พิมพ์หน้านี้ - หนอนจิ๋วแหล่ง โปรตีนปลาวัยอ่อน

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

สารพัดช่าง-แนวทางอาชีพ => ●การเกษตร => ข้อความที่เริ่มโดย: BenQ ที่ กุมภาพันธ์ 13, 2007, 01:11:42 PM



หัวข้อ: หนอนจิ๋วแหล่ง โปรตีนปลาวัยอ่อน
เริ่มหัวข้อโดย: BenQ ที่ กุมภาพันธ์ 13, 2007, 01:11:42 PM
 ปัญหาอย่างหนึ่งที่ผู้เลี้ยงปลาสวยงามแทบทุกคนต้องเจอะเจอเมื่อถึงคราวเพาะขยายพันธุ์ปลาตัวโปรด นั่นคืออัตราการรอดชีวิตของลูกปลาที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดอาหาร เนื่องจากลูกปลาวัยอ่อนยังมีปากที่เล็กแคบกินอาหารได้เฉพาะที่มีขนาดเล็กกว่า และลูกปลาส่วนใหญ่มักไม่นิยมบริโภคอาหารสำเร็จรูป จึงกลายเป็นปัญหาที่ไม่เล็กสำหรับคนรักปลา เพราะอาหารสดทั่วไปมีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับลูกปลาบางชนิด เช่น ลูกปลาปอมปาดัวร์ ลูกปลากัด ลูกปลาม้าลาย ลูกปลาคิลลี่ ลูกปลาหางนกยูง เป็นต้น จึงทำให้ต้องมองหาอาหารชนิดอื่นๆแทน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชื่อของหนอนจิ๋วหรือ microworm ( Panagrellus sp.) กลายเป็นที่รู้จักของคนรักปลาสวยงามขึ้นมา
   หนอนจิ๋วหรือ microworm ( Panagrellus sp.) จัดอยู่ในพวกหนอนตัวกลม (Class  nematoda) ที่มีขนาดตัวเล็กมากๆ ไม่สามารถบ่งบอกรายละเอียดลักษณะได้ด้วยตาเปล่า แต่มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ถ้าจับหนอนจิ๋วมาขยายด้วยกล้องสเตอริโอจะพบว่า หนอนจิ๋วเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีกระเพาะหรือลำไส้ มีหัวกลมส่วนหางแหลม  มีความยาวของลำตัวเป็น 15 เท่าของความกว้างลำตัว ขนาดเล็กที่สุดของหนอนจิ๋วในวัยอ่อนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ไมครอน ยาว 80 ไมครอน ตัวโตเต็มที่มีขนาดความยาว 80-140 ไมครอน (0.08-0.14 มม.) ที่สำคัญนอกจากจะมีขนาดที่เล็กแล้วหนอนจิ๋วยังมีคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อลูกปลาวัยอ่อนสูงอีกด้วย  โดยในหนอนจิ๋วประกอบด้วยน้ำ 64-76% โปรตีน 40-45% (น้ำหนักแห้ง) และไขมัน 15-20% (น้ำหนักแห้ง) หนอนจิ๋ว 1 กรัม จะมีจำนวนประมาณ 60,000-100,000 ตัว หนอนจิ๋วยังสามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานตั้งแต่ 11-56 ชั่วโมง
ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงหนอนจิ๋ว
   1.นำกล่องพลาสติกใส ขนาดประมาณ20x30x10 ซม.มาล้างให้สะอาดควรลวกน้ำร้อนเพื่อฆ่าสปอร์ของแบคทีเรียหรือราอื่นๆ ทิ้งไว้ให้แห้ง เจาะรูเล็กๆบนฝากล่อง 5-6 รู ขอย้ำว่ารูเล็กๆ เพราะถ้ารูใหญ่เกินไปเราอาจจะได้หนอนแมลงวันมาแทนก็เป็นได้ จากนั้นนำกล่องพลาสติกสำหรับเพาะพันธุ์นี้ไปวางในที่ต้องการ
   2.นำขนมปังหรือข้าวโอ๊ต ประมาณ 10 กรัม ยีสต์สำเร็จรูปประมาณ 1 กรัม น้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก 50-60 ซี.ซี. นำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน จะได้ส่วนผสมประมาณ 1.5-2 ซม. ถ้าภาชนะมีขนาดใหญ่กว่านี้ก็ให้เพิ่มส่วนผสมมากขึ้น
   3.นำหัวเชื้อหนอนจิ๋วซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายอาหารปลา ใส่ลงไปในอาหารที่ผสมเตรียมไว้ในขั้นตอนที่ 2 โดยใช้ช้อนเล็กๆหรือพู่กันทาสีตักหัวเชื้อหนอนจิ๋วจุ่มลงไปในอาหารให้ลึกลงไปในอาหารประมาณ 0.5 ซม. นำฝาภาชนะที่เจาะรูไว้แล้วมาปิดให้เรียบร้อย ตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องที่มีแสงสว่างปกติประมาณ 3-5 วัน เป็นอันเสร็จขั้นตอนการเพาะ
   4.จะเห็นการเจริญเติบโตของหนอนจิ๋วเคลื่อนจากอาหารขึ้นมารอบๆภาชนะ มองเห็นเป็นเส้นเล็กๆหรือมีสีขาวขุ่น ให้ใช้ช้อนหรือไม้จิ้มฟัน ปาดหนอนจิ๋วบริเวณขอบภาชนะด้านใน จากนั้นนำหนอนที่ได้ไปล้างในแก้วที่มีน้ำสะอาด แล้วกรองด้วยผ้ากรองแพลงค์ตอนนำไปให้ลูกปลากินเป็นอาหาร นอกจากนี้หนอนจิ๋วที่ได้จากการเพาะยังใช้เป็นหัวเชื้อในการเพาะขยายต่อไป
   ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะหาแหล่งอาหารมากประโยชน์สำหรับลูกปลาตัวจิ๋ว จากการทดลองการใช้หนอนจิ๋วอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน พบว่าลูกปลามีอัตราการรอดและเจริญเติบโตสูง ใกล้เคียงกับการใช้ไรแดง โรติเฟอร์ หรือ อาร์ทีเมีย แต่การได้มาของหนอนจิ๋วนั้นง่ายและใช้ต้นทุนต่ำ

เรื่องหนอนจิ๋ว  อ่านเพิ่มเติมได้ที่
www.tarad.com/wannapa2000

ย่อโดย...  ตุลฮาบ  หวังสุข
ที่มา...  Fish Zone สื่อสัตว์เลี้ยงสำหรับคนรักปลา ปีที่6  ฉบับที่74  ประจำเดือนสิงหาคม  พ.ศ.    2549  หน้า 65-66