอบครัว เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ให้บุตรธิดาในครอบครัวนั้นอยู่เย็นเป็นสุข  เพราะฉะนั้นผู้เคารพมารดา บิดา  จึงชื่อว่ามีโพธิ์ไทรใบดกคุ้มครองรักษา ไม่ถูกฝน  ไม่ถูกแดด  ไม่ถูกความทุกข์ความเดือดร้อนครอบงำจิตใจ  มีความเป็นอยู่อย่างปลอดภัย

ความเคารพต่อบิดา-มารดา
       ขอให้เราสังเกตดู ในครอบครัวใดบุตรธิดามีความรักมีความ เคารพต่อมารดาบิดา ครอบครัวนั้นเป็นปึกแผ่นมั่นคงแน่นหนา  เพราะ ความเคารพมารดาบิดานั้นเป็นรากฐานของชีวิต  เป็นรากฐานของ ศีลธรรม  เป็นรากฐานของความก้าวหน้า  เป็นรากฐานแห่งความมั่นคงในครอบครัว  เมื่อครอบครัวมั่นคง  ประเทศชาติก็มั่นคงเป็นธรรมดา  แต่ถ้าในครอบครัวไม่มั่นคงแล้ว  ประเทศชาติจะมั่นคงได้อย่างไร  อะไร ๆ ที่เป็นความมั่นคงของชาติบ้านเมืองนั้นอยู่ที่ความมั่นคงของครอบครัว  ความมั่นคงของครอบครัวก็อยู่ที่สมาชิก ของครอบครัวเหล่านั้น  เป็นผู้เคารพมารดาบิดา  บูชามารดาบิดา

พ่อ-แม่ เป็นพระในบ้าน
 มารดาบิดานี้ ในทางธรรมะท่านถือว่าเป็น พระ ในครัวเรือน  เป็นพระที่เราควรกราบไหว้บูชา  สักการะทุกวันเวลา  คนเราถ้าไม่รู้จักกราบพระที่อยู่ใกล้ ๆ แล้วจะไปไหว้พระที่อยู่ไกล ๆ ได้อย่างไร  พระที่อยู่ที่วัดอยู่ไกลบ้าน แต่พระที่อยู่ใกล้เราก็คือแม่ของเราพ่อของเรานั่นเอง เราจึงต้องเคารพพระที่อยู่ในบ้านก่อน  แล้วมันจะเกื้อกูล แก่การเคารพพระนอกบ้านต่อไป  เคารพอะไร ๆ อื่นต่อไป  มารดาบิดาจึงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร  เป็นเทวดาผู้ให้ความคุ้มครองรักษาแก่เรา ตลอดเวลา

พ่อ-แม่คือครูคนแรกของเรา
        มารดาบิดาของเรานั้นก็เป็นเหมือน ครู คนแรกของเรา   คุณ แม่นั่นแหละเป็นครูคนแรก  พ่อก็ยังต่อมาอีก เพราะอะไร เพราะเรา อยู่ใกล้แม่มากกว่าพ่อ  เด็กทั่ว ๆ ไปนั้นมักรักแม่มากกว่าพ่อ  น้อยคนนักที่จะรักพ่อมากกว่าแม่  อันนี้มันมีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้ รักแม่มากกว่าพ่อ  อาตมาเองก็เหมือนกัน ในใจนี่รักแม่มากกว่าพ่อ  ทำไมจึงได้เป็นเช่นนั้น  ไม่ใช่ความลำเอียง  แต่มันเป็นเรื่องของธรรม- ชาติ  เพราะเราอยู่ใกล้ชิดแม่มากกว่าพ่อ  อยู่กับแม่มาตั้งสิบเดือนในท้อง แล้วออกมาเป็นตัวน้อย ๆ ผู้ที่คอยประคบประหงม  ป้อนข้าวป้อนน้ำ  อาบน้ำอาบท่าให้  ล้างสิ่งสกปรกให้  ก็คือคุณแม่นั่นเอง  พ่อนาน ๆ ทำแทนแม่สักทีหนึ่ง  แล้วเวลาทำก็เก้งก้างไม่ค่อยจะเรียบร้อย  เพราะไม่มีหน้าที่จะต้องทำอย่างนั้น  พ่อมีหน้าที่ไปทำงาน  นอกบ้านนอกเรือน  หาเงินหาทองมาเลี้ยงครอบครัว  แต่แม่มีหน้าที่อยู่กับลูกตลอด  เพราะฉะนั้นแม่จึงสนิทสนมกับลูกมากกว่าพ่อ  ความสัมพันธ์ทางจิตใจก็มากกว่า  เว้นไว้แต่บางคนที่แม่ตายไปเสีย  มีแต่พ่อก็เลี้ยงลูกมาได้มีเหมือนกันในบางครอบครัว

หน้าที่พ่อ-แม
       ในสมัยอาตมาเป็นเด็ก มีอยู่สองครอบครัวที่บ้าน  ครอบครัวหนึ่งมีลูก  ๗-๘ คน  พ่อเลี้ยงลูกจนโตทั้งนั้น  จนมีเหย้ามีเรือนเป็นฝั่งเป็นฝา  อีกครอบครัวหนึ่งมีลูก  ๑๓  คน  ไม่ใช่น้อย  แม่ตายไป ลูกยังเล็กอยู่ทั้งนั้น  แต่ว่าพ่อนี่เลี้ยงลูกเก่ง ลูกทุกคนทำงานของผู้หญิงได้ทั้งนั้น  ทำขนมก็ได้ ทำกับข้าวก็ได้  หุงข้าวต้มแกง  ซ้อมข้าว สีข้าว  ตามแบบคนบ้านนอก  ทำได้ทุกอย่าง  ทำขนมก็ได้หลายอย่าง  สอนลูกให้ทำได้  เพราะลูกไม่มีแม่  เพราะฉะนั้นลูกทุกคนจึงต้องทำหน้าที่ของแม่บ้านไปในตัว  แล้วลูกทั้ง ๑๓ คน  รักใคร่กันดี  เคารพบูชากันดี  อยู่กันตามลำดับอาวุโสทีเดียว คนพี่เป็นใหญ่ น้อง ๆ เคารพพี่  เอาใจใส่  ดูแลช่วยเหลือกัน  เดี๋ยวนี้ตายไปหลายคนแล้ว  เหลืออยู่บ้าง  บวชเป็นสมภารเจ้าวัดก็มี  นี่พ่อเลี้ยงลูกแท้ ๆ แม่ไม่ได้เลี้ยง  เพราะตายไปเสียก่อน  ลูกทุกคนจึงเคารพรักพ่อมากกว่าแม่  แต่ถ้าพ่อกับแม่ยังอยู่ทั้งสองคนนั้น  ใจเรามันลำเอียงไปเข้าข้างแม่ทุกที  รักแม่มากกว่าพ่อ

แม่คือกำลังใจของลูก
       แล้วใบหน้าของคนทั้งสองมีอิทธิพลเหนือจิตใจผิดกัน  คุณพ่อดูเหมือนเห็นเป็นภาพดุ ๆ ไป  เพราะท่านเป็นคนขรึม  ไม่ค่อยพูดค่อยจา  อะไรเหล่านี้เป็นต้น  แต่ถ้าเห็นหน้าแม่แล้วก็มีความสบาย ใจ  ให้สังเกตว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วย  หรือไปอยู่ห่างไกลบ้านไกลเรือน  เวลาป่วยคุณแม่ไปเยี่ยม  พอรู้ว่าแม่มาเท่านั้น  ใจมันชื้นขึ้นมาเป็น  กอง  เห็นหน้าแม่ก็สบายใจ  แม่มานั่งใกล้เอามือมาลูบตามตัวตามเนื้อตามหนัง  บีบนวดให้ก็รู้สึกว่าหายเจ็บหายไข้  หายขึ้นมาทันที  กำลังใจมันเกิด  ไฟฟ้าของคุณแม่ที่มาสัมผัสร่างกายของคนเรานั้น  ทำให้เกิดกำลังภายใน  ทำให้เกิดความรู้สึกนี่คือผู้มีอุปการะต่อเรา  เป็นยาที่ไม่ต้องกินก็ได้  เพียงแต่สัมผัสผิวกายก็สบายแล้ว

ชื่นอกชื่นใจเมื่ออยู่ใกล้แม่
       อันนี้แหละทำให้เรารู้สึกว่าคุณแม่มีความรู้สึกต่อเราอย่างไร  เรามีความชื่นอกชื่นใจเมื่อได้อยู่ใกล้แม่  มีความรู้สึกสบายทุกเวลา  ถ้าเราไปอยู่บ้านไกลเมืองไกล  คุณแม่มาเยี่ยมนี่เราจะมีความรู้สึกว่า มีความสบายใจชื่นใจขนาดไหน  ชื่นใจจนพูดไม่ออกทีเดียว ไม่สามารถ จะพรรณนาเป็นลายลักษณ์อักษรถึงความรู้สึกในใจที่เรามีความรู้สึกเมื่อเห็นหน้าแม่ของเราได้  อันนี้มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในใจของเราทุกคน  มีประสบการณ์อยู่ด้วยกันทั้งนั้น  หรือว่าเราไปอยู่ไกล  คุณแม่ไม่สามารถจะไปเยี่ยมเราได้  แต่ถ้าเรามาบ้าน มาเห็นหน้าแม่ ของเรา  เราก็รู้สึกสบายใจ

ดวงหน้าของแม่ที่ให้ความสดชื่น
         ดวงหน้าของแม่เป็นดวงหน้าที่ให้แต่ความสุขสดชื่นอยู่ตลอดเวลา  แม้ว่าดุก็ไม่น่าเกลียด  พูดคำหยาบก็ไม่น่าชัง  อะไร ๆ ที่ออก มาจากแม่นั้นเราเห็นเป็นของขำขัน  ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว  น่าตกใจ เพราะ ถึงดุก็อย่างนั้นแหละ  น้ำใจแท้ ๆ ไม่อยากทำให้ลูกเจ็บช้ำอะไรหรอก  แต่บางทีเกิดโมโหโทโสขึ้นมาบ้าง  ก็พูดคำที่ไม่เหมาะไม่ควรออกไป  เราผู้เป็นลูกรู้ใจแม่ดีว่าแม่แกล้งด่าหรอก สมมติว่าด่า ถ้อยคำที่ทำ ให้เกิดความเสียหาย  น้ำใจแท้ ๆ ไม่ได้มีอย่างนั้น  แต่พูดออกไปอย่างนั้นเอง เพราะแม่ไม่เคยประทุษร้ายลูก  ลูกเสียอีกยังมีโอกาสประทุษร้ายต่อแม่ได้  น้ำใจของแม่จึงหนักแน่นเหมือนกับแผ่นดิน

แผ่นดินของแม่คือเรา
         แผ่นดินนี่ก็เป็นแม่ของคน  เป็นที่อยู่อาศัยเป็นที่ให้อะไรทุกอย่าง  เราได้อะไรจากแผ่นดินทั้งนั้น  คนโบราณจึงเรียกแผ่นดินว่าแม่ธรณี  เพราะท่านให้ความเป็นอยู่แก่เราอย่างสะดวกสบาย  จะเอาอะไรก็ได้  แต่เอาด้วยวิธีการที่ถูกต้องจากแม่ คือธรณีนั่นเอง
        แม่น้ำก็เป็นแม่ของคนเหมือนกัน  ให้อะไรแก่คนอย่างนี้  เพราะฉะนั้นน้ำใจของแม่ก็เหมือนกับแม่น้ำ  เหมือนกับแผ่นดิน  เหมือนกับแผ่นฟ้า  เหมือนกับสิ่งที่ให้แต่ความสุขความสนุกแก่เรา  เราจึงรักเคารพบูชาท่าน

ความสำนึกของลูกที่มีต่อแม่
          อันแม่แม้จะแก่ชราสักเท่าใด  เราก็ไม่อยากให้ท่านตาย  อยากให้ท่านอยู่ ให้หายใจอยู่  ให้ลืมตาอยู่  ไม่อยากให้ท่านเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน  ทำไมเราคิดอย่างนั้น  เพราะเรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจแก่เรา  ให้ความสุขสดชื่นแก่ชีวิตของเรา  ถ้าแม่เราจากไปเรารู้สึกว่าใจหายไป  มันขาดอะไรไปสักอย่างหนึ่งในชีวิตของเรา  แม้เราจะมีเงินมีทองมีข้าวมีของมีมิตรสหายสักเท่าใด  มีอะไร ๆ ก็ตามใจเถอะ  ก็ไม่เหมือนกับเรามีแม่  แม่นี่ให้ความสุขแก่เราเหลือหลาย  เราหาของอื่นหาได้  แต่เราหาแม่ไม่ได้  แม่เรามีคนเดียวในโลก  อยากให้ท่านอยู่กับเราตลอดไป
          นี่คือน้ำใจที่เกิดความสำนึกในลูกทั้งหลายที่มีต่อแม่ เราจึงอยากเห็นหน้าแม่อยู่ตลอดเวลา

การจากไปเป็นเรื่องธรรมดา
         แม่กับลูกมีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด  แม้ลูกจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว  แม่ก็ยังรู้สึกว่าเป็นอ้ายหนูของแม่อยู่นั่นเอง  เคยเห็นคนบางคนเรียกลูกซึ่งมีอายุหกสิบแล้วว่าอ้ายหนู  ท่านเรียกของท่านอย่างนั้น ท่านมองลูกชายที่อายุหกสิบของท่านเหมือนกับเด็กตัวน้อย ๆ ที่ท่านเคยเอามาวางไว้บนตัก  ท่านลูบหน้าลูบหลังอย่างไรเมื่อเป็นเด็ก  ครั้นโตขึ้น ท่านรู้สึกอย่างนั้น แล้วเราเองที่มีความรู้สึกต่อพ่อแม่ก็อย่างนั้นเหมือนกัน  เรารู้สึกว่าคุณแม่ของเรานั้นมีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนอยู่ตลอดเวลา  เรามีความรู้สึกต่อท่านอย่างดีที่สุด  ที่มีความรู้สึกอยู่ ในใจ  เราไม่อยากให้ท่านจากไป  แต่ร่างกายสังขารของมนุษย์ที่มันเป็นธรรมดาที่ต้องเปลี่ยนแปลง  ก็ต้องถึงแก่ความแตกความดับไป  เราจะหวงไว้ก็ไม่ได้  ท่านต้องลาจากเราไป นี่เป็นเรื่องที่ธรรมดา ที่สุด










Creadit : http://www.sathira-dhammasathan.org
                http://th.wikipedia.org/



บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!